ผมใช้ลำโพง Totem Acoustic รุ่น Model 1 เป็นลำโพงอ้างอิงมาโดยตลอด จากรุ่นซิงเกิ้ลไวร์คู่ละ 39,000 บาท เมื่อสามสิบปีที่แล้ว มาจนถึง ‘The One’ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นสั่งลาสำหรับรุ่น Model 1 เจนเนอเรชั่นสุดท้าย คนที่เคยเล่นจะรู้ว่า Totem เป็นลำโพงที่เก่งทางด้านไดนามิกมากเป็นพิเศษ มันสร้างความมหัศจรรย์ให้กับคนฟังได้เสมอโดยเฉพาะรุ่นดังคือ Model 1 ที่ทุกคนได้ฟังแล้วมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าให้เสียงทุ้มที่เกินตัวและให้ไดนามิกที่เฉียบขาด สำหรับใครที่เป็นเจ้าของอยู่ หรือเคยผ่านมือมาก่อนจะรู้ว่า “ขาตั้ง” มีส่วนมากกับคุณภาพเสียงโดยรวมของลำโพงคู่นี้
Model 1 เป็นลำโพงเล็กที่ต้องการกำลังขันดันสูงกว่าที่หลายคนคาด ตอนที่ Larry Greenhill ทำการรีวิวลำโพง Model 1 ลงในนิตยสาร Stereophile เมื่อ ปี 1993 สามสิบเอ็ดปีที่แล้ว เขาใช้เพาเวอร์แอมป์ Class-A ของ Krell รุ่น KSA-250 กำลังขับ 250W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์มและ 500W ต่อข้างที่ 4 โอห์มขับลำโพงเล็กคู่นี้ โดยที่ KSA-250 จับกับปรีแอมป์แบรนด์เดียวกันรุ่น KBL เชื่อมต่อด้วยระบบบาลานซ์ XLR ซึ่งลาร์รี่รายงานไว้ในรีวิวว่า Model 1 ให้เบสที่หนักหน่วง (bass slam) และให้เสียงของวงออเคสตร้าที่มี texture ของ timbre ที่สวยงาม ตั้งแต่นั้นมา ใครๆ ก็พากันมองว่าลำโพง Totem ‘Model 1’ เป็นลำโพงกินวัตต์และต้องการขาตั้งแบบมวลเยอะ (high mass)
ขาตั้งสำหรับลำโพง Model 1
เดิมทีนั้น Target ซึ่งเป็นผู้ผลิตขาตั้งลำโพงจากประเทศอังกฤษเป็นคนทำขาตั้งที่ Larry Greenhill ใช้วาง Model 1 ตอนทดสอบ ตัวนั้นเป็นขาตั้งแบบ High Mass ที่ทำด้วยโลหะทั้งตัว เสาที่รองรับน้ำหนักมีลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สี่ต้น ทำให้มีน้ำหนักเยอะมาก ชื่อรุ่นคือ R4 ความสูง 24 นิ้ว หนักกว่าลำโพงหลายเท่า.! ซึ่งขาตั้งของ Target ตัวนั้นจะเผยความโดดเด่นทางด้านทุ้มของ Model 1 ออกมาให้ได้เห็น ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป Model 1 กระจายออกไปตกไปอยู่ในมือของนักเล่นทั่วโลก เจ้าของ Model 1 บางคนก็ค้นพบว่า การใช้ขาตั้งมวลปานกลางจะทำให้ Model 1 