รีวิวเครื่องเสียง MyTek Audio รุ่น Liberty DAC II เอ็กเทอร์นัล ดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์ / แอมป์ขับหูฟัง

ต้องยอมรับว่า Liberty DAC II มาแรงมาก.! แค่ออกมาไม่กี่วัน มีคนสอบถามเข้ามาหลายคน คงเป็นเพราะอานิสสงฆ์ของ Liberty DAC เวอร์ชั่นแรกที่สร้างชื่อไว้เยอะ เป็นหนึ่งใน ext.DAC ระดับมิดเอ็นด์ในยุคนั้นที่มีความโดดเด่นทั้งแง่ของ ฟังท์ชั่นใช้งานและ คุณภาพเสียงที่กล้าขยับไปเทียบชั้นกับ ext.DAC ในระดับน้องไฮเอ็นด์ฯ ได้อย่างไม่กลัวเกรง.!!!

จุดแข็งโป๊กของ Liberty DAC เวอร์ชั่นแรกก็คือมีฮาร์ด์แวร์ดีโค๊ดเดอร์สำหรับฟอร์แม็ต MQA ที่ผ่านการรับรองจาก MQA อย่างเป็นทางการ ทำให้ Liberty DAC สามารถถอดรหัสไฟล์เพลง MQA ออกมาได้ สุดซอยนั่นเอง ส่วนการแปลงสัญญาณดิจิตัลทั้งฟอร์แม็ต PCM และ DSD ก็ไร้ข้อกังขาเพราะมันทำได้สุดสเปคฯ ของยุคนั้นเช่นกัน รวมถึงความสามารถในการแปลงสัญญาณ DSD ออกมาได้อย่างถูกต้องเพราะคนออกแบบ MyTek มีส่วนร่วมในการพัฒนาฟอร์แม็ต DSD ให้กับโซนี่นั่นเอง เหล่านี้คือจุดแข็งของแบรนด์ MyTek ที่ทำให้ Liberty DAC และ ext.DAC ทุกรุ่นของแบรนด์นี้ได้รับความนิยมสูงมากในยุคที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อเวอร์ชั่นใหม่อย่าง Liberty DAC II เปิดตัวออกมามันจึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้

Liberty DAC vs. Liberty DAC II

ตัว Liberty DAC II แตกต่างจาก Liberty DAC เวอร์ชั่นแรกอยู่หลายจุดเหมือนกัน อย่างแรกที่เห็นโทนโท่ก็คือหน้าตาบนแผงหน้าปัดที่เปลี่ยนไป มีรายละเอียดโผล่ขึ้นมามากขึ้น ส่วนอินพุต/เอ๊าต์พุตบนแผงหลังก็ยังคงเท่าเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปจากเดิม คือเอ๊าต์พุตที่เคยให้มาเป็นหูฟังสองรูสำหรับสัญญาณบาลานซ์เอ๊าต์ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นช่อง XLR สองช่องซ้ายขวา ทำให้สะดวกมากขึ้นสำหรับคนที่ตั้งใจจะใช้ Liberty DAC II ร่วมกับแอมป์ไฮเอ็นด์ และใช้เป็น DAC/Pre โดยอาศัยวอลลุ่มในตัว Liberty DAC II เชื่อมต่อกับเพาเวอร์แอมป์ไฮเอ็นด์ที่มีอินพุตแบบบาลานซ์ ซึ่งจากที่ผมเคยทดลองใช้ภาคปรีฯ ในตัว Liberty DAC เวอร์ชั่นแรกมาแล้วพบว่ามันให้คุณภาพที่ดีมาก เรียกว่าถ้าคุณใช้แต่อินพุตดิจิตัล ในซิสเต็มไม่มีอินพุตอะนาลอกก็สามารถตัดปรีแอมป์อะนาลอกทิ้งไปได้เลย ภาคปรีฯ ดิจิตัลในตัว Liberty DAC II ทำงานแทนได้เป็นอย่างดี

ความแตกต่างที่คาดได้เลยว่าจะต้องส่งผลเยอะมากกับคุณภาพและลักษณะเสียง นั่นคือการเปลี่ยน DAC chip ที่ใช้ในภาค DAC แม้ว่าจะยังคงเป็นชิปของค่าย ESS Technology แต่เปลี่ยนจากเบอร์ ES9018K2M ในเวอร์ชั่นแรกมาเป็นเบอร์ ES9038 ที่มีสเปคฯ สูงกว่าไปอีกขั้น นั่นทำให้ Liberty DAC II มีความสามารถรองรับการแปลงสัญญาณดิจิตัลอินพุตได้สูงขึ้นไปอีกระดับ นั่นคือรองรับ PCM ได้สูงถึง 768kHz ที่ระดับความละเอียด 32bit รองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดถึงระดับ DSD512 (22.4MHz) ถือว่าเป็น ext.DAC ที่มีสเปคฯ ก้าวข้ามไปสู่เจนเนอเรชั่นใหม่อย่างเต็มตัว..!!!

