รีวิวเครื่องเสียง Audio-gd รุ่น R-1 ดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์แบบ R-2R Resistor Ladders DAC

DAC หรือ “Digital-to-Analog Converterเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณ “Digitalซึ่งเป็นโค๊ดคณิตศาสตร์ ให้ออกมาเป็นสัญญาณไฟฟ้า “Analogที่ประสาทหูของมนุษย์เข้าใจ ปัจจุบัน DAC เป็นวงจรอิเล็กทรอนิคที่บรรจุอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเสียงหลายชนิด มีทั้ง external DAC, Music Streamer, อินติเกรตแอมป์ และปรีแอมป์

Integrated Chip vs. Discrete

การทำงานของ DAC มีการออกแบบอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ นั่นคือ แบบแยกชิ้น (discrete circuit) กับแบบ รวมชิ้น บนชิป IC (integrated circuit) ซึ่งผู้ผลิต DAC ส่วนใหญ่ในวงการเครื่องเสียงจะเลือกเอาชิป DAC แบบหลังมาใช้ในการผลิตเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียง เพราะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า เนื่องจากมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่มี know-how ทางด้านนี้โดยตรง อย่างเช่น AKM, TI (Burr-Brown), Cirrus Logic และ ESS Technology ได้ทำการออกแบบและผลิตชิป DAC สำเร็จรูปขึ้นมาจำหน่าย ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงก็ไม่ต้องปวดหัวกับการออกแบบภาค DAC ด้วยตัวเอง แค่เลือกซื้อชิป DAC ของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมา จากนั้นก็มาออกแบบวงจรเพาเวอร์ซัพพลายและภาคอะนาลอก เอ๊าต์พุตเข้ามาเสริมก็เสร็จ เป็นวิธีที่ง่ายแต่ก็ไม่สามารถปรับแต่งเสียงได้มากนัก เนื่องจากถูกจำกัดโดยตัวชิป DAC ที่ใช้

แบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มี know-how ทางด้านการออกแบบการทำงานของภาค DAC อยู่กับตัวจะเลือกวิธีการออกแบบในลักษณะแยกชิ้น (discrete) มากกว่า เพราะสามารถปรับจูนเสียงได้ตามใจชอบ และสามารถออกแบบให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่ต้องการได้อีกด้วย

Discrete R-2R Resistor Ladders DAC

R-2R Resistor Ladders เป็นเทคนิคพื้นฐานของการออกแบบ DAC แบบ discrete ซึ่งคนที่เชี่ยวชาญทางด้านอิเล็กทรอนิคส์จะบอกว่า มันเป็นอะไรที่เบสิคมาก! เป็นเทคนิคง่ายๆ ตรงไปตรงมาในการแปลงเปลี่ยนค่าทางไฟฟ้าของสัญญาณดิจิตัล ออดิโอให้ออกมาเป็นแรงดันไฟฟ้า (โวลเตจ) เพื่อนำไปใช้ในการขยายสัญญาณด้วยแอมปลิฟาย แต่ผมต้องขอบอกก่อนนะครับว่า ถ้าไม่ได้ร่ำได้เรียนมาทางอิเล็กทรอนิคส์จริงๆ ก็ใช่ว่าจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง อ่านวนไปวนมาหลายรอบที่ได้มาก็แค่พอจะจับแนวทางได้เท่านั้น

หลักการทำงานของ R-2R Resister Ladders DAC ก็คือการเอา ตัวต้านทาน (resistor) มาต่อพ่วงกันไปเป็นขั้นบันได ซ้ำๆ รูปแบบกันไปเรื่อยๆ ประมาณว่า ถ้าทำ DAC ที่มีเรโซลูชั่นแค่ 4-bit ก็ใช้ตัวต้านทานน้อยหน่อย แต่ถ้าต้องการเพิ่มเรโซลูชั่นขึ้นมาเป็น 8, 16 หรือ 24-bit ก็ต้องใช้ตัวรีซิสเตอร์เข้ามาเบิ้ลเป็นจำนวนทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ

การออกแบบการทำงานของ R-2R Resistor Ladder DAC มีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกเป็นดีไซน์ที่เบสิคมากๆ นั่นคือ เอาโลจิกชิปประเภท data shift registers หลายๆ ตัวมาต่อ อนุกรมพ่วงเป็นชุดเพื่อทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นสัญญาณอะนาลอกตรงๆ โดยไม่มีวงจรตรวจสอบ/แก้ไขความถูกต้อง หรือวงจรชดเชยความเบี่ยงเบนที่เกิดจากความไม่แม่นยำของรีซีสเตอร์เข้ามาช่วยแก้ไข ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้จากการออกแบบด้วยวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับความแม่นยำของตัวรีซีสเตอร์ที่นำมาใช้โดยตรง

ดีไซน์อีกรูปแบบที่มีความเป็นไฮเอ็นด์มากกว่าการใช้ data shift registers logic chips คือการเอารีซีสเตอร์มาต่อขนานกัน แล้วเขียนโปรแกรมที่ใช้ควบคุมการทำงานของแต่ละ bit ลงบนโลจิกชิปประเภท FPGA (Field Programmable Gate Array) ซึ่งการออกแบบด้วยวิธีต่อรีซีสเตอร์แบบขนานนี้จะทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกไปเป็นสัญญาณเอ๊าต์พุตอะนาลอกด้วย clock เพียงค่าเดียว (ในขณะที่การออกแบบด้วยวิธีต่อรีซีสเตอร์แบบอนุกรมใช้ clock ในการแปลงสัญญาณเอ๊าต์พุตอย่างต่ำ 8 – 24 ค่า)

ด้วยรูปแบบการออกแบบด้วยวิธีต่อ resistor แบบขนานที่มีวงจรตรวจสอบและแก้ไขความเบี่ยงเบนของรีซีสเตอร์ ทุกตัวทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า

Audio-gd รุ่น R-1

โดยปกติแล้ว external DAC หรือดีทูเอ คอนเวิร์ตเตอร์ที่ใช้ภาค DAC ที่ออกแบบด้วยเทคนิค R-2R Resistor Ladders โดยใช้วิธีต่อขนานและมีซอฟท์แวร์บน FPGA คุมที่พูดถึงข้างต้นมักจะมีราคาสูง เพราะในการผลิตนั้น ผู้ออกแบบต้องคัดเกรดของตัว resistor กันอย่างเข้มข้นมาก เพื่อให้ได้ตัวที่มีสเปคฯ เท่ากัน หรือแตกต่างกันน้อยที่สุดมาใช้ในการผลิต บางทีอาจจะต้องนั่งคัดเลือกกันเป็นพันๆ ตัวเพื่อให้ได้ตัวที่มีสเปคฯ เท่ากันหรือเบี่ยงเบนน้อยที่สุดแค่ไม่กี่ตัว ทั้งยุ่งยากและทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังต้องมีต้นทุนในการเขียนซอฟท์แวร์ขึ้นมาคอยแก้ไข/ชดเชยให้กับรีซีสเตอร์ด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำให้ 99% ของผู้ผลิตภาค DAC ในท้องตลาดปัจจุบันเลือกที่จะใช้ชิป DAC สำเร็จรูปในการออกแบบซะมากกว่า

