Wilson Benesch เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงสัญชาติอังกฤษ ถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องเสียงที่มีอายุอยู่ในระดับปานกลาง เพราะก่อตั้งเมื่อ ปี 1989 โดยสองสามีภรรยา Craig Milnes กับ Christina Milnes นับอายุขัยขอแบรนด์จนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 32 ปี ถ้าเป็นคนก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม–สาว สำนักงานและโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่เมืองเชฟฟิลด์
ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์นี้คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบด้วยเทคนิคพิเศษที่พวกเขาเรียกว่า Advanced Composite Technology (คือที่มาของโค๊ดรหัสของชื่อรุ่น A.C.T. นั่นเอง) เป็นการนำเอาวัสดุ carbon fibre เข้ามาใช้ในการออกแบบส่วนที่เป็น sub-chassis ของตัวแท่น ซึ่งเป็นแบรนด์แรกที่ใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ในการออกแบบชิ้นส่วนนี้ นอกจากนั้น ตัวโทนอาร์มที่มากับเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ก็มีดีไซน์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน เริ่มจาก tube หรือแขนของโทนอาร์มที่ออกแบบให้มีลักษณะรูปทรงเหมือนหยดน้ำที่โป่งอูมตรงส่วนท้ายและค่อยๆ รีดเรียวมาทางด้านหน้าที่ติดตั้งหัวเข็ม แขนของอาร์มตัวนี้ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งชิ้น จึงมีความแกร่งแต่น้ำหนักเบาไม่โหลดแบริ่ง และยังมีคุณสมบัติที่ช่วยสยบเรโซแนนซ์ได้ดีอีกด้วยเนื่องจากคาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุที่มีค่าแด้มปิ้งในตัวเองอยู่ในระดับที่สูง
นั่นทำให้ Carbon Fibre กับแบรนด์ Wilson Benesch มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น เพราะ Wilson Benesch คือแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงเจ้าแรกๆ ที่นำเอาวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาพัฒนาใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งหลังจากพวกเขานำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงจนได้รับความนิยมแล้ว พวกเขาก็ยังนำเอาคาร์บอนไฟเบอร์มาพัฒนาออกแบบใช้งานร่วมกับลำโพงด้วย
จาก เครื่องเล่นแผ่นเสียง
สู่ “ลำโพง” ..
Wilson Benesch เริ่มต้นหยิบเอาคาร์บอนไฟเบอร์มาพัฒนาใช้กับลำโพงรุ่นแรกชื่อว่า A.C.T. One สำเร็จออกมาเมื่อ ปี 1994 และนำออกไปโชว์ต่อสาธารณะในงาน Frankfurt High End Show ที่เมืองแฟรงเฟิร์ท ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก หัวใจสำคัญของลำโพงรุ่น A.C.T. One คู่นี้อยู่ที่การนำเอาเทคโนโลยี Advanced Composite Technology ที่มีคาร์บอนไฟเบอร์เป็นพื้นฐานเข้ามาใช้ทำตัวตู้ โดยออกแบบให้ผนังตู้มีลักษณะโค้งมน ด้านบนเทสโลปเพื่อทำให้ผนังภายในตัวตู้มีลักษณะที่ไม่ขนานกัน ถือเป็นการขจัดต้นเหตุของปัญหาเรโซแนนซ์ที่มักจะเกิดขึ้นในตัวตู้ออกไป ส่วนแผงหน้าทำด้วยโลหะเพิ่มความแกร่งและลดเรโซแนนซ์บนแผงหน้าลง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นเทคนิคแปลกใหม่ในวงการลำโพงขณะนั้น
ผลจากการออกแบบด้วยเทคนิคข้างต้นเหล่านั้น ทำให้สามารถลดปัญหาที่เกิดจากเรโซแนนซ์ของระบบลงไปได้มาก ส่งผลให้ได้เสียงที่มีคุณสมบัติทางด้าน “เฟสสัญญาณ” ที่ดีเยี่ยม จนไม่จำเป็นต้องใช้วงจรเน็ทเวิร์คเข้ามาช่วยแก้ปัญหา จึงทำให้ได้ผลข้างเคียงที่ดีตามมาอีกอย่าง นั่นคือ ได้ “ความบริสุทธิ์” ของเสียงเพิ่มขึ้น เกนสัญญาณไม่ตกหล่นเนื่องจากใช้คอมโพเน้นต์ในวงจรเน็ทเวิร์คน้อยชิ้นลงนั่นเอง
Precision Series
ลำโพงซีรี่ย์ใหม่ของ Wilson Benesch
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ Wilson Benesch ถูกแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยลำโพงสองกลุ่ม หรือสองซีรี่ย์คือ “Geometry Series” ซึ่งเป็นซีรี่ย์สูงสุดระดับ flagship กับ “Precision Series” ซึ่งเป็นซีรี่ย์รองลงมา ใน Geometry Series นั้นมีอยู่ทั้งหมด 9 รุ่น และตัวตู้ของลำโพงทั้งเก้ารุ่นนั้นต่างก็ใช้เทคโนโลยี A.C.T. ที่มีคาร์บอนไฟเบอร์เป็นพื้นฐาน ร่วมกับไดเวอร์ Tactic drive units ที่แบรนด์พัฒนาขึ้นมาพิเศษเพื่อให้ทำงานร่วมกับตัวตู้ที่ออกแบบด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนซีรี่ย์ Precision เป็นลำโพงที่มีลักษณะการออกแบบต่างออกไปจากซีรี่ย์ Geometry คือตัวตู้มีรูปลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยม ไม่ได้ตีผนังโค้งสอบไปด้านหลังเหมือนซีรี่ย์ Geometry แต่ก็ยังคงอาศัยเทคโนโลยี Advenced Composite Technology เข้ามาออกแบบตัวตู้ แต่เปลี่ยนจาก hybrid (คาร์บอนไฟเบอร์ + โลหะ) มาเป็นโครงสร้างที่พวกเขาเรียกว่า multi-material hybridised structure หรือโครงสร้างแบบลูกผสมหลายวัสดุนั่นเอง
สองทางขนาดกลาง
มาพร้อมขาตั้งในตัว
ก่อนจะเจาะลงไปที่จุดเด่นของลำโพงคู่นี้ทีละอย่าง เราไปสำรวจภายนอกของมันก่อน สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นความแปลกที่แตกต่างสำหรับลำโพงคู่นี้ นั่นคือว่ามันเป็นลำโพงสองทางที่คุณไม่ต้องเสียเวลาไปหาและเสียเงินทองไปซื้อขาตั้ง เนื่องจากลำโพงคู่นี้เขามีขาตั้งติดตัวมาจากโรงงานให้ด้วย.!! ฮ้าา.. จริงเด่ะ.! ก็จริงซิครับ ดูจากรูปด้านบนจะเห็นว่า ลำพังตัวตู้มีความสูงอยู่ที่ 322 ม.ม. ส่วนขาตั้งมีความสูงอยู่ที่ 703 ม.ม. ถ้าวัดจากพื้นขึ้นไปถึงแผ่นท็อปบนสุดของตัวตู้จะได้ความสูงอยู่ที่ 1025 ม.ม. (หรือประมาณหนึ่งเมตรกับอีกสองเซ็นต์ครึ่ง ไม่รวมเดือยแหลม)
หน้ากว้างของลำโพงคู่นี้อยู่ที่ 24.8 ซ.ม. ค่อนข้างกว้างเนื่องจากไดเวอร์ตัวมิด/วูฟเฟอร์ที่ใช้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 นิ้ว ความลึกของตัวตู้อยู่ที่ 36.8 ซ.ม.
