Objective vs. Subjective เรื่องวุ่นๆ ของเครื่องเสียง ระหว่าง ‘ฅน’ กับ ‘เครื่อง(วัด)’

J. Godon Holt เป็นนักวิจารณ์เครื่องเสียงคนแรกๆ ที่ถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญที่ให้กำเนิดวิธีการวิจารณ์อุปกรณ์เครื่องเสียงแบบเน้น Subjective คือเป็นลักษณะวิธีการวิจารณ์คุณภาพของอุปกรณ์เครื่องเสียงโดยให้ความสำคัญไปที่ผลของการฟังด้วยหูมากกว่าผลที่ได้จากการวัดด้วยเครื่องมือวัด

ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการวิจารณ์ลักษณะนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ซะเองโดยนักวิจารณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในวงการไฮไฟฯ ที่ยึดถือ Objective ซึ่งก็คือผลที่ได้จากการวัดด้วยเครื่องมือวัดและการประเมินผลที่คาดว่าควรจะได้รับจากทฤษฎีทางไฟฟ้าเป็นจุดอ้างอิง

ในยุคแรกๆ นั้น กลุ่มของนักวิจารณ์และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไฮไฟฯ ของโลกที่ยึดถือผลการวัดและทฤษฎีได้โจมตีวิธีการทดสอบวิจารณ์เครื่องเสียงด้วยการฟังว่าไม่มีความเที่ยงตรง เชื่อถือไม่ได้ ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหากคิดในแง่ของนักทฤษฎีแล้วก็คงจะเห็นพ้องในเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มนี้มิอาจยอมรับผลการวิจารณ์โดยการฟังของนักวิจารณ์ฝั่ง Objective ได้ไม่ยาก เพราะหากสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นนอกเหนือไปจากทิศทางที่ตำราได้เขียนเอาไว้ ก็ย่อมจะทำให้เชื่อได้ยาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่สมัยก่อนเคยเชื่อกันว่าโลกแบนนั้น กว่าคนทั้งโลกจะยอมเชื่อว่าโลกกลมจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันมาเป็นร้อยปี

ผลจากการฟัง vs ผลจากการวัด
อะไรควรเป็น ‘ตัวตัดสิน’.?

โดยความเป็นจริงแล้ว นักออกแบบเครื่องเสียงจะเป็นคนที่ ‘ต้อง’ รู้ลึกในทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่ออกแบบและมีความชำนาญเชี่ยวชาญในการตรวจวัดมากกว่านักฟัง เพราะโดยพื้นฐานของคนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

คนออกแบบเครื่องเสียงมีหน้าที่ คิด ออกแบบ และ ‘สร้าง’ เครื่องเสียงออกมา ส่วนคนฟังนั้น (หรือคนเล่นเครื่องเสียง) มีหน้าที่ เลือกซื้อ และเอาเครื่องเสียงชิ้นนั้นมา ‘เล่น’ ตามวิธีการของนักเล่นเพื่อผลการฟัง (เสียง) ที่เขาต้องการ

จะเห็นได้ว่า ถ้าคนทั้งสองกลุ่มนี้ยึดเพียงแค่ผลจากการวัดด้วยเครื่องมือวัดเป็นตัวตัดสินคุณภาพเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงเหมือนๆ กัน ก็คงทำให้ ‘การเล่นเครื่องเสียง’ ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าแค่ซื้อเครื่องเสียงมาฟังโดยไม่ต้อง ‘เล่น’ กับมัน และคงจะเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะลงทุนพัฒนาคุณภาพเสียงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้หากว่าไม่มีการพัฒนาเครื่องมือวัดให้ดีขึ้นซะก่อน ซึ่งจะทำให้การตัดสินว่าเครื่องเสียงชิ้นไหนคุ้มค่าน่าซื้อกว่ากันก็คงทำได้แค่ดูผลจากการวัดด้วยเครื่องเทียบกับราคาขายเท่านั้นเอง

เพราะโลกเครื่องเสียงไม่ได้เป็นไปอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ความจริงที่เกิดขึ้นตลอดมาก็คือคนทำเครื่องเสียงกับคนเล่นเครื่องเสียงใช้ข้อมูลที่ได้จาก ‘ผลการวัดด้วยเครื่องมือวัด’ ในลักษณะที่ต่างกัน