ฉายความมุ้งมิ้งเมลืองมลังของเสียงในย่านกลางและแหลมออกมาให้ได้ยินมากขึ้น เริ่มมีความสมดุลกับเสียงทุ้มที่เคยโดดเด่น (มากไป) สำหรับคนที่ชอบฟังเสียงกลางและแหลมมากกว่าทุ้ม ซึ่งตัวของ Vincent Bruzzese ผู้ให้กำเนิด Model 1 ก็คงจะซึมซับเอาข้อมูลเหล่านี้เข้าไป จึงได้พัฒนาปรับปรุง Model 1 เวอร์ชั่นหลังๆ ออกมาให้สามารถตอบสนองกับเสียงในย่านกลางและแหลมได้ดีขึ้นด้วยการลดพฤติกรรม “ดื้อดึง” ที่ Model 1 เคยมีต่อแอมป์ให้น้อยลง คือมีลักษณะที่ easy-to-drive มากขึ้น เป็นเหตุให้ Model 1 ยืนหยัดเป็นลำโพงสองทางวางขาตั้งที่มีฉายาว่าลำโพงล่องหนมาจนถึงประมาณ ปี 2007 คุณ Vince Bruzzese ก็ยุติการพัฒนารุ่น Model 1 ลงด้วยการเปิดตัวรุ่น ‘The One’ ออกมาเป็นเวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 20 ปีของแบรนด์และถือโอกาสปิดฉากตำนานลำโพงล่องหนลงไปด้วย (*บางกระแสมองว่า สาเหตุของการปิดไลน์การผลิต Model 1 ก็เพราะว่าทาง Dynaudio ยกเลิกการขายไดเวอร์ให้กับตลาด DIY นั่นเอง) ก่อนจะเริ่มเปิดศักราชใหม่กับ ‘Signature One’ ในอีกสิบปีให้หลัง
ใครที่ครอบครอง Model 1 อยู่ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นไหน สิ่งที่คุณต้องจัดการกับลำโพงคู่นั้นก็คือ มองหา “ขาตั้ง” มาช่วยเสริมส่งและปรับจูนลำโพง Model 1 ของคุณเพื่อให้ได้ทั้ง “คุณภาพเสียง” และ “บุคลิกเสียง” (โทนเสียง) ที่คุณต้องการ
Codas ‘ST-1’
ขาตั้งของ Codas ตัวนี้ผมเพิ่งได้รับมาทดสอบไม่กี่วันนี้เอง ซึ่งคุณเพิ่มพูน เจ้าของแบรนด์และคนออกแบบเขาตั้งใจทำขาตั้งตัวนี้ออกมาโดยใช้ลำโพง Totem เป็นต้นแบบในการปรับจูน โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า ถ้าวางลำโพงโทเท็มแล้วเสียงดี ลำโพงยี่ห้ออื่นก็ไม่น่ามีปัญหา.!
ขาตั้งรุ่น ST-1 ของ Codas ตัวนี้มีความสูง 61 ซ.ม. (ประมาณ 24.4 นิ้ว) รวมความหนาของแพลทบนและแพลทล่าง ซึ่งแผ่นแพลทบนและแพลทล่างของขาตั้งตัวนี้ทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียม 6061T6 หนา 8 ม.ม. โดยกำหนดความกว้างและลึกของแผ่นแพลทด้านบนที่ใกล้เคียงกับความกว้างและลึกของตัวตู้ลำโพง Totem ‘The One’ มาก คือความกว้างมากกว่าตัวตู้ของ The One ออกไปนิดหน่อย แต่ความลึกของแผ่นแพลทบนนั้นพอดีกับความลึกของตัวตู้ The One เป๊ะๆ.!
