รีวิวเครื่องเสียง Tchernov Cable รุ่น Reference AC Cable สายไฟเอซีระดับอ้างอิง

รัสเซียเหรอ.? อือมม.. ผมยอมรับว่านึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่าในชีวิตนี้เคยฟังเครื่องเสียงเมด อิน รัสเซียมาบ้างหรือเปล่า.? เท่าที่นึกออกหลังจากตั้งใจนึกอยู่พักนึงก็น่าจะเป็นยี่ห้อ BAT หรือ Balanced Audio Technology ล่ะมั้ง ที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคที่มาจากประเทศรัสเซีย ซึ่งไม่แน่ใจด้วยว่า แบรนด์ BAT ที่ว่านี้ แค่ออกแบบโดยคนรัสเซีย.? หรือว่าผลิตในประเทศรัสเซีย.? หรือว่าเจ้าของเคยเป็นคนรัสเซีย แต่ถูกซื้อโดยคนชาติอื่นไปแล้ว.? อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆ ส่วนอีกอย่างที่เคยผ่านมือผ่านหูมากหน่อยก็คือหลอดสุญญากาศยี่ห้อ Sovtek ของโซเวียต

Tchernov Cable
ชื่อนี้ รัสเซียชัดๆ !!

คุณตรี แห่งสำนัก CH Home Medias ผู้นำเข้าสายออดิโอ เคเบิ้ลของ Tchernov Cable มาจำหน่ายในประเทศไทย ฝากให้คุณโย จากค่ายเดียวกันหิ้วสายไฟเอซีตัวนี้มาให้ผมทดลองฟัง ซึ่งหลังๆ มานี้ต้องบอกเลยว่า ผู้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องเสียงหลายๆ เจ้าเริ่มรู้แนวการฟังของผมแล้ว เมื่อไรที่มีการจัดส่งตัวอย่างมาให้ แล้วเน้นย้ำเจาะจงมาด้วยว่า อยากให้พี่ลองฟังแบบนี้ต้องมีอะไรเข้าทางผมแน่ๆ

แต่ก็อย่างที่เกริ่นมาก่อนหน้านี้ว่าผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับสินค้าเครื่องเสียงจากประเทศรัสเซียสักเท่าไร เลยทำให้ภาพลักษณ์ของเครื่องเสียงรัสเซียในมโนของผมจึงออกไปทางโบราณ โลว์เทค อะไรแบบนั้น พอพูดถึงสายไฟเอซีที่ออกแบบและผลิตในรัสเซีย ผมเลยนึกภาพไม่ออกว่าหน้าตากับสุ้มเสียงของมันจะออกมาในลักษณะไหน.? รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสทดลองสัมผัส

ที่มาที่ไป, ปรัชญาและหลักการในการออกแบบของแบรนด์ Tchernov Cable

แบรนด์นี้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในวงการเครื่องเสียงตั้งแต่ ปี 2002 ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้นับเวลารวมกันได้เกือบยี่สิบปีแล้ว สินค้าหลักของแบรนด์นี้ก็คือสายเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียง ส่วนจุดขายของแบรนด์นี้นอกจากจะเป็นเทคโนโลยีที่หลากหลายแล้ว อีกจุดขายหนึ่งที่ดูว่าพวกเขาจะมีความภาคภูมิใจอย่างมาก นั่นคือคำว่า “Made in Russiaที่กำกับอยู่ในข้อมูลแจกแจงคุณสมบัติของสินค้าทุกรุ่นของแบรนด์นี้

