เครื่องเล่นไฟล์เพลง Music Streamer มีช่องทางเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้ 2 ช่องทาง ทางแรกเป็นการเชื่อมต่อด้วยวิธีไร้สาย (wireless) ระหว่างเครื่องเสียงตัวนั้นกับ router ผ่านทาง access point ด้วยคลื่น WiFi 2.4GHz หรือ WiFi 5GHz กับช่องทางที่สองเป็นการเชื่อมต่อแบบใช้สาย (wired) ผ่านทางช่อง Ethernet ของเครื่องเสียงตัวนั้น โดยใช้สาย LAN ติดขั้วต่อ RJ45 เชื่อมโยงระหว่างเครื่องเสียงตัวนั้นกับ router
การเชื่อมต่อกับ router ผ่านทางระบบไร้สายด้วยคลื่น WiFi มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีคือ “ความสะดวก” เหมาะกับคนที่ไม่สามารถเดินสาย LAN จาก router มายังจุดที่ติดตั้งสตรีมเมอร์ตัวนั้น ส่วนข้อด้อยจะอยู่ที่ “คุณภาพเสียง” เพราะในทางเทคนิคแล้ว การส่งผ่านสัญญาณด้วยวิธีไร้สายผ่านทางคลื่น WiFi จะให้ประสิทธิภาพ “ต่ำกว่า” การส่งผ่านสัญญาณด้วยวิธีใช้สาย LAN อยู่แล้ว
Audiolab 7000N Play ตัวนี้.!
เอาดีทั้ง “ไร้สาย” และ “ใช้สาย”..!!
จริงอยู่ว่า การส่งผ่านสัญญาณแบบไร้สายให้ประสิทธิภาพต่ำกว่าแบบใช้สาย แต่เมื่อเอา “ความสามารถในการส่งผ่านข้อมูล” (transfer rate) ของมาตรฐาน IEEE 802.11n ที่ใช้กับ WiFi 2.4 GHz ซึ่งอยู่ที่ระดับ 450 – 600 Mbps (และไปได้สูงถึง 1300 Mbps สำหรับ WiFi 5 GHz .!) มาเทียบกับปริมาณข้อมูลของสัญญาณเสียงดิจิตัล PCM สเตริโอที่มีสเปคฯ เทียบเท่ากับ CD ซึ่งอยู่ที่ 1411.2 kbps (16 x 44100 x 2) หรือ 1.4112 MHz แล้ว จะเห็นว่า แบนด์วิธ (หรือความสามารถในการส่งผ่านข้อมูล) ของมาตรฐาน IEEE 802.11n ที่ใช้กับ WiFi 2.4 GHz ก็ “มากเกินพอ” สำหรับการรับ/ส่งข้อมูลที่อยู่ในรูปของสัญญาณเสียงดิจิตัลที่เป็นฟอร์แม็ต PCM ของ CD แล้ว และเมื่อเทียบกับปริมาณข้อมูลของสัญญาณไฮเรซฯ ระบบสเตริโอที่ไล่ตั้งแต่ 24/44.1 ขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดคือ 24/192 (ดูตัวเลขบิตเรตจากในตารางด้านล่าง) จะเห็นว่า แบนด์วิธ หรือความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลของมาตรฐาน IEEE 802.11 “ทุกเวอร์ชั่น” ที่ใช้กับ WiFi 2.4 GHz ก็ยังอยู่ในระดับ “มากเกินพอ” ต่อการส่งผ่านสัญญาณเสียงดิจิตัลที่ระดับสูงสุดของมาตรฐาน Hi-Res Audio คือ 24-bit/192kHz อยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจที่ Audiolab กล้าประกาศว่า 7000N Play เป็น “Hi-Resolution Wireless Audio Streaming” แบบเต็มๆ เสียงอย่างนั้น.!! จริงมั้ย.? ต้องไปลองฟังเสียงกัน..
หน้าตาเรียบๆ ขรึมๆ
เมื่อวันที่ 19 เดือนเมษายน ปี 2020 ผมตีพิมพ์รายงานทดสอบสตรีมเมอร์ไร้สายของ Audiolab รุ่น 6000N Play ลงไปในเว็บไซต์ allabout AUDIO/VISUAL (REVIEW) ไปแล้ว คล้อยหลังจากนั้น 4 ปีกว่าๆ มาถึงวันนี้ ผมก็ได้รับ 7000N Play ซึ่งเป็นสตรีมเมอร์ไร้สายรุ่นล่าสุดของ Audiolab มาทดสอบอีกครั้ง ซึ่ง 7000N Play ตัวนี้ถือว่าเป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดมาจากรุ่น 6000N Play ก็ว่าได้ เพราะโดยภาพรวมแล้ว มันยังคงยึดแนวการออกแบบมาทางเดียวกับ 6000N Play เริ่มจากหน้าตาที่เหมือนกันถึง 90% ซึ่งความแตกต่างที่โดดเด่นที่รุ่น 7000N Play ฉีกออกไปจากรุ่น 6000N Play มากที่สุดก็คือเพิ่มจอแสดงผลบนหน้าปัดขึ้นมาในขณะที่รุ่น 6000N Play ไม่มีจอที่ว่านี้ ส่วนปุ่มกดจำนวน 6 ปุ่มที่ให้มาถัดจากจอแสดงผลนั้นดูเผินๆ แล้วเหมือนกัน แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วพบว่า มันเหมือนกันแค่จำนวนปุ่มกับตำแหน่งติดตั้งเท่านั้นเอง ในขณะที่ “หน้าที่” ของแต่ละปุ่มที่ถูกกำหนดมาให้ทำงานมันมีความต่างกันอยู่นิดหน่อย
ในรุ่น 6000N Play นั้น ปุ่มกดทั้ง 6 ปุ่ม ที่อยู่บนหน้าปัดนั้นถูกกำหนดให้ทำหน้าที่บันทึกเก็บลิ้งค์ของสถานีวิทยุบนอินเตอร์เน็ต แต่ในรุ่น 7000N Play นี้ได้มีการบริหารจัดการหน้าที่ของปุ่มทั้ง 6 นี้ใหม่ โดยให้บางปุ่มทำหน้าที่ซ้อนกัน 2 อย่าง คือทั้งใช้เก็บบันทึกลิ้งค์ของสถานีวิทยุบนอินเตอร์เน็ต และใช้ในการปรับตั้งค่าของฟังท์ชั่นต่างๆ ในเมนูไปด้วย
หน้าจอ LCD แบบ IPS ขนาด 2.8 นิ้ว (ความละเอียด 480 x 640 พิกเซล) ที่ติดตั้งมาให้ในรุ่น 7000N Play นี้มีไว้แสดงรายละเอียดหลายๆ อย่างออกมาพร้อมกัน ได้แก่ 1) อินพุต, 2) แหล่งที่มาของไฟล์เพลง, 3) ฟอร์แม็ตและความละเอียดของสัญญาณเสียงของเพลงที่กำลังเล่น, 4) ชื่อศิลปินและชื่อเพลงที่กำลังเล่น และ 5) ระดับความดัง (dB) ที่ปรับผ่านวอลลุ่มในตัวสตรีมเมอร์
นอกจากนั้น หน้าจอนี้ยังถูกกำหนดให้ทำงานเป็นมอนิเตอร์สำหรับการปรับตั้งเมนูด้วย คือตอนเข้าไปปรับตั้งค่าในเมนูเครื่อง รายละเอียดการปรับตั้งค่าจะถูกโชว์ขึ้นมาบนหน้าจอให้เราดู
