เทรนด์ของการเล่นเครื่องเสียงยุคนี้เริ่มเดินเข้าสู่รูปแบบที่ “เรียบง่าย แต่ทรงประสิทธิภาพ” มากขึ้น เมื่อ source หรือต้นทางสัญญาณเปลี่ยนมาอยู่บนมาตรฐานของ digital เต็มตัว เราจึงได้เห็นว่ามีอุปกรณ์ประเภท all-in-one รุ่นใหม่ๆ ออกมาในตลาดมากขึ้น เริ่มต้นจาก wireless speaker อย่างพวกลำโพงไร้สายที่ใช้การเชื่อมต่อด้วยสัญญาณ bluetooth ที่ออกแบบมาให้ใช้ฟังแบบลำลอง ไปจนถึงชุดเครื่องเสียงแบบ full size audio system ซึ่งรวมทุกอย่างอยู่ในระบบที่มีขนาดใหญ่กว่า ตอบสนองความต้องการฟังเพลงที่มีคุณภาพสูงกว่าลำโพงไร้สายตัวเล็กๆ
EDGE Series
ผลผลิตจากความตั้งใจ
EDGE เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงอนุกรมสูงสุดในจำนวน 9 ซีรี่ย์ของแบรนด์ Cambridge Audio จากประเทศอังกฤษ เป็นซีรี่ย์ที่ผู้ผลิตตั้งใจทุ่มเททั้งด้านเทคนิคและเทคโนโลยีลงไปเต็มพิกัดเพื่อตอบสนองกับเทรนด์การฟังเพลงยุคใหม่และเป็นซีรี่ย์ที่ตั้งใจทำออกมาฉลองครอบรอบ 50 ปีของแบรนด์ด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาในซีรี่ย์นี้มีอยู่ทั้งหมด 3 รุ่นสำหรับตอนนี้ นั่นคือ EDGE NQ เป็นปรีแอมป์ที่มีฟังท์ชั่น Network Player ในตัว ตัวที่สองคือ EDGE W เป็นเพาเวอร์แอมป์เพียวๆ และตัวที่สามชื่อรุ่น EDGE A คือตัวที่ผมกำลังจะทำรีวิวตัวนี้ซึ่งเป็นอินติเกรตแอมป์ที่มีภาค DAC ในตัว
EDGE A
คือ ความเรียบง่ายที่ทรงประสิทธิภาพ
ในจำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งสามตัวในอนุกรม EDGE Series ของ Cambridge Audio ก็มีตัว EDGE A นี่แหละที่แสดงความหมายของคำว่า “ความเรียบง่ายที่ทรงประสิทธิภาพ” ได้ตรงประเด็นมากที่สุด
EDGE A เอาความหมายของ “ความเรียบง่าย” ไปโชว์ไว้บนแผงหน้าของตัวเครื่อง (ภาพบน) ซึ่งบนพื้นที่ 5.9 x 15.9 ตารางนิ้วของแผงหน้าปัดที่ทำด้วยอะลูมิเนียมเคลือบสีเทาเมทัลลิก (Lunar Grey) ของ EDGE A มีแค่ฟังท์ชั่นใช้งานไม่กี่อย่างเท่านั้น คือมีปุ่มเล็กๆ อยู่ตรงมุมซ้ายด้านล่างของหน้าปัดใช้สำหรับกดเปิด/ปิดเครื่องหนึ่งปุ่ม มีปุ่มหมุนสองชั้นขนาดใหญ่อีกหนึ่งปุ่ม อยู่ตรงกลางของหน้าปัด ให้มาใช้ปรับวอลลุ่มกับเลือกอินพุต และให้รูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3mm มาอีกหนึ่งช่อง อยู่ตรงมุมด้านล่างขวาของหน้าปัด ทั้งหมดมีอยู่แค่นี้ เรียบง่ายแนวมินิมอลลิสต์จริงๆ
ส่วนเรื่องของ “ทรงประสิทธิภาพ” นั้นปรากฏชัดอยู่ที่แผงด้านหลังของตัวเครื่อง ซึ่งจุดเด่นของ EDGE A คือภาค DAC ที่ติดตั้งมาให้ในตัว (ตำแหน่ง A) โดยให้ช่องอินพุตสำหรับรองรับสัญญาณดิจิตัล ออดิโอจากแหล่งต้นทางต่างๆ มาหลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานได้กว้างขวางมาก ไล่ตั้งแต่ช่อง USB type B ซึ่งให้มารองรับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ MAC/PC, ช่อง HDMI รองรับสัญญาณเสียงจากทีวีได้ (ทางช่อง HDMI ARC ของทีวี), ช่อง Coaxial หนึ่งช่องกับช่อง Optical อีกสองช่อง
