รีวิว Edifier รุ่น Stax Spirit S3 หูฟัง planar magnetic ขนาด over-ear แบบไร้สาย

พูดถึงหูฟัง ชื่อของ “Staxก็นับว่ายืนแถวหน้าของวงการ เป็นตำนานที่มีกำเนิดมาตั้งแต่ ปี 1938 เป็นแบรนด์แรกที่เริ่มต้นพัฒนาหูฟังที่ใช้ตัวขับเสียงแบบอิเล็กโตรสแตตริกเมื่อ ปี 1959 จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกใน ปี 1960 ชื่อโค๊ดรหัสรุ่นคือ SR-1

โฉมหน้าคุณ Wendong Zhang

ปัจจุบัน Edifier ได้เข้าซื้อกิจการของ Stax แล้ว แต่ด้วยความชาญฉลาดของคุณ Wendong Zhang ซึ่งเป็นประธานและซีอีโอของ Edifier เขาตัดสินใจทำบันทึกข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เอาไว้ว่าจะปล่อยให้ทีมงานของ Stax ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับวงการโปรเฟรสชั่นแนลและวงการไฮไฟฯ ภายใต้ชื่อแบรนด์ Stax ต่อไป รวมถึงทีมงานและทีมออกแบบของ Stax ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีที่ดำเนินการมาต่อไปได้อย่างอิสระภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก Edifier สรุปคือ แบรนด์สินค้าที่ใช้ชื่อ Stax ก็ยังคงอยู่ และยังคงผลิตในประเทศญี่ปุ่นเหมือนเดิม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อ Edifier ก็พัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยพื้นฐานโนฮาวทางด้านไดเวอร์ฮาร์ดแวร์จาก Stax จากประเทศญี่ปุ่นมาผนวกกับเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ DSP ของ Audeze ประเทศสหรัฐอเมริกา

Stax Spirit ‘S3’
หูฟังไร้สาย พล่าน่า แม็กเนติค แบบ over-ear

Stax Spirit ‘S3’ เป็นผลิตภัณฑ์แรกในซีรี่ย์ ‘Stax Spiritของ Edifier ที่สั่นสะเทือนตลาดหูฟังทันทีที่ออกวางตลาด เพราะหลังจากข่าว Edifier ไล่ซื้อกิจการของบริษัทผู้ผลิตหูฟังระดับไฮเอ็นด์ฯ ของโลกถึงสองแบรนด์ ผู้คนในวงการก็เฝ้ารอดูว่า Edifier จะทำอย่างไรกับสองแบรนด์ที่ซื้อกิจการมา.? พวกเขาจะคลุกเคล้าส่วนผสมเหล่านั้นออกมาในรูปแบบไหนกันแน่.? เมื่อเริ่มมีข่าวของ Stax Spirit S3 เล็ดลอดออกมาเข้าหูเข้าตาคนในวงการจึงฮือฮากันใหญ่เมื่อรู้ว่า Edifier ไม่ได้เอาโนฮาวของทั้งสองแบรนด์นั้นมาปู้ยี้ปู้ยำ แต่กลับดึงเอาจุดเด่นของทั้งสองแบรนด์มาผนวกกันออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

ก่อนจะไปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบหูฟังตัวนี้ เรามาพิจารณารูปร่างหน้าตาภายนอกกันก่อน..

Stax Spirit S3 (ต่อไปในรีวิวนี้ผมจะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘S3’) เป็นหูฟังขนาดกลาง ขณะใช้งานบอดี้ของไดเวอร์จะวางแปะครอบอยู่บนใบหู ด้วยน้ำหนักเพียงแค่ 329 กรัม ทำให้มันเป็นหูฟังที่สามารถพกพาออกไปฟังนอกบ้านได้โดยไม่เป็นภาระมาก

บอดี้ที่บรรจุไดเวอร์มีลักษณะทรงกลมเรียวรูปไข่ ด้านหลังปิดทับด้วยคาร์บอนไฟเบอร์สีดำ โดดเด่นด้วยโลโก้สีทอง ตัวโครงก็สีดำ ทำให้ภาพโดยรวมของมันออกมาดูเข้มและเท่ห์ ความหนาของตัวบอดี้อยู่ที่ 5 ..ครึ่ง แบ่งเป็นความหนาของ earpad ประมาณ 2 .. ส่วนที่เหลือก็เป็นตัวบอดี้ที่บรรจุไดเวอร์อยู่ด้านใน ตัวบอดี้ทั้งสองติดตั้งอยู่บนโครงสร้างที่สามารถบิดและพับงอได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความกระชับขณะสวมใส่

ด้านในของโครงคาดศีรษะเป็นแผ่นอะลูมิเนียมแข็งแรง มีกลไกให้สามารถดึงยืดเพื่อขยายวงรอบศีรษะได้ จากการทดลองสวมใส่ผมพบว่ามันพอดีกับศีรษะของผม ไม่หนีบจนเกินไป แต่กระชับ ไม่หลวม เมื่อดึงแกนลงมาเล็กน้อยก็ลงตัวกำลังดี ดูแต่ตาภายนอกเหมือนจะเทอะทะ แต่พอสวมขึ้นไปบนศีรษะจริงๆ แล้วมันไม่รู้ว่าเทอะทะแฮะ กระชับกำลังดี และน้ำหนักก็ไม่เยอะด้วย ใส่ได้นานเลย

สาเหตุที่ใส่แล้วรู้สึกนุ่มศีรษะมากเป็นพิเศษก็เพราะว่าวัสดุที่ใช้หุ้มโฟมนิ่มๆ ที่รองบนศีรษะและหุ้ม earpad ทั้งสองข้างเป็นหนังแกะนี่เอง ซึ่งตัว earpad ทั้งสองข้างสามารถถอดเปลี่ยนได้กรณีใช้ไปนานๆ ถ้ามีอาการเสียทรงเกิดขึ้น ซึ่งในกล่องมี earpad แถมมาให้อีกหนึ่งคู่

ที่แถมมาในกล่องเป็น earpad ที่ทำจากวัสดุที่มีลักษณะคล้ายเจลนิ่มๆ ซึ่งทางผู้ผลิตตั้งชื่อเรียก earpad ตัวนี้ว่า Ice-sensing earmuffs วัสดุที่ใช้อยู่ใน earpad ตัวนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือให้ความรู้สึกเย็นตอนสวมทับลงไปบนใบหู คือจะเย็นกว่า earpad หนังแกะที่ติดตั้งมากับตัวหูฟังตั้งแต่ออกมาจากโรงงาน (ถ้าเปลี่ยนไปใช้ earpad แบบ ice-sensing ตัวนี้ ต้องเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบเสียงในแอพฯ Edifier Connect ด้วย)

ในกล่องให้กระเป๋าโครงแข็งรูปเหมือนหัวใจมาด้วยหนึ่งกล่อง สำหรับใส่หูฟังไว้พกพาออกไปนอกสถานที่เพื่อป้องกันความเสียหาย ตัวกระเป๋าค่อนข้างเบา ใส่หูฟังเข้าไปแล้วน้ำหนักเพิ่มขึ้นนิดเดียว.!

ปุ่มปรับ + ฟังท์ชั่นควบคุมการใช้งาน

ปุ่มควบคุมฟังท์ชั่นการทำงานหลักๆ จะอยู่ที่บอดี้ของหูฟังข้างขวาเกือบทั้งหมด

เริ่มด้วยปุ่ม multifunction ที่รวมเอาหน้าที่ 3 อย่าง ไว้ด้วยกัน อย่างแรกคือกดตรงกลางค้างไว้ประมาณ 3 วินาที สำหรับการเปิดและค้างไว้ 3 วินาที สำหรับการปิด หน้าที่ที่สอง หลังจากกดเปิดเครื่องแล้ว เมื่อกดซ้ำค้างไว้ประมาณ 3 วินาที จะเป็นการกดเพื่อส่งสัญญาณ Bluetooth ออกไปสำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวอื่น และหน้าที่ที่สามคือกดเพื่อเพิ่ม/ลดวอลลุ่ม ซึ่งมีอยู่สองปุ่มแยกหน้าที่กัน

