รีวิวเครื่องเสียง Magnet รุ่น Elite S เน็ทเวิร์ค มิวสิค สตรีมเมอร์

ในวงการเครื่องเสียงของเรา มีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทยออกมาแล้วมากมาย ครอบคลุมเกือบครบทุกประเภทของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นลำโพง, แอมปลิฟาย รวมถึงแอคเซสซอรี่ต่างๆ ทั้งแบบที่ใช้ไฟฟ้ากับไม่ใช้ไฟฟ้า แต่มีอุปกรณ์เครื่องเสียงกลุ่มหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยถนัดทำออกมา นั่นคือ Source หรือแหล่งต้นทางสัญญาณ อย่างพวกเครื่องเล่นต่างๆ

เหตุที่ไม่ค่อยมีคนไทยทำอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทแหล่งต้นทางสัญญาณออกมาก็น่าจะเป็นเพราะว่าการทำอุปกรณ์ประเภทที่ว่านี้ต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของลิขสิทธิ์และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากกว่าพวกแอมป์และลำโพง อย่างถ้าจะทำเครื่องเล่นแผ่นซีดีออกมาขายก็ต้องไปขอซื้อไลเซนต์จาก Sony เพื่อให้สามารถพิมพ์โลโก้ลงไปบนหน้าปัดเครื่องได้ แต่เป็นที่น่าแปลกใจมากเมื่อพบว่าปัจจุบันมีคนไทยมากกว่าหนึ่งแบรนด์ที่ทำอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงออกมาจำหน่าย ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเล่นประเภทนี้ต้องอาศัยความเข้าใจทางด้านคอมพิวเตอร์เน็ทเวิร์คเข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่มาก อีกทั้งยังต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องซอฟท์แวร์ เรื่องลิขสิทธิ์ของฟอร์แม็ตต่างๆ อีกเยอะแยะ ซึ่งมีทั้งเรื่องความยุ่งยากและต้นทุนที่สูง แต่ก็ยังมีคนไทยทำออกมาหลายเจ้า นี่ก็แสดงว่า นักออกแบบเครื่องเสียงไทยยุคใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการเครื่องเสียงเมืองไทยมากขึ้นแล้ว

Magnet รุ่น Elite S
เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์ค

อุปกรณ์เครื่องเสียงชิ้นนี้เป็นผลงานของแบรนด์ Magnet ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงสัญชาติไทยที่มีประวัติมายาวนาน ผลิตภัณฑ์เด่นของแบรนด์นี้อยู่ในกลุ่มของ แอมปลิฟายกับ แอคเซสซอรี่ที่ใช้กับระบบไฟฟ้า ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม digital source เท่าที่เห็นในเว็บไซต์ของพวกเขาตอนนี้มีอยู่ 2 ตัวคือเครื่องเล่นไฟล์เพลงรุ่น Elite S ตัวนี้กับ external DAC อีกหนึ่งตัวรุ่น UDAC32 แต่ติดชื่อยี่ห้อว่า Rasteme เข้าใจว่าน่าจะเป็นสินค้าที่ทาง Magnet นำเข้ามาจำหน่ายมากกว่า

Elite Sมาในรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมขนาด mid-size ที่มีหน้ากว้าง 21.5 .. x ลึก 21.5 .. x สูง 4.5 .. ตัวถังทำด้วยอะลูมิเนียมก้อนเดียวที่ขุดขึ้นรูปด้วย CNC ทำให้ไร้รอยต่อทุกด้าน ชุบอะโนไดร์ด้วยสีดำ มีเส้นบางๆ สีทองคาดบนตัวถังหนึ่งเส้น พาดจากหน้าปัดต่อเนื่องไปจนถึงแผงหลัง ช่วยเพิ่มความเก๋ไก๋

บนแผงหน้าปัดเรียบง่าย มีส่วนประกอบแค่ไม่กี่อย่างอยู่บนนั้น จากซ้ายไปขวาเริ่มด้วยจอแสดงผลขนาด 3.5 x 4.5 .. แสดงรายละเอียดต่างๆ ของตัวเครื่องขณะใช้งานด้วยแผงจอ LCD ที่แสดงจำนวนสีที่ระดับ 262k เฉดสี แต่สีที่ผู้ผลิตเลือกใช้แสดงผลบนจอ Elite S มีแค่สีขาวกับสีน้ำตาลทอง ดูแล้วสวยเท่ ไม่สะเหร่อ ส่วนผิวด้านบนของตัวจอไล่ยาวไปจนถึงเส้นโลหะสีทองบนหน้าปัดถูกปิดทับด้วยแผ่นกระจก gorilla glass บางๆ เป็นกระจกแบบเดียวกับที่ใช้ทำหน้าจอสมาร์ทโฟนรุ่นท๊อปๆ ของแบรนด์ดังๆ นั่นเอง ป้องกันการขีดข่วนได้ดี

