รีวิว CODAS AUDIO รุ่น CODAS XL ชั้นวางเครื่องเสียงแบบ 3 ชั้น

มีหลายคนสงสัยว่า เราควรจะเริ่มมองหาอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทที่เรียกว่า อุปกรณ์เสริม” (accessories) มาใช้ตอนไหน.? คำตอบก็คือ ถ้าพิจารณาโดยอ้างอิงกับขั้นตอนของการ แม็ทชิ่งอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละส่วนเข้าด้วยกันโดยยึดเอา คุณภาพเสียงสูงสุดเป็นบรรทัดฐานแล้วนั้น โดยตรรกะพบว่า ขั้นตอนแรกที่เราต้องให้ความสำคัญก่อนเลยคือการ แม็ทชิ่งอุปกรณ์หลักๆ ในซิสเต็ม ซึ่งก็ได้แก่ การคัดเลือกอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณ (source) + ภาคขยายสัญญาณ (amplifier) + ระบบลำโพง (Speaker system) + ระบบการเชื่อมต่อไฟเอซีกับระบบการเชื่อมต่อสัญญาณ (Interconnect) ที่มีความสอดคล้องลงตัวกันทางด้าน specification ซะก่อน

หลังจากนั้นค่อยขยับไป ขั้นตอนที่สองคือขั้นตอนการ เซ็ตอัพซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประกอบด้วย การเชื่อมต่อและ การปรับตั้งค่าต่างๆ บนตัวเครื่องเสียงแต่ละตัว (แหล่งต้นทาง + แอมป์ + ลำโพง) ให้ทำงานเหมาะสมซึ่งกันและกันมากที่สุด ซึ่งในส่วนของการเชื่อมต่อนั้น ยกตัวอย่างเช่น เลือกช่องทางเชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของแหล่งต้นทางสัญญาณกับอินพุตของแอมปลิฟายที่เหมาะสมกัน ซึ่งเรื่องที่ต้องพิจารณาก็อย่างเช่น ควรจะเชื่อมต่อสัญญาณทางขั้วต่อ RCA หรือ XLR ? แบบไหนดีกว่ากัน.? (เนื่องจากการเชื่อมต่อผ่าน XLR ไม่ได้ดีกว่า RCA เสมอไป), เลือกการเชื่อมต่อเอ๊าต์พุตของแอมป์ให้ลงตัวกับลำโพงให้มากที่สุด เช่น ต่อสายลำโพงระหว่างเพาเวอร์แอมป์กับลำโพงแบบ single หรือ bi-wired หรือใช้จั๊มเปอร์ แบบไหนดีกว่ากัน.? ถ้าเป็นแอมป์หลอดก็จะมีเรื่องของ output impedance ที่ต้องเลือกเชื่อมต่อกับลำโพงด้วย ระหว่างใช้ tap ที่กี่โอห์ม.? 84 หรือ 2 โอห์ม เสียงจึงจะออกมาดีที่สุด นี่แค่เรื่องของการ เชื่อมต่อระบบเท่านั้น ในขั้นตอนที่สองนี้ยังมีเรื่องของการ ปรับตั้งค่าของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นส่วนประกอบหลักในซิสเต็มอีก อาทิเช่น สำหรับซิสเต็มที่ใช้ DAC เป็นแหล่งต้นทาง ก็ต้องเลือก “รูปแบบฟิลเตอร์” ของ DAC ตัวไหนถึงจะให้เสียงดีที่สุด (ถ้ามีให้เลือก) หรือถ้าใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นแหล่งต้นทางสัญญาณ ก็ต้องดูเรื่องการปรับตั้งเกนของภาคโฟโนให้เหมาะกับเกนของหัวเข็มแต่ละประเภทด้วย ถ้าใช้แหล่งต้นทางที่สามารถปรับเกนเอ๊าต์พุตได้ ก็ต้องเลือกเกนเอ๊าต์พุตของแหล่งต้นทางที่เหมาะสมกับเกนอินพุตของแอมป์ เช่น ระหว่าง Low gain กับ High gain ควรจะเลือกเอ๊าต์พุตของแหล่งต้นทางแบบไหนที่ให้ผลลัพธ์โดยรวมออกมาดีกว่ากัน? DAC บางตัวเลือกความแรงเอ๊าต์พุตได้ ก็ต้องทดลองแม็ทชิ่งเกนให้ลงตัวก่อน ต้องค้นสเปคฯ มาดูว่าสามารถตั้งค่าแบบไหนได้บ้าง.?

ส่วนการเซ็ตอัพที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การ เซ็ตอัพตำแหน่งการจัดวางลำโพงภายในห้องที่ใช้ฟังเพลง ซึ่งกิจกรรมนี้ส่งผลกับเสียงโดยรวมอย่างมาก.! หลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางมาถึงขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการกับชุดเครื่องเสียงเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงโดยรวมออกมาดีที่สุด นั่นก็คือขั้นตอนการ ปรับจูนเสียงของซิสเต็ม ซึ่ง อุปกรณ์เสริมจะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้

ส่วนประกอบหลักของชุดเครื่องเสียงมีอยู่ 4 ส่วน คือ แหล่งต้นทาง + แอมป์ + ลำโพง + ระบบเชื่อมต่อไฟเอซีและการเชื่อมต่อสัญญาณซึ่งมีส่วนสำคัญกับการทำงานของชุดเครื่องเสียง จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ส่วน อุปกรณ์เสริมก็คืออุปกรณ์ทุกประเภทที่ไม่ใช่ ส่วนประกอบหลักของชุดเครื่องเสียง ความหมายคือ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอุปกรณ์เสริมแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ชุดเครื่องเสียงที่มีอุปกรณ์หลักครบทั้ง 4 ส่วน คือ แหล่งต้นทาง + แอมป์ + ลำโพง + ระบบการเชื่อมต่อไฟเอซีและระบบการเชื่อมต่อสัญญาณก็จะยังสามารถทำงานได้เป็นปกติ

“ชั้นวางเครื่องเสียง” อุปกรณ์เสริมที่ (มักจะ) ถูกมองข้าม.!

