รีวิว ATC รุ่น SCM100ASL

ลำโพง Studio Monitor คือลำโพงที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในสถานการณ์ที่ต้องการความ “เหมือนต้นฉบับ” ระหว่างสัญญาณเสียง (ในรูปของสัญญาณไฟฟ้า) ที่ป้อนเข้ามาทางอินพุต (ของลำโพง) กับสัญญาณเสียง (ในรูปของคลื่นเสียง) ที่แผ่เป็นเอ๊าต์พุตออกไปจากไดเวอร์ของลำโพง ไม่ว่าจะเป็นงานบันทึกเสียง, งานมิกซ์เสียงและมาสเตอริ่งในสตูดิโอ รวมถึงงานออกอากาศของสถานีวิทยุ เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ต้องใช้ลำโพงมอนิเตอร์ทั้งสิ้น

ความแตกต่างระหว่างลำโพงมอนิเตอร์ กับลำโพงไฮไฟฯ ทั่วไป

คุณสมบัติหลักๆ ที่สำคัญที่สุดสำหรับลำโพงมอนิเตอร์ก็คือ ต้องมีความสามารถในการ “ตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบ” หรือที่ภาษาทางการใช้คำว่า ‘flat frequency responseความหมายก็คือลำโพงที่มีการถ่ายทอดความถี่เสียง “ทุกความถี่” ออกมาด้วย “ระดับความดังที่เท่ากัน” ตลอดทั้งย่านความถี่ที่ลำโพงนั้นสามารถตอบสนองออกมาได้

ในขณะที่ผู้ผลิตลำโพงไฮไฟฯ ทั่วไปจะพยายามออกแบบลำโพงของพวกเขาให้มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดความถี่เสียงที่ ออกมาครบย่านเสียงโดยเฉพาะที่เป็นย่านเสียงหลักๆ คือทุ้มกลางแหลมที่คนเรารับรู้ได้ นั่นก็หมายความว่า ไม่ว่าลำโพงไฮไฟฯ รุ่นนั้นจะเป็นลำโพงขนาดเล็กแค่ไหนก็ต้องทำให้มีเสียงทุ้มให้ได้ ถ้าปรับจูนเสียงโดยยึด ‘flat frequency responseเป็นคุณสมบัติหลัก เชื่อว่าจะขายไม่ออก..!!

ทำไม.. คุณสมบัติทางด้าน ‘flat frequency responseจึงมีความสำคัญสำหรับลำโพงมอนิเตอร์.?

สมมุติว่าคุณเป็นซาวนด์ เอนจิเนียร์ที่ทำหน้าที่ในการ mix เพลงในสตูดิโอ ต้องกำหนดความดังเบา, หนาบางของแต่ละความถี่ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าลำโพงที่คุณใช้เป็น monitor ในการมิกซ์เสียงมีคุณสมบัติในการถ่ายทอดความถี่ออกมา “ไม่ตรง” กับลักษณะความถี่ของสัญญาณที่ป้อนเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น เป็นลำโพงที่บูสต์เสียงทุ้มออกมา “มากกว่า” อินพุตที่ป้อนเข้าไป นั่นก็เท่ากับว่า ทุกเพลงที่คุณมิกซ์ออกมาจะมีปริมาณของเสียงทุ้มที่ “น้อยกว่า” ที่คุณตั้งใจจะมิกซ์ออกมาจริงๆ นั่นคือ โทนเสียงของทุกเพลงที่คุณมิกซ์ออกมาจะไม่สมดุลย์ คือโทนัลบาลานซ์จะหนักไปทางกลางกับแหลมมากกว่าทุ้ม ทั้งๆ ที่ตอนมิกซ์คุณเข้าใจว่ามันสมดุลดีแล้ว ดังนั้น เหตุผลที่คุณต้องการระบบลำโพงที่มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดความถี่ที่ตรงกับรูปแบบความถี่ของสัญญาณต้นฉบับที่ป้อนเข้าไปทางอินพุตของลำโพงคู่นั้นก็เพื่อให้คุณสามารถกำหนด ปริมาณของความถี่ทุ้มกลางแหลมของเพลงออกมาได้ “ตรง“ กับรูปแบบที่คุณต้องการมากที่สุดนั่นเอง

ข้างบนนั้นคือความหมายของลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ ซึ่งบางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมลำโพงไฮไฟฯ ต้องบู๊สต์ทุ้มหรือแหลมให้มันมีคัลเลอร์.? ทำไมไม่จัด frequency response มาให้เรียบแฟลตเหมือนลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ในสตูดิโอ..??

ก็บอกแล้วว่า ขืนจูนเสียงมาแบบนั้นจะขายไม่ได้ เพราะลำโพงไฮไฟฯ คือลำโพงที่ถูกออกแบบมาด้วยจุดประสงค์เพื่อสนองตอบกับรสนิยมในการฟังเสียงของคนทั่วไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าคนทั่วไปจะชอบลักษณะของเสียงที่มีการบูสต์ความถี่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือถ้าไม่บู๊สต์ทุ้มมากหน่อยเพื่อให้โทนเสียงออกมาอิ่ม นุ่ม ก็อาจจะบู๊สต์แหลมไว้นิดๆ เพื่อให้ได้โทนเสียงออกมาทางสดใส มีชีวิตชีวา เหตุผลก็เพราะว่า คนฟังเพลงทั่วไปต้องการลำโพงที่ให้ความถี่ออกมาครบทั้งทุ้มกลางแหลม เพื่อให้เขาสามารถฟังเพลงได้ทุกแนว

ลองนึกภาพลำโพงไฮไฟฯ ที่เป็นลำโพง 2 ทาง ขนาดไม่ใหญ่ วูฟเฟอร์ที่ใช้ขับกลางทุ้มมีขนาด ไม่เกิน 6 นิ้ว ส่วนทวีตเตอร์ขับแหลมก็มีขนาดประมาณ 1 นิ้ว ถ้าผู้ผลิตจูนเสียงลำโพงไฮไฟฯ เหล่านี้ออกมาตามมาตรฐานของลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ที่ตอบสนองความถี่ราบเรียบจริงๆ ลำโพงไฮไฟฯ เหล่านั้นก็จะตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ไม่ลึกมาก ดุลเสียงจะหนักไปทางกลางกับแหลม ส่วนเสียงทุ้มที่ออกมาก็จะมีลักษณะที่เบาบาง เพราะต้องรักษาความราบเรียบ (ความดังที่สม่ำเสมอ) ในการถ่ายทอดความถี่ตลอดทั้งย่าน 20Hz – 20kHz อาไว้ ซึ่งเป็นปัญหาแน่ๆ ถ้าคนทั่วไปนำมาใช้ฟังเพลง เพราะเขาจะไม่ค่อยได้ยินเสียงเบส หรือได้ยินก็ออกมาเบาบางมาก นี่ก็คือเหตุผลที่ผู้ออกแบบลำโพงไฮไฟฯ ขนาดเล็กจะต้องมีการบู๊สต์เสียงทุ้มขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยให้มันมีความราบเรียบเหมือนลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ในสตูดิโอ

