การพัฒนาของโปรเจค Blade ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มันเป็นการ “ต่อยอด” มาจากพัฒนาการที่สืบต่อกันมาจากเทคโนโลยี Uni-Q ที่เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งได้มีการปรับปรุงมาตลอดในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ไดเวอร์ Uni-Q ได้ผ่านการพัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 12 แล้ว ซึ่งถูกนำมาใช้ในการสร้างความถี่ในย่านกลางและสูงสำหรับ Blade One Meta และ Blade Two Meta จากนั้นก็ใช้เทคนิคการติดตั้งวูฟเฟอร์แบบ force-cancelling configuration เข้ามาเสริมในย่านเสียงทุ้ม ส่งผลทำให้ Blade One Meta กลายเป็นลำโพงตั้งพื้นคู่แรกของโลกที่สามารถถ่ายทอดความถี่เสียงตั้งแต่ 35Hz – 35kHz ออกมาในลักษณะที่เรียกว่า ‘Single Apparent Source’ ที่สมบูรณ์แบบ นั่นคือ ทุกความถี่แผ่ออกมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นอุดมคติที่ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ KEF ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก
Single Apparent Source
ในเอกสาร White Paper ที่แจกแจงข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีในการออกแบบ Blade One Meta อธิบายที่มาที่ไปของ Single Apparent Source เอาไว้อย่างชัดเจน..! โดยเฉพาะข้อด้อยของการจัดวางลำโพงหลายตัวโดยเรียงเป็นคอลั่มในแนวตั้ง เพราะความถี่เสียงจากไดเวอร์แต่ละตัวที่ครอบคลุมย่านเสียงทั้งหมดจะแผ่ออกมาจากจุดกำเนิดที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาที่คลื่นเสียงแต่ละความถี่เดินทางมาถึงหูของผู้ฟังที่อยู่ตรงตำแหน่งนั่งฟัง “ไม่พร้อมกัน” และมาจาก “ทิศทางที่ต่างกัน” ซึ่งหากว่าไม่มีการชดเชยที่ถูกต้อง ก่อนที่คลื่นเสียงเหล่านั้นจะเคลื่อนที่มาถึงหูของผู้ฟัง คลื่นเสียงที่มาจากไดเวอร์เหล่านั้นจะเกิดการหักล้างกันทางด้านเฟส ทำให้เกิดผลเสียกับ timbre ที่แสดงเอกลักษณ์ของต่ละเสียง ทำให้เสียงมัว ตัวตนไม่ชัดเจน และมีผลเสียกับทรานเชี้ยนต์ไดนามิกด้วย
ทีมออกแบบของ KEF มีแนวคิดว่า แทนที่จะต้องปรับจูนให้เสียงจากไดเวอร์ที่อยู่คนละตำแหน่งบนตัวลำโพงแผ่มาถึงหูของผู้ฟังพร้อมกัน พวกเขาคิดว่า การจัดวางไดเวอร์ทั้งหมดให้เสมือนว่าออกมาจากจุดเดียวกันตั้งแต่ต้นทางน่าจะได้ผลดีกว่า นั่นคือที่มาของเทคโนโลยีที่มีชื่อเรียกว่า Single Apparent Source
โดยพื้นฐานของ Single Apparent Source คือต้องทำให้ “คลื่นเสียงทุกความถี่” มีแหล่งกำเนิดออกมาจากจุดเดียวกัน เคลื่อนตัวออกจากลำโพงจากจุดเริ่มต้นเดียวกันเพื่อขจัดปัญหาที่เกิดจากการจัดวางไดเวอร์แบบคอลั่มอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่เนื่องจากความถี่เสียงที่ลำโพง KEF ‘Blade One Meta’ ถูกกำหนดให้ตอบสนองออกมาได้นั้นเป็นย่านความถี่ที่เปิดกว้างมาก ครอบคลุมตั้งแต่ 35Hz – 35kHz ซึ่งต้องอาศัยไดเวอร์หลายตัวทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ วิศวกรของ KEF จึงต้องใช้วิธีจัดวางไดเวอร์ทั้งหมดให้มี “ศูนย์กลางของมุมกระจายเสียง” (center of dispersion) ที่เสมือนว่าแผ่ออกมาจากจุดเดียวกันให้ได้
ถ้าลากเส้นตั้งฉากผ่านตรงศูนย์กลางของไดเวอร์ “ทุกตัว” ที่ติดตั้งอยู่บนลำโพงแต่ละข้าง จะพบว่า เส้นตั้งฉากนั้นจะไปตัดกัน ณ จุดร่วมเดียวกันในตัวลำโพง ซึ่งเป็นเสมือน center of dispersion ของลำโพงคู่นี้ ซึ่งทำให้ความถี่กลาง–แหลมจากไดเวอร์ Uni-Q META กับความถี่ในย่านกลาง–ต่ำกับย่านทุ้มทั้งหมดจากวูฟเฟอร์ขนาด 9 นิ้ว ทั้ง 4 ตัว มีจุดกำเนิดออกมาจากจุดเดียวกัน แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะมีบางย่านความถี่ที่ phase ยังไม่ถึงกับกลืนกันเป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเขาก็ยังสามารถจูนแก้ได้ด้วยวงจรครอสโอเว่อร์เน็ทเวิร์คเข้ามาช่วย “ดัด” เฟสให้กลืนกันได้อีกทางหนึ่ง
