Play-Fi ระบบเน็ทเวิร์ค สตรีมมิ่ง+มัลติโซน แบบไร้สาย ระดับพรีเมี่ยม จาก DTS

Updated 27-03-20: DTS Play-Fi คืออะไร.? เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพแบบนี้ ถ้าสมมุติ รถบรรทุกเปรียบเทียบเป็น อุปกรณ์เครื่องเล่นมิวสิคสตรีมมิ่งส่วน สินค้าที่ขนส่งกันไปมาบนรถบรรทุกคันนั้น เปรียบเทียบเป็น คอนเท็นต์หรือไฟล์เพลงที่ดึงมาจากอินเตอร์เน็ต/เน็ทเวิร์ค ที่นี้ก็ต้องมีส่วนที่สามที่มีความจำเป็นมากในการที่จะทำให้รถบรรทุก (เครื่องเล่นสตรีมเมอร์) สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า (คอนเท็นต์) ไปสู่ปลายทางที่ต้องการได้ นั่นก็คือ ถนนซึ่งก็คือสิ่งที่ DTS Play-Fi ทำในระบบเน็ทเวิร์คสตรีมมิ่ง ก็คือ แพลทฟอร์มหรือระบบเครือข่ายของ DTS บนเน็ทเวิร์คนั่นเอง !

DTS หรือ Digital Theater Systems เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีเสียง (audio) ที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์และวงการเพลง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1990 เป็นที่รู้จักกันในวงการภาพยนตร์และโฮมเธียเตอร์เมื่อปี 1993 เมื่อ DTS ปล่อยระบบเข้ารหัสสัญญาณเสียงเซอร์ราวนด์ออกมาสู้กับ Dolby Laboratories ในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ซึ่งนักนิยมระบบโฮมเธียเตอร์ในยุคนั้นยอมรับกันว่า เวอร์ชั่นที่เข้ารหัสด้วย DTS ให้คุณภาพเสียงเหนือกว่า Dolby Digital ของ Dolby labs.

เมื่อปี 2016 แบรนด์ DTS ได้ถูกขายให้กับบริษัท Tessera ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Xperi Corporation ในปัจจุบัน

โลโก้ DTS Play-Fi

DTS เป็นผู้ให้กำเนิด Play-Fi ซึ่งเป็นระบบซอฟท์แวร์ที่ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริหารจัดการกับสัญญาณเสียงบนเน็ทเวิร์คไวไฟตามสเปคฯ มาตรฐาน 802.11 รองรับการสื่อสารและรับ/ส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบมัลติรูม เริ่มพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 2012 โดยเริ่มที่เวอร์ชั่น Android ก่อนจะเพิ่มเวอร์ชั่นที่รองรับ iOS ในปี 2013 จากนั้นก็เป็นเวอร์ชั่นที่รองรับ Windows

Play-Fi เป็นระบบเปิด

ต่างจากระบบพื้นฐานที่จัดการกับสัญญาณเสียงผ่านเน็ทเวิร์ค ไวไฟ อื่นๆ อย่างเช่น Sonos และ SoundTouch ของ Bose ตรงที่ Sonos กับ SoundTouch เป็นระบบปิด คือใช้ได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ชื่อเดียวกันเท่านั้น ในขณะที่ Play-Fi เป็นระบบเปิด คือสามารถปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ใดๆ ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงจำนวนหลายแบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยี Play-Fi เป็นระบบพิ้นฐานในการสตรีมไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์ค อาทิเช่น Anthem, Arcam, Audiolab, Definitive Technology, Hewlett-Packard, Integra, Klipsch, MartinLogan, McIntosh, Onkyo, Paradigm, Pioneer, Polk Audio, Rotel, Sonus Faber, Soundcast ฯลฯ

รองรับการสตรีมไฟล์เพลงได้หลายทาง

Play-Fi มีแอพลิเคชั่น เป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้ในการควบคุม/รองรับการสตรีมไฟล์เพลงผ่านทางเทคโนโลยีไร้สายบนอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน Wi-Fi อย่างเช่น ดึงไฟล์เพลงจาก Server ที่รองรับเทคโนโลยี DLNA, รองรับสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์พกพาที่รองรับ AirPlay, รองรับสัญญาณเสียงจาก Spotify Connect, สตรีมสัญญาณเสียงจาก TIDAL, Pandora, Amazon Prime Music, iHeart Radio, Rhapsody, SiriusXM, Qobuz, Juke และสัญญาณเสียงจากสถานีวิทยุบนอินเตอร์เน็ต (internat radio)

