รีวิวเครื่องเสียง Moonriver Audio รุ่น Model 404 อินติเกรตแอมป์

มีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือมีนักเล่นฯ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอินติเกรตแอมป์แบบ pure analog เข้ามาเยอะผิดปกติ ซึ่งถือว่าสวนทางกับกระแส All-in-One ที่เริ่มมีเครื่องรุ่นใหม่ๆ ออกมามากขึ้น และเริ่มมีผู้ใช้หันมานิยมใช้มากขึ้นเพราะเครื่องเสียงประเภท All-in-One ในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจมากแล้ว ทั้งทางด้านฟังท์ชั่นใช้งานและคุณภาพเสียง รวมถึงมีรูปแบบให้เลือกใช้ตามความต้องการที่หลากหลาย

ฟังท์ชั่น vs. คุณภาพเสียง

สังเกตได้เลยว่า ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ มักจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมทันสมัย มีฟังท์ชั่นการทำงานที่นำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้ แอมปลิฟายของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่โลกรู้จักจึงมักจะหันเหไปทาง All-in-One ประเภทตัวเดียวทำได้สารพัดเกือบทั้งหมด และเทรนด์ที่นิยมความเรียบหรูกับรูปร่างที่เล็กกระทัดรัดก็มีมากขึ้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้นำมาซึ่งผลกระทบทางด้านคุณภาพเสียงตามมา

เมื่อผู้ใช้หันมานิยมเครื่องเสียงที่มีขนาดกระทัดรัด แต่อยากได้ฟังท์ชั่นครบๆ ส่งผลกระทบต่อการออกแบบอย่างมาก เพราะมันเป็นความต้องการที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เครื่องเสียงที่ทำอะไรได้ครบๆ ในตัวมันก็ต้องมีวงจรอิเล็กทรอนิคมากเข้าไปอยู่ในนั้นเยอะ ปัญหาคือ จะยัดทั้งหมดลงไปในตัวถังขนาดกระทัดรัดได้อย่างไร.? ปัญหานี้บีบให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องหันไปหา IC (Integrated Circuit) ที่อยู่ในรูปของชิปขนาดเล็ก ซึ่งได้มาจากการเอาวงจรอิเล็กทรอนิคแบบแยกชิ้น (discrete) ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือมาย่อส่วนลงเป็นชิปแท่งสี่เหลี่ยมที่เล็กจิ๋วแค่ปลายนิ้วก้อย แม้กระทั่งวงจรขยายของแอมปลิฟายก็ไม่เว้นที่จะโดนบีบให้มีขนาดเล็กลง ในขณะที่ผู้ผลิตบางเจ้าก็หันไปหาวงจรขยายที่ให้ประสิทธิภาพสูงในขณะที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง อย่างเช่นวงจรขยายแบบดิจิตัล class-D เป็นต้น

เป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีการพัฒนาไปข้างหน้ามากๆ เข้า บางสิ่งก็มักจะถูกลืมทิ้งไว้ข้างหลัง เมื่ออัดฟังท์ชั่นเข้าไปเยอะๆ การทำงานในภาคเพาเวอร์แอมป์ซึ่งมีหน้าที่ขยายสัญญาณเพื่อขับดันลำโพงก็ต้องถูกลดทอนขนาดลงไปบางส่วนเพื่อปันพื้นที่ในตัวถังไปให้ส่วนอื่นๆ จนถึงจุดหนึ่ง กระแสของการเรียกร้องอดีตก็เกิดขึ้น และนั่นคือช่องทางเกิดของอินติเกรตแอมป์ที่ออกแบบในแนวทางดั้งเดิมอย่าง Moonriver Audio Model 404 ตัวนี้.!

Moonriver Audio Model 404
อินติเกรตแอมป์สัญชาติสวีเดน

คนที่เคยอยู่กับอะไรที่ดีมากๆ มาก่อน จะรู้สึกถึงการสูญเสียได้เร็วกว่า.. สวีเดนเป็นดินแดนที่ผู้คนมีสุนทรียภาพสูงในการใช้ชีวิตและมีจิตที่ผูกพันธ์แน่นแฟ้นกับธรรมชาติ, ศิลปะ และดนตรี อินติเกรตแอมป์ยี่ห้อ Moonriver Audio เป็นผลพวงที่เกิดจากความหลงไหลในดนตรี, เสียง และเทคโนโลยีออดิโอของ George Polychronidis ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมออกแบบของแบรนด์นี้ซึ่งเป็นชาวสวีเดน (อ่านเรื่องราวย่อๆ ของเขากับการให้กำเนิด Moonriver Audio ได้ที่ ลิ้งค์นี้)

จุดดึงดูดความสนใจอันดับแรกของแอมป์ตัวนี้อยู่ที่รูปร่างหน้าตาของมัน ซึ่งเห็นปั๊บก็บอกได้เลยว่าสไตล์ย้อนยุคหรือที่เรียกว่าแนววินเทจนั่นแหละ เห็นดีไซน์หน้าตาของมันแล้วทำให้นึกถึงปรีแอมป์ยุค ’70 อย่างพวก Marantz, Luxman ซึ่งเป็นยุคที่นิยมเอาแผ่นไม้มาประกบด้านข้าง หรือบางรุ่นก็ทำเป็นกล่องไม้แทนตัวถังหุ้มทั้งเครื่องเอาไว้ก็มี

ที่ดูหน้าตาแล้วใกล้เคียงกับดีไซน์ของ Moonriver Audio Model 404 ตัวนี้มากที่สุดก็น่าจะเป็นอินติเกรตแอมป์ยี่ห้อ Leben ของญี่ปุ่น ทว่า Moonriver Audio ตัวนี้ไม่ได้ใช้สีสันไปในแนวสดใสแวววาวเหมือน Leben แต่ไปในแนวเคร่งขรึมซะมากกว่า ด้วยสีของบอดี้ที่ออกไปทางดำทั้งตัว บนแผงหน้ามีปุ่มใหญ่ๆ 4 ปุ่มเรียงกันอยู่ในแนวนอน ลักษณะการจัดวางตำแหน่งปุ่มเหล่านี้ก็มีลักษณะเดียวกับเครื่องเสียงโบราณที่นิยมกันในยุคโน้นคือเรียงเป็นแนวจากซ้ายไปขวา ชั้นเดียวบ้างสองชั้นบ้าง ที่ด้านข้างของแผงหน้ามีแผ่นไม้สีน้ำตาลเข้มที่มีความหนาประมาณ 1 .. แปะติดอยู่ทางด้านซ้ายและขวา สูงเท่ากับความสูงของตัวเครื่องแต่ไม่ได้ตียาวตลอดทั้งด้านข้างจากหน้าปัดลงไปถึงแผงหลัง มีอยู่แค่ช่วงหน้าที่ลึกจากแผงหน้าลงไปประมาณ 3.5 .. เท่านั้น เรียกว่าแปะมาพอเป็นดีไซน์ แต่ก็ช่วยทำให้ดูนุ่มตาขึ้นพอสมควร