ตู้โครงโลหะผสมผนังไม้
นี่คือไฮไล้ท์ของลำโพงตัวนี้ (อีกสองรุ่นในซีรี่ย์ Precision ก็ใช้เทคนิคนี้) คือตัวตู้ของ P1.0 ตัวนี้ถูกออกแบบในลักษณะที่เรียกว่า Hybrid Composite Construction อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น ในรายละเอียดก็คือ โครงสร้างหลักของตู้ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม เริ่มจากส่วนของผนังด้านบนและด้านล่างของตัวตู้ที่ใช้ CNC กัดออกมาจากแผ่นอะลูมิเนียมทั้งแผ่น มีความหนาอยู่ที่ 1.5 ซ.ม. ทำหน้าที่ประกบแผงหน้าที่ใช้ติดตั้งไดเวอร์, แผงหลังที่ติดตั้งขั้วต่อ และผนังด้านข้างซ้าย–ขวาของตัวตู้เอาไว้ แผงหน้าทำด้วยอะลูมิเนียมอัลลอยด์ มีการปาดมุมด้านข้างให้โค้งมนเพื่อลดการสะท้อนของคลื่นเสียงจากหน้าไดเวอร์ แผงหลังก็ทำด้วยอะลูมิเนียม ส่วนผนังตู้ซ้าย–ขวาทำด้วยไม้ มีการดามโครงภายใน แผ่นผนังด้านบนและด้านล่างถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ประกบผนังตู้ที่เป็นแนวตั้งทั้งสี่ด้านเอาไว้ และใช้วิธีขันยึดเพิ่มความแกร่งแน่นด้วยแท่งโลหะมีเกลียวที่แทงสอดตัวแผงหน้าและแผงหลังทะลุจากบนลงล่างในแนวตั้ง และยังมีแท่งโลหะอะลูมิเนียมอัลลอยด์ทำเป็นรูปตัว U แด้มป์อยู่ในแนวนอนด้วย นั่นทำให้ตัวตู้ของ P1.0 มีทั้งน้ำหนักที่เยอะเพราะวัสดุที่ใช้ทำผนังแต่ละด้าน และมีความแน่นหนาสูงเนื่องจากระบบขันยึดที่ว่า ส่งผลให้ตัวตู้ของ P1.0 มีความหนืดสูง ไม่สั่นกระพือง่ายๆ โอกาสที่จะเกิดปัญหาเรโซแนนซ์น้อยมากๆ
ส่วนที่เป็นขาตั้งของลำโพงทำด้วยอะลูมิเนียมเนื้อแน่น แพลทบนที่รองรับอยู่ใต้ตัวลำโพงก็คือส่วนเดียวกับผนังตู้ด้านล่างที่ทำด้วยอะลูมิเนียมนั่นเอง ส่วนแพลทฐานล่างก็ทำด้วยอะลูมิเนียมที่มีความหนามากถึง 3 ซ.ม. รวมถึงเสาค้ำยันทั้งสองเสาก็เป็นเสาอะลูมิเนียมทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 5 ซ.ม. เท่ากันทั้งสองต้น จัดวางเรียงกันในแนวหน้า–หลัง ซึ่งเสาค้ำยันทั้งสองต้นนี้ถูกติดตายอยู่กับแผ่นแพลทบนและล่าง ถอดออกไม่ได้
ด้านล่างของแพลทล่างส่วนที่เป็นฐานของขาตั้งมีรูเสียบเดือยแหลมเจาะมาให้ทั้ง 4 มุม (มีเดือยแหลมทำด้วยโลหะแถมมาให้) เพื่อเพิ่มความนิ่งขณะวางใช้งานบนพื้นทุกรูปแบบ และช่วยให้สามารถปรับตั้งระดับของตัวลำโพงให้ได้ฉากกับพื้นและปรับให้ได้แนวขนานกันระหว่างข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งการปรับเซ็ตที่ละเอียดมีผลกับเสียงของลำโพงคู่นี้มากเป็นพิเศษ
ความพิเศษของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์
“TACTIC II”
ไดเวอร์ทั้งสองตัวที่ใช้ในลำโพงรุ่น P1.0 ตัวนี้ไม่ธรรมดานะ โดยเฉพาะตัวมิด/วูฟเฟอร์ขนาด 7 นิ้ว ซึ่งเป็นไดเวอร์ที่ผ่านการพัฒนามาอย่างเข้มข้น มีประวัติที่น่าสนใจ มันมีชื่อเรียกเฉพาะตัวว่า TACTIC II ซึ่งทาง Wilson Benesch เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ ปี 1998 โดยตั้งชื่อโครงการพัฒนาไดเวอร์ตัวนี้ไว้ว่า “The Bishop Project” การพัฒนาทั้งหมดเกิดขึ้นภายในโรงงานของ Wilson Benesch เอง จนในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่ชื่อว่า TACTIC และถูกนำไปใช้ออกแบบในลำโพงรุ่น The Bishop ด้วยการจัดไดเวอร์ในลักษณะ Isobaric ในตัวตู้แบบไร้ผนัง (infinite baffle)
โฉมหน้าของลำโพง Wilson Benesch รุ่น The Bishop (* ขอบคุณภาพจาก SIS Audio Blog)
ส่วนไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่ใช้ในรุ่น Precision P1.0 คู่นี้เป็น TACTIC II คือเจนเนอเรชั่นที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก TACTIC ออริจินัล มีจุดเด่นที่ต้องเอ่ยถึงอยู่ 2 จุด
ดูเผินๆ คล้ายเคลฟล่าร์ แต่ไม่ใช่..
จุดแรกคือไดอะแฟรมที่ทำมาจากวัสดุพิเศษที่มีชื่อเรียกว่า Isotactic Polypropylene ซึ่งเป็นวัสดุที่คิดและประดิษฐ์ขึ้นมาโดยศาสดาจารย์ Ian Ward ที่มหาวิทยาลัย Leeds มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มันจึงสามารถคงรูปได้อย่างมั่นคงขณะที่ตัวกรวยต้องขยับเดินหน้า–ถอยหลังไปตามเฟสของสัญญาณ ในขณะเดียวกัน วัสดุโพลีโพรไพลีน ไอโซแทคติกตัวนี้ยังมีคุณสมบัติทางด้านแด้มปิ้งที่ดีเยี่ยมเท่าเทียมกันทุกจุดบนไดอะแฟรม นั่นเป็นเพราะวัสดุชนิดนี้สามารถกระจายพลังงานสั่นสะเทือน (vibration) ที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างของตัวมันออกไปเป็นความร้อนได้เร็วก่อนที่จะสะสมอยู่ในตัวจนกลายเป็นเรโซแนนซ์ ซึ่งนี่คือจุดเด่นของวัสดุ Isotactic Polypropylene ที่ส่งผลทำให้ไดเวอร์ TACTIC II ตัวนี้สามารถถ่ายทอดส่วนที่เป็นความถี่เชิงซ้อน (timbre) ของหัวเสียง (fundamental หรือ impact) ของเสียงสัมผัสแรกของโน๊ตที่เกิดจากเครื่องดนตรีต่างๆ ออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ได้เสียงเครื่องดนตรี, เสียงร้อง และเสียงประกอบต่างๆ ในเพลงปรากฏออกมาในลักษณะที่เต็มตัว (full body)