เมื่อพูดถึง อุปกรณ์เสริมสำหรับวงการเครื่องเสียง มันคือโลกใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และความมหัศจรรย์พันลึก อุปกรณ์บางชนิดแทบจะหาเหตุผลทางหลักการมาอธิบายอะไรไม่ได้เลย แต่ทว่ากลับทำให้เสียงของชุดเครื่องเสียงเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมากเมื่อนำมันมาใช้กับชุดเครื่องเสียง ซึ่งชั้นวางเครื่องเสียงที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานกับเครื่องเสียงโดยตรงก็ถือว่าเป็น อุปกรณ์เสริมชนิดหนึ่ง แต่นักเล่นฯ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงชั้นวางเครื่องเสียงมาเป็นอันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับอุปกรณ์เสริมประเภทอื่นๆ

ผมเล่นเครื่องเสียงมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะให้ความสนใจกับชั้นวางเครื่องเสียง และเริ่มใช้ชั้นวางเครื่องเสียงที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องเสียงจริงๆ ครั้งแรกเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ชั้นวางเครื่องเสียงชุดแรกที่ผมใช้เป็นของยี่ห้อ Rezet ซึ่งออกแบบและผลิตโดยคุณปุ๊ เป็นคนไทยที่ออกแบบและผลิตชั้นวางเครื่องเสียงกับขาตั้งลำโพงออกจำหน่ายในชื่อแบรนด์ว่า Rezet มานานนับสิบปีแล้ว

ชั้นวางเครื่องเสียง Rezet ที่ผมใช้อยู่มีลักษณะโครงสร้างที่โปร่ง น้ำหนักเบา อยู่ในกลุ่มพิกัดที่เรียกว่า Low Mass ตัวโครงสร้างหลักที่ใช้ถ่ายน้ำหนักลงพื้นทำด้วยเหล็กกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก หน้ากว้างของโครงอยู่ที่ 60 .. x ลึก 47.5 .. ส่วนแผ่นแพลทที่ใช้รองรับตัวเครื่องเสียงทำด้วยไม้ที่หนา 2 .. กว้าง 60 .. และลึก 39.5 .. ผมมีชั้นวางของ Rezet รุ่นนี้ใช้อยู่ 3 ตัว เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ต่างกันแค่จำนวนชั้น ที่ผมมีใช้อยู่คือ 2 ชั้น, 3 ชั้น และ 5 ชั้น ปัจจุบันตัวที่เป็นสามชั้นกับห้าชั้นผมใช้วางอุปกรณ์เครื่อเสียงจำพวกแหล่งต้นทางกับปรีแอมป์ วางอยู่ด้านข้างขวาของตำแหน่งนั่งฟัง (ในภาพข้างบนคือตัว 3 ชั้น) ซึ่งชั้นวางเครื่องเสียง Rezet รุ่นนี้ให้เสียงที่ออกแนวโปร่ง รายละเอียดกลางแหลมดี ตามสไตล์ของชั้นวางเครื่องเสียงและขาตั้งลำโพงแบบ Low Mass นั่นเอง ส่วนเสียงทุ้มก็ออกมาในลักษณะที่มีมวลอวบใหญ่ มูพเม้นต์ผ่อนๆ นุ่มๆ ไม่ใช่แนวที่เน้นมวลเข้มที่มีความหนาแน่นมาก ด้วยโครงสร้างที่โปร่งเบา ทำให้ชั้นวางของ Rezet รุ่นนี้เหมาะกับเครื่องเสียงระดับมิดเอ็นด์ฯ ที่มีน้ำหนัก ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อชิ้น และน่าแปลกที่ว่า แม้ว่าเครื่องเสียงจะมีน้ำหนักไม่ถึง 20 กิโลกรัม แต่ผมพบว่า ถ้าวางบนชั้นวางรุ่นที่มีความสูง 5 ชั้น เสียงจะออกมาแย่กว่าวางบนชั้นวางที่มีแค่ 2 หรือ 3 ชั้น คือเสียงจะออกมาลอยๆ ไร้น้ำหนัก เบสหาย แปลกมาก.! ปัจจุบันผมเลยใช้ชั้นวางแบบ 5 ชั้นเป็นที่ว่าอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่างเช่น NAS, network switch และพวกเพาเวอร์ซัพพลายเท่านั้น ส่วนตัวที่เป็นแบบ 3 ชั้นผมจะใช้วาง Streamer, DAC และ ปรีแอมป์ เป็นประจำ..

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผมก็มีโอกาสอีกครั้งในรอบเกือบสามสิบปีที่ได้ทดสอบชั้นวางที่เจาะจงออกแบบมาเพื่อใช้วางเครื่องเสียง ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นผลงานการออกแบบและสร้างสรรโดยคนไทยอีกเช่นกัน ทว่า หลังจากได้เห็นและสัมผัสกับตัวจริงของชั้นวางเครื่องเสียงของไทยแบรนด์นี้แล้ว ต้องยอมรับเลยว่า เซอร์ไพร้ซ์” มาก.!! เพราะเนื้องานของจริงมันดูดีมาก เป็นชั้นวางเครื่องเสียงที่ใช้วัสดุโลหะเป็นพื้นฐาน ดีไซน์ไปทาง High Mass พิจาณาโดยทั่วๆ ไปแล้วไม่ต่างจากชั้นวางระดับไฮเอ็นด์ของเมืองนอกเลย

โฉมหน้าของผู้รังสรรชั้นวางเครื่องเสียงแบรนด์ CODAS AUDIO ตัวนี้ เขาบอกว่าให้เรียกชื่อเขาสั้นๆ ว่า คุณเพิ่มพูนก็พอ.!