ของอะไรที่หายาก และทำยากก็ต้องมีราคาสูงเป็นเรื่องปกติ ในโลกนี้มีผู้ผลิต DAC อยู่ไม่กี่เจ้าที่ใช้วิธีออกแบบภาค DAC ด้วยเทคนิค R2R Resistor Ladders แบบนี้ ที่เอาจริงเอาจังมากๆ เท่าที่ผมเคยผ่านตามาก็มีแบรนด์ MSB Technology ของอเมริกา กับแบรนด์ Rockna ของโรมาเนีย ที่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอ็นด์ฯ ที่มีราคาสูง นอกจากนั้นก็มีแบรนด์เล็กๆ อีกเยอะอย่างเช่น ‘MassdropAirist Audio, Holo Audio, Metrum Acoustics และ Audio-gd ที่ผมกำลังจะทดสอบตัวนี้

รูปร่างหน้าตา

หน้าตาของ Audio-gd R-1 ตัวนี้ไม่ได้สวยงามเลิศหรู แต่มาในบุคลิกของงานเครื่องเสียง DIY ที่ยอมละเลยคอสเมติกบนรูปร่างหน้าตาเพื่อเอางบไปทุ่มให้กับสิ่งที่อยู่ข้างในมากกว่า จะเป็นเจ้าของ DAC ตัวนี้ คุณต้องเป็นคนที่พิศมัย เสียงมากกว่า หน้าตาด้วย

ตัวถังของ R-1 มาในรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีสัดส่วนเหมือนกล่องใส่รองเท้าแต่เตี้ยกว่า คือแผงหน้าแคบเพียง 24 .. ในขณะที่ความลึกอยู่ที่ 36 .. ส่วนความสูงอยู่ที่ 7.8 .. ใกล้เคียงเครื่องมาตรฐานทั่วไป ดูรวมๆ แล้วจะว่าเล็กก็ไม่ใช่ ใหญ่ก็ไม่เชิง ตัวถังประกอบขึ้นมาจากแผ่นอะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีดำโดยรอบ แต่ละชิ้นส่วนถูกขันยึดด้วยน็อตเข้าด้วยกัน

บนแผงหน้าของ R-1 มีฟังท์ชั่นให้เลือกปรับตั้งอยู่บนนั้น จากซ้ายไปขวาเริ่มด้วยปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง หรือปุ่ม Power (1) ซึ่งนอกจากดึงปลั๊กไฟเอซีออกแล้ว เมื่อต้องการปิดเครื่อง ก็มีแค่ปุ่มนี้ที่ตัดไฟเข้าเครื่องโดยไม่มีการทดไฟเลี้ยง (ไม่มีโหมด Standby) ถัดเข้ามาที่บริเวณพื้นที่ตรงกลางหน้าปัดจะมี จอแสดงผล (2) อยู่ด้านบน ซึ่งใช้แสดงผลการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ส่วนด้านล่างของจอมีปุ่มกดเรียงกันในแนวนอนอยู่อีก 3 ปุ่ม เริ่มด้วยปุ่ม “Setting” (3) ใช้สำหรับกดเพื่อเลือกหัวข้อฟังท์ชั่นที่ต้องการปรับตั้ง ถัดไปทางขวาอีก 2 ปุ่มที่เหลือคือปุ่ม “Selector” (4) สำหรับใช้กดเลือกหัวข้อในเมนูย่อยที่ต้องการเลือก ซึ่งมีปุ่มให้กดเดินหน้าหรือถอยหลังแยกกันสองปุ่ม เมื่อกดเลือกหัวข้อที่ต้องการได้แล้วก็ปล่อยให้หัวข้อนั้นกระพริบจนหยุดเป็นการยืนยันการเลือก

อินเตอร์เฟซสำหรับการเชื่อมต่อต่างๆ ถูกนำไปติดตั้งไว้บนแผงด้านหลังของตัวเครื่องทั้งหมด เริ่มด้วยช่องอะนาลอกเอ๊าต์พุต ซึ่ง R-1 มีมาให้เลือกใช้ถึง 3 แบบคือ เอ๊าต์พุตบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR (5) และเอ๊าต์พุตบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ ACSS (7) สำหรับคนเล่นหูฟัง, เอ๊าต์พุตอันบาลานซ์ หรือซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA (6) ส่วนทางด้านอินพุตนั้น R-1 ให้มาเฉพาะที่รองรับสัญญาณดิจิตัล ซึ่งก็ให้มาเกือบทุกรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ Coaxial ผ่านขั้วต่อ RCA และ BNC (8) ให้เลือกใช้, ขั้วต่อ Optical (9) สำหรับสายต่อแบบไฟเบอร์อ๊อปติค, ถัดมาคืออินพุต HDMI (10) ที่รองรับเฉพาะสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นประเภท DVD และ Blu-ray Player และสุดท้ายคือช่องอินพุต USB (11) ที่มีมาให้ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นประเภทเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่เป็นทรานสปอร์ต สุดท้ายคือ ขั้วต่อสายไฟเอซี (12) ที่ให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์ ซึ่งจากการทดลองสลับเปลี่ยนสายไฟฟังดูพบว่า สายไฟดีๆ ช่วยอัพเกรดเสียงได้อย่างชัดเจน ตอนทดสอบฟังเสียงในขั้นตอนสรุปสุดท้ายผมใช้สายไฟของ Life Audio รุ่น LD-3 MK II (กำลังรอทดสอบ)

ดีไซน์ภายใน & สเปคฯ

Audio-gd ได้ทำการออกแบบและผลิตโมดูล resistor Ladder ออกมาตั้งแต่ปี 2014 ชื่อว่า DA-8 สำหรับขายให้นัก DIY เอาไปออกแบบและประกอบ DAC ออกมาใช้กันเอง ซึ่งโมดูลตัวนี้ได้ถูกอัพเกรดปรับปรุงประสิทธิภาพมาเรื่อยๆ เป็น version 2 เมื่อปี 2018 และอัพเกรดล่าสุดเป็นเวอร์ชั่น 2020 DIY version

โมดูล DA-8 v2 (ในกรอบสีแดง ซ้อนกันแถวละ 2 ตัว)

(ลูกศรสีแดง) โมดูล DA-8 v2 ทั้งสี่โมดูล, (ลูกศรสีเขียว) การ์ด Comb0384 ของ Amanero 

ตัว R-1 ที่ผมกำลังจะทดสอบนี้ เป็น external DAC ที่ใช้ภาค DAC แบบ Resistor Ladder ที่ใช้โมดูล DA-8 v2 จำนวน 4 โมดูลเป็นพื้นฐานในการออกแบบ โดยจัดวงจรออกมาเป็นบาลานซ์ มีซอฟท์แวร์ที่ช่วยลด Jitter อยู่บนโปรเซสเซอร์ FPGA พร้อมช่องอินเตอร์เฟซ Update port สำหรับการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ FPGA และอัพเดตเฟิร์มแวร์ของไดเวอร์ Amanero ที่ใช้ควบคุมการทำงานของอินพุต USB อยู่บนแผงด้านหลัง

ช่องอินพุต USB รองรับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการณ์ Windows, OSX, Linux และ ISO รองรับสัญญาณเสียง PCM ระดับ CD Quality 16/44.1 ที่อยู่บนไฟล์ฟอร์แม็ต WAV, FLAC, AIFF, MP3 รวมถึงไฟล์ Hi Res. ที่รองรับได้ทั้งฟอร์แม็ต PCM, DSD และ DXD