แอพลิเคชั่น Play-Fi มีเฉพาะเวอร์ชั่น iOS, Androids และ Windows แต่ไม่มีเวอร์ชั่นบน Mac: OSX

เป็นตัวเชื่อมระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ

Play-Fi ทำให้คุณสามารถดึงไฟล์เพลงจาก music server ที่รองรับมาตรฐาน UPnP (DLNA) ไปยังอุปกรณ์ที่มีภาค DAC เพื่อทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกได้ โดยมีแอพลิเคชั่น Play-Fi ที่อยู่บนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตทำหน้าที่เป็นรีโมทไร้สายในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลง

นอกจากจะควบคุมสั่งงานการเล่นไฟล์เพลงด้วยการจิ้มปลายนิ้วลงบนอุปกรณ์พกพาแล้ว ปัจจุบัน เทคโนโลยี Play-Fi ยังได้เพิ่มเติมความสามารถในการรองรับคำสั่งด้วยเสียง (voice command/voice services) ผ่านทางลำโพง Amazon Alexa ได้ด้วย โดยจะค่อยๆ บรรจุความสามารถนี้เข้าไปในผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อย (แบรนด์ Onkyo, Phorur และ Pioneer เริ่มใช้ฟังท์ชั่นควบคุมด้วยเสียงได้ตั้งแต่เดือน กันยายน 2017)

ไม่ใช่แค่รับ/ส่งสัญญาณเสียงไป/มาระหว่างอุปกรณ์เท่านั้น

ประสิทธิภาพของ Play-Fi มีมากกว่าแค่ดึงไฟล์เพลงไปมาระหว่างอุปกรณ์ที่รองรับ แต่ยังมีความสามารถอื่นๆ อีกด้วย อาทิเช่น

สามารถทำ grouping คือจัดกลุ่มให้อุปกรณ์ที่รองรับ Play-Fi หลายๆ ตัวที่อยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันเล่นเพลงเดียวกัน และควบคุมวอลลุ่มพ่วงไปพร้อมกันได้

สามารถทำ grouping เฉพาะลำโพงที่รองรับ Play-Fi จำนวน 2 ตัวให้เล่นไฟล์เพลงที่เป็นระบบเสียง stereo หรือ grouping ลำโพงที่รองรับ Play-Fi จำนวนหลายตัวเพื่อให้เล่นระบบเสียงเซอร์ราวนด์รูปแบบต่างๆ ก็ได้

แยกอุปกรณ์ที่รองรับ Play-Fi ที่มีมากกว่าหนึ่งตัวออกเป็นโซนๆ เพื่อเล่นเพลงที่ต่างกันในแต่ละโซน

สามารถสตรีม source ที่เข้าทางอินพุต Line In ของอุปกรณ์ตัวหลักไปที่ลำโพงที่รองรับ Play-Fi ในโซนอื่นได้

สามารถสตรีมสัญญาณเสียงจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Windows หรือ Linux ไปที่อุปกรณ์ปลายทางที่รองรับ Play-Fi ได้ โดยใช้โปรแกรม PulseAudio

สามารถสตรีมสัญญาณเสียงที่เป็นแชนเนลเซอร์ราวนด์ด้านซ้าย (Left Surround) และเซอร์ราวนด์ด้านขวา (Right Surround) จากลำโพง Soundbar ที่รองรับ Play-Fi ไปยังลำโพงคู่หลังที่รองรับ Play-Fi ในลักษณะไร้สายได้

เมื่อปี 2016 Play-Fi สามารถสตรีมไฟล์เพลงที่มีความละเอียดสูงถึง 24/96 จนถึงปัจจุบัน สามารถพัฒนาจนสตรีมไฟล์เพลงไฮเรซฯ ได้ถึงระดับ 24/192 แล้ว

********************

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า