หน้าตาดูอินเตอร์มาก.!!

ปกติแล้วชั้นวางเครื่องเสียงแบรนด์ต่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันมักจะทำด้วยโลหะที่มีรูปลักษณ์แข็งแรงและสวยงาม วัสดุที่นิยมกันมากก็คืออะลูมิเนียม ซึ่งชั้นวางเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีราคาสูงๆ มีแนวโน้มจะดีไซน์ไปทาง High Mass เพราะต้องแบกรับกับเครื่องเสียงตัวใหญ่ๆ ที่มีน้ำหนักเยอะ ตัวโครงสร้างมักจะทำจากแท่งอะลูมิเนียมตันๆ ไป เหลาเซาะด้วยเทคโนโลยี CNC (Computer Numerical Control) คือใช้เครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ในการขุดและแกะสลักแท่งอะลูมิเนียมตันๆ ให้ออกมาเป็นชิ้นส่วนที่ต้องการ ซึ่งข้อดีของ CNC ก็คือความ แม่นยำจึงทำให้ได้ชิ้นงานออกมาเป๊ะตามที่ผู้ออกแบบต้องการ

แต่จริงๆ แล้ว เหตุผลที่ต้องอาศัยกระบวนการ CNC เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตก็เนื่องจากว่า เนื้อของวัสดุที่เป็นโลหะ อย่างเช่นอะลูมิเนียม, สแตนเลส หรือทองเหลืองที่ลักษณะเป็นแท่งตันๆ จะให้ความแน่นหนาแข็งแรงสูงกว่าวัสดุประเภทไม้หรืออะลูมิเนียมที่มีลักษณะเป็นกล่องกลวงจึงรับน้ำหนักได้มากกว่า ซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อเครื่องเสียงไฮเอ็นด์รุ่นใหม่ๆ เริ่มหันมาใช้ตัวถังที่ทำด้วยอะลูมิเนียมขุดด้วย CNC กันมากขึ้น ทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักเยอะ ชั้นวางที่ใช้กับเครื่องเสียงระดับนี้จึงต้องมีความแน่นหนาแข็งแรงมากขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักได้

อีกทั้งวัสดุที่มีเนื้อแน่นและตันยังมี natural frequency หรือความถี่เรโซแนนซ์ที่อยู่ ต่ำกว่าวัสดุที่มีเนื้อพรุนหรือกลวงอีกด้วย ทำให้สามารถออกแบบโดยกำหนดความถี่เรโซแนนซ์ของตัวชั้นวางให้ออกไปอยู่นอกย่านความถี่เสียงได้ง่ายกว่า เมื่อแนวโน้มในการออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงหันมาใช้วัสดุโลหะที่มีเนื้อแน่นและตันแบบนี้ ทำให้การออกแบบรูปทรงจึงต้องอาศัยเทคโนโลยี CNC เข้ามาช่วยโดยปริยาย

โครงสร้างหลักที่ใช้ถ่ายน้ำหนักจากเครื่องเสียงทั้งหมดลงสู่พื้นมีลักษณะเป็นโครงโปร่งที่ประกอบด้วยเสารับน้ำหนักจำนวน 4 เสา ด้านหน้า 2 หลัง 2 โดยที่เสาแต่ละต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 .. เท่ากันทุกต้น ตัวเสาทำด้วยอะลูมิเนียมตันๆ ซึ่งแต่ละเสาจะแยกออกเป็น 2 ท่อนสำหรับแบบ 3 ชั้น วางเครื่องได้ 3 ตัว โดยที่เสาต้นล่างมีความยาว = 28.5 .. ส่วนต้นบนมีความยาว = 26.5 .. ทำให้ช่องว่างของชั้นล่างสุดมีความสูงอยู่ที่ 27.75 .. ส่วนช่องบนมีความสูง = 25.75 .. เตี้ยกว่าช่องล่างอยู่สองเซ็นต์ กรณีที่เครื่องเสียงของคุณมีความสูงไม่มาก อยากจะได้ความสูงของชั้นที่เตี้ยลงกว่านี้ก็สามารถสั่งได้ หรืออยากได้ที่สูงกว่านี้ก็สามารถสั่งได้เช่นกัน แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 30.0 .. (*จำกัดที่เครื่อง CNC)

ส่วนแผ่นแพลทบนที่ใช้รองรับตัวเครื่องเสียงมีขนาดกว้าง = 47.5 .. x ลึก = 44.5 .. ซึ่งหน้ากว้างนั้นกว้างกว่าเครื่องเสียงแร็คมาตรฐานอยู่ประมาณ 3.5 .. ส่วนความลึกนั้นมากกว่าความลึกของเครื่องเสียงแร็คมาตรฐานทั่วไปเยอะ (*เครื่องเสียงทั่วไป อย่างพวกปรีแอมป์, เครื่องเล่นซีดี หรือ DAC จะมีความลึกอยู่ระหว่าง 30 – 35 ..) ชั้นวางตัวนี้จึงรองรับเครื่องเสียงระดับมิดเอ็นด์ฯ ลงไปถึงระดับเริ่มต้นได้ทั้งหมด และรองรับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ ที่มีขนาดตัวไม่ใหญ่ยักษ์ได้ด้วย

เบื้องหลังบางส่วนของการออกแบบ.!