จะว่าไป จริงๆ แล้ว ทั้งนักฟังเพลงที่เอาจริงเอาจังกับอรรถรสของดนตรี รวมถึงนักเล่นเครื่องเสียงที่มุ่งหาเสียงดีในอุดมคติ ต่างก็ต้องการลำโพงที่ตอบสนองความถี่ออกมา ตรงกับปริมาณความถี่ที่มีอยู่ในเพลงจริงๆ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น ไม่มีใครอยากได้เสียงที่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับหรอก ถ้าตั้งคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้มั้ยที่จะทำลำโพงที่มีพฤติกรรมในการตอบสนองความถี่ได้ ตรงกับต้นฉบับเป๊ะๆแบบไม่ขาดไม่เกิน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งวงการสตูดิโอและวงการไฮไฟฯ ไปพร้อมๆ กัน.?

ถ้าวันนี้คุณถามไปที่แบรนด์ ATC เขาจะตอบสวนกลับมาทันทีว่า “Yes.! We can.!!

SCM100ASL
สตูดิโอ มอนิเตอร์ที่มีเพาเวอร์แอมป์ในตัว.!

เอาจริงๆ ที่ผ่านมา ก็มีผู้ผลิตลำโพงสำหรับใช้งานในสตูดิโอหลายเจ้าที่คิดแบบนี้คือพยายามปรับจูนลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ในสตูดิโอให้สามารถใช้งานฟังเพลงในบ้านได้ดีด้วย ซึ่งในปัจจุบันโจทย์นี้มีความเป็นไปได้มากกว่าในอดีตเยอะ เหตุผลก็เพราะว่า source หรือสัญญาณต้นทางที่นักเล่นเครื่องเสียงใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่สตูดิโอใช้ อย่างพวกสัญญาณดิจิตัล hi-res ซึ่งในอดีตนั้นวงการไฮไฟฯ ไม่เคยมีใช้มาก่อนในขณะที่ในสตูดิโอใช้มาตรฐาน hi-res มานานหลายปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อสเปคฯ (frequency response + dynamic range) ของสัญญาณต้นทางที่วงการไฮไฟฯ ใช้ในอดีตอยู่ในระดับที่ ต่ำกว่าสัญญาณที่ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ในสตูดิโอใช้กันอยู่ จึงมีผลให้ระบบเพลย์แบ็คที่ใช้กับสัญญาณในสตูดิโอกับระบบเพลย์แบ็คที่ใช้กับสัญญาณในวงการไฮไฟฯ ต้องใช้มาตรฐานที่ต่างกัน พอมาถึงยุคที่มาตรฐานของสัญญาณอยู่ในระดับที่เท่ากัน จึงสามารถใช้ระบบเพลย์แบ็คร่วมกันได้

อวบหนา..

ตัวตู้ของลำโพงรุ่น SCM100ASL ของ ATC คู่นี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิมของการทำลำโพงตั้งแต่ ยุค ’70 (*ATC ก่อตั้งโดย Bill Woodman ในกรุงลอนดอน เมื่อ ปี 1974) ลุคของมันจึงมาในรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมทื่อๆ อ้วนๆ บนแผงหน้าออกแบบให้เหลื่อมกันเป็นสองชั้น ส่วนที่ติดตั้งไดเวอร์ทั้ง 3 ตัว จะยื่นล้ำออกมานิดนึง หรือจะมองว่า มีการเซาะขอบๆ ของแผงหน้าลงไปเพื่อไว้ใส่หน้ากากก็ได้

SCM100ASL เป็นลำโพง 3 ทาง ที่ใช้ไดเวอร์ 3 ตัว ช่วยกันสร้างความถี่ตั้งแต่ 32Hz – 22kHz (-6dB) ซึ่งไดเวอร์ทั้งสามตัวถูกติดตั้งอยู่บนแผงหน้าเรียงกันลงมาในแนวตั้ง โดยมีทวีตเเตอร์ซอฟท์โดมขนาด 25 .. อยู่บนสุด ถัดลงมาเป็นไดเวอร์มิดเร้นจ์ขนาด 75 .. และตัวล่างสุดเป็นวูฟเฟอร์ทรงกรวยขนาด 314 .. ตัวทวีตเตอร์กับมิดเร้นจ์ติดตั้งอยู่ในแนวตั้งบนแกน (vertical dispersion) เดียวกัน ในขณะที่แกนกระจายเสียงแนวตั้งของตัววูฟเฟอร์จะอยู่เยื้องออกมาจากแนวแกนของมิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์เล็กน้อย เวลาเซ็ตอัพใช้งาน ทางผู้ผลิตแนะนำให้วางโดยเอาไดเวอร์มิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ ชิดเข้าด้านในส่วนวูฟเฟอร์จะเยื้องออกไปอยู่ด้านข้าง

ลำโพงวางขาตั้งขนาดยักษ์.!!

แม้ว่าตัวตู้ของ SCM100ASL มีความสูงถึงแปดสิบกว่าเซ็นติเมตร และมีแผงหน้าที่กว้างถึงสี่สิบเซ็นติเมตร น้ำหนักก็มากถึงห้าสิบห้ากิโลกรัม แต่ก็มีขาตั้งมาให้ใช้ด้วยกัน เป็นขาตั้งที่ทำด้วยเหล็กกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสีดำ ตียึดเชื่อมต่อกันเป็นโครงโปร่งๆ ที่มีความกว้างและลึกเท่ากับสัดส่วนของตัวตู้ โดยมีความสูงจากพื้นขึ้นมา 20 .. สามารถใช้เดือยแหลมยกหนีจากพื้นได้

Active = มีเพาเวอร์แอมป์ในตัว..!!