ส่วนที่ใช้รองรับน้ำหนักจากแพลทบนของขาตั้งคือท่อโลหะจำนวน 4 ท่อ (ศรชี้) ที่ทำตัวเป็นเหมือนเสารองรับน้ำหนักที่ติดตั้งอยู่ระหว่างแผ่นแพลทบนและแพลทล่าง ซึ่งตัวท่อทั้ง 4 ท่อนั้นเป็นท่ออะลูมิเนียม 6063 ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 ซ.ม. เท่ากันทั้ง 4 ต้นต่อข้าง
ความลึกซึ้งในการออกแบบ #1
คุณเพิ่มพูน คนทำขาตั้งตัวนี้เป็นคนที่มีไอเดียในการ “ปรับจูน” เสียงที่น่าสนใจ จากที่ได้พูดคุยกัน ดูเหมือนว่าเขาจะมีความเข้าใจเรื่องของ “วัสดุศาสตร์” อยู่พอตัว นั่นคือเหตุผลที่เขาพยายามนำเอาวัสดุหลายชนิดเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อ “ปรับจูน” ฮาร์มอนิกของเสียง โดยอาศัยผลของ reaction ที่เกิดจากการผสมรวมของเรโซแนนซ์เฉพาะตัวของวัสดุชนิดต่างๆ อย่างเช่น ในการปรับจูนเสียงของขาตั้ง ST-1 ตัวนี้ เขาได้ทำเบ้าสี่เหลี่ยมที่เจาะลึกลงไปในเนื้อของแผ่นแพลทบนลงไป 3 ม.ม. แล้วเอาแผ่นไม้อัดแผ่นสี่เหลี่ยม (ศรชี้) ที่มีขนาดกว้าง x ยาวเท่ากับเบ้าที่เจาะไว้บนแผ่นแพลทบนใส่ลงไปในเบ้า โดยที่แผ่นไม้มีความหนาเท่ากับ 4 ม.ม. เมื่อใส่ลงไปในเบ้าแล้วอัดจนแน่น ความหนาของแผ่นไม้อัดนี้จะโผล่ขึ้นมาจากเบ้าประมาณ 1 ม.ม. ด้วยเหตุนี้ เมื่อวางลำโพงลงไปบนแผ่นแพลทบน จะทำให้ฐานล่างของตัวตู้ลำโพงถูกวางอยู่บนแผ่นไม้อัดทั้งสี่แผ่นที่โผล่พ้นขึ้นมาจากเบ้าของแพลทบน นั่นก็เท่ากับว่า ฐานล่างของตัวตู้ลำโพงจะไม่แตะโดนแผ่นแพลทโลหะเลย ซึ่งคุณเพิ่มพูน อธิบายว่า เขาต้องการให้แผ่นไม้อัดทั้งสี่แผ่นนั้นทำหน้าที่สลายเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นบนตัวตู้ลำโพงลงบางส่วน จากนั้นก็ส่งต่อเรโซแนนซ์ที่แผ่นไม้รับมาจากตู้ลำโพงไปให้กับแผ่นแพลทบนที่เป็นอะลูมิเนียมอีกทอดหนึ่ง
ในการใช้งานจริง ผมแนะนำให้ใช้ดินน้ำมัน UHU ‘Patafix‘ สีเหลืองๆ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ วางบนแผ่นไม้ด้วย (ศรชี้ในรูปล่าง) เพื่อให้ดูดฐานของลำโพงไว้ มิฉนั้น ตัวลำโพงมันจะลื่นไหลได้ง่าย ปลอดภัยไว้ก่อนและเป็นผลดีต่อเสียงด้วย..
ที่ใต้แผ่นไม้ทั้งสี่แผ่น มีการทำรูไว้บนแผ่นแพลทด้วย (ศรชี้) จุดประสงค์ก็เพื่อให้คุณใช้ไขควงดันแผ่นไม้ขึ้นมา แล้ววางลำโพงลงไปบนแผ่นแพลทตรงๆ ถ้าต้องการได้โทนเสียงของแผ่นแพลทอะลูมิเนียมเต็มๆ โดยไม่มีเรโซแนนซ์ของแผ่นไม้อัดเข้ามาคั่น นี่ถือว่าเป็นเทคนิคการออกแบบที่น่าสนใจมาก เพราะมันเปิดโอกาสให้คุณทำการปรับจูนขาตั้งตัวนี้ให้มีโทนเสียงที่แตกต่างกันไปได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น หาวัสดุประเภทอื่นมาแทนที่ไม้อัดก็ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าต้องมีคนนึกถึงแผ่นยางที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าไม้แน่ๆ หรือถ้าเป็นแผ่นหินล่ะ เสียงจะออกมาเป็นยังไง..?? หรือว่าถ้าเปลี่ยนจากแผ่นไม้อัดเป็นไม้ชนิดอื่นล่ะ.. มันน่าสนุกใช่มั้ย..??