ข้อมูลที่แสดงบนจอก็มี อินพุตที่เลือกใช้, ระดับวอลลุ่มที่ใช้, ฟอร์แม็ตของไฟล์เพลงที่กำลังเล่น และแซมปลิ้งควีเควนซี่ของสัญญาณที่กำลังเล่น ผู้ใช้สามารถปรับระดับความสว่างของจอได้ 5 ระดับผ่านรีโมทไร้สาย (ปิดไม่ได้)

ถัดมาก็เป็นรูเสียบแจ๊ค TRS ขนาด 6.3mmนิ้ว) สำหรับหูฟัง ต่อด้วยปุ่มกดเล็กๆ สองปุ่ม สำหรับปรับตั้งเมนูของเครื่อง ซึ่งมีหัวข้อเมนูให้เลือกปรับตั้งอยู่ทั้งหมด 4 หัวข้อ คือ (1) Soft AP = ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi Hot Spot สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์พกพา (แท็ปเล็ต, สมาร์ทโฟน) เพื่อควบคุมการทำงานผ่านแอพลิเคชั่น (2) Check Firmware Update = ตรวจเช็คเฟิร์มแวร์และอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่, (3) Factory Reset = ตั้งค่าที่ปรับไว้กลับไปตามค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน และ (4) Back = ออกไปจากเมนูกลับสู่หน้าโฮมที่ใช้งานปกติ

ปุ่มสีทองบนหน้าปัดมีไว้สำหรับการหมุนปรับระดับความดังของเสียง (วอลลุ่ม) ข้างๆ ปุ่มวอลลุ่มถัดไปเป็นปุ่มกดเพื่อเปิด/ปิดเครื่อง

อินพุต / เอ๊าต์พุต

คุณสามารถใช้งาน Elite S เป็น external DAC ร่วมกับแหล่งต้นทางใดๆ ก็ได้ที่ส่งออกสัญญาณดิจิตัล อาทิเช่น รองรับสัญญาณดิจิตัลจากเครื่องเล่นซีดี, ดีวีดี และเครื่องเล่นบลูเรย์ผ่านเข้าทางช่องอินพุต Coaxial ซึ่งรองรับได้สูงถึง 24/192 (PCM) และ DSD64 ฟอร์แม็ต DoP, ใช้ขยายเสียงให้กับทีวี และรองรับสัญญาณดิจิตัลจากเครื่องเล่นไฟล์เพลงแบบพกพาโดยใช้ช่องอินพุต Optical (TOSLink) ซึ่งรองรับสัญญาณดิจิตัลได้สูงถึง 24/96 นอกจากนั้น คุณยังใช้ Elite S เป็น external DAC คุณภาพสูงสำหรับเล่นไฟล์เพลงผ่านคอมพิวเตอร์โดยใช้ช่องอินพุต USB ซึ่งรองรับสัญญาณดิจิตัลได้สูงสุดเท่าที่ภาค DAC ในตัวจะรับได้ นั่นคือ 24/384 (PCM) และ DSD128

นอกจากรับเข้าแล้ว Elite S ยังมีช่องทางส่งออกสัญญาณดิจิตัลเพื่อนำไปใช้ร่วมกับ extrnal DAC ภายนอกได้อีก 2 ช่อง คือ Coaxial ที่ส่งออกสัญญาณได้สูงถึง 24/192 (PCM) และ DSD64 (DoP) กับช่อง Optical ที่ส่งออกสัญญาณดิจิตัลได้สูงถึง 24/96

เพื่อให้สมชื่อของ Network Streamer ตัวจริง ทาง Magnet จึงออกแบบให้ Elite S ตัวนี้สามารถสตรีมไฟล์เพลงทางเน็ทเวิร์คได้ทั้งแบบไร้สายผ่านคลื่น Wi-Fi (รองรับทั้งสองแบนด์คือ 2.4GHz และ 5.0GHz) และแบบใช้สาย LAN (Ethernet) และยังได้เขียนโปรแกรม music server ที่ใช้สตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์เก็บไฟล์เพลงที่เสียบผ่านเข้าที่ช่อง USB type A (ที่เขียนกำกับว่า Storage) มาเล่นได้ด้วย ส่วนสัญญาณอะนาลอกที่เป็นเอ๊าต์พุตก็ส่งผ่านออกมาให้สองทางสองรูปแบบสัญญาณ ทางแรกผ่านออกทางช่อง RCA ซึ่งให้ออกมาเป็นสัญญาณอันบาลานซ์ที่มีความแรงเท่ากับ 3Vrms กับอีกทางคือช่อง XLR ซึ่งปล่อยออกมาเป็นสัญญาณบาลานซ์ที่มีความแรงเป็นสองเท่าของสัญญาณอันบาลานซ์ นั่นคือ 6Vrms