Tchernov Cable มีหลักยึดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่กอปรไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งทาง Tchernov Cable มีสโลแกนที่สะท้อนพื้นฐานที่พวกเขายึดถือเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าไว้ว่า “Differene To Discoverความหมายคือ แตกต่างเพื่อการค้นพบใหม่ๆโดยให้ความสำคัญกับการออกแบบการจัดเรียงเส้นตัวนำที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงมาเป็นอันดับแรก (Construction Priority), เสริมด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการออกแบบ (Innovative Design) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อคุณภาพเสียง, ใช้ความเป็นกลาง (Neutrality) ของเสียงเป็นแนวทางในการปรับจูน, อาศัยศาสตร์ระดับสูงในการกำหนดความยาวของสายที่อิงกับหลักธรรมชาติ (The Golden Ratio), ทำทุกขั้นตอนด้วยฝีมือของมนุษย์ (Individual Craftmanship) และสุดท้ายคือ กำหนดเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานของความคุ้มราคา (Value For Money) ในการผลิตสินค้าแต่ละรุ่น

Tchernov Cable รุ่น Reference AC Cable
สวยเกินคาด.!

แบรนด์นี้แบ่งระดับชั้นของผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 ระดับ หรือ 6 Series ไล่จากล่างขึ้นมาบนก็คือ Standard, Original, Special, Classic, Reference และระดับสูงสุดคือ Untimate ซึ่งสายไฟเอซีรุ่นที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่นที่จัดอยู่ในซีรี่ย์ “Referenceรองจากซีรี่ย์สูงสุดลงมาหนึ่งขั้น

ต้องขอบอกว่า ตัวจริงของสายไฟเอซีตัวนี้มันสวยมาก! ภายนอกของตัวสายมีลักษณะเป็นเส้นกลม แข็ง ฉนวนเปลือกนอกสุดสีน้ำตาลเจือด้วยสีทอง ดูเปล่งปลั่งมีสง่าราศรี ขั้วต่อทั้งฝั่งตัวผู้และฝั่งตัวเมียมีขนาดใหญ่ ตัวบอดี้ของขั้วต่อทำด้วยวัสดุโพลีคาร์บอเนตสีดำ แต่โปร่งใส มองทะลุเข้าไปถึงด้านในได้ลางๆ ส่วนตัวขั้วต่อชุบทอง สีเหลืองอร่าม

ตัวนำ” (conductor) เป็นหัวใจสำคัญของสายออดิโอ เคเบิ้ลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณ หรือสายลำโพง ฯลฯ รวมทั้งสายไฟเอซีด้วย ซึ่งองค์ประกอบของตัวนำที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงมีอยู่หลายข้อ เริ่มด้วยชนิดของเส้นตัวนำ, ฉนวนที่หุ้มห่อตัวนำแต่ละเส้น, ลักษณะการจัดเรียงของตัวนำภายในสาย ไปจนถึงวัสดุที่ใช้แด้มป์ฯ ภายในตัวสาย

Tchernov Cable ใช้เส้นตัวนำที่ทำด้วยทองแดงฝอยหลายขนาดจับรวมกันเป็นเส้นที่พวกเขาเรียกว่า “multi-stranded BRC conductorซึ่งตัวย่อ “BRCมาจากคำว่า “Balanced Refinement Copperเป็นหัวใจสำคัญของ Tchernov Cable เพราะมันคือทองแดงเนื้อดีที่ผลิตจากแคว้น Ural ของรัสเซีย ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งผลิตทองแดงคุณภาพดีแหล่งหนึ่งในโลก แคว้นนี้มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีเหมืองทองแดงเก่าแก่จำนวนมากที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ยุคบรอนซ์