ทางฝั่งของ ‘คนทำเครื่อง’ นั้น ควรอย่างยิ่งที่จะอาศัยทฤษฎีในการออกแบบและอาศัยผลการวัดด้วยเครื่องวัด (ที่มีความเที่ยงตรงสูง?) เป็นแนวทางในการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการทำงานของเครื่องให้ได้ผลสอดคล้องไปตามทฤษฎีที่ตนเองใช้ในการออกแบบ ส่วนทางฝั่งของ ‘คนเล่นเครื่อง’ นั้น อาศัยแนวทางการออกแบบและผลการวัด (ก็คือสเปคฯ ของเครื่อง) เป็นเข็มทิศในการเล่นของตน

ซึ่งเข็มทิศสำหรับคนออกแบบและสร้างเครื่องเสียงก็คือ ทฤษฎี+เครื่องมือวัด ส่วนเข็มทิศสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงก็คือ การแม็ทชิ่ง+ประสบการณ์ของหู

ดังนั้น ผลการวัดด้วยเครื่องมือวัดน่าจะเป็นตัวตัดสินสำหรับคนทำเครื่องเสียง แต่สำหรับคนเล่นเครื่องเสียงแล้ว ผลการฟังด้วยหูเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินที่ดีที่สุด ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว แม้แต่คนทำเครื่องเสียงเองก็ควรที่จะใช้ผลการฟังด้วยหูเข้ามาช่วยในการตัดสินด้วย เพราะเป้าหมายของการออกแบบเครื่องเสียงทุกชิ้นก็เพื่อให้เครื่องเสียงที่ออกแบบมานั้นฟังดีสำหรับหูของคนทั่วไป ซึ่งผมเชื่อว่านักออกแบบเครื่องเสียงทุกคนต่างก็ตระหนักกันดีถึงความจริงในข้อนี้ โดยเฉพาะในวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ ซึ่งมีผู้ผลิตและออกแบบหลายเจ้าที่เน้นการฟังหรือการจูนด้วยหูมาประกอบในการออกแบบด้วย

ผมเคยไปเยี่ยมเยียนโรงงานผลิตเครื่องเสียงหลายแห่งทั้งใหญ่และเล็ก พบว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีห้องทดลองฟังเสียงเพื่อวิเคราะห์เสียงกันเกือบทุกเจ้า ต่างกันก็แต่ว่า ในแต่ละเจ้านั้นจะให้ความสำคัญกับการทดลองฟังต่างกันออกไป บางยี่ห้อนั้นค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องผลการฟังมากเป็นพิเศษ แสดงว่าเขามีความเชื่อและให้ความสำคัญในเรื่องของ Objective ของการฟัง ในขณะที่บางเจ้าแม้จะมีห้องฟังทดลองเสียง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่เชื่อ ผมเคยคุยกับนักออกแบบเครื่องเสียงยี่ห้อ Arcam ที่อังกฤษ เขาให้เหตุผลว่าทำไมเขาจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผลของการฟังมากนัก เนื่องจากเขามีความเห็นว่า การฟังด้วยหูเป็นกรรมวิธีวัดผลที่มีตัวแปรสลับซับซ้อนมากกว่าการวัดค่าด้วยเครื่องมือมาก ถ้านำมาใช้วิเคราะห์ในการออกแบบก็อาจจะทำให้เกิดความไขว้เขวได้ง่ายๆ