ในกล่อง Elite S ที่ออกแบบได้เท่มากด้วยโทนสีดำเหมือนกล่องสมาร์ทโฟนไฮเอ็นด์ ซึ่งนอกจากจะบรรจุตัวเครื่อง, คู่มือ, สายไฟเอซี และสาย USB มาให้แล้ว ในนั้นยังมีรีโมทไร้สายมาให้ด้วยหนึ่งอัน บอดี้ทำด้วยโลหะที่แข็งแรงดูดีมาก ขนาดกระทัดรัดเหมาะมือ ไม่ใหญ่เทอะทะ ให้ฟังท์ชั่นใช้งานมาเท่าที่จำเป็น อาทิเช่น ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง, ปุ่มกดเลือกอินพุต, ปุ่มกดปรับระดับความสว่างของจอแสดงผล (ปุ่มสั่งปิดหน้าจอที่กำกับว่า DISP ยังใช้งานไม่ได้), ปุ่มกดสั่งเล่นเพลงและหยุดชั่วคราว ซึ่งจะใช้ควบคุมการเล่นไฟล์ด้วยแอพ mcontrol (หรือ mcontrolHD หรือ mconnect) ผ่านทางเน็ทเวิร์ค, ส่วนอีกสามปุ่มที่เหลือถูกใช้ควบคุมฟังท์ชั่นวอลลุ่ม นั่นคือ เพิ่ม/ลดความดัง และหยุดเสียงชั่วคราว (mute)

ดีไซน์ภายใน

หัวใจของ Elite S คือชิป DAC 32bit ของ Asahi Kasei Microdevices Corporation เบอร์ AKM4493 ซึ่งรองรับแซมปลิ้งของสัญญาณดิจิตัล PCM ได้สูงสุดถึงระดับ 768kHz และรองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดถึงระดับ DSD512 (22.4MHz) ควบคุมสปีดในการแปลงสัญญาณด้วย Femto Clock ที่ให้ความถูกต้องแม่นยำสูง ใช้ Opamp ขยายสัญญาณเอ๊าต์พุตของชิป DAC เพื่อส่งออกไปเป็นสัญญาณ Line out ทางช่อง XLR และ RCA ซึ่งเป็นสัญญาณไลน์เอ๊าต์ที่มีระดับ S/N ratio สูงถึง 122dB กับพื้นเสียงที่มีความสงัดมากเพราะมีสัญญาณรบกวน THD+Noise ที่ต่ำเรี่ยดินเพียงแค่ 0.00036% เท่านั้น!

ทางทีมออกแบบ Elite S เลือกใช้โลจิกชิปของ Intel เบอร์ Cyclone 10 เป็นที่เก็บรวบรวมโปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมฟังท์ชั่นต่างๆ ของ Elite S อาทิเช่น ควบคุมการปรับวอลลุ่ม, ควบคุมการเลือกอินพุต และใช้ควบคุมการรับ/ส่งสัญญาณดิจิตัลระหว่างอุปกรณ์ต้นทางภายนอกกับภาค DAC ของ Elite S ที่ส่งผ่านทางอินพุต USB ในลักษณะ Asynchronous data transfer ให้มีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ถูกแพ็คอยู่ในเฟิร์มแวร์ที่สามารถอ้ัพเดตได้ตลอดเวลา ผู้ใช้สามารถอัพเดตเองได้ทางเน็ทเวิร์คโดยผ่านเข้าทางเมนูของเครื่อง

ชิป DAC เบอร์ AKM4493EQ ที่ใช้ใน Elite S รองรับการปรับระดับความดังสัญญาณด้วยระบบ digital attenuator ด้วยความละเอียด 255 ขั้น แยกเป็นขั้นละ 0.5dB ซึ่งทีมดีไซน์ของ Magnet เลือกใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ด้วยการใช้วอลลุ่มแบบโซลิดสเตทที่ออกแบบด้วยเทคโนโลยี Ultra-Low Noise Attenuator ขึ้นมาแม็ทชิ่งไปกับ digital attenuator ของตัวชิป AKM4493EQ ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งระดับความแรงเอ๊าต์พุตของ Elite S ได้ตั้งแต่ -170dB (เบาสุด) ขึ้นไปจนถึง 0dB (ดังสุด) ด้วยอัตราความดังที่ปรับได้มากถึงสามร้อยกว่าระดับ ซึ่งทางผู้ผลิตอ้างว่า วอลลุ่มที่ใช้กับ Elite S เป็นแบบโซลิดสเตทจึงไม่มีปัญหาลดทอนคุณภาพเสียงเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับวอลลุ่มแบบ Variable Resistor โดยเฉพาะบาลานซ์ของสัญญาณเสียงซีกซ้ายขวาที่ต่างกันเพียง +/-0.02dB เท่านั้นในทุกๆ ระดับความดัง ผู้ใช้สามารถปรับตั้งระดับวอลลุ่มได้สามทางคือ (1) ผ่านปุ่มวอลลุ่มสีทองบนหน้าปัด, (2) ผ่านปุ่มกด +/- บนรีโมทไร้สาย และ (3) ผ่านไอค่อนวอลลุ่มสไลด์บนแอพลิเคชั่น mcontrol แต่การปรับวอลลุ่มผ่านไอค่อนบนแอพฯ mcontrol จะไม่ซิ้งค์กับเครื่องแบบเรียลไทม์ มีดีเลย์ แนะนำให้ปรับวอลลุ่มด้วยรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ดีกว่า

