[1] เปลี่ยนผ่านสู่ความงอกงามทางดนตรีของ พิงค์ ฟลอยด์
‘A Saucerful of Secrets’ เป็นอัลบั้มที่เริ่มแสดงถึงวิวัฒนาการทางเสียงและแนวดนตรี เป็นจุดสิ้นสุดยุคของ ซิด บาร์เร็ตต์ การก่อเกิดปฐมบทของ เดวิด กิลมอร์ สะท้อนกลับภาพดนตรีและสุนทรียศาสตร์ที่แตกต่างออกไป
หากมองดูภาพรวมทั้ง 7 บทเพลง ในอัลบั้มที่มีความยาวทั้งหมด 38.85 นาที แสดงให้เห็นความหลากหลายที่กลมกลืนมากขึ้นของทั้งวงในหลายๆบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเพลงในแบบของ ริค ไรต์ มือออร์แกน ในบทเพลง ‘Remember the Day’ หรือเป็นการเน้นย้ำสไตล์ในแบบไซเคเดลิค ร๊อค แบบอังกฤษที่สวยงามไร้เดียงสาของ ซิด บาร์เร็ตต์ ในบทเพลง ‘Jugband Blues’
ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ขยายเนื้อหาในการเขียนเพลงแบบมหากาพย์ด้านเนื้อหาที่ครุ่นคิดอย่าง ‘Let There Be More Light’ กับ ‘Set the Controls for the Heart of the Sun’ ซึ่งเป็นแนวทางของบทเพลงที่ส่งพัฒนาการไปสู่ความเป็นโปรเกรสสีฟ ร๊อค ในแบบของ พิงค์ ฟลอยด์ ที่ปรากฏเค้าลางออกมาเด่นชัด
David Gilmour
จากปากคำของ เดวิด กิลมอร์ ที่บอกเล่ากับนิตยสาร กีตาร์ เวิร์ลด์ (Guitar World) ในปี 1993 (พ.ศ.2536) ได้ย้อนความหลังถึงการเข้ามาร่วมวงทีแรกว่า ทางวงต้องการให้เขาเล่นกีตาร์และร้องเพลงกับ ซิด บาร์เร็ตต์ เพราะไม่มีใครต้องการร้อง เขาก็ถูกเลือกด้วยคำเรียกร้องว่าเป็นงานที่ต้องทำของกิลมอร์
การออกตระเวนแสดงสดที่ เดวิด กิลมอร์ ได้ร่วมเวทีเดียวกับ ซิด บาร์เร็ตต์ ประมาณ 5 เวที ซึ่งกิลมอร์ก็บอกว่า เขาจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และในการเข้าห้องบันทึกเสียงในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ‘A Saucerful of Secrets’ ก็ไม่ต้องการที่จะใช้เพลงและดนตรีที่มาจากวัตถุดิบและความคิดของซิด
ว่าไปแล้วอัลบั้มชุดนี้ก็เป็นความท้าทายสำหรับ เดวิด กิลมอร์ ในฐานะมือกีตาร์และผู้ร่วมเขียนเพลงที่มาเป็นสมาชิกใหม่แบบกลางคันอยู่ใช่น้อย การค้นหารอยทางของตัวเองให้ติดผนึกเป็นจำหลักในซาวด์ของ พิงค์ ฟลอยด์ ให้ได้ เขาสามารถทำสิ่งที่เหลือเชื่อให้เกิดขึ้นได้ ด้วยลูกโซโล่ทิ้งท้ายในบทเพลง ‘Let There Be More Light’ ได้กลบฝังซาวด์ของผู้มาก่อนให้กลายเป็นอดีต และเปิดยุคใหม่ของเขาในวงให้เกิดขึ้นได้อย่างละเมียดละมัยไม่หักล้างกันและกัน
