รีวิว Rockna รุ่น Wavelight Server & Wavelight DAC

ถ้าเอา “CD Transportสมัยยุคที่เรายังใช้แค่ฟอร์แม็ต CD แค่ฟอร์แม็ตเดียวเป็นมาตรฐานในการเล่นเครื่องเสียงมาเทียบกับ “Streamer Transportในยุคที่เราเปลี่ยนมาใช้ไฟล์เพลงเป็นมาตรฐานในการเล่นเครื่องเสียงอย่างในปัจจุบันจะเห็นชัดว่า Streamer Transport ต้อง ทำงานหนักกว่า CD Transport หลายเท่า เพราะมัน (Streamer Transport) ต้องรับหน้าที่ จัดการกับอะไรต่อมิอะไรเยอะกว่ามาก สมัยโน้นหน้าที่ของ CD Transport ก็แค่จัดการกับสัญญาณ PCM 16/44.1 ที่เป็นมาตรฐาน redbook ของฟอร์แม็ต CD แค่รูปแบบเดียว แต่ตัว Streamer Transport ในปัจจุบันต้องรับมือกับสัญญาณดิจิตัล อินพุตที่เข้ามาหลากหลายรูปแบบมาก มีทั้ง PCM และ DSD ที่มีความละเอียดของสัญญาณที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น PCM 16/44.1, PCM 24/48, 24/96และ DSD64, DSD128แถมรูปแบบของสัญญาณเสียงเหล่านี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้อยลง มิหนำซ้ำ กลับมีแนวโน้มว่าจะเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ ซะอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นสัญญาณที่มีความละเอียดสูงถึง 32-bit กับฟอร์แม็ต DXD ที่ใช้อัตราแซมปลิ้งเรตไปไกลถึง 384kHz และ 768kHz ปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเรื่องความแตกต่างของตัวสัญญาณแล้ว วิศวกรที่ออกแบบ CD Transport ในยุคก่อนโน้นยังไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องของ “File Formatเหมือนในยุคนี้อีกด้วย.!!

Storage vs. Server

ทั้ง Storage และ Server มีส่วนประกอบที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่วนที่เรียกว่า ฮาร์ดดิส” (harddisk) ซึ่งเป็นส่วนของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลหรือไฟล์เพลง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ Storage กับ Server มีความต่างกันก็คือ อุปกรณ์เก็บไฟล์เพลงที่เรียกว่า Server จะมีซอฟท์แวร์ฝังอยู่ในตัวฮาร์ดแวร์เพื่อทำหน้าที่ คุยกับอุปกรณ์ตัวอื่นผ่านทางเครือข่ายเน็ทเวิร์ค และจะ แชร์ไฟล์เพลงที่อยู่ในตัวมันออกไปให้กับอุปกรณ์ตัวอื่นที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน อย่างเช่น ส่งไปให้ลำโพงไร้สาย Bluetooth ที่ถูกกำหนดให้เป็น output ของแอพลิเคชั่นเล่นไฟล์เพลงบนมือถือ หรือส่งไปให้ตัว Streamer เมื่อได้รับการร้องขอจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่สั่งงานผ่านมาทางตัวสตรีมเมอร์ ในขณะที่อุปกรณ์เก็บข้อมูลหรือไฟล์เพลงประเภทที่เรียกว่า Storage อาทิเช่น USB flashdrive หรือฮาร์ดดิสของคอมพิวเตอร์ จะไม่สามารถแชร์ไฟล์เพลงที่อยู่ในตัวมันออกไปให้กับ Streamer หรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยตรง ต้องมีโปรแกรมเล็กๆ ที่เรียกว่า media server program ที่อยู่ภายนอก Storage เข้ามาช่วยอีกทีหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเล่นไฟล์เพลงด้วยการสตรีมมิ่งผ่านทางเน็ทเวิร์คจึงควรเก็บไฟล์เพลงไว้ในฮาร์ดดิสที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวอื่นทางเน็ทเวิร์คได้ (NAS = Network Attached Storage) ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณสามารถแชร์ไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในนั้นไปให้กับ Streamer ที่เชื่อมต่ออยู่กับเน็ทเวิร์คเดียวกันได้หลายตัวพร้อมกันแล้ว (ผ่านระบบมัลติรูมมัลติโซน) การที่โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงดึงไฟล์เพลงเข้ามาที่ตัวสตรีมเมอร์ผ่านทางเน็ทเวิร์คก็จะทำให้ได้ คุณภาพเสียงที่ดีกว่าดึงไฟล์เพลงจาก USB Storage ผ่านเข้ามาทางอินเตอร์เฟซ USB อีกด้วย

Wavelight Server (WLS)
คืออะไร.?

มาทบทวนการเล่นไฟล์เพลงกันหน่อยก่อน ในช่วงแรกของการเปลี่ยนจากการเล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นซีดี มาเป็นการเล่นไฟล์เพลงด้วยการสตรีมไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คนั้น อุปกรณ์ที่เราใช้เล่นไฟล์เพลงในช่วงแรกของยุคมิวสิค สตรีมมิ่งก็คือ คอมพิวเตอร์” (A) ซึ่งมีทั้งคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค, เฮดเลส คอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ นั่นคือส่วนของฮาร์ดแวร์ ส่วนซอฟท์แวร์ที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คก็คือ โปรแกรมประเภท media player ซึ่งเราต้องติดตั้ง (install) โปรแกรมเหล่านั้นลงไปบนคอมพิวเตอร์ตัวนั้น จึงจะทำให้คอมพิวเตอร์ตัวนั้นสามารถสตรีมไฟล์เพลงมาเล่นบนตัวมันได้

ส่วนเพลงที่เราจะเลือกมาฟังสำหรับการสตรีมมิ่งในยุคแรกๆ ที่ยังไม่มีบริการของ TIDAL เราก็จะใช้วิธีริปสัญญาณ PCM จากแผ่นซีดีออกมาเป็น ไฟล์เพลงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (WAV หรือ AIFF หรือ FLAC ฯลฯ) แล้วเอาไปเก็บไว้ใน NAS (Network Attached Storage) (B) ซึ่งก็คือฮาร์ดดิสประเภทที่เชื่อมต่ออยู่ในวงเน็ทเวิร์ค เมื่อถูกร้องขอจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ NAS ก็จะส่งไฟล์เพลงไปให้กับโปรแกรมที่ใช้เล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ผ่านทางระบบเน็ทเวิร์ค หลังจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงทำการแตกไฟล์ WAV หรือ FLAC ที่ได้รับมาจาก NAS เพื่อดึงเอาสัญญาณ PCM ออกมาได้แล้ว โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์จะจัดส่งสัญญาณ PCM นั้นไปให้กับ DAC (C) เพื่อให้นำไปแปลงออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกและจัดส่งไปให้กับแอมปลิฟายเพื่อนำไปจัดการในขั้นตอนต่อไป

ถ้าตัดกระบวนการของภาค DAC (C) แยกออกไป กระบวนการที่อยู่ก่อนหน้านั้น คือกระบวนการเล่นและจัดการกับไฟล์เพลง (A) กับกระบวนการจัดเก็บและแจกจ่ายไฟล์เพลง (B) จะถูกเรียกรวมๆ กันว่า ‘media serverหรือ music server

RocknaWavelight Server
= All-in-One AudiophileMusic Server

จากชาร์ตด้านบนนั้น จะเห็นว่า ตัวตนที่แท้จริงของ Wavelight Server ก็คืออุปกรณ์เครื่องเสียงที่รวมเอาคุณสมบัติของความเป็น ‘Music Serverคือกระบวนการ (A) กับ (B) เข้ามารวมอยู่ในตัวถังเดียวกันนั่นเอง.!

โอ้วว.. ว้าว! ในทางปฏิบัติแล้ว มันทำอะไรได้บ้าง.? เยอะครับ.. เอางี้.. ก่อนจะไปคุยถึงความสามารถของเจ้า Wavelight Server ตัวนี้ เรามาพิจารณารูปร่างหน้าตาของมันก่อน..