คอมโพเน้นต์ทุกชิ้นถูกผนึกลงบนแผงวงจร (PCB) ที่วางซ้อนกันถึง 6 ชั้น ช่วยป้องกันการรบกวนจากภายนอกได้ดีกว่าแผงวงจรแบบสองชั้นมาก เพราะทางเดินสัญญาณช่วงสำคัญๆ จะถูกป้องกันด้วยแผงชีลด์ Ground Plane ขนาดใหญ่ทั้งด้านบนและด้านล่าง สามารถบล็อก RFI และ EMI ได้อย่างหมดจดเด็ดขาด ภาคจ่ายไฟที่ใช้เป็นแบบสวิทชิ่ง แยกระหว่างวงจรอะนาลอกและวงจรดิจิตัลเด็ดขาดจากกัน

เตรียมชุดทดสอบ

เนื่องจาก Elite S มีวอลลุ่มที่ออกแบบมาโดยตั้งใจให้ทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์ได้ ผมจึงจัดเตรียมเพาเวอร์แอมป์ไว้สองตัวเพื่อทำการทดสอบใช้งานวอลลุ่มของ Elite S นั่นคือ Audiolab รุ่น 8300XP (ข้างละ 140W ที่ 8 โอห์ม) กับ P-4200 ของ Accuphase (152W ที่ 8 โอห์ม) โดยอาศัยสายสัญญาณบาลานซ์ XLR ของ Transparent Audio รุ่น PLUS ในการเชื่อมต่อระหว่าง Elite S กับเพาเวอร์แอมป์ นอกจากนั้น ผมยังได้เตรียมอินติเกรตแอมป์ไว้อีก 2 ตัวคือ Arcam รุ่น SA20 (90W ต่อข้าง)(REVIEWกับ Moon รุ่น 340i (100W ที่ 8 โอห์ม) เพื่อทดสอบการใช้งาน Elite S ในสถานะของ source เพียวๆ โดยใช้สายสัญญาณอันบาลานซ์ (RCA) ของ Atlas Cable รุ่น Mavros Ultra (REVIEWในการเชื่อมต่อระหว่าง Elite S กับ RA20 และ 340i ส่วนลำโพงที่ใช้ทดสอบก็มี Wharfedale รุ่น EVO 4.2 กับ Totem Acoustics รุ่น The One ตัวเก่งของผม โดยใช้สายลำโพง Nordost รุ่น Heimdall เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างแอมป์กับลำโพง

นอกจากจะลองใช้ Elite S เป็น source ร่วมกับซิสเต็มเครื่องเสียงบ้านแล้ว ตอนท้ายของการทดสอบผมยังได้ลองใช้งาน Elite S ในลักษณะของ DAC/Amp แบบ desktop ขับหูฟังฟูลไซร้ที่ผมมีอยู่ 2 ตัวคือ AKG รุ่น K720/65th กับ Sennheiser รุ่น HD650 ซึ่งผมพบว่า กำลังขับที่ระดับ 3Vrms (เท่ากับเอ๊าต์พุตของช่อง RCA) ที่ Elite S มีอยู่สามารถขับดันหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์ดุๆ ระดับ 300 โอห์มอย่าง HD650 ออกมาได้สบายๆ พิสูจน์ได้จากลักษณะของเวทีเสียงที่ฉีกกว้าง แผ่ออกไปรอบด้าน ไม่พบว่ามีอาการหุบเป็นกระจุก และไดนามิกก็ขยายอัตราสวิงได้ดี แม้ว่าทรานเชี้ยนต์ของหัวเสียง (impact) อาจจะยังไม่เปรี๊ยะเท่ากับ DAC/Amp ตัวใหญ่ๆ แต่ก็ไม่มีอาการอั้นหรือตื้อที่จะฟ้องว่ากำลังขับมันดันไม่ออกแต่อย่างใด สามารถฟังเอาความเพลิดเพลินได้โดยที่ยังคงจับต้องรายละเอียดของเพลงได้อย่างครบถ้วน และสามารถใช้เกนวอลลุ่มของ Elite S ไปได้ตลอดทั้งสเกล ที่น่าประทับใจมากคือตอนเร่งวอลลุ่มขึ้นไปสูงๆ ผมไม่พบอาการแกว่งเลย เสียงนิ่งดีมาก เนื้อเสียงก็คงที่ แสดงว่าการออกแบบภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตมีการควบคุมเกนมาอย่างดี ไม่พบอาการโอเว่อร์โหลดแต่อย่างใดแม้ในขณะขับโหลดยากๆ

การเชื่อมต่อใช้งาน

เนื่องจาก Elite S มี Hotspot ในตัว คุณจึงสามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์พกพา (แท็ปเล็ต, สมาร์ทโฟน) ของคุณเข้ากับ Elite S ทาง Wi-Fi ไร้สายได้เลยโดยไม่ต้องมี router ก็ได้