ความลึกซึ้งในการออกแบบ #2
อันนี้ต้องยกนิ้วโป้งให้เลยในความคิดสร้างสรรของคุณเพิ่มพูนซึ่งเป็นคนออกแบบขาตั้งตัวนี้.! นั่นคือเดือยแหลมที่ใช้สำหรับปรับระดับของขาตั้งที่ติดตั้งอยู่ตรงมุมทั้งสี่ของแผ่นแพลทล่าง ซึ่งนอกจากเขาจะคิดหาวิธีให้มันใช้งานง่ายที่สุด ด้วยการออกแบบกลไกไว้ให้หมุนปรับความสูง/ต่ำได้ง่ายด้วยปลายนิ้ว (ศรชี้สีฟ้า) แล้ว เขายังคำนึงถึงผลทางด้านเสียงด้วย โดยการออกแบบเดือยแหลมที่ใช้ตรงจุดนี้ออกมาด้วยวัสดุที่ต่างกัน 2 ชนิด นั่นคือ “สแตนเลส” กับ “ทองแดง” ซึ่งวัสดุทั้งสองชนิดนี้มีความหนาแน่นของเนื้อมวลที่ต่างกัน แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อเสียงที่ต่างกันด้วย หลังจากทดลองฟังเทียบกันแล้ว คุณเพิ่มพูนตัดสินใจเลือกใช้เดือยแหลมที่ทำด้วยทองแดง (ศรชี้สีแดง) ติดตั้งมาให้กับขาตั้งรุ่นนี้ เพราะเขาฟังแล้วพบว่ามันให้ผลลัพธ์ของเสียงโดยรวมออกมากลมกล่อมลงตัวมากกว่าเดือยแหลมที่เป็นสแตนเลสที่ให้เสียงออกมาติดกร้าวมากไปหน่อย อ่าา.. ลึกซึ้งมาก..!!
ตัวเดือยแหลมก็ยาวมาก เพียงพอให้หมุนปรับเพื่อจูนลำโพงให้ขนานกับพื้นได้มากแม้ว่าในสถานการณ์ที่พื้นห้องไม่เรียบก็ยังสามารถหมุนปรับจนได้ระนาบเพราะมีวงเกลียวมากพอ ซึ่งขาตั้งบางตัวให้เดือยแหลมมาแบบไม่ได้คิดเผื่ออะไรเลย บางตัวก็ขันปรับระดับยาก ต้องวิ่งหาเครื่องมือมาช่วยกันให้วุ่นวาย ยิ่งไปกว่านั้น คุณเพิ่มพูนยังให้ตัวล็อคมาถึง 2 ชั้น เมื่อคุณปรับระดับได้แล้ว คุณสามารถหมุนล็อคเพื่อตรึงแต่ละมุมของขาตั้งไว้ได้อย่างมั่นคงด้วยระบบล็อค 2 ชั้นทั้งบนและล่างด้วยวงแหวนที่แยกกัน 2 วง (ดูภาพประกอบ) นับว่าเป็นดีไซน์ที่ดีมาก.!!!
เซ็ตอัพซิสเต็มสำหรับการทดสอบ
ในเมื่อคุณเพิ่มพูนใช้ลำโพง Totem Acoustic ในการปรับจูนขาตั้งตัวนี้ ผมก็ขอใช้ลำโพง Totem ‘The One’ ของผมทดสอบขาตั้งคู่นี้ดูหน่อย.!
ในเบื้องต้น เมื่อยกลำโพง The One ลงไปตั้งบนแพลทบนของตัว ST-1 ผมพบว่าขนาดของแผ่นแพลทบนกับตู้ลำโพง The One มันพอดีกันมาก ความลึกเท่ากันเป๊ะ ส่วนด้านกว้างนั้นแผ่นแพลทบนของตัวขาตั้งจะกว้างกว่าลำโพงนิดนึง เหลือข้างละประมาณไม่ถึงเซนติเมตร ก่อนจะวางลำโพงลงไปบนแผ่นไม้ทั้ง 4 แผ่นที่รองรับอยู่บนแผ่นแพลทบน ผมแปะก้อนดินน้ำมัน UHU ก้อนเล็กๆ ลงไปที่แผ่นไม้ด้วย หลังจากทดลองฟังเสียงคร่าวๆ ดูแล้ว ผมก็ทดลองเอาแผ่นไม้อัดออก แล้วใช้ก้อนดินน้ำมัน UHU วางลงไปบนแผ่นแพลทบนของขาตั้งตรงมุมทั้งสี่ของแผ่นแพลท เสร็จแล้วลองฟังเทียบกันดู ผมพบว่า พอเอาแผ่นไม้ออกแล้ววางลำโพงลงไปบนแผ่นแพลทบนตรงๆ เสียงโดยรวมจะทึบลง มวลเสียงของแต่ละชิ้นจะมีลักษณะที่อัดแน่นมากขึ้น เข้มขึ้น ตึงตัวมากขึ้น แต่ความโปร่งลอยของแต่ละเสียงแย่ลง