ST25 พัฒนาขึ้นมาจากรุ่น ST60 ที่ออกมาเมื่อ ปี 2022 แม้ว่าโดยพื้นฐานหลายๆ อย่างจะยังคงเหมือนกับรุ่น ST60 แต่ในรุ่น ST25 วิศวกรของ Arcam ได้ทำการปรับปรุงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “คุณภาพเสียง” อยู่หลายจุด อาทิเช่น ใช้แผงวงจรแบบใหม่ที่ซ้อนกันมากถึง 6 ชั้น โดยแยกชั้นที่ใช้สำหรับวงจร digital audio กับชั้นที่ใช้กับการสตรีมมิ่งออกจากกัน มีการแยกกราวนด์ของแต่ละชั้นเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน เป็นความพยายามที่จะป้องกัน noise จากการทำงานในส่วนอื่นๆ ไม่ให้แพร่เข้ามารบกวนวงจรที่ทำงานเกี่ยวกับสัญญาณเสียงที่มีความอ่อนไหว นอกจากนั้น ในส่วนของการปรับปรุงที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงครั้งนี้ ยังได้มีการใช้ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ที่ปรับจูนมาใหม่ด้วย โดยเน้นประสิทธิภาพเสียงสูงสุด
ผมเคยทดสอบสตรีมเมอร์ของ Arcam รุ่น ST5 ไปแล้วเมื่อเดือน มิถุนายน 2024 (REVIEW) ซึ่งก็อยู่ในซีรี่ย์ Radia แต่เป็นรุ่นเล็ก ในขณะที่ ST25 ตัวนี้ถือว่าเป็นรุ่นท็อปของซีรี่ย์นี้
รูปร่าง + หน้าตา
1. จอแสดงผล
2. ไฟ LED
หน้าตาของ ST25 มาในแนวทางเดียวกับรุ่น ST5 และแอมปลิฟายทั้งสามรุ่นคือ A5, A15 และ A25 ที่ออกมาในซีรี่ย์เดียวกัน ภาพรวมที่เห็นคือเป็นดีไซน์ที่เน้นความเรียบง่าย แผงหน้าไม่มีปุ่มแม้แต่ปุ่มเดียว พื้นที่ทั้งหมดบนแผงหน้ามีลักษณะแบนราบ โดยมีจอแสดงผลขนาดใหญ่ถึง 6.5 นิ้ว (กว้าง 15.5 ซ.ม. x สูง 5.5 ซ.ม.) เป็นจอสีไว้ใช้แสดงรายละเอียดของไฟล์เพลงที่เล่น และใช้โชว์รายละเอียดหัวข้อการปรับตั้งค่าในเมนูด้วย นอกจากจอแสดงผลนี้แล้ว ที่มุมด้านขวาบนของแผงหน้าจะมีไฟ LED ขนาดเล็กอยู่หนึ่งดวง ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อคุณกดสวิทช์เปิดเครื่องที่อยู่บนแผงหลัง
ขั้วต่อสัญญาณ
3. เต้ารับหัวปลักจากสายไฟเอซี
4. เมนสวิทช์สำหรับเปิด/ปิดเครื่อง
5. ช่อง USB-A สำหรับเสียบฮาร์ดดิสพกพา หรือแฟรชไดร้ที่เก็บไฟล์เพลง
6. ช่อง Ethernet สำหรับเชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค
7. ช่องเสียบสายคอนโทรลสำหรับส่งสัญญาณไปควบคุมการเปิด/ปิดแอมปลิฟายของ Arcam ซีรี่ย์ Radia
8. ช่องส่งออกสัญญาณ trigger สำหรับควบคุมการเปิด/ปิดแอมปลิฟาย
9. ช่องดิจิตัล เอ๊าต์ Optical
10. ช่องดิจิตัล เอ๊าต์ Coaxial
11. ช่อง อะนาลอก เอ๊าต์ ซ้าย/ขวา
ชิป DAC ที่มีความละเอียดระดับ 32-bit ของ ESS Technology ถูกใช้เป็นศูนย์กลางของภาค DAC ในตัว ST25 ทำให้มันมีความสามารถในการรองรับสัญญาณดิจิตัล ออดิโอที่มีอัตราแซมปลิ้งสูงถึง 384kHz ที่ระดับความละเอียด 16, 24 และสูงสุดที่ 32-bit ผ่านเข้าทางอินพุต Ethernet (6) ซึ่งคุณสามารถเชื่อมต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ ST25 ไปเข้าที่อินพุตอะนาลอกของแอมป์ได้ผ่านทางขั้วต่อ RCA ของภาค Analog Out (11) ของ ST25 ได้โดยตรง
นอกจากนั้น ST25 ยังให้ช่องดิจิตัล เอ๊าต์พุต Coaxial (10) กับ Optical (9) มาด้วย สำหรับคนที่ชอบน้ำเสียงที่นุ่มนวลของมาตรฐาน S/PDIF ก็สามารถดึงเอาสัญญาณดิจิตัลจากเอ๊าต์พุตสองช่องนี้ไปผ่าน DAC จากภายนอกได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงคนที่ใช้ external DAC รุ่นเก่าๆ ยุคไฮไฟฯ ที่ให้เสียงดีน่าพอใจแต่ไม่มีอินพุต Ethernet และอินพุต USB ก็สามารถนำ Arcam ‘ST25‘ ตัวนี้ไปใช้งานร่วมกับ external DAC ตัวเก่าของคุณโดยเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตัลระหว่างกันผ่านทางช่อง coaxial ได้ ซึ่งบอกเลยว่า ไม่แน่นะ เสียงอาจจะออกมาดีกว่าใช้ซีดีทรานสปอร์ตก็ได้.. ใครมีต้องลอง.!