ช่อง USB type B ที่ให้มาถือว่าเป็นไฮไล้ท์ฯ ของ EDGE A อย่างแท้จริง เนื่องจากประสิทธิภาพของมันห่างไกลจากคำว่า “ของแถม” ไปมาก เพราะไดเวอร์ USB Audio ที่พวกเขาติดตั้งมาให้ใช้เป็นมาตรฐาน USB 2.0 ซึ่งมีความสามารถรองรับสัญญาณเสียงได้ถึงระดับสูงสุดของมาตรฐานปัจจุบัน นั่นคือ PCM ได้ถึง 32-bit/384kHz (DXD) และรองรับสัญญาณ DSD ได้ถึง DSD256 (11.2MHz) บนฟอร์แม็ต DoP เมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงที่รองรับการเล่นไฟล์เหล่านั้นได้
นอกจากอินพุตที่ให้มาตอบสนองนักเล่นฯ ระดับไฮเอ็นด์อย่าง USB type B แล้ว EDGE A ยังได้ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการรองรับไฟล์เพลงที่สตรีมไร้สายจากอุปกรณ์พกพาผ่านทาง Bluetooth เวอร์ชั่น 4.1 ได้อีกด้วย ซึ่งมีความสามารถรองรับสัญญาณเพลงได้สูงถึงฟอร์แม็ต aptX HD 24/48 เลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ช่องดิจิตัล อินพุตเท่านั้น แต่ EDGE A ยังให้ช่องอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาลอกมาด้วย มากถึง 3 ช่องด้วยกัน (ตำแหน่ง B ในภาพด้านบน) โดยผ่านทางขั้วต่อ RCA สำหรับสัญญาณอันบาลานซ์สองช่อง และผ่านขั้วต่อ XLR สำหรับสัญญาณบาลานซ์อีกหนึ่งช่อง ยิ่งไปกว่านั้น EDGE A ยังให้ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับสัญญาณ Pre-out มาด้วย (ตำแหน่ง C ในภาพด้านบน) โดยติดตั้งขั้วต่อมาให้ใช้ทั้งแบบอันบาลานซ์ (RCA) และบาลานซ์ (XLR) อย่างละชุด ซึ่งคุณสามารถเพิ่มเติมเพาเวอร์แอมป์จากภายนอกเข้ามากับระบบได้ อย่างเช่น EDGE W ของ Cambridge Audio เอง
ผมทดลองทดสอบภาคปรีเอ๊าต์ของ EDGE A ด้วยการเชื่อมต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ Jeff Rowland รุ่น Model 125 (กำลังขับ 125W/ch ที่ 8 โอห์ม & 250W/ch ที่ 4 โอห์ม, ตอบสนองความถี่ 5Hz – 130kHz) ซึ่งมีโอเว่อร์ออล เกนอยู่ที่ 26 ปรากฏว่าไปด้วยกันได้สบาย ระดับความดังที่ใช้ร่วมกับ Model 125 ตอนขับลำโพง Element Ember เมื่อเทียบกับตอนใช้ภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว EDGE A เองออกมาใกล้เคียงกันมาก แต่เสียงที่ได้จากการใช้งานภาคปรีเอ๊าต์ฯ ของ EDGE A ร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ Model 125 ของ Jeff Rowland ออกมานิ่งกว่า พื้นเสียงใสกว่า เวทีเสียงเปิดกว้างกว่า แต่โทนัลบาลานซ์ออกมาไม่เหมือนกับตอนฟังจากเพาเวอร์แอมป์ของ EDGE A เอง ซึ่งจากการทดลองแม็ทชิ่งสายสัญญาณระหว่าง Pre-out ของ EDGE A กับอินพุตของ Model 125 ผมพบว่ามีผลต่อโทนัลบาลานซ์ของเสียงและรายละเอียดมาก ในขณะที่ทางด้านเกนขยาย (output vs. input) ไม่มีปัญหาสำหรับคู่นี้
