FAQ – เวทีเสียงเอียง.. เกิดอะไรขึ้น.? จะแก้ไขได้อย่างไร.?

ก่อนอื่น ต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนก่อนว่า คำว่า เวทีเสียงเอียงหมายถึงอะไรกันแน่.? เพราะว่าความรู้สึกว่าเวทีเสียงเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งนั้น มันเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือเกิดจากความผิดปกติที่จุดใดจุดหนึ่งในชุดเครื่องเสียง กับอีกลักษณะเกิดจากลักษณะการบันทึกเสียงของเพลงนั้นๆ

* หมายเหตุ:

ตัวอักษร A – D” = แทนเสียงร้องและเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ ส่วน
ขนาดของวงกลม” = แทนความดังของเสียงนั้นๆ

ผังภาพข้างบนนั้นแสดงลักษณะของเวทีเสียง (แทนด้วยวงรีสีฟ้า) ในสภาพปกติของซิสเต็มที่อุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชิ้นทำงานได้ปกติ รวมถึงสภาพอะคูสติกภายในห้องฟังอยู่ในลักษณะสมดุลทั้งซ้ายและขวา ความดังซีกซ้ายและขวาดังเท่ากัน แต่เนื่องจากการบันทึกเสียง หรือการมิกซ์เสียงของเพลงบางเพลง อาจมีการจัดวางตำแหน่งของเครื่องเสียงดนตรีและ/หรือเสียงร้องเอาไว้ในลักษณะที่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งของเวทีเสียงมากกว่าอีกด้าน ยกตัวอย่างในภาพข้างบนคือหนักไปทางขวามากกว่าซ้าย แต่ถ้าอุปกรณ์เครื่องเสียงในซิสเต็มทำงานปกติ และสภาพอะคูสติกของห้องซีกซ้ายและขวามีความสมดุลกัน ผู้ฟังจะรู้สึกถึงความสมดุลของเวทีเสียงที่เท่ากัน ได้จากมวลของแอมเบี้ยนต์ (วงรีสีฟ้า) ที่แผ่คลุมไปเท่าๆ กันทั้งซีกซ้ายและซีกขวา

ภาพด้านบนนี้ เป็นผังภาพที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเสียงเมื่อฟังเพลงเดียวกัน ในสภาพที่เกิดปัญหาเวทีเสียงเอียงไปทางขวา แม้ว่าเสียงของเครื่องดนตรี A-D จะยังคงแยกตัวกันอยู่ แต่ผู้ฟังจะรู้สึกได้ว่าเวทีเสียงเอียงไปทางขวาโดยสังเกตได้จากแอมเบี้ยนต์ (วงรีสีฟ้า) ซีกซ้ายที่หายไป ซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติ ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เกิดความปกติแบบนี้มีความเป็นไปได้สองทาง ทางแรกคือต้นเหตุมาจากความผิดปกติในซิสเต็ม กับอีกต้นเหตุก็คือระบบอะคูสติกภายในห้อง

วิธีทดสอบง่ายๆ

เพื่อตรวจเช็คว่า อาการเวทีเสียงเอียงเกิดจากความผิดปกติของชุดเครื่องเสียง หรือจากสภาพอะคูสติก? วิธีตรวจเช็คก็ไม่ยาก ถ้าแอมป์ที่คุณใช้อยู่ในซิสเต็มมีฟังท์ชั่นที่ใช้ปรับเอ๊าต์พุตให้ออกมาเป็น Mono ได้ ให้ทำการปรับเป็นโมโนก่อน จากนั้นก็เปิดเพลงอะไรก็ได้ที่มีความถี่ครบๆ ทุ้มกลางแหลมสักเพลงหนึ่ง ปรับวอลลุ่มให้มีความดังเท่ากับที่คุณฟังปกติ จากนั้นให้ลองขยับเข้าไปนั่งฟังใกล้ๆ ลำโพงข้างซ้ายและข้างขวา โดยกะระยะห่างจากหน้าลำโพงออกมาประมาณ 1 ฟุต ฟังข้างซ้าย เสร็จแล้วลองย้ายไปลองฟังข้างขวา โดยสังเกตดูว่า เสียงของลำโพงทั้งสองข้างมีความดังเท่ากันหรือไม่.?

