รีวิวเครื่องเสียง KEF รุ่น LSX ลำโพงไร้สาย ที่รองรับการสตรีมเพลงได้ทุกรูปแบบ

ถอยหลังลงไปสัก 2-3 ปีแล้วไล่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบการฟังเพลงของคนยุคนี้เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้านั้นมาก จริงอยู่ว่าเพลงที่ฟังยังคงเป็นเพลงเดิมๆ ที่คุ้นเคยมานาน ทว่า รูปแบบกับลักษณะการเอาเพลงเหล่านั้นมาฟังได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

The way we listen today!

ปัจจุบันคนทั่วไปฟังเพลงกันอย่างไร? ต้องยอมรับว่า ยุคนี้แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “สตรีมมิ่ง” ซึ่งไม่ใช่แค่ฟังเพลงเท่านั้น แต่ปัจจุบัน คนไทยเราเริ่มใช้เทคโนโลยีในการ “สตรีม” คอนเท็นต์ที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง, ดูคลิปบนยูทูป และฟังเพลงจากผู้ให้บริการต่างๆ นั่นทำให้เราคุ้นเคยกับพฤติกรรมในการ “สตรีม” คอนเท็นต์ต่างๆ มาเสพโดยไม่รู้ตัว พอนึกอยากฟังเพลง ใจก็จะนึกถึง “สตรีมมิ่ง” ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

บริการสตรีมเพลงที่เน้นคุณภาพและมีความแพร่หลายมากในเมืองไทยตอนนี้มีอยู่หลายเจ้า อาทิ Spotify, Apple Music และ TIDAL ซึ่งแต่ละเจ้ามีเพลงเก่าๆ ให้ผู้ใช้บริการฟังจำนวนมหาศาล นอกจากนั้น ก็ยังได้นำเสนอเพลงใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น การฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งจากผู้ให้บริการเหล่านี้จึงได้ประโยชน์ 2 ทาง นั่นคือได้ฟังเพลงเก่าๆ ที่ชื่นชอบ และได้อัพเดตเพลงใหม่ๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

KEF LSX ลำโพงที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองรูปแบบการฟังเพลงของคนวันนี้!

KEF เป็นแบรนด์ผู้ผลิตลำโพงสัญชาติอังกฤษที่มีประวัติยาวนานเกือบ 60 ปี (เริ่มมาตั้งแต่ปี 1961) ผู้ก่อตั้งมีชื่อว่า Raymond Cooke ส่วนชื่อแบรนด์มาจากตัวอักษรย่อของชื่อ Kent Engineer & Foundry ซึ่งเป็นบริษัทเอนจิเนียริ่งที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนแรกที่ Raymond Cooke ก่อตั้งแบรนด์

ตลอดเวลาเกือบหกสิบปีที่ผ่านมา แบรนด์ KEF ได้สร้างผลงานระดับนวัตกรรมประดับไว้ในวงการมากมาย เป็นฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้ทั้งงานด้านโปรเฟสชั่นแนลและโฮมยูสพัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ ลำโพงไร้สายรุ่น LSX ที่ผมกำลังจะพูดถึงรุ่นนี้ก็เป็นหนึ่งในหลักฐานพยานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของแบรนด์ KEF ที่ก้าวตามเทรนด์ของคนฟังเพลงในแต่ละยุคมาได้อย่างกระชั้นชิด

ดีไซน์ภายนอก

A = ไฟแสดงสถานะของตัวเครื่อง
B = ไดเวอร์มิดเร้นจ์วูฟเฟอร์ขนาด 4.5 นิ้ว
C = ไดเวอร์ทวีตเตอร์ขนาด 0.75 นิ้ว
D = ขอบยางของตัวมิดเร้นจ์วูฟเฟอร์
E = พื้นที่ติดตั้งขั้วต่อและจุดควบคุมการเชื่อมต่อ
F = ท่อระบายอากาศ

KEF LSX ถูกออกแบบมาภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกับรุ่น LS50 ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ KEF อย่างมาก คือเป็นลำโพงที่ประกอบด้วยภาค DAC และภาคขยาย (amplifier) มาในตัวเสร็จสรรพ ผู้ใช้เพียงแค่ต่อเชื่อมสัญญาณจากแหล่งต้นทาง (source) เข้าไปเท่านั้นก็สามารถรับฟังเพลงได้แล้ว

