The Power of “Micro size” – ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต่างก็ได้ทำความจริงออกมาให้เราตะหนักแล้วว่า เลนส์ตัวจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่ากล้องถ่ายภาพ DSLR นับร้อยนับพันเท่า แต่มีความสามารถในการถ่ายภาพสูงไม่แพ้กล้องถ่ายภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าเหล่านั้นได้ และที่น่าทึ่งมากไปกว่านั้นก็คือ “คุณภาพของภาพ” ที่ได้ออกมาก็ดีเกินคาดซะด้วยซิ..!
XELENTO REMOTE
“จิ๋ว” แต่ “แจ๋ว” !
หูฟังอินเอียร์ (in-ear headphone) ถูกบังคับโดยลักษณะการใช้งานให้ต้องมีขนาดที่เล็กจิ๋วมากๆ ซึ่งเป็นโจทย์ยากสำหรับนักออกแบบ ในการที่จะทำให้หูฟังประเภทนี้ให้เสียงออกมามีคุณภาพดี ในสมัยก่อนโน้น หูฟังอินเอียร์ลักษณะนี้ถูกใช้ในงานเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น เป็นมอนิเตอร์สำหรับนักดนตรีบนสเตจ และเป็นหูฟังสำหรับผู้มีปัญหาในการได้ยิน
กล่องของ XELENTO REMOTE
การออกแบบและปรับจูนเสียงเพื่อการใช้งานเฉพาะทางในลักษณะข้างต้นนั้นจะง่ายกว่าการปรับจูนเสียงของหูฟังอินเอียร์สำหรับตลาดคอนซูเมอร์ที่นำมาใช้ในการฟังเพลง เพราะการฟังเพลงต้องการคุณสมบัติของเสียงที่ดีมากๆ ในหลายๆ แง่ประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นแบนด์วิธของเสียงต้องครอบคลุมย่านเสียงของตัวโน๊ตดนตรีทั้งหมด, ไดนามิกเร้นจ์ก็ต้องสวิงได้กว้างเพื่อให้ได้เสียงการบรรเลงของเครื่องดนตรีทุกชนิดรวมถึงเสียงร้องที่สมจริง, ต้องสามารถตอบสนองคุณสมบัติทางด้านฮาร์มอนิกของแต่ละเสียงเครื่องดนตรีที่มี Harmonic Structure ออกมาได้อย่างถูกต้องตามธรรมชาติ และยังต้องสามารถจำแนกแยกแยะเสียงของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นออกมาจากกันได้อย่างชัดเจนอีกด้วย!
งานหินทั้งนั้น.! ซึ่งยังไม่หมด เมื่อเป็นหูฟังที่ตั้งใจตอบสนองตลาดคอนซูเมอร์จริงๆ ก็ยังต้องคำนึงถึงความต้องการ “ต่อสายตา” ด้วย นั่นคือต้องมีรูปลักษณ์ภายนอกที่สวย ดูดี และที่สำคัญคือต้องมีน้ำหนักที่เบา ไม่รู้สึกรำคาญขณะสวมใส่ และง่ายต่อการพกพา
นี่คือหูฟังที่ผมอยากจะบอกว่า มันสามารถตอบสนองโจทย์ยากๆ ข้างต้นได้ครบถ้วนมากที่สุดตัวหนึ่ง ดูจากสเปคฯ ข้างบนนี้ คุณจะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจหลายตัว ตัวแรกที่สะดุดตาผมมากที่สุดคือ NOMINAL IMPEDANCE HEADPHONES ซึ่งระบุไว้ที่ 16 โอห์ม นั่นคือผู้ผลิตกำลังบอกเราว่า หูฟังตัวนี้ไม่ได้ต้องการกำลังขับจากแอมป์เยอะในการขับดันให้มันขยับตัวร้องเพลงให้เราฟัง และตัวเลข 16 โอห์มนี้ถือว่าเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่คะเนได้เลยว่า แค่แอมป์จากสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ (ควร) จะขับหูฟังตัวนี้ได้แล้ว
ตัวเลขที่สองที่เห็นแล้วตาโต ก็คือ HEADPHONE FREQUENCY RESPONSE หรือความสามารถในการตอบสนองความถี่ของหูฟังตัวนี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าหูฟังตัวเล็กๆ แค่ปลายนิ้วก้อยตัวนี้จะสามารถถ่ายทอดความถี่เสียงออกมาได้กว้างมากขนาดนั้น คือตั้งแต่ 8Hz ไปจนถึง 48,000Hz รองรับตามมาตรฐาน High Resolution Audio ของ JEITA พอดีเป๊ะ!
