หลักคิดที่นักพัฒนาเทคโนโลยีนำมาใช้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคยุคดิจิตัลสำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไป (consumer electronics) เพื่อให้รองรับลูกค้าได้ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ก็คือ “ต้อง” ใส่ความสามารถในเชิง “backward compatible” ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย นั่นคือต้องเป็นสินค้าที่สามารถรองรับระบบเก่าได้ เพราะคนเล่นเครื่องเสียงในปัจจุบันยังประกอบด้วยกลุ่มคนสอง–สามเจนเนอเรชั่นปะปนกันอยู่ และถ้าจะให้ดีจริงๆ ควรจะต้องถอยหลังไปอย่างน้อย 1 – 2 เจนเนอเรชั่น เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้งานได้ทั่วถึงจริงๆ
ยังมีใครต้องการ CD Player อีกมั้ย.?
ถ้ายิงคำถามนี้ออกไปในสื่อสาธารณะ ผมเชื่อว่า จะต้องมีคนยกมือสลอนอย่างแน่นอน.! เพราะคะเนจากคำตอบของเพื่อนๆ ในเพจของผมที่ส่งเข้ามา (https://goo.gl/CZ51xB) สรุปได้ชัดเจนว่า นักเล่นฯ ส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการเครื่องที่เล่นแผ่นซีดีได้และสามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลงได้ด้วย และผมพบด้วยว่า คำตอบในคอมเม้นต์ที่ผมตั้งกระทู้ถามเข้าไปใน facebook เหล่านั้นมันสอดคล้องกับคำถามจากนักเล่นฯ ที่ผมได้รับในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีคนถามถึงเครื่องเล่นซีดีเข้ามาถึงผมอยู่เนืองๆ จนถึงปัจจุบัน และเมื่อผมถามว่า ทำไมไม่เปลี่ยนไปเล่นไฟล์เพลงแทน? คำตอบที่ได้รับกลับมาเกือบทั้ง 100% ก็คือ กำลังสนใจจะเริ่มเล่นไฟล์เหมือนกัน แต่ก็ยังอยากได้เครื่องที่เล่นแผ่นซีดีได้เอาไว้ด้วย เพราะไม่อยากจะนั่งริปแผ่นซีดี..
เมื่อได้รับคำตอบจากกระทู้สำรวจความต้องการข้างต้นมาแล้ว ผมจึงไม่แปลกใจที่ทางตัวแทนของแบรนด์สินค้า Accuphase คือบริษัท Hi-End Audio แจ้งข้อมูลมาว่า เครื่องเล่นซีดีของ Accuphase รุ่น DP-430 ซึ่งมีภาค DAC ในตัวจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้.!!
DP-430 เทคโนโลยีใหม่เจนเนอเรชั่นที่ 3 ในรูปทรงคลาสสิกแบบเดิม
ถึงจะไม่เคยใช้.. หรือไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Accuphase แต่ถ้าเล่นเครื่องเสียงมาไม่น้อยกว่า 2 – 3 ปี แม้ไม่เคยผ่านมือ แต่ผมเชื่อว่า คุณต้องเคยผ่านตาหรือไม่ก็ต้องถึงกับเคยผ่านหูมาบ้างแล้วสำหรับเครื่องเสียงซุปเปอร์ไฮเอ็นด์จากญี่ปุ่นแบรนด์นี้ เพราะ Accuphase คือแบรนด์แรกที่นักเล่นฯ จะนึกถึงเมื่อพูดถึงเครื่องเล่นซีดีหรือแอมปลิฟายของญี่ปุ่น
จุดเด่นที่สะดุดตามากสำหรับสินค้าของแบรนด์นี้ก็คือรูปร่างหน้าตา ไม่ว่าจะเป็นแอมปลิฟาย, เครื่องเล่นซีดี หรือ external DAC พวกเขาจะดีไซน์หน้าตาออกมาแนวเดียวกันหมด โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยตัวบอดี้สีทองแชมเปญที่ดูมลังเมลืองมาก จำนวนปุ่มปรับและการจัดวางตำแหน่งถูกออกแบบไว้อย่างเรียบเฉียบเป็นระเบียบสวยงาม ไม่มีรก เนื้องานเนี๊ยบทุกกระเบี้ยดนิ้ว
DP-430 เป็นเครื่องเล่นซีดีที่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพมาจากต้นแบบรุ่น DP-400 ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นแรกที่ออกมาตั้งแต่ปี 2008 เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของ Accuphase ก่อนถึงรุ่น DP-430 นี้ ทาง Accuphase ได้ทำการปรับปรุงอัพเกรดคุณภาพของ DP-400 ขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2013 ออกมาเป็นรุ่น DP-410 ซึ่งถือว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่สอง ก่อนจะมาเป็นรุ่น DP-430 ตัวปัจจุบันนี้ซึ่งถือว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่สามแล้วสำหรับเครื่องเล่นซีดีของ Accuphase อนุกรมนี้
แผงหน้าของตัวเครื่อง
A : ปุ่มกด สำหรับเปิด/ปิดเครื่อง
B : ปุ่มกด เลือกอินพุต
C : ตำแหน่งลิ้นชักรับแผ่น
D : ปุ่มกด เลื่อนลิ้นชักเข้า/ออก
E : ปุ่มกด ควบคุมการเล่นแผ่น CD
F : หน้าจอแสดงผล
ช่องต่อเชื่อมด้านหลัง
A : กลุ่มของช่อง Digital Inputs จำนวน 3 ช่อง
B : กลุ่มของช่อง Transport Outputs จำนวน 2 ช่อง
