‘A Saucerful of Secrets’ [Part I] – เดินสู่ทางสองแพร่ง… แผ้วถางทางสู่เสียงแห่ง Pink Floyd

A Saucerful of Secretsสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 2 ของวง พิงค์ ฟลอยด์ (Pink Floyd) ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1968 (..2511) ในสหราชอาณาจักร และในสหรัฐอเมริกาในอีก 1 เดือนต่อมาคือ 27 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

อัลบั้มชุดนี้ทำการบันทึกเสียงตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ปี 1967 (..2510) ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1968 ถือว่าใช้เวลา 1 ปีเต็ม ที่สตูดิโออีเอ็มไอ และสตูดิโอ ดิ เลน ลี ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แนวดนตรีในอัลบั้มยังคงยืนตามแนวทางของอัลบั้มชุดแรก ‘The Piper at the Gates of Dawnเป็นรอยทางและร่องเสียงของ ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barrett) อัจฉริยะวิปลาสผู้เดินหันหลังจากไป

ดนตรียังยึดโยงอยู่กับ ไซเคเดลิค ร๊อค (Psychedelic rock) กับ สเปซ ร๊อค (Space rock) แบบตามน้ำ ถือเป็นโมเมนตัมหรือแรงเฉื่อยที่ตกกระทบและต้องแกว่งสอดรับอย่างเต็มใจ รวมถึงยังใช้บริการผู้อำนวยการผลิตหรือโปรดิวเซอร์คนเดิมคือ นอร์แมน สมิธ (Norman Smith) ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ชุดแรก

ด้วยเวลา 39.25 นาที กับ 7 บทเพลง หากจับเอาบริบทแวดล้อมในการวิจารณ์ของปี 1968 ที่อัลบั้มนี้ออกมา นิตยสารโรลลิ่ง สโตน เขียนว่า ไม่น่าสนใจเท่าอัลบั้มชุดแรก และค่อนข้างที่จะธรรมดาอยู่ในคุณภาพระดับปานกลาง จุดเน้นที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้น่าสนใจก็คือการหันเหจากไปของ ซิด บาร์เร็ตต์

บทเพลงต่างๆ เคลื่อนเปลี่ยนจากความกระชับรวบรัดและพลังชีวิตไปสู่ความเลื่อนลอยและเนื้อหาที่เบาหวิวกับข้อปลีกย่อยของเนื้อสารผ่านชิ้นดนตรีที่ยาวยืด

ว่าไปแล้วอัลบั้มชุดนี้บันทึกเสียงทั้งตอนที่ยังมี ซิด บาร์เร็ตต์ ร่วมอยู่ และเดินหน้ากันต่อหลังจากเขาไปจากวง พฤติกรรมของซิดที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยได้ทวีความเข้มข้นจนยากที่จะเหนี่ยวรั้งทัดทาน เขาถูกกดดันบีบบังคับให้ทิ้งวงไป และมือกีตาร์คนใหม่ เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) ก็เข้ามาแทนที่ โดยเป็นสมาชิกใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1968

David Gilmour มือกีต้าร์ที่มาแทน Syd Barrett

ความจริง เดวิด กิลมอร์ ก็เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่ากับ ซิด บาร์เร็ตต์ และเข้ามาช่วย ซิด ในการแสดงในฐานะมือลีดกีตาร์และช่วยป้องกันซิดในการหลุดตอนแสดงบนเวที สุดท้ายเขาก็ต้องเข้ามาแทนที่ซิด

เพราะฉะนั้นอัลบั้มชุดนี้จึงมีสมาชิกวงที่ทำงานด้วยกันถึง 5 คน และเป็นเพียงชุดเดียวเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของเดวิด กิลมอร์ ที่เข้ามาร่วมทำเพลงถึง 5 เพลง คือ ‘Let There Be More Light’, ‘Set the Controls for the Heart of the Sun’, ‘Corporal Clegg’, ‘A Saucerful of Secretsและ ‘See-Saw

รวมถึงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของ ซิด บาร์เร็ตต์ ที่ได้ร่วมทำเพลง และมีแค่ 3 เพลงเท่านั้นที่เขามีส่วนร่วม คือ ‘Remember a Day’, ‘Jugband Bluesและ ‘Set the Controls for the Heart of the Sunซึ่งเพลงนี้สมาชิกทั้ง 5 คนได้ทำร่วมกันและเป็นเพลงประวัติสาสตร์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น

นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลองของวง ได้ประกาศอย่างเด่นชัดถึงรสนิยมส่วนตัวของเขาว่า ในบรรดาอัลบั้มทั้งหมดของพิงค์ ฟลอยด์ เขาชอบและโปรดปรานอัลบั้ม ‘A Saucerful of Secretsชุดนี้มากที่สุด

Nick Mason มือกลองของวง Pink Floyd

ความกระจ่างและเปิดเผยรสนิยมส่วนตัวของ นิค เมสัน นี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์ในตอนที่ออกโปรโมชั่นอัลบั้ม ‘The Endless Riverในปี 2014 (..2557) ซึ่งเขาคิดว่าอัลบั้ม ‘A Saucerful of Secretsเป็นแนวความคิดหรือไอเดียของทางวงที่มีอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอดเยี่ยม ภายใต้รอยทางและเครื่องหมายของซิด บาร์เร็ตต์ ที่แยกจากไป และเป็นการเชื่อมต่อถึงการมาถึงของ เดวิด กิลมอร์ ซึ่งค่อนข้างที่จะดีในการบันทึกเสียงงานอัลบั้มหนึ่ง ที่สามารถต่อโยงสองสิ่งเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ เป็นการจางซ้อนเสียงไว้ด้วยกัน มากกว่าการตัดหรือหั่นออกไป

การขึ้นถึงอันดับ 9 ในอันดับอัลบั้มยอดนิยมในสหราชอาณาจักร หรือ ยูเค ชาร์ต ส่วนในสหรัฐอเมริกาถือว่าล้มเหลวไม่ติดอันดับอัลบั้มบนชาร์ตแต่อย่างใด โดยบรรดานักวิจารณ์ในยุคนั้นหรือเมื่อ 50 ปีที่แล้วลงความเห็นพ้องกันว่า ด้อยกว่าอัลบั้มชุดแรก

แม้จะมีแนวดนตรีในทางเดียวกับชุดแรกแต่พัฒนาการก็คือ การหลุดออกจากบทเพลงที่ครอบงำแบบซิด ซึ่งมีเพลงดั้งเดิมเหลืออยู่เพลงเดียวที่ซิดเขียนคือ ‘Jugband Bluesอันเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าทางวงได้เริ่มต้นถอยออกจากความดำมืดและจังหวะชีวิตและชีพจรที่เต้นซ้ำ และเริ่มมีลักษณะพิเศษเฉพาะของเสียงหรือซาวด์ของวงที่กำลังหาจุดลงตัวอยู่

Roger Waters มือเบสดั้งเดิมของวง Pink Floyd

ภาพรวมทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) มือเบสได้เตรียมการในเรื่องการเขียนเพลงที่ได้รับอิทธิพลและสอดรับกับแนวทางเดิมของซิด รวมถึงมือออร์แกน ริค ไรต์ (Rick Wright) ก็ได้เตรียมร้องนำแทนไว้แล้ว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสม

Rick Wright มือคีย์บอร์ดดั้งเดิมของวง Pink Floyd

ก้าวใหม่อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก และกลายเป็นจุดขายและซิกเนเจอร์ของพิงค์ฟลอยด์ นั่นคือปกอัลบั้ม และการออกแบบบุ๊กเล็ตในอัลบั้มที่ดูล้ำแหวกแนวอย่างไม่เคยมีมาก่อน และสอดล้อไปกับแนวความคิดมวลรวมของงานเพลงอย่างส่งเสริมหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน ได้ปรากฏเค้าลางออกมาในอัลบั้มชุดนี้

ครั้งแรกที่ทีมออกแบบ ฮิปก์โนซิส (Hipgnosis) ได้เข้ามาทำงานให้กับพิงค์ ฟลอยด์ ในการออกแบบปกอัลบั้ม และเป็นการอนุญาตจากอีเอ็มไอกรุ๊ปเป็นวงที่ 2 ที่สามารถทำอย่างนี้ได้ วงแรกคือ เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ที่จ้างนักออกแบบภายนอกบริษัทมาร่วมทำงานได้ และได้กลายเป็นทีมออกแบบคู่บุญบารมีของพิงค์ ฟลอยด์ ในเวลาต่อมา ร่วมกันสร้างงานออกแบบชิ้นเยี่ยมระดับดีเลิศในงานที่ดีเลิศของพิงค์ ฟลอยด์ ด้วยเช่นกันจนโลกดนตรีร่วมสมัยต้องจารึกไว้