ตัวตู้ของ LSX มาในแนวเดียวกับรุ่น LS50 แต่ด้วยขนาดสัดส่วนที่ย่อมกว่า หน้ากว้างแค่หกนิ้วนิดๆ สูงเก้านิดกว่าๆ ลึก 7.1 นิ้ว ถือว่าเป็นขนาดกระทัดรัด อุ้มแนบอกกำลังพอดี แต่น้ำหนักเอาเรื่องเหมือนกัน ข้างละสามกิโลกว่าๆ รูปร่างภายนอกดูสวยงาม หล่อขึ้นรูปด้วยวัสดุพีวีซีแข็ง เนื้องานเนี๊ยบ ปราณีตและดูดี หน้าตาโดยรวมของ LSX เป็นผลพวงมาจากฝีมือการออกแบบของ Michael Young ซึ่งเป็นอินดัสเชี่ยล ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ทรงตู้เป็นสี่เหลี่ยมแต่มีการลบเหลี่ยมปาดมุมทุกด้านจนดูมนลื่นตา โดยเฉพาะแผงหน้าปาดโค้งมน ซึ่งนอกจากจะดูสวยงามอ่อนช้อยแล้ว การปาดมุมด้านข้างของตัวตู้ยังช่วยลดปัญหาเสียงที่ตกกระทบบนแผงหน้าไม่ให้สะท้อนกลับมารบกวนเสียงตรงจากไดเวอร์ลงไปได้มาก ส่งผลให้เสียงเพลงที่ฟังมีลักษณะที่เปิดโล่ง กระจ่างออกมาด้านหน้า

ไดเวอร์ Uni-Q หัวใจของระบบ

ไดเวอร์เสียงแหลม (ทวีตเตอร์) โดมอะลูมิเนียม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75 นิ้ว ถูกติดตั้งไว้ตรงแกนกลางของไดเวอร์มิดวูฟเฟอร์ขนาด 4.5 นิ้ว กรวยอัลลอยด์ที่ทำมาจากแม็กเนเซียมผสมอะลูมิเนียม นั่นคือรูปแบบการจัดวางไดเวอร์ที่เรียกว่า Uni-Q ซึ่งเป็นสิทธิบัตรที่คิดค้นและจดลิขสิทธิ์โดยแบรนด์ KEF เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ไดเวอร์ทั้งสองตัวที่ใช้ในรุ่น LSX นี้ก็ออกแบบและผลิตโดย KEF ทั้งคู่

ไดเวอร์ทั้งสองตัวของ LSX ถูกควบคุมด้วยการทำงานของวงจร DSP (Digital Signal Processing) ที่ทีมวิศวกรของ KEF ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ ชื่อว่า “Music Integrity Engineซึ่งติดตั้งอยู่บนแผงวงจรที่ซุกอยู่ในตัวตู้และต่อเชื่อมตรงเข้ากับไดเวอร์ทั้งสอง โดยที่ DSP ที่่ว่านี้จะทำหน้าที่คล้าย active crossover กำกับการถ่ายทอดความถี่เสียงของไดเวอร์ทั้งสองตลอดย่านเสียงตั้งแต่ 59Hz ขึ้นไปจนถึง 28,000Hz ให้ออกมาด้วยความเที่ยงตรงตามรูปแบบของสัญญาณอินพุตที่ได้รับเข้าไป

พลังที่ใช้ขับดันไดเวอร์ทั้งสี่ตัว (ข้างละสองตัว) เป็นเพาเวอร์แอมป์ Class-D โดยใช้แอมป์ 70W สำหรับขับไดเวอร์มิดวูฟเฟอร์ แยกข้างละตัว ส่วนไดเวอร์ทวีตเตอร์นั้นใช้แอมป์ 30W แยกกันขับข้างละตัวเช่นกัน รวมเป็นเพาเวอร์แอมป์ 4 ตัวสำหรับลำโพง LSX หนึ่งคู่

การเชื่อมต่อ

LSX เป็นลำโพงที่ KEF ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานด้วยวิธี “streamอย่างแท้จริง ดังนั้น ระบบ Network จึงเป็นพื้นฐานของการเชื่อมต่อที่จำเป็นสำหรับลำโพงรุ่นนี้ มันต้องการ Wi-Fi สำหรับการควบคุมสั่งงาน ส่วนการดึงไฟล์เพลง (stream) มาเล่นสามารถทำได้ผ่านทาง Wi-Fi (ใช้สาย/ไร้สาย) และผ่านทาง Bluetooth

