ถ้าเข้าไปค้นดูเรื่องราวเบื้องหลังแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงส่วนใหญ่ คุณจะพบว่า จุดเริ่มต้นของแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงส่วนใหญ่มักจะมีจุดกำเนิดมาจาก passion หรือความชอบในระดับที่เรียกว่าหลงไหลของเจ้าของผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่มีต่อเครื่องเสียงและเพลงมากกว่าเหตุผลทางด้านอื่น
จุดกำเนิดของ Diptyque Audio จากประเทศฝรั่งเศส
เฟืองจักรสำคัญที่หนุนดันให้เกิดแบรนด์ Diptyque Audio มีอยู่ 2 คน คือ Gilles Douziech (คนซ้ายในภาพข้างบน) กับ Eric Poix (คนขวาในภาพข้างบน) ซึ่ง Gilles Douziech เป็นคนเริ่มต้น เหตุเพราะตัวเขามีความหลงไหลลำโพงกับระบบเสียงระดับไฮไฟเดลิตี้มาตั้งแต่วัยรุ่น ตอนอายุ 19 ขณะที่เขากำลังศึกษาวิชาอิเล็กทรอนิคอยู่นั้น เขามีโอกาสได้ฝึกงานกับ Marcel Rochet ซึ่งเป็นนักออกแบบลำโพงแบรนด์ Mulidine Speakers (https://en.mulidine.com/) นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Gilles Douziech มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ harmonic resonances ซึ่งเป็นผลทางด้านอะคูสติกที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบลำโพง
ก่อนที่ Diptyque Audio จะถือกำเนิดขึ้นในโลก Gilles Douziech นำเอาความรู้เกี่ยวกับลำโพงที่เขาสะสมเป็นประสบการณ์ไว้ไปใช้ในการออกแบบลำโพงริบบ้อนใช้งานเล่นๆ ในแกลลอรี่แสดงงานศิลปะร่วมสมัย และที่นั่น ทำให้เขาพบกับ Eric Poix ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงไหลเครื่องเสียงไฮฟิเดลิตี้เหมือนกัน เอริคมีความเชี่ยวชาญทางด้านแมคานิคกับงานโลหะมากเป็นพิเศษ และความสามารถของเขาได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบลำโพง Diptyque Audio หลังจากที่เขาทั้งสองตกลงใจจับมือกันก่อตั้งแบรนด์ Diptyque Audio ขึ้นมา
ลำโพงแผ่น.. ไม่มีตู้.!
ถ้าคลุกคลีอยู่ในวงการเครื่องเสียงมานานพอ มาเห็นลำโพงยี่ห้อ Diptyque Audio ก็คงจะไม่รู้สึกประหลาดใจอะไรมากมาย เพราะลำโพงแผ่นบางๆ แบบนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ ในอดีตมีหลายแบรนด์ที่เกิดก่อนแบรนด์ Diptyque Audio ด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างก็มี Magnepan (อเมริกา), Apogee Acoustics (อเมริกา), KEF (อังกฤษ), SoundLab (อเมริกา), Analysis Audio (กรีซ), Wisdom Audio (อเมริกา), QUAD ESL (อังกฤษ), MartinLogan (อเมริกา) และอีกมาก
ถ้ามองลำโพงแผ่นที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมดจากรูปร่างภายนอกอาจจะดูเหมือนๆ กัน แต่จริงๆ แล้ว ลำโพงแผ่นเหล่านั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่รูปแบบของไดเวอร์ โดยแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นไดเวอร์แบบ ‘Planar Magnetic’ (หรือ Magnetostatic) ส่วนอีกประเภทเป็นไดเวอร์แบบ ‘Electrostatic’ ซึ่งส่วนที่เหมือนกันของไดเวอร์ทั้งสองประเภทนี้ก็คือใช้แผ่นฟิล์มบางๆ ทำเป็นไดอะแฟรม ส่วนที่ต่างกันอยู่ที่วิธีการที่ทำให้แผ่นฟิล์มไดอะแฟรมขยับตัวผลักอากาศเพื่อทำให้เกิดคลื่นเสียง ซึ่งไดเวอร์ Planar Magnetic ใช้แรงของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากแม่เหล็กสองชุดที่ติดตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของแผ่นฟิล์มทำปฏิกิริยาเหนี่ยวนำกับแถบตัวนำที่ติดอยู่บนแผ่นฟิล์ม ทำให้เกิดปฏิกิริยาผลัก (push) และดึง (pull) แผ่นฟิล์มไดอะแฟรมให้ขยับตัวเดินหน้า–ถอยหลังผลักอากาศบริเวณหน้าแผ่นฟิล์มให้เกิดเป็นคลื่นเสียง ในขณะที่ Electrostatic Speaker อาศัยไฟฟ้ากระแสสลับสร้างไฟฟ้าสถิตย์ไปเหนี่ยวนำกับแถบตัวนำ (voice coil) ที่ติดอยู่บนแผ่นฟิล์มทำให้เกิดปฏิกิริยาผลัก (push) และดึง (pull) แผ่นฟิล์มให้ขยับตัวผลักอากาศจนเกิดเป็นคลื่นเสียง
Diptyque Audio
ลำโพง Planar Magnetic + ribbon tweeter
(หรือ Magnetostatic)
ลำโพงแผ่นแบรนด์ Diptyque Audio ใช้พื้นฐานของเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Isodynamic Technology ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แผ่คลื่นเสียงจากตัวลำโพงออกไป “ทั้งสองด้าน” (เรียกว่าการกระจายเสียงแบบ dipole) โดยอาศัยพลังของแม่เหล็กในการขยับแผ่นฟิล์ม แต่สิ่งที่ทำให้ลำโพงแผ่นของแบรนด์นี้มีความโดดเด่นกว่าลำโพงแผ่นประเภทเดียวกันที่เคยมีมาในอดีตก็คือพวกเขาได้พัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ทั้งของไดเวอร์ Planar และเฟรม เพื่อให้ลำโพงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเน้นไปที่ความถี่ต่ำที่ดีขึ้น ไปดูกันว่าพวกเขาทำอะไรลงไปบ้าง