แผงหลัง
ขั้วต่อสำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณทุกรูปแบบถูกติดตั้งไว้ที่แผงหลังของตัวเครื่องทั้งหมด จากซ้ายไปขวาก็มีเต้ารับสายไฟเอซี IEC C13 ที่ให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์ ซึ่งหลังจากทดลองเอาสายไฟเอซีคุณภาพสูงๆ มาเปลี่ยนแทนสายไฟแถมที่ให้มา พบว่าเสียงกีดีขึ้นมากพอสมควรเลย ตอนทดลองใช้อุปกรณ์ลด noise ที่มากับไฟเอซีอย่างเช่นตัว Furutech รุ่น Clear Line-AC ที่เสียบไว้กับปลั๊กรางอันเดียวกับที่เสียบสายไฟเอซีที่ส่งไฟไปเลี้ยง 7000N Play ก็เห็นผลทำให้เสียงของ 7000N Play ดีขึ้นพอสมควร รับรู้ได้ แสดงว่าภาคจ่ายไฟเลี้ยงในตัว 7000N Play มีความอ่อนไหวกับสัญญาณรบกวนภายนอกอยู่เหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นอะไรที่เกิดขึ้นกับสตรีมเมอร์ราคาไม่เกิน 40K ทุกตัว ถือว่าเป็นมาตรฐานสากล เพราะถ้าจะหาสตรีมเมอร์ที่ออกแบบภาคจ่ายไฟที่ใช้เทคนิคสูงๆ ให้สมรรถนะในการจ่ายไฟขั้นเทพ และสามารถป้องกัน noise ได้ดีมากๆ คุณต้องจ่ายสำหรับสตรีมเมอร์ระดับนั้นด้วยสนนราคาที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ตัวสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตของ Innuos รุ่น PULSE (REVIEW) ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่นั้นเขาใช้ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์รุ่น RECAP2 LPSU ที่ออกแบบมาพิเศษร่วมกับด็อกเตอร์ Sean Jacobs ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงของวงการ ตัวนั้นราคาค่าตัวก็ปาเข้าไปแสนกลางๆ โน่นเลย.!!
เมนสวิทช์ที่ตัด/ต่อไฟเอซีเข้าเครื่องจะทำหน้าที่ควบคุมการเปิด/ปิดการทำงานของฟังท์ชั่น standby ของตัว 7000N Play คือเมื่อกดสวิทช์ไปที่ตำแหน่งเปิดทำงาน (ON) ไฟ standby ดวงสีแดงที่อยู่ตรงมุมล่างซ้ายของแผงหน้าเครื่องจะสว่างขึ้น แสดงสถานะสแตนด์บาย ทำให้คุณสามารถใช้รีโมทไร้สายที่แถมมาให้กับ 7000N Play สั่ง ON ให้เครื่องทำงาน และสั่ง OFF ให้เครื่องหยุดทำงานเข้าสู่โหมดสแตนด์บายได้ กรณีที่ไม่ได้ใช้งาน 7000N Play นานๆ หลายๆ วันแนะนำให้กดเมนสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง OFF เพื่อตัดไฟเข้าเครื่องไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
6. ปุ่ม setup
7. ช่องเชื่อมต่อ Ethernet
8. ช่อง USB-A สำหรับการอัพเดตเฟิร์มแวร์
9. ช่อง USB-B สำหรับสัญญาณควบคุมสั่งงาน
10. ช่องเชื่อมต่อสัญญาณ trigger 12V สำหรับระบบกระตุ้นสั่งงานร่วมกับอุปกรณ์ภายนอก
11. ช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุต Coaxial และ Optical
12. ช่องอะนาลอก เอ๊าต์พุต ซ้าย/ขวา
ช่อง USB-B (9) ที่ 7000N Play ให้มาไม่ได้เป็นอินพุตนะ ผู้ผลิตเขาไม่ได้ให้มาใช้เล่นไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์เหมือนช่อง USB-B ของ DAC ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ช่อง USB-B ของ 7000N Play ตัวนี้เข้าให้มาสำหรับเชื่อมต่อกับตัวอินติเกรตแอมป์รุ่น 7000A ของ Audiolab ที่อยู่ในซีรี่ย์เดียวกัน โดยเชื่อมโยงระหว่างช่อง USB-A (USB update) ของ 7000A เข้ากับช่อง USB-B ของ 7000N Play จะทำให้คุณสามารถควบคุมวอลลุ่มของตัว 7000A ได้ ผ่านทางแอพฯ Play-Fi
ช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุต (11) สามารถส่งออกสัญญาณ PCM มาตรฐาน S/PDIF ไปให้ภาค DAC ภายนอกได้สูงสุดถึงระดับ 24/192 ทั้งผ่านขั้วต่อ Coaxial และ Optical ซึ่งเปิดโอกาสให้คุณอัพเกรดคุณภาพเสียงได้เมื่อนำ 7000N Play ไปใช้งานร่วมกับ external DAC หรืออินติเกรตแอมป์ที่มี DAC ในตัว หรือ DAC/Pre ที่มีภาค DAC และภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในตัว 7000N Play
เห็นเสาอากาศบนตัว 7000N Play ที่มีอยู่ 2 เสาแบบนี้ คุณอาจจะคิดว่ามันคงรองรับคลื่น Bluetooth ด้วย แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่.! ทั้งสองเสานั้นเขาให้มาเพื่อรองรับคลื่น WiFi อย่างเดียว ใช้สองเสาก็เพราะต้องการให้มันช่วยกันรับคลื่นได้ดีกว่าใช้เสาเดียวนั่นเอง (*7000N Play ไม่รองรับ Bluetooth)
การออกแบบภายใน
ผู้ผลิตไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบภายในไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบภาคสตรีมมิ่งหรือภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุต มีบอกไว้แค่ว่าใช้ชิป DAC ของค่าย ESS Technology เบอร์ ES9038Q2M ซึ่งเป็นชิป DAC ประสิทธิภาพสูง คืออยู่ในระดับ Reference ของค่าย ESS Technology เลยทีเดียว.!
