คำถามแรก – สายตัวไหนมีผลกับเสียงของซิสเต็มมากที่สุด.?
คำตอบคือ > มีผลมากพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์แต่ละชิ้นในซิสเต็ม
คำถามที่สอง – ถ้าให้อัพสายดีๆ คุณจะเลือกอัพสายตัวไหนก่อน.?
คำตอบคือ > ไม่ตายตัว แต่สิ่งแรกที่เราควรถามตัวเองก่อนจะเริ่มต้น fine tune ด้วยสายต่างๆ ก็คือ “เราต้องการความเปลี่ยนแปลงแบบไหนกับเสียงของซิสเต็มของเรา?”
แนวทางเบื้องต้น
ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ, สายสัญญาณ หรือแม้แต่สายลำโพง ต่างก็ทำให้เสียงของซิสเต็มเปลี่ยนแปลงไปเสมอ มากบ้าง–น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับการออกแบบสายตัวนั้นกับพื้นฐานของซิสเต็มของเรา
โดยพื้นฐานแล้ว สายไฟ, สายสัญญาณ และสายลำโพง จัดอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์ที่ใช้ fine tune เสียงของซิสเต็ม แต่ก่อนที่เราจะทำการ fine tune เสียงของซิสเต็มได้ เราต้องมีความสามารถในการฟังที่แยกแยะเสียงได้ดีพอก่อน สำหรับนักเล่นฯ มือใหม่ที่ยังไม่มั่นใจหูของตัวเองว่าจะฟังแยกแยะได้ดีพอแล้วยัง นักเล่นฯ รุ่นปู่เขาแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเอาไว้ว่า ให้เริ่มต้นด้วยการใช้สายธรรมดาๆ ก่อน ถ้าเป็นสายไฟเอซีให้ใช้สายไฟเดิมๆ ที่แถมมากับเครื่องแต่ละตัว ส่วนสายสัญญาณกับสายลำโพงก็ให้ใช้สายธรรมดาที่มีราคาถูกๆ ไปก่อน สมัยก่อนจะใช้สายสัญญาณดำ–แดงที่แถมมากับเครื่องเล่น และใช้สายไฟธรรมดาที่เดินไฟฟ้าตามบ้านมาใช้แทนสายลำโพง
หลังจากซื้อเครื่องเสียงมาใหม่ การใช้สายไฟ, สายสัญญาณ และสายลำโพงแบบธรรมดาไปเรื่อยๆ จะมีผลอยู่ 2 ทาง ทางแรก คือ เป็นช่วงเวลาที่ปล่อยให้อุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชิ้นถูกใช้งานจนอยู่ในสภาวะเบิร์นฯ จนได้ที่ ซึ่งลำโพงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เวลาเบิร์นฯ นานที่สุด ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ราวๆ 100 ชั่วโมงของการทำงาน ถ้าคุณเปิดฟังวันละ 2 ชั่วโมงก็ใช้เวลาประมาณเกือบสองเดือน
ถ้าเครื่องเสียงยังไม่พ้นเบิร์นฯ ไม่ควรอัพเกรดสายใดๆ เพราะเสียงของซิสเต็มยังไม่นิ่ง ข้อดีของการใช้สายธรรมดากับซิสเต็มใหม่ๆ อีกข้อหนึ่งก็คือ เป็นช่วงเวลาที่เจ้าของซิสเต็มได้มีโอกาสฝึกฝนความสามารถในการฟังของตัวเองไปด้วย โดยฟังจากซิสเต็มของตัวเองแล้วเอามาพิจารณาดูว่า เสียงของซิสเต็มของเราตอนนั้นยังมีส่วนไหนที่เราไม่ชอบใจ.. ซึ่งจริงๆ แล้ว จากประสบการณ์ของผมบอกได้เลยว่า ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่.? ยังไม่ชอบอะไรที่เสียงของซิสเต็มเราให้ออกมา.? และบอกไม่ได้ว่าเสียงที่ดีกว่าเป็นอย่างไร.?
เมื่อผ่านช่วงที่เครื่องเสียงเบิร์นฯ ได้ที่แล้ว และคุณเองมีความมั่นใจในหูของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการ “เรียนรู้” เพื่อปรับหาลักษณะของเสียงที่ดี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของการเล่นเครื่องเสียง
ช่วงของการเรียนรู้
เมื่อหูของคุณสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างของเสียงได้บ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการฝึกฝน หาประสบการณ์ในการฟังเพื่อเสาะหาลักษณะของ “เสียงที่ดี” ต่อไป
วิธีปฏิบัติสำหรับขั้นตอนนี้ก็คือ เรียนรู้เรื่องของการ Setup ตำแหน่งการจัดวางลำโพงให้เข้าใจ (*) ลงมือทดลองเซ็ตอัพและทดลองฟังผลเพื่อพิสูจน์ให้รู้ชัดว่าเราฟังแยกแยะเสียงได้แล้วจริงๆ หรือว่ายังฟังไม่ออก ขั้นตอนนี้คุณควรทดลองซ้ำๆ จนมั่นใจว่า คุณสามารถฟังความแตกต่างของเสียงที่เกิดขึ้นจากการทดลองขยับตำแหน่งลำโพงได้จริงๆ
(*) เทคนิคการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพง
(**) เทคนิคการปรับจูนตำแหน่งลำโพง
เมื่อคุณมั่นใจว่าฟังความแตกต่างของการวางตำแหน่งลำโพงได้แล้ว ให้คุณทำการเซ็ตอัพลำโพงทั้งสองข้างไว้ในตำแหน่งที่ให้เสียงที่คุณชอบมากที่สุด (ขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องกังวลกับคำว่า “เสียงที่ดีที่สุด” เอาลักษณะเสียงที่คุณชอบมากที่สุดไว้ก่อน) จากนั้น ก็มาถึงขั้นตอนการทดลอง fine tune เสียงของซิสเต็มของคุณด้วยสายไฟ, สายสัญญาณ และสายลำโพง ซึ่งคุณสามารถเริ่มต้นทดลองด้วยสายอะไรก่อนก็ได้ แต่ที่ควรปฏิบัติก็คือ ให้เริ่มต้นด้วยสายที่มีราคาต่ำๆ ก่อน /
****************
* จะมีบทความต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้มาให้อ่านอีกเรื่อยๆ เพื่อนำทางไปสู่ “เสียงที่ดีที่สุด” ในอุดมคติจริงๆ ต่อไป