หน้าตาภายนอกกับแผงหลังของ Wavelight Server

A = ช่องต่อสายแลน (Ethernet)
B = ช่อง USB 3.0
C = ช่อง USB 2.0 x 2 ช่อง
D = ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับฟอร์แม็ต I2S
E = ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับฟอร์แม็ต Toslink
F = ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับฟอร์แม็ต SPDIF
G = ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับฟอร์แม็ต AES/EBU
H = ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับไฟเอซี

Wavelight Server มาในรูปลักษณ์ของเครื่องเสียงทรงสลิม มีความหนาเพียงแค่ 5.5 .. เท่านั้น ซึ่งบางคนที่ไม่เข้าใจอาจจะคิดว่า ตัวเครื่องบางๆ แบบนี้เสียงจะสู้แบบที่ตัวถังหนาๆ ไม่ได้รึเปล่า.? ถ้าเป็นอุปกรณ์ประเภท แอมปลิฟายก็อาจจะจริง เพราะแอมป์ที่มีสมรรถนะสูงๆ มักจะใช้ทรานฟอร์เมอร์ขนาดใหญ่ ตัวถังที่ใช้ครอบก็ต้องสูงขึ้นไปตามขนาดของทรานสฟอร์เมอร์และต้องเผื่อพื้นที่อากาศในตัวเครื่องไว้สำหรับการระบายความร้อนไปด้วย แต่อุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทที่ไม่ได้กินไฟเยอะ ไม่จำเป็นต้องใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่อย่างนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตัวถังสูงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทอิเล็กทรอนิคส์ที่ใช้อุปกรณ์ IC ตัวเล็กๆ ที่ผนึกลงบนแผงวงจรแบบ surface-mount ตัวคอมโพเน้นต์ IC เหล่านั้นก็แทบจะแนบติดอยู่บนแผงวงจร กรณีนี้ตัวถังสูงๆ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ

ตัวถังภายนอกทำด้วยอะลูมิเนียม ปัดเสี้ยน มีชุบเคลือบเป็นสีเงินและสีดำให้เลือกสองสี แผงหน้ามีดีไซน์ปาดมุมบนล่างทั้งสี่มุมทำให้ดูนุ่มตาลง ซึ่งบนแผงหน้าเรียบง่ายมินิมอลสุดๆ นอกจากโลโก้แบรนด์ทางซ้ายกับปุ่มเปิด/ปิดทางขวาแล้ว ก็มีตัวอักษร WLS เจาะทะลุลงไปด้านล่างที่มีไฟ LED ส่องย้อนขึ้นมา ซึ่งหลังจากกดปุ่มเปิดเครื่องปั๊บ ไฟ LED ตรงตัวอักษร WLS จะสว่างขึ้นมาเป็นสีฟ้าทันที กระพริบช้าๆ แสดงให้รู้ว่าตัวเครื่องกำลังอยู่ในขั้นตอนเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค ซึ่งคุณไม่ต้องทำอะไรเลยในจังหวะนี้ แค่รอให้ไฟตรงโลโก้ดวงนี้เปลี่ยนเป็นสีขาวแบบนิ่งๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ตัว Wavelight Server เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คสำเร็จ อยู่ในสภาวะพร้อมทำงานแล้ว

พูดถึงการเปิดใช้งานตัว Wavelight Server ตัวนี้ผมมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง คือตอนได้รับเครื่องตัวอย่างมาจากบริษัท Bulldog Audio เพื่อทำการทดสอบ หลังจากเสียบสายไฟเอซีเข้าไปแล้ว ปรากฏว่าไฟ LED ที่ตัวอักษร WLS บนหน้าปัดมันสว่างขึ้นเป็นสีฟ้า ซึ่งในคู่มือบอกว่าต้องรอจนไฟเปลี่ยนเป็นสีขาวแบบนิ่งๆ ถึงจะเริ่มใช้งานได้ ผมก็รออยู่นานมันก็ไม่เป็นสีขาวสักที ในคู่มือแนะนำให้ปรับตั้งที่ตัว Router ให้จ่าย IP แบบ HDCP คือออโต้ฯ ซึ่งผมก็ตั้งไว้แบบนั้นแล้ว.? รออยู่นานจนคิดว่าไม่ใช่แล้ว ผมลองกดปุ่มเพาเวอร์ก็ไม่เกิดผลอะไร สุดท้ายเลยลองดึงสายไฟออก เพราะคิดว่ามันน่าจะใช้วิธีเหมือนคอมพิวเตอร์คือถ้าเปิดเครื่องไม่ได้ก็ให้ปิดสวิทช์แล้วดึงสายไฟออก ทิ้งไว้สักพัก แล้วค่อยเสียบสายไฟเอซีเข้าไปแล้วเปิดเครื่องใหม่ หลังจากทิ้งไว้สักพักผมก็เสียบสายไฟเอซีเข้าไปใหม่ ไฟบนหน้าจอก็สว่างขึ้นเป็นสีฟ้ากระพริบช้าๆ ลองทิ้งไว้แบบนั้นรอให้มันกลายเป็นไฟสีขาว รอแล้วรอเล่า จากนาทีทิ้งไว้เป็นชั่วโมงไฟก็ไม่ขาวสักที เข้าไปอ่านขั้นตอนในคู่มือก็ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน สุดท้ายต้องเดือดร้อนติดต่อไปทางตัวแทนจำหน่าย คุณป้อมเลยเข้ามาช่วยดูให้ แป๊บเดียวก็เปิดได้ ไฟเป็นสีขาว ปรากฏว่า มันมีขั้นตอนหลังจากเสียบสายไฟเอซีเข้าไปแล้ว ให้กดปุ่มเพาเวอร์โดย กดแช่ค้างไว้ประมาณ 3-5 วินาทีจนไฟ LED ดับลง จากนั้นให้กดปุ่มเพาเวอร์ หนึ่งครั้งสั้นๆไฟ LED ที่ตัวอักษร WLS จะสว่างขึ้นเป็นสีฟ้ากระพริบช้าๆ อยู่ชั่วครู่ก็กลายเป็นไฟสีขาวนิ่งๆ แสดงว่าเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้แล้ว พร้อมใช้งาน.. เฮ้ออ! สุดท้ายก็มาตายน้ำตื้นอยู่ที่ขั้นตอนการเปิด/ปิดเครื่องนี่เอง.!!

Wavelight Server ทำอะไรได้บ้าง.?

กรณีที่เราใช้คอมพิวเตอร์มาทำเป็นทรานสปอร์ตสำหรับสตรีมไฟล์เพลง ขั้นแรกเราก็ต้องเลือกก่อนว่า เราจะใช้ คอมพิวเตอร์แบบไหนมาทำเป็นฮาร์ดแวร์ในการสตรีม จากนั้นขั้นที่สองก็ต้องเลือก ระบบปฏิบัติการณ์หรือ OS ตัวไหนมาทำหน้าที่เป็น มันสมอง” (brain) หรือเป็น แกนกลาง” (core) ของระบบที่ใช้ควบคุมฮาร์ดแวร์ในการสตรีม ระหว่าง Window, OSX หรือ Linux ซึ่งทางฝั่งผู้ผลิตสตรีมเมอร์เจ้าใหญ่หลายๆ แบรนด์ต่างก็มีความคิดเห็นตรงกันว่า ระบบปฏิบัติการณ์ของยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ทั้ง 3 เจ้าข้างต้นนั้นก็ไม่มีเจ้าไหนเลยที่ออกแบบมาเพื่อใช้สตรีมไฟล์เพลงแบบ เน้นคุณภาพเสียงโดยเฉพาะ เพราะแม้ว่า OS ของทั้งสามเจ้านั้นจะรองรับการสตรีมไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คเหมือนกัน แต่พวกเขาเดินตามมาตรฐาน UPnP AV เหมือนๆ กันทั้งสามเจ้า ซึ่ง UPnP AV เป็นมาตรฐานกลางๆ แบบพื้นๆ ที่ให้ผลลัพธ์ของเสียงยังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับมาตรฐานไฮเอ็นด์ฯ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงในกลุ่ม Audio Streaming แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมทางด้านทุนทรัพย์และบุคลากรต่างก็หันมาใช้วิธีสร้าง eco-system ของพวกเขาเองขึ้นมา เริ่มด้วยการเขียนโปรแกรม OS (Operation System) หรือ core สำหรับสตรีมไฟล์เพลงขึ้นมาใช้เอง ตัวอย่างเช่น Roon, Bluesound และ Innuos ซึ่งนอกจาก OS แล้ว แบรนด์เหล่านี้ยังได้พัฒนาฟังท์ชั่นพิเศษต่างๆ ที่ให้ประสิทธิภาพเสียงสูงกว่ามาตรฐาน UPnP AV ขึ้นมาใช้ด้วย ซึ่งทาง Rockna ก็มี OS ที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลาง (core) ของระบบสตรีมมิ่งที่เป็นของตัวเองเช่นกัน โดยฝัง core ของระบบปฏิบัติการณ์ของพวกเขาลงมาไว้ในตัวฮาร์ดแวร์ที่ชื่อว่า ‘Wavelight Audio Music Serverเรียกสั้นๆ ว่า Wavelight Server ย่อว่า ‘WLSคือตัวที่ผมกำลังกล่าวถึงนี่เอง (*ต่อไปในรีวิวนี้จะใช้ตัวย่อ ‘WLSเรียกแทน Wavelight Server)

Rockna มีแนวคิดในการสร้างระบบการเล่นไฟล์เพลงด้วยวิธีสตรีมผ่านเน็ทเวิร์คที่มีลักษณะเป็น ระบบกึ่งปิดกึ่งเปิดเมื่อดูจากแผนผังข้างบนนั้นจะเห็นว่า WLS ตัวนี้ทำหน้าที่แทนฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการณ์ของ Rockna ฝังอยู่ในตัว (ลงพื้นสีเขียว) เพื่อทำหน้าที่เป็น core หรือแกนกลางที่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์ทุกส่วนในระบบสตรีมมิ่งให้ทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์ มาดูงานในส่วน core กันก่อนว่า WLS ตัวนี้ทำอะไรได้บ้างในส่วนนี้.?