เมนูเครื่อง
กับการปรับตั้งที่จำเป็น
ในการปรับตั้งค่าต่างๆ ในเมนูเครื่อง คุณต้องเข้าไปในเมนูของเครื่องผ่านทางรีโมทไร้สายหรือกดจากปุ่มบนหน้าปัดเครื่องโดยตรงเท่านั้น ปรับผ่านแอพฯ Play-Fi ไม่ได้ ซึ่งมีทั้งหัวข้อให้ปรับตั้งค่า และมีทั้งแจ้งเป็นข้อมูลให้ทราบ นับรวมกันอยู่ทั้งหมด 12 หัวข้อ
1. Filter
2. Volume
3. Balance
4. Display Option
5. Brightness
6. Display Time Out
7. Animation
8. Trigger
9. Language
10. Standby
11. Reset
12. Version
สามหัวข้อแรกคือ Filter, Volume และ Balance นั้น เป็นการปรับตั้งที่ส่งผลกับเสียงของ 7000N Play โดยตรง ส่วนหัวข้อ 4 – 7 นั้น จะเป็นการปรับตั้งลักษณะการแสดงผลบนจอ LCD ซึ่งถือว่าเป็นลูกเล่นสนุกๆ แต่ถ้าซีเรียสเรื่องเสียง ผมจะปิดจอไปเลย (สั่ง display OFF) ที่เหลือตั้งแต่หัวข้อ 8 – 12 เป็นการปรับตั้งจิปาถะ รวมทั้งเป็นการแสดงข้อมูลให้ทราบซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงโดยตรง
หัวข้อ Filter นั้นคุณต้องให้ความสนใจในการปรับตั้งค่า เพราะมันมีผลต่อ “ลักษณะเสียง” ของ 7000N Play ที่ออกมาทางเอ๊าต์พุตโดยตรง ซึ่งทางผู้ออกแบบ 7000N Play เลือกรูปแบบฟิลเตอร์ที่มากับชิปเซ็ต ES9038Q2M มาใช้ 4 ตัวจากทั้งหมด 7 ตัวที่ทาง ESS Technology ผู้ผลิตชิปให้มา นั่นคือ
1. linear phase fast roll-off > ในเมนูใช้ชื่อว่า Linear (Fast)
2. linear phase slow roll-off > ในเมนูใช้ชื่อว่า Linear (Slow)
3. minimum phase fast roll-off > ในเมนูใช้ชื่อว่า Minimum (Fast)
4. minimum phase slow roll-off > ในเมนูใช้ชื่อว่า Minimum (Slow)
ส่วน ตัวที่ 5 วิศวกรของทาง Audiolab จับเอาฟิลเตอร์ ตัวที่ 1 (linear phase fast roll-off) กับ ตัวที่ 3 (minimum phase fast roll-off) มาผสมกัน แล้วตั้งชื่อว่า ‘Hybrid’
ฟิลเตอร์ตัวแรก Linear (Fast) นั้น ทางผู้ผลิตแนะนำว่าเหมาะกับเพลงที่มีทรานเชี้ยนต์แรงๆ เพราะฟิลเตอร์ตัวนี้ให้เสียงแหลมที่สะอาด ส่วนตัวที่สอง Linear (Slow) จะให้เบสที่ดีดเด้งมากกว่าตัวแรก และให้เสียงแหลมที่สะอาด ซึ่งผู้ผลิตใช้ฟิลเตอร์ตัวนี้เป็นค่าตั้งต้นสำหรับ 7000N Play มาจากโรงงาน, ฟิลเตอร์ตัวที่สาม Minimum (Fast) มักจะใช้เมื่อต้องการเน้นที่โฟกัสที่แม่นยำและเวทีเสียงที่ชัดเจน ให้เบสที่หนักแน่นมากกว่าแบบ Linear (Fast) เสียงแหลมก็สะอาด, ตัวที่สี่ Minimum (Slow) ให้เบสที่หนักหน่วง พร้อมกับอิมแพ็คที่มีแรงปะทะดี ส่วนตัวที่ห้าตัวสุดท้ายคือ Hybrid นั้น จะตอบสนองสัญญาณทรานเชี้ยนต์ได้ฉับไว ให้เบสที่หนักหน่วง และให้เสียงแหลมที่คมชัด
ประโยชน์ของการให้วงจรดิจิตัลฟิลเตอร์มาหลายแบบที่มีบุคลิกเสียงต่างกันก็เพื่อให้คุณเลือกใช้ตัวที่เหมาะสมกับแนวเพลงและบุคลิกเสียงของซิสเต็ม เพื่อให้ได้ออกมาเป็นลักษณะเสียงที่คุณชอบนั่นเอง แต่สำหรับผม หลังจากได้ทดลองฟังเทียบกันหมดแล้ว ยอมรับว่าฟิลเตอร์แต่ละตัวให้ลักษณะเสียงออกมาต่างกัน แต่ไม่ได้เยอะมากจนคิดว่าถ้าซิสเต็มอยู่ในสภาวะที่มีปัญหาแม็ทชิ่งไม่ลงตัว หรือเซ็ตอัพไม่ลงตัว น่าจะฟังความแตกต่างออกยาก ส่วนตัวผมนั้น ผมไม่ได้ให้ความสนใจในแง่บุคลิกเสียงที่ฟิลเตอร์แต่ละตัวให้ออกมา แต่ผมจะมุ่งความสนใจไปที่ผลที่ฟิลเตอร์แต่ละตัวทำให้เกิดกับคุณสมบัติทางด้าน “โฟกัส” ของเสียงมากที่สุด คือตั้งใจฟังในแง่ของเฟส โดยฟังดูว่า ถ้าฟิลเตอร์ตัวไหนทำให้เสียงเบลอมัวลงไปผมก็จะตัดทิ้งไป ซึ่งฟังออกง่ายหน่อยก็คือเสียงแหลมกับเสียงกลาง โดยที่ผมเน้นฟังที่เสียงร้องเป็นเกณฑ์ หลังจากฟังเทียบกันหมดทุกตัวแล้ว ส่วนตัวผมสรุปเลือกใช้ฟิลเตอร์ ตัวที่ 4 คือ Linear (Slow) ซึ่งให้โฟกัสของเสียงในย่านแหลมและกลางออกมาดีที่สุด (เสียงร้องออกมาดีที่สุด) ทุ้มก็ไม่ถึงกับแย่ โดยรวมถือว่าให้ค่าเฉลี่ยออกมาดีที่สุดกับเพลงทุกแนวที่ลองฟัง ใช้ตัวเดียวยืนตลอดไม่ต้องคอยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้วุ่นวาย (*DAC ระดับไฮเอ็นด์อย่าง Ayre Acoustic ตระกูล QB-9 ก็ใช้ฟิลเตอร์ Minimum Phase ตัวนี้) ถ้าคุณขี้เกียจฟังเทียบก็ใช้ตัวนี้เหมือนผมก็ได้
