รีวิวเครื่องเสียง Gryphon Audio Designs รุ่น Diablo 120 อินติเกรตแอมป์ระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์จากเดนมาร์ก

Gryphon Audio Designsเป็นใครมาจากไหน.? นี่เป็นแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศเดนมาร์ก ออกแบบและผลิตในประเทศเดนมาร์ก ผู้ให้กำเนิดแบรนด์นี้มีชื่อว่า Flemming E. Rasmussen ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวเขาไม่ได้ร่ำได้เรียนมาทางสายอิเล็กทรอนิคแต่อย่างใด จบมาทาง painting & graphic arts แต่ด้วยพื้นฐานของวิชาที่ร่ำเรียนมานั้นจัดอยู่ในแวดวงของศิลปะ ทำให้เขารักและชอบดนตรีซึ่งเป็นศิลปะสากลที่อยู่คู่โลกมาช้านาน เขามีใจอยากจะทำเครื่องเสียงที่สามารถนำอรรถรสของดนตรีสดเข้ามาในบ้าน และขณะกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับศิลปินท้องถิ่นในการออกแบบปกอัลบั้มแผ่นเสียงและโปสเตอร์สำหรับงานแสดงสดของศิลปินเหล่านั้นด้วย ยิ่งทำให้ Rasmussen เกิดความผูกพันธ์กับดนตรีมากยิ่งขึ้น

ทีมเวิร์คไม่ใช่ วันแมนโชว์

อาจจะเป็นเพราะตัวของ Flemming E. Rasmussen ไม่ใช่ออดิโอ เอนจิเนียร์ และไม่ใช่อิเล็กทรอนิค เอนจิเนียร์ เขาจึงใช้วิธีกำหนดเป้าหมายคุณภาพเอาไว้ แล้วจ้างทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาทำงานให้โดยที่ตัวเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่การออกแบบ, ประเมินประสิทธิภาพ ฯ ไปจนถึงขั้นตอนโปรดักชั่น

ชื่อของแบรนด์นี้เขียนเต็มๆ ว่า Gryphon Audio Designs แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “Gryphonใช้โลโก้สัญลักษณ์เป็นรูปของสิ่งมีชีวิตในตำนานปรำปราของกรีกโบราณ ตัวเป็นสิงห์โตแต่มีหัวและปีกเหมือนนกอินทรีย์ ซึ่งสื่อถึงพลังอำนาจกับความสง่างาม เป็นไปตามความต้องการของผู้ให้กำเนิดแบรนด์ที่ต้องการชื่อที่สะท้อนกำลังและความสง่าไปในคราวเดียวกัน

รูปร่างหน้าตาภายนอก

เห็นหน้าตาของแอมป์ตัวนี้แล้วต้องยอมรับว่า มีดีไซน์ที่โดดเด่นสมกับที่เจ้าของร่ำเรียนมาทางศิลปะจริงๆ ตัวถังทำด้วยอะลูมิเนียมหนา เน้นสีเข้มดำ เล่นเหลี่ยมมุมเท่ๆ ติดแผงฮีทซิ้งค์ลดความร้อนไว้ที่ด้านข้างซ้าย/ขวาตลอดแนวจากแผงหน้าถึงแผงหลัง ขนาดของแอมป์ฯ ตัวนี้ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับแอมป์ฯ ระดับไฮเอ็นด์ทั่วไป คือไม่ใหญ่และไม่เล็ก แต่ที่เซอร์ไพร้คือน้ำหนัก เห็นตัวย่อมๆ แบบนี้ ต้องลองยกดูถึงจะรู้ว่าน้ำหนักตัวเอาเรื่องเหมือนกัน ชั่งได้ 26.2 กิโลกรัม ส่วนความสูงของตัวถังอยู่ที่ 14 .. ไม่รวมขาตั้ง ถ้านับรวมขาตั้งจะอยู่ที่ 17.5 .. ความกว้างของหน้าปัดอยู่ที่ 48 .. และลึกจากแผงหน้าถึงแผงหลังวัดได้ 39 ..

ความเท่ห์ของดีไซน์อยู่ที่การออกแบบแผงหน้าให้มีความเหลื่อมล้ำของระนาบเป็นสองระดับ ตรงกลางของแผงหน้ามีแถบโลหะพาดในแนวนอนยาวตลอดจากซ้ายไปขวาโดยมีแผ่นอะครีลิคสีดำปิดทับจอแสดงผลอยู่ด้านล่าง ซึ่งจอแสดงผลที่ว่านี้เป็นแบบจอสัมผัสซะด้วย โดยที่พื้นที่จอถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจากซ้ายไปขวา (A) มีอยู่ 3 ฟังท์ชั่น คือ Operate/Standby, Mute และฟังท์ชั่นเพิ่ม/ลดวอลลุ่ม ซึ่งการทำงานของปุ่มสัมผัส Operate/Standby จะสัมพันธ์กับสวิทช์ Power (D) ซึ่งทำหน้าที่เปิด/ปิดไฟเข้าเครื่อง คือหลังจากเสียบสายไฟเอซีเข้าที่ด้านหลังของตัวเครื่องแล้ว คุณต้องกดสวิทช์ Power ที่ซ่อนอยู่ใต้หน้าปัดเครื่องซะก่อน จึงจะสามารถใช้งานฟังท์ชั่น Operate/Standby ได้ ซึ่งสามารถสั่งงานได้สองทาง ทางแรกคือกดจากหน้าปัดของตัวเครื่องโดยตรง กับทางที่สองคือกดสั่งงานจากรีโมทไร้สายที่แถมมาให้

