รีวิว Furutech รุ่น LAN-8 NCF Ethernet Cable

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยี NCF หรือ Nano Crystal Formula ของ Furutech เปิดตัวออกมานานหลายปีแล้ว ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ทางเจ้าของแบรนด์ได้นำเอาเทคโนโลยี NCF นี้ไปอะแด๊ปใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขาออกมาแล้วหลายประเภท หลายรุ่น แต่โดยส่วนตัวของผม เพิ่งจะมีโอกาสได้ทดลองทดสอบผลิตภัณฑ์ของ Furutech ตัวล่าสุดที่ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยี NCF เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง นั่นคือ NCF Clear Line-LAN Optimizer (REVIEW) และต่อมาก็ได้ลองตัวกรอง noise อีกบางส่วนที่ใช้เทคโนโลยี NCF นี้แค่ช่วงสั้นๆ ซึ่งหลังจากได้ทดสอบอุปกรณ์ของ Furutech ที่ใช้เทคโนโลยี NCF อย่างจริงๆ จังๆ แล้ว ผมก็ยอมรับว่าประทับใจกับผลลัพธ์ที่ได้มาก

LAN-8 NCF สาย Ethernet ระดับไฮเอ็นด์ฯ !!!

วันนี้ผมได้รับสายแลน (หรือ Ethernet Cable) ของ Furutech รุ่น LAN-8 NCF มาทดสอบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Furutech อีกชิ้นหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยี NCF ในการออกแบบและผลิต ว่าแต่ว่า NCF คืออะไร.? ผมเขียนถึงเทคโนโลยี NCF เอาไว้แล้วตอนทดสอบตัว NCF Clear Line-LAN Optimizer ขออนุญาตยกมาพิมพ์ซ้ำตรงนี้อีกรอบเพื่อความสะดวกสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านรีวิวตัวนั้น

NCF (Nano Crystal Formula)
สุดยอดเทคโนโลยีของ Furutech

ข้อมูลในเว็บไซต์ของ Furutech (https://www.furutech.com/technology/) ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า NCF เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ ผลึกหรือ อนุภาคขนาดจิ๋วระดับนาโนของเซรามิกกับผงคาร์บอน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว 2 อย่างมาใช้ทำเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณสมบัติเด่นอย่างแรกของผลึก/อนุภาคทั้งสองชนิดที่ว่านี้ก็คือสามารถปล่อยประจุลบ (negative ions) ออกมาเพื่อสลายไฟฟ้าสถิตย์ได้ ส่วนคุณสมบัติข้อที่สองของผลึกนี้ก็คือ สามารถเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นรังสีอินฟราเรดได้ (มีคุณสมบัติ piezoelectrical ในตัว)

ท้ายที่สุด ทาง Furutech ได้กล่าวสรุปไว้ในเว็บไซต์นั้นว่า “.. The resulting Nano Crystal² Formula is the ultimate electrical and mechanical damping material. Created by Furutech, it is found exclusively in Furutech productsแปลเป็นไทยแบบกระท่อนกระแท่นได้ว่า ผลลัพธ์ก็คือ Nano Crystal² Formula เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมทั้งทางด้านไฟฟ้าและแด้มปิ้งทางกลไก สร้างสรรขึ้นมาโดย Furutech ซึ่งจะพบเห็นการใช้เทคโนโลยี NCF นี้ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ทางแบรนด์เจาะจงเป็นพิเศษเท่านั้น.!

LAN-8 MCF Ethernet Cable
สายแลนสีม่วง

ผมเห็นบทความรีวิวสาย LAN ของ Furutechสีม่วงตัวนี้จากสื่อออนไลน์ 6Moons มาก่อนที่จะได้รับตัวจริงมาทดลองฟังซะอีก ซึ่งอ่านดูแล้วบอกได้เลยว่าน่าสนใจ เพราะค่ายนี้ไม่ค่อยจะพูดถึงสาย LAN บ่อย นานๆ จะเห็นพวกเขาพูดถึงสาย LAN สักที ได้รับตัวจริงมาทดสอบแบบนี้ก็ถือว่าถูกใจมาก เพราะกำลังอยากลองฟังอยู่พอดี.! มาดูรูปร่างหน้าตาของสาย LAN เส้นนี้ดูหน่อย

ตัวสายมาในกล่องกระดาษแข็ง ขนาดกว้าง x สูง = 18 x 20 .. กว้าง = 4.5 .. ซึ่งสาย LAN ที่บรรจุอยู่ในกล่องจะมีความยาวให้เลือกหลายขนาด เริ่มตั้งแต่ 0.6 เมตร และยาวขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยาวสุดคือ 10 เมตร ราคาก็เพิ่มขึ้นไปตามความยาว (ดูราคาท้ายรีวิว)