ฮาร์มอนิกของแต่ละเสียงก็หดแคบลง ผมทดลองเปลี่ยนลำโพงเป็น ATC รุ่น SCM7 เวอร์ชั่นแรกสุด ตู้ปิด/ทรงเหลี่ยม/หน้าดำ ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาทางเดียวกัน สรุปแล้ว ผมชอบเสียงของขาตั้งตัวนี้แบบที่มีแผ่นไม้อยู่ในเบ้ามากกว่า ต่อจากนี้ไป ในการวิเคราะห์คุณภาพและบุคลิกเสียงของขาตั้งตัวนี้ ผมจะพูดถึงเฉพาะตอนที่มีแผ่นไม้อัดอยู่เบ้าเท่านั้น
เพาเวอร์แอมป์ที่ผมใช้ทดลองฟังกับลำโพงทั้งสองคู่นั้นเป็นแอมป์โซลิดสเตทของ QUAD รุ่น Artera Stereo กำลังขับ 140W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม และ 250W ที่ 4 โอห์ม ซึ่งมากพอสำหรับขับทั้ง Totem ‘The One’ และ ATC ‘SCM7’ ส่วนแหล่งต้นทางสัญญาณผมใช้สตรีมเมอร์ตัวใหม่ล่าสุดของ Audiolab รุ่น 9000N ซึ่งเป็นสตรีมเมอร์ที่มีภาคปรีแอมป์ในตัว ยิงสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตไปที่อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ด้วยสายบาลานซ์ XLR ของ Life Audio รุ่น Gold MK II ยาว 6 เมตร เป็นซิสเต็มที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพสูงพอสำหรับทดสอบขาตั้งของ Codas ตัวนี้
เสียงของ Codas ‘ST-1’
หลังจากทดสอบแล้ว ผมพบว่า โทนเสียงของขาตั้ง Codas คู่นี้มันขยับหนีจากจุดที่ Target ‘R4’ ตั้งอยู่วิ่งเข้าไปหาจุดที่ให้เสียงเป็นกลาง (neutral) มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับข้ามฟากเลยจุด neutral เข้าไปทางโซนกลาง–แหลม ยังคงเกาะๆ อยู่ทางฝั่งทุ้มแต่ห่างจากจุดที่เป็นกลางไม่มากนัก (ดูชาร์ตประกอบข้างบน) พูดง่ายๆ ก็คือ ขาตั้ง Codas ‘ST-1’ ให้โทนเสียงที่ยังคงเด่นไปทางทุ้มมากกว่ากลาง–แหลมนิดๆ นั่นเอง
อัลบั้ม : Breaking Silence (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Janis Ian
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/169347585?u)
ผมใช้เพลง Breaking Silence เป็นเพลงอ้างอิงในการทดสอบอยู่บ่อยๆ เพราะจุดเด่นของเพลงนี้มีอยู่หลายประเด็น อย่างแรกคือ “ความกระชับ” ของจังหวะที่แม่นยำมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงกลอง, เสียงกีต้าร์ รวมถึงเสียงร้อง ทั้งหมดนั้นถูกมิกซ์มาได้อย่างลงตัว ไทมิ่งเป๊ะมาก.! เมื่อตั้งลำโพงอยู่ในตำแหน่งที่ลงตัวบนขาตั้งของ Codas คู่นี้ ผมพบว่า แต่ละเสียงในเพลงนี้ถูกแยกแยะออกมาให้ได้ยินได้ชัดมาก ทั้งตำแหน่งของแต่ละเสียงที่ชี้ชัดได้ง่ายๆ มีการจัดวางตำแหน่งที่เป็นระเบียบ มีระนาบตื้น–ลึกปรากฏออกมาให้ได้ยินแบบใสๆ รับรู้ได้ง่ายๆ เลยว่าชิ้นไหนอยู่ซ้าย–ชิ้นไหนอยู่ขวา ชิ้นไหนอยู่ใกล้ (ตื้น)-ชิ้นไหนอยู่ไกล (ลึก) มีการแบ่งระนาบของมิติด้านลึกที่ไล่เรียงลงไปหลังระนาบลำโพงเป็นชั้นๆ