KEF ได้ออกแบบแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “KEF Control” (มีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android) ขึ้นมาเพื่อให้ใช้สำหรับการปรับตั้งพารามิเตอร์ที่จำเป็นต่างๆ ในการทำงานของตัวลำโพง ซึ่งเป็นแอพฯ ที่ออกแบบมาได้ดี มีเมนูให้ผู้ใช้เข้าไปทำการปรับตั้งหลายเมนู ครอบคลุมการทำงานในส่วนที่จำเป็นครบถ้วน ทั้งที่เกี่ยวกับการปรับจูนเสียงที่ขึ้นอยู่กับลักษณะการติดตั้งใช้งาน และการปรับตั้งค่าอื่นๆ ที่จำเป็นก่อนเริ่มใช้งาน เป็นแอพฯ ที่ใช้งานง่าย เพื่อไม่ให้ยืดยาวจนเกินไป ผมได้แยกข้อมูลการปรังตั้งค่า LSX ด้วยแอพฯ KEF Control ออกไปไว้ในคอลัมน์ HOW-TO ซึ่งคุณสามารถเข้าไปอ่านได้จาก ลิ้งค์ นี้

ทดสอบใช้งาน LSX

A = สาย LAN (Ethernet)
B = คลื่น Bluetooth
C = คลื่น Wi-Fi (AirPlay 2)
D = สาย analog (R/L)
E = สาย digital (Optical)
F = สาย USB

LSX ให้ความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงมาก เพราะมันมีความสามารถรอบตัวในการเชื่อมต่อ คือสามารถรองรับสัญญาณเสียงจากแหล่งต้นทางได้ทั้งจากวิธีใช้สายต่อเชื่อม (Wire Connection) และสามารถรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงด้วยวิธีไร้สายด้วย (Wireless Connection)

A = ฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งกับ LSX

เมื่อเชื่อมต่อ LSX เข้ากับเน็ทเวิร์คแล้ว คุณจะสามารถฟังเพลงผ่าน LSX ได้จากหลายทาง อาทิเช่น ฟังเพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่าง TIDAL และ Spotify ผ่านแอพฯ ที่รองรับ และเลือกฟังเพลงจาก NAS หรือจาก Music Server ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันก็ได้

แอพฯ ที่ชื่อว่า “KEF Streamจะถูกใช้ในการสตรีมเพลงจากแหล่งต่างๆ ข้างต้นมาเล่นบน LSX

เมื่อเปิดแอพฯ KEF Stream ขึ้นมาแล้ว คุณจะพบกับแหล่งเก็บไฟล์เพลง 3 แหล่งหลักๆ ที่คุณสามารถจิ้มเลือกเพื่อสตรีมเพลง (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง) มาฟังผ่าน LSX นั่นคือ Media Servers = เป็นแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่เชื่อมต่ออยู่บนเน็ทเวิร์คเดียวกับ LSX ส่วนแหล่งที่สองและที่สามก็คือ TIDAL กับ Spotify ซึ่งสองแหล่งนี้เป็นสตรีมมิ่งเซอร์วิส หรือผู้ให้บริการเช่าเพลงผ่านการสตรีมสองเจ้าดังที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าต้องการฟังผ่าน TIDAL คุณต้องทำการสมัครขอใช้บริการก่อนจึงจะสามารถสตรีมเพลงจาก TIDAL มาฟังได้ ส่วน Spotify นั้นเขามีเวอร์ชั่นฟังฟรีที่มาพร้อมโฆษณาและข้อจำกัดบางประการ ถ้าต้องการความสามารถและคุณภาพแบบ full option จาก Spotify ก็ต้องสมัครใช้บริการเวอร์ชั่นพรีเมี่ยม โดยเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับ TIDAL เช่นเดียวกัน เหตุที่ผมพูดถึงสตรีมมิ่ง 2 ค่ายนี้มากเป็นพิเศษเพราะอยากจะแนะนำให้ใช้กับลำโพง LSX ตัวนี้ เพราะจากการทดลองฟังของผม ผมพบว่ามันให้เสียงออกมาดีมาก เพลงก็มีให้เลือกเยอะ ค่าใช้จ่ายไม่สูง

ทั้งสามภาพด้านบนเป็นการทดลองฟังเพลงจาก Spotify (สนใจเชิญได้ที่ )