ภายนอกของตัวสายถูกหุ้มคลุมด้วยเส้นใยไนล่อนสีม่วง/ดำที่ถักสลับกันไปทั้งเส้น ขั้วต่อ RJ45 ที่ติดตั้งอยู่ตรงส่วนปลายสายทั้งสองข้างเป็นแบบหล่อขึ้นรูปด้วยวัสดุประเภท PVC คุณภาพสูง สีม่วงแดง มีลักษณะแข็งแต่ไม่กระด้าง

แม้ว่าสาย LAN จะเป็นสายเชื่อมต่อที่มีขั้วต่อทั้งสองด้านที่มีลักษณะ เหมือนกันและสามารถสลับเชื่อมต่อได้ทั้งสองด้าน แต่ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปซะแล้วว่า ถ้าเป็นสายเชื่อมต่อสัญญาณไม่ว่าประเภทไหน จะเชื่อมต่อด้วยสัญญาณดิจิตัลหรือเชื่อมต่อด้วยสัญญาณอะนาลอกก็ตาม ถ้าผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ในวงการเครื่องเสียงโดยเน้นทางด้าน คุณภาพเสียงมากเป็นพิเศษ พวกเขามักจะต้องมีการ กำหนดทิศทางของสายเชื่อมต่อเอาไว้ ให้รู้ว่าด้านไหนเป็น ต้นทางและด้านไหนถูกกำหนดให้เป็น ปลายทางซึ่งสาย LAN ของ Furutech รุ่น LAN-8 NCF รุ่นนี้ก็เดินมาในครรลองนั้นเช่นกัน เพราะบนขั้วต่อของสาย LAN ตัวนี้ได้ปรากฏสัญลักษณ์ที่ระบุถึง ความตั้งใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้สังเกตได้อยู่ 2 จุด จุดแรกคือ การปั๊มทั้งชื่อยี่ห้อและชื่อรุ่นลงไปในเนื้อวัสดุของขั้วต่ออย่างชัดเจน และจุดที่สองคือสกรีนลูกศรสีเทาอยู่บนขั้วต่อด้านหนึ่ง ซึ่งแสดงว่ามีการกำหนดทิศทางการเชื่อมต่อสำหรับสาย LAN ตัวนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งนั่นก็พอจะประเมินได้ว่า ผู้ผลิตเจ้านี้เขาให้ความสำคัญกับ คุณภาพเสียงแน่ๆ

รูปร่างภายนอก

เส้นตัวนำทั้งหมดของสาย LAN ตัวนี้ถูกห่อหุ้มอยู่ภายใต้เส้นใยไนล่อนสีม่วง/ดำที่ถักทอตลอดทั้งเส้น ส่วนขั้วต่อทั้งสองด้านหล่อขึ้นมาด้วยวัสดุพิวีซีเกรดดี ขนาดของขั้วต่อไม่ได้ใหญ่โตมากแต่ก็ให้ความรู้สึกที่แน่นหนาแข็งแรง ส่วนปลายที่เป็นหน้า contact ที่ยื่นยาวออกไปจากบอดี้ของตัวขั้วต่อประมาณ 1.5 .. นั้นถูกหุ้มห่อด้วยพลาสติกใสเนื้อแข็งที่มีระบบล็อค ภาพล่างแสดงให้เห็นถึงหน้าสัมผัสทั้ง 8 เส้นที่ใช้เชื่อมต่อเพื่อรับ/ส่ง ข้อมูล/สัญญาณผ่านการชุบทองมาเงาวับ

โครงสร้างภายในตัวสาย

1. เส้นใยไนล่อนสาน
2. พีวีซีแบบอ่อนตัว UL/CL3 กันไฟตามมาตรฐาน RoHS Compliant
3. ชีลด์ชั้นที่ 3 ด้วยเส้นใยทองแดงบริสุทธิ์ถักสานเป็นตาข่าย
4. ชีลด์ชั้นที่ 2 ด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์
5. ชีลด์ชั้นที่ 1 ด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์
6. ฉนวน PE ที่หุ้มตัวนำ
7. เส้นตัวนำ ทองแดง OCC ขนาด 24AWG เคลือบเงิน