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของช่อง Pre-out ที่ EDGE A ให้มาก็คือใช้ป้อนสัญญาณให้ลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์เพื่อเพิ่มความถี่ต่ำให้กับระบบเสียง ซึ่งการปรับเพิ่ม/ลดวอลลุ่มระหว่างภาคขยายในตัว EDGE A กับสัญญาณที่ส่งออกไปทางช่อง Pre-out จะถูกควบคุมโดยวอลลุ่มของตัว EDGE A ไปพร้อมๆ กัน นั่นทำให้สามารถแม็ทชิ่งเกนวอลลุ่มของแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์เข้ากับเกนวอลลุ่มของ EDGE A ได้ไม่ยาก
ขั้วต่อสายลำโพง (D) ให้มาสำหรับการเชื่อมต่อกับลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ฯ คือใช้กับสายลำโพงที่ติดขั้วต่อแค่ชุดเดียว ตัวขั้วต่อคุณภาพดี ขนาดใหญ่เชื่อมต่อสายลำโพงได้ง่ายและมีความแข็งแรง ส่วนช่องเสียบปลั๊กไฟเอซี (E) ให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์ ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนสายไฟเอซีคุณภาพดีๆ มาอัพเกรดเสียงได้ ซึ่งแน่นอนว่า การใช้สายไฟเอซีที่มีคุณภาพสูงๆ มีส่วนช่วยอัพเกรดคุณภาพเสียงของ EDGE A ขึ้นไปได้อย่างเห็นผลชัดเจน
อินติเกรตแอมป์ตัวนี้ติดตั้งฟังท์ชั่น Auto Power Down (APD) มาให้ด้วย คือหลังจากเปิดเครื่องทิ้งไว้ ถ้าไม่มีการใช้งานใดๆ แค่ไม่กี่นาที ฟังท์ชั่น APD จะทำงานอัตโนมัติ ตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดสแตนด์บายเอง แต่ถ้าไม่ต้องการ คุณสามารถปิดการทำงานของฟังท์ชั่น APD ได้ด้วยการเลื่อนสวิทช์เล็กๆ ที่อยู่ด้านหลัง (ตามตำแหน่งภาพด้านบน) ไปที่ตำแหน่ง “No”
EDGE A มีรีโมทไร้สายตัวเขื่องมาให้ใช้ควบคุมการสั่งงานระยะไกล ซึ่งควบคุมได้เฉพาะฟังท์ชั่นหลักๆ ของตัวเครื่อง อย่างเช่นเลือกอินพุต โดยแยกควบคุมด้วยปุ่ม A กับปุ่ม B ซึ่งทำงานต่างกันแค่ กดซ้ำๆ ปุ่ม A จะเป็นการเลือกอินพุตเรียงลำดับวนไปตามเข็มระหว่างอินพุตอะนาลอก–อินพุตดิจิตัล–บลูทูธ ส่วนปุ่ม B นั้นถ้ากดซ้ำๆ จะเป็นการเลือกอินพุตวนมาทางซ้ายตามลำดับ, ส่วนการเพิ่ม/ลดวอลลุ่มก็ให้มาสองปุ่มคือ + (เพิ่ม) กับ – (ลด), ปุ่มตรงกลางใช้หยุดเสียงชั่วคราว (mute) ฯลฯ
แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ
กำลังขับของ EDGE A ระบุในสเปคฯ อยู่ที่ 100W ที่โหลด 8 โอห์ม และสามารถเบิ้ลได้เป็น 200W ที่โหลด 4 โอห์ม ซึ่งจากการทดสอบผมพบว่า มันสามารถควบคุมการทำงานของลำโพง Totem Acoustics รุ่น The One (4 โอห์ม / 87dB) ของผมได้อย่างสบาย และเมื่อเปลี่ยนมาลองขับ Totem Acoustics อีกคู่หนึ่งของผมคือรุ่น Element Ember (8 โอห์ม / 88dB) ซึ่งขับง่ายกว่า ก็ยิ่งสบายขึ้นไปอีก