ความกว้างของตัวเครื่องขนาดมาตรฐานแร๊ก 17 นิ้ว หรือประมาณ 430 .. ลึก 390 .. และสูง 135 .. ถือว่าอยู่ในพิกัดที่กำลังสวยสำหรับอินติเกรตแอมป์ ไม่ใหญ่เทอะทะและไม่เล็กจิ๋วเกินไป ส่วนน้ำหนักตัวอยู่ที่ 12.5 .. ซึ่งเบากว่าความรู้สึกทางสายตาที่คะเนจากสัดส่วนเครื่องไปเล็กน้อย

ฟังท์ชั่นและปุ่มปรับควบคุมบนแผงหน้า

ฟังท์ชั่นทั้งหมดของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถควบคุมสั่งงานผ่านทางปุ่มหมุน 4 ปุ่ม, ปุ่มกด 1 ปุ่ม และสวิทช์โยกเล็กๆ อีก 2 อัน ไม่มีฟังท์ชั่นอื่นใดนอกเหนือจากนี้แอบซ่อนอยู่อีกแล้ว ไม่ม่ีทางเข้าเมนูเครื่องเหมือนอินติเกรตแอมป์ยุคใหม่ๆ ที่มักจะมี DSP ที่เก็บสารพัดเมนูฝังอยู่ในตัวเครื่อง ซึ่ง Model 404 ของ Moonriver Audio ตัวนี้ไม่มีเมนูเหล่านั้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Model 404 ตัวนี้มีคุณสมบัติของความเป็นแอมป์ Pure Analog จริงๆ .!!

การใช้งานแอมป์ตัวนี้เริ่มต้นด้วยการกดปุ่ม Power (A) ที่อยู่ทางซ้ายของแผงหน้าเยื้องลงมาด้านล่าง ซึ่งเมื่อคุณกดปุ่มนี้ลงไป เมื่อภาคขยายของ Model 404 ถูกเชื่อมต่อกับขั้วเอ๊าต์พุตพร้อมทำงานจะแสดงให้รู้ด้วยแสดงของไฟ LED ดวงเล็กๆ สีส้ม (B) ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลางของแผงหน้า ซึ่งไฟดวงนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถปรับตั้งได้ 3 สถานะ คือสว่างปกติ (Normal), หรี่ (Dimmed) หรือสั่งปิด (Off) ก็ได้ ซึ่งผมทดลองแล้ว พบว่า เมื่อสั่งปิดไฟดวงนี้ นอกจากจะช่วยลดแสงบนแผงหน้าไม่ให้สว่างขึ้นมากวนสายตากรณีนั่งฟังในสภาพไฟสลัวๆ แล้ว การปิดไฟดวงนี้ยังมีผลทำให้เสียงดีขึ้นด้วย แสดงว่าไฟดวงนี้คงจะส่งความถี่เข้าไปรบกวนการทำงานของเครื่องนั่นเอง

ปุ่มอินพุต (Source) ที่อยู่ทางซ้ายมือสุด (C) ใช้วิธีหมุนเพื่อเลือกแหล่งอินพุต ซึ่งแอมป์ตัวนี้มีอินพุตให้เลือกใช้อยู่ทั้งหมด 4 อินพุต คือ Line 1 เรียงกันไปจนถึง Line 4 ในขณะที่อินพุต Line 1 นั้นจะเปลี่ยนเป็นอินพุต Phono เมื่อมีการติดตั้งโมดูลโฟโนเข้าไป (เป็นอ๊อปชั่น) และอินพุต Line 4 ก็สามารถเปลี่ยนเป็นอินพุต USB-DAC เมื่อมีการติดตั้งอ๊อปชั่นโมดูล USB-DAC เข้าไป ซึ่งที่แผงหลังมีช่องเผื่อมาให้แล้ว สำหรับอินพุตที่ถูกเลือกจะมีไฟ LED ดวงเล็กๆ สีส้มเหลืองคอยสว่างขึ้นเพื่อแสดงสถานะพร้อมใช้งานให้เรารู้

แอมป์ตัวนี้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นโดยมีภาพของเครื่องเสียงย้อนยุคอยู่ในไอเดียของคนออกแบบ จึงไม่แปลกใจที่พบว่ามีฟังท์ชั่นโบราณๆ อย่าง Tape Monitor (G) และฟังท์ชั่นปรับบาลานซ์ซ้าย/ขวา (D) รวมถึงสวิทช์ปรับเลือกโหมดเสียง Stereo/Mono มาให้ ซึ่งแทบจะไม่พบเห็นฟังท์ชั่นเหล่านี้อยู่ในแอมป์ยุคใหม่ๆ แล้ว ซึ่งบางฟังท์ชั่นมีประโยชน์กับแหล่งต้นทางบางประเภท อาทิเช่น สวิทช์โยกเพื่อปรับเลือกโหมด Stereo/Mono นั้นจะใช้ประโยชน์ในการเซ็ตอัพเครื่องเล่นแผ่นเสียงและปรับตั้งอะซิมุธของหัวเข็ม รวมถึงใช้ประโยชน์ในการเซ็ตอัพด้วย

แผงหลังเรียบง่ายมาก..

แผงหลังของแอมป์ตัวนี้โชว์ความเป็นสแกนดิเนเวี้ยนออกมาได้อย่างชัดเจน ด้วยลุคที่เรียบ มีเฉพาะช่องเชื่อมต่อที่จำเป็น จัดวางกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่รุงรัง พื้นของแผงหลังพ่นสีสว่างตา ดูเคลียร์และคลีนมาก.!