การส่งผ่านได้เกิดขึ้นแม้จะมีร่องรอยของ ซิด บาร์เร็ตต์ อยู่ก็ตาม แต่การเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นอาร์ตร๊อคและเอ็กซ์เพอริเมนทัลกลับมีมากขึ้นอย่างเข้าใจในซาวด์ที่แปรผันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญจากชุดแรก ซึ่งร่องรอยของความเป็น โปรเกรสสีฟ ร๊อค เริ่มฉายแววออกมา โดยในตอนนั้นยังแยกไม่ออกและซ้อนซับทับเหลื่อมอยู่กับอาร์ตร๊อค เห็นถึงความพยายามในการยกระดับดนตรีร๊อคขึ้นอีกระดับ เข้าสู่มิติใหม่ที่ซับซ้อนในลักษณะของสุนทรียศาสตร์ของการฟังแบบใหม่ที่ไม่ใช่ดนตรีร๊อคหัวก้าวหน้าแบบเดิมๆ แต่มีเนื้อมีหนังและกระดูกสันหลังที่แข็งแกร่งของเนื้อสารและดนตรีมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกที่ไหลวูบผ่านอย่างจับจดในแบบไซเคเดลิค ร๊อค
เพราะฉะนั้นในบทเพลงบรรเลงหรืออินสทรูเมนต์ ‘A Saucerful of Secrets’ ความยาวเกือบ 12 นาที ที่แบ่งออกเป็น 4 พาร์ต หรือ 4 ส่วน และมีความละเอียดลออทางโครงสร้างดนตรี จึงเป็นมิติใหม่ของวง และถูกนำมาเป็นชื่ออัลบั้ม ซึ่ง เดวิด กิลมอร์ ได้ย้อนกลับความทรงจำถึงบทเพลงนี้ว่า มันมีความสับสนในการผสมผสานให้กลมกลืนกันระหว่างซาวด์เอฟเฟ็คต์ การร้องประสานเสียง และเสียงจากเมลโลโทรน ที่หลอนลอย
(เมลโลโทรน คือ เครื่องเล่นเทปแม่เหล็กชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบของคีย์บอร์ด ทำงานคล้ายๆ กับคีย์บอร์ดประเภทเปียโน และออร์แกน แต่สามารถให้เสียงออกมาเป็นเครื่องดนตรีสารพัดชนิด เป็นลักษณะของ Sample-Playback รวมถึงเป็นคีย์บอร์ดประเภท Polyphonic ชิ้นแรกของโลก สามารถสร้างเสียงไวโอลิน เชลโล เครื่องเป่าทองเหลือง เครื่องเป่าลมไม้ เสียงประสาน และอื่นๆ ได้ด้วยนักดนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงกลายเป็นเป็นเครื่องดนตรีที่ล้ำยุคในยุคทศวรรษที่ 60-70 และกลายเป็นเครื่องดนตรีเอกลักษณ์ของดนตรีโปรแกรสสีฟ ร็อค ในยุคทศวรรษที่ 70)
บทเพลงนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอัลบั้มอย่างแท้จริง และทิ้งซิดไว้ข้างหลัง เดวิด กิลมอร์ ยอมรับว่า ทางวงยังไม่รู้หรือคิดว่าแนวทางดนตรีจะไปทางไหน หลังจากที่ซิดแยกจากไป บทเพลงและอัลบั้ม ‘A Saucerful of Secrets’ จึงมีความสำคัญมากๆ ที่ช่วยชี้ทางและกำหนดทิศทางดนตรีว่าจะเดินไปข้างหน้า และแสดงถึงความล้ำยุคแบบพวกหัวก้าวหน้าได้อย่างไร และเป็นที่มาของสูตรทำเพลงในอัลบั้มชุดหลังๆ ไม่ว่า ‘Atom Heart Mother‘ ในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ที่ใช้ชื่อเดียวกัน ‘Echoes‘ ในอัลบั้ม ‘Meddle’ และแนวทางดนตรีในการทำเพลงจากจุดนี้ผ่านประสบการณ์ทั้งหมดที่ชำนาญและเคี่ยวกรำจนตกตะกอนนำมาสู่อัลบั้ม ‘Dark Side of the Moon’ ที่นำพาวงพิงค์ ฟลอยด์ ขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดของยุคสมัยและกลายเป็นตำนานอมตะของวงการดนตรีร่วมสมัยของโลก
ความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับอัลบั้ม ‘A Saucerful of Secrets’ ไม่ใช่ความลึกลับอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ แต่กลับเป็นธาตุหรือสารตั้งต้นของทางวงที่เข้ามาอย่างฉับพลันรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และกลายเป็นความหลงใหลตรึงใจในการสร้างอัตลักษณ์ทางดนตรีอย่างงอกงาม
[2] ซับซ้อนซ่อนทับวิวัฒน์ทางดนตรีในบทเพลง ‘A Saucerful of Secrets’
เมื่อมาลงลึกถึงบทเพลงนี้ที่จัดวางอยู่ในลำดับที่ 5 ของอัลบั้ม และมีความยาว 11.51 นาที แบ่งเป็น 4 พาร์ต ‘A Saucerful of Secrets’ เป็นการเขียนเพลงร่วมกันทั้งวง ยกเว้น ซิด บาร์เร็ตต์ สิ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริง พวกเขาจะรับมือกับความกลัว และเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าในเชิงชั้นดนตรีอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงอย่างไร เพื่อจะสร้างเอกลักษณ์ทางดนตรีของวงดนตรีพิงค์ ฟลอยด์ ที่ไม่ใช่อัตลักษณ์ของ ซิด บาร์เร็ตต์
พัฒนาการทางดนตรีจุดนี้เป็นย่างก้าวแรกบนเส้นทางที่เป็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีการวางคอนเซ็ปต์หรือแนวความคิดหลักของเพลงที่มีความยาวของเรื่องราวที่จะส่งสารออกมา แทนที่จะเป็นรูปแบบอิสระในการด้นสดหรือใช้ปฏิภาณวูบไหวตามอารมณ์ในแบบที่ ซิด บาร์เร็ตต์ โปรดปรานเฉพาะตัวและทำมาโดยตลอด
วงพิงค์ ฟลอยด์ ได้เริ่มต้นเข้าไปสู่ต้นแบบทางดนตรีที่แบ่งชั้นที่ยากจะทำความเข้าใจของคนฟัง เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จากความพัวพันสับสนกลายเป็นความเชี่ยวชำนาญในการผลิตดนตรีในรูปแบบนี้ พิมพ์เขียวที่มีการขยายครอบคลุมสู่การอัดซ้ำทับซ้อนลงไปหรือโอเวอร์ดับบิ้ง ให้มิติของเสียงในหลายระดับ รวมถึงมโนคติทางดนตรีที่แปลความหมายอย่างประณีตละเอียดซับซ้อนภายใต้โครงสร้างของชิ้นดนตรีนั้นๆ ซึ่งเป็นความอลังการของดนตรีสมัยนิยมที่ไม่มีมาก่อน ที่นำเทคนิควิธีคิดของดนตรีคลาสสิคเข้ามาใช้
ซิด บาร์เร็ตต์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านทางดนตรี ถูกทิ้งไว้กลางทางด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ได้เคยพูดถึงบทเพลงนี้ไว้ว่า “พวกเขาเลือกส่วนประกอบในการทำเพลงได้เด็ดขาดมาก สิ่งที่พวกเขาคิด มันก็คือวิธีเดียวกับนักศึกษาสถาปัตย์คิดกัน”
โรเจอร์ วอเตอร์ส มือเบสที่เป็นโต้โผหลักในการเขียนเพลงนี้ ยอมรับเลยว่า บทเพลงนี้มอบลมหายใจบนเส้นทางดนตรีอีกเฮือกให้กับวงพิงค์ ฟลอยด์ โดยแท้จริง ทำให้อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ในตอนแรกค่ายเพลงพยายามจะให้ทำเพลงเดินตามรอยทางชุดแรก แต่พวกเขาต้องการขยายเพลงให้แยกเป็นชิ้นๆ และมีความยาวโดยรวมที่ยาวมากขึ้น เพราะรู้ว่าต้องการอะไรจนเพลงมีความยาวเกือบ 12 นาที พอมันประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชมของคนฟัง ค่ายเพลงก็ชอบและมีท่าทีที่ดี
