หันหลังให้แค่แว๊บเดียว เหลียวกลับมาอีกที.. โลกเปลี่ยนไปแล้ว! ช่วงสี่–ห้าปีที่ผ่านมานี้ วงการหูฟังมีความเคลื่อนไหวเยอะมาก มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง บางอย่างชี้ให้เห็นถึงทิศทางของการพัฒนาหูฟังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างประเด็นเรื่อง Air Conduction vs. Bone Conduction ที่กำลังเป็นที่มึนงงของผู้บริโภคในช่วงนี้
‘Air Conduction’ กับ ‘Bone Conduction’
มันคืออะไร.?
คำว่า ‘Conduction’ แปลตรงตัวได้ว่า “นำ” เมื่อเอามาใช้ในกรณีนี้ หมายถึงสิ่งที่เป็น “ตัวกลาง” หรือ “สื่อ” ที่มีคุณสมบัติในการนำพา “คลื่นเสียง” เข้ามาสู่ประสาทการรับฟังของเรานั่นเอง
เครดิตภาพ Wikipedia
โดยธรรมชาติแล้ว เราได้ยินเสียงต่างๆ เนื่องจากคลื่นเสียงนั้นเดินทางเข้ามาที่หูของเราโดยมีอากาศเป็นตัวกลางนำพามา เมื่อคลื่นเสียงเดินทางผ่านเข้ามาในช่องหู (auditory canal) จนเลยมาถึงส่วนที่เป็นประสาทหูส่วนกลาง คลื่นเสียงนั้นจะส่งพลังไปกระตุ้นให้เยื่อ tympanic membrane เกิดการสั่นแล้วส่งเป็นพลังงานคลื่นความสั่นสะเทือนต่อเนื่องไปที่กระดูกทั่งและโคนเรื่อยไปจนเข้าไปถึงส่วนที่เรียกว่า “คอกเคลีย” (cochlea) ที่อยู่ในหูชั้นใน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือลักษณะการ “ได้ยินเสียง” โดยปกติของคนเรา ซึ่งเกิดจากคลื่นเสียงอาศัย “อากาศเป็นพาหะ” (Air Conduction) เดินทางเข้ามาที่หูของเรา (เส้นสีฟ้า ในภาพล่างนี้)
เครดิตภาพ IPSnews
ในขณะที่การได้ยินอีกรูปแบบ ที่คลื่นเสียงอาศัย “โครงกระดูกเป็นพาหะ” เรียกว่า Bone Conduction (เส้นสีส้ม) เกิดขึ้นโดยอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า transducers ทำการเปลี่ยนสัญญาณเสียง (audio data) ให้ออกมาเป็นพลังงานความสั่นสะเทือน (vibration) แบบเดียวกับที่สร้างขึ้นโดย tympanic membrane แล้วส่งพลังงานความสั่นสะเทือนที่ว่านี้เดินทางไปถึงประสาทหูชั้นในโดยอาศัยโครงกระดูกที่เป็นส่วนของกระโหลกศีรษะเป็นตัวกลางนำพาไป ซึ่งวิธีนี้ทำให้สัญญาณเสียงไม่ต้องเดินทางผ่านช่องหูและประสาทหูชั้นกลาง.. เรียกว่ายิงตรงจากแหล่งกำเนิดคลื่นเข้าสู่ประสาทหูชั้นในกันเลย ว้าวว..!!!
แบบไหนดีกว่ากัน.? เมื่อนำลักษณะการส่งผ่านคลื่นเสียงทั้งสองรูปแบบนี้มาทำเป็นหูฟัง แบบ Bone Conduction ได้เปรียบเรื่องต้นทุนในการผลิต ทำให้ราคาต่ำกว่า แต่ถ้าวัดกันที่คุณภาพของเสียงที่ได้จากการฟังเพลงแล้ว แบบส่งผ่านอากาศหรือ Air Conduction ให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่า เพราะการส่งผ่านอากาศจะให้แบนด์วิธ (ความถี่) ของเสียงออกมากว้างกว่าโดยเฉพาะในย่านความถี่สูงจะมีความสดใสกว่า
หูฟังแบบ “Open Ear” ??
