‘Nagra’ ในภาษาโปแลนด์ มีความหมายว่า “will record” ที่มาของชื่อนี้เนื่องมาจากผู้ให้กำเนิดแบรนด์คือ Stefan Kudelsky ไม่ต้องการเอาชื่อตัวเองมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เขาเลือกเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อ portable tape recorder ตัวแรกที่ตัวเขาสร้างขึ้นมาเมื่อ ปี 1951 ซึ่งต่อมาได้ถูกใช้ในการบันทึกเสียงนอกสถานที่สำหรับออกอากาศตามสถานีวิทยุ และใช้ในการบันทึกเสียงประกอบภาพยนตร์ ด้วยขนาดที่กระทัดรัด ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม มีผลให้เครื่องบันทึกเสียงแบบพกพาของ Nagra ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา ถือว่าเป็นการบุกเบิกวงการบันทึกเสียงนอกสตูดิโอระดับโปรเฟสชั่นแนลอย่างแท้จริง
Stephane Kudelski
Stefan Kudelsky เป็นนักประดิษฐ์ชาวโปแลนด์ เนื่องจากอุปกรณ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาถูกใช้ในธุรกิจบันทึกเสียงซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้เขามีความสัมพันธ์ที่ดีและกว้างขวางอยู่ในหมู่ของศิลปินและซาวนด์เอ็นจิเนียร์ และตัวเขาเองก็ชื่นชอบการฟังเพลงอีกด้วย..
“Stephane Kudelski played music every day and listened through large studio speakers in his office. He has many musicians as friends. We want to be as close to the music as possible.” เขาฟังเพลงที่อ๊อฟฟิศทุกวันผ่านลำโพงมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ เขามีเพื่อนนักดนตรีมากมาย เพราะเราอยากใกล้ชิดกับดนตรีให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ – Matthieu Latour มาเก็ตติ้ง ไดเรคเตอร์ของ Nagra เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะถ้าคนทำเครื่องไม่ใกล้ชิดกับดนตรีก็คงจะจูนเสียงให้ออกมาดีไม่ได้
เริ่มต้นจากตลาด Professional
Stephane Kudelski เริ่มออกแบบและสร้างเครื่องบันทึกเสียงด้วยเทปแบบพกพาของเขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1950 เครื่องนั้นใช้กลไกของ Thorens กับวงจรอิเล็กทรอนิคที่ขยายด้วยหลอดสุญญากาศ เขาเอาเครื่องบันทึกเสียงที่เขาสร้างขึ้นตัวนั้นไปประกวดและชนะการประกวด สถานีวิทยุของฝรั่งเศสสั่งให้เขาผลิตเครื่องบันทึกเสียงแบบที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเอาไปใช้ในกิจการ ด้วยขนาดที่เล็กกระทัดรัดและน้ำหนักเบา ช่วยทำให้การรายงานข่าวของสถานีวิทยุมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ออเดอร์จำนวนมากทำให้ Stephane Kudelski ตัดสินใจตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องบันทึกเสียงของเขาซึ่งตั้งชื่อรุ่นว่า Nagra I กิจการดำเนินไปด้วยดีจนออกมาเป็นรุ่น Nagra 2 และในปี 1957 เขาพัฒนาเป็นรุ่น Nagra III โดยใช้ทรานซิสเตอร์แทนหลอด ทำให้สามารถปรับขนาดตัวเครื่องให้เล็กกระทัดรัดลงไปได้อีก
Nagra III
การใช้ทรานซิสเตอร์ทำงานแทนหลอด ส่งผลดีทำให้การทำงานของเครื่องมีความเสถียรมากขึ้น ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ Nagra III เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโฉมธุรกิจสื่อวิทยุและธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาอย่างมาก และแม้ว่าจะมีผู้ผลิตคู่แข่งอย่างแบรนด์ Studer/Revox เข้ามาต่อสู้ในตลาดด้วย “ราคา” ที่ต่ำกว่า แต่ Nagra ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ในสถานะเดิมที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
เบนเข็มเข้าสู่ตลาด Consumer
Nagra CD Player
ประมาณปี 1995 มีลูกค้าของ Nagra ร้องขอให้เปลี่ยนอินพุต Phono เข้าไปใน Nagra IV S แทนที่อินพุตไมโครโฟน ซึ่งพวกเขาพบว่ามันไม่ยากที่จะทำอย่างนั้น และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดไอเดียที่จะพัฒนาอุปกรณ์เครื่องเสียงเพื่อป้อนให้กับตลาดเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่เน้นคุณภาพ โดยเริ่มที่เครื่องเล่นซีดีในปี 2011 ซึ่งการผลิตทั้งหมดต้องอาศัยบริการจากภายนอกบริษัท จนถึงปี 2012 จึงได้ก่อตั้งบริษัท Audio Technology Switzerland ขึ้นมาโดยแยกออกจากกลุ่มบริษัท Kudelski Group เพื่อดูแลธุรกิจ 3 ส่วน ได้แก่ เครื่องเสียงไฮไฟ ระดับไฮเอ็นด์ฯ, เครื่องบันทึกเสียงระดับโปรเฟสชั่นแนล และออกแบบอุปกรณ์สำหรับงานรักษาความปลอดภัย
จาก Tape Recorder สู่ Amplifier
Nagra VPA
Nagra Classic Amp
แม้ว่าชื่อ Nagra จะเกิดขึ้นจากเครื่องบันทึกเสียง แต่ในปี 1998 พวกเขาก็เริ่มทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Amplifier ออกมาเป็นตัวแรก นั่นคือเพาเวอร์แอมป์หลอด pure class-A กำลัง 50 วัตต์ชื่อรุ่น VPA และถัดมาในปี 1999 พวกเขาก็ทำเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตทที่ใช้ MOSFET ซึ่งให้กำลังขับสูงถึง 250 วัตต์ออกมาอีก หลังจากนั้น Nagra ก็ผลิตปรี+เพาเวอร์ฯ และอินติเกรตแอมป์ พร้อมกับอุปกรณ์ประเภท external DAC ออกมาเพิ่มเติมจนครบไลน์
สำหรับสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ พวกเขาแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่มคือ “HD Line” เน้นคุณภาพสูงสุดภายใต้ตัวถังขนาดมาตรฐาน กับ “Classic Line” ที่เน้นคุณภาพเสียงออกมาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่กระทัดรัดตามแบบดีไซน์ของ Nagra ดั้งเดิม
Nagra : Classic INT
อินติเกรตแอมป์ในอนุกรม Classic
นี่คืออินติเกรตแอมป์ “ตัวแรก” ของ Nagra โดยใช้ภาคเพาเวอร์แอมป์ที่ออกแบบมาจากพื้นฐานเดียวกับเพาเวอร์แอมป์รุ่น Classic Amp ส่วนภาคปรีแอมป์นั้นออกแบบใหม่ตามมาตรฐานของ Nagra โดยปรับจูนให้เข้ากับภาคเพาเวอร์แอมป์มากที่สุด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการขับดันลำโพงสูงสุดเท่าที่ภาคเพาเวอร์แอมป์จะให้ได้ เป็นความยิ่งใหญ่ภายใต้รูปลักษณ์ที่เล็กกระทัดรัดตามแบบฉบับที่สุดแสนจะคลาสสิกของ Nagra
ไม่มั่นใจ แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าขนาดตัวเครื่องของ Classic INT น่าจะเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับอินติเกรตแอมป์ยี่ห้ออื่นๆ ในระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ของแบรนด์อื่นๆ แผงหน้าของตัวเครื่องเล็กกว่าเครื่องมาตรฐานทั่วไปเพราะวัดได้แค่ 280 ม.ม. หรือประมาณ 11 นิ้ว (เครื่องมาตรฐานทั่วไปจะมีหน้ากว้าง = 17 นิ้ว) สูงแค่ 169 ม.ม. หรือประมาณ 6.7 นิ้ว ส่วนความลึกอยู่ที่ 395 ม.ม. หรือประมาณ 15.6 นิ้วเท่านั้น แต่เมื่อเข้าไปยกตัวเครื่องขึ้นมาจะรู้สึกถึงความแน่นและหนักที่มากกว่าการคาดคะเนของสายตา (น้ำหนักอยู่ที่ 18 ก.ก.) เป็นประเภทเล็กแต่แน่นปึ๊ก
ผิวนอกของตัวถังประกอบขึ้นรูปด้วยแผ่นอะลูมิเนียมหนาหลายแผ่น ชิ้นส่วนตัวถังหลักเป็นแผ่นอะลูมิเนียมดัดเป็นตัว U ทำหน้าที่เป็นผนังด้านข้างซ้าย-ขวาโดยมีแผงหน้า, แผงหลัง และแผ่นท็อปด้านบนปิดทับไว้อีกสามแผ่น ซึ่งแผ่นอะลูมิเนียมทั้งหมดทำผิวด้วยการปัดเสี้ยนสีธรรมชาติ ดูแล้วให้ความรู้สึกถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิคในสตูดิโอที่เน้นความแม่นยำสูง เพราะทั้งปุ่มปรับและอินดิเคเตอร์ที่ใช้แสดงผล พวกเขาใช้วัสดุอุปกรณ์แบบเดียวกับที่พวกเขาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ระดับโปรเฟสชั่นแนลนั่นเอง
1 = ปุ่มปรับความสว่างของมิเตอร์
2 = มิเตอร์แสดงระดับสัญญาณแบบ Modulometer
3 = จอแสดงผล LCD
4 = ปุ่มปรับเมนู
5 = สวิทช์โยกเลือกปรับ gain ระหว่าง 0/+12dB
6 = สวิทช์หมุนปรับระดับวอลลุ่ม
7 = สวิทช์หมุนเลือกอินพุต, ปรับหยุดเสียงชั่วคราว และเปิด/ปิดเครื่อง
8 = จุดติดตั้งเซ็นเซอร์อินฟราเรดสำหรับรับคำสั่งจากรีโมท พร้อมไฟ LED แจ้งสถานะ
แผงหน้าของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีเสน่ห์น่ามอง มันให้ความรู้สึกถึงความคลาสสิกและมีความเป็นตัวมันเองสูงมาก เชื่อว่าคนที่เคยผ่านตาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Nagra มาก่อนได้มาเห็นแผงหน้าของ Classic INT แค่แว๊บเดียวก็คงบอกได้เลยว่านี่แหละ Nagra!
Modulometer
มิเตอร์ตัวนี้ (2) คือไฮไล้ท์และเอกลักษณ์ของ Nagra เพราะ Stephane Kudelski บิดาผู้ให้กำเนิด Nagra เป็นคนลงมือออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยตัวของเขาเอง ที่มานั้นเป็นเพราะ VU meter ที่นิยมใช้กันอยู่ในยุคนั้น (ต้นปี ’60) มีความเร็วไม่มากพอที่จะสามารถแสดง transient (ความฉับพลัน) ของสัญญาณเสียงออกมาได้ตรงกับความจริง ชื่อที่สเตฟาน กูเดลสกี้ตั้งให้กับมิเตอร์ตัวนี้คือ ‘Modulometer’ เป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘Modulation’ เมื่อนำมาใช้ในงานแบบนี้จึงมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับความดังของเสียง
Molulometer ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้จะสวิงไปตามกำลังขับที่แอมป์ปล่อยออกไปกับโหลด 8 โอห์ม แสดงหน่วยเป็น ‘วัตต์ RMS’ โดยแบ่งสเกลออกเป็น 4 ส่วนที่เท่ากันแต่อัตราส่วนของสเกลในแต่ละส่วนจะต่างกัน 10 เท่า นั่นคือ 0.1 วัตต์, 1 วัตต์, 10 วัตต์ และ 100 วัตต์ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเข็มมิเตอร์สวิงเร็วมากในช่วงที่แอมป์ใช้กำลังขับอยู่ในช่วง 0 – 1 วัตต์ ซึ่งการสวิงของเข็มมิเตอร์จะไม่เกี่ยวข้องกับความถี่ ผมทดลองฟังเพลงที่มีความถี่ครบๆ แล้วเร่งวอลลุ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 9 โมงไปจนถึงบ่ายสอง พบว่าเสียงโดยรวมดังขึ้นเรื่อยๆ แต่การสวิงของเข็มมันกวาดไปไม่ได้มากกว่าเดิมสักเท่าไหร่ มีบางช่วงที่เพลงสวิงพีคขึ้นมาเข็มมันจะสวิงเลย 1 วัตต์ขึ้นไปนิดหน่อยแล้วก็ตีกลับลงมา ส่วนใหญ่เข็มจะสวิงอยู่ในช่วง 0 – 1 วัตต์ เท่านั้น