สามภาพด้านบนนี้เป็นการทดลองฟังเพลงด้วยการสตรีมจาก TIDAL ผ่านมาที่ LSX (สนใจเชิญที่ tidal.com)

การเข้าถึง TIDAL และ Spotify ผ่านแอพ KEF Stream ทำได้ง่ายมาก แม้แต่คนที่ไม่ค่อยได้ใช้งานยังพอคลำทางได้ในเวลาอันสั้น ถ้าเป็นคนที่ใช้ TIDAL กับ Spotify จนเคยชินมาแล้วก็จะยิ่งง่ายมากในการควบคุมใช้งาน ที่สำคัญคือ เสียงดีมาก สำหรับมาตรฐานของคนเล่นเครื่องเสียงอย่างผมยังยอมรับได้สบายๆ ถ้าคุณต้องการฟังเพลงด้วยเสียงที่มีคุณภาพมากกว่ามาตรฐานทั่วไป ผมว่าคุณต้องแฮ้ปปี้กับเสียงที่ได้ยินจาก LSX ตัวนี้อย่างแน่นอน!

* เพิ่มเติม – สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงด้วยการสตรีมมิ่งจาก TIDAL ผมพบว่า แม้ว่าภาคดีโค๊ดเดอร์ในตัว LSX จะยังไม่รองรับการถอดรหัสฟอร์แม็ต MQA โดยตรงด้วยตัวเอง แต่เมื่อใช้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่รองรับการถอดรหัสฟอร์แม็ต MQA ได้ (ด้วยซอฟท์แวร์) อย่างเช่นโปรแกรม roon ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงร่วมกับ LSX เมื่อเลือกสตรีมไฟล์เพลง MQA จาก TIDAL ผ่านโปรแกรม roon ตัวโปรแกรม roon จะทำการถอดรหัสให้ ครึ่งหนึ่งก่อนส่งให้ภาค DAC ในตัว LSX รับหน้าที่ไปทำงานต่อ

จากภาพตัวอย่างข้างบนนั้น จะเห็นว่า ไฟล์เพลงของ Neil Young ที่เลือกเล่นเป็นไฟล์ FLAC 48kHz (A) ซึ่งเป็นสัญญาณเสียงที่ถูกพับ (origami) มาจากสัญญาณเสียง 192kHz จากสตูดิโอ โดยที่มีสัญญาณ 24/48 เป็นพับที่หนึ่ง, 24/96 เป็นพับที่สอง และ 24/192 เป็นพับที่สาม ซึ่งก็คือออริจินัลที่ออกมาจากสตูดิโอ เมื่อเล่นไฟล์นี้กับโปรแกรม roon ตัวโปรแกรม roon จึงทำการถอดรหัส (คลี่ไฟล์) ออกมาให้ครึ่งหนึ่งนั่นคือ 24/96 (B) ก่อนส่งให้ LSX (C) ทำให้คุณได้ยินเสียงที่มีคุณภาพสูงกว่า 24/48 ขึ้นไปอีกขั้น

B = ฟังเพลงจากสมาร์ทฟนและแท็ปเล็ดผ่าน LSX

สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงด้วยหูฟังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้ เครื่องเล่นไฟล์เพลงแบบพกพา (Portable Digital Audio Player) หรือจะใช้วิธีเล่นด้วยแอพฯ เล่นไฟล์เพลงบนสมาร์ทโฟน คุณจะแฮ้ปปี้มากเมื่อเชื่อมต่อเครื่องเล่นไฟล์เพลงพกพาหรือสมาร์ทโฟนของคุณเข้ากับ LSX ผ่านทาง Bluetooth

ผมทดลองเล่นไฟล์เพลงที่ผมเก็บอยู่บน iPhone 7 ด้วยแอพฯ Onkyo HF Player แล้วเชื่อมต่อกับ LSX ผมพบว่า ผมสามารถเลือกวิธีส่งสัญญาณเสียงจาก iPhone 7 ของผมไปที่ LSX ได้ถึง 2 วิธี คือ (A) ผ่านทาง Bluetooth และ (B) ผ่านทาง AirPlay 2 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อผ่านทาง Wi-Fi ไร้สาย

ผมทดลองเล่นเพลงโดยเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เสียงออกมาดีมากเช่นกัน ดีมากเกินพอซะด้วยซ้ำสำหรับการฟังแบบลำลอง เพราะเสียงที่ LSX ให้ออกมานั้นมันเทียบเคียงได้กับชุดเครื่องเสียงขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าใครมี งบไม่เกิน 50,000 บาท จะไปมองหาเครื่องเสียงแยกชิ้นคงจะยาก งบไม่พอ แต่กับ LSX ตัวนี้คุณจะได้เสียงคุ้มกับงบไม่เกินห้าหมื่นที่มีอย่างแน่นอน!