การเชื่อมต่อ ST25 เข้ากับชุดเครื่องเสียง
เมื่อพิจารณาทางด้านการสตรีมไฟล์เพลงมาเล่นผ่าน ST25 จะพบว่า มันมีช่องทางในการสตรีมไฟล์เพลงมาให้คุณเลือกใช้มากถึง 3 ช่องทาง ด้วยกัน ทางแรกคือ สตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์พกพาพวกมือถือหรือแท็ปเล็ต หรือสตรีมจากคอมพิวเตอร์ของคุณผ่านเข้ามาที่ ST25 ทางระบบไร้สาย AirPlay หรือ Google Cast ซึ่งคนที่ชอบฟังเพลงจากการสตรีมผ่านแอพ Apple Music หรือ YouTube ก็สามารถเล่นด้วยวิธีนี้เข้ามาใช้ประโยชน์จากภาค DAC ในตัว ST25 เพื่อปรับปรุงคุณภาพเสียงได้
ทางที่สองคือสตรีมไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสแบบพกพา หรือแฟรชไดร้ โดยเสียบแฟรชไดร้หรือฮาร์ดดิสแบบพกพาเข้าที่ช่องเสียบ USB-A (5) ที่อยู่บนแผงหลังของตัวเครื่อง คุณก็จะสามารถใช้แอพฯ Radia ของ Arcam ดึงไฟล์เพลงในนั้นออกมาเล่นผ่านภาค DAC ในตัว ST25 ได้สบายๆ ส่วนช่องทางที่สามคือใช้วิธีสตรีมไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ค (NAS) ผ่านสาย LAN เข้ามาเล่นที่ ST25 ผ่านช่อง Ethernet (6) ซึ่งเหมาะกับคนที่มีไฟล์เพลงเก็บไว้เยอะๆ และต้องการให้ตัวสตรีมเมอร์ที่จุดอื่นสามารถดึงไฟล์เพลงเดียวกันนี้ไปใช้เล่นได้ทั่วทั้งบ้าน
การควบคุมสั่งงานและเล่นไฟล์เพลง
Arcam มีแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ARCAM ‘Radia App’ ซึ่งใช้ควบคุมการทำงานของตัว ST25 มาให้ด้วย มีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android อีกทั้งยังใช้ควบคุมการสตรีมไฟล์เพลงจากอุปกรณ์ภายนอกเข้ามาที่ ST25 ทาง Apple AirPlay, Google Cast, Spotify Connect และ TIDAL Connect อีกทั้งยังใช้เล่นไฟล์เพลงจาก NAS และ USB แฟรชไดร้ด้วย และยังรองรับ Roon Ready ได้ แต่รอการอัพเดตผ่านเฟิร์มแวร์ ซึ่งขณะรีวิวเฟิร์มแวร์ตัวนี้ยังไม่มา เมื่อใดที่ ST25 อัพฯ เป็น Roon Ready ได้แล้ว จะตามมาอัพเดตให้อีกที
แอพ Radia ที่อาร์แคมออกแบบมาให้ใช้ควบคุมสั่งงาน ST25 และอุปกรณ์สตรีมมิ่งรุ่นอื่นของอาร์แคมตระกูล Radia ตัวนี้มีลักษณะที่เรียบง่าย อินเตอร์เฟซเกลี้ยงๆ สะอาดตา มีเฉพาะของใช้ที่จำเป็นมาให้ใช้ ไม่รุงรังดี พอเชื่อมต่อ ST25 เข้ากับเน็ทเวิร์คเสร็จแล้ว คุณก็ไปดาวน์โหลดแอพ Radia มาติดตั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกับ ST25 เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาและรอให้ตัวเครื่องบู๊สต์ตัวเองจนพร้อมทำงาน สังเกตหน้าจอจะแสดงผลเป็นโลโก้หลากสี (ภาพบน) จากนั้นเมื่อกดเปิดแอพขึ้นมาและรอให้แอพฯ เจอ ST25 มันจะโชว์ภาพสเก็ตซ์ของเครื่องพร้อมรหัสเครื่องขึ้นมาให้รู้ว่าพร้อมทำงานแล้ว (ภาพล่างซ้าย)
เมื่อจิ้มลงไปที่ตัวเครื่อง แอพฯ จะพาคุณไปที่หน้าแรกซึ่งมีแอพฯ ของแหล่งต้นทางสัญญาณขึ้นมาให้คุณเลือก (ภาพล่างขวา) ถ้าคุณต้องการฟังเพลงผ่าน ST25 ตรงนี้คือจุดเริ่มต้น นอกจากนั้น หน้านี้ยังมีช่องทางเข้าสู่เมนู Settings ที่รวบรวมการปรับตั้งค่าการทำงานของตัวแอพฯ ซึ่งแสดงเป็นรูปฟันเฟืองอยู่ที่มุมขวาบนของหน้าจอแอพ (ภาพล่างขวา ศรชี้)
