รีวิวเครื่องเสียง Audiolab รุ่น 8300XP เพาเวอร์แอมปลิฟายสำหรับระบบเสียงสเตริโอ 2 แชนเนล

แนวทางการแม็ทชิ่งซิสเต็มสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงยุคนี้มีความหลากหลายมากกว่าเมื่อก่อน ในยุคที่ใช้ไฟล์เพลงดิจิตัลเป็น source หรือแหล่งต้นทางหลักอย่างทุกวันนี้ สำหรับบางคนที่มีไฟล์เพลงเก็บไว้จำนวนมาก ก็อาจจะเริ่มมีความคิดที่อยากจะเซ็ตอัพซิสเต็มที่ใช้เล่นไฟล์เพลงเหล่านั้นให้ได้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ภายใต้งบประมาณที่มี ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ได้คุณภาพเสียงของไฟล์เพลงออกมา ดีที่สุดก็คือ ควรจะทำให้เส้นทางเดินสัญญาณในระบบเพลย์แบ็คมีลักษณะที่ สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ชาร์ตด้านบนคือผังภูมิของเส้นทางเดินสัญญาณจากต้นทางคือไฟล์เพลงดิจิตัลไปถึงปลายทางคือลำโพง ซึ่งในอุดมคตินั้นควรจะมีอยู่แค่ 3 ขั้นตอนเท่าที่เห็นคือ จากไฟล์เพลงก็ไปสู่ขั้นตอน playback เพื่อทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลจากไฟล์เพลงนั้นให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก ซึ่งไม่ว่าคุณจะใช้อุปกรณ์ในการเล่นไฟล์เพลงแบบไหน จะเล่นด้วยโปรแกรมผ่านคอมฯ หรือเล่นด้วยแอพลิเคชั่นผ่านเน็ทเวิร์ค แต่หัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้ก็คือภาค DAC หรือ ดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายระดับ

หลังจากขั้นตอน playback แล้ว สัญญาณดิจิตัลจากไฟล์เพลงก็จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปของสัญญาณอะนาลอกก่อนจะถูกส่งต่อไปให้ภาคแอมปลิฟาย เพื่อขยายสัญญาณให้มีความแรงมากพอสำหรับขับลำโพงให้มีเสียงออกมาให้เราได้ฟัง ซึ่งในขั้นตอนของแอมปลิฟายนั้น นอกจากจะทำหน้าที่ขยายความดังแล้ว ยังมีอีกหน้าที่สำคัญคือ ปรับระดับความดังเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความดังในการฟังที่เหมาะสมได้ ซึ่งส่วนที่ทำหน้าที่นี้ก็คือ วอลลุ่ม

อุปกรณ์ประเภท external DAC หรือ network player เกือบทุกตัวที่ออกมาในช่วงไม่เกินสองปีที่ผ่านมาจะมีวอลลุ่มมาให้ในตัว หลายๆ ยี่ห้อ มีทั้งระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์อย่าง dCS รุ่น Rossini DAC ที่ผมเคยทดสอบไปก็มีวอลลุ่มมาให้ แถมยังสามารถเลือกเกนขยายของสัญญาณเอ๊าต์พุตได้อีกด้วย ของ Esoteric ก็มีรุ่น N-05 เป็นเน็ทเวิร์ค สตรีมเมอร์ นอกนั้นก็มี MyTek รุ่น Brooklyn DAC/DAC+, Brooklyn Bridge หรือแม้กระทั่งรุ่นเล็กๆ อย่าง Liberty DAC ราคาสี่หมื่นกว่าๆ ก็มีวอลลุ่มในตัวที่ให้เลือกได้ทั้งแบบ analog volume และ digital volume ซะด้วย หรืออย่างตัวเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ของ Magnet รุ่น Elite S ก็มีวอลลุ่มมาให้ และสตรีมเมอร์ตัวดังอีกตัวคือ Cambridge Audio รุ่น CXN v2 ซึ่งจากที่ผมได้มีโอกาสทดสอบดูแล้ว พบว่าวอลลุ่มของอุปกรณ์ดิจิตัลเพลเยอร์เหล่านี้ก็ให้คุณภาพเสียงออกมาดีมากทีเดียว สามารถใช้แทนปรีแอมป์ได้ถ้ามีเพาเวอร์แอมป์ที่เกนสูงพอมารองรับ

* รีวิว dCS Rossini DAC
* รีวิว Esoteric N-05
* รีวิว MyTek Liberty DAC
* รีวิว MyTek Brooklyn Bridge
* รีวิว Magnet Elite S
* รีวิว Cambridge Audio CXNv2