ตัวนำที่สายไฟเอซีรุ่นนี้ใช้อยู่ประกอบด้วยเส้นตัวนำขนาด 0 AWG (17 mm), 2 AWG (12.5 mm), 4 AWG (10.2 mm) และ 8 AWG (7.4 mm) จับเป็นกลุ่มๆ ทั้งหมด 7 กลุ่ม แยกเป็นกลุ่มตัวนำสำหรับสัญญาณ Line (D) กับ Neutral (E) อย่างละ 3 กลุ่มเท่าๆ กัน เรียงตัวกันอยู่ภายในสายตามหลักการที่พวกเขาเรียกว่า DSC (Distributed Symmetric Conductor) ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งกลุ่มเป็นตัวนำสำหรับกราวนด์ (F) โดยที่ตัวนำแต่ละกลุ่มจะถูกห่อหุ้มด้วยฉนวนพิเศษที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาและตั้งชื่อเรียกมันว่า “SATIมาจากคำว่า “Semi-Air Tape Insulationซึ่งเป็นฉนวนที่ทำออกมาเป็นแผ่นเทปบางๆ พันไว้โดยรอบเส้นตัวนำทองแดงของแต่ละกลุ่ม ก่อนจะถูกหุ้มด้วยท่อฉนวน SPVC ที่ย้อมสีเพื่อแยกตัวนำแต่ละกลุ่มออกจากกันอย่างเด็ดขาดอีกที (สีแดง = Line (D), สีขาว = Neutral (E) และสีดำ = Ground) (F)

จากนั้น กลุ่มตัวนำทั้ง 7 กลุ่มได้ถูกหุ้มห่อด้วยชีลด์พิเศษเพื่อป้องกันคลื่นรบกวนอย่างพวก EMI (Electro Magnetic Interference) จากภายนอกไม่ให้แทรกซึมเข้าไปถึงเส้นตัวนำทองแดงที่อยู่ด้านใน ซึ่งชีลด์พิเศษที่ว่านี้ ทาง Tchernov Cable ได้คิดค้นขึ้นมาใช้และจดสิทธิบัตรเอาไว้ในชื่อว่า X-Shield SE® ซึ่งเป็นเทคนิคการชีลด์แบบ Multi-Element Shielding System ที่ประกอบด้วยวัสดุป้องกันถึง 3 ชั้น คือมีแผ่นฟอยด์ทองแดง (C) หุ้มล้อมกลุ่มตัวนำทั้ง 7 กลุ่มเอาไว้ โดยมีเส้นตัวนำทองแดง BRC แบบเดียวกับที่ใช้ทำเส้นตัวนำสัญญาณสอดแทรกไปกับแผ่นฟอยด์ทองแดงเพื่อช่วยลดเสียงรบกวนที่เกิดจากการเสียดสีของแผ่นฟอยด์ทองแดงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชีลด์ไปด้วยในตัว

และเพื่อผลในการแด้มปิ้ง เพิ่มความกระชับแน่น ลดเรโซแนนซ์ภายในโครงสร้างของกลุ่มตัวนำทั้ง 7 ที่ถูกหุ้มห่อด้วยชีลด์แผ่นฟอยด์ทองแดง ตรงช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มตัวนำทั้ง 7 กลุ่มยังได้ถูกแทรกไว้ด้วยกลุ่มของเส้นใยฝ้ายนุ่มๆ อัดแน่นอยู่ในนั้น และเลยจากชั้นของชีลด์ฟอยด์ทองแดงออกมาก็จะเป็นชั้นของฉนวนที่หุ้มห่ออยู่ภายนอกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทาง Tchernov Cable ก็ตั้งชื่อเทคนิคโครงสร้างการพันทับด้วยเส้นฉนวนแบบของเขาว่า SASDB มาจากคำว่า “Semi-Air Spaced Dielectric Bindingซึ่งก็ถูกขึ้นทะเบียนครอบครองสิทธิ์ไว้เรียบร้อยแล้วเหมือนกัน

ตรงตำแหน่ง B ในภาพด้านบนนั้นคือแจ๊คเก็ต หรือท่อฉนวนที่ใช้หุ้มห่อโครงสร้างของตัวนำทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งท่อฉนวนที่ใช้ในสายไฟเอซีรุ่น Reference AC Cable ตัวนี้เป็นวัสดุพิเศษที่มีชื่อทางการค้าว่า Elastollan® เป็นวัสดุฉนวนประเภท Thermoplastic Polyurethane (TPU) ที่คิดค้นขึ้นมาโดย BASF