ความถี่ตอบสนองอยู่ที่ 20Hz – 20kHz (<0.5dB) ให้อัตราส่วนสัญญาณ/สัญญาณรบกวนอยู่ที่ >110dB ความต้านทานของช่องเอ๊าต์พุตอยู่ที่ <10 โอห์ม เท่ากันทั้งช่อง RCA และ XLR โดยมีความแรงสัญญาณอยู่ที่ 2.5V (RCA) และ 5V (XLR) ดังนั้น ถ้าแอมปลิฟายของคุณมีช่องอินพุต XLR แนะนำให้ทดลองใช้การเชื่อมต่อระหว่าง R-1 กับแอมป์ของคุณทางช่อง XLR ก่อน เพราะว่าถ้าแอมปลิฟายออกแบบเป็นวงจรบาลานซ์แท้ จะได้เสียงที่ดีที่สุดจาก R-1 ยกเว้นในบางกรณีที่แอมป์ดีไซน์เป็นบาลานซ์เทียมอาจจะสู้การเชื่อมต่อผ่านทางช่อง RCA ไม่ได้

การทำงานของฟังท์ชั่นต่างๆ

หลังจากแกะ R-1 ออกมาจากกล่อง จัดการต่อเชื่อมสายต่างๆ เสร็จแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก่อนฟังเสียงของ R-2R Resistor Ladder DAC ตัวนี้มีอยู่ 3 อย่าง

1. กดสวิทช์เปิดเครื่อง
2. เลือกอินพุต
3. เลือกรูปแบบการทำงานของภาค DAC

ก่อนจะอธิบายการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่างๆ ผมขอพูดถึงเมนูหลักๆ ของ R-1 ก่อน ซึ่งหัวข้อเมนูย่อยที่อยู่ในหัวข้อหลัก “Settingของ R-1 จะมีอยู่ทั้งหมด 5 หัวข้อ คือ

1. OS/NOS = ใช้เลือกโหมดการทำงานของภาค DAC ระหว่าง Oversampling กับ Non-oversampling
2. Mode = ใช้เลือกอัตราการทำโอเวอร์แซมปลิ้งกับสัญญาณอินพุตในกรณีที่คุณเลือกโหมดการทำงานของภาค DAC ในตัว R-1 กับอินพุตนั้นไว้ที่ OS mode ซึ่งมีให้เลือก 4 อ๊อปชั่นคือ 0, 2, 4 และ 8 เท่าของสัญญาณตันฉบับตามตัวเลขที่ปรากฏบนจอ
3. Synchronizer = ปรับแก้ปัญหา clock เพื่อซิ้งค์กับสัญญาณที่อินพุต HDMI
4. PLL = วงจร Phase-Lock Loop ใช้เพื่อซิ้งค์การทำงานของภาค DAC เข้ากับสัญญาณที่อินพุต USB และ HDMI มีให้เลือก 2 อ๊อปชั่นคือ “Active” (บนจอโชว์เป็นเลข “1”) กับ “Disable” (บนจอโชว์เป็นเลข “0”)
5. Display = เป็นการปรับเลือกให้จอแสดงผลแสดงค่าที่ปรับตั้งไว้ตลอดเวลา หรือให้จอพักการแสดงผล

จะเห็นว่า การปรับตั้งตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 4 จะเกี่ยวข้องกับเสียงโดยตรง ส่วน ข้อ 5 นั้น เป็นการปิดจอเพื่อไม่ให้รบกวนสายตา แต่จากการทดลองตั้งให้ปิดจอขณะทำงาน ผมพบว่า มันช่วยให้เสียงดีขึ้นนิดหน่อยด้วยนะ เสียงโดยรวมจะลดความแผดจ้าลงนิดนึง ซึ่งข้อ 5 นี้สามารถปรับตั้งขณะเล่นเพลงได้เลย ไม่มีเสียงออกลำโพง ตอนฟังทดสอบขั้นสุดท้ายเพื่อสรุปเสียงของ R-1 ผมจะสั่งปิดหน้าจอไว้ด้วย

หลังจากขั้นตอนแรกคือ กดปุ่ม Power เพื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนที่สองคือ เลือกอินพุตให้กดปุ่ม Selectorที่อยู่ด้านล่างจอแสดงผล จะกดปุ่มลูกศรชี้ไปทางขวาหรือปุ่มลูกศรชี้ไปทางซ้ายก็ได้ กดซ้ำๆ ลงไปแล้วมองที่ตัวเลขบนจอตัวหลังสุด (ลำดับที่สาม) ซึ่งมันจะวนไปทุกครั้งที่กดซ้ำคือ 1 (อินพุต USB), 2 (อินพุต HDMI), 3 (อินพุต Optical), 4 (อินพุต S/PDIF Coaxial/BNC) เรียงลำดับแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต้องการฟังจากอินพุตไหนก็หยุดตรงเลขอินพุตนั้น

ส่วนขั้นตอนที่สาม เลือกรูปแบบการทำงานของภาค DACเป็นการปรับตั้งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและลักษณะเสียงโดยตรง ซึ่งมีขั้นตอนย่อยๆ อยู่ 2-3 ขั้นตอน ดังนี้

1. เลือกโหมดการทำงานของภาค DAC

(*หมายเหตุ : ก่อนจะทำการกดปุ่ม “Settingเพื่อปรับตั้งค่า แนะนำให้หรี่วอลลุ่มที่แอมป์ลงให้สุดก่อน หรือปรับเลือกฟังท์ชั่น Mute ที่ปรีแอมป์ไว้ก่อน ป้องกันว่าอาจจะมีเสียงปุ๊หรือแค๊กเบาๆ ไปดังออกลำโพงเนื่องจากการปรับเปลี่ยนฟอร์แม็ตระหว่าง DSD กับ PCM อย่างเช่น เปลี่ยนจากอินพุต USB ที่กำลังเล่นไฟล์ DSD ไปที่อินพุตอื่นที่รองรับสัญญาณ PCM ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติใดๆ สาเหตุก็เพราะว่า R-1 ไม่มีวงจร Mute ที่เอ๊าต์พุตเพราะผู้ออกแบบต้องการให้เสียงเอ๊าต์พุตมีความบริสุทธิ์มากที่สุดนั่นเอง)

เนื่องจากภาค DAC ในตัว R-1 ถูกออกแบบมาให้ทำงานเป็น 2 โหมด คือ 1. โหมด NOS (Non-Oversampling Mode) กับ 2. โหมด OS (Oversampling Mode) ซึ่งโดยหลักการพื้นฐานแล้ว ถ้าเลือกโหมด NOS (หน้าจอจะแสดงเป็นตัว “n”) ภาค DAC ในตัว R-1 จะนำสัญญาณดิจิตัล ออดิโอที่รับเข้ามาจากอินพุตไปผ่านกระบวนการแปลงค่าทางดิจิตัลของสัญญาณแต่ละหน่วยออกมาเป็นโวลเตจโดยตรง ในขณะที่โหมด Oversampling (“o“) นั้น สัญญาณดิจิตัล ออดิโอจากอินพุตจะถูกนำไปผ่านกระบวนการอัพแซมปลิ้งให้สูงขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนเท่าตามที่เราเลือก ก่อนจะนำไปผ่านวงจร digital filter กรองความถี่ดิจิตัลส่วนที่ไม่ต้องการออกไป จากนั้นก็ส่งต่อไปเข้ากระบวนการแปลงค่าทางดิจิตัลของสัญญาณให้เป็นโวลเตจ ซึ่งแน่นอนว่า สองกระบวนการนี้คือโหมด NOS และโหมด OS จะให้เสียงออกมาไม่เหมือนกัน (ค่อยไปคุยให้ฟังต่อในหัวข้อ เสียงของ R-1”)