ถ้าไม่ชัวร์ ให้ลองฟังใหม่ คราวนี้แนะนำให้คุณตั้งใจฟังเสียงของทวีตเตอร์ โดยทำให้ระดับหูของคุณอยู่ในระนาบเดียวกับตัวทวีตเตอร์ ห่างออกมาจากหน้าลำโพง 1 ฟุต แล้วลองฟังดูว่า คุณได้ยินเสียงจากทวีตเตอร์ของลำดพงทั้งสองข้างออกมาต่างกันหรือไม่ ถ้าได้ยินว่าทั้งสองข้างดังไม่เท่ากัน (สลับไปฟังทีละข้าง) และข้างที่เบากว่าคือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับด้านที่คุณรู้สึกว่าเวทีเสียงมันเอียงไป นั่นก็เป็นไปได้ว่าอาการเวทีเสียงเอียงที่ว่านั้นมาจากทวีตเตอร์ของลำโพงของคุณข้างหนึ่งมันกำลังจะเริ่มบอด คือเสียงมันเบาลงไปกว่าอีกข้าง หรือบางทีอาจจะบอดไปแล้วก็ได้คือไม่ดังเลย

ถ้าทดสอบฟังตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว คุณมั่นใจว่า ลำโพงทั้งสองข้างมีความดังเท่ากัน ไม่มีทวีตเตอร์ข้างใดบี้บอด แบบนี้ความเป็นไปได้ก็น่าจะไปอยู่ที่สภาพอะคูสติกด้านข้างซ้ายและขวา ซึ่งสามารถทดสอบได้ด้วยการหาวัตถุที่มีลักษณะซับเสียง อย่างเช่น หมอนข้าง หรือผ้าห่ม มาทดลองวางไว้บนผนังด้านข้างซ้ายและข้างขวา แล้วลองฟังดู ซึ่งโดยปกติแล้ว สภาพอะคูสติกของผนังด้านที่มีคุณสมบัติดูดกลืนคลื่นเสียงมากกว่า มักจะทำให้คลื่นเสียงฝั่งนั้นเบาลง เวทีเสียงก็จะเอียงไปอีกทางหนึ่งที่มีผนังที่สะท้อนคลื่นเสียงมากกว่า

ถ้าพบว่า ต้นเหตุที่ทำให้เวทีเสียงเอียงก็คือลักษณะของสภาพอะคูสติก วิธีแก้ก็คือทำให้ผนังทั้งสองข้างซ้ายขวามีลักษณะการสะท้อนเสียงในระดับที่เท่าเทียมกัน หรือซับเสียงในอัตราที่เท่าเทียมกัน

เวทีเสียงเอียงที่เกิดจากความผิดปกติในชุดเครื่องเสียง มีโอกาสเกิดขึ้นตรงจุดไหนได้บ้าง.?

ถ้าคุณมั่นใจเต็มที่ว่าต้นเหตุที่ทำให้เวทีเสียงเอียงไม่ได้เกิดจากสภาพอะคูสติกบนผนังซ้ายขวา ก็ต้องเป็นที่ซิสเต็ม ซึ่งวิธีตรวจสอบก็ให้ไล่จากลำโพงแล้วย้อนไปหาอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ ในชุดเครื่องเสียงของคุณ

1. ที่ลำโพง

มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดอยู่ 2 จุด จุดแรกคือที่ตัวไดเวอร์ คืออาจจะเกิดจากว้อยคอยซ์ของไดเวอร์ขาด ถ้าเป็นลำโพงสองทาง ตัวทวีตเตอร์มีโอกาสมากกว่าวูฟเฟอร์ เพราะถ้าขาดที่วูฟเฟอร์เราจะรู้ตั้งแต่แรก แต่เสียงของทวีตเตอร์จะออกมาเบากว่าวูฟเฟอร์ เมื่อทวีตเตอร์ขาด เสียงไม่ออก บางครั้งเราจะฟังไม่รู้ว่ามันขาดไปแล้ว แต่เนื่องจากวูฟเฟอร์ยังทำงานอยู่ เราจึงยังได้ยินเสียงข้างนั้นอยู่ แต่จะรู้สึกว่าเสียงเอียงอย่างที่ว่าเพราะเสียงแหลมมันหายไป กรณีนี้ ถ้าเป็นลำโพงหลายทางที่ใช้ไดเวอร์หลายๆ ตัวช่วยกันทำงานจะยิ่งฟังออกยาก ต้องไล่ฟังไดเวอร์ที่ละตัวโดยเข้าไปฟังใกล้ๆ เพื่อให้รู้ว่าไดเวอร์ตัวไหนขาดบ้างหรือไม่