ใกล้ๆ กับปุ่มกดมัลติฟังท์ชั่นจะมีไฟ LED ดวงเล็กๆ เอาไว้แจ้งสถานะการเปิดใช้งาน ซึ่งขณะที่วงจรภายในเริ่มเปิดตัวขึ้นมาจะมีเสียงดัง power on ออกมาจากภายใน earcup เพื่อบอกให้รู้ด้วย อันนี้สะดวกดี เพราะขณะที่เราสวมหูฟังไว้บนศีรษะจะมองไม่เห็นไฟดวงนั้น ต้องฟังจากเสียงบอกนี่แหละ หลังจากกดค้างจนได้ยินเสียงบอก ‘power onแล้วให้กดปุ่มเดิมซ้ำลงไปสั้นๆ จะเป็นการสั่งเชื่อมต่อ Bluetooh กับอุปกรณ์พกพาของเรา ซึ่งถ้าเป็นอุปกรณ์ที่เราเคยทำการ pair กับหูฟังตัวนี้มาก่อน หลังจากเปิดหูฟังขึ้นมาแล้ว แค่กดซ้ำที่ปุ่มเดิมเบาๆ ตัวหูฟังก็จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์พกพาของเราโดยอัตโนมัติ ถ้าอุปกรณ์พกพาตัวนั้นอยู่ในพิสัยการเชื่อมต่อ (ไม่เกิน 10 เมตร)

ถัดไปก็เป็นรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 3.5 mm ที่มีมาให้หนึ่งช่องสำหรับเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ตัวอื่นด้วยสายสัญญาณ (มีแถมมาให้ในกล่อง) เลยไปอีกหน่อยเป็นตำแหน่งติดตั้งไมโครโฟนที่ให้มาสำหรับรับเสียงพูดของเราขณะสนทนากับปลายสายทางเมื่อมีสายโทรฯ เข้ามา

ที่หูข้างซ้ายจะมีแค่ช่องเสียบขั้วต่อ USB-C หนึ่งช่อง มีไว้ให้ใช้สำหรับการชาร์จไฟผ่านสาย USB-A > USB-C ที่แถมมาให้ในกล่อง ขณะชาร์จ ไฟ LED ดวงเล็กๆ ที่อยู่ข้างขั้วต่อจะสว่างขึ้นเป็นสีแดง เวลาที่ใช้สำหรับการชาร์จจนเต็มหนึ่งครั้งอยู่ที่ 2 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากชาร์จเต็มแล้วจะสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 80 ชั่วโมง.!! อึดมาก.. สาเหตุที่อึดขนาดนี้ก็เพราะเขาใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 1500mAh เป็นตัวเก็บไฟนั่นเอง

คุณสมบัติเด่นในการออกแบบ

ไฮไล้ท์ของหูฟัง EdifierS3ตัวนี้อยู่ที่ไดเวอร์ หรือตัวขับเสียงที่ใช้ ซึ่งเป็นไดเวอร์ Planar Magnetic ที่นักเล่นหูฟังส่วนใหญ่ในวงการยอมรับกันว่า เป็นหนึ่งในสองเทคโนโลยีไดเวอร์ที่ใช้แปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียงที่ให้เสียงดีถูกใจนักฟังเพลงมากที่สุด แน่นอนว่าอีกเทคโนโลยีก็คือ Electrostatic นั่นเอง

พลาน่าร์ แม็กเนติกไม่ใช่ของใหม่ มันถูกนำมาพัฒนาเป็นไดเวอร์สำหรับหูฟังมานานนับสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ผลิตหูฟังหลายแบรนด์ที่ใช้ไดเวอร์พลาน่าร์ แม็กเนติกในการผลิตหูฟัง ซึ่ง Edifier คือผู้ผลิตหูฟังรายล่าสุดที่ใช้ไดเวอร์พลาน่าร์ แม็กเนติก แต่… พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นด้วยการนับหนึ่ง หากแต่อาศัยโนฮาวของ Audeze มาเป็นพื้นฐาน ซึ่งยอมรับกันว่า Audeze เป็น เบอร์ต้นๆของวงการหูฟังที่ใช้ไดเวอร์พลาน่าร์ แม็กเนติกที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเป็นของตัวเอง (นี่คือประโยชน์ที่ Edifier ได้รับจากการเข้าไปซื้อหุ้นของ Audeze)

ไดเวอร์พลาร์น่าฯ ที่ใช้ใน S3 (ศรชี้สีเขียว) เป็นไดเวอร์พลาร์น่าฯ ที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีหลักๆ สามอย่างของ Audeze เป็นพื้นฐาน เริ่มจากไดอะแฟรมที่ชื่อว่า “EqualMassซึ่งเป็นหัวใจของระบบ เป็นไดอะแฟรมที่มีขนาดพื้นที่ใช้ผลักดันอากาศมากถึง 89mm x 70mm ตาราง ม.. พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากไดเวอร์ ‘Uniforceที่ Audeze คิดค้นขึ้นมาใช้กับหูฟังรุ่นท็อปๆ ซึ่งทางผู้ผลิตคือ Edifier เคลมว่า ไดอะแฟรม EqualMass ของพวกเขาให้การตอบสนองต่อสัญญาณอินพุตที่สูงมาก มีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึง 0.5% เท่านั้น.!