วิธีเชื่อมต่อ Elite S กับอุปกรณ์พกพาก็สามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นด้วยการติดตั้งเสาอากาศ Wi-Fi เข้าที่ตัว Elite S เสร็จแล้วเข้าไปเปิด On ฟังท์ชั่น “Soft APในเมนูของตัว Elite S เพื่อปล่อยสัญญาณ Wi-Fi จากตัว Elite S ออกมา จากนั้นก็เข้าไปกดเลือกเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ตัวอุปกรณ์พกพา แค่นี้เอง ซึ่งในตัวอย่างตามภาพข้างบนนี้ผมทดลองใช้ iPad mini2 เชื่อมต่อ Wi-Fi กับ Elite S

แต่ถ้าต้องการคุณภาพเสียงสูงสุดจาก Elite S ตัวนี้ ผมอยากจะแนะนำให้เชื่อมต่อ Network ระหว่าง router กับ Elite S ด้วยสาย LAN ซึ่งนอกจากคุณภาพเสียงแล้ว การเชื่อมต่อด้วยสาย LAN ยังได้ความเสถียรในการใช้งานอีกด้วย ถ้า router/modem ของคุณอยู่ห่างจากชุดเครื่องเสียงมากๆ แนะนำให้หาตัว Switching Hub แบบ Gigabit มาต่อพ่วง

หลังจากเชื่อมต่อเน็ทเวิร์คระหว่าง Elite S กับอุปกรณ์พกพาของคุณได้แล้ว วิธีการควบคุมสั่งงานและเล่นไฟล์เพลงต้องทำผ่านแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า mcontrol หรือ mconnect สำหรับคนที่ใช้สมาร์ทโฟนซึ่งแสดงภาพหน้าจอในแนวตั้ง (โหมด Portriat) หรือใช้แอพฯ mcontrolHD สำหรับคนที่ใช้แท็ปเล็ตเพราะตัว mcontrolHD แสดงภาพบนหน้าจอในแนวนอน (โหมด Landscape)

มาดูส่วนประกอบและการใช้งานแอพฯ mcontrolHD กันหน่อย

Elite S ถูกปรับแต่งและปรับจูน (customise & optimized) มากับแอพ mcontrol ซึ่งเป็นแอพฯ ที่บริษัท Conversdigital จากประเทศเกาหลีออกแบบมาคู่กับโมดูล mconnect hardware module ที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ใช้อยู่ในตัว Elite S ดังนั้น ในการเล่นไฟล์เพลงและปรับตั้งฟังท์ชั่นบางอย่างในตัว Elite S ต้องกระทำผ่านแอพฯ ของค่าย Conversdigital ซึ่งมีอยู่สามตัวคือ mconnect, mcontrol หรือ mcontrolHD

วิธีใช้งานแอพฯ ตัวนี้ก็ไม่ยาก เพราะให้ฟังท์ชั่นปรับตั้งมาไม่เยอะ ฟังท์ชั่นหลักๆ ของแอพฯ ตัวนี้จะเน้นไปที่การเล่นไฟล์เพลง (player) มากกว่าปรับตั้งค่าของตัวเครื่อง (control) การติดตั้งปุ่มควบคุมใช้งานก็จัดวางไว้ในตำแหน่งที่ดูง่าย จัดหมวดหมู่ได้ดี จากภาพหน้าจอแอพฯ mcontrolHD ข้างบนนี้จะเห็นว่า ฟังท์ชั่นที่เกี่ยวกับการปรับตั้งค่า (Setting = A), กำหนดเอ๊าต์พุต (Play to = B), เลือกดึงไฟล์เพลงจากแหล่ง media server ต่างๆ (Browser = C), ดูรายชื่อในเพลย์ลิสที่เลือกไว้ (Queue = D) และเก็บไฟล์เพลงที่ชอบ (Favorites = E) จะถูกจัดกลุ่มไว้ด้านบนของหน้าแอพฯ (กรอบสีเขียว) ซึ่งข้อมูลรายละเอียดในการใช้งานฟังท์ชั่น Browser, Queue และ Favorites จะไปปรากฏอยู่ในกรอบสีเหลืองด้านล่าง

ส่วนคำสั่งที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลง (playpausestopnext trackprevious track = F), ควบคุมระดับความดัง (volume = G), ปรับตั้งฟังท์ชั่นการเล่นซ้ำ (repeat = H), ปรับตั้งฟังท์ชั่นสลับเพลง (Shuffle = I) และจุดแสดงรายละเอียดสเปคฯ ของไฟล์เพลงที่กำลังเล่น (J) ถูกรวบรวมไว้ที่ส่วนล่างของหน้าแอพฯ (กรอบสีฟ้า) ส่วนพื้นที่ในกรอบสีแดงเป็นที่แสดงภาพปกอัลบั้ม (K) โดยมี ลำดับเพลงชื่อเพลงชื่อศิลปิน และชื่ออัลบั้ม (L) ปรากฏอยู่ด้านล่าง ส่วนกรอบสีเหลืองเป็นพื้นที่แสดงผลจากการใช้งานฟังท์ชั่น Browser, Queue และ Favorites