เมนู Volume มีอยู่ 2 เรื่องให้ปรับตั้ง เรื่องแรกคือ Power On Limit อันนี้เพื่อความปลอดภัย กรณีที่คุณใช้วิธีปรับความดังผ่านวอลลุ่มของ 7000N Play แนะนำให้คุณปรับตั้งระดับความดังที่หัวข้อ Power On Limit ไว้ให้ “ต่ำกว่า” ระดับความดังเฉลี่ยที่คุณใช้ในการฟังปกติ อย่างเช่นตั้งไว้ที่ -20dB เพราะถ้าก่อนปิดเครื่องคุณใช้วอลลุ่มสูงๆ เมื่อคุณเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ ระดับวอลลุ่มของเอ๊าต์พุตจะเลือกไปที่ -20dB ที่คุณตั้งไว้ซึ่งต่ำกว่าระดับที่คุณเล่นหลังสุดก่อนปิดเครื่อง ส่วนอีกเรื่องที่ต้องปรับตั้งที่เมนู Volume ก็คือ Output ซึ่งมีให้เลือก 2 หัวข้อคือ Adjustable (คือปรับระดับความดังได้) กับ Fixed (ความดังคงที่ระดับสูงสุด) กรณีที่คุณใช้วิธีปรับวอลลุ่มที่แอมป์ แนะนำให้ตั้งไว้ที่ Fixed จะได้เสียงที่ดีกว่าตั้งไว้ที่ Adjustable ส่วนเมนู Balance นั้นไม่แนะนำให้ปรับใช้ ไม่ต้องไปแตะ ทิ้งไว้ตรงกลางดีที่สุด
แอพลิเคชั่นที่ใช้เล่นไฟล์เพลงกับ 7000N Play
เพราะว่า 7000N Play เป็นเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ที่ออกแบบโดยอาศัยพื้นฐาน UPnP มันจึงสามารถใช้งานร่วมกับแอพลิเคชั่นของ third party ที่เล่นไฟล์เพลงบนมาตรฐาน UPnP ได้หมด ยกตัวอย่างเช่นแอพ MConnect หรือโปรแกรม 8Player Pro ก็สามารถเล่นไฟล์เพลงแล้วส่งสัญญาณ PCM มาที่ 7000N Play เพื่อให้แปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกออกมาได้
แต่เนื่องจาก 7000N Play ถูกออกแบบและปรับจูนมากับเทคโนโลยีของ DTS Play-Fi เมื่อลองเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ MConnect กับแอพ DTS Play-Fi (บนอุปกรณ์พกพาตัวเดียวกัน) เทียบเสียงกันแล้ว เห็นได้ชัดว่า แอพฯ DTS Play-Fi ให้เสียงออกมาดีกว่าเล่นด้วยแอพ MConnect อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเล่นไฟล์ระดับไฮเรซฯ อย่าง 24/192 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าแอพ DTS Play-Fi ให้ไทมิ่งของเสียงที่ดีกว่ามาก ในเมื่อแอพ DTS Play-Fi มีให้โหลดมาใช้กับ 7000N Play ได้ฟรี ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปใช้แอพเพลเยอร์ตัวอื่น
แอพลิเคชั่น DTS Play-Fi
เป็นแอพฯ ที่ออกแบบโดย DTS เป็นระบบปิด ให้มาใช้เล่นไฟล์เพลงร่วมกับตัวมิวสิค สตรีมเมอร์ที่รองรับกับเทคโนโลยีที่ DTS ออกแบบขึ้นมาเท่านั้น
แอพ DTS Play-Fi ตัวนี้มีทำออกมารองรับแทบจะทุกแพลทฟอร์มบน device ที่มีใช้อยู่ในโลกใบนี้ คือรองรับทั้งอุปกรณ์พกพาและบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะครบหมด ผมดาวน์โหลดมาติดตั้งบน iPad Pro เพื่อใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงบนตัว 7000N Play หลังจากติดตั้งลงบน iPad Pro เสร็จแล้ว หน้าตาของแอพหลังเปิดขึ้นมาครั้งแรกเป็นแบบที่เห็นข้างบนนั้น เริ่มต้นใช้งานก็จิ้มลงไปที่เครื่องหมายบวกที่อยู่ตรงกลาง
จะปรากฏหน้าต่างเล็กๆ ที่ชื่อว่า Start ซ้อนขึ้นมา ให้ติ๊กเลือกที่หัวข้อ CRITICAL LISTENING MODE ไว้ที่ตำแหน่งเปิดใช้งาน (ศรชี้ สีแดง) ตามภาพข้างบน และจิ้มไปที่ 7000N (ศรชี้ สีฟ้า) ซึ่งก็คือ 7000N Play ของเราที่ติดตั้งอยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกับ iPad Pro ที่ใช้ควบคุมผ่านแอพ DTS Play-Fi นี่แหละ (*ไม่ว่าคุณมีอุปกรณ์ที่รองรับคำสั่งจากแอพ DTS Play-Fi ติดตั้งอยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันนี้จำนวนกี่ตัว มันจะปรากฏชื่อขึ้นมาที่หน้าต่าง Start ทั้งหมด ซึ่งคุณสามารถควบคุมได้หลายตัวพร้อมกัน อย่างเช่นสั่งให้เล่นเพลงพร้อมกัน แต่ถ้าคุณเปิดใช้งาน CRITICAL LISTENING MODE คุณจะสามารถเลือกเล่นได้แค่อุปกรณ์เดียว)