การเข้าไปรับตั้งค่าและควบคุมการทำงานของตัว WLS ตัวนี้จะต้องกระทำผ่านทางแอพลิเคชั่นอุปกรณ์พกพา หรือทาง web browser แค่สองทางนี้เท่านั้น ปรับตั้งที่ตัวเครื่องโดยตรงไม่ได้ เพราะบนตัวเครื่องไม่มีปุ่มควบคุมใดๆ ดังนั้น หลังแกะกล่องออกมาแล้ว ก่อนจะเริ่มต้นใช้งานคุณจึงต้องดาวน์โหลดแอพฯ มาติดตั้งบนอุปกรณ์พกพาของคุณซะก่อน ซึ่งแอพฯ ที่ผู้ผลิตออกแบบมาให้ใช้ชื่อว่า ‘Wavelight Serverมีครบทุกเวอร์ชั่นทั้ง Android, iOS และบนคอมพิวเตอร์ หลังจากโหลดแอพฯ มาติดตั้งเสร็จแล้ว เมื่อเปิดแอพฯ และเปิดเครื่องครั้งแรก หลังจากตัวเครื่องเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คได้แล้ว เมื่อบนจอแอพฯ ปรากฏขึ้นมาตามภาพข้างบน ก็แสดงว่าตัว WLS ของคุณพร้อมสำหรับใช้งานแล้ว เมื่อจิ้มลงไปที่ชื่อตัวเครื่อง (ศรชี้) เป็นการเข้าไปในเมนูการปรับตั้งค่าของเครื่องซึ่งมีหัวข้อให้ปรับตั้งมากถึง 6 เมนู

การปรับตั้งหัวข้อ ‘Audio

ตรงนี้เป็นเมนูที่ใช้สำหรับการปรับตั้งการทำงานของสัญญาณ output ที่ส่งออกไปจากตัว WLS โดยมีหัวข้อย่อยๆ ให้ปรับตั้งทั้งหมด 6 หัวข้อ คือ

1. Output = ใช้เลือกโซนเอ๊าต์พุตในกรณีที่คุณมีอุปกรณ์สตรีมเมอร์ของ Rockna อยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันมากกว่าหนึ่งเครื่อง หรือในกรณีที่คุณต่อเชื่อม DAC เข้ากับ WLS ที่ช่องเอ๊าต์พุต USB ซึ่ง DAC ตัวนั้นก็จะมาโผล่เป็นเอ๊าต์พุตให้คุณเลือกอยู่ตรงนี้

2. I2S Processing = เป็นการปรับตั้งการทำงานของฟังท์ชั่น upsampling & PCM>DSD transcoding ซึ่งคุณสามารถเลือกการอัพแซมปลิ้งสัญญาณ PCM ที่รับเข้ามาทางอินพุตให้ออกไปทางเอ๊าต์พุต I2S ด้วยรูปแบบของสัญญาณที่มีสเปคฯ สูงขึ้น โดยมีอ๊อปชั่นให้เลือกได้ 4 ตัวเลือก คือ (1) 352/382K (*อัพฯ ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 352.8kHz สำหรับอินพุตที่เป็นสัญญาณ PCM ฐาน 44.1kHz หรืออัพฯ ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 384kHz สำหรับอินพุตที่เป็นสัญญาณ PCM ฐาน 48kHz, (2) แปลงข้ามสายพันธุ์ไปเป็นฟอร์แม็ต ‘DSD256หรือ (3) ‘DSD512กับอีกตัวเลือก (4) ‘Nativeคือเล่นตามรูปแบบออริจินัลที่รับเข้ามาโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนก็ได้

3. SPDIF PCM Limit = เป็นการปรับตั้งระดับความละเอียดสูงสุดของสัญญาณ PCM ที่ปล่อยออกทางเอ๊าต์พุต SPDIF ทั้งหมด (Coaxial, Optical) ซึ่งมีให้เลือกสองระดับคือ 176/192 กับ 352/384

4. SPDIF DoP Limit = เป็นการปรับตั้งระดับความละเอียดสูงสุดของสัญญาณ DSD ฟอร์แม็ต DoP ที่ปล่อยออกทางเอ๊าต์พุต SPDIF ทั้งหมด (Coaxial, Optical) โดยมีให้เลือกปรับตั้งทั้งหมด 3 อ๊อปชั่น คือ DSD64, DSD128 และ No support

5. PCM Upsampler phase response = เป็นการเลือกรูปแบบของวงจร digital filter ที่จะใช้กับการอัพแซมปลิ้งสัญญาณอินพุต PCM ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 3 รูปแบบ คือ Linear, Hybrid และ Minimum

6. I2S port configuration = เป็นการเลือกลักษณะการเชื่อมต่อสำหรับช่องเอ๊าต์พุต I2S ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับ DAC ของ Rockna เอง ให้เลือกไปที่ตำแหน่ง ‘Rockna (Default)’ แต่ถ้าใช้กับ DAC ยี่ห้ออื่นที่มีอินพุต I2S แต่กำหนดรูปแบบการเชื่อมต่อไว้ต่างกัน ก็ให้เลือกไปที่ตำแหน่ง ‘Custom Modeจะปรากฏรูปแบบของการเชื่อมต่อสัญญาณของช่องเอ๊าต์พุต I2S ของ WLS ขึ้นมาให้เลือกจำนวน 4 รูปแบบ คือ Invert bit clock, Invert left/right clock, Invert serial data และ Swap DSD channels

(* ค่าที่ปรับตั้งในแต่ละหัวข้อจะขึ้นอยู่กับ DAC ที่ต่อเชื่อมอยู่กับเอ๊าต์พุตของ WLS)

การปรับตั้งเมนู Storage

ในตัว WLS สามารถติดตั้งฮาร์ดดิส SSD ไว้สำหรับเก็บไฟล์เพลง ซึ่งรองรับความจุได้ตั้งแต่ 2TB ไปจนถึง 16TB ส่วนวิธี add ไฟล์เพลงเข้าไปในฮาร์ดดิสเหล่านี้สามารถทำได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์ (ได้ทั้ง Mac และ PC) ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน และในกรณีถ้าคุณมี NAS อยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกัน คุณก็สามารถเพิ่ม NAS เข้ามาใน Storage ได้ด้วยโดยคลิ๊กที่ปุ่ม ‘New Drive’ (ศรชี้) แล้วกรอกข้อมูลโลเคชั่นของ NAS เข้าไป นอกจากนั้น คุณยังสามารถเพิ่มไฟล์เพลงที่คุณเก็บไว้ในฮาร์ดดิส USB แบบพกพาของคุณเข้ามาเล่นผ่าน WLS ได้โดยเสียบเข้าที่ช่อง USB ที่อยู่บนแผงด้านหลังได้อีกด้วย

การปรับตั้งเมนู ‘Servers

เมนูนี้ใช้สำหรับเลือกโปรแกรมมิวสิค เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ควบคุมการเล่นไฟล์เพลง ซึ่งมีให้เลือกตามที่ผู้ผลิตติดตั้งไว้ให้ และจำนวนของโปรแกรมที่มีให้เลือกใช้นี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยที่ทางผู้ผลิตจะใช้วิธีติดตั้งโปรแกรมไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของเขาแล้วแจ้งให้ผู้ใช้ทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่อเพิ่มจำนวนโปรแกรม ซึ่งตอนที่ผมได้รับเครื่องมาทดลองฟังช่วยแรกจะมีแค่โปรแกรม Roon Core กับ Music Player Daemon (MPD) สองโปรแกรมนี้เท่านั้นที่เปิดให้ใช้งานได้ แต่พวกเขาเพิ่งจะมีอัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่เป็นเวอร์ชั่น 1.04 ซึ่งจะมีการอัพเดต API (Application Programming Interface) เป็นเวอร์ชั่น 1.29 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันโดยเพิ่มโปรแกรม Audirvana Studio เข้ามาให้เลือกใช้อีกโปรแกรม (*ถ้าต้องการใช้โปรแกรม Roon หรือ Audirvana Studio คุณต้องเข้าไปสมัครขอใช้บริการและเสียค่าบริการรายเดือนซะก่อน เพื่อให้ได้ username กับ password ของโปแกรมนั้นๆ มากรอกลงในแอพฯ WLS ถึงจะใช้งานได้ ใครที่มีแอคเคาต์ของ Roon หรือ Audirvana Studio อยู่แล้วก็ไม่ต้องไปสมัครใหม่ แค่เอายูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์คที่มีอยู่มากรอกก็ใช้งานได้แล้ว ในอนาคตอาจจะมีโปรแกรมอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก เพราะผู้ผลิตใช้วิธีเขียนโปรแกรมลงบน FPGA ทำให้สามารถอัพเดตไปได้เรื่อยๆ