สิ่งที่ขาดคือ เพาเวอร์แอมป์

เมื่อมีไฟล์เพลงดีๆ แล้ว ระบบ digital playback ดีๆ ก็มีแล้ว ลำโพงดีๆ ก็มีแล้ว ถ้าจะเซ็ตอัพระบบการเล่นไฟล์เพลงให้ได้คุณภาพสูงสุด โดยยึดเอาระบบที่เรียบง่ายตามอุดมคติ คือมีทางเดินสัญญาณสั้นๆ เพื่อลดความสูญเสียและลดความบิดเบือน ส่วนที่ยังขาดก็คือ แอมปลิฟายแต่เพื่อทำให้ผลลัพธ์เข้าใกล้กับอุดมคติให้มากที่สุด ผมแนะนำให้ใช้วอลลุ่มในตัวเพลเยอร์หรือ DAC แทนปรีแอมป์ (ถ้าคุณไม่ได้มี source อื่นๆ) แล้วหาเพาเวอร์แอมป์ที่แม็ทชิ่งกับวอลลุ่มของ DAC มาจับคู่กัน

Audiolab รุ่น 8300XP
เพาเวอร์แอมป์ที่รอคอย..

ไอเดียที่จะเซ็ตอัพระบบเพลย์แบ็คในการเล่นไฟล์ให้ได้เสียงที่ดีที่สุดแบบที่เกริ่นมานั้น มันอยู่ในความคิดของผมมานานแล้ว แต่ที่ผ่านๆ มา มันติดอยู่ที่ว่ายังหาเพาเวอร์แอมป์ที่มีเกนขยายสูงๆ พอจะแม็ทชิ่งกับวอลลุ่มของ DAC ยังไม่ได้ จนมาพบกับ 8300XP ของ Audiolab ตัวนี้นี่แหละ.. ความฝันจึงเป็นจริงสักที.! ก่อนจะลองฟังกัน เราไปพิจารณารูปทรงองค์เอวของเพาเวอร์แอมป์แบรนด์อังกฤษตัวนี้ดูก่อน

A = ไฟ LED แสดงสภาวะไฟเข้าเครื่อง
B = สวิทช์เปิด/ปิดการทำงานของตัวเครื่อง

หน้าตาภายนอกของ 8300XP ดูเรียบง่ายมากๆ โดยเฉพาะแผงหน้าซึ่งมีแต่โลโก้ยี่ห้ออยู่ตรงมุมซ้ายล่างของแผงหน้าซึ่งเขาใช้วิธีกัดเซาะลงไปบนผิวโลหะ ใช้สีเดียวกับตัวถังคือสีดำ ทำให้ดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ใกล้ๆ กันนั้นจะมีไฟ LED สีแดงดวงเล็กๆ อยู่ดวงหนึ่ง (A) ซึ่งตอนที่คุณเสียบสายไฟเอซีเข้าที่ตัวเครื่อง แต่ยังไม่ได้กดสวิทช์ main power ที่ด้านหลัง ไฟดวงนี้จะยังคงดับอยู่ และจะติดสว่างขึ้นมาเป็นสีแดงอ่อนๆ เมื่อคุณกดสวิทช์ main power ที่ด้านหลัง แจ้งให้รู้ว่าอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อม (standby) และเมื่อคุณต้องการใช้งาน ก็แค่กดสวิทช์ operate ที่อยู่บนแผงหน้าทางด้านขวา (B) เพื่อเปิดเครื่องทำงาน ไฟดวงนี้จะสว่างจ้าขึ้นมาเป็นสีแดงเข้ม และมีเสียงรีเลย์ตัดต่อสัญญาณดังแกร็กสองสามครั้ง เครื่องก็พร้อมสำหรับการทำงาน

C = ขั้วต่อสายลำโพงข้างขวา
D = อินพุตบาลานซ์ XLR ข้างขวา
E = อินพุตบาลานซ์ XLR ข้างซ้าย
F = อินพุตซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA ข้างขวา
G = อินพุตซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA ข้างซ้าย
H = ปุ่มกดเลือกอินพุตระหว่าง XLR/RCA
I = ปุ่มกดเลือกระหว่าง Stereo/Bridged Mono
J = สวิทช์ตัวหลักปล่อยไฟเอซีเข้าเครื่อง
K = เต้ารับตัวผู้สำหรับเสียบสายไฟเอซี
L = จุดรับสัญญาณ trigger 12V สำหรับกระตุ้นเปิดเครื่อง/ปิดเครื่อง และเอ๊าต์พุต trigger 12V สำหรับพ่วงไปกระตุ้นเครื่องอื่น
M = ขั้วต่อสายลำโพงข้างซ้าย

