วิธีและขั้นตอนการติดตั้ง Bluesound รุ่น NODE 2 เข้ากับชุดเครื่องเสียงทั่วๆ ไป

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การฟังเพลงด้วยไฟล์ได้กลายเป็น กระแสหลักไปเรียบร้อยแล้ว เริ่มต้นฮิตในกลุ่มของคนทั่วไป จนปัจจุบันได้ลุกลามเข้ามาในแวดวงของคนเล่นเครื่องเสียงด้วย แม้ว่าในช่วงแรกของการฟังเพลงด้วยวิธี สตรีม (stream) หรือดึงไฟล์เพลงจากเซิร์ฟเวอร์บนอินเตอร์เน็ตจะได้รับความนิยมในกลุ่มคนฟังเพลงทั่วไป เพราะความสะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่เนื่องจาก คุณภาพของไฟล์เพลงในยุคแรกยังอยู่ในระดับต่ำ แค่ไฟล์ MP3 ในกลุ่มของคนเล่นเครื่องเสียงจึงยังไม่นิยมการฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งในยุคแรก

ต่อเมื่อการให้บริการสตรีมไฟล์เพลงของ TIDAL เริ่มเปิดให้บริการขึ้นในประเทศของเรา นักเล่นเครื่องเสียงจึงเริ่มให้ความสนใจ และเปิดประตูรับให้การสตรีมไฟล์เพลงเข้ามาเป็น source หนึ่งของชุดเครื่องเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะว่า ไฟล์เพลงที่ TIDAL ให้บริการนั้นมีคุณภาพสูงพอที่จะทำให้นักเล่นเครื่องเสียงทั่วไปยอมรับได้ และนั่นก็ถึงเวลาของผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เริ่มผลิตเครื่องเล่นไฟล์เพลงด้วยวิธี stream ด้วยเน็ทเวิร์คฯ ออกมาจำหน่ายกันมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่เครื่องเล่นซีดีที่ค่อยๆ หดหายไปจากตลาด

อยากเอาอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงเข้าไปใช้ในชุดเครื่องเสียงที่มีอยู่เดิม ต้องทำอย่างไร.?

ก่อนจะพูดถึงวิธีการและขั้นตอนการนำเอาอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงที่เรียกว่า Network Player หรือ Network Streamer เข้าไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ในชุดเครื่องเสียง ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุดเครื่องเสียงที่ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงสักหน่อย เนื่องจากยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง อาทิเช่น บางคนมีความเข้าใจว่า ชุดเครื่องเสียงยุคเก่าที่ใช้งานมานานแล้ว จะไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงได้ ซึ่งต้องขอยืนยันว่าความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง คุณสามารถนำอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงไปใช้กับชุดเครื่องเสียงเดิมๆ ของคุณได้ทุกชุด ไม่ว่าจะเป็นซิสเต็มที่ใช้มานานหลายสิบปี ก็สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงสมัยใหม่ได้ทั้งหมด เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ถึงแม้ว่า ไฟล์เพลงที่อุปกรณ์เครื่องเล่นสมัยใหม่เหล่านี้นำมาเล่นจะอยู่ในรูปของสัญญาณ digital แต่สุดท้ายแล้ว ไฟล์เพลง digital ทั้งหมดนั้นจะถูก แปลงให้อยู่ในรูปของสัญญาณ analog ก่อนจะส่งไปให้ชุดเครื่องเสียงของคุณทั้งหมด นั่นก็เท่ากับว่า เอ๊าต์พุตของอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลง ทุกตัวก็คือ สัญญาณเสียง analogแบบเดียวกับเอ๊าต์พุตของเครื่องเล่นแผ่นเสียง, จูนเนอร์ และเครื่องเล่นซีดี ที่คุณใช้อยู่ในชุดเครื่องเสียงเดิมๆ ของคุณนั่นเอง