การปรับตั้งเมนู ‘Service

นอกจากคุณจะเลือกให้ WLS ตัวนี้ทำงานเป็น ‘Streamer Transportโดยใช้โปรแกรม Roon หรือ Audirvana Studio เป็นหลัก (core) ในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงแล้ว คุณยังสามารถปรับเลือกให้ WLS ทำงานเป็น endpoint หรือ renderer หรืออุปกรณ์ปลายทางที่รองรับสัญญาณเอ๊าต์พุตต่อมาจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยมีอ๊อปชั่นให้เลือกถึง 5 อ๊อปชั่น ได้แก่ Roon Bridge (*มีประโยชน์ในกรณีที่คุณใช้ Roon บนฮาร์ดแวร์ตัวอื่นที่ไม่มีเอ๊าต์พุต SPDIF แต่ต้องการใช้งานร่วมกับ DAC ทางช่องอินพุต SPDIF), UPnP AV, OpenHome, HQPlayer NAA และ AirPlay (*รองรับการสตรีมไฟล์เพลงจากแอพฯ เล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์ iOS กับคอมพิวเตอร์ MacOS)

ข่าวดีสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงจาก YouTube ก็คือ คุณสามารถเปิด YouTube ฟังเพลงบนมือถือ iOS แล้วสตรีมเสียงมาที่ WLS ผ่านทาง AirPlay ได้ 

การปรับตั้งเมนู ‘Streaming

ตรงนี้เป็นการปรับตั้งให้ WLS ทำงานเป็น endpoint อีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็น ปลายทางที่รองรับสัญญาณจากโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงของผู้ให้บริการสตรีมไฟล์เพลงที่มีระบบเพลย์แบ็คเป็นของตัวเอง ซึ่งในตอนนี้ WLS สามารถรองรับสัญญาณจากการสตรีมด้วยโปรแกรม Spotify Connect ได้ (*ในอนาคตอาจจะเพิ่มการรองรับ TIDAL Connect เข้ามาด้วยก็เป็นได้) ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้งานฟังท์ชั่นนี้จะต้องสมัครใช้งาน Spotify แบบ Premium เท่านั้น แบบ Free จะใช้ฟังท์ชั่นนี้ไม่ได้ (*ใครใช้ Spotify แบบฟรีอยู่ ถ้าต้องการเล่นผ่าน WLS ต้องป้อนสัญญาณเข้าทาง AirPlay ของ WLS แทน แต่คุณภาพเสียงจะสู้เข้าทาง Spotify Connect ไม่ได้ และคุณต้องเปิดมือถือตลอดด้วย)

การปรับตั้งเมนู ‘Settings

เมนูนี้มีหัวข้อย่อยทั้งหมด 3 หัวข้อ คือ ‘View Configurationซึ่งจะแสดงข้อมูลสถานะการเชื่อมต่อเน็ทเวิร์คของตัว WLS, ‘Updateจะแสดงเวอร์ชั่นล่าสุดของไดเวอร์และเฟิร์มแวร์ และใช้เป็นช่องทางการอัพเดตเฟิร์มแวร์กรณีที่มีการอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่ด้วย ส่วนหัวข้อที่สามคือ ‘Disconnectเป็นช่องทางในการตัดการเชื่อมต่อระหว่างแอพฯ กับตัวเครื่อง

วิเคราะห์สมรรถนะและความสามารถในการใช้งานของ Wavelight Server

การทำงานของระบบมิวสิค สตรีมมิ่งมีความซับซ้อนมากกว่าแหล่งต้นทางประเภทอื่น สาเหตุก็เพราะว่ามันใช้คอมพิวเตอร์และเน็ทเวิร์คเข้ามาเป็นพื้นฐานหลักในการเล่น ซึ่งต้องมีทั้งส่วนของ ฮาร์ดแวร์และส่วนของ ซอฟท์แวร์ประกอบกัน สำหรับคนที่พอมีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และเน็ทเวิร์คอยู่บ้างก็อาจจะทำความเข้าใจได้ง่ายหน่อย ส่วนคนที่ไม่ได้มีความเข้าใจทางด้านนี้มาก่อนก็อาจจะยากในการทำความเข้าใจ

หลังจากผมทำการวิเคราะห์พิจารณาถึงความสามารถของ WLS ตัวนี้ และได้ทดลองใช้งานดูแล้ว ผมต้องยอมรับเลยว่า อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ผู้ผลิตเรียกว่า ‘Wavelight Serverตัวนี้มันถูกออกแบบมาได้อย่างน่าทึ่งมาก.! มันสะท้อนให้เห็นว่า ทีมผู้ออกแบบของ Rockna มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของระบบมิวสิค สตรีมมิ่งอย่างทะลุปรุโปร่งจริงๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงปลายทาง นั่นทำให้พวกเขาสามารถจับเอาการทำงานแต่ละหน้าที่หลักๆ ของระบบมิวสิค สตรีมมิ่งเข้ามารวมกันไว้ในตัวถังเดียวกันได้ และจัดการให้มันทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพซะด้วย..!!

เมื่อได้ลองใช้งาน WLS ตัวนี้แล้ว บอกเลยว่า คุณสามารถตัดคอมพิวเตอร์ทิ้งไปได้เลย WLS ตัวนี้สามารถทำทุกอย่างแทนคอมพิวเตอร์ได้หมด แถทยังดึงเอาการทำงานในส่วนของ Storage ที่ใช้เก็บไฟล์เพลงเข้ามารวมไว้ในตัวถังเดียวกันด้วย ก็เท่ากับว่า คุณตัด NAS ออกไปจากระบบได้เลย ซึ่งการนำเอาฮาร์ดแวร์ที่ทำงานในส่วนต่างๆ ของระบบมิวสิค สตรีมมิ่งเข้ามารวมไว้ในตัวถังเดียวกันถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะทำให้พวกเขาสามารถคัดสรรอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์ server ที่พวกเขาเขียนขึ้นมากำกับการทำงานในส่วนของ Storage ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ผลลัพธ์จึงออกมาดีกว่าการใช้ NAS ภายนอกที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมอะไรได้

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขา (วิศวกรที่ออกแบบ WLS ตัวนี้) ยังได้ติดตั้งซอฟท์แวร์ที่ทำหน้าที่ในการ Upsampling และแปลงสัญญาณ PCM > DSD ลงไปอยู่ในนั้นด้วย รวมถึงยังทำให้ WLS มีคุณสมบัติเป็น Network Bridge ที่สามารถแปลงสัญญาณที่เข้ามาทาง Ethernet ให้ออกมาเป็นสัญญาณดิจิตัลเอ๊าต์พุตมาตรฐาน SPDIF เพื่อส่งออกไปทางขั้วต่อ Coaxial, Toslink และ AES/EBU และยังสามารถส่งสัญญาณดิจิตัลออกมาทางช่อง USB ได้ด้วย (*เอ๊าต์พุต I2S, Coaxial, Toslink และ AES/EBU จะได้ประโยชน์จากการทำงานของฟังท์ชั่น Upsampling / PCM>DSD Transcoding ในขณะที่เอ๊าต์พุต USB จะส่งออกสัญญาณเป็นแบบ native โดยไม่ได้รับผลจากการทำงานของฟังท์ชั่น Upsampling / PCM>DSD Transcoding นี้)

ทดลองฟังผลทางเสียงของตัว Wavelight Server

เนื่องจากตัว WLS เป็นทรานสปอร์ต คือไม่มีภาค DAC ในตัว มันสามารถเล่นไฟล์เพลงแล้วส่งสัญญาณดิจิตัลออกไปภายนอกได้ แต่ต้องมี external DAC เข้ามารองรับสัญญาณดิจิตัลจากตัว WLS เพื่อไปแปลงให้เป็นสัญญาณอะนาลอก แล้วไปขยายผ่านแอมป์ออกลำโพง เราถึงจะได้ฟังเสียงของมัน ด้วยเหตุนี้ ทางผู้นำเข้าคือบริษัท Bulldog Audio จึงได้ส่ง Wavelight DAC ซึ่งเป็น DAC คู่ขวัญของแบรนด์เดียวกันมาให้ด้วย ไปดูหน่วยก้านของ DAC ตัวนี้กันหน่อย