ด้านหน้าของ 8300XP ดูเรียบง่ายไม่มีอะไรรุงรังเลย แต่พอหมุนกลับมาดูแผงด้านหลัง พบว่ามันมีอะไรๆ มากกว่าเพาเวอร์แอมป์ทั่วๆ ไปพอสมควร อันแรกคืออินพุตที่รองรับได้ทั้งบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR (D,Eและอินพุตแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA (F,Gโดยมีสวิทช์กดในการเลือกใช้ขั้วทั้งสองรูปแบบ (H)  อันนี้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการใช้งานได้มาก ไม่ว่าปรีแอมป์ หรือเอ๊าต์พุตของ DAC จะให้ขั้วต่อเอ๊าต์พุตมาเป็นแบบขั้วต่อ RCA หรือ XLR แอมป์ตัวนี้รับได้หมด

อีก 2 ฟังท์ชั่นที่มีประโยชน์มากนั่นคือ ฟังท์ชั่นบริดจ์โมโน (I) ซึ่งทำให้คุณสามารถอัพเกรดประสิทธิภาพของซิสเต็มได้ในอนาคต เป็นการปรับประสิทธิภาพของภาคขยายในระบบด้วยการซื้อ 8300XP มาเพิ่มอีกตัวและทำการปรับการทำงานของ 8300XP ทั้งสองตัวด้วยการ bridged ให้กลายเป็นเพาเวอร์แอมป์โมโนที่มีกำลังขับสูงขึ้นจากปกติที่ 140W ที่ 8 โอห์ม ต่อข้าง (stereo) กลายเป็น 480W ที่ 8 โอห์ม (mono) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึงเกือบ 4 เท่า.. ว้าวว !! รวมแล้ว เท่ากับได้แอมป์โมโน บล้อกที่มีกำลังขับข้างละ 480W ที่ 8 โอห์ม ด้วยสนนราคาแค่แสนนิดๆ เท่านั้นเอง.!!

อีกหนึ่งฟังท์ชั่นเด่นของเพาวอร์แอมป์ 8300XP ตัวนี้ นั่นคือให้ขั้วต่อสายลำโพงมาแชนเนลละ 2 ชุด (C, M) ทำให้การเชื่อมต่อกับลำโพงที่แยกขั้วต่อไบไวร์ฯ ทำได้ง่ายขึ้น โดยใช้สายลำโพงที่เหมือนกัน 2 คู่ เป็นวิธีเชื่อมต่อสายลำโพงไบไวร์ฯ ที่ทำให้ได้ทั้งความสะดวกและประสิทธิภาพ

เนื้อในของ 8300XP ดูแน่นหนาน่าศรัทธา ใช้ทรานซิสเตอร์ ข้างละ 4 ตัว ใช้ทรานฟอร์เมอร์แบบเทอรอยด์ขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับใหญ่โตมโหฬารมาก ก็น่าทึ่งที่สามารถปั๊มกำลังขับออกไปได้มากถึง 480W ตอนบริดจ์โมโน ที่ด้านหลังมีแยกแผงวงจรสำหรับอินพุตเอาไว้ ส่วนวงจรขยายถูกแยกออกเป็นสองซีกซ้ายขวาชัดเจน ใช้แคปาซิเตอร์เก็บพลังงานสำรองไฟเลี้ยงข้างละ 4 กระป๋อง สายสัญญาณที่ใช้เดินเชื่อมระหว่างส่วนต่างๆ ในวงจรใช้ตัวนำอย่างดี เป็นทองแดงเกรด OCC (Ohno Continous Cast) กันเลยทีเดียว

แม็ทชิ่ง

กำลังขับของ 8300XP แจ้งไว้ที่ 140W ต่อแชนเนลที่ 8 โอห์ม และสามารถเพิ่มขึ้นไปได้เป็น 230W ต่อแชนเนลเมื่อโหลดลดลงไปอยู่ที่ 4 โอห์ม และที่น่าทึ่งมากคือสามารถเบิ้ลกำลังขับขึ้นไปได้สูงถึง 480W ที่ 8 โอห์ม เมื่อถูกบริดจ์เป็นโมโน กำลังขับที่ระดับ 140W ต่อแชนเนลที่โหลด 8 โอห์ม ภายใต้ความเพี้ยนที่ต่ำเพียงแค่ 1% เท่ากันหมด (เฉลี่ยวัดที่ความถี่ 1kHz) นับว่ามากพอสำหรับขับลำโพงทั้ง 4-5 คู่ที่ผมมีอยู่ในขณะนั้นได้หมด ไม่ว่าจะเป็น Totem : The One, Quadral : Aurum SEDAN 9 (REVIEW), KTT Audio : Special Edition, Wharfedale : EVO 4.2 (REVIEW) และ Mission : ZX2 ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้ออกมาก็เป็นไปตามที่ลำโพงแต่ละคู่จะให้ออกมาได้ แม้ว่าโดยรวมของเสียงที่ได้จากการขับลำโพงแต่ละคู่จะออกมาต่างกัน ทั้งในแง่คุณภาพเสียงและบุคลิกเสียง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่ามันขับคู่ไหนไม่ออก แสดงว่าตัวเลขกำลังขับที่ 140W ต่อแชนเนลของ 8300XP เป็นตัวเลขที่เชื่อใจได้จริงๆ

