การติดตั้งอุปกรณ์ปรับอะคูสติก – ตอนที่ ๕ : การติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกบนผนังด้านข้างซ้าย, ขวา และด้านหลังของตำแหน่งนั่งฟัง

เหตุที่แนะนำให้ทำการปรับเซ็ตสภาพอะคูสติกบริเวณผนังด้านหลังลำโพงเป็นอันดับแรก เพราะผนังด้านหลังลำโพงและบริเวณมุมห้องทั้งสองมุม จะมีอิทธิพลกับเสียงของลำโพงมากกว่าบริเวณอื่นๆ หลังจากทำการปรับสภาพอะคูสติกบนผนังด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกบนผนังด้านข้างซ้าย/ขวา และบนผนังด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังเรียงไปตามลำดับ เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกจนครบทุกด้านแล้ว จากนั้นก็ทำการ fine tune เพื่อความสมบูรณ์แบบของเสียงเป็นขั้นตอนสุดท้าย

การปรับสภาพอะคูสติกด้วยอุปกรณ์ Diffusor และ Absorber

ตำแหน่งและคุณสมบัติของอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกที่ใช้ติดตั้งในจุดต่างๆ ภายในห้อง

ภาพด้านบนนี้เป็นแผนผังของตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติก ซึ่งบางตำแหน่งต้องการอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติดูดซับเสียง ในขณะที่บางตำแหน่งต้องเป็นวัสดุประเภทที่มีคุณสมบัติในการฟุ้งเสียง

จากภาพข้างบน ตรงตำแหน่ง A (สีส้ม) บนผนังด้านข้างซ้ายและขวา เป็นตำแหน่งที่แนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกที่มี คุณสมบัติฟุ้งเสียง (diffuse) โดยเริ่มที่ตำแหน่งตรงกับแนวระนาบแผงหน้าของลำโพง ยาวไปทางด้านตำแหน่งนั่งฟัง คิดเป็นพื้นที่ อย่างต่ำไม่น้อยกว่า 1/3 ของ ระยะทางที่วัดจากแผงหน้าของลำโพงไปจนถึงตำแหน่งฟังเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บนผนังด้านข้างที่เป็นบริเวณที่มีผลต่อคลื่นสะท้อนลำดับแรก early reflection ที่ส่งผลร้ายต่อคลื่นเสียงตรง (direct sound) ที่แผ่ออกจากลำโพงไปถึงตำแหน่งนั่งฟัง

อีกจุดหนึ่งคือบนผนังด้านหลังจุดนั่งฟัง ตรงตำแหน่ง B ตรงนั้นก็แนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกแบบ ฟุ้งเสียง ขนาดพื้นที่อย่างต่ำไม่น้อยกว่า 1/3 ของความกว้างของผนัง ซึ่งการปรับสภาพอะคูสติกตรงจุดนี้จะช่วยเสริมความโอ่โถงของเวทีเสียงด้วยการแผ่ขยายมวลของบรรยากาศตั้งแต่ส่วนหน้าของตำแหน่งนั่งฟังผ่านจุดนั่งฟังเลยไปถึงด้านหลัง เป็นการสร้างบรรยากาศในการรับฟังให้ผู้ฟังได้รับประสบการณ์ “You Are There!เสมือนเข้าไปอยู่ในบรรยากาศเดียวกับเพลงที่กำลังฟัง (กรณีที่ฟังงานเพลงที่บันทึกด้วยวิธี Live Recording จะรู้สึกได้ชัดมาก)

ตรงตำแหน่ง C (สีฟ้า) บนผนังด้านข้างซ้ายและขวา ตรงกับแนวของตำแหน่งนั่งฟังพอดีๆ ตรงนั้นแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกด้วยวัสดุที่มี คุณสมบัติดูดซับ (absorb) เสียงในย่านกลางและสูง ซึ่งจะช่วยดูดซับเสียงที่แผ่มาจากลำโพงฝั่งตรงข้ามเอาไว้ กล่าวคือ อุปกรณ์บนผนังด้านซ้ายจะดูดกลืนเสียงที่แผ่จากลำโพงข้างขวาเอาไว้ไม่ให้สะท้อนผนังด้านนี้ไปเข้าที่หูด้านซ้ายของผู้ฟัง ส่วนอุปกรณ์บนผนังด้านขวาก็จะดูดกลืนคลื่นเสียงที่แผ่มาจากลำโพงข้างซ้ายไม่ให้สะท้อนไปเข้าหูข้างขวาของผู้ฟัง ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้รายละเอียดของเสียงโดยรวมดีขึ้น

เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ดิฟฟิวเซอร์และแอพซอฟเบอร์ลงไปในห้องจนครบตามนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการ fine tune ด้วยการขยับเลื่อนอุปกรณ์แต่ละชิ้นอีกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่า อุปกรณ์ทั้ง 8 ชิ้น (หน้า = 3, ข้างซ้าย/ขวา = 4, หลัง = 1) จะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน การขยับตำแแหน่งของอุปกรณ์แต่ละชิ้นก็เพื่อทำให้ผลของอุปกรณ์แต่ละชิ้นผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดเป็นบรรยากาศเดียวกันทั้งห้อง (seamless atmosphere) นั่นเอง ซึ่งในการขยับตำแหน่งเพื่อ fine tune นี้ต้องอาศัยการฟังและวิเคราะห์ผลด้วยประสบการณ์เท่านั้น

การปรับสภาพอะคูสติกด้วยอุปกรณ์ TubeTrap ของ ASC

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสทำการทดสอบประสิทธิภาพอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกของอเมริกา ชื่อว่า “TubeTrapที่โชว์รูมของบริษัท Hi-End Audio ซึ่งเป็นผู้นำเข้ามาจำหน่าย (REVIEW) พบว่า ปัจจุบัน TubeTrap ออกแบบและผลิตอุปกรณ์ปรับอะคูสติกขึ้นมาใช้ ทั้งระบบมีทั้งแบบที่แก้ปัญหาเฉพาะตรงมุมห้อง, บนผนังด้านข้าง และแก้ปัญหาบนผนังด้านหลังลำโพงและด้านหลังของตำแหน่งนั่งฟังครบหมด หมายถึงว่า พวกเขามีอุปกรณ์หลายชนิดให้คุณเลือกใช้แก้ปัญหาภายในห้องโดยไม่ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประเภทอื่นเหมือนในอดีต

ในอดีต ผู้ใช้มักชอบใช้ TubeTrap แก้ปัญหาที่มุมห้อง ร่วมกับใช้แผงดิฟฟิวเซอร์แก้ปัญหาบนผนังห้องด้านข้าง, ด้านหลังลำโพง และด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง

ลักษณะการจัดวางแท่ง TubeTrap บริเวณด้านหลังตำแหน่งวางลำโพง

ลักษณะการจัดวางแท่ง TubeTrap บริเวณด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง

ติดตั้งอุปกรณ์เต็มทั้งห้อง

ทั้ง 3 ภาพด้านบนนี้เป็นภาพจากการทดลองเซ็ตอัพ TubeTrap ของผมภายในห้องฟังของร้านไฮเอ็นด์ ออดิโอ (คุณสามารถเข้าไปขอทดลองฟังในห้องนี้ได้ โทร. 02-101-1988) ภาพล่างสุดคือแผนผังสรุปการเซ็ตอัพอุปกรณ์ทั้งหมดในห้องนี้ ซึ่งตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดได้มาหลังจากการขยับตำแหน่งเพื่อการ fine tune แล้ว

การปรับสภาพอะคูสติกด้วยอุปกรณ์ TubeTrap ผสมกับ Diffusor

คุณสามารถใช้อุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกต่างยี่ห้อผสมกันได้ ซึ่งแต่ละยี่ห้ออาจจะให้ประสิทธิภาพทางเสียงต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการออกแบบ/ผลิต แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ให้คำนึงถึงลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ที่จะเลือกใช้เป็นหลัก นั่นคือ ตำแหน่งไหนที่ต้องใช้ diffusor ตำแหน่งไหนที่ต้องใช้ absorber ก็ต้องเลือกใช้ให้ตรงกับปัญหา ณ จุดนั้นๆ