C : มีช่อง Analog Outputs ให้เลือกใช้ 2 ช่อง แบบ Balanced (XLR) และ Unbalanced (RCA)
D : ช่องเสียบสายไฟเอซี
E : สวิทช์โยกเพื่อเลือกรูปแบบการเชื่อมต่อสัญญาณของช่องเอ๊าต์พุต Balanced (XLR)
รีโมทไร้สายรุ่น RC-130 ที่แถมมาให้ในกล่อง
ในกล่องมีสายไฟเอซี, สายสัญญาณ, แผ่นซีดีลงไดรเวอร์สำหรับ USB 2.0 และรีโมทไร้สายรุ่น RC-130 มาให้ ซึ่งตัวรีโมทนั้นใช้ควบคุมสั่งงานได้ทุกหน้าที่ที่ปุ่มบนหน้าปัดทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่ปุ่มเหล่านั้นจะถูกใช้สำหรับการควบคุมการเล่นแผ่น CD ซะเกือบทั้งหมด นอกจากปุ่มเลือก “INPUT” ซึ่งใช้กดเลือกแหล่งต้นทางสัญญาณ (source) ได้ 4 ช่องทาง เมื่อกดซ้ำๆ ลงไปที่ปุ่ม INPUT นี้ จะเป็นการเลือกอินพุตต่างๆ ของ DP-430 แบบวนไปเรื่อยๆ โดยสังเกตที่มุมซ้ายบนของจอแสดงผลซึ่งมีชื่อของอินพุต 3 อินพุตเรียงกันอยู่ เริ่มจาก USB > Optical > Coaxial ในแต่ละครั้งที่คุณกดปุ่ม INPUT ลงไป ดวงไฟแอลอีดีที่อยู่ใต้ชื่ออินพุตนั้นๆ จะสว่างขึ้นเป็นสีแดงซึ่งแสดงว่ากำลังถูกเลือกใช้ และเมื่อคุณกดปุ่ม INPUT ซ้ำลงไปเป็นครั้งที่ 4 ไฟแอลอีดีจะดับหมดทุกดวง ซึ่งแสดงว่าคุณกำลังเลือกอินพุตไปที่การเล่นจากแผ่นซีดี
และในขณะที่คุณกำลังเล่นไฟล์เพลงจากอินพุตใดๆ ไม่ว่าจะเป็นช่อง USB, Optical หรือช่องอินพุต Coaxial อยู่ คุณก็สามารถกดปุ่ม Open/Close เพื่อปล่อยลิ้นชักรับแผ่นออกมาได้ ใส่แผ่นซีดีลงไปและกด Play ได้ เครื่องก็จะทำการอ่านแผ่นและเล่นเพลงออกมาให้ แต่ถ้าคุณไม่ได้กดเลือกอินพุตไปที่ตำแแหน่งที่สี่ (คือไฟแอลอีดีดับหมด) เสียงของเพลงที่เล่นจากแผ่นซีดีก็จะไม่ออกมาให้ได้ยิน พูดง่ายคือ การเล่นแผ่นซีดีจะไม่เปลี่ยนอินพุตไปที่ CD ให้คุณอัตโนมัติ คุณต้องกดเลือกจากปุ่ม INPUT ไปให้ตรงตำแหน่งการเล่นแผ่นซีดีด้วยถึงจะมีเสียงออก
และในขณะปรับให้ DP-430 ทำงานในโหมด external DAC ด้วยการกดปุ่ม INPUT ไปที่ตำแหน่งใดก็ได้ระหว่าง USB > Optical > Coaxial ปุ่มอื่นๆ บนรีโมทและบนตัวเครื่องจะใช้งานไม่ได้ ยกเว้นปุ่ม “TIME” บนรีโมทไร้สายที่สามารถกดเลือกให้หน้าจอแสดงคุณสมบัติของสัญญาณ digital input ที่เข้ามา..
ช่องแสดงผลทางซ้ายที่อยู่ใต้ชื่อ “INPUT” กับอีกช่องถัดไปที่อยู่ใต้ “FREQUENCY” จะแสดงรายละเอียดได้ 2 ลักษณะ ขณะเล่นแผ่นซีดี ช่องทางซ้ายจะแสดง “เวลา” ของแทรคที่กำลังเล่น ในขณะที่ช่องถัดไปทางขวาจะแสดง “จำนวนแทรค” ของเพลงในแผ่นซีดีที่กำลังเล่น แต่ถ้าคุณเลือกอินพุตไปที่ USB, Optical หรือ Coaxial ช่องทางซ้ายจะแสดง “Sampling Frequency” ของสัญญาณดิจิตัลที่ป้อนเข้ามาทางช่องอินพุตเหล่านั้น ส่วนช่องทางขวาจะแสดงจำนวน “Bit Depth” ของสัญญาณดิจิตัลที่ป้อนเข้ามา ในภาพตัวอย่างข้างบนนั้นผมถ่ายตอนเล่นไฟล์เพลงจาก roon : nucleus+ เข้ามาทางช่อง USB ของ DP-430 ซึ่งภาพบนนั้นขณะเล่นไฟล์ WAV 24/192 ในขณะที่ภาพล่างนั้นคือตอนที่ผมเล่นไฟล์ DSF64 ซึ่งตัวเลข 2822.4kHz คือความถี่แซมปลิ้งของสัญญาณ DSD64 นั่นเอง ในขณะที่ช่องถัดไปจะโชว์ว่า 1bit ซึ่งเป็น bit depth ของสัญญาณ DSD นั่นเอง
จากภาพด้านบนนี้ คุณเห็นแล้วอาจจะงง ว่าเหตุใด สัญญาณดิจิตัลของเพลงนี้ถึงได้ออกมาแบบนี้ คือไฟล์เพลงตัวนี้เป็นไฟล์ WAV ที่ผมริปมาจากแผ่น DVD-Audio อัลบั้มชุด “Reptile” ของ Eric Clapton ซึ่ง DP-430 แสดงให้ทราบว่า สัญญาณดิจิตัล PCM สเตริโอที่บันทึกลงบนแผ่น DVD-Audio ของอัลบั้มชุดนี้เป็นสัญญาณ 20bit/88.2kHz ซึ่งเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นสัญญาณ PCM ที่แปลงมาจากสัญญาณ DSD อีกทีนึง ซึ่งในช่วงเวลาที่แผ่น DVD-Audio กำลังถูกผลิตออกมาเยอะๆ นั้น หลายๆ ค่ายในยุคนั้นมักจะใช้วิธีแปลงสัญญาณมาสเตอร์ DSD ที่ทำไว้ออกมาเป็นสัญญาณ PCM โดยเลือกแซมปลิ้งเรตที่ 88.2kHz ซึ่งเป็นระดับแซมปลิ้งเรตที่หารลงตัวจากมาสเตอร์ 2.8224MHz นั่นเอง ส่วน bit depth ก็เลือกใช้แค่ 20bit ไม่ถึง 24bit ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะพื้นที่บนแผ่น DVD-Audio มีจำกัดนั่นเอง
นี่แสดงให้เห็นว่า จอแสดงผลทั้งสองช่องนี้จะแสดง “ข้อมูลจริง” ของสัญญาณที่ได้รับเข้ามาทางอินพุตนั่นเอง..
