MyTek Digital เปิดตัว external DAC รุ่น Brooklyn ออกมาเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่ปี 2015 ก่อนจะอัพเกรดเป็นรุ่น Brooklyn DAC+ ในปี 2017 โดยปรับปรุงในจุดสำคัญๆ สอง–สามจุด ได้แก่ เปลี่ยนชิป DAC จากเบอร์ ES9018 ของ ESS Technology ที่ใช้ในเวอร์ชั่น Brooklyn DAC มาเป็นเบอร์ ES9028 Pro ของยี่ห้อเดียวกันซึ่งมีสเปคฯ สูงกว่า, ปรับปรุงวงจรอะนาลอกในส่วนของวอลลุ่มให้มีสัญญาณรบกวนต่ำลง, ปรับปรุงภาคอะนาลอก อินพุต, ปรับปรุงภาคโฟโน สเตจให้มีความโปร่งใสมากขึ้น, ปรับปรุงภาคเฮดโฟนแอมป์ และจัดวงจรของสัญญาณอะนาลอกเป็นแบบ dual mono ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ Brooklyn DAC+ ให้เสียงที่ดีกว่ารุ่น Brooklyn DAC ขึ้นมาพอสมควร ต้นเหตุหลักๆ ก็มาจากการเปลี่ยนชิป DAC ตัวใหม่นั่นเอง
Brooklyn Bridge
อัพเกรดไปสู่เน็ทเวิร์ค สตรีมมิ่ง
ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ MyTek ระบุไว้ว่า วงจรที่เกี่ยวกับเสียง รวมถึงสมรรถนะของรุ่น Brooklyn DAC+ กับรุ่น Brooklyn Bridge เหมือนกันทุกอย่าง จุดต่างสำหรับการอัพเกรดไปสู่ Brooklyn Bridge ก็แค่ผนวกเอาการทำงานของภาคเน็ทเวิร์ค สตรีมเมอร์เข้าไปเท่านั้น
เปรียบเทียบบั้นท้ายรุ่น Brooklyn DAC+ (บน) กับ Brooklyn Bridge (ล่าง)
แต่เนื่องจากพื้นที่อันจำกัดภายใต้ตัวถังเดียวกัน ทาง MyTek Digital จึงต้องตัดเอาอินพุต AES/EBU กับลูป clock ออกไปจากรุ่น Brooklyn DAC+ (พื้นที่สีแดงในภาพบน) แล้วทำการโยกย้ายตำแหน่งของขั้วต่อดิจิตัล อินพุต coaxial ทั้งสองช่องไปไว้แทนที่ขั้วต่อลูป clock และย้ายจุดเชื่อมต่อกราวนด์ของโฟโนกับช่องดิจิตัล อินพุต optical ไปวางซ้อนกันในแนวดิ่งแทนที่ตำแหน่งที่เคยติดตั้งขั้วต่อดิจิตัล อินพุต AES/EBU และพื้นที่ข้างๆ ซึ่งเคยติดตั้งขั้วต่อ S/PDIF (coaxial) ทั้งสองช่องถูกแทนที่ด้วยขั้วต่อ LAN (RJ45) และขั้วต่อ USB-A สำหรับ storage นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาในเวอร์ชั่น Brooklyn Bridge นั่นคือ ช่องต่อสัญญาณ trigger switch กับเสาอากาศรับคลื่น Wi-Fi (พื้นที่สีฟ้าในภาพบน)
คุณสมบัติของ Brooklyn Bridge
เทอร์มินัลสำหรับเชื่อมต่อสัญญาณทั้งหมดถูกติดตั้งไว้ที่แผงหลังของตัวเครื่อง ยกเว้นรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 ม.ม. จำนวน 2 รูที่แยกไปติดตั้งอยู่บนแผงหน้า ขั้วต่อทั้งหมดถูกใช้งานใน 3 ขอบเขต คือ อินพุต (inputs), เอ๊าต์พุต (outputs) และระบบไฟเลี้ยง (power supply)
อินพุต
A = ขั้วต่อสำหรับสัญญาณอะนาลอก อินพุต
B = จุดเชื่อมต่อกราวนด์สำหรับโฟโน
C = ช่องดิจิตัล อินพุต optical (Toslink)
D = ช่องดิจิตัล อินพุต coaxial
E = ช่องดิจิตัล อินพุต USB
F = ช่องดิจิตัล อินพุต Ethernet
G = ช่องเสียบฮาร์ดดิสเก็บไฟล์เพลง (Storage)
H = เสาอากาศรับคลื่น Wi-Fi
เพื่อให้ Brooklyn Bridge ทำหน้าที่เป็น “ปรีแอมป์” ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ทำได้ พวกเขาจึงยังคงรักษาช่องอินพุตสำหรับรองรับสัญญาณอะนาลอกเอาไว้ (A) พร้อมทั้งเก็บภาคขยายหัวเข็ม MM/MC เอาไว้ให้คนที่ต้องการใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ใช้ ซึ่งหากมองทางด้านกายภาพคุณจะเห็นว่า Brooklyn Bridge ให้ช่องอินพุตอะนาลอกมาช่องเดียว แต่จริงๆ แล้ว คุณสามารถปรับเลือกการทำงานของช่อง analog input ของ Brooklyn Bridge ช่องนั้นได้ถึง 3 ลักษณะ คือให้มันเป็นช่อง “Line in” หรือเป็นช่อง “P MM” หรือ “P MC” และสามารถบายพาสเป็นช่อง “Theater Byp” ใช้ร่วมกับปรีโปรเซสเซอร์ในชุดโฮมเธียเตอร์ก็ได้ (ใช้วอลลุ่มของปรีโปรเซสเซอร์คบคุมความดัง)
แต่ส่วนที่จัดเต็มจริงๆ ก็คือภาคอินพุตสำหรับแหล่งต้นทางที่ส่งเข้ามาเป็นสัญญาณดิจิตัล ซึ่ง Brooklyn Bridge สามารถรองรับได้ทั้งหมดทุกฟอร์แม็ต แต่ข้อมูลความสามารถในการรองรับสัญญาณอินพุตที่ปรากฏอยู่ในคู่มือ (user manual) กับที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ไม่ตรงกัน ดูจากเว็บไซต์จะได้ตัวเลขตามนี้คือ อินพุตอ๊อปติคัล Toslink (C) สามารถรองรับสัญญาณดิจิตัล PCM ได้สูงสุดถึงระดับ 24/176.4 และรองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดถึงระดับ DSD64 ในฟอร์แม็ต DoP (DSD-over-PCM) ในขณะที่ช่องอินพุตดิจิตัล coaxial ทั้งสองช่อง (D) สามารถรองรับสัญญาณ PCM ได้สูงถึง 24/384 ส่วน DSD ได้ถึง DSD128 ฟอร์แม็ต DoP ช่องที่รองรับสัญญาณได้สเปคฯ สูงสุดคือช่อง USB (E) นั่นคือรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดถึง 24/384 และรองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดถึง DSD256 ที่เป็นฟอร์แม็ต DoP ส่วนช่อง LAN ซึ่งส่วนมากจะเรียกว่า Ethernet (F) ซึ่งมีหน้าที่รองรับสัญญาณดิจิตัลจากเน็ทเวิร์คนั้น มีความสามารถรองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดที่ระดับ 24/192 ส่วนสัญญาณ DSD รองรับได้สูงสุดถึงระดับ DSD64
คุณสามารถเชื่อมต่อเน็ทเวิร์คเข้ากับ Brooklyn Bridge ได้สองทาง นอกจากทางสาย LAN เข้าที่ช่อง Ethernet แล้ว คุณยังสามารถเชื่อมต่อผ่านคลื่น Wi-Fi เข้าทางเสารับคลื่นที่แถมมาด้วยได้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้าเน้นคุณภาพเสียง ผมแนะนำให้เชื่อมต่อด้วยสาย LAN เข้าทางช่อง Ethernet ดีกว่าเยอะ! แต่ก็ต้องยอมรับว่า สาย LAN มีผลต่อเสียงนะ
ส่วนที่เจ๋งมากๆ คือ ทั้งช่องอินพุต coaxial, USB และ LAN สามารถรองรับไฟล์เพลงที่เป็นฟอร์แม็ต MQA ได้ และเป็นฮาร์ดแวร์ (decoder chipset) ที่รับรองโดย MQA ซะด้วย!