ส่วนระบบแม่เหล็กที่ใช้ขับเคลื่อนไดอะแฟรมตัวนี้ก็คือเทคโนโลยี ‘Fluxorซึ่งเป็นนวัตกรรมของ Audeze เช่นกัน ซึ่ง Fluxor (ศรชี้ กรอบสีเขียว) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ออกแบบโครงสร้างของระบบแม่เหล็กที่มีประสิทธิภาพในการจ่ายพลังให้กับไดอะแฟรมได้สูงกว่ารูปแบบโครงสร้างของระบบแม่เหล็กที่ใช้อยู่ในไดเวอร์ทั่วไป (ศรชี้สีขาว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำรูปแบบโครงสร้างแม่เหล็กแบบ Fluxor นี้มาใช้กับรูปแบบของไดอะแฟรม EqualMass ก็ยิ่งลงตัวกันมากขึ้นไปอีก

ตบท้ายด้วยเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่ยืม Audeze มาใช้ด้วย ชื่อว่า ‘Fazorเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ออกแบบรูปแบบของ waveguide (ศรชี้สีส้ม) หรือแผงกระบังปรับมุมกระจายคลื่นเสียงของไดอะแฟรมให้ได้เฟสสัญญาณที่ถูกต้อง ส่งผลต่อโฟกัสของเสียง ซึ่งคลื่นเสียงที่พุ่งออกมาจากไดอะแฟรมผ่านโครงสร้างแม่เหล็กออกมาเจอกับแผง Fazor นี้จะทำให้คลื่นเสียงเรียงตัวออกมาถึงหูของผู้ฟังได้ราบเรียบเสมอกัน ไม่มีคลื่นเสียงส่วนไหน ล้ำหน้าเข้าไปถึงหูก่อนส่วนอื่น ส่งผลให้ได้เสียงที่มีโทนัลบาลานซ์ที่ดี ได้ไทมิ่งของเสียงที่เสมอกันตลอดย่านความถี่ ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลดีต่อจังหวะลีลาของเพลงอย่างมาก เป็นต้นเหตุของเสียงที่ฟังแล้วได้อารมณ์เพราะไทมิ่งถูกต้องตลอดย่านเสียงนั่นเอง

ทั้งสามเทคโนโลยีข้างต้นที่ S3 นำมาใช้ออกแบบนี้ได้ถูกใช้ในการออกแบบและผลิตหูฟังรุ่น LCD-5 ซึ่งเป็นหูฟังพลาน่าร์ แม็กเนติกที่อยู่ในซีรี่ย์ท็อปคืออนุกรม Flagship Series ของ Audeze ด้วย (ราคาขาย LCD-5 ตัวละ = 4,500 เหรียญยูเอส ในขณะที่ Spirit S3 ขายอยู่ที่ 399.99 เหรียญเท่านั้นโอ้แม่เจ้า..!!!)

การเชื่อมต่อ และ DSP ที่ใช้

ระบบอิเล็กทรอนิคที่ทำงานเชื่อมโยงฮาร์ดแวร์ในตัว S3 มีศูนย์รวมอยู่ที่ชิปเซ็ต Snapdragon ของ Qualcomm ซึ่งควบคุมการทำงานตั้งแต่อินพุต – ถอดรหัส – แปลงสัญญาณ ไปจนถึงส่งไปขยายผ่านระบบแม่เหล็กไปถึงไดอะแฟรม S3 ใช้คลื่น Bluetooth เวอร์ชั่น 5.2 ในการสื่อสารและรับ/ส่งข้อมูลคำสั่งและสัญญาณเสียงระหว่าง S3 กับอุปกรณ์ภายนอกในกรณีที่คุณต้องการใช้งาน S3 แบบไร้สาย ซึ่ง Bluetooh เวอร์ชั่น 5.2 ที่ใช้ใน S3 รองรับโปรไฟล์ AVRCP และ HFP สำหรับการควบคุมสั่งงาน และใช้โปรไฟล์ A2DP สำหรับการรับ/ส่งสัญญาณเสียง

