รีวิวเครื่องเสียง NuPrime รุ่น Omnia SW-8 เน็ทเวิร์ค สวิตช์ ที่มาพร้อมภาคกรองสัญญาณรบกวนจากอินเตอร์เน็ต + LPS-205 ลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลาย

ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุดเครื่องเสียงที่ใช้ฟังเพลง จะมีผลกับคุณภาพเสียงทั้งหมด แม้ว่า สิ่งนั้นจะดูเหมือนอยู่ห่างออกไปจากชุดเครื่องเสียงหลักก็ตาม นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ถ้าใครที่มีความคิดว่ายอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ เป็นความยุ่งยากลำบากใจ เห็นทีจะต้องตัดใจจากกิจกรรมการ เล่นเครื่องเสียงเป็นทางเดียวที่จะหลีกหนีจากข้อเท็จจริงนี้ไปได้

ทว่า สำหรับคนที่ตั้งใจกระโจนเข้ามาเล่นเครื่องเสียงเพราะถือว่าเป็นงานอดิเรกที่รักที่ชอบ กลับมองว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้คือเบาะแสที่พวกเขาจะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีจัดการกับมัน หาวิธีปราบมันให้อยู่หมัด เพื่อผลลัพธ์ของเสียงที่ดีที่สุด!

Network Switchอีกหนึ่งด่านที่เกี่ยวข้องกับเสียง

Network Audio ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่รอคอยให้นักเล่นฯ ค้นพบและหาทางจัดการกับมันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเสียงที่ดีเป็นรางวัล ระบบเพลย์แบ็คของ Network Audio มีความแตกต่างจากเครื่องเล่นซีดีที่เราใช้กันในยุคก่อน คือมีความซับซ้อนมากกว่า เนื่องจาก Network Audio เป็นระบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ทำงานร่วมกัน โดยมีสัญญาณ “Networkทำหน้าที่เชื่อมโยงในการรับ/ส่งทั้งสัญญาณคำสั่งและสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของ ข้อมูลดิจิตัลให้กับอุปกรณ์ทุกตัวที่อยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกัน การเชื่อมโยงที่ว่ามีทั้งทางสาย Ethernet และไร้สาย Wi-Fi

ภาพข้างบนนี้เป็นการจำลองระบบเพลย์แบ็ค Network Audio สองแบบ แบบแรกคือระบบที่ไม่มี Network Switch (ซ้าย) กับแบบที่สองคือมี Network Switch (ขวา)

ในทุกๆ ระบบ Network Audio จะต้องมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “routerทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจ่ายสัญญาณเน็ทเวิร์คให้กับอุปกรณ์ทุกชิ้นในระบบเพื่อให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถสื่อสารและรับ/ส่งสัญญาณเสียงระหว่างกันได้ นอกจาก router แล้ว อุปกรณ์ที่ต้องมีในระบบ Network Audio อีกตัวก็คือ “network streamerซึ่งมีหน้าที่ 2 ประการ ประการแรกคือรับไฟล์เพลงจากแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่อยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันเข้ามาในตัวและทำการจัดการ (เล่น) กับไฟล์นั้นเพื่อดึงสัญญาณเสียงที่อยู่ในไฟล์นั้นออกมา กับอีกหน้าที่ของ network streamer ก็คือ ทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกด้วยภาค DAC ซึ่งในตลาดเครื่องเสียงทุกวันนี้ มี “network streamerอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกเรียกว่า all-in-one คือเป็นเครื่องที่มีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลง กับส่วนที่เป็น DAC อยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนอีกรูปแบบคือ “network player transpotหรือเรียกสั้นๆ ว่า network transport ก็ได้ ตัวนี้ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงอย่างเดียว ต้องใช้ร่วมกับ DAC ที่แยกส่วนเด็ดขาดออกไป