เอ๊าต์พุต
I = ช่องส่งออกสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตแบบอันบาลานซ์ ผ่านขั้วต่อ RCA
J = ช่องส่งออกสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตแบบบาลานซ์ ผ่านขั้วต่อ XLR
ช่องเอ๊าต์พุต Main ของ Brooklyn Bridge ปล่อยสัญญาณออกมาพร้อมกันทั้งสองช่อง ซึ่งคุณสามารถเลือกลักษณะการปล่อยสัญญาณออกมาจากเอ๊าต์พุตทั้งสองช่องนี้ได้ 2 รูปแบบ คือแบบที่ผ่านภาคปรีแอมป์ในตัว Brooklyn Bridge กับโหมด “bypass” คือไม่ผ่านภาคปรีแอมป์ในตัว Brooklyn Bridge
และคุณยังสามารถกำหนดช่องทางของสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตได้ด้วยว่าจะให้ไปออกทางช่องไหนบ้าง โดยเข้าไปปรับตั้งในเมนูของเครื่องซึ่งมีให้เลือก 4 อ๊อปชั่น นั่นคือ AUTO = ถ้ามีการเสียบหูฟังเข้ากับรูเสียบหูฟังด้านหน้า ตัวเครื่องจะทำการตัดสัญญาณที่ออกไปทางช่อง main (XLR และ RCA) ออกไป, HP = ถ้าเลือกตั้งไว้ตรงนี้ สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจะถูกส่งไปที่รูเสียบหูฟังอย่างเดียว ที่ main จะไม่ออก, MAIN = ถ้าเลือกตั้งไว้ตรงนี้ สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจะถูกส่งไปที่ช่อง XLR และ RCA เท่านั้น และอ๊อปชั่นที่สี่คือ BOTH = สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจะถูกส่งไปที่ช่อง XLR และ RCA รวมถึงที่รูเอ๊าต์พุตของหูฟังด้วย
ระบบไฟเลี้ยง
Brooklyn Bridge เปิดช่องทางให้คุณเชื่อมต่อไฟเลี้ยงเข้าไปในตัวเครื่องได้ 2 ช่องทาง ทางแรกคือป้อนเข้าไปด้วยไฟ AC 220V ทางเต้ารับแบบสามขาแยกกราวนด์ (L) ส่วนช่องทางที่สองคือป้อนเข้าไปด้วยไฟ DC 12V ทางช่องอะแด๊ปเตอร์ (M) ซึ่งต้องใช้เพาเวอร์อะแด๊ปเตอร์จากภายนอกที่ทดไฟ AC 220-230V ออกมาเป็นไฟ DC 12V ซึ่งทางผู้ผลิตเองรวมถึงผู้ใช้รุ่น Brooklyn DAC และ Brooklyn DAC+ หลายคนได้ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกันว่า การใช้ภาคจ่ายไฟแบบ Linear Power Supply (LPS) จากภายนอกจ่ายไฟ DC 12V เข้าทางช่องทางนี้จะให้คุณภาพเสียงออกมา “ดีกว่า” ป้อนไฟ AC 220/230V เข้าไปใช้วงจรเพาเวอร์ซัพพลายแบบสวิชชิ่งภายในตัว Brooklyn Bridge เอง
ทางผู้นำเข้า Brooklyn Bridge คือบริษัท Deco2000 ได้จัดส่งตัวลิเนียร์ เพาเวอร์ซัพพลายของยี่ห้อ Nordost รุ่น QSource มาให้ผมทดลองใช้กับ Brooklyn Bridge ด้วย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมของตัว Nordost : QSource ได้ที่ ลิ้งค์ นี้)
นอกจากนั้น คุณยังสามารถสั่งเปิด/ปิดการทำงานของตัว Brooklyn Bridge ผ่านทางสัญญาณ trigger จากอุปกรณ์รีโมทภายนอกได้ ด้วยการเสียบขั้วต่อสายสัญญาณ trigger เข้าที่รูรับสัญญาณ (K)
แผงหน้าของ Brooklyn Bridge
กับการควบคุมสั่งงาน
อีกความเจ๋งของ Brooklyn Bridge ก็คือใช้ DSP ในการรวบรวมคำสั่งของฟังท์ชั่นต่างๆ เอาไว้ในเมนูหลักของตัวเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกวิธีควบคุมสั่งงานฟังท์ชั่นต่างๆ ของ Brooklyn Bridge ได้ 2 ทาง ทางแรกที่เรียบง่ายคือ ด้วยการกดปุ่มบนหน้าปัดโดยตรง กับทางที่สองคือควบคุมผ่านแอพฯ MyTek Control Panel ซึ่งทำผ่านคอมพิวเตอร์
A = เอ๊าต์พุตขนาด 6.3 mm สำหรับหูฟัง
B, C, D, E = ปุ่มควบคุมการเลือกหัวข้อในเมนู
F = ปุ่มปรับวอลลุ่มและใช้กดเลือกเมนู
รายละเอียดที่แสดงผ่านหน้าจอ OLED ของ Brooklyn Bridge จะมีอยู่ 2 รูปแบบ เมื่อต้องการเข้าไปปรับตั้งการทำงานฟังท์ชั่นต่างๆ ของ Brooklyn Bridge ให้คุณกดน้ำหนักลงไปบนปุ่มวอลลุ่มของ Brooklyn Bridge จนแสดงรายละเอียดเหมือนภาพด้านบน
