เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า หูฟังตัวโน้น–ตัวนี้ “ให้เสียงเหมือนจริง” กันอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งลงไปจริงๆ แล้ว คำว่า “เหมือนจริง” ที่พูดๆ กันนั้น มันมีความหมายถึงอะไรกันแน่ ถ้าคำว่า “เหมือนจริง” ที่ว่ากันนั้น หมายถึงความเหมือนจริงอย่างที่เพลงนั้นถูกบันทึกมาในสตูดิโอ ก็ต้องกลับไปดูว่า เพลงที่ถูกอ้างถึงนั้น มีกระบวนวิธีการบันทึกเสียงมาแบบไหน.? ถ้าเพลงนั้นถูกบันทึกเสียงมาด้วยกระบวนการบันทึกเสียงแบบที่เรียกว่า multi-track recording ซึ่งเป็นการบันทึกแยกเสียงแต่ละชิ้นดนตรีแล้วนำมา mixed รวมกันทีหลัง แบบนี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า mixing engineer ได้ใช้เทคนิคอะไรเข้าไปทำการปรับจูนเสียงดนตรีแต่ละชิ้นบ้าง ซึ่งปกติแล้ว ในขั้นตอนการมิกซ์ดาวน์ เสียงดนตรีและเสียงร้องจะถูกปรับแต่งให้มีลักษณะที่โปรดิวเซอร์และศิลปินต้องการให้เป็น จึงมีความเป็นไปได้มากว่า เสียงของเครื่องดนตรีที่เราได้ยินในเพลงนั้นๆ อาจจะไม่ได้เป็นเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ที่ถูกบันทึกมาในตอนแรกก่อนมาถึงขั้นตอนการมิกซ์ฯ
แต่ถ้าจะบอกว่า “เสียงเหมือนจริง” หมายถึง เสียงของเครื่องดนตรีและเสียงร้องที่เราได้ยินในธรรมชาติโดยไม่ผ่านการบันทึกเสียงด้วยไมโครโฟน หรือผ่านเครื่องขยายเสียง ความหมายนี้ก็ใช้ได้เฉพาะกับเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอะคูสติกล้วนๆ ไม่ผ่านวงจรขยาย และถูกบันทึกเสียงด้วยกระบวนวิธีบันทึกเสียงแบบที่เรียกว่า direct-to-master ที่ไม่มีการปรับแต่งเสียง ตัดขึ้นตอนการ mixdown ลงไป แต่ก็อีกแหละ.. ถ้าเราไม่เคยฟังเสียงจากมาสเตอร์ของอัลบั้มนั้นๆ มาก่อน ก็ยากที่จะรู้ว่าเสียงที่ได้ยินจากลำโพงหรือหูฟังตัวนั้นๆ จะออกมาเหมือนจริงหรือไม่เหมือน
ถ้าเป็นเช่นนั้น คำพูดที่ว่า “ให้เสียงเหมือนจริง” มันสื่อความความหมายถึงอะไรกันแน่.??
personal preference
“ความเหมือนจริง” ที่อยู่ในใจเรา..
เพราะประสาทหูของเราไม่ได้ต้องการความถูกต้อง 100% ในการที่จะยอมรับกับทุกเสียงที่รับเข้ามา และเราก็สามารถสร้างจินตนาการเชื่อมต่อกับอรรถรสของเพลงที่รับฟังต่อไปได้โดยไม่รู้สึกติดขัด เช่นเดียวกับการชมภาพยนตร์ ซึ่งประสาทตาของเราก็ไม่ได้ต้องการความถูกต้อง 100% ของสิ่งที่เห็นบนจอและพร้อมที่จะเชื่อไปตามนั้น ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่า ภาพบนจอนั้นคือการแสดงและการถ่ายทำ ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ใจของเราก็พร้อมจะเปิดรับ เชื่อและสนุกไปกับเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ที่ดูได้โดยไม่ติดขัดอะไร
ในยุคแรกๆ ของวงการไฮไฟฯ นั้น อุปสรรคใหญ่ที่จะสั่นคลอนความเชื่อในเสียงที่ผ่านเข้ามาในหูของเราก็คือ noise หรือ เสียงอื่นๆ ที่ผสมเข้ามากับเสียงที่ออกมาจากลำโพงหรือหูฟัง อย่างเช่น noise หรือสัญญาณรบกวนที่เกิดจากวงจรอิเล็กทรอนิคที่ใช้อยู่ในระบบเพลย์แบ็ค อย่างเช่น เสียงฮีส, เสียงซ่า และเสียงฮัม หรือสัญญาณรบกวนที่เกิดจากการทำงานที่เกินขีดความสามารถของอุปกรณ์พาสซีฟ อย่างเช่น เสียงกระพือของไดอะแฟรมของไดเวอร์ลำโพงที่เกิดบิดเบี้ยว (breakup) จากการถูกขับเกินกำลัง หรืออาการแตกซ่านของเสียงแหลมที่เกิดจากไดเวอร์เสียงแหลม (ทวีตเตอร์) ถูกขับเกินกำลัง หรือเสียงคลื่นวิทยุที่แทรกซึมเข้าไปในระบบผ่านสายสัญญาณและสายลำโพง ฯลฯ