แผงหน้า กับฟังท์ชั่นควบคุมการทำงาน

UI บนตัว Liberty DAC II ถูกปรับปรุงการออกแบบให้สื่อสารกับผู้ใช้ได้ดีขึ้นกว่าเวอร์ชั่นแรก บนแผงหน้าที่มีพื้นที่ประมาณ 6160 ตารางมิลลิเมตรของ Liberty DAC II มีอะไรให้ดูเยอะแยะไปหมด จากซ้ายไปขวาเริ่มด้วยรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 .. (A) ถัดมาเป็นปุ่มกดเล็กๆ สีดำที่มี 2 หน้าที่ในปุ่มเดียวกัน (B) คือถ้ากดแล้วปล่อยเร็วๆ จะเป็นการเลือกแหล่งต้นทางสัญญาณจากทั้งหมด 5 อินพุต ซึ่งแสดงอยู่ที่ด้านบนของปุ่มที่อยู่ในกรอบสีแดง (E) โดยทุกครั้งที่คุณกดปุ่ม อินพุตทั้งห้าคือ USB > SPDIF1 > SPDIF2 > AES > TOSLINK จะถูกเลือกวนไปเรื่อยๆ โดยมีไฟ LED สีขาวที่อยู่ด้านหน้าของอินพุตนั้นสว่างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าอินพุตนั้นกำลังถูกเลือก

จะมีความพิเศษอยู่นิดนึงตรงอินพุต AES/EBU ซึ่งจะแสดงผลด้วยไฟ 2 ดวง คือไฟที่หน้าอินพุต SPDIF1 กับ SPDIF2 ที่จะสว่างขึ้นพร้อมกันเมื่ออินพุต AES/EBU ถูกเลือกใช้ ถัดไปทางขวาในกรอบสีฟ้าจะเป็นกลุ่มของอินดิเคเตอร์ที่แสดงฟอร์แม็ตและความละเอียดของสัญญาณอินพุตที่รับเข้ามา (F) ซึ่งแยกเป็นข้อมูลส่วนของ Bit กับ Sampling Rate คือถ้าสัญญาณอินพุตที่เข้ามาถึงช่องอินพุตที่คุณเลือกใช้เป็นสัญญาณฟอร์แม็ต PCM จะมีไฟ LED สว่างขึ้น 2 ดวง ดวงแรกจะแสดงจำนวน ‘BITของสัญญาณอินพุตนั้นว่าเข้ามาเป็น 16, 20 หรือ 24Bit ส่วนไฟดวงที่สองจะแสดงความถี่ Sampling ของสัญญาณอินพุตนั้น ซึ่งมีตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ 384kHz

ในกรณีที่สัญญาณอินพุตมีการเข้ารหัส MQA มาด้วย บนแผงหน้าของ Liberty DAC II จะมีไฟแสดงขึ้นมา 3 ดวง คือ (1) ไฟที่อยู่หน้า MQA (2) ไฟที่อยู่หน้า Bit และ (3) ไฟที่อยู่หน้า Sampling Rate ซึ่งไฟที่อยู่หน้า MQA นันจะแสดงออกมาได้ 3 สีคือ เขียว, ฟ้า และบานเย็น แต่ละสีมีความหมายเฉพาะของมัน (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ เล่นไฟล์ MQA กับ Liberty DAC II“) และถ้าสัญญาณอินพุตเข้ามาเป็นฟอร์แม็ต DSD64 ดีทูเอฯ ตัวนี้จะใช้วิธีแสดงด้วยการเปิดไฟ 2 ดวงที่อยู่หน้าแซมปลิ้งเรต 88.2 กับ 96 ขึ้นมาให้รู้ ถ้าสัญญาณอินพุตเข้ามาเป็นฟอร์แม็ต DSD128 ไฟที่อยู่หน้าแซมปลิ้งเรต 176.4 กับ 192 จะสว่างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ และถ้าสัญญาณอินพุตเข้ามาเป็นฟอร์แม็ต DSD256 ไฟที่อยู่หน้าแซมปลิ้งเรต 352.8 กับ 384 จะสว่างขึ้นมา

ถัดไปทางขวาสุดของแผงหน้าปัดมีปุ่มใหญ่ๆ อยู่ปุ่มหนึ่ง (D) ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ (1) หมุนปรับระดับความดังของสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุต ซึ่งเฟิร์มแวร์ตัวปัจจุบันที่ใช้อยู่ในขณะนี้ยังไม่มีอ๊อปชั่นวอลลุ่มค่าคงที่ (Fixed Volume) มาให้เลือก ดังนั้น แม้ว่าคุณจะใช้สัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II ในลักษณะของ DAC คุณก็ต้องเลือกระดับความแรงของเอ๊าต์พุตจากปุ่มนี้ ซึ่งมองในแง่ของการแม็ทชิ่งถือว่าเป็นข้อดี ทำให้คุณสามารถแม็ทชิ่งเกนระหว่างเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II กับอินพุตของแอมป์ (ปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์) ได้ แต่ถ้ามีวอลลุ่มแบบ fixed คุณจะได้ความสะดวกมากขึ้น อีกหน้าที่ของปุ่มวอลลุ่มคือ (2) หยุดเสียงชั่วคราวหรือ mute ด้วยการกดที่ปุ่มค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที

Liberty DAC II ให้รีโมทไร้สายของ apple มาหนึ่งอัน ใช้ควบคุมวอลลุ่ม, หยุดเสียงชั่วคราว และเลือกอินพุต