ในทางปฏิบัติ แนะนำให้คุณทดลองฟังทั้งสองโหมดก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้ว คุณจะเลือกฟังด้วยโหมดไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณเอง ส่วนวิธีการเลือกโหมดการทำงานของภาค DAC ในตัว R-1 ก็ไม่ยาก เริ่มด้วยการกดปุ่ม “Settingลงไปหนึ่งครั้ง (1) แล้วสังเกตที่จอแสดงผล ตัวอักษรลำดับแรก (2) จะกระพริบ จากนั้นก็ให้กดเลือกไปที่ปุ่ม “Selector” (3) ซึ่งมีให้เลือกสองอ๊อปชั่นคือ “o” (Oversampling Mode) กับ “n” (Non-Oversampling Mode) ต้องการฟังด้วยโหมดไหนก็ปล่อยให้บนจอหยุดไว้ที่โหมดนั้น

การทำงานของฟังท์ชั่น Oversampling

หลังจากคุณกดปุ่ม “Setting” (1) เพื่อเลือกโหมดการทำงานของภาค DAC ในตัว R-1 ไว้ที่ตำแหน่ง “o” (Oversampling Mode) แล้ว จากนั้นให้กดที่ปุ่ม “Settingอีกหนึ่งครั้ง จะสังเกตว่าตัวเลขหลักที่สอง (2) บนจอกระพริบ แสดงว่าอัตรา Oversampling พร้อมให้คุณปรับตั้งแล้ว จากนั้นให้กดที่ปุ่ม “Selector” (3) จะปุ่มซ้ายหรือปุ่มขวาก็ได้ เมื่อกดซ้ำๆ ลงไป ตัวเลขหลักที่สองบนจอจะเปลี่ยนไปเป็น 0, 2, 4, 8 ตามลำดับในไปตามนี้ ความหมายของตัวเลขแต่ละตัวก็คือ อัตราเท่าของการทำโอเวอร์แซมปลิ้งนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณใช้อินพุต Coaxial รับสัญญาณดิจิตัลจาก CD Transport เข้ามา ซึ่งสัญญาณที่เข้ามาอยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัล PCM 16/44.1 ถ้าคุณเลือกฟังท์ชั่น Oversampling ไว้ที่ระดับ “2สัญญาณอินพุต PCM 16/44.1 จะถูกอัพฯ ขึ้นไปเป็น PCM 24/88.2 ก่อนส่งเข้าภาค DAC และถ้าคุณตั้งไปที่ระดับ “4สัญญาณอินพุตจะถูกอัพฯ จากเดิมขึ้นไป 4 เท่า คือจาก PCM 16/44.1 ไปเป็น PCM 24/176.4 ก่อนส่งเข้าภาค DAC เพื่อแปลงออกมาเป็นสัญญาณโวลเตจ (อะนาลอก)

การทำงานของฟังท์ชั่น Non-Oversampling

วิธีเลือกโหมด Non-Oversampling ก็คือกดปุ่ม Setting (1) ให้หน้าจอโชว์ตัวอักษร “nหลังจากนั้น ให้กดปุ่ม Setting ซ้ำอีกครั้ง สังเกตที่ตัวเลขลำดับที่สอง (2) จะกระพริบ จากนั้นให้กดปุ่ม Selector (3) ปุ่มเดินหน้าหรือถอยหลังก็ได้ เมื่อกดซ้ำๆ ลงไปตัวเลขลำดับที่สองบนหน้าจอที่กำลังกระพริบจะเปลี่ยนไปตามลำดับ 1, 2, 3 วนไปตามนี้ ซึ่งตัวเลขทั้ง 3 ตัวนั้นหมายถึงโหมดการทำงานของโปรแกรม digital processing ที่อยู่บน FPGA ซึ่งควบคุมการทำงานของภาค DAC ในตัว R-1 มีอยู่ 3 โหมด ดังนี้

Mode 1 : Simplest data process
Mode 2 : Data FIFO
Mode 3 : Fastest data process

ทางผู้ผลิตไม่ได้ให้ข้อมูลอธิบายการทำงานของแต่ละโหมดเอาไว้ แต่ผมเข้าใจว่า digital processing แต่ละโหมดคือรูปแบบของ digital filter นั่นเอง นั่นก็เท่ากับว่า แต่ละโหมดที่เลือกใช้กับการทำงานของภาค DAC แบบ NOS จะส่งผลต่อเสียงที่ต่างกัน เกี่ยวข้องกับเรื่องของ transient response, pre-echo และ post-echo อะไรพวกนี้ด้วย

Synchronizer & PLL

เมื่อกดปุ่ม Setting ซ้ำสองครั้งจนตัวเลขลำดับที่สามบนหน้าจอของ R-1 กระพริบ ซึ่งตรงนั้นเป็นตำแหน่งของฟังท์ชั่น “Synchronizerมีไว้แก้ปัญหาการ sync สัญญาณระหว่างอินพุต HDMI ของ R-1 กับเพลเยอร์ที่ป้อนสัญญาณเสียงผ่านเข้ามาทางอินพุตนี้ จะปรับใช้ฟังท์ชั่นนี้ก็ต่อเมื่อพบว่า เสียงที่อินพุต HDMI มีปัญหาไม่ดัง หรือดังแบบสะดุด กระท่อนกระแท่น อาจจะเกิดขึ้นกับบางแซมปลิ้งเรต ให้ทดลองปรับตั้งค่าที่ฟังท์ชั่นนี้ ซึ่งมีให้เลือก 2 อ๊อปชั่นคือ On (1) กับ Off (0)

ส่วน PLL หรือ Phase Lock Loop เป็นระบบล็อคสัญญาณมาตรฐานแบบหนึ่งที่ R-1 ใส่เข้ามาให้ใช้เป็นอ๊อปชั่นสำหรับอินพุต USB กับ HDMI ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับตั้งได้ 2 รูปแบบคือ “Active” (1 = เปิดใช้งานฟังท์ชั่นนี้ กับ “Disable” (0 = ปิดการใช้งานฟังท์ชั่นนี้) ทางผู้ผลิตแนะนำให้เปิดใช้ฟังท์ชั่นนี้กับสัญญาณอินพุตที่มาจากแหล่งต้นทางคุณภาพต่ำ อย่างเช่น จากเครื่องเล่นดีวีดีหรือบลูเรย์ราคาถูกๆ* แต่ถ้าสัญญาณที่ป้อนเข้าทางช่อง USB หรือ HDMI มาจากแหล่งต้นทางที่มีคุณภาพสูง ทางผู้ผลิตแนะนำให้ปิดการใช้งานฟังท์ชั่นนี้ (คือปรับตั้งไว้ที่ตำแหน่ง “0”) ซึ่งจากการทดลองของผมพบว่า PLL ทำให้เสียงนิ่งมากขึ้น แต่ส่งผลให้แบนด์วิธของเสียงกับการสวิงไดนามิกแคบลง ผมเลือกตั้งไว้ที่ตำแหน่ง “0คือปิดไม่ใช้ฟังท์ชั่นนี้ตลอดช่วงของการทดลองฟังเสียงเพื่อสรุปผลตอนสุดท้าย

* ต้องปรับตั้ง Audio Output ของเครื่องเล่นดีวีดี/บลูเรย์ ให้เป็นฟอร์แม็ต PCM ด้วย

เตรียมชุดทดสอบ R-1

แม้ว่าทางผู้ผลิตจะแจ้งว่าได้ทำการเบิร์นฯ R-1 ทุกเครื่องจนครบ 100 ชั่วโมง ก่อนจัดส่งออกมาจากโรงงาน ก่อนทำการทดสอบครั้งนี้ผมก็ยังคงยึดหลักการเดิมคือเปิดเบิร์นฯ ไปเรื่อยๆ จนครบ 100 ชั่วโมงจึงเริ่มต้นขั้นตอนแม็ทชิ่ง+เซ็ตอัพ+ปรับจูนจนลงตัวมากที่สุดเท่าที่อุปกรณ์จะอำนวยก่อนจะฟังเก็บรายละเอียดมาสรุปผลการทดสอบ