ทดลองฟังเพลงจาก Spotify และ TIDAL ผ่าน Elite S

เสาอากาศที่ให้มากับ Elite S เป็นเสารับคลื่น Wi-Fi ไม่ใช่เสารับคลื่น Bluetooth นั่นก็หมายความว่า Elite S ไม่มีอินพุตสำหรับคลื่น Bluetooth ดังนั้น การเล่นไฟล์ด้วยการสตรีมผ่าน Spotify และ TIDAL ต้องสตรีมผ่าน Wi-Fi เท่านั้น เมื่อผมลองเลือกสตรีมจาก Spotify ผ่านโลโก้แอพ Spotify บนแอพ mcontrolHD ที่ผมเปิดบน iPad mini2 ของผม ผมพบว่า ไอค่อน Spotify บนแอพ mcontrolHD เป็นแค่ลิ้งค์เท่านั้น คือแอพ Spotify ไม่ได้ถูกฝังอยู่ในแอพ mcontrolHD จริงๆ และเมื่อผมพยายามจะสตรีมสัญญาณจาก Spotify มาที่ Elite S ผมพบว่า ต้องสมัครใช้งาน Spotify แบบ Premium เท่านั้นถึงจะสามารถสตรีมได้

ส่วนการสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL บนแอพ mcontrolHD ผมพบว่า TIDAL ถูกฝังตัวอยู่ในแอพ mcontrolHD จริงๆ ไม่ต้องออกจากแอพ mcontrolHD เพื่อไปเปิดแอพ TIDAL แต่ก็ต้องสมัครใช้งานแบบเสียเงินรายเดือนแพ็คเกจใดแพ็คเกจหนึ่งก่อนจึงจะใช้งาน TIDAL บน mcontrolHD ได้ ในภาพข้างบนผมทดลองฟังอัลบั้มออกใหม่ในโหมด Master ของ TIDAL เพื่อดูว่า Elite S สามารถถอดรหัส MQA ได้หรือไม่.. ปรากฏว่า Elite S สามารถถอดรหัส MQA ที่สตรีมมาจาก TIDAL Master ได้ บนหน้าจอแสดงโลโก้ MQA พร้อมระบุแซมปลิ้งฯ ของสัญญาณไฮเรซฯ จากสตูดิโอก่อนเข้ารหัส MQA มาให้ดูด้วย

  • อยากรู้ว่าอะไรคือ MQA ? เข้าไปอ่านได้ที่นี่ ()

ลองเล่นไฟล์เพลงผ่านทางอินพุต “Network” ของ Elite S

เมื่อเลือกอินพุต “NETWORKที่ Elite S คุณสามารถใช้แอพ mcontrol (บนสมาร์ทโฟน) หรือแอพ mcontrolHD (บนแท็ปเล็ต) ในการควบคุมสั่งงานและเลือกสตรีมไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ ที่เชื่อมต่ออยู่บนเน็ทเวิร์คมาเล่นผ่านภาค DAC ในตัว Elite S ได้ ซึ่งนอกจากจะสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการรายเดือนบนอินเตอร์เน็ตอย่าง Spotify กับ TIDAL และจาก internet radio แล้ว คุณยังสามารถสตรีมไฟล์เพลงของคุณเองที่เก็บอยู่ใน USB ฮาร์ดดิสแบบพกพาที่เสียบเข้าที่ช่อง “Storageของ Elite S ได้อีกด้วย ซึ่ง Elite S จัดแยกไฟล์เพลงในฮาร์ดดิสจากแหล่งต่างๆ ที่เชื่อมต่อทางเน็ทเวิร์คร่วมกับ Elite S เอาไว้ในหมวด “Local Serverโดยแสดงเป็นชื่อของ server ที่กำกับอยู่บนแหล่งนั้นๆ ยกตัวอย่างถ้าเอาฮาร์ดดิสพกพาไปเสียบเข้าที่ช่อง USB Storage ด้านหลังของ Elite S จะปรากฏเซิร์ฟเวอร์ที่ชื่อว่า “Magnet ELITE S Serverขึ้นมาในหมวด Local Server (ศรชี้ในภาพบนสุด) แต่ถ้าไม่มีฮาร์ดดิสเสียบอยู่ที่ช่อง USB Storage จะไม่มีชื่อเซิร์ฟเวอร์นี้ปรากฏขึ้นมา

ผมได้ทดลองโหลดไฟล์เพลง DSF ที่บรรจุสัญญาณเพลง DSD64, DSD128 และ DSD256 เข้าไปไว้ในฮาร์ดดิสพกพา (ผมใช้ SSD ของ Samsung รุ่น T5) เพื่อทดสอบดูว่า ช่องอินพุต Network ของ Elite S สามารถรองรับการสตรีมไฟล์เพลง DSD ได้สูงสุดที่ระดับไหน ผลปรากฏว่า ทางช่องอินพุต Network ของ Elite S รองรับไฟล์เพลง DSD ได้แค่ระดับ DSD64 (หรือ DSD2.8MHz) เท่านั้น เมื่อลองเลือกไฟล์ DSF128 กับ DSF256 ปรากฏว่า ที่หน้าแอพฯ จะแสดงให้เห็นว่า แอพฯ mcontrolHD สามารถเล่นไฟล์ DSF128 กับไฟล์ DSF256 ได้ แต่ที่หน้าจอของ Elite S แสดงผลเป็นแซมปลิ้ง 176.4kHz และไม่มีเสียงออก แสดงว่าอินพุต Network ของ Elite S ไม่รองรับการเล่นไฟล์เพลง DSD128 กับ DSD256