ความพิเศษที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ถามว่า การเปิดเผยเครื่องปรุงและกรรมวิธีในการปรุงอาหาร มีส่วนช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้นหรือเปล่า.? จริงๆ แล้วไม่ได้ช่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในแง่ของคนเสพ เมื่อได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปและแนวทางในการปรุงของเชฟแล้ว มันมีส่วนโน้มน้าวเชิญชวนให้เราอยากที่จะทดลองลิ้มรสอาหารจานนั้นมากกว่ากรณีที่ไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอาการจานนั้นเลย
เครื่องเสียงก็เช่นกัน ถ้าผู้ผลิตไม่แหวกตัวถังลงไปให้ดูถึงไส้ในของตัวเครื่องเลย เราก็อาจจะไม่รู้สึกสนใจที่จะอยากฟังเสียงของมันสักเท่าไร ซึ่งบางกรณีมันก็เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือด้วยสำหรับเครื่องเสียงบางตัวที่ “ไม่กล้า” เปิดเผยสิ่งที่อยู่ข้างใน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบ เพราะถ้าไม่เจ๋งจริง จะกลายเป็นเปิดปมด้อยออกมาให้คนรู้ไปอีก
Accuphase เป็นแบรนด์ที่กล้าเปิดเผยสิ่งที่พวกเขาทำลงไปในอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชิ้น มันเป็นความจริงใจแบบญี่ปุ่นที่ไม่มีการหมกเม็ด (ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับมิสเตอร์ Saito เจ้าของแบรนด์มาแล้วหลายครั้ง)
ในเครื่องเล่นซีดี มีการทำงานอยู่ 4 ภาคส่วนใหญ่ๆ ที่มีผลกับคุณภาพเสียง เริ่มต้นกับ “ภาคซีดีทรานสปอร์ต” ที่เป็นจุดเด่นขึ้นหน้าขึ้นตามากที่สุดสำหรับแบรนด์นี้ ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ กับคุณภาพเสียงที่ได้ เพราะมันทำหน้าที่ดึงข้อมูลเพลงออกมาจากแผ่นซีดี เป็นด่านแรกของระบบ ตัวหัวอ่านสัญญาณ (traverse mechainism) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการทำงานส่วนนี้ ทำงานด้วยระบบกลไกที่ต้องหมุนด้วยความเร็วรอบสูงมากๆ จึงถูกกระทบจากคลื่นความสั่นสะเทือน (vibration) โดยตรง สิ่งที่วิศวกรของ Accuphase ทำเพื่อขจัด vibration ออกไปจากส่วนนี้ก็คือจับส่วนที่ทำงานในภาคเลเซอร์หัวอ่าน “แยก” ออกจากตัวแท่น และใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับพลังงานสั่นสะเทือนเข้ามาเป็นตัวแยก (isolate)(ภาพล่างศรชี้) เพื่อขจัดพลังงานสั่นสะเทือนทั้งที่เกิดขึ้นภายในและจากภายนอกตัวเครื่องไม่ให้แพร่ไปถึงส่วนของหัวอ่าน
นอกจากนั้น พวกเขายังได้ออกแบบ “ฝาครอบ” ที่ทำหน้าที่ปกปิดส่วนของหัวอ่าน (bridge cover) เอาไว้ซึ่งช่วยลดเสียงรบกวนของลมที่หมุนวนเนื่องจากการหมุนของแผ่นลง ส่วนของลิ้นชักหรือถาดรับแผ่นก็หล่ออัดขึ้นมาจากอะลูมิเนียมที่มีความแน่นและน้ำหนัก ให้ความมั่นคงในการเลื่อนเข้า–ออกและไม่มีเรโซแนนซ์เหมือนลิ้นชักหรือถาดรับแผ่นที่ทำด้วยพลาสติกอีกด้วย
คุณสามารถทดสอบความเงียบสงัดของระบบเลื่อนรับและขับหมุนแผ่นของภาคซีดีทรานสปอร์ตที่ดีเยี่ยมของเครื่องเล่นซีดี “ทุกรุ่น” ของ Accuphase ได้ง่ายๆ ด้วยการกดปุ่ม Open/Close แล้วสังเกตตอนลิ้นชักเลื่อนออกมาและเลื่อนกลับเข้าไป ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความนุ่มนวลและเงียบกริบจริงๆ
การทำงานส่วนที่สองที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคซีดีทรานสปอร์ต นั่นคือ “ภาคแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอก” (D-to-A converter) ซึ่ง Accuphase ก็ได้สร้างความพิเศษเอาไว้กับส่วนนี้เช่นกัน พวกเขาเรียกดีไซน์พิเศษของพวกเขาว่า MDS D/A converter มาจากคำว่า “Multiple Delta Sigma” ดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์ เริ่มต้นด้วยการใช้ชิป DAC จำนวน 4 ตัว มาแยกทำหน้าที่ในการแปลงสัญญาณดิจิตัลสำหรับซีกซ้าย (Left) กับซีกขวา (Right) ข้างละ 2 ตัว โดยออกแบบให้ชิปทั้งสองตัวในแต่ข้างทำงานร่วมกันแบบขนาน คือกำหนดให้แต่ละตัวทำการแปลงสัญญาณซีกบวกกับซีกลบแยกกัน แล้วเอาสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตที่ได้ออกมาจากชิปทั้งสองตัวมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งไปที่ภาค analog output ส่งผลให้เกิดข้อดี 2 ประการ ประการแรกคือทำให้ได้ gain ของสัญญาณที่แรงขึ้นเป็นสองเท่า (ทำให้ S/N ratio สูงขึ้น) ประการที่สองคือทำให้ความผิดเพี้ยน (error) ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนแปลงสัญญาณของชิปทั้งสองตัวถูกหักล้างกันไปเอง (ทำให้ signal noise ต่ำลง)
ภาค DAC ในรุ่น DP-400 และรุ่น DP-410 ก็ใช้เทคนิค MDS นี้เช่นกัน แต่ทั้งสองรุ่นนั้นใช้ชิป DAC ของ Texas Instruments/Burr Brown เบอร์ PCM1796 (ซ้าย) ในขณะที่รุ่น DP-430 เปลี่ยนมาใช้ชิป DAC ของบริษัท Asahi Kasei Microdevices (AKM) เบอร์ AK4490EQ (ขวา)