โดยปกติแล้ว router สามารถส่งสัญญาณเน็ทเวิร์คมาที่ตัว network streamer หรือตัว network player transpot ได้โดยตรง ผ่านทางสาย Ethernet หรือไร้สายด้วยคลื่น Wi-Fi ก็ได้ แต่ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว ระบบเน็ทเวิร์คที่ใช้ในบ้านพักอาศัยของผู้คนในปัจจุบัน (บางคนก็เรียกว่า Home Network) มักจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดที่ใช้เน็ทเวิร์คร่วมกันในบ้าน อย่างเช่น คอมพิวเตอร์, ทีวี หรือระบบโฮม ออโตเมชั่น ฯลฯ ทำให้ตัว router ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจ่ายสัญญาณเน็ทเวิร์คให้กับอุปกรณ์ทั้งหมดมักจะถูกติดตั้งไว้ในจุดที่อุปกรณ์อื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างเช่น ในห้องควบคุมระบบสื่อสารของบ้าน (บ้านใหญ่ๆ จะมี) หรือบริเวณห้องรับแขกของบ้าน ซึ่งในกรณีนั้น จึงจำเป็นต้องลากสาย Ethernet (สาย LAN) จาก router ไปที่ชุดเครื่องเสียง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากห้องรับแขกไปมากหลายเมตร ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหา latency หรือความผิดพลาดของข้อมูลเสียงทางด้าน เวลา” (clock) และมีโอกาสที่สาย LAN จะทำตัวเป็นเสาอากาศรับคลื่นรบกวน RF และคลื่นความถี่สูงจากภายนอกเข้ามาในตัวสายและแพร่กระจายไปถึงอุปกรณ์ network player ในระบบ มีผลให้เสียงแย่ลง

ถ้าในระบบของคุณใช้อุปกรณ์ network streamer แบบ all-in-one แค่ตัวเดียว ก็ลากสาย Ethernet จาก router มาแค่เส้นเดียว แต่ถ้าคุณใช้ระบบเพลย์แบ็คที่แยก network player transport + network DAC ก็ต้องลากสาย Ethernet ยาวๆ มาในห้องฟังถึงสองเส้น ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากและการเดินสาย Ethernet ยาวๆ เป็นระยะทางไกลๆ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คลื่น RF และ EM ในอากาศและคลื่นความถี่สูงแทรกซึมเข้าไปในสาย Ethernet และส่งต่อเข้าไปถึงตัว network streamer ได้

ด้วยมูลเหตุเหล่านี้ อุปกรณ์ที่ชื่อว่า “network switchจึงได้อุบัติขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นถึง 2 ประการพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือ ช่วยลดจำนวนสาย Ethernet ที่เดินจาก router มาที่ชุดเครื่องเสียงให้เหลือแค่เส้นเดียว มาเข้าที่ตัว network switch ที่ว่านี้ โดยที่เจ้า network switch จะทำหน้าที่ ขยายช่องทางการเชื่อมต่อไปที่ router เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวน port (หรือช่อง) ต่อเชื่อมบนตัว network switch นั้นๆ (บางตัวก็มี 4 port บางตัวก็มี 8 port คือต่อพ่วงอุปกรณ์ได้ถึง 8 ตัว และถ้าเป็น network switch ที่ใช้ในธุรกิจใหญ่ๆ จะมีช่องเชื่อมต่อมากนับสิบๆ ช่องก็มี)

ประโยชน์อีกอย่างของตัว network switch ก็คือช่วยสกัดกั้นสัญญาณรบกวน (noise) ที่แทรกซึมมากับสาย Ethernet ที่มาจาก router ด้วยการขจัดทิ้งไป ก่อนจะส่งต่อสัญญาณเสียงที่สะอาดแล้วให้กับอุปกรณ์ในระบบด้วยสาย Ethernet สั้นๆ ซึ่งนักเล่นฯ ที่พิถีพิถันมากๆ สามารถเลือกใช้สาย Ethernet คุณภาพสูงที่สั้นๆ ได้ (ช่วยลดต้นทุนสำหรับสาย Ethernet ดีๆ ได้ทางหนึ่งคือไม่ต้องใช้ยาวมาก)