Model 404 เวอร์ชั่นมาตรฐานจะมีให้เฉพาะอินพุตภาคไลน์ (J) จำนวน 4 ช่อง ในขณะที่ช่องอินพุตอะนาลอกช่องแรก (Line 1)(K) จะทำหน้าที่เป็นอินพุตสำหรับภาคขยายหัวเข็มเมื่อติดตั้งโมดูลโฟโน MM/MC (เป็นอ๊อปชั่น ถ้าจะเอาด้วยต้องจ่ายเพิ่ม 21,000 บาท) เข้าไปข้างในตัวเครื่อง ส่วนอินพุตดิจิตัลมีแค่ USB (L) ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นเช่นกัน ต้องจ่ายตังค์เพิ่มถ้าต้องการ ตัวมาตรฐานที่ไม่ได้ติดตั้ง USB-DAC มาให้จะมีจุกอุดช่องเอาไว้ และถ้าคุณติดตั้งโมดูล USB เข้าไป ช่องอินพุต Line 4 จะใช้งานไม่ได้

นอกจากนั้น ถัดมาทางขวาจะเป็นช่องต่อ I/O สำหรับลูปบันทึกเสียง (M) หรือเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องการสัญญาณลูป I/O ในการทำงานอย่างเช่นอุปกรณ์ปรับอะคูสติกห้องฟัง (room correction) เป็นต้น ถัดไปอีกสองช่องที่เหลือคือช่อง Preamp Output ซึ่งมีมาให้ถึง 2 ช่อง (N) ซึ่งอันนี้เจ๋งมาก ใครที่ตั้งใจจะเล่นแยกแอมป์สเตริโอ 2 ตัว หรือแอมป์โมโน 4 ตัวขับลำโพงที่ให้ขั้วต่อไบไวร์ฯ คุณก็สามารถใช้ภาคปรีฯ ของแอมป์ตัวนี้ไปใช้งานได้เลย ซึ่งหายากมากนะครับสำหรับอินติเกรตแอมป์ที่ให้ภาคปรีแอมป์เอ๊าต์พุตมาให้ 2 ช่องแบบนี้.!! หรือจะใช้ช่องหนึ่งต่อเพาเวอร์แอมป์ภายนอก ส่วนอีกช่องต่อเข้าแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์ก็ได้ ส่วนช่องเสียบหัวปลั๊กสายไฟเอซีให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์ สะดวกต่อการอัพเกรดเปลี่ยนสายไฟเอซี

ผู้ผลิตมีรีโมทไร้สายอันเล็กๆ มาให้หนึ่งอัน สำหรับควบคุมการทำงานของ Model 404 จากระยะไกล ซึ่งมีฟังท์ชั่นให้ใช้งานแค่ตามจำเป็น นั่นคือ ปรับระดับวอลลุ่ม, เลือกอินพุตโดยตรง, สั่งเปิด/ปิดฟังท์ชั่น Tape Monitor และปุ่มกดเพื่อหยุดเสียงชั่วคราว

ดีไซน์

ข้อมูลในการออกแบบ Model 404 ที่โชว์อยู่บนเว็บไซต์ของผู้ผลิตมีไม่มากนัก ต้องขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ของสื่อของโปแลนด์ชื่อว่า highfidelity ซึ่งนักเขียนของค่ายนี้ชื่อว่า Wojciech Pacufa ได้ทำการทดสอบอินติเกรตแอมป์ตัวนี้เอาไว้ ผมขออนุญาตหยิบข้อมูลบางส่วนมาบอกต่อดังนี้..

“.. อุปกรณ์ภายในทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่บนแผงวงจรขนาดใหญ่แผงเดียวกัน ยกเว้นโมดูล Phono และโมดูล USB-DAC ที่ต้องใช้วิธีขันน็อตยึดลงไปบนแผงวงจรกรณีที่มีการสั่งเพิ่มอ๊อปชั่นเหล่านั้น ที่ตำแหน่งของอินพุต Line 1 และ Line 4 จะมี DIP สวิทช์สำหรับโยกเพื่อปรับให้เป็นอินพุตสำหรับ Phono หรือ USB-DAC แทนกรณีที่มีการติดตั้งโมดูลลงไป อินพุตที่ต้องการใช้งานจะถูกเลือกโดยรีเลย์ของ Omron จากนั้นสัญญาณจากอินพุตนั้นจะถูกส่งไปที่ภาคปรีแอมป์ ซึ่งมีการแยกภาคการทำงานระหว่างปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ออกจากกัน โดยใช้คอมโพเน้นต์ที่มีคุณภาพสูงในภาคปรีแอมป์ อาทิเช่น ใช้คาปาซิเตอร์ของ Wima และ Vishay ซึ่งจะพบเห็นผลิตภัณฑ์ของสองยี่ห้อนี้ได้ในหลายๆ ส่วนของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ รวมถึงในภาคเพาเวอร์ซัพพลายด้วย ซึ่งคาปาซิเตอร์บางตัวได้ถูกแด้มพ์ฯ ด้วยก้อนน้ำมันดินติดกาวแปะอยู่บนตัวคาปาซิเตอร์เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือน

ภาคเอ๊าต์พุตของ Model 404 ค่อนข้างจะเรียบง่ายมาก สาเหตุก็เพราะว่าการทำงานของภาคเอ๊าต์พุตของแอมป์ตัวนี้อาศัยโมดูลแอมป์ Class-AB ของ National Semiconductor เบอร์ LM3886TF ข้างละหนึ่งตัว ซึ่งโมดูลตัวนี้เป็นที่นิยมของนัก DIY นำไปใช้อยู่ในอินติเกรตแอมป์หลายๆ โปรเจค ยกตัวอย่างเช่นแอมป์ Gainclone ซึ่งตัวโมดูลถูกยึดเข้ากับชิ้นส่วนอะลูมิเนียมรูปตัวยูเล็กๆ

ภาคเพาเวอร์ซัพพลายเป็นอะไรที่ดูแอดวานซ์พอสมควร ใช้หม้อแปลงเทอรอยขนาด 250VA ที่แยกขดลวดหลายชุด (ดูภาพข้างบน สายไฟที่ออกมาจากหม้อแปลง) ซึ่งทางผู้ผลิตอ้างว่า มีการแยกภาคจ่ายไฟถึง 5 ชุด เพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ..”

ทดลองแม็ทชิ่ง+ปรับจูน

ใครเล่นแอมป์หลอดจะรู้ว่า คำว่า ขับออกขับไม่ออกสำหรับแอมป์หลอดนั้นเป็นอะไรที่วิเคราะห์ยากกว่าแอมป์โซลิดสเตทมาก เพราะตัวเลขกำลังขับที่น้อยนิดของแอมป์หลอดมักจะชวนให้เราคิดว่ามัน น่าจะขับไม่ออก แต่พอฟังเสียงที่ออกมาแล้วก็ต้องยอมรับว่า ไม่รู้ว่าจะไปชี้ตรงจุดไหนเพื่อสรุปว่ามันขับไม่ออก..!!!