คำสั่งที่ใช้ปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ของตัวเครื่องได้ถูกแยกไว้เป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องทำการปรับผ่านปุ่มกด B, C, D, E ที่อยู่บนหน้าปัดโดยดูรายละเอียดการปรับตั้งได้จากจอแสดงผล ซึ่งแยกออกเป็น 4 กลุ่มพ้องกับปุ่มกด อย่างเช่นที่ปุ่มแรกเป็นการปรับเลือกอินพุต เมื่อกดปุ่มลงไป ตรงตำแหน่งเมนูกลุ่มแรกที่อยู่บนจอจะปรากฏแถบสีฟ้าจางๆ ทับด้านบน แสดงสภาวะพร้อมให้คุณปรับเปลี่ยน ถ้าต้องการเปลี่ยนไปใช้อินพุตใด ให้หมุนปุ่มวอลลุ่มด้านขวามือไปเรื่อยๆ อินพุตที่มีให้เลือกคือ USB, NET, SPDF1 & SPDF2, OPTO และ ANLG จะสลับกันขึ้นมาให้เลือกบนจอ เมื่อเจออินพุตที่ต้องการเลือกแล้วให้กดลงไปบนปุ่มวอลลุ่มหนึ่งที แถบสีฟ้าที่ทาบทับอยู่บนตำแหน่งอินพุตจะหายไปแสดงว่าคุณได้เปลี่ยนอินพุตแล้ว ถ้าตรงอินพุตนั้นมีการเปิดเล่นเพลงอยู่ คุณจะได้ยินเสียงไปดังออกที่ลำโพง
การปรับเปลี่ยนพารามิเตอร์ต่างๆ ในเมนูของปุ่มที่เหลืออีกสามปุ่มก็ทำแบบเดียวกัน ส่วนอีกหน้าที่ของปุ่มวอลลุ่มคือใช้เปิด/ปิดเครื่องด้วยการกดค้างไว้ประมาณสองวินาที
ทดสอบฟังท์ชั่น Preamp
ของ Brooklyn Bridge
ฟังท์ชั่นที่น่าสนใจของ Brooklyn Bridge คือ “ปรีแอมป์” ซึ่งทำเหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างชุดเครื่องเสียงที่มีความกระทัดรัดที่ทรงคุณภาพ โดยหาเพาเวอร์แอมป์มาเชื่อมต่ออีกตัว ซึ่งตัว Brooklyn Bridge มีอ๊อปชั่นของภาควอลลุ่มที่ใช้สำหรับภาคปรีแอมป์เอ๊าต์พุตอยู่ 2 อ๊อปชั่น นั่นคือ ANLG กับ DGTL
อ๊อปชั่นแรก ANLG (Analog) อาศัยวงจร analog fader เป็นตัวควบคุมการปรับระดับความดังของภาคปรีฯ ซึ่งให้ลักษณะเสียงออกไปทางนุ่มนวล ปลายเสียงโรลออฟนิดหน่อย ในขณะที่ DGTL (Digital) ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นที่สองจะให้เสียงฉับไว เปิดกระจ่าง เที่ยงตรงไปตามแหล่งต้นทางสัญญาณมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนประกอบในซิสเต็มส่วนที่เหลือนับจากเอ๊าต์พุตของ Brooklyn Bridge เป็นต้นไป ตั้งแต่สายสัญญาณอะนาลอกไปที่เพาเวอร์แอมป์, ตัวเพาเวอร์แอมป์เอง, สายลำโพงจากเพาเวอร์แอมป์ไปที่ลำโพง และสุดท้ายคือพฤติกรรมทางไฟฟ้าของลำโพงเอง เหล่านี้จะส่งผลกับการเลือกเอ๊าต์พุตแบบใดแบบหนึ่งของ Brooklyn Bridge ซึ่งก็อยู่ภายใต้กฏของการแม็ทชิ่ง ทั้งแม็ทชิ่งทางไฟฟ้าและแม็ทชิ่งทางอะคูสติก
มีฟังท์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงของภาคปรีแอมป์ของ Brooklyn Bridge อีกฟังท์ชั่นหนึ่ง นั่นคือฟังท์ชั่น “Trim/Gain” ซึ่งเป็นอ๊อปชั่นที่ทำหน้าที่ปรับ “เพิ่ม/ลด” เกน (ความแรง) ของช่องสัญญาณอินพุตที่เป็น “ดิจิตัล” ทุกช่อง เมื่อคุณเลือกใช้ปรีแอมป์ดิจิตัล (DGTL) คุณสามารถปรับลดเกนลงมาได้ทั้งหมดรวม 12dB คือจากจุดสูงสุดที่ 0dB ลงมาอยู่ที่ -12dB แต่ถ้าคุณเลือกใช้ปรีแอมป์อะนาลอก (ANLG) คุณจะสามารถปรับเกนของสัญญาณดิจิตัล อินพุตได้กว้างกว่าคือได้ถึง 24dB เริ่มตั้งแต่ 0dB ลงมาที่ -12dB และจาก 0dB ขึ้นไปจนถึง +12dB
นอกจากนั้น ยังมีอ๊อปชั่นในการปรับแต่งสัญญาณเอ๊าต์พุตที่ส่งผลกับภาคปรีแอมป์มาให้อีก 2-3 ฟังท์ชั่น นั่นคือ “Main Balance” = ปรับความแรงของสัญญาณเอ๊าต์พุตข้างซ้ายและขวาได้, “Phase Switch” = ปรับเฟสของสัญญาณระหว่าง Pos (บวก = ตามอินพุต) และ Neg (ลบ = กลับเฟสจากต้นฉบับ)
ในกล่องมีรีโมทไร้สายมาตรฐานของ apple แถมมาให้ด้วย เมื่อนำไป pairing กับตัว Brooklyn Bridge (ในคู่มือบอกวิธีแพร์ไว้ แต่ตอนทำจริงจะงงๆ หน่อย เพราะขั้นตอนที่แจ้งไว้ในคู่มือมันไม่ตรงกับปฏิบัติจริง แต่สุดท้ายก็แพร์ได้!) จะสามารถใช้รีโมทควบคุมการสั่งงานเครื่องด้วยคำสั่งพื้นฐานได้หลายคำสั่งเหมือนกัน เช่น เลือกอินพุต, สั่งเล่นไฟล์เพลงและหยุดชั่วคราว และควบคุมวอลลุ่ม
“game changing!!”