ไดเวอร์ Planar Magnetic
เคล็ดลับของเทคโลโลยี PPBM ที่ทีมออกแบบของ Diptyque Audio คิดขึ้นมาใช้กับไดเวอร์ของพวกเขาก็คือ “เพิ่มปริมาณของแม่เหล็ก” ที่ติดตั้งอยู่ทั้งด้านหน้า (B) และด้านหลัง (C) ของไดอะแฟรม (A = แผ่นฟิล์ม) ให้มากขึ้นแบบสมมาตรตามความสูงของแผ่นฟิล์มตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง มีผลให้มีความแรงของเส้นแรงแม่เหล็กมากพอที่จะทำปฏิกิริยากับว้อยคอยซ์ (แผ่นอะลูมิเนียม) ที่แปะอยู่บนแผ่นฟิล์มได้อย่างทั่วถึงเสมอกันทั้งแผ่น จึงสามารถควบคุมการขยับตัวของแผ่นฟิล์มได้อยู่หมัด ส่งผลดีต่อการตอบสนองเชิงเฟสที่แม่นยำตลอดทั้งแผง, ให้ไดนามิกของเสียงที่เปิดกว้าง และตอบสนองกับสัญญาณทรานเชี้ยนต์ได้ดี ให้โฟกัสที่มั่นคง และสามารถตอบสนองอิมแพ็คของหัวเสียงที่ฉับไวได้ท่วงทัน ผู้ผลิตแนะนำให้ทดลองฟังด้วยเสียงเปียโน จะได้เห็นถึงความสมจริงที่ลำโพงของเขาให้ออกมา
นอกจากนั้น ส่วนที่มีผลต่อเสียงมากอย่างที่คาดไม่ถึงก็คือ “เฟรม” หรือกรอบที่ประกบอยู่รอบๆ ไดเวอร์ ซึ่งนับเป็นโชคดีของแบรนด์นี้ที่ Eric Poix หุ้นส่วนของ Gilles Douziech เขามีความเชี่ยวชาญทางด้านงานโลหะโดยเฉพาะ เขาจึงรับหน้าที่ในการออกแบบเฟรมของลำโพง Diptyque Audio ทั้งหมด จนออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะที่เขาเรียกว่า sandwich mechanical structure คือเป็นเฟรมที่ใช้วัสดุ 2 ชนิด มาประกบกัน โดยใช้ไม้ MDF หนา 20 ม.ม. ทำเป็นกรอบยึดชิ้นส่วนของไดเวอร์ (แผ่นฟิล์มและแม่เหล็ก) เอาไว้ด้านใน ก่อนจะใช้แผ่นโลหะขนาดความหนา 2 ม.ม. ประกบทับลงไปบนแผ่นไม้ MDF ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง..
จากนั้นก็ยึดตรึงแผ่นโลหะที่อยู่ด้านนอกกับแผ่นไม้ MDF ที่อยู่ด้านในด้วยสกรู (ศรชี้ ภาพข้างบน) นับสิบตัวจนแน่นหนา ถ้าได้ทดลองจับตัวเฟรมของ DP 140 MK II แล้วเลื่อนขยับดูจะรู้ว่าเฟรมของลำโพงรุ่นนี้มันมีความแน่นหนามาก ไม่ได้บอบบางอย่างที่คิดและจากรูปร่างที่เห็น
DP 140 MK II เป็นลำโพง 2 ทาง ที่ใช้ไดเวอร์ Planar ขนาด กว้าง 18.5 ซ.ม. x สูง 55 ซ.ม. จำนวน 2 แผง ร่วมกันทำหน้าที่สร้างความถี่ในย่านกลางลงมาถึงทุ้ม และใช้ไดเวอร์ริบบ้อนขนาด กว้าง 2 ซ.ม. x สูง 55 ซ.ม. จำนวน 1 แผง ทำหน้าที่สร้างความถี่ในย่านแหลม
พวกเขาออกแบบทวีตเตอร์ริบบ้อนที่ใช้ในรุ่น DP 140 MK II กันเอง โดยอาศัยลักษณะโครงสร้างแบบ Isodynamic cell เหมือนกับไดเวอร์ที่ทำหน้าที่สร้างความถี่ในย่านกลางและทุ้ม คือใช้แผ่นฟิล์มไมร่าทำหน้าที่เป็นไดอะแฟรมและใช้แผ่นอะลูมิเนียมบางๆ แปะลงไปบนแผ่นฟิล์มเพื่อให้เหนี่ยวนำกับสนามแม่เหล็ก ที่ไม่เหมือนกันก็คือ ตัวทวีตเตอร์จะใช้แผ่นไมร่าที่แคบกว่า แต่ใช้แผ่นอะลูมิเนียมที่กว้างกว่าเท่านั้นเอง ส่วนแม่เหล็กที่ใช้ก็เป็นแม่เหล็ก neodymium คุณภาพสูง
***ถ้าเป็นรุ่น Reference พวกเขายังมีเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ‘Crossed Push Pull’ คือเพิ่มว้อยคอยซ์ (แถบริบบ้อนอะลูมิเนียม) ในแนวขวางเข้ามาอีกหนึ่งชุด ช่วยเพิ่มพลังในการควบคุมการขยับตัวของแผ่นฟิล์มได้ดีขึ้นไปอีก.. (เทคโนโลยีนี้มีเฉพาะในรุ่น Reference ซึ่งเป็นรุ่นที่ใหญ่กว่า DP 140 MK II คู่นี้)
วงจรเน็ทเวิร์ค กับขั้วต่อสายลำโพง
แผงวงจรตัดแบ่งความถี่ (crossover network) ถูกฝังอยู่ที่ด้านหลังของเฟรม เยื้องลงมาด้านล่างของฝั่งที่ติดตั้งทวีตเตอร์ (ส่วนที่หนากว่า) ซึ่งเป็นวงจรตัดแบ่งความถี่แบบง่ายๆ โดยใช้ฟิลเตอร์ที่มีสโลประดับปานกลาง คือมีอัตราลาดชันของความถี่ ณ จุดตัดอยู่ที่ 12dB ต่ออ็อกเตรป (second order)
แม็ทชิ่ง
มีตัวเลขในสเปคฯ ของ DP 140 MK II อยู่ 3 – 4 ตัว ที่อยู่ในแถบสีแดง คือ “ความไว” (Sensitivity), “ความต้านทาน” (Impedance) และ “กำลงขับสูงสุดที่รับได้” (Power Handling) กับ “กำลังขับที่แนะนำ” (Recommended Amplifier) ที่สามารถนำมาพิจารณาหาสเปคฯ ของแอมป์ที่แม็ทชิ่งกับลำโพงคู่นี้ได้ ส่วนตัวเลขในแถบสีฟ้ามีไว้อ้างอิงตอนเซ็ตอัพ
