คำถาม – จริงหรือไม่ที่ “ลำโพงตั้งพื้น” จะให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่า “ลำโพงวางขาตั้ง” ..? คำตอบคือ “ไม่จริง.!” ไม่เสมอไปที่ลำโพงตั้งพื้นที่มีขนาดใหญ่จะให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่าลำโพงวางหิ้งที่มีขนาดเล็ก มีความจริงแท้แน่นอนอยู่แค่ข้อเดียวที่ว่า ลำโพงตั้งพื้น “มีโอกาส” ที่จะให้ความถี่เสียงที่ออกมา “ครบกว่า” ลำโพงวางหิ้ง ถ้าเป็นลำโพงตั้งพื้นที่ออกแบบมาอย่างดี ใช้ไดเวอร์มากกว่าสองตัวต่อข้าง ก็พอจะคาดหวังได้ว่า ความถี่ในย่านต่ำที่ให้ออกมาจะมีคุณภาพเสียงดีกว่าความถี่ต่ำที่ออกมาจากลำโพงวางหิ้งขนาดเล็ก
แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตไดเวอร์ปัจจุบันนี้ ได้ถูกพัฒนาให้ก้าวล้ำไปกว่าในอดีตมาก มีผลให้ไดเวอร์ที่มีขนาดเล็ก สามารถสร้างความถี่ออกมาได้กว้างขึ้น ตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึกกว่าเมื่อก่อนมาก อีกทั้งยังให้เสียงที่ดังกว่าเมื่อก่อนอีกด้วย เพราะทั้งตัวไดอะแฟรมที่ผลิตด้วยวัสดุที่ทนทานต่อแรงปะทะกับมวลอากาศได้ดีขึ้น ผสานกับโครงสร้างในส่วนต่างๆ ของไดเวอร์ อย่างเช่นแม่เหล็กที่มีพลังงานสูง เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ไดอะแฟรมขยับตัวได้เหมือนลูกสูบที่ปั๊มอากาศออกมาได้ปริมาณเยอะขึ้น ในขณะเดียวกันกลับมีความผิดเพี้ยนที่ต่ำลงสวนทางกัน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นลำโพงสองทางวางขาตั้งที่ใช้ไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 7 นิ้ว แต่สามารถตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ ต่ำกว่า 40Hz ปรากฏตัวออกมาสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลที่สามารถตอบคำถามข้างต้นได้ว่า ลำโพงใหญ่แบบตั้งพื้นไม่ได้ให้เสียงที่ดีกว่าลำโพงเล็กแบบวางขาตั้งเสมอไป ตัวแปรแรกอยู่ที่ความเหมาะสมกับขนาดของห้อง (ห้องเล็ก–เหมาะกับลำโพงเล็ก, ห้องใหญ่–เหมาะกับลำโพงใหญ่) ส่วนตัวแปรที่สองก็คือ “ราคา” ของลำโพง (ถ้าตัวเล็ก–แต่ราคาสูงกว่าตัวใหญ่ แบบนี้ก็มีสิทธิ์จะพลิกล็อคได้.!!) แต่มีสองสิ่งที่ลำโพงสองทางขนาดเล็กมักจะทำได้ดีกว่าลำโพงตั้งพื้นที่มีราคาพอๆ กัน นั่นคือ “เสียงกลาง” ที่หลุดลอยกว่า มีฮาร์มอนิกที่พลิ้วกังวานกว่า กับ “มิติเสียง” ที่หลุดตู้มากกว่า!
Audiovector R-1 Arrete
เล็กพริกขี้หนู –ของจริง.!