แผงหลัง กับขั้วต่ออินพุต/เอ๊าต์พุต

นอกจากรูเสียบหูฟัง ซึ่งเป็นเอ๊าต์พุตเดียวที่ติดตั้งอยู่บนแผงหน้า นอกนั้น ทั้ง Output และ Input ของ Liberty DAC II ถูกติดตั้งไว้ที่แผงหลังทั้งหมด เริ่มด้วยอินพุตที่รองรับสัญญาณ PCM มาตรฐาน S/PDIF จำนวน 3 ช่อง ผ่านขั้วต่อ Coaxial สองช่อง (สีม่วง) กับผ่านขั้วต่อ Optical อีกหนึ่งช่อง (สีเขียว) และมีช่องอินพุตสำหรับสัญญาณ PCM มาตรฐาน AES/EBU ผ่านขั้วต่อ XLR อีกหนึ่งช่อง (สีฟ้า) สุดท้ายคืออินพุต USB (สีแดง) สำหรับสัญญาณ PCM และ DSD ที่ครอบคลุมสเปคฯ กว้างไปจนถึงระดับไฮเรซฯ สูงสุดที่ฟอร์แม็ต DXD

ส่วนทางด้านอะนาลอก เอ๊าต์พุตนอกเหนือจากรูเสียบหูฟังด้านหน้าแล้ว ที่แผงหลังมีขั้วต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตมาให้ 2 ชุด เป็นเอ๊าต์พุตซิงเกิ้ลเอ็นด์ (สีเหลืองส้ม) กับเอ๊าต์พุตบาลานซ์ (สีส้ม) อย่างละชุด หากเทียบกับ Liberty DAC เวอร์ชั่นเก่าแล้ว ตัวใหม่ Liberty DAC II ตัวนี้จะไม่มีขั้วต่อสำหรับภาคจ่ายไฟเลี้ยงแบบลิเนียร์มาให้เพราะภาคจ่ายไฟในตัว Liberty DAC II ที่ให้มาเป็นแบบลิเนียร์ฯ อยู่แล้ว อันนี้ต้องปรบมือให้ เพราะมันช่วยประหยัดเงินไปได้มาก แถมเป็นภาคจ่ายไฟที่ผู้ผลิตออกแบบมากับเครื่องโดยตรง จึงมั่นใจได้ในแง่ของความแม็ทชิ่งที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด

จริงๆ แล้วระหว่างรุ่นเก่า Liberty DAC กับรุ่นใหม่ Liberty DAC II ในแง่ของอินพุต/เอ๊าต์พุตมันต่างกันไม่มาก จุดใหญ่หน่อยก็คือทางออก (เอ๊าต์พุต) ของสัญญาณบาลานซ์ที่เดิมถูกปล่อยออกมาผ่านทางรูเสียบแจ๊ค TRS 6.3 .. เพราะเน้นตอบสนองคนเล่นหูฟังโดยเฉพาะ ในเวอร์ชั่นใหม่นี้เปลี่ยนมาส่งผ่านขั้วต่อ XLR แทน ซึ่งถูกใจคนเล่นเครื่องเสียงบ้านอย่างแรง.! เพราะทำให้ใช้งานร่วมกับแอมป์ระดับไฮเอ็นด์ที่มีอินพุตบาลานซ์ XLR ได้ ดีกว่าแบบเดิมที่มีแต่เอ๊าต์พุตอันบาลานซ์ (RCA) อย่างเดียว ซึ่งคนที่ไม่ได้เล่นหูฟังจริงจังก็ไม่ได้ประโยชน์จากเอ๊าต์พุต TRS จะไปทำอะแด๊ปเตอร์เพื่อแปลง TRS > XLR ก็ไม่มีประโยชน์เพราะเกนเอ๊าต์พุตถูกออกแบบไว้สำหรับหูฟังเป็นหลัก ซึ่งต้องขอชมการเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้ เพราะคนที่เล่นหูฟังก็ยังคงใช้งาน Liberty DAC II เป็น DAC/Amp ขับหูฟังได้จากเอ๊าต์พุต 6.3 .. ที่ด้านหน้า

ฟังท์ชั่น กับ การใช้งาน

ณ เวลานี้ วินาทีที่กำลังทดสอบ Liberty DAC II นี้ คู่มือการใช้งานของ DAC ตัวนี้ยังไม่ออกมา ผมได้ทดลองค้นหาฟังท์ชั่นที่แอบซ่อนอยู่บนแผงหน้าของ Liberty DAC II โดยอาศัยประสบการณ์จากการใช้งานตัว Liberty DAC เวอร์ชั่นแรกซึ่งพบว่ามีฟังท์ชั่นการทำงานบางอย่างแอบซ่อนอยู่ที่ปุ่มวอลลุ่ม นั่นคือ ตอนเครื่องอยู่ในโหมดสแตนด์บาย ถ้ากดที่ปุ่มวอลลุ่มค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาทีจะเป็นการเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งาน และเมื่อกดค้างซ้ำอีกทีก็เป็นการปิดเครื่องเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย แต่ในเวอร์ชั่น Liberty DAC II ฟังท์ชั่นเปิด/สแตนด์บายเครื่องได้ถูกย้ายออกไปอยู่กับปุ่มเลือก Input ส่วนการกดค้างบนปุ่มวอลลุ่มขณะที่เครื่องอยู่ในสถานะเปิดใช้งานจะเป็นการเปิดใช้ฟังท์ชั่นหยุดเสียงชั่วคราว (mute)

ส่วนปุ่มเลือกอินพุตก็มีสองหน้าที่ตรงตามที่ระบุไว้บนแผงหน้าเครื่อง คือกดค้างขณะเครื่องอยู่ในโหมดสแตนด์บายจะเป็นการสั่งเปิดเครื่องขึ้นมาใช้งาน หลังจากนั้นก็กดเพื่อเลือกอินพุต นอกจากนี้ไม่มีฟังท์ชั่นอื่นซ่อนอยู่อีก

วอลลุ่มของ Liberty DAC II เป็นดิจิตัลวอลลุ่มที่ใช้วิธีทดระดับสัญญาณด้วยล็อกการิซึ่ม ทำให้สเกลของวอลลุ่มจากจุดเริ่มต้นขึ้นไปจนถึงประมาณเที่ยงของสเกลวอลลุ่มให้ความดัง (level) ของเสียงออกมาเบามาก จากนั้นความดังจะเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากวอลลุ่มถูกหมุนเลยเที่ยงไปแล้ว..