ในมิเตอร์มีแสงส่องหลัง (back-light) สีส้มซึ่งสามารถปรับระดับความมืดสว่างได้ 7 ระดับ ด้วยการโยกสวิทช์เล็กๆ (1) ที่อยู่ด้านข้าง นอกจากนั้น ตัวมิเตอร์นี้ยังใช้แสดงภาวะการทำงานของวงจรโปรเทคชั่นด้วย คือในกรณีที่มีเหตุที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเครื่อง อาทิเช่น โวลเทจของไฟขาเข้าอยูในระดับสูงหรือต่ำกว่า 220-240V, เอ๊าต์พุตมีอาการ clip ของสัญญาณตลอดเวลา, มีการช็อตของวงจรที่เอ๊าต์พุต ฯลฯ ไฟที่มิเตอร์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงและเครื่องจะดับลงเองซึ่งเป็นการเข้าสู่โหมดป้องกันตัวเองอัตโนมัติ
ส่วนจอแสดงผล (3) ที่อยู่ถัดไปจากมิเตอร์จะทำหน้าที่แสดงผลที่เกิดจากการสั่งงานของปุ่ม (4) ที่อยู่ถัดไป ซึ่งปุ่มนี้สามารถสั่งงานได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกถ้าหมุนไปทางซ้ายหรือขวาจะเป็นการเลือกอินพุต แต่ถ้ากดลงไปบนปุ่มค้างไว้ 3-4 วินาทีจะเป็นการเข้า/ออกเมนูเครื่อง ซึ่งฟังท์ชั่นที่มีอยู่ในเมนูของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีหัวข้อให้ปรับตั้งไม่กี่ข้อ และไม่มีหัวข้อไหนที่เกี่ยวข้องกับการปรับแต่งเสียงโดยตรง ที่มีให้ปรับอาทิเช่น เปลี่ยนชื่อสามัญของอินพุตเป็นชื่อประเภทอุปกรณ์ เช่น คุณสามารถเปลี่ยนอินพุต XLR ให้เป็นชื่อรุ่นของอุปกรณ์เพลเยอร์ที่ใช้กับอินพุตช่องนี้, เปลี่ยนฟอร์แม็ตของรีโมทไร้สายที่ใช้กับอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ ฯลฯ
ปุ่มวอลลุ่มของ Classic INT (6) เป็นปุ่มหมุนปรับด้วยกลไกที่เป็นเอกลักษณ์ของ Nagra ซึ่งติดตั้งอยู่ในหลุมตื้นๆ บนหน้าปัด เพิ่มความดังด้วยการหมุนวนตามเข็มนาฬิกา เริ่มจาก -60dB ขึ้นไปสุดที่ 0dB และลดความดังด้วยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา คุณสามารถควบคุมการปรับหมุนปุ่มวอลลุ่มด้วยรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ ซึ่งแกนของปุ่มวอลลุ่มจะหมุนไปอย่างราบรื่นด้วยพลังของมอเตอร์ที่ซ่อนอยู่ข้างใน ที่ด้านข้างปุ่มวอลลุ่มจะมีสวิทช์โยกเล็กๆ อันหนึ่ง เป็นสวิทช์ที่ใช้เลือก gain ของภาคขยายที่มีให้เลือก 2 ระดับคือ 0dB อันนี้คือเกนปกติ กับอีกระดับคือ +12dB อันนี้เป็นการนำเอาเกนของสัญญาณอินพุตไปขยายด้วยวงจรอิเล็กทรอนิคก่อนส่งเข้าภาคเพาเวอร์แอมป์ มีไว้สำหรับช่วยจูนเสียงสำหรับอินพุตที่มีเกนต่ำมากๆ
อินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีความพิเศษไปซะทุกจุด แม้แต่สวิทช์เปิด/ปิดเครื่อง (7) เขาก็ยังมีความพิเศษซ่อนอยู่ คือเป็นสวิทช์หมุนที่ไม่แค่ใช้เปิด/ปิดเครื่องเท่านั้น แต่จากตำแหน่งปิด (Off) กว่าจะบิดไปถึงตำแหน่งเปิด (On) เขาจะมีคั่นด้วยคำสั่งอีก 2 ขยัก นั่นคือ ตำแหน่ง R กับ Mute ที่ตำแหน่ง R เป็นการปรับตั้งเพื่อให้สามารถสั่งเปิด/ปิดเครื่องผ่านรีโมทได้ ส่วน Mute ก็คือหยุดเสียงชั่วคราว หน้าต่างรับคลื่นอินฟราเรดจากรีโมทฯ (8) ติดตั้งอยู่ตรงมุมบนด้านขวาของแผงหน้า
รีโมทไร้สายที่ให้มา รูปทรงแปลกตา แต่กระทัดรัดและเข้ามือดี บนตัวรีโมทก็มีคำสั่งหลักๆ แค่ไม่กี่คำสั่งให้เลือกใช้ เช่น เพิ่ม/ลดวอลลุ่ม, เลือกอินพุต, ปิดเสียงชั่วคราว และเปิด/ปิดเครื่องผ่านรีโมทเมื่อปรับตั้งสวิทช์ที่ตัวเครื่องไว้ที่ตำแหน่ง R
อินพุต & เอ๊าต์พุต
9 = ข้วต่ออะนาลอก เอ๊าต์พุตบาลานซ์ XLR
10 = สวิทช์โยกเลือกโหมดอินพุตระหว่าง Pro กับ Normal
11 = อินพุตแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA จำนวน 4 ชุด
12 = สวิทช์โยกเลือกโหมดอินพุตระหว่าง Hi กับ Normal
13 = ขั้วต่อสายลำโพงข้างขวา
14 = ขั้วต่อสายลำโพงข้างซ้าย
15 = ช่องเสียบขั้วต่อสายลำโพงแบบบานาน่า สำหรับขั้ว + (ซ้าย/ขวา)
16 = ช่องเสียบขั้วต่อสายลำโพงแบบบานาน่า สำหรับขั้ว – (ซ้าย/ขวา)
17 = เมนสวิทช์เพาเวอร์
18 = ช่องเสียบปลั๊กของสายไฟเอซี
19 = ช่องเสียบขั้วต่อมินิ 3.5mm สำหรับสัญญาณรีโมทภายนอก
20 = ขั้วต่อกราวนด์
อินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีอินพุตอะนาลอกมาให้ 5 ช่อง ไม่มีอินพุตดิจิตัลเพราะไม่มี DAC ในตัว ทั้ง 5 ช่องนั้นแยกเป็นสำหรับสัญญาณขาเข้าที่เป็นแบบบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR หนึ่งช่อง นอกนั้นอีก 4 ช่องสำหรับสัญญาณขาเข้าแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA
มีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งที่ขั้วต่อ XLR และขั้วต่อ RCA คู่แรกที่อยู่ติดกัน ถ้าคุณเข้าไปสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่า ที่ข้างๆ ขั้วต่อ XLR และขั้วต่อ RCA ชุดแรกที่อยู่ติดกันจะมีสวิทช์โยกเล็กๆ 2 ตัว (10, 12) อยู่ข้างๆ ฝังจมอยู่ในเบ้าตื้นๆ (เวลาจะโยกต้องใช้ไม้จิ้มฟันงัด) วิธีการใช้งานสวิทช์สองตัวนี้คือโยกขึ้นและลง ฟังท์ชั่นของมันก็เพื่อปรับเปลี่ยนระดับ “ความไว” (sensitivity) ของวงจรภาครับด้านใน คือถ้าโยกลงด้านล่าง จะเป็นโหมด “NORMAL” คือวงจรขยายด้านในจะรองรับความแรงของสัญญาณอินพุตได้ตั้งแต่ 0V ถึง 2V ถ้าสัญญาณแรงเกิน 2 โวลต์ขึ้นไปเสียงจะมีอาการ clip ซึ่งที่ขั้วต่อ RCA ก็ใช้คำว่า “NORMAL” เช่นเดียวกัน รองรับความแรงของสัญญาณอินพุตได้เท่ากันคือ 0V – 2V แต่ถ้าดันสวิทช์ขึ้นด้านบน ที่ขั้ว XLR จะใช้คำว่า “PRO” ซึ่งทำให้ภาคขยายด้านในสามารถรองรับสัญญาณอินพุตที่มีความแรงตั้งแต่ 0V – 10V ในขณะที่ขั้วต่อ RCA จะใช้คำว่า “HI” ซึ่งขยายความสามารถในการรองรับความแรงของสัญญาณขึ้นไปจาก 0V – 3V ส่วนช่องอินพุต RCA อีก 3 ช่องที่เหลือ คือ RCA2, RCA3 และ RCA4 รองรับความแรงสัญญาณอินพุตได้ตายตัวเท่ากันคือ 0V -2V ปรับไม่ได้
จากการทดลองป้อนสัญญาณจากขั้วต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ external DAC ของ Audio-gd รุ่น R-7 จากช่อง XLR ซึ่งมีความแรงของสัญญาณอยู่ที่ 5V เข้าที่ช่องอินพุต XLR ของ Classic INT แล้วปรับโยกสวิทช์ตัวนี้ไปที่ตำแหน่ง NORMAL ลองฟังเทียบกับโยกไปที่ตำแหน่ง PRO ผมพบว่า ตอนโยกไปที่ตำแหน่ง NORMAL เสียงจะดังกว่า อัตราสวิงของไดนามิกเปิดกว้างกว่า แต่พอสลับไปที่ตำแหน่ง PRO เสียงโดยรวมเบาลง ต้องเร่งวอลลุ่มเพิ่มขึ้นจึงได้เสียงที่มีความดังใกล้เคียงกัน แต่… ภายใต้ความดังที่ใกล้เคียงกันนั้น ผมพบว่า เสียงที่ได้จากตำแหน่งของสวิทช์ที่โยกไปทาง PRO มีลักษณะที่นุ่มนวลกว่า การไต่ระดับของเสียงก็ฟังดูลื่นไหลกว่า ตัวเสียงใหญ่และลอยขึ้นมาตรงๆ ไม่มีลักษณะพุ่งดันออกมาเหมือนตอนสลับไปที่ตำแหน่ง NORMAL และบริเวณปลายเสียงตอนปรับตั้งไว้ที่ตำแหน่ง PRO ไม่สว่างเหมือนตอนปรับตั้งไว้ที่ตำแหน่ง NORMAL ด้วย
เมื่อฟังเพลงร้องจะจับอารมณ์ของเสียงร้องที่ต่างกันออกมาได้ชัดเจน คือที่ตำแหน่ง PRO เสียงร้องจะสวิงสวายได้ลื่นไหลกว่า การอิมโพไว้ซ์ของเสียงร้องที่ระดับความดังของโน๊ตจากเบาไปดัง-ดังไปเบาจะมีความต่อเนื่องลื่นไหลมากกว่า ฟังแล้วลื่นหูได้อารมณ์เพลงมากกว่า เสียงลอยและไม่พุ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อกลับไปฟังที่ตำแหน่ง NORMAL ก็ไม่เลวร้าย ให้เวลาฟังไปสักพักก็เริ่มชินหูซึ่งก็ออกมาในแนวของเสียงที่ดีตามมาตรฐานไฮเอ็นด์ทั่วไป ทว่า เมื่อสลับกลับมาที่ตำแหน่ง PRO วูบแรกจะรู้สึกได้ว่าเสียงโดยรวมมีลักษณะที่ครึ้มสลัวลงเล้กน้อย เมื่อปรับหูจนชินจะพบว่ามันให้ความหลุดลอยและความเป็นอิสระของแต่ละเสียงที่ดีกว่า พื้นเสียงใสกว่า ทำให้รายละเอียดในย่านต่ำปรากฏตัวออกมามากว่า แต่ที่ตำแหน่ง PRO จะมีข้อด้อยอยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อเจอกับเพลงที่มีเกนต่ำๆ วอลลุ่มของ Classic INT จะไม่พอดึงระดับความดังโดยรวมขึ้นมา และไม่พอสำหรับการขยายช่วงไดนามิกเร้นจ์ของเพลงในอัลบั้มนั้นให้เปิดกว้างได้มากตามต้นฉบับที่รับเข้ามาทางอินพุต สาเหตุก็เป็นเพราะเกนสัญญาณเอ๊าต์พุตของ R-7 มันให้ออกมาสูงสุดแค่ 5V และลำโพงที่ใช้ตอนนั้นมันต้องการกำลังขับดันสูงกว่านั้น ถ้าได้เอ๊าต์พุตของ external DAC ที่ไปได้ใกล้ๆ 10V แล้วเลือกความไวของช่องอินพุต XLR ของ Classic INT ไว้ที่ตำแหน่ง PRO คงได้เห็นสวรรค์แน่นอน.!!!
ด้วยความคัน ผมลองเข้าไปค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่า มี external DAC ที่ให้อะนาลอก เอ๊าต์พุตสูงกว่า 4V อยู่หลายตัวเหมือนกัน อย่างเช่น
• dCS เกือบทุกรุ่น สามารถปรับเอ๊าต์พุตออกมาได้สูงสุดถึง 6Vrms
• MSB Technology รุ่น The Analog DAC ก็ให้เอ๊าต์พุตทางช่อง XLR ได้สูงถึง 7.5Vrms
• CH Precision รุ่น C1 Digital to Analog Controller ให้เอ๊าต์พุตทางช่อง XLR ได้สูงถึง 5.4Vrms
• NuPrime รุ่น Evolution DAC ให้เอ๊าต์พุตทางช่อง XLR ได้สูงถึง 8Vrms
ปกติแล้ว ลักษณะของอินพุตที่มีความไวต่ำ (ต้องการเกนของสัญญาณขาเข้าสูงๆ) ต้องการสัญญาณอินพุตที่มีเกนสูงๆ จึงให้เสียงที่มีมวลหนาและไม่จ้า เพราะสัญญาณอินพุตที่มีโวลเตจสูงๆ จะให้เนื้อเสียงที่มีความเข้มข้น ปัญหาอยู่ที่ภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ DAC หรืออุปกรณ์ประเภทเพลเยอร์ส่วนใหญ่จะออกแบบโดยใช้ OP-Amp ซึ่งให้เอ๊าต์พุตอยู่ระหว่าง 2Vrms – 4Vrms เท่านั้น ถ้าเอามาใช้กับช่องอินพุต XLR ของ Classic INT ที่ปรับตั้งความไวไว้ที่ PRO จะทำให้เสียงออกมาป้อแป้ เพราะอัตราสวิงของไดนามิกจะแคบ ทำให้เสียงโดยรวมจะออกน่วมและโทนเสียงออกมา dark มากเกินไป