ทดสอบฟังเสียง

ผมได้รับสายไฟเอซีรุ่นนี้มาแค่เส้นเดียว ผมจึงต้องเซ็ตอัพชุดทดสอบที่เรียบง่ายที่สุด เพื่อให้บุคลิกเสียงของสายไฟเอซีเส้นนี้ไม่ถูกผสมผสานด้วยบุคลิกของสายเส้นอื่นๆ

ผมเซ็ตอัพชุดทดสอบสายไฟเอซีเส้นนี้ด้วยการอาศัยอินติเกรตแอมป์ของ Hegel รุ่น H390 (REVIEW) เป็นศูนย์กลางของระบบ เนื่องจาก H390 เป็นอินติเกรตแอมป์ที่มีอินพุตดิจิตัลในตัว สามารถสตรีมไฟล์เพลงเข้ามาฟังที่ตัวของมันได้โดยตรง ไม่ต้องพึ่งพา source จากภายนอก เพิ่มแค่ลำโพงเข้ามาตัวเดียวก็จบ ผมใช้แค่สายไฟตัวนี้กับ H390 โดยต่อพ่วงไฟออกมาจาก Shunyata Research Denali 6000/s ส่วนตัว Denali 6000/s ผมใช้สายไฟ 20Amp ของ Sunyata Research เองเสียบตรงเข้าปลั๊กผนัง ตอนฟังเพื่อค้นหาคุณภาพเสียงของสายไฟเอซี Tchernov Cable ตัวนี้ ผมใช้วิธีฟังสลับกับสายไฟแถมที่มากับตัวอินติเกรตแอมป์

เสียงของ Tchernov Cable : Reference AC Cable

ตั้งแต่เริ่มทำอาชีพรีวิวเครื่องเสียงมา ผมเคยทดสอบสายไฟเอซีสำหรับเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายเส้น แต่ถ้าเป็นยุคปัจจุบัน สายไฟเอซีที่ผมชอบเสียงและจำชื่อไว้แนะนำเพื่อนๆ นักเล่นฯ ที่ถามเข้ามามีอยู่ 2 – 3 เส้น เส้นแรกสำหรับงบไม่เกิน 20,000 บาท นั่นคือ Life Audio รุ่น Essence 1 (REVIEW) กับอีกเส้นสำหรับงบไม่เกิน 50,000 บาท นั่นคือ Transparent Cable รุ่น Reference AC Cable (REVIEW) ส่วนสายไฟเอซีในระดับราคาอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนอัพเดตข้อมูล

สายไฟเอซีรุ่น Reference AC Cable ของ Tchernov Cable เส้นนี้ต้องการเวลาในการเบิร์นฯ นานมาก ในเว็บไซต์ของ Tchernov Cable เองระบุแจ้งไว้ว่า สายไฟเส้นนี้ต้องการเวลาเบิร์นฯ 100 ชั่วโมง ด้วยการป้อนสัญญาณแบบไม่หยุด! ซึ่งผมพบว่ามันต้องการเวลามากกว่านั้นสำหรับการฟังๆ หยุดๆ นี่ขนาดว่า สายไฟเส้นนี้ได้ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้ว ช่วงท้ายก่อนนั่งฟังเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ผมใช้วิธีเปิดสัณญาณ Burn-in & Demagnitise ของ Atlas ทิ้งไว้ 2-3 วันติดๆ กัน เสียงจึงเริ่มนิ่ง