คุณเพิ่มพูนพูดถึงความพิเศษของแผ่นแพลทของชั้นวางเครื่องเสียง CODAS AUDIO ตัวนี้ว่า มันประกอบด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับพลังงานความถี่ที่ต่างกันถึง 3 ชนิด ซ้อนกัน 3 ชั้น คือวัสดุแต่ละตัวจะมีประสิทธิภาพในการดูดซับพลังงานคลื่นความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นคนละย่านความถี่ เมื่อนำมาซ้อนกัน จึงทำให้มีผลในการดูดซับพลังงานคลื่นความสั่นสะเทือนที่ครอบคลุมความถี่เรโซแนนซ์ได้กว้างกว่าแผ่นแพลทที่ทำมาจากวัสดุประเภทเดียว

คุณเพิ่มพูนยังเล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของวัสดุแต่ละประเภทแล้ว เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดในการดูดซับพลังงานคลื่นความสั่นสะเทือนของวัสดุแต่ละชนิด เขาได้อาศัยการคำนวนด้วยเทคนิค Finite Element Method (FEM) เข้ามาช่วยในขั้นตอนการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ โดยกำหนดความกว้าง x ความลึกของแผ่นแพลท แล้วใส่ตัวเลขเข้าไปในโปรแกรม Finite Element Analysis เพื่อให้คำนวนออกมาเป็นความหนาที่เหมาะสม หรือถ้าต้องการคงความหนากับความลึกไว้ โปรแกรมตัวนี้ก็จะคำนวนหาสัดส่วนความกว้างที่เหมาะสมให้ อะไรแบบนี้ นอกจากนั้น โปรแกรมที่ว่านี้ยังทำการวิเคราะห์ความเครียดที่เกิดขึ้นบนแผ่นแพลทเพื่อค้นหาพิกัดน้ำหนักที่แผ่นแพลทสามารถรองรับได้โดยไม่มีความเครียดเกิดขึ้นด้วย (*ถ้าน้ำหนักกดทับมากเกินพิกัดที่แผ่นแพลทจะรับได้ จะทำให้เกิดความเครียดขึ้นบนแผ่นแพลท ซึ่งจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับเรโซแนนซ์ของแผ่นแพลทด้อยลง)

คุณเพิ่มพูนเป็นวิศกรเครื่องกล (Mechanical engineering) ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างมาตลอดหลายสิบปี อาชีพหลักของเขาก็คือจัดทำระบบไฟฟ้าให้กับโรงงานขนาดเล็กและใหญ่ ส่วนทำชั้นวางเครื่องเสียงนี้ถือว่าเป็นงานอดิเรก ทำเพราะรัก เนื่องจากส่วนตัวก็ชอบเล่นเครื่องเสียงอยู่แล้วเป็นทุนเดิมทำให้พอมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของนักเล่นเครื่องเสียงได้ดี ประกอบกับตัวเขาเองมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในกิจการงานหลักอยู่แล้ว โดยเฉพาะเครื่อง CNC ที่บอกว่ามีอยู่ถึง 3 เครื่อง และตัวเขาเองก็เป็นคนออกแบบเอง คุมงานกัด CNC ด้วยตัวเอง ผมต้องขออนุญาตนำเอาข้อความที่พูดคุยกับคุณเพิ่มพูนใน LINE เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเขามาให้อ่านกันโดยตรง เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้ร่ำได้เรียนมาทางวิศวะซะด้วย บางส่วนที่คุณเพิ่มพูนอธิบายให้ฟังผมก็เข้าใจได้บ้าง บางส่วนก็ไม่ค่อยเข้าใจ จะขยายความไปเองก็กลัวจะผิดไปจากที่ได้รับข้อมูลมา อย่ากระนั้นเลย เอามาลงให้อ่านกันไปด้วยเลยดีกว่า

เพื่อให้ตัวโครงหลักที่ใช้ถ่ายน้ำหนักลงดิน กับแผ่นแพลทที่กระจายน้ำหนักจากตัวเครื่องลงมาที่ขาทั้ง 4 เสาสามารถถ่ายเทน้ำหนักกันได้อย่างทั่วถึง คุณเพิ่มพูนจึงออกแบบให้มีแผ่นฐาน หรือ สะพานเชื่อม” (ศรชี้) ยื่นเป็นบ่าออกมารองรับแผ่นแพลทเอาไว้ข้างละตัวต่อชั้น ลักษณะของแผ่นฐานที่ว่านี้เป็นแผ่นอะลูมิเนียมตันๆ ที่หนาถึง 2 .. โดยที่แผ่นฐานแต่ละตัวจะถูกยึดไว้ที่ส่วนบนของเสาหน้าหลังอย่างแน่นหนา โดยที่ความกว้างของแผ่นฐานอยู่ที่ 3 .. ยาวตลอดจากด้านหน้าลงไปถึงด้านหลัง

และเพื่อเป็นการ absorb เรโซแนนซ์ออกไปบางส่วน (คุณเพิ่มพูนบอกว่าเป็นการไฟน์จูน) ระหว่างแผ่นแพลทกับบ่าของแผ่นฐานที่รองรับแผ่นแพลทจะถูกคั่นไว้ด้วยวงแหวนทองแดงขนาดใหญ่ (ศรชี้) ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง รวมเป็น 4 จุด ต่อหนึ่งชั้น

ส่วนฐานล่างของเสาทั้ง 4 ต้นมีเดือยแหลมขนาดใหญ่ที่ทำด้วยสแตนเลสตันๆ เกรด 304 กลึงเกลาด้วย CNC รองรับน้ำหนักอยู่

ส่วนที่ปลายของเดือยแหลมยังมีเดือยแหลมตัวเล็กที่ทำเกลียวสอดเข้ากับส่วนปลายของเดือยแหลมตัวใหญ่อีกทีนึง จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งระดับได้ โดยทำเป็นรูหกเหลี่ยมไว้ที่ด้านข้างสำหรับใช้ประแจหกเหลี่ยมเล็กๆ ขันปรับระนาบได้ (ศรชี้)

ความสามารถในการรองรับน้ำหนัก

จริงๆ แล้ว ข้อมูลส่วนใหญ่ที่คุณเพิ่มพูนถ่ายทอดให้ผมทางโทรศัพท์และพูดคุยกันเป็นส่วนตัวตอนที่เขาขนชั้นวางมาให้ทดลองฟังที่บ้าน แต่ก็มีบางส่วนที่ผมถามลงรายละเอียดไปทาง LINE ด้วย ยกตัวอย่างเช่นเกี่ยวกับเรื่องของน้ำหนักที่รองรับได้ ซึ่งข้อมูลก็ตามข้อความที่เห็นใน LINE ข้างบนนั้น