ทดสอบ

ผมทำการทดสอบ ext.DAC ตัวนี้อยู่ 4 สถานะ คือ (1) ใช้เป็น ext.DAC กับชุดเครื่องเสียงบ้าน (2) ใช้เป็น DAC/Pre-Amp กับชุดเครื่องเสียงบ้าน, (3) ใช้เป็น DAC/Pre-Amp กับลำโพงแอ๊คทีฟ Kanto Audio รุ่น TUK และ (4) ใช้เป็น DAC/Amp ขับหูฟัง Sennheiser HD650 และ AKG รุ่น K-702/65th

(1) ใช้เป็น ext.DAC ป้อนเอ๊าต์พุตให้กับอินติเกรตแอมป์ Moonriver Audio รุ่น Model 404 (REVIEW) ทางอินพุตอันบาลานซ์ (RCA) ขับลำโพงสองทางวางขาตั้ง Totem Acoustic รุ่น The One

(1) ใช้เป็น ext.DAC ป้อนเอ๊าต์พุตให้กับอินติเกรตแอมป์ Accuphase รุ่น E-5000 ทางอินพุตบาลานซ์ (XLR) ขับลำโพงสามทางวางพื้น Wilson Benesch รุ่น Precision P3.0

(2) ใช้เป็น DAC/Pre-Amp ส่งสัญญาณปรีเอ๊าต์ไปให้กับเพาเวอร์แอมป์ Ayre Acoustic รุ่น V-3 ทางช่อง XLR ขับลำโพงตั้งพื้น Wilson Benesch รุ่น Precision P3.0 โดยควบคุมความดังขณะฟังด้วยปุ่มวอลลุ่มบนตัว Liberty DAC II

(3) ใช้เป็น DAC/Pre-Amp โดยป้อนสัญญาณเอ๊าต์พุตจาก Liberty DAC II ไปที่อินพุตอะนาลอก (RCA) ของลำโพงแอ๊คทีฟ Kanto Audio รุ่น TUK แล้วทำการแม็ทชิ่ง gain ของวอลลุ่มจาก Liberty DAC II กับวอลลุ่มของ TUK เข้าด้วยกัน

(4) ใช้เป็น DAC/Amp ขับหูฟัง Sennheiser HD650 และ AKG รุ่น K-702/65th

การใช้งาน Liberty DAC II กับไฟล์ MQA จาก TIDAL

ผมใช้ roon nucleus+ ทำหน้าที่สตรีมไฟล์เพลงทั้งจาก TIDAL และ NAS แล้วส่งผ่านสัญญาณ FLAC/MQA ไปถอดรหัสที่ Liberty DAC II ทั้งหมดโดยไม่ผ่าน MQA core decoder บนตัว roon โดยปรับตั้งหัวข้อ “MQA Capabilitiesที่ Device Setup ของโปรแกรม roon ไว้ที่ “Decoder and rendererเหตุผลที่ปรับตั้งไว้ที่ Decoder and renderer ก็เพราะว่าทาง MyTek แจ้งไว้ในสเปคฯ ของ Liberty DAC II ว่ามันใช้ฮาร์ดแวร์ดีโค๊ดเดอร์ MQA ที่ผ่านการรับรองมาแล้วว่ามันสามารถคลี่สัญญาณ MQA ออกมาได้สุดทาง (fully decoder) นั่นเอง

ใครที่สตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL แล้วส่งผ่านมาถอดรหัส MQA บน ext.DAC ที่มี MQA decoder คงเคยเจอว่า MQA บางไฟล์บน TIDAL เมื่อส่งมาถอดรหัสผ่าน ext.DAC แล้ว บางไฟล์ตัวไฟโชว์บน ext.DAC โชว์เป็น “สีฟ้า” ในขณะที่บางไฟล์ไฟโชว์เป็น “สีเขียว” ซึ่งถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ก็แสดงว่าภาค MQA decoder ในตัว ext.DAC ของคุณทำงานได้สมบูรณ์ ไม่มีอะไรผิดปกติ เนื่องจากไฟล์ MQA ที่ ext.DAC โชว์เป็นสีฟ้า = แสดงว่าเป็นไฟล์ที่เข้ารหัส MQA มาจากสตูดิโอ ส่วนไฟล์ที่โชว์เป็นสีเขียว = แสดงว่าไฟล์เพลงตัวนั้นถูกเข้ารหัส MQA มาจากที่อื่น ไม่ได้เข้ารหัสมาจากสตูดิโอนั่นเอง…