RocknaWavelight DAC 

A = หน้าจอแสดงผล
B = ปุ่มกด On/Off และเข้าสู่เมนูเครื่อง
C = ปุ่มกด ลดวอลลุ่ม และกดเลือกหัวข้อเมนู
D = ปุ่มกด เพิ่มวอลลุ่ม และกดเลือกหัวข้อเมนู
E = ช่อง อะนาลอกเอ๊าต์พุต แบบซิงเกิ้ลเอ็นด์
F = ช่อง อะนาลอกเอ๊าต์พุต แบบบาลานซ์
G = ช่อง อะนาลอกอินพุต แบบซิงเกิ้ลเอ็นด์
H = ขั้วต่อ ดิจิตัลอินพุต Optical, AES/EBU, Coaxial (SPDIF), I2S และ USB
I = เต้ารับสายไฟเอซี

ดีไซน์ของภาค DAC ในตัว Wavelight DAC ตัวนี้เป็น R2R ที่ความละเอียด 25-bit โดยใช้รีซีสเตอร์ที่มีความเพี้ยนฮาร์มอนิกรวมแค่ 0.005% ซึ่งต่ำมากๆ ให้อัตราสวิงไดนามิกที่อยู่เหนือระดับสัญญาณรบกวนสูงถึง 117dB (S/N ratio โดยวัดที่ความดังสูงสุด)

DAC ตัวนี้มีอินพุตให้เลือกใช้ 5 ช่อง ซึ่งแต่ละอินพุตจะมีความสามารถรองรับสัญญาณที่แตกต่างกัน โดยช่องที่รองรับสัญญาณได้กว้างที่สุดก็คือช่องอินพุต USB กับช่อง I2S ซึ่งกรณีที่จะนำ Wavelight DAC มาจับคู่ใช้กับ Wavelight Server ทาง Rockna แนะนำให้ใช้วิธีเชื่อมต่อสัญญาณทางอินเตอร์เฟซ I2S ซึ่งจะได้ประโยชน์จาก WLS เต็มที่คือได้รับมรรคผลจากฟังท์ชั่น Upsampling และ PCM>DSD Transcoding ในขณะที่ทางเอ๊าต์พุต USB ของ WLS จะไม่ได้ประโยชน์จากฟังท์ชั่น Upsampling และ PCM>DSD Transcoding

Wavelight Server (WLS) + Wavelight DAC (WL DAC)

เวลาของการทดลองฟังส่วนใหญ่ผมจะใช้ไปกับการลองฟังคู่ Wavelight Server + Wavelight DAC เป็นหลัก เพราะหลังจากทดลองเอา QB-9 DSD Twenty ของผมมาจับคู่กับ WLS ซึ่งต้องเชื่อมกับทางอินเตอร์เฟซ USB ได้อย่างเดียว เสียงที่ออกมาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากแล้ว แต่เมื่อเอา WL DAC เข้าไปแทนโดยยังคงเชื่อมต่อทางช่อง USB ปรากฏว่า เสียงของ WLS + WL DAC ออกมาดีกว่า WLS + QB-9 DSD Twenty อยู่พอสมควร อย่างต่ำๆ น่าจะ 20% ขึ้นไป คือฟังออกชัดในทุกแง่ และเมื่อเปลี่ยนการเชื่อมต่อระหว่าง WLS + WL DAC มาเป็นอินเตอร์เฟซ HDMI (LVDS) หรือ I2S เสียงโดยรวมก็กระโดดขึ้นไปอีกขั้น.!

กรณีที่เชื่อมต่อระหว่าง WLS กับ WL DAC จะมีเมนูให้ต้องเข้าไปปรับตั้งค่าอยู่ 2 หัวข้อ ที่จำเป็นและมีผลกับเสียง อันแรกคือ I2S Processing ซึ่งเป็นการเลือกรูปแบบการจัดการกับสัญญาณอินพุตก่อนส่งออกไปให้ WL DAC ซึ่งมีให้เลือก 4 อ๊อปชั่น (*รายละเอียดแจ้งไว้ตอนต้นแล้ว) ซึ่งจากการทดลองฟังทั้ง 4 รูปแบบแล้ว ผมชอบให้อัพไปที่ 352.8/384 มากที่สุด (*ผมว่าแปลงไปเป็น DSD มันออกนุ่มนวล แต่ไม่สดเท่า)

อีกหัวข้อที่เลือกแล้วเสียงเปลี่ยนคือ PCM Upsampler phase response ซึ่งก็คือเลือกวงจรดิจิตัลฟิลเตอร์หลังอัพแซมปลิ้ง โดยมีให้เลือก 3 รูปแบบ ผมทดลองเลือกและลองฟังดูแล้ว ผมชอบฟิลเตอร์ ‘Minimum’ (*ก็คือฟิลเตอร์ Minimum Phaseมากที่สุด

ตัว WL DAC เองก็มีแอพลิเคชั่นที่เอาไว้ให้ปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ บนอุปกรณ์พกพาเหมือนกัน ชื่อว่า Rockna Wavelight DAC (WL DAC) โหลดได้ฟรีทั้งใน App Store และ Google Play บนหน้าโฮมของแอพฯ จะแสดงรายละเอียดต่างๆ ขณะเครื่องทำงานแบบเรียลไทม์ และมีปุ่มควบคุมสั่งงานที่จำเป็นอยู่ครบ เริ่มจากปุมเปิด/ปิดเครื่อง, ปุ่ม mute, ปุ่มปรับเพิ่ม/ลดวอลลุ่ม, ปุ่มเลือกอินพุต และปุ่มเมนู (ศรชี้)

เมื่อเข้ามาในเมนูเครื่อง จะพบว่ามีหัวข้อเมนูย่อยให้เลือกปรับตั้ง 9 หัวข้อ ซึ่งหัวข้อที่ส่งผลกับเสียงและจำเป็นต้องปรับตั้งก็มี Filter เป็นการเลือกวงจรดิจิตัลฟิลเตอร์ที่มีมาให้เลือก 4 รูปแบบ ลักษณะเดียวกับตัว WLS เนื่องจากผมตั้งเลือกให้ตัว WLS ทำการ ปรุงแต่งสัญญาณอินพุต ด้วยการอัพแซมปลิ้งและเลือกใช้ฟิลเตอร์ Minimum Phase ไปแล้ว ดังนั้น ผมจึงเลือกฟิลเตอร์บนตัว WL DAC ไว้ที่ NOS หรือ Native คือไม่ทำการโอเวอร์แซมปลิ้ง ปล่อยผ่านสัญญาณอินพุตไปที่ DAC ตามต้นฉบับที่ได้รับเข้ามาจาก WLS

หัวข้อ Phase = เลือกไว้ที่ 0 องศา, หัวข้อ Volume mode = ไม่ใช้, หัวข้อ Balance = ตั้งไว้ตรงกลาง, หัวข้อ Brightness = ความสว่างของจอเลือกไว้ที่ 10%, หัวข้อ Volume by inputไม่ใช้, หัวข้อ Displayเลือกปิดจอ ส่วนหัวข้อ About แค่แจ้งให้ทราบเวอร์ชั่นของแอพฯ เหลือแต่หัวข้อ ‘I2S modeอีกหัวข้อที่ต้องปรับให้ถูกถึงจะมีเสียง เพราะเป็นการเลือกรูปแบบการเชื่อมต่อสัญญาณของ I2S ถ้าใช้กับ WLS ต้องเลือกไว้ที่ Mode 1

ทดลองฟังเสียงของ WLS + WL DAC

ผมเซ็ตอัพลำโพง KEF รุ่น Blade One Meta เพื่อใช้ทดสอบ WLS + WL DAC คู่นี้ตลอดรายการ โดยสลับแอมป์ที่ใช้ขับอยู่ 2 ชุด เริ่มด้วยปรี+เพาเวอร์ฯ ของ Mola Mola รุ่น Makua + Perca (class-D ที่ให้กำลังขับ 150W ที่ 8 โอห์ม และ 300W ที่ 4 โอห์ม) ก่อนจะต่อด้วยอินติเกรตแอมป์ของ CH Precision รุ่น I1 Universal Integrated Amplifier (class-AB ที่ให้กำลังขับ 100W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม และ 175W ต่อข้างที่ 4 โอห์ม)