ลำโพง ATC รุ่น SCM25, SCM50, SCM100 และ SCM150 ทั้ง 4 รุ่น นี้เป็นลำโพง 3 ทางที่มีแอมป์ในตัว คือเป็นแบบ active ทั้งหมด ในขณะที่สามรุ่นในนั้นคือ SCM50, SCM100 และ SCM150 มีเวอร์ชั่น passive คือแบบที่ไม่มีแอมป์ในตัวออกมาด้วย ซึ่งแยกด้วยตัวย่อที่ต่อท้ายชื่อรุ่น ถ้าเป็นโค๊ด SLก็คือเวอร์ชั่นพาสซีฟ ส่วน ASLก็เป็นเวอร์ชั่นแอ๊คทีฟ ซึ่งตัว SCM100ASL ที่ผมกำลังทำการทดสอบคู่นี้เป็นเวอร์ชั่น active โดยมีเพาเวอร์แอมป์ติดตั้งอยู่ในตัว และติดตั้งแผงระบายความร้อนประกบไว้ที่แผงหลังของตัวตู้ (ศรชี้ในภาพข้างบน)

เดิมทีนั้น ลำโพงแอ๊คทีฟของ ATC จะมีแต่เวอร์ชั่นโปรเฟสชั่นแนลที่ใช้อยู่ในสตูดิโอ เพิ่งจะมีทำเป็นเวอร์ชั่นสำหรับวงการไฮไฟฯ ออกมาภายหลัง ซึ่งทั้งสองเวอร์ชั่นนี้จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ฟังท์ชั่นที่ใช้ปรับแต่งเสียง โดยที่เวอร์ชั่นโปรเฟสชั่นแนล (ภาพล่าง) จะติดตั้งกลไกที่ใช้ปรับตั้งฟังท์ชั่น ความไวของอินพุต” (‘input sensitivity’ / ศรชี้สีฟ้า) กับปรับตั้งฟังท์ชั่น เพิ่มเสียงทุ้ม” (‘bass boost’ / ศรชี้สีแดง) ฝังอยู่บนแผงระบายความร้อนที่โผล่ออกมาที่ด้านหลังของตัวตู้ลำโพง ในขณะที่เวอร์ชั่นไฮไฟฯ ไม่มีกลไกปรับแต่งเสียงทั้งสองนั้น (ภาพบน)

ภาคแอมปลิฟายที่อยู่ในตัว SCM100ASL คู่นี้ในแต่ละข้างจะประกอบด้วยเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขับรวม 350W ต่อข้าง โดยแยกออกเป็นเพาเวอร์แอมแป์ 3 แชนเนล โดยแชนเนลที่ใช้ขับวูฟเฟอร์จะมีกำลังขับอยู่ที่ 200W ส่วนแชนเนลที่ขับมิดเร้นจ์อยู่ที่ 100W และอีกแชนเนลที่ขับทวีตเตอร์มีกำลังขับอยู่ที่ 50W นอกจากนั้น ซึ่งการเอาเพาเวอร์แอมป์เข้าไปขับไดเวอร์แต่ละตัว ตรงๆแบบนี้ยังมีข้อดีในแง่ของการปรับจูนในส่วนของ frequency, gain และ phase ของเอ๊าต์พุตที่ออกมาจากไดเวอร์ทั้งสามตัวของแต่ละข้างให้แม็ทฯ กัน และยังปรับจูนให้เอ๊าต์พุตของลำโพงซ้าย/ขวาที่แม็ทฯ กันด้วย.. “Active units have a built in three way Amplifier with frequency, gain and phase correction which has been individually optimised at the ATC manufacturing facility.”

สำหรับเวอร์ชั่นไฮไฟฯ นั้น ผู้ใช้ไม่ต้องวุ่นวายกับการปรับตั้ง bass boost กับ input sensitivity เพราะผู้ผลิตได้ตัดการปรับตั้งนี้ออกไป เหลือไว้แค่การเสียบไฟเอซี (ศรสีฟ้า) กับเสียบสายสัญญาณ (ศรสีเขียว) และกดสวิทช์เพาเวอร์ฯ สำหรับเปิด/ปิดการทำงานของภาคแอมปลิฟาย (ศรสีแดง) เท่านั้น

มีอินพุต XLR แค่ชุดเดียว

ทางผู้ผลิตคือ ATC เชื่อมั่นในการเชื่อมต่อสัญญาณด้วยอินเตอร์เฟซ XLR ที่รับ/ส่งสัญญาณแบบบาลานซ์มากกว่าซิงเกิ้ลเอ็นด์ที่ผ่านขั้วต่อ RCA พวกเขาจึงติดตั้งขั้วต่อสำหรับสัญญาณอะนาลอกอินพุตมาให้แค่ชุดเดียวคือขั้วต่อ XLR โดยเชื่อมต่อสัญญาณเฟสบวกไว้ที่ขา หมายเลข 2 และต่อเฟสลบไว้ที่ขา หมายเลข 3 ส่วนขา หมายเลข 1 เชื่อมต่อกับกราวนด์ ด้วยเหตุผลในเรื่องของสัญญาณรบกวนหรือเสียงฮัม ซึ่งการเชื่อมต่อสัญญาณแบบบาลานซ์ด้วยขั้วต่อ XLR จะแยกกราวนด์ออกจากสัญญาณโดยเด็ดขาด จึงมีโอกาสที่จะเกิดกราวนด์ลู๊ปซึ่งเป็นต้นเหตุของเสียงฮัมน้อยกว่าการเชื่อมต่อสัญญาณแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA ที่เอาขาลบของสัญญาณไปรวมกับกราวนด์

ด้วยเหตุนี้ ถ้าปรีแอมป์ หรือเอ๊าต์พุตของภาคปรีฯ ของ DAC ที่จะนำมาใช้กับอินพุตของลำโพง SCM100ASL คู่นี้มีเอ๊าต์พุต XLR มาให้เลือก แนะนำให้ใช้การเชื่อมต่อจากช่องเอ๊าต์พุต XLR แต่ถ้าปรีแอมป์ของคุณไม่มีเอ๊าต์พุต XLR ก็สามารถใช้อะแด๊ปเตอร์แปลงจาก RCA-to-XLR ได้ (ดูลักษณะการเชื่อมต่อสายภายในข้วต่อ RCA และ XLR จากภาพข้างบน)

SM75-150S
มิดเร้นจ์ มหัศจรรย์.!!