เขาบอกว่า เขาสามารถวัดสเปคฯ ต่างๆ ของแอมปลิฟายที่เขาออกแบบได้อย่างง่ายๆ ด้วยเครื่องมือในห้องแล็ปโดยไม่ต้องสนใจว่ามันจะไปต่อใช้งานกับลำโพงหรือเครื่องเล่นซีดีตัวไหน ในความหมายก็คือ การวัดค่าตอบสนองของเครื่องเสียงแต่ละชิ้นนั้นเป็นการวัดโดยใช้สัญญาณอินพุตที่ซิมูเลตขึ้นมาแทนสัญญาณดนตรี ซึ่งเขายอมรับว่าเคยทดลองเอาเครื่องเล่นซีดีกับลำโพงของผู้ผลิตยี่ห้ออื่น (ผมก็เห็นว่าในห้องฟังเสียงของเขามีเครื่องเล่นซีดีและลำโพงของยี่ห้อดังๆ หลายๆ ยี่ห้อวางอยู่) มาเล่นกับแอมปลิฟาย Arcam ของเขาเพื่อประเมินผลด้วยการฟัง แต่สิ่งที่เขาพบก็คือ ทุกครั้งที่ทำการเปลี่ยนเครื่องเล่นซีดีหรือลำโพงลงไปเขาก็จะได้ยินเสียงที่ต่างออกไปตลอดเวลา ซึ่งบอกได้เลยว่ามันต่างออกไปเยอะมาก บางครั้งนั้นเรียกว่าแทบจะในทุกแง่ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงแหลมเสียงกลางเสียงทุ้ม หรือแม้กระทั่งในแง่ของมิติซาวนด์สเตจก็เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่ายากต่อการตีความกับสิ่งที่ได้ยินถ้าจะอาศัยผลจากการฟังมาเพื่อการปรับจูนเสียงแอมปลิฟายของเขา

นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขาไม่ (อยาก) ให้ความสำคัญกับผลที่ได้จากการฟังมากนัก (ทั้งๆ ที่ยอมรับว่ามีนัยยะอยู่ไม่น้อย)..

ประสบการณ์ของหู’
คือ ‘เครื่องมือวัด’ ของคนเล่นเครื่องเสียง

ผลการวัดของอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้นที่ได้จากเครื่องมือวัดไม่ได้สรุปว่าเครื่องเสียงชิ้นนั้นจะให้เสียงออกมาดีหรือไม่ดีเวลาที่มันเข้าไปอยู่ในซิสเต็มใดๆ เนื่องจากโดยพื้นฐานความจริงที่ว่า อุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้นจะไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้โดยไม่ต้องนำไปต่อกับอุปกรณ์ส่วนอื่น ดังนั้น เสียงที่เราได้ยินจากชุดเครื่องเสียงแต่ละชุดนั้นก็คือ ‘ผลรวม’ ของเสียงที่เกิดขึ้นจาก ‘บุคลิก’ ของอุปกรณ์เครื่องเสียง ‘ทุกชิ้น’ ที่ประกอบอยู่ในซิสเต็มนั้น (นี่ยังไม่พูดถึงสภาพอะคูสติกของห้องที่ใช้ฟัง, สภาพไฟ และ ฯลฯ)

ความจริงข้อนี้ได้ถูกพิสูจน์มาแล้วจากประสบการณ์ของนักเล่นเครื่องเสียงบางคนที่ใช้วิธีจัดชุดเครื่องเสียงโดยเลือกอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ติด คลาส A ของหนังสือ Stereophile มาผสมกันแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นกลับไม่ได้ดีอย่างที่ (เขาคนนั้น) คาดคิด

ประเด็นนี้สามารถมองได้เป็นหลายแง่..

แง่แรกก็คือ เครื่องเสียงแต่ละชิ้นอาจจะมีคุณภาพที่ดีจริง แต่มันอาจจะไม่แม็ทชิ่งกัน เมื่อนำมาเล่นด้วยกันเสียงที่ได้จึงไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น หรือแง่ที่สอง คนที่ฟังเครื่องเสียงชุดนั้นอาจจะไม่มีประสบการณ์ในการฟังที่ดีพอก็ได้ จึงไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ได้ยินจากเครื่องเสียงชุดนั้นออกมาเป็นประเด็นเพื่อตีคุณค่าของมันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่วนแง่ที่สามที่อาจจะเป็นไปได้นั่นคือ ซิสเต็มนั้นอาจจะถูกเซ็ตอัพอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือสภาพอะคูสติกในห้องที่ใช้ฟังซิสเต็มนั้นอาจจะไม่ดีพอ อาจมีปัญหาเรโซแนนซ์รบกวนอยู่ ฯลฯ

เรื่องประสบการณ์ในการฟังนี้สามารถพิสูจน์ได้ไม่ยาก ด้วยการจัดชุดเครื่องเสียงขึ้นมาหนึ่งชุดแล้วหาคนมาสองคนให้ทดลองฟังเพลงเดียวกันในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เสร็จแล้วให้ทั้งสองคนบอกเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองได้ยินออกมาโดยไม่ให้รู้กัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราทราบถึงประสบการณ์ในการฟังของคนทั้งสองอย่างชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันมากแค่ไหน

Subjective เชื่อถือได้แค่ไหน?