จากตัวเลขในแถบสีแดงทั้งสาม–สี่ตัวข้างต้นนั้น สเปคฯ สองตัวแรกที่อยากจะนำมาพิจาณณาก่อนก็คือ กำลังขับที่แนะนำ นั่นคือ >60W เมื่ออ้างอิงกับความต้านทานที่ 6 โอห์ม ซึ่งสเปคฯ ตัวนี้น่าจะบอกเป็นนัยๆ ให้เรารู้ว่าควรจะใช้แอมป์ที่มีกำลังขับ “อย่างต่ำ” ไม่น้อยกว่า 60W ส่วนตัวเลขอีกตัวคือ กำลังขับสูงสุดที่ลำโพงคู่นี้รับไหวก็คือ 180W เมื่อเอาตัวเลขสองตัวนี้มารวมกันก็พอจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับตัวเลข “กำลังขับ” ที่ผู้ผลิตลำโพง Diptyque Audio ตัวนี้แนะนำไว้ คือระหว่าง 60 – 180W นั่นเอง ถ้าสูตรของผมก็เอา 180 x 75 แล้วเอามาหารด้วย 100 ก็จะได้ตัวเลขออกมาเท่ากับ 135W ซึ่งเป็นตัวเลข “อย่างต่ำ” ของกำลังขับที่จะคาดหวังผลทางด้านคุณภาพเสียงที่น่าพอใจได้จากลำโพงคู่นี้ แต่ถ้าคุณไม่มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ก็สามารถหาแอมป์ที่มีกำลังขับ 180W ที่ 6 โอห์ม มาขับลำโพงคู่นี้ได้เลยถ้าต้องการคุณภาพเสียงสูงสุดจากลำโพงคู่นี้
ส่วนตัวเลขความไวที่ระบุไว้ที่ 87dB/1W/1m นั้น บ่งบอกให้รู้ว่า DP 140 MK II คู่นี้มีพฤติกรรมออกไปทาง “ขับยาก” อยู่สักหน่อย เมื่อเทียบกับความไวระดับปานกลางอยู่ที่ 89dB (ระหว่าง 88 – 90dB) ก็แสดงว่า DP 140 MK II มีความไว “ต่ำกว่า” ระดับความไวปานกลางอยู่ 2dB ซึ่งแอมป์ที่จะนำมาใช้ขับลำโพงคู่นี้ให้ได้ช่วงพีคของเสียงออกมาดี ควรจะต้องเป็นแอมป์ที่มี “กำลังสำรอง” มากหน่อย คือเบิ้ลได้เกือบ 2 เท่าเมื่ออิมพีแดนซ์ลดต่ำลงไปอยู่ที่ 3 โอห์มจะดีที่สุด สมมุติว่า ถ้าคุณคิดจะเลือกแอมป์ที่มีกำลังขับ 180W ที่ 6 โอห์ม มาขับลำโพงคู่นี้ แอมป์ตัวนั้นก็ต้องสามารถเบิ้ลกำลังขับขึ้นไปได้ถึง 360W เมื่ออิมพีแดนซ์ลดต่ำลงไปอยู่ที่ 3 โอห์ม ถึงจะออกมาดี ประมาณนี้
ในการทดสอบครั้งนี้ผมมีโอกาสได้ทดลองจับคู่ DP 140 MK II ทั้งกับแอมป์หลอด/วัตต์ต่ำ และแอมป์โซลิดสเตท/วัตต์สูง
เซ็ตอัพ + ปรับจูน
ลำโพงแผ่น + ไร้ตู้โดยทั่วไป (รวมถึง Diptyque Audio คู่นี้ด้วย) จะให้คลื่นเสียงที่กระจายออกไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง “เท่าๆ กัน” แบบที่เรียกว่า Dipole ซึ่งคลื่นเสียงที่แผ่ไปทางด้านหลังกับด้านหน้าจะเป็นคลื่นเสียงที่มีเฟสตรงข้ามกัน ลักษณะการเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพงที่ให้ประสิทธิภาพเสียงสูงสุดก็คือ ต้องหา “ระยะห่างผนังด้านหลัง” ที่ทำให้คลื่นเสียงที่แผ่ไปทางด้านหลังของตัวลำโพง ตกกระทบกับผนังด้านหลังและสะท้อนกลับมาพบกับคลื่นเสียงที่แผ่ออกไปทางด้านหน้าในจังหวะขององศาเฟสเดียวกัน และแอมปลิจูดที่มีอัตราลาดชันที่กลมกลืนกัน หรือไม่ก็ทำให้คลื่นเสียงที่แผ่ไปทางด้านหลังไม่ย้อนกลับมาผสมกับคลื่นเสียงที่แผ่ออกทางด้านหน้าก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง
ในการจัดวางตำแหน่งซ้าย–ขวา ผู้ผลิตแนะนำให้เอาด้านที่ติดตั้งริบบ้อนทวีตเตอร์เข้าด้านใน ซึ่งที่ด้านล่างของตัวเฟรมของลำโพงจะมีขาที่ทำเป็นก้านโลหะ (สีดำๆ ในภาพข้างบน) กับเดือยแหลม (ศรชี้สีแดง) ติดตั้งอยู่เพื่อยกตัวเฟรมให้ลอยขึ้นมาจากพื้น ตัวขาที่เป็นก้านโลหะจะติดตั้งอยู่ทางด้านที่ติดตั้งทวีตเตอร์ ส่วนที่เป็นเดือยแหลมติดตั้งอยู่อีกด้านหนึ่ง เมื่อวางลำโพงให้ทวีตเตอร์ชี้เข้าหากัน ขาตั้งที่เป็นก้านโลหะจะอยู่ด้านในทั้งสองข้าง ในขณะที่เดือยแหลมจะอยู่ด้านนอกทั้งสองข้าง เท่ากับว่า ตัวลำโพงลอยขึ้นมาจากพื้นโดยมีจุดสัมผัสพื้นอยู่ 3 จุด ทำให้การขยับเลื่อนตำแหน่งทำได้ง่ายเมื่อใช้จานโลหะรองใต้เดือยแหลม
ในการเซ็ตอัพลำโพงแผ่น DP 140 MK II คู่นี้ ประเด็นสำคัญนอกจากจะอยู่ที่ระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย–ขวาแล้ว ระยะห่างผนังหลังก็มีความสำคัญมากเช่นกัน และเป็นข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับลำโพงประเภท Dipole ที่ส่งคลื่นเสียงออกไปทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็คือ ผนังด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงจะต้องมีลักษณะที่สะท้อนเสียง เพราะผนังด้านหลังที่มีลักษณะดูดซับคลื่นเสียงจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับลำโพงไร้ตู้ลักษณะนี้ นอกจากนั้น การเซ็ตอัพตำแหน่งวางในลักษณะที่เอียงแผงหน้าของตัวลำโพงให้ยิงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟัง (โทอิน) ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ส่งผลกับคุณภาพและลักษณะเสียงที่ได้จากลำโพงประเภทนี้มากเช่นกัน
ในคู่มือของลำโพง Diptyque Audio ผู้ผลิตแนะนำวิธีการเซ็ตอัพเอาไว้ให้วางลำโพงทั้งสองข้างในลักษณะที่เอียงแผงหน้าของลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังอยู่บน “รัศมีของวงกลม” โดยมีจุดนั่งฟังเป็นจุดศูนย์กลาง
ความยากในทางปฏิบัติอยู่ที่ว่า ทางผู้ผลิตไม่ได้ระบุระยะของ “เส้นผ่าศูนย์กลาง” มาให้ คงปล่อยให้เรากะประมาณเอาเอง