เผอิญว่าผมมี NuPrime รุ่น Evolution DAC อยู่กับตัว เลยเอามาทดสอบกับอินพุต XLR ของ Classic INT โดยปรับเกนเอ๊าต์พุตของ Evolution DAC ไว้ที่ Fixed (8Vrms) และปรับความไวช่องอินพุต XLR ของ Classic INT เป็น “PRO” พบว่าเสียงออกมาดีทีเดียว ใช้วอลลุ่มเฉลี่ยอยู่ระหว่างเที่ยงถึงบ่ายสามโมง (ขับลำโพง Rockport Technology รุ่น Atria II) ขึ้นอยู่กับเกนของแต่ละแผ่น แนวเสียงที่ได้ออกไปทาง dark นิดๆ เนื้อหนามีมวลเข้ม จังหวะกระชับ คึกคักมีพลังแฝง เกรนเนื้อละเอียดเนียน เชื่อว่าเป็นสไตล์ที่หลายคนชอบ (*ผมใช้โปรแกรม roon บน MacBook Pro ในการเล่นไฟล์เพลงและส่งสัญญาณไปที่ Evolution DAC เข้าทางอินพุต USB)
ส่วนอินพุต RCA 1 ชุดแรกที่อยู่ติดกับช่องอินพุต XLR ก็มีลักษณะพฤติกรรมแบบเดียวกัน ใครที่ใช้ external DAC ที่มีแต่เอ๊าต์พุต RCA ก็สามารถใช้ฟังท์ชั่นปรับความไวของช่องอินพุตนี้ในการจูนหาแนวเสียงที่ชอบได้เหมือนกันระหว่างแนวเสียงโปร่งกังวาน (โหมด NORMAL = 2Vrms) กับแนวเสียงอิ่มแน่นมีมวลหนา (โหมด HI = 3Vrms)
ผมชอบขั้วต่อสายลำโพงที่อินติเกรตแอมป์ตัวนี้ใช้มาก เป็นของ Cardas Audio (13, 14) รุ่น Cardas CPBP (Cardas Patended Binding Post) ชุบตัวนำด้วยโรเดี้ยม มีระบบขันล็อคที่แข็งแรง ทำให้การจับยึดกับขั้วต่อสายลำโพงแบบก้ามปูได้อย่างแน่นหนาไว้ใจได้เลยว่าไม่มีวันหลุดหลวมอย่างแน่นอน แต่ถ้าขั้วต่อสายลำโพงของคุณเป็นแบบบานาน่าปลั๊ก เขาก็มีรูเสียบสำหรับปลั๊กบานาน่ามาให้ด้วย (15, 16)
แม็ทชิ่งกับลำโพง
โดยปกติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องดำเนินไปตามครรลองที่มี “หลักวิชาการ” เป็นฐานรองรับ แต่ในโลกของความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ “หลักวิชาการ” อธิบายได้ไม่หมด มีปรากฏการณ์อีกมากในโลกใบนี้ที่ทำให้ “หลักวิชาการ” ต้องสั่นคลอน มีปรากฏการณ์บางอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หลักวิชาการไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน
สเปคฯ ของอุปกรณ์เครื่องเสียงคือคุณสมบัติที่กำหนดขึ้นด้วยเครื่องมือวัด แน่นอนว่ามันเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ได้กับอุปกรณ์ประเภทเดียวกันทุกชิ้นที่อยู่บนโลกใบนี้ “ตัวเลขกำลังขับ” ของแอมปลิฟายจะสะท้อน “ความสามารถ” ในการ “ขับดัน” ลำโพงให้เปล่งเสียงออกมา นั่นคือความหมายในเชิงวิชาการ แต่ที่วิชาการอธิบายแบบชัดเจนไม่ได้ก็คือ เหตุใดแอมป์ที่วัดกำลังขับออกมาได้เท่ากันจึงมีความสามารถในการขับดันลำโพงต่างกัน.? ถ้าไปถามคนทำ เขาก็คงบอกว่า ก็วัดค่าตามมาตรฐานได้กำลังเท่านี้ แต่ในแง่ของคนฟังจะสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างของเสียงระหว่าง “ขับออก” กับ “ขับไม่ออก” ได้โดยพิจารณาจากลักษณะเสียงที่แอมป์แต่ละตัวถ่ายทอดผ่านลำโพงออกมา ยิ่งถ้าเป็นแอมป์ระดับไฮเอ็นด์ฯ หรือสูงกว่านั้นเป็นระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ฯ สิ่งที่นักฟังระดับนั้นพิจารณาจะไม่ใช่แค่ “ขับออก” หรือ “ไม่ออก” แต่จะพิจารณาลงลึกไปถึง “ขับออกมาดี” หรือ “ขับออกแต่ไม่ดี”
วงจรขยายของภาคปรีฯ ในตัว Classic INT ทำงานในโหมด class-A ในขณะที่เอ๊าต์พุตของภาคเพาเวอร์แอมป์ใช้พลังจากทรานซิสเตอร์ MOSFET กับวงจรขยาย class-AB โดยระบุกำลังขับไว้ในสเปคฯ เท่ากับ 100 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นตัวเลขที่ “น้อยเกินไป” สำหรับแอมป์ระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ฯ แต่จริงๆ แล้ว จะใช้คำว่า “น้อยเกินไป”, “กำลังดี” หรือ “มากเกินไป” ในการสรุปสมรรถนะของแอมป์ตัวนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้นำมันไปทดลองขับลำโพงหลายๆ คู่ก่อน
ทดลองขับลำโพง Verity Audio รุ่น Lakme
อินติเกรตแอมป์จากสวิสเซอร์แลนด์ตัวนี้มีเวลาอยู่กับผมนานเกินหนึ่งเดือน ซึ่งในช่วงนั้น มันได้มีโอกาสขับลำโพงจำนวนหลายคู่ มีทั้งวางขาตั้งและตั้งพื้น ผมมีโอกาสทดลองใช้ Classic INT ขับลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One, Verity Audio รุ่น Lakme (91dB/4 โอห์ม/max.100W)(REVIEW), Wilson Audio รุ่น Sabrina X (87dB/4 โอห์ม/min.50W)(REVIEW) และ Rockport Technologies รุ่น Atria II (87.5dB/4 โอห์ม/min.50W)(Review coming soon!) ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีความคิดว่าไม่น่าขับลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่นั้นได้ แต่หลังจากผมทดลองจับ Classic INT ประกบกับลำโพงตั้งพื้นทั้ง 3 คู่ข้างต้นดูแล้ว ปรากฏว่า อินติเกรตแอมป์ Classic INT ของสวิสฯ ตัวนี้สามารถขับดันเสียงออกมาจากลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่ข้างต้นออกมาได้ และที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ มันขับออกมาได้ดีซะด้วย.!!!