การสวมใส่หูฟังในปัจจุบันจะให้ความใส่ใจเรื่อง “ความปลอดภัย” มากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้ “หูฟัง” ได้กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีความจำเป็นสำหรับการสื่อสารไปแล้ว โดยเฉพาะหูฟังตัวเล็กๆ ที่ผู้ใช้สามารถสวมใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นขณะเดินทาง, ออกกำลังกาย หรือแม้แต่เล่นกีฬา ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการคิดค้นหูฟังประเภทหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า “Open Ear” คือแบบที่ขณะใช้งาน บอดี้ของตัวหูฟังจะไม่ไปอุดขวางอยู่ในช่องหู ทำให้ผู้สวมใส่ยังคงสามารถได้ยินเสียงแวดล้อมรอบข้างได้ ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
SOUL OpenEar S-Clip
หูฟังไร้สายที่ส่งคลื่นเสียงผ่านอากาศขนาดเล็กจิ๋ว.!
หูฟังตัวนี้มีขนาดเล็กจิ๋วมาก ลักษณะของตัวหูฟังก็ดูแปลกตากว่าหูฟังแบบเอียร์บัดที่เห็นอยู่ทั่วไป คือส่วนของไดเวอร์กับส่วนของวงจรภาครับสัญญาณบลูทูธและแบตเตอรี่ถูกแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนถูกบรรจุอยู่ในบอดี้พลาสติกทรงกลมสีดำ โดยมีก้านเล็กๆ ที่มีลักษณะโค้งเชื่อมโยงบอดี้ที่ห่อหุ้มชิ้นส่วนทั้งสองส่วนไว้ มองเผินๆ จะคล้ายกับหูฟังแบบครอบหูที่ย่อส่วนลงมา
บนตัวหูฟังไม่มีปุ่มปรับใดๆ นอกจากจุดโลหะสัมผัส 2 จุด สำหรับชาร์จไฟเข้าตัวหูฟัง (ศรชี้ > ภาพบนสุด), ช่องที่ปล่อยคลื่นเสียงออกไปเข้าหู (ศรชี้ > ภาพกลาง) และจุดสัมผัสสั่งงานด้วยระบบ Touch Controls (ศรชี้ > ภาพล่างสุด)
ตรงก้านที่เชื่อมโยงบอดี้ของหัวฟังทั้งสองส่วนจะมีไฟ LED สีฟ้าอยู่หนึ่งดวง (ศรชี้ > ภาพบน) ซึ่งจะติดสว่างและกระพริบขึ้นตอนหยิบออกมาจากกล่อง แสดงภาวะการทำงานของโหมด ‘Auto Pair’ ของตัวหูฟัง ซึ่งเป็นฟังท์ชั่นในการเชื่อมต่อ Bluetooth แบบอัตโนมัติ
ตัวหูฟังมาในกล่องกระดาษแข็ง ซึ่งในนั้นนอกจากจะมีตัวหูฟังทั้งสองข้างที่แพ็คอยู่ในตลับแล้ว ภายในกล่องยังมีสายชาร์จไฟ USB-A > USB-C มาให้หนึ่งเส้น กับคู่มือเล่มเล็กๆ อีกหนึ่งเล่ม
ตลับที่ใส่หูฟังมีลักษณะเป็นตลับสี่เหลี่ยม ขอบโค้งมน ขนาดเล็กกระทัดรัด สีดำ บนตัวตลับมีลักษณะเรียบเกลี้ยงเกลามาก ที่ฝาเปิด/ปิดมีโลโก้แบรนด์ตัว S อยู่ในแป้นสีเงินติดอยู่ ส่วนที่ด้านล่างฝั่งตรงข้ามกับฝามีรูเสียบขั้วต่อ USB-C สำหรับชาร์จไฟ (ศรชี้ > ภาพล่าง) แค่นั้น
แบตเตอรี่