หลังจากนั้น ผมลองเล่นไฟล์เพลง WAV ที่บรรจุสัญญาณ PCM ตั้งแต่ระดับ 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดี และระดับไฮเรซฯ ตั้งแต่ 24/48 ขึ้นไปจนถึง 24/192 ผมพบว่า Elite S สามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลง Hi-Res PCM ผ่านเข้าทางช่องอินพุต Network ได้สูงสุดจนถึงระดับ 24/192

และที่เจ๋งเป้งมากๆ คือผมพบว่า Elite S สามารถรองรับการถอดรหัส MQA ซึ่งอยู่ในไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ออกมาได้ด้วย และสามารถไปได้ถึงระดับ 352.8kHz/24bit เลยทีเดียว.. สุดยอดมาก.!!!

  • อยากรู้ว่า อะไรคือแผ่น MQA-CD ? เข้าไปอ่านข้อมูลได้ที่นี่ ()

ลองเล่นไฟล์เพลงผ่านทางช่องอินพุต “USB” ของ Elite S

ตัวชิป AKM4493EQ รองรับแซมปลิ้งฯ ของสัญญาณ PCM ได้สูงถึง 768kHz และสัญญาณ DSD ได้สูงถึง DSD22.4MHz (DSD512) แต่ทางผู้ผลิตเลือกให้ชิปตัวนี้ทำงานในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถในการประมวลผลของมันลงมาหนึ่งชั้น นั่นคือรองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดที่ 384kHz และสัญญาณ DSD ได้สูงสุดที่ DSD128 (DSD5.6MHz) และกำหนดให้เล่นได้เฉพาะผ่านเข้าทางช่องอินพุต USB เท่านั้น

ผมทดลองใช้งานช่องอินพุต USB ของ Elite S ด้วยการใช้ roon รุ่น nucleus+ เป็นฮาร์ดแวร์เพลเยอร์ ร่วมกับโปรแกรม roon ในการเล่นไฟล์ ปล่อยสัญญาณออกทางช่อง USB ไปเข้าที่ช่อง USB input ของ Elite S โดยใช้สาย USB ที่แถมมาให้ในกล่อง Elite S เป็นตัวเชื่อมต่อเพื่อรับส่งสัญญาณ ผลปรากฏว่า โปรแกรม roon ตรวจสอบพบว่า Elite S รองรับการเล่นไฟล์เพลงตระกูล PCM ได้สูงสุดถึงระดับ 384kHz และรองรับการเล่นไฟล์เพลงตระกูล DSD ได้สูงสุดถึงระดับ DSD256 ด้วยฟอร์แม็ต DoP แต่เมื่อทดลองเล่นจริงแล้ว ผมพบว่าช่องอินพุต USB ของ Elite S รองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดแค่ DSD128 เท่านั้น เมื่อเล่นไฟล์ DFF256 เข้าไป ปรากฏว่า ตัวโปรแกรม roon ต้องทำการปรับลด (sample rate conversion) ลงมาอยู่ที่ DSD128 หรือ DSD5.6MHz ก่อนส่งให้ Elite S

เท่าที่ลองเล่นไฟล์เพลงจำนวนมากผ่านเข้าทางอินพุต USB ของ Elite S ผ่านไป ผมพบว่า มันให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก การเล่นไฟล์เป็นไปด้วยความลื่นไหล ไม่พบอาการติดขัดใดๆ Elite S ทำงานได้นิ่งและมีเถียรภาพสูงมาก เสียงที่ออกมาก็มีความคงเส้นคงวาตลอด ไม่วูบวาบ น้ำเสียงที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก น่าพอใจ

สรุปน้ำเสียงของ Elite S

หลังจากทดลองเซ็ตอัพ Elite S เพื่อใช้ฟังเพลงในหลากหลายรูปแบบ ใช้ทั้งอินพุต Network และอินพุต USB สลับกันไป ผมพบว่า เซ็ตอัพที่ให้เสียงดีที่สุดสำหรับ Elite S ก็คือการต่อสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตจากตัว Elite S ออกไปเข้าที่เพาเวอร์แอมป์โดยตรงด้วยสายสัญญาณอะนาลอก ซึ่งผมสัมผัสได้ชัดเลยว่า เสียงที่ได้ออกมามีความตรงไปตรงมามาก น้ำเสียงมีความบริสุทธิ์สูงตลอดทั้งย่าน ตัวเสียงมีมวลที่เข้มข้น โฟกัสเป๊ะ ตรึงตำแหน่งได้มั่นคง ไม่วูบวาบ ไดนามิกก็สวิงได้กว้างและมีความต่อเนื่องของคอนทราสน์ที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะไล่จากเบาไปหาดังหรือจากดังลงมาเบา