หลังจากทดลองฟัง R-1 กับอุปกรณ์อื่นๆ มาแล้วจำนวนหนึ่ง ผมก็ได้ซิสเต็มทดสอบที่สามารถสะท้อนประสิทธิภาพของ R-1 ออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน ประกอบด้วย CD Transport ของ Cambridge Audio รุ่น CXC v2 (REVIEW) ทำหน้าที่เล่นแผ่นซีดีแล้วปล่อยสัญญาณดิจิตัลเข้าไปที่ R-1 ทางอินพุต Coaxial ผ่านสายโคแอ็กเชี่ยลของ Kimber Kable รุ่น DV75 สลับกับป้อนเข้าทางอินพุต Optical ของ R-1 ด้วยสายไฟเบอร์อ๊อปติคราคาเส้นละห้าร้อยกว่าบาท

ส่วนอินพุต USB ของ R-1 ผมทดลองป้อนด้วยสัญญาณเสียงที่เล่นผ่านสตรีมมิ่งทรานสปอร์ต 2 ชุด ชุดแรกเป็นของ roonlab รุ่น nucleus+ ซึ่งใช้เพลเยอร์ roon ทำหน้าที่ในการเล่นไฟล์เพลงแล้วปล่อยสัญญาณ PCM กับ DSD ไปที่ R-1 ผ่านสาย USB ของ Nordost รุ่น Blue Heaven โดยใช้ Linear Power Suppy ของ Nordost รุ่น Q Source (REVIEW) เป็นตัวจ่ายไฟเลี้ยงให้กับ nucleus+ ส่วนชุดที่สองเป็นของ Opera Audio รุ่น Consonance X5 (REVIEW) + X7 Linear Power Supply ป้อนสัญญาณเสียงไปที่อินพุต USB ของ R-1 ผ่านสาย USB ของ Nordost รุ่น Blue Heaven

ไฟล์เพลงที่ใช้เล่นกับสตรีมมิ่งทรานสปอร์ตทั้งสองชุดนั้นผมเก็บไว้ใน SSD Harddisk แบบพกพาของ Samsung รุ่น T5 ส่วนชุดแอมป์ที่ใช้ทดสอบร่วมกันผมใช้ 2 ชุด ชุดแรกเป็นอินติเกรตแอมป์ของ Cambridge Audio รุ่น CXA81 ส่วนอีกชุดเป็นชุดแยกชิ้น ประกอบด้วยปรีแอมป์ของ VTL รุ่น TL2.5 จับกับเพาเวอร์แอมป์ VTL MB125 โดยใช้สายสัญญาณ Kimber Kable รุ่น Carbon ระหว่าง R-1 กับปรีฯ TL2.5 และใช้สายสัญญาณของ Tchernov Cable รุ่น Reference ระหว่าง TL 2.5 กับ MB125 และใช้สายลำโพง Thchernov Cable รุ่น Reference DSC SC เชื่อมต่อระหว่าง MB125 สลับกันขับลำโพง 2 คู่ คือ Audiovector รุ่น R1 Arrete (วางขาตั้ง) กับลำโพงตั้งพื้น Wharfedale รุ่น EVO 4.4 (REVIEW)

R-1 + roon nucleus+

การทดลองฟังเสียงของ R-1 ทางอินพุต Coaxial และ Optical โดยอาศัยเครื่องเล่น CD Transport ของ Cambridge Audio รุ่น CXC v2 เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เหมือนเล่นเครื่องเล่นซีดีปกติ แค่กดเลือกอินพุตที่ R-1 ไปที่เลข 4 จากนั้นก็หยิบแผ่นซีดีใส่ลิ้นชักของ CXC v2 แล้วกดปุ่ม Play เท่านั้นเอง แต่ตอนลองฟังทางอินพุต USB ด้วย roon nucleus+ มีรายละเอียดบางอย่างที่ควรรู้

R-1 ใช้การ์ด “Combo384พร้อมซอฟท์แวร์ที่ Audio-gd ซื้อไลเซนต์มาจาก Amanero เพื่อใช้เป็นอินเตอร์เฟซในการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือเน็ทเวิร์ค สตรีมเมอร์ทางช่อง USB ในเว็บไซต์ของ Audio-gd มีไดเวอร์สำหรับระบบปฏิบัติ Windows ของคอมพิวเตอร์ไว้ให้ดาวน์โหลดฟรี ส่วน OSX กับ Linux (ที่ใช้ UAC2 compliant kernel) ไม่ต้องใช้ไดเวอร์ ซึ่งจากการทดลองใช้งานพบว่า สตรีมเมอร์ ทรานสปอร์ตทั้งสองตัวคือ Opera Audio X5 และ roon nucleus+ ไม่ต้องลงไดเวอร์ใดๆ แค่เชื่อมต่อสาย USB ระหว่างกันก็สามารถเล่นกับ R-1 ได้เลย

ข้อมูลในเว็บไซต์ของ Audio-gd ระบุไว้ว่า ช่องอินพุต USB ของ R-1 รองรับแซมปลิ้งเรตของสัญญาณ PCM ตามมาตรฐาน S/PDIF ได้ตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ระดับ 192kHz และตามมาตรฐาน DXD ที่ระดับ 352.8/384kHz และยังรองรับสัญญาณ DSD ได้ตั้งแต่ DSD64 ไปจนถึงระดับสูงสุดที่ DSD512 ด้วย

แต่หลังจากผมเชื่อมต่อ roon nucleus+ เข้ากับช่องอินพุต USB ของ R-1 โปรแกรมเพลเยอร์ roon กลับแจ้งว่า อินพุต USB ของ R-1 รองรับสัญญาณ DSD ได้แค่ระดับ DSD128 เท่านั้น.?

เมื่อผมทดลองเล่นไฟล์ DSD128 (บน) กับ DSD256 (ล่าง) ปรากฏว่า DSD128 สามารถเล่นตรงจาก roon nucleus+ เข้าที่อินพุต USB ของ R-1 ได้เต็มๆ แต่เมื่อเล่น DSD256 เข้าไป ปรากฏว่าเพลเยอร์ roon ต้องทำการแปลง DSD256 ลงมาอยู่ที่ DSD128 ก่อนปล่อยให้ R-1 ..??

เล่นไฟล์ DSF64

เล่นไฟล์ DSF256

โดยปกติแล้ว ไฟล์ที่มีสเปคฯ สูงๆ อย่างพวก 24/192, DSD128 จะมีเกนสัญญาณที่เบากว่าไฟล์ที่มีสเปคฯ ต่ำกว่าอย่างที่รู้สึกได้ชัด (สังเกต spectrum ในกรอบสีแดงสองรูปด้านบนเทียบกัน) แต่ก็ไม่ใช่ความผิดปกติ สาเหตุก็เพราะว่า R-1 ถูกออกแบบมาให้ถ่ายทอดเอ๊าต์พุตออกมาตามความแรงของ เกนสัญญาณของไฟล์เพลงโดยไม่มีการ boost เกนเพิ่มเติมเข้าไป ถ้าคุณใช้โปรแกรม roon เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง คุณจะสังเกตระดับความดังของแต่ละเพลงได้จาก spectrum ที่แสดงบนอินเตอร์เฟซของ roon ซึ่งคุณสามารถปรับระดับความดังให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ต้องการได้ด้วยการเร่งวอลลุ่มของแอมป์ขึ้นมาชดเชย