ส่วนที่สอง (B) ถัดไปทางขวา มีปุ่มสัมผัสอยู่ 4 ปุ่ม เอาไว้เลือกอินพุตสองปุ่ม กับอีกสองปุ่มที่เหลือเอาไว้ใช้ในการปรับตั้งเมนู และส่วนที่สาม (C) ที่อยู่ตรงกลางของหน้าปัดเป็นจอแสดงรายละเอียดของการใช้งานในสถานะต่างๆ อย่างเช่น แสดงอินพุตที่กำลังเลือกใช้กับแสดงระดับวอลลุ่มที่กำลังใช้งาน และจอนี้ยังแสดงรายละเอียดของการปรับตั้งในเมนูของตัวเครื่องด้วย

ที่แผงหลังเป็นศูนย์รวมการเชื่อมต่อทั้งหมด เริ่มจากอินพุต (E) ที่มีมาให้ทั้งหมด 5 ชุด เป็นอินพุตที่รองรับสัญญาณ analog ทั้งหมด โดยผ่านขั้วต่อสัญญาณแบบบาลานซ์ XLR หนึ่งชุดซึ่งใช้การเชื่อมต่อสัญญาณตามมาตรฐาน AES คือขาที่สองเป็น + ส่วนขาที่สามเป็นสัญญาณ และขาหนึ่งเป็นกราวนด์ ที่เหลืออีก 4 ชุดผ่านขั้วต่อซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA ชุบทอง ขั้วต่ออินพุตทั้งหมดถูกแยกสำหรับแชนเนลซ้าย/ขวาออกไปติดตั้งไว้สองข้างห่างจากกัน ซึ่งง่ายต่อการเชื่อมต่อสายสัญญาณ ผมชอบแบบนี้มาก อินพุตหมายเลข 5 ถูกระบุมาให้รองรับสัญญาณหัวเข็มจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง นอกจากนั้น ยังมีลูป Tape In/Tape Out (F) สำหรับบันทึกสัญญาณมาให้ด้วย

เหนือแผงของขั้วต่อสัญญาณขึ้นไปด้านบนเป็นช่องเสียบโมดูลอ๊อปชั่น (G) ซึ่งมีให้เลือกแค่ 2 อ๊อปชั่นคือ วงจรขยายสำหรับหัวเข็ม MM/MC กับภาค DAC ส่วนขั้วต่อสายลำโพง (H) ให้มาชุดเดียว ตัวขั้วต่อมีขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะชุบทอง ดูแข็งแรงบึกบึนมาก สามารถเชื่อมต่อกับขั้วต่อสายลำโพงได้ทุกรูปแบบ ทั้งขันยึดผ่านขั้วต่อก้ามปู เสียบด้านหลังด้วยแกนบานาน่า หรือจะใช้วิธีเสียบสายลำโพงเปลือยๆ ก็สามารถทำได้หมด

การปรับตั้งเมนูของตัว Diablo 120

ภายใต้รูปลักษณ์ที่เรียบง่ายนั้น Diablo 120 ได้แอบซ่อนฟังท์ชั่นบางอย่างเอาไว้ภายใน ซึ่งคุณสามารถเข้าไปทำการเลือกใช้และปรับตั้งฟังท์ชั่นเหล่านั้นได้ผ่านทางเมนูของเครื่อง

ปุ่มสัมผัสเมนู (MENU) กับปุ่มสัมผัส (MON) เป็นสองปุ่มหลักๆ ที่ใช้ในการเลือกและปรับตั้งฟังท์ชั่นในเมนู การใช้ปลายนิ้วแตะสัมผัสไปที่ปุ่ม MENU เป็นการเริ่มต้นเปิดเข้าสู่การปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ในเมนูซึ่งมีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 6 ฟังท์ชั่น ได้แก่

NAME INPUT เป็นฟังท์ชั่นที่เปิดโอกาสให้คุณใส่ชื่อจำเพาะเจาะจงให้กับอินพุตต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าอินพุตนั้นๆ ถูกใช้เชื่อมต่อกับ source ตัวไหน ซึ่ง Diablo 120 มีชื่อสำเร็จ (standard name) มาให้เลือกอยู่ทั้งหมด 7 ชื่อ คือ CD, DVD, DSD, TUNER, TAPE, PHONO และ AUX แต่ถ้าคุณต้องการตั้งชื่อแบบเฉพาะเจาะจงลงไปอีกระดับ ก็สามารถทำได้ ด้วยการเลือกไปที่ CUSTOM ซึ่งมีให้ใส่ตัวอักษรได้ 8 ตัว ในแต่ละชื่อของอินพุต

CHANGE MAX LEVELเป็นการปรับตั้งระดับความดังสูงสุดของวอลลุ่ม Diablo 120 ซึ่งอยู่ระหว่าง 0 – 45 เมื่อปรับตั้งเสร็จและออกจากเมนูไปแล้ว ขณะฟังจริง คุณจะไม่สามารถเพิ่มระดับความดังให้มากกว่าจุดที่ปรับตั้งไว้ได้ ประโยชน์ของฟังท์ชั่นนี้คือช่วยป้องกันไม่ให้คุณเผลอเร่งวอลลุ่มจนดังเกินต้องการนั่นเอง