คุณเพิ่มพูนบอกว่า น้ำหนักสูงสุดของเครื่องที่ชั้นวาง CODAS AUDIO ตัวนี้สามารถรองรับได้แต่ละชั้นอยู่ที่ 127 กิโลกรัม นั่นคือถ้าวางอะไรที่มีน้ำหนักมากกว่า 127 .. ลงไปบนชั้นวางตัวนี้ จะมีผลให้ตัวแผ่นแพลทเกิดความเครียดสูง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับชั้นวางตัวนี้ได้ (* ผมนึกภาพไม่ออกว่าถึงตอนนั้น โครงสร้างมันจะเสียหายหรือพับงออย่างไร..??) ถ้านับความสามารถในการรองรับน้ำหนักสูงสุดของทั้งสามชั้นรวมกัน จะอยู่ราวๆ 400 กิโลกรัม แต่ในการใช้งานที่มั่นใจได้ว่าแผ่นแพลทแต่ละชั้นจะทำหน้าที่ดูดซับเรโซแนนซ์จากตัวเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่มีอาการเครียดเกิดขึ้นเลยนั้น คุณเพิ่มพูนแนะนำว่า เครื่องเสียงที่นำมาวางบนแผ่นแพลทแต่ละชั้น ไม่ควรจะมีน้ำหนัก มากกว่า 55 กิโลกรัมเพราะจากการใช้โปรแกรม Finite Element Analysis คำนวนออกมาพบว่า เมื่อมีน้ำหนักกดทับลงไปบนแผ่นแพลทเท่ากับ 80 กิโลกรัม ตัวแผ่นแพลทจะเริ่มแอ่นตัว ณ ใจกลางของแผ่นลงไปประมาณ 0.029 .. (หรือประมาณ 20 ไมครอน)

หลังฟังคำอธิบายแล้ว ผมก็เกิดความสงสัย “.. แล้วคุณเพิ่มพูนทราบได้อย่างไรว่า พอแผ่นแพลทเริ่มแอ่นแล้วจะทำให้เสียงแย่ลง.?” เขาก็ตอบสวนขึ้นมาทันทีว่า “.. ผมก็อยากรู้ เลยยกมาให้คุณธานีทดสอบนี่ไง.!” นั่นซิ.. หลักวิชาการก็ส่วนของหลักวิชาการเนอะ แต่ไอ้ที่มันเกี่ยวข้องกับเสียงเนี่ยเป็นอะไรที่ต้องใช้วิธีทดลองฟังสถานเดียว อันนี้คนเล่นเครื่องเสียงเขารู้ดีว่าไม่ต้องจบวิศวะก็จูนให้เสียงออกมาดีได้.!

เสียงของชั้นวางเครื่องเสียง CODAS XL

เพราะเหตุใดการทดลองฟังจากการทดลองใช้งานจริงจึงมีความสำคัญมาก.? ถึงแม้ว่าการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชนิดจำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิคส์, อิเล็กทริค, ฟิสิกส์ และอะคูสติก ที่ต้องใช้สูตรคำนวนโดยอิงแอบกับตำราอย่างแนบแน่นก็ตามที แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำเอาอุปกรณ์เครื่องเสียงเหล่านั้นมาเชื่อมต่อกันเป็นชุดเพื่อใช้งานจริง ก็แทบจะไม่มีใครบอกได้เลยว่า ปฏิสัมพันธ์หรือ reaction ระหว่างศาสตร์แขนงต่างๆ ที่นำมาออกแบบเครื่องเสียงแต่ละชิ้นนั้น เวลามันส่งผลกระทบต่อกันแล้ว ผลลัพธ์ของ reaction ที่ว่านั้นมันสะท้อนไปถึงเสียงเพลงได้อย่างไร.? ที่ไม่มีใครตอบได้ก็เพราะว่ายังไม่มีใครทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการเครื่องเสียงจึงต้องมี การทดลองฟังด้วยหูที่เรียกว่า listening test เข้ามาเป็นกระบวนการมอนิเตอร์ในขั้นตอนสุดท้ายด้วย (*หลายๆ ครั้งที่ผลิตเครื่องเสียงเสร็จแล้ว หลังจากนำมาวัดกราฟด้วยเครื่องวัดออกมาสวย ถูกใจแล้ว แต่พอเอามาเข้าขั้นตอน listening test กลายเป็นว่าเสียงยังไม่ถูกใจ ต้องทำการจูนใหม่จนได้เสียงที่ถูกใจ หลังจากนั้นลองเอากลับเข้าไปวัดกราฟด้วยเครื่องวัดอีกที ปรากฏว่าเข้ารกเข้าพงไปเลย.! สุดท้ายก็ต้องมาวัดใจกันแล้วล่ะว่าจะลงเอยแบบไหน.? ระหว่างกราฟสวยเสียงไม่ดี หรือกราฟแย่แต่เสียงเยี่ยม..)

ในช่วงเวลาที่ผ่านไปเดือนเศษๆ หลังจากได้รับชั้นวาง CODAS AUDIO ชุดนี้มา ผมได้ทำการทดลองใช้งานชั้นวางตัวนี้โดยจัดวางไว้ที่ด้านข้างของตำแหน่งนั่งฟังแทนที่ชั้นวางของ Rezet เดิม ซึ่งเป็นจุดที่ผมใช้เซ็ตอัพส่วนที่เป็นชุด ฟร้อนต์เอ็นด์หรือด่านหน้าของซิสเต็ม ประกอบด้วย streaming transport, DAC และ pre-amp

ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งหมดที่ผมมีอยู่และนำมาใช้งานกับชั้นวางตัวนี้ล้วนแต่มีน้ำหนัก ไม่เกิน 20 .. ทั้งนั้น ยกตัวอย่างปรีแอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 ซึ่งดูว่าหนักมากแต่จริงๆ แล้วก็แค่ 11.5 กิโลกรัม เท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับคำแนะนำที่คุณเพิ่มพูน ซึ่งเป็นคนออกแบบบอกไว้ว่า แต่ละชั้น ไม่ควรเกิน 55 กิโลกรัมเพื่อตัดปัญหาเรื่องความเครียดบนแผ่นแพลทไม่ให้เกิดขึ้นเลย นั่นก็เท่ากับว่าเครื่องเสียงของผมที่มีอยู่ผ่านหมด สามารถเล็งผลเลิศจากการใช้งานร่วมกับชั้นวางตัวนี้ได้ทุกชิ้น

เกนมาจากไหน.?