มาดูทางด้านการออกแบบกันบ้าง เริ่มที่ไดเวอร์ที่ใช้ ซึ่งพูดได้ว่า ไดเวอร์มิดเร้นจ์ทรงโดมผ้าเคลือบน้ำยาขนาด 3 นิ้ว รุ่น SM75-150S ที่ออกแบบและผลิตโดยแบรนด์ ATC คือหนึ่งในมิดเร้นจ์ไดเวอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการเครื่องเสียง เป็นที่รู้จักและยอมรับในประสิทธิภาพที่เยี่ยมยอดของไดเวอร์ตัวนี้ทั้งสามโลก คือโลกของสตูดิโอ, โลกของไฮไฟฯ และโลกของ DIYer ที่ชื่นชอบการทำลำโพงด้วยตัวเอง

ถ้าถามว่าทำไมไดเวอร์ตัวนี้ถึงได้โด่งดังนัก.? ตอบไม่ยากเลย แค่เฉพาะรูปทรงของมันก็เชื่อว่าทุกคนที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับลำโพงอยู่บ้างได้เห็นแล้วก็คงไม่เถียงว่ามันน่าทึ่งมาก.! รูปทรงที่แตกต่างไปจากไดเวอร์มิดเร้นจ์ที่มีอยู่ดาษดื่นในท้องตลาดทั่วไปซึ่งเกือบทั้งหมดจะใช้ไดอะแฟรมที่มีลักษณะเป็นกรวยที่จมเข้าไปด้านในเหมือนถ้วยในการผลักอากาศเพื่อสร้างคลื่นเสียงออกมา ในขณะที่ไดอะแฟรมของมิดเร้นจ์ตัวนี้มีลักษณะที่โค้งนูนออกมาด้านหน้า ลักษณะเดียวกับทวีตเตอร์ซอฟท์โดมแต่ใหญ่กว่ามาก

ไดเวอร์มิดเร้นจ์ตัวนี้ออกแบบและผลิตมาจากโรงงานของ ATC เอง ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ 2 เวอร์ชั่น คือเวอร์ชั่นสแตนดาร์ดที่ใช้รหัสรุ่นว่า SM75-150 กับอีกเวอร์ชั่นคือ SM75-150S โดยที่ตัวอักษร Sที่เพิ่มขึ้นมาในเวอร์ชั่นหลังมาจากคำว่า ‘Superส่วนความแตกต่างทางเทคนิคระหว่างสองเวอร์ชั่นนี้ก็อยู่ที่ก้อนแม่เหล็กที่ติดตั้งอยู่ตรงส่วนท้ายของตัวไดเวอร์ ซึ่งเวอร์ชั่นซุปเปอร์ SM75-150S ใช้แม่เหล็กที่มีน้ำหนัก 9 กิโลกรัม มากกว่าแม่เหล็กที่ใช้ในเวอร์ชั่นมาตรฐานถึง 2 กิโลกรัม (เวอร์ชั่นมาตรฐานใช้แม่เหล็กที่มีน้ำหนัก 7 กิโลกรัม) ซึ่งแน่นอนว่า ระบบแม่เหล็กที่มีน้ำหนักมากกว่าย่อมให้พลังสูงกว่า สามารถควบคุมการขยับตัวของไดอะแฟรมในการผลักอากาศได้มากกว่า

ทาง ATC กำหนดให้ไดเวอร์มิดเร้นจ์ SM75-150S ที่ใช้ในลำโพงรุ่น SCM100ASL คู่นี้รับหน้าที่ในการตอบสนองความถี่อยู่ในช่วง 380Hz – 3.5kHz ด้วยอัตราสโลป ออเดอร์ที่ 4 ซึ่งครอบคลุมเสียงโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านกลางทั้งหมด ประกอบกับมี wave guide ช่วยควบคุมมุมกระจายเสียงอยู่รอบๆ ไดอะแฟรมช่วยควบคุมเฟสให้มีความเที่ยงตรงด้วย มีผลให้ไดเวอร์มิดเร้นจ์ตัวนี้เป็นต้นตอที่มาของบุคลิกเสียงกลางที่โปร่งใสและมีความเที่ยงตรงสูง ซึ่งเป็นจุดเด่นของลำโพง ATC รุ่น SCM100ASL คู่นี้ที่ได้รับคำชื่นชมมาจากสื่อหลายสำนัก..!!

ทวีตเตอร์ตัวใหม่

จุดแข็งอันหนึ่งของผู้ผลิตลำโพงแบรนด์นี้ก็คือพวกเขาออกแบบและผลิตไดเวอร์เอง จึงมีความยืดหยุ่นสูงในการปรับจูนเสียงของลำโพงได้อย่างที่ต้องการ ยกตัวอย่างทวีตเตอร์ที่ใช้ในรุ่น SCM100ASL นี้ก็เป็นทวีตเตอร์ที่ผ่านการอัพเกรดจากเดิมมาเป็นเวอร์ชั่นใหม่ สังเกตง่ายๆ จากจำนวนน็อตที่ใช้ยึดบนเฟรมนอกของตัวทวีตเตอร์ ซึ่งในเวอร์ชั่นเก่าใช้น็อตยึด 4 ตัว ในขณะที่เวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ในรุ่น SCM100ASL ตัวนี้ใช้น็อตยึด 3 ตัว แต่จำนวนน็อตยึดอาจจะไม่ใช่ประเด็นของการอัพเกรด ชิ้นส่วนที่มีการปรับปรุงจริงๆ จะอยู่ภายใน

รหัสรุ่นของทวีตเตอร์ที่ใช้ในลำโพงรุ่น SCM100ASL ก็คือ SH25-76S ซึ่งใช้ไดอะแฟรมทรงโดมนิ่มที่ทำมาจากผ้าอาบน้ำยาโดยมีการออกแบบเทคนิคพิเศษเพื่อช่วย “สลายแรงต้าน(suspension) ของโครงสร้างที่เกิดจากการขยับตัวของโดมเพื่อรักษาการเคลื่อนที่ของโดมทวีตตอร์ให้มีความคงตัว ไม่วูบวาบจนเสียศูนย์ขณะทำงาน โดยที่พวกเขาตั้งชื่อเรียกเทคนิคพิเศษนี้ว่า Dual Suspension Tweeter คือการออกแบบให้มีวงแหวนเซอร์ราวนด์ที่อยู่รอบๆ โคนของโดมจำนวน 2 วง แทนที่จะมีแค่วงเดียว ซึ่งจะช่วยทำให้การเคลื่อนตัวของโดมทวีตเตอร์มีความเสถียรมากขึ้น ประกอบกับใช้แม่เหล็กเหลว (ferro-fluid) เข้ามาหล่อเลี้ยงเพื่อลดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของไดอะแฟรม และช่วยให้ไดอะแฟรมเคลื่อนตัวได้ระยะทางมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อไดนามิกของเสียง