จากตรงนี้ทำให้วงพิงค์ ฟลอยด์ ได้มาถึงสิ่งใหม่ในการที่ทางวงได้สร้างสรรค์คือ บทเพลงที่มีเอกภาพและแสดงถึงเอกลักษณ์ออกมา รวมถึงวิธีการทำงานในรูปแบบของวงด้วย ซึ่งแต่เดิมออกมาจากปัจเจกความคิดเพียงคนเดียวของซิดเป็นหลักใหญ่ กลายมาเป็นพวกเขาทั้งวงมานั่งล้อมและสาดไอเดียเข้าหากัน จนกระทั่งมีบางสิ่งค่อยเชื่อมกันติดแล้วก็เริ่มทำเพลงด้วยกันทั้งหมด เป็นความแตกต่างในความคิดของแต่ละคนที่ในที่สุดก็มารวมกันแต่ละชิ้นจนเป็นบทเพลงก้อนใหญ่ขึ้นมา
วงพิงค์ ฟลอยด์ ได้ยึดถือวิธีการนี้ในการทำงาน มีบ้างที่หยุดไปและกลับมาร่วมกันทำอีกจนถึงปี 1975 (พ.ศ.2518) และมาทำแบบนี้อีกครั้งในปี 1993 (พ.ศ.2536)
ริค ไรต์ มือออร์แกน ได้บอกถึงจุดนี้เมื่อเขารำลึกความหลัง ตรงนั้นพวกเรามีวิธีการมากมายในการเขียนเพลงและสร้างสรรค์ดนตรี ตัวอย่างที่เกินขอบเขตและไปสู่ขีดสุด เขาเล่าว่า พวกเราเข้าไปทำงานในสตูดิโอโดยไม่มีอะไรคิดไปก่อนเลย นั่งลงและพูดว่า “ดูสิ มีบางสิ่งอยู่ในหัวของผม”และก็เล่นออกมาด้วยการด้นสดหรือไหวพริบปฏิภาณแบบเฉียบพลัน จากว่างเปล่าไม่มีอะไรทางวงสามารถสร้างชิ้นต่างๆ ของเพลงออกมาได้ทั้งหมดในที่สุด
บทเพลง ‘A Saucerful of Secrets’ เป็นหนึ่งในบทเพลงที่เริ่มต้นจากการที่ไม่มีแผนการหรือความคิดล่วงหน้าไว้ก่อน แต่สามารถไต่ระดับของความคิดสร้างสรรค์สู่จุดสูงสุดของความเป็นเพลง ทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเรียงลำดับความต่อเนื่องของคอร์ด ความคิดต่างๆ และการเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสาน และในทุกๆ สิ่ง
ปกติโดยทั่วไปจะมีการตีความและอรรถาธิบายบทเพลงนี้ที่มี 4 ส่วนหรือมูฟเมนต์เป็น 2 ทาง ตามแต่จินตภาพและความรู้สึกที่อยากให้เป็น ตีความแบบที่ 1 ก็คือภาพสงครามและโศกนาฏกรรม ตีความแบบที่ 2 สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและหัวสมองในการท่องเพริศไปกับโอสถหลอนจิตหรือแอลเอสดี
+ Part 1. Something Else (0:00 – 3:57)
ตีความแบบที่ 1 – การเตรียมตัวเข้าสู่การรบ เป็นการวางยุทธการในสงคราม
ตีความแบบที่ 2 – ประสาทสัมผัสที่คลุมเครือเลอะเลือน ค่อยๆ เลื้อยคืบคลานเข้าสู่ช่องท้องและอวัยวะภายใน คล้ายสารที่ส่งมาอย่างหนาแน่นเข้มข้นกำลังมาถึง
+ Part 2. Syncopated Pandemonium (3:57 – 7:04)
ตีความแบบที่ 1 – การประจัญบาน
ตีความแบบที่ 2 – เป็นการทะยานเดินทางท่องเพริศอย่างเต็มกำลังขับ สมองเบนหันเหเข้าสู่การหลอมละลาย สู่ภาวะสุกสว่างและเร่าร้อนที่สูงขึ้นสูงขึ้นและสูงขึ้น
+ Part 3. Storm Signal (7:04 – 8:38)
ตีความแบบที่ 1 – ทัศนวิสัยแห่งความตาย