ภาค digital input ในรุ่น DP-400 มีแค่ Optical กับ Coaxial และรองรับสัญญาณดิจิตัล อินพุตได้เฉพาะสัญญาณ PCM อย่างเดียว สูงสุดที่ 24/96 ในขณะที่รุ่น DP-410 ได้เพิ่มอินพุต USB 2.0 เข้าไปเป็นครั้งแรก โดยใช้ชิปของ Tenor เบอร์ TE8802L คอยจัดการกับสัญญาณที่รับมาจากช่อง USB ซึ่งรองรับสัญญาณ PCM ไปได้สูงสุดที่ 24/192 พอมาถึงรุ่น DP-430 เวอร์ชั่นปัจจุบัน ทาง Accuphase ได้ทำการอัพเกรดประสิทธิภาพของช่องอินพุต USB ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเปลี่ยนชิป DAC มาเป็นของ AKM เบอร์ AK4490EQ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า PCM1796 ของ TI คือรองรับสัญญาณ PCM ได้สูงถึง 32/384 และยังรองรับสัญญาณ DSD ได้สูงถึง 11.2986MHz (DSD256) และได้เปลี่ยนชิปโปรเซสเซอร์ที่จัดการกับสัญญาณทางช่อง USB ไปเป็นชิปรุ่น ‘Bravo‘ ของบริษัท Savitech เบอร์ SA9227A ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าชิปของ Tenor ด้วย
ผลที่เกิดกับเสียงสามารถเปรียบเทียบได้จากตัวเลขสเปคฯ สอง–สามตัวที่ผมเอามาใส่ไว้ในตารางข้างบนนี้ สังเกตได้จากตัวแรกคือ “ความถี่ตอบสนอง” ซึ่งจะเห็นว่า ตั้งแต่รุ่น DP-410 ขึ้นมาจนถึงรุ่น DP-430 ตัวเลขความถี่ตอบสนองได้ถูกปรับปรุงให้ถ่ายทอดออกมาได้กว้างขึ้นมาก จาก 4Hz – 20kHz ในเจนเนอเรชั่นแรกรุ่น DP-400 มาเป็น 0.7Hz – 50kHz ในเจนเนอเรชั่นที่สอง (DP-410) และเจนเนอเรชั่นที่สาม (DP-430) ส่วนสเปคฯ ตัวที่สองที่สะท้อนถึงผลจากพัฒนาการก็คือ “ไดนามิกเร้นจ์” ซึ่งรุ่น DP-400 กับรุ่น DP-410 ทำออกมาได้เท่ากันคืออยู่ที่ 110dB ในขณะที่รุ่นล่าสุด DP-430 สามารถขยายอัตราสวิงของความดังได้กว้างขึ้นเป็น 113dB ส่วนตัวเลขอีกตัวคือ “อัตราส่วนสัญญาณ/เสียงรบกวน” หรือ S/N ratio ในรุ่นล่าสุด DP-430 ก็ทำออกมาได้ดีกว่าสองรุ่นก่อนหน้านั้นถึง 3dB
ส่วนสำคัญสุดท้ายที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงอย่างมากก็คือภาค “analog output” ซึ่งเป็นส่วนของการทำงานที่ต่อเนื่องมาจากภาค DAC เพราะหน้าที่ของมันก็คือรับสัญญาณเอ๊าต์พุตจากภาค DAC ไปขยายให้มีความแรงสูงถึงระดับ Line Level ก่อนส่งออกไปให้ภาคแอมปลิฟายต่อไป
ทีมออกแบบของ Accuphase ได้ทำการพัฒนาวงจรขยายของภาค analog out ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อใช้กับรุ่น DP-430 โดยเฉพาะ ให้ชื่อเรียกว่า ANCC มาจาก Accuphase Noise and Distortion Cancelling Circuit ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เพิ่มเกน (gain) ให้กับสัญญาณแล้ว วงจร ANCC นี้ยังสามารถลดอัตราความเพี้ยน THD ลงไปได้ ด้วยการทำให้มันหักล้างกันเองในแต่ละขั้นตอนการทำงานของวงจรขยาย ส่งผลดีต่อรายละเอียดในระดับความดังต่ำๆ (low level resolution) ซึ่งการทำให้สัญญาณรบกวนต่ำลงเพื่อ “เปิดเผย” รายละเอียดในระดับ low level ออกมาเป็นวิธีที่ดีกว่าการขยายสัญญาณทั้งหมดขึ้นมา เพราะการขยายสัญญาณขึ้นมามากๆ จะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือมีความผิดเพี้ยนเกิดกับกับสัญญาณต้นฉบับด้วย
เซ็ตอัพเตรียมลองฟังเสียง
ในการแม็ทชิ่ง DP-430 เข้ากับชุดเครื่องเสียงของคุณ มีอะไรที่คุณต้องจัดการอยู่ 2-3 อย่างเพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด อย่างแรกคือปรับตั้ง Level หรือ “ความแรง” ของสัญญาณเอ๊าต์พุตของ DP-430 ให้เหมาะสมกับอิมพีแดนซ์ อินพุตของช่อง Input ของแอมปลิฟาย ซึ่ง ทีมดีไซเนอร์ที่ออกแบบ DP-430 กำหนดระดับของการปรับเพิ่ม/ลด Level ของเอ๊าต์พุตไว้เท่ากับ -60dB ในโดเมนดิจิตัล ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับเพิ่ม/ลด Level ของสัญญาณเอ๊าต์พุตได้ทีละ 1dB/step
กลไกที่ใช้ในการปรับเพิ่ม/ลด Level ของสัญญาณเอ๊าต์พุตของ DP-430 อยู่บนรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ในกล่อง เป็นปุ่มสีดำสองปุ่มที่มีเครื่องหมาย – (คือกดเพื่อ “ลด” ความดัง) กับ + (กดเพื่อ “เพิ่ม” ความดัง) ส่วนสเกลความดัง–เบาของสัญญาณจะถูกแสดงไว้บนช่องแสดงผลทางขวามือสุดของจอแสดงผล โดยแสดงเป็นตัวเลขที่มีค่าระหว่าง 0 – 60 (ตัวเลข 60 คือเบาสุด และ 0 คือดังสุด)
ประโยชน์อีกข้อสำหรับฟังท์ชั่นนี้คือ ทำให้คุณสามารถเชื่อมต่อเอ๊าต์พุตของ DP-430 เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ได้โดยตรง ซึ่งผมได้ทดลองเชื่อมต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ class D ตัวหนึ่งดูแล้ว เสียงมันออกมาดีมาก รู้สึกได้ถึงความ “pure” บริสุทธิ์, ความใส และความเข้มข้นมวลเสียง ทำให้เกิดเป็นตัวตนของแต่ละเสียงที่มีทรวดทรงชัดเจน ให้ความรู้สึกเหมือนฟังอะไรที่เป็น “ต้นฉบับ” มาก ใครที่ตั้งใจจะใช้ DP-430 เป็นศูนย์กลางของระบบ แนะนำให้ลองหาเพาเวอร์แอมป์ class D ที่มีคุณภาพดีมาลองจับคู่กัน ใช้สายสัญญาณที่มีคุณภาพหน่อย ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้เชื่อมต่อสัญญาณทางช่อง balanced XLR จะได้เสียงที่ที่สุดจาก DP-430 ตัวนี้