ทีมออกแบบฮิปก์โนซิส ประกอบด้วย สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน (Storm Thorgerson) และ ออเบรย์ “โป” เพาเวลล์ (Aubrey “Po” Powell) ต่อมามี ปีเตอร์ คริสโตเฟอร์สัน (Peter Christopherson) เข้ามาสมทบ

ว่าไปแล้วตัวของ สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน เป็นเพื่อนของ ซิด บาร์เรตต์ และโรเจอร์ วอเทอร์ส มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา พอเข้าเป็นนักศึกษาศิลปะและภาพยนตร์ที่ รอยัล คอลเลจ ออฟ อาร์ต (Royal College of Art) เพื่อนเก่าที่ทำวงพิงค์ ฟลอยด์ ได้ชวนมาออกแบบปกอัลบั้มชุดที่ 2 ‘A Saucerful of Secretsในตอนนั้นทีมฮิปก์โนซิสยังใช้บริการห้องมืดของมหาวิทยาลัยทำงานกันอยู่เลย ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่หัวก้าวหน้าในวงการออกแบบและถ่ายภาพอย่างล้ำมากๆ ในยุคทศวรรษที่ 70

หลังทำงานชุดนี้ประสบความสำเร็จ ก็ได้เปิดสตูดิโอฮิปก์โนซิสอย่างเป็นทางการ ซึ่งคำนี้เป็นแรงบันดาลใจมาจากภาพฉีดพ่นสีบนประตูอพาร์ทเมนต์ของพวกเขาที่ทำเป็นห้องมืดเล็กๆ เพื่อล้างอัดภาพ ในห้องน้ำของออเบรย์ “โป” เพาเวลล์

สำหรับคำว่า ฮิปก์โนซิส เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า Hypnosis ซึ่งแปลว่า การสะกดจิต ยังเป็นการประกอบคำที่มีความหมายแตกต่างกันสองคำอย่าง hip ซึ่งหมายถึง ใหม่ เท่ เก๋ คูล ดึงดูดใจ กับคำว่า gnosis ซึ่งเป็นคำโบราณที่หมายถึง ความรู้อันลึกซึ้ง

เมื่อเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ทีมฮิปก์โนซิส ก็ได้งานจากอีเอ็มไอ ออกแบบและถ่ายภาพปกอัลบั้มให้วงดนตรีอื่นๆ ในค่ายด้วย อย่าง The Pretty Things, Free, Toe Fat และ The Gods ซึ่งต่อมาก็ออกแบบและทำปกอัลบั้มระดับคลาสสิกให้เหล่าศิลปินและวงดนตรีร็อกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในยุคนั้นหลายต่อหลายวงอย่าง T.Rex, UFO, Bad Company, Led Zeppelin, AC/DC, Scorpions, Yes, Paul McCartney&Wings, The Alan Parsons Project, Genesis, Peter Gabriel, ELO ฯลฯ

งานปกอัลบั้มบางส่วนที่ Hypnosis ทำให้กับศิลปินต่างๆ (ขอบคุณภาพจาก The Rolling Stone)

สำหรับสไตล์ของทีมออกแบบฮิปก์โนซิสนั้น ถือได้ว่าบุกเบิกศิลปะภาพถ่ายที่แข็งขันในการคิดและตีความมาลงบนปกอัลบั้มอย่างมีชั้นเชิงและวิธีคิดที่ซับซ้อนซ่อนความหมายเชิงสัญลักษณ์และความเหนือจริง มีนวัตกรรมเชิงทัศนศิลป์ที่ล้ำยุคไม่เดินตามขนบเดิมๆ อย่างที่ทำกันมาอย่างเคยชิน ถือว่าเป็นงานนฤมิตศิลป์ในการออกแบบที่สร้างสีสันและความตื่นเต้นในด้านวิช่วลของวงการเพลงโลกในห้วงเวลานั้นอย่างเข้มข้นจริงจัง รวมถึงการออกแบบหีบห่อหรือแพ็กเกจจิ้งของอัลบั้มที่เน้นการใช้งานและสาระเชิงความคิดที่แหวกออกไป