เพราะสาย LAN ของฟูรูเทคตัวนี้เป็น Cat.8 แบบ S/FTP twisted pair ที่ตั้งใจทำออกมาให้ใช้สำหรับการเชื่อมต่อ Ethernet เน็ทเวิร์คระดับกิกะบิต และสำหรับการรับ/ส่งสัญญาณแบบ high-speed ที่รองรับแบนด์วิธได้สูงถึง 2000 MHz.! (มากกว่า Cat.7 ถึง 3.3 เท่า.!!) พวกเขาจึงใส่ใจในรายละเอียดหลายๆ จุดที่ส่งผลกับการนำ/ส่งสัญญาณเป็นพิเศษ เริ่มจากใช้วัสดุโลหะที่หุ้ม (shell) ส่วนปลายของขั้วต่อที่ผ่านเทคโนโลยี NCF เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแด้มปิ้งทั้งทางด้านไฟฟ้าและกลไก ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่า ในส่วนนี้จะส่งผลกับเสียงทางด้านมิติด้านลึกของเวทีเสียง และโฟกัสของเสียงที่ดีขึ้น และยังส่งผลกีต่อคุณสมบัติทางด้านฮาร์มอนิกกับโทนัลบาลานซ์ด้วย ไม่หมดแค่นั้น เขายังอ้างอีกว่า ทางด้านความถี่ต่ำจะสะอาดขึ้น ทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลที่ได้มาจากระดับของ noise floor ที่ต่ำมากๆ ของสาย LAN-8 NCF ตัวนี้นี่เอง.!!

และที่สำคัญมากๆ อีกจุดคือ ตัวนำซึ่งพวกเขาเลือกใช้เส้นโลหะทองแดง OCC ขนาด 24AWG ที่ผลิตโดยเทคโนโลยี Alpha ของฟูรูเทคเอง ประกอบกับการเคลือบผิวด้วยเงินเพื่อช่วยลดการสูญเสียของสัญญาณขณะนำส่งผ่านสายแลนตัวนี้ และยังทำให้สปีดของเน็ทเวิร์คไม่ตกด้วย

ชีลด์คือหัวใจของ LAN Cat8

สาย LAN Cat8 สามารถใช้งานร่วมกับ Cat6 และ Cat7 ได้ ซึ่งคุณสมบัติของ Cat8 ที่สูงกว่า Cat6 และ Cat7 ก็คือ noise floor ที่ต่ำกว่า รวมถึงมีปัญหา กวนข้ามช่อง” (crosstalk) ต่ำกว่าด้วย ซึ่งทั้งสองคุณสมบัตินั้นได้มาจากการชีลด์ที่เข้มข้น คือใน Cat8 จะมีการชีลด์ถึง 3 ชั้น เริ่มจากชีลด์เส้นตัวนำ แต่ละคู่ในจำนวนทั้งหมด 4 คู่ ที่ตีเกลียว twisted pair กันมา จากนั้นตัวนำ twisted pair ทั้งสี่ชุดก็จะถูกชีลด์ทับอีกชั้นด้วยแผ่นฟอยล์ และบนแผ่นฟอยล์ชั้นนอกสุดก็ยังมีเส้นใยทองแดงที่สานเป็นตาข่ายซึ่งมีคุณสมบัติเป็นชีลด์หุ้มทับลงบนโครงสร้างทั้งหมดอีกชั้น ก่อนจะไปถึงท่อโฟม PE OD และเส้นใยไนล่อนที่หุ้มเป็นชีลด์ด้านนอก..

ทดลองใช้งาน

ใช้กับ NAD รุ่น M66

ผมทดลองใช้งานเพื่อทดลองฟังเสียงของสาย LAN ของ FurutechLAN-8 NCFตัวนี้เป็นสายเชื่อมต่อในการรับ/ส่งสัญญาณเสียงและรับ/ส่งข้อมูลสื่อสารระหว่างสตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัว คือ NADM66และ Audiolab9000Nกับสตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ตคือ Roonnucleus+กับ InnuosPULSEที่ไม่มี DAC ในตัว

ใช้งานกับสตรีมมิ่ง ทรานสปอร์ต Innuos รุ่น PULSE

อย่างแรกที่ชอบคือสาย LAN ตัวนี้มันนิ่ม ให้ตัวได้เยอะ ไม่มีปัญหากับการใช้งานในซอกหลืบที่มีพื้นที่จำกัด ตัวขั้วต่อก็มีกลไกล็อคตรึงกับตัวเครื่องได้ดี สำหรับคนที่สนใจสาย LAN ตัวนี้แนะนำให้กะประมาณความยาวให้พอดีๆ กับระยะใช้งานจริงไว้ก่อน เหลือให้สายหย่อนตัวนิดนึงก็พอ ไม่จำเป็นต้องยาวมาก สำหรับซิสเต็มทั่วๆ ไปคิดว่าความยาวที่ 1.2 เมตร กำลังดี