ขณะชาร์จแบตเตอรี่ (โดยมีหูฟังอยู่ในตัวตลับ) บนตัวตลับจะมีไฟ LED ดวงเล็กๆ สีขาวสว่างขึ้นและจะกระพริบขณะชาร์จไฟ เมื่อชาร์จเต็มแล้ว ไฟดวงนี้จะหยุดกระพริบ และหูฟังที่ชาร์จไฟเต็มจะใช้งานได้ 9 ชั่วโมงต่อเนื่อง เมื่อแบตฯ หมดสามารถชาร์จจากตลับได้อีก 3 ครั้ง รวมแล้วสามารถใช้งานได้ถึง 36 ชั่วโมง ต่อการชาร์จหูฟังพร้อมตลับจนเต็มหนึ่งครั้ง
คุณสมบัติ และสมรรถนะ
ไดเวอร์ที่ใช้สร้างความถี่เสียงในหูฟังรุ่นนี้เป็นไดเวอร์แบบไดนามิก ทรงกลมรี ขนาด 17 x 12 ม.ม. สามารถตอบสนองความถี่ได้กว้างขวาง ครอบคลุมความสามารถในการได้ยินของมนุษย์ได้ครบ นั่นคือตั้งแต่ 20Hz ขึ้นไปจนถึง 20kHz จึงใช้ฟังเพลงได้ด้วย ไม่ใช่แค่รับโทรศัพท์อย่างเดียวเหมือนสมอลทอล์คที่ตอบสนองความถี่แคบกว่า
ทางด้านสมรรถนะของหูฟังตัวนี้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขความต้านทาน (Impedance) ของหูฟังตัวนี้อยู่ที่ 18 โอห์ม ผนวกกับตัวเลขของความไว (Sensitivity) ซึ่งระบุไว้ที่ 92dB (+/-3dB) ก็นับว่าเป็นหูฟังที่มีสมรรถนะสูง ขับง่าย ไม่กินกำลังของแอมป์มาก สื่อสารกับอุปกรณ์อื่นผ่าน Bluetooth v. 5.2 จากการทดลองเชื่อมต่อ Bluetooth ใช้งานร่วมกับ iPhone 12 พบว่า เกนสัญญาณใน iPhone 12 มีมากพอที่จะทำให้หูฟังตัวนี้มีความดังในระดับที่เพียงพอต่อการใช้งานในสภาพที่มีเสียงแวดล้อมค่อนข้างดัง แสดงว่ากำลังขับในตัวหูฟังก็ให้มามากพอ สามารถสู้กับเสียงแวดล้อมได้ดี ผมทดสอบด้วยการทดลองใช้ฟังเพลงในห้องรับแขกที่มีเสียงของทีวีเปิดดังๆ พบว่า ผมใช้วอลลุ่มที่ iPhone 12 แค่ประมาณ 75% ก็ได้ยินรายละเอียดในเพลงที่ฟังออกมาครบ ในขณะที่ยังได้ยินเสียงทีวีคลอไปพร้อมกัน
และเนื่องจากเป็นหูฟังที่ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาซึ่งมีโอกาสที่จะโดนน้ำได้ ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องกังวลเพราะหูฟังตัวนี้ผ่านมาตรฐานกันน้ำในระดับ IPX6 มาแล้ว สามารถใส่ออกกำลังกายได้สบายมาก
การเชื่อมต่อ
หูฟังตัวนี้ใช้ Bluetooth เวอร์ชั่น 5.2 ซึ่งมาพร้อมฟังท์ชั่น Auto Pair Mode เมื่อหยิบหูฟังออกมาจากตลับ ตัวหูฟังจะพร้อมเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกทันที ซึ่งการเชื่อมต่อก็ทำได้ง่ายมาก หลังจากหยิบตัวหูฟังออกมาจากตลับแล้ว จากนั้นก็แค่เปิดเข้าไปในเมนู Bluetooth ของสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเห็นชื่อของหูฟังตัวนี้โชว์ขึ้นมา (SOUL OPENEAR S-CLIP) พร้อมให้คุณเลือกเชื่อมต่อทันที แค่จิ้มเลือกลงไปที่ชื่อของหูฟังตัวนี้ก็เชื่อมต่อได้เรียบร้อย ถือว่าเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ง่ายมาก..!!