สัมผัสแรกของเสียงสำหรับสายไฟเอซีสัญชาติรัสเซียเส้นนี้มันก็ฉาย ความแตกต่างจากสายไฟอื่นๆ ที่ผมเคยสัมผัสออกมาให้ได้ยินแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยลองสายไฟเอซีมา ผมพบว่า เมื่อเราเปลี่ยนสายไฟเอซีที่ทำขึ้นมาพิเศษเหล่านี้เข้าไปในซิสเต็มแทนสายไฟแถมที่มากับเครื่อง จะปรากฏผลลัพธ์ออกมาอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ เสียงทั้งหมดจะฟังดูมี พลังอัดฉีดมากขึ้น เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด จนกลายเป็นคุณสมบัติหลักๆ ของสายไฟเอซีอัพเกรดไปเลยว่า ถ้าเป็นสายไฟเอซีที่ดี เมื่อเสียบเข้าไปในซิสเต็มแล้วจะต้องทำให้ได้เสียงที่มีพลังอัดฉีดเพิ่มมากขึ้น.. บางเส้นนั้นไปไกลถึงขนาดที่ผู้ใช้กล้าพูดเลยว่า เหมือนเปลี่ยนแอมป์ใหม่!

สำหรับสายไฟเอซีของ Tchernov Cable เส้นนี้ เมื่อผมทดลองสลับเปลี่ยนเข้าไปในซิสเต็มแทนสายไฟแถมที่มากับอินติเกรตแอมป์ Hegel H390 มันก็ให้ความรู้สึกถึงพลังอัดฉีดของซิสเต็มที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ตูมตามมากมายถึงขนาดที่จะกล้าใช้คำว่า เหมือนเปลี่ยนแอมป์ใหม่นะครับ ตรงจุดนี้นี่เองที่ทำให้ผมรู้สึกใจแป้วในตอนแรก แต่หลังจากเสียบทิ้งไว้สามวันให้มันเบิร์นฯ แบบต่อเนื่องในช่วงสุดท้ายแล้วกลับมานั่งฟังอย่างจริงจังอีกสองวัน ผมจึงพบความมหัศจรรย์ที่สายไฟเอซีเส้นนี้ให้ออกมา.!

อัลบั้ม : Dire Straits (DSF64)
ศิลปิน : Dire Straits
ค่าย : Vertigo

ผมจำได้ว่า ตอนทดสอบสายไฟเอซี Transparent Cable ชื่อรุ่นเหมือนกันคือ Reference AC Cable (REVIEW) ผมก็ได้ลองฟังอัลบั้มนี้ วันนี้จึงเลือกอัลบั้มนี้มาลองฟังทดสอบสายไฟเอซีของ Tchernov Cable เส้นนี้อีกครั้งเพื่อตรวจเช็คความแตกต่าง ใครที่เคยฟัง หรือรู้จักอัลบั้มนี้ดี คงรู้ว่า ในตอนเริ่มต้นแทรคแรก “Down To The Waterlineจะมีเสียงคราง (rumble) ของความถี่ต่ำ, เสียงโซโล่กีต้าร์ และเสียงฉาบของกลอง โผล่ๆ ผุดๆ ขึ้นมาเบาๆ ซึ่งตอนใช้สายไฟธรรมดากับ H390 รายละเอียดบางส่วนของเสียงเหล่านี้จะจมหายลงไปในความเงียบ แต่พอเปลี่ยนมาใช้สายไฟของ Tchernov Cable เส้นนี้เข้าไปแทน ผมได้ยินรายละเอียดเสียงเหล่านั้นชัดขึ้นมาก.! แม้ว่าวอลลุ่มของแอมป์ยังคงอยู่ที่ระดับความดังเท่าเดิม

พอข้ามมาถึงแทรคที่สอง “Water Of Loveบุคลิกเสียงของสายไฟ Tchernov Cable ตัวนี้ก็ปรากฏออกมาให้ผมได้ยินชัดขึ้น ผมจำได้ว่า ตอนทดสอบสายไฟของ Transparent Cable ชื่อรุ่นเดียวกัน ผมได้ยินเสียงเบสกับเสียงกระเดื่องกลองในแทรคนี้มีมวลหนาและใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับตอนที่ฟังด้วยสายไฟของ Tchernov Cable เส้นนี้ คือสายไฟของ Transparent Cable เส้นนั้นมันทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นไปกับเสียงทุ้มที่มีน้ำหนักและโดดเด่นขึ้นมาจากเดิมอย่างมาก แต่ตอนฟังเพลงนี้กับสายไฟของ Tchernov Cable ตัวนี้ ผมก็ยังได้ยินเสียงเบสและกลองที่มีน้ำหนักมากกว่าสายไฟที่แถมมากับ H390 แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังได้ยินรายละเอียดของเสียงกีต้าร์และเสียงร้องที่โดดเด่นขึ้นมาพร้อมกันด้วย