ถ้าไม่มีไดเวอร์ตัวไหนขาด อีกจุดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นต้นเหตุ นั่นคือ ขั้วต่อสายลำโพง ให้ลองตรวจเช็คที่ขั้วต่อสายลำโพง มีความเป็นไปได้ว่าขั้วต่อของสายลำโพงอาจจะหลุดหลวมออกจากขั้วต่อของตัวลำโพง ซึ่งขั้วต่อสายลำโพงประเภท spade หรือหางปลา (จริงๆ แล้วควรจะเรียกว่าจอบ แต่ไม่มีใครเรียกแบบนั้น!) มักจะลื่นหลุดออกจากขั้วต่อสายลำโพงที่ติดอยู่บนตัวลำโพง โดยเฉพาะในกรณีที่สายลำโพงใช้ตัวนำโลหะทองแดงแบบแกนเดี่ยวที่มีความแข็งขืน บางยี่ห้อใช้วัสดุที่เป็นฉนวนหุ้มตัวนำหลายชั้นจนทำให้ตัวสายมีน้ำหนักมาก ใช้ไปนานๆ น้ำหนักของสายจะไปรั้งให้ขั้วหางปลาลื่นหลุดออกมาได้ บางทีอาจจะยังไม่หลุดแต่เริ่มหลวมคลอน ก็สามารถทำให้เสียงของลำโพงข้างนั้นเบาลงไปได้เพราะขั้วต่อที่หลวมจะทำให้การถ่ายเทของสัญญาณระหว่างขั้วต่อของสายลำโพงกับขั้วต่อของลำโพงมีความต้านทานที่สูงขึ้น สัญญาณจึงเดินผ่านได้ไม่ดี เสียงก็จะเบาลงไปได้ วิธีแก้ไขก็ง่ายๆ คือขันให้แน่น

อีกกรณีที่เกิดขึ้นได้ นั่นคือ เกิดอ็อกไซด์บนตัวนำในสายลำโพง ซึ่งจะทำให้การส่งผ่านสัญญาณเสียงเกิดความไม่สะดวก เสียงก็จะเบาลงได้เหมือนกัน วิธีแก้ไขก็คือทำความสะอาดล้างอ็อกไซด์ออก

2. สายลำโพง

ไล่ตรวจเช็คดูว่าขั้วต่อสายลำโพงมีอาการหลุดหลวมหรือไม่ ทั้งฝั่งที่ต่อเข้ากับตัวลำโพงและฝั่งที่ต่อเข้ากับแอมป์ ถ้าไม่มีด้านใดหลุดหลวม ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากตัวนำที่อยู่ในสายลำโพงขาด ซึ่งอาจจะขาดไม่หมด จึงยังคงมีสัญญาณวิ่งผ่านได้บ้าง จึงทำให้เสียงเบาลง วิธีที่จะตรวจเช็คว่าสายลำโพงขาดหรือไม่ ให้ทดลองเปลี่ยนสลับสายลำโพงระหว่างข้างซ้ายกับข้างขวา แล้วฟังดูว่า อาการเวทีเสียงเอียงได้ย้ายไปอีกข้างหรือเปล่า ถ้าย้ายข้างสายลำโพงแล้วปรากฏว่าอาการเวทีเสียงเอียงย้ายไปอยู่อีกข้าง ก็แสดงว่าสายลำโพงข้างที่เบากว่ามีปัญหาขาดในซะแล้ว วิธีแก้คือต้องเอาไปให้ช่วงตัดหาจุดที่ขาดแล้วทำการแก้ไข

3. แอมป์

บ่อยครั้งไปที่แอมป์เข้ามาเป็นต้นเหตุของเวทีเสียงเอียง โดยเฉพาะถ้าเป็นอินติเกรตแอมป์ หรือแม้แต่ปรีแอมป์ที่มีปุ่มหมุนปรับบาลานซ์ บางทีมือของเราอาจจะไปโดนปุ่มบาลานซ์เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้ความดังของเสียงทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าผ่านขั้นตอนตรวจเช็คที่สายลำโพงแล้ว ปราฏว่า สายลำโพงปกติดี สลับสายลำโพงแล้วอาการเวทีเสียงเอียงข้างก็ยังอยู่ และเอียงไปทางด้านเดิมด้วย แบบนี้ก็น่าจะประเมินได้ว่า ทั้งสายลำโพงและเอ๊าต์พุตของแอมป์ปกติดี เพราะถึงแม้ว่าสายลำโพงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอ๊าต์พุตจากเพาเวอร์แอมป์ (หรืออินติเกรตแอมป์) มีข้างหนึ่งข้างใดเบากว่าอีกข้าง เมื่อทดลองสลับสายลำโพงแล้ว อาการเวทีเสียงเอียงก็จะต้องย้ายไปอยู่อีกข้าง