ซิสเต็มทดสอบ

นี่คือสภาพการทดสอบช่วงท้ายก่อนสรุป ซึ่งทางด้าน source ผมใช้ 2 ชุด ชุดแรกเป็นเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ของ Magnet : Elite S (1) กับชุดที่สองเป็น roon : nucleus (3) ทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ต + MyTek : Liberty DAC (2) โดยมีลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลายของ Nordost รุ่น QSource (4) เป็นตัวจ่ายไฟให้ทั้ง nucleus และ Liberty DAC ส่วนปรีแอมป์ที่ใช้เป็นปรีหลอดของ Audible Illusion รุ่น Modulus 3A (5) ป้อนสัญญาณเข้า 8300XP (6) ที่วางอยู่ชั้นวางไม้ชั้นเดียวของ Guizu (10) ขับลำโพง KTT Audio (7) บนขาตั้งไม้สั่งทำของ Mavin (8) และใช้สายลำโพง Nordost รุ่น Tyr 2 (9) เป็นตัวเชื่อมระหว่าง 8300XP กับลำโพง และที่ใต้เพาเวอร์แอมป์ตรงตำแหน่งทรานฟอร์เมอร์ผมสอด Nordost : QPoint (11) เข้าไปช่วยปรับเรโซแนนซ์ในตัว 8300XP ด้วย

ผมทดลองทดสอบเพาเวอร์แอมป์ 8300XP ใน 2 ลักษณะ อย่างแรกคือใช้ร่วมกับปรีแอมป์ Modulus 3A ในลักษณะปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ทั่วไป ทดลองขับลำโพง 3 คู่ที่ผมมีอยู่ นั่นคือ Quadral : Aurum SEDAN 9, Totem : The One และ KTT Audio : Special Edition หลังจากเก็บข้อมูลเสียงเรียบร้อยแล้ว ผมก็ทดลองลักษณะที่สอง คือให้ 8300XP จับคู่กับ external DAC ของ MyTek รุ่น Liberty DAC และทดลองจับคู่กับเน็ทเวิร์คเพลเยอร์ของ Magnet รุ่น Elite S ซึ่งทั้งสองตัวนั้นมีภาควอลลุ่มคอนโทรลในตัว สามารถปรับระดับความดังได้ เป็นการเล่นต่อตรงจากเอ๊าต์พุตของภาค DAC ตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์ 8300XP โดยไม่มีปรีแอมป์เข้ามายุ่ง

ผลการฟังยกแรกจับกับ Modulus 3A

จากการจับคู่กับระหว่าง M3A กับ 8300XP ผมพบว่า อินพุตของ 8300XP ค่อนข้างไว และตั้งเกนรับไว้ค่อนข้างแรง คือผมใช้วอลลุ่มที่ M3A ไม่เกินเก้านาฬิกาก็ได้เสียงที่ดังพอแล้ว แต่โชคดีว่า เอ๊าต์พุตของ Elite S และ Liberty DAC สามารถปรับลดเกนได้ ผมจึงทดลองแม็ทชิ่งเกน I/O ระหว่าง source ทั้งสองกับ M3A จนได้ความลงตัวที่น่าพอใจ คือลดเกนเอ๊าต์พุตของ source ทั้งสองลงมาประมาณ 10% เพื่อให้สามารถเร่งวอลลุ่มที่ M3A เพิ่มขึ้นได้อีกหน่อย เสียงที่ออกมาจึงลงตัว

สัมผัสแรกที่รับรู้ได้จากเพาเวอร์แอมป์ตัวนี้คือลักษณะของเสียงที่สะอาด โปร่งในระดับที่ไม่ทำให้เนื้อเสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงแหลมมีลักษณะบาง เป็นความโปร่งโล่งที่เกิดจากความสามารถในการตอบสนองความถี่ของแอมป์เปิดกว้างมากกว่า ซึ่งหลังจากกลับไปพลิกดูสเปคฯ ของ 8300XP ในสมุดคู่มืออีกที ผมพบว่า มันตอบสนองความถี่กว้างมาก คือตั้งแต่ 20Hz – 80kHz โดยมีอัตราลดลงของความดังอยู่ที่ -3dB ต่ออ็อกเตรป ซึ่งส่วนที่ตอบสนองได้ราบเรียบมากๆ คือระหว่าง 20Hz – 30kHz เพราะค่าความเบี่ยงเบนของความดังตลอดย่านที่ว่านี้วัดได้แค่ +/-1dB เท่านั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่เสียงของ 8300XP มีลักษณะที่เปิดโล่งแบบที่ไม่ทำให้เสียงแหลมบาง หากแต่เป็นเสียงแหลมที่มีลักษณะฉ่ำและกังวาน มีหางเสียงที่ทอดไปได้ยาว ส่งผลให้เสียงโดยรวมออกมาไม่แห้ง โดยเฉพาะเมื่อฟังด้วยไฟล์ไฮเรซฯ จะเห็นได้ชัดว่าปลายเสียงไม่กุดด้วน ฮาร์มอนิกทอดผ่อนออกไปได้ยาวและพลิ้วกังวาน ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย

ด้วยคุณสมบัติที่ให้ความถี่เสียงออกมาได้เปิดกว้างมากๆ ในย่านแหลม ทำให้ฟังเพลงประเภทที่บันทึกเก็บบรรยากาศมาได้ครบๆ จะรู้สึกได้ถึงความเวิ้งว้างของมวลอากาศที่ห่อหุ้มอยู่รอบๆ บริเวณที่นั่งฟัง

อัลบั้ม : The Hot Club of San Francisco (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : The Hot Club of San Francisco

อัลบั้มนี้ผมไม่ได้จิ้มเลือกมาฟังนานแล้ว เพราะถ้าซิสเต็มให้แบนด์วิธไม่กว้าง เสียงแหลมมีความจำกัดจะฟังอัลบั้มนี้ไม่เพราะเลย เสียงกีต้าร์และเสียงฟรุ๊ตในอัลบั้มนี้จะออกมาแห้งแล้ง แต่ถ้าแอมป์กับลำโพงตอบสนองเสียงแหลมไปได้ไกลๆ จะฟังอัลบั้มนี้ได้ฉ่ำรูหูมาก ซึ่ง 8300XP ให้เสียงกีต้าร์ออกมาเร็วและสะอาด เส้นสายกีต้าร์เคลียร์ชัดออกมาเป็นเส้นๆ โดยไม่มีอาการสะบัดและไม่จัดจ้านเลย คุมปลายเสียงไว้ได้ดีมากๆ เสียงฟรุ๊ตก็พลิ้วกังวาน มีรายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงร้องของ Maria Muldaur ในเพลง Nature Boy แทรคที่สองเป็นอะไรที่ฟังแล้วรัญจวนใจมากๆ 8300XP ขับเสียงของเธอออกมาหวานใสแต่แฝงไว้ด้วยความอบอุ่น และเสียงโซโล่เทอเนอร์แซ็กโซโฟนของ Mike Sizer ตอนกลางเพลงนั้นโผล่ขึ้นทำเอาขนลุก บอดี้อวบใหญ่ ให้ความรู้สึกของปล่องทองเหลืองที่กำธรออกมาเป็นระลอกพลิ้วต่ำๆ คอนทราสน์กับเสียงร้องใสๆ ของแมเรีย ให้บรรยากาศของเพลงที่ฟังแล้วแทบจะนิ่งลืมหายใจ เมื่อฟังจากอัลบั้มนี้ทำให้ผมรู้สึกคล้ายว่ากำลังฟังแอมป์หลอดนิดๆ พอจะกล้าสรุปได้ว่า เสียงของ 8300XP มีแววไปทางแอมป์ไฮเอ็นด์ชั้นดีเหมือนกัน คือเนื้อเสียงไม่หยาบเลยทั้งๆ ที่เป็นโซลิดสเตท แถมยังให้โมชั่นของเสียงที่ไหลลื่น เสียงแหลมไปได้ไกลและปล่อยปลายเสียงให้ทอดกังวานไปได้จนสุดเท่าที่ลำโพงไปได้

อัลบั้ม : West Of Oz (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Amanda McBroom & Lincoln Mayorga

เป็นที่รู้กันว่า งานของค่าย Sheffield Labs บันทึกเสียงมาเบามาก นัยว่าต้องการรักษาคุณสมบัติทางด้าน dynamic range ของมาสเตอร์เอาไว้ให้สามารถสวิงได้กว้างตามต้นฉบับโดยไม่มีอาการ overshoot หรือคลิป นั่นหมายความว่า คุณจะต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นมาเยอะๆ เพื่อให้ไดนามิกเร้นจ์ของงานเพลงของค่ายนี้สามารถขยายวงสวิงขึ้นไปได้กว้างๆ ตามที่พวกเขาตั้งใจทำมา ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเพาเวอร์แอมป์ไม่มีกำลังสำรองมากพอ มันก็จะทำให้เสียงที่เร่งวอลลุ่มไปสูงๆ มีอาการเดินหน้า (forward) ประเดประดังออกมาแบบไร้การควบคุม ฟังแล้วน่ารำคาญ แต่ 8300XP สามารถสอบผ่านในประเด็นกำลังสำรองไปได้สบายๆ มันสามารถผลักดันเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นในเพลงบรรเลง Dock of the Bay (แทรคที่ 3) ในอัลบั้มนี้ให้กระจายออกไปล่องลอยอยู่ในอากาศแบบ หลุดตู้โดยไม่แสดงอาการเครียดใดๆ ออกมาให้เห็นเลย ทุกชิ้นดนตรีที่ลอยออกไปนอกตู้ลำโพงต่างก็ร่ายรำทำนองกันอย่างร่าเริง สนุกสนาน ไม่มีอาการป้อแป้ ทรานเชี้ยนต์ฉับไว ให้บุคลิกของเสียงออกไปในแนวกระฉับกระเฉงตามแนวเพลงที่ฟังได้อย่างไม่เคอะเขิน