NuPrime รุ่น Omnia SW-8
เน็ทเวิร์ค สวิตช์สำหรับเครื่องเสียงระดับออดิโอ เกรด

แบรนด์ NuPrime เป็นแบรนด์ของไต้หวัน ซึ่งคุณ Jason Lim ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งแบรนด์ NuForce เดิมได้เข้าซื้อกิจการของ NuForce มาบริหารเองและเปลี่ยนชื่อเป็น NuPrime เมื่อปี 2014

NuPrime เป็นแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าที่ออกแบบและผลิตขึ้นด้วยพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทั้งแอมปลิฟาย, DAC และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่ง Omnia SW-8 ตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ NuPrime ที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาสำหรับใช้งานกับระบบเน็ทเวิร์ค ออดิโอ

ครั้งนี้ผมได้รับตัวเน็ทเวิร์ค สวิตช์ Omnia SW-8 พร้อมกับตัว LPS (Linear Power Supply) รุ่น LPS-205 มาทดสอบร่วมกัน

รูปร่างหน้าตาของ Omnia Sw-8

บอดี้ของ Omnia SW-8 มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีเทาเมทัลลิก ขนาดกระทัดรัด ใหญ่กว่าฝ่ามือนิดหน่อย สัดส่วนภายนอกเท่ากับเน็ทเวิร์ค สวิตช์มาตรฐานทั่วไป คือกว้างสิบห้าเซนต์ฯ นิดๆ, ลึกแปดเซนต์ฯ ครึ่ง และสูงแค่สามเซนต์ฯ ส่วนน้ำหนักแค่ 500 กรัม เท่านั้น

ด้านบนของตัวเครื่องมีโลโก้และชื่อยี่ห้อ NuPrime พิมพ์อยู่บนนั้น ส่วนด้านข้างตัวถังที่เป็นเสมือนแผงหน้าของตัวเครื่องมีไฟ LED ดวงเล็กๆ เรียงกันอยู่ 10 ดวง จากซ้ายไปขวาเริ่มจาก “Powerไฟสีเขียว แสดงสถานะการเปิด/ปิดของตัวเครื่อง, “Warningเป็นไฟเตือน ซึ่งจะสว่างขึ้นไปสีแดงเมื่อมีความผิดปกติของตัวเครื่อง ส่วนไฟอีก 8 ดวง (พิมพ์ตัวเลข 1-8) ที่เหลือจะสว่างขึ้นเป็นสีส้มตรงตำแหน่งของ port ที่กำลังถูกเชื่อมต่อใช้งานซึ่งจะกระพริบขณะที่อุปกรณ์ตัวนั้นมีการสื่อสารกับอุปกรณ์ตัวอื่นในเน็ทเวิร์ค

ด้านหลังของตัวเครื่องมีช่อง Ethernet ไว้ให้ใช้ทั้งหมด 8 ช่อง และช่องเสียบขั้วต่อสำหรับอะแด๊ปเตอร์ AC/DC ที่แถมมา

อะแด๊ปเตอร์ AC-to-DC ที่แถมมาชื่อยี่ห้อ “Mean Wellมีกำลังไฟสูงสุด 12W ที่เอ๊าต์พุต 5V/2.4A เป็น AC/DC อะแด๊ปเตอร์เกรดสูงสุดของระดับที่ใช้ในโรงพยาบาลเพราะให้การรั่วของกระแสไฟต่ำมาก (น้อยกว่า 100 ไมโครแอมป์)