แสดงว่าไฟล์ MQA ที่โชว์ไฟสีเขียว เสียงไม่ดีรึป่าว.? เพราะไม่ได้มาจากสตูดิโอ…

ไม่แน่เสมอไปครับ.. ยกตัวอย่างเช่น อัลบั้มชุด Escape ของวง Journey ใน TIDAL ระบุเป็นไฟล์ FLAC 44.1kHz 16bit, MQA 44.1kHz พอเล่นผ่าน Liberty DAC II บนแผงหน้าของ Liberty DAC II ระบุว่าเป็นสัญญาณ PCM 16/44.1 และไฟ MQA แสดงเป็นสีฟ้า แสดงว่าไฟล์ตัวนี้เข้ารหัส MQA มาจากสตูดิโอ ซึ่งเสียงที่ออกมา ดีกว่าไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีเวอร์ชั่นพิเศษ Blu-Spec CD พอสมควร 

แต่ที่เซอร์ไพร้ซ์คือไฟล์อัลบั้มชุด 90125 ของวง Yes ที่อยู่ใน TIDAL เป็นเวอร์ชั่น 90125 (Deluxe Version) ที่รีมาสเตอร์โดยค่าย Rhino ตัวสัญญาณเป็นไฟล์ FLAC 44.1kHz 16bit, MQA 44.1kHz ตอนเล่นผ่าน Liberty DAC II ไฟล์บนหน้าปัดของ Liberty DAC II แสดงเป็นสีเขียว แสดงว่าเป็นไฟล์ MQA ที่เข้ารหัสมาจากที่ใดที่หนึ่ง ไม่ได้มาจากสตูดิโอของเจ้าของลิขสิทธิ์อัลบั้มนี้ ทว่า เสียงที่ออกมากลับ ดีกว่าเวอร์ชั่น WAV 24/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีเวอร์ชั่นที่รีมาสเตอร์โดย Steve Hoffman ของค่าย Audio Fidelity ซะอีก.! (*ที่ผมริปออกมาได้เป็นไฟล์ 24/44.1 เพราะสัญญาณในแผ่นซีดีเวอร์ชั่นของ Audio Fidelity ชุดนี้เข้ารหัส HDCD มานั่นเอง) ซึ่งเดิมนั้น เสียงของเวอร์ชั่น Audio Fidelity ดีกว่าเวอร์ชั่นซีดียุคแรกๆ ที่ค่าย ATCO ซึ่งเป็นต้นสังกัดของอัลบั้มนี้ปั๊มออกมาอยู่พอสมควร แต่มาแพ้เวอร์ชั่น MQA 44.1kHz บน TIDAL นี่แหละ… แพ้มากซะด้วยทั้งในแง่ของ gain และ phase ทำให้เสียงจากเวอร์ชั่น MQA 44.1kHz ใน TIDAL ให้โฟกัสที่คมชัดกว่า เปิดกระจ่างมากกว่า ไดนามิกสวิงได้มากกว่า ฟังแล้วได้อารมณ์กระแทกกระทั้นของเพลงแนวร็อคอย่างที่ควรจะเป็นมากกว่า

การใช้งาน Liberty DAC II กับไฟล์ MQA จากแผ่น MQA-CD

ใน NAS ของผมมีไฟล์ MQA ที่ผมริปจากแผ่น MQA-CD อยู่ทั้งหมด 13 อัลบั้ม ในนั้นมีอยู่ 10 อัลบั้ม ที่เป็นไฟล์ 24/352.8, เป็นไฟล์ 24/176.4 หนึ่งอัลบั้ม ที่เหลืออีก 2 อัลบั้มเป็นไฟล์ 24/88.2 ซึ่ง Liberty DAC II สามารถคลี่ MQA ของไฟล์เหล่านี้ออกมาได้ตรงกับสัญญาณจริงที่อยู่ในไฟล์เหล่านั้นทุกอัลบั้ม โดยที่ไฟบนหน้าปัดของ Liberty DAC II แสดงเป็นสีฟ้าด้วย แสดงว่าสัญญาณเสียงที่ถูกส่งออกจากเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II เป็นสัญญาณเสียงที่เจ้าของอัลบั้มเหล่านั้นต้องการนำเสนอจริงๆ

เสียงมันต้องดีมากๆ เลยใช่มั้ย.? ขึ้นอยู่กับมาสเตอร์ของอัลบั้มนั้นๆ ครับ คือต้องทำความเข้าใจนิดนึงว่า แม้ว่าสัญญาณมาสเตอร์จากสตูดิโอที่เดินทางผ่านขั้นตอนเพลย์แบ็คมาจนถึงเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II จะยังคงเป็นสัญญาณที่มีคุณสมบัติ ตรงกับสัญญาณมาสเตอร์ที่ออกมาจากสตูดิโอก็ตาม (สัญญาณมาสเตอร์ > แพ็คลง MQA จากสตูดิโอ > สตรีมเข้าสู่โปรแกรม roon บน nucleus+ > ตรวจสอบความถูกต้อง (Authenticate) ของไฟล์ MQA โดยโปรแกรม roon > ส่งสัญญาณ Bit-Perfect ไปที่ Liberty DAC II > ทำการ decode และ render ด้วยฮาร์ดแวร์ MQA ใน Liberty DAC II > ส่งออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกทางเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II) แต่เมื่อสัญญาณเอ๊าต์พุตจาก Liberty DAC II ถูกส่งไปที่อินพุตของแอมป์เพื่อให้แอมป์ขยายสัญญาณนั้นส่งไปขับลำโพง สัญญาณเสียงมาสเตอร์ที่ออกมาจากเอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II ก็มีโอกาสจะถูกทำให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับได้ ถ้าสายสัญญาณ + แอมป์ + สายลำโพง + ลำโพง ของคุณไม่แม็ทชิ่งกันดีพอ หรือมีสมรรถนะไม่สูงพอที่จะสามารถรองรับสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตของไฟล์ MQA ได้ ต้องไม่ลืมว่า สัญญาณดิจิตัลที่ระดับ 24/352.8 เมื่อถูกแปลงออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก มันจะเป็นสัญญาณอะนาลอกที่มีสเปคฯ สูงมากทั้งในส่วนของ Dynamic Range (dB) และ Frequency Response (Hz) ถ้าแอมป์กับลำโพงที่มารองรับไม่มีสมรรถนะสูงพอที่จะสามารถแสดงคุณสมบัติของสเปคฯ สูงๆ เหล่านั้นออกมาได้ เสียงที่ได้ยินก็อาจจะออกมาแย่ก็เป็นได้