อัลบั้ม : Ink (WAV 24/96)
ศิลปิน : Livingston Taylor

ยิ่งฟังไปนานๆ ผมยิ่งรู้สึกแปลกหู เพราะจากที่เคยฟังแอมป์ของยี่ห้อนี้มา ผมไม่เคยรู้สึกว่าเสียงของมันจะมีความนวลเนียน สะอาดสะอ้านขนาดนี้ แถมจังหวะลีลาของเพลงก็มีความแม่นยำ ตรงไปตามอารมณ์ของเพลงโดยไม่มีอาการเฉื่อยหรืออืดใดๆ เลย คล้ายกับว่า แอมป์มันควบคุมไดอะแฟรมของลำโพงได้อย่างราบคาบ จะให้ขยับก็ขยับทันที จะให้หยุดก็หยุดได้ทันที หรือจะสั่งให้ค่อยๆ หยุดแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อทอดหางเสียงให้ยาวออกไปก็ยังได้ นี่จึงไม่ได้มีความรู้สึกหลวมๆ เหมือนแอมป์ที่ควบคุมลำโพงไม่ไหว และไม่มีอาการของแอมป์ที่ดึงรั้งลำโพงมากเกินไป แต่มันทั้งปลดปล่อยและควบคุมไปในเวลาเดียวกัน เสียงทั้งหมดที่ออกมาจึงแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์และเทมโป้ของเพลงโดยไม่มีบุคลิกของแอมป์เข้าไปยุ่ง ตอนเล่นเพลงเร็วเสียงก็ออกมาเร็ว เล่นเพลงช้าเสียงก็ออกมาช้า โดยที่โฟกัสของเสียงยังคงคมชัดระดับเดียวกันทั้งคู่ ถือเป็นคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับแอมปลิฟายคือตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของมันอย่างเดียว transparency ซะจนไม่มีตัวตนออกมาปนกับเสียงเพลงเลย!

งานบันทึกเสียงของค่าย Chesky Records เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ในการตรวจวัดว่าแอมป์มีประสิทธิภาพมากแค่ไหนในการจัดการกับลำโพง เพราะเมื่อไรก็ตามที่แอมป์มีแรงไม่มากพอจัดการกับลำโพง เสียงของอัลบั้มชุด Ink นี้จะออกมาโปร่งๆ บางๆ และแห้งๆ ทั้งเสียงกีต้าร์และเสียงร้องจะออกมาลอยๆ ไม่มีเนื้อไม่มีมวล แต่วันนี้ผมฟังอัลบั้มนี้ผ่านลำโพง Quadral รุ่น Aurum SEDAN 9 ที่ขับด้วย 8300XP (ปรี M3A) ทุกอย่างออกมาดีมาก เวทีเสียงเปิดกว้างสุดๆ รับรู้ถึงบรรยากาศของแอมเบี้ยนต์ที่เวิ้งว้าง ในขณะที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แผ่กระจายอยู่เต็มไปหมด เสียงผิวปากในแทรคแรกเพลง Isn’t She Lovely ฟังแล้วเหมือนคนผิวปากจริงๆ ได้ยินไปถึงหางเสียงที่กังวานมาไกลๆ ด้วย ซึ่งแอมเบี้ยนต์ที่ออกมาเปิดกว้างและชุ่มฉ่ำขนาดนั้นเป็นเพราะลำโพงของ Quadral Aurum SEDAN 9 ตอบสนองเสียงแหลมไปได้ถึง 65,000Hz! ในขณะที่ Audiolab 8300XP ตัวนี้ก็ตอบสนองความถี่สูงไปได้ถึง 80,000Hz !! มันจึงแสดงรายละเอียดของสัญญาณไฮเรซฯ ออกมาได้อย่างหมดจด

