ในขณะที่หลายคนเข้าใจว่า CD หรือ Compact Disc กำลังจะกลายเป็น media ฟอร์แม็ตสุดท้ายที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ก่อนที่ยุคของ file-based จะเข้ามาแทนที่ กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามยืดอายุของซีดีให้ยืนยงต่อไป
เมื่อฟอร์แม็ต CD หลุดพ้นพันธะความเป็นเจ้าของจาก Sony/Philips ผู้ให้กำเนิด ได้มีความพยายามที่จะทำให้ฟอร์แม็ต CD ยังคงสานต่อความเป็น media หรือ “สื่อกลาง” ในการซื้อ–ขายเพลงในอุตสาหกรรมเพลงกันต่อไป แต่โจทย์ที่กลุ่มคนที่มีความต้องการเช่นนั้นต้องงบคิดก็คือ จะทำอย่างไรให้คนยอมควักเงินซื้อแผ่นซีดีที่มีสัญญาณเพลงแค่ 16bit/44.1kHz ฝังอยู่ในนั้น.? ในขณะที่บนออนไลน์ได้เริ่มมีการขายไฟล์เพลงที่มีความละเอียดสูงระดับ Hi Res 24bit/192kHz กันแล้ว รวมถึง TIDAL ก็ได้ปล่อยไฟล์ MQA ที่มีความละเอียดระดับ Hi Res สูงกว่าซีดีออกมาให้สตรีมกันแล้วเช่นกัน
Digital Remastering + SHM-CD
คือก้าวแรกของความพยายาม..
การหยิบเอามาสเตอร์เทปเข้าไปทำ mastering ใหม่ในสตูดิโอแล้วนำมาปั๊มแผ่นซีดีขายกันใหม่ดูจะเป็นเทคนิคเก่าที่ถูกใช้มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคที่ซีดียังไม่หมดอายุสัมปทานซะด้วยซ้ำไป ความคิดที่จะงัดเอาเทคนิค digital remastering มาใช้อีกครั้งจึงไม่น่าจะหวังผลอะไรได้มาก
logo SHM-CD
เมื่อปี 2007 ทางค่าย Universal Music ร่วมกับ JVC (ปัจจุบันเป็น JVC Kenwood) ได้ร่วมกันนำเสนอรูปแบบของ media แบบใหม่ออกสู่ตลาด นั่นคือ SHM-CD หรือ “Super – High Material CD” ซึ่งเป็นแผ่นซีดีที่บันทึกสัญญาณเพลงที่อยู่ในรูปของสัญญาณ digital PCM ที่มีความละเอียดเท่ากับมาตรฐานของ CD คือ 16bit/44.1kHz จึงทำให้แผ่น SHM-CD สามารถเล่นบนเครื่องเล่นซีดีธรรมดาได้ ไม่ต้องใช้เครื่องเล่นพิเศษเหมือนแผ่น SACD หรือ DVD-Audio ที่พยายามเข้ามาแทนที่ CD แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งคู่
คนที่นำเสนอ SHM-CD ออกสู่สาธารณะมีชื่อว่า “ซูนิโอะ นีเรซูระ” (Tsuneo Nireshura) อยู่ในสังกัดของค่าย Universal Music ส่วนความพิเศษของ SHM-CD อยู่ที่กระบวนการผลิตแผ่น ซึ่ง SHM-CD ใช้วัสดุประเภท “โพลีคาร์บอเนต” (polycarbonate) ที่ใช้ในการผลิตแผงจอ LCD (Liquid Crystal