หลังจากย้อนกลับไปฟังซ้ำอีกสองสามเที่ยว ผมก็จับได้ว่า สายไฟ Reference AC Cable ของ Tchernov Cable มันไม่ได้เข้าไปช่วยเพิ่มพลังให้กับเสียงทุ้มขึ้นมามากกว่าความถี่อื่น แต่มันได้เข้าไปเพิ่มพลังเสียงให้กับความถี่ในย่านกลางและแหลมไปด้วย เป็นผลทำให้ผมรับรู้ถึง รายละเอียดของเสียงทั้งในย่านทุ้มกลาง และแหลมที่ดีขึ้นทั้งย่านไปพร้อมๆ กัน!

อัลบั้ม : In Need Again (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Repercussion Unit
ค่าย : CMP Records

หลังจากฟังอะไรเรื่อยเปื่อยมาอีกพักนึง ผมมีความรู้สึกว่า สายไฟเอซีของ Tchernov Cable เส้นนี้มันทำให้ จังหวะของเพลงมีความกระชับและแม่นยำมากขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น มารู้สึกแบบที่ว่านี้ชัดๆ ก็ตอนลองฟังอัลบั้มชุด “In Need Againนี่แหละ ตอนฟังกับสายไฟแถมมากับเครื่อง เสียงเพอร์คัสชั่นในอัลบั้มนี้จะมีลักษณะหน่วงๆ หัวอิมแพ็คจะติดนุ่มๆ หนาๆ ไทมิ่งของเพลงจะออกช้าเนิบนิดๆ ฟังแล้วรู้สึกได้ว่าผิดปกติธรรมชาติของการเคาะ พอเปลี่ยนสายไฟของ Tchernov Cable เส้นนี้เข้าไปแทนสายไฟแถม ยังกะยกลังยาโด๊ปไปให้นักดนตรีดื่ม เสียงที่ออกมาเปลี่ยนไปอย่างมาก ทุกเสียงมีความกระชับฉับพลันดีขึ้นทันที สปีดในการเคาะ, ตี, ทุบ มีความรวดเร็วมากขึ้น หัวเสียงอิมแพ็คที่เกิดจากแรงกระแทกของหัวไม้กับหนังกลองให้น้ำหนักย้ำเน้นมากขึ้น รู้สึกเหมือนหนังกลองมีความตึงตัวมากขึ้น เด้งมากขึ้น ความรู้สึกหนาๆ นุ่มๆ ของหัวเสียงลดลงไปมาก ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังฟังเสียงเคาะจริงๆ มากขึ้น ที่แน่ๆ คือ ฟังได้อารมณ์มากขึ้น สนุกมากขึ้น