ใช้งานกับ Streamer/DAC/Pre ของ Audiolab รุ่น 9000N

สิ่งที่ต้องระวังหน่อยตอนเชื่อมต่อสาย LAN ตัวนี้คือเช็คทิศทางในการเชื่อมต่อ แนะนำให้ดูทิศทางจากลำโพงที่พิมพ์อยู่บนขั้วต่อด้านหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่นำสาย LAN ตัวนี้ไปใช้เชื่อมต่อระหว่าง Router กับ Streamer ให้เสียบขั้วต่อที่มีลูกศรชี้ไว้ที่ตัวสตรีมเมอร์ซึ่งเป็นปลายทาง และใช้ขั้วต่อด้านที่ไม่มีลูกศรเสียบเข้าที่ Router ซึ่งเป็นต้นทาง หรือถ้าระบบเน็ทเวิร์คของคุณมีการใช้ตัว network switch ช่วยกระจายเน็ทเวิร์ค ก็ให้ใช้ขั้วต่อด้านที่ไม่มีลูกศรเสียบเข้าที่ตัว network switch ซึ่งเป็นต้นทาง

เสียงของสายแลน FurutechLAN-8 NCF

อย่างแรกที่อยากจะบอกหลังจากใช้งานสาย LAN ตัวนี้มานานเกินเดือน คือมันใช้เวลาเบิร์นนานมาก..!! และช่วงแรกๆ ของการใช้งานหลังจากแกะกล่อง เสียงมันจะออกไปทางทึบๆ แหลมไม่เปิด กลางอั้น เบสก็ไม่ขยายลงล่าง ต้องเปิดทิ้งไปประมาณ 40 – 50 ชั่วโมง (ส่วนมากผมจะเปิดสตรีมเมอร์ทิ้งไว้ช่วงกลางคืน โดยไม่เปิดแอมป์) จึงเริ่มฟังได้ ความถี่ทั้งหมดเริ่มเปิดตัวออกมา เหมือนดอกไม้เริ่มผลิกลีบบาน พอถึง ชั่วโมงที่ 70 ความผ่อนคลายก็เริ่มมา หางเสียงเริ่มทอด ไทมิ่งเริ่มถูกต้อง ไดนามิกเริ่มสวิงเต็ม เวทีเสียงขยายตัวออกไปรอบด้านมากขึ้น โดยสรุปถือว่าฟังเอาเรื่องได้แล้ว แต่สุดท้ายผมก็รอจนเลย ชั่วโมงที่ 100 จึงเริ่มฟังเก็บข้อมูล

ผมมีประสบการณ์กับสาย LAN มาเยอะแล้ว เรียกว่าฟัดกับสาย LAN มาตั้งแต่เริ่มต้นเล่นไฟล์เพลงด้วยเน็ทเวิร์ควันแรกก็เจอแล้ว (ปัจจุบันผมเล่นเน็ทเวิร์คสตรีมมิ่งมาสิบกว่าปีแล้ว.!) ในอดีตนั้นผมเคยลองฟังมาตั้งแต่สาย LAN เส้นสีฟ้าเมตรละ 80 บาท ซื้อจากร้านคอมพิวเตอร์แถวๆ ชั้นสามที่ห้างฟอร์จูน ซึ่งในตอนแรกนั้นบอกตรงๆ เลยว่า ยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่า อิทธิพลของสาย LAN มันมีอยู่มากน้อยแค่ไหน คือคนส่วนมากในยุคนั้นที่ติว่าเสียงของเครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คมันบาง ไม่อิ่ม ดุลเสียงก็ไม่ดี มีแต่แหลมไม่ค่อยมีทุ้ม เสียงไม่อบอุ่นนุ่มหนาเหมือนเสียงของเครื่องเล่นซีดี แต่เชื่อมั้ยว่า.. แทบจะไม่มีใครคิดเลยว่า ต้นเหตุของเสียงที่ออกมาบาง แหลม และหยาบกระด้างนั้นมันเป็นเพราะเขาใช้สาย LAN ที่ยังไม่ดีพอ..!!