แอมป์โซลิดสเตทที่มีพฤติกรรมคล้ายกันก็คือแอมป์โซลิดสเตทที่ใช้วงจรขยาย Class-A และถ้ายิ่งเป็นแอมป์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์มอสเฟ็ตก็จะยิ่งมีพฤติกรรมคล้ายหลอดมากเข้าไปอีก คือแอมป์พวกนี้จะให้เสียงที่เปิด ลอย ฟังสบายไม่เครียด ซึ่งเป็นบุคลิกของเสียงที่อยู่ในข่าย ขับออกส่วนความแตกต่างเมื่อเทียบกับแอมป์ที่ใช้ภาคขยาย Class-AB ที่มีกำลังขับสูงๆ ประมาณ 200 วัตต์ต่อข้างขึ้นไป จะอยู่ที่ น้ำหนักของเสียง ซึ่งแอมป์ที่มีมัดกล้ามกำลังเยอะมักจะให้เสียงที่มีน้ำหนักย้ำเน้นของตัวโน๊ตมากกว่าแอมป์หลอดกับแอมป์โซลิดสเตท Class-A ที่มีตัวเลขกำลังขับต่อข้างไม่กี่สิบวัตต์

ตอนทดลองแม็ทชิ่ง Model 404 เข้ากับลำโพงที่ผมมีอยู่ในขณะทดสอบแอมป์ตัวนี้ ผมยอมรับว่าตอนแรกหลังจากพลิกดูสเปคฯ ของแอมป์ตัวนี้แล้วรู้สึกกังวล เพราะมันระบุตัวเลขกำลังขับไว้แค่ 50 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม เท่านั้นเอง ถ้าที่โหลด 4 โอห์มสามารถเบิ้ลได้เป็น 100 วัตต์ก็ยังนับว่าโอเค แต่ผู้ผลิตเขาไม่ได้แจ้งไว้ซะด้วย เกรงว่าจะไม่ถึง 100 วัตต์ที่โหลด 4 โอห์ม ที่ผมกังวลก็เพราะว่าตัวเลขกำลังขับแค่นี้เกรงว่าจะขับลำโพงที่ผมมีอยู่ออกมาไม่เต็มที่นั่นเอง

ผมเริ่มต้นด้วยการจับคู่ Model 404 กับลำโพง Totem Acoustics รุ่น The One ซึ่งเป็นลำโพงที่ผมใช้อ้างอิงส่วนตัวมานาน และลำโพงคู่นี้ก็เคยถูกขับด้วยอินติเกรตแอมป์ตัวเล็กๆ ของ Arcam รุ่น SA30 (REVIEW) จนกระเจิงมาแล้ว ซึ่งผมพบว่า Model 404 สามารถขับ The One ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ไม่มีคุณสมบัติข้อไหนเลยที่ได้ยินแล้วจะกล้าพูดว่าขับไม่ออก Model 404 ขับดันชิ้นดนตรีให้ลอยละล่องออกมาจากลำโพง The One แบบไม่เหลือค้างติดตู้ ทุกโน๊ตดนตรีตั้งแต่ทุ้มต่ำๆ ขึ้นไปจนถึงปลายสุดของเสียงแหลมกระเด็นหลุดออกมาจากลำโพงด้วยแรงกระทุ้งของ Model 404 แบบไม่ต้องลุ้นเลย ผมฟังเซ็ตนี้อยู่หลายวันจนกล้าสรุปว่า Model 404 ขับ The One ออกมาได้เสียงที่น่าพอใจมาก แต่ภายใต้เสียงที่ออกมานั้นมันมี บุคลิกบางอย่างที่น่าจะเป็นอัตลักษณ์ของอินติเกรตแอมป์สัญชาติสวีเดนตัวนี้ (ไปอธิบายต่อในหัวข้อ เสียงของ Model 404”)

แต่ด้วยราคาขายของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ที่สูงถึง 140,000 บาทต่อตัว ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะจับมันไปลองประกบกับลำโพงที่มีราคาสูงกว่ามัน ซึ่งในขณะนั้นผมมีลำโพงวางขาตั้งของ Wilson Benesch รุ่น Precision P1.0 (REVIEW) ราคาคู่ละ 250,000 บาท กำลังทำการทดสอบอยู่ในห้อง เมื่อมีจังหวะว่าง ผมเลยถือโอกาสยก Model 404 เข้าไปแจมกับ P1.0 หลังจากเสียบสายลำโพงเสร็จแล้ว เปิดเสียง แล้วขยับตำแหน่งลำโพงอีกนิดหน่อย ผมก็ได้สัมผัสกับสนามเสียงที่แผ่กว้างกำลังดี รายละเอียดดีมาก โดยรวมผมถือว่า Model 404 ขับ P1.0 ออกมาในระดับที่น่าพอใจ เพราะลำโพงคู่นี้ต่อแอมป์ตรงเข้ามิดเร้นจ์/วูฟเฟอร์ ถ้าแอมป์ไม่ไหวเสียงโดยรวมจะหุบทั้งเวทีเสียงและไดนามิก แต่ขับกับ Model 404 ไม่มีอาการนั้น

ผมบอกตามตรงว่าเริ่มรู้สึกประหลาดใจและทึ่งกับตัวเลข 50 วัตต์ ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มาก เพราะถ้าประเมินจากลักษณะเสียงที่ได้ยิน มันไม่ได้สะท้อนเลยว่าเป็นเสียงที่ได้จากแอมป์ที่มีตัวเลขกำลังขับเท่ากับ 50 วัตต์ต่อข้าง.! เสียงของมันเหมือนมีกำลังสำรองลึกลับที่หนาแน่นคอยหนุนอยู่ และเพื่อให้หายสงสัย ผมได้ลองใช้ Model 404 ขับลำโพง Wilson Benesch รุ่น Precision P3.0 ซึ่งเป็นลำโพงซีรี่ย์เดียวกับรุ่น P1.0 แต่เป็นรุ่นตั้งพื้น ใหญ่สุดในซีรี่ย์นี้ ซึ่งผมคาดว่า Model 404 ไม่น่าจะขับ P3.0 ได้แน่ๆ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นจริงตามนั้น Model 404 ขับ P3.0 ออกมาได้ไม่เต็มที่ แต่ทว่า.. เสียงที่ออกมามันไม่เหมือนกับอาการ ขับไม่ออกของแอมป์ทั่วไป คือภายใต้สภาวะขับไม่เต็มที่นั้นมันมีบางอย่างที่น่าฟังออกมาด้วย สิ่งที่บ่งชี้ว่ากำลังขับของ Model 404 ไม่มากพอสำหรับ P3.0 ก็คือรายละเอียดของฮาร์มอนิกลำดับที่สามสี่ห้าที่ควรจะเป็นความกังวานของหางเสียงที่ผมได้ยินจากเพลงเดียวกันตอนที่มัน (Model 404) ขับ P1.0 มันหายไป ทำให้ปลายเสียงมีลักษณะห้วนและจบเร็ว แต่ บางอย่างที่น่าฟังที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรกก็คือ ความต่อเนื่องของคอนทราสน์ไดนามิกของเสียงในย่านกลางมีลักษณะที่ลื่นไหลมากกว่าตอนฟัง Model 404 ขับ P1.0 ซึ่งผมคิดว่า นี่น่าจะเป็นผลมาจากคุณภาพของตัวลำโพงนั่นเอง ซึ่งนี่คือความแปลกของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ คือถ้าเป็นแอมป์ตัวอื่น เวลาขับลำโพงไม่ออก เสียงที่ออกมาจะรวนไปหมด ทุกอย่างจะออกมาแย่ ไม่น่าฟังไปทั้งหมด แต่กับ Model 404 ตัวนี้มันมีอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากแอมป์ทั่วไป แม้ในขณะที่มันเจอกับลำโพงที่เกินความสามารถของมัน มันก็ยังสามารถทำในส่วนที่มันทำได้ออกมาได้ดี ที่สรุปเช่นนั้นเพราะผมพบว่า เมื่อลองฟังเพลงร้องช้าๆ ที่ไม่ได้เน้นพลังไดนามิกที่รุนแรงมาก เสียงที่ได้จาก Model 404 ขับลำโพง P3.0 ก็ออกมาดี แม้ว่าจะไม่ถึงกับดีที่สุดเท่าที่ P3.0 สามารถทำได้ แต่ผลรวมของ Model 404 + P3.0 ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงสมรรถนะที่เกินตัวอย่างยิ่งของ Model 404 ออกมาได้ชัดเจนที่สุด.!!