ในเมนู Settings มีหัวข้อมาให้ปรับตั้งอยู่ 7 ข้อ เริ่มจาก เปลี่ยนชื่อเครื่อง (Device Name), เซ็ตอัพเพื่อเข้าใช้งาน Chromcast ที่อยู่ในตัวเครื่อง (Chromcast Built-in), ปรับตั้งค่าการเชื่อมต่อผ่านเน็ทเวิร์ค (Network Setup), ข้อมูลการเชื่อมต่อเน็ทเวิร์ค (Network Info), อัพเดตเฟิร์มแวร์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (Internet Update), แสดงเวอร์ชั่นของซอฟท์แวร์ที่กำลังใช้งาน (Software Version) และรีเซ็ตการปรับตั้งค่าทั้งหมดกลับไปที่ค่าตั้งต้นที่ปรับมาจากโรงงาน (Factory Reset) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรสำคัญ ส่วนหัวข้อที่สำคัญก็มี ‘internet update’ ซึ่งมีไว้ให้กดเพื่ออัพเฟิร์มแวร์ของแอพฯ และตัวเครื่อง
รีโมทไร้สาย
ถึงแม้ว่าจะมีแอพลิเคชั่น Radia มาให้ใช้ในการควบคุมสั่งงาน แต่วิศวกรของ Arcam เลือกที่จะให้เมนู Settings บนตัวแอพฯ Radia ถูกใช้ปรับตั้งคุณสมบัติของตัวแอพฯ ซะมากกว่าที่จะเอาเมนูการปรับตั้งการทำงานบนตัวฮาร์ดแวร์ ST25 ไปฝากไว้บนแอพฯ พวกเขาแยกการปรับตั้งการทำงานบนตัวเครื่อง ST25 มาไว้บนรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ในกล่อง (รูปบน) ซึ่งมีขนาดเล็กเหมาะมือ และบนนั้นก็มีเฉพาะปุ่มกดที่จำเป็นต่อการใช้งานจริงๆ เท่านั้น
บนตัวรีโมทมีปุ่มกดสั่งงานทั้งหมดนับได้ 10 ปุ่ม ซึ่ง 8 ใน 10 ปุ่ม (ยกเว้นปุ่มเข้าเมนู กับปุ่มลูกศรสี่ทิศ) นั้นเป็นปุ่มสั่งงานโดยตรง ได้แก่ ปุ่มสแตนด์บายสำหรับเปิด/ปิดการทำงานของเครื่อง, ปุ่มกดเลือกรูปแบบการแสดงผลบนหน้าจอ ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 4 รูปแบบ วิธีเลือกคือกดปุ่มนี้วนไปเรื่อยๆ, ปุ่มควบคุมการเล่นไฟล์เพลง มีอยู่ 3 ปุ่ม ครอบคลุมการสั่งเล่น/หยุดเล่นชั่วคราว และข้ามไปเพลงข้างหน้ากับย้อนกลับไปเพลงก่อนหน้า, ปุ่มวอลลุ่ม ใช้ควบคุมเพิ่ม/ลดความดัง, ปุ่มเปิด/ปิดฟังท์ชั่นปิดเสียง (mute) และปุ่มกดเพื่อปรับความสว่างบนหน้าจอ ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 3 สถานะ คือ สว่างปกติ หรี่ และปิดหน้าจอ
เมนูบนตัวเครื่อง ST25
การเข้าไปปรับตั้งเมนูในตัวเครื่อง ST25 ต้องใช้รีโมทไร้สาย เข้าทางแอพฯ ไม่ได้ และสามารถตรวจสอบการตั้งค่าผ่านทางจอแสดงผลบนแผงหน้าได้เลย ซึ่งในนั้นมีหัวข้อเมนูให้ปรับตั้งทั้งหมด 9 หัวข้อ นั่นคือ
1. Audio Output = เลือกว่าจะใช้เอ๊าต์พุตแบบไหน ซึ่งมีอ๊อปชั่นให้เลือก 2 อ๊อปชั่น ระหว่าง Analog หรือ Digital ซึ่งค่าที่ตั้งมาจากโรงงานคือเอ๊าต์พุต ‘Analog‘
2. Volume Mode = เลือกรูปแบบของวอลลุ่ม ระหว่าง Variable (ใช้ต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์), Fixed (ใช้ต่อเข้าปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์) และ External (ระดับวอลลุ่มที่ส่งออกไปให้อุปกรณ์ภายนอก) ซึ่งค่าที่ตั้งมาจากโรงงานคือ ‘Variable‘
3. Maximum External Volume = ปรับตั้งระดับวอลลุ่มสูงสุดที่จะส่งออกไปให้กับแอมป์ Arcam ซีรี่ย์ Radia ซึ่งค่าที่ตั้งมาจากโรงงานอยู่ที่ระดับ ‘40‘
4. DAC Filter = เลือกรูปแบบของวงจร digital filter ซึ่งจะส่งผลกับสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตโดยตรง มีให้เลือก 4 ตัว คือ Minimum Phase, Linear Phase Apodizing, Linear Phase Slow Roll-off และ Minimum Phase Slow Roll-off ซึ่งรูปแบบที่ผู้ผลิตเลือกมาให้จากโรงงานก็คือ ‘Linear Phase Apodizing‘
5. Eco Timer = ST25 ทุกตัวที่แพ็คลงกล่องออกมาจากโรงงานจะถูกปรับตั้งไว้ตำแหน่ง On นั่นคือหลังเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีการใช้งานใดๆ นานเกิน 20 นาที ตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดสแตนด์บายโดยอัตโนมัติ คุณสามารถเลือกได้ระหว่าง On กับ Off