ผลการฟังยกที่สอง ต่อตรงกับ Liberty DAC และ Elite S

ตัว Liberty DAC ให้เอ๊าต์พุตออกมาเป็นอันบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ RCA อย่างเดียว ในขณะที่ตัว Elite S ของ Magnet มีเอ๊าต์พุตให้เลือก 2 ชุดคือ RCA กับ XLR ผมจึงได้มีโอกาสทดลองอินพุตทั้งสองแบบของ 8300XP ไปในตัว ซึ่งผมพบว่าที่ช่องอินพุต XLR ของ 8300XP ให้เสียงที่ดังกว่าช่อง RCA นิดนึง (ที่อินพุต XLR มีอิมพีแดนซ์อยู่ที่ 15K โอห์ม สูงกว่าช่อง RCA ซึ่งอยู่ที่ 10K โอห์ม) และเสียงของช่องบาลานซ์ก็ฟังดีกว่าช่อง RCA ด้วย ในแง่ความสงัด ความนิ่ง ความเข้มข้นของตัวเสียง และการแยกแยะช่องไฟระหว่างตัวโน๊ตที่ใสกว่า ตัวเสียงมีความเป็นสามมิติมากกว่าช่อง RCA ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีอีกมุมที่มองข้ามไม่ได้ นั่นคือคุณภาพของสายสัญญาณมีผลกับคุณภาพเสียงด้วย หมายความว่า สาย XLR คุณภาพต่ำอาจให้คุณสมบัติบางด้านที่ด้อยกว่าสาย RCA คุณภาพสูงก็เป็นได้

ผลการทดลองฟังพบว่า Elite S ให้เอ๊าต์พุตออกมาแรงกว่า Liberty DAC อยู่พอสมควร คือในระดับความดังที่ผมฟังปกติ ผมใช้วอลลุ่มของ Elite S ไปประมาณ 60-70% ของระดับวอลลุ่มทั้งหมด สเกลเดซิเบลที่โชว์บนจออยู่ระหว่าง 30 – 40dB ในขณะที่ผมต้องใช้วอลลุ่มของ Liberty DAC มากกว่าคือประมาณ 80-90% ของระดับวอลลุ่มทั้งหมดที่ Liberty DAC มี จึงได้ความดังในระดับที่ผมฟังปกติ คุณอาจจะตกใจว่าใช้วอลลุ่มเยอะขนาดนั้น เสียงไม่ออกมาดังสนั่นหวั่นไหวเหรอ.? หามิได้ครับ.. การต่อตรงเกนอินพุตมันจะต่ำกว่าต่อผ่านปรีแอมป์มาก เพราะต่อตรงจะมีเฉพาะเกนของสัญญาณที่ผ่านภาคขยายของภาคอะนาลอกเอ๊าตพุตของ DAC อย่างเดียว แต่ถ้าไปผ่านปรีแอมป์ ตัวสัญญาณจะถูกขยายเพิ่มเติมอีกหลายสเตจ เกนมันเลยแรงขึ้นไปอีกมาก

ลักษณะเสียงโดยรวมเมื่อใช้ 8300XP รับสัญญาณเอ๊าต์พุตตรงจาก Elite S และ Liberty DAC จะมีลักษณะแตกต่างจากรับสัญญาณเอ๊าต์พุตจากปรีแอมป์ M3A ไปคนละแนว คือเสียงที่ได้จากการต่อตรงมันให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ของสัญญาณ รับรู้ได้ถึง ตัวตนจริงๆ ของแต่ละเสียงมากกว่า เนื้อเสียงจะออกมาเนียนมาก และรู้สึกได้ถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานที่มีทรง มีบอดี้ ขึ้นรูปเป็นสามมิติมากกว่า ขนาดของตัวเสียงก็ออกไปทางกระทัดรัด ไม่บวมเพราะถูกขยายหลายชั้น จึงไม่มีปัญหาเฟสของสัญญาณเคลื่อนไปจากต้นฉบับ ส่งผลให้โฟกัสของเสียงจึงมีความคมชัด แม่นยำ