สาย LAN ชุดแรกที่ผมพบว่ามันให้เสียงที่ แตกต่างและ ดีกว่าสาย LAN เส้นสีฟ้าขนาดที่ว่าฟังเทียบแค่ครั้งเดียวก็รู้เรื่องไม่ต้องฟังซ้ำ ก็คือสาย LAN ของแบรนด์ Audioquest รุ่น Forrest เส้นสีเขียวคาดด้วยเส้นดำ ซึ่งในขณะนั้นราคาประมาณ 4 – 5,000 บาทต่อเมตร ผมใช้สาย LAN ของออดิโอเควสเส้นนั้นมานานหลายปี ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นสาย LAN ที่เป็น Cat6a ของ Link เส้นสีขาวเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา คุณอึ่งเป็นคนประกอบให้ และหลังจากนั้นแค่ปีเดียวก็เปลี่ยนมาเป็นสาย LAN Cat8 ของ Link เส้นสีเหลือง และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปตั้งแต่สาย LAN Cat5e เส้นสีฟ้าเมตรละ 80 บาท, สาย LAN Cat6 ของ Audioquest รุ่น Forrest จนมาถึงสาย LAN Cat8 เส้นสีเหลืองของ Link ผมพบว่า แต่ละช่วงที่เปลี่ยนมาผมพบว่า เสียงของชุดสตรีมมิ่งของผมได้รับการพัฒนาทางด้านคุณภาพเสียงมาโดยตลอด ซึ่งลักษณะของเสียงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปลี่ยนมาใช้สาย LAN ที่ดีขึ้นมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ ที่รับรู้ได้

ประเด็นแรกคือ ความเนียนสะอาดของเนื้อเสียงซึ่งจะจับความแตกต่างได้ชัดเจนที่สุดจากย่านเสียงแหลมกับเสียงกลาง ซึ่งสาย LAN คุณภาพต่ำ จะให้เสียงกลางกับเสียงแหลมที่มีเม็ดเกรนหยาบๆ ปนอยู่ในเนื้อเสียง ยิ่งเปิดดังจะยิ่งรับรู้ได้ชัด และยิ่งเป็นเพลงที่มีคุณภาพการบันทึกเสียงไม่ดีจะยิ่งออกมาแย่มาก คือจะมาพร้อมทั้งความหยาบและความแห้งสากหู ซึ่งสาย LAN ที่ออกแบบมาดีจะทำให้ความหยาบแห้งที่ว่านี้ลดน้อยลง ถ้าฟังเพลงที่บันทึกดีมากๆ ก็จะไม่มีอาการหยาบและแห้งออกมาให้ได้ยินเลย

ส่วนอีกประเด็นที่แยกให้เห็นความต่างได้ชัดระหว่างสาย LAN คุณภาพต่ำกับสาย LAN ระดับออดิโอเกรด นั่นคือ ความอิ่มเข้มของมวลเสียงซึ่งสาย LAN คุณภาพต่ำจะให้เนื้อเสียงออกมาบาง ทำให้ฟังแล้วขาดน้ำหนัก ไม่อิ่มเข้ม ในขณะที่สาย LAN คุณภาพดีจะทำให้ปัญหาที่ชอบบ่นกันว่าเสียงบาง เสียงไม่อิ่ม หมดไป

Category, คุณภาพตัวนำ และระบบ Shield คือหัวใจสำคัญ

สาเหตุที่ทำให้สาย LAN ส่งผลกับ คุณภาพเสียงหลักๆ ก็เป็นเรื่องของ ความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Category ของตัวสายโดยตรง คือสาย LAN ที่มีคุณสมบัติในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณได้ เร็วกว่าจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงของเครื่องเล่นสตรีมเมอร์ที่ดีกว่าด้วย เพราะว่า ความสามารถในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณของสาย LAN ที่สูงกว่า จะทำให้ตัวสตรีมเมอร์สามารถรองรับกับสัญญาณที่มีสเปคฯ สูงๆ ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ สูงกว่าย่อมให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ ต่ำกว่า

เมื่อถูกนำไปใช้เชื่อมต่ออยู่ในระบบเน็ทเวิร์คระดับ 10 Gbps สาย LAN Cat6 จะให้สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณอยู่ที่ 250 MHz ในขณะที่สาย LAN Cat7 จะให้สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณได้สูงกว่า Cat6 เกือบสามเท่า คืออยู่ที่ 600 MHz ส่วนสาย LAN Cat8 จะให้สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณที่สูงขึ้นไปอีกเยอะ นั่นคืออยู่ที่ 2000 MHz ซึ่งนอกจาก สปีดในการรับ/ส่งข้อมูลและสัญญาณของสาย LAN Cat8 จะส่งผลดีต่อการรับ/ส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ในระบบมิวสิค สตรีมมิ่งในแง่ของการส่งไฟล์ที่มีสเปคฯ สูงๆ อย่างเช่น 32/384 และ DSD512 ได้อย่างสะดวกโดยไม่มีการตกหล่นแล้ว ยังมีคุณสมบัติของสาย LAN Cat8 อีกข้อที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงในการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์ค สิ่งนั้นก็คือ ระบบชีลด์ป้องกันการรบกวนและปัญหา crosstalk ของเส้นตัวนำที่ 4 คู่ (4 twist pairs) ที่อยู่ในสาย LAN Cat8 ซึ่งเป็นการชีลด์ที่แน่นหนามากเป็นพิเศษ