ช่วงต้นปี 1995 ตอนที่ Wilson Benesch ค้นคว้าพัฒนาไดอะแฟรมสำหรับไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ตัวนี้ พวกเขาพบว่า ยังมีวัสดุอื่นๆ ที่มีความแกร่งมากกว่า Isotactic Polypropylene อีกมาก ซึ่งวัสดุเหล่านั้นมีคุณสมบัติในการรองรับกับสัญญาณฉับพลัน (transient impact) ที่รุนแรงได้ดี แต่ส่วนใหญ่จะขาดคุณสมบัติในแง่ self damping หรือความสามารถในการสลายพลังงานสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในตัวมันเองที่เร็วพอ ซึ่งทีมวิจัยของ Wilson Benesch ค้นพบว่า คุณสมบัติที่สามารถสลายพลังงานสะสมในตัววัสดุออกไปได้เร็วจะให้ผลดีมากกว่าในแง่ของการถ่ายทอดรายละเอียดในระดับ micro detail ซึ่งเป็นสาระสำคัญของ timbre ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ของตัวเสียงแต่ละเสียง นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจเลือกใช้วัสดุ Isotactic polypropylene สำหรับไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ตัวนี้
ส่วนจุดเด่นที่สองของไดเวอร์ TACTIC II ก็คือใช้แม่เหล็กธรรมชาติผสมกับเหล็กและโบรอน (NdFeB) ในการผลักดันว้อยซ์คอย ซึ่งทางผู้ผลิตได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์เพื่อทำการออกแบบโครงสร้างของไดเวอร์ที่สามารถควบคุม magnetic flux ของแม่เหล็กให้อยู่ในสถานะที่สามารถดึงประสิทธิภาพจากแม่เหล็ก NdFeB ออกมาให้ได้มากที่สุด ผลจึงทำให้ได้เอ๊าต์พุตที่สูงขึ้น และได้ประสิทธิภาพในการควบคุมว้อยซ์คอยที่ดีขึ้นด้วย
ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม
“LEONARDO”
ทวีตเตอร์ที่ใช้ในลำโพง Wilson Benesch รุ่น Precision P1.0 คู่นี้เป็นซอฟท์โดมชื่อรุ่นว่า “Leonardo” ซึ่งที่ Wilson Benesch ทำการพัฒนาขึ้นมาเอง เวอร์ชั่นที่ใช้ในลำโพงรุ่นนี้ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพมาเรื่อยๆ
ภาพบนคือลักษณะของซอฟท์โดมทวีตเตอร์ Leonardo ที่มีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ ประการแรกคือใช้วัสดุผสมระหว่างผ้ากับคาร์บอนไฟเบอร์มาทำเป็นโดมไดอะแฟรมซึ่งได้ทั้งความแกร่งและความเร็วในการตอบสนองต่อสัญญาณทรานเชี้ยนต์เนื่องจากน้ำหนักที่เบามากเพราะแผ่นไดอะแฟรมที่รีดได้บางเฉียบ จุดเด่นประการที่สองอยู่ที่ระบบแม่เหล็กที่ใช้ เป็นแม่เหล็กธรรมชาติจำนวน 6 ก้อนที่ออกแบบโครงสร้างให้เรียงตัวกันเป็นวงเหมือนดอกไม้ ติดตั้งอยู่ด้านหลังของว้อยซ์คอย ซึ่งมีการคำนวนระยะห่างของแม่เหล็กแต่ละแท่งเพื่อให้สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของตัวแม่เหล็กเอง
จุดเด่นประการที่สามของทวีตเตอร์ตัวนี้อยู่ที่ faceplate หรือส่วนประกอบที่อยู่ล้อมรอบตัวทวีตเตอร์นั่นเอง ซึ่งตอนพัฒนาทวีตเตอร์รุ่น SemiSphere ในยุคแรกนั้น พวกเขาออกแบบ faceplate หรือ แผงข้าง (ถ้าแปลตรงๆ น่าจะเป็นแผงหน้า แต่ผมมองแล้วน่าจะเรียกว่า “แผงข้าง” มากกว่า..) พวกเขาออกแบบให้มันมีลักษณะคล้ายถ้วยหงายที่เป็นหลุมตื้นๆ อยู่รอบๆ ตัวทวีตเตอร์ ซึ่งเป็นดีไซน์ที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ผู้ผลิตลำโพงหลายแบรนด์มักจะทำแบบคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งแผงข้างลักษณะนี้จพชะทำตัวเป็น waveguide ช่วยควบคุมมุมกระจายเสียงของตัวทวีตเตอร์ แต่เมื่อมีการศึกษาอย่างละเอียดในภายหลัง วิศวกรของ Wilson Benesch ค้นพบว่า แผลข้างที่มีลักษณะเป็นหลุมตื้นๆ แบบนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียกับเสียง คือนอกจากจะควบคุมมุมประจายเสียงของทวีตเตอร์แล้ว ลักษณะของมันจะส่งผลให้เกิดการหักล้าง (cancel) ในบางความถี่ และเกิดการเสริมกัน (boost) ในบางถี่ด้วย
การพัฒนาทวีตเตอร์เจนเนอเรชั่นที่สองของ Wilson Benesch นำมาซึ่งแผงข้างล้อมรอบทวีตเตอร์ที่มีลักษณะเปลี่ยนไป จากหลุมตื้นๆ กลายเป็นตารางที่มีขนาดช่องไม่เท่ากัน คือจากช่องขนาดเล็กที่อยู่บริเวณตรงกลางใกล้ๆ กับโดมทวีตเตอร์แล้วค่อยๆ ขยายช่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แผ่จากศูนย์กลางออกมาเป็นรัศมีที่เป็นลำดับขั้น ซึ่งเป็นลักษณะของรูปทรงที่สร้างขึ้นมาด้วยการคำนวนตามหลัก golden ratio ที่ค้นพบโดย Leonardo Fibonacci นักคณิตศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาลี เหตุผลที่วิศวกรของ Wilson Benesch เลือกใช้แผงข้างทวีตเตอร์แบบนี้ก็เพราะพวกเขาพบว่า ลักษณะของช่องตารางที่เรียงขนาดเล็ก–ใหญ่อย่างมีระเบียบแบบนั้นมันช่วยทำให้เสียงที่แผ่จากโดมทวีตเตอร์มาตกกระทบกับแผงข้างแบบนี้มีลักษณะของการหักล้าง vs. เสริมกันได้อย่างมีสมดุลย์ ส่งผลดีกับคุณภาพเสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ คือคลื่นเสียงที่ตกกระทบกับตาราง fibonacci ที่อยู่ใกล้กับโดมทวีตเตอร์จะมีเปอร์เซ็นต์ที่สะท้อนมากกว่าซับ (ช่องตารางเล็กและอยู่ชิดกัน) ส่วนคลื่นเสียงที่กระทบกับช่องตาข่าย fibonacci ที่อยู่ห่างออกไปจะเปลี่ยนเป็นดูดซับมากขึ้นและสะท้อนน้อยลง (ช่องตารางใหญ่ขึ้นและอยู่ห่างกันมากขึ้น) เป็นลำดับขั้นไปเรื่อยๆ
เทคนิคพิเศษในการออกแบบ
มิด/วูฟเฟอร์ ต่อตรงกับ เพาเวอร์แอมป์.!