กับซิสเต็มที่ผมใช้ทดสอบครั้งนี้ (Wilson Benesh P3.0 + Accuphase E-5000) พบว่า เสียงของอัลบั้มชุด Ella & Louis (24/352.8กับอัลบั้มชุด Fairy Tales (24/176.4ที่ได้ออกมาจาก Liberty DAC II โดยรวมออกมาดีมากๆ จุดเด่นประเด็นสำคัญก็คือ ไดนามิก คอนทราสน์ที่ถูกคลี่คลายออกมาได้อย่างหมดจด สังเกตได้ง่ายๆ จากเสียงร้องของ Ella Fitzgerald, เสียงร้องของ Louis Armstrong และเสียงร้องของ Radka Toneff ที่มีลักษณะลอยเด่น เปิดกระจ่าง ชัดเจนไปทุกอักขระ ชัดเจนไปจนถึงวิธีการขับร้องแต่ละพยางค์ที่ลากโยงและรับส่งกันอย่างสอดคล้องได้อารมณ์ ความต่อเนื่องลื่นไหลของเสียงร้องที่ได้จาก ext.DAC ตัวนี้มันออกมาโดดเด่นมากๆ

ความชัดเจนที่ Liberty DAC II ถ่ายทอดออกมานี้ ไม่ใช่การใช้กลไกทางอิเล็กทรอนิคเข้าไปทำให้เสียงร้องของแต่ละคนมีลักษณะที่ถูกเน้นให้เด่นขึ้นมาเหนือแบ็คกราวนด์ แต่เป็นความชัดเจนที่เกิดจากพื้นสนามเสียงทั้งหมดที่ห่อหุ้มเสียงทุกเสียงในแต่ละเพลงเอาไว้มันมีลักษณะที่ โปร่งใส” (transparent) อย่างแท้จริง จึงไม่มีม่านหมอกใดๆ ไปบดบังทุกเสียงเอาไว้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วงจรอิเล็กทรอนิคเข้าไปปรับ sharpness เพื่อดึงเสียงร้องและเสียงดนตรีให้มีลักษณะที่ “ล้ำหน้า(forward) พุ่งโด่งขึ้นมาจากบรรยากาศที่ห้อมล้อมเสียงทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งวิธีนั้นจะทำให้อิมเมจของเสียงแต่ละชิ้นมีลักษณะขึ้นขอบและแข็ง ตัวเสียงจะแบน ไม่กลมเป็นสามมิติ เสียงโดยรวมจะขาดความเป็นธรรมชาติ

ไทมิ่ง” (Timing) ที่แม่นยำในการขยับเคลื่อนของตัวเสียง แต่ละชิ้นกับ “เฟส” ที่แม่นยำ ก็เป็นอีกสองคุณสมบัติที่ทำให้โฟกัสของเสียงแต่ละเสียงมีลักษณะขึ้นรูปชัดเจน มีตำแหน่งในเวทีเสียงที่ชัดเจน สามารถแยกแยะรายละเอียดของแต่ชิ้นเสียงออกจากกันได้อย่างง่ายดาย ยิ่งเป็นเพลงที่บันทึกมาดีมากๆ แทบจะไม่ต้องเสียเวลาเพ่งเลย ทุกเสียงมันหลุดลอยออกมาให้เห็นแบบง่ายๆ .. สุดยอดมาก.!!

ยิ่งฟังนานยิ่งรู้เลยว่า Transparency หรือ ความโปร่งสะอาดใสของพื้นเสียงที่ห่อหุ้มสนามเสียงทั้งหมดซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของ Liberty DAC II ตัวนี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดมรรคผลอื่นๆ ตามมาเป็นกระพรวน มันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คุณสมบัติทางด้าน dynamic contrast, soundstage และ detail (macro & micro detail) ของแต่ละเพลงถูกเปิดเผยออกมาอย่างที่มันเป็นอยู่จริง ซึ่งผมพบว่า คุณสมบัติทางด้านความโปร่งสะอาดใสนี้ไม่ได้แสดงออกมากับไฟล์เพลง MQA เท่านั้น แม้แต่ไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดี รวมถึงไฟล์ DSD64 ที่ผมริปมาจากแผ่น SACD ก็ได้รับมรรคผลจากคุณสมบัติข้อนี้เช่นเดียวกัน