S3 รองรับการถอดรหัสสัญญาณเสียงสำหรับฟอร์แม็ต aptX, aptX HD, aptX adaptive รวมถึงดีโค๊ดเดอร์พื้นฐานสำหรับฟอร์แม็ต SBC และ AAC ซึ่งนอกเหนือจากการฟังเพลงแล้ว ดีโค๊ดเดอร์ aptX ที่ใช้ใน S3 ตัวนี้ยังได้พัฒนาเทคโนโลยี Voice audio technology ขึ้นมาด้วย เพื่อช่วยยกระดับ S/N ratio ของเสียงที่ความถี่ 32kHz ให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ได้เสียงจากการพูดคุยโทรศัพท์ที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย

ทดลองเชื่อมต่อ + ลองใช้แอพลิเคชั่น Edifier Connect

Bluetooth ยิ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ยิ่งเชื่อมต่อง่ายขึ้น S3 ตัวนี้ก็เช่นกัน มันเชื่อมต่อง่ายมาก แค่กดปุ่มมัลติฟังท์ชั่นที่หูฟังข้างขวาค้างไว้รอจนไฟ LED เป็นสีฟ้ากระพริบ จากนั้นก็ไปเปิดฟังท์ชั่น Bluetooth ของอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อกับ S3 ขึ้นมา จะพบชื่อ ‘Stax Spirit S3ก็กดรับเท่านั้นเอง หลังจากเชื่อมต่อครั้งแรกแล้ว จากนั้นครั้งต่อไปจะยิ่งเชื่อมต่อง่ายขึ้นถ้าคุณเปิดฟังท์ชั่น Bluetooth ของอุปกรณ์ค้างไว้ แค่กดปุ่มเปิดหูฟัง S3 ขึ้นมาจากนั้นก็กดปุ่ม MF ซ้ำลงไปเบาๆ ตัว S3 จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวนั้นทันที พร้อมใช้งาน นอกจากนั้น S3 ยังมาพร้อมฟังท์ชั่น Multi-Point Connectivity ท่ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้พร้อมกันสองตัว สามารถสลับใช้งานร่วมกับอุปกรณ์แต่ละตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น เชื่อมต่อ S3 ไว้กับคอมพิวเตอร์ที่กำลังทำงานและเชื่อมต่อไว้กับสมาร์ทโฟนไว้รอรับสายโทรศัพท์ด้วย สะดวกมาก..

นอกจากนั้น Edifier ยังมีแอพฯ ‘Edifier Connectไว้ให้ใช้ด้วย ซึ่งแอพฯ ตัวนี้สามารถใช้ได้กับหูฟังที่เป็นไร้สายของ Edifier หลายรุ่น รวมถึงรุ่น S3 ตัวนี้ด้วย Edifier Connect เป็นแอพฯ ฟรีที่รองรับครบทั้ง android และ iOS แนะนำให้โหลดมาใช้ เพราะมีฟังท์ชั่นให้ปรับแต่งหลายอย่างอยู่ในนั้น

เมื่อเปิดแอพฯ และเชื่อมต่อกับ S3 ได้แล้ว หน้าแรกของแอพฯ จะโชว์ข้อมูลหลายอย่างให้ดู และสามารถปรับตั้งค่าได้ อย่างเช่น แสดงปริมาณไฟในแบตเตอรี่ ณ ขณะนั้นออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ดูง่าย เข้าใจง่าย, มีอ๊อปชั่นของระบบเสียงให้เลือก 2 แบบ (ศรชี้) ที่เหมาะกับ earpad ทั้งสองแบบที่แถมมาให้, นอกนั้นก็เป็นลิ้งค์ออกไปร้านค้าออนไลน์ของ Edifier และลิ้งค์ไปหาคู่มือออนไลน์ของ S3

เมนูของแอพฯ ตัวนี้จะแยกออกเป็น 3 หน้า เมื่อใช้ปลายนิ้วสไลด์เลื่อนหน้าจอไปทางซ้ายจะพบกับเมนูหน้าที่สอง ซึ่งทำไว้ให้ปรับเลือก ‘Sound Effectที่มีโหมดเสียงที่ผู้ผลิตปรับตั้งสำเร็จรูปไว้ให้เลือกใช้ทั้งหมด 3 โหมด คือ Classic, Hi-Fi และ Stax จากการทดลองฟังผมพบว่า โหมด Classic จะให้เสียงที่เข้ามาใกล้ตัว ตัวเสียงจะเข้ม หางเสียงไม่ทอดยาวมาก, โหมด Hi-Fi จะดึงสนามเสียงให้ห่างจากตัวเราออกไปมากกว่าโหมดคลาสสิก ส่วนโหมด Stax นั้นเสียงจะกระชับ ตึงตัว ไทมิ่งดี ใครที่ชอบลักษณะของเสียงที่สมจริงน่าจะชอบโหมด Stax แต่จริงๆ แล้ว คุณควรจะลองฟังเทียบกันทั้งสามโหมดซึ่งอาจจะเหมาะสมไปตามรสนิยมในการฟังที่ต่างกัน รวมถึงมีเรื่องของแนวเพลงที่แต่ละคนชอบฟังด้วย ผมลองฟังทั้งสามโหมดแล้ว พูดได้แค่ว่า ทั้งสามโหมดนี้มีข้อดีที่แตกต่างกัน และทั้งสามโหมดนี้ไม่มีข้อด้อยที่เลวร้าย ความแตกต่างอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ต้องชมโปรเซสเซอร์ Snapdragon ที่ทำซาวนด์ออกมาได้ดีมาก.!!

หน้าที่สามของเมนูเป็นการเลือกใช้โหมดเสียงสำหรับเกมส์ ซึ่งแยกออกมาจากโหมดการฟังเพลงอย่างชัดเจน (เสียดายผมไม่ใช่คนชอบเล่นเกมส์เลยไม่ได้ทดสอบตรงนี้)

นอกจากนั้น ในเมนูของแอพฯ ยังมีอ๊อปชั่นให้คุณเข้าไปปรับตั้งพารามิเตอร์อื่นๆ อีกเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวกับเสียงโดยตรง

ทดลองฟังเสียง

ผมเริ่มต้นด้วยการทดลองฟังเสียงของ S3 แบบไร้สายก่อน โดยผ่านทาง Bluetooth ด้วยวิธีสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL ผ่านสมาร์ทโฟน iPhone 12 และคอมพิวเตอร์ MacBook Pro สลับกัน

ผมพบว่า iPhone 12 ของผมสื่อสารกับ S3 เพื่อรับส่งสัญญาณเสียงระหว่างกันผ่านทาง AirPlay ในการทดสอบนั้น ผมเลือกฟังเพลงจาก TIDAL เป็นหลัก ทั้งไฟล์ CD และ Hi-Res เลือกโหมดเสียงของ S3 มาลงตัวที่โหมด Hi-Fi ซึ่งให้ค่าเฉลี่ยของเสียงออกมาดีมาก.! เสียงโดยรวมเปิดกระจ่าง รายละเอียดแสดงตัวออกมาครบตั้งแต่แหลมสุดลงมาจนถึงทุ้มต่ำๆ การแยกแยะรายละเอียดเสียงก็ทำได้ดีมาก ผมเคยฟังเสียงของหูฟัง Audeze มาก่อน เคยเจอกับลักษณะของเสียงที่ไม่ค่อยเปิดโล่งของมันมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตในการทดลองฟังเสียงของ S3 ตัวนี้ แต่ผมไม่ได้ยินปัญหานั้น เข้าใจได้ว่า ถ้าเป็นหู passive ที่ผู้ใช้ต้องหาแอมป์มาแม็ทชิ่งเองก็มีโอกาสที่จะเจอปัญหาไม่แม็ทช์ โดยมากแล้วก็มาจากแอมป์ไม่พอขับหูฟัง แต่สำหรับ S3 ซึ่งเป็นหูฟังแบบ active ที่มีแอมป์ที่ปรับจูนมาด้วยกันอยู่ในตัว ทำให้ผมไม่รู้สึกถึงปัญหาเสียงจมไม่เปิด และยิ่งมีภาค DAC อยู่ด้วยกันในตัวด้วยก็ยิ่งทำให้การปรับจูนเสียงให้กลมกลืนกันสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีก ผลคือเสียงที่เปิดโล่ง รายละเอียดพรั่งพราย มิติเวทีเสียงเปิดกว้างและลอยตัว