ภาพด้านบนเป็นลักษณะการแผ่กระจายคลื่นเสียงของไดเวอร์ทั้ง 6 ตัว ของลำโพง Blade One Meta แต่ละข้าง เมื่อมองจากด้านบนลงมา ซึ่งโดยสรุปพูดได้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการออกแบบ Blade One Meta ก็คือ การขยับขีดความสามารถในการทำงานของเทคโนโลยี Uni-Q ให้ขยายจากกลาง–แหลมลงไปจนถึงทุ้ม โดยเอาเทคนิคการออกแบบวูฟเฟอร์ที่เรียกว่า force cancelling เข้ามาใช้ร่วมกับ Uni-Q นั่นเอง
ส่วนความถี่ในย่านทุ้มลึกๆ ตั้งแต่ระดับ 35Hz ลงไปจนถึง 20Hz ซึ่งเป็นความถี่ที่ประสาทหูของคนเรารับรู้ได้ยาก จะเกิดจากความถี่ที่ถ่ายทอดออกมาทางท่อระบายเบสที่อยู่ด้านหลังของตัวตู้
พิเศษตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก
ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงเคยมีความคิดเหมือนผมว่า รูปทรงของลำโพงราคาสูงๆ ที่เป็นรุ่นใหญ่ๆ ซึ่งมักจะมีความวิลิศมาหราเหล่านั้นน่าจะเป็นแค่กิมมิคเท่ๆ เพื่อเรียกราคาเท่านั้น แต่พอมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตลำโพงของหลายๆ แบรนด์มา จึงเริ่มรับรู้ว่า จริงๆ แล้ว ตู้ลำโพงที่มีรูปทรงประหลาดๆ ที่เราเห็นนั้น มันมีเหตุผลทางด้านเทคนิคที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงรองรับอยู่เกือบทั้งหมด
รูปทรงภายนอกของตัวตู้ลำโพงคู่นี้มีลักษณะตรงตามชื่อซีรี่ย์เป๊ะ คือถ้าไปยืนมองจากด้านข้างจะเห็นว่ารูปทรงของตู้ลำโพงตัวนี้จะมองดูคล้ายใบมีดที่หันคมไปทางด้านหลัง ส่วนด้านหน้าที่ติดตั้งไดเวอร์ Uni-Q จะเป็นส่วนของสันมีด ถ้ามองจากด้านหน้าจะเห็นว่า แผงหน้าของลำโพงคู่นี้มีความกว้างเพียงไม่ถึงฟุต ทั้งๆ ที่มีความสูงถึง 158 ซ.ม. เลยเป็นข้อดีสำหรับมิติ–เวทีเสียง
ไดเวอร์ Uni-Q เจนเนอเรชั่น 12 ที่มาพร้อม MAT (Metamaterial Absorption Technology) ถูกติดตั้งอยู่บนแผงหน้าตรงตำแหน่งที่สูงจากพื้นขึ้นมาเท่ากับ 108 ซ.ม. (วัดถึงใจกลางของทวีตเตอร์) ในขณะที่วูฟเฟอร์ขนาด 9 นิ้ว ที่ทำงานร่วมกัน 2 ตัว ในลักษณะที่เรียกว่า force cancelling คือหันหลังชนกันจำนวน 2 คู่ (4 ตัว) ทำการยิงความถี่ออกไปทางด้านข้าง ตรงข้ามกัน พร้อมกัน
ตัวตู้ทำจากวัสดุพิเศษ
หลายคนคงเดาถูก เพราะดูจากรูปร่างและสัดส่วนของตัวตู้แล้ว ไม่น่าจะทำด้วยไม้ แต่น่าจะเป็นตัวตู้ที่หล่อขึ้นมาด้วยวัสดุประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายพลาสติกมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลใน White Paper ระบุว่า ตัวตู้ของ Blade One Meta คู่แรกที่ทำออกมาเป็นต้นแบบไปโชว์ในงานไฮเอ็นด์ที่มิวนิค เมื่อปี 2009 หล่อขึ้นรูปมาด้วยวัสดุผสม carbon fibre/balsa wood ซึ่งมีราคาสูงมาก ทีมออกแบบลำโพงคู่นี้มองว่า ถ้าใช้วัสดุตัวนั้นจะทำให้ราคาขายสูงโด่งขึ้นไปมาก ไม่น่าจะเหมาะสมในการผลิตออกมาเป็นโปรดักชั่นสำหรับขายจริง ตอนหลังจึงได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุผสมที่เสริมด้วยใยแก้วแทน
เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำตัวตู้มีความแกร่งสูง เชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกัน และตัวตู้ก็มีลักษณะที่เพียวสลิม จึงไม่จำเป็นต้องมีการดามโครงอะไรมาก ทำให้ได้ปริมาตรอากาศในตู้ที่เพียงพอ ช่องว่างภายในตัวตู้มีการติดตั้งวัสดุซับเสียงไว้เป็นจุดๆ เพื่อควบคุมเรโซแนนซ์ภายในตัวตู้ด้วย
ขั้วต่อสายลำโพง
Blade One Meta มีสถานะเป็นลำโพง 3 ทาง โดยที่ไดเวอร์มิดเร้นจ์ที่รับหน้าที่ในการถ่ายทอดเสียงกลางกับทวีตเตอร์ที่ใช้ขับเสียงแหลมถูกแพ็คมาด้วยกันในรูปแบบแกนร่วม (Uni-Q) วงจรเน็ทเวิร์คของลำโพงคู่นี้จึงแยกความถี่เสียงออกเป็น 3 ย่าน คือตั้งแต่ 2kHz ขึ้นไปจนถึง 35kHz ถูกส่งไปที่ทวีตเตอร์, ตั้งแต่ 350Hz ถึง 2kHz ส่งไปให้มิดเร้นจ์ และย่านทุ้มตั้งแต่ 350Hz ลงไปจนถึง 35Hz ถูกส่งไปให้วูฟเฟอร์ทั้งสี่ตัว ขั้วต่อสายลำโพงถูกแยกออกเป็น 2 ชุด โดยมีระบบลิ้งค์ด้วยน็อตเกลียวมาให้แทนที่การลิ้งค์ด้วยแท่งโลหะเหมือนลำโพงทั่วไป..
