ต้นเหตุของ “มลพิษ” ที่เกิดขึ้นกับ “เสียง” ที่เราได้ยินจากชุดเครื่องเสียงของเรามีที่มาอยู่ 2 แหล่ง คือหนึ่ง – เกิดขึ้นจากตัวแปรที่อยู่ “ภายในซิสเต็ม” ของเราเอง กับ สอง – เกิดขึ้นจากตัวแปรที่อยู่ “ภายนอกซิสเต็ม” ของเรา
เราเหมาเรียก “มลพิษ” ทุกประเภทว่าเป็น ‘noise’ ซึ่งผลเสียที่ noise ทำให้เกิดขึ้นกับสัญญาณเสียงของซิสเต็มของเราจะแสดงออกมาในลักษณะของ “ความผิดเพี้ยน” ของสัญญาณเมื่อเทียบกับต้นฉบับเดิม ซึ่งความผิดเพี้ยนที่ว่านี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของ noise หรือสิ่งรบกวน (คลื่น, สัญญาณ) ที่เข้ามากระทำกับสัญญาณเสียงที่เป็นต้นฉบับ
ภาพทั้งสองภาพข้างบนนั้น เจตนาเอามาให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบพอให้เห็นภาพเท่านั้น ดูพอเป็นไอเดียให้เห็นแนวทางว่า noise ทำให้ภาพต้นฉบับมีความผิดเพี้ยนไปอย่างไรได้บ้าง อย่างกรณีภาพด้านบนนั้น เปรียบเทียบให้เห็นถึง noise ประเภทที่ “ฝังตัว” เข้าไปอยู่ใน “เนื้อสัญญาณ” ซึ่งมีผลทำให้เสียงมีลักษณะที่หยาบกร้าน สากหู ซึ่งต้นเหตุของ noise ประเภทนี้จะเกิดขึ้นจากตัวแปรภายในซิสเต็มเอง อย่างเช่น noise ที่เกิดจากคุณภาพความไม่เป็นเชิงเส้นของคอมโพเน้นต์ต่างๆ ที่ประกอบอยู่ในวงจร อย่างพวกรีซีสเตอร์หรือคาปาซิเตอร์ที่มีความเพี้ยนสูงซึ่งจะผสมเข้าไปกับสัญญาณเสียงที่เครื่องเสียงตัวนั้นสร้างขึ้นมา หรือ noise ที่เกิดจากเรโซแนนซ์ (natural frequency) ของวัสดุที่ใช้ทำไดเวอร์ของลำโพงที่ผสมรวม (modulate) เข้าไปกับคลื่นเสียงโดยตรง ฯลฯ
ส่วนภาพล่างนั้น เป็นตัวอย่างที่ทำให้พอเห็นภาพของผลที่เกิดกับคลื่นเสียงเมื่อเจอกับ noise หรือมลพิษที่อยู่นอกซิสเต็ม อย่างเช่น คลื่น RFI ที่แพร่มาในอากาศ, คลื่น EMI ที่แพร่มาจากหม้อแปลง หรือมอเตอร์ รวมถึงคลื่นไมโครเวฟและคลื่นความถี่ของสัญญาณเน็ทเวิร์คที่ระดับกิกะเฮิร์ต ซึ่งผลจาก noise เหล่านี้อาจจะไม่ถึงกับเข้าไปผสมปนกับสัญญาณเสียงที่วิ่งอยู่ในวงจร, สายสัญญาณ และสายลำโพง แต่มันจะไป “เหนี่ยวนำ” ให้สัญญาณเสียงที่วิ่งอยู่ในแผงวงจร, สายสัญญาณ, สายลำโพง เกิดอาการบิดเบี้ยว เสียรูป หน่วงช้า เร่งเร็ว ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม ซึ่งในแง่ของการรับฟังอาจจะแสดงออกมาในลักษณะของเสียงที่เบลอมัว บางความถี่ถูกบู๊สต์ขึ้นมาในขณะที่บางความถี่ถูกฟิลเตอร์หายไป แต่ก็มีบ้างที่ noise บางประเภทจากแหล่งภายนอกซิสเต็มที่จะสามารถเจาะทะลุเข้าไปผสมปนกับสัญญาณที่วิ่งอยู่บนแผงวงจร, สายสัญญาณ หรือสายลำโพงได้เหมือนกัน
ปัจจุบันนี้ ความผิดเพี้ยนที่เกิดจากคุณสมบัติของคอมโพเน้นต์ต่างๆ จะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะประสิทธิภาพในการผลิตคอมโพเน้นต์เหล่านั้นนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งฝั่งของคนออกแบบเครื่องเสียงเองก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการปรับจูนวงจรเพื่อชดเชยความเบี่ยงเบนของคอมโพเน้นต์เหล่านั้นได้อีกทางหนึ่ง สังเกตได้จากความเพี้ยนของอุปกรณ์เครื่องเสียงในปัจจุบันที่ต่ำลงกว่าในอดีตมากจนแทบจะไม่มีนัยยะให้เราได้ยิน แต่ตรงกันข้าม ความผิดเพี้ยนที่เกิดจากตัวแปรที่อยู่ภายนอกอุปกรณ์เครื่องเสียงในปัจจุบันกลับ “เพิ่มมากขึ้น” เมื่อเทียบกับในอดีต ยกตัวอย่างเช่น noise ที่มาจากคลื่นสัญญาณเน็ทเวิร์คกับมือถือที่รุนแรงมากกว่าในอดีตหลายเท่า.!!