Liberty DAC II ยอมให้โปรแกรม roon จัดส่งสัญญาณ DSD มาให้ด้วยวิธี ‘Nativeเพราะความสามารถของชิป ES9038 กับไดเวอร์ USB ที่ MyTek ออกแบบขึ้นมาทำให้ผมสามารถเล่นไฟล์ DSD ผ่านเข้าสู่ภาค DAC ของ Liberty DAC II แบบเนทีฟตั้งแต่ DSD64 ขึ้นไปจนถึง DSD256 ได้อย่างมีคุณภาพ! คือเสียงที่ออกมาไม่มีอาการหน่วงและซึมเหมือนอย่างที่มักจะพบได้จากการเล่นไฟล์ DSD สเปคฯ สูงๆ ผ่าน DAC สเปคฯ ต่ำๆ ในอดีต ตรงกลับข้าม สิ่งที่ได้ยินคือเสียงที่มีลักษณะเปิดโล่ง กระจ่าง ใส กระฉับกระเฉงและฉีดไดนามิกออกมาได้อย่างเต็มที่

ผมมักจะใช้เพลง House Of The Rising Sun งานคัฟเวอร์ของสองศิลปินผิวสี Cyndee Peters กับ Eric Bibb ในอัลบั้มชุด Opus3 DSD Showcase 3 ซึ่งเป็นไฟล์ DSD128 กับอัลบั้มชุด The Royal Ballet Gala (Ernest Ansermet / Orchestra Of The Royal Ballet House, Covent Garden) ซึ่งเป็นไฟล์ DSD256 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ DAC ในการรองรับกับไฟล์ DSD ที่มีสเปคฯ สูงกว่า DSD64 มาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาผมพบว่าภาค DAC ที่ใช้ชิป DAC ที่รองรับสัญญาณ PCM ได้ถึงระดับ 352.8kHz มักจะให้เสียงของไฟล์ DSD ออกมาดีได้แค่ระดับ DSD128 เท่านั้นเอง แม้ว่าในสเปคฯ ของ ext.DAC ตัวนั้นจะแจ้งว่ามันรอบได้สูงสุดถึง DSD256 ก็ตาม แต่เมื่อลองเล่นไฟล์ DSD256 เสียงที่ออกมามักจะไม่ดีเท่ากับตอนเล่นไฟล์ DSD128 อาจจะเป็นเพราะเมื่อเจอกับไฟล์ DSD256 โปรเซสเซอร์บนตัวชิปอาจจะทำงานหนักมากเกือบจะถึงขีดจำกัดของมันก็เป็นได้

ในสเปคฯ ของ Liberty DAC II ระบุว่าสามารถรองรับการเล่นไฟล์ PCM ได้สูงสุดถึงระดับ 768kHz 32bit และรองรับการเล่นไฟล์ DSD ได้สูงสุดถึงระดับ DSD512 จากการทดลองฟังของผมพบว่า Liberty DAC II เล่นไฟล์ 24bit/352.8kHz และเล่นไฟล์ DSD128 ออกมาได้ดีมาก พื้นเสียงใสกิ๊ก รายละเอียดทะลุทะลวงไปถึงไหนต่อไหน ตัวเสียงลอยชัด มีมวลเข้มข้นมาก แทบจะไม่พบจุดอ่อนใดๆ แต่ตอนลองเล่นไฟล์ DSD256 เสียงโดยรวมก็ออกมาในเกณฑ์ดี แต่ผมว่ามันเริ่มมีอาการแปร่งๆ นิดๆ ปลายเสียงเริ่มมีอาการจ้าหน่อยๆ ไม่นวลเนียนไปตลอดทั้งสเปคตรัมเหมือนตอนเล่นไฟล์ DSD128 (ไฟล์ DSD256 กับไฟล์ PCM 24.352.8 ของผมยังมีอยู่น้อย คงต้องรออัพเดตเพิ่มเติมในอนาคตอีกที)

ผมเชื่อ (โดยสนิทใจ) ว่า Michal Jurewicz รู้วิธี ดึงรายละเอียดออกมาจากไฟล์เพลงดิจิตัลได้อย่างหมดจดทั้ง PCM และ DSD และเมื่อเขาเลือกใช้วอลลุ่มดิจิตัลเข้ามาขยายสัญญาณในโดเมนดิจิตัลโดยกำหนด gain ขยายที่เหมาะสม ไม่มากไปจน overload และไม่น้อยไปจนทำให้รายละเอียดจมหายไดนามิกหดแคบ ผลจึงทำให้อะนาลอก เอ๊าต์พุตของ Liberty DAC II มี gain สัญญาณที่เข้มข้นมากพอสำหรับส่งให้เพาเวอร์แอมป์นำไปขยายต่อเพื่อขับดันลำโพงให้สร้างเสียงที่มีความถูกต้องใกล้เคียงกับรูปแบบสัญญาณเสียงที่ถูกแพ็คอยู่ในไฟล์เพลงมาจากสตูดิโอ ด้วยระดับความดังที่มากพอก่อนจะถึงจุด overload ที่จะทำให้เกิด distortion ขึ้นมา ถ้าคุณสามารถแม็ทชิ่งระหว่างแอมป์กับลำโพงได้ลงตัวจริงๆ คุณจะได้สัมผัสกับพลังและรายละเอียดเสียงที่ ext.DAC ตัวเล็กๆ ตัวนี้นำเสนอออกมาได้อย่างน่าตื่นตะลึง