ในช่วงเวลาของการทดสอบนานหลายเดือน ผมมีโอกาสให้ EDGE A ทดลองขับลำโพงอีกหลายคู่ ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาน่าประทับใจมากๆ คือตอนจับคู่กับลำโพงสองทางวางขาตั้งรุ่น SR 1 Avantgarde Arrete ของยี่ห้อ Audiovector (ลิ้งค์รีวิว) เสียงที่ออกมามันได้ครบมากทั้งรายละเอียดของเสียงที่พร่างพรายโดยเฉพาะในย่านกลางขึ้นไปสูง ได้ซาวนด์สเตจที่เปิดทะลุไปทั้งสามด้านเพราะแม็ทชิ่งระหว่างแอมป์+ลำโพงคู่นี้ให้พื้นเสียงที่ใสกระจ่าง อีกคู่ที่ได้เสียงน่าประทับใจก็คือตอนขับลำโพง Dynaudio รุ่น Contour 20 (ลิ้งค์รีวิว) ซึ่งให้เสียงออกไปคนละแนวคือเสียงที่ใหญ่โต อบอุ่น เบสลงลึกและแผ่ฐานได้กว้าง ซึ่ง EDGE A แสดงให้เห็นว่า ตัวเลขกำลังขับที่ 100W ของมันไม่ใช่อุปสรรคใดๆ เลยสำหรับลำโพงระดับกลางๆ ขึ้นไปถึงระดับน้องๆ ไฮเอ็นด์
ในการทดสอบ ผมให้ความสำคัญกับการใช้ภาค DAC ในตัว EDGE A มากเป็นพิเศษ โดยอาศัย roonlabs : nucleus+ เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง ผ่านสัญญาณเข้าทางช่อง USB type B ของ EDGE A เพราะพบว่า ภาค DAC ในตัว EDGE A มันให้คุณภาพสูงมากอยู่แล้ว เล่นไฟล์ได้ครบทุกฟอร์แม็ต WAV, AIFF, FLAC และ DSF และเล่นได้ทุกระดับของความละเอียดที่สูงกว่ามาตรฐานปัจจุบันซะด้วย ผมจึงไม่เห็นประโยชน์จากการป้อนสัญญาณจาก source ภายนอก นอกจากว่าคุณตั้งใจที่จะใช้ source ที่มีคุณภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว EDGE A ขึ้นไปมากๆ ซึ่งจากที่ผมทดลองพบว่า ต้องกระโดดขึ้นไปถึงระดับ ext.DAC ของ Esoteric รุ่น N-05 หรือ external DAC ของ dCS รุ่น Rossini DAC โน่นเลยถึงจะข้ามภาค DAC ในตัว EDGE A ไปได้แบบขาดๆ
เสียงของ EDGE A
น้ำเสียงโดยรวมของ EDGE A เป็นอะไรที่แปลกหูไปจากอินติเกรตแอมป์ตัวอื่นๆ ซึ่งผมแนะนำว่า ช่วงเวลา 200 ชั่วโมงแรกหลังแกะกล่อง คุณอาจจะรู้สึกคล้่ายกับว่า เสียงของแอมป์ตัวนี้มันไม่มีกำลัง เพราะผมก็รู้สึกแบบนั้น แม้ว่าจะผ่านเบิร์นฯ ไปเกิน 200 ชั่วโมงไปแล้ว ผมก็รู้สึกว่าอาการนั้นยังคงมีอยู่ แต่หลังจากทำความคุ้นเคยกับวอลลุ่มของ EDGE A ได้แล้ว ผมก็รู้ที่มาของอาการดังกล่าวและจัดการมันได้
สาเหตุอันดับแรกที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นเป็นเพราะว่าแอมป์ตัวนี้ใช้หม้อแปลงแบบ เทอรอยฯ วงแหวนในภาคจ่ายกำลัง (เพาเวอร์ซัพพลาย) ซึ่งเป็นหม้อแปลงประเภทที่ไม่ได้เน้นไปทางจ่ายกำลังเหมือนหม้อแปลงแกน EI แต่หม้อแปลงเทอรอยฯ มีข้อดีอยู่ที่ให้สัญญาณรบกวนต่ำกว่าแบบแกน EI มาก ทางทีมออกแบบ Cambridge Audio ต้องการความสะอาดของเสียง จึงใช้วิธีแก้ปัญหาทางด้านกำลังของหม้อแปลงเทอรอยฯ ด้วยการเบิ้ลเข้าไปสองตัว