สิ่งแรกที่ต้องทำ

ขั้นตอนแรกที่คุณต้องทำก็คือ เลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลง” ที่อยู่ในงบประมาณที่คุณสามารถซื้อหาได้ ซึ่งถ้าต้องการได้เสียงที่ดีและต้องการความสะดวกในการใช้งานด้วย ผมแนะนำให้มองหาเครื่องเล่นประเภท “มิวสิค สตรีมเมอร์(Network Music Streamer) ที่ใช้วิธีดึงไฟล์เพลงผ่านระบบเน็ทเวิร์คมาใช้ ที่ต้องเจาะจงแบบนี้ก็เพราะว่าในท้องตลาดขณะนี้มีเครื่องเล่นไฟล์เพลงด้วยระบบเน็ทเวิร์คที่มีลักษณะแตกต่างกันอยู่ 4 ลักษณะออกมาให้เลือก นั่นคือ

1. เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ ไม่มี DAC ในตัว
2. เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ มี DAC ในตัว
3. เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ มี DAC ในตัวและ มีเพาเวอร์แอมป์ในตัว
4. เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่ มี DAC ในตัว“, “มีเพาเวอร์แอมป์ในตัวและ มีฮาร์ดดิสเก็บไฟล์เพลงในตัว

เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คเหล่านี้มีความเหมาะสมในการใช้งานที่ต่างกันออกไป จะเลือกซื้อแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งานเป็นสำคัญ ซึ่งรูปแบบที่เหมาะกับนักเล่นเครื่องเสียงที่ต้องการนำไปใช้งานร่วมกับชุดเครื่องเสียงเดิมที่มีอยู่แล้วก็คือ รูปแบบที่ 1 กับ รูปแบบที่ 2 ซึ่งแบบที่ 1 นั้นจะเหมาะกับคนที่มีภาค DAC (Digital-to-Analog converter) อยู่ในชุดเครื่องเสียงของคุณอยู่แล้ว ทั้งนี้อาจจะเป็น external DAC ที่คุณใช้คู่อยู่กับ CD Transport หรือเป็นภาค DAC ในตัว CD Player ที่มีช่อง digital inputs สำหรับรองรับสัญญาณดิจิตัลจากภายนอกก็ได้

แต่จากความเป็นจริงในตลาดทุกวันนี้ พบว่า เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คแบบที่ 1 นั้นมีอยู่น้อย ในขณะที่ประเภทที่ 2 คือ เครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คที่มีภาค DAC อยู่ในตัว จะมีมากกว่า

Bluesound รุ่น NODE 2

ช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา มีเพื่อนๆ นักเล่นเครื่องเสียงในเพจหลายคน ติดต่อเข้ามาให้ผมแนะนำเครื่องเล่นไฟล์เพลงด้วยเน็ทเวิร์คที่มีราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยเน้นว่าต้องใช้งานง่าย, เสียงดี และสามารถใช้ร่วมกับซิสเต็มเดิมได้โดยไม่ต้องดัดแปลงอะไรมาก ผมถือวิสาสะเลือกเครื่องเล่นไฟล์เพลงผ่านเน็ทเวิร์คยี่ห้อ Bluesound รุ่น NODE 2 มาแนะนำก่อนเป็นตัวแรก เพราะเป็นตัวเลือกที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ร้องขอกันมา และกำลังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตัวหนึ่งในตลาดทุกวันนี้

ก่อนจะไปอธิบายวิธีการและขั้นตอนในการติดตั้ง NODE 2 เข้ากับชุดเครื่องเสียงของคุณ เรามาสำรวจกันก่อนว่าเจ้า NODE 2 ตัวนี้มันมีคุณสมบัติอย่างไร.? และใช้ทำอะไรได้บ้าง.?