Panels) ที่ใช้ทำทีวีจอแบนแอลซีดีนั่นเอง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว วัสดุโพลีคาร์บอเนตตัวนี้ก็มีสถานะเป็นพลาสติกแบบหนึ่ง แต่มีความพิเศษกว่าพลาสติกที่ใช้ในการผลิตแผ่นซีดีเดิมตรงที่มีเนื้อที่ใสกว่า มีความหนาแน่นสูงกว่า มีผลให้หลุมข้อมูลที่ปั๊มลงไปบนตัวชั้นเก็บข้อมูลบนแผ่นมีขอบหลุมที่คมชัดมากกว่าแผ่นซีดีเดิมที่ใช้พลาสติกที่มีคุณภาพต่ำกว่า เมื่อนำมาเล่นบนเครื่องเล่นซีดี มีผลให้แสงเลเซอร์จากหัวอ่านข้อมูลของเครื่องเล่นซีดีสามารถทะลุทลวงเข้าไปอ่านข้อมูลที่ฝังอยู่บนแผ่น SHM-CD ออกมาได้หมดจดมากกว่าแผ่นซีดีแบบเดิมๆ นั่นเอง ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้แผ่น SHM-CD ให้เสียงที่ดีกว่าแผ่นซีดีธรรมดา
logo Platinum SHM-CD
แผ่น SHM-CD มีอยู่ 2 ประเภท คือ “SHM-CD” ธรรมดา กับ “Platinum SHM” ซึ่งเวอร์ชั่น Platinum SHM นั้นถือว่าเป็นเวอร์ชั่นไฮเอ็นด์ของแผ่นซีดีประเภทนี้ มันถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคพิเศษถึง 4 กระบวนการ เริ่มจาก เปลี่ยนวัสดุเคลือบเพื่อสะท้อนข้อมูลจากอะลูมิเนียมในเวอร์ชั่นซีดีธรรมดา มาเป็นแพลตินั่ม (Pure platinum reflective coating) ที่ให้การสะท้อนดีกว่า กระบวนการที่สองก็คือใช้โพลีคาร์บอเนตฉีดทำตัวแผ่น, กระบวนการที่สามคือใช้เคลือบแผ่นฝั่งที่เป็นข้อมูล Label ด้วยวัสดุพิเศษสีเทอร์ควอยส์ซึ่งมีผลในการดูดกลืนแสงเลเซอร์สีแดงที่มาจากหัวอ่านไม่ให้ฟุ้งกระจายออกไปจากตัวแผ่น ส่วนกระบวนการที่สี่ เรียกว่า HR Cutting หรือ High Resolution Cutting ก็คือใช้มาสเตอร์ DSD (ที่ส่งจากยูเอส หรือยูเค ซึ่งเป็นต้นสังกัดของอัลบั้มนั้นๆ) เป็นต้นทางทรานสเฟอร์มาเป็นมาสเตอร์ตัดแผ่นซีดีเวอร์ชั่นนี้นั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการผลิตที่ทำให้แผ่น Platinum SHM-CD ให้เสียงที่ดีกว่าแผ่นซีดีธรรมดา
ในช่วงแรกนั้น มีเพียง JVC เจ้าเดียวที่รับหน้าที่ในการผลิตตัวแผ่น ในขณะที่มี Universal Music เพียงค่ายเดียวเช่นกัน ที่ทำหน้าที่ในการเอาแผ่น SHM-CD ไปปั๊มสัญญาณเพลงลงไปในแผ่นและนำไปจัดจำหน่าย ต่อมาในปี 2008 Universal Music กับบริษัท Victor Creative Media (ในนามของ JVC) ได้เข้าไปดึง Sony Music Communications เข้ามาร่วมกระบวนการด้วยเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแผ่น SHM-CD
Sony มีหรือจะยอม.!