ผมเลยใช้วิธีเซ็ตอัพด้วยการเริ่มต้นด้วยวิธีเซ็ตอัพลำโพงตู้ทั่วไป คือวางหน้าตรงก่อนแล้วหาระยะห่างซ้าย–ขวาโดยพิจารณาโฟกัสของเสียงตรงกลางให้คมและลอยออกมาให้มากที่สุดก่อน จากนั้นก็ลองดันลำโพงชิดผนังหลังและลองดึงห่างผนังหลัง เพื่อค้นหาระยะห่างผนังหลังที่ให้โทนัลบาลานซ์ที่ดีที่สุด อ้างอิงกับการหาระยะนั่งฟังไปในตัว หลังจากนั้นจึงค่อยทดลองโทอินโดยเอียงแผงหน้าของลำโพงด้านที่ติดตั้งทวีตเตอร์ให้ถอยหลังลงไปทีละนิดจนได้โฟกัสของเสียงบริเวณตรงกลางที่เข้มและขึ้นทรงเป็นสามมิติมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องมีการขยับลำโพงให้ขึ้นหน้ามาอีกนิดหน่อย (เลื่อนขึ้นมาโดยรักษามุมโทอินเอาไว้เหมือนเดิม และต้องคอยทดลองขยับลำโพงทั้งสองข้างชิด–ห่างจากกันอีกนิดหน่อย (โดยรักษามุมโทอินเอาไว้) เพื่อให้เสียงตรงกลางระหว่างลำโพงลอยออกมา ไม่จมลงไป จนได้ตำแหน่งลงตัวตามลายแทงที่อยู่ข้างบนนั่นเองเป็นจุดที่ฟังดีที่สุดตอนขับด้วยแอมป์หลอด NAT Audio รุ่น Single HPS ที่มีกำลังขับข้างละ 30W
ข้อสังเกตที่ผมพบจากการเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้ก็คือ กรณีใช้แอมป์ที่มีกำลังขับต่ำๆ การโทอินเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าตอนขับด้วยแอมป์ที่มีกำลังสูงๆ (*ตอนขับด้วยแอมป์หลอด NAT Audio รุ่น Single HPS ผมปรับเอ๊าต์พุตเป็นโหมด LOW ซึ่งให้กำลังขับอยู่ที่ 30W ต่อข้าง เสียงจะเนียนกว่าโหมด HIGH)
หลังจากขยับลำโพงจนได้ตำแหน่งที่ให้เสียงออกมาน่าพอใจแล้ว อีกขั้นตอนที่มีความสำคัญมากคือการไฟน์จูนเพื่อทำให้ตัวลำโพงมีลักษณะที่ “ทิ้งดิ่ง” กับพื้นและขนานกันทั้งสองข้างให้มากที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ส่งผลกับเสียงอย่างมาก สองรูปด้านบนเป็นการใช้ระดับน้ำจัดระนาบซ้าย-ขวาโดยใช้วิธีขันเดือยแหลม
ส่วนอีกสองรูปข้างบนนี้เป็นการใช้ระดับน้ำจัดระนาบหน้า-หลัง ถ้าตัวลำโพงอยู่ในลักษณะคว่ำหน้า ก็ให้ใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นนิดๆ และไม่ริ้งกิ้งมาวางรองหนุนขาตั้งด้านหน้าให้เงยขึ้นจนทิ้งดิ่งได้ฉากกับพื้น แต่ถ้าตัวลำโพงอยู่ในลักษณะหงายหลัง ก็หนุนที่ขาหลัง ผมใช้แผ่นไม้คล็อกกับยาดิบซ้อนกันก็ให้ผลดี เมื่อหนุนให้ตัวลำโพงทิ้งดิ่งได้ฉากลงกับพื้นทั้งสองข้างแล้ว ตัวลำโพงทั้งสองข้างจะขนานกันในแนวดิ่ง มีผลให้เฟสของสัญญาณที่กระจายออกมาจากหน้าลำโพงมาถึงจุดนั่งฟังมีความเสมอกันทั้งย่านเสียงตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้ม (*ถ้าลำโพงตั้งอยู่ในลักษณะหงายหลัง = เบสจะนำกลางและแหลม และในทางกลับกัน ถ้าลำโพงหน้าคว่ำ = แหลมจะล้ำกลางและเบส ซึ่งบางครั้งคุณก็สามารถใช้วิธีนี้ในการจูนโทนเสียงที่ชอบได้)
ระดับความสูงของจุดนั่งฟัง
เนื่องจากแผ่นริบบ้อนทวีตเตอร์ติดตั้งอยู่เยื้องขึ้นไปด้านบนของแผงตู้ และด้วยมุมกระจายเสียงของไดเวอร์แผ่นฟิล์มและริบบ้อนจะมีลักษณะที่บีบมุมแคบอยู่ในแกนแนวตั้ง (vertical) ซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่แผ่ออกทางด้านข้างและด้านบนมีน้อย ด้วยเหตุนี้ ความสูงของหู ณ จุดนั่งฟังจะส่งผลกับเสียงที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้มาก จากการทดลองขยับลุกๆ นั่งๆ ผมพบว่า ระดับความสูงของหู ณ จุดนั่งฟังที่อยู่ในแนวเส้นสีเหลืองในภาพข้างบนจะให้สมดุลของความถี่เสียงที่ดีที่สุด ถ้าคุณมีโอกาสใช้งานลำโพงแบบนี้ แนะนำให้ทดลองลุกๆ นั่งๆ ปรับหาระดับความสูงของเก้าอี้ที่ทำให้ได้ยินเสียงที่มีสมดุลมากที่สุดด้วย และผมพบด้วยว่า ลำโพงประเภทนี้ชอบให้นั่งฟังไกลนิดนึงจะได้ดุลเสียงดีกว่านั่งใกล้
เสียงของ DP 140 MK II
ก่อนจะไปสรุปเรื่องเสียงของลำโพง Diptyque Audio คู่นี้ อยากจะขอย้ำอีกทีว่า มีอยู่ 2 ขั้นตอน ที่ส่งผลกับเสียงของลำโพงคู่นี้มากเป็นพิเศษ อย่างแรกคือ การแม็ทชิ่งแอมป์กับลำโพงคู่นี้ อย่างที่สองก็คือการเซ็ตอัพตำแหน่งวางกับไฟน์จูนที่ตัวลำโพงให้ตั้งขนานกันทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ส่งผลกับเสียง “เยอะมาก” ไม่น้อยกว่าการแม็ทชิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้งแผงของลำโพงคือไดอะแฟรมที่ใช้ในการผลักดันอากาศสร้างความถี่เสียง ถ้าข้างใดข้างหนึ่งถูกทำให้เบี่ยงเบนองศาไปเพียงนิดเดียว นั่นก็เท่ากับว่าเฟสของสัญญาณข้างนั้น (ไม่ว่าจะเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา) จะปีนเฟสกับอีกข้างในทุกความถี่ แค่นี้ถ้ามองในแง่ของคุณภาพเสียงโดยรวมก็คือบรรลัยแล้ว.!!