ทดลองขับลำโพง Wilson Audio รุ่น Sabrina X
ทดลองขับลำโพง Rockport Technologies รุ่น Atria II
ผมขอยืนยันอีกทีว่า มันขับออก.! เพราะถ้าพิจารณาจากตัวเลข “กำลังขับต่ำสุด/สูงสุด” ที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ในสเปคฯ ของลำโพงทั้งสามคู่ข้างต้น จะเห็นว่า ลำโพงยุคใหม่สมัยนี้ขับง่ายขึ้นกว่ายุคก่อนมาก Verity Audio : Lakme รองรับสูงสุดได้ไม่เกิน 100W ในขณะที่ Wilson Audio : Sabrina X กับ Rockport Technologies : Atria II แนะนำกำลังขับต่ำสุดไว้ที่ 50W แค่นั้นเอง ซึ่งถ้าประเมินกำลังขับสูงสุดที่รองรับได้ก็ประมาณ 4-5 เท่าของต่ำสุด นั่นคือประมาณ 200 – 250W ซึ่งกำลังขับ 100W ของ Classic INT อยู่สูงกว่ากำลังขับต่ำสุดที่แนะนำไว้สองเท่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อินติเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถขับลำโพงตั้งพื้นทั้งสามคู่ออกมาได้ดี เป็นไปได้ว่า ในห้องฟังของผมที่มีขนาดสัดส่วนอยู่ที่ 3.8 x 6.6 x 3 ล.บ.ม. อาจจะไม่ได้ใหญ่เกินไปสำหรับกำลังขับ (และกำลังสำรอง) ที่ Classic INT มีอยู่ในตัว มันจึงสามารถขับดันเสียงของลำโพงเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีคุณภาพนั่นเอง
แม็ทชิ่งแหล่งต้นทางสัญญาณ
ช่วงเวลาเดือนเศษๆ ที่ Classic INT ตัวนี้ใช้ชัีวิตประจำวันอยู่กับผม นอกจากลำโพงแล้ว ผมมีโอกาสทดลองใช้แหล่งต้นทางสัญญาณกับมันหลายตัวในช่วงของการทดลองแม็ทชิ่ง ซึ่งในท้ายที่สุด ผมก็ได้ชุด front-end ที่ลงตัวกับอินติเกรตแอมป์ตัวนี้และใช้เป็นชุดอ้างอิงในการสรุปเสียงของ Classic INT ตัวนี้ ทางฟากของแหล่งต้นทางดิจิตัล ผมใช้โปรแกรม roon เล่นไฟล์ไฮเรซฯ ที่ดึงจากเน็ทเวิร์คแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปที่ Marantz รุ่น 30n SACD/CD Player ทางช่อง USB เพื่อดึงเอ๊าต์พุตของ 30n ไปที่อินพุต RCA ของ Classic INT สลับกับใช้ external DAC ของ Audio-gd รุ่น R-7 โดยดึงเอ๊าต์พุตจาก R-7 ไปที่อินพุต XLR ของ Classic INT
Marantz 30n SACD ทำหน้าที่เป็น USB DAC
สาเหตุที่ผมเลือก Marantz : 30n SACD/CD Player ใช้เป็นแหล่งโปรแกรมหลักฝั่งดิจิตัลในการทดสอบครั้งนี้เพราะจากการทดลองฟังพบว่าภาค DAC และภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตในตัว 30n ของมาร้านซ์ตัวนี้แม็ทชิ่งกันมากกับ Classic INT พวกมันให้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆ โดยเฉพาะกับฟอร์แม็ต DSD ทั้งเล่นจากไฟล์เข้าทาง USB และเล่นจากแผ่น SACD โดยตรง
ส่วน front-end อะนาลอก ผมใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ TechDAS รุ่น Air Force V Premium + อาร์มรุ่น Stogi Reference และหัวเข็มรุ่น CAR30 ของ Kuzma + โฟโนสเตจของ HSE รุ่น Masterline 7 โดยดึงเอ๊าต์พุตจาก Masterline 7 ไปเข้าที่ช่องอินพุต XLR ของ Classic INT สลับกับดิจิตัล
เสียงของ Classic INT
“ขับออก” หรือ “ขับไม่ออก” ในแง่ของการวัดผลด้วยการฟัง เราไม่ได้ดูกันที่ระดับ “ความดัง” ของเสียงที่ออกมา เพราะถ้าพิจารณาแค่นั้น แอมป์อะไรก็ขับลำโพงเหล่านี้ให้มีเสียงดังออกมาได้หมด แต่สิ่งที่ผมพิจารณาก่อนสรุปว่าขับออกหรือไม่ออก ผมจะพิจารณาในแง่คุณสมบัติของเสียงที่แอมป์ขับออกมาจากลำโพงแต่ละคู่ ซึ่งมีอยู่หลายข้อ เรียงตามลำดับก็คือ โทนัลบาลานซ์, ไดนามิก, โฟกัส, มวลเสียง และเวทีเสียง
หลังจากทดลองฟังเพลงผ่านอินติเกรตแอมป์ Classic INT ตัวนี้มานานแรมเดือน คุณสมบัติเฉพาะของมันก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนออกมามากขึ้นทีละอย่างสองอย่าง อย่างแรกที่ผมว่าเป็นคุณสมบัติที่เด่นมากๆ ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ นั่นคือ “ความเป็นมอนิเตอร์” ของมันซึ่งแสดงออกมากับคุณสมบัติของเสียงหลายๆ ด้าน อย่างแรกคือ “โทนัลบาลานซ์” ซึ่งถือว่า Classic INT ตัวนี้ทำได้ในระดับอุดมคติของความเป็นมอนิเตอร์อย่างแท้จริง คือมันไม่มีลักษณะของโทนเสียงที่เป็นของตัวเอง ผมพบว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะการตอบสนองความถี่เสียงที่แปรเปลี่ยนไปตามเพลงที่เล่นแบบไม่ทิ้งเค้าเดิมเลย ตอนลองฟังเพลงร้องแนวคันทรี่เสียงโดยรวมก็ออกมาเปิดๆ ใสๆ กว้างๆ ปลายเสียงกังวานไกล ปริมาณกลาง-แหลมจะเยอะกว่าทุ้ม แต่พอเปลี่ยนมาฟังเพลงบรรเลงแนวเพอร์คัสชั่นมันๆ เสียงทุ้มก็พลุ่งพล่านอย่างดุเดือด โทนเสียงเปลี่ยนไปทางครึ้ม พลิกอารมณ์ไปเป็นหนังคนละม้วน พอย้อนกลับมาฟังเพลงร้องแนวพ๊อพ-แจ๊สช้าๆ ก็ได้ความเนียนละเมียดของเสียงกลางที่ลื่นไหล ต่อเนื่อง โทนเสียงกลางๆ เปลี่ยนไปเป็นอีกอารมณ์