เมื่อคุณภาพของ ฮาร์ดแวร์ (เครื่องเสียง) และ ซอฟท์แวร์ (สัญญาณเพลง) ถูกพัฒนามาไกลถึงระดับ Hi-Res Audio เราก็เริ่มมองเห็นผลเสียที่เกิดจาก noise หรือมลพิษได้ชัดเจนมากขึ้น นั่นคือที่มาของอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ออกมาเพื่อขจัด noise เหล่านี้
Furutech Clear Line-LAN “LAN Optimizer”
อุปกรณ์ขจัด noise สำหรับระบบมิวสิค สตรีมมิ่ง
อันนี้เป็นคนละอย่างกับโปรแกรมประเภท background noise reduction นะครับ อันนั้นเป็นซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการลด หรือตัดเสียงของสภาพแวดล้อมที่เข้ามารบกวนเสียงพูดหรือเสียงเพลงที่คุณต้องการฟัง หรือต้องการบันทึก ส่วนอุปกรณ์ประเภท LAN Optimizer ของ Furutech ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ เป็นอุปกรณ์ที่วิศวกรของแบรนด์ Furutech ตั้งใจออกแบบมาเพื่อใช้ขจัดคลื่นความถี่ไม่พึงประสงค์ (noise) ที่แทรกปนเข้าไปผสมกับสัญญาณเสียงที่รับ/ส่งผ่านทางฮาร์ดแวร์ที่ใช้อยู่ในระบบเน็ทเวิร์ค
ตัว LAN Optimizer ตัวนี้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หรือโปรดักซ์ที่อยู่ในกลุ่ม ‘NCF Booster Products’ ของแบรนด์ Furutech จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นไฮไล้ท์ของแบรนด์ นั่นคือเทคโนโลยี NCF หรือ Nano Crystal2 Formula นั่นเอง
NCF (Nano Crystal2 Formula)
สุดยอดเทคโนโลยีของ Furutech
ข้อมูลในเว็บไซต์ของ Furutech (https://www.furutech.com/technology/) ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า NCF เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ “ผลึก” หรือ “อนุภาค” ขนาดจิ๋วระดับนาโนของเซรามิกกับผงคาร์บอน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว 2 อย่างมาใช้ทำเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณสมบัติเด่นอย่างแรกของผลึก/อนุภาคทั้งสองชนิดที่ว่านี้ก็คือสามารถปล่อยประจุลบ (negative ions) ออกมาเพื่อสลายไฟฟ้าสถิตย์ได้ ส่วนคุณสมบัติข้อที่สองของผลึกนี้ก็คือ สามารถเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นรังสีอินฟราเรดได้ (มีคุณสมบัติ piezoelectrical ในตัว)
ท้ายที่สุด ทาง Furutech ได้กล่าวสรุปไว้ในเว็บไซต์นั้นว่า “.. The resulting Nano Crystal² Formula is the ultimate electrical and mechanical damping material. Created by Furutech, it is found exclusively in Furutech products” แปลเป็นไทยแบบกระท่อนกระแท่นได้ว่า ผลลัพธ์ก็คือ Nano Crystal² Formula เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมทั้งทางด้านไฟฟ้าและแด้มปิ้งทางกลไก สร้างสรรขึ้นมาโดย Furutech ซึ่งจะพบเห็นการใช้เทคโนโลยี NCF นี้ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ทางแบรนด์เจาะจงเป็นพิเศษเท่านั้น.!