ยังไม่หมดครับ.! ลำโพงคู่นี้ยังมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบอีกอย่างหนึ่งซ่อนอยู่ข้างใน นั่นคือเทคนิคที่เรียกว่า direct coupled ระหว่างตัวมิด/วูฟเฟอร์ TACTIC II กับเพาเวอร์แอมป์จากภายนอก นั่นก็หมายความว่า ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์จะรับสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้าตรงจากเพาเวอร์แอมป์เข้ามาแปลงให้เป็นคลื่นเสียงโดยตรงโดยไม่มีวงจรพาสซีฟครอสโอเวอร์เน็ทเวิร์คเข้ามาขวางคั่น ดังนั้น คุณภาพเสียงที่ได้ออกมาจะดี–เลวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของตัวไดเวอร์ TACTIC II นั่นเอง ส่วนตัวทวีตเตอร์ Leonardo ถูกนำมาใช้เพื่อ “ต่อยอด” ความถี่ในย่านสูงของ P1.0 ขึ้นไปจากระดับความถี่สูงสุดที่ตัวมิด/วูฟเฟอร์ TACTIC II ทำได้ เพื่อให้ได้ความถี่ตอบสนองของ P1.0 ที่ครอบคลุมตั้งแต่ย่านต่ำที่ระดับ 38Hz ขึ้นไปจนถึง 24,000Hz ซึ่งวิศวกรของ Wilson Benesch เลือกใช้อัตราลาดชันของความถี่ของตัวทวีตเตอร์ไว้ที่ระดับออเดอร์ที่สอง ค่อยๆ ลาดเบาลง 12dB ต่ออ๊อกเตรป
ตัวตู้ของ P1.0 ทำงานในระบบตู้เปิด มีเจาะท่ออยู่ที่ด้านล่างของตัวตู้หนึ่งท่อ ทำหน้าที่ระบายอากาศในแนวยิงลงพื้น (down firing)
แม็ทชิ่ง
นอกจากความถี่ตอบสนองที่แจ้งไว้ว่าทำได้ตั้งแต่ 38Hz – 24kHz (+/-2dB on axis) แล้ว ในสเปคฯ ของ P1.0 ก็มีระบุความไว (อยู่ที่ 89dB ต่อวัตต์ หรือ 2.83V/ต่อเมตร) กับอิมพีแดนซ์ (ปกติที่ 6 โอห์ม/ต่ำสุดอยู่ที่ 4 โอห์ม) เอาไว้แค่นี้ ไม่มีตัวเลขช่วงกำลังขับที่แนะนำ และไม่ได้ระบุกำลังขับสูงสุดที่ทนรับได้ให้รู้ด้วย ดูเหมือนว่าผู้ผลิตไม่ได้แสดงความซีเรียสเกี่ยวกับตัวเลขกำลังขับของแอมป์มากนักจึงไม่ได้ระบุแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งในมุมมองของผมที่ได้จากประสบการณ์ที่เคยเล่นลำโพงที่ออกแบบลักษณะ direct coupled มาก่อน ผมพบว่า “ตัวเลขกำลังขับ” ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญกับลำโพงแนวนี้มากเท่ากับ “คุณภาพ” ของภาคขยาย และเมื่อหวนกลับไปพิจารณาที่สเปคฯ ของ P1.0 อีกครั้ง จะเห็นว่า อิมพีแดนซ์ของลำโพงคู่นี้ค่อนข้างนิ่ง คือเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 6 โอห์ม และตอนสวิงลงต่ำก็ไม่ลงไปมากว่า 4 โอห์ม ซึ่งถือว่าเป็นลำโพงที่ขับไม่ยาก ขอแค่แอมป์มีกำลังขับอยู่ในระดับปานกลางคือ 50 – 100W ต่อข้างแต่มีกำลังสำรองที่ดี ภาคจ่ายไฟถึงๆ ก็พอจะขับดันเสียงออกมาจากลำโพงคู่นี้จนได้ความดังที่น่าพอใจแล้ว ประเด็นทางด้าน “คุณภาพ” ของภาคขยายที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้นก็คือ “S/N ratio” ของแอมป์ยิ่งสูงยิ่งดี คือภาคขยายของแอมป์ที่ไปกับ P1.0 ได้ดี (รวมถึงลำโพงที่ใช้วิธีต่อตรงเข้าไดเวอร์แบบนี้) ควรจะมี noise floor ต่ำๆ นั่นเอง
ทางผู้ผลิตให้ประแจสำหรับขันยึดขั้วต่อสายลำโพงมาด้วย แนะนำให้ใช้เพื่อการขับยึดที่แน่นหนาซึ่งมีผลต่อเสียงเยอะมาก
อีกประเด็นของการแม็ทชิ่งที่ส่งผลกับเสียงของลำโพง P1.0 มากเป็นพิเศษ คือมันชอบซิสเต็มที่มีความเรียบง่ายของโครงสร้างมากกว่าซิสเต็มที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างอินติเกรตแอมป์กับปรี+เพาเวอร์ฯ ที่มีกำลังขับพอๆ กัน และมีระดับชั้นของเครื่องพอๆ กัน มีโอกาสมากที่ P1.0 จะให้เสียงออกมาได้ดีกว่าเมื่อจับกับอินติเกรตแอมป์ และอีกจุดคือ คุณภาพของ source หรือแหล่งต้นทางสัญญาณจะมีผลอย่างมากกับคุณภาพเสียงโดยรวมที่ลำโพงคูนี้ให้ออกมา
ผมทดลองใช้แอมปลิฟาย 3 ชุด ขับลำโพงคู่นี้ สองชุดแรกเป็นอินติเกรตแอมป์คือ Cary Audio Design รุ่น SLI-80HS กับ Moonriver Audio รุ่น Model 404 ส่วนอีกชุดเป็นปี+เพาเวอร์ฯ ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 ส่วน source ผมใช้ roon nucleus+ เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง แล้วส่งสัญญาณเสียงผ่านสาย USB ของ Kimber Kable ไปเข้าที่อินพุต USB ของตัว DDC ของ Denafrips รุ่น Hermes ซึ่งทำหน้าที่แปลงสัญญาณจากอินพุต USB ที่รับมาจาก nucleus+ ให้ออกมาเป็นฟอร์แม็ต I2S แล้วส่งไปให้ ext.DAC ของ Denafrips รุ่น Terminator II ที่ช่องอินพุต I2S ผ่านสาย HDMI ยี่ห้อ Tributaries
ลองขับด้วยชุดปรี+เพาเวอร์ฯ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3
ลองขับด้วยอินติเกรตแอมป์หลอด Cary Audio Design รุ่น SLI-80HS
ลองขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Moonriver Audio รุ่น Model 404
ตอนขับด้วยปรี+เพาเวอร์ฯ ของ Ayre Acoustic ที่มีกำลังขับข้างละ 100W ที่ 8 โอห์ม และ 200W ที่ 4 โอห์ม ผมพบว่าเสียงโดยรวมของ P1.0 ออกไปในลักษณะที่กระชับ แน่น และมีความตึงตัวสูง สปีดของเสียงจะค่อนข้างกระชั้นและหยุดตัวเร็ว ฟังสนุก แต่เมื่อทดลองเปลี่ยนไปขับด้วยอินติเกรตแอมป์ของ Cary Audio Design และ Moonriver Audio ที่มีกำลังขับน้อยกว่า ผมก็พบว่า การตอบสนองทางด้านสปีดของเสียงมีลักษณะที่ลดผ่อนลงมา ให้จังหวะจะโคนของเสียงที่หย่อนตัวลงมานิดหน่อย
ผลจากการทดลองข้างต้นก็ยังสรุปไม่ได้ว่าลำโพง P1.0 คู่นี้ชอบแอมป์ที่มีกำลังขับต่ำกว่า 100W ต่อข้าง และยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าลำโพงคู่นี้ไม่ชอบแอมป์กำลังเยอะๆ เพียงแค่สันนิษฐานว่า มีแนวโน้มสูงว่า Wilson Benesch รุ่น Precision P1.0 คู่นี้ “น่าจะ” ชอบแอมป์ที่มีกำลังขับอยู่ระหว่าง 50 – 100W และผมยังพบอีกว่า ตอนขับด้วยอินติเกรตแอมป์ SLI80HS (ปรับเป็นโหมด Ultralinear ให้กำลังขับ 80W ต่อข้าง) และ Model 404 ตัว P1.0 มันถ่ายทอดรายละเอียดในระดับความดังต่ำๆ (Low Level Resolution) ออกมาได้ดีกว่าตอนขับด้วย K-5 + V-3 ซะอีก (ใช้ source เดียวกัน) ซึ่งประเด็นน่าผมคะเนว่าน่าจะเป็นเพราะอินติเกรตแอมป์มีความซับซ้อนน้อยกว่านั่นเอง
เซ็ตอัพ + ปรับจูน