สาย LAN Cat8 ของ Furutech รุ่น LAN-8 NCF ตัวนี้ถูกผลิตออกมาตามมาตรฐานของสาย LAN Cat8 ทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องการชีลด์ ซึ่งนอกจากจะมีการชีลด์เส้นตัวนำทั้ง 3 ชั้นแล้ว สาย LAN-8 NCF ของ Furutech เส้นนี้ยังเพิ่มชีลด์ที่ด้านนอกด้วยท่อโฟม PE กับหุ้มทั้งหมดด้วยเส้นใยไนล่อนถักอีกชั้นเพื่อแด้มป์เพิ่มความแน่นหนาทางกลศาสตร์เข้าไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกอย่างที่ทำให้สาย LAN-8 NCF ของ Furutech เส้นนี้มีความโดดเด่นกว่าสายแลน Cat8 ทั่วไปนั่นคือ ตัวนำที่ใช้เป็นทองแดง OCC เกรดดีเคลือบด้วยโลหะเงิน เพื่อให้การนำส่งข้อมูลและสัญญาณเป็นไปด้วยความราบรื่นไม่ตกหล่น

อัลบั้ม : Saxophone Colossus (Rudy Van Gelder Remaster) (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Sonny Rollins
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/77701374?u)

อัลบั้ม : Cosmo’s Factory (TIDAL MAX/FLAC-24/192)
ศิลปิน : Creeden Clearwater Revival
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/77686187?u)

สาย LAN รุ่น LAN-8 NCF ของ Furutech สีม่วงเส้นนี้ให้เสียงที่โดดเด่นมาก มันแสดงความแตกต่างที่ฉีกหนีจากสาย LAN อื่นๆ ออกมาให้เห็น (ได้ยิน) อย่างชัดเจน ทั้ง 2 คุณสมบัติหลักๆ คือทั้ง ความเนียนสะอาดของเนื้อเสียงและ ความอิ่มเข้มของมวลเสียงซึ่งทั้ง 2 คุณสมบัตินี้มันทำออกมาได้ ดีกว่าสาย LAN Cat8 ของ Link สีเหลืองที่ผมใช้งานอยู่มากทีเดียว เมื่อสลับฟังเทียบกันระหว่างสาย LAN ทั้งสองเส้นนี้กับเพลงทั้งสองอัลบั้มข้างต้น ผมพบว่า สาย LAN-8 NCF ให้ ตัวตนของเสียงที่มีความเด่นชัดมากกว่า และอาการแตกปลายของปลายเสียงในย่านกลาง (เสียงร้องของ John Forgerty ในเพลง Long As I Can See The Light กับเสียงแซ็กโซโฟนของ Sonny Rollins ในเพลง St. Thomas) ที่ผมได้ยินตอนฟังผ่านสายแลน Cat8 ของ Link แทบจะหายไปจนหมดเกลี้ยงตอนสลับมาฟังผ่านสายแลน LAN-8 NCF ของ Furutech ซึ่งพอฟังผ่านสายแลน LAN-8 NCF ผมถึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว เสียงซิ๊กๆ ที่แกะติดมากับปลายเสียงร้องของ John Forgerty ในเพลง Long As I Can See The Light กับเสียงแซ็กโซโฟนของ Sonny Rollins ในเพลง St. Thomas นั้น แท้จริงแล้วมันคือเอสเซ่นที่มาจากการบันทึกเสียงนั่นเอง แต่มันฟังสะอาดกว่าตอนฟังผ่านสายแลนของ Link แสดงว่าสายแลนของ Link ขจัด noise ออกไปไม่หมด

อัลบั้ม : Home Again (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Doc Watson
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/3404976?u)

อัลบั้ม : Visual Voice (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Bonnie Koloc
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/105780150?u)

เพลง Down In The Valley To Pray ของ Doc Watson จากอัลบั้มชุด Home Again กับเสียงร้องของ Bonnie Koloc ในเพลง The Kitten จากอัลบั้มชุด Visual Voice เป็นเพลงที่มีแต่เสียงร้อง ไม่มีเสียงดนตรีใดๆ เลย ทำให้ง่ายต่อการใช้เป็นเพลงอ้างอิง เมื่อต้องการตรวจสอบความสามารถในการถ่ายทอดเสียงกลางของอุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งนอกจากสายแลน LAN-8 NCF เส้นนี้จะโชว์ให้เห็นถึงความสามารถในการปลดปล่อยความถี่เสียงในย่าน mid-range ออกมาได้อย่างเต็มแบนด์วิธแล้ว มันยังให้มวลเนื้อของเสียงร้องออกมาอิ่มเข้มและมีความเนียนสะอาด ปราศจากเม็ดเกรนใดๆ แสดงว่าระบบชีลด์ที่วิศวกรของ Furutech ออกแบบขึ้นมาใช้กับสายแลน LAN-8 NCF เส้นนี้ได้ผลจริง.!!