หลังจากทดลองฟังเพลงหลากหลายแนว จากหลากหลายเจนเนเรชั่นผ่านลำโพงคู่นี้ไปแล้ว ผมก็ค้นพบคุณสมบัติที่โดดเด่นมากๆ ของลำโพงคู่นี้หลายอย่างด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะลักษณะการกระจายคลื่นเสียงแบบ “Line Source” คือ แนวตั้งฉากกับพื้นที่เสมอกันตลาดทั้งแนวความสูงของไดเวอร์นี่เองที่ทำให้เสียงของลำโพงคู่นี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับลำโพงที่ใช้ไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกที่กระจายคลื่นเสียงออกมาเป็นแบบ “Point Source” คือแผ่คลื่นเสียงจากจุดกำเนิดเล็กๆ จากหน้าดอกให้ค่อยๆ ขยายกว้างออกมาเป็นลำคลื่นคล้ายๆ กับการส่องสว่างของไฟฉาย
เนื่องจากไดเวอร์แบบ point source อย่างเช่นไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกและทรงโดมโค้งครึ่งวงกลม จะแผ่คลื่นเสียงมาถึงจุดนั่งฟังในลักษณะเหมือนคลื่นน้ำที่แผ่ออกจากจุดศูนย์กลางเล็กๆ ค่อยๆ กระจายเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ มีผลให้เสียงที่เดินทางไปถึงตำแหน่งนั่งฟังมีเนื้อมวลที่เจือจางเพราะมีบางส่วนของเสียงที่กระจายออกไปนอกแนวการรับฟัง (off axis) แผ่ไปกระทบผนัง, เพดาน และพื้น แล้วสะท้อนกับมารบกวนเสียงหลักที่มาจากไดเวอร์ ผู้ออกแบบลำโพงต้องใช้วิธีออกแบบวงจรเน็ทเวิร์คควบคุมมุมกระจายของคลื่นเสียงจากไดเวอร์ (บางทีก็อาศัยปากแตร) เพื่อทำให้คลื่นเสียงที่เคลื่อนที่ไปยังจุดนั่งฟังในแนว on axis (ตั้งฉากกับตัวตู้, ขนานกับพื้น) มีความเข้มสูงกว่าคลื่นเสียงที่กระจายตัวออกไปนอกแกน (off axis) จึงจะสามารถรักษาความเข้มของเสียงเอาไว้ได้ และด้วยเทคโนโลยีในการออกแบบ+ผลิตไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกยุคใหม่ๆ ที่ทำให้ไดอะแฟรมทนกำลังขับได้สูงขึ้น ไม่บิดจนผิดรูปเมื่อถูกอัดดังๆ ทำให้ไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกสามารถถ่ายทอดทรานเชี้ยนต์ไดนามิกที่รุนแรงได้ดีกว่าไดเวอร์แผ่นฟิล์มพลาน่าร์ ในทางกลับกัน เนื่องจากไดเวอร์พลาน่าร์ไม่มีตู้เข้ามารบกวนการทำงานของไดอะแฟรม ทำให้ได้เสียงที่ใสกระจ่างและเปิดเผยเต็มที่มากกว่าไดเวอร์แบบกรวยไดนามิกที่ต้องอาศัยตู้ช่วยปั๊มเสียงจึงเจอกับปัญหาตู้สั่น แต่ไดเวอร์แผ่นพลาน่าร์ก็มีข้อจำกัดในการรองรับสัญญาณทรานเชี้ยนต์ที่รุนแรงได้ไม่มากเท่ากับไดเวอร์ทรงกรวย
ประเด็นที่ไดเวอร์แผ่นพลาน่าร์ได้เปรียบไดเวอร์ทรงกรวยไดนามิกก็คือเรื่องของ “เฟส” ที่ลำโพงแผ่นพลาน่าร์ตอบสนองได้ดีกว่า สามารถรักษาความถูกต้องของเฟสสัญญาณของอินพุตไว้ได้โดยแทบจะไม่มีปัญหาที่เกิดจากการพาดข้ามกันไป–มาของคลื่นเสียงคนละความถี่ที่แผ่ออกมาจากไดเวอร์ทรงกรวยคนละตัวที่ติดตั้งอยู่คนละตำแหน่งบนแผงหน้าของลำโพงตัวเดียวกัน
ซึ่งในการทดสอบผมพบว่า DP 140 MK II แสดงคุณสมบัติที่โดดเด่นของไดเวอร์แผ่นของมันออกมาให้ได้ยินด้วยลักษณะของเสียงที่ต้องใช้คำเรียกว่า “ฟูลบอดี้” คือเสียงที่มีมวลใหญ่ เนื้อแน่น และให้มูพเม้นต์ที่นิ่ง ลื่นไหล และต่อเนื่อง
อัลบั้ม : Way Out West (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Sonny Rollins
สังกัด : Contemporary/Analogue Productions Remastered
อัลบั้ม : Ben Webster meets Oscar Peterson (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Ben Webster
สังกัด : Verve Records
มันน่าแปลกที่มักจะพบว่า เพลงในยุค ’50 – ‘60 ที่ทำออกมาเป็นฟอร์แม็ตดิจิตัลลงบนแผ่นซีดีมักจะให้เสียงออกมา “บาง” และขาด “ชีวิตชีวา” ใครๆ ก็มักจะสรุปไปในทางนั้น ผมก็ยอมรับว่า ถ้าเป็นเพลงในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแนวสแตนดาร์ดแจ๊ส ที่เป็นฟอร์แม็ต CD เกือบทั้งหมดจะให้เสียงสู้เวอร์ชั่นที่ทำออกมาเป็นแผ่นเสียงไม่ได้
ทั้งสองอัลบั้มข้างต้นนี้ก็เช่นกัน ผมเคยฟังเทียบในซิสเต็มเดียวกันและพบว่าเวอร์ชั่นที่เป็นแผ่นเสียงให้เสียงดีกว่าในแง่ของมวลเนื้อที่มีความหนาแน่นมากกว่า ทั้งๆ ที่เป็นงานรีมาสเตอร์ของค่าย Analogue Productions ด้วยกันและออกมาในเวลาเดียวกัน ต่างกันก็แค่ฟอร์แม็ต CD กับ LP 180gm เท่านั้น