ดีไซน์ภายใน

หน้าที่หลักของอุปกรณ์ประเภท Network Switch โดยทั่วไปก็คือใช้ขยายช่อง (port) สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในระบบให้มากขึ้น คล้ายๆ Hub แต่สิ่งที่ทำให้ Omnia SW-8 แตกต่างจาก network switch ทั่วไปก็คือ ประสิทธิภาพที่ได้ถูกปรับปรุงให้ดีกว่า ทั้งในแง่ของ การเชื่อมต่อและในแง่ที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพเสียงด้วย

แม้ว่า Network จะมีใช้มานานแล้วในงานไอที แต่สมัยก่อนไม่ได้มีการใส่ใจในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียงมาก่อน เมื่อ network ถูกนำมาในวงการเครื่องเสียง จึงได้เริ่มมีการพัฒนาอุปกรณ์แต่ละส่วนที่ใช้ในระบบเน็ทเวิร์คเพื่อให้ส่งผลดีต่อ เสียงที่ดีขึ้น ซึ่งในกลุ่มของอุปกรณ์ประเภท network switch ต้องยกให้บริษัท Thunder Data ที่เริ่มสตาร์ทก่อนคนอื่นด้วยการพัฒนาระบบ noise filter ที่ช่วยกรองสัญญาณรบกวนสัญญาณอินเตอร์เน็ตขึ้นมาใช้ โดยให้ชื่อเรียกว่า “Silent Angel Noise Absorberหรือเรียกย่อๆ ว่า SANA และนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Silent Angel ซึ่งทาง NuPrime ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของระบบกรองสัญญาณรบกวน SANA มาใช้ใน Omnia SW-8 ตัวนี้ด้วย และได้นำทักษะกับประสบการณ์สมัยที่ทำผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงแบรนด์ NuForce มาใช้ในการอัพเกรด Omnia SW-8 ให้มีประสิทธิภาพเข้าขั้นมาตรฐานของอุปกรณ์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์มากยิ่งขึ้น

ตัวถังของ Omnia SW-8 ทำด้วยอะลูมิเนียม ซึ่งในวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ยอมรับกันมานานแล้วว่า ตัวถังเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียมจะช่วยบล็อกคลื่นรบกวนจากภายนอกได้ดีกว่าตัวถังที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดปริมาณของ noise หรือสัญญาณรบกวนในตัว Omnia SW-8 ลงไปได้มาก

หน้าที่สำคัญของอุปกรณ์ประเภทสวิตชิ่งคือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ในระบบเน็ทเวิร์คเข้าหากัน ด้วยการรับสัญญาณมาจากต้นทางคือ router แล้วส่งต่อไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่ต่อพ่วงอยู่กับสวิตชิ่งนั้น ดังนั้น ความสามารถในการขจัด noise จาก router ไม่ให้แพร่กระจายไปถึงอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่ต่อเชื่อมอยู่กับสวิตชิ่งตัวนั้นจึงเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมาก ซึ่งนอกจากจะใช้ตัวถังอะลูมิเนียมที่ช่วยป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอกแล้ว Omnia SW-8 ยังได้อัพเกรดภาคจ่ายไฟเลี้ยงแบบ low-noise ขึ้นมาใช้กับสวิตชิ่งตัวนี้ด้วย ซึ่งทำให้สามารถขจัดสัญญาณรบกวนลงไปได้ถึง 17dB

นอกจากนั้น Omnia SW-8 ยังได้ปรับปรุงภาค CLOCK ซึ่งเป็นตัวสร้างสัญญาณนาฬิกาที่ใช้ควบคุมการรับ/ส่งข้อมูลสัญญาณเสียงให้มีความเที่ยงตรงมากที่สุด ด้วยการใช้ตัวกำเนิดสัญญาณ CLOCK แบบ TCXO (Temperature Compensation Crystal Oscillator) และทำให้มีความเบี่ยงเบนน้อยเพียงแค่ 0.1ppm (0.1 part per million) ซึ่งเป็นความแม่นยำที่ สูงกว่ามาตรฐานของตัวกำเนิดสัญญาณนาฬิกา TCXO ทั่วไป มีผลให้สัญญาณรบกวนที่เกิดจากการทำงานของภาค CLOCK ในตัว Omnia SW-8 ลดลงได้มากถึง 20dB