ในการใช้งานจริง ถ้าคุณใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลฯ ในการเชื่อมต่อระหว่างลำโพงคู่นี้กับเพาเวอร์แอมป์ของคุณ คุณต้องขันน็อตเกลียวทั้งสองตัวเข้าไปที่รูเกลียวที่อยู่ระหว่างขั้วต่อสายลำโพงชุดบนกับชุดล่างให้แน่น แต่ถ้าคุณจะใช้จั๊มเปอร์ (แบบที่ผมใช้อยู่ในรูปด้านบน) ก็ให้หมุนคลายเอาน็อตเกลียวออกมา
แม็ทชิ่งกับแอมป์
ลำโพง KEF คู่นี้ให้เร้นจ์ตอบสนองความถี่ที่กว้างมาก คือเฉพาะความถี่ที่ถ่ายทอดออกมาจากหน้าดอกจะพบว่าสามารถครอบคลุมได้ตั้งแต่ 35Hz ไปจนถึง 35kHz แล้ว (A) ซึ่งเป็นระดับ frequency response ที่มีความดังเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ +/-3dB ในขณะที่ความถี่ต่ำสุดสามารถลาดลงไปได้ต่ำถึง 20Hz ด้วยอัตราลาดลงของความดังที่ระดับ -6dB (B) แต่ถ้าวัดจากสภาพการเซ็ตอัพในพื้นที่ที่ไม่มีการหักล้างจาก roommode (พื้นที่โล่ง) พบว่าความถี่ตอบสนองของลำโพงคู่นี้จะขยายกว้างออกไปได้อีก คือตั้งแต่ 27Hz – 45kHz เลยทีเดียว โดยมีอัตราลาดลงของความดัง (roll-off) ทั้งด้านแหลมและด้านทุ้มอยู่ที่ -6dB (C)
ความไวของลำโพง KEF คู่นี้อยู่ที่ 88dB (D) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนลงไปทางต่ำ (ปานกลาง = 88 – 90dB) โดยใช้โหลดอิมพีแดนซ์ที่ 4 โอห์ม เป็นเกณฑ์ในการวัดความไว (E) ซึ่งได้เร้นจ์ของกำลังขับที่หวังผลได้อยู่ระหว่าง 50 – 400W (F)
ในยุคก่อนนั้น เกนของสัญญาณจากแหล่งต้นทางอะนาลอกค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องใช้ภาคขยายจากแอมป์ค่อนข้างสูงเข้ามาช่วย บวกกับเทคโนโลยีในการออกแบบลำโพงในอดีตที่ค่อนข้างจะกินกำลังของแอมป์มาก ในการแม็ทชิ่งแอมป์เข้ากับลำโพงจึงทำให้ต้องเลือกใช้แอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ ไว้ก่อน คืออย่างต่ำต้องอยู่ระหว่าง 75 – 100% ของ “กำลังขับสูงสุด” (maximum requirement) ของแอมป์ที่แนะนำไว้ในสเปคฯ ของลำโพง แต่ในยุคที่เปลี่ยนมาใช้แหล่งต้นทางดิจิตัลอย่างในปัจจุบัน ทำให้ได้เกนของสัญญาณจากแหล่งต้นทางดิจิตัลออกมาสูงกว่าในอดีตมาก ประจวบกับเทคโนโลยีในการออกแบบลำโพงก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ลำโพงขนาดใหญ่มีความไวสูงขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ขับง่าย แม้จะไม่ได้ใช้กำลังขับสูงๆ ก็ได้เสียงออกมาดีน่าพอใจ บวกกับแอมป์สมัยใหม่ที่ทำ S/N ratio ได้สูงขึ้น ทำให้สามารถเร่วอลลุ่มได้เต็มวัตต์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ก็ยังสามารถใช้แอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ กับลำโพงสมัยใหม่ได้ถ้าต้องการเปิดเสียงดังมากๆ และเมื่อต้องการอัตราสวิงของไดนามิกที่กว้างมากๆ โดยไม่มีความเพี้ยน นั่นทำให้การแม็ทชิ่งกับแอมป์ทำได้ง่ายขึ้น ลำโพงสมัยใหม่ส่วนใหญ่จะไปกับแอมป์วัตต์ต่ำได้ดีขึ้น คือใช้แอมป์ที่มีกำลังขับระหว่าง 50 – 75% ของ กำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำ ก็จะได้เสียงที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว
จากตัวเลขกำลังขับที่ผู้ผลิตแนะนำ คือ 50 – 400W ที่โหลด 4 โอห์ม นั้น ถ้าคำนวนย้อนกลับมาที่ 8 โอห์ม เพื่อให้ง่ายต่อการเทียบกับกำลังขับของแอมป์ก็จะได้ตัวเลขกำลังขับออกมาเป็น 25 – 200W ที่โหลด 8 โอห์ม เมื่อนำมาเข้าสูตร “50 – 75% x กำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำ” ก็จะได้ออกมาเป็นตัวเลขของกำลังขับของแอมป์ที่ให้เสียงลำโพงคู่นี้ออกมาในระดับที่น่าพอใจอยู่ระหว่าง 100 – 150W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม ซึ่งจะเห็นว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ตัวเลขที่โหดมากสำหรับแอมป์ระดับไฮเอ็นด์ฯ ในปัจจุบัน ประเด็นที่สำคัญในการแม็ทชิ่งแอมป์เข้ากับลำโพงคู่นี้ก็คือต้องเป็นแอมป์ที่สามารถเบิ้ลกำลังขับได้ 2 เท่าเมื่อคำนวนลงไปที่ 4 โอห์ม (*คือต้องเป็นแอมป์ที่มีกำลังสำรองสูงๆ นั่นเอง)
ช่วงที่ KEF ‘Blade One Meta’ ตั้งอยู่ในห้องฟังของผม มีแอมปลิฟายให้ยกมาทดลองฟังกับลำโพงคู่นี้อยู่ 3 – 4 ชุด เริ่มจากอินติเกรตแอมป์ที่มีราคาแค่ประมาณ 1 ใน 10 ของราคาลำโพง นั่นคือ Audiolab รุ่น 9000A (REVIEW) ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการใช้แอมป์ตัวนี้ขับลำโพง KEF คู่นี้ เพราะราคามันต่างกันเยอะ เชื่อว่าในชีวิตจริงคงไม่มีใครเล่นแบบนี้แน่ๆ แต่ที่ยกมาลองขับก็เพราะอยากจะรู้ว่า ถ้าจับกับแอมป์ที่มีราคาไม่เท่าเทียมกัน แต่มีตัวเลขกำลังขับอยู่ในข่ายที่น่าจะขับออก เสียงที่ได้จะออกมาเป็นแบบไหน.? ซึ่งผลที่ได้ทำเอาทึ่งเหมือนกัน คือเสียงรวมๆ ที่ออกมาแม้ว่าจะยังไม่ถึงกับดีมาก ก็ไม่ได้น่าเกลียด ฟังได้เลยสำหรับเพลงทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เน้นเปิดดังมากๆ แต่ถ้ามีประสบการณ์ในการฟังเครื่องเสียงที่มีราคาสูงๆ มาก่อนก็จะรู้ว่า “น้ำหนักเสียง” ยังไม่ดี “มวลเสียง” ก็ยังไม่อิ่มแน่นอย่างที่ควรจะเป็น
ช่วงท้ายๆ ของการทดสอบ KEF คู่นี้ คุณกฤตย์ จากสำนัก Deco2000 ยกอินติเกรตแอมป์ของ CH Precision รุ่น I1 Universal Integrated Amplifier เข้ามาให้ทดลองฟังคู่กับ KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้ ซึ่งอินติเกรตแอมป์ตัวนี้มีราคาค่าตัวใกล้เคียงกับลำโพงคู่นี้มาก (ประมาณ 1 ล้านกลางๆ) สเปคฯ ก็ไปกันได้ เสียงที่ออกมาก็บอกเลยว่า “สมราคามาก.!” ทั้งแอมป์และลำโพงต่างก็เสริมซึ่งกันและกันในแต่ละด้านออกมาได้ดี เสียงโดยรวมมีความเป็นไฮเอ็นด์ฯ ครบถ้วนทุกคุณสมบัติ เป็นคู่ที่เหมาะสมกันมาก.!!