นอกจากนั้น ทางด้านปรีแอมป์ของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ ทางทีมออกแบบของ Cambridge Audio ยังได้ใช้เทคนิคในการจัดเส้นทางของวงจรให้สั้นมากๆ โดยการลดปริมาณอุปกรณ์คอมโพเน้นต์ภายในลงให้เหลือน้อยที่สุด มีขั้นตอนการขยายสัญญาณน้อยที่สุด และที่สำคัญมากคือลดการใช้แคปาซิเตอร์ในเส้นทางสัญญาณด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพราะเป้าหมายที่ต้องการรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณที่เดินทางผ่านแอมป์ตัวนี้เอาไว้ให้เหมือนต้นฉบับให้มากที่สุด
ด้วยข้อเท็จจริงในการออกแบบข้างต้น ทำให้ผมเข้าใจได้ทันทีว่าเพราะอะไรผมจึงรู้สึกเหมือนแอมป์มันไม่มีกำลัง เพราะพื้นฐานดีไซน์ของแอมป์ตัวนี้ ผู้ออกแบบไม่เน้น boost กำลังจากวงจรภาคปรีฯ เข้ามาช่วยเพื่อให้ได้รายละเอียดของเสียงที่ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด ผสมกับสเปคฯ ทางด้าน frequency response ของแอมป์ตัวนี้ซึ่งเปิดกว้างมากๆ คือตั้งแต่ “ต่ำกว่า 3Hz” ขึ้นไปจนถึง “สูงกว่า 80kHz” (สูงกว่าแปดหมื่นเฮิร์ต!) โดยมีอัตราเบี่ยงเบนแค่ +/-1dB เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ยูสเซอร์อย่างผมและคุณต้องทำมีอยู่สองอย่างนั่นคือ แม็ทชิ่งลำโพงกับสายลำโพงให้ดี ไม่ให้เป็น “คอขวด” และหมุนปุ่มวอลลุ่มของ EDGE A ให้มากกว่าที่เคย!
อัลบั้ม : Ink
ศิลปิน : Livingston Taylor (WAV 24/96 from DVD-A)
งานเพลงของ Livingston Taylor อัลบั้มนี้นี่แหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่า EDGE A มันไม่ค่อยมีกำลัง เพราะค่าย Chesky Records เค้ามีแนวทางบันทึกเสียงลักษณะที่ไม่เน้น boost เสียงแบบนี้อยู่แล้ว หลังจากผมทำการแม็ทชิ่งสายลำโพงใหม่ และเร่งวอลลุ่มของ EDGE A ให้มากขึ้นกว่าเดิมจนเลยเที่ยงไปเกือบถึงบ่ายโมง อาการเหมือนไม่มีแรงก็หายไป ทุกสิ่งอย่างลอยล่องออกมาทันที เวทีเสียงแผ่ขยายกว้างออกไปรอบด้าน มิติเสียงแต่ละชิ้นมีพิกัดของตัวเองชัดเจน พร้อมการขยับเคลื่อนตัวที่กระฉับกระเฉงและเอาจริงเอาจัง ทุกอย่างที่ได้ยินพลิกผันหน้ามือเป็นหลังมือ!
สิ่งที่ผมทำและเกิดผลลัพธ์ที่น่าทึ่งมากหลังจากอ่านเจอข้อมูลเบื้องหลังการออกแบบ EDGE A ข้างต้นก็คือเปลี่ยนวิธีการเชื่อมต่อสายลำโพงระหว่างลำโพง Totem Acoustics : Element Ember กับ EDGE A ซึ่งจากเดิมผมใช้สายลำโพงแบบ single-to-biwire คือข้างออกจากแอมป์รวบเป็นสองขั้วในขณะที่ปลายด้านเข้าลำโพงแยกออกเป็นสี่ขั้ว ผมทดลองเปลี่ยนมาใช้สายลำโพงแบบ single wire ที่ติดขั้วต่อข้างละสองขั้วเหมือนกันทั้งสองปลาย แล้วใช้ตัวจั๊มเปอร์เชื่อมระหว่างขั้วต่อสายลำโพงของทางฝั่งลำโพง ด้วยการทำแบบนี้ เสียงออกมาเต็มมากขึ้น เหมือนเพิ่มกำลังขับให้กับ EDGE A เข้าไปอีกสอง–สามเท่า ทุกอย่างเปิดเผยออกมาเต็ม.!! ทั้งๆ ที่สายลำโพงซิงเกิ้ลไวร์ที่ผมเปลี่ยนเข้าไปมีคุณภาพ “ต่ำกว่า” สายลำโพงซิงเกิ้ล–ทู–ไบไวร์ฯ เยอะมาก.. น่าทึ่งจริงๆ !!!