ปลายปี 2008
จึงให้กำเนิด Blu-spec CD ออกมา
บริษัท JVC Creative Media อาศัยความสนิทสนมที่มีต่อกัน จึงไปชวนบริษัท Sony Music Communication ให้มาร่วมกันผลิตแผ่น SHM-CD ซึ่ง Sony Music Communication ก็เออออห่อหมกไปด้วย โดยกำหนดให้โรงงานผลิตแผ่น Sony DADC ที่ประเทศญี่ปุ่นรับหน้าที่ช่วย JVC Creative Media ในการผลิตแผ่น SHM-CD เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด
logo Blu-spec CD
เมื่อ Sony Music Entertainment แห่งประเทศญี่ปุ่น มองเห็นสิ่งที่เป็นไปนั้น ไอเดียบางอย่างก็เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจนั้น ตอนปลายของปี 2008 ทาง Sony Music Entertainment แห่งประเทศญี่ปุ่นก็นำเสนอ media รูปแบบใหม่ออกมา ชื่อว่า “Blu-spec CD” เป็นแผ่นซีดีที่พัฒนาเทคนิคในการผลิตแผ่นออกมาใหม่ อาศัยเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตแผ่น Blu-ray Disc นั่นแหละ ซึ่งแทนที่จะใช้ลำแสงเลเซอร์สีแดงในการเจาะหลุมข้อมูลบนแผ่น ก็เปลี่ยนมาใช้ลำแสงเลเซอร์สีฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่าในการเจาะหลุมข้อมูลบนแผ่นมาสเตอร์ที่จะใช้ในการปั๊มแผ่นซีดี ด้วยเหตุที่หลุมข้อมูลที่เจาะด้วยแสงเลเซอร์สีฟ้ามีความแม่นยำมากกว่าหลุมข้อมูลที่เจาะด้วยแสงเลเซอร์สีแดง เมื่อนำมาปั๊มเป็นแผ่นซีดีแล้ว ทำให้ข้อมูลเพลงที่ได้จากการอ่านด้วยแสงเลเซอร์ของหัวอ่านในเครื่องเล่นซีดีมีความถูกต้องมากกว่า เสียงจึงดีกว่าแผ่นซีดีธรรมดาเดิมที่ปั๊มมาจากแผ่นมาสเตอร์ที่ทำด้วยแสงเลเซอร์สีแดง
และเนื่องจากสัญญาณเสียงที่บันทึกลงบนแผ่น SHM-CD ทั้งสองเวอร์ชั่น รวมถึงสัญญาณเสียงที่บันทึกลงบนแผ่น Blu-spec CD ต่างก็เป็นสัญญาณดิจิตัล PCM 16bit/44.1kHz เหมือนกันทั้งหมด ดังนั้น ทั้งแผ่น SHM-CD และแผ่น Blu-spec CD จึงเลยสามารถเล่นบนเครื่องเล่นซีดีธรรมดา รวมถึงเครื่องเล่นดีวีดี และเครื่องเล่นบลู–เรย์ฯ ได้
ทำไป ทำมา..
สุดท้ายตาอยู่
Memory-Tech ก็ฉกไปกิน!
บริษัท Memory-Tech เป็นผู้ผลิตแผ่นซีดีตามออเดอร์ของลูกค้า ถือหุ้นใหญ่ในค่ายเพลง Pony Canyon ได้นำเสนอรูปแบบการผลิตแผ่นซีดีแบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “High Quality CD” (HQCD) ซึ่งเป็นแผ่นซีดีที่พัฒนาต่อยอดมาจาก SHM-CD โดยนอกจากจะใช้พาสติกพิเศษ polycarbonate เกรดเดียวกับที่ใช้ทำแผ่น SHM-CD แล้ว ยังได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการสะท้อนแสงเลเซอร์ของหัวอ่านจากแผ่นซีดีธรรมดาเดิมที่ใช้โลหะอะลูมิเนียมเป็นตัวสะท้อนแสง มาเป็นซิลเวอร์ อัลลอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสดงได้ดีกว่าเข้ามาแทน