R-1 & MQA

(*หมายเหตุ : อัพเดตใหม่ วันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2563)

เหตุผลที่ผมต้องทำการอัพเดตข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมจากรีวิวตัวเดิมที่ผมอัพโหลดไว้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ก็เพราะว่า หลังจากผมทำการเชื่อมต่อ Audio-gd R-1 เข้ากับ roon nucleus+ ด้วยสาย USB เสร็จแล้ว หลังจากผมคลิ๊กเปิดโปรแกรม roon remote ขึ้นมาบน iPad mini2 ของผม ผมพบว่า ที่หัวข้อเมนูย่อย “MQA Capabilitiesในเมนู Settings ของ roon ซึ่งเป็นหัวข้อเมนูที่กำหนดให้โปรแกรม roon จัดการกับไฟล์เพลงที่เข้ารหัส MQA ก่อนส่งให้กับ R-1 ซึ่งปกติแล้ว โปรแกรม roon จะทำการตรวจสอบความสามารถในการรองรับการไฟล์ MQA ของ DAC ที่เชื่อมต่ออยู่กับฮาร์ดแวร์ของ roon คือตัว nucleus+ แล้วจัดการเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสมให้กับ DAC ตัวนั้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งที่ผมเคยทดสอบ DAC มาหลายตัวพบว่า การทำงานของแอพฯ roon ในประเด็นนี้ไม่เคยผิดพลาด ถ้า DAC มี MQA decoder โปรแกรม roon จะรู้และเลือกวิธีจัดการที่ให้ผลดีที่สุดให้กับ DAC ตัวนั้นในการจัดการกับไฟล์ MQA

แต่กับ Audio-gd R-1 ตัวนี้ หลังจากเชื่อมต่อและพร้อมใช้งาน ผมพบว่า roon ได้ปรับเลือกอ๊อปชั่นของเมนูย่อย “MQA Capabilitiesสำหรับตัว R-1 ไว้ที่ตำแหน่ง “No MQA Supportและเมื่อเล่นไฟล์เพลงที่เข้ารหัสด้วย MQA เมื่อใด โปรแกรม roon จะทำการถอดรหัส MQA ให้ในระดับซอฟท์แวร์ดีโค๊ดเดอร์ คลี่สัญญาณให้ 1 ชั้น ออกมาเป็น 88.2kHz หรือ 96kHz ขึ้นอยู่กับต้นฉบับของสัญญาณที่ไฟล์เพลงนั้นถูกเข้ารหัสมาจากสตูดิโอ ซึ่งจากวันที่ผมทดสอบก็ได้ผลอกมาแบบนั้น

หลังจากนั้นสองสามวัน คุณเอ็ม จาก M Sound ผู้นำเข้า Audio-gd ส่งไลน์มาแจ้งผมว่า ให้ทดลองปรับตั้งค่าที่หัวข้อ MQA Capabilities เป็น “Decoder and Rendererตัว roon จะส่งข้อมูลไปที่ R-1 เต็มตามสัญญาณต้นฉบับที่มากับไฟล์ MQA ตัวนั้น.? ผมจึงหยิบ R-1 กลับมาทดลองตรงจุดนี้ใหม่ ด้วยการ overwrite คำสั่งที่ช่อง “MQA Capabilitiesจากที่ roon เลือกให้เป็น “No MQA Supportมาเป็น “Decoder and Rendererแล้วลองเล่นไฟล์ MQA ปรากฏว่า โปรแกรม roon ส่งสัญญาณไปที่ R-1 เต็มตามต้นฉบับของไฟล์เพลงนั้นจริงๆ !!!??? (ผมทดลองเลือกเป็น “Decoder Only” ก็ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับเลือกเป็น “Decoder and Renderer“)

ลองเล่นไฟล์ MQA ที่ผมริปออกมาจากแผ่น MQA-CD ซึ่งต้นฉบับสัญญาณที่เข้ารหัส MQA มาคือ 24/352.8 ปรากฏว่า roon ก็ถอดออกมาให้เต็มเป็น PCM 352.8kHz

อัลบั้มนี้ก็เป็นไฟล์ MQA ที่เข้ารหัสจากสตูดิโอมาที่ระดับ 24/88.2kHz ซึ่ง roon ก็ถอดออกมาให้เต็มที่ระดับ PCM 88.2kHz

ลองเปลี่ยนมาสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL ดูบ้าง เลือกสตรีมไฟล์อัลบั้มนี้ซึ่งเข้ารหัสมาจากสตูดิโอเป็น 24/96 บนไฟล์ FLAC 48kHz ก็ปรากฏว่า roon ยอมผ่านให้ R-1 เต็มที่ระดับ 96kHz เช่นกัน

เอาอีกอัลบั้ม ลองสตรีมอัลบั้มนี้ที่เข้ารหัส MQA มาจากต้นฉบับสัญญาณ 24/88.2 ก็ปรากฏว่า roon ยอมจัดการออกมาให้เต็มสเปคฯ ที่ระดับ 88.2kHz เช่นเดียวกัน

**ข้อสังเกต : ยอมรับว่างงเหมือนกัน ปกติแล้ว ถ้า DAC ไม่ผ่านการ qualify รับรองจาก Meridian ว่าเป็น MQA Supported DAC ก็ไม่น่าจะรองรับไฟล์เพลงที่เข้ารหัส MQA มาได้เต็มที่แบบนี้.?? อย่างมาก roon ก็จะคลี่ให้แค่ครึ่งเดียว.?? น่าแปลกมาก เพราะทั้งบนตัวเครื่องและข้อมูลในเว็บไซต์ของ Audio-gd ก็ไม่ได้ยืนยันอะไรว่ารองรับ MQA ด้วย ??

ผมทดลองใช้ roon nucleus+ ตัวเดียวกันนี้ เปลี่ยนไปจับคู่กับ Network DAC ของ Lumin รุ่น T2 ที่กำลังทำการทดสอบเก็บขอ้มูลอยู่ เมื่อลองเล่นไฟล์ MQA อัลบั้มชุด “Brothers In Armsเวอร์ชั่น MQA-CD ไฟล์เดียวกันที่เล่นกับ Audio-gd R-1 ผ่านไปที่ Lumin T2 ผลปรากฏว่า roon แสดงข้อมูลการจัดการกับไฟล์ MQA ตัวนี้ให้กับ T2 ออกมาแบบด้านบน ซึ่งมีข้อความระบุชัดว่า “MQA Full Decoderและระดับของ Signal Path ก็แสดงออกมาเป็น “Enhanced” ตามภาพด้านบน ในขณะที่ตอนเล่นอัลบั้มนี้กับ Audio-gd ตรง Signal Path แสดงออกมาที่ระดับ “Losslessไม่ใช่ Enhanced และไม่มีข้อความ “MQA Full Decoder” ปรากฏออกมาช่วงที่จัดส่งให้ R-1 รับไป

ตามความเข้าใจของผม คิดว่า กรณีของการถอดรหัส MQA ที่ roon กับ Audio-gd R-1 ทำออกมาได้ระดับการถอดรหัสยังไม่เต็ม คือส่วนของข้อมูลที่เก็บมาจากสตูดิโอที่จัดทำอัลบั้มนั้นไม่ได้ถูกถอดออกมาด้วย ถ้าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงด้วยไฟสี ก็คือไฟสีเขียว ในขณะที่เมื่อ roon ทำงานร่วมกับ Lumin T2 ได้ผลลัพธ์ออกมาถึงระดับสูงสุดที่ฟอร์แม็ต MQA ถูกสร้างขึ้นมา คือ MQA Full Decoder หมายความว่า ข้อมูลที่อัลบั้มนี้ถูกเก็บมาจากสตูดิโอได้ถูกถอดออกมาใช้ในการเพลย์แบ็คด้วย ถ้าแสดงผลด้วยไฟก็คือสีฟ้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการถอดรหัสแล้ว