——————————————————————
High Resolution Audio ตามความหมายของ JEITA | Link
——————————————————————
ตัวเลขอีกตัวที่มีความหมายไปในทางบวกสำหรับผม นั่นคือ NOMINAL SOUND PRESSURE LEVEL ซึ่งสะท้อนถึง sensitivity หรือความไว ตัวเลขอยู่ที่ 110dB ต่อกำลังขับที่ป้อนให้มันเท่ากับ 1mW (หนึ่งมิลลิวัตต์) วัดที่ความถี่ 500Hz ได้ความดังเท่ากับ 110 ดีบีก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างไว เห็นอย่างนี้ก็ยิ่งอุ่นใจว่าหูฟังตัวนี้ไม่กินวัตต์โหดแน่ๆ (ความดังที่เราใช้ในการฟังเพลงด้วยหูฟังจะอยู่ในระดับไม่เกิน 80dB)
คุณคงสงสัย.. ซึ่งไม่ใช่แค่คุณ ผมเองก็สงสัยว่า เอนจิเนียร์ที่ beyerdynamic เค้าทำได้อย่างไร.? เขาทำให้ไดเวอร์ตัวเล็กกระจิ๋วหลิวสามารถเปล่งความถี่เสียงออกมาได้กว้างขนาดนั้น แถมยังทำความดังออกมาได้มากขนาดนั้นโดยที่ไดเวอร์ไม่พังไปซะก่อน
สงสัยก็ต้องเข้าไปค้นหาคำตอบซิครับ จะรออะไร.? หลังจากเข้าไปสืบเสาะทั้งในเว็บไซต์ของ beyerdynamic เองและเว็บไซต์ดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้าของแบรนด์นี้ รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่พูดถึงแบรนด์นี้ ผมคิดว่าได้คำตอบมาแล้วครับ เทคโนโลยีพิเศษที่น่าจะอยู่เบื้องหลังคุณสมบัติมหัศจรรย์ของหูฟังตัวนี้ก็น่าจะเป็น Tesla Technology ที่แบรนด์นี้ใช้ชูเป็นจุดขายนี่เอง.!
—————————————-
Tesla Technology คืออะไร.? | Link
—————————————-
รูปสวย จุ๋มจิ๋ม
เหมือนเครื่องประดับ
ในเว็บไซต์ของ beyerdynamic เค้าเรียกหูฟังรุ่น XELENTO REMOTE ของเขาว่าเป็น ‘An Audible Piece Of Jewellery‘ ประมาณว่า ‘เครื่องประดับเพชรที่ใช้ฟังเพลงได้‘ ซึ่งผมไม่เถียงเลย เพราะทั้งรูปทรงและภาพลักษณ์ทางสายตาของหูฟังตัวนี้มันมาทรงนี้เป๊ะเลย.! (และนี่ก็คือการตอบโจทย์ของหูฟังสำหรับคอนซูเมอร์อีกข้อหนึ่ง)
จุกยาง (beyerdynamic เรียกว่า eartips) ที่ให้มาในกล่องมีอยู่ 2 ชนิด นับรวมกันได้ 10 คู่ แบ่งเป็นจุกซิลิโคน 7 คู่ (สองแถวบน) กับจุดโฟม Comply foam รุ่น Tx-500 อีก 3 คู่ (แถวล่างสุด) แต่ละคู่มีขนาดกำกับไว้ด้วย (ศรชี้) เริ่มตั้งแต่เล็กสุดของจุกซิลิโคนคือ XS, S, M, L, XL, XXL, 3XL กับสามขนาดของจุกเมมโมรี่โฟมคือ S, M, L