logo HQCD
logo UHQCD
ในปี 2015 ทาง Memory-Tech ได้เปิดตัวแผ่นซีดีที่ผลิตด้วยกระบวนการ Ultimate High Quality CD (UHQCD) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแผ่นซีดีที่ให้คุณภาพสูงกว่า HQCD ขึ้นไปอีก ด้วยการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำแผ่นซีดีใหม่อีกรอบ จากโพลีคาร์บอเนตที่ใช้ในเวอร์ชั่น HQCD มาเป็น Photopolymer ซึ่งเดิมนั้น แม้ว่าโพลีคาร์บอเนตจะมีเนื้อที่ใสกว่าและแน่นกว่าพลาสติกที่ใช้ทำแผ่นซีดีธรรมดา จึงมีผลทำให้การอ่านข้อมูลทำได้ดีขึ้นก็จริง แต่แผ่นซีดีที่ผลิตด้วยกรรมวิธี HQCD ยังคงใช้วิธีการปั๊ม stamper ลงบนโพลีคาร์บอเนตที่อยู่ในสถานะเหลวแบบเดียวกับการผลิตแผ่นซีดีธรรมดา เมื่อโพลีคาร์บอเนตแข็งตัว จึงเกิดเป็นหลุมข้อมูลขึ้นบนผิวของแผ่นโพลีคาร์บอเนต แต่เนื่องจากหลุมข้อมูลบางส่วนมีขนาดเล็ก ประกอบกับต้องใช้เวลาค่อนข้างเร็วในขั้นตอนการปั๊มก่อนที่โพลีคาร์บอเนตจะแข็งตัว จึงทำให้เนื้อของโพลีคาร์บอเนตแทรกลงไปไม่เต็มหลุมข้อมูล หลุมข้อมูลที่ได้จากกระบวนการปั๊มลักษณะนี้จึงไม่คม ทำให้ได้เสียงออกมายังไม่ตรงตามต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์
วัสดุโฟโต้โพลีเมอร์ที่ใช้ในการผลิตแผ่น UHQCD ในสภาวะปกติมันจะอยู่ในสถานะของเหลว และจะแข็งตัวเมื่อโดนแสงที่มีความยาวคลื่นเฉพาะค่าหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้สามารถจำลองหลุมข้อมูลจากแผ่น stamper ออกมาได้เหมือนต้นฉบับมากกว่าการใช้โพลีคาร์บอเนตขึ้นไปอีกระดับ
นอกจากจะปรับปรุงในส่วนของการผลิตตัวแผ่นแล้ว ทาง Memory-Tech ยังได้นำเอาการปรับปรุงกระบวนการทำมาสเตอร์ที่ใช้ปั๊มแผ่นแบบใหม่ที่ชื่อว่า FORS Master Sound ซึ่งคิดค้นโดยมิสเตอร์ Toshihisa Koike เพิ่มเข้ามาในกระบวนการผลิตด้วย ทำให้ได้เสียงที่ใกล้เคียงมาสเตอร์ที่ศิลปิน/โปรดิวเซอร์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานต้องการนำเสนอมากที่สุด
ณ ขณะนี้ แผ่นซีดีที่ผลิตด้วยกรรมวิธี UHQCD กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในจำนวนแผ่นซีดีชนิดพิเศษทั้งหมดที่มีอยู่ในท้องตลาด สังเกตได้จากปริมาณของอัลบั้มเพลงที่ผลิตด้วยเทคนิคนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แม้แต่ค่ายเพลงไฮเอ็นด์ของไทยเราอย่างค่ายใบชาซองค์ของคุณบรรณ และค่ายโจ โปสเตอร์ก็ยังหอบมาสเตอร์ไปทำแผ่น UHQCD ออกมาแล้วหลายชุด
ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นกำลังชุลมุน..
MQA-CD ก็แหวกเข้ามา!