หลังจากจิ้มเลือกเข้ามาที่ 7000N Play แล้ว แอพฯ จะพามาที่หน้า Sources เพื่อให้คุณเลือกแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่จะดึงมาเล่น จะเห็นว่ามีให้เลือกเยอะมาก มีทั้งที่เป็นแหล่งที่ให้บริการฟังเพลงฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น Internet Radio ซึ่งเป็นวิทยุบนอินเตอร์เน็ต และ Media Server ซึ่งก็คือ NAS ที่เราเก็บไฟล์เพลงของเราเอง กับแหล่งที่มีทั้งเวอร์ชั่นฟังฟรีและเวอร์ชั่นเก็บตังค์อย่างเช่น Spotify ไปจนถึงแหล่งที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนอย่าง TIDAL และ Qobuz ที่ยังไม่เข้ามาให้บริการในเมืองไทย ซึ่งการเข้าใช้งานแต่ละแหล่งจะต้องมีการ sign in หรือลงทะเบียนก่อน
นอกจากหน้านี้จะใช้เลือกแหล่งเก็บไฟล์เพลงแล้ว ยังเป็นทางเข้าสำหรับเมนูการปรับตั้งค่าต่างๆ ของตัว DTS Play-Fi ด้วย ถ้าต้องการเข้าไปปรับตั้งค่าให้จิ้มที่รูปเฟืองตรงมุมขวาบน (ศรชี้ สีแดง)
เมื่อจิ้มที่รูปเฟือง แอพฯ จะพาคุณมาที่หน้า Settings ซึ่งในนั้นจะมีเมนูย่อยๆ ไว้ให้คุณปรับตั้งจำนวนมาก โดยแยกออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) SETUP, 2) GROUPING, 3) VOICE SERVICES & CONTROLLERS, 4) LEARN MORE และ 5) SYSTEM
กลุ่มแรกนั้นเป็นที่รวมเมนูสำหรับการเชื่อมต่อ 7000N Play เข้ากับเน็ทเวิร์คกรณีที่ต้องการเชื่อมต่อแบบไร้สาย, เปลี่ยนชื่อของอุปกรณ์ สมมุติเช่น จาก 7000N Play เป็น “ห้องฟัง” อะไรแบบนี้ จะได้ง่ายต่อการจำกรณีที่คุณมีอุปกรณ์ที่รองรับ DTS Play-Fi มากกว่าหนึ่งตัวอยู่ในระบบ ส่วนหัวข้อ Music Servers นั้นก็มีไว้ให้เลือกเปิดโชว์บนหน้า Sources เฉพาะที่คุณใช้งานได้จริง ส่วนที่ไม่ได้ใช้งานก็สามารถสั่งปิดไม่ให้โชว์ได้ โดยจิ้มไปที่หัวข้อนี้แล้วเข้าไปสั่งปิด
กลุ่ม GROUPING นั้นเป็นการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ที่รองรับ DTS Play-Fi ที่คุณมีอยู่ทั้งหมดในรูปแบบต่างๆ ส่วนกลุ่มอื่นนอกนั้นก็เป็นการปรับตั้งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเล่นไฟล์เพลง
เลือกเล่นไฟล์เพลงผ่านแอพ DTS Play-Fi
กลับมาที่ไฟล์เพลงที่จะเลือกเล่นผ่านแอพฯ ตัวนี้อีกที ซึ่งทั้งหมดจะอยู่บนหน้า Sources ของแอพฯ ตัวนี้ ผมลองเลือกเล่นไฟล์เพลงของผมเองที่เก็บอยู่บนใน NAS ที่เชื่อมต่ออยู่กับเน็ทเวิร์คเดียวกับ 7000N Play และ iPad Pro ที่ติดตั้งแอพฯ DTS Play-Fi ตัวนี้
โดยจิ้มไปที่ Media Server (ศรชี้ สีฟ้า)
คุณสามารถเลือกรูปแบบการโชว์อัลบั้มเพลงที่คุณเก็บไว้ใน NAS ออกมาได้หลายรูปแบบ ผมเลือกให้โชว์ขึ้นมาโดยเรียงลำดับตาม “ชื่ออัลบั้ม” ซึ่งแอพฯ ตัวนี้ก็ยังคงแสดงภาพปกอัลบั้มขนาดเล็กไว้ทางด้านซ้าย ตามด้วยชื่ออัลบั้มและศิลปินอยู่ทางขวา ไม่มีรูปแบบการแสดงภาพปกขนาดใหญ่ที่เรียงเป็น grid เหมือนแอพฯ อื่นๆ น่าเสียดาย เพราะการแสดงอัลบั้มด้วยวิธีนี้นอกจากจะมองยากแล้ว ยังทำให้ยากในการรูดหาอัลบั้มที่ต้องการฟังด้วย น่าจะอัพเดตเปลี่ยนเป็นแสดงด้วยภาพปกขนาดใหญ่ได้แล้ว ในภาพผมลองเลือกอัลบั้มชุด A Time For Love ของ Julienne Taylor ขึ้นมาฟัง
ข้างบนนี้เป็นภาพของหน้าจอแอพฯ ขณะเล่นไฟล์เพลงที่เราเลือก ซึ่งนอกจากจะแสดงภาพปก, ชื่อเพลง–ชื่ออัลบั้ม–ชื่อศิลปิน และคำสั่งพื้นฐานที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงแล้ว บนหน้าแอพฯ นี้ยังมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้รู้ว่าไฟล์เพลงที่กำลังเล่นมาจากแหล่งไหน (ศรชี้ สีเขียว) และถ้าคุณจิ้มลงไปที่ด้านล่างของภาพปกอัลบั้มตรงศรชี้ สีเหลือง จะปรากฏรูปแบบของฟอร์แม็ตไฟล์และสเปคฯ ความละเอียดของไฟล์เพลงที่กำลังเล่นออกมาให้ดูด้วย ถ้าต้องการออกจากหน้านี้เพื่อกลับไปเลือกอัลบั้มอื่น ก็ให้จิ้มที่มุมซ้ายมือบน ตรงศรชี้ สีฟ้า
