ใครเคยฟังอัลบั้มที่ชื่อว่า Etta ชุดนี้บ้าง.? อือมม.. ผมอาจจะใช้คำถามไม่ถูก จริงๆ แล้วผมควรจะต้องใช้คำถามว่า ใครที่คิดว่าเคยได้สัมผัส “ตัวตน” ที่แท้จริงของอัลบั้มชุดนี้มาแล้วบ้าง.? มากกว่า
อัลบั้ม : Etta (WAV 16/44.1 จากแผ่น SACD)
ศิลปิน : Etta Cameron And Nikolaj Hess with Friends
ผมได้อัลบั้มชุดนี้มานานมากแล้ว ริปเป็นไฟล์เก็บไว้ในฮาร์ดดิสมานาน เท่าที่จำได้ เคยเปิดฟังมาแล้วสัก 4 – 5 ครั้ง ความทรงจำสำหรับอัลบั้มนี้ที่ผมเก็บบันทึกไว้ในหัวคือ “น่าเบื่อ!”
อารมณ์ของเพลงมันออกสไตล์เลซี่ แจ๊ส มีร้องและเครื่องเป่าแต่ที่เด่นคือเครื่องเคาะ แต่ไม่ใช่ประเภทที่ฟังแล้วชวนให้รู้สึกคึกคักกระฉับกระเฉงหรอกนะ ส่วนใหญ่จะชวนง่วงเหงาหาวนอนซะมากกว่า เพราะแต่ละชิ้นเล่นกันแบบสะกิดสะเกา แตะโน่นนิดนี่หน่อย เจตนาจะสร้างให้เกิดบรรยากาศของความเวิ้งว้าง เอื่อยเฉื่อย เพลงที่เอามาร้องก็เป็นเพลงคัฟเวอร์ทั้งหมด บางเพลงชื่อและเนื้อร้องก็คุ้นหูอยู่ แต่บางเพลงนั้นเวอร์ชั่นนี้เอามาร้องและบรรเลงซะแทบจะไม่เหลือเค้าเดิม
เคยมั้ย.. บางเพลง–บางอัลบั้มที่เคยฟังมาเป็นสิบครั้งและประเมินค่ามันเอาไว้ค่อนข้างต่ำ อยู่ดีๆ พอหยิบมาฟังอีกที มันทำให้ถึงกับนั่งนิ่งไม่ไหวติง สารพัดสารเพที่ถาโถมเข้ามามันเป็นอะไรที่ไม่เคยได้สัมผัสจากอัลบั้มนั้นมาก่อน.! รู้สึกเหมือนคนละอัลบั้มทั้งๆ ที่เคยฟังมาแล้วหลายครั้ง
วันนี้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับผม กับอัลบั้มที่ชื่อว่า “Etta” ของ Etta Cameron & Nikolaj Hess with Friends เป็นงานเพลงของสังกัด Stunt Records ของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสังกัดที่ซีเรียสกับเพลงแจ๊สมากเป็นพิเศษ ชุดนี้บันทึกเสียง/มิกซ์ และมาสเตอริ่งโดย Bjarne Hansen คนเดียวเหมาหมด ทุกองคาพยพของเพลงในอัลบั้มนี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายนิ้วมือของซาวนด์เอ็นจิเนียร์คนนี้อย่างชัดเจน
เขาเป็นคนบันทึกเสียงเบสิคแทรคเอง ตอนมิกซ์ก็เลยรู้ว่า ในแต่ละเพลงจะต้องจัดสัดส่วนความสมดุลของเสียงไว้อย่างไร และตอนทำมาสเตอร์ก็รู้อีกว่าจะต้องเก็บรักษาอะไรไว้อย่างไรจึงจะทำให้ได้อารมณ์ของเพลงออกมาตามที่ต้องการนำเสนอจริงๆ
เท่าที่จำได้ ผมเคยฟังอัลบั้มชุดนี้กับชุดเครื่องเสียงหลากหลายซิสเต็มมาแล้ว และสัมผัสได้ว่ามันเป็นอัลบั้มที่ดีชุดหนึ่ง รู้สึกได้ถึงความลึกซึ้งที่ผู้จัดทำต้องการนำเสนอ แต่ถามว่า ถึงกับตะลึงพรึงเพริศมั้ย.? บอกเลยว่า เท่าที่เคยฟังมาก่อนหน้าวันนี้ ยังไม่ได้มีความรู้สึกไปถึงขนาดนั้น
แต่วันนี้ สิ่งที่ผมได้ยินจากอัลบั้มชุดนี้มันหลุดเลยจากคำว่าดีไปไกลมาก เวลาที่คุณได้ยินสิ่งที่ใช่.. คุณจะรู้ว่ามันใช่ นั่นเลยคือสิ่งที่มันเป็นของมันอยู่จริงๆ และซิสเต็มที่ใช้เล่นตอนนั้นได้ขุดมันออกมาให้ได้ยิน ผมต้องนั่งพิจารณาลงไปในรายละเอียดซิสเต็มที่ใช้เพื่อสำรวจดูว่า ทำไมซิสเต็มนี้ถึงได้สามารถปลดปล่อย “ตัวตน” ของอัลบั้มชุดนี้ออกมาได้น่าขนลุกขนาดนี้!