Subjective คือลักษณะของคุณภาพเสียงที่ถูกกำหนดขึ้นโดยประสบการณ์ของคนฟัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประสบการณ์ที่ถูกต้องของผู้ฟังที่จะใช้ในการตรวจวัดคุณภาพเสียงนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่สามารถหาซื้อมาได้เหมือนเครื่องมือวัดที่มีวางขายกันดาษดื่น

เครื่องมือของนักทดสอบที่ใช้แนวทางการฟังด้วยหูเป็นตัวตัดสินคุณภาพจึงมักจะถูกตรวจสอบถึงความเที่ยงตรงแม่นยำอยู่เสมอ เนื่องจากมนุษย์มีความเบี่ยงเบนสูงกว่าเครื่องมือวัด แม้ว่าประสาทหูของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องมือวัดเพราะสามารถตรวจสอบคุณภาพของเสียงในแง่มุมที่ลึกซึ้งได้ดีกว่าเครื่องมือวัดก็ตาม อย่างเช่นในแง่ของมิติซาวนด์สเตจ หรือความถูกต้องของฮาร์มอนิกที่เป็นมัลติฟอร์ม (harmonic structure) ซึ่งเครื่องมือวัดไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่มนุษย์เองก็ยังมีคุณสมบัติบางด้านที่ด้อยกว่าเครื่องมือวัดอยู่ดี นั่นคือมนุษย์มีอารมณ์, ประสบการณ์ในการรับรู้ ไปจนถึงความสามารถในการรับรู้ของประสาทหูและสัมผัสที่ต่างกันไปในแต่ละคนและแต่ละวัย

Subjective ของผู้ฟังมาจากไหน?

นักทดสอบเครื่องเสียงของฝรั่งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่าง Harry Pearson แห่งสำนัก The Absolute Sound! พูดอยู่เสมอว่า เสียงเครื่องดนตรีอะคูสติก (คือเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้า) ที่เล่นอยู่ในสภาพที่ไม่มีการขยายเสียงด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นถือว่าเป็นลักษณะของเสียงที่สามารถนำมาใช้เป็นตัวอ้างอิงในการตรวจวัดคุณภาพเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงได้เป็นอย่างดี

ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนในวงการอุตสาหกรรมเครื่องเสียงเห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่า จะสามารถเก็บเกี่ยวเอาลักษณะเสียงแบบที่ว่านั้นมาบรรจุไว้ในสมองของเราได้อย่างไร?

โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราใช้ประสาทหูใน 2 ลักษณะ คือ ‘โดยอัตโนมัติ’ (hearing) กับ ‘โดยพิเคราะห์’ (listening)

ในชีวิตประจำวันนั้น มนุษย์เรามักจะใช้ประสาทหูในลักษณะ ‘โดยอัตโนมัติ’ มากกว่า ‘โดยพิเคราะห์’ กล่าวคือ เรามักจะปล่อยให้สมองของเราตีความหมายของเสียงอย่างหยาบๆ จากเสียงที่เรา ‘ได้ยิน’ อยู่รอบข้างโดยไม่สนใจกับองค์ประกอบย่อยๆ ที่ได้ยิน อย่างเช่น เวลาที่คุณโทรศัพท์คุยกับแฟนหรือเพื่อนสนิท คุณไม่เคยสนใจเลยใช่มั้ยว่า เสียงพูดของแฟนหรือเพื่อนสนิทของคุณที่ได้ยินจากลำโพงของโทรศัพท์ที่คุณใช้มันแตกต่างไปจากเสียงของแฟนหรือเพื่อนสนิทของคุณจริงๆ มากแค่ไหน นั่นเป็นเพราะเรามักจะให้ความสนใจไปที่เนื้อความที่คุยกันมากกว่าความถูกต้องของเสียงที่ได้ยิน