ช่วงที่ “ความเป็นตัวตน” ของลำโพงคู่นี้ถูกตีแผ่ออกมาเต็มที่มากที่สุดก็คือตอนขับด้วยชุดปรี+เพาเวอร์แอมป์ทั้งสองชุดนี้ ซึ่งตัวเพาเวอร์แอมป์ทั้งสองตัวคือ M23 ของ NAD และ Perca ของ Mola Mola ต่างก็เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ภาคขยาย class-D ทั้งคู่ และด้วยกำลังขับที่มากพอสำหรับความต้องการของลำโพง ทำให้สามารถรีดคุณภาพเสียงของลำโพงคู่นี้ออกมาได้อย่างหมดจดมาก.! เสียงที่ปรากฏออกมามีทุกคุณสมบัติที่นักเล่นเครื่องเสียงต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในแง่กายภาพและมูพเม้นต์ของเสียงมีมาให้ครบ และที่สำคัญก็คือลักษณะของ “เสียงหลุดตู้” ที่ “ทุกเสียง” สามารถแสดงความเป็นอิสระออกมาได้อย่างเต็มที่ เคลื่อนไหวได้อย่างฉับไวโดยปราศจากข้อจำกัดของตัวตู้เข้ามาขัดขวาง เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพที่สูงยิ่งทั้งของแอมป์และลำโพงออกมาได้พร้อมๆ กัน
เซ็ตอัพตำแหน่ง
ไม่ว่าจะเป็นลำโพงใหญ่หรือลำโพงเล็ก ต่างก็ออกแบบขึ้นมาด้วย text book เล่มเดียวกันทั้งหมด และต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ตอบสนองกับความถี่เสียงตั้งแต่ 20Hz – 20kHz (โดยประมาณ) เหมือนๆ กัน และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าความถี่ 1kHz จะออกมาจากลำโพงใหญ่หรือออกมาจากลำโพงเล็ก ความถี่ 1kHz (หรือ 1000Hz) นั้นก็จะมีความยาวคลื่นอยู่ที่ 340 ซ.ม. เท่ากันเสมอ ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งเซ็ตอัพที่ลงตัวสำหรับลำโพงแต่ละคู่ในแต่ละห้องฟังก็จะอยู่ใกล้ๆ กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลำโพงเล็กหรือลำโพงใหญ่
หลังจากผมทดลองวางลำโพง KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้ลงบนตำแหน่งเริ่มต้นตามสูตร *(ความลึกของห้องหาร 3 + ระยะห่างซ้าย/ขวา = 180 ซ.ม.) โดยหันหน้าลำโพงยิงตรงออกมา ด้านข้างของตัวตู้ทั้งสองข้างขนานกัน และขนานกับผนังด้านข้าง เสร็จแล้วลองฟังเสียง พบว่าเสียงโดยรวมก็ออกมาน่าพอใจ แสดงว่าหลักการเซ็ตอัพที่ใช้อยู่สามารถใช้ได้ทั้งกับลำโพงทุกขนาด ทั้งใหญ่และเล็ก และทุกรูปแบบของการดีไซน์ด้วย
แต่ลำโพงคู่นี้ก็มีความยากในการเซ็ตอัพอยู่พอสมควรเหมือนกัน เพราะรูปร่างของตัวตู้ที่ไม่ได้อยู่ในทรงตู้สี่เหลี่ยมเหมือนลำโพงส่วนใหญ่ทั่วไป จึงวัดระยะยาก ต้องกะประมาณเอา
ตำแหน่งลงตัวสุดท้ายหลังจากขยับเลื่อนหาจนได้จุดที่เสียงออกมาลงตัวมากที่สุด พบว่าระยะห่างระหว่างลำโพงข้างซ้ายกับข้างขวาอยู่ที่ 186 ซ.ม. (ศรชี้) และลำโพงทั้งสองข้างวางห่างจากผนังด้านหลังเท่ากับ 179 ซ.ม. โดยวัดจากตำแหน่งของทวีตเตอร์ทั้งสองข้างเป็นหลัก
ใต้แผ่นฐานรองใต้ตัวตู้มีรูเกลียวไว้ใส่เดือยแหลม 4 จุดต่อข้าง ซึ่งนอกจากเดือยแหลมเหล่านี้จะทำหน้าที่ยกตัวตู้ลำโพงให้ลอยเหนือพื้นห้องแล้ว เดือยแหลมเหล่านี้ยังถูกใช้เป็นกลไกในการตั้งระดับของตัวตู้ให้อยู่ในลักษณะดิ่งตรงตั้งฉากกับพื้นอีกด้วย (*เครื่องมือและอุปกรณ์เสริมจำพวกเดือยแหลม จะใส่มาในกล่องไม้สีดำที่แถมมากับตัวลำโพง)
ที่ด้านหลังของแผ่นฐานที่รองใต้ลำโพงจะมีระดับน้ำติดตั้งไว้ให้ใช้ในการปรับตั้งระดับของตัวตู้ลำโพงเพื่อให้การปรับตั้งระดับทำได้ง่ายขึ้น
เสียงของ ‘Blade One Meta’
หลังจากทดลองฟังเสียงของลำโพงคู่นี้มานานร่วมเดือน ประกบมันด้วยแอมป์และแหล่งต้นทางสัญญาณสอง–สามชุด ผมพบว่า สิ่งที่ Blade One Meta ถ่ายทอดออกมา มันคือลักษณะของ “คุณภาพเสียง” ที่เข้าใกล้กับ “อุดมคติ” ของ “การพัฒนาคุณภาพของลำโพง” ขึ้นไปอีกขั้น.!