ในความพิเศษจำเพาะผิดธรรมดาของการออกแบบที่พิถีพิถัน ภาพถ่ายที่ประณีตซับซ้อนมีความเหนือจริงหรือกลิ่นเซอร์เรียลิสม์อยู่อบอวล และสามารถผสมหลอมรวมอย่างเหมาะสมงอกงามเชิงศิลปะที่มุ่งทิศไปข้างหน้าไม่ซ้ำรอยทางใคร

ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการล้างฟิล์มในห้องมืด การใช้แสงที่หลากหลาย การเสริมแต่งด้วยเครื่องพ่นสีหรือแอร์บรัช เทคนิคการตัดและวางด้วยเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นการใช้ฟิล์มล้วน ต่อมาเทคนิคถูกทำให้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีและเรียกว่า โฟโต้ช็อป

ที่สำคัญสาระของสารที่สื่อออกมาผ่านภาพมีสำนวนโวหารและอารมณ์ขันลึกที่มีชั้นเชิงอย่างไม่น่าเชื่อ อีกอย่างที่เป็นเสน่ห์ในการออกแบบบนปกและในอัลบั้มต่างๆ ก็คือ ภาพที่บอกเล่าเรื่องราวเชื่อมสัมพันธ์ร้อยเรื่องโดยตรงกับเนื้อร้องที่บรรจุในอัลบั้ม โดยส่วนมากใช้ทักษะความหมายการเล่นคำเชิงซ้อนผ่านภาพ และใช้พื้นที่ในเชิงรังสรรค์ภาพลงไปอย่างมีคุณภาพและคุณค่าที่ลงตัวเชิงศิลปะในการออกแบบมากที่สุด โดยไม่ทิ้งให้เปล่าประโยชน์ แม้กระทั่งรอยพับหรือต่อกระดาษก็สามารถสอดใส่ความคิดลงไปอย่างเจาะจงและตั้งใจ

ทีมฮิปก์โนซิส ไม่เคยตั้งราคาค่าออกแบบปกอัลบั้มเลย หากแต่บอกให้วงดนตรีที่พวกเขาทำงานให้จ่ายค่าออกแบบมา ตามแต่ที่พวกเขาพอใจกับผลงาน ใน ปี 1983 ก็ปิดตัวลงและแยกย้ายกันไปตามแนวทางของตัวเอง แต่พวกเขาถือว่าสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของการออกแบบปกอัลบั้มและบุ๊กเล็ตในยุคทศวรรษที่ 70 และกลายเป็นตำนานเล่าขานมาถึงทุกวันนี้ ในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิวัติแนวคิดในการออกแบบในวงการดนตรีสมัยนิยม

นี่คือปฐมบทที่แท้จริงของวงดนตรีพิงค์ ฟลอยด์ ที่กำลังเดินออกและสลัดออกจากเงาทาทาบของ ซิด บาร์เร็ตต์ จากอัลบั้มชุดแรก ‘Piper at the Gates of Dawnทั้งความคิดเรื่องปกอัลบั้มที่สลัดความเป็นไซเคเดลิค ร๊อค ออกไปแต่ยังคงค้างคากลิ่นอายเอาไว้บ้าง ใช้ทีมถ่ายภาพและออกแบบชุดใหม่

ในเชิงชั้นดนตรีก็พยายามสร้างพัฒนาการจากเสน่ห์ชวนหลงใหลที่ตรึงใจแบบไซเคเดลิคที่สดใหม่และเพ้อบ้าแบบสเปซ ร๊อค เมื่อคลี่คลายสู่อัลบั้มชุด 2 ชุดนี้ ‘A Saucerful Of Secretsซิด จากไปตามวิถีทางคลั่งบ้า เดวิด กิลมอร์ เข้ามาสานและเชื่อมต่อ

หากว่าไปแล้ว ตามสถานการณ์ในช่วงนั้นที่ไม่มีใครคาดเดาอะไรได้ ในการเดินหน้าและหลีกหนีจากความไม่ลงรอยกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงการสร้างสรรค์งานดนตรีตามแนวทางความชอบ รสนิยม และการรังสรรค์ดนตรีให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมิมีใครเคยทำมาก่อน เป็น ‘นวดนตรี’ หรือแนวดนตรีใหม่ล้ำที่เป็นเอกเทศอย่างที่ทุกคนต้องตกตะลึง