ยังไม่หมด ที่ส่วนฐานของตัวถังด้านในของ Omnia SW-8 ยังได้ถูกแปะด้วยแผ่น absorber ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่น EM ไว้ด้วย จึงช่วยลดการรบกวนจากคลื่น EM ที่แผ่กระจายไปที่แผงวงจรลงไปได้มาก ทำให้สัญญาณเสียงที่ควบคู่ไปกับสัญญาณเน็ทเวิร์คที่วิ่งไปบนแผงวงจรมีความสะอาดปลอดจากการรบกวนของคลื่น EM

NuPrime รุ่น LPS-205
ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ สัญญาณรบกวนต่ำ

เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอัตราบริโภคไฟต่ำๆ อย่างพวก DAC, Streamer, media player และ media server จะอ่อนไหวต่อการถูกรบกวนจากอะแด๊ปเตอร์แบบสวิทชิ่งได้ง่าย การเปลี่ยนมาใช้ไฟเลี้ยงจากภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ฯ (Linear Power Supply หรือ LPS) ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงจากปัญหาการรบกวนอย่างได้ผล อีกทั้ง LPS ที่ออกแบบมาดีพอ ยังช่วยทำให้ได้คุณภาพเสียงดีขึ้นด้วย เนื่องจากการจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

ตัวถังภายนอกของ LPS-205 มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมตันๆ ขนาดกระทัด กว้างแค่สิบห้าเซนต์ฯ ครึ่ง, สูง 6 เซนต์ฯ และลึก 11 เซนต์ครึ่ง แผงหน้ามีลักษณะโค้งมน มีไฟ LED อยู่ 4 ดวงแสดงสถานะการเปิด/ปิดเครื่อง และแสดงสถานะการทำงานของวงจรป้องกันกรณีเกิดปัญหา overheat ของวงจรภายในและของทรานฟอร์เมอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ่ายไฟเลี้ยงด้วย ที่ผนังด้านข้างซ้ายของตัวถังมีเจาะช่องระบายความร้อนเอาไว้ ไม่ควรจะวางชิดผนังตู้หรือในที่อับทึบ เพื่อให้การระบายความร้อนจากภายในสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งสวิทช์เปิด/ปิดเครื่อง, กระบอกใส่ฟิวส์, เต้ารับไฟ AC ขาเข้าแบบสามขาแยกกราวนด์ และขั้วจ่ายไฟ DC ถูกติดตั้งไว้ที่แผงด้านหลังทั้งหมด ซึ่ง LPS-205 ตัวนี้ให้ช่องจ่ายไฟเลี้ยงหลักๆ 2 ชุด ซึ่งแต่ละชุดมีขั้วต่อมาให้ 2 แบบคือ ปลั๊กขาเสียบทรงกระบอกขนาด 5.5mm x 2.1mm กับช่องเสียบ USB-A ซึ่งในแต่ละชุดนั้น ถ้าเสียบใช้งานแค่ช่องใดช่องหนึ่ง (5.5mm x 2.1mm หรือ USB-A) จะจ่ายไฟ DC 5V ด้วยกระแสสูงสุดได้ 2A แต่ถ้าต่อทั้งสองช่องพร้อมกันไฟจะแบ่งกันไปตามอัตราบริโภคของเครื่องที่เสียบ

ดีไซน์ภายใน

LPS-205 ใช้ MOSFET ในการจ่ายไฟทำให้ noise ต่ำ ระบบระบายความร้อนภายในตัวเครื่องออกแบบโดยไม่ใช้พัดลม ใช้ไอโซเลต ทรานฟอร์เมอร์แบบแกน EI ในการจ่ายกระแส จึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสัญญาณรบกวนขึ้นกับตัว Omnia SW-8 ที่มาดึงไฟไปใช้ นอกจากนั้น ยังใช้กาวอีพ็อกซี่อัดผนึกตัวทรานฟอร์เมอร์เอาไว้เพื่อลดอาการสั่นสะเทือนขณะทำงาน จึงช่วยให้ได้ความสงัดมากยิ่งขึ้น