ตัวบอดี้ออกแบบได้งดงามมาก ดีไซน์ของมันฉีกหนีจากหูฟังอินเอียร์อื่นๆ ไปไกลเลย มันสมควรจะถูกเรียกว่าเครื่องประดับอย่างที่ว่าจริงๆ รูปทรงมันจะสอดรับและกลมกลืนไปกับสรีระหูของเรามาก ทรงบอดี้ที่โค้งมนจะสอดเข้าช่องหูได้อย่างกลมกลืน ปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี เมื่อผสานกับจุดยางที่ลงตัวกับช่องหูของผู้สวมใส่ จะยิ่งช่วยชีลด์เสียงรบกวนจากภายนอกไม่ให้ทะลุรอดเข้าไปในรูหูได้สนิทมากขึ้นไปอีก ยิ่งชีลด์เสียงจากภายนอกได้ดีเท่าไร คุณก็จะได้ยินเสียงที่มีรายละเอียดที่ดียิ่งขึ้นเท่านั้น
—————————————-
ไปดูข้างในของไดเวอร์ตัวนี้กัน | Link
—————————————-
A : ไดเวอร์ไดนามิก ขนาดจิ๋ว ย่อส่วนลงมาให้มีขนาดแค่เศษ 1 ส่วน 16 ของไดเวอร์ที่ใช้อยู่ในหูฟังแแบบ over-ear รุ่น T 1 เท่านั้น
B : ว๊อยซ์คอย
C : แม่เหล็ก
D : ขั้วต่อ MMCX
ผิวนอกของตัวบอดี้ที่เห็นเงางามวาววับนั้นทำจากโลหะที่ผ่านการเคลือบผิวถึงสามชั้น
ตัวไดเวอร์ที่ใช้ในรุ่นนี้เป็นแบบไดนามิก ขนาดเล็กมาก ย่อส่วนลงมาจากที่ใช้ในรุ่น T 1 ทั้งว๊อยซ์คอยและการประกอบบอดี้ทุกชิ้น ทั้งตัว ทำด้วยมือทั้งหมด ตอนพันว๊อยซ์คอยด้วยเส้นทองแดงก็ต้องมองผ่านกล้องไมโครสโคป และใช้ความชำนาญของช่างทำนาฬิกาเป็นคนจัดการในส่วนนี้ ทั้งหมดทุกขั้นตอนเกิดขึ้นที่เมือง Helibronn ประเทศเยอรมนี
หูฟังทั้งสองข้างถูกออกแบบมาให้ใช้เฉพาะข้าง จึงมีสกรีนตัวอักษรระบุข้างมาชัดเจนบนตัวบอดี้ นอกจากนั้นก็มีตัวอักษรสัญลักษณ์ยี่ห้อกับซีรี่ย์นัมเบอร์พร้อมคำว่า Made in Germany กำกับมายืนยันอีกด้วยว่าทุกตัวผลิตในประเทศเยอรมนีจริงๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับเลยว่า หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ แล้วสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงที่ผลิตจากประเทศเยอรมนีแท้ๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทหูฟังซึ่งหลายๆ แบรนด์หันไปใช้บริการของประเทศจีนซะเกือบหมดทั้งตลาดแล้ว
ในกล่องมีสายหูฟังมาให้ 2 เส้น ลักษณะของเส้นตัวนำและส่วนประกอบอื่นๆ เหมือนกันแทบทั้งหมด มีต่างกันอยู่แค่อย่างเดียวคือ เส้นหนึ่งจะมีรีโมทสำหรับรับสายและสั่งงานในการเล่นเพลงติดตั้งมาให้ด้วย ใช้งานได้ทั้งกับสมาร์ทโฟน iOS และ Android ในขณะที่อีกเส้นไม่มี ที่ให้มาสองเส้นก็เพื่อให้เหมาะกับไล้ฟ์สไตล์ของผู้ใช้แต่ละคน หรือเพื่อการเลือกในแต่ละความต้องการนั่นเอง หากคุณเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์ ชอบฟังเพลง แต่ไม่ได้เป็นนักฟังเพลงที่มีความซีเรียสในคุณภาพเสียงแบบสุดติ่ง แค่ต้องการฟังเพลงไปด้วยรับสายโทรฯ ได้ด้วย สายหูฟังแบบที่มีรีโมทติดมาให้ก็เหมาะกับคุณ แต่ถ้าเป็นนักฟังเพลงที่ต้องการคุณภาพระดับที่ดิ่งลึกลงไปถึงอารมณ์เพลงจริงๆ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีเครื่องเล่นไฟล์เพลง หรือ Digital Audio Player (DAP) คุณภาพสูงอยู่แล้ว สายหูฟังตัวที่ไม่มีรีโมทรับสายโทรศัพท์จะเหมาะมากกว่า เพราะไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคมาคั่นสัญญาณเสียง ทำให้ได้เสียงที่มีความบริสุทธิ์สูงเท่าเทียมกันทั้งสองข้าง
ระหว่างตัวหูฟังกับปลายสายหูฟัง เชื่อมต่อกันด้วยขั้วต่อแบบ MMCX โดยที่ปลายสายด้านที่เสียบกับหูฟัง จะมีตัวอักษรระบุข้างไว้ชัดเจน ต้องใส่ให้ถูกข้างและอยู่ในรูปทรงที่ถูกต้อง เพราะใส่ผิดไม่แค่เสียงออกมาผิดปกติ แต่จะทำให้คล้องหูยากด้วย
ตัวสายสัญญาณที่ให้มามีขนาดเล็กมาก นิ่มและให้ตัวได้ดี ความยาว 1.3 เมตร สะดวกมากขณะพกติดตัว ไม่รั้งดึงขณะใช้งาน
แจ๊คฝั่งที่เสียบเข้าที่ตัวเครื่องเล่นหรือสมาร์ทโฟนเป็นแบบ mini 3.5mm ชุบทอง
มีกล่องเล็กๆ แถมมาให้หนึ่งใบ สำหรับเก็บสายและหูฟังออกไปใช้งานขณะเดินทาง
ทดลองใช้งาน
ทดสอบเบื้องต้นหลังจากเปิดไฟล์ Burn-in ของ Atlas Cable ติดต่อกันไป 50 ชั่วโมง ผมเริ่มทดลองฟังกับ iPhone 7 ของผมก่อน ชุดรีโมทจะปรับได้เฉพาะกดรับสาย/หยุดเล่นเพลงชั่วคราว แต่ปรับวอลลุ่มไม่ได้เมื่อใช้กับแจ๊คอะแด๊ปเตอร์ Lightning > 3.5mm ของแอ๊ปเปิ้ล ดังนั้น ทั้งรับสายและฟังเพลงต้องใช้วิธีปรับวอลลุ่มด้วยปุ่มบนตัวไอโฟนโดยตรง
จากการทดลองฟังเพลงที่เป็นไฟล์ WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดี และฟังเพลงจากแอพฯ Spotify กับแอพ TIDAL ผ่านอะแด๊ปเตอร์ Lightning > 3.5mm บน iPhone 7 ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ที่ทดลองฟังในขั้นตอนนี้จะเป็นเพลงท็อปฮิตทั่วๆ ไป ไม่ใช่เพลงไฮเอ็นด์ที่พิถีพิถันในการบันทึกเสียง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มีอยู่ 2 ประเด็นที่ผมพบ อย่างแรกคือ “ความไว vs. กำลังขับ” ผมพบว่า กำลังขับจากตัวอะแด๊ปเตอร์ Lightning ของแอ๊ปเปิ้ลที่มีอยู่แค่น้อยนิด แต่ก็ยังสามารถขับดันหูฟัง XELENTO REMOTE ตัวนี้ให้ร้องเพลงเพราะๆ ได้อย่างสบาย เสียงโดยรวมออกมาน่าพอใจ ไม่รู้สึกถึงอาการอั้นที่มักจะเกิดจากปัญหากำลังขับไม่พอ เวทีเสียงทั้งหมดจะลอยตัวอยู่รอบๆ ศีรษะ ไม่ถึงกับฉีกตัวออกไปได้ไกลมาก แต่ก็สามารถแยกแยะเสียงดนตรีในย่านกลางและแหลมออกจากกันได้ดี มีเฉพาะในย่านทุ้มเท่านั้นที่เมื่อฟังเพลงที่มีเบสเยอะๆ จะปรากฏอาการขุ่นและเบลอออกมาให้ได้ยิน มีปัญหาในการแยกแยะตัวโน๊ตย่านต่ำอยู่บ้าง