ทวีตเตอร์ตัวนี้มีอยู่ 2 เวอร์ชั่น คือรหัส SH25-76 เป็นเวอร์ชั่นธรรมดา จะใช้กับลำโพงที่เป็นเวอร์ชั่นพาสซีฟ ส่วนอีกรหัสคือ SH25-76S จะใช้กับลำโพงเวอร์ชั่นแอ๊คทีฟ ซึ่งเวอร์ชั่นที่มี Sต่อท้ายจะต่างกับเวอร์ชั่นธรรมดาตรงที่ใช้แม่เหล็กที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเวอร์ชั่นธรรมดา เป็นแม่เหล็กนีโมไดเมี่ยมทรงวงแหวนเกรด N48M ที่ผ่านการออกแบบด้วยการคำนวนอย่างละเอียดจนได้ความหนาแน่นของเส้นแรงแม่เหล็กที่เกิดขึ้นระหว่างขั้วแม่เหล็กที่ สูงกว่า 2.0 เทสล่า มีผลช่วยลดความเพี้ยนฮาร์มอนิกคู่ลงไปอยู่ในระดับที่ ต่ำกว่า -70dB ตลอดย่านความถี่ตอบสนองของตัวทวีตเตอร์ เมื่อผสมผสานเอาความหนาแน่นของเส้นแรงแม่เหล็กที่หนาแน่นสูงซึ่งเกิดขึ้นตรงช่องว่างระหว่างขั้วแม่เหล็ก เข้ากับการออกแบบวอยซ์คอยสั้นๆ ให้วิ่งอยู่ในช่องแม่เหล็กที่ยาวและมีพลังสูง ส่งผลให้โดมทวีตตอร์สามารถสร้างความถี่สูงที่ไปได้ ไกลกว่า 20kHz ออกมาได้อย่างเที่ยงตรง

วูฟเฟอร์ กับท่อระบายเบส

วูฟเฟอร์ขับทุ้มขนาด 12 นิ้ว ที่ใช้ในลำโพง ATCSCM100ASLคู่นี้ ก็เป็นไดเวอร์ที่ออกแบบและผลิตโดย ATC เอง มีจุดเด่นอยู่ที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษที่พวกเขาเรียกว่า Super Linear Magnet ซึ่งส่งผลกับเสียงทุ้มที่เที่ยงตรง โดยเฉพาะเวอร์ชั่นแอ๊คทีฟที่มีการแม็ทชิ่งเพาเวอร์แอมป์ขับโดยตรง ยิ่งทำให้เสียงทุ้มของ SCM100ASL คู่นี้มีความแม่นยำมากขึ้นไปอีกขั้น.!

ส่วนท่อระบายเบสขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้วูฟเฟอร์นั้น มันถูกเจาะไว้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างจากลำโพงคอมเมอร์เชี่ยลส่วนใหญ่ คือไม่ได้ตั้งใจที่จะ extended low frequency ของระบบเพื่อเพิ่มเบสให้ลงลึกมากขึ้นและบู๊สต์เบสให้มีประมาณมากขึ้น แต่มีไว้เพื่อลดแรงต้านของมวลอากาศที่อยู่ภายในตัวตู้เท่านั้น (*ผมสังเกตได้ว่าตอนอัดด้วยเพลงที่มีเบสหนักๆ ที่ท่อระบายเบสจะมีลมออกมาน้อยมาก)

แอมป์ในตัว

เพาเวอร์แอมป์ที่ฝังอยู่ในตัว SCM100ASL มีอยู่ข้างละ 3 แชนเนล เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ภาคขยาย class-AB โดยแยกสำหรับขับวูฟเฟอร์ข้างละ 200W สำหรับขับมิดเร้นจ์ข้างละ 100W และขับทวีตเตอร์อีกข้างละ 50W นับรวมกันทั้งหมดก็คือ 350W ต่อข้าง

แม็ทชิ่ง

นับว่าเป็นข้อดีของลำโพงแอ๊คทีฟที่ช่วยให้ความยุ่งยากในการแม็ทชิ่งแอมป์หมดไป เหลือแค่การแม็ทชิ่งเกน (gain matching) ระหว่างสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจากภายนอกที่จะส่งมาที่อินพุตของ SCM100ASL เท่านั้น ซึ่งพิจารณาจากตัวเลขในสเปคฯ ที่แสดงความไวของภาคอินพุต (input sensitivity) ระบุไว้เท่ากับ 1V ซึ่งถือว่าค่อนข้างไว เมื่อเทียบกับเกนเอ๊าต์พุตของปรีแอมป์ทั่วไป หรือแม้แต่เกนเอ๊าต์พุตของ DAC ที่มีภาคปรีฯ ในตัว หรือพวก DAC/Pre เหล่านี้ซึ่งอย่างน้อยก็ให้มา 2V เป็นอย่างต่ำ บางตัวนั้นให้มาสูงถึง 4V ก็มี สูงสุดที่เคยเห็นก็คือเอ๊าต์พุตของแบรนด์ dCS ที่ให้มาสูงถึง 6V

แสดงว่าน่าจะใช้กับ external DAC ที่มีภาคปรีฯ ในตัวได้.? ถ้าพิจารณาทางเทคนิคแล้วก็ต้องบอกว่าใช้ได้ทุกตัวที่ให้เอ๊าต์พุต สูงกว่า 1V ขึ้นไปผมทดลองเอา NADM66’ (REVIEW) ซึ่งเป็น Streamer/DAC/Pre มาใช้กับ SCM100ASL โดยต่อสายบาลานซ์ XLR จากเมนเอ๊าต์พุตของ M66 ไปที่อินพุตของ SCM100ASL โดยตรง (ตามภาพข้างบน) แล้วใช้ภาคปรีฯ ในตัว M66 ควบคุมความดัง ผลปรากฏว่า เสียงออกมาดีในระดับที่น่าพอใจมาก ซึ่งเอ๊าต์พุตของ M66 ให้ไว้มากกว่าสิบโวลต์ (>10V) เรื่องเกนจึงไม่มีปัญหาในแง่ของการผลิต ความดังของเสียงออกมา ส่วนที่ต่างกันระหว่างภาคปรีฯ ของ external DAC แต่ละตัวที่ส่งผลกับเสียงจะไปอยู่ที่ปริมาณ กระแส” (current) ที่ภาคจ่ายไฟของ external DAC ตัวนั้นออกแบบไว้ (*กรณีที่โวลต์พอแต่กระแสไม่สูง = เสียงจะดังพอ แต่ไดนามิกจะสวิงได้ไม่กว้าง)

ในการทดลองฟังเสียงของ SCM100ASL ผมได้ทดลองสลับไปใช้ปรีแอมป์ของ Mola Mola รุ่น Makua (REVIEW) เป็นตัวป้อนสัญญาณอินพุตให้กับ SCM100ASL ด้วย โดยอาศัยสัญญาณอินพุตจาก external DAC ของ LAiV Audio รุ่น Harmony DAC (REVIEW) เป็นสัญญาณต้นทางของปรีแอมป์ Makua (*ใช้ Roonnucleus+เป็นทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลง) ซึ่งพบว่าเสียงที่ออกมาจาก SCM100ASL โดยรวมมีคุณภาพสูงกว่าการใช้ภาคปรีฯ ของ external DAC ขึ้นไปอีกระดับ เห็นชัดในแง่ของไดนามิกกับความแน่นของเสียง ในตอนท้ายผมสรุปคุณภาพเสียงของ SCM100ASL โดยยึดเสียงที่ได้จากการใช้ปรีแอมป์ Mola MolaMakuaเป็นตัวป้อนสัญญาณอะนาลอกให้กับอินพุต XLR ของ SCM100ASL