เนื้องานดีมาก
ตัว LAN Optimizer ตัวนี้มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 1.5 ซ.ม. และยาวเพียง 6.5 ซ.ม. เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด พบว่าแม้ตัวผลิตภัณฑ์จะมีขนาดเล็ก แต่งานการผลิตอยู่ในขั้นดีมาก เนื้องานมีความปราณีตทุกจุด ทั้งในแง่ของวัสดุและการออกแบบ/ผลิต
ส่วนประกอบหลักๆ
ส่วนประกอบแรกที่มองเห็นจากภาพนอกคือขั้วต่อ LAN หรือขั้วต่อแบบ RJ45 ที่ทำด้วยทองแดง อัลลอยด์ (copper alloy) ที่มีการชีลด์ป้องกันคลื่น EMI ซึ่งช่วยให้การรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านเน็ทเวิร์คมีความแน่นอนสม่ำเสมอ ปราศจาก noise รบกวน และมีความถูกต้องแม่นยำตามต้นฉบับด้วย
ภาพร่างแสดงโครงสร้างภายในแท่ง NCF Clear Line-LAN
ตรงส่วนที่เป็นแท่งสีดำๆ มีลักษณะเป็นกระบอกเล็กๆ นั้น ด้านในจะมีคาปาซิเตอร์แบบ electrolytic ที่ใช้ในการดูดซับ noise อยู่ด้านใน (ดูภาพบน) ซึ่งตัวคาปาซิเตอร์ที่ว่านี้เป็นชนิดพิเศษที่คัดเลือกโดยวิศวกรของ Furutech เพื่อใช้ในภารกิจนี้โดยเฉพาะ และได้ถูกเคลือบผิวด้วยวัสดุแด้มปิ้งสีเงินเพื่อลดความสั่นสะเทือน ส่วนกระบอกที่เห็นภายนอกนั้นประกอบขึ้นมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่ทำจาก NCF เรียงซ้อนกันอยู่ถึง 3 ชั้น ส่วนผิวนอกสุดถูกเคลือบด้วยวัสดุใสที่มีความทนทานสูง ซึ่งถ้าอ้างอิงตามข้อมูลที่ผู้ผลิตแจ้งไว้เกี่ยวกับวัสดุคาร์บอนและอะครีลิกที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น NCF ที่มีประสิทธิภาพในการดูดกลืนไฟฟ้าสถิตย์และเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นรังสีอินฟราเรดได้
จากรูปประกอบข้างบนจะเห็นว่า แม้แต่วงแหวนโลหะที่ใช้รัดตรึงชิ้นส่วนสำคัญไว้นั้นก็ยังทำด้วยสแตนเลสแบบที่ไม่เป็นแม่เหล็กซะด้วย จุดประสงค์ก็น่าจะลดการเหนี่ยวนำจากสนามแม่เหล็กนั่นเอง
แม้แต่ส่วนประกอบเล็กๆ อย่างแผ่นที่ปิดตรงท้าย (สองรูปบน) กับน็อตที่ใช้ขันยึด (สองรูปล่าง) พวกเขาก็ยังพิถีพิถันใช้ของดีที่มีผลกับเสียงทั้งหมด เป็นความปราณีตแบบญี่ปุ่นแท้ๆ เลย..!!