* การเชื่อมต่อสัญญาณแบบ Balanced XLR
ยังมีดีไซน์อีกจุดของ DP-430 ที่คุณต้องพิจารณา นั่นคือ สวิทช์เลือกการเชื่อมต่อขั้วสัญญาณของช่องเอ๊าต์พุตบาลานซ์ XLR เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นใช้มาตรฐานในการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบ balanced ด้วยขั้วต่อ XLR ที่ต่างจากทางยุโรปและอเมริกา คือทางญี่ปุ่นจะเชื่อมต่อขั้วที่ 2 เข้ากับสัญญาณเฟสลบ (–) และต่อขั้วที่ 3 เข้ากับสัญญาณเฟสบวก (+) ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาจะเชื่อมต่อขั้วที่ 2 เข้ากับสัญญาณเฟสบวก (+) และต่อขั้วที่ 3 เข้ากับสัญญาณเฟสลบ (-) ซึ่งในอดีตนั้นเรื่องนี้มักจะหลงลืมกันบ่อยๆ เมื่อเอาเครื่องเล่นซีดีของ Accuphase ไปต่อเล่นกับแอมป์ของค่ายทางอเมริกาหรือยุโรป หรือในทางตรงข้ามกัน ซึ่งหากไม่ทำการสลับเฟสของสัญญาณตรงจุดใดจุดหนึ่งของระบบ สัญญาณเสียงที่ออกมาจากลำโพงก็จะผิดเฟส เสียงจะไม่ดี แต่ฟังยาก
ต้องขอบคุณทีมออกแบบของ Accuphase ที่ให้สวิทช์โยกนี้มา (ศรชี้ในภาพข้างบน) ทำให้สะดวกในการแก้ไขเฟสสัญญาณให้ถูกต้องโดยไม่ต้องไปสลับสายลำโพง หรือต้องถึงกับสลับเส้นตัวนำที่สายสัญญาณเหมือนในอดีต ใครเอา DP-430 ไปใช้กับปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ในซิสเต็มของคุณ ด้วยขั้วต่อบาลานซ์ XLR อย่าลืมตรวจเช็คเรื่องเฟสด้วย
ทีมออกแบบของ Accuphase จัดความแรงสัญญาณเอ๊าต์พุตของ DP-430 ออกมาเท่ากันทั้งขั้วต่อ XLR (Balanced) และ RCA (Unbalanced) คืออยู่ที่ 2.5V ที่โหลด 50 โอห์ม ดังนั้น ความแตกต่างของเสียงที่ปล่อยออกจากเอ๊าต์พุตทั้งสองช่องของ DP-430 จึงต่างกันแค่ทาง XLR ให้สัญญาณรบกวนต่ำกว่า ในการทดสอบเสียงของ DP-430 ผมลองฟังทั้งจากการเล่นแผ่นซีดีและใช้อินพุตดิจิตัล โดยเน้นไปที่ช่องอินพุต USB มากเป็นพิเศษ
เสียงของ DP-430
ผมเริ่มด้วยการลองฟังจากการเล่นด้วยแผ่นซีดีก่อน หลังจากอ่านข้อมูลการออกแบบของ DP-430 ไปด้วยขณะลองฟัง ผมก็คาดเดาว่า เสียงที่เล่นจากแผ่นซีดีจะต้องออกมานุ่มนวล เนียนสะอาดมากๆ อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ผมได้ยินจากการเล่นแผ่นซีดีผ่าน DP-430 ก็เป็นไปอย่างที่คาด สิ่งแรกที่ได้ยินคือความสะอาดเนียนของเสียง ซึ่งในอดีตนั้นผมก็เคยใช้เครื่องเล่นซีดีของ Accuphase มาก่อน เป็นรุ่นแรกๆ คือ DP-60 ใช้ชิป DAC 18bit เสียงก็ออกมานุ่มเนียนมากเมื่อเทียบกับเสียงของเครื่องเล่นซีดีตัวอื่นๆ ในยุคโน้น จุดเด่นคือ “เนื้อเสียง” ที่ออกมาเนียน, หนานุ่ม และเนื้อเสียงเข้มข้นกว่าเครื่องเล่นซีดีของญี่ปุ่นเจ้าอื่นๆ ทั้งหมด.. วันนี้ DP-430 ก็ยังคงรักษาจุดเด่นตรงจุดไว้ได้อย่างมั่นคง
ทว่า.. เนื่องจากต้นทางสัญญาณจากแผ่นซีดีตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงปัจจุบัน มันยังคงมีเรโซลูชั่นอยู่ที่ 16bit/44.1kHz เท่าเดิม แม้ว่า Accuphaseจะได้ทุ่มเทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในปัจจุบันและทุ่มเทความพิถีพิถันในรายละเอียดแต่ละจุดลงไปอย่างเต็มที่ จนทำให้ได้ผลลัพธ์ของเสียงที่ได้จากแผ่น CD มันออกมาจนสุดปลายทางของฟอร์แม็ตแล้ว เมื่อเทียบกับเครื่องเล่นซีดีในยุคก่อนหน้าที่ใช้ชิป DAC 24bit/192kHz เสียงของแผ่นซีดีที่เล่นผ่าน DP-430 ตัวนี้จะให้ความโปร่งโล่งที่ดีกว่า และให้ความไหลลื่นของไดนามิก คอนทราสน์มากกว่า เสียงเปิดกว้างและเป็นอิสระออกไปมากกว่า แต่ก็ในระดับเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ายุคก่อนไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า ในปัจจุบันนี้น่าจะหาเครื่องเล่นซีดีที่ให้เสียงจากแผ่นซีดีออกมาได้ดีเท่ากับ DP-430 ตัวนี้ได้ยากเต็มทีแล้ว ถ้าคุณต้องการเสียงที่ดีที่สุดด้วยการเล่นแผ่นซีดีของคุณด้วยเครื่องเล่นซีดี ผมขอแนะนำให้พิจารณา DP-430 ตัวนี้เลย..
เสียงของ DP-430
จากช่อง Digital Input
ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย กับการเล่นแผ่นซีดีบนเครื่องเล่นซีดี หรือบนเครื่องเล่นดีวีดี หรือบนเครื่องเล่นบลูเรย์ตัวอื่นแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลมาเข้าที่ช่อง Optical หรือ Coaxial ของ DP-430 เพราะมันไม่ได้ทำให้ได้เสียงที่ดีกว่าเล่นผ่านภาคซีดีทรานสปอร์ตในตัว DP-430 เอง ผมกล้าสรุปแบบนี้เพราะได้ลองเล่นแผ่นซีดีจากเครื่องเล่นดีวีดีของ Oppo รุ่น DV-980H แล้วปล่อยสัญญาณดิจิตัลมาเข้าที่ช่อง Coaxial ของ DP-430 ปรากฏว่าเสียงออกมาสู้เล่นจากภาคซีดีทรานสปอร์ตของ DP-430 เองไม่ได้เลย ห่างกันเยอะมาก.!
ถ้าคิดจะใช้ประโยชน์จากช่องอินพุต Coaxial หรือ Optical ของ DP-430 ผมแนะนำให้หาตัวมิวสิค สตรีมเมอร์แบบที่ไม่มี DAC ในตัว* มาใช้สตรีมเพลงแล้วส่งสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์พุตมาให้ภาค DAC ในตัว DP-430 แปลงเป็นอะนาลอกให้จะเวิร์คมาก..