C = ฟังเพลงจากอุปกรณ์ iOS ผ่าน Wi-Fi ไร้สาย

ยังมีการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi แบบไร้สายอีกเส้นทางหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับ LSX ได้ นั่นคือการเชื่อมต่อเพื่อรับ/ส่งสัญญาณเสียงระหว่างกันแบบตัวต่อตัวด้วยเทคโนโลยี AirPlay 2 ของแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งสงวนไว้สำหรับอุปกรณ์แก็ดเจ็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ iOS เท่านั้น (iPhone, iPad และ iPod เจนเนอเรชั่นใหม่ๆ)

D = ลองฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับ LSX

ใครที่เล็งว่าจะใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงกับ LSX ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า ในตัว LSX ไม่มีภาคขยายหัวเข็มในตัว (หรือภาค Pre-Phono) ดังนั้น คุณต้องหาปรีโฟโนมาเชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับช่องอินพุต AUX ของ LSX ด้วย

ผมทดลองเชื่อมต่อสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปที่ LSX ผ่านทางช่องอินพุต AUX โดยใช้สายสัญญาณอะแด๊ปเตอร์ RCA > mini 3.5mm ได้เสียงออกมาดีทีเดียว มีเสียงหัวเข็มครูดแผ่นดังออกมาด้วย ได้อารมณ์ของการฟังเพลงจากแผ่นเสียงไปอีกแบบ

E = เอา LSX ไปอัพเกรดเสียงจากทีวี

ที่ด้านหลังของ LSX ตัวข้างขวา (Master) จะมีขั้วต่อขาเข้าแบบ Optical ซึ่งรองรับสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลมาให้ด้วย ซึ่งประโยชน์ที่เอกอุของมันก็คือใช้อัพเกรดคุณภาพเสียงให้กับทีวีได้ โดยหาสาย Optical มาเชื่อมต่อระหว่างทีวีกับ LSX และไปเลือกปรับตั้งที่ทีวีให้ใช้ลำโพงภายนอก (External Speaker) เสียงของทีวีจะออกมาดีขึ้นมหาศาล!

F = ฟังเพลงที่เก็บอยู่บนฮาร์ดดิสพกพากับ LSX

บางคนเก็บไฟล์เพลงคุณภาพสูงไว้ในฮาร์ดดิส ก็สามารถนำมาใช้ฟังผ่าน LSX ได้ โดยนำฮาร์ดดิสพกพาของคุณไปเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ด้วยสาย USB แล้วใช้โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงดึงเพลงจากฮาร์ดดิสมาเล่นผ่านคอมพิวเตอร์แล้วส่งสัญญาณเสียงมาที่ LSX โดยผ่านช่องทาง Wi-Fi ได้ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย

ผมทดลองฟังเพลงที่เป็นไฟล์ไฮเรซฯ 24/96 ที่ผมเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสกับ LSX ด้วยการเล่นจากคอมพิวเตอร์ Mac mini ของผม ผ่านโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงคุณภาพสูงคือ roon ซึ่งตัว Mac mini ของผมเชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ทวงเดียวกันกับ LSX เมื่อเปิดโปรแกรม roon ขึ้นมา ผมพบว่า หลังจากเล่นไฟล์เพลงแล้ว ผมสามารถส่งสัญญาณเสียงจากโปรแกรม roon บน Mac mini ของผมไปที่ LSX ได้ถึงสองช่องทาง ถ้าผ่านทางสาย LAN จะเป็นตัวล่าง (B จากภาพข้างบน) ที่ชื่อว่า “KEF LSXแต่ถ้าส่งไปทางคลื่น Wi-Fi ไร้สาย จะเป็นช่องทางตัวบน (A จากภาพข้างบน) ที่ชื่อ “KEF LSX Test Sampleซึ่งกรณีนี้ผมแนะนำให้เลือกส่งข้อมูลทางสาย LAN เพราะจะได้สเปคฯ ของเสียงสูงกว่า คือส่งไปได้สูงสุดถึงระดับ 24/192 แต่ถ้าส่งทาง Wi-Fi ไร้สายจะได้สูงสุดแค่ 16/44.1