CHANGE START LEVELเป็นการปรับตั้งระดับวอลลุ่มตั้งต้นหลังจากเปิดเครื่องขึ้นมา ซึ่งเลือกได้ระหว่าง 00 – 26 หลังจากเลือกแล้ว เครื่องจะบันทึกค่าเอาไว้ หลังจากนั้น ทุกครั้งที่คุณทำการเปิดเครื่องขึ้นมา วอลลุ่มจะเริ่มด้วยระดับความดังที่คุณปรับตั้งเอาไว้เสมอ

BRIGHTNESSเป็นฟังท์ชั่นที่เปิดโอกาสให้คุณทำการเลือกระดับความสว่างของตัวอักษรและตัวเลขที่หน้าจอ ซึ่งมีให้เลือก 5 ระดับ คือ 100% (สว่างสูงสุด), 75%, 50%, 25% และ Off คือปิดหน้าจอ หลังจากคุณทำการเปิดเครื่องขึ้นมา หน้าจอจอสว่างขึ้นมาให้คุณทำการเลือกอินพุตอยู่ชั่วครู่ หลังจากนั้นจอก็จะดับลง ถ้าคุณต้องการดูข้อมูลบนหน้าจอก็ให้กดที่ปุ่มใดก็ได้ หน้าจอจะสว่างขึ้นมาชั่วครู่แล้วจะดับลงเองโดยอัตโนมัติ

RESTORE SETTINGSเป็นการลบคำสั่งที่ปรับตั้งเอาไว้ในฟังท์ชั่นต่างๆ ซึ่งเครื่องจะกลับไปใช้ค่าที่ปรับตั้งจากโรงงาน (factory pre-set) แทน

DEDICATE INP.3 TO AVที่ อินพุต 3 ของ Diablo 120 ถูกออกแบบมาให้สามารถบายพาสวอลลุ่มในตัว Diablo 120 ได้ เพื่อให้ใช้งานเป็นอินพุตรองรับสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์จากปรีโปรเซสเซอร์ในกรณีที่คุณนำ Diablo 120 ไปใช้งานในชุดโฮมเธียเตอร์ คุณสามารถปรับตั้งเลือก bypass วอลลุ่มของช่องอินพุตนี้ได้ หรือจะเลือกให้มันทำงานเป็นช่องอินพุตปกติ (ใช้วอลลุ่มในตัว Diablo 120 ควบคุมความดัง) ก็ได้

เมื่อทำการปรับตั้งค่าเสร็จแล้ว ให้กดเลือกที่ EXIT เพื่อออกจากเมนู ภาพด้านบนนี้คือผมทดลองปรับตั้งชื่อของอินพุต XLR เป็น “DAC

ดีไซน์ภายใน

Diablo 120 เป็นอินติเกรตแอมป์รุ่นเล็กในจำนวน 2 รุ่น ของ Gryphon Audio Designs (รุ่นใหญ่คือ Diablo 300 ที่ให้กำลังขับ 300 วัตต์ต่อข้าง) วงจรขยายทำงานในโหมด class A/B ให้กำลังขับข้างละ 120 วัตต์ ที่โหลด 8 โอห์ม และเบิ้ลได้เป็น 220 วัตต์ เมื่อโหลดลดลงเหลือ 2 โอห์ม จัดวางโครงสร้างภายในเป็นแบบดูอัล โมโน วงจรต่างๆ แยกการทำงานระหว่างซีกซ้าย/ซีกขวาอิสระจากกัน จัดเอ๊าต์พุตแบบไม่มีเนกาทีฟ ฟีดแบ็ค

ข้อดีของการจัดโครงสร้างวงจรแบบดูอัล โมโนคือช่วยขจัดปัญหาสัญญาณกวนข้ามแชนเนลที่เรียกว่าปัญหา crosstalk ออกไปได้อย่างหมดจด และยังทำให้สัญญาณแชนเนลซ้ายและแชนเนลขวาแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาดอีกด้วย ผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อเสียงก็คือได้มิติสเตริโอที่ดี ได้แบ็คกราวนด์พื้นเสียงที่เงียบและสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ได้รายละเอียดที่ดี โดยเฉพาะสัญญาณที่มีระดับความดังต่ำๆ

จุดเด่นของ Head Amp สำหรับขยายสัญญาณหัวเข็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของ Gryphon Audio Designs ก็คือการออกแบบให้รองรับกับความถี่เสียงที่เปิดกว้างมากๆ ซึ่งแนวทางนั้นก็ยังคงถ่ายทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่น Diablo 120 ตัวนี้ สามารถตอบสนองความถี่ได้ตั้งแต่ 0Hz (DC) ขึ้นไปจนถึง 250,000Hz และมีอัตรา slew rate ที่เร็วมาก ทำให้สามารถตอบสนองกับสัญญาณฉับพลัน (transient) ได้อย่างทันควัน ให้ความเสมือนจริงสูง นอกจากนั้น ข้อดีของการออกแบบให้ตอบสนองแบนด์วิธได้กว้างมากๆ ยังทำให้ได้เฟสของสัญญาณที่ถูกต้องแม่นยำอีกด้วย ส่งผลต่อความคมชัดของมิติ ซาวนด์สเตจตามมา

ทีมออกแบบของ Gryphon หลีกเลี่ยงการใช้สัญญาณลบป้อนกลับ (negative feedback) ภายในวงจรของปรีแอมป์และเลือกใช้เพียงเล็กน้อยในภาคเพาเวอร์แอมป์เพื่อประโยชน์ทางด้านความเสถียรของวงจรเท่านั้น ทำให้ได้ค่า TIM (Transient Intermodulation Distortion) ที่ดีคือมีความผิดเพี้ยนของสัญญาณทรานเชี้ยนต์ต่ำ