แผ่นซีดีฟอร์แม็ต MQA-CD ถือว่ามีความแตกต่างจากแผ่นซีดีชนิดพิเศษข้างต้นไปคนละรูปแบบ คือแผ่นซีดีที่ใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเล่นกับเครื่องเล่นซีดีธรรมดาได้โดยตรงเหมือนแผ่นซีดีธรรมดาทั่วไป และให้คุณภาพเสียงออกมาตามมาตรฐานของฟอร์แม็ตซีดี คือ 16bit/44.1kHz ทว่า MQA-CD ที่มาใหม่นี้ ต่างออกไป คือถ้านำไปเล่นกับเครื่องเล่นซีดีธรรมดา คุณจะได้เสียงที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับมาตรฐาน CD นั่นคือ 16bit/44.1kHz แต่ถ้าดึงสัญญาณ digital out จากเครื่องเล่นซีดีไปเข้าที่ external DAC ที่รองรับการถอดรหัสของฟอร์แม็ต MQA คุณจะได้คุณภาพเสียงที่กระโดไปถึงระดับ Hi-Res Audio คือตั้งแต่ 24bit/96kHz ไปจนถึง 32bit/352.8kHz ขึ้นอยู่กับสตูดิโอที่บันทึกสัญญาณมาให้ในแผ่น
logo MQA-CD
ลิ้งค์เพิ่มเติม | MQA คืออะไร.?
ลิ่งค์เพิ่มเติม | Hi-Res Audio คืออะไร.?
ตัวเทคโนโลยี MQA เป็นของบริษัท Meridian จากประเทศอังกฤษ แต่ผู้ต้นคิดทำแผ่น MQA CD ออกมาเป็นเจ้าแรกคือค่ายเพลง Universal Music (ประเทศญี่ปุ่น) โดยตั้งชื่อเรียกแผ่นซีดีประเภทนี้ว่า Hi-Res CD ซึ่งเป็นแผ่นซีดีที่ตัวแผ่นผลิตด้วยเทคนิคเดียวกันกับแผ่น UHQCD ส่วนสัญญาณเสียงที่บันทึกลงบนแผ่นจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสัญญาณเสียง digital PCM ที่มีสเปคฯ เท่ากับมาตรฐานของฟอร์แม็ตซีดีคือ 16bit/44.1kHz ส่วนที่สองเป็นข้อมูล (data) MQA ที่อยู่ในรูปของโค๊ดรหัส ซึ่งจะทำให้สัญญาณเสียงที่อยู่บนแผ่นซีดีเปลี่ยนเป็นสัญญาณ Hi-Res Audio เมื่อถูกป้อนให้กับภาค DAC (D-to-A converter) ที่มี decoder (ตัวถอดรหัส) MQA อยู่ในตัว
นั่นทำให้แผ่น MQA CD มีคุณสมบัติที่ “เหนือชั้น” กว่าแผ่นซีดีไฮเอ็นด์ประเภทอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไปอย่างที่ Meridain และ Universal Music Japan กล่าวเอาไว้ ว่านี่เป็นครั้งแรกในโลกที่มีการผสมผสานคุณสมบัติของ Hi-Res Audio เข้ากับคุณสมบัติในแง่ backward compatibility ในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบัน มีค่ายเพลงที่เริ่มปล่อยผลงานเพลงที่เป็นฟอร์แม็ต MQA CD ออกมาแล้ว 5 ค่ายคือ Universal Music Japan, Elektra, 2L, Chesky Records และ ODIN Records
***********************
ปัจฉิม :
นอกจากแผ่นซีดีฟอร์แม็ตต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีอีกบางส่วนที่ผมยังไม่ได้เก็บรวบรวมไว้ที่นี่ อาทิเช่น Crystal Disc และ MQG CD (Master Quality Gold CD) ต้องขอเวลารวบรวมข้อมูลอีกหน่อย แล้วจะเอามาอัพเดตให้ในภายหลัง
จากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พอจะสรุปได้ว่า เส้นทางของฟอร์แม็ต CD อาจจะยังคงยืดยาวต่อไปได้อีกสักระยะ แต่สุดท้ายแล้ว จะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการคงอยู่ของทุกฟอร์แม็ตก็คือ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อได้มากแค่ไหน เท่านั้นเอง.. /