ยังคงใช้หลักการเซ็ตอัพที่ผมใช้ในการเซ็ตอัพลำโพงคู่อื่นๆ กับ P1.0 คู่นี้ได้ คือเริ่มต้นวาง P1.0 ด้วยระยะห่างซ้าย–ขวาอยู่ที่ 180 ซ.ม. โดยที่ลำโพงทั้งสองข้างห่างออกมาจากผนังด้านหลังเท่ากับ 132 ซ.ม. ซึ่งเป็นระยะห่างหลังเท่ากับความลึกของห้อง 660 ซ.ม. หารด้วย 5 หลังจากขยับไฟน์จูนอยู่พักใหญ่ๆ จึงได้ตำแหน่งที่ลงตัวที่สุดอยู่ที่ระยะห่างหลังเท่ากับ 134 ซ.ม. ส่วนระยะห่างซ้าย–ขวาอยู่ที่ 184 ซ.ม. โดยเอียงหน้าลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังประมาณ 10 องศา ซึ่งเป็นระยะเซ็ตอัพที่ใกล้เคียงกับลำโพงสองทางวางขาตั้งคู่อื่นๆ นั่นเอง
Wilson Benesch Precision P1.0 ใช้เวลาเบิร์นฯ นานเอาเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นปกตินิสัยของลำโพงที่ออกแบบลักษณะนี้ คือเมื่อก่อนเคยเข้าใจว่า เมื่อไม่มีวงจรเน็ทเวิร์คแบบพาสซีฟมายุ่งในตัวลำโพง ก็น่าจะทำให้ใช้เวลาในการเบิร์นฯ น้อยลง แต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นว่าไม่มีวงจรเน็ทเวิร์คกลับเบิร์นนานกว่าอีก ซึ่งเหตุผลก็เพราะว่า กรณีที่มีวงจรเน็ทเวิร์ค ไดเวอร์จะถูกกำหนดให้ทำงานในช่วงความถี่ที่ “แคบกว่า” ความสามารถที่ไดเวอร์ตัวนั้นทำได้ มันจึงเบิร์นฯ ได้เร็ว ในขณะที่การต่อตรง ไดเวอร์จะตอบสนองความถี่ออกมาเต็มความสามารถของมัน ซึ่งทั้งในแง่ของ bandwidth (ความถี่) และในแง่ของไดนามิกเร้นจ์ที่ต้องเบิร์นฯ ไปจนกว่าจะได้อัตราสวิงที่กว้างจนสุดความสามารถของไดเวอร์ จึงใช้เวลาเบิร์นนานกว่าจะรีดทั้งความถี่และไดนามิกออกมาได้อย่างหมดจดจริงๆ และต้องอาศัยเทคนิคในการเบิร์นฯ เข้ามาช่วยด้วย คือเริ่มด้วยวอลลุ่มต่ำๆ ก่อนระมาณ 20 ชั่วโมงเพื่อให้ไดเวอร์ตอบสนองกับสัญญาณเบาๆ (Low Level) ได้อย่างเต็มที่ก่อนซึ่งเป็นการวอร์มอัพระบบกลไกของไดเวอร์ไปในตัว หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มระดับความดังขึ้นมาประมาณ 50-60% ของระดับความดังปกติที่ใช้ฟัง เบิร์นฯ ต่อไปอีกประมาณ 20 ชั่วโมง จากนั้นก็เร่งวอลลุ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับระดับความดังที่ฟังจริงแล้วเบิร์นฯ ต่อไปอีกให้ครบ 100 ชั่วโมง
ลักษณะเสียงของ Wilson Benesch Precision P1.0
ชั่วชีวิตที่เล่นเครื่องเสียงมา ผมเคยมีประสบการณ์ผ่านหูกับลำโพงที่ออกแบบด้วยวิธี direct coupled คือต่อเพาเวอร์แอมป์ตรงเข้าไดเวอร์แบบนี้มาแล้วสอง–สามครั้ง ที่อยู่ด้วยกันนานหน่อยก็มีลำโพงรุ่น MM De Capo ของแบรนด์ Reference 3A ซึ่งใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และจัดวงจรการทำงานให้เพาเวอร์แอมป์ต่อตรงเข้าที่ตัวมิด/วูฟเฟอร์ จากการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาช่วงหนึ่ง ทำให้ผมพอจะเข้าใจอุปนิสัยของลำโพงที่มีดีไซน์ลักษณะนี้ดีพอสมควร และเมื่อนำเอาประสบการณ์ที่ได้มาใช้ในการแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูน Wilson Benesch Precision P1.0 คู่นี้ ผมก็พบว่ามันก็มีพฤติกรรมตอบสนองกับเราเหมือนๆ กัน ส่วนผลลัพธ์ทางเสียงก็ไปในทิศทางเดียวกัน กระนั้น แม้ว่าบุคลิกเสียงที่ได้ยินจาก P1.0 คู่นี้มันจะไปทางเดียวกับ MM De Capo แต่ในแง่ sound quality แล้ว P1.0 กระโดดหนี MM De Capo ที่ผมเคยใช้ไปไกลหลายช่วงตัว.!!
เคยคิดมั้ยครับว่า ด้วยลักษณะการออกแบบที่แตกต่างกัน ระหว่างลำโพงที่ใช้วงจรเน็ทเวิร์คเข้ามาตัดแบ่งความถี่ป้อนให้กับไดเวอร์แต่ละตัวแยกกันไปทำงาน กับลำโพงที่ไม่ใช้วงจรเน็ทเวิร์คเข้ามายุ่งแล้วต่อสัญญาณเสียงตรงจากเพาเวอร์แอมป์เข้าไปที่ตัวไดเวอร์ที่ใช้ในการสร้างความถี่เสียง “เกือบทั้งหมด” ออกมาจากสัญญาณนั้นโดยมีทวีตเตอร์เข้ามาช่วยรับภาระส่วนน้อยไป ทั้งสองรูปแบบดีไซน์ที่ว่านั้นมันจะให้สุ้มเสียงออกมาต่างกันอย่างไร.?
โดยปกติแล้ว วงจรเน็ทเวิร์คจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อลำโพงคู่นั้นมีการใช้ไดเวอร์มากกว่า 1 ตัวในการสร้างความถี่จากสัญญาณที่รับมาจากแอมป์ ซึ่งเท่ากับว่า วงจรเน็ทเวิร์คจะเข้ามามีบทบาทกำหนดแบนด์วิธ หรือย่านความถี่เสียงที่ไดเวอร์แต่ละตัวจะต้องสร้างออกมา ไปจนถึงลักษณะการลาด/ชันของการตอบสนองความถี่ที่ไดเวอร์ปล่อยเป็นหางเสียงความกังวานออกมา ซึ่งเหตุผลที่ผู้ออกแบบลำโพงต้องเอาวงจรเน็ทเวิร์คเข้ามาใช้ในการออกแบบก็เพื่อควบคุมให้ได้เสียงออกมาตามที่เขาวาดแบบเอาไว้ในใจนั่นเอง เช่นต้องการให้ลำโพงของตนตอบสนองความถี่ได้กว้าง/แคบเท่าไร ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกเสียงที่ออกมา อย่างเช่น ถ้าแคบเสียงจะออกมาเข้ม อิมแพ็คแน่น, ถ้าเปิดกว้างเสียงจะออกมาผ่อนแต่เนื้อไม่เข้ม อิมแพ็คจะบางเบาลง
แต่ผลข้างเคียงจากการใช้วงจรเน็ทเวิร์คคือทำให้ “เฟส” ของสัญญาณที่ออกมาจากแต่ละไดเวอร์มีโอกาสที่จะเชื่อมต่อกันไม่สนิท โดยเฉพาะถ้ามีการกำหนด slope (อัตราลาด/ชันของหางเสียง) ตรงจุดตัดไม่ดี ทำให้เสียงจากไดเวอร์ที่อยู่ต่อเนื่องกันซ้อนทับกันไม่สนิท ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งส่งผลเสียตามมาอีกมากทั้งในแง่ของไดนามิกและโฟกัส
จากข้อมูลข้างต้น คงพอมองเห็นข้อดีของการไม่ใช่วงจรเน็ทเวิร์คออกมาเลาๆ แล้วนะ เมื่อตัดวงจรเน็ทเวิร์คออกไป สัญญาณเสียงที่มาจากแอมป์ก็จะถูกไดเวอร์ของลำโพงแปลงสภาพของสัญญาณที่อยู่ในรูปของไฟฟ้าออกมาเป็นสัญญาณที่อยู่ในรูปของพลังงานคลื่นได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด ทำให้เฟสของสัญญาณทั้งหมดออกมาตรงกับต้นฉบับที่มาจากแอมป์มากที่สุด ส่งผลดีต่อเสียงทั้งในแง่ของโฟกัส, ไดนามิก และซาวนด์สเตจ คือเมื่อสัญญาณเสียงอะนาลอกที่เอ๊าต์พุตออกมาจากไดเวอร์ของลำโพงมีลักษณะของมุมองศา “ตรงกัน” กับสัญญาณเสียงฝั่งขาเข้า (อินพุต) เป๊ะๆ และเมื่อเราทำการเซ็ตอัพลำโพงทั้งสองข้างให้อยู่ในตำแหน่งที่ลงตัว เสียงทุกเสียงที่อยู่ในเพลงซึ่งถูกแยกไปอยู่ที่ลำโพงทั้งสองข้างก็จะเคลื่อนเข้าหากันและซ้อนทับกันสนิทเป็นภาพเดียว ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดผลดีต่อเสียงหลายอย่างตามมา อย่างแรกคือ พื้นเสียงที่ใสสะอาดอย่างที่มักจะเรียกกันว่า transparent หรือได้ “ความใสของพื้นเสียง” ที่โปร่งโล่งจริงๆ คือเมื่อสัญญาณจากซีกซ้ายและซีกขวาจากลำโพงทั้งสองข้างเคลื่อนมาซ้อนทับกันสนิทตลอดทั้งย่านเสียง (เหมือนปรับโฟกัสของเลนส์ถ่ายภาพได้ลงตัวร้อยเปอร์เซ็ต์) มันจึงทำให้ช่องไฟระหว่างเสียงแต่ละเสียงมีความโปร่งโล่งสะอาด ไม่มีอาการมัวเพราะความเหลื่อมของเสียงที่ผิดเฟส นั่นนำมาซึ่งผลดีลำดับต่อมาคือทำให้เราได้ “โฟกัส” ของแต่ละชิ้นเสียงที่คมชัด สามารถชี้ชัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ไร้ซึ่งความคลุมเครือ