นอกจากนั้น ทีมออกแบบของ Gryphon ยังให้ความระมัดระวังปัญหาเรื่องสนามแม่เหล็กอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา MID (Magnetically Induced Distorted) ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กในจุดที่เปราะบาง แม้กระทั่งทรานฟอร์เมอร์ก็ได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนาเช่นกัน วัสดุรวมถึงความแน่นหนาบึกบึนของตัวถังก็มีเหตุผลทางด้าน mechanical damping นั่นคือช่วยลดปัญหาเรโซแนนซ์ลงไปได้มาก ยิ่งไปกว่านั้น การป้องกันการรบกวนจากคลื่นวิทยุและคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอกก็อยู่ในกระบวนการออกแบบเช่นกัน เพื่อขจัดสัญญาณรบกวน (noise) ออกไปจากตัวเครื่องให้หมดจดที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับแบรนด์ไฮเอ็นด์ระดับโลกอย่างนี้ ส่วนผลลัพธ์ของมันคงต้องไปพิสูจน์กันในขั้นตอนการฟังจริง

เซ็ตอัพเพื่อทดสอบ Diablo 120

ช่วงที่ผมทดลองแม็ทชิ่งซิสเต็มและเซ็ตอัพลำโพงเพื่อทดสอบ Diablo 120 ทำให้ผมพบคุณสมบัติเฉพาะตัวของแอมป์ระดับไฮเอ็นด์อย่างหนึ่งที่เหมือนๆ กันและทำให้มันแตกต่างจากแอมป์ระดับกลางและระดับล่างทั่วไป สิ่งนั้นคือ ความคงเส้นคงวาของเสียงซึ่งแอมป์ที่มีประสิทธิภาพระดับไฮเอ็นด์จริงๆ จะต้องมีช่วงให้แม็ทชิ่งได้กว้าง หมายความว่า คุณสามารถเอามันเป็นตัวยืนแล้วทำการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์รายรอบตัวมันเพื่อปรับจูนเสียงให้ออกมาได้ดังใจได้ ไม่ว่าคุณจะชอบแนวเสียง (บุคลิกเสียง) แบบไหน แอมป์ชั้นดีจะต้องสามารถยืดหยุ่นเสียงของตัวมันให้ไปกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ได้ โดยที่คุณภาพเสียงไม่ด้อยลง

ยกตัวอย่างในการแม็ทชิ่งครั้งนี้ ตอนที่ผมใช้ลำโพง Wharfedale รุ่น Elysian 2 เข้ามาจับกับ Diablo 120 โดยใช้ roon รุ่น nucleus+ กับ Audio-gd รุ่น R-8 (REVIEWเป็นต้นทาง ผมใช้สายสัญญาณกับสายไฟเอซีของ Purist Audio Design รุ่น Musaeus เชื่อมต่อในซิสเต็ม ส่วนสายลำโพงผมมีสองชุดสลับฟังระหว่าง Transparent Cable รุ่น Ultra (Bi-Wire) กับ Nordost รุ่น Tyr 2 (single) + ไบไวร์จั๊มเปอร์ของ Nordost รุ่น Norse 2 ซึ่งผมพบว่า การสลับเปลี่ยนสายลำโพงทั้งสองชุดข้างต้นเข้าไปในซิสเต็มมันเปลี่ยนบุคลิกเสียงของซิสเต็มไปเป็นคนละด้านเลย คือตอนเอา Transparent Cable รุ่น Ultra เข้าไป ผมได้เสียงที่มีโทนัลบาลานซ์เอนไปทางกลางลงทุ้มมากกว่ากลางขึ้นแหลม เบสหนา+กลางมีเนื้อในขณะที่แหลมเก็บรวบปลายเสียง ทำให้โทนเสียงโดยรวมออกไปทาง dark แต่พอสลับเปลี่ยนไปเป็น Nordost รุ่น Tyr 2 + จั๊มเปอร์ Norse 2 เข้าไป โทนเสียงของซิสเต็มก็เปลี่ยนไปอีกทาง เสียงโดยรวมเปิดสว่างมากขึ้น ปริมาณของกลางกับแหลมเยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกันทุ้มก็ยังคงกระชับและมีปริมาณที่ไม่ได้น้อยกว่ากลางแหลมมากนัก เรียกว่าโทนเสียงเปลี่ยนไปแต่ไม่ได้ทำให้โทนัลบาลานซ์เสีย นี่แหละคือคุณสมบัติของแอมปลิฟายระดับไฮเอ็นด์ คือการเปลี่ยนสายลำโพงที่มีโทนตรงกันข้ามเข้าไป ก็เหมือนปรับ EQ ของระบบไปอีกรูปแบบ ทำให้เอ๊าต์พุตของแอมป์มองเห็นโหลดที่เปลี่ยนไป ถ้าระบบการจ่ายกำลังขับและระบบจัดการกับโลหดเอ๊าต์พุตไม่ดีพอ อาจจะทำให้เสียงแกว่งไปเลยเมื่อเจอกับโหลดที่ไม่ตรงกับแนวที่แอมป์ถูกออกแบบไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ แอมป์ระดับกลางและระดับล่างทั่วไปมักจะไปได้ดีกับซิสเต็มที่มีโทนเสียงไปทางเดียวกับมัน และจะให้เสียงที่แย่ลงไปเยอะเมื่อเจอกับซิสเต็มที่ให้โทนเสียงที่ต่างไปคนละด้าน แต่ Diablo 120 ตัวนี้สามารถปรับเปลี่ยนโทนเสียงของมันไปตามซิสเต็มได้ทั้งสองด้าน โดยไม่ทำให้คุณภาพโดยรวมด้อยลง ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างมาก คุณสามารถใช้ Diablo 120 ตัวนี้เป็นศูนย์กลางของระบบแล้วค่อยๆ หาลำโพงกับซอร์สมาแม็ทชิ่งเพื่อสร้างโทนเสียงที่คุณต้องการได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบโทนดาร์ก+นุ่มเนียน หรือชอบไปทางจะแจ้ง+เปิดกระจ่าง Diablo 120 ก็ไปกับคุณได้ทั้งสองทาง