ผมใช้ลำโพง Mission รุ่น ZX2 ราคาประมาณสามหมื่นบาทเท่านั้น แอมป์ก็อินติเกรตฯ ของ Quad รุ่น Vena II Play ราคาสามหมื่นนิดๆ ผมเล่นไฟล์เพลงอัลบั้มนี้ที่เป็นเวอร์ชั่น WAV 16/44.1 ด้วยโปรแกรม roon บน nucleus+ แล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปที่อินพุต USB ของ Quad Vena II Play ใช้แอมป์ในตัว Quad นั่นแหละขับลำโพง ZX2 ผ่านสายลำโพงของ Nordost รุ่น Tyr II ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เคยฟังกับซิสเต็มนี้ในลักษณะนี้มาแล้วแต่ไม่ได้ยินตัวตนของอัลบั้มนี้เปิดเผยออกมาขนาดนี้ มีอะไรที่ต่างออกไปจากก่อนหน้านี้นะ.?
อือมม.. สิ่งที่ต่างไปจากช่วงอาทิตย์–สองอาทิตย์ก่อนหน้านี้มีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือขาตั้ง ซึ่งวันก่อนผมใช้ขาตั้งเหล็กสูง 24 นิ้ว ที่ใช้วางลำโพงโทเท็ม เดอะวัน แต่วันนี้ผมใช้ขาตั้งไม้ สูง 22 นิ้ว ที่ไปจ้างคุณยุ่น Mavin ทำให้ ส่วนสิ่งแปลกปลอมอย่างที่สองคือที่รองระหว่างฐานล่างของลำโพงกับแพลทบนของขาตั้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของคุณหน่อย Life Audio ที่ส่งมาให้ผมทดสอบ ชื่อของมันคือ Mellow-E ส่วนฐานทำด้วยทองเหลือง ส่วนที่สัมผัสกับฐานของลำโพงเป็นอะลูมิเนียมกลึง แยกเป็นสองชิ้นในหนึ่งตัวเชื่อมต่อกันด้วยเกลียวที่หมุนปรับระดับได้ ผมใช้วางรองใต้ลำโพงข้างละ 3 ตัว ราคาดุมาก คือตัวละ 7,500 บาท สองข้างใช้ 6 ตัวก็ตกรวมแล้ว 45,000 บาท! แพงกว่าราคาลำโพงเกือบสองเท่า..!!!
จากการทดลองฟังด้วยการหยิบเข้า–หยิบออก ผมพบว่า ตัวรองของ Life Audio ชุดนี้มีผลกับเสียงที่ได้ยินมาก สรุปได้เลยว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้ผมได้สัมผัสกับตัวตนของอัลบั้มชุดนี้ เพราะเมื่อทดลองเอาตัวรองที่ว่าเหล่านี้ออก แล้วเอาแท่งไม้ Daiso ที่ผมเคยใช้อยู่เดิมมารองแทน ตัวตนของอัลบั้มนี้หายไปหลายส่วน จากอัลบั้มที่ให้เสียงมหัศจรรย์ กลายเป็นอัลบั้มที่ให้เสียงดีเฉยๆ อือมม.. แต่ตัวรองที่ว่านั้น ราคารวมกัน 6 ตัว สี่หมื่นห้าเชียวนะ.. !!!!??