หลังจากทดลองแม็ทชิ่ง Model 404 เข้ากับลำโพงหลายระดับเพื่อตรวจสอบ สมรรถนะที่แอบซ่อนอยู่ข้างในตัวมันแล้ว ผมพบว่า Model 404 + Totem Acoustics The One เป็นคู่ที่ให้ผลลัพธ์ของเสียงออกมาได้น่าพอใจมากที่สุดในหลายๆ แง่มุม แน่นอนว่า Model 404 มีแนวโน้มที่สามารถจับคู่กับลำโพงที่ แพงกว่าตัวมันขึ้นไปได้ แต่ถ้าคาดหวังผลลัพธ์ในระดับ perfect matching จริงๆ แล้ว ผมคาดเดาว่า Model 404 น่าจะไปได้ดีมากๆ กับลำโพงที่มีราคาต่อคู่อยู่ระหว่าง 50,000 – 200,000 บาท ซึ่งควรจะเป็นลำโพงที่มีความไวปานกลางขึ้นไป และถ้าใช้งานในห้องฟังที่ไม่ใหญ่มากก็จะได้ประสิทธิภาพจาก Model 404 ออกมาได้เต็มที่มากขึ้น

ช่วงที่ทดลองแม็ทชิ่งลองฟังเสียงของ Model 404 ผมได้ทดลองเปิด/ปิดไฟ LED ที่หน้าเครื่องดูด้วย ซึ่งทางผู้ผลิตให้อ๊อปชั่นมา 3 แบบในการใช้งาน ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ด้วยการสับตำแแหน่งของสวิทช์โยกตัวเล็กๆ (ในวงกลมซ้ายมือ) ได้ 3 ตำแหน่ง บนสุดคือ NORMAL คือไฟ LED (ศรชี้) จะสว่างเต็มที่เป็นแสงสีส้ม ถ้าสับสวิทช์ลงมาตำแหน่งกลางคือ OFF ไฟดวงนี้จะดับมืดลง แต่ถ้าสับสวิทช์ลงไปตำแหน่งล่างสุดคือ DIMMED ไฟจะสลัวลงไปประมาณ 50% ซึ่งเดิมผมคิดว่าผู้ผลิตให้อ๊อปชั่นนี้มาสำหรับคนที่ไม่ต้องการให้มีแสดงสว่างบนหน้าปัดเครื่องขณะใช้งานในห้องที่มืด แต่เมื่อได้ลองปรับไปที่ตำแหน่ง OFF ผมพบว่ามันทำให้เสียงดีขึ้นเล็กน้อยด้วย.!! (ขณะฟังทดสอบผมปิดไฟดวงนี้ไว้ตลอด)

เสียงของ Model 404

ตอนทดลองฟังเพื่อสรุปผลการทดสอบครั้งนี้ ผมเลือกให้ Model 404 จับคู่กับลำโพง Totem Acoustics รุ่น The One โดยใช้ roon nucleus+ บวกกับ MyTek รุ่น Liberty DAC II ทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณ โดยทั้งหมดนั้นถูกเซ็ตอัพอยู่ภายในห้องฟังของผม

อัลบั้ม : Glass Houses (DSF64)
ศิลปิน : Billy Joel
สังกัด : Mobile Fidelity Sound Lab

อัลบั้ม : JT (DSF64)
ศิลปิน : James Taylor
สังกัด : Mobile Fidelity Sound Lab

เถียงไม่ได้เลยว่า คุณค่าของเครื่องเสียงอยู่ที่ ความเป็นดนตรีเครื่องเสียงชิ้นไหนสามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีออกมาได้ก็ถือว่าเป็นเครื่องเสียงที่ดี ทว่า การรับรู้และเข้าถึง ความเป็นดนตรีก็ต้องอาศัยความลึกซึ้งในการรับรู้ของคนฟังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง มันจึงมีระดับชั้นของความลึกซึ้งในการตีความของผู้เสพเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งความลึกซึ้งของงานเพลงแต่ละชิ้นจะไม่เท่ากัน ในขณะที่ความสามารถในการเข้าถึงอรรถรสของดนตรีของผู้ฟังแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

ระดับความลึกซึ้งของ ความเป็นดนตรีจะฝังอยู่ในตัวเพลงนั้นๆ ส่วน ชุดเครื่องเสียงก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดความเป็นดนตรีของเพลงนั้นออกมา ในขณะที่คนฟังทำหน้าที่เสพอรรถรสจากความเป็นดนตรีที่ได้ยินออกมาจากชุดเครื่องเสียงนั้น..