ตอนผมทดลองใช้ Liberty DAC II จับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ Ayre Acoustic V-3 ขับลำโพง Wilson Benesch P3.0 โดยใช้วอลลุ่มในตัว Liberty DAC II ผลที่ได้ออกมาเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมในการออกแบบ ext.DAC ตัวนี้อย่างชัดเจน ซึ่งไมเคิลกับทีมออกแบบของเขาทำมันออกมาได้ลงตัวอย่างยิ่ง มันให้พื้นเสียงที่ใสและสะอาดอย่างยิ่งยวด มันให้เกนที่แรงพอและเหมาะสม ทำให้ได้ไดนามิกทรานเชี้ยนต์และไดนามิกคอนทราสน์ที่สวิงได้อย่างเต็มสเกล ตั้งแต่เบาสุดจนแทบจะเป็นเสียงกระซิบขึ้นไปจนถึงกัมปนาทของวงออเคสตร้าขณะที่เครื่องดนตรีเกือบร้อยชิ้นบรรเลงขึ้นมาพร้อมกัน..!!!

เมื่อคุณสมบัติทางด้าน ไดนามิกคอนทราสน์ที่ต่อเนื่องลื่นไหลกับ ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ที่สวิงได้เต็มสเกลถูกผสานกันออกมา ผลลัพธ์ก็คือลักษณะของเสียงที่มี ความสดสมจริงเมื่อทดลองฟังจากอัลบั้มเพลงของสังกัดไฮเอ็นด์ที่บันทึกกันอย่างพิถีพิถัน พบว่า แต่ละเสียงที่ปรากฏขึ้นมามันมี ความเหมือนจริงติดมาด้วยตลอด มันไม่ได้ทำให้ ได้ยินแต่สะท้อนให้เรา รู้สึกถึงการ มีตัวตนของเสียงเหล่านั้นด้วย นั่นทำให้บางอัลบั้มที่บันทึกดีมากๆ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนนักดนตรีเหล่านั้นพากันเข้ามาเล่นกันสดๆ ในห้องฟังของผม.!!

สรุป

external DAC ตัวเล็กๆ ของ MyTek ตัวนี้สั่นคลอน ความเชื่อเกี่ยวกับ ดิจิตัล วอลลุ่มอย่างแรง มันทำให้อคติที่เคยมีกับวอลลุ่มดิจิตัลต้องถูกถอนรากถอนโคนออกไปใจ มันทำให้ความเชื่อที่ว่า วอลลุ่มดิจิตัลให้เสียงแห้ง หยาบ ไม่เนียนสะอาดเหมือนวอลลุ่มอะนาลอก ต้องถูกสังคายนาใหม่ทั้งหมด.!!!

สิ่งที่ผมได้ยินจากวอลลุ่มของ Liberty DAC II ตัวนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เคยได้ยินมาที่ว่า ดิจิตัล วอลลุ่มเป็นวิธีการกำหนดระดับความดังของเสียงผ่าน DSP ในขณะที่สัญญาณต้นฉบับ (ดิจิตัล อินพุต) นั้นยังอยู่ในโดเมนดิจิตัล ซึ่งเป็นวิธีการจัดการกับความดังของเสียงที่สามารถรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณเอาไว้ดีกว่าวอลลุ่มอะนาลอก เนื่องจากสัญญาณเสียงไม่ต้องไป ปนเปื้อนกับตัวต้านทาน (resistor/attenuator) เหมือนวอลลุ่มอะนาลอก ดังนั้น จุดเด่นของวอลลุ่มดิจิตัลจึงอยู่ที่ ความใส” (transparent) และ บริสุทธิ์” (pure) ของสัญญาณที่ดีมาก เพราะมีค่า S/N Ratio ที่สูงมากนั่นเอง

MyTek Audio Liberty DAC II ให้ประสบการณ์ในการฟังที่แตกต่างไปจาก DAC อื่นๆ เสียงของมันมีคุณสมบัติที่ไปทางอุปกรณ์ที่ใช้ในสตูดิโออย่างมาก มันเที่ยงตรงและถูกต้องสุดๆ ความหวานระรื่นหูของเสียงร้องที่ได้ยินจาก DAC ตัวนี้มันจะมีความสดเจือมาด้วยเสมอ นั่นเพราะเป็นความหวานที่มาจากความสามารถของศิลปิน ไม่ใช่ความหวานเทียมๆ ที่ตัว DAC สร้างขึ้นมา พลังที่กระแทกลงไปบนหนังกลองก็เป็นพลังของมือกลองไม่ได้เกิดจาก DAC ตัวนี้สร้างขึ้นมาเช่นกัน มันแค่ทำหน้าที่เป็น ตัวกลางถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในสัญญาณออกมาตามนั้น.. เท่านั้น.!!

ไม่มีคำอธิบายใดดีเท่ากับแนะนำให้คุณไปหาโอกาสทดลองฟังเสียงของ Liberty DAC II ให้ได้ ไม่ต้องฟังกับซิสเต็มระดับไฮเอ็นด์ก็ได้ เพราะตอนผมลองฟัง Liberty DAC II ต่อตรงเข้าลำโพงแอ็คทีฟรุ่น TUK ยี่ห้อ Kanto Audio ราคาคู่ละสามหมื่นกว่าบาทเท่านั้น เสียงที่ได้ยังออกมาดีมาก.! /

**********************
ราคา : 45,000 บาท / ตัว
* จำนวนจำกัด เมื่อหมดโควต้านี้ ราคาจะถูกปรับไปเป็น 52,000 บาท / ตัว
**********************
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
. Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: @DECO2000Thailand

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า