ในอดีตนั้น สิ่งที่นักพัฒนาลำโพงต้องการคือ “เสียงที่หลุดตู้” เป็นลักษณะของเสียงที่มีความเป็นอิสระอย่างที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการสั่นของไดอะแฟรมของไดเวอร์เพียวๆ โดยไม่มี “เรโซแนนซ์ของตัวตู้” เข้ามาผสม ซึ่งในยุคก่อนที่นักพัฒนาลำโพงยังควานหาวิธีจัดการกับเรโซแนนซ์ของตัวตู้ไม่เจอ เราจึงพบว่า ลำโพงขนาดใหญ่ให้เสียงที่ไม่โปร่งกระจ่างสดใส ไม่หลุดตู้อิสระได้ดีเท่ากับลำโพงขนาดเล็ก สาเหตุเป็นเพราะว่า ตัวตู้ของลำโพงขนาดใหญ่มันจะสั่นกระพรือมากเมื่อเปิดดังๆ ทำให้เกิดความถี่เรโซแนนซ์เข้าไปผสมกับการทำงานของไดเวอร์ ส่งผลทำให้เสียงโดยรวมออกมาพร่ามัว และขุ่นทึบ ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มของนักออกแบบลำโพงว่า เราไม่สามารถ “ขจัด” เรโซแนนซ์จากตู้ลำโพงออกไปได้ จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่กับเรโซแนนซ์ของตู้ลำโพงให้ได้ ซึ่งวิธีการที่ทำกันอยู่ก็คือ พยายามเลือกใช้วัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ประเภทที่ “รู้จัก” รูปแบบเรโซแนนซ์ของวัสดุนั้น แล้วทำการ trim หรือควบคุมเรโซแนนซ์ของตัวตู้เข้ามาผสมผสานกับเรโซแนนซ์ของไดเวอร์ให้ไปในทิศทางที่เสริมช่วยกัน นั่นทำให้วัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ลำโพงมีอิทธิพลกับเสียงที่ลำโพงนั้นให้ออกมาด้วย
เสียงที่หลุดตู้ คือเสียงที่เกิดจากลำโพงที่มีตัวตู้ที่นิ่ง ไม่มีอาการสั่นขณะที่ไดเวอร์กำลังทำงาน ซึ่งในเอกสาร White Paper ของผู้ผลิต ได้มีการอ้างถึงการทดสอบการสั่นของตัวตู้ของลำโพง KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้เอาไว้เหมือนกัน ในนั้นอ้างว่า ทีมงานที่นำลำโพงคู่นี้ไปเปิดโชว์ในที่ต่างๆ ได้ทดลองเอาเหรียญไปวางบนตัวตู้ในลักษณะเอาสันของเหรียญวางที่ขอบบนของตัวตู้ แล้วเปิดเพลงที่มี beat แรงๆ ด้วยเสียงที่ดังมากๆ ปรากฏว่าเหรียญก็ยังคงวางนิ่งอยู่อย่างนั้นโดยไม่หล่นลงมา..
ผมก็ทดลองทำตามด้วยการเอาเหรียญ 10 บาทไปวางไว้บนขอบด้านบนของตัวตู้ ซึ่งวางยากอยู่เหมือนกัน เพราะพื้นที่ไม่เรียบ และผิวตู้ก็มีลักษณะที่เงามัน ลื่นง่าย แต่หลังจากวางเหรียญลงไปแล้ว ลองเปิดเพลงฟัง โดยเน้นเพลงที่มีเบสเยอะๆ เปิดดังๆ เหรียญก็ไม่หล่นแฮะ.!! แสดงว่าตู้ของ ‘Blade One Meta’ นิ่งจริง เรโซแนนซ์ต่ำอย่างที่เขาเคลมจริงๆ ..!!
ส่วนทางด้านสมรรถนะ ลำโพงใหญ่จะได้เปรียบลำโพงเล็ก “ทุกด้าน” เพราะลำโพงใหญ่ให้ทั้ง “แบนด์วิธ” (ความถี่ตอบสนอง) ที่เปิดกว้างกว่า และให้ “ความดัง” (ไดนามิกเร้นจ์) ที่สวิงได้กว้างกว่า และเมื่อนักพัฒนาลำโพงในยุคปัจจุบันค้นพบวิธีเลือกเอาเรโซแนนซ์ของตัวตู้มาใช้ประโยชน์ จึงทำให้ลำโพงใหญ่ในปัจจุบันมีความสามารถในการถ่ายทอดเสียงออกมาได้ “ใกล้เคียง” กับต้นฉบับของสัญญาณเสียงที่รับเข้ามาทางอินพุตมากขึ้น ในขณะที่ลำโพงเล็กจะมีข้อจำกัดในการ “ถ่ายทอดรายละเอียดในย่านความถี่ต่ำ” (จำกัดทางด้านความถี่ตอบสนอง) และให้ “อัตราสวิงของความดัง” ที่ไม่เปิดกว้างเท่ากับลำโพงใหญ่ (จำกัดทางด้านไดนามิกเร้นจ์)
Blade One Meta คู่นี้ได้แสดงให้เห็นว่า ลำโพงใหญ่ที่ (ออกแบบมา) ดีจริงๆ นั้น ควรจะให้เสียงออกมาแบบไหน.? คือจะต้องไม่ออกมาในลักษณะ “ได้อย่าง–เสียอย่าง” เมื่อเทียบกับลำโพงเล็กนั่นเอง..!!
แหลม–กลาง–ทุ้ม ที่ดีเสมอกัน..!!!
อัลบั้ม : Stompin’ At The Savoy (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Nicki Parrott
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/282166422?u)
จุดเด่นมากๆ ของลำโพง Blade One Meta คู่นี้ก็คือว่ามันให้ความสำคัญกับเสียงทั้ง 3 ย่านหลักในระดับที่พอๆ กัน คือไม่ได้ทำให้ย่านความถี่ไหนโดดเด่นออกมามากกว่ากัน กับเพลงที่มิกซ์เสียงแหลม–กลาง–ทุ้มที่สมดุลกัน ทั้งทางด้านปริมาณและเพอร์ฟอร์มานซ์อย่างเช่นงานของศิลปินสาว Nicki Parrott อัลบั้มนี้ ซึ่งแต่ละเพลงในอัลบั้มนี้มีความถี่ออกมาครบมากตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้ม และเป็นความถี่ที่เกาะเกี่ยวกันมาด้วยความกลมกลืนในสไตล์แจ๊สสแตนดาร์ดยุคใหม่ ซึ่งดนตรีทุกชิ้นรวมถึงเสียงร้องต่างก็มีลีลาที่โดดเด่นพอกันทุกชิ้น เมื่อเล่นผ่านลำโพงเล็กๆ จะพบว่า เสียงดับเบิ้ลเบสซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ Nicki Parrott เล่นเองมีบทบาทที่ด้อยลงเมื่อเทียบกับเสียงร้องและเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ในขณะที่ลำโพงใหญ่บางคู่ที่จัดความถี่ตอบสนองมาแบบไม่สมดุลดีพอ ซึ่งโดยมากจะให้เสียงเบสที่มีอิทธิพลเหนือกว่าเสียงกลางกับเสียงแหลม พอฟังงานของ Nicki Parrott ชุดนี้จะพบว่าเสียงโดยรวมออกมาขุ่น หนาและเทอะทะ เพราะเสียงทุ้มมันล้นเกิน ซึ่ง KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้ไม่มีอาการนั้นเลย มันขยายเสียงทั้ง 3 ย่านหลักคือทุ้ม–กลาง–แหลม ออกมาในระดับที่เท่าเทียมกัน ทำให้เสียงร้องและเสียงดนตรีแต่ละชิ้นสามารถโชว์ออฟออกมาได้อย่างเต็มที่พอกัน จังหวะไหนที่เบสนำ ผมก็ได้ยินแบบนั้น จังหวะไหนที่เสียงร้องเด่น ผมก็รับรู้ไปตามนั้น ช่วงที่มือกลองโชว์โซโล่ผมก็มันไปกับเสียงกลองได้อย่างเต็มที่ อารมณ์ในการฟังสลับไปสลับมาไปตามลีลาของเพลงได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ได้แช่อยู่กับความถี่ใดความถี่หนึ่งตลอดเวลา พิสูจน์เห็นได้ว่า ทีมออกแบบของ KEF จัดการกับ frequency response ของลำโพงคู่นี้ออกมาได้ดีมาก พวกเขาควบคุมการถ่ายทอดความถี่แต่ละย่านเสียงออกมาใน “สัดส่วน” ที่ตรงกับสัญญาณอินพุตที่รับเข้าไป คือช่วงไหนของเพลงที่เบสเยอะ มันก็ให้เบสเยอะ ช่วงไหนของเพลงที่เบสน้อย กลาง–แหลมเด่น มันก็ให้เสียงทุ้มออกมาน้อยแต่เด่นกลาง–แหลมไปตามลีลาของเพลง เป็นแบบนี้ไปตลอด จนผมลืมไปเลยว่ากำลังฟังลำโพงขนาดใหญ่ เหตุผลก็เพราะว่าเสียงเบสไม่ล้นนั่นเอง..!!