ไดนามิกก็สวิงได้เต็มสเกล ภาคดีโค๊ดเดอร์กับภาคแอมป์ของ S3 จัดการการสัญญาณเสียงออกมาได้เยี่ยมยอดมาก ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าขาดอะไร เบสแน่นและลงลึกน่าตกใจ กลางก็ลอย ไม่จมไม่ขุ่น แหลมก็มีตัวมีตน แปรเปลี่ยนบุคลิกไปตามเพลงได้ตลอด แสดงถึงความเป็นกลางในการจูนเสียง ฟังแล้วอินไปกับอารมณ์ของเพลงได้ง่าย และด้วยน้ำหนักของตัวหูฟังไม่ได้เยอะมาก earpad ก็นุ่มใส่สบาย ทำให้ผมสามารถใส่ฟังเพลงได้นานจนพอใจโดยไม่รู้สึกอึดอัด

ลองใช้ DAC/Amp รุ่น Mojo 2 ของ Chord Electronics ขับ

ลองใช้ DAC/Ampรุ่น Liberty DAC IIของ MyTek ขับ (REVIEW)

ลองขับด้วย DAP ของ Astell&Kern รุ่น SE180

ตอนท้ายๆ ผมเปลี่ยนจากไร้สายมาทดลองฟังเสียงของ S3 ผ่านสายสัญญาณที่แถมมาให้ในกล่อง ซึ่งใช้ขั้วต่อ mini 3.5mm ทั้งสองด้าน ตอนลองฟังครั้งแรกทำเอางงอยู่พักนึง เพราะเสียงไม่ออก หาอยู่นานว่าเป็นเพราะอะไร ปรากฏว่า หูฟังตัวนี้ต้องกดปุ่มเปิดให้วงจรข้างในมันทำงานถึงจะมีเสียงออก ไม่เหมือนหูฟังตัวอื่นๆ

ตอนฟังแบบไร้สายผ่าน Bluetooth ผมก็ว่าเสียงของ S3 มันออกมาดีมากแล้ว แต่พอได้ DAC/Amp ดีๆ เข้ามาเสริม เสียงที่ได้ฟังผ่านสายสัญญาณก็ยังคงเหนือกว่าอยู่ดี มันดันประสิทธิภาพของหูฟังตัวนี้ไปได้อีกไกลเลย ตอนจับ S3 กับ Mojo 2 เป็นอะไรที่เข้ากันมาก เสียงออกมาดีในทุกแง่ มันทำให้ผมนึกคันอยากจะออกไปตระเวณหาสายสัญญาณที่มีคุรภาพดีกว่าสายที่ผู้ผลิตแถมมาให้มาลองฟังดู น่าจะอัพไปได้อีกพอสมควร (จริงๆ สายที่แถมมาเสียงก็ไม่ขี้เหร่แล้วนะ แต่คิดว่าน่าจะมีสายที่ดีกว่านี้อีก)

สรุป

Stax Spirit S3 เป็นหูฟังที่ถูกออกแบบมาด้วยเป้าประสงค์ที่ชัดเจน นั่นคือ เป็นหูฟังระดับกลางๆ ที่นำเสนอ คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่โนฮาวของบริษัท Edifier จะสามารถจัดหามาได้ แม้ว่าพื้นฐานหลักๆ ที่ใช้ออกแบบและผลิต S3 ยังไม่มีโนฮาวที่เป็นของ Edifier แท้ๆ เทคโนโลยีเกือบทั้งหมดมาจาก Audeze แต่ก็เชื่อว่า รุ่นต่อๆ ไปที่จะออกมาในอนาคต เราน่าจะได้เห็นอินโนเวชั่นใหม่ๆ ที่เกิดจากมันสมองของทีมออกแบบของ Edifier อย่างแน่นอน

S3 เน้นไปที่คุณภาพเสียงแบบเนื้อๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ Audeze เป็นอยู่ คุณจึงไม่ได้เห็นระบบ noise cancelling ในหูฟังรุ่นนี้ ซึ่งไม่แน่ว่า S3 เวอร์ชั่นที่มี NC อาจจะออกมาในเจนเนอเรชั่นหน้าก็เป็นได้ เพราะทีมของ Edifier เขาทำหูฟังอินเอียร์ที่มีระบบ NC ออกมาได้ดีมากในรุ่น NeoBuds Pro ที่ผมเคยทดสอบไป (REVIEW) จึงเชื่อว่าทีม Edifier มีโนฮาวทางด้าน NC อยู่แล้ว ถ้าจะอะแด็ปเข้ามากับ S3 ก็ไม่น่าจะยาก