อัลบั้ม : AYA Authentic Audio Check (DSD64)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : Stockfisch Records
ผมมักจะใช้อัลบั้มนี้ตรวจเช็คความถูกต้องในการเชื่อมระบบในซิสเต็มก่อนเริ่มต้นทดสอบเสมอ ซึ่งครั้งนี้ผมสังเกตพบอะไรบางอย่างขณะกำลังตรวจเช็คการเชื่อมต่อระบบด้วยแทรคแรกของอัลบั้มนี้ซึ่งเป็นเสียงพูดของผู้หญิงที่ใช้เช็คความถูกต้องของการเชื่อมต่อสัญญาณข้างซ้ายและข้างขวา (ชื่อแทรค Intro & Left-Right Test) เมื่อเช็คจากตำแหน่งของเสียงพูดในแทรคนี้พบว่าผมเชื่อมต่อซ้าย–ขวาถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่ผมสังเกตพบว่าต่างไปจากครั้งก่อนๆ คือรู้สึกได้ว่าเสียงพูดของผู้หญิงในแทรคนี้ฟังดูชัดเจนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา คือแทบจะไม่ต้องตั้งใจฟังมากก็รู้ว่าเธอคนนั้นพูดอะไรบ้าง และรู้สึกถึงความเป็นตัวตนของเสียงพูดของเธอมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ในแทรคที่ 4 ของอัลบั้มนี้ชื่อเพลง Improvisation ผมก็ใช้บ่อย คือใช้ทดสอบความเชื่อมโยงของสนามเสียงซ้าย–ขวาขณะเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพง ถ้าระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย–ขวาลงตัวพอดี จะได้ยินเสียงเขย่ากระพรวนที่ค่อยๆ เคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาและขวาไปซ้ายได้อย่างต่อเนื่อง และถ้าลำโพงคู่นั้นมีคุณสมบัติในการตอบสนองเฟสของสัญญาณที่แม่นยำด้วย จะได้ยินตัวเสียงของเพอร์คัสชั่นแต่ละชิ้นที่ลอยละล่องเป็นสามมิติอยู่ในอากาศ ตัวเสียงที่คมชัดเป็นเม็ดๆ ซึ่ง Precision P1.0 คู่นี้สอบผ่านบททดสอบในแทรคนี้ไปได้ด้วยคะแนนรวมที่สูงมาก
อัลบั้ม : Camouflage (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Bob Mintzer Big Band
สังกัด : DMP Records
อัลบั้ม : Brazilliana (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Manfredo Fest
สังกัด : DMP Records
มรรคผลที่เห็นได้ชัดมากที่สุดของดีไซน์ลำโพงแบบต่อตรงที่ไม่มีเน็ทเวิร์คคั่นก็คือความเป็นเนื้อเดียวกันของเสียงในทุกๆ นัยยะ ซึ่งภาษาในวงการเขาเรียกว่าเสียงมัน Coherent กันนั่นเอง ซึ่งไอ้ความ “Coherent” ที่ว่านี้มันแทบจะเป็นเหมือนนิพพานของการเล่นเครื่องเสียงเลยนะ เป็นจุดหมายปลายทางที่นักเล่นรุ่นลายครามที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วต้องการดั้นด้นไปให้ถึง โคฮีเร้นท์เป็น “สภาวะ” ที่ชุดเครื่องเสียงของคุณสามารถแสดงศักยภาพของเสียงในแต่ละด้านออกมาได้เต็มที่มากที่สุด โฟกัสดีที่สุดในทุกความถี่, ไดนามิกดีที่สุดโดยเฉพาะความต่อเนื่อง, ไทมิ่งดีที่สุด และฮาร์มอนิกดีที่สุด โดยที่ปริมาณของความ “ดีที่สุด” ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะออกมามาก–น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “ไดเวอร์” กับ “แอมปลิฟาย” ที่ต่อตรงอยู่ด้วยกันนั่นเอง
คำว่า Coherent ไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นจากวงการเครื่องเสียง แม้แต่ในวงการโปรเฟสชั่นแนลก็มี ปรากฏในงานบันทึกเสียงที่ใช้เทคนิคการบันทึกที่พยายามรักษา Coherent ของการบรรเลงสดที่นักดนตรีทุกคนเล่นพร้อมกันเอาไว้ อย่างเช่นเทคนิค Live-to-Two-Track หรือพวก Live Recordings ก็ด้วย ซึ่งเพลงที่บันทึกด้วยเทคนิคเหล่านี้จะสามารถโชว์ความโดดเด่นของมันออกมาได้อย่างเริงร่ากับลำโพงที่ออกแบบลักษณะ direct coupled แบบ Precision P1.0 คู่นี้นี่แหละ.!
ในวงการเครื่องเสียงมีสังกัดเพลงที่ใช้เทคนิคการบันทึกเสียงที่มาแนวที่ว่าอยู่หลายค่าย ที่ใหญ่หน่อยก็มี Sheffield Labs ช่วงที่เป็น Live-To-Two-Track ส่วนค่ายอื่นๆ มักจะเป็นการบันทึกแบบ Live Recording อาทิเช่น ค่าย DMP, ค่าย OPUS 3, ค่าย Proprius, ค่าย Clarity Recordings ฯลฯ และค่ายที่บันทึกเพลงแนวคลาสสิกแทบจะทุกค่าย อาทิ Telarc, Reference Recordings, Tacet, Harmonia Mundi ฯลฯ ซึ่งสังกัดเพลงเหล่านี้จะได้มรรคผลจากลำโพงที่ออกแบบลักษณะนี้โดยตรง และคนที่จะซึมซับคุณลักษณะของเสียงที่มีความเป็น Coherent ได้อย่างหมดจดจริงๆ ก็ต้องเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรถึงจะเข้าใจสิ่งที่ได้สัมผัส เนื่องจาก Coherent มันคือ “คุณภาพ” ล้วนๆ ไม่ใช่สไตล์เสียงหรือแนวเสียง สรุปคือคนที่จะสัมผัสกับข้อดีของ Coherent ได้ ก็คือคนที่หลุดพ้นจากกับดักของสไตล์เสียงไปแล้วนั่นเอง
งานบันทึกเสียงของสังกัด DMP สองชุดข้างต้นนั้นถือว่าเป็นผลงานระดับ masterpiece ของค่ายนี้ ซึ่งผมเคยฟังกับลำโพงทั่วไปที่มีคุณภาพดีหน่อยก็ถือว่าออกมาดีมากแล้ว ความสดกระจ่างของเสียงจากสองอัลบั้มนี้จะโชว์ตัวเด่นออกมาให้ได้ยินซึ่งต่างจากงานเพลงทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อมีโอกาสนำมาทดลองฟังกับ P1.0 คู่นี้แล้ว ต้องบอกเลยว่า ที่ผ่านๆ มาถือว่าเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น.! เพราะสิ่งที่ P1.0 ถ่ายทอดออกมาจากสองอัลบั้มนี้มันคือเนื้อแท้ที่อัดแน่นอยู่ในสองอัลบั้มนี้มานาน สิ่งแรกที่ได้ยินแล้วรู้เลยว่าอะไรที่ Tom Jung เจ้าของค่ายเพลง DMP ต้องการนำเสนอ สิ่งนั้นก็คือ “ไดนามิก” ที่มาพร้อมพลังอัดฉีดที่เฉียบคมทุกเม็ด เพราะทอมบันทึกเสียงสองอัลบั้มนี้ด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้าที่ผ่านคอนโซลที่ใช้ไฟเลี้ยง มันจึงมี gain ขยายของวงจรอิเล็กทรอนิคของคอนโซลเข้ามาช่วยอัดพลังเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้ออกมาพร้อมกับสปีดที่ฉับไว ผลคือ “ความสด” และ energy ของเสียงที่พรั่งพรูไม่ต่างจากนั่งฟังของจริง.!!