ภาพด้านบนนี้เป็นลักษณะการเซ็ตอัพอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกที่ใช้วิธีวิธีผสมผสานระหว่างแท่ง TubeTrap กับแผงดิฟฟิวเซอร์และแอพซอฟเบอร์ โดยใช้พื้นฐานของ Diffusor/Absorber มากกว่า TubeTrap วิธีนี้เป็นการใช้แท่ง TubeTrap เข้าไปทำหน้าที่แทน Bass Trap เพื่อจัดการกับเสียงทุ้มที่บริเวณมุมห้อง ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่เหลือก็ใช้แผง diffusor และแผง absorber ในการแก้ปัญหาแต่ละจุด ในการใช้งานจริง เบื้องต้น แนะนำให้ใช้แท่ง TubeTrap ที่มุมห้องฝั่งที่อยู่ด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงซ้ายขวาก่อน หลังจากวางลงไปแล้ว ให้เปิดเพลงแล้วทดลองขยับเลื่อนตำแหน่งของ TubeTrap ทั้งสองแท่งเพื่อ fine tune ให้ได้สมดุลเสียงที่ดีที่สุด ถ้ายังพบว่ามีอาการเบสก้องๆ ค้างอยู่ในห้อง ค่อยเพิ่มจำนวนแท่ง TubeTrap ลงไปที่มุมห้องทั้งสองมุมที่อยู่ด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังอีกที

ภาพด้านบนนี้เป็นลักษณะการปรับสภาพอะคูสติกที่ใช้ TubeTrap ผสมกับ Diffusor/Absorber โดยใช้พื้นฐานของ TubeTrap เยอะกว่า Diffusor/Absorber ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่าแบบที่ใช้พื้นฐาน Diffusor/Absorber มากกว่า TubeTrap เหตุผลก็เพราะว่า TubeTrap มีความยืดหยุ่นในการปรับจูนเสียงได้มากกว่า เนื่องจาก TubeTrap สามารถขยับเลื่อนออกมาจัดการกับจุดที่คลื่นเรโซแนนซ์รวมตัวกันภายในห้อง อันเป็นต้นเหตุของปัญหา room modes ซึ่งมักจะอยู่ นอกผนังได้ดีกว่าอุปกรณ์ที่ใช้วิธีติดตั้งเข้าไปบนผนัง เพราะจุดที่เป็น node/antinode ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาเรโซแนนซ์ในห้องมักจะเกิดจากการรวมตัว/หักล้างกันของคลื่นเสียงที่สะท้อนมาจากผนังด้านต่างๆ ถ้าสามารถขยับอุปกรณ์ดูดซับ/สลายพลังงานคลื่นมาตรงจุดต้นกำเนิด (node/antinode) ได้จะให้ผลลัพธ์ในการขจัดปัญหาได้ดีกว่า และไม่ทำให้ไดนามิกของเสียงด้อยลงไปด้วย

กรณีที่เป็นห้องที่สร้างขึ้นมาใหม่ คุณสามารถใช้ TubeTrap ทั้งหมดในการปรับจูนสภาพอะคูสติกให้มีความสมบูรณ์แบบได้เลย (แผนผังตามภาพตัวอย่างด้านบน)

ปัจฉิมภาค

ต้องไม่ลืมว่า การปรับสภาพอะคูสติกของห้องฟัง” (หรือบริเวณที่ใช้ในการฟังเพลงด้วยระบบเสียง stereo โดยอาศัยลำโพงสองตัวทำงานประสานกัน) เป็นการจัดการกับตัวแปรที่อยู่นอกชุดเครื่องเสียง ซึ่งเราไม่สามารถใช้การเซ็ตอัพสภาพอะคูสติกห้องฟังไปแก้ไขปัญหา mismatch และปัญหาที่เกิดจากการ setting ที่ผิดพลาดภายในชุดเครื่องเสียงได้ แต่การปรับสภาพอะคูสติกของห้องฟังที่ดีจะช่วย เปิดเผยให้เห็นถึงสภาพที่ซิสเต็มเครื่องเสียงเป็นอยู่ได้อย่างชัดเจนทั้งหมด คือได้เห็นทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในซิสเต็มที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือได้สัมผัสกับศักยภาพที่แท้จริงของชุดเครื่องเสียงที่มีความลงตัวอยู่แล้ว

จะเห็นว่า การให้ความสำคัญกับสภาพอะคูสติกของห้องฟัง มีความสำคัญมากสำหรับการเล่นเครื่องเสียง เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ถ้าจุดมุ่งหมายของคุณคือ เสียงที่ดีจริงๆ!” /

***************
ย้อนกลับไปอ่าน : การติดตั้งอุปกรณ์ปรับอะคูสติก ตอนที่ ๑
ย้อนกลับไปอ่าน : การติดตั้งอุปกรณ์ปรับอะคูสติก ตอนที่ ๒
ย้อนกลับไปอ่าน : การติดตั้งอุปกรณ์ปรับอะคูสติก ตอนที่ ๓
ย้อนกลับไปอ่าน : การติดตั้งอุปกรณ์ปรับอะคูสติก ตอนที่ ๔

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า