มีวงจรฟิลเตอร์สำหรับคลื่น EM, ใช้ระบบเปิดไฟเข้าเครื่องแบบ soft start, ใช้แคปาซิเตอร์ตรงเอ๊าต์พุตที่มีขนาดใหญ่ถึง 35,000 ไมโครฟารัด, มีระบบป้องกันฟ้าผ่า, มีระบบป้องกันโอเว่อร์โหลดของโวลเตจและกระแส และระบบป้องอุหณหภูมิสูงเกินไป

LPS-205 ถูกออกแบบมาให้ใช้จ่ายไฟแทนอะแด๊ปเตอร์แบบสวิทชิ่งที่แถมมากับตัว Omnia SW-8 โดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงไปกันได้ดีในทุกด้าน

ทดสอบ

ผมดึงสาย LAN (Ethernet) ยาวๆ จาก router/modem ของ True ข้ามฟากจากผนังซ้ายไปที่ผนังขวาด้านที่วางชุดเครื่องเสียงด้วยสาย LAN ที่ยาวประมาณ 10 เมตร ไปเข้าที่ตัว gigabit ethernet switch ระดับ IT grade ของ D-Link รุ่น DGS-1008A ที่ผมใช้อยู่เดิม จากนั้นผมก็ใช้สาย Ethernet เส้นสั้นๆ ต่อจากกล่อง network switch นี้ไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นๆ ในชุดเครื่องเสียงที่ต้องใช้สัญญาณเน็ทเวิร์ค

network switch ยี่ห้อ D-Link ที่ผมใช้อยู่เดิม (ตัวที่อยู่ในมือ) ขนาดใกล้เคียงกับ Omnia SW-8

ในการทดสอบครั้งนี้ ทำได้ง่ายมาก คือผมแค่นำตัว Omnia SW-8 เข้าไปสลับแทนตัว D-Link ที่ผมใช้อยู่เดิมแล้วฟังเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง

หลังจากนั้น ผมก็นำตัว LPS-205 ที่ใช้จ่ายไฟให้ Omnia SW-8 มาใช้จ่ายไฟให้กับ Omnia SW-8 แทนที่อะแด๊ปเตอร์ที่แถมมากับตัว Omnia SW-8 แล้วทดลองฟังเทียบระหว่าง ใช้อะแด๊ปเตอร์กับใช้ตัว LPS-205 เป็นการสรุปผลสุดท้าย

ผลทางเสียงระหว่าง
D-Link DGS-1008A vs. NuPrime Omnia SW-8

ไม่ต้องฟังนานเลย.!! แค่เพลงเดียวก็รู้เรื่องแล้ว สิ่งแรกที่สัมผัสได้ทันทีที่เปลี่ยน Omnia SW-8 เข้าไปแทน D-Link ก็คือความสะอาดของเสียง โดยเฉพาะเสียงของโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านแหลม และจะยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้นกับเครื่องดนตรีที่ทำมาจากโลหะ อย่างพวก เสียงฉาบและเสียงไฮแฮทของกลอง และเสียงเพอร์คัสชั่นบางชนิด ซึ่งฟังจากเพลงทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นงานบันทึกเสียงของค่ายไฮเอ็นด์ฯ จะฟังออกชัดยิ่งขึ้น

อัลบั้ม : The Very Best Of Sweet Rock (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
ค่าย : EMI