หลังจากยกชั้นวางเครื่องเสียงของ Rezet ตัวเก่าที่ผมใช้ประจำออกไป แล้วจัดชั้นวางเครื่องเสียงของ CODAS AUDIO รุ่น CODAS XL เข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นชั้นวางเครื่องแบบสามชั้นเหมือนกัน พอเซ็ตอัพเครื่องเสียงชุดเดิมๆ เข้าไปเสร็จแล้วเปิดฟังเพลงเดิมๆ ความรู้สึกแรกที่พุ่งเข้ามากระแทกใจผมก็คือ ความดังของเสียงมันมากขึ้น.??

คือผมฟังเทียบด้วยระดับวอลลุ่มเดียวกัน เพลงเหมือนกัน น่าแปลกมากที่พบว่า ชั้นวางของ CODAS AUDIO ตัวนี้มันทำให้เสียงที่ออกมามีลักษณะที่ ดังมากกว่าตอนใช้ชั้นวางเครื่องเสียงของ Rezet ตัวเก่า.! เฮ้ยย.. มันเป็นไปได้ยังไง.?? ชั้นวางนะ ไม่ใช่แอมป์.. นั่นซิ.! ชั้นวางเครื่องเสียงนี่แหละ ไม่ได้ต่อเชื่อมอะไรกับสัญญาณเลยด้วย แต่ทำไมมันถึงทำให้เหมือนกับว่า เสียงโดยรวมมันมีความดังมากขึ้นได้ คือจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ดังขึ้นมามากหรอก แต่แน่ๆ คือมันทำให้ผม ได้ยินรายละเอียดของเสียงทุกเสียงที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าตอนที่ใช้ชั้นวางตัวเก่า ทั้งๆ ที่ลองฟังที่วอลลุ่มระดับเดียวกัน..?? งงไปเลย.. พยายามนั่งคิดหาสาเหตุที่เป็นไปได้ ถ้าให้เดาผมคิดว่าน่าเป็นผลมาจากเรื่องของ เรโซแนนซ์ของระบบที่ถูกทำให้ลดน้อยลงเพราะชั้นวางของ CODAS AUDIO ตัวนี้ก็เป็นได้ เพราะผมทดลองจับที่ตัวชั้นวางแล้วเขย่า ปรากฏว่า มันไม่ได้แสดงอาการสั่นหรือขยับเขยื้อนเลยแม้แต่น้อย นิ่งมาก.! คือผมลองนึกถึงรถนต์ที่ตัวถังไม่แน่น ช่วงล่างหลวม เวลาวิ่งไปบนถนนมันก็จะมีอาการสั่นกระพรือ ทำความเร็วไม่ค่อยขึ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่มีตัวถังแน่นๆ ช่วงล่างฟิตๆ จะวิ่งได้ฉิวกว่า ทำความเร็วได้มากกว่า.. ประมาณนี้ คือเดาเอา แต่ที่ได้ลองฟังคือเสียงมันมีพลังมากขึ้นจริงๆ แต่ถ้าไม่เคยเทียบ คือเริ่มต้นก็ไปเอาชั้นวางแน่นๆ สไตล์ High Mass อย่าง CODAS AUDIO ตัวนี้มาใช้เลยก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเหมือนอย่างที่ผมรู้สึก

ความนิ่งและ แน่นคืออีกสองสิ่งที่ตามมา.!!

หลังจากลองฟังไปอีกพักนึง ผมก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่าง คือผมรู้สึกว่าเสียงโดยรวมมัน นิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นความรู้สึกรวมๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกเพลงที่ฟัง คือผมรู้สึกว่า ตำแหน่งของแต่ละเสียงในเพลงที่ฟังมันมีลักษณะที่ อยู่กับที่ตลอดเวลา ตรึงอยู่ในตำแหน่งเดิมได้อย่างมั่นคงมากกว่าแต่ก่อน ไม่มีอาการวูบวาบ แม้ว่าเสียงนั้นจะมีการเคลื่อนไหวไปตามลีลาของเพลงตลอดเวลาก็ตาม