เสียงร้องของเจนิส เอียนตอนขึ้นต้นเพลงที่ใช้เทคนิค overdubbing โดยฝีมือของสองผู้ช่วยซาวนด์เอนจิเนียร์ Carry Simons กับ Patrick Kelly ที่ซ้อนเสียงร้องของเจนิส เอียนทับลงไปเป็นชั้นๆ นั้นได้ถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน ซึ่งผมได้ยินเสียงร้องแต่ละชั้นมีการแยกเลเยอร์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด (กว่าที่เคยได้ยิน) โดยไม่มีการทับซ้อนละปนเปื้อนเข้าหากัน อันนี้นอกจากจะเป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการแยกแยะรายละเอียดของลำโพง Totem ‘The One’ แล้ว จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมพบว่า ประสิทธิภาพของ “ขาตั้ง” ก็มีส่วนสำคัญในการเปิดเผยความสามารถที่ยอดเยี่ยมของลำโพงออกมาให้ได้ยิน ถ้าขาตั้ง “จัดการ” กับเรโซแนนซ์บนตัวลำโพงไม่ดี จะทำให้เรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นบนตัวลำโพงมีการไหลวนอยู่บนตัวตู้ ส่งผลเสียทำให้รายละเอียดของเสียงในส่วนที่ละเอียดอ่อนถูกทำให้พร่าเลือนไป
เสียงกีต้าร์ทางลำโพงซ้ายลอยเด่นออกมาเต็มตัว โชว์ลีลาได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน แถมนิ่งมากด้วย ซึ่งโทนเสียงกีต้าร์ที่ออกมาก็ใกล้เคียงกับโทนของเสียงกีต้าร์จริงมาก ไม่เพี้ยนขึ้นไปทางแหลมๆ บางๆ เหมือนขาตั้งบางตัว แสดงว่าขาตั้ง Codas ตัวนี้ช่วยรักษารายละเอียดของเสียงในย่านกลางสูงเอาไว้ได้ครบ ทำให้เสียงกีต้าร์มีมวลและมีทรวดทรง ไม่แหลมๆ บางๆ ..
อัลบั้ม : Liberty (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : Anette Askvik
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/5761227?u)
อัลบั้ม : Necessarilly So… (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Siri’s Svale Band
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/88562164?u)
ตอนลองฟังเพลง Breaking Silence ของ Janis Ian ผมรู้สึกว่า ความกระชับของเสียงในย่านทุ้มของขาตั้ง Codas ตัวนี้มันน่าจะเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของขาตั้งตัวนี้ เพราะมันทำให้เสียงทุ้มที่ออกมามีลักษณะที่เก็บขมวดปลายเสียงค่อนข้างเร็ว ข้อดีคือได้เวทีเสียงที่โปร่งสะอาด ได้ยินรายละเอียดเสียงชัดและครบ เพราะการเก็บตัวเร็วของเสียงทุ้มมีผลทำให้หางเสียงทุ้ม “ส่วนเกิน” ไม่แผ่กระจายไปบดบังและผมรวมกับเสียงอื่นที่เป็นรายละเอียดเบาๆ ให้เบลอไป แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คุณสมบัติที่เก็บตัวเร็วของขาตั้งตัวนี้ทำให้รู้สึกว่าเสียงทุ้มมีปริมาณน้อยไปมั้ย.?