แต่กับเพลงที่เน้นความถี่ย่านกลาง–แหลมเป็นหลัก อย่างแนวคันทรี่, บลูกลาส และเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีย่านต่ำน้อยชิ้น อย่างเช่นพวกสแตนด์ดาร์ดแจ๊ส จะไม่มีปัญหานี้ สรุปคือ กำลังขับของอะแด๊ปเตอร์ Lightning > 3.5mm บน iPhone 7 สามารถขับหูฟัง XELENTO REMOTE ได้แต่ไม่เต็มร้อย ฟังเอาเพลินได้ดีเพียงพอสำหรับคนทั่วไป เพราะจุดเด่นที่ผมได้ยินจากหูฟังตัวนี้ตั้งแต่นาทีแรกที่ลองฟังกับไอโฟนเซ็ตนี้ก็คือ contrast dynamic ที่รับรู้ได้ถึงการผ่อนคลายและเร่งเร้าของทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรี ทั้งในช่วง ดังลงไปหาเบา และช่วงเบาทะยานขึ้นไปหาดัง ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ฟังแล้วได้อารมณ์เพลง
ขั้นที่สองผมทดลองฟังกับ DAP ที่ผมมีอยู่ในมือขณะนั้นสองตัวคือ Astell&Kern รุ่น AK Jr. กับ Sony รุ่น NW-ZX300 แล้วเปลี่ยนมาใช้สายแบบไม่มีรีโมท ใช้เวลาเบิร์นฯ ต่อไปอีก 50 ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้ว แค่เสียบฟังครั้งแรกหลังจากแกะออกมาจากกล่องเสียงก็ลอยออกมาจากหูฟังแล้วฉีกตัวออกไปไกลจากศีรษะแล้ว แสดงว่า กำลังขับของ DAP ทั้งสองตัวของผม “เอาอยู่” สบายๆ เป็นการพิสูจน์ว่า หูฟังอินเอียร์ XELENTO REMOTE ตัวนี้ขับไม่ยากจริงๆ
หลังผ่านชั่วโมที่ 50 ไปแล้ว ผมก็เริ่มต้นทดลองฟังจริงๆ จังๆ ด้วยไฟล์เพลงหลากหลายชนิดเท่าที่เพลเยอร์ทั้งสองตัวสามารถเล่นได้ มีทั้งไฟล์ Hi-Res PCM และไฟล์ Hi-Res DSD ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไฟล์เพลงไฮเอ็นด์ที่ผลิตจากสังกัดที่พิถีพิถันในการบันทึกเสียง
สิ่งแรกที่ XELENTO REMOTE แสดงออกมาให้ผมพบ หลังจากการฟังด้วย DAP ทั้งสองตัวก็คือคุณสมบัติของความเป็น “มอนิเตอร์” ของมัน คือตอนฟังด้วยเพลเยอร์ AK Jr. ผมพบว่า เสียงโดยรวมมีลักษณะที่ “พุ่งดัน” (push) เล็กน้อย เร่งดังแล้วจะรู้สึกอึดอัด ปลายเสียงไม่พลิ้วและมีความแข็งติดปลายเสียงออกมาเล็กน้อย แต่พอฟังกับ ZX300 ผมกลับไม่ได้ยินเสียงแบบนั้น ทั้งๆ ที่เป็นไฟล์เดียวกัน พิจารณาแล้ว เป็นไปได้ว่าต้นเหตุน่าจะมาจากเรื่องของ “แม็ทชิ่ง” ระหว่างเพลเยอร์กับหูฟังที่ให้แบนด์วิธของความถี่เสียงไม่เท่ากัน ตัวหูฟังที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างมากๆ มักจะฟ้องออกมาในลักษณะของเสียงที่อัดแน่น ไม่ผ่อนคลาย และมีอาการแข็งที่ปลายเสียงเนื่องจากการทำงานของชิป DAC รุ่นเก่าๆ กับวงจรดิจิตัลฟิลเตอร์ที่ไม่มีความละเอียดมากพอ เมื่อลองจับคู่กับเพลเยอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ให้แบนด์วิธกว้างๆ อย่าง ZX300 เพราะภาค DAC ใหม่กว่า อาการอัดแน่นและแข็งที่ปลายเสียงซึ่งเกิดจาก mismatch ก็จะเบาบางลงไปมาก ถ้าจะมีอาการอั้นและแข็งที่ปลายเสียงเกิดขึ้นก็มาจากตัวไฟล์เอง