* อาทิเช่น
– Auralic รุ่น Aries G1 (ราคา 79,000 บาท)
– Auralic รุ่น Aries G2 (ราคา 139,000 บาท)
– Aurender รุ่น N100H (ราคา 119,000 บาท)
– Lumin รุ่น U1 Mini (ราคา 69,000 บาท)
แต่โมเม้นต์ที่ผมรู้สึกมีความสุขกับการทดสอบ DP-430 มากที่สุดคือตอนที่ผมเซ็ตอัพ roon : nucleus+ เป็นไฟล์ทรานสปอร์ต เพื่อสตรีมไฟล์เพลงมาเล่นแล้วส่งสัญญาณ PCM/DSD ไปที่ DP-430 ผ่านเข้าทางช่อง USB ของ DP-430 ซึ่งแบบนี้มันทำให้ผมสามารถเล่นไฟล์เพลง “ทุกระดับ” ที่ผมมีอยู่ในฮาร์ดดิส ตั้งแต่ PCM 16/44.1 ไปจนถึง DXD 32bit/384kHz และ DSD64 ไปจนถึง DSD128 ผ่านภาค DAC ของ DP-430 ออกมาฟังได้ นอกจากนั้น ผมยังสามารถดึงไฟล์เพลงจาก TIDAL และผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตเจ้าอื่นๆ มาเล่นแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลเอ๊าต์พุตไปให้ภาค DAC ของ DP-430 ช่วยแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกออกมาให้ฟังได้อีกด้วย
เมื่อได้ลองฟังด้วยไฟล์เพลง Hi-Res ที่ผมมีอยู่ในฮาร์ดดิส นั่นคือโอกาสที่ทำให้ผมเข้าถึง “ศักยภาพ” ที่แท้จริงของ DP-430 !!
ภาค DAC ในตัว DP-430 ทำให้ผมค้นพบอะไรบางอย่าง ที่ผ่านมา ผมเคยฟังเสียงของ external DAC ที่มีความสามารถในการแปลงสัญญาณสูงถึงระดับ 32bit/384kHz & DSD128 มาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถสูงสุดในปัจจุบัน ทว่า ภาค DAC ในตัว DP-430 มันให้ “บุคลิกของเสียง” บางอย่างที่ต่างไปจาก extrenal DAC เหล่านั้น และต่างไปจากบุคลิกเสียงของ Accuphase ที่ผมเคยได้ยินไปพอสมควรด้วย..
album : Nothing For Granted (FLAC 24/44.1)
artist : Sandra Nkake
ผมเก็บอัลบั้มนี้ไว้ใน waiting list สำหรับการตรวจสอบคุณภาพเสียงมาสอง–สามปีแล้ว และเคยหยิบมันออกมาทดสอบคุณภาพเสียงอยู่สอง–สามครั้งหลังจากเซ็ตอัพซิสเต็มลงตัว ซึ่งผมหมายเหตุอัลบั้มนี้ไว้ในกลุ่มของงานเพลงที่มีโครงสร้างของดนตรีที่ซับซ้อน อยู่ในกลุ่มของอัลบั้มที่ต้องการซิสเต็มที่ดีพอ + ต้องการระดับความแม็ทชิ่งที่เหมาะสมระหว่างแอมป์กับลำโพง + ต้องการตำแหน่งลำโพงที่เซ็ตอัพได้ลงตัวเป๊ะๆ จึงจะสามารถดึงอรรถรสของแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้ออกมาตีแผ่ได้อย่างแจ่มแจ้ง ถ้าซิสเต็มไม่อยู่ในสถานะข้างต้น จะฟังอัลบั้มนี้ไม่ได้อรรถรสเลย
เนื้อไฟล์ของอัลบั้มนี้มีอยู่แค่ FLAC 24/44.1 เท่านั้น ไม่ได้ละเอียดมาก เท่าที่เคยฟังผ่านภาค DAC ที่ใช้ชิป DAC ระดับ 24bit/192kHz ผมพบว่า เสียงโดยรวมของอัลบั้มนี้ยังมีอาการแห้งๆ หยาบๆ เกาะติดมากับเสียงกลางและเสียงแหลมอยู่พอสมควร ซึ่งเสียงร้องของศิลปินคนนี้จะออกโทนแหบแห้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อฟังผ่านภาค DAC ในตัว DP-430 ผมพบว่า ความแห้งและหยาบที่เคยได้ยินมันน้อยลงไปมาก ทั้งๆ ที่เสียงร้องของเธอคนนี้ก็ยังคงมีความแหบแห้งลงคอปรากฏออกมาให้ได้ยิน ทว่า คราวนี้มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นอาการแหบแห้งที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบแปลงสัญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง ฟังแล้วกลับรู้สึกว่า ลักษณะเหล่านั้นมันคือ signature เฉพาะของงานอัลบั้มชุดนี้ ที่ทำให้แนวเสียงของมันแตกต่างไปจากอัลบั้มอื่นๆ และไม่ได้รบกวนการเสพอรรถรสของเพลงเลยแม้แต่น้อย เพราะหลังจากทดลองฟังอัลบั้มอื่นที่มีเสียงร้องผู้หญิง ก็ไม่ได้ยินอาการแหบแห้งแบบนั้น
album : Bags meets Wes!
artist : Milt Jackson and Wes Montgomery
นี่เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มในจำนวนหลายๆ อัลบั้มที่ผมใช้ฟังทดสอบภาค DAC ของ DP-430 แล้วมันแสดงผลลัพธ์ที่โดดเด่นบางอย่างออกมาให้รับรู้ได้ชัดมาก คือในช่วงที่ภาค DAC อยู่ในยุคที่ใช้ชิป 24/192 ในการแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอก ผมพบว่ามันใช้ฟังไฟล์เพลงแนวสแตนดาร์ด แจ๊สที่บันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงปี ’50 ปลายๆ ถึงปี ’60 ช่วงกลางๆ ออกมาไม่ค่อยดี คือบรรยากาศของมันไม่เจาะทะลุลงไปเป็นโถงด้านหลังเหมือนกับการฟังด้วยแผ่นเสียงกับแอมป์หลอดที่ให้บรรยากาศดีกว่า อบอวลกว่า ให้รูปเวทีเสียงที่ทะลุทะลวงมากกว่า แม้ว่าตัวไฟล์เพลงหลายๆ ชุดในยุคนั้นที่ผมมีจะเป็นไฟล์ไฮเรซฯ FLAC 24/96 ที่ซื้อมาจากเว็บไซต์ Hdtracks.com ก็ตาม แต่เสียงที่ออกมายังสู้ฟังอัลบั้มเดียวกันที่เป็นเวอร์ชั่นแผ่นเสียงไม่ได้ ผมได้เก็บรวบรวมไฟล์เพลงเหล่านี้ไว้และเอามาทดสอบกับ DAC เวอร์ชั่นใหม่ๆ เสมอ และพบว่าเสียงของไฟล์เพลงเหล่านี้จะออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อภาค DAC ได้รับการพัฒนาไปใช้ชิป DAC ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
วันนี้ผมลองเอาไฟล์เพลง FLAC 24/96 ของอัลบั้มชุด Bags meets Wes! ที่ผมมีอยู่ในฮาร์ดดิสออกมาลองฟังกับ DP-430 อีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ผมได้ยินมันทำให้ผมต้องรีบหยิบโน๊ตบุ๊คมาจดบันทึกทันที.!