ได้ฟังลำโพงตัวใหญ่คู่นี้แล้ว มันทำให้เข้าใจเลยว่า “ใหญ่” แล้ว “ดี” เป็นอย่างไร สาเหตุที่ (ต้อง) ตัวใหญ่ก็เพราะว่ามันต้องมีปริมาณวอลลุ่มอากาศในตัวตู้อย่างเพียงพอตามหลักการที่คำนวนจากขนาดของไดเวอร์ที่ใช้ขับเสียงทุ้ม แต่ทว่า เนื่องจากลำโพงตัวใหญ่ แต่ถ้าออกแบบจัดการกับเสียงทุ้มไม่ดี ก็มีโอกาสที่เสียงทุ้มจะออกมาเบอะบะ เทอะทะ และล้นทะลัก แต่ถ้าออกแบบมาได้ถูกต้องจริงๆ แล้ว เสียงทุ้มที่ได้จากลำโพงขนาดใหญ่จะเป็นเสียงทุ้มที่มี “คุณภาพ” ซึ่งมาพร้อมกับ “ปริมาณ” ที่ครบถ้วนด้วย เพราะตัวตู้มันใหญ่พอที่จะปั๊มเสียงเบสออกมาให้ได้นั่นเอง.! อือ.. แล้วถ้าฟังเพลงที่ไม่มีเบสล่ะ..??
อัลบั้ม : Visual Voice (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Bonnie Koloc
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/105780150?u)
อัลบั้ม : Lost Archive – The Ghost of Johnny Cash (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Johnny Cash
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/90788673?u)
ลองฟังเสียงร้องของ Bonnie Koloc จากเพลง The Kitten จากอัลบั้มชุด Visual Voice แล้วบอกได้คำเดียวว่า.. ทึ่ง! คือทึ่งในความโปร่งลอยของเสียงกลางที่หาฟังแบบนี้ได้ยากจากลำโพงที่มีตัวตู้ใหญ่ขนาดนี้.!! ซึ่งที่ผ่านๆ มา เมื่อลองฟังเสียงร้องเพียวๆ แบบนี้ผ่านลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ระดับที่สูงใกล้เคียงกับความสูงของคนลักษณะนี้ เรามักจะได้ยินเสียงร้องที่ออกไปทางอิ่ม–หนา ไปจนถึงอวบใหญ่ แต่ที่ไม่ค่อยจะได้ยินคือเสียงร้องที่โปร่งลอย มีความเป็นอิสระเหมือนเสียงร้องที่เราได้ยินจากลำโพงที่มีขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้สำหรับลำโพงขนาดใหญ่ที่จะให้เสียงร้องมีลักษณะที่ลอยตัวขึ้นมาในอากาศได้อย่างอิสระเหมือนลำโพงเล็ก โดยมากจะโทษตัวตู้ลำโพงที่เป็นสาเหตุทำให้เสียงร้องของลำโพงใหญ่มีลักษณะที่อับทึบ ไม่โปร่งลอย
แต่ KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ขนาดที่ใหญ่โตของตัวตู้ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้เสียงร้องออกมาขุ่นๆ ทึบๆ คิดว่านี่คือผลจากการออกแบบตัวตู้ให้มีลักษณะที่เพียวบาง และมาจากการเลือกวัสดุที่ใช้ทำผนังตู้ที่สามารถควบคุมเรโซแนนซ์ได้อย่างเด็ดขาดผสมกัน นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากนวัตกรรมอย่างแท้จริง..!!!