ตีความแบบที่ 2 – เงามืดปีศาจจากภาพลวงตาที่ช่วยเหลือและคบหากันเป็นมิตรตลอดทั้งคืน และสลัดออกไปอย่างช้าๆ ในสายลม และเข้าสู่ความสำนึกอย่างเข้าใจในโลกของความเป็นจริงว่ามากเกินไป
+ Part 4. Celestial Voices (8:38 – 11:57)
ตีความแบบที่ 1 – ความโศกอาดูรไว้อาลัยและทนทุกข์แห่งความตาย เปรียบประดุจบทเพลงสวดส่งวิญญาณสู่สัมปรายภพ
ตีความแบบที่ 2 – ด้านนอกที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่สามารถมองจากนัยน์ตา เห็นถึงการเกิดใหม่ของเด็กทารก ดวงอาทิตย์สีเหลืองจ้าทอแสงสดใสอยู่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้าคราม และทุ่งหญ้าสีเขียวให้พลังชีวิตภายใต้ฝ่าเท้า
ว่าไปแล้ว บทเพลงนี้เป็นบทเพลงแรกที่ เดวิด กิลมอร์ หรือ เดฟ มือกีตาร์สมาชิกคนใหม่ได้ร่วมเขียนเพลงและมีเครดิตกับทางวงพิงค์ ฟลอยด์ เป็นการเบิกฤกษ์ ซึ่งเขาก็ให้เครดิตทั้งหมดในเพลงนี้ว่า “นักศึกษาสถาปัตยกรรมในวงได้วางโครงร่างเพลงนี้จนขึ้นสู่สุดยอดและทำงานทุกสิ่งจนกลายเป็นพิมพ์เขียวเดินไปข้างหน้าในบทเพลงแบบพิงค์ ฟลอยด์”
เมื่อเข้าร่วมวงพิงค์ ฟลอยด์ กิลมอร์ ได้เริ่มแปลงแปรรูปแบบของเสียงหรือซาวด์ที่หนาทึมมัวมึน ซึ่งเป็นแนวทางดนตรีสมัยนิยมของอังกฤษในช่วงปลายยุคทศวรรษที่ 60 มาสู่เสียงของพิงค์ ฟลอยด์ ซึ่งกลายเป็นที่จับจ้องสนใจของคนฟังเพลง
แน่นอนพัฒนาการที่ทางวงได้ทะลุเพดานออกมา ได้แสดงถึงบางสิ่งที่แตกต่างแม้ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็เป็นดนตรีที่เคลื่อนไปข้างหน้า ในบทเพลง ‘A Saucerful of Secrets‘ ที่ชื่อเดียวกับอัลบั้ม กิลมอร์ บอกถึงการทำงานในบทเพลงนี้ว่า เขาไม่เข้าใจมันทั้งหมด แต่ก็ทำงานไปด้วยกันทั้งวง
โรเจอร์ วอเทอร์ ให้ทุกคนนั่งล้อมวงแล้ววาดแผนผังเล็กๆ บนเศษกระดาษ แล้วมันก็เป็นการเปิดยุคใหม่ในแนวทางดนตรี ซึ่งรู้ในนาทีนั้นเลยว่า ความกลมกลืนของดนตรีจะนำมาซึ่งความชมชอบในวงการดนตรีกระแสหลัก เป็นแนวทางในการทำงานที่ต้องศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย ตอนนั้นทั้งวงได้ทิ้งผ่านในความเป็นปัจเจก มีแต่ความทะยานอยากปรารถนาและต้องการที่จะเข้าใจในทุกๆ เรื่องของดนตรีที่รังสรรค์ขึ้นมา
ในอีกด้านก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับการสร้างสรรค์เพลงแนวทางใหม่นี้ ริค ไรต์ บอกถึงสถานการณ์ในห้องบันทึกเสียงว่า โปรดิวเซอร์ นอร์แมน สมิธ เมื่ออ่านเพลงที่เขียนขึ้นเขาก็ไม่เข้าใจ และบอกว่า “ผมคิดว่ามันเป็นขยะชัดๆ… แต่ก็เดินหน้าไปเถอะถ้าเป็นสิ่งที่พวกคุณต้องการ”