ในภาพข้างบน ตัวโปรแกรม roon แสดงเส้นทางเดินของสัญญาณเสียงที่เล่นผ่านตัวมันออกไป ซึ่งจะเห็นว่า ตัวไฟล์ต้นฉบับ 24/96 ถูกเล่นและส่งไปที่ LSX ด้วยระดับความละเอียดสัญญาณที่ 24/96 เช่นกันโดยไม่ถูกลดทอนใดๆ เหตุผลก็เพราะว่า KEF รุ่น LSX ตัวนี้ได้ผ่านการปรับจูนร่วมกับทาง roon มาแล้ว จนมีคุณสมบัติเป็น roon ready ที่มีโลโก้สินค้า KEF แสดงให้เห็น นั่นทำให้เสียงของ LSX ออกมาดีที่สุดเมื่อเล่นกับโปรแกรม roon

นอกจากนี้ ด้วยประสิทธิภาพของโปรแกรม roon ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรับความดังของเพลงที่ฟังผ่านทางโปรแกรม roon ได้ด้วย ซึ่งในการใช้งานจริงนั้น คุณไม่ต้องไปปรับความดังของเพลงที่คอมพิวเตอร์ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพฯ รีโมทของ roon มาติดตั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตของคุณ ก็สามารถใช้แอพฯ รีโมท roon ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงและควบคุมความดังได้เลยโดยไม่ต้องยุ่งกับคอมฯ นี่เป็น solution ที่ดีเยี่ยม เพราะได้เสียงที่ดีและควบคุมง่าย

สรุป

ด้วยเทคโนโลยี Uni-Q ซึ่งวางไดเวอร์เสียงแหลมกับไดเวอร์กลางทุ้มอยู่ในแนวแกนเดียวกัน ในลักษณะที่นักออกแบบลำโพงเรียกว่า “point sourceคือทุกความถี่เสียงถูกส่งออกมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน ทำให้ทุกความถี่เสียงมีเฟสที่ตรงกันมาตั้งแต่เริ่มต้น มีผลให้ได้เสียงที่เปิดกว้าง ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงลักษณะของสนามเสียงที่โอ่โถงและขยายตัวออกไปโดยรอบ ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ได้กว้างโดยไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ตรงตรงกลางระหว่างลำโพงทั้งสองข้าง (จุด Sweet Spot) ซึ่งนี่คือจุดเด่นของลำโพง LSX คู่นี้ แต่ก็ใช่ว่า คุณจะใช้ปฏิบัติวิถีในการฟังตามรูปแบบที่นักเล่นเครื่องเสียงใช้กับลำโพงคู่นี้ไม่ได้ เมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งนั่งฟังตามมาตรฐานการฟังด้วยระยะ nearfield ตามแบบอย่างที่ mixed engineer นั่งมิกซ์เพลงในสตูดิโอ ลำโพงคู่นี้ก็สามารถถ่ายทอดคุณสมบัติในส่วนที่เป็น soundstage ออกมาให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย สรุปคือจะใช้ LSX เพื่อฟังแบบผ่อนคลายก็ได้อรรถรสของความเป็นดนตรีที่น่าพอใจ กระจายไปทั่วบริเวณ หรือจะตั้งใจฟังจับรายละเอียดดนตรีในแต่ละเพลงก็สามารถทำได้ด้วย