กำลังขับที่ 120 วัตต์ ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์มของ Diablo 120 อาจจะไม่ถึง 75% ของกำลังขับสูงสุดที่ลำโพง Wharfedale Elysian 2 แนะนำไว้ (Elysian 2 แนะนำกำลังขับไว้ตั้งแต่ 25-250W) แต่คงเป็นเพราะ Elysian 2 มีความไวสูงถึง 89dB (2.83V@1m) ทำให้ผมสามารถเซ็ตอัพ Diablo 120 + Elysian 2 ให้ทำงานร่วมกันอยู่ในห้องฟังของผมได้อย่างลงตัว ได้เสียงของ Elysian 2 ออกมาเต็มห้อง.! ส่วนลำโพงอีกคู่ที่ผมทดลองจับกับ Diablo 120 คือ Totem Acoustic รุ่น The One นั้นถูก Diablo 120 ควบคุมซะเชื่องไปเลย..

Sonic & Emotional
re-create the sound of live music taking place in its original recorded space

แอมปลิฟายที่ออกแบบมาอย่างถูกต้อง ผ่านการตรวจวัดมาอย่างละเอียด ให้ผลลัพธ์ในการวัดค่าที่แม่นยำตรงตามทฤษฎีทุกอย่าง.. อาจจะไม่ใช่แอมป์ที่ให้เสียงดีที่สุด ถูกใจคนชอบฟังเพลงมากที่สุด ทว่า แอมป์ที่ออกแบบมาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานทางไฟฟ้าที่ผ่านการคำนวนมาอย่างแม่นยำถือว่าดเป็น พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับแอมป์ที่ให้เสียงดี ซึ่งหลังจากผ่านการวัดค่าทางไฟฟ้าและปรับตั้งค่ามาอย่างถูกต้องดีแล้ว แอมปลิฟายที่ดีจะต้องผ่านขั้นตอน ทดลองฟังและ ปรับจูนเสียงด้วยการฟังจากผู้ที่มีทักษะในการฟังเพลงอีกขั้นตอนหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นแอมปลิฟายที่ให้เสียงที่มี ความเป็นดนตรีซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของนักฟังเพลงทุกคน

อัลบั้ม : Ben Webster Meets Oscar Peterson (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Ben Webster, Oscar Peterson
สังกัด : Verve Records

เสียงของ Diablo 120 เป็นอะไรที่ฟังออกง่าย แต่อธิบายยาก.! ถ้าพิจารณาในแง่ คุณภาพเสียง” (Sound Quality) มันแทบจะไม่มีจุดไหนให้ตำหนิ แน่นอนว่าถ้าแยกแยะออกมาวัดประเมินคะแนน มันไม่ได้ทำคะแนนได้เต็ม 10 ในทุกคุณสมบัติ (โฟกัส, เนื้อเสียง, ฮาร์มอนิก, ไดนามิก และมิติเวทีเสียง) หากแต่ว่า มันมี อะไรบางอย่างของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกเหมือนถูกโน้มน้าว เหมือนถูกชักจูงให้สนใจกับเสียงดนตรีที่มันถ่ายทอดออกมา แม้จะไม่ใช่การชักจูงในวินาทีแรกแต่จะเกิดขึ้นแค่ไม่กี่นาทีหลังจากได้ยินเสียงของมัน.!

ผมพบว่า ถ้าเป็นงานเพลงที่ใช้เทคนิคการบันทึกแบบสดๆ ตรงไปตรงมา ไม่ผ่านขั้นตอนการมิกซ์และตบแต่ง (edit) มากนัก อาการเหมือนถูกชักจูงความสนใจจะเกิดขึ้นเร็วมาก แค่เสียงเปียโนโน๊ตแรกของออสก้า ปีเตอร์สันในแทรคแรกของอัลบั้มนี้ “The Touch Of Your Lipsอินโทร ก่อนที่เสียงอะคูสติกเบสของเรย์ บราวน์รับช่วงไปโซโล่ท่อนส่งให้กับเสียงเทอเนอร์แซ็กของเบน เว็บสเตอร์พุ่งแผ่ขึ้นมา บรรยากาศในห้องฟังของผมก็เหมือนถูกดึงเข้าไปในผับเก่าๆ ยุค ’60 นับตั้งแต่วินาทีนั้น.!