ผมทดลองฟังภาคปรีแอมป์ของ Brooklyn Bridge อยู่นาน ประเด็นหลักคือทดลองสลับฟังภาคปรี analog กับภาคปรี digital เปรียบเทียบกัน โดยอาศัยเพาเวอร์แอมป์รุ่น EDGE W ของ Cambridge Audio ยืนพื้น (เพราะตอนนี้มีเพาเวอร์แอมป์ให้ลองอยู่ตัวเดียว 555) แต่ได้ทำการทดลองแม็ทชิ่งสายสัญญาณระหว่างเอ๊าต์พุตของ Brooklyn Bridge กับเพาเวอร์แอมป์ EDGE W เยอะ โดยลองฟังทั้งต่อผ่านสาย XLR ทางช่องบาลานซ์ และช่องอันบาลานซ์ (RCA) ผมพบว่า การต่อเอ๊าต์พุตจาก Brooklyn Bridge ออกไปทางช่องบาลานซ์ XLR ให้เสียงดีกว่าช่อง RCA พอสมควร ที่เห็นชัดคือโฟกัสของเสียงที่คมเป๊ะมากกว่า และได้ความโปร่งใสของพื้นเสียงที่ดีกว่าด้วย
สุดท้ายก่อนจะฟังสรุปผล ผมก็มาลงตัวด้วยการต่อเชื่อมสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ Brooklyn Bridge ออกไปทางช่องบาลานซ์โดยใช้สาย XLR ของ Transparent Audio รุ่น PLUS เป็นสื่อกลางไปสู่อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ Cambridge Audio รุ่น EDGE W แล้วใช้สายลำโพง Nordost รุ่น Tyr2 สลับกับ Kimber Kable รุ่น 12TC เชื่อมต่อระหว่างเอ๊าต์พุตของ EDGE W ไปที่ลำโพง Focal รุ่น Chora 806 สลับกับลำโพง Totem Acoustics รุ่น The One ที่ผมใช้อยู่
หลังจากเลือกขั้วต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตได้แล้ว ผมก็เริ่มทดลองฟังภาคปรีฯ ANLG (Analog) กับภาคปรีฯ DGTL (Digital) ของ Brooklyn Bridge เทียบกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผมชอบแนวเสียงที่ภาคปรีฯ DGTL (Digital) ให้ออกมามากกว่าภาคปรีฯ อะนาลอก เพราะว่าภาคปรีฯ อะนาลอกให้เสียงออกมานุ่มเกินไป มิติเสียงก็ไม่คมชัด ออกนุ่มๆ มัวๆ อ่อนไหวไปกับการเปลี่ยนสายสัญญาณมาก ในขณะที่ภาคปรีฯ ดิจิตัลให้เสียงออกมาดีกว่าทุกคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นมิติเสียง, ไดนามิกทั้งทรานเชี้ยนต์และคอนทราสน์, ความโปร่งใสของพื้นเสียง และสปีด ที่เด่นมากๆ คือความโปร่งใสของพื้นเสียง ซึ่งเสียงของภาคปรีฯ ดิจิตัลผ่านช่องเอ๊าต์พุต XLR ให้รูปวงเวทีเสียงออกมาเป็นสามมิติมากกว่า คือมีทั้งความกว้างและความลึกที่รับรู้ได้ชัดเจน รวมถึงรายละเอียดที่โดดเด่นมากๆ
ในแง่ของ “เกนแม็ทชิ่ง” ก็ไม่มีปัญหาสำหรับการจับคู่กับ EDGE W เพราะผมใช้วอลลุ่มจาก Brooklyn Bridge อยู่ระหว่างเที่ยงถึงบ่ายสองโมงก็ได้ “ความดัง” กับ “อัตราสวิงไดนามิก” ของเสียงที่น่าพอใจแล้วสำหรับพื้นที่อากาศในห้องรับแขกที่บ้านผม และเมื่อลองขยับวอลลุ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ผมพบว่าแค่ประมาณบ่ายสามโมงเสียงก็ดังคับบ้านแล้วกับเกนของเพลงทั่วๆ ไป ที่ยังเป็นรองเมื่อเทียบกับต่อผ่านปรีแอมป์ EDGE NQ ซึ่งเป็นปรีฯ คู่ขาของ EDGE W อยู่บ้างก็คือช่วงสวิงไดนามิกทรานเชี้ยนต์หนักๆ ซึ่งภาคปรีฯ ของ Brooklyn Bridge ยังเป็นรองนิดนึง คือยังสวิงได้ไม่หนักหน่วงเท่าตอนผ่านปรีฯ EDGE NQ ซึ่งผมพบว่า เมื่อใช้ Brooklyn Bridge เป็น source ให้กับปรีฯ EDGE NQ แล้วดึงสัญญาณ Line out จากปรีฯ EDGE NQ ไปเข้าที่ EDGE W ด้วยสายบาลานซ์ทั้งสองช่อง จะได้ “น้ำหนักของเสียง” ที่แน่นกว่า เนื้อเสียงมีความเข้มข้นมากกว่า เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็นภาพก็น่าจะประมาณ 15-20% ที่ระดับความดังพอๆ กัน (ปรับวอลลุ่มที่ปรีแอมป์ EDGE NQ น้อยกว่าเมื่อวัดที่ความดังพอๆ กัน) ส่วนในแง่สนามเสียงไม่กว้างหรือแคบกว่ากันสักเท่าไหร่ แสดงว่า ปรีแอมป์ EDGE NQ กับ EDGE W แม็ทชิ่งเกนกันได้ลงตัวมากกว่า ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เป็นไปตามที่ผมคาดไว้แต่แรก เพราะ EDGE NQ กับ EDGE W ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกันและกันตั้งแต่ต้น และภาคจ่ายไฟในตัว EDGE NQ ก็บึ้กกว่ามาก แต่เมื่อได้ลองใช้ภาคปรีฯ ดิจิตัลของ Brooklyn Bridge ต่อตรงเข้ากับ EDGE W ตัด EDGE NQ ออกไปแล้วใช้วอลลุ่มที่ตัว Brooklyn Bridge ควบคุมความดัง ผมพบว่า เสียงที่ได้ออกมาก็ถือว่ามีความแม็ทชิ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ส่วนที่ปรีแอมป์ดิจิตัลของ Brooklyn Bridge ทำได้ดีกว่าต่อผ่านปรีฯ EDGE NQ อยู่นิดหน่อยก็คือ “โฟกัส” ของตัวเสียงที่เป๊ะกว่า คมกว่า ชี้ชัดตำแหน่งได้แน่นอนกว่า และยังให้พื้นเสียงที่โปร่งและใสกว่านิดนึงด้วย ส่งผลให้มองเห็นรายละเอียดทั้งหมดที่มีอยู่และเกิดขึ้นในสนามเสียงได้ชัดกว่าหน่อย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเลเยอร์ที่แผ่ลึกลงไปด้านหลังของระนาบลำโพง ซึ่งวางตำแหน่งของชิ้นดนตรีไว้ได้เป็นที่เป็นทางมาก ที่เป็นรองก็คือเรื่องเนื้อมวลของเสียง กับน้ำหนักย้ำเน้นอีกเล็กน้อยตามที่ผมให้รายละเอียดไว้ก่อนหน้านั้น