เสียงของ R-1

หลังจากทดลองเล่นไฟล์ที่แพ็คสัญญาณ PCM และ DSD หลากหลายระดับผ่านเข้าทางอินพุต USB ของ R-1 ไปแล้ว ผมพบว่า จะมีเสียงดังปุ๊เบาๆ ออกที่ลำโพงเมื่อเปลี่ยนการเล่นไฟล์ระหว่าง DSD กับ PCM และพบว่าการปรับตั้งการทำงานของ R-1 ระหว่างโหมด Oversampling กับโหมด Non-Oversampling จะได้เสียงออกมาต่างกันค่อนข้างชัดเจน รวมถึงการเลือกอ๊อปชั่น digital processing ระหว่าง 1, 2 และ 3 ก็ให้เสียงออกมาต่างกัน โดยส่วนตัวผมชอบเสียงของ R-1 ผ่านเข้าทางอินพุต USB โดยเลือกการทำงานของ R-1 ไว้ที่ Non-Oversampling แล้วเลือก digital processing ไว้ที่ตำแหน่ง “3

วิธีออกแบบเอ๊าต์พุตให้มีความแรงของเกนตรงตามสัญญาณอินพุตโดยไม่ boost เพิ่มเติมมีผลดีคือทำให้ได้เสียงที่มีความบริสุทธิ์สูง ตรงกับต้นฉบับมากกว่า นั่นคือข้อดีของ R-1 ที่โดดเด่นมากๆ ความเพียวสะอาดของเสียงที่ไม่ผ่านการ boost นำมาซึ่งข้อดีอีกหลายอย่าง อาทิ พื้นเสียงที่ใสและสะอาดอย่างมาก ซึ่งเผยให้เห็นถึงรายละเอียดของเสียงที่ทะลุลงไปถึงเนื้อใน ได้เห็นถึงโฟกัสของตำแหน่งเสียงที่คมชัดมาก มีผลต่อการแยกแยะชิ้นดนตรีต่างๆ ออกจากกันและรับรู้ถึงตำแหน่งจัดวางของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจน รู้สึกได้ว่าเสียงของชิ้นดนตรีหลุดจากตู้ลำโพงออกไปลอยอยู่ในอากาศอย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องพยายามเพ่งก็ได้ยินครบหมดว่าในเพลงที่กำลังฟังนั้นมีเสียงเครื่องดนตรีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แต่ละชิ้นกำลังเคลื่อนไหวด้วยลีลาไหน

ความชัดใส (transparency) ที่ได้จาก R-1 เป็นอะไรที่วิเศษมาก! มันทำให้ทุกชิ้นเสียงมีทรวดทรงที่กระทัดรัด ไม่ฉุไปด้วยไขมัน มีองค์เอวที่กลมกลึงขึ้นรูปเป็นสามมิติ เสียงไหนผอมเพียวเสียงไหนอ้วนหนาสามารถรับรู้ได้ชัดเจนตามนั้น (สายสัญญาณทั้งทางด้านอินพุตและเอ๊าต์พุตของ R-1 มีผลกับการแม็ทชิ่งมาก) และที่เยี่ยมยอดมากๆ คือการจัดวางเวทีเสียงที่มีความโปร่งใสไปทุกอณู ชิ้นดนตรีถูกจัดเรียงเอาไว้อย่างสมดุล มีการคงตำแหน่งที่มั่นคง แยกชั้นเลเยอร์ของความตื้นลึกออกมาได้ละเอียดยิบ การรับรู้ถึงความลึกที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ระหว่างชั้นของดนตรีคนละระนาบของเลเยอร์มีความชัดเจนออกมามากกว่าที่เคยสัมผัสมาจาก external DAC ตัวอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกัน

เสียงจากแผ่นซีดีที่เล่นจาก CXC v2 ผ่านเข้าทางช่องอินพุต Coaxial ของ R-1 เป็นอะไรที่น่าฟังมากๆ ทำให้เห็นถึงแนวเสียงของมาตรฐาน S/PDIF ที่มีเสน่ห์ มันไม่ได้ออกมาชัด ใส เท่ากับเสียงจากการเล่นไฟล์ WAV ผ่านเข้าทางช่องอินพุต USB แต่จุดเด่นของเสียง PCM 16/44.1 จากแผ่นซีดีที่ผ่านเข้าช่อง Coaxial มันอยู่ที่เนื้อมวลที่อิ่มหนา ท่วงลีลาของจังหวะที่เนิบช้านิดๆ เหล่านี้ช่วยเพิ่มความละมุนและบรรยากาศที่อบอุ่นให้กับเสียงเพลงที่ฟัง อยากจะบอกว่า แค่เล่นแผ่นซีดีกับทรานสปอร์ตดีๆ เข้าทางอินพุต Coaxial ของ R-1 ตัวนี้แค่นี้ก็สวรรค์แล้ว (ไม่มี external DAC ตัวไหนที่ให้คุณภาพเสียงออกมาดีเท่ากันทุกอินพุต) อ้อ.. แต่ต้องไม่ลืมว่า สายดิจิตัลมีผลกับเสียงมากด้วย!

แต่ถ้าคุณมีไฟล์ไฮเรซฯ เก็บอยู่เยอะ มีชุดเครื่องเล่นไฟล์เพลงที่มีประสิทธิภาพสูง การเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ผ่านเข้าทางช่อง USB ของ R-1 เป็นอะไรที่พาคุณหลุดไปอีกโลก!

อัลบั้ม : La Fille Mal Gardee (DSF64)
ศิลปิน : The Royal Opera House, Covent Garden; John Lanchbery

ผมขอยกเอาเสียงของอัลบั้มนี้มาเป็นอัลบั้มแรกในการวิเคราะห์เสียงของ R-1 เลย เพราะฟังแล้วชอบมาก เนื่องจากอัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงคลาสสิกที่ผมชื่นชอบมากที่สุด ฟังบ่อยที่สุด เมื่อได้ยินเสียงของอัลบั้มนี้ผ่าน R-1 ออกมา ผมต้องยอมนั่งฟังจนจบอัลบั้มด้วยความขนลุกขนชัน!

เกนสัญญาณของอัลบั้มนี้ค่อนข้างเบาตามมาตรฐานของเพลงคลาสสิกทั่วไป ซึ่ง DAC บางตัวใช้วิธีขยายเกนของสัญญาณเอ๊าต์พุตด้วยวงจรขยายที่ภาค analog output ทำให้ได้เสียงที่ดังขึ้นจริง แต่มีผลข้างเคียงทำให้ความพลิ้วไสวของเสียงฟรุ๊ทและเครื่องสายต้องสูยเสียความมลังเมลืองลงไป ทำให้พีคตรงปลายเสียงของไดนามิกที่สวิงขึ้นไปมีอาการเจิดจ้าผิดธรรมชาติ ซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ผมแทบจะไม่ได้ยินจาก R-1 ตัวนี้ เพราะ R-1 มันปล่อยเกนของเอ๊าต์พุตออกมาตามเกนของสัญญาณเพลงต้นฉบับ ผมเพียงแต่ต้องปรับเร่งวอลลุ่มที่แอมป์สูงขึ้นไปกว่าปกติเพื่อให้ได้ความดังของเสียงที่เพียงพอต่อการรับฟังตามปกติของผม ซึ่งนั่นทำให้ผมได้สัมผัสกับอัตราสวิงของไดนามิกเร้นจ์ที่น่าเกรงขามของอัลบั้มนี้