ผมนึกอยากได้เพลงที่ให้แอมเบี้ยนต์กว้างๆ วงเวทีเสียงแผ่ๆ มาลองฟังกับขาตั้ง Codas คู่นี้เพื่อพิสูจน์ประเด็นข้างต้นที่ผมสงสัย เลยรีบกดเพลง Liberty ของศิลปินสาวแอนเน็ต อาร์ควิค จากอัลบั้มชื่อเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่ได้ยินก็ช่วยทำให้ผมเข้าใจบุคลิกของขาตั้งตัวนี้มากขึ้น คือมันไม่ได้พยายาม “ตัดทอน” รายละเอียดในย่านทุ้มของเสียงออกไปเพื่อทำให้รู้สึกกระชับ ตรงกันข้าม ผมพบว่ามันไม่ได้พยายามที่จะ “เพิ่มขยาย” ความถี่ในย่านต่ำให้มากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น หลังจากได้ทดลองฟังเทียบกับขาตั้ง R4 ของ Target ทั้งเพลง Breaking Silence และ Liberty พบว่า Totem ‘The One‘ + ขาตั้ง R4 ของ Target ให้ปริมาณของเสียงทุ้มของทั้งสองเพลงนี้ออกมา “มากกว่า” และ “หนักกว่า” เมื่อเทียบกับฟัง Totem ‘The One‘ + ขาตั้ง ST-1 ของ Codas แต่หลังจากพิจารณาในส่วนอื่นๆ ประกอบกันไปด้วยแล้ว ผมพบว่า ขาตั้ง R4 ของ Target เลื่อนความถี่ตแบสนองของเสียงลงไปทางด้านทุ้มมากกว่ากลาง/แหลม ซึ่งต่างจากพฤติกรรมการตอบสนองความถี่ของขาตั้ง Codas ตัวนี้ ซึ่งขยับเลื่อนย่านความถี่ตอบสนองขึ้นไปทางกลาง/แหลมมากกว่า R4 จึงเป็นเหตุให้ฟังเพลง Breaking Silence ผ่านลำโพง Totem ‘The One‘ บนขาตั้ง ST-1 ของ Codas คู่นี้แล้วจะรู้สึกเหมือนเบสน้อย แต่พอเปลี่ยนมาฟังเพลงอื่นๆ อย่าง Liberty ของแอนเน็ต อาร์ควิค และเพลง Smoke Gets In Your Eyes ของวง Siri’s Svale Band ก็พบว่า เบสมันก็ไม่น้อยนะ แถมยังกระชับสะอาดและเป็นตัวเป็นตนดีด้วย
ปรับจูนได้อีกเยอะ..!!
ในการปรับจูนเสียงของลำโพง Totem ‘The One’ ตอนวางบนขาตั้ง Codas รุ่น ST-1 คู่นี้ผมพบอะไรอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือตอนที่ผมเซ็ตอัพ ‘The One’ เพื่อค้นหาระยะห่างที่ให้โฟกัสของเสียงที่คมชัดมากที่สุด ผมพบว่า ผมได้ระยะห่างของลำโพง ‘The One‘ ระหว่างข้างซ้ายและข้างขวาที่ “แคบกว่า” ที่เคยเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้มา คือหลังจากค่อยๆ บีบระยะห่างซ้าย–ขวาของ ‘The One’ เข้าหากันเรื่อยๆ ทีละนิด ผมพบว่า มันให้โฟกัสที่คมชัดมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงของแต่ละชิ้นดนตรีที่อยู่ในเพลงจะมีรูปทรงมากขึ้น เป็นตัวเป็นตนมากขึ้นและแยกห่างออกจากกันมากขึ้น จนมาถึงจุดที่โฟกัสคมที่สุดก็คือระยะห่างซ้าย–ขวาอยู่ที่ 147.5 ซ.ม. ซึ่งโดยปกติแล้ว ตอนวาง ‘The One’ บนขาตั้งตัวอื่นผมจะได้ระยะซ้าย–ขวาที่ให้ค่าเฉลี่ยลงตัวอยู่ระหว่าง 165 – 175 ซ.ม. ประมาณนี้.!!