บอกเลยว่า อินพุต XLR และ RCA ที่ปรับความไวได้ของมันนี่แหละเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถปรับจูนให้ซิสเต็มถ่ายทอดความถี่และไดนามิก เร้นจ์ (ความดัง) ออกมาได้เต็มที่มากที่สุด หลังจากฟัง Classic INT ตัวนี้แล้ว ผมแทบใบ้กินถ้ามีใครถามว่า โทนเสียงของแอมป์ตัวนี้เป็นแบบไหน.? เพราะที่ฟังมาต้องบอกว่ามันไม่มีโทนของมันเองที่ชัดเจนมากพอที่จะระบุตายตัวได้จริงๆ ซึ่งประสบการณ์ของผมสอนผมมาว่า แอมป์ลักษณะนี้คือดี เพราะมันจะปฏิบัติตัวไปตาม “หน้าที่” อย่างเคร่งครัด คือขยายสัญญาณเสียงที่ได้รับเข้ามาให้มากพอที่จะขับออกไปที่ลำโพงได้โดยไม่ผิดเพี้ยน มันทำตัวเป็นเหมือนน้ำใสที่ไม่เจือปนสีสัน คุณใส่สีเหลืองลงไปมันก็แสดงเป็นสีเหลืองออกมา จะเปลี่ยนสีอะไรลงไปมันก็แสดงสีนั้นออกมาให้เห็น เป็นประโยชน์มากในการแม็ทชิ่งเพื่อให้ได้ผลรวมที่ดีที่สุดออกมาจากซิสเต็ม (ไม่ต้องแก้โทนเสียง)
อีกคุณสมบัติที่อินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีอยู่ในตัวและเป็นจุดเด่นมากๆ ของมัน นั่นคือ “โฟกัส” ที่แม่นยำมากๆ เมื่อเซ็ตอัพลำโพงลงตัว ผมสามารถชี้ตำแหน่งของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นในเพลงที่กำลังฟังได้อย่างง่ายดาย ความชัดเจนของตำแหน่งของเสียงเกิดจาก “ความเป็นตัวตน” ของเสียงแต่ละเสียงที่ขึ้นรูปอยู่ในอากาศลอยเป็นสามมิติและมีความเข้มข้นของบอดี้ตัวเสียงที่มากพอนั่นเอง ซึ่งจุดนี้คือคุณสมบัติสำคัญ เพราะมันเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง ถ้าโฟกัสไม่คมซะอย่าง คุณสมบัติอื่นๆ ก็ด้อยลงไปหมด
มีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับความเป็นมอนิเตอร์ นั่นคือกระจกสะท้อนความบกพร่องที่อยู่ในเพลง ซึ่งจะพบได้ในเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป เป็นความบกพร่องที่เกิดจากการขั้นตอนผลิตเพลงนั้นๆ บางตำหนิเกิดขึ้นในขั้นตอนการบันทึกบ้าง ในขั้นตอนการมิกซ์บ้าง และการทำมาสเตอร์บ้าง แต่ก็น่าแปลก แม้ว่าในเพลงที่มีตำหนิในการผลิตปรากฏอยู่ แต่เมื่อเพลงเหล่านั้นถูกนำเสนอออกมาแบบตรงไป-ตรงมา พุ่งผ่าน Classic INT ออกมาจากลำโพงแบบเต็มกำลัง มันกลับฟังได้อารมณ์ที่คุ้นเคยเพราะเป็นเพลงคอมเมอร์เชี่ยลที่ผมฟังมาตั้งแต่สมัยเรียน แม้ในเพลงเหล่านั้นจะถูกแฉให้เห็นถึงตำหนิ แต่อรรถรสของมันก็ยังคงอยู่ แถมลึกซึ้งกว่าตอนฟังสมัยเรียนมากมายกับพลังที่มากกว่าและเสียงที่เต็มกว่า
อัลบั้ม : Another Time, Another Place (DSF64)
ศิลปิน : Jennifer Warnes
สังกัด : Impex Records IMP8317
เมื่อฟังอัลบั้มที่ออกใหม่ๆ จะรู้สึกได้ถึงความดีที่โดดเด่นของเสียงที่ออกมา โดยเฉพาะที่เป็นฟอร์แม็ต DSD เพราะตัวสัญญาณเสียงมัน Hi-Res คือมีเนื้อมวลของเสียงที่หนาแน่นอยู่แล้ว ถ้าถูกส่งเข้ามาถึงภาคขยายของแอมป์โดยไม่ถูกตัดทอนที่ภาคอินพุตซะก่อน เอ๊าต์พุตที่ออกไปจากแอมป์ก็จะเต็มไปด้วยเนื้อมวลและกำลังขับที่ถูกภาคขยายทวีคูณขึ้นมา ผลลัพธ์ที่พุ่งผ่านลำโพงออกมาก็คือดนตรีสดที่มีชีวิต.!
ได้ฟังอัลบั้มชุดนี้ผ่านอินติเกรตแอมป์ตัวนี้แล้ว คราวนี้ชัวร์! ในจำนวนงานเพลงทั้งหมดของ Jennifer Warnes ฟันธงได้เลยว่า อัลบั้มนี้บันทึกเสียงร้องของเธอออกมาได้ “ดีที่สุด” เมื่อเทียบกับเสียงร้องของเธอในอัลบั้มอื่นๆ แล้วจะเห็นได้ชัดว่า เสียงร้องของเจนนิเฟอร์ วอร์นในอัลบั้มนี้มีลักษณะที่เหมือนเสียงคนจริงๆ มากกว่า ตัวเสียงลอยเด่น รายละเอียดปรากฏออกมาให้ได้ยินทุกเม็ด คอนทราสน์ไดนามิกละเอียดเนียนเป็นเส้นเดียวกัน ไร้รอยขยักของการไต่ระดับความดังทั้งขาขึ้นและขาลง เมื่อย้อนไปฟังเสียงร้องของเธอในอัลบั้มชุด The Hunter ที่บันทึกโดย Chet Himes เมื่อปี 1992 (มิกซ์โดย Martin Brumbach) จะเห็นว่าเสียงร้องของเธอในแต่ละเพลงของอัลบั้มนั้นมันออกมาต่างกัน บางเพลงเสียงร้องจะใส ลอย เปิด ในขณะที่บางเพลงกลับออกมาทึบๆ ขุ่นๆ มีเสียงก้องๆ เหมือนใส่แอคโค่ (แทรค 2, 6) บางเพลงเสียงร้องจะมีลักษณะบีบๆ นิดๆ (แทรค 1) ในขณะที่เสียงร้องของเจนนิเฟอร์ในอัลบั้มชุด Another Time, Another Place บันทึกเสียงโดยทีมซาวนด์ฯ มือฉมังที่นำทีมโดย Elliot Scheiner มิกซ์เสียงโดย Noah Scot Snyder ซึ่งทีมนี้สามารถรักษาคุณภาพของเสียงร้องของเจนนิเฟอร์ออกมาได้เท่าเทียมกันทั้งอัลบั้ม ซึ่งเป็นลักษณะของเสียงที่มีรายละเอียดใกล้เคียงกับเสียงร้องในธรรมชาติมาก (*ถ้าได้ฟังเปรียบเทียบ A-B บนซิสเต็มที่ดีพอ คุณจะบอกได้เองด้วยประสบการณ์ว่าเสียงไหนเหมือนเสียงจริงในธรรมชาติมากกว่า)
อัลบั้ม : La Fille Mal Gardee (DSF64)
ศิลปิน : John Lanchbery& The Royal Opera House
สังกัด : Analogue Productions