อัลบั้ม : Jaco Pastorius (DSF64)
ศิลปิน : Jaco Pastorius
ค่าย : Epic Records

ชักติดใจเสียงทุ้มที่สายไฟเอซี Tchernov Cable เส้นนี้ให้ออกมาซะแล้ว ผมเลยรีบเลือกอัลบั้มนี้มาฟังต่อทันที.. ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เป็นไปตามคาด สายไฟเอซีสัญชาติรัสเซียเส้นนี้ให้เสียงทุ้มที่ดีมาก เพราะได้ฟังอัลบั้มนี้แล้วผมจึงกล้าฟันธงแบบนั้น คือมันไม่ได้มีแค่เข้าไปเพิ่งพลังให้กับเสียงทุ้ม และไม่ได้เข้าไปเพิ่มขนาดของเสียงทุ้มให้ใหญ่โตมากขึ้น แต่มันเข้าไปทำให้เสียงตลอดทั้งย่านมีความชัดเจนมากขึ้น และมีมวลเนื้อที่เข้มข้นมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ เข้าไปเพิ่มทั้งพลังเสียงและความเข้มของเนื้อเสียง ทุกเสียงให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ noise ลดต่ำลงด้วย โดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำ ช่วงระหว่าง 50 – 400Hz ซึ่งเป็นช่วงที่ไฟเอซีสร้างปัญหากับความถี่เสียงได้มากที่สุด (*กระแสไฟฟ้าในเมืองไทยจ่ายมาตามบ้านเป็นกระแสสลับที่ 50Hz) ส่งผลให้รายละเอียดของโน๊ตดนตรีที่มีหัวโน๊ต (fundamental) อยู่ในย่าน 50Hz รวมถึงฮาร์มอนิกลำดับที่สอง (100Hz), สาม (200Hz), สี่ (400Hz) , … เกิดอาการเบลอ บวม เสียงความถี่ต่ำในย่านดังกล่าวจะขี่กัน ส่งผลให้แยกแยะรายละเอียดได้ยากขึ้น นั่นคือลักษณะของเสียงทุ้มที่สายไฟเอซีบางเส้นให้ออกมา ในขณะที่สายไฟเอซีของ Tchernov Cable เส้นนี้ไม่ได้ทำให้ความถี่เสียงในย่านดังกล่าวมีลักษณะที่พอกหนาขึ้นมาแบบนั้น แต่มันเข้าไปทำให้รายละเอียดในย่านความถี่นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นมรรคผลที่ได้จากการใช้ตัวนำมากถึง 6 กลุ่มในการลำเลียงกระแสไฟฟ้า Line และ Neutral เข้าไปที่ตัวเครื่อง ส่งผลให้สายไฟเอซีของ Tchernov Cable เส้นนี้เข้าไปช่วยเพิ่มพลังให้กับเสียง ทุกความถี่เสมอกัน และด้วยการจัดวางโครงสร้างของเส้นตัวนำแบบ DSC ที่เน้นความสมดุลและมีเส้นใยฝ้ายรองรับช่วยขจัดเรโซแนนซ์อยู่ด้วย เมื่อรวมกับระบบกราวนด์และชีลด์ที่มีประสิทธิภาพ มีผลทำให้พื้นเสียงสะอาด รายละเอียดทั้งหมดจึงปรากฏขึ้นมาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

อัลบั้ม : Autumn Shuffle (DSF64)
ศิลปิน : Peder af Ugglas
ค่าย : Opus3

ได้ฟังอัลบั้มชุดนี้ของค่าย Opus3 ผมก็สรุปได้เลยว่า สายไฟเอซีรุ่น Reference AC Cable ของค่าย Tchernov Cable เป็นสายไฟเอซีอีกเส้นหนึ่งที่ไม่แค่ช่วยอัพเกรดทางด้านพลังของเสียงให้มีความขยับขันแข็ง แต่มันยังได้ช่วยขจัด noise ของพื้นเสียงให้ต่ำลงไปมากจนทำให้ได้ยินรายละเอียดได้ครบถ้วนมากขึ้น อีกทั้งสายไฟเอซีตัวนี้ยังให้เนื้อเสียงที่สะอาด ให้อิมเมจตัวเสียงที่มีมิติกลมกลึง ฟังนวลเนียนละลื่นหูอีกด้วย