6. Network Standby = ฟังท์ชั่นนี้มีอ๊อปชั่นให้เลือกแค่ 2 อย่าง คือ เปิดใช้ (On) และปิดการใช้โหมดเน็ทเวิร์ค สแตนด์บาย (Off) คือถ้าเปิดใช้ เมื่อเครื่องอยู่ในโหมดสแตนด์บาย เมื่อมีการใช้งานอินพุตเน็ทเวิร์ค ตัวเครื่อง ST25 จะออกจากโหมดสแตนด์บายและพร้อมใช้งานโดยอัตโนมัติ ฟังท์ชั่นนี้ตั้งจากโรงงานมาเป็น ‘On‘
7. System Reset = ถ้ากด OK การปรับตั้งทั้งหมดที่ทำไว้กับฟังท์ชั่นต่างๆ บนตัวเครื่อง ST25 จะถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน
8. USB Update = การอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ ST25 สามารถทำได้สองทาง ทางแรกคืออัพผ่านเน็ทเวิร์ค ซึ่งต้องทำผ่านแอพฯ Radia กับอีกทางคืออัพเดตผ่านช่องอินพุต USB-A ที่อยู่ด้านหลังของ ST25 วิธีการคือดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ใหม่ลงบน USB แฟรชไดร้แล้วเอามาเสียบที่ช่อง USB-A จากนั้นก็เข้ามาในเมนูหัวข้อ USB Update แล้วเลือกกด OK
9. Product Information = เป็นที่โชว์ข้อมูลต่างๆ ของ ST25 อาทิเช่น เวอร์ชั่นของเฟิร์มแวร์, IP address และ Network ID
ในการทดสอบผมได้ทดลองเลือกดิจิตัล ฟิลเตอร์ทั้ง 4 แบบ ฟังเทียบกันดูแล้ว ผมชอบเสียงของฟิลเตอร์ Minimum Phase Slow Roll-off มากที่สุด มันให้โฟกัสของเสียงที่ชัดเจน และให้ไทมิ่งที่กระชับไม่ย้วย แม้จะติดช้านิดๆ แต่ก็ได้หางเสียงที่มีความกังวานกำลังดี
ดีไซน์ภายใน
Arcam ไม่ได้โชว์ข้อมูลของการออกแบบภายในของตัว ST25 เอาไว้ละเอียดนัก มีแค่ข้อมูลกว้างๆ ที่เป็นตัวอักษรระบุไว้แค่ว่า ใช้ภาคสตรีมมิ่งที่ออกแบบใหม่ ที่รองรับการสตรีมไฟล์เพลงระดับไฮเรซฯ, ใช้ภาคเพาเวอร์ซัพพลายแบบลิเนียร์ที่ออกแบบใหม่ซึ่งเน้นประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสช่วงพีคของสัญญาณที่ดี, ภาค DAC ใช้ชิฟของ ESS Technology แต่ไม่ได้บอกเบอร์, เป็น Roon Ready ที่รอรับการรับรองผ่านการอัพเฟิร์มแวร์ในอนาคตอันใกล้
เซ็ตอัพเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพของ ST25
ผมจัดปรี+เพาเวอร์ของ QUAD รุ่น 33+303 เวอร์ชั่น 2024 (REVIEW) ขับลำโพง Wharfedale รุ่น Super Linton เป็นซิสเต็มแอมป์+ลำโพงเพื่อใช้ทดสอบ ST25
ทดลองเล่นไฟล์เพลงผ่านแอพ Radia
ด้วยการสตรีมไฟล์เพลงจาก NAS และ USB
หน้านี้บนแอพ Radia คือแหล่งที่เก็บไฟล์เพลงที่เปิดโอกาสให้คุณดึงมาเล่นบน ST25 ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือสตรีมจากเซิร์ฟเวอร์บนอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น อินเตอร์เน็ต เรดิโอ, Podcasts, Qobuz และ Spotify Connect
หือ.. ไม่มี TIDAL เหรอ.? มีครับ เป็น TIDAL Connect ที่เล่นจากแอพของ TIDAL โดยตรง นอกจากนั้น ST25 ยังรองรับสัญญาณเพลงที่เล่นบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตด้วยแอพฯ ที่รองรับการส่งสัญญาณด้วยเทคโนโลยี AirPlay
กลุ่มที่สองเป็นไฟล์เพลงเราเองที่เก็บอยู่ใน USB ฮาร์ดดิส (แถวล่างสุด ทางขวา) และในฮาร์ดดิสที่เชื่อมต่อกับเน็ทเวิร์ค (NAS แถวล่างซ้ายมือที่เรียกว่า UPnP)
ในสเปคฯ ของ ST25 ระบุว่า รองรับสัญญาณได้ทั้ง PCM และ DSD และรองรับได้สูงมากด้วย คือทางด้าน PCM นั้นรับได้สูงถึง 384Hz/32-bit ในขณะที่ฟอร์แม็ต DSD นั้นสามารถรองรับได้สูงถึงระดับ 11.2896MHz หรือ DSD256