สิ่งแปลกปลอมอันดับที่สาม ที่ผมเพิ่มเติมเข้าไปวันนี้ เทียบกับวันก่อนที่เคยฟังชุดนี้ นั่นคืออุปกรณ์เสริมของ Nordost ที่ชื่อว่า QPoint ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมที่ให้ผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์แต่ยากต่อการอธิบายมากที่สุดตัวหนึ่ง มันทำงานในเชิงฟิสิกส์ ซึ่งในเว็บไซต์ของผู้ผลิตคือ Nordost ให้คำอธิบายไว้แบบนี้ “ The QPOINT Resonance Synchronizer emits a subtle field which manipulates all electromechanical resonances within its immediate proximity so that they resonate in unison with each other. By syncing these resonances, the QPOINT eliminates internal electrical noise, enhancing the coherency and timing that is typically lacking in even the most high-end audio systems.”
ที่พอจะมีความรู้มาก่อนบ้างก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านไปในโลหะตัวนำ จะทำให้มีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นรอบๆ เส้นตัวนำนั้น เป็นสนามแม่เหล็กที่มีลักษณะวนรอบไปทางขวามือของตัวนำตามทิศทางที่กระแสไฟฟ้าไหลไป อันนี้เป็นไปตามกฎมือขวาของนักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์กที่ชื่อว่า Hans Christian Oersted ผู้ค้นพบปรากฏการณ์นี้ ซึ่งภายในตัวเครื่องเสียงมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นเยอะมากขณะทำงาน แต่ละวงก็มีทิศทางและความแรงที่ต่างกัน โดยเฉพาะสนามแม่เหล็กที่เกิดที่ทรานสฟอร์เมอร์จะมีความซับซ้อนมาก เมื่อสนามแม่เหล็กเหล่านั้นแผ่มาเจอกันมันจะเกิดการกระแทกกันตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิด resonant ที่สั่นกวนขึ้นกับกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวนำ หน้าที่ของตัว QPoint ก็คือสร้างแพลทเทิ้นของสนามแม่เหล็กออกมาบางๆ แล้วแผ่ออกไปเพื่อชักจูงให้สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นในตัวเครื่องเสียงมีการ “แกว่งกระเพื่อม” (resonant) ไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมๆ กันทั้งหมด เพื่อลดการปะทะระหว่างสนามแม่เหล็กเหล่านั้นลง ผลกระทบที่จะไปรบกวนกระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านตัวนำและแผงวงจรที่อยู่ภายในตัวเครื่องเสียงก็จะหายไป
วันนี้ผมใช้ก้อนไม้สี่เหลี่ยมลูกบาศน์ สูง 2 นิ้วจำนวน 3 ก้อนไปรองใต้แอมป์ Quad เพื่อยกให้สูงจากพื้น แล้วสอดเจ้า QPoint เข้าไปใต้ Quad โดยเล็งให้ตัว QPoint หงายขึ้นมาตรงกับตำแหน่งที่ติดตั้งทรานฟอร์เมอร์ของตัว Quad พอดีๆ ซึ่งทรานฟอร์เวอร์ที่ใช้ในแอมป์ Quad ตัวนี้เป็นแบบวงแหวน ตัวใหญ่พอสมควร วางเอียงไปทางซ้ายของตัวถัง น้ำหนักเลยเทไปทางซ้ายมากกว่าขวา เมื่อสอด QPoint เข้าไปแล้ว ผิวหน้าของ QPoint จะอยู่ใต้ตัวถังของ Quad ห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วนิดๆ
ที่ตัว QPoint มีสวิทช์ปรับรูปแบบการกระจายอิเล็กตรอนอยู่ 2 แบบ มีไฟสีเขียวกับสีฟ้าคอยบอกให้รู้ตอนปรับ ลองปรับแล้วเสียงไม่เหมือนกัน ตอนเป็นสีฟ้าจะเห็นตัวตนของอัลบั้มนี้ออกมาชัดกว่าสีเขียว ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน..