ทดลองใช้งาน
ทางผู้ผลิตระบุว่า อุปกรณ์เสริมตัวนี้ใช้งานง่ายระดับ plug and play คือแค่เสียบเข้าไปที่ช่อง LAN (Ethernet) ในระบบช่องไหนก็ได้ที่ว่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ router, ที่ network switch, ที่ตัว network DAC หรือแม้แต่ที่ตัวสตรีมเมอร์ ขอให้อุปกรณ์ตัวนั้นมีช่อง LAN (Ethernet) เหลือๆ ไม่ได้ใช้ก็เสียบได้หมด และได้ผลลัพธ์ออกไปทางเดียวกัน
แหล่งต้นทาง music streaming ในซิสเต็มที่ผมใช้ทดลองฟังเสียงของอุปกรณ์เสริม NCF Clear Line-LAN ตัวนี้มีอุปกรณ์ที่สามารถเสียบใช้งานอุปกรณ์เสริมตัวนี้ได้อยู่ 2 ตัว ตัวแรกเป็น network switch ของ Clef Audio รุ่น StreamBRIDGE-X (REVIEW) ซึ่งมีช่อง LAN ให้ใช้ทั้งหมด 8 ช่อง ซึ่งผมเสียบใช้งานอยู่ทั้งหมด 5 ช่อง เชื่อมโยงอุปกรณ์ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน 4 ตัว ได้แก่ NAS ของ QNAP รุ่น TX-253Be หนึ่งตัว, สตรีมเมอร์+DAC ของ Audiolab รุ่น 7000N หนึ่งตัว, สตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตของ Roon รุ่น nucleus+ หนึ่งตัว และสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตของ Innuos รุ่น PULSE อีกหนึ่งตัว ส่วนอีกช่องก็คือเชื่อมต่อไปที่ Router ของ AIS ที่อยู่ในห้องรับแขก ห่างออกไปยี่สิบกว่าเมตร ในการทดสอบประสิทธิภาพของตัว NCF Clear Line-LAN ของฟูรูเทคตัวนี้ ผมพบว่า เสียบไว้ในช่อง LAN ที่อยู่ใกล้กับช่องที่เสียบสาย LAN ที่มาจาก Router เห็นผลมากที่สุด (*เห็นผลอะไร ไปดูรายละเอียดในหัวข้อ “เสียงของ NCF Clear Line-LAN”)
ครั้งที่สอง ผมลองเปลี่ยนไปเสียบแท่ง NCF Clear Line-LAN ที่ตัวสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ต Innuos ‘PULSE’ ซึ่งมีช่อง LAN มาให้ 2 ช่อง โดยที่ใช้สำหรับการรับ/ส่งสัญญาณเสียงหนึ่งช่อง ส่วนอีกช่องไว้แชร์เน็ทเวิร์ค ในการใช้งานจริงช่องที่ใช้รับ/ส่งสัญญาณต้องใช้ จึงเหลือช่องที่ไว้แชร์เน็ทเวิร์คที่สามารถเสียบตัว NCF Clear Line-LAN ได้ หลังจากเสียบช่องนี้เข้าไปแล้ว ต้องร้องว้าวว ดังๆ เลย..!!
ตอนท้ายของการทดสอบ ผมทดลองเอาแท่ง NCF Clear Line-LAN ไปเสียบใช้กับเน็ทเวิร์ค สวิทช์ของ D-Link ที่ผมใช้อยู่กับชุดดูทีวีในห้องรับแขก ซึ่งเน็ทเวิร์ค สวิทช์ตัวนี้ผมใช้เสียบสาย LAN จากทีวี, สาย LAN จากลำโพงไร้สาย และเสียบสาย LAN จาก Router ของ AIS fibre เพื่อสตรีมหนังจาก Netflix มาชมผ่านทีวีแล้วดึงสัญญาณเสียงจากทีวีมาที่แอมป์ all-in-one รุ่น Stereo 230 ของ LEAK (REVIEW) โดยต่อสัญญาณจากทีวีเข้าทางอินพุต optical ของ Stereo 230 ผลคือ “เกินคาด.!” จริงๆ แล้ว ก่อนทดลองเสียบตัว NCF Clear Line-LAN เข้าไป ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็น (ภาพบนทีวี) และได้ยิน (เสียงจากลำโพง) อะไรที่ดีขึ้นมาก แต่จริงๆ แล้วมันดีขึ้นทั้งภาพและเสียงมากอยู่ คือรู้สึกได้เลยว่าภาพมันเปล่งปลั่งมากขึ้น รู้สึกถึงพลังของแสงที่เปิดกระจ่างมากขึ้น และที่เห็นความแตกต่างชัดมากก็คือตัวหนังสือที่เป็นซับไตเติ้ลที่สว่างลอยขึ้นมาจากฉากหลังมากขึ้น อ่านง่ายขึ้นมาก ในขณะที่เสียงก็รู้สึกได้ถึงความโอบล้อมที่ดีขึ้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลอยเด่นออกมามากขึ้น.. ดีกว่าที่คิดเยอะครับ.!!!