โปร่งแล้วมีเนื้อมั้ย.?? ลำโพงส่วนใหญ่จะจูนเสียงกลางให้มีความถี่ในย่าน “กลางต่ำ” ที่ล้นออกมานิดๆ เมื่อผสมกับเสียงในย่านกลางขึ้นไปถึงกลางสูงที่ครอบคลุมเสียงร้องของนักร้องชาย–หญิงแล้ว จะทำให้เสียงร้องของนักร้องชาย–หญิงมี “ความหนา” เพิ่มขึ้น ฟังแล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความนุ่นผสมออกมากับเสียงร้อง ซึ่งถือว่าเป็นสีสันแบบหนึ่ง อาจจะถูกใจสำหรับคนที่ชอบโทนเสียงกลางแบบนั้น แต่ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าเสียงร้องมีอาการหน่วงช้า ให้จังหวะไทมิ่งที่ฟังแล้วไม่เหมือนกำลังฟังคนจริงๆ ร้องให้ฟัง แบบนี้คือไม่ตรงกับสัญญาณต้นฉบับที่ป้อนเข้ามา สำหรับคนที่ตั้วใจเสพอรรถรสของดนตรีจริงๆ ฟังแล้วจะรู้สึกขัดใจ เพราะความหนาของมวลเนื้อจะมากหรือน้อย ควรจะขึ้นอยู่กับสัญญาณต้นฉบับที่มิกซ์มาจากสตูดิโอ ซึ่งมวลของเนื้อเสียงร้องของแต่ละเพลงจะออกมาหนาหรือบางไม่เท่ากันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเสียงร้องของนักร้องหญิงจะมีมวลบางกว่าเสียงของนักร้องชาย อันนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งตอนที่ผมทดลองฟังเสียงร้องของ Johnny Cash ในเพลง House of The Rising Sun จากอัลบั้ม Lost Archive – The Ghost of Johnny Cash พบว่า เสียงร้องของจอห์นนี่ แคชก็ออกมาอิ่มหนากว่าเสียงร้องของบอนนี่ โคลล็อคอย่างชัดเจน และรับรู้ได้ว่า เป็นเสียงกลางที่อยู่คนละย่านความถี่ คือทั้งๆ ที่อยู่ในย่านเสียงกลางด้วยกันแต่ก็เป็นเสียงกลางที่ครอบคลุมย่านความถี่คนละย่าน ซึ่งความรู้สึกชัดๆ แบบนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นมากๆ อีกคุณสมบัติหนึ่งของลำโพง KEF คู่นี้
ถือว่าเป็นข้อดีของระบบลำโพงขนาดใหญ่ที่ “ครอบคลุมย่านเสียง” ได้กว้างกว่าลำโพงขนาดเล็ก แม้ว่าตัวเลข Frequency Response ในสเปคฯ ของ KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้จะไม่ได้กว้างกว่าสเปคฯ Frequency Response ของลำโพงขนาดเล็กบางคู่ คือถ้ามองที่ “ความถี่ต่ำสุด” ที่ลำโพง KEF คู่นี้ทำได้คุณอาจจะพบว่า ตัวเลขของความถี่ของลำโพงคู่นี้ก็ไม่ได้ต่ำกว่าลำโพงที่มีขนาดเล็กบางคู่ อาจจะห่างกันแค่ 10 – 20Hz เท่านั้น แต่ถ้าเอามาฟังเพลงเทียบกันจริงๆ คุณจะพบว่า ลำโพงใหญ่จะแสดง “ความแตกต่างของความถี่” ออกมาได้มากกว่า คือคุณจะรับรู้ได้ว่า ระหว่างเสียงแหลมกับเสียงกลาง มันมี “เสียงแหลมตอนล่าง” (lower high) กับ “เสียงกลางต้นบน” (upper mid) แทรกอยู่เยอะมาก รวมทั้งความถี่ที่แทรกอยู่ระหว่าง “เสียงกลาง” กับ “เสียงทุ้ม” ก็มีอยู่มากไม่แพ้กัน และที่เป็นไฮไล้ท์สำหรับลำโพงใหญ่ที่ออกแบบมาดีมากๆ ก็คือ ความถี่ในย่านทุ้มที่สามารถแจกแจง “ระดับของความถี่ต่ำ” ออกมาได้อย่างละเอียด สามารถรับรู้ได้ถึงความถี่ต่ำที่ค่อยๆ ลาดต่ำลงไปเป็นชั้นๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เสียงทุ้มที่อัดกันออกมาเป็นก้อน แต่เป็นทุ้มที่มีรายละเอียดของหัวโน๊ต–บอดี้–หางเสียงครบถ้วน ซึ่งเพลงยุคใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะมิกซ์ความถี่ต่ำออกมาในลักษณะที่มีรายละเอียดลึกๆ แบบนี้
อัลบั้ม : Neighbourhood (TIDAL MAX/FLAC-24/192)
ศิลปิน : Chip, Nafe Smallz
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/364299003?u)
เพลง WOW ซึ่งเป็นแทรคที่สองในอัลบั้มนี้บันทึกและมิกซ์เสียงทุ้มมาด้วยรายละเอียดที่แยกแยะออกมาได้เป็นชั้นๆ ของความถี่ต่ำที่มีทั้งทุ้มตอนต้น (upper bass), ทุ้มตอนกลาง (mid bass) และทุ้มลึกๆ (deep bass) ครบทุกเฉด เป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่ต้องการระบบลำโพงขนาดใหญ่ที่ให้แบนด์วิธกว้างๆ จึงจะสามารถคลี่คลายรายละเอียดในย่านทุ้มของเพลงนี้ออกมาให้ได้ยินได้อย่างถึงพร้อมทั้งในแง่ของ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ“
อัลบั้ม : Africa Drums & Voices (TIDAL HIFI-16/44.1)
ศิลปิน : Tinyela, African Work
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/8092457?u)
และแน่นอนว่า สิ่งที่ทุกคนที่เป็นเจ้าของลำโพงขนาดใหญ่ต้องการก็คือ “เสียงทุ้มที่มีคุณภาพ” ซึ่งนอกจากจะเป็นเสียงทุ้มที่มีรายละเอียดของความถี่ตอบสนองในย่านต่ำที่ไล่เรียงลงไปได้เป็นชั้นๆ จนถึงระดับ deep bass แล้ว ยังมีอีกคุณสมบัติของเสียงทุ้มที่ลำโพงใหญ่ที่ออกแบบและสร้างขึ้นมาได้ดีมากๆ จะต้องให้ออกมาได้ คุณสมบัติที่ว่านั้นก็คือ “ไดนามิก” ของความถี่ต่ำ โดยเฉพาะไดนามิก ทรานเชี้ยนต์ หรือความฉับพลันในการตอบสนองกับความถี่ต่ำที่ต้องดีครบทั้งในแง่ของ “สปีด” ในการตอบสนองที่ฉับไว ตรงกับไทมิ่งของสัญญาณอินพุตที่ป้อนเข้ามาโดยไม่มีดีเลย์ และต้องให้ “น้ำหนัก” ของเสียงทุ้มที่ทั้งหนักและแน่น เต็มไปด้วยมวลที่กระชับ เป็นลูก เก็บรวบหางเสียงได้เด็ดขาด ไม่บวมและฟุ้งบวม
เสียงเพอร์คัสชั่นในเพลง Tinyela (The Sting) สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของลำโพง KEF ‘Blade One Meta’ คู่นี้ได้อย่างชัดเจน มันคือความสามารถในการ “ผลิต” ความถี่ต่ำที่นักเล่นเครื่องเสียงหลายๆ คนควานหาอยู่ เสียงกลองอาฟริกันในเพลงนี้มีออกมาครบทั้งความกระชับ ความหนักแน่น และความอิ่มของมวลที่แผ่ใหญ่ เป็นเสียงทุ้มที่ยากจะหาอะไรแบบนี้ได้จากลำโพงขนาดเล็ก และที่วิเศษมากไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่เสียงกลองดังสนั่นออกมานั้น เสียงร้องของนักร้องชาย–หญิง และเสียงร้องประสานที่ปรากฏออกมาพร้อมๆ กันก็ยังมีรายละเอียดที่ออกมาเต็มตัว แยกแยะได้อย่างชัดเจน ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเสียงกลองที่ตรึงตัวอยู่ในตำแหน่งเยื้องลงไปทางด้านหลังของเวทีเสียงอย่างมั่นคง นิ่ง ไม่มีอาการวูบวาบเลยแม้ว่าจะเปิดดังมากๆ ก็ตาม นี่เป็นคุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่งของลำโพง KEF คู่นี้ที่ออกแบบโดยเน้นเรื่องการตอบสนองต่อเฟสของสัญญาณอย่างยิ่งยวด..