อัลบั้ม : Submarine (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : The Marias
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/365065428?u)
ทำไมได้ระยะโฟกัสแคบขนาดนั้น.? เข้าใจว่าเป็นเพราะขาตั้งตัวนี้มันสามารถจัดการกับเรโซแนนซ์บนตัวลำโพงได้หมดจดมาก ทำให้บอดี้ของเสียงมีความ pure ตรงกับต้นฉบับ ไม่ถูกขยายให้เบลอบวมออกไปโดยเรโซแนนซ์ของตัวตู้นั่นเอง เมื่อลองฟังเพลงที่มีรายละเอียดในย่านทุ้มเยอะๆ อย่างเช่นอัลบั้มชุด Submarine ของวง The Marias พบว่ามันให้โฟกัสของทั้งเสียงร้องและเสียงเบสที่ชัดเจน มีความเป็นตัวเป็นตน โดยเฉพาะเสียงทุ้มของเพลง Run Your Mouth ออกมาเคลียร์มาก ไม่มั่วเลย นอกจากนั้น ทุกเสียงยังมีเนื้อมวลที่อิ่มและเข้มข้น มีการเคลื่อนไหวที่ฉับไว ดีดเด้ง ไม่มีอาการบวมหรืออั้นใดๆ เวทีเสียงก็แผ่กว้างออกไปรอบด้าน ฟังแล้วไม่รู้สึกอึดอัด แต่อิ่มเอมไปด้วยความแน่นของมวล (*ลืมคำว่าเสียงบางไปได้เลย..!!)
ช่วงที่ทดลองฟังขาตั้ง Codas ตัวนี้ ผมได้ทดลองทดสอบความยืดหยุ่นของขาตั้งตัวนี้ด้วยการทดลองปรับจูนเสียงของมันด้วยอุปกรณ์เสริมที่ใช้รองใต้เดือยแหลมของ Audio Bastion จำนวนสอง–สามรุ่นร่วมกับตัวรองเดือยแหลมของแบรนด์ Codas เอง สลับฟังกับขาตั้งตัวนี้ พบว่ามันให้เสียงเปลี่ยนไปตามอุปกรณ์ที่ใช้รองเดือยแหลมเหล่านี้ด้วย บางตัวทำให้เสียงของ ‘The One’ + ขาตั้ง ‘ST-1’ มีลักษณะที่โปร่งใส เด่นกลาง/แหลมมากขึ้น ในขณะที่บางตัวทำให้เสียงเบสเด่นขึ้นมามากขึ้นกว่ากลาง/แหลม สรุปว่า ขาตั้ง Codas ตัวนี้ก็มีความยืดหยุ่นต่อการปรับจูนเสียงได้กว้าง เปิดโอกาสให้คุณ “เล่น” สนุกๆ กับมันได้อีกเยอะ..
สรุป
จริงแล้ว ขาตั้ง Codas รุ่น ST-1 คู่นี้ไม่ได้ใช้งานได้ดีกับลำโพง Totem Acoustic แค่แบรนด์เดียว หลังจากทดลองฟังด้วยลำโพงของ ATC รุ่น SCM7 ก็พบว่ามันให้ “โฟกัส” ของเสียงที่โดดเด่นเป็นพิเศษ มีผลทำให้รายละเอียดของเสียงถูกปลดปล่อยออกมาอย่างชัดเจน ส่วนย่านทุ้มมีลักษณะที่กระชับ เก็บตัวเร็ว ส่งผลให้ไทมิ่งของทรานเชี้ยนต์มีความฉับไว ไม่ช้าและไม่อืดแน่นอน ใครที่ใช้ลำโพงสองทางขนาดเล็กอยู่ (*วูฟเฟอร์ไม่เกิน 6.5 นิ้ว, หน้ากว้างไม่เกิน 20 ซ.ม.หรือ 8 นิ้ว, น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม) แล้วรู้สึกว่าเสียงของซิสเต็มมันติดเฉื่อย ไม่สด เบสไม่คม แนะนำให้ไปหาโอกาสทดลองฟังเสียงของขาตั้งตัวนี้ดูสักหน่อย มันน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้..!!
********************
ราคา : 17,500 บาท / คู่
(*ราคาโปรโมทชั่นช่วงเปิดตัว จากราคาเต็ม 18,900 บาท/คู่)
********************
ออกแบบและผลิตโดย
CODAS AUDIO
********************
จัดจำหน่ายโดย :
HD HiFi Rama IX
โทร.
063-236-6193 (คุณแมน)
Line ID : novara2561
081-918-0901 (คุณต้อง)
Line ID : 0819180901
081-309-0095 (คุณต้น)
Line ID : 0813090095
083-317-6634 (คุณน๊อต)
Line ID : not05410