การควบคุมสั่งงาน
หูฟังตัวนี้รองรับฟังท์ชั่น HFP, A2DP และ AVRCP จึงสามารถรองรับการปรับวอลลุ่มจากอุปกรณ์ภายนอกที่เชื่อมต่อกับหูฟังตัวนี้ได้ (อย่างเช่น สมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต)
ระบบสั่งงานแบบสัมผัส (Touch Control) ของหูฟังตัวนี้ครอบคลุมการสั่งงานได้ถึง 5 ฟังท์ชั่น เริ่มจากฟังท์ชั่น “เปิด/ปิด” การทำงานของตัวหูฟัง (กดที่แป้นของหูข้างไหนก็ได้ แช่ไว้นานมากกว่า 2 วินาที), ฟังท์ชั่น “โทรศัพท์” (กดที่แป้นข้างใดก็ได้ 2 ครั้งเพื่อรับสายโทรเข้า / หลังจากนั้น กดค้างไว้ข้างใดก็ได้ มากกว่า 2 วินาที), ฟังท์ชั่น “Low Latency” สำหรับเล่นเกมส์ (กดที่แป้นข้างซ้าย 3 ครั้ง), ฟังท์ชั่น “ฟังเพลง” (แตะที่แป้นใดก็ได้ 2 ครั้ง = เล่นและหยุดชั่วคราว, กดแป้นขวาแช่เกิน 2 วินาที = ข้ามแทรคไปข้างหน้า, กดแป้นซ้ายแช่เกิน 2 วินาที = ถอยไปแทรคก่อนหน้า) และสุดท้ายคือฟังท์ชั่น “สั่งงานด้วยเสียง” (แตะที่แป้นข้างขวา 3 ครั้ง เพื่อใช้ฟังท์ชั่นสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Siri / Google Assistant)
โหมดที่ใช้เล่นเกมส์มีชื่อว่า “Entertainment Mode” ซึ่งออกแบบมาให้ใช้กับการเล่นวิดีโอเกมส์โดยเฉพาะ ซึ่งโหมดนี้จะทำให้เสียงจากหูฟังตัวนี้สามารถซิ้งค์กับภาพของวิดีโอเกมส์ได้ทัน ไม่มีปัญหาหน่วงช้า เพราะทำให้ Latency ลดต่ำเหลือเพียงแค่ 40ms เท่านั้น
เสียงของ OpenEar S-Clip
ที่ถูกที่ควรนั้น เวลาหนีบตัวหูฟัง OpenEar S-Clip ตัวนี้เข้ากับใบหูของผู้ใช้ ช่องระบายเสียงของบอดี้ส่วนที่ติดตั้งไดเวอร์จะต้อง “ชี้ตรง” เข้าไปที่รูหูของผู้สวมใส่ให้มากที่สุด และต้องเข้าอยู่ “ใกล้” กับรูหูให้มากที่สุด จะทำให้คลื่นเสียงจากตัวหูฟังพุ่งเข้าสู่หูของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ แต่ในชีวิตจริงนั้น ใบหูของคนเราจะลักษณะที่นิ่ม และแต่ละคนก็มีรูปแบบของใบหูไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อหนีบตัวหูฟังตัวนี้เข้าไปแล้ว ในบางคนช่องระบายเสียงของตัวหูฟังอาจจะไม่ได้เข้าไปใกล้กับรูหูของผู้ใช้มากอย่างที่ควร ซึ่งของผมเองก็มีลักษณะเช่นนั้น คือหลังจากหนีบตัวหูฟังเข้ากับใบหูและลองขยับตำแหน่งจนคิดว่าหูฟังไม่หลุดร่วงแน่ๆ แล้ว ปรากฏว่า ตัวหูฟังมันมีลักษณะที่ห้อยตัวลงไปตามใบหู ทำให้ช่องระบายเสียงของหูฟังห่างออกจากรูหูนิดนึง ไม่แนบชิดเหมือนอย่างที่แนะนำไว้ในคู่มือ แต่เมื่อผมลองเปิดเพลงฟัง พบว่า เสียงเพลงที่ได้ยินออกมาชัดกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ
ในสภาพที่มีเสียงแวดล้อมเล็กน้อย คือในห้องรับแขกที่นั่งห่างออกมาจากทีวีเกือบหกเมตร และเปิดเสียงของทีวีระดับปกติ ผมใช้วอลลุ่มที่ iPhone 12 ประมาณ 75% ของระดับความดังสูงสุดที่สามารถใช้ได้เท่านั้น ก็ได้ยินรายละเอียดของเพลงที่ฟังออกมาครบ โดยเฉพาะเสียงกลางและแหลมอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ ฟังเอาเพลินๆ ได้เลย แต่ถ้าเทียบกัน เสียงที่ได้จากหูฟังเอียร์บัดที่อุดเข้าไปในรูหูตรงๆ จะออกมาเต็มกว่า โดยเฉพาะเบสออกมาแน่นกว่า แต่หูฟังเอียร์บัดจะบล็อกเสียงภายนอกเอาไว้หมด ในขณะที่หูฟัง OpenEar ตัวนี้จะปล่อยให้เสียงแวดล้อมแทรกปนเข้ามาให้ได้ยินด้วย ข้อดีคือความปลอดภัย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของหูฟังประเภทนี้อยู่แล้ว
พอได้ทดลองใช้งานมาสักพัก ผมพบว่า เสียงของหูฟังตัวนี้ออกมาดีกว่าที่ผมคาดไว้จริงๆ ไม่นึกว่าแค่เหน็บไว้ใกล้ๆ หูจะได้ยินชัดมากขนาดนี้ แต่มานึกๆ ดูแล้ว ลักษณะนี้ก็ไม่ต่างจากการฟังเสียงจากลำโพงบลูทูธในสภาพปกติ ซึ่งลำโพงบลูทูธเหล่านั้นก็ไม่ได้มาอยู่ใกล้กับหูของเรามาก และมีเสียงจากสภาพแวดล้อมเข้ามาปนอยู่ด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ได้ยินเสียงชัดๆ ต้องเปิดวอลลุ่มเยอะ แต่หูฟัง OpenEar ของ SOUL ตัวนี้ไม่ต้องเปิดดังจนเสียงไปรบกวนคนอื่นก็ได้ยินชัดพอแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหูฟังตัวนี้มีระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามาช่วยอยู่ด้วยนั่นเอง แบตเตอรี่ก็ใช้ได้นานหายห่วง แถมกันเหงื่อได้ด้วย ใส่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้สบายเลย…
สรุป
หูฟัง OpenEar S-Clip ของ SOUL ตัวนี้เหมาะสมมากกับการใช้งานแบบเหน็บติดอยู่กับใบหูไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะใช้ฟังเพลงหรือรับสายโทรฯ ก็ได้เสียงที่มีความชัดเจน ดังพอสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีเสียงในระดับปานกลาง และด้วยน้ำหนักที่เบามาก ทำให้ไม่รู้สึกรำคาญแม้ว่าจะหนีบทิ้งไว้นานๆ /
*********************
ราคา : 1,590 บาท / ชุด
*********************
สนใจสั่งซื้อได้ที่
อัศวโสภณ ออนไลน์สโตร์