ในแง่แม็ทชิ่งระหว่างลำโพงกับแอมป์ ถามว่าแอมป์ทั้งสองชุดนั้นเพียงพอต่อการขับลำโพง KEF คู่นี้มั้ย.? เมื่อพิจารณาจากสเปคฯ ของ KEFBlade One Metaผู้ผลิตแจ้งว่าแนะนำกำลังขับตั้งแต่ 50 – 400W โดยอิงกับโหลด 4 โอห์ม ถ้าคำนวนย้อนกลับมาที่โหลด 8 โอห์ม ก็เท่ากับว่าต้องการสูงสุดแค่ 200W เท่านั้นเอง ซึ่งกำลังขับของเพาเวอร์แอมป์ Mola MolaPercaเอาอยู่สบาย ส่วนกำลังขับของ CH PrecisionI1ก็อยู่ในเกณฑ์ที่คาดหวังผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้ เพราะตัวเลขกำลังขับ 175W ที่ 4 โอห์ม นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% x กำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำ อยู่แค่ 25W เท่านั้น แต่ด้วยชื่อชั้นของแอมป์ที่ได้รับรางวัลมาหลายสำนักอย่างอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ก็น่าเชื่อว่าเป็นวัตต์คุณภาพ ซึ่งหลังจากทดลองขับดูแล้วผมก็ไม่ติดใจเรื่องกำลังขับนะ รู้ว่าที่ออกมาน่าจะยังไม่สุด แต่โดยรวมในแง่คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

หลังจากผมเอา user-name กับ password ที่เป็นแอคเคาต์ของผมมาล็อคอิน Roon บน WLS เสร็จ ก็เท่ากับว่าตอนนี้ผมมีฮาร์ดแวร์ที่มี core ของ Roon ติดตั้งอยู่ทั้งหมด 3 ตัว ซึ่งการใช้งาน WLS มีทางเลือกให้แค่ 3 ทาง ในขณะนี้ คือถ้าไม่ใช้ระบบของ Roon ก็เหลือแค่ MPD ซึ่งไม่เวิร์คเลย กับระบบของ Audirvana Studio ซึ่งผมไม่มีแอคเคาต์ของเจ้านี้ จึงต้องใช้ Roon กับ WLS โดยปริยาย (*ขอย้ำอีกทีว่า ใครซื้อ WLS ไปใช้แล้วต้องการใช้ระบบ Roon คุณต้องเข้าไปสมัครขอใช้บริการที่เว็บไซต์ของ Roon ซะก่อนแล้วค่อยเอา user-name กับ password ที่ได้จากการสมัครมากรอกใช้กับ Roon บน WLS นั่นก็หมายความว่า คุณซื้อ WLS มาคุณก็ได้แถมฮาร์ดแวร์ที่ฝัง Roon Core มาพร้อมใช้งาน แต่คุณต้องมีแอคเคาต์ของ Roon ด้วยถึงจะใช้ได้ ซึ่งอันนี้คุณต้องไปจ่ายตังค์สมัคร ไม่ได้ฟรีนะ)

เมื่อผมทดลองเล่นไฟล์เพลงจาก TIDAL ที่เป็นไฟล์ FLAC 16/44.1 พบว่า Roon เล่นไฟล์นี้แล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปที่ WLS ด้วยอัตราแซมปลิ้งเท่ากับ 44.1kHz ตามต้นฉบับของไฟล์ โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เมื่อไปดูบนจอที่หน้าปัดของ WL DAC ซึ่งรับสัญญาณมาจาก WLS มันโชว์แซมปลิ้งเรตเท่ากับ ‘352ก็หมายถึงสัญญาณที่ WL DAC รับเข้ามามีแซมปลิ้งเรตอยู่ที่ 352.8kHz นั่นเอง ซึ่งก็เป็นการแสดงให้รู้ว่า ฟังท์ชั่น Upsampling ของ WLS ทำงานตามที่ผมปรับตั้งเอาไว้ ในขณะที่ WL DAC รับสัญญาณ 352.8kHz มาจาก WLS แล้วนำส่งเข้าภาค DAC โดยไม่อัพฯ เพิ่มตามที่ผมตั้งไว้ให้แปลงสัญญาณที่รับเข้ามาด้วยโหมด Native (NOS) นั่นเอง

ซึ่งหลังจากนั้น เมื่อผมเล่นไฟล์อื่นๆ ที่อยู่ในฐาน 44.1kHz อาทิเช่น 88.2 หรือ 176.4kHz ตัว WLS จะทำการอัพฯ ขึ้นไปอยู่ที่ 352.8kHz ทั้งหมด ก่อนส่งให้ WL DAC แต่ถ้าผมเล่นไฟล์ที่เป็นแซมปลิ้งฐาน 48kHz ไม่ว่าจะเป็น 48, 96 หรือ 192kHz ตัว WLS จะทำการอัพแซมปลิ้งสัญญาณเหล่านั้นให้ขึ้นไปอยู่ที่ 384kHz ทั้งหมดก่อนจัดส่งไปให้ WL DAC ทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกในขั้นตอนสุดท้าย..

ทำไมต้อง Upsampling .?

ก่อนจะไปวิเคราะห์เสียงของ WLS + WL DAC คู่นี้ ผมแนะนำให้เข้าไปอ่านทำความเข้าใจกับกระบวนการ ‘Upsamplingจากลิ้งค์นี้ Upsamplingคืออะไร.? ซะก่อน จะทำให้เข้าใจลักษณะการทำงานของ WLS + WL DAC คู่นี้ และทราบถึงประโยชน์ที่ได้จากกระบวนการอัพแซมปลิ้งมากยิ่งขึ้น

เสียงของ Wavelight Server + Wavelight DAC

ประเด็นแรกที่ผมสงสัยก็คือ ระหว่าง WLS กับ WL DAC ตัวไหนมีบุคลิกเสียงมากกว่ากัน.? ซึ่งถ้าวิเคราะห์โดยใช้ ความรู้สึกชี้นำ เชื่อว่าหลายๆ คนคงคิดว่า WL DAC น่าจะมีบุคลิกเสียงที่ชัดเจนมากกว่า WLS ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือน transport

หลังจากที่ผมทดลองแยกส่วนโดยสลับใช้ QB-9 DSD Twenty ทำงานร่วมกับ WLS (เชื่อมต่อทาง USB) และทดลองใช้ InnuosPulse’ (REVIEWจับคู่กับ Wavelight DAC (เชื่อมต่อทางอินพุต USB) ก็ทำให้ผมพอจะประเมินได้ว่า ถ้าพิจารณาเสียงที่เราได้ยินโดยแยกออกมาเป็น 2 มุม โดยที่มุมแรกเป็นคุณสมบัติทางด้าน คุณภาพของเสียง กับอีกมุมที่เป็น บุคลิกของเสียง ผมพบว่า ตัว Wavelight Server มันส่งผลกับเสียงในแง่ของ คุณภาพมากกว่าในแง่ของ บุคลิกคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 70/30 ส่วนตัว Wavelight DAC จะส่งผลกับเสียงโดยรวมในแง่ บุคลิกมากกว่าด้วยสัดส่วนประมาณ 60/40

อัลบั้ม : Rumours (Deluxe Edition) (FLAC/MQA-16/44.1)
ศิลปิน : Fleetwood Mac
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/20501429?u)

คุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ WLS ก็คือ โฟกัสกับ มูพเม้นต์ที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ หลังจากลองฟังเพลงหลากหลายรูปแบบผ่านไปจำนวนหนึ่ง ผมพบว่า WLS + WL DAC แยกแยะรายละเอียดของเสียงแต่ละเสียงที่อยู่ในเพลงที่ฟังให้ฉีกห่างออกจากกัน ไม่ซ้อนทับจนกลืนเป็นก้อนเดียวกัน ทำให้รับรู้ได้ชัดว่าแต่ละเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงของเครื่องดนตรีชนิดไหน และที่เยี่ยมยอดมากๆ ก็คือความสามารถในการถ่ายทอด มูพเม้นต์ของแต่ละเสียงที่มีความถูกต้องแม่นยำ ทำให้ฟังแล้วไม่เพี้ยน ผมทดลองฟังเสียงกีต้าร์ของ Lindsey Buckingham ในเพลง Never Going Back Again (ฉบับรีมาสเตอร์ปี 2004) ออกมาชัดกระจ่างมาก โน๊ตแต่ละตัวหลุดกระเด็นออกมาเป็นเม็ดๆ ลอยออกมาจากลำโพงด้วยสปีดที่ฉับไว สมจริงเหมือนฟังการเล่นสด แต่แม้ว่าสปีดของการเล่นจะฉับไวมาก แต่ก็ยังคงความชัดเจนของแต่ละโน๊ตไว้ได้อย่างมั่นคง