ผมทดลองให้ ST25 สตรีมไฟล์เพลง DSF2.8MHz จาก NAS เข้ามาเล่น พบว่า ST25 เล่นไฟล์ DSF ด้วยวิธี convert-to-PCM โดยยกขึ้นไปที่ระดับสูงสุดที่รับได้คือ 352.8kHz/32-bit เสียงที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยรวมเปิดกระจ่าง ไม่ออกมาอับทึบเหมือน DAC ยุคก่อนๆ ที่มาไม่ถึง 384kHz
อัลบั้ม : Songs For The Road (DSF64)
ศิลปิน : Allan Taylor
สังกัด : Stockfish Records
อัลบั้ม : Jazz Giant (DSF64)
อัลบั้ม : Benny Carter
สังกัด : Contemporary/Analogue Productions
ผมมีอัลบั้มเพลงฟอร์แม็ต DSD ที่ริปเป็นไฟล์ DSF เอาไว้ทดสอบประสิทธิภาพของสตรีมเมอร์อยู่จำนวนหนึ่ง ลองเลือกมาทดสอบ ST25 ครั้งนี้ 2 อัลบั้ม เป็นไฟล์ DSF64 (2.8MHz) คือชุด Songs For The Road ของ Allan Taylor ซึ่งชุดนี้โทนเสียงจะหนักไปทางทุ้มเยอะเป็นพิเศษ กับอัลบั้มชุด Jazz Giant ของ Benny Carter ซึ่งมีโทนเสียงเด่นไปทางกลาง–แหลมเป็นพิเศษ จากการนำสองอัลบั้มนี้มาลองฟังผ่าน ST25 พบว่า ST25 สามารถควบคุมเสียงทุ้มในชุด Songs For The Road ให้อยู่ในร่องในรอยได้ เป็นทุ้มที่มีหัวโน๊ตที่แยกแยะรายละเอียดได้ชัด ในขณะที่เสียงร้องของ Allan Taylor ก็ลอยแยกตัวออกมาจากแบ็คกราวน์ในเลเยอร์ที่สูงกว่าเสียงเครื่องดนตรีอื่นขึ้นมา ทางด้านโทนเสียงของอัลบั้มนี้ยังมีลักษณะที่คลุมเครืออยู่บ้าง ในขณะที่อัลบั้มชุด Jazz Giant ออกมาดีเลย ความเปิดกระจ่างอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การแยกแยะชิ้นดนตรีมีความเด็ดขาด ในขณะที่ช่วงพีคของเสียงเครื่องเป่าเปิดขึ้นไปได้เต็มเสียงโดยไม่มีอาการโอเวอร์ชู๊ต เสียงทุ้ม (เสียงอะคูสติกเบสของ Leroy Vinnegar) ดีดเด้งไปตามจังหวะลีลาได้อย่างฉับไว ไม่ติดเฉื่อยเหมือน DAC ยุคก่อนๆ ที่ convert มาไม่ถึง 352.8kHz
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งในการเล่นไฟล์ DSF คือเกนเสียงที่ออกมาจะเบากว่าตอนเล่นไฟล์ PCM อยู่มากพอสมควร กับซิสเต็มแอมป์+ลำโพงที่ผมใช้อ้างอิงในการทดสอบ ST25 ครั้งนี้พบว่า ต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นมาอีกประมาณ 3 – 6dB ถึงจะได้เสียงแผ่ออกมาเต็มห้อง ถ้าฟังเบาเสียงจะอมๆ ซึ่งทำให้เห็นถึงข้อดีของฟอร์แม็ต DSD เมื่อเล่นผ่าน ST25 ตัวนี้ก็คือเมื่อเร่งวอลลุ่มขึ้นมาจนดังเต็มห้อง พบว่าเนื้อมวลยังคงเนียนสะอาด ไม่มีอาการสว่างจ้าและแผดขึ้นมาเหมือนฟอร์แม็ต PCM ที่ระดับ 16/44.1 และที่รู้สึกอีกอย่างคือ “ไทมิ่ง” ก็ออกมาต่อเนื่องดีกว่าฟอร์แม็ต PCM 16/44.1 ด้วย
อัลบั้ม : Carmen-Fantasie (FLAC-24/88.2)
ศิลปิน : Anne-Sophie Mutter
สังกัด : Deutsche Grammophon
อัลบั้ม : Love Me Tender (FLAC-24/96)
ศิลปิน : Barb Jungr
สังกัด : Linn Records
กับไฟล์ Hi-Res ที่เป็นฟอร์แม็ต FLAC ผมพบว่า ST25 ทำออกมาได้ดี โดยเฉพาะไฟล์ระดับ 24/88.2 กับ 24/96 ทำได้ดีมากเป็นพิเศษ เสียงที่ออกมามีลักษณะที่เปิดกระจ่างกำลังดี เปิดได้ดังมากขึ้นในขณะที่เนื้อมวลของเสียงยังคงรักษาความเนียนเข้มเอาไว้ได้ ไดนามิกคอนทราสน์มีความต่อเนื่อง ลื่นไหล ไทมิ่งดี
อัลบั้ม : Pickin’ the Blues (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Doc & Merle Watson
สังกัด : Analogue Productions
กับไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ผมริปจากแผ่นซีดีเก็บไว้ใน NAS ก็ออกมาดี ซึ่งไม่มีข้อมูลว่า ภายในตัว ST25 มีการทำอัพแซมปลิ้งหรือไม่.? ถ้ามีการอัพฯ เขาอัพฯ ขึ้นไประดับไหน.? โทนเสียงที่ออกมามีสัดส่วนระหว่างความเข้มข้นของมวลกับความโปร่งใสอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เสียงไม่บาง ในขณะที่มีความนัวอยู่ในน้ำเสียงมากกว่าที่จะออกไปทางชี้ชัดแบบชำแหละ จึงไม่ปรากฏตำหนิของการบันทึกเสียงออกมาให้ได้ยินมาก ถือว่าเป็นการปรับจูน compromise มาได้ดี เพราะแม้ว่าจะฟังเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไปที่บันทกึเสียงมาไม่ดีนัก อย่างเช่นเพลงเก่าๆ เสียงโดยรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
จากการทดลองเสียบฮาร์ดดิสพกพาแบบโซลิดสเตทของ Samsung รุ่น T5 เข้าไปที่ช่องอินพุต USB-A ของ ST25 เพื่อสตรีมไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในนั้นออกมาฟัง ซึ่งเป็นไฟล์เดียวกันกับที่เก็บอยู่ใน NAS และใช้ลองฟังไปก่อนหน้านี้ เสียงที่ออกมามีความแตกต่างให้เห็น ถ้าฟังแค่ประเดี๋ยวประด๋าวก็จะบอกว่า ต่างกันไม่เยอะ แต่พอฟังไปนานๆ เทียบไปเทียบมา จะรู้สึกว่า “ความต่าง” มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนฟังแว๊บแรกประเมินว่าต่างกันสัก 10-15% แต่พอฟังไปนานๆ ความต่างมันขึ้นมาเป็น 15-20% เป็นอย่างน้อย.!
คิดว่าอัตราของความต่างน่าจะเปลี่ยนไปอีก ตามคุณภาพของฮาร์ดดิสพกพาที่นำมาใช้ คือถ้าเป็นแฟรชไดร้ที่มี Read speed ต่ำๆ เสียงน่าจะแย่ลงไปอีกอย่างแน่นอน ส่วนการสตรีมจาก NAS นั้นแม้ว่าจะเป็นกล่อง NAS หรือฮาร์ดดิสที่ใส่อยู่ข้างในจะเป็นคนละยี่ห้อ เสียงก็ไม่น่าจะต่างกันมาก ดังนั้น ถ้าคุณตั้งใจที่จะใช้วิธีใส่เพลงไว้ใน USB Harddisk แล้วเสียบเข้าที่ช่อง USB-A ของ ST25 เป็นแหล่งเก็บไฟล์เพลงหลักของคุณ แนะนำให้มองหาฮาร์ดดิส SSD ซึ่งจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าแฟรชไดร้ทั่วไป
สตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL Connect
ผ่านแอพ TIDAL บน iPad
บนแอพ Radia ไม่ได้ฝังแอพ TIDAL เอาไว้ (ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน.??) ถ้าต้องการเล่นไฟล์เพลงจาก TIDAL คุณต้องเปิดแอพ TIDAL บนสมาร์ทโฟน, บนแท็ปเล็ต หรือบนคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เล่นเพลง แล้วเลือกเอ๊าต์พุตมาที่ ST25 เพื่อให้ TIDAL Connect ทำงาน จากนั้นแอพ TIDAL บนอุปกรณ์ของคุณก็จะทำหน้าที่เป็นแค่รีโมทที่ใช้ควบคุมการเล่นเพลอย่างเดียว ส่วนไฟล์เพลงนั้นถูกส่งจากเซิร์ฟเวอร์ของ TIDAL เข้าไปที่ ST25 โดยตรง (Spotify ก็แบบเดียวกัน)
อัลบั้ม : Norwegian Recordings (FLAC-24/48)
ศิลปิน : Hanna Boel
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/track/333224127?u)
อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่ Arcam เรียกว่า All new, ultra High-Resolution Streaming Platform ซึ่งเป็นสตรีมมิ่ง แพลทฟอร์มที่พวกเขาออกแบบมาใหม่ทั้งหมดก็เป็นได้ ที่ทำให้เสียงจากการสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL Connect มีคุณภาพเสียงที่ดีเป็นพิเศษ โทนเสียงออกมานุ่มละมุน ตัวเสียงแผ่ใหญ่ เนื้อเสียงสะอาดสะอ้านมาก ไม่มีสากเสี้ยนที่เป็นต้นเหตุของความแห้งหยาบของเสียงออกมาให้ได้ยินเลย (บางคนนิยามอาการแห้งหยาบนี้ว่าเป็นเสียงแบบดิจิตัล) ทำให้เนื้อเสียงมีความเข้มข้น ไม่บอบบาง ปริมณฑลของสนามเสียงขยายอาณาเขตออกไปรอบด้าน กอปรเป็นเวทีเสียงที่ปรากฏชัดทั้งสามมิติ ไม่ว่าจะในแง่กว้าง, ลึก และสูง การตอบสนองเชิงเฟสก็แม่นยำ แม้ว่าแต่ละตัวเสียงจะแผ่ใหญ่แต่ก็ยังแยกตำแหน่งจัดวางไว้เป็นเลเยอร์ ทำให้สามารถฟังแยกแยะรายละเอียดของแต่ละเสียงออกมาได้อย่างชัดเจน..
อัลบั้ม : Saxophone Colossus (Rudy Van Gelder Remastered) (FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Sonny Rollins
สังกัด : Prestige Hi-Fi
คุณสมบัติของเสียงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของ “ความเป็นดนตรี” ก็คือ “ไทมิ่ง” ในการจัดการกับสัญญาณเสียงตั้งแต่ต้นทาง (source) ลงไปจนถึงลำโพงซึ่งเป็นห่วงโซ่สุดท้ายของระบบเครื่องเสียง ซึ่ง source จะมีบทบาทมากเป็นอันดับแรกในการกำหนดไทมิ่งของเสียงที่ผ่านออกไปจากลำโพง ความหมายคือ ถ้าสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตจาก source จัดไทมิ่งมาไม่ดี เสียงที่ผ่านออกไปจากลำโพงก็มีโอกาสที่จะให้ไทมิ่งที่ไม่ดี
ไทมิ่งที่ดีตามอุดมคติคือไทมิ่งที่ตรงกับไทมิ่งที่ไฟล์เพลงนั้นๆ ถูกกำหนดมาจากสตูดิโอเป๊ะๆ ซึ่งถ้าวัดกันจริงๆ ก็เป็นหน่วยมิลลิเซคคัล ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้วเป็นอะไรที่ทำให้เกิดขึ้นจริงในชุดเครื่องเสียงได้ยากมากๆ เพราะชุดเครื่องเสียงมีช่วงต่อเยอะ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้นต่างก็มีช่วงสวิงของไทมิ่งเป็นของตัวเอง ต่างกันก็แค่สวิงช่วงกว้างหรือสวิงช่วงแคบ
โอกาสที่อุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นแหล่งต้นทางอย่างสตรีมเมอร์จะจูนการตอบสนองต่อสัญญาณอินพุตให้ได้ไทมิ่งตรงเป๊ะตามที่รับเข้ามาตลอดเวลานั้น ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ ด้วยการกำหนดปริมาณบัฟเฟอร์ไว้น้อยๆ สัญญาณอินพุตก็จะวิ่งผ่านระบบเพลย์แบ็คเกือบจะเป็นเรียลไทม์ แต่วิธีนี้ก็เสี่ยงที่จะทำให้ระบบเพลย์แบ็คสามารถทำงานต่อเนื่องไปได้ตลอดเวลาโดยไม่หยุดชงักลงเมื่อสัญญาณอินพุตมีปัญหาในการนำส่งจากภายนอก (สปีดอินเตอร์เน็ตดรอปลง ฯลฯ) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเล่นไฟล์เพลงหยุดชงักลงระหว่างทาง ผู้ผลิตสตรีมเมอร์มักจะเลือกวิธีกำหนดบัฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่หน่อย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อดีคือทำให้ระบบเพลย์แบ็คทำงานได้ต่อเนื่องตลอดเวลา แต่บัฟเฟอร์ที่ใหญ่เกินไปจะส่งผลกระทบทำให้ไทมิ่งของเสียงช้าลงกว่าที่รับเข้ามาทางอินพุต เสียงโดยรวมจะมีลักษณะที่หน่วงช้าลง มาก–น้อยแตกต่างกันไป
เสียงหน่วงช้า ก็ไม่ดีซิ.? ถ้าไม่หน่วงช้ามากเกินไป แค่ไม่กี่มิลลิเซคคัล บางทีเราก็ไม่รู้สึก และถ้าตัวสตรีมเมอร์มีการออกแบบให้การหน่วงช้าของเสียงมีการควบคุม group delay กับ phase delay ให้ช้าลงในอัตราส่วนที่เสมอกัน ทุ้ม–กลาง–แหลมไหลลื่นออกมาด้วยไทมิ่งเดียวกันตลอดเวลา เสียงที่ออกมาก็จะไม่รู้สึกแย่ มิหนำซ้ำ การที่ไทมิ่งถูกดึงให้ช้าลงกว่าต้นฉบันนิดหน่อย (ไม่กี่มิลลิเซคัล) กลับทำให้เสียงเพลงออกมาน่าฟังมากขึ้นซะอีก คือนอกจากจะมีลักษณะที่นุ่มนวลแล้ว มันยังทำให้ผู้ฟังสามารถฟังจับรายละเอียดของแต่ละเสียงที่อยู่ในเพลงออกมาได้ครบถ้วนมากขึ้นด้วย
ผมกำลังจะบอกว่า ST25 จูนไทมิ่งของเสียงออกไปทาง laid back หรือหน่วงช้าเล็กน้อยถ้าเทียบกับสปีดของเสียงแต่ละเสียงที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ มีผลให้โทนเสียงโดยรวมของ ST25 ปักหมุดอยู่เลยจากจุด neutral ไปทางด้านนุ่มนวลเล็กน้อย ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับโทนเสียงสด สมจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เสียงของ ST25 ไม่สมจริง ในแง่ของรายละเอียดที่เป็นหัวเสียงหรืออิมแพ็ค ไปถึงบอดี้ที่เป็นเนื้อมวล และหางเสียงที่ต่อเนื่องจากบอดี้ออกไปนั้น ST25 ถ่ายทอดออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ฟังแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าเสียงที่กำลังฟังอยู่นั้นเป็นเสียงของอะไร ในแง่มูพเม้นต์ก็บอกได้ว่านักดนตรีกำลังทำอะไรกับเครื่องดนตรีของเขา ไม่ว่ามือกลองจะหวดหนัก หรือหวดเบาแค่ไหน ชิป DAC ที่อยู่ในตัว ST25 สามารถแจกแจงคุณสมบัติทั้งหมดนี้ออกมาได้อย่างไร้ที่ติ จะมีก็คือไทมิ่งที่ผู้ออกแบบตั้งใจจูนมาให้หน่วงช้านิดๆ เท่านั้นซึ่งผลที่เกิดกับเสียงโดยรวมถือว่าอยู่ในลักษณะของ “color” ไม่ใช่ “distortion” คือเป็นแนวเสียงลักษณะที่เรียกกันว่าสไตล์ Laid back นั่นเอง