โดยพื้นฐานแล้วโปรดิวเซอร์ต้องร่วมทำงานกับวงในการผลิตเพลง แต่ในบทเพลงนี้ นอร์แมน สมิธ ไม่เข้ามาแตะและมีส่วนร่วม ซึ่งก็ไม่น่าเชื่ออีกเมื่อทั้งวงก็ทำงานไปและเรียนรู้เรื่องการผลิตในห้องบันทึกเสียงไปด้วย จากการที่นอร์แมน ไม่เข้าใจในบทเพลงนี้ ทำให้ทางสมาชิกวงพิงค์ฟลอยด์ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สมรรถภาพของการทำงานในสตูดิโอของพวกเขามีแค่ไหนและต้องการโปรดิวซ์งานกันเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงอนาคตของ นอร์แมน สมิธ ในฐานะผู้ควบคุมการผลิตที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้
แน่ชัดที่บทเพลง ‘A Saucerful of Secrets‘ เป็นเพลงอินทรูสเมนต์ ที่พาคนฟังตีความได้ตามสะดวกด้วยจินตภาพของตัวเอง และเปิดกว้างในเชิงรับสารจากดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ทัศนะของเดวิด กิลมอร์ เขาบอกว่าเขาหมายถึง ‘สงคราม’
“พาร์ตแรกคือ ความตึงเครียด ตามมาด้วยพาร์ตที่สองเป็นการรวมพล พาร์ตสามเป็นความกลัว และสุดท้ายคือจุดกึ่งกลาง ทั้งหมดจะปะทะและประจัญบานกัน นั่นคือสงครามยังดำเนินต่อไป และสิ่งที่ตามมาคือบทเพลงสวดส่งวิญญาณของผู้วายชนม์”
เดฟ ได้อรรถาธิบายถึงการบันทึกเสียงว่า การบรรเลงดนตรีของแต่ละชิ้นดนตรีจะมีอิทธิพลที่โดดเด่นต่างกันออกไป ในส่วนแรกจะวางไมค์ชิดกับแฉ โดยใช้ไม้หุ้มนวมทุบอย่างนิ่มนวลที่สุด เมื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ
ในภาคจังหวะของส่วนที่สอง แบบแผนของกลองโดย นิค เมสัน จะต่อเข้ากับเทปลูป เพื่อประดิษฐ์จังหวะซ้ำๆ ให้ถึงขีดสุดในส่วนกีตาร์ของเดฟเอง เปลี่ยนเป็นให้เสียงดังที่แท้จริงและใช้ขาไมโครโฟนตั้งตรงคล้ายแท่งเหล็กนำมาควบคุมการขึ้นและลงบนคอกีตาร์
“ผมจำได้ว่า นั่งลงที่นั้นแล้วคิดกับตัวเองว่า โอ้! พระเจ้า นี่มันเกี่ยวกับดนตรีทั้งหมดเหรอเนี่ย ผมเพิ่งมาจากวงดนตรีที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นกีตาร์ในแบบ จิมี่ เฮนดริกซ์ เพื่อที่จะให้คนดูชาวฝรั่งเศสฟัง ซึ่งชอบซาวด์แปลกๆ แต่มาเจออย่างนี้เข้าถึงกับตะลึงงึงงันอย่างกะทันหันทีเดียว”
ว่าไปแล้วบทเพลงนี้คือ ‘นวดนตรี’ ของวงพิงค์ ฟลอยด์ โดยแท้จริง มันได้ถูกเปรียบเทียบกับเหล่านักดนตรีหัวก้าวหน้าแบบอวองต์ การ์ด เฉกเช่น จอห์น เคจ (John Cage) และ สโต๊คเฮ้าเซ่น (Stockhausen)
เดวิด กิลมอร์ ย้อนหลังถึงการทำงานว่า ใน ท่อนแรก นั้นมีการสร้างสรรค์ให้ซาวด์ออกมาตึงเครียดและลึกลับแบบประหลาดๆ การตีแฉจะหาเทคนิคเสียงที่คาดไม่ถึงกึ่งเหนือธรรมชาติให้ดังก้องสะท้อนสะท้าน ในระดับสูงสุดจะเป็นเสียงคีย์บอร์ดของ ริค ไรต์ ที่สร้างเสียงเอฟเฟ็คต์ที่ผิดปกติและประหลาด
ท่อนที่ 2 สร้างเสียงที่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยและมั่นคง เหมือนเดินอยู่ระหว่างคมมีดและขวากหนามแหลม ซึ่งเกิดจากแรงดลใจที่นำมาสู่ดนตรีที่อลหม่านสับสนวุ่นวายอย่างสุ่มจับของท่วงทำนองและไร้ซึ่งความหมาย ด้วยการใช้ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นขับออกซึ่งการกระหน่ำที่ดังเกินธรรมดา (ในการแสดงสดมักจะข้ามท่อนนี้ไปสู่ท่อนที่ 4)