นอกจากมวลเนื้อของเสียงร้องของทั้งสองศิลปินนี้จะออกมาเข้มข้นและเนียนสะอาดแล้ว ผมยังพบด้วยว่า สายแลนของฟูรูเทคเส้นนี้ยังมีความสามารถในการถ่ายทอด dynamic contrast ของเสียงกลางออกมาได้ดีมากด้วย พิสูจน์ได้จากความอ่อนแก่ของคำร้องแต่ละคำที่ Bonnie Koloc ถ่ายทอดออกมา มันช่วงลื่นไหลและอ่อนพลิ้วได้อารมณ์มาก รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูดลมหายใจก่อนจะอัดเป็นพลังเสียงออกมา หรือแม้แต่สำเนียงเหน่อๆ ของ Doc Watson ก็ยังถูกถ่ายทอดอกมาให้รู้สึกได้อย่างชัดเจนด้วย.. น่าทึ่งมาก.!!

อัลบั้ม : Shadow (TIDAL MAX/FLAC-24/96)
ศิลปิน : Lizz Wright
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/355473283?u)

เสียงทุ้มในเพลง Sweet Feeling จากอัลบั้มชุด Shadow ของ Lizz Wright ทำให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ต่ำของสายแลนสัญชาติญี่ปุ่นเส้นนี้ได้ชัดเจนมาก แนวทางเสียงทุ้มของเพลงนี้จะมีลักษณะของมวลที่หนา นุ่ม ขยายใหญ่ และมีน้ำหนัก ซึ่งสายแลน LAN-8 NCF ก็สามารถถ่ายทอดเสียงทุ้มของเพลงนี้ออกมาได้ตรงตามแนวทางที่เพลงนี้เป็นอยู่ ที่น่าพอใจมากคือ น้ำหนัก” กระแทกของเสียงทุ้มที่สายแลนตัวนี้ให้ออกมา..

อัลบั้ม : Unusual (TIDAL MAX/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Marian Hill
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/88460315?u)

เพื่อความชัวร์ ผมรีบกดเลือกเพลง Differently ของ Marian Hill จากอัลบั้มชุด Unusual ขึ้นมาทดลองฟังทันที และสิ่งที่ได้ยินก็ช่วยยืนยันให้เห็นถึงสมรรถนะของสายแลนเส้นนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น เสียงเบสของเพลงนี้มีลักษณะที่ดีดเด้งหลุดกระเด็นออกมาจากลำโพงเป็นลูกๆ มีทั้งเบสต้น เบสกลาง และต่อด้วยเบสลึก และแต่ละเม็ดเบสที่กระเด็นออกมานั้นมีทั้งพลังดีดตัว มวลเนื้อที่เข้มและข้น และความกระชับเด็ดขาด ในขณะที่ยังคงรักษา ไทมิ่งไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่เร่งและไม่ล้า ไม่ช้าและไม่เร็ว จังหวะเพลงถูกคลี่คลายออกมาได้พอดีๆ อารมณ์เพลงจึงมาเต็ม

และคุณสมบัติที่โดดเด่นของสายแลน LAN-8 NCF อีกจุดที่ดีมากๆ คือมันตอบสนองแบนด์วิธได้กว้าง และแยกการตอบสนองความถี่ของเสียงออกมาได้เด็ดขาดมาก คือช่วงที่เสียงทุ้มในเพลงนี้กำลังดีดเด้งกันอย่างสนุกสนานนั้น ผมพบว่า เสียงของมาเรียน ฮิลล์ที่กำลังร้องเพลงไปพร้อมๆ กันนั้นมีลักษณะที่ลอยเด่นแบบนิ่งๆ โดยไม่ถูกเสียงทุ้มเข้ามารบกวนเลย ต่างคนต่างแสดงลีลากันไปโดยอิสระ แยกกันเด็ดขาดชัดเจน ในขณะเดียวกัน เสียงเคาะกระดิ่งโลหะที่แทรกตัวขึ้นมาก็มีลักษณะเป็นตัวตนที่เด่นชัด มีทั้งอิมแพ็คบอดี้หางเสียงออกมาครบองค์ประกอบ แยกขาดจากเสียงร้องและเสียงทุ้มอย่างชัดเจน