ทีแรกนั้นผมตั้งใจเลือกงานเพลงที่ออกมาในช่วงปี ’50 – ‘60 มาฟังกับลำโพงคู่นี้เพราะเคยอ่านเจอในรีวิวลำโพง Magnepan ของนิตยสารต่างประเทศอ้างว่า ลำโพงที่กระจายเสียงแบบ dipole ลักษณะเดียวกับ Magnepan และ Diptyque Audio คู่นี้จะให้เสียงของเพลงที่บันทึกด้วยฟอร์แม็ต fully -analogue ออกมาได้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอัลบั้มที่ใช้เบสอะคูสติก เหตุผลเพราะเรื่องขนาดของไดอะแฟรมกับเหตุผลทางด้านการตอบสนองเฟสของสัญญาณที่แม่นยำไปจนถึงความถี่ระดับแอมเบี้ยนต์ซึ่งเป็นจุดเด่นของลำโพงลักษณะนี้
หลังจากทดลองฟังไฟล์เพลง WAV-16/44.1 ของทั้งสองอัลบั้มข้างต้นที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีผ่าน DP 140 MK II คู่นี้แล้ว ผมก็เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างในรีวิวนั้น เพราะสิ่งที่ได้ยินมันฟ้องอยู่ทนโท่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากกับเสียงของลำโพงแผ่นพลาน่าร์แม็กเนติคคู่นี้ คือมันให้เสียงแซ็กโซโฟนของซันนี่ โรลลิ่นออกมาเหมือนเสียงแซ็กฯ ที่มีคนมาเป่าอยู้ในห้อง สังเกตได้ว่าพื้นเสียงใสมากเป็นพิเศษ เสมือนว่าระหว่างตัวผมกับเสียงแซ็กฯ ในเพลงนี้ที่ลำโพงคู่นี้สร้างขึ้นมามันไม่มีอะไรมาขวางกั้นเลย ความรู้สึกคล้ายกับผมเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่ซันนี่ โรลลิ่นกับพรรคพวกกำลังบันทึกเสียงงานชุดนี้กันอยู่.! เพราะทุกเสียงที่ออกมามัน “จริง” มาก.!! และไม่ใช่จริงเฉพาะตัวเสียง แต่มันมาพร้อม “บรรยากาศ” ที่ทำให้สมจริงมากขึ้นไปอีกขั้น ตอนขึ้นต้นเพลง Wagon Wheels ผมรู้สึกสตั้นท์ตั้งแต่เสียงเคาะกระพรวนที่คล้องคอวัวแล้ว เพราะที่เคยๆ ฟังมากับลำโพงทั่วไป ผมไม่เคยรู้สึกว่าเสียงเคาะนี้มันมี “ความหนา” ของวัสดุที่ใช้ทำกระพรวนออกมาด้วย ปกติที่ได้ยินจะเป็นหัวเสียงเคาะที่พุ่งพรวดออกมาข้างหน้าโดยไม่มี “บอดี้” ตามออกมาด้วย นั่นคงเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกว่าเสียงบาง แต่พอฟังผ่านลำโพงแผ่นคู่นี้มันสามารถถ่ายทอดบอดี้ของกระพรวนออกมาให้รับรู้ได้ชัดๆ และให้หัวเสียงที่เคาะลอยลงไปตึงตัวอยู่บริเวณพื้นที่อากาศที่อยู่ระหว่างลำโพง ไม่พุ่งปรี๊ดออกมาแยงหู
เสียงอื่นๆ ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นเบส, กลอง ก็ล้อมวงกันอยู่ข้างหน้า ไม่ได้มีลักษณะที่ “พุ่งล้ำ” ออกมาหาตำแหน่งนั่งฟัง เหมือนเสียงของทั้งวงมันถอยหลังห่างจากตัวผมออกไปมากกว่าตอนฟังผ่านลำโพงมีตู้ทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน วงอยู่ห่างออกไป แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนนั่งฟังอยู่ในบรรยากาศเดียวกับวงที่เล่นมากกว่า.. ประหลาดมาก.!
ส่วนเสียงจากอัลบั้มชุด Ben Webster meets Oscar Peterson กลับให้โทนของเสียงกับสภาพบรรยากาศที่ต่างออกไป คือมู้ดของอัลบั้มหลังนี้มันจะออกไปทางนัวๆ สลัวๆ ไม่สว่างจ้าเหมือนชุด Way Out West ถ้าเปรียบเทียบในแง่ความรู้สึกก็ประมาณว่า ชุด Way Out West เล่นกันอยู่ในที่โล่ง ท่ามกลางแสงแดด ในขณะที่ชุด Ben Webster meets Oscar Peterson เล่นกันอยู่ในห้องที่มีผนังและหลังคาคลุม ภายใต้แสงสลัวๆ ของหลอดไฟแรงเทียนต่ำ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงของชุด Ben Webster meets Oscar Peterson ที่ได้ยินจาก DP 140 MK II คู่นี้จะมัวหรือเบลอนะ ความใสกระจ่างยังอยู่ในระดับที่สามารถแยกแยะรายละเอียดออกมาได้ชัดเจน ทว่า ภายใต้สภาพบรรยากาศที่ต่างกันเท่านั้น ประเด็นนี้ผมอยากจะยกเครดิตให้ลำโพงคู่นี้ในแง่ความสามารถในการแสดง Tone Color ของเพลงออกมาได้เที่ยงตรงกับสภาพแวดล้อมขณะที่อัลบั้มนั้นถูกบันทึกมา แสดงว่าลำโพงมันมี “ความเป็นกลาง” ในการถ่ายทอดความถี่เสียงในระดับที่เรียกได้ว่าโดดเด่น ซึ่งให้เดาก็คิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากลักษณะของไดเวอร์แผ่นฟิล์มบวกกับความที่มันไม่มี color ที่เกิดจากตู้ลำโพงเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง
เสียงเบสของ DP 140 MK II คู่นี้เป็นอะไรที่ต้องพูดถึง เพราะมันลบล้างความสงสัยที่ว่า “ลำโพงแผ่นแบบนี้จะมีเบสมั้ย.?” ออกไปได้อย่างสิ้นเชิง.!!! เสียงอะคูสติกเบสของ Ray Brown ในเพลง There Is No Greater Love พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการถ่ายทอดความถี่ต่ำของลำโพงคู่นี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของปริมาณเท่านั้นที่มากพอ แต่ลำโพงคู่นี้ยังให้ความถี่ต่ำที่มีรายละเอียดที่ดีเยี่ยมอีกด้วย