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า คุณสมบัติในแง่ของ ความนิ่งที่ว่านี้ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์เสริมตัวใดๆ เข้าไปในซิสเต็มก็ใช่ว่าจะได้ “ความนิ่ง” แบบนี้เสมอไป ซึ่งโดยปกติแล้ว สิ่งที่เราได้รับกลับมาจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ใดๆ เข้าไปในซิสเต็มมักจะเป็นไปในแง่ของ โทนเสียงที่เปลี่ยนไปซะมากกว่า ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเสียงทางด้านกายภาพ นั่นคือ โทนัลบาลานซ์ และ มวลเนื้อเสียง แต่การเปลี่ยนชั้นวางเครื่องเสียงครั้งนี้มันส่งผลกับคุณสมบัติของเสียง ทุกด้านพร้อมกัน ที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือทางด้านมูพเม้นต์ของเสียง นั่นคือ โฟกัสหรือตำแหน่งของเสียงที่รับรู้ได้ว่าแต่ละเสียงมัน นิ่งและ ตรึงตัวอยู่ในอากาศได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ส่งผลให้ รูปวง-เวทีเสียง ก็มีความเด่นชัดมากขึ้นด้วย ในขณะที่คุณสมบัติทางด้านกายภาพก็มีผลแต่น้อยกว่าผลทางด้านมูพเม้นต์ ซึ่งผมถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเมื่อทุกเสียงตรึงตำแหน่งได้นิ่ง ไม่วูบวาบ ทำให้เรามองเห็น (ด้วยหู) แต่ละเสียงได้ชัดขึ้นจนลงไปถึงรายละเอียดในระดับ inner detail สามารถติดตามอากัปกิริยาในการเคลื่อนไหวของแต่ละชิ้นดนตรีได้ทุกขณะที่มันดำเนินไป ผลคือทำให้รับรู้ถึงลักษณะการถ่ายทอดอารมณ์ของศิลปินที่ผ่านออกมากับเสียงเครื่องดนตรีที่พวกเขาเล่นได้ชัดเจนขึ้น และเมื่อเราทำการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องเสียงใดๆ เข้าไปหลังจากนี้ เราก็จะรับรู้ถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับชุดเครื่องเสียงของเราได้ง่ายขึ้น และชัดเจนมากขึ้น

อัลบั้ม : Cafe Blue (TIDAL-16/44.1)
ศิลปิน : Patricia Barber
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/285372564?u)

จังหวะที่ผมทดลองฟังอัลบั้มนี้นี่แหละที่รู้สึกว่าชั้นวางตัวนี้ให้เสียงที่นิ่งมากขึ้นกว่าเดิม เหตุผลก็เพราะว่า ภาคดนตรีของแต่ละเพลงในอัลบั้มชุดนี้มันมีความสลับซับซ้อนของไทมิ่งเยอะมาก แต่ละวินาทีจะมีรายละเอียดยิบย่อยเกิดขึ้นตลอด เนื่องจากพื้นฐานเป็นเพลงแจ๊ส และเป็นแจ๊สที่โชว์ฝีมือกันทุกชิ้นซะด้วย ตั้งแต่เปียโน, กีต้าร์, เบส และกลอง ไม่มีใครย่อหย่อนไปกว่ากัน เพลงที่ผมชอบฟังบ่อยๆ มีอยู่หลายเพลง อย่างเพลง Mourning Grace นั้นโครงสร้างดนตรีซ้อนกันหลายชั้นมาก เริ่มตั้งแต่ต้นเพลงที่ค่อยๆ เปิดตัวออกมาแบบแผ่วๆ ซึ่งในนั้นจะมีไมโครไดนามิกที่เป็นหัวเสียงของกีต้าร์, เปียโน, กลอง และเบส ออกมาครบ ซึ่งตอนที่ผมใช้ชั้นวางตัวเก่า ช่วงขึ้นต้นแทรคนี้จะมีอาการมัวๆ อยู่หน่อย คือเสียงเครื่องดนตรีทั้งหมดนี้จะมีลักษณะที่ปนๆ กันออกมา แยกแยะได้ไม่ขาด แม้ว่าผมจะพยายามขยับตำแหน่งลำโพงเข้าช่วยก็ไม่ดีขึ้นมาก ทำได้แค่ระดับหนึ่งคือฟังรู้ว่าในกลุ่มนั้นมีเสียงของเครื่องดนตรีอะไรอยู่บ้าง แต่ให้แยกแต่ละเสียงออกมาชัดๆ ทำไม่ได้ แต่พอเปลี่ยนมาใช้ชั้นวางของ CODAS AUDIO ตัวนี้ ผมสามารถแยกแยะรายละเอียดของแต่ละเสียงของเพลงนี้ออกมาได้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละเสียงมันทิ้งห่างจากกันมากขึ้น มีช่องไฟที่แทรกอยู่ระหว่างแต่ละชิ้นดนตรีทำให้เสียงไม่เบียดเสียดกัน มีเลเยอร์ที่ฉีกแยกตื้นลึกของชั้นดนตรีที่ชัดขึ้น ลึกลงไปมากขึ้น และรู้สึกได้เลยว่า ปลายเสียงของโน๊ตที่เกิดจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมันถูกควบคุมจังหวะเวลาของการ เกิดขึ้นคงอยู่จางหายที่ปรากฏชัดออกมาเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น บางชิ้นทอดยาวในขณะที่บางชิ้นกระชับขมวดสั้น

นอกเหนือจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ว่ามันดีขึ้นมากหลังจากใช้ชั้นวาง CODAS XL ตัวนี้ก็คือ ไดนามิกของเสียงที่ให้ทั้งอัตราสวิงที่กว้างขึ้น และได้การ ย้ำเน้นของหัวเสียงที่มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากคุณสมบัติทางด้านโฟกัสของเสียงที่คมขึ้นนั่นเอง คือพอเฟสของเสียงชิ้นดนตรีเดียวกันจากลำโพงทั้งสองข้างแผ่มาซ้อนทับกันสนิท และไม่มีเรโซแนนซ์เข้ามารบกวน มันก็ synergy กันจนทำให้ได้ไดนามิกที่หนักหน่วงมากขึ้นนั่นเอง

อัลบั้ม : Africa Drums & Voices (TIDAL HIFI-16/44.1)
ศิลปิน : Tinyela
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/8092457?u)

อัลบั้มนี้เพิ่งเข้ามาลิสต์เพลงสำหรับอ้างอิงในการทดสอบล่าสุด มีเพลงที่ผมชอบมากคือแทรคที่สองเพลง Tinyela (String) ซึ่งบันทึกและมิกซ์เสียงเพอร์คัสชั่นกับเสียงร้องออกมาได้ดีมากๆ แต่ละเสียงมีหัวเสียงที่คม มีน้ำหนัก และมีตัวเสียงที่อิ่มหนาฟูลบอดี้ ฮาร์มอนิกมาครบ หางเสียงแผ่ขยายออกไปอย่างราบเรียบ ไม่ห้วน ไม่บาง และไม่เน้นโด่งออกมา และด้วยโฟกัสของแต่ละเสียงที่แม่นยำ เฟสแม่นเพราะไม่มีเรโซแนนซ์เข้ามากวน จึงส่งผลให้เวทีเสียงแผ่ออกมาเป็นสามมิติ ทั้งกว้าง, ลึก และสูงครบองค์.!