แอมปลิฟายยุคใหม่ๆ ในปัจจุบันมีคุณภาพดีขึ้นมาก วงจรขยายที่ออกแบบมาดี และการออกแบบภาคจ่ายไฟที่ดี ประกอบกับอุปกรณ์คอมโพเน้นต์แต่ละชิ้นที่ประกอบอยู่บนแผงวงจรมีคุณภาพสูงขึ้นมาก แผงวงจรก็มีการออกแบบระบบกราวนด์ที่ดีขึ้น เหล่านี้ทำให้สัญญาณเสียงที่ผ่านวงจรขยายของแอมปลิฟายยุคใหม่ๆ มีค่า S/N ratio ที่สูงลิ่ว สวนทางกับปริมาณของสัญญาณรบกวนของระบบที่ต่ำเตี้ยลงไปเรื่อยๆ เสียงที่ได้ยินจากลำโพงหรือหูฟังรุ่นใหม่ๆ ทุกวันนี้จึงแทบจะมีแต่ “เสียงเพลง” ล้วนๆ
พูดได้ว่า ในยุคนี้ เรื่องของสัญญาณรบกวนหรือ noise ในระบบเพลย์แบ็คแทบจะถูกลืมกันไปแล้ว ความหมายของคำว่า “เสียงที่เหมือนจริง” ที่พูดๆ กันยุคหลังๆ นี้ จึงมุ่งไปที่ “คุณสมบัติทางกายภาพของเสียง” ที่อ้างอิงกับ “ความรู้สึกทางอารมณ์” มากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเสียงที่เจาะลึกลงไปในประเด็นปลีกย่อยที่มีความละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
“คุณสมบัติทางกายภาพของเสียง”
กับลักษณะของ “เสียงที่เหมือนจริง“
เสียง (sonic หรือ sound) คือพลังงานอย่างหนึ่งในธรรมชาติที่มีคุณสมบัติแค่ 2 ประการที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์สามารถสัมผัสได้ นั่นคือ “ความถี่” (frequency) กับ “ความดัง” (dynamic range) ซึ่งในแง่ของความถี่นั้นตรวจจับไม่ยาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของหูที่มีวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ประสาทหูของเด็กอายุน้อยๆ จะมีความสามารถตรวจจับความถี่ได้กว้างกว่าผู้อาวุโสที่มีอายุเยอะๆ แต่ประเด็นของความถี่นี้อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความดังเมื่อนำมาใช้ในการรับฟังเสียงเพลง เพราะแม้ว่าหูของคนที่มีอายุมากจะรับความถี่ได้แคบกว่าคนที่มีอายุน้อยๆ ก็จริง แต่รวมๆ แล้ว ความถี่ที่หูของคนที่มีอายุเยอะๆ สูญเสียการได้ยินไปนั้น ก็เป็นแค่รายละเอียดในระดับฮาร์มอนิกสูงๆ เท่านั้น คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของความถี่ทั้งหมดที่หูและผิวหนังของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ ในขณะที่ยังคงได้ยินย่านเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่ในเพลงทั่วๆ ไปอย่างครบถ้วน จึงไม่ได้มีผลมากถึงกับทำให้ความสามารถในการเสพอรรถรสของดนตรีต้องเสียหายไป ในขณะที่ “ความดัง” หรือไดนามิกเร้นจ์ของเสียงกลับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากกว่าความถี่ เพราะมันคือตัวกระตุ้น “อารมณ์” ของเพลงโดยตรง
คำว่า “dynamic range” หมายถึง ช่วงของความดัง ซึ่งอาจจะวัดจากเบาที่สุดไปถึงดังที่สุด หรือตรงข้ามกันก็ได้ อย่างเช่น ตั้งแต่ 0dB ขึ้นไปถึง 80dB (ศูนย์ถึงแปดสิบเดซิเบล) หรือ 80dB ลงมาถึง 0dB ก็เหมือนกัน เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะมี range หรือขอบเขตของความดังที่จำกัด อย่างเช่น เสียงร้องจะมีเร้นจ์ความดัง (dynamic range) ที่แคบกว่าเสียงกลอง อย่างนี้เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้ dynamic range ของเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องส่งผลต่อความรู้สึกของคนฟังก็คือ “ลักษณะการปรับเปลี่ยนระดับของความดัง” ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นรวมถึงเสียงร้องของนักร้องในเพลงที่เราฟัง ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ นั่นคือ contrast dynamic และ transient dynamic