อัลบั้ม : When We All Fall Asleep, Where Do We Go? (WAV-16-44.1)
ศิลปิน : Billie Eilish
สังกัด : Darkroom-Interscope
แต่ถ้าจะพูดถึง “เสียงเบส” แล้ว ยาขมขนานใหญ่สุดสำหรับลำโพงแผ่นแบบนี้ไม่ใช่เสียงอะคูสติกเบสจากเพลงแนวสแตนดาร์ดแจ๊ส แต่เป็นเสียงอิเล็กทรอนิคส์เบสที่สร้างขึ้นโดยเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิคส์ประเภทซินธิไซเซอร์ ซึ่งมักจะพบอยู่ในเพลงประเภท electropop หรือ synth-pop กับแนว EDM เป็นต้น
เสียงเบสซินธ์ฯ ในเพลง Bad Guy แทรคที่สองจากอัลบั้มที่มีชื่อยาวเหยียดว่า When We All Fall Asleep, Where Do We Go เรียกว่าอยู่ในระดับ “วัวหาย–ควายล้ม” คือถ้าลำโพงไม่เก่งในการถ่ายทอดเบสที่ทั้งหนัก, หนา และแน่น แบบเอาอยู่จริงๆ เมื่อเจอกับเสียงเบสในเพลงนี้เข้าไป มันจะทำลายอรรถรสทั้งหมดในเพลงนี้ให้พังพินาศลง และถ้าเปิดดังมากในขณะที่แด้มปิ้งของแอมป์ไม่ช่วยยั้งกรวยลำโพง เสียงเบสในเพลงนี้อาจจะทำลายลำโพงของคุณให้ย่อยยับลงไปด้วย.! (*ถ้ายังไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อน และอยากจะลองดีกับซิสเต็มของคุณ แนะนำให้เริ่มด้วยวอลลุ่มต่ำๆ ก่อน ถ้าไม่คิดว่านี่คือคำแนะนำ จะคิดว่าเป็นคำเตือนก็ได้)
ก่อนทดลองฟังเพลง Bad Guy ของ Billie Eilish กับลำโพง Diptyque Audio คู่นี้ผมรู้สึกหวั่นใจอยู่เหมือนกัน แต่พอได้ลองฟังแล้วก็โล่งอก เพราะเพลงนี้ช่วยเปิดเผยศักยภาพที่ซ่อนเร้นของลำโพงคู่นี้ออกมาให้ผมได้สัมผัสเต็มทั้งสองหู ซึ่งบอกตรงๆ ว่า เสียงทุ้มที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมาทำเอาผมถึงกับอ้าปากค้าง.! ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยินเสียงเบสของเพลงนี้พุ่งพรวดออกมาจากไดเวอร์แบนๆ บางๆ ของลำโพงคู่นี้ บอกคำเดียวว่า ไม่น่าเชื่อ.! เสียงเบสที่ออกมามันมีมวลที่หนาและแน่น ลูกใหญ่ๆ เด้งดึ๋งๆ ออกมาจากลำโพงคู่นี้แบบไม่ยั้ง ต่อเนื่องไล่หลังกันออกมาเป็นระลอกๆ ตามบีทของเพลงโดยไม่มีอาการเฉื่อยช้าหรืออ่อนแรง เบสแต่ละลูกดีดเด้งตามกันออกมาเป็นชั้นๆ แยกเป็นลูกๆ ชัดเจนไม่มีควบกล้ำ แสดงว่าไดอะแฟรมของลำโพงคู่นี้สามารถหยุดยั้งตัวได้เร็วและทันกับสปีดของสัญญาณอินพุตที่ป้อนเข้ามาจากแอมป์ ในขณะที่เบสแต่ละลูกมีขนาดใหญ่ มีมวลเนื้อที่หนาและแน่น หลุดกระเด็นออกมาจากแผงฟิล์มที่เป็นไดเวอร์ของลำโพงแบบสบายๆ นั่นคือประจักษ์พยานที่ช่วยลบล้างความสงสัยที่ว่า “มีเบสหรือไม่?” ลงได้อย่างหมดจด..
อัลบั้ม : Song (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Tutu Puoane
สังกัด : SoulFactory Records
Tutu Puoane เป็นนักร้องเชื้อชาติอาฟริกาใต้ ซึ่งอัลบั้มชุดนี้เป็นผลงานเพลงชุดแรกของเธอ ออกมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2007 ขณะนั้นเธออายุแค่ 28 ปีเท่านั้น (เกิดปี 1079 ปัจจุบันเธอมีอายุ 45 ปี) แก้วเสียงของเธอจึงมีความใส กระจ่าง แต่เนื่องจากเธอได้รับการศึกษามาทางดนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก และมีประสบการณ์ในการประกวดเวทีใหญ่ๆ ทั้งในอาฟริกาใต้และในยุโรปที่เธอย้ายถิ่นฐานมาที่เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมในภายหลัง ด้วยประสบการณ์เหล่านั้นช่วยเติม “ความเจนจัด” ในเทคนิคการขับร้องลงไปในน้ำเสียงที่ใสกระจ่างของเธอ ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือใสซื่อแต่เจนจัดระดับมืออาชีพ
งานเพลงชุด Song ชุดนี้เป็นงานอัลบั้มแรกของเธอ ตัวเพลงมีคุณค่าน่าฟัง ส่วนเนื้องานในการบันทึกเสียงก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก เพลงที่ผมชอบมากโดยส่วนตัวคือเพลง For The Time Being เป็นเพลงช้าที่มีเสียงร้องของเธอกับเสียงกีต้าร์โปร่งและทรัมเป็ตแค่สามชิ้น แต่ฟังแล้วได้อารมณ์เหลือหลาย
เสียงกีต้าร์โปร่งโดยมือกีต้าร์ Geert Hellings และเสียงทรัมเป็ตของ Bert Joris สองศิลปินชาวเบลเยี่ยมในเพลงนี้บันทึกเสียงออกมาได้ดีมากๆ โดยเฉพาะเมื่อฟังผ่านลำโพง Diptyque Audio คู่นี้ ซึ่งมันช่วยยืนยันให้เห็นว่า คำกล่าวที่มักจะได้ยินใครๆ ในวงการพูดกันทำนองว่า “เสียงกลางและแหลมของลำโพงแผ่นฟิล์มเป็นอะไรที่วิเศษมาก” นั้นมีมูลความจริง.!!