ความสามารถในการตอบสนองที่ทันกับสปีดของเสียงทำให้ผมสามารถติดตามการบรรเลงของศิลปินที่กระทำกับเครื่องดนตรีของพวกเขาได้อย่างชัดเคลียร์ทุกเม็ด ไม่มีอาการเบลอมัว (smear) เกิดขึ้นขณะที่ศิลปินบรรเลงเครื่องดนตรีด้วยสปีดที่ฉับไวมากๆ และผมยังพบด้วยว่า ความสามารถในการตอบสนองสปีดเสียงของ WLS + WL DAC คู่นี้มันครอบคลุมตั้งแต่เสียงแหลมลงไปจนถึงเสียงทุ้ม เพราะเมื่อลองฟังเสียงทุ้มในเพลง The Chain จากงานเพลงของวง Fleetwood Mac อัลบั้มเดียวกันนี้ ผมพบว่า เสียงทุ้มที่เกิดจากการบรรเลงของเบสกับกระเดื่องกลองที่ออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ยังสามารถแยกออกจากกันได้ชัด เพราะแต่ละเสียงมันมีโฟกัสที่คม กระชับเป็นก้อน และให้มวลเนื้อที่แน่น ไม่แตกกระจาย มูพเม้นต์มีความเร็ว ไม่มีอาการเฉื่อยช้าหรือบวมเบลอ แสดงว่าไทมิ่งของเสียงทุ้มถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างแม่นยำ ไม่มีดีเลย์ ซึ่งถ้ามีปัญหาตอบสนองไทมิ่งของเสียงในย่านทุ้มได้ไม่ทันกับสปีดของเสียงจากอินพุต จะทำให้เสียงออกมาเบลอและมัวเพราะเกิดความหน่วงช้าของไทมิ่งขึ้น ซึ่ง WLS + WL DAC คู่นี้ได้พิสูจน์ให้เห็น (ด้วยหู) แล้วว่ามันไม่มีปัญหานั้นเลย.!!

หลังจากฟัง server + DAC ของ Rockna คู่นี้ผ่านไประยะหนึ่งผมก็ซึมซับได้ถึงคุณสมบัติข้อหนึ่งของ Rockna คู่นี้ที่มักจะมีอยู่ใน DAC ระดับไฮเอ็นด์ฯ นั่นคือ ความหนาแน่นของมวลเสียง ซึ่งแสดงออกมาในลักษณะที่เป็น “ความเข้มข้นของเสียง” ซึ่งจะรับรู้ได้ตอนฟังเพลงที่มีรายละเอียดช่วง Low Level เยอะๆ

อัลบั้ม : Liberty (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : Anette Askvik
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/5761227?u)

อัลบั้ม : Winter Song (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Terje Isungset
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/3343902?u)

ผมบอกเลยว่า คุณสมบัติในการถ่ายทอดรายละเอียดเสียงที่ลงลึกถึงระดับ Low Level คือ ไม้ตายสำหรับ DAC ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะมันคือต้นทางของซิสเต็ม ถ้า DAC ให้ออกมาไม่ได้ก็ไม่ต้องไปหวังจากแอมป์หรือลำโพง ซึ่งจากประสบการณ์ของผมพูดได้เลยว่า DAC ที่มีค่าตัวหลักแสนควรจะให้รายละเอียดระดับ Low Level ได้ดี ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติข้อนี้จะเป็นเหมือน ยาขมคือเรื่องยากสำหรับ DAC ระดับกลางๆ ลงไป

รายละเอียดระดับ Low Level คืออะไร.? ก็ตรงตัวตามนั้น มันคือรายละเอียดของเสียงที่ออกมาแค่แผ่วๆ เบาๆ แต่เราก็ยังสามารถรับรู้ถึง ความมีตัวตนของเสียงนั้นได้ และสามารถ ติดตามมูพเม้นต์ของเสียงนั้นไปได้ตลอดเวลา ซึ่งระดับของ ความชัดเจนของเสียงที่เบานั้นจะต้องมากพอโดยที่เราไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นไปเพิ่มวอลลุ่มของแอมป์ นั่นคือเป็นเสียงเบาๆ ที่มีตัวตนชัดเจน มีมูพเม้นต์ที่ติดตามได้ตลอด และมีตำแหน่งแหล่งที่ในเวทีเสียงที่มั่นคงด้วย

เพลง Liberty ในอัลบั้มชุด Liberty ของ Anette Askvik กับเพลง Fading Sun ในอัลบั้มชุด Winter Song ของ Terje Isungset เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของรายละเอียดระดับ Low Level ที่ชัดเจนมาก ถ้าเล่นผ่าน DAC ที่มีสมรรถนะไม่ถึง คุณจะได้ยินเสียงที่ไม่ต่อเนื่อง บางช่วงก็มีเสียงโผล่มาให้ได้ยิน ในขณะที่บางจังหวะเหมือนเสียงจมหายไป ซึ่ง server + DAC ของ Rockna คู่นี้สอบผ่านสบายสำหรับคุณสมบัติของเสียงข้อนี้ ณ ระดับความดังปกติที่ใช้ฟังเพลงทั่วไป เมื่อลองฟังสองเพลงนี้ ผมก็ได้ยินและรับรู้ได้ถึงรายละเอียดเสียงที่อยู่ในสองเพลงนี้ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่องตลอดโดยไม่ต้องไปเร่งวอลลุ่มขึ้นมา และผมยังรับรู้ถึง น้ำหนักการย้ำเน้นของเสียงได้ด้วย ในบางช่วงของทั้งสองเพลงจะมีเสียงแบ็คกราวนด์ที่ลึกลงไปด้านหลังของเวทีเสียงคอยผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นมาให้รับรู้ได้ ในขณะที่เสียงร้องและเสียงดนตรีบางชิ้นกำลังโลดแล่นแสดงลีลาอยู่ด้านหน้า

ในเพลง Fading Sun นั้น server + DAC คู่นี้แสดงให้ผมเห็นว่า เพลงนี้เรียบเรียงและมิกซ์เสียงทุ้มมาได้ดีมาก.! เป็นเสียงทุ้มที่มีทั้งมวลและพลังที่อัดแน่นแม้ว่าจะมีระดับความดังต่ำ และยังเป็นเสียงทุ้มที่มี ทิศทางให้รับรู้ได้ชัดเจนอีกด้วย แสดงว่า server + DAC คู่นี้สามารถถ่ายทอดเฟสของเสียงที่มีความแม่นยำลงไปถึงเสียงทุ้มด้วย (*เมื่อใดก็ตามที่คุณ ได้ยินเสียงทุ้มนั้น แสดงว่ามันมี ตำแหน่งและ ทิศทางเสมอ ถ้าระบุตำแหน่งและจับทิศทางไม่ได้ แสดงว่าเสียงทุ้มนั้นไม่ in-phase) ซึ่งการเลือกรูปแบบของวงจรฟิลเตอร์ก็มีส่วนนิดหน่อยกับคุณสมบัติข้อนี้ (*ถ้าชอบโฟกัสของเสียงที่แม่นยำ แนะนำให้เลือกฟิลเตอร์ของทั้งตัว Waveloght Server และบนตัว Wavelight DAC ไว้ที่ “Minimum”)

อีกคุณสมบัติที่ DAC ดีๆ ต้องมีก็คือ ความใสของพื้นเสียง (*ฝรั่งใช้คำว่า ‘Transparent’) ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังดนตรีที่เล่นสดๆ โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้นระหว่างตัวคุณกับนักดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่ข้างหน้า..