เมื่อเทียบกับสายแลน Cat8 เส้นอื่นๆ ที่ผมมีอยู่ (Link แบบขดเส้นสีเหลือง, Link แบบต่อสำเร็จเส้นสีฟ้า ซื้อจากร้าน Amorn) พบว่า สายแลน LAN-8 NCF ให้ โทนัลบาลานซ์ที่ดีกว่าสองเส้นนั้นอย่างมาก.! คือสายแลนราคาถูกของ Link ทั้งสองเส้นนั้นจะให้โทนเสียงหนักไปทางแหลมมากกว่าทุ้ม เนื้อเสียงตั้งแต่ย่านกลางลงไปถึงทุ้มมีลักษณะที่ไม่อิ่มหนา ส่วนเสียงแหลมก็ฟุ้ง ต่างจากสายแลนของ FurutechLAN-8 NCFเส้นนี้ที่ให้เสียงที่มีมวลหนา ในขณะที่เสียงแหลมก็ไม่ฟุ้ง ไม่ได้ห้วนด้วย คือเป็นเสียงแหลมที่มีบอดี้ที่เข้ม มีความกังวานของหางเสียงที่ทอดออกไปสั้นยาวตามสัญญาณต้นทาง และรับรู้ได้ถึงมวลของแอมเบี้ยนต์ที่แผ่คลุมเป็นบรรยากาศอย่างชัดเจน..

อัลบั้ม : Cantate Domino (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Oscars Motettkor
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/48304355?u)

บรรยากาศที่ได้ยินจากอัลบั้ม Cantate Domino ชุดนี้ ช่วยยืนยันให้รู้ว่า สายแลน LAN-8 NCF ของฟูรูเทคเส้นนี้ตอบสนองความถี่เสียงขึ้นไปได้สูงมากถึงระดับฮาร์มอนิกของเสียงที่แผ่ขึ้นไปทางด้านสูง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแอมเบี้ยนต์ที่ทำให้รู้สึกถึงความเปิดโล่งของโถงฮอลล์ของโบสถ์ขนาดใหญ่ และยังช่วยยืนยันให้รู้ว่าสายแลนของ Furutech เส้นนี้มีระบบกรอง noise ที่เยี่ยมยอดมากด้วย.!!

สรุป

ถ้าคุณไม่เชื่อว่าสายแลนมีผลต่อเสียง และยังใช้สายแลนธรรมดาๆ กับชุดมิวสิค สตรีมเมอร์อยู่ ก็อยากจะบอกว่าคุณกำลังพลาดอะไรดีๆ ในชีวิตไปอย่างหนึ่งแล้วล่ะ.!!

สายแลนของ Furutech รุ่น LAN-8 NCF เส้นสีม่วงนี้เป็นสายแลน Cat8 ที่ให้เสียงออกมาดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังสายแลนมาทั้งหมด มันให้คุณสมบัติของเสียงในแต่ละด้านออกมาได้ลงตัวมาก ไม่ว่าจะในแง่ของโฟกัส, โทนัลบาลานซ์, ไดนามิก และเวทีเสียง ที่โดดเด่นมากๆ ก็คือ โทนัลบาลานซ์ที่มีความเป็นกลางอย่างยิ่ง เสียงที่ออกมามีความสมดุลระหว่างความถี่หลักทั้งสามย่านคือทุ้มกลางแหลม ที่ชอบมากคือมันให้เสียงแหลมที่ไม่ฟุ้ง ไม่จ้า ไม่โพลน ไม่พุ่ง และไม่เยอะเกินไป ทำให้ฟังแล้วไม่เสียดหู แต่ยังคงให้รายละเอียดของเสียงในย่านแหลมออกมาได้ครบ เป็นสายแลนที่ผมแนะนำให้กับทุกคนที่กำลังมองหาสายแลน Cat8 ไปอัพเกรดคุณภาพเสียงของชุดสตรีมมิ่งของคุณ (ใช้ร่วมกับตัวเน็ทเวิร์ค สวิทช์ของ Clef Audio รุ่น StreamBRIDGE-X (REVIEW) เสริมส่งกันได้ดีมาก..!!!) /

********************
ราคา : (ตามความยาว)
ความยาว 0.6 เมตร = 88,00 บาท
ความยาว 1.2 เมตร = 10,300 บาท
ความยาว 1.8 เมตร = 11,800 บาท
ความยาว 2.5 เมตร = 13,500 บาท
ความยาว 3.6 เมตร = 16,300 บาท
ความยาว 5.0 เมตร = 19,750 บาท
ความยาว 7.0 เมตร = 25,950 บาท
ความยาว 10.0 เมตร = 32,150 บาท
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Clef Audio
โทร. 02-932-5981

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า