อีกมรรคผลสำคัญที่ได้รับจากการต่อตรงก็คือความใสสะอาดของพื้นเสียงที่ทำให้รับรู้ได้ถึงความกลมกลึงของบอดี้ตัวเสียงที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติ ไม่แบน และไม่มีอาการขึ้นขอบ สัมผัสรู้ได้ถึงบรรยากาศที่ห้อมล้อมรอบๆ ตัวเสียง ทำให้เกิดความรู้สึกชุ่มชื่น ไม่แห้ง ไม่สาก และไม่กร้าน

แต่นั่นก็ใช่ว่า การใช้งาน Elite S เป็นแหล่งต้นทางสัญญาณร่วมกับปรีแอมป์หรืออินติเกรตแอมป์โดยปรับความแรงสัญญาณเอ๊าต์พุตของ Elite S ไว้ที่ตำแหน่งสูงสุด (Max = 0dB) จะไม่ดีนะครับ โดยรวมของเสียงที่ออกก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเมื่อเทียบกับ External DAC และ Streamer ที่อยู่ในระดับราคาสูสีกัน เพียงแต่ว่า น้ำเสียงที่ออกมาจากตัว Elite S ต้องไปผสมผ่านน้ำเสียงของปรีแอมป์อีกทอดหนึ่ง แม้ว่าจะได้กำลังแฝงของเสียงที่มากขึ้นและได้วงเวทีเสียงที่โอ่อ่ามากขึ้นเมื่อผ่านปรีแอมป์ แต่ทางด้านความใสสะอาดของเสียงก็จะด้อยกว่าต่อตรงไปเข้าที่เพาเวอร์แอมป์ ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้มีแหล่งต้นทางอะนาลอกอื่นๆ อยู่ในซิสเต็ม ปรารถนาที่จะใช้แหล่งต้นทางดิจิตัลล้วนๆ ผมแนะนำให้ใช้วิธีต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์จะได้เสียงที่ดีที่สุดจาก Elite S ตัวนี้ เอางบปรีแอมป์ไปลงทุนกับ roon : nucleus และสายสัญญาณกับสายไฟเอซีคุณภาพสูงจะได้มรรคผลที่ดีกว่า ส่วนการปรับวอลลุ่มก็ทำได้ง่ายเพราะมีรีโมทไร้สายมาให้ใช้ปรับ (แนะนำให้ใช้รีโมทในการปรับวอลลุ่ม เนื่องจากการปรับวอลลุ่มบนแอพ mcontrol ยังไม่เรียลไทม์) ส่วนปัญหาแม็ทชิ่งกับเพาเวอร์แอมป์ผมยังไม่พบจากการทดลองใช้ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ 2 ตัว 2 ยี่ห้อ 2 ระดับราคาคือ Audiolab รุ่น 8300XP (ราคาสี่หมื่นกว่าบาท) กับ Accuphase รุ่น P-4200 (ราคาสองแสนกว่าบาท) ซึ่งเพาเวอร์แอมป์ทั้งสองตัวนั้นต้องการความแรงสัญญาณจาก Elite S อยู่ระหว่าง -45dB ถึง -30dB เท่านั้นเพื่อสร้างระดับความดังของเสียงในระดับที่กระจายเต็มพื้นที่ในห้องฟังของผม และได้รายละเอียดกับไดนามิกที่สวิงได้เต็มโดยไม่รู้สึกอั้น ได้รูปวงที่แผ่ออกมาเป็นสามมิติครบทุกด้าน ได้อรรถรสของเสียงมาเต็มพร้อมความนวลเนียนของเสียงที่น่าประทับใจ

สรุป

ถ้าพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ทั้งหมดที่ผมเคยฟังทดสอบมา ผมขอยกให้ Streamer/external DAC “Elite Sของค่าย Magnet ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุดในหลายๆ ด้าน เทียบชั้นสากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าตัวแอพฯ ตระกูล mcontrol ที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ใช้กับ Elite S ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง อาทิเช่น ยังไม่แสดงภาพปกสำหรับการเล่นไฟล์ WAV แต่ก็เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกี่ยวกับคุณภาพเสียง และสามารถปรับแก้ได้ด้วยการอัพเฟิร์มแวร์ในอนาคต

หลังจากทดสอบใช้งานมานานแรมเดือน ผมยอมรับว่า Elite S ได้สร้างความพึงพอใจให้กับผมมากกว่าที่คาดเอาไว้เยอะ ทั้งในแง่ของการใช้งานและคุณภาพเสียง ใครที่กำลังมองหา external DAC/Streamer ในระดับงบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นบาท แนะนำให้ไปทดลองฟัง Elite S ของ Magnet ตัวนี้ให้ได้ /

*************************
ราคา : 48,900 บาท / ตัว
*************************
ออกแบบและผลิตโดย:
. Magnet Technology Corporation
*************************
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
โทร. 02-907-7923-5
หรือที่:
facebook: @magnetaudio.club

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า