เสียงของ NCF Clear Line-LAN
อุปกรณ์เสริมตัวนี้ทำงานยังไง.? เมื่อพิจารณาจากลักษณะการเสียบใช้งานในระบบ จะพบว่า กระบอก NCF Clear Line-LAN ตัวนี้มีสถานะเป็นอุปกรณ์พาสซีฟ คือไม่ต้องใช้ไฟเลี้ยง นั่นก็หมายความว่า มันถูกออกแบบมาให้ช่วยสลายมลพิษที่ไหลเวียนอยู่ในระบบเน็ทเวิร์คออกไปโดยที่ตัวมัน “ไม่ได้” เข้าไปขวางกั้นทางเดินสัญญาณเสียงที่วิ่งวนอยู่ในระบบแต่อย่างใด ซึ่งก็คือ NCF Clear Line-LAN ใช้วิธีเชื่อมต่อเข้ากับระบบเน็ทเวิร์คแบบขนานนั่นเอง
เสียงของอุปกรณ์เสริมฟังยากมั้ย.? มักจะมีคนถามแบบนี้อยู่บ่อยๆ และมีหลายคนที่บอกว่าฟังไม่ออก.. โดยส่วนตัวแล้ว ผมต้องขอบอกว่า จะว่าฟังยากก็ยาก จะว่าไม่ยากก็พูดได้เหมือนกัน เหตุผลเนื่องจากมันขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 อย่าง อย่างแรกคือ “ทักษะ” ของผู้ฟัง กับอีกอย่างคือ “ความแม็ทชิ่งลงตัว” ของอุปกรณ์ในซิสเต็มหลัก
แง่ของ “ทักษะของคนฟัง” อันนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ในแง่ “ความแม็ทชิ่ง” ของอุปกรณ์หลักในชุดเครื่องเสียง คือ “แหล่งต้นทาง + แอมป์ + ลำโพง” ที่ลงตัวกัน อันนี้จะส่งผลกับเสียงของอุปกรณ์เสริมโดยตรง เพราะ “อุปกรณ์เสริม” ก็คือของเสริมที่เข้าไปช่วยยกระดับเสียงของซิสเต็มหลักให้ดีขึ้นไปจากเดิม นั่นแสดงว่า ซิสเต็มหลักจะต้องถูกจัดการ (แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ + ปรับจูน) ให้ได้เสียงที่ดีที่สุดซะก่อน ก่อนที่จะนำอุปกรณ์เสริมเข้าไปใช้ในซิสเต็มนั้น เมื่อนำเอาอุปกรณ์เสริมเข้าไปเพิ่มเติมในซิสเต็ม ผลของอุปกรณ์เสริมจะเข้าไปช่วยทำให้ “บางประเด็น” ของเสียงในซิสเต็มนั้นดีขึ้นในปริมาณที่ไม่มากนัก คือเป็นไปในลักษณะของการ “ต่อยอด” คุณสมบัตินั้นให้สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับ 10 – 20% เทียบกับที่ซิสเต็มเดิมให้ได้อยู่แล้ว ไม่มีอุปกรณ์เสริมตัวไหนที่สามารถพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงพื้นฐานเสียงของซิสเต็มได้
ด้วยเหตุนี้ ถ้าพื้นฐานของซิสเต็มยังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านแม็ทชิ่งหรือปัญหาทางด้านเซ็ตอัพก็ตาม การเอาอุปกรณ์เสริมเข้าไปใช้ในซิสเต็มที่มีปัญหาอยู่ อุปกรณ์เสริมตัวนั้นก็จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของซิสเต็มให้หายไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า การเอาอุปกรณ์เสริมเข้าไปใช้ก็ไม่ได้ช่วยให้เสียงโดยรวมของซิสเต็มนั้นออกมาดีขึ้น เผลอๆ อาจจะฟังไม่ออกซะด้วยซ้ำ ถ้าปัญหาของซิสเต็มหลักมันเยอะมาก
ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดๆ ก็อย่างเช่น สมมุติว่าซิสเต็มหลักมีปัญหาแอมป์วัตต์น้อย แด้มปิ้งต่ำเกินไป ขับลำโพงออกมาได้ไม่เต็มที่ ลักษณะแบบนี้ไม่ว่าจะเอาอุปกรณ์เสริมแบบไหนเข้าไปใช้ก็ไม่สามารถช่วยให้เสียงดีขึ้นได้ เพราะประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสริมเกือบทุกชนิดจะไปมีผลทางด้าน “ขจัด noise” หรือมลพิษออกไปจากระบบมากกว่าที่จะไปช่วยทางด้านสมรรถนะของเครื่อง..
Crystal clear..!!!
ในเว็บไซต์ของ Furutech เองก็มีพูดถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสริมของพวกเขา โดยเฉพาะรุ่นที่ใช้เทคโนโลยี NCF เอาไว้เหมือนกัน ลักษณะคล้ายจะพยายามอธิบายถึงผลลัพธ์ทางเสียงของอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ ซึ่งในบทความนั้นพวกเขาอ้างอิงกับคำว่า ‘crystal clear’ ซึ่งหมายถึง ความสะอาดใส โปร่งเคลียร์ ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่ทำให้ผู้ฟัง (ในซิสเต็มที่ใช้อุปกรณ์เสริมของเขา) ได้ยินเสียงเพลงที่เหมือนกับเสียงที่มาจากต้นฉบับของการบันทึกเสียงจริง ไม่มีอะไรมาบดบัง หรือจะพูดว่าอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ช่วยลดปริมาณของ noise ในระบบให้ต่ำลง, หรือช่วยลดความผิดเพี้ยนให้ต่ำลง หรือคำอธิบายอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะอุปกรณ์เสริมของพวกเขาทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเสียงดนตรีที่พวกเขาชอบ เนื่องจากซิสเต็มที่ใช้อุปกรณ์เสริม (ของพวกเขา) จะให้เสียงออกมาในลักษณะที่เรียกว่า ‘cystal clear’ นั่นเอง
อัลบั้ม : Saxophone Colossus (Rudy Van Gelder Remaster) (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Sonny Rollins
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/77701374?u)
แหม.. จะอธิบายยังไงก็ไม่ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากเท่ากับการลองฟังด้วยหูตัวเอง ว่าแล้วผมก็ลองเลือกเพลงจาก playlist ที่ผมทำไว้บน TIDAL ฟังไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละเพลงที่ลองฟังผมก็ได้ยิน “ความแตกต่าง” ไปในทิศทางที่ดีขึ้น มากบ้าง–น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแทรคที่ลองฟัง จนมาถึงเพลง St. Thomas ซึ่งอยู่ในอัลบั้มชุด Saxophone Colossus ของ Sonny Rollins ซึ่งผมพบว่าอุปกรณ์เสริมของ Furutech ตัวนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างมากเป็นพิเศษ คืออาจจะเป็นเพราะอัลบั้มนี้เป็นงานบันทึกเสียงที่เก่ามากแล้ว ตอนที่ยังไม่ได้เสียบตัว NCF Clear Line-LAN เข้าไปที่ตัว Innuos ‘PULSE’ ผมได้ยินเสียงฉาบในแทรคนี้มันมีลักษณะที่คมๆ แข็งๆ เกาะอยู่ตรงปลายเสียงนิดๆ ถ้าเปิดดังจะยิ่งได้ยินชัด ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะคิดว่างานบันทึกเสียงยุคเก่าก็คงมีอะไรแบบนี้หลุดมาบ้างแหละ เป็นเรื่องปกติธรรมดา.. แต่หลังจากเสียบตัว NCF Clear Line-LAN เข้าไปแล้วลองฟังใหม่ ผมถึงกับผงะ..