ตัวเครื่อง NODE 2 ด้านหน้าและด้านบน

ตัวเครื่อง NODE 2 มีส่วนสัดที่กระทัดรัด แต่ไม่ได้เล็กจิ๋ว ความกว้างของแผงด้านหน้าอยู่ที่ 8.7 นิ้ว ความสูงของตัวเครื่องอยู่ที่ 1.8 นิ้ว ส่วนความลึกจากด้านหน้าไปถึงด้านหลังวัดได้ 5.7 นิ้ว

ตัวเครื่องหลักมีอยู่ 2 สี คือ สีขาว กับสีดำ ตัวถังภายนอกทำจากพลาสติกเนื้อแข็ง เกรดดี ตัวที่ผมได้รับมาทดสอบเป็นสีขาว รูปแบบดีไซน์ออกแนวเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่ เรียบแต่หรู สามารถหยิบไปวางไว้ ภายในบ้านที่จุดไหนก็ได้ หรือจะเอาไปวางรวมอยู่กับอุปกรณ์ต่างๆ ในชุดเครื่องเสียง ดีไซน์ของมันก็สามารถผสมกลมกลืนไปกับอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวอื่นได้อย่างแนบเนียน

A : ช่องเอ๊าต์พุตสำหรับหูฟังที่ใช้แจ๊ค mini 3.5mm
B : โลโก้ที่ยืนยันความสามารถของ NODE 2 ตัวนี้ว่าสามารถถอดรหัสเสียงของฟอร์แม็ต MQA* ได้
C : ปุ่มกดสัมผัสบนตัวเครื่องเพื่อควบคุมการเล่นไฟล์เพลง และปรับเพิ่ม/ลดความดังของเสียง
D : ตะแกรงระบายความร้อน

* MQA คือะไร?

ตัวเครื่อง NODE 2 ด้านหลัง

A : ช่องเอ๊าต์พุตสัญญาณ analog สำหรับเชื่อมต่อกับอินติเกรตแอมป์ หรือปรีแอมป์ในชุดเครื่องเสียงของคุณ
B : ช่องเอ๊าต์พุตสัญญาณ analog subwoofer out สำหรับต่อเข้าลำโพงแอ๊คทีฟซับวูฟเฟอร์
C : ช่องเอ๊าต์พุตสัญญาณ digital (coaxial) สำหรับต่อเข้ากับภาค DAC จากภายนอก
D : ช่องเอ๊าต์พุตสัญญาณ digital (optical) สำหรับต่อเข้ากับภาค DAC จากภายนอก
E : ช่องอินพุต 3.5mm สำหรับสัญญาณ analog หรือสัญญาณ digital
F : ช่องเอ๊าต์พุต 3.5mm สำหรับสัญญาณ trigger switch ที่ควบคุมด้วยรีโมทจากภายนอก
G : ช่องอินพุต 3.5mm สำหรับตัวรับคลื่นอินฟราเรดจากรีโมทไร้สายที่สั่งงานผ่านคลื่นวิทยุ
H : ช่อง mini-USB type-B สำหรับตรวจเช็คเครื่อง
I : ช่อง Ethernet สำหรับต่อสาย Gigabit LAN RJ45 / รองรับ WiFi 802.11b/g/n
J : ช่อง USB type-A สำหรับต่อเชื่อม USB ทรัมไดร้ หรือ external HD ที่เก็บไฟล์เพลง
K : เต้ารับปลั๊กไฟเอซีจากสายไฟเอซีแบบสองขา

อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง

นอกจากตัวเครื่อง NODE 2 แล้ว ภายในกล่องขนาดใหญ่ก็มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันแพ็คมาให้ในนั้นด้วย อาทิคู่มือการใช้งาน รวมถึงแอคเซสซอรี่ต่างๆ

A & B : ให้สายไฟเอซีมา 2 เส้น ต่างกันที่ปลั๊กตัวผู้ที่ใช้เสียบเข้ากับเต้ารับบนฝาผนัง หรือปลั๊กราง หรือตัวกรองไฟ ปลั๊กตัวผู้ที่ติดตายมากับตัวสายไฟเอซีที่แถมมาให้นั้นเป็นปลั๊ก 2 ขาทั้งคู่ ต่างกันที่ขาแบนกับขากลมเท่านั้น
C : อะแด๊ปเตอร์ขั้วต่อ Optical สำหรับสัญญาณดิจิตัล
D : สาย LAN ติดขั้วต่อ RJ45 สำหรับเชื่อมต่อช่อง Ethernet ระหว่าง NODE 2 กับ router
E : สายสัญญาณอะนาลอกที่ติดขั้วต่อ mini 3.5mm > RCA (L+R)
F : สายสัญญาณอะนาลอกที่ติดขั้วต่อ RCA (L+R) > RCA (L+R) สำหรับเชื่อมต่อช่อง Audio Out ของ NODE 2 กับอินติเกรตแอมป์ หรือปรีแอมป์ในชุดเครื่องเสียงของคุณ