Ben Webster ได้รับฉายาเป็น King of the Tenors ด้วยสไตล์การเป่าที่นุ่มนวล ให้เสียงที่อบอุ่น ไม่ดุดันและเกรี้ยวกราดเหมือนนักเป่าแซ็กฯ คนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน เมื่อฟังจากอัลบั้มชุดนี้ ผมสังเกตได้ว่า Diablo 120 ให้เสียงเปียโนและแซ็กโซโฟนที่มีมวลใหญ่ โทนเสียงออกไปทางอบอุ่น ปริมาณกลางและทุ้มเยอะกว่าแหลม ในขณะที่แหลมก็ไม่จ้า (ขับลำโพง Wharfedale รุ่น Elysian 2 และเชื่อมต่อด้วยสายลำโพง Transparent Cable รุ่น Ultra/Bi-wire) และที่สำคัญคือเสียงอะคูสติกเบสที่มีเนื้อมวลอิ่มเข้ม แต่สามารถรวบกระชับปลายเสียงไว้ได้ดี ทำให้ปลายเสียงทุ้มไม่มีอาการรุ่มร่าม ส่งผลให้เวทีเสียงสะอาดใส ไม่ขุ่นทึบ

แต่จริงๆ แล้ว มวลเสียงที่อิ่มหนาไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกถูกดึงดูดให้คล้อยตาม หลังจากฟังทั้งเพลงช้าและเพลงเร็วไปแล้วจำนวนหนึ่ง ผมคิดว่าน่าจะเป็น ไทมิ่งของจังหวะเพลงมากกว่าที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกคล้อยไปตามลีลาของเพลงได้อย่างแนบแน่น เนื่องเพราะแอมป์สัญชาติเดนมาร์กตัวนี้มันให้สปีดที่สอดคล้องตรงกับจังหวะของเพลงนั่นเอง ทำให้ท่วงลีลาการบรรเลงของศิลปินแต่ละคนในเพลงดำเนินเคลื่อนไปได้ตรงตามจังหวะของเพลง ไม่มีอาการเร่งหรือเฉื่อย ทำให้ฟังเพลงแล้วได้อรรถรสของเพลงออกมาเต็มๆ

อัลบั้ม : Byron Janis plays Moussorgsky; Pictures At An Exhibition (DSF64)
ศิลปิน : Byron Janis
ค่าย : Mercury Living Presence

ประสบการณ์สอนผมมาว่า ถ้าอุปกรณ์เครื่องเสียงให้ ไทมิ่งที่ดี มันจะถ่ายทอดจังหวะเพลงได้แม่นยำ นั่นหมายความว่า แม้จะฟังเพลงที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว (solo) ก็จะรับรู้ได้ถึงอรรถรสของเพลงนั้นอย่างเต็มที่ เพราะอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวนั้นจะสามารถตรวจจับ ไทมิ่งของการ เกิดขึ้นคงอยู่ดับลงของโน๊ตแต่ละตัวไว้ได้ และทำการถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างแม่นยำ ตรงตามต้นฉบับ

เมื่อผมลองฟังเสียงเดี่ยวเปียโนจากงานประพันธ์ของมูซอสสกี “Pictures At An Exhibitionที่บรรเลงโดยไบรอน เจนนิสในอัลบั้มชุดนี้ผ่าน Diablo 120 มันก็ตอกย้ำถึงความสามารถในการตรวจจับและถ่ายทอดสปีดของการบรรเลงเปียโนออกมาได้ด้วยไทมิ่งที่แม่นยำและถูกต้อง นั่นไม่แค่ทำให้ผม ได้ยินแต่มันลึกลงไปถึงระดับของการสัมผัสกับ ความรู้สึกที่ไบรอน เจนนิสบรรจงพรมนิ้วลงไปบนคีย์เปียโนทุกโน๊ต ผมรู้สึกได้ถึงน้ำหนักนิ้วที่เขากระแทกลงไปบนคีย์อย่างรุนแรงในท่อนแรกของ “The Great Gate of Kievทั้งอิมแพ็คของหัวเสียงที่คม กระชับ ไปจนถึงความกังวานของหางเสียงที่สั่นสะเทือนตามออกมาเป็นระลอก สะท้อนว่า Diablo 120 ก็ให้ ความสดในน้ำเสียงได้ดีเหมือนกัน

ถ้าคุณมีโอกาสทดลองฟังเสียงของแอมปลิฟายมาเยอะพอ คุณคงเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า แอมป์ของผู้ผลิตทางฝั่งอังกฤษจะเด่นที่เสียงกลาง ไม่เน้นแหลมและไม่เน้นทุ้ม ในขณะที่แอมป์จากฝั่งเมริกาจะเด่นที่ไดนามิก เด่นในย่านทุ้ม ส่วนแอมป์จากฝั่งสแกนดิเนเวียนจะอยู่ตรงกลาง ได้ทั้งทุ้มกลางแหลม และยังให้ไดนามิกที่หนักหน่วงกว่าแอมป์จากฝั่งอังกฤษอีกด้วย (กำลังขับสูงกว่า)

อัลบั้ม : Brothers In Arms (DSF64)
ศิลปิน : Dire Straits
สังกัด : Warner Bros.