เฮ้ยย.! ทำไมเสียงมันต่างกันเยอะขนาดนี้.!! อย่างแรกเลยคืออาการแข็งๆ คมๆ ที่เคยแยงหูมันหายไปแล้ว และยิ่งไปกว่านั้น เสียงฉาบที่ได้ยินหลังจากเสียบตัว NCF Clear Line-LAN เข้าไปมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงไม้กลองกระแทกใบฉาบจริงๆ ไม่ใช่แค่เสียงแช๊ะๆ เหมือนที่เคยได้ยินก่อนหน้านี้.! นอกจากนั้น ผมยังได้ยินว่า อาการฟุ้งๆ ที่เคยมีอยู่รอบๆ ปลายเสียงแหลมมันหายไปด้วย มีผลให้โฟกัสของเสียงชัดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ชัดขึ้นเฉพาะเสียงฉาบ แต่ชัดขึ้นหมดทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงแซ็กโซโฟนและเสียงเบสก็ชัดขึ้นด้วย
ได้ฟังผลของตัว NCF Clear Line-LAN กับเพลงนี้แล้ว มันทำให้ผมเห็นภาพของคำว่า crystal clear ได้ชัดขึ้น ซึ่งมันเป็นไปตามที่ผู้ผลิตกล่าวอ้าง เมื่อเสียบ NCF Clear Line-LAN เข้าไปผมพบว่า พื้นเสียงมันใสขึ้น ทำให้รับรู้ถึง “การมีอยู่” ของแต่ละเสียงได้ชัดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการเร่งความดังของแต่ละเสียงให้มากขึ้น แต่มันเป็นลักษณะของบรรยากาศที่หุ้มล้อมอยู่รอบๆ ตัวเสียงทั้งหมดมันมีความใสกระจ่างมากขึ้น เพราะคุณสมบัติทางด้านเวทีเสียงยังคงมีอยู่ ยังรับรู้ได้ว่าแต่ละชิ้นดนตรีมีตำแหน่งที่เหลื่อมล้ำกัน มีแบ่งความลึกเป็นชั้นๆ แยกเป็นเลเยอร์ลึกลงไปทางด้านหลังระนาบลำโพงชัดเจนมาก
เสียงแซ็กโซโฟนของ Sonny Rollins ก็เปลี่ยนไปหลังจากเสียบ NCF Clear Line-LAN เข้าไป คือผมสามารถแยกแยะโน็ตแต่ละตัวที่เกิดจากการเป่าด้วยลักษณะการ “ด้น” แบบกระชั้นๆ ออกมาจากกันได้ชัดขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ซันนี่ชอบใช้ในหลายๆ เพลง ก่อนหน้านี้พอถึงช่วงที่เขาเป่าแบบนี้ เสียงโน็ตมันจะกลืนๆ กัน แยกออกจากกันได้ยากกว่าตอนเสียบ NCF Clear Line-LAN เข้าไป และรู้สึกได้ชัดขึ้นถึง “พลัง” ลมที่ซันนี่อัดเข้าไปด้วย ทุกเสียงมันให้ความรู้สึก “ปลดปล่อย” มากขึ้น อิสระมากขึ้น ไทมิ่งลื่นไหลมากขึ้น ยิ่งฟังซ้ำก็ยิ่งได้ยินความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ
อัลบั้ม : Touch Yello (Deluxe) (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Yello
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/64629984?u)