เพราะฉะนั้นการหาความลงตัวหรือสมดุลที่จะออกจากความเป็น ซิด มาสู่ความเป็นพิงค์ ฟลอยด์ในอัลบั้มชุดที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่ทายท้า แม้จะเหลือคราบไคลบางเบาจางเลือนของซิดอยู่ก็ตาม

อัลบั้ม ‘A Saucerful of Secretsจึงเปรียบเสมือนการส่งผ่านซาวด์ของทางวง ไม่หลงยึดติดกับอดีต ผลักตัวเองไปข้างหน้าให้ก้าวล้ำเข้าไปสู่สิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร

เพราะฉะนั้นอัลบั้มชุดนี้จึงถูกแฟนเพลงของวงพิงค์ ฟลอยด์ เมินเฉยและมองข้ามอยู่ใช่น้อย เพราะยังจับจดไม่ชัดเจนและลงตัวในแนวทางอย่างเพียงพอ อยู่บนเส้นทางแสวงหาซาวด์ใหม่ และไม่มีความเป็นพ๊อพมากเพียงพอด้วยเช่นกัน ในการที่จะนำไปเปิดเป็นเพลงยอดนิยมทางวิทยุ

แต่ด้วยความเป็นธรรม แท้จริงแล้ว มันเป็นอัลบั้มที่เด็ดขาดถึงพริกถึงขิงในการชี้เป็นชี้ตายบนเส้นทางดนตรีสมัยนิยม ที่ทำให้เห็นวิวัฒนาการและความก้าวหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ของวง ได้ค่อยๆ ปรากฏขึ้นในเสียงดนตรีและการเขียนคำร้องที่แปรผันเปลี่ยนแปลงอย่างแนบเนียน

A Saucerful of Secretsเป็นอัลบั้มที่เปรียบประดุจเครื่องหมายของจุดสิ้นสุดยุคของ ซิด บาร์เร็ตต์ อย่างประนีประนอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย แม้ว่าแก่นความคิดในการเขียนเนื้อร้องที่มีความแปลกพิกลเพ้อฝันสะท้อนถึงภาวะจิตใจที่ไม่แน่วนิ่งแน่นอน วิ่งวูบไหววาบไปตามครรลองของจิตที่ฟุ้งพล่านได้ประทับตราความเป็นไซเคเดลิค ที่มีความเป็นพ๊อพลงไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม

อิทธิพลตรงนี้ได้กลายเป็นความรับรู้ถึงดนตรีดั้งเดิมในแบบพิงค์ ฟลอยด์ ในเวลานั้นที่ผูกติดอยู่ทั้งสิ้น

เครื่องหมายทางดนตรีและการบันทึกเสียงของ ซิด บาร์เร็ตต์ ในที่สุดก็เป็นการเกิดสู่ทิศทางดนตรีสเปซ ร๊อค ในช่วงขั้วต่อเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่สมบูรณ์ลงตัว การส่งผ่านเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงค้นหาและทิ้งร่องรอยให้ค่อยๆ จางหายไป ฝีมือการโซโล่กีตาร์ของผู้มาใหม่ เดวิด กิลมอร์ ได้เริ่มทำลายกำแพงลงอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่คิดว่าสูงตะหง่าน ยากที่จะปีนป่ายข้ามไป

ช่วงนี้จะเห็นถึงการทดลองเริ่มต้นเข้าสู่ความเป็น อาร์ตร๊อค และ เอ็กซ์เพอริเมนทัล หรือการทดลองทางดนตรีที่จะนำไปสู่การวิวัฒน์ทางดนตรีครั้งสำคัญในช่วงเวลาต่อมา นั่นคือ โปรเกรสีฟ ร๊อค หรือ โปรกร๊อค อย่างน่าตะลึงงันในอนาคตอันใกล้ของพิงค์ ฟลอยด์

พอล เฮง
paulheng_2000@yahoo.com

**********************

อ่านต่อ
Part. II – ‘A Saucerful of Secrets’ [Part II] – ส่งผ่านยุคไซเคเดลิค ร๊อค สู่มโนคติใหม่ทางดนตรี

mm

About พอล เฮง

นักวิพากษ์-นักวิจารณ์ที่ชอบขุดคุ้ยสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในเพลงออกมาตีแผ่

View all posts by พอล เฮง