ท่อนที่ 3 เป็นความเศร้าหมองมืดครึ้มทะมึนจิต บรรยากาศเพลงโอบอุ้มด้วยออร์แกนของ ริค ไรต์ และเสียงระฆังกังวานตามสายลม และเป็นท่อนที่สั้นกระชับเพียง 1 นาทีกว่าๆ
ท่อนที่ 4 ปิดท้ายประดุจบทเพลงสวดส่งวิญญาณของผู้ตาย (the Requiem) มิต้องสงสัยในเรื่องเสียงที่อิงไปในทางเพลงแบบของโบสถ์หรือเพลงทางศาสนา แน่นหนัก เสียงออร์แกนเนิบช้า และการประสานเสียงแบบเพลงสวดในโบสถ์ รวมถึงเสียงของเดฟ
ด้วยสัมผัสที่ประณีตสร้างสรรค์ ด้วยความเฉลียวฉลาดในการผสมเสียงที่ทำให้ได้ยินเสียงก้องสะท้อนแห่งสงคราม บางสิ่งยังสิงอยู่ในจิตใจและเป็นการสวดส่งวิญญาณในการสูญเสียอย่างหมดสิ้น ดนตรีชิ้นนี้จบลงอย่างเบาบางและขาดตอน เพราะตัดส่วนที่สำคัญภายใต้การจัดสรรให้ลงตัวที่ 12 นาที มันเป็นโน้ตที่ให้ตีความถึงสงคราม ซึ่งเป็นท่อนที่เดฟเจาะจงลงไปโดยเฉพาะ แม้จะมีการตีความในความหมายที่แตกต่างออกไปก็ตาม
“เพลงนำอัลบั้มเพลงนี้ ‘A Saucerful of Secrets’ ผมคิดว่ามันยังคงยิ่งใหญ่ แน่นอนผมรักมันอย่างแท้จริง เป็นเพลงที่หลักแหลมสุกใสและโชติช่วงในห้วงเวลานั้น นั่นคือรอยทางแรกในการก้าวเดินไปข้างหน้าของพวกเรา จากจุดนั้นก็ไปต่อจนถึงงานชุด ‘Dark Side of the Moon’ และอะไรๆ ก็ตามมาอย่างเยี่ยมยอดหลังจากนั้นอีก”
โรเจอร์ วอเตอร์ส บอกว่า บทเพลง ‘A Saucerful of Secrets’ เปิดกว้างยกให้ตีความค้นหาความหมายกันได้ตามสะดวก แล้วแต่ใครจะคิดถึงอะไรก็ตามในจินตภาพของตัวเองได้ตามต้องการ เป็นครั้งแรกของการทำงานที่ปราศจากซิด บาร์เร็ตต์ และสามารถทะลุข้ามผ่านได้สิ่งที่ดี
นิค เมสัน ชี้ว่าบทเพลงนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างมากของวง ด้วยเป็นจุดส่งผ่านและมุมมองที่ทำให้ทุกคนได้เห็นทิศทางที่มุ่งไปข้างหน้า ขับเคลื่อนไปอย่างทรงประสิทธิภาพมีเป้าหมายและไม่เหมือนใคร ในแต่ละชิ้นดนตรีของแต่ละท่อนบรรจุความคิดหรือไอเดียที่ดีและก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น ซึ่งได้เปิดเส้นทางของการสร้างสรรค์ดนตรีได้อีกมากมายตามมา
เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมากโดยแท้จริง เป็นการเปิดและปิดยุคของวง มีบางสิ่งบางอย่างผลักดันสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างเต็มที่ แน่นอนจากที่เคยแสวงหาซาวด์ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เทคนิคที่ละเอียดซับซ้อนและประณีตอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถสร้างสิ่งที่ถูกต้องในแนวทางดนตรีของวงที่มีความเฉพาะตัวและพิเศษเจาะจงหนึ่งเดียว