และการที่เอาภาค DAC เข้าไปเชื่อมต่อกับภาคปรีแอมป์และภาคเพาเวอร์แอมป์อย่างใกล้ชิดมันส่งผลดีอีกอย่างที่ผมสังเกตได้จากการทดลองฟัง นั่นคือทำให้เกิดการ “ผสานงาน” ที่สอดรับและกลมกลืนกันอย่างหมดจดมากขึ้นระหว่างเอ๊าต์พุตของ DAC กับอินพุตของภาคปรีแอมป์ในตัว EDGE A ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของอินติเกรตแอมป์อย่างแท้จริง เพราะมันทำให้สัญญาณเสียงถูกจัดการในแต่ละห่วงโซ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มจากเอ๊าต์พุตของภาค DAC ได้ถูกขยายเกนขึ้นไปใน “อัตราที่เหมาะสม” สำหรับการ mapping เข้ากับอัตราขยายของภาคเพาเวอร์แอมป์ได้อย่างพอดิบพอดี ซึ่งตัดปัญหา mismatch ระหว่างภาคปรีฯ กับภาคเพาเวอร์แอมป์ทิ้งไปได้เลย
เพียงแค่หาลำโพงที่มั่นใจว่ากำลังขับของ EDGE A สามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์มาจับคู่กันเท่านั้น เสียงที่ได้ออกมาก็คือคุณภาพเนื้อๆ ซึ่งมรรคผลที่หูของผมรับรู้ได้ชัดเจนปรากฏออกมากับน้ำเสียงในหลากหลายแง่มุม ในบางแง่มุมนั้น มันคือรายละเอียดที่ลึกซึ้งลงไป อย่างเช่น ความสามารถในการควบคุม “ตำแหน่งเสียง” แต่ละเสียงบนเวทีเสียงที่แม่นยำมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เมื่อฟังแบบผิวเผินจะแค่รู้สึกว่า EDGE A ทำให้เพลงที่คุ้นเคยและฟังบ่อยๆ มีความไพเราะมากขึ้น นั่นคือ มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างกับเพลงที่ฟัง และเมื่อตั้งใจใช้การพิจารณาในการฟังอย่างละเอียดเพื่อค้นหา “อะไรบางอย่าง” ที่ EDGE A ทำให้เกิดขึ้นกับเสียงเพลงที่คุ้นเคยนั้น ผมก็พบว่า สิ่งที่ EDGE A เข้าไปทำให้เสียงเพลงที่คุ้นเคยมีความไพเราะมากขึ้นก็คือมันช่วย “ชี้ชัด” เสียงทั้งหมดในเพลงที่ผมฟังออกมาให้ผมได้ยินในระดับที่ “ลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อย” มากกว่าที่เคยนั่นเอง
อัลบั้ม : Modern Cool
ศิลปิน : Patricia Barber (DSF64)
ผมจะยกตัวอย่างเพื่อขยายความคำว่า “ลึกลงไปในรายละเอียดปลีกย่อย” ให้ฟังสักตัวอย่าง ช่วงหนึ่งในขณะทดลองฟัง EDGE A แล้วทำให้ผมรู้สึกว่าได้ยินคุณสมบัติที่ว่านั้นก็คือตอนที่ผมลองฟังไฟล์ DSF64 เพลง “Company” แทรคที่ 7 ในอัลบั้มชุด Modern Cool ซึ่งเป็นหนึ่งใน Track Reference ที่ผมใช้อ้างอิงในการทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงมานานหลายปี และตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ผมจะใช้เพลงนี้บ่อยในการทดสอบ เพราะมันเป็นฟอร์แม็ต DSD ที่ผมริปออกมาจากแผ่น SACD ซึ่งตลอดเวลาช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีอุปกรณ์ประเภท DAC รุ่นใหม่ๆ ออกมา เมื่อนำไฟล์เพลงนี้มาลองฟังกับ DAC รุ่นใหม่ๆ เหล่านั้น ผมพบว่าเพลงนี้ถูก render ออกมาได้อย่างไพเราะสวยงามมากขึ้นเรื่อยๆ รายละเอียดในแต่ละจุดของเพลงนี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเอียดละออมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อนำไฟล์ DSF64 ของเพลงนี้มาลองฟังผ่านอินพุต USB type B ของ EDGE A โดยใช้ภาค DAC ในตัว EDGE A ผมพบว่า เสียงทุกเสียงในเพลงนี้ ทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีและเสียงร้องได้ถูกจัดวางตำแหน่งกระจายตัวกันอยู่ในซาวนด์สเตจได้อย่างชัดเจน “ตลอดทั้งสเปคตรัม” ตั้งแต่ย่านทุ้มขึ้นไปจนถึงแหลม นั่นแสดงว่า EDGE A สามารถควบคุมการทำงานของไดเวอร์ทั้งสองตัวของลำโพง Element ‘Ember’ ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ สิ่งที่สะดุดหูของผมมากคือช่วงเวลา 01:13 – 02:10 นาที ของเพลงนี้ คือช่วงที่มีเสียงทรัมเป็ตโซโล่ขึ้นมานั้น ผมเพิ่งได้ยินจะจะจาก EDGE A ตัวนี้ว่าเสียงฉาบในช่วงที่ว่านี้มันมีตำแหน่งที่ชัดเจนมากและฉีกตัวลงไปอยู่หลังระนาบลำโพงได้อย่างหมดจด ไม่มีความรู้สึกว่าเสียงฉาบนั้นพุ่งออกมาจากทวีตเตอร์เลยแม้แต่น้อย.!