อัลบั้ม : Bria (TIDAL MAX/FLAC-24/96)
ศิลปิน : Bria Skonberg
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/63881982?u)
พยานที่ช่วยยืนยันถึงความแม่นยำในการถ่ายทอด phase ของสัญญาณที่เยี่ยมยอดของลำโพงคู่นี้ออกมาให้ประจักษ์กับหูก็คือ “มิติ–เวทีเสียง” ที่เกิดขึ้นจากการจัดวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีและเสียงร้องที่กระจายตัวออกไปอยู่นอกขอบเขตของตัวตู้ลำโพงอย่างชัดเจน และมีการจัดลำดับความกว้าง และความลึกที่เป็นระบบระเบียบ มีการแยกติ้น–ลึกออกเป็นเลเยอร์ที่ชัดเจน (เพลง My Shadow ของนักร้องและมือทรัมเป็ตสาวที่ชื่อว่า Bria Skonberg จากอัลบั้มชุด Bria) ซึ่งในเพลง My Shadow นี้คุณจะได้ยินมิติเสียงที่ “หลุดตู้” ทุกความถี่.! คุณจะได้ยินเสียงเคาะฉาบที่ให้โฟกัสคมเป๊ะ จับตำแหน่งได้ชัดว่ามันลอยอยู่ในอากาศที่อยู่ระหว่างลำโพงทั้งสองข้างอย่างชัดเจน ณ ตำแหน่งนั่งฟัง คุณจะรู้สึกได้ว่าเสียงที่มือกลองใช้ไม้กลองเคาะลงไปบนใบฉาบนั้นมันไม่ได้ออกมาจากทวีตเตอร์ของลำโพงทั้งสองข้าง แต่มันลอยอยู่ในอากาศชัดๆ .!! นอกจากนั้น ในเพลงเดียวกันนี้ ยังมีเสียงดับเบิ้ลเบสที่หลุดลอยออกมานอกตู้ลำโพง มาเต้นระบำอยู่ในอากาศนอกตู้ เสียงร้องของ Bria ในเพลงนี้ซึ่งอยู่ในย่านเสียงกลางก็หลุดออกมาอยู่ในอากาศเหมือนกัน สรุปคือ ลำโพง KEF คู่นี้สามารถ “สลัด” เสียงดนตรีและเสียงร้องให้กระจายตัวออกมาลอยอยู่ในอากาศได้ทุกระดับความถี่เหมือนๆ กัน พูดได้ว่า ลำโพง KEF ‘Blade One Meta‘ คู่นี้สามารถให้มิติเสียงที่เยี่ยมยอดระดับที่เรียกว่า “เสียงหลุดตู้” ได้ตลอดทั้งย่านเสียงนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็น “เรื่องยาก” สำหรับลำโพงขนาดใหญ่ทั่วไปที่จะทำให้ได้เสียงหลุดตู้แบบนี้..!!
สรุป
การออกแบบลำโพงต้องใช้ “จินตนาการ” นำหน้าเพื่อให้เกิดเป็นรูปแบบขึ้นมาในอุดมคติซะก่อน จากนั้นจึงค่อยเอา “หลักการ” ทางฟิสิกส์, อะคูสติก และอิเล็กทรอนิคส์ เข้ามาใช้เป็นพื้นฐานในการคำนวน จนถึงขั้นตอนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วง “รอยต่อ” ระหว่างขั้นตอนที่นำ “หลักการ” เข้ามาใช้เพื่อทำให้ “จินตนาการ” ก่อร่างขึ้นมาเป็นตัวเป็นๆ ที่จับต้องได้นั้น ยังต้องผ่านขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ “การปรับจูน” เพื่อให้ได้เสียงออกมาอย่างที่ผู้ออกแบบจินตนาการไว้
ลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ในท้องตลาดมีทั้งที่ใช้ไม้, โลหะ และวัสดุคอมโพสิตเรซิ่นที่หล่อขึ้นรูป มาทำเป็นตัวตู้ ซึ่งแม้ว่าในแง่ของ “คุณภาพเสียง” ของลำโพงระดับไฮเอ็นด์แบรนด์ดังๆ ที่มีราคาใกล้เคียงกันจะอยู่ในระดับที่ไม่ต่างกันมาก แต่วัสดุที่ใช้ทำตู้จะมีผลทำให้ลำโพงแบรนด์ต่างๆ มี “บุคลิกของเสียง” ที่ต่างกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า ลำโพงที่ใช้ไม้ MDF ทำตู้ จะให้บุคลิกเสียงที่มีความอิ่มนวล ส่วนลำโพงที่ใช้โลหะทำเป็นตู้จะให้บุคลิกเสียงไปทางสด ดุดัน ในขณะที่ลำโพงที่ใช้วัสดุผสมหล่อขึ้นรูปทำตู้แบบ KEF ‘Blade One Meta‘ จะให้เสียงออกไปแนวสะอาด สุภาพ เมื่อผนวกเอาลักษณะการจัดวางไดเวอร์แบบ single apparent source เข้าไปด้วย เสียงที่ออกมาก็จะมีลักษณะของความเป็นระเบียบ สะอาด และให้ความรู้สึกของการ “ควบคุม” แต่ละส่วนของเสียงให้อยู่ในกรอบ ไม่มีอะไรหลุดออกไปนอกแถว ไม่รกรุงรัง เหมาะมากกับเพลงแนวแจ๊สยุคใหม่ๆ เพราะจะได้ความละมุนละมัยของเสียงที่ดีมากๆ กับเพลงคลาสสิกก็เหมาะเพราะสามารถเร่งเสียงได้ดังมากโดยไม่รู้สึกล้น..
********************
ราคา : 1,499,900 บาท / คู่
********************
ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ติดต่อที่
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
โทร. 02-692-5216
Line OA: @kefthailand