ผมทดลองเล่นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บน NAS ของผมพบว่า 7000N Play สามารถเล่นได้ตั้งแต่ระดับ 16/44.1 ขึ้นไปจนถึง 24/192 โดยไม่มีอาการสะดุดใดๆ ลื่นไหลสุดๆ แต่ก็ยังเหมือนรุ่น 6000N Play คือไม่รองรับการเล่นไฟล์ DSF ที่แพ็คสัญญาณ DSD อยู่ดี
ลองฟังเพลงจาก TIDAL
ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ TIDAL กำลังเนื้อหอม เพราะทั้งลดราคาเหลือแค่เดือนละ 139 บาท และกำลังรวบรวมไฟล์เพลงระดับไฮเรซฯ ในรูปของฟอร์แม็ต FLAC เข้ามาแทนฟอร์แม็ต MQA ที่เลิกไป โดยที่มีจำนวนไฟล์ไฮเรซฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็คล้ายกับเป็นการ “เพิ่มคุณค่า” ให้กับเครื่องสตรีมเมอร์ทางอ้อม ขอแค่ 7000N Play ตัวเดียวกับสมาชิก TIDAL แค่นี้คุณก็แฮ้ปปี้กับไฟล์เพลง FLAC ระดับ CD Quality กับไฟล์เพลง FLAC ระดับ Hi-Res จำนวนมหาศาลได้แล้ว ต่อให้คุณไม่มีซีดีซักกะแผ่น ชาตินี้ก็ฟังไม่หมดแล้ว..!!!
ใครที่ฟังเพลงจากแอพฯ ของ TIDAL โดยตรงอยู่แล้ว เมื่อย้ายมาฟังผ่านแอพฯ DTS Play-Fi ก็จะไม่งง เพราะเมนูมันคล้ายกันมาก โดยเฉพาะหัวข้อที่มีให้เลือก ที่เจ๋งมากก็คือ Playlist ที่คุณทำไว้บนแอพฯ TIDAL จะถูกส่งมาที่แอพฯ DTS Play-Fi ด้วย อันนี้สะดวกมาก.!!
หัวข้อ Settings ของ TIDAL บนแอพฯ DTS Play-Fi ก็มีแค่เลือกระดับความละเอียดของสัญญาณสำหรับการสตรีมผ่าน WiFi และสั่ง log-in/log-out จากแอพฯ TIDAL เท่านั้น
ผมลองเลือกเล่นไล์เพลงสเปคฯ ต่างๆ กับ 7000N Play ผ่านแอพฯ DTS Play-Fi โดยไล่ตั้งแต่ FLAC 16/44.1 ขึ้นไปจนถึง FLAC 24/192 ปรากฏว่าเล่นได้ฉลุย ไม่มีติดขัดใดๆ เลย เสียงออกมาดีซะด้วย..!!!
เสียงของ 7000N Play
เสียงของ 7000N Play ขยับขึ้นไปอีกระดับเมื่อเทียบกับรุ่น 6000N Play ที่ผมเคยทดสอบไปเมื่อกว่า 4 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน จากเพลงเดียวกันคือ Boyfriend ของ Selena Gomez ในอัลบั้มเดียวกันที่เคยฟังผ่าน 6000N Play เมื่อ 4 ปีก่อนแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทั้งทางด้าน “บุคลิก” และ “คุณภาพ” ของเสียงออกมาให้ได้ยินชัดเจนมาก.! เสียงของ 7000N Play ก้าวกระโดดขึ้นมาจากรุ่น 6000N Play เยอะเลย บุคลิกเสียงโดยรวมมีความเป็นไฮเอ็นด์ฯ มากขึ้น คือให้ความถูกต้องแม่นยำของเสียงสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพของเสียง คือให้ “มิติ–โฟกัส” ที่แม่นยำมากขึ้น (เฟส) ทำให้ฟังแยกแยะรายละเอียดของเสียงออกมาได้ง่ายขึ้น เพราะอาการมั่วของเสียงที่เกิดจาก phase error มีน้อยลง และยังให้ “เนื้อเสียง” ที่มีมวลอิ่มเข้มมากขึ้น ให้รายละเอียดในระดับที่เจาะลึกลงไปถึงระดับ inner detail มากขึ้น ทำให้รับรู้ได้ง่ายขึ้นว่าเสียงเครื่องดนตรีชิ้นไหนทำด้วยไม้ ชิ้นไหนทำด้วยโลหะ และให้คุณสมบัติทางด้านมูพเม้นต์ของเสียงที่ดีขึ้นมากด้วย ที่รู้สึกชัดมากคือ “ไทมิ่ง” ของเพลงที่ดำรงจังหวะตลอดทั้งเพลงได้แม่นยำมากขึ้น ทางด้าน “ไดนามิก” ก็ดีขึ้นด้วย รับรู้ได้ชัดเลยว่า นักดนตรีออกแรงกระทำกับเครื่องดนตรีแต่ละโน๊ตด้วยน้ำหนักที่ต่างกัน ไม่ได้เท่ากันไปตลอดทั้งเพลง ช่วงที่ย้ำเน้นก็รู้สึกได้ว่าเขาใส่แรงลงไปมากขึ้น และเมื่อถึงช่วงผ่อนก็เบามือลง ซึ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่เจาะลงไปถึงระดับการรับรู้ที่สัมผัสด้วย “ความรู้สึก” สำหรับบางคนมันอาจจะไม่โดดเด่นทันทีที่ฟัง แต่ถ้าให้เวลาวิเคราะห์อีกนิดจะรับรู้ได้ ส่วนคนที่มีประสบการณ์ฟังสูงๆ รับรองว่าจะรู้สึกได้ตั้งแต่โน๊ดแรกที่แว่วมาเข้าหู.!!
เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ 7000N Play ให้เสียงเหนือกว่า 6000N Play ก็น่าจะเป็นเพราะ 7000N Play ใช้ชิป DAC เบอร์ ES9038Q2M ซึ่งเป็นเบอร์ที่ใหญ่กว่า ES9018K2M ที่ใช้อยู่ในรุ่น 6000N Play และให้สมรรถนะที่สูงกว่ามาก
เสียงทุ้มในเพลง Boyfriend ของ Selena Gomez ที่ได้ยินผ่าน 7000N Play มันออกมาเป็นลูกๆ หัวโน๊ตมีความชัดเจนอย่างมาก แยกออกมาเป็นลำดับ ไม่มีมัวไม่มีเบลอ หัวมาแล้วตามด้วยบอดี้ที่เข้มๆ อิ่มๆ ครบกระบวน มีคนบอกว่า เครื่องเสียงจะดีหรือไม่ดีเขาให้วัดกันที่คุณภาพเสียงทุ้มจะบอกได้ชัด ซึ่งถ้าเอาเกณฑ์นี้ตัดสิน 7000N Play ก็สอบผ่านสบาย แต่เท่าที่ผมได้ยิน นอกจากเสียงทุ้มที่มาเป็นลูกแบบเข้มๆ แล้ว ในแง่มูพเม้นต์ของเสียงแต่ละความถี่ก็มีการจัดระเบียบของ “ไทมิ่ง” ไว้ได้พอเหมาะพอเจาะอีกด้วย เป๊ะมั้ย.? เครื่องเสียงระดับราคาไม่เกิน 100K ขึ้นไปยากครับที่จะให้ไทมิ่งที่แม่นยำเป๊ะๆ โดยมากแล้วจะมีความคลาดเคลื่อนทางด้าน timing เกิดขึ้นเสมอ มากบ้าง–น้อยบ้าง ยังไงก็ต้องมี เพราะการ trim ให้ได้ timing response ตั้งแต่ต้นทางอินพุตไปยันเอ๊าต์พุตปลายทาง มันคุมยากมาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณดิจิตัล ต้องใช้ clock ที่มีความแม่นยำสูงๆ คอยควบคุมทั้งระบบ และยังต้องคัดเลือกคอมโพเน้นต์แต่ละตัวบนวงจร, ต้องจัดเรื่องไฟเลี้ยง, ไวริ่งสาย, ระบบกราวนด์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้มี latency หรืออาการหน่วงช้าเกิดขึ้นในส่วนของอะนาลอกด้วย
ถ้าไทมิ่งไม่เป๊ะ 100% เสียงจะแย่มั้ย.? ไม่ถึงกับแย่จนฟังไม่ได้ เนื่องจากเพลงเกิดจากเสียงของเครื่องดนตรีหลายๆ เสียงมารวมกันก็จริง แต่การเดินทางของแต่ละเสียงที่มาบรรจบกันในแต่ละวินาทีที่สตรีมเมอร์ทำการ process (input > decoder > analog out) สัญญาณออกมานั้นได้ถูก merge เป็นเนื้อเดียวกันมาจากสตูดิโอเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ถ้าขั้นตอนที่สตรีมเมอร์ทำการ process มี latency หรืออาการหน่วงช้าเกิดขึ้น ผลมันก็จะไปเกิดกับทุกความถี่เสียงเหมือนกัน กลายเป็น group delay ที่หน่วงทุกความถี่เท่าๆ กัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้หน่วงเยอะมากจนทำให้ถึงกับเพี้ยน ผลที่เกิดขึ้นจริงก็คือจังหวะของเพลงจะช้าลงนิดนึง ถ้าผู้ออกแบบสตรีมเมอร์ปรับจูนมาดี ความหน่วงช้าก็จะน้อยหน่อย ถ้าไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญมากพอ หรือไม่ได้ฟังเปรียบเทียบกับสตรีมเมอร์ที่มีคุณภาพสูงมากๆ ก็อาจจะไม่รู้สึกว่ามันช้า โดยมากจะช้าแค่ระดับมิลลิเซคัลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กรณีของเพลงที่ถูกหน่วงให้ช้าลงนิดหน่อยก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ในบางกรณีอาจจะกลายเป็น “สีสัน” ช่วยเสริมให้ฟังแล้วเกิดอรรถรสมากขึ้นก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเพลงเศร้าที่มีลีลาเนิบช้า เมื่อถูกหน่วงให้ช้าลงไปอีกนิดหน่อยมักจะมีผลทำให้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกเศร้ามากยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียที่เกิดจากอาการหน่วงช้าของเสียงจะไปส่งผลชัดเจนกับเพลงเร็วที่มีลีลาการบรรเลงที่ฉับไว คือจะไปทำให้ชิ้นดนตรีที่บรรเลงด้วยความเร็วสูงๆ มีมูพเม้นต์ที่พร่ามัว เบลอ ขาดโฟกัส
อัลบั้ม : Touch Yello (Deluxe) (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Yello
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/64629984?u)