เมื่อเอ๊าต์พุตของแอมป์ไม่มีปัญหา ก็ต้องทำการตรวจวัดสูงขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งหากว่าคุณใช้อินติเกรตแอมป์ขั้นตอนตรวจสอบก็จะน้อยลง คือข้ามไปเช็คที่อินพุตของอินติเกรตแอมป์ได้เลย แต่ถ้าในซิสเต็มของคุณใช้ปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ คุณต้องเช็คการเชื่อมต่อระหว่างอินพุตของเพาเวอร์แอมป์กับเอ๊าต์พุตของปรีแอมป์ว่ามีการเชื่อมต่อที่จุดไหนหลุดหลวมบ้างหรือเปล่า ซึ่งหากว่า ระหว่างปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ของคุณใช้การเชื่อมต่อด้วยสายบาลานซ์ที่ใช้ขั้วต่อแบบ XLR จะมีตัวล็อคที่ขั้วต่อทั้งสองข้าง โอกาสจะหลุดหลวมแทบจะไม่มี แต่ถ้าคุณใช้การเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณที่ใช้ขั้วต่อแบบอันบาลานซ์ RCA ก็มีโอกาสที่จะหลุดหลวมได้ เช่นเดียวกัน ถ้าตรวจเช็คที่จุดเชื่อมต่อสัญญาณของทั้งปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์แล้วพบว่าทุกอย่างแน่นหนาดี ปกติดี ก็อย่าลืมทดลองสลับสายสัญญาณข้างซ้ายและข้างขวาดูด้วย แล้วลองฟังว่าอาการเวทีเสียงเอียงย้ายข้างหรือเปล่า.? ถ้ามีการย้ายข้างหลังจากสลับสายสัญญาณ ก็แสดงว่า สายสัญญาณข้างที่เสียงเบามีปัญหา หมายความว่า ถ้าสลับสายสัญญาณแล้ว เวทีเสียงที่เคยเอียงไปทางซ้ายกลับย้ายมาเอียงทางขวา แบบนี้ก็แแสดงว่า สายสัญญาณที่เชื่อมต่ออยู่ทางซ้ายมีปัญหา แต่ถ้าทดลองสลับสายสัญญาณแล้ว อาการเวทีเสียงเอียงก็ยังอยู่ข้างเดิม แสดงว่าสายสัญญาณระหว่างปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ไม่มีปัญหา ปกติดี

4. แหล่งต้นทางสัญญาณ

ด่านสุดท้าย นั่นคือแหล่งต้นทางสัญญาณหรือ source ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของระบบที่คุณใช้ ถ้าเป็นเครื่องเล่นซีดี หรือสตรีมเมอร์ที่มี DAC ในตัวก็ง่าย อาจจะเป็นเหตุมาจากสายสัญญาณจากเอ๊าต์พุตของเครื่องเล่นซีดีหรือสตรีมเมอร์เส้นใดเส้นหนึ่งมีปัญหา ทำให้สัญญาณด้านนั้นตกหล่นเบาลง แต่ถ้าเป็นทรานสปอร์ต + DAC ก็ต้องตรวจเช็คที่สายดิจิตัลระหว่างทรานสปอร์ตกับ DAC ด้วย แต่โอกาสน้อยเพราะการส่งผ่านสัญญาณดิจิตัลใช้สายต่อเชื่อมแค่เส้นเดียว ไม่ได้แยกสำหรับสัญญาณซีกซ้ายและซีกขวาเหมือนสัญญาณอะนาลอก

ที่สาหัสก็คือเครื่องเล่นแผ่นเสียง อันนี้งานใหญ่ เพราะเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นระบบแมคคานิที่มีความอ่อนไหวมาก บางครั้งแค่พื้นที่วางเครื่องเล่นทำให้ตัวเครื่องไม่ตั้งฉากกับพื้นนิดเดียว แค่นี้ก็อาจทำให้เวทีเสียงเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะเกิดจากการปรับตั้งหัวเข็มที่ทำให้ปลายเข็มไม่ตั้งฉากกับร่องแผ่นเสียง สารพัดที่จะเป็นไปได้ ฯลฯ

5. ตรวจเช็คหู

อันนี้มีความเป็นไปได้เหมือนกัน บางคนอาจจะมีอาการที่หูสองข้างได้ยินเสียงดังเบาไม่เท่ากัน หรือประสาทหูมีความไวกับความถี่บางย่านไม่เท่ากัน ซึ่งต้องไปให้หมอตรวจเช็คดู อันนี้คือไม่มีใครอยากเป็น.. บอกเลย!/

*******************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า