อย่างไรก็ดี การที่ S3 ไม่มีระบบ NC ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม เพราะผมเชื่อว่า หลายๆ คนมีหูฟังตัวเล็กๆ ที่มีระบบ NC ไว้พกติดตัวกันแทบทุกคนแล้ว ซึ่ง S3 ไม่ใช่หูฟังที่จะเหมาะกับการหิ้วออกไปใส่นอกบ้าน มันเหมาะกับการฟังในบ้านหรือสถานที่ส่วนตัวที่เงียบสงบ เป็นหูฟังที่มีไว้เพื่อการฟังเพลงแบบเน้นคุณภาพความเป็นดนตรีอย่างจริงจังมากกว่า ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่รู้สึกมีปัญหาอะไรกับการที่ S3 ไม่มีระบบ noise cancelling แต่ถ้าคุณต้องการ ผมคิดว่าอนาคตมีโอกาสมากที่จะมี S3 เวอร์ชั่นที่มีระบบ NC ในตัวมาด้วย (ถ้ามีจริงก็ต้องขออวยพรไม่ให้มันมีผลกระทบทำให้คุณภาพเสียงแย่ลงเลย)

ในขณะทดสอบฟังเสียง ผมได้ทดลองเอาหูฟังของผมเองที่เก็บไว้ 2 ตัวมาฟังเทียบกับ S3 นั่นคือ AKG รุ่น K702/65th กับ Sennheiser รุ่น HD650 ซึ่งทั้งสองตัวนี้มีราคาสูงกว่า S3 ประมาณ 20-30% ซึ่งเหตุผลที่ผมต้องเก็บ K702/65th กับ HD650 เอาไว้ทั้งสองตัวก็เพราะว่า หูฟังสองตัวนี้ให้เสียงที่ดีกันไปคนละด้าน K702/65th นั้นให้เสียงที่เปิดโปร่ง เวทีกว้าง ฉีกหนีจากศีรษะออกไป รายละเอียดปานกลาง โทนเสียงโดยรวมจะอยู่เลยจุดกึ่งกลางออกไปทางสว่าง (bright) เล็กน้อย ในขณะที่ HD650 ให้โทนเสียงเลยจุดกึ่งกลางไปทางด้านมืด (dark) ให้มวลเสียงที่หนาข้นกว่า แต่เวทีเสียงไม่กว้าง เกาะอยู่รอบๆ ศีรษะ รายละเอียดปานกลาง ซึ่งหลังจากทดลองฟังเสียงของ S3 เทียบกับหูฟังทั้งสองตัวของผมปรากฏว่า ตัว S3 ทำคะแนนโดยรวมออกมาได้ สูงกว่าK702/65th และ HD650 ไปพอสมควร ถ้าเป็นมวย ก็เรียกว่าแพ้เอกฉันท์ ถึงจะไม่น็อคคนสนามแต่แต้มห่างกันแบบไม่ให้ลุ้นเลย.!!

เมื่อฟังเทียบกับ K702/65th และ HD650 แล้วมันยิ่งทำให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นของ S3 ชัดเจนมากขึ้น ระดับคุณภาพเสียงของ S3 มันสูงเลยหูฟังทั้งสองตัวของผมขึ้นไปอีกขั้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหน S3 ก็ชนะขาด โฟกัสดีกว่า ให้เสียงที่มีทรวดทรงเป็นตัวเป็นตนชัดเจน มวลเนื้อก็เข้าข้น พื้นเสียงใสสะอาด โทนเสียงโดยรวมมีลักษณะคล้ายไปทาง HD650 คือไม่ได้ไปทางสว่างโพลน แต่ก็ไม่ถึงกับ dark มากเท่ากับ HD650 ไทมิ่งดี เดินจังหวะได้แม่น จึงทำให้ฟังเพลงอะไรก็เพราะ

ผมเชื่อว่า หูฟัง Stax Spirit S3 ของ Edifier ตัวนี้จะกลายเป็นดาวรุ่งในวงการหูฟังอย่างแน่นอน /

***********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
. LNT (THAILAND)
***********************
สนใจหาซื้อได้ที่
IT (IT CITY สาขาเซ็นทรัลเวิร์ลด)
SWEET PIG ปิ่นเกล้า
APPACC Thai วงเวียนบางเขน
MUNKONG GADGET
MILLION HEAD รามคำแหง
24

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า