ทีนี้ผมขอพูดถึงผลที่ซิสเต็มนี้ทำให้เกิดกับอัลบั้มชุด Etta บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วบอกเลยว่า ซิสเต็มที่ผมเซ็ตอัพขึ้นมาชุดนี้ มันฟังอัลบั้มไหนก็ออกมาดี เพียงแต่ว่า กับอัลบั้มชุด Etta นี้ ที่ผมเคยๆ ฟังมาสี่–ห้าครั้ง ผมก็ว่ามันก็แค่ดีระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก ใช้โชว์อะไรไม่ได้ แต่กับซิสเต็มนี้ มันโชว์ให้เห็นว่าอัลบั้มนี้มีดีกว่าที่ผมรับรู้มาก่อนหน้านี้มาก… ซึ่งความโดดเด่นของมันไม่ได้ออกมาในลักษณะที่จะโชว์ไดนามิกเปรี้ยงปร้าง หรือมิติหลุดโลก แต่สิ่งที่มันทำได้เจ๋งมากๆ ก็คือความลึกซึ้งที่ประกอบไปด้วยความละเมียด บรรจง ของทั้งตัว Etta Caneron ที่สอดใส่เข้าไปกับแต่ละวลีที่ขับร้องออกมา ไปจนถึงแต่ละโน๊ตที่นักดนตรีแบ็คอัพค่อยๆ ประดิษฐ์ประดอยออกมา แม้จะเป็นโน๊ตที่กระจัดกระจาย ทิ้งช่วงวรรคยาว แต่เมื่อมีมวลแอมเบี้ยนต์ที่โป่งพองครอบคลุมและโอบอุ้มเสียงทั้งหมดเอาไว้ มันก็ทำให้เสียงเล็กๆ น้อยๆ พวกนั้นมีเรื่องราว มีชีวิต มีลีลาการสื่อสารที่สะกดให้ผมต้องตั้งใจฟังมัน ไม่สามารถละสมาธิไปจากเสียงเหล่านั้นได้
ตลอดเวลาที่เสียงเพลงในอัลบั้มนี้พุ่งผ่านลำโพงออกมา เวิ้งอากาศเบื้องหน้าของผมได้ก่อร่างเป็นปริมณฑลทรงสามมิติขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยมีเสียงร้องและเสียงดนตรีกระจายตัวอยู่ในนั้น แต่ละเสียงมีตัวตนของมันเอง มีลีลาการขยับเคลื่อนไปบนทำนองเพลงโดยไม่มีอาการกระตุกเร้าอย่างร้อนรน ในแต่ละเม็ดโน๊ตของเสียงที่ปรากฏตัวขึ้นมาในเวิ้งปริมณฑลข้างหน้าผมนั้น มันมีทั้งพลังแฝงที่ทำให้ตะหนักรู้ถึงน้ำหนักข้อมือที่นักดนตรีกระแทกลงไปบนเครื่องดนตรีของพวกเขา ความรับรู้นั้นมันชัดแจ้ง แม้กับชิ้นดนตรีที่สถิตย์อยู่ลึกๆ เข้าไปด้านหลังของพื้นที่อากาศที่ถอยไกลจากแนวระนาบลำโพงลงไปไกลๆ และมีความดังไม่มาก แต่น้ำหนักของการบรรเลงมันชัดเจน!