ชั้นวางเครื่องเสียงของ CODAS AUDIO ตัวนี้แจกแจงทุกอย่างในเพลงนี้ให้ออกมาด้วยลักษณะที่เป็นธรรมชาติมาก ทั้งทางกายภาพและมูพเม้นต์ทำออกมาได้สมบูรณ์แบบจริงๆ..!!

ส่วนผลลัพธ์ทางด้าน โทนเสียงนั้น ชั้นวางตัวนี้จะให้โทนเสียงออกไปทางกระชับ แน่น ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีที่ได้มาจากความแกร่งและแน่นหนาของโครงสร้างที่ทำมาจากวัสดุเนื้อตันตามแนวทาง High Mass นั่นเอง มีผลทำให้สามารถควบคุมเรโซแนนซ์ที่จะไปรบกวนการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงได้เด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ โทนเสียงของชั้นวางตัวนี้จึงมีลักษณะของการ ควบคุมมากกว่าชั้นวางที่ทำด้วยวัสดุประเภทไม้ หรือประเภทที่ใช้โครงสร้างโปร่งบางแนว Low Mass ที่ออกไปทางแนวผ่อนคลาย โปร่งกว้าง.. แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชั้นวางแบบ High Mass แบบนี้จะให้เสียงที่ผ่อนคลายไม่ได้ คุณสามารถ ปรับจูนโทนเสียงของชั้นวางตัวนี้ให้มีลักษณะที่เอนเอียงไปทางผ่อนคลายได้ด้วยการหาอุปกรณ์เสริมประเภทที่ใช้วัสดุที่มีเนื้อโปร่งๆ อย่างเช่นก้อนไม้ (ตัวอย่างศรชี้ในภาพ) หรืออุปกรณ์เสริมแบบซับเสียงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ มารองใต้เครื่องเสียงเพื่อปรับจูนโทนเสียงได้ ซึ่งบอกเลยว่า ชั้นวางเครื่องเสียงที่ให้ foundation หรือพื้นฐานของเสียงออกมาทางควบคุมมากหน่อยจะจูนเสียงให้ลงตัวได้ง่ายกว่าชั้นวางเครื่องที่ให้ตัวเยอะๆ ประมาณว่า ถ้าชั้นวางเครื่องมันช่วยตรึงเสียงไว้ได้ก่อน จากนั้นเราค่อยๆ มาจูนเพื่อผ่อนเสียงให้คลายออกมาจะได้ผลดีกว่า คือเทียบกันแล้ว ถ้าชั้นวางเครื่องไม่มีความแน่นหนามากพอ ป้องกันเรโซแนนซ์ไม่ได้ เสียงจะแกว่ง พื้นฐานไม่ดี แบบนั้นจะมาจูนทีหลังให้เสียงตรึงแน่นก็ทำได้ยาก..

สรุป

ชั้นวางเครื่องเสียงของ CODAS AUDIO รุ่น CODAS XL ตัวนี้มีหน้าตา + เนื้องานที่อยู่ในระดับอินเตอร์มาก.! ถ้าไม่รู้ว่าออกแบบโดยคนไทย และผลิตทั้งหมดในประเทศไทย 100% ผมก็คงคิดว่าเป็นแบรนด์นอกอย่างแน่นอน.!! และเมื่อได้สัมผัสทดลองฟัง และได้พูดคุยกับคุณเพิ่มพูน เจ้าของแบรนด์ CODAS แล้ว นับว่าเป็นความน่ายินดี 2 อย่าง อย่างแรกคือ คุณภาพเสียงที่ออกมาดีมาก ได้มาตรฐานอย่างที่ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่ได้ชื่อว่าอยู่ในระดับไฮเอ็นด์ฯ สามารถให้ได้อย่างครบถ้วน ถือว่าน่าพอใจ ส่วนความน่ายินดีที่สองก็คือ ราคาซึ่งตอนแรกผมทายไว้ว่าแบบ 3 ชั้นตัวนี้อย่างต่ำๆ ก็น่าจะอยู่เฉียดๆ แสน หรือแสนนิดๆ แต่คุณเพิ่มพูนบอกว่าราคาตั้งอยู่ที่ 75,000 บาท แถมจานรองทองเหลืองตันขนาดใหญ่ 4 ชิ้น มูลค่า 1,200 บาท ด้วย

เป็นที่น่ายินดีว่า ชั้นวางเครื่องเสียงของ CODAS AUDIO แบรนด์นี้ทำให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงของไทยเรากำลังก้าวขยับมาตรฐานขึ้นไปอีกขั้นแล้ว.!!! /

********************
CODAS AUDIO รุ่น CODAS XL / สามชั้น
ราคา : 65,000 บาท/ชุด (*ราคาพิเศษ.! ช่วงเปิดตัว จากราคาตั้ง 75,000 บาท/ชุด)
(** พิเศษ.! แถมจานรองสไปค์ทองเหลืองขนาดใหญ่ 4 ตัว มูลค่า 1,200 บาท ฟรี!)
********************
ออกแบบและผลิตโดย :
CODAS AUDIO
********************
จัดจำหน่ายโดย :
HD HiFi Rama IX
https://goo.gl/maps/zgEfF33H5EGUiZ6f6
โทร.
063-236-6193 (คุณแมน)
Line ID : novara2561
081-918-0901 (คุณต้อง)
Line ID : 0819180901
081-309-0095 (คุณต้น)
Line ID : 0813090095
083-317-6634 (คุณน๊อต)
Line ID : not05410

 

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า