ดนตรีแนวพ๊อพ/ร็อคเป็นงานเพลงที่มีความเป็นดนตรีอยู่ในระดับตื้นๆ ที่ผู้คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้ง่าย ตัวอย่างเช่นสองอัลบั้มที่ผมทดลองฟังกับ Model 404 ข้างต้นนี้ ซึ่งไม่ต้องเป็นนักฟังเพลงก็สามารถสัมผัสกับอรรถรสของเพลงที่อยู่ในสองอัลบั้มนี้ได้ ส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญที่ทำให้งานเพลงในสองอัลบั้มนี้แสดงความเป็นดนตรีออกมาก็คือ จังหวะเนื่องจากเพลงในแนวพ๊อพ/ร็อคเหล่านี้จะเน้นการรับส่งที่ตบจังหวะได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ถ้าชุดเครื่องเสียงถ่ายทอด timing ออกมาได้อย่างแม่นยำ จะทำให้ส่วนที่เป็น rhythm ของเพลงออกมาได้ถูกต้องตามที่เพลงนั้นๆ ถูกกำหนดมา ผู้ฟังก็จะสามารถตบเท้าไปกับจังหวะของเพลงนั้นได้อย่างเพลิดเพลินใจ

ผมตั้งใจใช้เพลง “You May Be Rightในอัลบั้มชุด Glass Houses ของ Billy Joel กับเพลง “Your Smiling Faceในอัลบั้มชุด JT ของ James Taylor เป็นตัวทดสอบคุณสมบัติในการตอบสนองกับ timing ของอินติเกรตแอมป์จากสวีเดนตัวนี้ ซึ่งผมพบว่า มันทำหน้าที่ของมันออกมาได้ดีมากๆ คือในเพลง You May Be Right ผมรับรู้ได้ถึงอาการเน้นน้ำหนักหัวไม้บนสแนร์ของมือกลองที่มีทั้งความกระชับ แน่นและกดหัวไม้ไว้กับหนังกลองเพื่อให้เสียงกระเดื่องที่กระแทกตามสแนร์สามารถเปิดตัวออกมาให้ได้ยินชัดๆ และด้วยความแม่นยำในการถ่ายทอดไทมิ่งของ Model 404 ทำให้จังหวะเพลงนี้ซึ่งถูกกำหนดโดยมือกลองปรากฏออกมาด้วยช่องไฟที่แม่นยำ และด้วยความสามารถในการตอบสนองสัญญาณทรานเชี้ยนต์ที่เร็วทันกับสัญญาณอินพุต ทำให้เสียงอิมแพ็คของหัวไม้ที่กระทบหนังกลองสแนร์ กับเสียงของหัวไม้นวมบนก้านกระเดื่องที่กระแทกเข้ากับหนังกลองใหญ่ (kick drum) มีความฉับพลันทัดเทียมกับของจริง เสียงอิมแพ็คเหล่านั้นจึงมีความคม ไม่เบลอ ส่งผลให้ช่องไฟสะอาด ทำให้ผมได้ยินรายละเอียดของเสียงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเสียงกลองและเสียงเบสที่กำหนดจังหวะเพลงได้ชัดเจนมาก

Model 404 ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงลักษณะการขับร้องที่ใส่อารมณ์รุนแรงลงไปในแต่ละคำร้องของบิลลี่ โจแอลที่ ชัดเจนกว่าทุกครั้งที่เคยฟัง มันทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มีอะไรมากกว่าแค่เพลงฮิตตลาดๆ เพลงหนึ่ง แม้ว่าภาคดนตรีจะไม่ได้โชว์ความลึกซึ้งในแง่ของการเรียบเรียงมากนัก เลเยอร์ดนตรีไม่ได้ซับซ้อน แต่ทว่า จุดเด่นของเพลงนี้ก็คือการสำรอกอารมณ์ของนักร้องกับมือกลองที่ทำออกมาได้อย่างเข้มข้น ผมฟังซ้ำถึง 3 รอบเพื่อซึมซับรายละเอียดของอารมณ์ที่ได้จากเพลงนี้เข้ามาตรึงไว้ในความทรงจำ เพราะนี่คือครั้งแรกที่ผมเสพเพลงนี้ได้ ลึกกว่าทุกครั้งจนคิดว่าสิ่งที่ผมได้ยินและสัมผัสจากเพลงนี้ในครั้งนี้น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ Billy Joel กับศิลปินแบ็คอัพทั้งหมดอยากนำเสนอออกมา (เสียงโซโล่แซ็กโซโฟนช่วงท้ายๆ เพลงมันรุกเร้ามากๆ ทำเอาผมอยากหาแซ็กฯ มาเป่าสักตัว.!)

เพลง “Your Smiling Faceในอัลบั้มชุด JT ของ James Taylor เป็นเพลงที่มีวรรคตอนของจังหวะจะโคนที่แบ่งซอยยิบย่อยและหลากหลายกว่า ไม่ได้ใช้แพลทเทิ้นเดียวกันไปทั้งเพลงเหมือนเพลง You May Be Right ของ Billy Joel บางช่วงกระชั้นถี่ในขณะที่บางช่วงก็คลี่คลายออก นั่นทำให้เพลง Your Smiling Face มีความสลับซับซ้อนของ timing มากกว่า มีการสลับ speed ของจังหวะเพลงไปมาอยู่ตลอด ซึ่ง Model 404 ก็สามารถวิ่งตามลีลาของจังหวะเพลงนี้ได้ทันทุกก้าวย่าง ผลคือทำให้ฟังแล้วเกิดความสนุกไปกับลีลาของเพลงนี้ ผมต้องเผลอกระตุกข้อมือไปตามเสียงริฟกีต้าร์ซะหลายครั้ง ฟังแล้วอยากลุกขึ้นมาเล่นกีต้าร์คลอไปกับเพลงนี้เลยทีเดียว.!

อัลบั้ม : Plays Gershwin (DSF64)
ศิลปิน : The Bassface Swing Trio
สังกัด : Stockfisch

ที่จริงนั้น ผมรู้อยู่ก่อนแล้วว่า เพลงแจ๊สอัลบั้มนี้บันทึกเสียงดีมาก แต่ถ้าซิสเต็มที่ใช้เล่นอัลบั้มนี้มีสมรรถนะที่ดีจริงๆ พอเริ่มเล่นเพลงในอัลบั้มนี้แล้ว ยังไม่ต้องตั้งใจมุ่งประเด็นไปที่จุดไหนในเพลง แค่ฟังไปเรื่อยๆ คุณก็จะต้องรู้สึกได้ว่า บางสิ่งในแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้มันพุ่งมากระตุ้นความสนใจของเราเอง ซึ่ง บางสิ่งในอัลบั้มนี้ที่พุ่งเข้ามากระแทกประสาทหูของผมอย่างแรงก็คือ ความสดของเพลงที่มีชีวิตชีวา มันทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกำลังฟังการบรรเลงของวงทริโอแจ๊สวงนี้แบบ ต่อหน้าต่อตา“.!!