เซ็ตอัพ

ผมใช้วิธีการเซ็ตอัพตำแหน่งวาง SCM100ASL ในห้องของผมแบบเดียวกับที่เซ็ตอัพลำโพงอื่นๆ คือใช้หลักวางห่างผนังหลังเท่ากับ ความลึกของห้อง หาร 3บวกกับ ระยะห่างซ้ายขวาที่ 180 ..เป็นจุดเริ่มต้นในการไฟน์จูน ซึ่งระยะห่างผนังหลังเท่ากับความลึกของห้องหารด้วยสามนั้นอยู่ที่ระยะห่าง = 180 .. (5.4 หาร 3) โดยใช้ตำแหน่งที่เป็นจุดกึ่งกลางของมิดเร้นจ์เป็นเกณฑ์ในการวัดระยะ

เนื่องจากลำโพง ATC คู่นี้ยังอยู่ในสภาพใหม่ ทางตัวแทนแจ้งว่าผ่านการใช้งานมาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ผมจึงเปิดเบิร์นฯ ไว้จนครบ 100 ชั่วโมง ก่อนจะทดลองฟังเพื่อเก็บรายละเอียด ในการเบิร์นฯ ชั่วโมงแรกๆ รู้สึกได้เลยว่า เสียงโดยรวมมีความกระชับตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากเปิดใช้งานไปสัก 20 -30 ชั่วโมง เสียงโดยรวมก็มีลักษณะที่ผ่อนตัวมากขึ้น และพบว่า เสียงโดยรวมเริ่มนิ่งหลัง ชั่วโมงที่ 70 ผ่านไป หลังจากนั้น ช่วง ชั่วโมงที่ 70 ขึ้นไปถึงชั่วโมงที่ 100 เสียงก็จะดีขึ้นอีกเล็กน้อย ในแง่ของปลายเสียงกลางแหลมที่เปิดกระจ่างออกไปมากขึ้น และหางเสียงทุ้มที่แผ่ขยายออกไปมากขึ้น สุดท้ายหลังเบิร์นฯ ถึงชั่วโมงที่ 100 ไปแล้ว ผมก็ลงมือไฟน์จูนตำแหน่งลำโพงอีกครั้ง จนได้ระยะลงตัวมากที่สุดอยู่ที่ระยะห่างซ้ายขวาอยู่ที่ 174 .. และห่างผนังหลังอยู่ที่ 176 .. โดยที่แผงหน้าของตัวตู้ยิงตรงออกมาไม่โทอิน และมีการใช้จานรองเดือยแหลมของแบรนด์ Codas แบบโลหะสองกษัตริย์ ทองเหลือง+ทองแดง เข้ามารองรับเพื่อช่วยถ่ายกระจายน้ำหนักของลำโพงลงพื้นด้วย

เสียงของ ATCSCM100ASL

เสียงของ SCM100ASL คู่นี้มีเอกลักษณ์ชัดเจน เป็นลักษณะของเสียงที่เชื่อว่าอยู่ในความฝันของใครหลายๆ คน เป็นจุดหมายปลายทางของคนที่ค้นหา เสียงในอุดมคติมานาน และเป็นเสียงที่แสดงความหมายของคำว่า สด สมจริงออกมาได้ใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุด.!!

หลังจากการทดลองฟังเสียงของลำโพงคู่นี้มานานแรมเดือน ผมยอมรับว่า ลำโพง ATC คู่นี้อธิบายความหมายในแง่ของเสียงที่ สด สมจริงออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังลำโพงคู่ใดๆ มา ซึ่งคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเสียงที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึก สมจริงก็คือคุณสมบัติทางด้าน ทรานเชี้ยนต์ ไดนามิกของเสียง ที่แสดงออกมาด้วยอิมแพ็คที่เร็วทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติของเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเช่น เสียงของไม้กลองตกกระทบลงบนหนังกลอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก มันเป็นเสียงที่เกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาทีที่ไม้กลองกระทบลงบนหนังกลอง หลังจากไม้กลองตกกระทบลงบนหนังกลองแล้ว ในสภานการณ์จริงยังมีเสียงอื่นๆ ที่เกิดตามมาอีกเป็นระลอก อย่างเช่นหนังกลองที่สั่นเพราะแรงกระแทกที่มือกลองประเคนลงมากับไม้กลอง ทำให้เกิดเป็นลักษณะของเสียงที่มีแพลทเทิ้นซับซ้อน ไหลตามกันออกมาเป็นระลอกในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เสี้ยวของวินาทีหลังจากเสียงไม้กลองกระทบหนังกลองผ่านไป ซึ่งประสาทหูของเราจะรับรู้ได้เองว่ามีข้อมูลเสียงทั้งหมดนั้นถ่ายทอดผ่านลำโพงออกมา เมื่อเราได้ยินมันจริงๆ เท่านั้น

อัลบั้ม : Knock Out 2000 (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Charly Antolini
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/24577676?u)

ATCSCM100ASLคู่นี้สามารถคลี่คลาย รายละเอียดของเสียงตีกลองของ Charly Antolini ที่เกิดขึ้นในช่วงเสี้ยววินาทีออกมาได้ ครบถัวนมากที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมา ผมสังเกตจากเสียงกลองในแทรคแรกของอัลบั้มคือเพลง Sticks To Me พบว่า ในแต่ละครั้งที่ไม้กลองกระทบหนังกลองมันเป็นเสียงที่มีความกลมมนและหนากว่าครั้งก่อนๆ ที่เคยฟังมา คือเสียงกลองเดิมๆ ในความทรงจำของผมที่เคยฟังเพลงนี้ผ่านลำโพงคู่อื่นมาจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือลำโพงบางคู่ให้เสียงโน๊ตกลองแต่ละโน๊ตออกไปทางนุ่มหนา ในขณะที่เสียงของหัวไม้กระแทกหนังกลองมีลักษณะที่จมหายไปบางส่วน คล้ายกับขึงหนักลองไม่ตึง ในขณะที่ลำโพงบางคู่ให้เสียงของหนังกลองจังหวะที่ถูกไม้กลองกระแทกดังออกมาชัด หัวเสียงมีความคม พุ่งแหลมออกมา แต่ส่วนที่ควรจะเป็นเสียวของหนังกลองที่กระพือตามมาขาดหายไปบางส่วน ฟังคล้ายกับว่าหนังกลองถูกขึงไว้ตึงมาก

ก่อนหน้านี้ผมบอกไม่ได้หรอกว่า เสียงกลองของเพลง Stricks To Me ในอัลบั้มนี้ที่ผมเคยฟังมาสองแบบแรกนั้น แบบไหนคือถูกต้อง แต่ถ้าให้เลือก ผมคิดว่าแบบที่สองคือมีเสียงไม้กลองกระแทกหนังกลองออกมาชัดเจนกว่าน่าจะถูกต้องมากกว่า แต่จิตใต้สำนึกก็คอยเตือนว่ามันยังขาดอะไรไปบางอย่าง แต่พอมาฟังเพลงนี้ผ่าน SCM100ASL ความสงสัยของผมในประเด็นนี้ก็ถูกปลดล็อคทันที.! เพราะเสียงกลองแต่ละโน๊ตในเพลงนี้ได้ถูกลำโพง ATC คู่นี้ชำแหละออกมาให้ได้ยิน มากกว่าที่เคยฟังมา.!!