เพลง Out Of Dawn ในอัลบั้มชุดนี้ของคณะดนตรี Yello ก็เป็นอีกตัวอย่างที่โชว์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เยี่ยมยอดของตัว NCF Clear Line-LAN ในการเคลียร์พื้นเสียงให้สะอาดสะอ้านจนสามารถ “มองทะลุ” ลงไปถึงรายละเอียดที่อยู่ในเลเยอร์ลึกๆ ของเพลงนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น อาการมัวๆ นัวๆ ของเสียงที่เกาะกันเป็นก้อนอย่างที่เคยรู้สึกตอนไม่ได้เสียบตัว NCF Clear Line-LAN หายไปเกือบหมด ซึ่งใครที่เป็นแฟนของวง Yello จะรู้ดีว่า เพลงของพวกเขามีโครงสร้างดนตรีที่ประกอบไปด้วยบีทที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น ถ้าพื้นเสียงไม่โปร่งโล่งจริงๆ จะแยกแยะรายละเอียดออกมาจากเพลงของคณะนี้ได้ค่อนข้างยาก มีผลให้โฟกัสของเสียงมีลักษณะที่มัว ไม่ชัดเจน พอเสียบ NCF Clear Line-LAN เข้าไปที่ตัวสตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ต Innuos ‘PULSE’ พบว่า พื้นเสียงใสและโปร่งมากขึ้น แยกแยะชิ้นดนตรีออกมาได้ง่ายขึ้นมาก ไทมิ่งก็กระชับเร็ว ไม่เอื่อยเฉื่อยเพราะบีทมันคมขึ้น
อัลบั้ม : Nothing But The Best (2008 Remastered) (TIDAL/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Frank Sinatra
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/23031374?u)
กับเพลงร้องลักษณะนี้ก็ยังเห็นผลชัดเมื่อเสียบ NCF Clear Line-LAN เข้าไป รู้สึกได้เลยว่า เสียงร้องของ Frank Sinatra ลอยเด่นขึ้นมามากขึ้น อากัปกิริยาในการเคลื่อนไหวของเสียงรับรู้ได้ชัดว่ามีความเป็นอิสระมากขึ้น แต่ละคำร้องถูกเปล่งออกมาเต็มปากเต็มคำมากขึ้น จังหวะดนตรีก็กระฉับกระเฉง เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ฟังแล้วได้อารมณ์เพลงมากขึ้น.. น่าประทับใจมาก.!!!
สรุป
อุปกรณ์เสริมตัวนี้มันมีลักษณะที่ “ซึมลึก” เหมือนกับอีกหลายๆ ตัวที่เคยลองฟังมา คือตอนแรกที่เสียบเข้าไปแล้วลองฟัง คุณอาจจะ “รู้สึก” ได้ทันทีว่ามีอะไรแตกต่างไปจากเดิม แต่เหมือนว่าจะไม่เยอะมาก แต่เมื่อใช้งานมันต่อเนื่องไปสักระยะ ทีนี้พอดึงออกจะรับรู้ได้ชัดเลยว่ามีอะไรหายไป และมีบางอย่างแย่ลง นอกซะจากว่าคุณจะมีประสบการณ์ในการฟังมากพอ และใช้ซิสเต็มที่มีขนาดใหญ่ แค่เสียบเข้าไปครั้งแรกคุณก็จะรับรู้ได้เลยว่า NCF Clear Line-LAN ทำให้เสียงโดยรวม “ดีขึ้น” ตรงจุดไหนบ้าง ในปริมาณที่มากแค่ไหน ซึ่งพอรับรู้ถึงประสิทธิภาพของมันแล้ว ทีนี้ก็ยากที่จะเอามันออกไปจากซิสเต็ม..
นี่แหละครับ.. อาการที่เขาว่ากัน ลองใช้แล้วจะถอดไม่ออก..!!!
(*** หลังจากได้ลองใช้กับ Innuos ‘PULSE’ แล้ว ผมยังอดเสียดายว่า ทางตัวแทนไม่ได้ส่งรุ่น NCF Clear Line-USB มาให้ลองด้วย เพราะที่ตัว PULSE มีช่อง USB ถึง 4 ช่อง ผมใช้เป็นเอ๊าต์พุตแค่ช่องเดียวเอง ถ้ามีตัว NCF Clear Line-USB เข้ามาเสียบที่ช่อง USB ที่เหลือก็น่าจะได้เสียงที่ดีขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน)
************************************
Furutech รุ่น NCF Clear Line-LAN
ราคา : 17,800 บาท / ชิ้น
************************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Clef Audio
โทร. 02-932-5981