ลำโพงอื่นๆ ให้ได้ใกล้เคียงแต่ไม่เป๊ะเท่ากับที่ผมได้ยินจาก Precision P1.0 คู่นี้ ความแม่นยำของ timing ที่แต่ละเสียงในเพลงดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันมันทำให้ลีลาของเพลง flow ไปอย่างมีชีวิตชีวา ไร้การสะดุด อารมณ์คล้ายนั่งรถไฟเหาะที่วูบขึ้นแล้วไถลลงไปอย่างต่อเนื่อง นำพาอารมณ์ให้คล้อยตามมู๊ดของเพลงไปได้ตลอด เป็นอีกครั้งที่ผมนั่งฟังอัลบั้มชุด Brazilliana ได้อย่างต่อเนื่องจนจบอัลบั้ม โอ้ มายก๊อด.!! ผมไม่เกิดอารมณ์แบบนี้มานานแค่ไหนแล้วเนี่ย..!!??
อัลบั้ม : A Collection Of Black Is The Color & Rainbow People (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Cyndee Peters & Eric Bibb
สังกัด : OPUS 3 Records
อัลบั้ม : DSD Showcase 3 (DSD128)
ศิลปิน : Various Artists
สังกัด : OPUS 3 Records
OPUS 3 ก็เป็นค่ายหนึ่งที่นิยมบันทึกเสียงการบรรเลงสดๆ ของศิลปินในสถานจริงที่ใช้บรรเลง เพราะพวกเขาไม่ได้แค่อยากบันทึกเสียงเพลงเท่านั้น แต่พวกเขามีความเชื่อว่า sign of life หรือสัญญาณของความมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการบรรเลงดนตรีในบรรยากาศจริงมันมีความสำคัญมากพอๆ กับเพลงที่เล่น เพราะ “สัญญาณชีวิต” ที่หล่อเลี้ยงเสียงเพลงที่บันทึกมามันช่วยคืนความเป็นดนตรีที่มีชีวิตชีวากลับมา และทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปอยู่ในช่วงเวลาที่เพลงนั้นกำลังถูกบรรเลงจริงๆ นั่นคือความสดและความมีชีวิตชีวา ซึ่งทั้งหมดนั้นมีอยู่ในทุกๆ เพลงที่ค่าย OPUS 3 บันทึกเสียงมา เมื่อใดก็ตามที่ซิสเต็มเพลย์แบ็คสามารถสร้างสภาวะ Coherent ออกมาได้ บรรยากาศตอนที่บันทึกเสียงจริงก็จะถูกเปิดเผยออกมาอีกครั้ง
อัลบั้มนี้มีเพลงเด่นที่ผมชอบมากอยู่เพลงหนึ่ง นั่นคือเพลง “House Of The Rising Sun” ต้นฉบับเป็นของคณะ The Animals ซึ่ง Cyndee Peters กับ Eric Bibb ทำคัฟเวอร์ออกมาได้ดี ซาวนด์ที่ออกมาต่างไปจากต้นฉบับแต่ก็ให้อารมณ์ที่โหยหาไม่ต่างกัน แต่ที่ผ่านมามีอยู่บ่อยที่ผมพบว่า พอเอาเพลงนี้ไปฟังกับบางซิสเต็มแล้วเสียงมันออกมาไม่เต็ม หลุดออกมาแต่หัวเสียงที่เป็นอิมแพคแหลมๆ บางๆ ส่วนเนื้อมวลย่านกลางลงไปโผล่ออกมาให้ได้ยินน้อยมาก เหมือนกับว่ามันออกมาตามหัวเสียงไม่ทัน ส่งผลให้มวลเสียงขาดความอิ่มแน่น เกนเสียงก็เบาเป็นปุยนุ่น อีกทั้งไดนามิกก็แคบ แรงปะทะอ่อนด้อยมาก ไร้ซึ่งความสดของการบรรเลงจริง energy ไม่มีเลย อ่อนระโหยโรยแรงทั้งคนร้องและคนเล่นกีต้าร์ ที่ผ่านมาผมจะเจออารมณ์แบบนี้บ่อยๆ จากเพลง House Of The Rising Sun ในอัลบั้มนี้ แต่ที่กำลังฟังอยู่ตอนนี้ ผ่านลำโพง P1.0 ที่ขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Moonriver รุ่น 404 (ต้นทางคือ roon nucleus + Denafrips Hermes + Denafrips Terminator II) เสียงที่ออกมามันเหมือนดูหนังคนละม้วนเลย.! คือนอกจากเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะออกมาแบบมีเนื้อมีหนังมากขึ้นแล้ว ผมพบว่า P1.0 คู่นี้ยังให้ timing ของท่วงจังหวะเพลงที่ดีขึ้นด้วย
เมื่อไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ของ P1.0 ขยับตัวได้ทันกับสปีดของสัญญาณอินพุตที่ส่งมาจากแอมป์ ทุกย่านความถี่เสียงที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยไดเวอร์ตัวนี้จะถูกส่งมาถึงหูของเรา “พร้อมกัน” นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผมได้ยินเสียงร้องของ Cyndee Peters และเสียงกีต้าร์ของ Eric Bibb โลดแล่นออกมาแบบเต็มตัว full body ทั้งหัวเสียง (อิมแพ็ค) + บอดี้ (มวล) + ฮาร์มอนิก (หางเสียง) มาถึงหูครบในเวลาที่ถูกต้อง อาการที่เคยรู้สึกว่าเสียงบาง–หายไป อาการที่เคยรู้สึกว่ามวลไม่ค่อยมี–หายไป อาการที่เคยรู้สึกว่าสปีดช้าเฉื่อย ก็หายไป ที่ได้ยินตอนนี้คือเสียงที่สด กระชับ เร็วและมีชีวิตชีวา
ผมจำได้ว่าเคยโหลดซื้อไฟล์เพลง DSD128 ที่เป็นของค่าย OPUS 3 จากเว็บไซต์มาหลายปีแล้ว ชื่ออัลบั้ม DSD Showcase 3 เป็นอัลบั้มรวมเพลงซึ่งมีเพลง House Of The Rising Sun อยู่ในนั้นด้วย แต่ที่ผ่านๆ มาผมยังไม่ค่อยประทับใจกับเสียงของไฟล์เพลงตัวนี้ คือเทียบกับเวอร์ชั่น WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีแล้ว พบว่าเสียงของไฟล์ DSD128 ให้มวลที่เนียนกว่าเวอร์ชั่น WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดี แต่โทนเสียงจะออกน่วมๆ ขาดพลัง ไม่ค่อยมีความสด ฟังแล้วน่าเบื่อ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะประสิทธิภาพของภาค DAC ในสมัยโน้นยังไม่ถึงขั้นที่จะจัดการกับไฟล์ใหญ่ๆ ที่ใช้แซมปลิ้งเรตสูงถึง 5.6MHz ออกมาได้ดี วันนี้ผมลองจิ้มเลือกอัลบั้มนี้มาฟังอีกที ปรากฏว่าเสียงที่ออกมาน่าตกใจมาก ตัวเสียงของไฟล์ DSD128 ทั้งเนียนและแน่นกว่าไฟล์ WAV 16/44.1 มาก และอาการน่วมๆ เนือยๆ แบบไร้เรี่ยวแรงที่เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้หายไปหมด ลีลาเพลงมีความคึกคักมากขึ้น จังหวะลีลาฉับไว เสียงร้องของซินดี้สวิงได้กว้างขึ้น ตอนโหนเสียงขึ้นสูงฟังแล้วรู้สึกขนลุกเหมือนกัน เสียงกีต้าร์ของเอริคก็ใส กังวาน และมีน้ำหนัก เสียงเพอร์คัสชั่นกังวานและมีมวลไม่บางใสเหมือนที่เคยได้ยิน สปีดดีมาก ทั้งเสียงร้อง เสียงกีต้าร์ และเสียงเพอร์คัสชั่นสอดรับกันได้อย่างลงตัว ไทมิ่งดีมาก ไม่รู้สึกว่าเพลงดำเนินไปเร็วหรือช้า แต่กำลังดี
อัลบั้ม : Jazz At The Pawnshop (DSD128)
ศิลปิน : Arne Domnerus, Bengt Halberg, Georg Riedel, Egil Johansen + Lars Erstrand
สังกัด : Naxos Records
อัลบั้ม : Now The Green Blade Riseth (DSD128)