หลังผ่านการเบิร์นฯ มาแล้ว เสียงของ XELENTO REMOTE ที่ได้จากการฟังร่วมกับ ZX300 มีลักษณะที่เปิดโล่งออกไปทั้งสเปคตรัม ทั้งด้านล่าง (ทุ้ม) และด้านบน (แหลม) ก็ทอดตัวไปได้อย่างอิสระ ไม่มีอาการอั้น ตื้อ การถ่ายทอดน้ำหนักเสียงก็ทำได้ดี ให้ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ของอิมแพ็คได้ฉับไวและมีน้ำหนัก สปีดดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่าประหลาดใจสำหรับผม เพราะส่วนมากที่เคยฟังหูฟังตัวเล็กๆ แบบนี้มา ผมยอมรับว่า มักจะเจอข้อจำกัดทางด้านทรานเชี้ยนต์ของหูฟังเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งเคยลองทดสอบแล้วพบว่าไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดทางด้านกำลังขับของแอมป์ เพราะหลายๆ ครั้งที่ผมเคยลองเพื่มเพาเวอร์แอมป์ หรือลองใช้ DAC/Amp ตัวใหญ่ที่มีกำลังเกินพอลองขับหูฟังเหล่านั้นดู ปรากฏว่า อาการ distortion ที่ปลายเสียงอันเกิดจากไดเวอร์ break-up ก็ยังคงปรากฏอยู่ แสดงว่าเป็นข้อจำกัดของตัวไดเวอร์ของหูฟังเอง
แต่กับ XELENTO REMOTE ตัวนี้ผลลัพธ์น่าประหลาดใจอย่างที่บอก คือผมลองเร่งเสียงของ ZX300 ขึ้นไปสูงๆ ฟังกับแทรคที่มีสัญญาณทรานเชี้ยนต์เร็วๆ แรงๆ อย่างอัลบั้มของค่าย Telarc ชุด Round-Up กับชุด Waltz รวมงานของ Ein Straussfest ซึ่งนักเล่นเครื่องเสียงรู้จักกันดีว่า เพลงของค่าย Telarc นี้มีชื่อเสียงมากในแง่ของการบันทึกสัญญาณทรานชี้ยนต์ไดนามิกที่รวดเร็วและรุนแรงมาก ซึ่งท้าทายความสามารถของลำโพงและหูฟังเป็นอย่างยิ่ง ถ้าออกแบบมาไม่ดีพอ รองรับไดนามิกทรานเชี้ยนต์ได้ไม่กว้างมาก ฟังเพลงจากอัลบั้มเหล่านี้แล้วจะมีอาการอั้น ตื้อ หรือถึงขนาด distortion ออกมาให้ได้ยินอย่างแน่อน ซึ่ง XELENTO REMOTE ตัวนี้สอบผ่านได้อย่างสบาย (จนน่าประหลาดใจอย่างที่ว่า)
เพื่อความชัวร์ผมได้ลองฟังงานเพลงที่โชว์ไดนามิกทรานเชี้ยนต์เด็ดๆ ที่วงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ยอมรับอีก 2-3 อัลบั้ม พบว่า XELENTO REMOTE ตัวนี้ก็สามารถถ่ายทอดไดนามิกทรานเชี้ยนต์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง!!