ซึ่งโดยธรรมชาติของเสียงฉาบที่ประกอบด้วยหัวเสียงอิมแพ็คกับฮาร์มอนิกของมันที่มีลักษณะแผ่กระจายออกไปรอบๆ ข้างนั้น เป็นความถี่ที่อยู่ในย่านเสียงแหลมทั้งหมด ซึ่งเกิน 90% ของเสียงฉาบในแทรคนี้เกิดจากการทำงานของทวีตเตอร์ของ Element ‘Ember’ ดังนั้น ถ้าแอมปลิฟายมีความสามารถควบคุมการทำงานของทวีตเตอร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จจริงๆ ความถี่เสียงที่ทวีตเตอร์ถ่ายทอดออกมาก็จะมีความเที่ยงตรงไปตามความถี่เสียงที่แอมปลิฟายส่งมาที่ทวีตเตอร์นั่นเอง ซึ่ง “ความเที่ยงตรง” ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่คุณสมบัติทางด้าน frequency response แต่หมายรวมถึง phase และ dynamic range ของเสียงฉาบนั้นด้วย และเมื่อคุณสมบัติของเสียงฉาบในแทรคนี้ทั้ง 3 ข้อข้างต้นถูกถ่ายทอดผ่านทวีตเตอร์บนลำโพงที่ออกแบบมาอย่างดี และถูก “ควบคุม” ด้วยแอมปลิฟายที่ออกแบบมาอย่างดี ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็จะถึงพร้อมทั้งสามคุณสมบัติครบถ้วนอย่างที่ผมได้ยิน ซึ่งจากที่เคยได้ยินเสียงฉาบในแทรคนี้มา ทางด้าน frequency response กับ dynamic range นั้นผมได้ยินมานานแล้ว และได้ยินมาตลอด แต่คุณสมบัติทางด้าน phase ของเสียงฉาบที่แม่นยำ (phase จะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติทางด้านมิติ–เวทีเสียง) นั้น เท่าที่ผ่านมา ผมไม่เคยได้ยินตำแหน่งของเสียงฉาบในแทรคนี้ที่ให้โฟกัสแม่นยำขนาดนี้มาก่อน เสียงหวดฉาบที่ผมได้ยินในช่วงเวลา 01:13 – 02:10 นาทีของเพลงนี้มีอยู่ถึง 3 ตำแหน่ง เยื้องไปทางซ้ายสองตำแหน่ง และเยื้องไปทางขวาอีกหนึ่งตำแหน่ง
มือกลองในแทรคนี้ถูกมิกซ์ให้อยู่ในเลเยอร์ที่ลึกลงไปกว่าเสียงทรัมเป็ตเล็กน้อย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นช่วงที่ทรัมเป็ตกำลังโซโล่ ซึ่งปกติแล้ว หากไม่ตั้งใจฟังเสียงกลองอาจจะจับรายละเอียดของเสียงฉาบได้ยาก แต่ครั้งนี้ผมได้ยินเสียงฉาบที่แยกตำแหน่งปรากฏขึ้นมาชัดมากจนสะดุดหู ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ได้ตั้งใจโฟกัสการฟังไปที่เสียงฉาบเป็นพิเศษแต่อย่างใด นั่นแสดงว่า EDGE A สามารถแจกแจงรายละเอียดของเสียงในย่านแหลมออกมาได้อย่างแม่นยำมากๆ นั่นเอง
ตลอดการทดลองใช้งาน EDGE A มานานหลายเดือนติดต่อกัน ผมสังเกตว่า ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง ดูเหมือนว่ามันต้องการเวลาในการรันอินประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่สุ้มเสียงจะเข้าที่ ซึ่งทีแรกผมนึกว่าเป็นผลมาจากการเบิร์น อิน แต่ใช้งานจนเกิน 300 ชั่วโมงไปแล้วอาการดังกล่าวก็ยังคงอยู่ หลังจากค้นข้อมูลการออกแบบ EDGE A มาอ่าน จึงได้รู้ว่า สิ่งที่ผมพบนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการใช้ทรานส์ฟอเมอร์แบบวงแหวน (Toroidal Transformer) จำนวน 2 ตัววางซ้อนกัน (stack) ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษในการออกแบบอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ ส่งผลให้ได้กำลังที่สูงขึ้น และช่วยทำให้การรบกวนจากสนามแม่เหล็กลดลง ส่งผลให้เสียงฮัมน้อยลง ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงรายละเอียดและความนิ่งของเสียงด้วย ข้อมูลที่ค้นพบนั้นช่วยไขข้อสงสัยของผมไปโดยหมดสิ้น
อัลบั้ม : ASIAN ROOTS
ศิลปิน : TakeDake with John Neptune (DSF64)
พอทำความเข้าใจและแก้ปัญหาแม็ทชิ่งสำเร็จ ตอนนี้ฟังอะไรก็ดีไปหมด อย่างอัลบั้มที่โชว์เพอร์คัสชั่นชุดนี้ ซึ่งก่อนหน้าแก้ปัญหาแม็ทชิ่งผมก็รู้สึกว่าเสียงมันออกมาไม่มีกำลัง รายละเอียดไม่เปิดกระจ่าง เสียงเลเยอร์หลังๆ จม เวทีไม่กว้างอย่างที่เคยฟัง พอแก้ไขเสร็จ ทุกอย่างออกมาเหมือนหนังคนละม้วน อย่างแรกคือเวทีที่ฉีกกว้างออกไปรอบด้าน สองคือไดนามิกของหัวเสียงเพอร์คัสชั่นที่ทั้งเน้นน้ำหนักและให้สปีดที่สมจริง ไม่เร่งและไม่เฉื่อย สามคือเนื้อมวลของแต่ละเสียงที่มีทั้งความอิ่มแน่นและ texture ที่แสดงถึงลักษณะของเนื้อวัสดุที่ใช้ทำเครืองดนตรีเหล่านั้นออกมาด้วย แสดงถึงความสามารถในการถ่ายทอด harmonic structure ของแต่ละเสียงออกมาได้ครบจริงๆ
อีกคุณสมบัติเด่นของ EDGE A คือภาคขยายหูฟังครับ ผมมองข้ามไปในตอนแรกจนเกือบลืมทดลองฟังเสียง หลังจากทิ้งเบิร์นฯ ไปอีกเกือบร้อยชั่วโมง มันก็ให้เสียงที่น่าพอใจมากทีเดียว มันขับหูฟังราคาหมื่นกว่าบาททั้งสองของผม (Sennheiser : HD650 กับ AKG : K702/65th) ออกมาได้ดีมาก ได้ความเป็นดนตรีสูงเลย ฟังเอาเรื่องได้สบายๆ
สรุป
อินติเกรตแอมป์ EDGE A ของ Cambridge Audio ตัวนี้ใช้เวลาอยู่กับผมมานานมาก นับเวลาคร่าวๆ น่าจะมีเกือบครึ่งปี เป็นเครื่องเสียงที่ผมหยิบมาใช้งานบ่อยมาก ได้เจอะเจอกับลำโพงหลากหลาย ซึ่งทำให้ผมมั่นใจในประสิทธิภาพที่มันให้ออกมา และต้องขอบอกว่า ถ้าคุณเข้าใจและให้ความละเอียดในการ fine tune ด้วยการแม็ทชิ่งลำโพงและการเชื่อมต่อสายลำโพงเข้ากับ EDGE A ตัวนี้ได้ลงตัวแล้ว สิ่งที่คุณได้รับคืนกลับมาก็ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่า “สาระดนตรี” ที่บันทึกอยู่บนแผ่นเพลงที่คุณฟังนั่นแหละ.!!! /
**********************
ราคา : 229,000 บาท / ตัว
**********************
สนใจซื้อ + สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เชิญที่ : fb > Cambridge Audio Thailand