จากการทดลองฟังเพลงที่มีการบรรเลงของเครื่องดนตรีจำนวนมากพร้อมๆ กันอย่างเช่นเพลง The Expert ของวง Yello ซึ่งเป็นแทรคแรกในอัลบั้มชุด Touch Yello ผมพบว่า 7000N Play สามารถแยกแยะรายละเอียดของเพลงนี้ออกมาได้ชัดเจนมาก แต่ละเสียงจะถูกจำแนกออกมาได้อย่างเด็ดขาด สิ่งที่ยังสู้สตรีมเมอร์ที่มีราคาสูงกว่า 2 – 3 เท่าตัวไม่ได้ก็มีแค่บางช่วงที่รู้สึกว่าเสียงแหลมของเพลงนี้มันมีลักษณะนุ่ม โรยตัวอยู่ด้านหลังขอบเวทีเสียง ไม่พุ่งกระจ่างชี้ชัดออกมาอย่างที่ควรจะเป็น นั่นทำให้เกิดเป็น “บุคลิกเสียง” ที่ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ 7000N Play ตัวนี้ ประกอบกับเสียงทุ้มที่อวบหนาเข้ามาเสริม ทำให้โทนเสียงของ 7000N Play ตัวนี้ไปกันได้ดีกับเพลงร้องที่มีจังหวะปานกลาง ไม่เน้นไดนามิกที่ฉับไวมากๆ
อัลบั้ม : Nothing But The Best (2008 Remastered) (TIDAL/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Frank Sinatra
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/23031374?u)
อัลบั้ม : The Nat King Cole Story (FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Nat King Cole
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/147092?u)
พอเริ่มจับแนวเสียงของสตรีมเมอร์ตัวนี้ได้ ผมเลยจิ้ม TIDAL เลือกเพลงร้องแนวที่เน้นความอิ่มหนา อย่างเช่นเพลง Fly Me To The Moon ของ Frank Sinatra จากอัลบั้มชุด Nothing But The Best (2008 Remastered) กับเพลง Nature Boy ของ Nat King Cole จากอัลบั้มชุด ขึ้นมาลองฟัง ปรากฏว่าแจ็คพ็อต ไปกันได้ดีมาก..!!
เสียงร้องของนักร้องชายระดับตำนานทั้งสองคือ Nat King Cole และ Frank Sinatra ลอยผ่านลำโพงออกมาด้วยลีลาที่ชุ่มฉ่ำ บอดี้เสียงอวบใหญ่ ลีลาอารมณ์ของเพลงมาเต็ม ทั้งอ่อนช้อย อ้อยอิ่งและกินใจ.! เป็นแนวเสียงที่ตรงกับยุคสมัยของเพลงอย่างยิ่ง ถือว่า 7000N Play ตีบทแตกกับแนวเพลงร้องที่มีสปีดระดับปานกลางแบบนี้ เมื่อบวกกับลักษณะของเสียงทุ้มที่ติดอวบหนานิดๆ ยิ่งมีส่วนช่วยทำให้เสียงของสตรีมเมอร์ตัวนี้สามารถฉีกหนีบุคลิกเสียงที่หลายๆ คนมักเรียกว่า “เสียงดิจิตัล” ที่น่าชัง (แห้ง, บาง, หยาบ) ออกไปได้อย่างสวยงาม
สรุป
ในยุคที่เงิน 139 บาทต่อเดือน ทำให้คุณกับผมและทุกๆ คนที่ใช้บริการของ TIDAL มีเพลงฟังเท่าๆ กันแบบนี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เครื่องเล่นไฟล์เพลงที่เรียกว่า “มิวสิค สตรีมเมอร์” หรือ “เน็ทเวิร์ค เพลเยอร์” แบบ 7000N Play ตัวนี้มีคุณค่ามากขึ้นมหาศาล.! โดยเฉพาะเมื่อแอพฯ Play-Fi ของ DTS ที่ใช้กับ 7000N Play ตัวนี้ได้ถูกอัพเกรดให้เล่นไฟล์เพลงระดับ Hi-Res ได้ถึงขีดสุดคือ 24/192
เมื่อสอง–สามวันที่แล้ว ผมเห็นทาง HiFi Tower ซึ่งเป็นผู้นำเข้า 7000N Play กำลังทำโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับ 7000N Play ตัวนี้จากราคาเดิมที่ 31,000 บาท ลงมาเหลือแค่ 21,900 บาท เท่านั้น.!! (*ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้.!!)
จะว่าไปแล้ว เสียงที่ผมได้ยินจากการทดลองเล่นกับ 7000N Play มา เมื่อเทียบกับราคาค่าตัว 31,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตัวแทนแจ้งมาตอนส่งเครื่องมาให้ทดสอบเมื่อประมาณสองเดือนที่แล้วก่อนทำโปรโมชั่นนี้ ผมก็ตั้งใจว่าจะติดป้าย HIGHLY RECOMMENDED! ให้ไปแล้ว.. แต่นี่ ถ้าให้เอาคุณภาพเสียงที่ได้ยินมาเทียบกับราคาโปรฯ ที่ 21,900 บาท ผมคงต้องเติมคำนำหน้าป้ายเป็น ‘Super’ HIGHLY RECOMMENDED! แล้วล่ะ เพราะเสียงที่สตรีมเมอร์ตัวนี้ให้ออกมามันเกินราคาสองหมื่นต้นๆ ไปมาก.!!!
********************
ราคา : 21,900 บาท (ราคาพิเศษจากราคาเต็ม 31,000 บาท)
(*โปรโมชั่นนี้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้เท่านั้น.!)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. HiFi Tower
โทร. 02-881-7273-5
facebook: @hifitowerShop
LineID: @hifitower