ได้ยินจากอัลบั้มนี้แล้ว บอกเลยว่า ความใสของพื้นเสียงเป็นคุณสมบัติที่น่าสะพรึงมากสำหรับ R-1 ตัวนี้ ความใสของ R-1 ตัวนี้ทำให้ไม่มีอะไรมาขวางกั้นระหว่างตัวเรากับดนตรีที่กำลังฟัง มันทำให้เสียงดนตรีที่ได้ยินมีความสด กระจ่าง และมีพลังแฝงในตัว ซึ่งแน่นอนว่า ความใสระดับนี้มันมาพร้อมกับความขี้ฟ้อง มันทำให้คุณได้ยินความไม่สมบูรณ์ ซึ่งบอกไม่ได้ว่า มันเป็นความไม่สมบูรณ์มาจากการบันทึกเสียงของงานเพลงที่ฟัง หรือว่ามาจากความไม่สมบูรณ์ของซิสเต็มที่ใช้งานร่วมกับ R-1 หรือว่ามาจากความไม่สมบูรณ์ที่ติดมากับตัว R-1 เอง แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่สมบูรณ์ที่ R-1 ถ่ายทอดออกมานั้น มันหนักหนามากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่คุณคาดหวัง ผมหมายความว่า ถ้าคุณยึดถือ ลักษณะเสียงที่คุณชอบเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น R-1 หรือเครื่องเสียงตัวไหนๆ ก็คงจะมีเรื่องติให้ไม่สิ้นสุด แต่ถ้าเป้าหมายที่คุณปรารถนาคือเสียงดนตรีที่บริสุทธิ์ ปราศจากสีสัน ให้อรรถรสเหมือนฟังดนตรีจริง ผมเชื่อว่า R-1 จะทำให้คุณหยุดคิดเมื่อได้เสียงของมัน!

อัลบั้ม : Falla – The Three Cornered Hat (MQA-CD)
ศิลปิน : Berganza/OSR/Ansermet

ได้ยินไดนามิกที่อัดฉีดพลังได้เต็มๆ สเกลจากอัลบั้มชุด La Fille Mal Gardee แล้วติดใจ รีบกดเข้า Library ของ roon เลือกงานเพลงสวด “The Three Cornered Hatของ Falla ชุดนี้ออกมาฟังต่อทันที เพราะอยากจะรู้ว่า อาการแผดจ้าที่ช่วงพีคของเสียงที่ได้ยินจากอัลบั้มนี้มันเกิดจากการบันทึกเสียงของอัลบั้มนี้เอง หรือว่ามาจากความไม่สมบูรณ์ของภาค DAC ตัวอื่นๆ ที่เคยฟังมา

แค่เสียงรัวกลอง เสียงทรัมเป็ต และเสียงรัวกลับไม้ ในช่วงต้นของแทรคแรกที่ได้ยินผ่านลำโพงออกมาก็ทำเอาผมหูผึ่งแล้วครับ.! ทุกเสียงข้างต้นมันพุ่งผ่านลำโพงออกมาด้วยความสด เร็ว กระจ่าง และมีพลัง แทบจะไม่มีอาการเจิดจ้าจนเกินเลยเหมือนที่เคยได้ยินจาก DAC ตัวอื่น ปลายเสียงที่เป็นช่วงพีคไม่กร้านและจัดเหมือนที่เคยได้ยินจาก DAC บางตัว และไม่ได้มีลักษณะ roll-off เหมือนถูกเฉือนด้วยวงจรฟิลเตอร์ด้วย ที่ผมได้ยินคือปลายเสียงที่พุ่งเปิด ปลายเสียงแตกตัวเป็นอณู และสลายไปในอากาศท่ามกลางความสว่างไสวตลอดเวลาจนวินาทีสุดท้าย (ถ้าเลือก digital processing ที่ตำแหน่ง “1ปลายเสียงจะออกนุ่ม ฟังสบายหูขึ้นมานิดนึงเพราะมีอาการ roll-off นิดๆ แต่ความสดสมจริงด้อยลงไป)

อัลบั้ม : Modern Cool (DSF64)
ศิลปิน : Patricia Barber

อัลบั้ม : Reptile (WAV 24/88.2)
ศิลปิน : Eric Clapton

อัลบั้ม : Machine Head (WAV 24/96)
ศิลปิน : Deep Purple

หลังจากนั้น ผมก็เลือกงานเพลงมาลองฟังกับ R-1 อีกเยอะแยะ ส่วนใหญ่จะได้เสียงออกมาน่าประทับใจทั้งนั้น แม้จะเป็นเพลงแนวหนักๆ ดุๆ อย่างร็อค ก็ยังฟังดี เพราะน้ำเสียงที่ออกมามันยังคงความดุเดือดของแนวเพลงร็อคไว้อย่างที่ควรจะเป็น พลังและอัตราสวิงไดนามิกยังคงมาครบทั้งความฉับไวและน้ำหนัก แต่ที่หายไปเยอะก็คือความหยาบกร้าน ทำให้ฟังได้นานและได้อารมณ์เพลงมากขึ้นเยอะทีเดียว

พอฟังเสียงของอัลบั้มชุด “Reptileซึ่งเป็นแนวสบายอารมณ์ของเอริค แคลปตัน มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่าเสียงที่ R-1 ให้ออกมามันมีอารมณ์เหมือนฟังเสียงของแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ 300B คือมีผสมผสานมาระหว่างเสียงที่เปิดกระจ่าง เร็วและฉับไว แต่แฝงไว้ด้วยความละมุนหู ความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน

สรุป

เป็นไปดังโคลงโลกนิติที่ว่า สนิมเหล็กเกิดแก่เนื้อ ในตนอันว่าคนจะดีได้ก็ต้องดีมาตั้งแต่เนื้อในตนเช่นเดียวกับ คุณภาพเสียงของซิสเต็ม จะดีได้ก็ต้องเกิดจาก ต้นทางที่ดีมาเป็นอันดับแรก ต้นทางสัญญาณที่ดีจะนำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีของระบบ ไม่ได้เริ่มต้นที่แอมปลิฟายดี หรือลำโพงดี

หลายๆ สิ่งที่ R-1 ตัวนี้แสดงตัวออกมาให้ผมได้ยิน มันคือสุดยอดปรารถนาของคนเล่นเครื่องเสียง และคนที่ชอบฟังเพลงในระดับที่เรียกว่า เสพอรรถรสที่เป็นเนื้อแท้ของเพลงอย่างผม บางสิ่งที่ R-1 ให้ออกมานั้น เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากใน DAC ที่มีราคาไม่ถึงแสน

ไม่ว่าคุณจะเคยฟัง external DAC ตัวอื่นที่มีราคาสูงแค่ไหนมาก่อน ถ้าทั้งหมดที่คุณเคยฟังไม่ใช่ R-2R Resistor Ladder DAC คุณต้องลองฟัง Audio-gd R-1 ตัวนี้ให้ได้ และไม่ว่าคุณจะเกลียดหน้าตาที่แสนจะธรรมดาของ R-1 มากแค่ไหน ผมก็ขอยืนยันที่จะแนะนำให้คุณไปหาโอกาสลองฟัง R-1 ตัวนี้ให้ได้ มันคืออะไรที่คุณต้องลองฟัง.. บอกได้แค่นี้.!!! /

**********************
ราคา : 34,000 บาท / ตัว
**********************
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่
HiFi House by M Sound

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า