สรุป
สำหรับคนที่เคยสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Arcam มาก่อน จะรู้ดีว่า ผู้ผลิตเครื่องเสียงจากประเทศอังกฤษแบรนด์นี้จูนเสียงมาได้ถูกใจนักเล่นเครื่องเสียงที่ชื่นชอบ “ความเป็นดนตรี” มากเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่ Arcam เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาจึงเรียกความสนใจจากนักเล่นฯ ได้เสมอ
ผมเข้าใจการออกแบบเครื่องเสียงนะ ซึ่งแน่นอนที่ว่า ณ จุดเริ่มต้น นักออกแบบทุกคนจะต้อง “ตั้งธง” ไว้สูงลิบขึ้นไปถึงระดับอุดมคติกันทั้งนั้น ถ้าจะทำให้เสียงออกมาดี ตรงนี้จะต้องทำอย่างนั้น ตรงนี้จะต้องทำอย่างโน้น แต่เมื่อไรที่การออกแบบนั้นอยู่ภายใต้ “ข้อจำกัด” ของต้นทุน ทำให้จำเป็นต้องใช้วิธี compromise ในการออกแบบ ซึ่งจะมีก็แต่นักออกแบบรอบจัดมากประสบการณ์เท่านั้น ที่จะสามารถลดทอนเป้าหมายลงมาให้เหมาะสมกับ “ต้นทุน” จริงๆ ที่อยู่ในมือจนสำเร็จออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ลงตัวได้ (ถ้าไม่ใช่แบรนด์ที่ใหญ่พอ ก็คงไม่มีทุนจ้างนักออกแบบมากประสบการณ์เพื่อสร้างสินค้าระดับกลางๆ อย่างนี้.!)
โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าการออกแบบด้วยวิธี compromise มันคือหัวใจหลักของการออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงเลยนะ เพราะมันไม่ได้ยกเอาวิชาการมาใช้แบบทื่อๆ โดยไม่อินังขังขอบกับผลกระทบข้างเคียง ซึ่งนักออกแบบที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้นที่จะสามารถ “เกลี่ย” คุณสมบัติของอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ประกอบอยู่ในตัวเครื่องให้ทำงานประสานกันออกมาได้ลงตัวมากที่สุดตามที่ขีดความสามารถของอุปกรณ์แต่ละชิ้นเหล่านั้นสามารถทำได้ โดยไม่สร้าง artifact ออกมารบกวนสัญญาณเสียง ซึ่งนักออกแบบด้อยประสบการณ์จะไม่เข้าใจจุดนี้ มุ่งแต่จะรีดเค้นประสิทธิภาพออกมาให้ได้มากที่สุดถ่ายเดียว เมื่อถูกเค้นจนถึงลิมิตของอุปกรณ์บางตัวมันจะส่งผลข้างเคียงออกมาด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นานๆ ทีเราจะเห็นเครื่องเสียงที่มีราคาไม่สูงแต่ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆ แบบ ST25 ตัวนี้ออกมาให้เชยชม
ส่วนตัวแล้วผมชอบเสียงของ ST25 นะ มันให้ความเป็นดนตรีสูงมาก ผมทดลองเปิด playlist บน TIDAL (https://tidal.com/browse/playlist/bb62cca5-5e26-4cc1-bf6c-e96339905933) ที่ผมทำไว้ทั้งหมด 320 แทรค หลากหลายแนวเพลงอออกมาฟังแบบมาราธอนต่อเนื่อง พบว่า ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหน ST25 ก็นำเสนอมันออกมาได้อย่างน่าฟัง “ทุกแทรค” แม้ว่าบางแทรคอาจจะให้โทนเสียงที่ติดนุ่มไปบ้าง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ไม่ได้ทำให้รู้สึกสูญเสียอรรถรสแต่อย่างใด
ใครกำลังมองหาสตรีมเมอร์ในระดับงบประมาณ “ต่ำกว่า 100,000 บาท” ผมขอแนะนำ Arcam ‘ST25’ ตัวนี้ไว้ให้พิจารณาด้วยความมั่นใจว่า ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบฟังเพลงโดยไม่เกี่ยงกับข้อด้อยเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสของแอพฯ ไม่สวย ฟังท์ชั่นไม่เยอะ แต่ถ้าคุณได้ทดลองฟังเสียงของมันเชื่อว่าคุณจะถูกใจ..!!!
**************************
ราคา : 60,000 บาท / เครื่อง
**************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท Deco2000
โทร. 089-870-8987
facebook: DECO2000Thailand