สรุปแล้ว น้ำเสียงของภาคปรีแอมป์ Brooklyn Bridge ในโหมดดิจิตัลจะออกไปทางคมชัด ตำแหน่งเสียงแม่นยำ และให้พื้นเสียงที่โปร่งใส โดยส่วนตัวผมชอบแนวเสียงที่ภาคปรีฯ ดิจิตัลของ Brooklyn Bridge ให้ออกมานะ คือพื้นฐานผมเป็นคนที่ฟังเพลงใกล้ลำโพงตรงตำแหน่ง sweet spot ซึ่งปกติแล้ว ผมจะเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงโดยอาศัยฟังรายละเอียดจากหูฟังเป็นตัวอ้างอิง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากลำโพง Focal รุ่น Chora 806 ที่นำมาใช้ทดสอบนี้เป็นลำโพงสองทางวางขาตั้ง ขนาดกำลังดีเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ในห้องรับแขกของผม ผมนั่งฟังห่างจากระนาบของลำโพงทั้งสองข้างออกมาไม่ถึงสองเมตรครึ่ง ซึ่งการใช้ภาคปรีฯ ดิจิตัลในตัว Brooklyn Bridge ขับเพาเวอร์แอมป์โดยตรงทำให้ผมได้รายละเอียดของเสียงที่ต้องขอใช้คำว่า “pure” คือผมรู้สึกได้ถึงความ “ตรงไปตรงมา” ของแต่ละเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เสียงเครื่องดนตรีประกอบในเพลงนั้นๆ ซึ่งทำให้ผมสามารถปรับจูนตำแหน่งของลำโพงได้ละเอียดขึ้นอีก และเมื่อขยับตำแหน่งลำโพงจนเฟสของลำโพงข้างซ้ายและข้างขวาซ้อนกันสนิท (เฟสตรงกันทั้งสเปคตรัม) ผลลัพธ์ที่ได้ยินอะเมธซิ่งมาก! คือผมไม่แค่ “ได้ยิน” แต่ผม “รู้สึก” ได้เลยว่า นักดนตรีแต่ละคนกำลังทำอะไรกับเครื่องดนตรีของพวกเขาบ้าง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ลึกลงไปอีกระดับ และนี่แหละคือลักษณะเสียงที่ผมชอบฟัง! และในช่วงท้ายๆ ของการทดสอบ ผมได้ Linear Power Supply ของ Nordost รุ่น QSource มาลองใช้กับ Brooklyn Bridge ด้วย นั่นเหมือนกับติดปีกให้กับ Brooklyn Bridge คือยิ่งทำให้เสียงของภาคปรีฯ ดิจิตัลมันยิ่งออกมาดีขึ้นไปอีก แฮ้ปปี้มากๆ และกล้าพูดได้เลยว่า ภาคปรีแอมป์ดิจิตัลที่ควบคุมด้วยโปรเซสเซอร์คืออนาคตแน่นอน.!!
ผมฟังภาคปรีฯ ดิจิตัลของ Brooklyn Bridge + EDGE W อยู่นานหลายวัน รอจนแน่ใจว่ามันเบิร์นฯ เข้าที่แล้วจริงๆ สรุปได้เลยว่า สอบผ่านครับ.. ถ้าผมจะเซ็ตอัพซิสเต็มฟังเพลงของผมเองขึ้นมาสักชุดด้วยงบประมาณสักสองแสนบาท โดยให้เอา Brooklyn Bridge เป็นศูนย์กลาง ผมจะไม่รีรอเลยที่จะใช้ภาคปรีฯ ดิจิตัลในตัวมันเป็นตัวตั้งต้น ให้มันทำหน้าที่สองอย่างพร้อมกันคือเป็นทั้ง Network Player และ Preamp ในตัวเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้ผมเหลืองบอีกเกินแสนบาทนิดหน่อย (ราคาของ Brooklyn Bridge อยู่ที่ 99,000 บาท) สำหรับไปควานหาเพาเวอร์แอมป์ที่แม็ทชิ่งกับมันมาใช้ กับลำโพงอีกคู่ (ตอนนี้ผมคิดถึงเพาเวอร์แอมป์ Audiolab รุ่น 8300XP + ลำโพง Wharfedale รุ่น LINTON 85th Anniversary) ซึ่งคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะจากการทดลองจับคู่กับ EDGE W ตัวนี้ผมพบว่า เกนวอลลุ่มของ Brooklyn Bridge ยังมีเหลืออีกเยอะ แสดงว่าเอ๊าต์พุตของมันมีช่วงกว้างให้ใช้ในการแม็ทชิ่งกับเพาเวอร์แอมป์ได้หลากหลายมาก
ทดสอบเฮดโฟน เอ๊าต์พุต
ภาคขยายหูฟังของ Brooklyn Bridge ให้กำลังขับ 6W / 500mA สามารถขับหูฟังฟูลไซร้ AKG รุ่น K720/65th ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่ออกมาได้ดีพอสมควร ส่วนอีกตัวคือ Sennheiser รุ่น HD650 นั้นยังขับออกมาได้ไม่เต็มนัก เทียบกันแล้ว ตอนขับ K720/65th เสียงเปิดผ่อนสบายกว่า
ส่วนรูเอ๊าต์พุตหูฟังที่ให้มาสองช่องนั้น จ่ายกำลังขับออกมาเป็น stereo ทั้งคู่นะครับ ไม่ได้เป็นบาลานซ์ อีกอย่างที่ผมพบจากการทดสอบหูฟังกับ Brooklyn Bridge ก็คือแม้ว่าคุณจะปรับตั้งเอ๊าต์พุตของ Brooklyn Bridge ไว้เป็น “Bypass” แล้วก็ตาม แต่เมื่อเสียบแจ๊คหูฟังเข้าไปปั๊บ ตัวเครื่องจะปลดจากโหมด bypass มาใช้วอลลุ่มควบคุมทันที
ทดสอบอินพุต Analog
ของ Brooklyn Bridge
กรณีที่คุณใช้อินพุตอะนาลอก (ANLG) โดยเฉพาะเมื่อต่อเชื่อมสัญญาณอะนาลอกจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเข้าที่ช่องอินพุต AIN L & AIN R ของ Brooklyn Bridge คุณต้องเข้าไปปรับตั้งเพื่อเลือกภาคขยายหัวเข็มในเมนูของ Brooklyn Bridge ด้วยว่าจะให้เป็น MM หรือ MC
ผมทดลองใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Sony รุ่น PS-HX500 เล่นแผ่นเสียงแล้วเชื่อมต่อสัญญาณจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ไปเข้าที่ช่อง AIN L/R ของ Brooklyn Bridge แล้วไปเลือกอ๊อปชั่นที่หัวข้อเมนู “Analog Input” ของ Brooklyn Bridge ไว้ที่ตำแหน่ง “P MM” ตามประเภทของหัวเข็ม แล้วเลือกเอ๊าต์พุตเป็น “Bypass” ไม่ให้สัญญาณจากภาคขยาย RIAA ในตัว Brooklyn Bridge วิ่งผ่านเฟดเดอร์ต่างๆ ในตัว Brooklyn Bridge ทะลุตรงออกไปที่อินพุตของอินติเกรตแอมป์ Moon รุ่น 340i เพื่อใช้ภาคปรี + ภาคขยาย + วอลลุ่ม ของ Moon 340i ในการควบคุมความดังของเพลงที่ฟัง สลับกับใช้ภาคปรีฯ ดิจิตัลของ Brooklyn Bridge เองต่อเข้าเพาเวอร์แอมป์ Cambridge Audio รุ่น EDGE W