อัลบั้ม : Lost Archive – The Ghost of Johnny Cash (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Johnny Cash
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/90788673?u)

เสียงร้องของ Johnny Cash ในเพลง House of The Rising Sun จากอัลบั้มข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่จะใช้ทดสอบคุณสมบัติทางด้าน ความใสของ server + DAC ของ Rockna คู่นี้ ซึ่ง ความใสที่ว่านี้มักจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้เสมอ เนื่องจากความใสที่ดีและถูกต้องนั้น จะต้องทำให้เราได้ยิน ตัวเสียง” (อิมแพ็ค+บอดี้+หางเสียง) ที่ชัดเจนและ ครบถ้วนซึ่ง DAC ที่ดีจะต้องถ่ายทอดความใสที่แสดงองค์ประกอบของเสียงได้ครบทั้งสามส่วนข้างต้น ในขณะที่ DAC ระดับรองๆ มักจะถ่ายทอดได้เฉพาะส่วนที่เป็น หัวเสียงกับ บอดี้ออกมาได้ดี แต่ที่ยังไม่ค่อยดีคือส่วนที่เป็น หางเสียงซึ่งเป็นรายละเอียดที่แผ่วเบา เพราะมันเป็นส่วนของเสียงที่ประกอบด้วยฮาร์มอนิกที่แผ่ทอดออกไปจากตัวเสียงและไปสะท้อนกับผนังห้องที่ใช้บันทึกเสียงจนเกิดเป็น harmonic structure หรือโครงสร้างฮาร์มอนิกที่ซับซ้อน แต่ถ้าซาวนด์เอนจิเนียร์ผู้บันทึกเสียงจัดการเซ็ตอัพสภาพอะคูสติกภายในห้องบันทึกเสียงอย่างดีจะได้ harmonic structure ของเสียงดนตรีที่เป็นระเบียบ มีพลังคลื่นที่เกิดจากการ synergy ระหว่างเสียงหลักกับเสียงสะท้อนแผ่ออกมาด้วย

WLS + WL DAC คู่นี้ถ่ายทอดเสียงร้องของจอห์นนี่ แคชในเพลงนี้ออกมาได้ดีมาก ด้วยความใสที่ดีเยี่ยม ทำให้ผมได้ยินคอนทราสน์ไดนามิกของเสียงร้องที่ลื่นไหล มูพเม้นต์ของอากับกิริยาในการควบคุมคำร้องแต่ละคำปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เสียงร้องมีความต่อเนื่อง ประกอบกับการย้ำเน้นที่ชัดเจน ทำให้ส่วนของ อารมณ์ของคนร้องถูกส่งต่อมาถึงผู้ฟังอย่างครบถ้วน โดยที่ไม่ทำให้ “โทนัล บาลานซ์” เปลี่ยนไป คือความใสไม่ได้หมายความว่าเสียงแหลมมากขึ้นอย่างที่บางคนเข้าใจ 

DAC ระดับรองๆ ลงไปส่วนใหญ่จะใช้วิธีฟิลเตอร์รายละเอียดแผ่วๆ เบาๆ ที่เป็นส่วนประกอบของฮาร์มอนิก+แอมเบี้ยนต์ทิ้งไป แล้วไปเน้นที่ตัวเสียงให้มีความคมชัดมากขึ้น เสียงที่ออกมาจึงมักจะมีลักษณะที่ ชัดแต่ แห้งไม่ฉ่ำหูเหมือน DAC ดีๆ ที่ถ่ายทอดลงไปถึงระดับฮาร์มอนิกและแอมเบี้ยนต์เหมือน server + DAC ของ Rockna คู่นี้ ซึ่งสิ่งที่ DAC ระดับรองๆ ทำผ่านฟิลเตอร์แบบข้างต้นนั้นคือการปรับเปลี่ยนโทนัล บาลานซ์ ไม่ใช่ความใส

ผมสังเกตว่า ไม่ว่าจะฟังเพลงอะไร เสียงที่ได้ยินจากเพลงเหล่านั้นมันจะมี ความนิ่งและ ความแน่นอยู่ด้วยตลอด ไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นลักษณะเฉพาะของ DAC ที่ดีไซน์ด้วยรีซิสเตอร์ดีสครีตที่เรียกว่า R2R DAC รึเปล่า.? และการเชื่อมต่อระหว่างทรานสปอร์ต (Server) กับ DAC ด้วยอินเตอร์เฟซ I2S จะเข้ามามีผลด้วยรึเปล่า.? แต่ที่แน่ๆ สำหรับที่มาของ ความนิ่งส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับการทำงานของระบบ clock ที่ออกแบบมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคุณสมบัติที่มีผลกับ ความแน่นของเสียงก็คือ เกนของสัญญาณที่ได้จากภาค DAC แบบ R2R มักจะให้เสียงที่เข้มและมีมวลแน่นกว่า DAC ที่ใช้ชิปสำเร็จโดยส่วนใหญ่ อันนี้ได้จากประสบการณ์ที่เคยทดสอบ R2R DAC มาแล้วหลายตัว

เฮ้ยย.. ของดี.!!!

Wavelight DAC มีคุณสมบัติของความเป็น ปรีแอมป์ที่ชัดเจนมากกว่า external DAC หลายๆ ตัวที่เรียกตัวเองว่าเป็น DAC/Pre ที่กล้าพูดแบบนี้เพราะพิจารณาจากฟังท์ชั่นของ DAC ตัวนี้ดูแล้ว พบว่ามีอยู่หลายคุณสมบัติที่ WL DAC ทำได้ตามมาตรฐานของปรีแอมป์อะนาลอก อย่างแรกคือมีอินพุตสำหรับรองรับสัญญาณ analog มาให้, มีอะนาลอกอินพุต HT Bypass สำหรับใช้กับชุดโฮมเธียเตอร์ และที่สำคัญคือมีวอลลุ่มแบบอะนาลอกให้เลือกใช้

คุณต้องเข้าไปเลือกรูปแบบของสัญญาณขาออกของ WL DAC ที่หัวข้อ ‘Volume Modeในเมนูเครื่อง (เลือกผ่านแอพลิเคชั่นได้) ซึ่งในนั้นมีให้เลือกอยู่ 2 รูปแบบ คือ Analog กับ Hybrid โดยที่ตัว Hybrid นั้นเป็นวอลลุ่มที่ผสมระหว่างดิจิตัลวอลลุ่มกับอะนาลอกวอลลุ่มเข้าด้วยกัน ผมทดลองฟังเทียบกันแล้ว ตัว Hybrid ให้เสียงสดกว่า เสียงแหลมจะโดดออกมามากกว่าแต่ก็ไม่ได้มากมาย ซึ่งบางคนอาจจะชอบถ้ารู้สึกว่าบุคลิกเสียงของแอมป์+ลำโพงค่อนข้างนุ่มเนียนมากไป แต่สำหรับผม ลองฟังแล้วชอบเสียงของปรีอะนาลอกมากกว่า ซึ่งตอนใช้ภาคปรีฯ ในตัว Wavelight DAC แทนที่ปรีแอมป์ภายนอก *** อย่าลืมหรี่วอลลุ่มของ WL DAC ลงต่ำๆ ไว้ก่อน (ลด/เพิ่มวอลลุ่มจากหน้าแอพฯ ได้เลย)

ภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ Wavelight DAC ให้เกนออกมาเท่ากับ 2.4 Vrms สำหรับสัญญาณซิงเกิ้ลเอ็นด์ทางขั้วต่อ RCA และ 5.8 Vrms สำหรับสัญญาณบาลานซ์ทางขั้วต่อ XLR ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปานกลางสำหรับมาตรฐานของปรีแอมป์อะนาลอกทั่วไป จึงสามารถแม็ทชิ่งกับเพาเวอร์แอมป์อะนาลอกทั่วไปได้สบาย ผมทดลองจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ของ QUAD รุ่น Artera Stereo และ Mola Mola รุ่น Perca ก็ไปกันได้ ไม่พบอาการมีสแม็ทแต่อย่างใด เสียงโดยรวมออกมาดีด้วย

ถ้าซิสเต็มของคุณมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นแหล่งต้นทางอีกอย่างก็สามารถใช้อินพุต Analog ของ WL DAC รองรับสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์จากภาคโฟโนของคุณเข้ามาใช้งานผ่านภาคปรีฯ ของ WL DAC ได้เลย ไม่ต้องกังวลเรื่องเกนแม็ทชิ่ง เพราะในตัว WL DAC มีฟังท์ชั่นปรับเกนของช่อง Analog Input ไว้ให้คุณแม็ทชิ่งเกนด้วย ซึ่งมีอ๊อปชั่นให้ปรับตั้งถึง 3 ระดับ คือ 0, 6 และ 9.5dB สำหรับเอ๊าต์พุต RCA (ความต้านทาน 50 โอห์ม) แต่ถ้าคุณใช้เอ๊าต์พุตทางช่อง XLR (ความต้านทาน 110 โอห์ม) ค่าที่ปรับจะเป็น 8, 14 และ 17.5dB

สรุป

หลังจากทดลองเล่นและลองฟังเสียงของ Server + DAC ของ Rockna คู่นี้แล้ว ผมก็ไม่ลังเลเลยที่จะขึ้นป้าย HIGHLY RECOMMENDED!!! ให้กับ Wavelight Server + Wavelight DAC ว่านี่คือ DAC/Pre ที่น่าสนใจมากที่สุดในงบประมาณ ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับตอนนี้.!!! (*หมายเหตุว่าต้องเชื่อมต่อสัญญาณผ่านทางอินเตอร์เฟซ I2S ด้วยนะ.!)

**********
ราคา
Wavelight Server = 220,000 บาท / ตัว
Wavelight DAC = 220,000 บาท / ตัว
**********
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Bulldog Audio
**********
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
088-766-6542 (คุณโอ๋)

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า