ผมตั้งใจเลือกอัลบั้มนี้มาลองฟังเป็นอันดับแรก เพราะเพลงแนวร็อคจากค่ายเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไปมักจะมีอาการหยาบและมีสากเสี้ยนเยอะ ถ้าพื้นเสียงของระบบเพลย์แบ็คไม่สะอาดพอ จะยิ่งส่งเสริมความหยาบและสากเสี้ยนให้แยงหูมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับอัลบั้มแนวรวมเพลงฮิตแบบนี้ด้วยยิ่งชัดมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ยินมันก็ฟ้องให้ได้ยินว่า D-Link กรอง noise ที่มาตาก router ได้ไม่หมด เสียงที่ออกมาจึงมีความหยาบ สาก และแยงหู เมื่อเปลี่ยนมาที่ Omnia SW-8 ผมพบว่าอาการหยาบ สาก และแยงหูลดน้อยลงมาก บางเพลงนั้นฟังชัดขึ้นเลยว่า อาการปลายเสียงแตกซ่านมันมาจากตัวเพลงเอง ซึ่งอาจจะเป็นความผิดพลาดมาจากการบันทึกเสียง/มิกซ์เสียง หรือมาสเตอริ่ง หรือเกิดจากขั้นตอนการปรับตั้งเสียงตอนตัดแผ่นซีดี ซึ่งพื้นเสียงของระบบเพลย์แบ็คที่สะอาดมากขึ้น ทำให้พื้นเสียงมีความใส (transparent) มากขึ้น จึงทำให้สามารถฟังทะลุลงไปที่แต่ละเสียงได้ง่ายขึ้น ชัดขึ้น

อัลบั้ม : Lesley Olsher (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Lesley Olsher
ค่าย : Vital Records

หลังจากลองฟังเพลงจากค่ายเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไปจำนวนหนึ่ง ผมก็ลองวกกลับมาลองฟังเพลงที่จัดทำโดยค่ายเพลงไฮเอ็นด์ฯ ดูบ้าง เพื่อดูว่า ถ้าเป็นเพลงที่บันทึกมาดีมากๆ อยู่แล้ว เจ้าตัว Omnia SW-8 มันจะเข้ามาช่วยอะไรได้อีกมั้ย.? ปรากฏว่าพอฟังมาถึงอัลบั้มนี้ ผมก็ได้ยินอะไรบางอย่างที่น่าสังเกต คือพอสลับเปลี่ยน Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเดิมของผม รู้สึกได้เลยว่า Omnia SW-8 ทำให้ผมสัมผัสกับ แอมเบี้ยนต์ในอัลบั้มนี้แผ่กระจายออกมาได้ชัดขึ้น ซึ่งที่มาของการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ผมทราบดีอยู่แล้วว่ามันให้แอมเบี้ยนต์ได้ดีมาก เสียงโดยรวมเปิดโล่ง โปร่งตลอดทุกด้าน ซึ่ง Omnia SW-8 ช่วยทำให้ความรู้สึกเปิดโล่งแบบนั้นปรากฏออกมาในห้องฟังของผม ซึ่งตอนใช้ D-Link ก็พอมีมวลแอมเบี้ยนต์แผ่ออกมาให้รู้สึกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ฉ่ำและแผ่กว้างเท่ากับตอนเปลี่ยนมาใช้ Omnia SW-8

นอกจากนั้น ผลจาก ความสะอาดของพื้นเสียงที่ปราศจากการรบกวนของ noise รูปแบบต่างๆ มันทำให้ผมรับรู้ถึง inner detail ของแต่ละเสียงได้ชัดขึ้น รับรู้ถึง อารมณ์ของการบรรเลงและการขับร้องของศิลปินได้ชัดขึ้น ใกล้ชิดเข้าไปกับสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับเราได้มากขึ้น !!