ศิลปิน : The Stockholm Cathedral Choir, Gustaf Sjokvist – organ
สังกัด : Naxos Records
ได้ฟังเสียงของไฟล์ DSD128 ของค่าย OPUS 3 ผ่านลำโพงคู่นี้แล้วมันทำให้ผมได้ข้อสรุปเพิ่มเติมเข้ามาในประสบการณ์อีกอย่าง คือการที่จะทำให้ไฟล์ DSD สเปคฯ สูงๆ อย่าง DSD128 หรือ DSD256 ให้เสียงออกมาได้ดีนั้น ไม่ใช่เฉพาะว่าจะต้องใช้ DAC ที่มีสมรรถนะสูงๆ เท่านั้น แต่อุปกรณ์ส่วนพ่วงที่ตามหลัง DAC ก็ต้องมีสมรรถนะสูงไปแพ้กัน โดยเฉพาะคุณสมบัติสำคัญในแง่ของการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลัน (หรือคุณสมบัติทางด้าน transient response) ได้อย่างฉับไวตลอดทั้งย่านเสียงด้วย ซึ่งลำโพง Wilson Benesch รุ่น Precision P1.0 คู่นี้ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณสมบัติข้อนั้นของมันออกมาได้อย่างชัดเจนเมื่อผมจิ้มเลือกสองอัลบั้มข้างต้นมาลองฟัง
งานเพลงทั้งสองอัลบั้มของค่าย Naxos ข้างต้นเป็นงานที่ทำการบันทึกเสียงในสถานที่จริงที่ใช้ในการบรรเลงทั้งสองชุด ซึ่งเดิมทีทั้งสองอัลบั้มนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของค่าย Proprius แต่ทางบริษัท Naxos Music Group ได้ขอซื้อสิทธิ์ในการทำรีมาสเตอร์งานทั้งสองอัลบั้มนี้ออกมาในรูปของไฟล์ DSD128 เพื่อจัดจำหน่ายทางเว็บไซต์ ผมจิ้มซื้องานเพลงทั้งสองอัลบั้มนี้มาจากเว็บไซต์ nativedsd.com
ถ้าว่ากันในทางทฤษฎีแล้ว ไฟล์เพลงที่ใช้แซมปลิ้งเรตยิ่งสูง ก็จะยิ่งให้ทรานเชี้ยนต์ไดนามิก (หรือสัญญาณฉับพลัน) ที่มีความเร็วสูง เปรียบเทียบก็เหมือนกับแผ่นเสียงที่บันทึกสัญญาณลงแผ่นด้วยระดับไฮ–สปีด 45 rpm ซึ่งใช้รอบหมุนสูงกว่าแผ่นสปีด 33 1/3 rpm เกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อนำแผ่น 45 rpm ไปฟังเทียบกับเวอร์ชั่น 33 1/3 rpm จะพบว่า เวอร์ชั่น 45 rpm ให้สัญญาณฉับพลันออกมาดีกว่า พื้นเสียงใสกว่า จังหวะเพลงจะกระชับและสดกว่า ซึ่งหากเอาไฟล์ DSD128 ไปฟังเทียบกับไฟล์ DSD64 ก็จะได้ผลลัพธ์ออกไปทางเดียวกัน แต่การที่จะทำให้แผ่นเสียงสปีด 45 rpm ให้เสียงออกมาได้ตามหลักการในทฤษฎีจริงๆ ก็ต้องใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง, หัวเข็ม และภาคโฟโนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งการเล่นไฟล์ DSD128 ก็เช่นกัน มันก็ต้องการทั้งซอฟท์แวร์โปรแกรมที่ใช้เล่นไฟล์และภาค DAC ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปเช่นกัน และแน่นอนว่า การที่ทำให้ได้ยินเสียงที่มีคุณภาพสูงออกมาสมกับสเปคฯ ของไฟล์ DSD128 ก็ต้องใช้ทั้งแอมป์และลำโพงที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สรุปคือ Wilson Benesch Precision P1.0 สอบผ่านในการลองฟังเสียงของไฟล์ DSD128 ทั้งสองชุดข้างต้น คือมันสามารถวิ่งไล่ transient dynamic ของเสียงจากสองอัลบั้มข้างต้นได้ทัน ทำให้ได้เสียงที่มีความคมชัดของโฟกัสที่ดีเยี่ยม ทำให้แต่ละเสียงมีทรวดทรงที่ชัดเจน แยกแยะแต่ละเสียงออกจากกันได้ง่ายในขณะที่ไม่ทำให้รู้สึกแปลกแยก คือทุกชิ้นเสียงถูกหลอมรวมเป็นวงเดียวกันที่เล่นประสานพร้อมกันอยู่ภายใต้บรรยากาศเดียวกัน เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากเป็นพิเศษ.!!
สรุป
ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังลำโพงคู่นี้ต่างก็รู้ดีว่าพวกเขากำลังทำอะไร เพื่อให้ได้อะไร ส่วนผมซึ่งเป็นผู้ใช้งาน เมื่อนำลำโพงคู่นี้มาเข้ากระบวนการแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนจนสำเร็จออกมาเป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์แล้ว บอกได้คำเดียวเลยว่า รู้สึกประทับใจกับสิ่งที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมาเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าอรรถรสของบทเพลงที่ลึกล้ำลงไปอีกขั้น มัน (Precision P1.0) นำพาดนตรีที่มีชีวิตมาเสนอให้ผมเสพต่อหน้า ผมยอมรับว่า Precision P1.0 เป็นลำโพงอีกคู่หนึ่งที่ผมรู้สึกเอนจอยกับมันมากทุกครั้งที่นั่งลงฟัง..
แม้ว่าลำโพงคู่นี้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างในแง่ของมวลเสียงทุ้มตั้งแต่ย่านมิดเบสลงไปที่ยังไม่หนาแน่นมากเท่ากับลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่คือ TAD Evolution One TX (REVIEW), Rockport Technologies Atria II (REVIEW) และ Wilson Audio Sabrina X (REVIEW) ที่ผมทดสอบไปก่อนหน้านี้ แต่จะว่าไปแล้ว จะเอา P1.0 คู่นี้ไปเทียบกับลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่นั้นก็ไม่แฟร์ เพราะทั้งสามคู่นั้นแต่ละตัวมีราคาสูงกว่า P1.0 คู่นี้ประมาณ 3 – 4 เท่า ซึ่งถ้าเอาสัดส่วนของราคาเข้ามาเทียบกันกลับกลายเป็นว่า สิ่งที่ Precision P1.0 คู่นี้ให้ออกมาถือว่าคุ้มค่ามากกับราคาขายของมัน เพราะคุณภาพเสียงที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมามันไม่ได้ด้อยกว่าลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่ข้างต้นมาก ไม่ได้ลดลงไปมากเหมือนสัดส่วนของราคา นั่นแสดงถึงความคุ้มราคาของลำโพงคู่นี้ และจะยิ่งคุ้มมากขึ้นถ้าห้องฟังของคุณมีขนาดปานกลาง ที่มีสัดส่วนกว้างxลึก ไม่เกิน 4 x 6 ตารางเมตร จะลงตัวมากกับลำโพงคู่นี้
Wilson Benesch Precision P1.0 เป็นลำโพงอีกคู่หนึ่งที่ผมอยากใช้เวลาอยู่กับมันให้นานที่สุดในแต่ละครั้งที่มีโอกาส มันเป็นลำโพงที่ทำให้บทเพลงในคอลเลคชั่นของผม “มีชีวิต” ขึ้นมาจริงๆ ..!!! /
********************
ราคา : 250,000 บาท / คู่
********************
สนใจติดต่อที่
Hi-END AUDIO
โทร. 062-551-2410
facebook: @hiendaudiothailand