ถ้าทราบเบื้องหลังการบันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้มาก่อนจะไม่แปลกใจที่รู้สึกเช่นนั้น และทำให้รู้ด้วยว่า Model 404 ซึ่งประกอบอยู่ในซิสเต็มที่ใช้เล่นอัลบั้มนี้ให้ timing ของเสียงที่แม่นยำมากเป็นพิเศษ แต่คำว่า แม่นยำไม่ได้หมายถึง ความเร็วในการถ่ายทอดเสียงออกมาทางด้านเอ๊าต์พุต แต่เป็น ความเร็วในการตอบรับ (response) กับสัญญาณอินพุตได้ทันการ ส่งผลให้เสียงที่ออกมามีความคม (อิมแพ็ค) และชัด เนื่องจากส่วนประกอบต่างๆ ของเสียงตั้งแต่หัวเสียง > บอดี้ > ฮาร์มอนิก > หางเสียง ได้ถูกถ่ายทอดอกมาตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นโดยไม่ถูกเร่งหรือหน่วงช้า ซึ่งผมพบว่า Model 404 ตัวนี้ให้ไทมิ่งของเสียงที่แม่นยำตลอดทั้งย่านเสียงที่มันให้ออกมา คือตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้ม ทำให้เสียงที่ออกมามีทั้ง ตัวตนของแต่ละโน๊ตดนตรีที่คมชัด และให้การแยกแยะรายละเอียดของแต่ละชิ้นดนตรีออกมาให้ได้ยินอย่างละเอียด ไม่มีความสับสน พิสูจน์ได้จากเพลงที่สมาชิกทั้งสามของวง The Bassface Swing Trio ประโคมเครื่องดนตรีของพวกเขาเข้าใส่กัน นั่นคือเพลง “Oh, Lady Be Goodแทรคแรกกับเพลง “I Got Rhythmซึ่งผมสามารถแยกเสียงของอะคูสติกเปียโน, อะคูสติกเบส และกลองออกจากกันได้ทุกเม็ด.! โดยเฉพาะเปียโนที่ให้เสียงของหัวโน๊ตช่วงไม้เคาะกระแทกสายที่คมและตามมาด้วยความกังวานที่สะท้อนออกมาจากซาวนด์บอร์ดของเปียโนที่อิ่มใหญ่ ไม่แห้ง ซึ่งเป็นความพิเศษของเปียโนตัวนี้ จากข้อมูลในปกแผ่นระบุว่า แผ่นซาวนด์บอร์ดของเปียโนยี่ห้อ FAZIOLI รุ่น F 228 ที่ใช้บรรเลงในอัลบั้มนี้ ทำจากไม้สนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Red Spruce (หรือ Picea Rubens) ที่ปลูกอยู่แถบตะวันตกของเทือกเขาแอลส์ในหุบเขา Val di Fiemme ของอิตาลี ซึ่งเป็นไม้ประเภทเดียวกับที่ตระกูล Stradivarius ใช้ทำไวโอลินของพวกเขานั่นเอง จึงทำให้เสียงเปียโนที่ Thilo Wagner มือเปียโนของวงนี้เล่นมีลักษณะที่อิ่มหนา คือหัวโน๊ตจะไม่ได้คมเรียวบางเหมือนเปียโนของยามาฮ่า แต่กินเร้นจ์เสียงกว้างกว่า หัวเสียงมีความกลมกลึงและเม็ดใหญ่ มีฮาร์มอนิกที่ทอดกังวานต่อท้ายหัวเสียงออกมาด้วย กอปรกันทำให้เป็นเสียงเปียโนที่มีทั้งความคมและความนุ่มผสมผสานกันออกมาในลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของเปียโนหลังนี้ ด้วยเสียงเปียโนที่มีบุคลิกเสียงแบบนี้ถ้าเล่นผ่านแอมป์ที่ให้ timing ไม่เป๊ะจริงๆ หัวโน๊ตอาจจะมีอาการบวมเบลอได้ง่าย ซึ่งผมไม่ได้ยินอะไรแบบนั้นเลยเมื่อเล่นผ่าน Model 404 ตัวนี้นอกจากความบันเทิงที่ได้จากอัลบั้มนี้อย่างเอกอุ (อัลบั้มนี้เป็นงานบันทึกแบบ Direct-To-Disc พร้อมกันทั้ง 3 ฟอร์แม็ตคือ LP, SACD และ CD จึงได้ทรานเชี้ยนต์ไดนามิกที่คมมาก)

อัลบั้ม : Perform Music Of The Beatles (DSF64)
ศิลปิน : Erich Kunzel & Cincinnati Pops Orchestra
สังกัด : Telarc Records

บ่อยครั้งที่ผมเลือกอัลบั้มนี้มาฟังแล้วพบว่า มันให้เสียงที่บาง ไม่เป็นตัว และเวทีเสียงก็พุ่งออกมาด้านหน้า (forward) มากเกินไป ฟังไม่เพราะเลยทั้งๆ ที่เพลงน่าฟังมาก แต่คราวนี้ออกมาน่าฟังกว่าทุกครั้ง เสียงสตริงเครื่องสายกับเสียงร้องประสานเสียงออกมามีมวลน่าฟัง เนื้อเสียงนวลไม่แห้งและไม่บางเหมือนครั้งก่อนๆ และผมยังพบว่า เวทีเสียงมันถอยไปอยู่ด้านหลังระนาบลำโพงมากขึ้น มิติด้านลึกมีความชัดเจนมากขึ้น มีความลดหลั่นลงไปเป็นเลเยอร์มากขึ้น ไม่พุ่งออกมาข้างหน้ามากเกินไป ฟังรวมๆ แล้วให้ความรู้สึกอินไปกับเพลงมากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องยกนิ้วให้กับ Model 404 ไปเลย.. !!