SCM100ASL ไม่ได้ให้แค่เสียงของไม้กลองที่กระแทกลงบนหนังกลองที่พุ่งชัดขึ้นมาเท่านั้น แต่ในเสี้ยววินาทีที่ต่อเนื่องกันนั้น ก่อนที่ไม้กลองจะหวดลงไปบนหนังกลองครั้งที่สอง ผมยังได้ยินเสียงของหนังกลองที่กระพือตามออกมาด้วย แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แค่เสี้ยววินาที แต่ก็มีผลทำให้เสียงกลองในเพลงนี้เปลี่ยนไปจากที่เคยได้ยินมา ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาบอกกับผมว่า เสียงกลองที่กำลังฟังจาก SCM100ASL คู่นี้น่าจะใช่เสียงที่ ควรจะเกิดขึ้นจริงในเพลงนี้มากที่สุดแล้ว ความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องหนังกลองตึงหรือหย่อนหายไปหมด.!!

“.. Active units have a built in three way Amplifier with frequency, gain and phase correction which has been individually optimised at the ATC manufacturing facility.ในเว็บไซต์ของ ATC มีให้ข้อมูลไว้ว่า เวอร์ชั่นที่เป็น active นั้นพวกเขาไม่ได้แค่เอาเพาเวอร์แอมป์ยัดเข้าไปในตู้ลำโพงเฉยๆ นะ แต่ยังได้มีการออกแบบวงจรเน็ทเวิร์คที่จัดการปรับจูนในส่วนของ ความถี่, เกน และเฟส ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักๆ ของคลื่นเสียงเพื่อให้มีความถูกต้องมาจากโรงงานด้วย ซึ่งคงเป็นเพราะวงจรเน็ทเวิร์คแบบแอ๊คทีฟนี่เองที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ลำโพงคู่นี้ให้ การแยกแยะรายละเอียดของเสียงแต่ละเสียงที่อยู่ในเพลงออกมาให้ได้ยินได้อย่างเด็ดขาดชัดเจนอย่างมาก..

อัลบั้ม : Live in Japan (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Rodrigo y Gabriela
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/84000305?u)

ศิลปินดูโอแนวอะคูสติกกีต้าร์สัญชาติเม็กซิโกคู่นี้กำลังร้อนแรง ด้วยลีลาการเล่นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคนิคแพรวพราว ด้วยพื้นฐานของพวกเขาที่มาทางแฟลมมิงโก้, แจ๊ส ผสมด้วยร็อค ทำให้ลีลาการเล่นกีต้าร์ของพวกเขามีทั้งความฉับไวและหวือหวาน่าติดตาม อัลบั้มชุดนี้เป็นงานแสดงสดที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ปี 2008 ในนั้นมีเพลง Take Five ของ Paul Desmond ที่พวกเขาหยิบมาบรรเลงอยู่ด้วย ซึ่งการบันทึกเสียงเพลงนี้ได้แยกเสียงกีต้าร์ของทั้งสองคนออกมาทางลำโพงซ้ายขวา ทำให้สามารถติดตตามเทคนิคการเล่นของทั้งคู่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ด้วยสปีดของการบรรเลงที่เร็วมาก มันจึงท้าทายความสามารถในการถ่ายทอด timing ของความถี่ในย่านกลางแหลมของลำโพงเป็นอย่างมาก ถ้าไดเวอร์มิดเร้นจ์กับทวีตเตอร์ของลำโพงคู่ไหนตอบสนองสัญญาณอินพุตไม่เร็วพอ เสียงกีต้าร์ของดูโอคู่นี้จะมีลักษณะเบลอ แยกแต่ละโน๊ตของเสียงกีต้าร์ออกมาได้ไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะลำโพงที่ใช้มิดเร้นจ์คุณภาพต่ำ หรือใช้ไดเวอร์ขนาดใหญ่ที่ทำงานควบทั้งย่านกลางและทุ้ม (ประเภทมิด/วูฟเฟอร์ที่มีขนาดเกิน 4 นิ้วขึ้นไป) มักจะไม่สามารถเคลียร์โน๊ตกีต้าร์ของดูโอคู่นี้จากแทรค Take Five ออกมาได้ทุกเม็ด แต่ ATC คู่นี้ได้แสดงศักยภาพที่เยี่ยมยอดของไดเวอร์มิดเร้นจ์ทรงซาละเปาของมันออกมาให้ประจักษ์ ด้วยการคลี่คลายโน๊ตกีต้าร์ในเพลงนี้ออกมาให้ได้ยินแบบ ชัดทุกเม็ด” นอกจากนั้น มันยังทำงานร่วมกับทวีตเตอร์ได้อย่างลงตัวอีกด้วย สังเกตได้จากโน๊ตกีต้าร์ที่ไล่สเกลจากต่ำขึ้นไปสูงและสูงลงมาต่ำที่ไหลลื่นออกมาได้อย่างกลมกลืน ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ได้มาจากการแม็ทชิ่งเพาเวอร์แอมป์กับไดเวอร์และมีการปรับจูนความถี่, เกน และเฟสมาด้วย ซึ่งมีผลเยอะมาก เพราะเกนแม็ทชิ่งที่ลงตัวระหว่างแอมป์กับไดเวอร์แต่ละตัวทำให้ได้ไดนามิกที่สวิงกว้าง แรงไม่ตก ส่วนการแม็ทชิ่งความถี่ทำให้ได้โทนัลบาลานซ์ที่สมดุล และการแม็ทชิ่งเฟสระหว่างไดเวอร์แต่ละตัวทำให้ได้โฟกัสที่แม่นยำ ต่อเนื่องและเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของเสียงที่ดี ซึ่งการที่จะแม็ทชิ่งเองให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีระดับนี้บอกเลยว่ายากมาก..!!!