จากการทดลองฟังผมพบว่า ภาคขยายหัวเข็มของ Brooklyn Bridge มีกำลังมากเกินพอสำหรับหัวเข็ม MM ทั่วไป ส่วนภาคขยาย MC นั้นผมไม่ได้ทดสอบ เพราะแท่น Acoustic Signature รุ่น Manfred ที่ติดหัวเข็ม MC ของผมมันเดี้ยงอยู่ แต่คิดว่าภาคขยาย MC ในตัว Brooklyn Bridge น่าจะเอาอยู่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ไปเจอหัวเข็ม MC ที่มีเกนต่ำมากๆ คุณก็ยังมีตัวช่วยอีกก๊อก คือเข้าไปปรับยกความแรงสัญญาณได้จากเมนู “Trim / Gain” อีกทางหนึ่ง
ทดสอบอินพุต Digital
ของ Brooklyn Bridge
ผมยอมรับว่า ปัจจุบันผมได้กลายเป็นนักเล่นฯ + นักฟังเพลง “สาย digital” เต็มตัวไปซะแล้ว ไม่มีเวลาฟังแผ่นเสียงมานานมากแล้ว เวลาที่ใช้ในการทดสอบ Brooklyn Bridge ตัวนี้จึงถูกใช้ไปกับการทดลองฟังจากช่องอินพุต digital ของมันซะเป็นส่วนใหญ่ และแน่นอนว่า ช่องอินพุตที่ทำให้ผมรู้สึกเพลิดเพลินในการทดสอบมากเป็นพิเศษก็คือช่องอินพุต Network ของมันนั่นเอง
ความพิเศษอีกข้อหนึ่งของ Brooklyn Bridge ซึ่งมีผลต่อเสียงมากเป็นพิเศษอยู่ที่ภาค Clock ที่ทำหน้าที่สร้างสัญญาณนาฬิกาเพื่อใช้ sync การทำงานระหว่างสัญญาณดิจิตัลจากช่องอินพุตดิจิตัลแต่ละช่องเข้ากับการทำงานของภาค DAC ในตัว Brooklyn Bridge ซึ่งนับวันคุณภาพของตัว Clock นี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องคำนึงถึง “คุณภาพเสียง” ในสภาวะที่ “ฟอร์แม็ต” และ “เรโซลูชั่นของสัญญาณเพลง” เกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ
คำว่า “คุณภาพของตัว Clock” ที่ผมพูดถึงในย่อหน้าข้างต้นก็คือความสามารถและความรวดเร็วในการคำนวนปริมาณของข้อมูลที่จะป้อนส่งให้ DAC และความแม่นยำในการกำหนดสปีดการทำงานของชิป DAC ซึ่งในตัว Brooklyn Bridge ใช้ตัวสร้างสัญญาณนาฬิกาแบบ “Femto clock” ที่มีความแม่นยำสูงกว่า crystal oscillator แบบธรรมดามากๆ
อินพุต optical กับ coaxial จะใช้ clock ที่ควบคุมอยู่ทางฝั่งของเพลเยอร์ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก Femto clock บนตัว Brooklyn Bridge ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้จากสองอินพุตนี้จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาค clock บนตัวเพลเยอร์ที่ส่งสัญญาณมาให้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเล่นแผ่นซีดีแผ่นเดียวกันบนเครื่องเล่น CD transport สองตัวที่มีราคาต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่า คุณจะได้เสียงที่ดีกว่าจาก CD transport ที่มีราคาสูงกว่า เพราะ CD transport ที่มีราคาสูงๆ มักจะใช้ระบบ clock ที่มีคุณภาพสูงกว่า CD transport ที่มีราคาต่ำกว่านั่นเอง ส่วนช่องดิจิตัล อินพุตที่ได้รับมรรคผลจาก Femto clock แบบเต็มๆ ก็มีช่อง USB กับช่อง LAN (Ethernet)
นี่คือเหตุผลที่ผมเลือกใช้อินพุตสองช่องนี้เป็นหลักเมื่อนึกถึงคุณภาพที่ดีที่สุดจาก Brooklyn Bridge ตัวนี้ โดยเฉพาะช่องอินพุต Network นั้นผมยอมรับว่า Love มาก! เพราะมันทำให้การเล่นไฟล์เพลงมีความสะดวกมากขึ้น สามารถตัดคอมพิวเตอร์ออกไปได้เลย เนื่องจาก MyTek ได้แนะนำแอพฯ เล่นไฟล์เพลงที่เข้ากันได้ดีกับ Brooklyn Bridge มาให้ด้วย ชื่อว่าแอพ “mconnect”
A = ระบุ server (ที่เก็บไฟล์เพลง)
B = สเกลบอกเวลาเล่นที่กำลังเคลื่อนไป (ทางซ้าย, ตัวอย่างคือ 00:18) และเวลาทั้งหมดของเพลงนี้ (ทางขวา, ตัวอย่างคือ 03:07)
C = แจ้งฟอร์แม็ตของไฟล์เพลง, บิตเดฟของสัญญาณ, แซมปลิ้งของสัญญาณ และบิตเรตของไฟล์เพลงที่กำลังเล่น
D = แจ้งลำดับของแทรคในอัลบั้ม (ตัวอย่างคือ 2) ตามด้วยชื่อแทรค
E = ปุ่มควบคุมการเล่นไฟล์เพลง
F = ปุ่มกับสไลด์ที่ใช้ควบคุมวอลลุ่ม
G = แถบรวมเมนูที่เปิดเข้าไปหน้าต่างๆ ของแอพฯ ตัวแรกคือ Player (คือหน้านี้), Queue > ไปยังหน้าที่แสดงรายชื่อเพลงที่เราตั้งไว้รอคิวเล่น, Favorites > เข้าไปยังหน้าที่เก็บเพลงเราชอบ, Browser > เข้าไปเลือก server ที่เก็บไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ, Play to > เลือกเอ๊าต์พุตว่าจะให้เพลงไปเล่นที่โซนไหน
H = เข้าไปปรับตั้งส่วนอื่นๆ ในเมนู อาทิเช่น ตั้งการเล่นไฟล์เพลงแบบ gapless playback ฯ
I = เข้าไปดูรายละเอียดของอุปกรณ์ปลายทาง (DAC)
J = คำสั่งให้เล่นวนรอบเดียว, วนไปเรื่อยๆ แทรคเดียว หรือเล่นวนไปทั้งหมดไปเรื่อยๆ
K = คำสั่งเล่นสลับเพลงอัตโนมัติ
L = ภาพปกอัลบั้ม
แอพฯ mconnect ตัวนี้มีแบบใช้ฟรีด้วย แต่ผมแนะนำให้ซื้อตัวจริงมาใช้จะคุ้มกว่ามาก ราคาประมาณสองร้อยกว่าบาท ซึ่งเป็นแอพฯ ที่ใช้งานไม่ยากและมีอ๊อปชั่นที่จำเป็นๆ มาให้ค่อนข้างครบ โดยเฉพาะหน้าที่หลักๆ ทั้ง 3 ส่วน นั่นคือ การดึงไฟล์ (ฟังท์ชั่น Browser = ลูกศรสีเขียว) ซึ่งสามารถดึงไฟล์เพลงจากแหล่ง server ต่างๆ ได้หลายทาง