เสียงร้องของ Etta ชุ่มชื่น และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ทุกอักขระถูกปลดปล่อยออกมาด้วยความตั้งใจ รู้สึกได้ถึงการควบคุมทั้งลมหายใจและอวัยวะภายในไปกับทุกพยางค์ที่หลุดพ้นริมฝีปากของเธอออกมา
เพลงที่กระตุกประสาทการรับรู้ให้ตื่นตัวมากที่สุดในอัลบั้มนี้ก็คือเพลง Motherless Child เสียงร้องของเอ็ตต้าในเพลงนี้เจิดจรัสดังพระอาทิตย์ โดยมีสารพัดเสียงเครื่องเคาะเบาๆ ที่เกลี่ยกระจายอยู่ล้อมรอบเหมือนดาวบริวาร ตลอดเวลา 3 นาที 19 วินาทีของเพลงนี้ โลกทั้งโลกหยุดหมุนโดยสิ้นเชิง!
ความเชื่อ vs. ความจริง
ไม่มีใครบอกได้หรอกว่า การที่จะสามารถทำให้เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของอัลบั้มเพลงสักชุดหนึ่ง ต้องใช้ซิสเต็มเครื่องเสียงระดับไหน.? ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก–น้อยแค่ไหน.? เพราะในโลกความเป็นจริงแล้ว สภาวะที่สมบูรณ์แบบอย่างนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นได้จากอุปกรณ์เครื่องเสียงที่แม็ทชิ่งลงตัวกันเท่านั้น แต่มันต้องมีการเซ็ตอัพที่ลงตัวภายใต้สภาพอะคูสติกที่เป็นมิตรด้วย ซึ่งแน่นอนว่า การเซ็ตอัพที่พูดถึงนี้จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมที่นอกเหนือจากอุปกรณ์ตัวหลัก 3 ส่วนในชุดเครื่องเสียงคือ source + amp + spaeker ซึ่งเหมารวมทั้งอุปกรณ์เสริมที่อยู่ภายนอกชุดเครื่องเสียง อย่างเช่น อุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติก, ระบบกราวนด์ของไฟฟ้าที่ใช้เลี้ยงอุปกรณ์เครื่องเสียง รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่อยู่ภายในชุดเครื่องเสียง อย่างเช่น ชั้นวางเครื่อง, ขาตั้งลำโพง, ตัวรองใต้ลำโพง, ปลั๊กไฟ, ตัวกรองไฟ, สายไฟเอซี, ตัวจ่ายไฟแบบลิเนียร์ ฯลฯ
มีความเป็นไปได้สูงมาก ในการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียงให้ได้ประสิทธิภาพเสียงที่สามารถสำแดง “ตัวตน” ของงานเพลงที่ให้ฟังออกมาได้อย่างที่เพลงนั้นๆ เป็นอยู่จริง จะต้องลงทุนกับ accessories ด้วยงบประมาณที่ “สูงกว่า” อุปกรณ์เครื่องเสียงหลักทั้งสามส่วน และเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสำหรับคนที่เคยผ่านปรากฏการณ์นี้มาแล้วจะพบว่า ในบางครั้งนั้น งบประมาณที่ลงไปกับอุปกรณ์เสริมอยู่ในระดับที่สูงกว่าเงินที่ลงไปกับอุปกรณ์หลักมากเป็นหลายเท่าตัว.!
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะเราไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์เข้ามากำกับหรือชั่ง–ตวง–วัด ความคุ้มค่าในการลงทุนกับเครื่องเสียงได้ หลายๆ ครั้งที่เราพบว่า การลงทุนกับเครื่องเสียงราคาสูงๆ ก็ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้เครื่องเสียงชุดนั้นสามารถถ่ายทอดตัวตนของเพลงออกมาได้อย่างที่เพลงเหล่านั้นถูกบันทึกมา การที่จะให้ได้มาซึ่งชุดเครื่องเสียงที่สามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีออกมาได้อย่างลึกซึ้งลงไปถึงจิตวิญญาณของเพลงที่ฟัง จำเป็นต้องอาศัยทั้งศาสตร์ (อุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีสมรรถนะดี) และศิลป์ (เทคนิคการเซ็ตอัพและปรับจูนด้วยอุปกรณ์เสริมต่างๆ) เข้าด้วยกันอย่างลงตัวเท่านั้น.. ซึ่งมันจะเป็นอย่างนี้เสมอ และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปด้วย.!! /
***************