คุณสมบัติทางด้านไดนามิกนี่เองที่เป็นจุดอ่อนมากหน่อยของการต่อตรง เนื่องจากเกนของสัญญาณมันค่อนข้างเบา ถ้าเกนอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ไม่ไวพอและอัตราขยายไม่แรงพอ เสียงที่ได้จะอ่อนไดนามิก ไม่หนักหน่วงและไม่กระแทกกระทั้น ซึ่งปัญหานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมากตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะตัวสัญญาณเสียงจากแหล่งต้นทางสัญญาณ (source) ในยุคก่อนมันไม่แรง ต้องอาศัยการขยายเพิ่มจากปรีแอมป์เข้ามาช่วย จึงจะได้เกนที่แรง แต่ทางด้านความคมชัดของรูปทรงสัญญาณก็เลยเพี้ยนไป (เหมือนปรับ bold ตัวหนังสือให้หนาขึ้น ความคมของขอบตัวหนังสือจะด้อยลง) แต่ยุคนี้ สัญญาณดิจิตัลมีเกนแรงขึ้นด้วยตัวของมันเอง หลังจากผ่านขั้นตอน DAC ออกมาแล้ว แค่ขยายผ่านวงจร analog out ของ external DAC หรือ Network Player แค่เล็กน้อยก็เพียงพอสำหรับป้อนเข้าไปที่เพาเวอร์แอมป์โดยตรงได้ ถ้าภาคอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ตัวนั้น ออกแบบเกนขยายมาแรงพอจนแม็ทชิ่งกับเกนของสัญญาณจาก external DAC หรือ Network Player ได้ ซึ่งภาคอินพุตของ 8300XP ตัวนี้มีเกนที่ค่อนข้างแรง สามารถแม็ทชิ่งกับเกนขยายทางเอ๊าต์พุตของ Elite S จนได้กำลังขับที่สูงพอผลักดันลำโพงได้เต็มที่โดยไม่ต้องมีปรีแอมป์เข้ามาช่วย

เมื่อฟังเทียบกัน ผมพบว่า เกนเอ๊าต์พุตของ Elite S จะแม็ทชิ่งกับ 8300XP ได้ดีกว่า Liberty DAC ความหมายคือ Elite S + 8300XP จะให้ประสิทธิภาพในการขับดันลำโพงสูงกว่า Liberty DAC + 8300XP ซึ่งต้องบอกว่าน่าเสียดายมากที่ตอนนี้ผมไม่มี MyTek รุ่น Brooklyn DAC+ หรือ Brooklyn Bridge อยู่กับตัว เพราะที่ทดสอบไปจำได้ว่า ทั้งสองตั้นให้เกนเอ๊าต์พุตแรงกว่า Liberty DAC พอสมควร น่าจะไปกับ 8300XP ได้ดีเลย ใครใช้ MyTek สองตัวนั้นอยู่ ถ้าสนใจอยากจะลองเล่นแบบต่อตรง ผมแนะนำเพาเวอร์แอมป์ 8300XP ของ Audiolab ตัวนี้ เสียงดีและถูกเงินด้วย

สรุป

8300XP เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ออกแบบมาได้ลงตัวมากในหลายๆ ประเด็น กำลังขับที่ให้มาอยู่ในเกณฑ์กำลังสวย ถ้าคุณใช้ลำโพงที่มีความไวระดับปานกลาง ราคาไม่สูงเกินหนึ่งแสนบาท คุณสามารถใช้ 8300XP แค่ตัวเดียว ขับแบบสเตริโอก็เอาอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณใช้ลำโพงที่มีราคาสูงกว่าแสนบาทขึ้นไป และมีสเปคฯ ที่ขับยากขึ้นมาอีกระดับ คุณสามารถเพิ่ม 8300XP เข้ามาอีกตัวเพื่อช่วยกับขับลำโพงคู่นั้น ซึ่งคุณสามารถปรับรูปแบบการทำงานของ 8300XP ได้ถึง 2 รูปแบบ คือ bi-amp หรือ bridged mono

ให้อินพุตมาครบทั้งบาลานซ์และอันบาลานซ์ และที่เจ๋งมากคือภาคอินพุตที่จูนเกนมาแรง ทำให้แม็ทชิ่งเกนกับเอ๊าต์พุตของปรีแอมป์ได้ง่าย เข้าได้กับปรีแอมป์ส่วนใหญ่ และที่สำคัญมากคือ สามารถรองรับภาคปรีแอมป์ของ external DAC และ Music Streamer ระดับกลางๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปรีแอมป์ เป็นการต่อตรงที่ทำให้เสียงจากไฟล์เพลงมีความบริสุทธิ์มากที่สุด ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่มันเป็น

เชื่อซิ… 8300XP เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ให้อะไรมากกว่าราคาค่าตัวห้าหมื่นกว่าๆ ของมัน สิ่งเดียวที่เพาเวอร์แอมป์ตัวนี้ยังเป็นรองเพาเวอร์แอมป์ไฮเอ็นด์ที่มีราคาสูงกว่ามันสองสามเท่าตัวก็คือรูปร่างหน้าตา ซึ่งหากแอมป์ตัวนี้ปรับปรุงคอสเมติคขึ้นมาอีกหน่อย ออกแบบให้รูปร่างหน้าตามันดูหรูหรามากกว่านี้ มันก็สามารถขยับขึ้นไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพาเวอร์แอมป์ไฮเอ็นด์ที่มีราคาเรือนแสนได้สบาย.!! /

*****************************
ราคา : 54,900 บาท / เครื่อง
*****************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
. ไฮไฟ ทาวเวอร์ฯ
โทร. 02-881-7273

facebook: @hifi.tower.3

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า