การเชื่อมต่อ NODE 2 เข้ากับชุดเครื่องเสียงของคุณ

NODE 2 มีคุณสมบัติเป็น hub หรือศูนย์กลางของซิสเต็มได้เลย เพราะมันมีช่อง อินพุตที่รองรับได้ทั้งสัญญาณ analog และสัญญาณ digital อยู่ในตัว + มีภาค DAC ในตัว + มี วอลลุ่ม ปรับความดังได้ + มีช่อง Analog Audio Out + มีช่อง Analog Subwoofer Out

คุณสามารถนำ NODE 2 ไปเชื่อมต่อกับชุดเครื่องเสียงของคุณได้หลากหลายรูปแบบ มาดูการเชื่อมต่อในแต่ละส่วนกัน ..

analog inputs connection

คุณสามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงอะนาลอกจากภาคโฟโนของเครื่องเล่นแผ่นเสียง (A) หรือสัญญาณเสียงอะนาลอกจากเครื่องรับสัญญาณวิทยุ AM/FM (B) เข้ามาที่ NODE 2 ตัวนี้ได้ เพื่อฟังผ่านภาคขยายหูฟังของ NODE 2 หรืออาศัย NODE 2 ทำหน้าที่เป็น “ปรีแอมป์(preamp) ทำงานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ (D) ในการขับลำโพง (E) ก็ได้ หรือถ้าคุณใช้อินติเกรตแอมป์ (C) อยู่แล้ว ก็สามารถปรับตั้งให้สัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ NODE 2 มีความแรงคงที่ (Fixed*) อยู่ในระดับ Line Level เพื่อป้อนให้กับอินติเกรตแอมป์ของคุณก็ได้

* เป็นการตัดฟังท์ชั่นวอลลุ่มของ NODE 2 ออกไป จะได้เสียงดีขึ้น

digital inputs connection

คุณสามารถส่งสัญญาณ PCM digital audio จากเครื่องเล่นแผ่นซีดี (A), จากเครื่องเล่นไฟล์เพลงพกพา (B) หรือจากเครื่องเล่นแผ่นดีวีดี/บลูเรย์ฯ (C) มาเข้าที่ NODE 2 ทางช่อง Optical In เพื่ออาศัยภาค DAC (Digital-to-Analog converter) ในตัว NODE 2 แปลงสัญญาณดิจิตัลเหล่านั้นให้เป็นสัญญาณอะนาลอกแล้วป้อนให้แอมปลิฟายในซิสเต็มของคุณเพื่อทำการขยายเสียงออกลำโพง

digital output connection

ประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดของช่องเอ๊าต์พุต digital ที่ NODE 2 ให้มาทั้ง 2 ช่อง (ผ่านขั้วต่อ coaxial กับ optical อย่างละช่อง) ก็คือใช้ในการอัพเกรดคุณภาพเสียง ด้วยการส่งต่อไปที่อุปกรณ์ external DAC (D) ที่ใช้ภาค D-to-A converter ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว NODE 2 เอง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงที่เน้นคุณภาพเสียง แนะนำให้ใช้การเชื่อมต่อผ่านทางช่อง Coaxial Output ของ NODE 2 จะได้เสียงที่ดีกว่าต่อเชื่อมทางช่อง Optical