อาทิดึงไฟล์จาก NAS ที่อยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน, ดึงไฟล์จากคอมพิวเตอร์ที่แชร์ไฟล์ผ่านเน็ทเวิร์คเดียวกัน, สตรีมไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการต่างประเทศอย่างเช่น TIDAL (ศรชี้สีฟ้า) และ Qobuz, ดึงไฟล์เพลงผ่านเซิร์ฟเวอร์บน Cloud ก็ได้ และสามารถดึงไฟล์เพลงจากฮาร์ดดิสที่เสียบอยู่กับช่อง USB-A ของ Brooklyn Bridge ได้อีกด้วย (ลูกศรสีส้ม) ซึ่งทำให้สะดวกต่อการเล่นมาก ส่วนที่สองคือความสามารถในเชิง “Player” คือสามารถเล่นไฟล์เพลงได้หลากหลาย และมีฟังท์ชั่นที่อำนวยความสะดวกในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงมาให้ครบ
และสุดท้ายคือ “Output” ซึ่งแอพฯ mconnect ตัวนี้สามารถกำหนดเอ๊าต์พุตได้หลายโซน โดยเอาหน้าที่นี้ไปไว้ในหัวข้อ “Play to” (ลูกศรสีเขียว) จากในภาพข้างบนจะเห็นว่า คุณสามารถสั่งให้เพลงที่กำลังฟังไปดังที่อุปกรณ์ตัวไหนก็ได้ที่ปรากฏอยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน ไม่ว่าจะส่งไปทางสาย LAN (UPnP Devices > ลูกศรสีม่วง) หรือส่งไปทางคลื่นไร้สาย Wi-Fi (ส่งผ่านอากาศไปด้วยเทคโนโลยี Google Cast > ลูกศรสีส้ม) และ AirPlay (ลูกศรสีฟ้า)
ทดสอบความสามารถในการเล่นไฟล์เพลง
ของแอพ mconnect ผ่านไปที่ Brooklyn Bridge ทางเน็ทเวิร์ค
อินพุตที่ Brooklyn Bridge ใช้เล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คมีชื่อว่า “NET” ผมทดลองทดสอบความสามารถในการรองรับไฟล์เพลงของอินพุต NET ของ Brooklyn Bridge ด้วยการลองเล่นไฟล์เพลงเดียวกันที่ผมแปลงเอาไว้เป็นหลายฟอร์แม็ต
ไฟล์ WAV
ไฟล์ AIFF
ไฟล์ ALAC
ไฟล์ FLAC
ไฟล์ MP3
ไฟล์ DSF
จากการทดลองผมพบว่า แอพ mconnect ตัวนี้สามารถใช้เล่นไฟล์ได้หมดทุกฟอร์แม็ตที่เรานิยมใช้กันอยู่ในวงการตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น WAV, AIFF, ALAC, FLAC และ MP3 แต่น่าเสียดายว่า ตอนเล่นไฟล์ WAV ภาพปกยังไม่โชว์ คงต้องรออัพเฟิร์มแวร์ในอนาคต แต่ที่น่าประทับใจมากๆ คือปรากฏว่าแอพ mconnect ตัวนี้สามารถเล่นไฟล์ DSF (DSD64) ซึ่งเป็นไฟล์ที่ผมริปมาจากแผ่น SACD ได้ด้วย และโชว์ปกสวยงามเลย! ยอดเยี่ยมมาก
และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่ามันสามารถเล่นไฟล์ MQA ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ออกมาเป็นไฟล์ WAV 16/44.1 แล้วส่งเข้าทางอินพุต NET ของ Brooklyn Bridge แม้ว่าบนจอแอพฯ จะโชว์ว่ากำลังเล่นไฟล์ WAV 16bit / 44.1kHz อยู่ (ศรชี้สีเขียว) ไม่มีอะไรบอกให้รู้ว่าเป็นไฟล์ MQA แต่ภาคดีโค๊ดเดอร์ MQA ในตัว Brooklyn Bridge ที่รับสัญญาณไป สามารถถอดรหัส MQA ออกมาจากสัญญาณนั้นได้จนสุดทาง ดูจากไฟ MQA ที่แสดงเป็นสีฟ้า (ศรชี้สีฟ้า) ได้ออกมาเป็นสัญญาณ 24/352.8 (ลูกศรสีม่วง) ก่อนส่งให้ภาค DAC ในตัว Brooklyn Bridge แปลงออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุต แสดงว่าแอพฯ ตัวนี้เล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คในระดับ bit-perfect จริงๆ ซึ่งเสียงที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเป็นพิเศษจนรู้สึกได้!!!
เมื่อทดลองเล่นไฟล์ฟอร์แม็ต FLAC ที่เป็นไฟล์ไฮเรซฯ แอพฯ ตัวนี้ก็สามารถเล่นได้สบาย และสามารถแสดงรายละเอียดของตัวไฟล์และภาพปกออกมาให้เห็นอย่างสวยงาม (ภาพบนขณะลองเล่นไฟล์ FLAC 24/88.2 = ศรชี้)
แล้วก็มาถึงไฮไล้ท์ของทั้งตัวแอพ mconnect และ Brooklyn Bridge คือตอนลองสตรีมไฟล์เพลงมาจาก TIDAL ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งสองภาพด้านบนนี้คือลักษณะหน้าจอแสดงผลขณะเล่น TIDAL ซึ่งได้ถูกฝังมาในตัวแอพฯ เสร็จสรรพ คือคุณไม่ต้องออกจากแอพ mconnect เพื่อไปเปิดแอพ TIDAL เพียงแค่กดลงไปที่หัวข้อ “Browser” ที่อยู่ด้านล่างของหน้าแอพ mconnect คุณจะพบโลโก้ TIDAL อยู่ด้านบนของหน้า Browser ถ้าต้องการสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL มาฟัง คุณต้องไปสมัครขอใช้บริการกับทาง TIDAL ซะก่อน ผ่านทางเว็บไซต์ของ TIDAL เมื่อจบขั้นตอนสมัครจนได้ user name กับ password มาแล้ว คุณก็เอามากรอกลงในแอพ mconnect ก็สามารถใช้งานได้ทันที และถ้าคุณสมัครใช้บริการระดับ Hi-Fi โดยเสียค่าบริการเดือนละสองร้อยกว่าบาท คุณจะสามารถเลือกสตรีมไฟล์เพลงระดับ Master ซึ่งเป็นไฟล์ FLAC ที่เข้ารหัส MQA มาฟังได้
ภาพข้างบนนี้คือภาพบนหน้าจอแอพฯ ขณะที่ผมเลือกสตรีมไฟล์เพลง Master จาก TIDAL มาฟังผ่าน Brooklyn Bridge สังเกตจากรายละเอียดในวงสีเขียวจะเห็นว่าตัวแอพฯ มันแจ้งข้อมูลให้ทราบว่ากำลังเล่นไฟล์ MQA และที่หน้าจอของ Brooklyn Bridge ก็จะแจ้งข้อมูลตรงกัน (อยากรู้เรื่อง MQA อ่าน ที่นี่ )
roon ready!