เสียงกีต้าร์ในแทรคนี้แต่ละโน๊ตมันมีความสมบูรณ์แบบมากเป็นพิเศษ ได้ยินปั๊บบอกได้เลยว่าเป็นเสียงของกีต้าร์สายเหล็ก ไม่ใช่สายเอ็น เพราะความตึงตัวของมวลเนื้อบวกกับความกังวานของหางเสียงที่ทอดยาวและเรโซแนนซ์ที่ปลายเสียงบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นเสียงที่เกิดจากสายกีต้าร์ที่ทำด้วยโลหะถูกดีดด้วยแรงนิ้ว ปลายเสียงกังวานไปไกล ทำให้เกิดปริมณฑลของบรรยากาศที่วาดวงแผ่เป็นคลื่นขยายตัวออกไปโดยรอบ ในขณะที่เสียงมิวต์ทรัมเป็ตของ Bert Joris ก็มีตัวตนที่แตกต่างไปอีกรูปแบบ ลักษณะการสั่นเครือของเสียงที่รีดตัวแทรกผ่านมิวต์ออกมามันมีความสากในเนื้อมวลแต่เปล่งปลั่งในแง่น้ำเสียงที่แหวกแทรกออกมา กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเมื่อผนวกเข้ากับเสียงร้องในโทนที่ใสแต่เจือความอบอุ่นของ Tutu Puoane เข้าไป เป็นเพลงช้าที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกผ่อนคลายและปลดปล่อย แต่ก็แอบคลุกเคล้าความสดกับความละมุนละมัยออกมาด้วย ซึ่งผมต้องขอยอมรับโดยดุษฎีว่า DP 140 MK II ถ่ายทอดแต่ละเสียงของเพลงนี้ออกมากระทบกับความรู้สึกได้ลึกซึ้งมากกว่าที่เคยฟังผ่านลำโพงอื่นๆ อย่างมาก ที่ผ่านๆ มาเวลาฟังเพลงนี้ผมก็ได้ความรู้สึกทำนองคล้ายๆ กันนี้ แต่ไม่เคยชัดเจนและรู้สึกลึกซึ้งมากเท่านี้..!!!
ขับยากหรือขับง่าย..??
ขับกับอินติเกรตแอมป์ NAT Audio รุ่น Single HPS
ขับกับเพาเวอร์แอมป์ QUAD รุ่น Artera Mono + ปรีแอมป์ Ayre Acoustics รุ่น K-5
ขับกับเพาเวอร์แอมป์ Accuphase รุ่น DP7500 + ปรีแอมป์ Ayre Acoustics รุ่น K-5
ช่วงเวลาในการทดสอบฟังเสียงของลำโพง Diptyque Audio คู่นี้ ผมมีโอกาสได้ทดลองใช้แอมปลิฟาย 3 ชุดสลับกันขับลำโพงคู่นี้เพื่อตรวจเช็คพฤติกรรมในการแม็ทชิ่งของมัน ซึ่งผมพบว่า สำหรับลำโพงแผ่นฟิล์มคู่นี้ “ตัวเลขกำลังขับ” มีความสำคัญน้อยกว่า “ดีไซน์ของแอมป์”
ในการทดสอบครั้งนี้ ผมมีโอกาสใช้ทั้งแอมป์หลอดและแอมป์โซลิดสเตทจับคู่กับลำโพงคู่นี้ ผลที่ได้คือ ถ้าเป็นแอมป์หลอด ตัวเลขกำลังขับแค่ 30W สำหรับดีไซน์แบบ Single End ของอินติเกรตแอมป์ยี่ห้อ NAT Audio รุ่น Single HPS (ราคาตัวละ 460,000 บาท) ก็สามารถดึงประสิทธิภาพของลำโพงคู่นี้ออกมาได้ในระดับที่น่าพอใจมากแล้ว เสียงโดยรวมออกมาดีมาก.! ไม่ได้มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจะมีปัญหาทางด้านกำลังแต่อย่างใด คุณภาพเสียงทุกด้านออกมาน่าพอใจ และมันให้ความซื่อตรงกับแต่ละอัลบั้มที่นำมาฟังผ่านมันมากเป็นพิเศษ ถ้ามีจุดไหนที่ไม่ดี หรือมีตำหนิในแง่ของการบันทึก ลำโพงคู่นี้จะเปิดเผยออกมาให้ได้ยินตามนั้น ในขณะเดียวกัน ส่วนแอมป์โซลิดสเตทที่มีกำลังขับสูงๆ ระดับ 200 – 300W ต่อข้างอย่าง Artera Mono ของ QUAD หรือ DP7500 ของ Accuphase ก็แสดงให้เห็นถึงการควบคุมที่อยู่หมัด และทำให้รู้ว่าเสียงเบสที่หนัก เร็ว และกระชับแน่นก็สามารถเกิดขึ้นได้กับลำโพงแผ่นฟิล์มคู่นี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะชอบแนวเสียงแบบไหน.!!
เซอร์ไพร้ซ์.!!!
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนปิดสรุปการฟังลำโพงคู่นี้ ผมทดลองเอาอินติเกรตแอมป์ของ Dared รุ่น Saturn Signature (REVIEW) ที่มีกำลังขับ 24W ของผมมาทดลองขับลำโพงคู่นี้ ซึ่งทีแรกผมไม่ได้คาดหวังอะไรเลย.. และไม่ได้คิดว่าจะเอาผลลัพธ์มาเขียนถึงด้วย เนื่องจากราคาของแอมป์มันต่ำกว่าราคาลำโพงประมาณ 10 เท่า.! ผมคิดว่าเสียงน่าจะออกมาแย่ แอมป์ไม่น่าจะขับไหว.. แต่ที่ไหนได้ เสียงที่ออกมาดีกว่าคาดมาก..! แม้ว่าจะเป็นรองเมื่อเทียบกับเสียงที่ขับด้วย NAT Audio Single HPS อยู่เยอะ แต่ที่ออกมานั้นมันไม่ได้ห่างกันถึงสิบเท่า พอรับได้เลยแหละ ทำให้รู้สึกว่า ลำโพงคู่นี้ชอบแอมป์หลอดแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์มากเป็นพิเศษ ยิ่งราคาสูงๆ น่าจะยิ่งดี..
สรุป
ไม่ว่าคุณจะรับรู้มาอย่างไรเกี่ยวกับลำโพงแผ่นฟิล์ม Planar Magnetic ลักษณะเดียวกับ Diptyque Audio คู่นี้ แต่ถ้ายังไม่เคยมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับลำโพงแบบนี้มาก่อน ผมขอแนะนำเป็นอันขาดให้หาโอกาสสัมผัสและกับลำโพงแผ่นฟิล์มแบบนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาทดลองฟังมันสัก 2-3 ชั่วโมงกับเพลงที่คุณคุ้นเคย หรือจะลงทุนซื้อหาสักรุ่นที่เหมาะกับงบประมาณของคุณเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับลำโพงแบบนี้ให้นานพอ ผมเชื่อว่า ถ้าคุณได้มีโอกาสสัมผัสกับเสียงของลำโพง Diptyque Audio DP 140 MK II คู่นี้อย่างจริงๆ จังๆ สักครั้ง… เชื่อเถอะ ว่าคุณต้องหลงรักมันเหมือนกับผม.!!!
************************
ราคา : 590,000 บาท / คู่
************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. HI-END AUDIO
โทร. 02-101-1988
facebook: @hiendaudiothailand