อัลบั้มชุดนี้อยู่ในสังกัด Riverside ถูกบันทึกเสียงไว้ตั้งแต่ปี 1961 ที่ Plaza Sound Studios, นิวยอร์ค เป็นงานประชันฝีมือระหว่างมือกีต้าร์ Wes Montgomery กับมือไวบราโฟน Milt Jackson โดยมีเสียงกลอง (Philly Joe Jones), เบส (Sam Jones) และเปียโน (Wynton Kelly) คอยเสริม สิ่งที่ผมได้ยินจากอัลบั้มนี้ก่อนหน้าโน้นคือเสียงที่มีลักษณะจมและอับทึบในย่านกลางต่ำลงไปถึงทุ้ม เสียงเบสกับกระเดื่องกลองจะมีลักษณะคลุมเครือ บอดี้ของโน๊ตส่วนใหญ่กลืนเข้าหากันจนทำให้แยกแยะรายละเอียดออกจากกันได้ไม่ขาด พอผมพยายามเร่งวอลลุ่มเพื่อดึงรายละเอียดขึ้นมา เวทีเสียงและสมดุลเสียง (tonal balanced) ก็จะเสียรูปไปเลย
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น วงกลมสีฟ้าในรูปข้างบนนี้คือลักษณะซาวนด์สเตจของเพลง “Jingles” ในอัลบั้ม Bags meets Wes! ที่ผมได้ยินและรับรู้สมัยเมื่อฟังกับ external DAC เจนเนอเรชั่นที่ใช้ชิป DAC 24/96 และ 24/192 ส่วนใหญ่ ในขณะที่วงกลมสีชมพูในภาพข้างบนนั้นคือลักษณะซาวนด์สเตจของเพลงเดียวกันนี้ที่ผมได้ยินคืนนี้ เมื่อฟังกับช่องอินพุต USB ของ DP-430 อย่างแรกที่รับรู้ได้ก่อนเลยก็คือซาวนด์สเตจที่เปิดกว้างและโล่งออกไปรอบด้าน เสียงดนตรีทั้งหมดครอบคลุมอาณาเขตที่กว้างขวางมากกว่าที่เคยฟังอย่างชัดเจน ที่เด่นมากคือทางด้านลึกที่ทำให้ผม “รู้สึก” ได้ถึงความเป็นเลเยอร์ของรูปวงที่วางซ้อนลึกลงไปด้านหลังระนาบวางลำโพงเป็นชั้นๆ เสียงสแนร์ ไฮแฮท และฉาบที่ Philly Joe Jones ตีมันมีจุดตำแหน่งของมันเองที่ถอยร่นลงไปอยู่ในเวทีเสียงด้านหลังระนาบลำโพง ก่อร่างเป็นมโนภาพของกลองชุดขึ้นมาเลาๆ ในสมองของผม เสียงกีต้าร์ของ Wes กังวานออกมาจากลำโพงขวา โน๊ตแต่ละตัวหลุดลอยออกมาในอากาศ ในขณะที่เสียงไวบราโฟนของ Milt Jackson ก็ลอยคว้างอยู่บนพื้นที่อากาศระหว่างลำโพงทั้งสองข้าง วิ่งวนไป–มาแทบจะมโนเห็นเป็นภาพหัวไม้นวมที่กวัดแกว่งลงไปบนแท่งโลหะ
เมื่อฟังผ่านภาค DAC ของ DP-430 ภาพของเสียงที่ปรากฏออกมามันฟ้องชัดว่า Ray Fowler ซึ่งเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ผู้บันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้ยังเก็บเสียงเบสของ Sam Jones มาได้ไม่ดีนัก ผมแค่ได้ยินว่ามีเสียงโน๊ตเบสของแซมเดินวนอยู่ด้านหลังของลำโพงข้างซ้าย ซึ่งคราวนี้ ผมสามารถแยกเสียงโน๊ตเบสของแซมกับเสียงย่ำกระเดื่องของ Philly Joe Jones ออกจากกันได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถโฟกัสตำแหน่งของเสียงทั้งสองออกมาได้ชัดเปะๆ รู้สึกว่าเวทีเสียงที่มุมลึกๆ ลงไปด้านหลังลำโพงซ้ายจะมีลักษณะที่มืดทึบ ไม่กระจ่างใสเท่ากับเวทีเสียงทางซีกขวา ซึ่งอาจจะเป็นปัญหามาจากการวางไมค์ฯ หรือสภาพอะคูสติกบริเวณนั้นก็เป็นได้
นี่ไม่ได้หมายความว่า DP-430 ให้เสียงทุ้มไม่เคลียร์ เพราะผมได้ลองเอาเพลงที่บันทึกมิติด้านลึกชัดๆ มาลองฟังแล้ว มันก็แสดงรายละเอียดของเสียงที่อยู่ถอยลงไปลึกๆ ในเวทีเสียงออกมาให้ได้ยินได้ชัด นี่ก็หมายความว่า DP-430 มันฟ้องให้เห็นถึงจุดที่เป็นปัญหาของการบันทึกเสียงที่เกิดขึ้นในเพลง Jingles นี้ออกมาให้เห็น แสดงถึงความสามารถทางด้าน S/N ratio ที่ดีเยี่ยม ทำให้ผมไม่ต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นมาก็รับรู้ได้ถึงรายละเอียดหยุมหยิมที่อยู่ลึกๆ ลงไปด้านหลังของระนาบลำโพงได้อย่างชัดเจน ซึ่งจริงๆ แล้ว บางเสียงในเพลงก็ไม่ได้ดังพุ่งออกมามาก แต่ผมก็สามารถได้ยินและรับรู้ว่ามีมันอยู่ตรงนั้น ไม่ได้พยายามดันตัวเองขึ้นมาเรียกร้องความสนใจ หากแต่ผสมกลมกลืนไปในบรรยากาศของการบรรเลงนั้นโดยไม่ถูกกลืนหายไป
ความสามารถในการถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงที่มีระดับความดังต่ำๆ (low level signal) ของ DP-430 มันทำออกมาได้ดีมากๆ ถ้าให้เดา ผมคิดว่า น่าจะเป็นมรรคผลมาจากดีไซน์ของภาค DAC แบบ MDS ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Accuphase นั่นเอง