เฉกเดียวกัน เวลาฟังเพลงจากวิทยุกระเป๋าหิ้วเรามักจะไม่รู้สึกว่าเสียงเครื่องดนตรีที่ได้ยินมีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ใกล้เคียงกับเสียงดนตรีจริงๆ ในธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจไปที่เนื้อหาของดนตรีมากกว่าความถูกต้องของเสียงที่ได้ยิน แต่ถ้าเรารู้ตัวและตั้งใจที่จะฟังเพื่อพิเคราะห์สิ่งที่ได้ยินอย่างจริงๆ จังๆ เราก็จะสามารถรับรู้และแยกแยะสิ่งที่ได้ยินออกมาได้ และหากมีโอกาสฟังดนตรีจริงที่เป็นการแสดงสดในหอประชุมหรือสถานแสดงดนตรีที่ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง (อย่างเช่น การแสดงสดของวงออเคสตร้าในศูนย์วัฒนธรรม) ด้วยความพิเคราะห์ เราก็จะได้ตัวอย่างของลักษณะเสียงที่ดีเก็บไว้ในคลังสมองเพื่อใช้เป็นตัวอ้างอิงในการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ยินจากอุปกรณ์เครื่องเสียงได้

ซึ่งทักษะที่เกิดจากการตกผลึกของประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งจากการฟังดนตรีจริงและจากการฟังอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกระดับจำนวนมากประกอบกัน จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่มีอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวใดในโลกที่ให้เสียงได้เหมือนจริงครบร้อยเปอร์เซ็นต์

Subjective vs. Objective
The never ending story..

ระหว่าง Subjective กับ Objective พอจะสรุปได้ว่า จุดอ่อนของ Objective มีอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือว่ามันเป็นแค่กระบวนการที่ใช้ในการวัดผลการทำงานของเครื่องในลักษณะที่ “ไม่เหมือน” กับการใช้งานจริง กล่าวคือ เป็นการวัดค่าโดยแยกส่วนเฉพาะตัว ไม่ได้เป็นผลที่ได้จากการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ส่วนอื่นแบบเต็มระบบ ประเด็นที่สองก็คือสัญญาณที่ใช้วัดก็ไม่ได้เป็นสัญญาณดนตรีจริงๆ

ส่วน Subjective นั้นก็มีจุดอ่อนอยู่แค่ประเด็นเดียว นั่นคือ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนให้ตรวจสอบได้ง่ายๆ เหมือนเครื่องมือวัดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งทุกเครื่องจะมีระดับความผิดพลาดในผลการวัดระบุไว้ให้ทราบด้วย (แต่หูของมนุษย์ไม่มี)

สำหรับนักออกแบบเครื่องเสียงแล้ว การเลือกที่จะเชื่อมั่นในเครื่องมือวัดดูจะเป็นวิธีที่รับมือได้ง่ายกว่าการยอมรับผลจากการฟังซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากสำหรับเขา (เพราะไม่สามารถวัดค่าออกมาได้) และเสียงที่ฟังก็เป็นผลรวมจากซิสเต็มที่มีอุปกรณ์หลายชิ้นทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เสียงจากอุปกรณ์ที่ออกแบบตัวเดียวโดดๆ

อย่างไรก็ดี ตราบใดที่เป้าหมายสุดท้ายของการออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชิ้นก็เพื่อจุดประสงค์ในการนำเสนอเสียงดนตรีตอบสนองแก่หูของมนุษย์แล้วไซร้ ไม่ว่าจะเป็นคนออกแบบเครื่องเสียง, คนเล่นเครื่องเสียง, คนบันทึกเสียง, นักดนตรี รวมไปถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวงการเพลงและเครื่องเสียง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการฟังที่ดีพอ และควรจะให้ความเชื่อถือมันให้มากกว่าเครื่องมือวัด เพราะถ้าไม่เชื่อการฟังด้วยหูแล้ว เราจะพัฒนาคุณภาพของเสียงไปในทิศทางใดและเพื่ออะไรกันล่ะ.? /

*********************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า