เสียงกีต้าร์ไฟฟ้าของ Peder af Ugglas ในอัลบั้มนี้มีลักษณะที่เปิดลอย ละล่องอยู่ท่ามกลางมวลแอมเบี้ยนต์ที่ห่อหุ้ม ฉ่ำชื่นไปทั่วบริเวณ เสียงเบสและกระเดื่องกลองที่ทิ้งตัวลงพื้นช่วยทำให้เกิดภาพของสนามเสียงที่แผ่กว้างและลอยสูง เสียงปลายฉาบที่แตกตัวเป็นฝอยเบาๆ ช่วยทำให้รู้สึกได้ถึงความโปร่งโล่งแต่ชุ่มฉ่ำไปด้วยบรรยากาศที่อบอวล เป็นแนวการบันทึกเสียงของค่ายนี้ที่ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างชัดเจน ไม่บิดเบือน ตอกย้ำว่า สายไฟเอซีเส้นนี้ให้เสียงที่ฉ่ำชื่นหูเป็นพิเศษ ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพิ่มพลังให้เสียงมากเกินไปจนกลายเป็นเกรี้ยวกราด และที่สำคัญก็คือ มันยังคงรักษาโครงสร้างทางด้าน Soundstage ของแต่ละเพลงเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่เสียรูป

สรุป

ลองจินตนาการดูว่า คนออกแบบแอมปลิฟายและอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชนิดที่ใช้กระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงวงจร พวกเขาจะนึกถึง กระแสไฟฟ้าแบบไหนที่เครื่องเสียงที่เขาออกแบบต้องการ.? กระแสไฟฟ้าที่มีคลื่นขยะรบกวน.? หรือกระแสไฟฟ้าที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความผิดเพี้ยนใดๆ เข้ามาปะปน.? ในความเป็นจริงแล้ว คงจะไม่มีนักออกแบบเครื่องเสียงคนไหนที่ตั้งใจออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียงของตนให้ทำงานได้ดีกับกระแสไฟฟ้าที่มีคลื่นรบกวนเป็นแน่ ดังนั้น การทำให้กระแสไฟฟ้าที่ส่งไปเลี้ยงอุปกรณ์เครื่องเสียงมีความสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากคลื่นขยะรบกวน จึงเป็น หน้าที่ของคนใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์เครื่องเสียงนั้นๆ ที่จะต้องจัดการกันเอาเอง ถ้าต้องการให้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้อยู่ สามารถทำงานได้อย่างเต็มสมรรถนะที่มันถูกออกแบบขึ้นมา

ในโลกความเป็นจริง เรายอมรับกันว่า สายไฟเอซีมีผลต่อเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงแต่ละชิ้น ซึ่งส่งต่อผลลัพธ์ไปถึงเสียงของซิสเต็มที่อุปกรณ์ชิ้นนั้นเข้าไปร่วมทำงานอยู่ในนั้นด้วย แต่ก็มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า แม้ว่าสายไฟเอซีจะให้ ลักษณะเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละซิสเต็ม แต่ถ้าการออกแบบของสายไฟเอซีเส้นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเทคนิคที่แน่นหนา คุณก็จะยังคงสัมผัสกับ คุณภาพเสียงของมันได้เสมอ ไม่ว่าสายไฟเอซีเส้นนั้นจะเข้าไปอยู่ในซิสเต็มใด

Tchernov Cable รุ่น Reference AC Cable คือสายไฟเอซีเส้นแรกที่ผมจะแนะนำให้ใช้ สำหรับคนที่ต้องการสายไฟเอซีที่มีงบประมาณอยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท.!!! /

********************
ราคา : 76,500 บาท / เส้น
(ความยาว 1.65 เมตร / ขั้วต่อ 3 ขา มาตรฐาน US)

ราคา : 103,700 บาท / เส้น
(ความยาว 2.65 เมตร / ขั้วต่อ 3 ขา มาตรฐาน US)

* ปลั๊ก 15A และ 20A ราคาเท่ากัน
********************
สนใจผลิตภัณฑ์ของ Tchernov Cable
ติดต่อที่ facebook: @CHHomeMedias

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า