ต้องขอชมเชยว่า ทีมงานของ KEF ได้ทำการปรับจูนเสียงของ LSX ให้ออกมาดีมากเมื่อเล่นเพลงจาก Spotify และ TIDAL ซึ่งสำหรับผม ผมถือว่าเสียงที่ออกมาดีเกินคาดซะด้วยซ้ำไป เสียงเปิดกว้าง ฟังสบาย ที่น่าประทับใจมากเป็นพิเศษก็คือ LSX ให้เสียงที่เปิดกว้าง และให้รายละเอียดของเสียงที่เยี่ยมยอดมาก แยกแยะชิ้นดนตรีได้ขาด โทนัลบาลานซ์ก็ทำได้เยี่ยมมาก ไม่น่าเชื่อว่าลำโพงที่มีตู้ขนาดเล็กอย่างนี้จะสามารถรักษาสมดุลเสียงให้ได้ปริมาณของเสียงทุ้มกลางแหลมออกมากลมกลืนและสมดุลกันมาก ต้องชมเรื่องเบสที่ดีเกินตัว แม้ว่ายังขาดส่วนของพลังงานที่เป็นมวลหางเบสลึกๆ ไปบ้าง แต่เสียงทุ้มต้นๆ ลงไปถึงทุ้มกลางๆ ที่ให้ออกมาก็ต้องบอกว่า เหลือเชื่ออยู่แล้ว แสดงว่าทั้งส่วนของซอฟท์แวร์และ DSP ที่ควบคุมอยู่ภายในตัว LSX ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

แต่เมื่อได้ลองเล่นไฟล์ไฮเรซฯ 24/96 และ 24/192 ผ่าน LSX ตัวนี้ด้วยโปรแกรม roon บนคอมพิวเตอร์ ผมพบว่า คุณภาพเสียงที่ได้จาก LSX ก็กระโดดไปอีกขั้น ความเป็นไฮเอ็นด์ฯ พรั่งพรูออกมาอย่างเต็มที่ เสียงที่ได้ยิน เกินขนาดของตัวลำโพงไปไกล สามารถแผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ในห้องโดยไม่มีอาการเครียดเลย.. สุดยอดมาก.!!!!

อีกคุณสมบัติที่เด่นมากของ KEF LSX นั่นคือสีสัน ที่มีให้เลือกมากถึง 5 สี 5 อารมณ์ ตัวตู้ของสีแดงเขียวฟ้า และ ดำ หุ้มด้วยผ้า ให้ความรู้สึกนุ่มนวลมากขึ้น ไดเวอร์กับตัวตู้ทำสีให้กลมกลืนกัน คนที่ชอบความพิเศษต้องเลือกสีเขียวเพราะมีรายเซ็นต์ของดีไซนเนอร์อยู่บนตัวตู้ด้วย แต่ถ้าชอบลุคที่ดูทันสมัย ดูแลรักษาง่าย ต้องตู้สีขาวนวล ถ้ารักพี่เสียดายน้อง ก็เลือกซื้อคละสีไปเลยหลายๆ ตัว เอาไว้วางไว้ในแต่ละมุมของบ้าน ทำระบบเสียงที่ลิ้งค์กันได้ สามารถควบคุมด้วยแอพฯ ได้ทุกโซน /

************************************
ราคา : 45,900 บาท (เท่ากันทุกสี)
——————————————
จัดจำหน่ายโดย:
Open space by VGADZ (สยามดีสคัฟเวอรี่ ชั้น 2)
The Gadget by VGADZ (เซนทรัลเวิร์ล ชั้น 4)
Vgadz Online (https://www.vgadz.com/kef)
Hear By Munkonggadget (สยามพารากอน ชั้น 3)
Munkong Gadget Central Pinklao (เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า ชั้น 3)
Munkong Gadget Phantip Plaza (พันธ์ทิพย์ พลาซ่า ชั้น 1)
Munkong Gadget Paradise Park (พาราไดซ์ ปาร์ค ชั้น 2)
Munkong Gadget Online (https://www.munkonggadget.com)
Hi-Fi Lover (อัมรินทร์ พลาซ่า ชั้น 3)
King Power Duty Free (สนามบินสุวรรณภูมิ)
.Life CentralWorld Plaza (เซ็นทรัลเวิร์ล ชั้น 4)
.Life ICONSIAM (ไอค่อนสยาม)
.Life Siam Paragon (สยามพารากอน)
.Life Online (https://www.dotlife.store/)
Piyanus Sukhumvit Road 101/1 (สุขุมวิท ซอย 101/1)
Piyanus Central World Plaza (เซ็นทรัลเวิร์ล ชั้น 5)
Piyanus Zeer Rungsit (เซียร์ รังสิต)
Piyanus The Crystal SB Ratchapruek (คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ ชั้น 2)
Piyanus Central Bangna (เซ็นทรัลบางนา)
Piyanus Bangkae (ซอยเพชรเกษม 43/1)
Piyanus Pattaya Klang (พัทยากลาง)
Piyanus Fortune town (ฟอร์จูน ทาวน์)
Mercular Online (https://www.mercular.com/)

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า