contrast dynamic คือการเปลี่ยนแปลงความดังจากเบาไปดัง และจากดังไปเบาอย่างช้าๆ แบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปโดยไม่มีขาดตอน อย่างเช่น เสียงร้องของนักร้องที่ลากเอื้อนสูงๆ ต่ำๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ, เสียงแซ็กโซโฟนที่คนเป่าลากเสียงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ, เสียงไวโอลินที่สีด้วยคันชักต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติของเสียงแบบนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความอ่อนช้อย, ลื่นไหล และพลิ้วไหว นึกถึงอะไรที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย ในขณะที่ transient dynamic คือลักษณะการเปลี่ยนแปลงความดังของเสียงแบบกระโชกกระชาก ฉับพลัน จากเบากระโดดไปดังอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดเสียงโดยธรรมชาติของเครื่องดนตรีประเภทที่ใช้วิธีการเคาะ, ตี, ทุบ หรือกระแทกให้เกิดเสียง อาทิเช่น กลอง, เปียโน และเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัสชั่นต่างๆ แต่เครื่องดนตรีบางชนิดก็สามารถสร้างลักษณะการเปลี่ยนแปลงของระดับความดังของเสียงได้ทั้งสองแบบ อย่างเช่นไวโอลิน ถ้าใช้นิ้วกระตุกสาย หรือใช้คันชักตบลงไปบนสาย เสียงที่ได้ออกมาก็จะมีลักษณะเป็น transient dynamic แต่ถ้าใช้แส้ม้าบนคันชักสีลงบนสายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็เป็นลักษณะของสัญญาณ contrast dynamic อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งลักษณะการปรับเปลี่ยนความดังของเสียงเครื่องดนตรีอย่างรวดเร็วแบบนี้ จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และตื่นตัว ชวนให้ติดตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงพออนุมานได้ว่า คำว่า “เสียงที่เหมือนจริง” ที่คนในวงการเครื่องเสียงนิยมใช้พูดกันในปัจจุบัน มักอ้างถึงคุณสมบัติทางกายภาพทั้งสองลักษณะที่กล่าวมา นั่นคือ “ความถี่” และ “ความดัง” นอกจากนั้น บางกลุ่มที่เล่นเครื่องเสียงราคาสูงๆ ระดับไฮเอ็นด์ขึ้นไปจนถึงระดับซุปเปอร์ไฮเอ็นด์ ก็เริ่มเจาะลึกลงไปพิจารณากันถึงส่วนของ ฮาร์มอนิก, แอมเบี๊ยนต์, เลเยอร์, เนื้อเสียง, มวลเสียง ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ลงลึกไปมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ในปัจจุบันที่จะมองหาคุณสมบัติเหล่านั้น เนื่องจากทั้งคุณภาพของสัญญาณต้นทาง (source) ที่มี resolution สูงขึ้น และอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพราะผลิตขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ใช้คอมโพเน้นต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น สเปคฯ ดีขึ้น จึงทำให้ distortion ของระบบเพลย์แบ็คลดต่ำลงไปมาก ส่งผลให้พื้นเสียงมีความใส กระจ่าง และสะอาดมากขึ้น ส่งผลให้ได้ยินและแยกแยะรายละเอียดของเสียงที่มีความซับซ้อนออกมาได้ดีขึ้น โดยรวมๆ แล้ว คนที่ใช้คำพูดนี้จึงมักจะนำไปเทียบกับลักษณะของคุณสมบัติทางกายภาพของเสียงที่ได้ยินในธรรมชาติที่อ้างอิงจากประสบการณ์ที่คนคนนั้นมีอยู่ในตัว (personal preference) ซะมากกว่า ไม่ได้อ้างอิงไปถึงมาสเตอร์ของอัลบั้มนั้นๆ อย่างที่บางคนเข้าใจ หรืออย่างที่พบเห็นกันตามข้อความบนเอกสารประชาสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัว เพราะจริงๆ แล้ว ก็แทบจะไม่มีใครเคยได้มีโอกาสฟังเสียงมาสเตอร์ของอัลบั้มใดๆ มาก่อนนั่นเอง /
**************************