คุณอาจจสงสัยว่า อะไรคือสิ่งที่ผมบอกว่า เสียงของ DP-430 ต่างไปจากเสียงของ Accuphase เดิมๆ ที่ผมเคยฟังมา? เสียงที่ผมได้ยินจากภาค DAC ของ DP-430 ตัวนี้มันต่างจากบุคลิกของเสียงที่ผมคุ้นเคยจากเครื่องเล่นซีดีของ Accuphase ที่เคยใช้งานมา เมื่อพยายามตั้งใจจับประเด็นความต่างที่ว่า ผมคิดว่าน่าจะเป็น “ความสด” ของเสียงนี่แหละ คือเดิมทีนั้นผมมีความรู้สึกว่า เสียงของเครื่องเล่นซีดี Accuphase เดิมๆ มันมีลักษณะที่เนิบช้าและทอดหุ่ยมากกว่านี้เยอะ สปีดของอิมแพ็คมันไม่เร็วและกระชับเหมือนที่ได้ยินคืนนี้ อ้อ.. ยิ่งตอนเล่นไฟล์เพลงจาก roon : nucleus+ เข้าไปทางช่อง USB ของ DP-430 เสียงที่ได้แทบจะไม่มีเค้าของ Accuphase ที่คุ้นเคยเลย เรียกว่าถ้าไม่บอกให้รู้ว่ากำลังฟังเสียงของเครื่องเล่นซีดี Accuphase ก็ยากที่จะเดาถูก ซึ่งประเด็นนี้ผมว่าเป็นข้อดีของ DP-430 นะ ผมชอบ เพราะมันทำให้ sound ของดนตรีที่ฟังมีความถูกต้องตรงตาม sound ของเพลงประเภทนั้นๆ มากขึ้น คือมีลักษณะเจือปนของสีสันน้อยลงนั่นเอง
album : Love Is The Thing
artist : Nat ‘King’ Cole
อือมม.. เมื่อพิจารณามาถึงประเด็นของ “สีสัน” ที่ว่านี้ ผมก็นึกถึงเพลงที่เน้นความละเมียดละมัยกับโทนเสียงร้องอุ่นๆ อิ่มๆ ของนักร้องรุ่นเก่าๆ อย่าง Nat ‘King’ Cole กับอัลบั้มชุด Love Is The Thing ที่มีลีลานุ่มนวล หนานุ่ม และอิ่มฉ่ำ ซึ่งผมเคยเอามาฟังกับเครื่องเล่นซีดี DP-60 ของ Accuphase ในยุคโน้นและยังจำบุคลิกเสียงได้ และผมคิดว่า สิ่งที่ Accuphase ทำลงไปในอุปกรณ์เครื่องเสียงของเขามันช่วยทำให้เพลงแนวนี้ฟังแล้วได้อรรถรสดีขึ้นมาก
วันนี้ผมจึงเลือกไฟล์ WAV 16/44.1 ซึ่งเป็นไฟล์ของอัลบั้มชุดนี้ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีของค่าย DCC Compact Classics ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่รีมาสเตอร์โดย Steve Hoffman ด้วยเครื่องหลอด 300B ของ Western Electrics ปั๊มลงซีดีแผ่นทอง มาเล่นผ่านช่องอินพุต USB ของ DP-430 ดูเพื่อตรวจเช็คบุคลิกเสียงของ DP-430 ทันทีที่เสียงพุ่งผ่านลำโพงออกมา มันมีทั้งความนุ่มเนียน อิ่มฉ่ำ ไหลลื่น ซึ่งเป็นบุคลิกของ Accuphase เปิดตัวออกมาก่อนเลย แต่ภายใต้บุคลิกเหล่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่ฟังแปร่งหูไปจากบุคลิกเสียงของ Accuphase เดิมๆ สิ่งนั้นก็คือ “สปีด” ของเพลงที่ทำให้เกิดความรู้สึก “สด สมจริง” เจือปนอยู่มากกว่าเมื่อก่อน อย่างเช่นเสียงสตริงจากเพลง The Very Thought Of You ที่เคยฟังเมื่อก่อนมันไม่ได้ให้ความรู้สึกพุ่งเปิดแบบมีประกายที่สดใสแบบที่ได้ยินคืนนี้ เท่าที่จำได้ สมัยก่อน เสียงสตริงมันจะออกหม่นๆ และโรยตัว ฟังแล้วให้บรรยากาศเหมือนกำลังชมพระอาทิตย์ตอนพลบค่ำ ในขณะที่ฟังคืนนี้ กับ DP-430 ตัวนี้ ผมกลับมีความรู้สึกเหมือนกำลังยืนชมพระอาทิตย์ตอนเช้าที่กำลังจะโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สดใสมากกว่า มีชีวิตชีวามากกว่า รวมไปถึงเสียงร้องของ Nat ‘King’ Cole ก็ยังฟังดูนุ่มนวล แต่ทว่าคราวนี้มันมีพลังแฝงปรากฏอยู่ในน้ำเสียงด้วย คือรับรู้ได้ถึงอาการควบคุมลมหายใจในการขับร้องแต่ละพยางค์ออกมามากกว่าเมื่อก่อน คือไม่ได้ร้องแบบทอดเสียงยวบยาบไปเรื่อยๆ เหมือนคนอ่อนแรงอย่างที่เคยได้ยินสมัยโน้น
สรุป
ราคาค่าตัวของ DP-430 อยู่ที่แสนกลางๆ ซึ่งมีเพื่อนในเพจท่านหนึ่งสอบถามเจาะจงที่ Accuphase ตัวนี้เข้ามาก่อนหน้านี้ คุ้มมั้ยที่จะลงทุน.? วันนี้ผมได้ทดลองเล่นกับ DP-430 จนทะลุปรุโปร่งแล้ว ลองมานั่งคำนวนประสิทธิภาพของมันเปรียบเทียบกับราคาขายดูคร่าวๆ แล้ว ในความเห็นของผม ผมคิดว่า ถ้าโจทย์ที่คุณตั้งให้กับตัวเองแต่แรกคือ..
“.. อยากได้เครื่องเล่นแผ่นซีดีที่มีฟังท์ชั่น DAC ในตัวที่สามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลงได้ดี รองรับทั้ง PCM และ DSD ได้ครบ และเสียงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดีคุ้มเงินแสนกว่าๆ ..”
ผมก็อยากจะสรุปให้ว่า คุณเล็งไว้ถูกตัวแล้ว เพราะผมคิดว่า Accuphase DP-430 ตัวนี้ตอบโจทย์ของคุณได้ครบทั้งหมดตามที่คุณต้องการแล้วล่ะครับ.!! /
************************
ราคา : 160,000 บาท / ตัว
************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
Hi-End Audio
โทร. 02-101-1988
facebook : Hi-End Audio