อีกหนึ่งอ๊อปชั่นที่คูลมาก!
ดูเหมือน Brooklyn Bridge จะมีความสามารถไม่จบสิ้น นอกจากที่ผมนำมาบอกกล่าวให้ทราบกันไปแล้วนั้น จริงๆ แล้วยังไม่หมด ยังมีความสามารถอีกหลายอย่างของ Brooklyn Bridge ที่ผมยังไม่ได้นำมาบอก แต่มีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะนำเสนอ นั่นคือ Brooklyn Bridge มีความสามารถในการทำงานร่วมกับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลง roon ที่ยอดเยี่ยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่ามันได้ผ่านการปรับจูนให้อยู่ในมาตรฐาน roon ready! เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
roon ready! คืออะไร.? ดีอย่างไร.? ขออนุญาตอธิบายสั้นๆ คือว่า roon เป็นโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่มีประสิทธิภาพสูงมาก มันสามารถปรับตั้งการทำงานของตัวมันเองให้เข้าขากับ end-point หรือ external DAC ที่อยู่ปลายทางซึ่งคอยรองรับสัญญาณเสียงที่เล่นจากไฟล์เพลงบนตัว roon ไปทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอก แต่เนื่องจาก external DAC แต่ละตัว ผู้ผลิตมักจะมีการออกแบบที่แตกต่างกัน การที่จะทำให้ได้เสียงออกมาดีที่สุด ตัวโปรแกรมเพลเยอร์ควรจะต้องล่วงรู้ว่าจะต้องส่งสัญญาณเสียงไปให้ external DAC ในลักษณะใดจึงจะได้ผลลัพธ์ทางเสียงออกมาดีที่สุด ซึ่งผู้ผลิต external DAC จะจัดส่ง source code ของเครื่องที่ตัวเองออกแบบไปให้ทาง roon ทำการ customize การทำงานของ roon ให้เข้าขากับ external DAC ตัวนั้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้เสียงออกมาดีที่สุดเมื่อมาทำงานร่วมกันโดยที่ยูสเซอร์ไม่ต้องเข้าไปปรับตั้งค่าอะไรเลย ซึ่ง external DAC แต่ละตัวที่ผ่านการปรับจูนโดยวิศวกรของ roon เรียบร้อยแล้ว external DAC ตัวนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น “roon ready!” นั่นเอง
ผมใช้โปรแกรม roon เล่นบนคอมพิวเตอร์ Mac mini ที่เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์คเดียวกันกับ Brooklyn Bridge ผ่านทางสาย LAN ไปที่ router ซึ่งการเชื่อมต่อแบบนี้ทำให้ผมสามารถเล่นไฟล์เพลงบน roon แล้วส่งสัญญาณเพลงไปที่ Brooklyn Bridge ผ่านทางระบบเน็ทเวิร์คได้อย่างสบาย แถมยังสามารถใช้แอพ roon remote ที่ลงไว้บน iPad mini2 ของผมทำการควบคุมการทำงานของโปรแกรม roon บน Mac mini ได้อีกด้วย
การที่จะรู้ว่า external DAC ตัวนั้นๆ มีสถานะภาพเป็น roon ready! แล้วยัง ให้ดูตอนเล่นไฟล์เพลงจาก roon ไปที่ external DAC ตัวนั้น จากภาพข้างบนนี้ ซึ่งครอปมาจากภาพบนโน้นอีกที วิธีดูคือให้คลิ๊กที่จุดสีฟ้าๆ (ลูกศรสีฟ้า) จะมีหน้าต่างสี่เหลี่ยมที่ผมล้อมกรอบสีแดงโผล่ขึ้นมา ชื่อว่ากรอบ “Signal Path” ในนั้นจะแสดงรายละเอียดเส้นทางการทำงานของโปรแกรมกับไฟล์เพลงที่กำลังเล่น
external DAC ที่ผ่านการปรับจูนจาก roonlabs จนได้เป็น roon ready! จะต้องมีรูปสเก็ตของตัวเครื่องปรากฏอยู่ในกรอบนี้ (ลูกศรสีเขียว) ขณะเล่นไฟล์เพลง ในกรอบ Signal Path นี้จะโชว์ฟอร์แม็ตและเรโซลูชั่นของไฟล์เพลงที่รับเข้ามา (ลูกศรสีม่วง) จากนั้นถัดลงมาก็เป็นชื่อของ external DAC ที่โปรแกรมส่งข้อมูลไปให้ซึ่งในที่นี้คือ “MyTek Brooklyn Bridge” ถัดลงไปคือการ render หรือสัญญาณที่อินพุตของ external DAC รับมาจากโปรแกรม ซึ่งไฟล์ที่ผมเล่นนี้เป็นไฟล์ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD เป็นไฟล์ WAV 16/44.1 ซึ่ง Brooklyn Bridge แสดงให้เห็นว่ามันสามารถถอดรหัส MQA ออกมาเป็นสัญญาณเสียงไฮเรซฯ ถึงระดับ 24/352.8 ได้ (บนจอของ Brooklyn Bridge โชว์ 24bit – 352.8kHz) ก่อนจะผ่านชิป DAC ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุต
นี่คือความเจ๋งของ Brooklyn Bridge เพราะนี่คือหนึ่งในไม่กี่ตัวของ external DAC ที่สามารถถอดรหัส MQA จากไฟล์เพลงที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ได้ ซึ่งทาง MQA เคยแจ้งว่าไม่ได้ (อยากรู้เรื่อง MQA-CD อ่าน ที่นี่ )
สรุป
เสียงที่ได้ออกมาจากการเล่นไฟล์เพลงผ่าน Network ไปบนตัว Brooklyn Bridge แล้วผ่านภาคปรีฯ ดิจิตัลในตัว Brooklyn Bridge เป็นอะไรที่สุดยอดมาก ที่โดดเด่นสุดๆ คือความบริสุทธิ์เที่ยงตรงของเสียงที่สามารถรับรู้ได้อย่างง่ายดาย อิมเมจ มิติ และเวทีเสียงมีความชัดเจนมากๆ ความโปร่งใสของพื้นเสียงคืออะไรที่ยอดเยี่ยมสุดๆ อาการขุ่นมัวหายไปแทบจะไม่เหลือหลอ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่แก่พรรษาก็สามารถรับรู้ถึงความเยี่ยมยอดของมันได้
ไม่น่าแปลกใจที่ทราบมาว่า Brooklyn Bridge ตัวนี้ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่า ทุกคนที่มีโอกาสได้ทดลองใช้และทดลองฟังเสียงของมันจะต้องเห็นด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไข
Brooklyn Bridge เป็น Network Player/DAC ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะแง่ของความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงที่หลากหลาย, ทางด้านฟังท์ชั่นการใช้งานที่ครอบคลุมมาจนถึงยุคปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ “คุณภาพเสียง” ที่อยู่ในระดับ studio monitor! /
*****************************
ราคา : 99,000 บาท / เครื่อง
*****************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บ. Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: DECO2000Thailand