อัลบั้ม : Visual Voice (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Bonnie Koloc
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/105780150?u)

แม้แต่เพลงที่มีแต่เสียงร้องเดี่ยวๆ อย่างเพลง The Kitten ของ Bonnie Koloc ก็ยังรับรู้ได้เลยว่า พอฟังผ่าน ATCSCM100ASLคู่นี้มันมีอะไรพิเศษออกมามากกว่าตอนฟังจากลำโพงคู่อื่น คือการเปลี่ยนผ่านระหว่างคำร้องแต่ละคำร้องที่ Bonnie Koloc ปล่อยออกมาจากปากเธอมันมี รายละเอียดลึกๆ ที่ได้ยินแล้วทำให้นึกเห็นภาพของลักษณะการร้องของเธอ ซึ่งรายละเอียดลึกๆ ที่ว่านั้นทำให้รู้สึกสัมผัสได้ถึง อารมณ์ของเธอที่ปลดปล่อยออกมาพร้อมกับคำร้องเหล่านั้นด้วย คำไหนเน้นคำไหนผ่อน, คำไหนรวบกระชับคำไหนทอดหางยาว ลำโพง ATC คู่นี้ถ่ายทอดออกมาตรงตามนั้นได้ครบหมดทุกคำร้อง คือทำให้ไม่แค่ ได้ยินว่าเธอร้องอะไร แต่รับรู้ได้ลึกลงไปถึงระดับที่ว่าเธอ เปล่งคำร้องแต่ละคำออกมาอย่างไรด้วย

อัลบั้ม : Rare (Deluxe) (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Selena Gomez
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/136940126?u)

อัลบั้ม : Greatest Hits (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Y Do I
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/326542094?u)

เจอ 2 อัลบั้มนี้เข้าไป ต้องบอกว่า เข้าทางATC คู่นี้เลย.! เพลงแนวที่มีโครงสร้างดนตรีซับซ้อนและเต็มไปด้วย energy หนักๆ แทบจะในทุกย่านเสียงแบบเพลง Boyfriend ของ Salena Gomez กับเพลง Camina Burana Remix (Techno of the Opera) ของ Y do I นี้คือ ของหวานสำหรับ SCM100ASL คู่นี้ โดยเฉพาะเสียงเบสของสองเพลงนี้ มันมีทั้งความซับซ้อน มีทั้งสปีดที่หลากหลาย และลีลาที่หลากหลายทั้งฉับไวและผ่อนปรน รวมถึงเนื้อมวลที่อัดแน่น ซึ่ง SCM100ASL ของ ATC คู่นี้สามารถถ่ายทอดทุกคุณสมบัติข้างต้นออกมาได้อย่างหมดจด ไม่มีอั้น ไม่มีอ่อนระโหย เสียงทุ้มที่พุ่งออกมาจากวูฟเฟอร์ 12 นิ้วของลำโพงคู่นี้มีลักษณะที่ดีดเด้ง และหลุดกระจายออกมาจากตัวตู้อย่างสิ้นเชิง เป็นเสียงทุ้มที่หาฟังได้ยากจากลำโพงทั่วไป คือมันออกมาครบทุกอย่างที่อยากได้ ทั้งหนัก, แน่น และกระชับเร็ว มีผลให้ฟังแล้วสนุก ซึ่งสปีดของเสียงทุ้มที่เร็วและกระชับแบบนี้มีส่วนมากกับอรรถรสของเพลง คือเสียงทุ้มที่เร็วมันจะไม่ไปทำให้จังหวะของเพลงหน่วงช้า แต่การที่จะทำให้ได้เสียงเบสที่เร็วและมีน้ำหนักออกมาพร้อมกันแบบนี้.. บอกเลยว่าไม่ง่าย และคิดว่านี่คือผลลัพธ์ที่เยี่ยมยอดอีกด้านหนึ่งของการแม็ทชิ่งเพาเวอร์แอมป์เข้าไปควบคุมการทำงานของวูฟเฟอร์ได้อย่างลงตัว

พอได้ทั้ง ความเร็วกับ ความหนักแน่นของเสียงทุ้มออกมาพร้อมกัน มันคือประสบการณ์ในการฟังเพลงที่เข้าถึงความสดสมจริงอย่างมาก เชื่อเลยว่าถ้าใครได้ยินเสียงทุ้มตอนขึ้นต้นเพลง Camina Burana Remix (Techno of the Opera) ผ่านลำโพง ATC คู่นี้แล้วคุณจะต้องอึ้ง.! เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากจริงๆ และเชื่อว่ามีหลายคนที่ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อน..!!!

สรุป

หลังจากทดสอบ ATCSCM100ASLคู่นี้ผ่านไปแล้ว ผมก็ได้บทสรุปกับตัวเองที่ชัดเจนขึ้นมาอีกประเด็น คือเมื่อไรก็ตามที่คุณค้นพบว่า เสียงที่คุณอยากจะได้ยินได้ฟังคือเสียงที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเข้าไปนั่งฟังอยู่ในสตูดิโอที่กำลังมิกซ์เพลงเหล่านั้น และถ้าคุณไม่ได้ต้องการแค่ ได้ยินเพลงดังแว่วมาเข้าหู แต่อยากจะได้ประสบการณ์ฟังที่ลึกลงไปถึงระดับที่สัมผัสได้ถึง energy ของ ทุกเสียงที่อัดแน่นอยู่ในเพลงเหล่านั้นแผ่กระจายมาถึงตัว นั่นก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องไปหาโอกาสทดลองฟังเสียงของลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ขนาดใหญ่อย่าง ATC รุ่น SCM100ASL คู่นี้ดูสักครั้ง

โดยธรรมชาติแล้ว จุดเด่นของลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ก็คือให้การตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบโดยมี ความดังที่เสมอกันทุกย่านเสียง มันจึงให้เสียงที่สมจริงมากๆ แต่ถ้าจะหามาไว้ใช้ฟังเพลงที่ให้อรรถรสครบถ้วนทุกแนวเพลง ก็ควรจะเป็นลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ที่ให้โทนัลบาลานซ์ที่สมดุลด้วย ซึ่งผมแนะนำให้เลือกลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ที่มี ขนาดใหญ่สักหน่อย และถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้เลือกใช้ลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์แบบ active ที่มีเพาเวอร์แอมป์ในตัว เพื่อให้ได้ทั้งความราบเรียบเป็นธรรมชาติของความถี่ตอบสนอง และได้ทั้งไทมิ่งกับไดนามิกที่สมบูรณ์แบบไปในคราวเดียวกันเหมือน ATCSCM100ASLคู่นี้..!!!

***********************
ราคา : 998,000 บาท / คู่
***********************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
บริษัท Komfort Sound
โทร. 083-758-7771
facebook: komfortsound

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า