Audio Out + Subwoofer Out connection

กรณีที่ในชุดเครื่องเสียงเดิมของคุณเป็นระบบเสียง stereo ที่ใช้ลำโพงขนาดเล็ก 2 ตัวสำหรับสัญญาณเสียงแชนเนล ซ้าย” (Left) และแชนเนล ขวา” (Right) ถ้าคุณรู้สึกว่า ลำโพงที่ใช้อยู่ยังตอบสนองความถี่เสียงในย่านทุ้มไม่มากพอ คุณสามารถเพิ่มเติมลำโพง แอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์” (Active Subwoofer) เข้ามาในระบบเพื่อเพิ่มปริมาณของความถี่ต่ำได้ โดยใช้สายสัญญาณอะนาลอก เชื่อมต่อสัญญาณจากช่อง Subw. Out ของ NODE 2 ไปที่ลำโพงซับวูฟเฟอร์ ตามที่แสดงในภาพข้างบนนี้

network connection

จุดเด่นของ NODE 2 ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับคนที่ยังไม่เคยฟังเพลงด้วยวิธี streaming ผ่านคลื่น Wi-Fi ซึ่ง NODE 2 เปิดโอกาสให้คุณเชื่อมต่อกับ wi-fi network ที่บ้านของคุณได้ทั้งแบบ ใช้สาย” (wired) ด้วยการเชื่อมต่อสาย Ethernet RJ45 ระหว่าง Router (D) เข้าทางช่อง LAN ของ NODE 2 หรือจะใช้วิธีเชื่อมต่อคลื่น Wi-Fi ระหว่างตัว Router (D) กับ NODE 2 ด้วยวิธี ไร้สาย” (wireless) ก็ได้* ซึ่ง NODE 2 ได้พัฒนาความสามารถในการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi ไร้สายที่มีความเสถียรสูงกว่าเวอร์ชั่นก่อนมาก

* การเชื่อมต่อด้วยวิธีไร้สายจะได้ความสะดวกมากกว่า แต่ถ้าเน้นคุณภาพเสียง แนะนำให้เชื่อมต่อด้วยสาย RJ45 ที่มีคุณภาพดีหน่อย

ถ้าคุณยังไม่เคยฟังเพลงด้วยไฟล์เพลงดิจิตัลมาก่อน ไม่ว่าจะผ่านคอมพิวเตอร์หรือเน็ทเวิร์คฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณจะยังไม่เคยมีประสบการณ์กับคุณภาพเสียงของไฟล์ Hi-Res Audio มาก่อน (ยกเว้นคนที่ใช้เครื่องเล่น SACD และฟังเพลงจากแผ่น SACD อยู่ก่อน) ซึ่งนี่ก็คือจุดเด่นอันวิเศษสุดอีกข้อหนึ่งของ NODE 2 ที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ Hi-Res Audio ให้กับคุณ เมื่อคุณทำการ stream ไฟล์เพลง MQA จาก TIDAL หรือดึงไฟล์เพลงไฮเรซฯ จาก USB external HD (E) ที่เชื่อมต่อเข้ากับ NODE 2 ทางช่อง USB-A เข้ามาฟังผ่าน NODE 2 ตัวนี้*

(* ภาค DAC ในตัว NODE 2 รองรับแซมปลิ้งเรตของสัญญาณดิจิตัล อินพุตได้ตั้งแต่ 32Hz – 192kHz รองรับบิตข้อมูลของสัญญาณตั้งแต่ 16 – 24bit และรองรับสัญญาณไฮเรซฯ ฟอร์แม็ต FLAC, WAV, AIFF และ MQA)

แอพลิเคชั่น BluOS คือรีโมทอัจฉริยะยุคใหม่!

ในกล่องที่บรรจุ NODE 2 ไม่มีรีโมทไร้สายมาให้เหมือนเครื่องเล่นแผ่นซีดี คุณต้องควบคุมสั่งงาน NODE 2 “ทุกอย่างผ่านทางแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า BluOS ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android อินเตอร์เฟซของแอพฯ รองรับการใช้งานทั้งบนสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต

หน้าที่หลักๆ ของแอพฯ BluOS ตอนนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือ “ปรับตั้ง” การทำงานของตัวเครื่องผ่านเมนูที่ชื่อว่า Settings” (A ภาพบน) อย่างเช่น ปรับตั้งค่าของสัญญาณเสียง (Audio Settings ภาพล่าง) และการปรับตั้งอื่นๆ

กับอีกหน้าที่ของแอพฯ BluOS คือ เลือกแหล่งที่มาของไฟล์เพลง” (source) ซึ่งมีให้เลือก 3 แหล่ง คือ

1. จากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งผ่าน Cloud Server Service บนอินเตอร์เน็ต อาทิ TIDAL (B ภาพบน), Qobuz, Spotify, Deezer, HighResAudio ฯลฯ รวมถึงฟังวิทยุจากอินเตอร์เน็ต เรดิโอได้อีกหลายสถานี อาทิ TuneIn Radio, iHeartRadio, Calm Radio ฯลฯ
2. ไฟล์เพลงของคุณเองที่อยู่บน USB external HD (C ภาพบน)
3. ใช้งานฟังท์ชั่น Bluetooth เพื่อรองรับสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นตัวอื่นผ่านเข้ามาทาง Bluetooth

ตัวอย่างการเล่นไฟล์เพลงด้วยการสตรีมไฟล์ MQA จาก TIDAL

แอพฯ BluOS รองรับการแสดงผลในโหมด Landscape ด้วย

ภาค DAC ในตัว NODE 2 รองรับการถอดรหัสของไฟล์เพลงฟอร์แม็ต MQA ได้อย่างราบลื่น

หน้ารวมที่แสดงปกอัลบั้มของไฟล์เพลงที่อยู่ใน USB external HD ที่เสียบอยู่ที่ช่อง USB-A ด้านหลังของ NODE 2

เมื่อเล่นไฟล์ไฮเรซฯ ที่อยู่ใน USB external HD (ศรชี้ด้านขวา) ที่มีสเปคฯ สูงกว่า CD บนหน้าจอของแอพฯ BluOS จะแสดงสเปคฯ ของไฟล์ที่กำลังเล่นด้วยตัวอักษร HR ในวงกลมสีเทาแบบนี้ (ศรชี้ทางซ้าย)

นี่คือภาพหน้าจอของแอพฯ BluOS ขณะเล่นไฟล์เพลงจาก USB external HD (วงกลมสีฟ้าทางซ้าย) ถ้าต้องการทราบสเปคฯ ของไฟล์ที่กำลังเล่น ต้องแตะที่เมนูสามจุดนี้ (ศรชี้ทางขวา)

จากนั้นให้แตะที่หัวข้อ “Technical info” (ศรชี้ในภาพ)

นี่คือข้อมูลเฉพาะของไฟล์ที่กำลังเล่น.. เป็นการยืนยันว่า NODE 2 เล่นไฟล์ไฮเรซฯ 24/192 ได้อย่างลื่นไหล และให้เสียงออกมาดีมากๆ

นอกจากนั้น NODE 2 ยังรองรับสัญญาณเพลงดิจิตัล จากการเล่นไฟล์เพลงด้วยอุปกรณ์เครื่องเล่นจากภายนอกผ่านเข้ามาทางคลื่น Bluetooth ได้ด้วย สองภาพบนคือการเชื่อมต่อระหว่าง iPhone 7 กับ NODE 2 ซึ่งผมตั้งชื่อเครื่องที่กำลังทดสอบไว้ว่า Thanee TEST” (คุณสามารถเปลี่ยนชื่อ NODE 2 ของคุณได้)

เมื่อเล่นไฟล์ DSD 2.8MHz ด้วยแอพฯ Onkyo HF Player บน iPhone 7 แล้วส่งสัญญาณไปที่ NODE 2 ผ่านทาง Bluetooth ตัวแอพฯ Onkyo HF Player ได้ทำการ downconvert สัญญาณ DSD 2.8MHz ลงมาที่ PCM 16/44.1 ก่อนส่งให้ NODE 2 ซึ่งเสียงที่ได้ออกมาดีมาก เนื่องจาก NODE 2 ติดตั้งดีโค๊ดเดอร์ aptX สำหรับรองรับสัญญาณอินพุตที่ส่งเข้ามาทาง Bluetooth นั่นเอง /

คลิ๊กชม VDO การเชื่อมต่อ NODE 2 เข้ากับชุดเครื่องเสียงของคุณ

****************************
ราคา : 22,100 บาท
(*โปรโมชั่นพิเศษ จากราคา 26,000 บาท)
****************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
. โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า