“ความเต็ม” ของเสียงที่ Classic INT ให้ออกมาเกิดขึ้นเพราะ “ความถี่” ทั้งหมดที่อยู่ในเพลงนั้นถูกขยายออกมาจากอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ก่อนจะส่งไปที่ลำโพง และสาเหตุที่ทำให้ความถี่ของเพลงเหล่านั้นไม่ตกหล่นสูญหายไปก็เพราะความสามารถในการปรับ “ความไว” ที่อินพุตของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้นั่นเอง เมื่อ “ความถี่” มาครบ จึงทำให้เกิด “ความเต็ม” ของเสียง ซึ่งความถี่ที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกถึงความเต็มที่ว่าจะอยู่ในความถี่ย่านกลางต่ำลงไปถึงทุ้มทั้งหมด สำหรับเพลงคลาสสิกที่บันทึกในฮอลล์ที่มีระบบจัดการเกี่ยวกับสภาพอะคูสติกที่ช่วยรักษาความถี่ต่ำที่เกิดจากพลังงานของโน๊ตดนตรีที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีที่ให้ความถี่ต่ำๆ หลายชิ้นเอาไว้จนกอปรขึ้นมาเป็น “แอมเบี้ยนต์” ที่อบอวลและโอบอุ้มวงออเคสตร้าทั้งวงเอาไว้ เมื่อฟังอัลบั้มนี้ผ่าน Classic INT มันให้รูปวงออเคสตร้าที่กว้างใหญ่ ผมรับรู้ได้ถึงฐานเสียงที่แผ่ขยายครอบคลุมอยู่ในห้อง แม้ในขณะที่นักดนตรีกำลังบรรเลงอย่างแผ่วเบา แต่วงก็ยังคงอยู่ รับรู้ได้จากมวลความถี่ต่ำๆ ที่แผ่คลุมอยู่ตลอด มันต่างกันมากจริงๆ กับตอนฟังผ่านแอมป์ส่วนใหญ่ที่มักจะให้เสียงที่ลอย เคว้างคว้าง ขาดส่วนฐานรองรับ
อัลบั้ม : Reunion At Carnegie Hall 1963 (DSF64)
ศิลปิน : The Weavers
สังกัด : Analogue Productions (CAPF 005 SA)
อัลบั้ม : Wish You Were Here (DSF64)
ศิลปิน : Pink Floyd
สังกัด : Analogue Productions (19075810342)
งานเพลงอีกสองชุดที่ผมฟังแล้วพบว่า อินพุต RCA ที่ปรับความไวไปที่ 3Vrms ของ Classic INT ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับอัลบั้มสองชุดนี้ได้มาก อย่างชุดแรกเป็นงานแสดงสดของวงโฟล์ค The Weavers ซึ่ง Classic INT ช่วยทำให้บรรยากาศของการแสดงสดมีความสมจริงมากขึ้น ผมสัมผัสกับมวลคลื่นความถี่ต่ำๆ ที่เกิดจากแอมเบี้ยนต์ภายในคาร์เนกี้ฮอลล์ได้ชัดขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นที่เป็นแผ่นซีดี แม้ว่าเวอร์ชั่น DSF64 ที่ผมริปมาจากแผ่น SACD จะมีลักษณะเสียงที่ติดนุ่มไปนิด ความสดกระจ่างน้อยกว่าแผ่นทอง 24K เวอร์ชั่นซีดี แต่ในแง่อื่นๆ ดีกว่าหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมวลของเสียงที่อิ่มกว่า สะอาดและเนียนกว่า และที่เด่นกว่ามากๆ ก็คือแอมเบี้ยนต์ที่อบอวลกว่า
ส่วนอีกอัลบั้มเป็นผลงานเพลงของวง Pink Floyd ซึ่งฟังผ่าน Classic INT ที่ช่องอินพุต RCA ที่ปรับความไวไว้ที่ 3V มันทำให้อาการเซ็งแซ่ที่ปลายเสียงแหลมลดน้อยลงไปมาก และยังทำให้ความถี่ตั้งแต่ย่านกลางต่ำลงไปมีปริมาณมากขึ้น ทำให้แต่ละเสียงออกมาเต็มตัวมากขึ้น ฟังสบายหูขึ้นและให้ความรู้สึกที่ดิ่งลึกลงไปในบทเพลงได้มากกว่าที่เคยฟังมา แสดงถึงความเป็นดนตรีที่มากกว่าด้วย
สรุป
หลังจากทดสอบอินติเกรตแอมป์ตัวนี้แล้ว ทำให้ผมได้ข้อสังเกตสำคัญมาข้อหนึ่ง นั่นคือทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว “อินพุต” หรือช่องทางขาเข้าของสัญญาณของแอมป์มีความสำคัญมากๆ เหตุที่เสียงของ Classic INT ออกมาดีมากขนาดนั้น ไม่ใช่เพราะภาคขยายอย่างเดียว แต่เป็นเพราะสัญญาณเสียงเพลงที่เข้ามาถึงภาคขยายมีความครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ตกหล่น เกนเข้มข้น มีผลให้สัญญาณเสียงที่ถูกขยายผ่านตัวมันออกไปที่ลำโพงจึงมีคุณสมบัติใกล้เคียงต้นฉบับมากนั่นเอง ถ้าต้นฉบับบันทึกมาดี เสียงเพลงที่ผ่าน Classic INT ออกไปที่ลำโพงก็จะดี ถ้าต้นฉบับบันทึกมาดีมาก เสียงเพลงที่ผ่าน Classic INT ไปที่ลำโพงก็จะออกมาดีมาก นั่นเป็นเพราะสัญญาณต้นฉบับจาก source ถูกส่งเข้าถึงภาคขยายครบถ้วนสมบูรณ์ และภาคขยายของ Classic INT ก็ทำหน้าที่ของมันอย่างตรงไปตรงมา คือขยายสัญญาณอินพุตนั้นให้ออกไปทางเอ๊าต์พุตโดยมีความแรง (gain) มากขึ้นตามระดับวอลลุ่มที่ผู้ใช้เลือกโดยรักษาคุณสมบัติของสัญญาณให้ “เหมือนกับ” ต้นทางอินพุตเท่านั้น ต้องขอบคุณอินพุตที่ปรับความไวได้ของมัน.!!!
นี่เป็นเครื่องเสียงอีกชิ้นหนึ่งที่ผมมีความรู้สึกอยากได้เป็นเจ้าของมากหลังจากทดสอบเสร็จ ต้องขอบอกเลยว่า นี่คืออินติเกรตแอมป์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยทดสอบมา สมศักดิ์ศรีของแอมป์ที่ออกแบบ, ผลิต และปรับจูนโดยบริษัทที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการโปรฯ มานานระดับ “ตำนาน” ที่ยังมีลมหายใจ..!!! /
********************
ราคา : 700,000 บาท / ตัว
********************
สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่
บ. Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: DECO2000Thailand