อัลบั้ม : Bach, Paganini & Massenet (DSF64)
ศิลปิน : Uto Ughi, violino
สังกัด : fone records

อัลบั้ม : Virtuoso Pieces Of Chinese Percussion (DSF64)
ศิลปิน : Yim Hok-Man
สังกัด : Naxos

แอมป์ตัวนี้ไม่มีอะไรเป็นจุดอ่อนเลยเหรอ.? ทางด้านกลางแหลมผมว่ามันตอบสนองทางด้าน timing ออกมาได้ดีมาก ซึ่งพอไทมิ่งเป๊ะ (เข้ามาช้าก็ปล่อยออกช้า, เข้ามาเร็วก็ปล่อยออกเร็ว) ไม่มีการเร่งหรือหน่วงของสัญญาณ input vs. output ก็เลยทำให้ focus ของเสียงมีความคมชัดไปด้วยโดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังได้ ความต่อเนื่องที่ลื่นไหลตามมา พิสูจน์ทราบได้จากการทดลองฟังเสียงไวโอลินกับวงสตริงเครื่องสายในงานประพันธ์ของ Bach, Paganini, Massenet ที่ Uto Ughi สีไวโอลินประชันกับวงเครื่องสาย I Filarmonici di Roma ซึ่งอารมณ์ของเพลงมาเต็ม ได้ทั้งความมลังเมลืองจากงานของบาช, ได้ความดุเดือดฉวัดเฉวียนจากงานของพากานินี่ และได้ความแช่มช้อยจากงานของแมสเซ็นเน็ต ครบรสจริงๆ

แต่สัจจะธรรมก็ยังคงอยู่คู่โลกฉันใด แอมป์ทุกตัวรวมถึงเครื่องเสียงทุกชิ้นจะต้องมี จุดอ่อนด้อยอยู่ในตัวทุกชิ้น ซึ่งจุดอ่อนของ Model 404 ที่ผมพบก็คือความจำกัดของกำลังขับ ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของตัวเลข 50 วัตต์ ของมัน แต่เหมารวมไปถึง damping factor ของมันด้วย ซึ่งข้อจำกัดนี้จะไปแสดงผลกับความถี่ย่านต่ำที่มีพลังดีดตัวอย่างรุนแรง อย่างเช่นเสียงตีกลองจีนในอัลบั้มชุด Virtuoso Pieces Of Chinese Percussion ซึ่ง Model 404 ให้เสียงหัวไม้นวมกระแทกหนังกลองใหญ่ของอัลบั้มนี้ออกมานุ่มนิ่มไปนิด ทางด้านสปีดการตอบสนองถือว่าโอเค คือหัวอิมแพ็คไม่เบลอ แต่มวลมันไม่ตึงเข้ม มีความหนาและออกหลวมนิดๆ ซึ่งประสบการณ์บอกให้รู้ว่ามันเกิดจากอาการ mismatch ทางด้าน power ระหว่างกำลังขับของ Model 404 ที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับ power requirement ของลำโพง นั่นเอง ซึ่งจุดอ่อนที่ว่าก็คือทำให้เกิดข้อจำกัดในการจับคู่กับลำโพง แต่ถ้าเลือกลำโพงที่กำลังขับของ Model 404 รับมือไหวอาการที่ว่าก็จะไม่เกิดขึ้น ในตอนท้ายผมทดลองเปลี่ยนมาขับลำโพง Totem Acoustics รุ่น Sky ที่เล็กกว่ารุ่น The One ลงมาอีกขั้น ผมพบว่า อาการหัวเบสนุ่มก็ทุเลาลงไปพอสมควร แต่ทางด้านไดนามิกเร้นจ์ก็ออกมาแคบกว่าตอนขับ The One ซึ่งเป็นไปตามสเปคฯ ของ Sky ที่ให้ไดนามิกเร้นจ์ไม่กว้างมากเท่ากับ The One นั่นเอง

Model 404 ในห้องรับแขก

ในช่วงท้ายผมทดลองเอา Model 404 ไปใช้งานในห้องรับแขก ให้เจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการจัดการทางด้านอะคูสติกเข้ามาช่วย โดยให้ Model 404 ขับลำโพง Totem Acoustics รุ่น Sky ผลปรากฏว่าเสียงที่ออกมาก็ยังฟังดีมาก แม้ว่าผมจะไม่สามารถเร่งความดังให้ได้อัตราสวิงของไดนามิกที่กว้างที่สุดได้ แต่ข้อดีของโฟกัสของเสียงที่เป๊ะมากก็ยังคงแสดงออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ซึ่งส้งผลให้ได้เสียงที่น่าฟัง แม้ว่าจะฟังในห้องรับแขกก็ยังรู้สึกได้ถึงความพิเศษของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้

สรุป

อือมม… ถ้าเจอกับแอมป์ที่ใช่ ฟังดูก็จะรู้ว่าใช่ แสดงว่าคนทำและจูนเสียงก็จะต้องได้ยินอะไรแบบที่เราได้ยินเหมือนกัน ซึ่งเมคเซ้นต์มาก ถ้าคนออกแบบและปรับจูนเสียงไม่ได้ยินเสียงดีแบบที่เราได้ยิน ทำอย่างไรก็ไม่มีทางจะได้เสียงที่ดีอย่างที่เราได้ยิน จะว่าไปแล้ว การเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกหาคนทำที่มีรสนิยมทางเสียงแบบเดียวกับเรานั่นเอง

สำหรับคำว่า เสียงดีสำหรับผม ผมยึดถือเอาคุณสมบัติของ ความเป็นดนตรีมาเป็นอันดับแรก ซึ่งจะหาว่าโกงก็ได้ เพราะความหมายของคำว่า เป็นดนตรีของเสียง มันเกิดจากส่วนผสมของคุณสมบัติที่ดีของเสียงหลายๆ คุณสมบัติเข้าด้วยกัน ซึ่งนำหน้าแถวมาด้วยคุณสมบัติทางด้าน ไทมิ่ง (timing) ที่ต้องเป๊ะทั้งช้าและเร็วซึ่งจะส่งผลให้โฟกัสมีความชัดและคม ตามมาด้วย ไดนามิกเร้นจ์ ที่ต้องสวิงได้กว้างมากที่สุด จากนั้นก็คือ ฮาร์มอนิก ที่ขยายออกมาจากหัวเสียงที่ต้องครบอ็อกเตรปมากที่สุด สุดท้ายถึงค่อยมาพิจารณาเรื่องของ เนื้อมวล และ ซาวนด์สเตจ ถ้าแง่ใดแง่หนึ่งไม่ถึงโดยเฉพาะทางด้านไทมิ่งที่ไม่เป๊ะกับไดนามิกเร้นจ์ที่สวิงได้ไม่เต็มสเกล ก็จะส่งผลให้ความเป็นดนตรีหายวับไปทันที ในขณะที่ประเด็นอื่นที่เหลือนอกจากไทมิ่งกับไดนามิก

Moonriver Audio Model 404 ตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนที่รู้เรื่องความเป็นดนตรีเป็นอย่างดี พิสูจน์ได้ด้วยการฟังไม่ใช่การดูที่สเปคฯ เพราะหลังจากได้ยินเสียงของมันแล้ว เชื่อว่าคุณจะไม่สนใจสเปคฯ ของมันอีกต่อไป และเริ่มต้นเอนจอยกับเพลงที่ฟังไปนานเท่านาน..!!! /

**************************
ราคา : 140,000 บาท / เครื่อง
**************************
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่
HiFi House by MSound

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า