อัลบั้ม : Ballad With LUV (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Salena Jones
ค่าย : JVC

จากอัลบั้มชุดนี้ซึ่งบันทึกเสียงมาดีมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแยกชิ้นดนตรีทำได้ดีมาก คุณสามารถชี้ชัดตำแหน่งของเสียงแต่ละชิ้นออกจากกันได้ง่าย เมื่อเล่นบนซิสเต็มเดิมของผมที่เปลี่ยนเอา Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเก่า ผมพบว่า ความสะอาดของพื้นเสียงที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกถึง space หรือระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีที่ชัดขึ้น ได้ยินละอองของฮาร์มอนิกที่เกิดจากเครื่องดนตรีต่างๆ ที่แผ่ออกมาและรวมตัวกันเป็นมวลแอมเบี้ยนต์ที่คละคลุ้งอยู่ในช่องว่างเหล่านั้นได้ชัดขึ้น

ความเนียนและความต่อเนื่องของไดนามิกคอนทราสน์ก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ผมสังเกตพบว่าดีขึ้นหลังจากเปลี่ยน Omnia SW-8 เข้าไป ซึ่งผมสังเกตว่า หลังจากเปลี่ยนเอา Omnia SW-8 ลงไป ผมรู้สึกว่า ช่วงนาทีแรกๆ จะมีแค่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับภาพรวมๆ ของเสียงแค่นิดหน่อย คือรู้สึกว่ามีอะไรต่างออกไปจากเดิมแน่ๆ แต่ระบุชัดไม่ได้ ต้องใช้เวลานั่งฟังต่อไปอีกสักพัก จึงจะเริ่มเข้าสู่สภาวะของการ รับรู้ถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผมนึกถึงการเอาสารส้มลงไปคนในน้ำขุ่นๆ ต้องรอสักพักน้ำขุ่นๆ นั้นถึงจะเริ่มใสและมองเห็นตะกอนที่แยกตัวออกมาจากน้ำได้ชัดขึ้น ในซิสเต็มเดิมที่มี noise ปะปนอยู่เยอะๆ และมีความผิดพลาดของ เวลาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยกรองสัญญาณรบกวน (noise) ออกไปจากระบบ ต้องให้เวลาในการ setup ระบบและเซ็ตอัพ clock ของระบบใหม่สักช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่า ทุกอย่างจะเข้าที่ไปสู่ new normal ที่ภาพรวมทุกอย่างดีกว่าเดิม

สรุป

ผมนั่งฟังเสียงของซิสเต็มตัวเองหลังจากการสลับเปลี่ยนตัว network switch ของ Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเดิมแล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าจะมีคำถามว่า เครื่องเสียงชิ้นนั้นชิ้นนี้ให้เสียง คุ้มมั้ยเราจะใช้วิธีวัดปริมาณยังไง.? ถ้าพูดตามหลักการก็คือ เอา คุณภาพเสียงที่ได้จากเครื่องเสียงชิ้นนั้นตั้ง แล้วเอา ราคาขายของเครื่องเสียงชิ้นนั้นไปหาร ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว การคำนวนอะไรแบบนี้มันยากมากที่จะให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม

วิธีที่ผมใช้ก็คือต้องอาศัย ประสบการณ์เข้ามาเสริมในการประเมิน ซึ่งการลงทุนกับ NuPrime Omnia SW-8 ด้วยเงินหมื่นกว่าบาท เมื่อเทียบกับคุณภาพเสียงที่ได้ยินออกมาจากซิสเต็มเดิมแล้ว จากประสบการณ์ของผม ต้องขอบอกเลยว่า โคตะระ คุ้มเลยครับ! ส่วน LPS-205 ช่วยเพิ่มน้ำหนักเสียงกับความต่อเนื่องขึ้นมาอีกประมาณ 10-15% /

********************
ราคา Omnia SW-8 : 16,900 บาท / ตัว
ราคา LPS-205 : 13,000 บาท / ตัว
* หมายเหตุ ราคานี้จะอยู่ถึงสิ้นปี 2020 เท่านั้น ปีหน้าราคาจะขึ้นไปอีกประมาณ 10%
********************
สนใจติดต่อที่
website WYSIWYG Thailand
facebook WYSIWYG Thailand
********************
หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่
Shopee

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า