การค้นหาบางสิ่งที่พิเศษแตกต่างจากบทเพลงและดนตรีที่ร่วมสมัยและอยู่ในยุคเดียวกัน ซึ่งวงดนตรีอื่นไม่เคยพยายามทำ และคนฟังไม่เคยสัมผัสทางโสตมาก่อน วงพิงค์ ฟลอยด์ ไม่ได้ใช้แนวทางทั่วไปในการแข่งว่าใครเล่นกีตาร์ได้รวดเร็วที่สุดตามยุคสมัย แต่ค้นหาเพื่อค้นพบการกระตุ้นเพื่อสร้างซาวด์ที่พิเศษผิดธรรมดาสามัญ”
มีหลายเสียงเห็นพ้องต้องกันเมื่อมองกลับไปถึงบทเพลงและอัลบั้มชุดนี้ มันหมายถึงสัญญาณ Save Our Souls (SOS) หมายถึงการขอความช่วยเหลือในการสร้างสรรค์เพื่อช่วยปกปักรักษาดวงวิญญาณของพวกเขา และมาได้ถูกที่ถูกเวลาเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการบันทึกเสียงแบบใหม่ที่เริ่มต้นกันในช่วงเวลานั้น โดยดั้งเดิมบทเพลงนี้มีชื่อตั้งเป็นการเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า Nick’s Boogie 1st, 2nd and 3rd Movt.
การผสมผสานดนตรี สเปซ ร๊อค ผนวกกับ เอ็กซ์เพอริเมนทัล ร๊อค บวกกับแนวคิดเชิงก้าวหน้าแบบ อวองต์–การ์ด และ แอมเบียนต์ เสียงที่ปล่อยปลดให้เข้าสู่ภวังค์และพื้นที่ว่างเพื่อให้โสตได้เปิดพื้นที่ใส่จินตภาพเข้าไป เสียงกีตาร์ก้องสะท้อน หมู่เครื่องเคาะโซโล่สื่อความหมาย และการขับร้องที่ไร้ถ้อยคำแต่กินความสู่จินตนาการของเรื่องราวที่ส่งสารสื่อออกมาให้ขบคิดตามภูมิหลัง ประสบการณ์ และอารมณ์ความรู้สึกผ่านโสตของผู้ฟังแต่ละคน
ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในการตีความข้ามภาษาข้ามวัฒนธรรม บทเพลงนี้ในเวอร์ชั่นที่ออกในญี่ปุ่น เขียนชื่อเพลงตีความเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ชินปิ 神秘 (shinpi) ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ความลึกลับ หรือสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ แล้วก็ไปใส่ชื่ออัลบั้มด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นบทเพลง ‘A Saucerful of Secrets’ จึงมีพลังการสร้างสรรค์แบบพิเศษที่เกิดขึ้นจากแรงบีบคั้นและจำเป็น และได้สร้างความพิเศษจำเพาะขึ้นมาอย่างโดดเด่นด้วยศิลปะทางดนตรีที่มีท่วงท่าและชั้นเชิงที่พิสดาร
หากนำดนตรีคลาสสิคยุคบาโรกมาจับการประพันธ์บทเพลงนี้ นั่นคือทิศทางเดียวกันคือ การทำให้เกิดความตัดกัน (Contrasting) เช่น ในด้านความเร็ว – ความช้า ความดัง – ความค่อย การบรรเลงเดี่ยว – การบรรเลงร่วมกัน นักดนตรีได้โชว์ความสามารถการเล่นโดยอาศัยคีตปฏิภาณหรือการด้นสด (Improvisation) และการประดิษฐ์กลเม็ดเด็ดพราย (Ornamentation) ในแนวของตนเอง แสดงให้เห็นถึงการทดลองทางดนตรีร๊อคครั้งสำคัญ ที่เป็นหมุดหมายสู่การวิวัฒน์บนเส้นทางดนตรี โปรเกรสสีฟ ร๊อค
พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com
*********************
กลับไปอ่าน
Part. I – ‘A Saucerful of Secrets’ [Part I] – เดินสู่ทางสองแพร่ง… แผ้วถางทางสู่เสียงแห่ง Pink Floyd