Diablo 120 ทำให้ผมรู้สึกทึ่งเมื่อลองฟังอัลบั้มนี้ คือจากที่ผ่านๆ มา เมื่อผมทดลองฟังอัลบั้มนี้ ถ้าเสียงที่ออกมามีไดนามิกที่สวิงได้กว้าง ให้พลังอัดฉีดที่หนักหน่วง ผมก็มักจะได้เสียงแหลมที่สาดออกมาอย่างเกี้ยวกราดเป็นของแถมมาด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่อัลบั้มนี้ไปเจอกับแอมป์ที่มีบุคลิกนุ่มนวล ผมมักจะพบว่า อาการเซ็งแซ่และจัดจ้านของเสียงแหลมในอัลบั้มนี้จะถูกดัดให้กลายเป็นเสียงแหลมที่มีความละเอียด เป็นผงแป้ง ไม่กัดหูแต่ไร้อิมแพ็ค ไม่มีน้ำหนัก ฟังดีสบายหู แต่ไม่ได้อารมณ์เพลง

อินติเกรตแอมป์จากเดนมาร์กตัวนี้ทำให้อัลบั้มนี้ฟังดีจนเหลือเชื่อ.! อย่างแรกคือมันสามารถถ่ายทอดรายละเอียดหยุมหยิมในแต่ละเพลงออกมาได้อย่างพร่างพรายโดยปราศจากความรู้สึกว่าเสียงบาง อย่างในแทรคเพลง “Why Worryผมได้ยินเสียงกรุ๊งกริ๊งของกีต้าร์ที่พร่างกระจายอยู่เต็มเวทีเสียงเบื้องหน้า แต่ละเม็ดโน๊ตมีความละเอียด ชัด แต่ที่ต่างจากที่ผ่านๆ มาคือผมไม่พบว่ามีอาการแห้งและบางเลย แต่กลับมีมวลแอมเบี๊ยนต์บางๆ คอยโอบอุ้มเสียงทั้งหมดเอาไว้ ทำให้ได้บรรยากาศโดยรวมที่ติดฉ่ำนิดๆ ผิดไปจากที่เคยๆ ฟังมา ซึ่งน้อยครั้งมากที่ผมจะฟังเพลงนี้แล้วไม่รู้สึกว่าเสียงมันบาง Diablo 120 ทำให้เพลงนี้มีบรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำ แปลกหูไปจากที่เคย (จับกับลำโพง Wharfedale รุ่น Elysian 2 ซึ่งใช้ทวีตเตอร์ AMT) ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยเตือนให้ผมรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินนั้นน่าจะเป็นผลมาจากความสามารถในการตองสนองความถี่ที่เปิดกว้างมากๆ ของ Diablo 120 นั่นเอง

อีกแทรคจากอัลบั้มนี้ที่ได้ลองฟังผ่าน Diablo 120 แล้วรู้สึกถึงความแตกต่างเมื่อเทียบกับที่เคยๆ ฟังมา นั่นคือเพลง Money For Nothing ซึ่งอินติเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถควบคุมช่วงพีคจอยอินโทรไว้ได้อย่างสวยงาม ไดนามิกค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาอย่างมั่นคงและระเบิดออกไปตอนพีคด้วยพลังอย่างกะพลุแตก แสดงให้เห็นว่า Diablo 120 ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ คือทั้งผลักดันสัญญาณเสียงออกไปที่ลำโพงด้วยพลังที่มีอยู่ในตัวและในขณะเดียวกัน มัน (Diablo 120) ก็ทำการควบคุมการเคลื่อนขยับตัวของไดอะแฟรมของไดเวอร์ทุกตัวของ Elysian 2 ด้วยแด้มปิ้งแพคเตอร์ที่มีอยู่ในตัว ไดอะแฟรมของลำโพงจึงทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่แกว่ง ผลที่ออกมาจึงครบถ้วนทุกกระบวนความ ได้ทั้งพลัง, ความนิ่ง และความสะอาด (distortion ต่ำ) ในคราเดียวกัน พูดได้เต็มปากว่า Diablo 120 คุมลำโพงขนาดเขื่องอย่าง Elysian 2 ได้ดีเกินคาด มันทำหน้าที่ได้เหนือกว่าความเป็น “อินติเกรตแอมป์” ไปไกล!

อัลบั้ม : Tracy Chapman (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Tracy Chapman
สังกัด : Elektra

ผมรู้สึกเพลินมากกับการฟังเพลงผ่านอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมสนุกกับการขุดคุ้ยไฟล์เพลงเก่าๆ มาลองฟังและพบว่ามันให้เสียงที่ต่างไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่นอัลบั้มแรกของศิลปินสาวผิวสีสัญชาติอเมริกัน Tracy Chapman ซึ่ง Diablo 120 ทำให้เสียงของอัลบั้มนี้มีเนื้อมีหนังมากกว่าที่เคยฟัง ทั้งเสียงกีต้าร์และเสียงร้อง โดยเฉพาะเสียงกีต้าร์ที่เคยบางเป็นเส้นลวดและติดแห้ง กลับกลายเป็นฉ่ำและมีมวลขึ้นมาเยอะเลย เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงกีต้าร์โปร่งที่ออกมาเป็นเส้นๆ และปลายไม่แห้ง ยิ่งมาจับคู่กับลำโพง Elysian 2 ที่ใช้ทวีตเตอร์ริบบ้อน เลยเหมือนพยัคฆ์ติดปีก ได้หมดทั้งพลังไดนามิก, เนื้อมวล และความเนียน แถมด้วยจะหวะจะโคนที่แม่นยำ ให้ความเป็นดนตรีสูง (“ความเป็นดนตรีหมายถึง ฟังเพลงอะไรก็รู้สึกถึงความน่าฟัง ฟังเพลิน เข้าถึงอารมณ์เพลง โดยสามารถมองข้ามข้อตำหนิในการบันทึกเสียงของเพลงเหล่านั้นไปได้อย่างง่ายดาย)

อัลบั้ม : Etta (DSF64)
ศิลปิน : Etta Cameron and Nikolaj Hess with Friends
สังกัด : Master Music LTD.

หลังจากฟังเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วๆ ไปจนพอใจแล้ว ตอนท้ายๆ ผมก็วกกลับมาลองฟังเพลงที่สร้างสรรขึ้นมาด้วยความพิถีพิถันในการบันทึกและทำมาสเตอร์อีกรอบ ซึ่งในครั้งนี้ ผมได้พบกับพฤตินิสัยของแอมป์ตัวนี้อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือหลังจากปิดเครื่องทิ้งไว้ค้างคืน ตอนสายๆ ผมกดสวิทช์เปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ แล้วลองฟัง ปรากฏว่า ช่วงนาทีแรกๆ หลังกดปุ่มเปิดเครื่อง ผมพบว่าเสียงของแอมป์ตัวนี้จะยังออกมาไม่เต็มที่ มันยังอมๆ ยั้งๆ ยังไม่เปิดกระจ่าง ต้องฟังมาเรื่อยๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง ทุกอย่างจึงเข้าที่เข้าทาง มิติเวทีเสียงเปิดกว้างมากขึ้นทุกด้าน การสวิงไดนามิกก็ทำได้กว้างขึ้น น้ำหนักเสียงดีขึ้น รวมถึงการย้ำเน้นน้ำหนักของหัวเสียงก็ดีขึ้น หลังจากครั้งนั้นผมก็พบว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแอมป์ตัวนี้ มันเป็นของมันแบบนี้ ซึ่งในคู่มือของผู้ผลิตก็มีพูดถึงและแนะนำให้เปิดเครื่องทิ้งไว้ตลอดด้วยเพื่อไม่ให้เสียเวลารอมันวอร์มอัพ

หลังจากฟังเล่นๆ มาเกือบชั่วโมง ผมก็เลือกงานของนักร้องผิวสี Etta Cameron จากอัลบั้มชุด “Ettaขึ้นมาฟัง ซึ่งอัลบั้มนี้บันทึกเสียงออกมาได้ดีมาก ทั้งรายละเอียดและบรรยากาศอยู่ในระดับอ้างอิงได้เลย ซึ่ง Diablo 120 ถ่ายทอดสนามเสียงของเพลง “Motherless Childแทรคที่ 7 ซึ่งเป็นแทรคที่ผมชอบออกมาได้อย่างน่าทึ่ง มันทำให้ห้องฟังของผมกลายสภาพเป็นห้องบันทึกเสียงในทันทีหลังจากเอ็ตต้าปล่อยคำร้อง “Sometime, I feel like a motherless child …ออกมาจากปาก บรรยากาศภายในห้องเหมือนถูกหยุดเวลาไว้ตรงนั้น เสียงร้องของเอ๊ตต้ามีโฟกัสที่แม่นและคม ลอยเด่นอยู่บนพื้นอากาศตรงกลางระหว่าลำโพงทั้งสองข้าง ตัวเสียงร้องมีมวลเข้มข้น ให้ทรวดทรงที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติเด่นชัด ในขณะที่เสียงเครื่องเคาะโลหะที่ปรากฏขึ้นมาข้างๆ เสียงร้องก็ผุดเด่นขึ้นมาจากพื้นอากาศมืดๆ พุ่งกระจ่างออกมาอย่างชัดเจน คมและเด้งออกมาด้วยพลัง แสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ทำให้ได้บรรยากาศที่ลึกลับน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

สรุป

Diablo 120 ให้เสียงกลางที่โดดเด่นมากๆ คือได้ทั้งความชัด, เนียน และมีความต่อเนื่องของไดนามิกคอนทราสน์ที่เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน เสียงแหลมกับเสียงทุ้มก็มีความโดดเด่น อีกจุดที่เด่นมากๆ ของแอมป์ตัวนี้ก็คือความสะอาดตลอดทั้งย่านเสียง โดยเฉพาะเสียงแหลมไม่มีความกระด้างหรือหยาบเลย เสียงทุ้มก็ออกไปทางอบอุ่น มีมวลอิ่ม หัวเสียงแน่นกระชับ หางเสียงทอดตัว และเก็บรวบปลายเสียงได้ดี

แม้ว่า Diablo 120 จะเป็นอินติเกรตแอมป์รุ่นเล็กของ Gryphon แต่ด้วยกำลังขับที่ 120 วัตต์ต่อแชนเนลสำหรับแอมป์ที่ออกแบบโครงสร้างวงจรเป็นแบบดูอัล โมโนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เล็กแล้ว เมื่อเจอกับลำโพงที่มันเอาอยู่ โฟกัสของเสียงจะออกมาคมชัดและนิ่งสนิทมาก อีกทั้งยังสามารถฉีกขยายซาวนด์สเตจออกไปได้จนสุดขอบตามความสามารถที่เพลงเหล่านั้นบันทึกมา

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสสัมผัสผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Gryphon Audio Design ยอมรับว่า Diablo 120 ทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับแบรนด์นี้มากเป็นพิเศษ.. เพอร์ฟอร์มานของมันเข้าขั้นไฮเอ็นด์ฯ ทุกกระเบียดนิ้วจริงๆ บอกเลยว่าตอนนี้ผมเริ่มฝันถึงรุ่นใหญ่ๆ ของแบรนด์นี้แล้วล่ะ…!!!

***********************
ราคา : 338,000 บาท / ตัว
***********************
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือโปรโมชั่นพิเศษได้ที่
. เอลป้า ชอว์
แผนที่ร้าน :

Line : http://nav.cx/lnb7fT
📞 เย : 081-632-4036

 

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า