เพื่อความหลากหลาย ผมมีโอกาสทดลองฟัง XELENTO REMOTE กับเพลเยอร์ยี่ห้อ iBasso รุ่น DX200 ของน้องฟิว (โมดิฟายโดยคุณนนท์) ด้วย ซึ่งบุคลิกเสียงที่ได้ก็ต่างออกไป โดยมีบุคลิกของตัวเพลเยอร์เข้ามาผสม แต่ที่ผมได้ยินเหมือนกันคือ อาการเปิดเผยของเสียงที่ XELENTO REMOTE แสดงตัวออกมา ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความไวของตัวไดเวอร์ที่ตอบรับกับกำลังขับของ DAP ได้สบายๆ
สุดท้าย ผมลองใช้ ZX300 ทำหน้าที่เป็น USB-DAC + Amp ด้วยโหมด USB-DAC ของ ZX300 แล้วใช้โปรแกรม roon เล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค MacBook Pro ซึ่งวิธีเล่นแบบนี้จะทำให้ output ของ ZX300 ออกมาแรงกว่าเล่นด้วยโปรแกรมเพลเยอร์ในตัว ZX300 เอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ผมได้ยินผ่าน XELENTO REMOTE ออกมาก็ดีกว่าตอนฟังผ่าน DAP ขึ้นไปอีกระดับ สนามเสียงเปิดโล่งมากขึ้น ฉีกตัวลอยห่างศีรษะออกไปมากขึ้น ไดนามิกสวิงได้กว้างขึ้น ทรานเชี้ยนต์เร็วและแรงขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีก การแยกแยะระหว่างความถี่ดีขึ้นโดยเฉพาะในย่านทุ้ม โทนเสียงออกไปทางสดมากขึ้น ฟังสนุกมากขึ้น เข้าถึงอรรถรสของเพลงที่ฟังได้ลึกลงไปมากขึ้น
สรุป
ในช่วงสอง–สามปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ฟังหูฟังอินเอียร์แบบเต็มสูบอย่างนี้มาแล้วไม่ถึง 20 รุ่น ผมยอมรับว่า XELENTO REMOTE ตัวนี้ให้เสียงดีที่สุดในจำนวนหูฟังอินเอียร์ทั้งหมดที่ผมเคยฟังมา.!
ตอนแรกผมยอมรับว่า มีความพึงใจกับรูปร่างหน้าตาของมัน และไม่คิดว่าเสียงมันจะดีมาก เพราะรูปร่างหน้าตามันเหมือนหูฟังบูติคมากกว่าหูฟังไฮเอ็นด์ที่เน้นคุณภาพเสียง แต่พอได้ฟังแล้วผิดคาดไปมาก! เสียงของ XELENTO REMOTE มีความเป็นไฮเอ็นด์ทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นเพราะเทคโนโลยี Tesla ของ beyerdynamic นี่แหละคือที่มาของคุณภาพเสียงที่ได้ยินจากหูฟังตัวนี้.!! /
****************************
ราคา : 38,900 บาท / ชุด
****************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท แบรนด์ ไอเดนติตี้ แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด
โทร. 084-680-0941, 089-767-2224
****************************
ดูข้อมูลเพิ่มเติม/สั่งซื้อได้ที่ | Link