เมื่อปลายเดือน สิงหาคม ปี 2018 สองปีที่ผ่านมา ผมได้ทดสอบลำโพงสองทางวางหิ้งรุ่น SR1 Avantgarde Arrete ของ Audiovector ไปแล้ว (REVIEW) ซึ่งคู่นั้นเป็นลำโพงเวอร์ชั่นก่อนหน้า R1 Arrete คู่นี้ ทว่า การปรากฏตัวของ R1 Arrete คู่นี้ไม่ใช่การอัพเกรดจาก SR1 AA เวอร์ชั่นเก่านั้นอย่างเดียว แต่เป็นทั้งการอัพเกรดและ repositioning ไปพร้อมกัน คือ ทาง Audiovector ตกลงใจที่จะเปลี่ยนรหัสชื่อซีรี่ย์จาก “RS series” มาเป็น “R series” เพื่อปรับลดซีรี่ย์ของลำโพงให้น้อยลง ทำให้ปัจจุบันมีลำโพงของ Audiovector อยู่เพียง 2 ซีรี่ย์เท่านั้น คือซีรี่ย์ใหญ่คือ R series กับซีรี่ย์รองลงมาคือ QR series
ในอนุกรม R series มีลำโพงอยู่ทั้งหมด 7 รุ่น ไล่จากรุ่นใหญ่สุดลงมาก็คือ R 11, R 8, R 6, R 3, R 1, R C และ R Sub โดยที่ทุกรุ่นจะมีอ๊อปชั่นที่เรียกว่า IUC คือ “Individual Upgrade Concept” ที่เปิดโอกาสให้คุณสามารถอัพเกรดในแต่ละจุดของลำโพงรุ่นนั้นได้หลายขั้น อย่างเช่น รุ่น R1 จะมีอยู่ทั้งหมด 3 เวอร์ชั่นคือ Signature, Avantgarde และ Arrete ซึ่งความแตกต่างหลักๆ ระหว่างเวอร์ชั่นเริ่มต้นของรุ่น R1 คือ “R1 Signature” กับรุ่นกลางคือ “R1 Avantgarde” ไปจนถึงเวอร์ชั่นสูงสุดคือ “R1 Arrete” อยู่ที่ตัวทวีตเตอร์ที่ใช้ ในรุ่นเริ่มต้น R1 Signature ใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมรุ่น “R Evotech” ในขณะที่รุ่นกลาง R1 Avantgarde ใช้ทวีตเตอร์ R AMT และรุ่นท็อป R1 Arrete ใช้ทวีตเตอร์ R AMT Arrete ที่มีคุณภาพสูงสุด
รูปร่างหน้าตา
+ องค์ประกอบภายนอก
ในแง่รูปทรงภายนอกของตัวตู้ ระหว่างรุ่นเก่า SR1 Arrete กับรุ่นล่าสุด R1 Arrete ตัวนี้จะดูคล้ายกันมาก โดยเฉพาะตัวตู้ที่ทำออกมาเป็นทรงหยดน้ำตา (tear drop shape) ที่ผนังตู้ด้านข้างจะลู่สอบเรียวเล็กลงไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นลักษณะของผนังตู้ที่จงใจทำให้ไม่ขนานกัน ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดปัญหาการก้องสะท้อนของคลื่นเสียง (resonant) ที่ตีกันอยู่ภายในตัวตู้ออกไป
ส่วนสัดภายนอก “สูง x กว้าง x ลึก” ของ R1 Arrete อยู่ที่พิกัด 37 x 19.6 x 29 ซ.ม. ในขณะที่รุ่นเก่า SR1 Arrete อยู่ที่ 37 x 19 x 28 ซ.ม. ซึ่งต่างกันแค่นิดเดียว
A = ทวีตเตอร์ AMT Arrete
B = ไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์
C = ท่อระบายอากาศของทวีตเตอร์
D = ท่อระบายอากาศของไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์
E = ขั้วต่อสายของระบบกราวนด์ “Freedom Grounding System”
F = ขั้วต่อสายลำโพง
ตัวทวีตเตอร์ AMT ที่ใช้ในรุ่น R1 Arrete นี้ถูกออกแบบด้วยเทคนิค SEC (Soundstage Enhancement Concept) เป็นลักษณะของการเจาะเปิดช่องด้านหลังของตัวทวีตเตอร์เพื่อขยายมุมกระจายเสียงให้กว้างขึ้น ลดแรงกดดันภายในโครงสร้างของตัวทวีตเตอร์ลง ทำให้ได้มิติเวทีเสียงที่เปิดโล่งและแผ่กว้างออกเป็นสามมิติที่ดีขึ้น เป็นเทคนิคที่พัฒนาโดยวิศวกรของ Audiovector เอง
ความเปลี่ยนแปลงระหว่างเวอร์ชั่นรุ่น SR1 อันเก่ากับรุ่นใหม่ R1 Arrete มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่ด้านหน้าตรงจุดที่ถือว่าเปลี่ยนไปเยอะเมื่อเทียบกับรุ่น SR1 AA เดิมที่ผมเคยทดสอบไปก็คือตัวไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์ ที่เปลี่ยนจากการใช้ไดอะแฟรมทำด้วยแผ่นทอเส้นใยไฟเบอร์ซ้อนกับกระดาษสามชั้น มาเป็นไดเวอร์ที่ใช้ไดอะแฟรมทำจากแผ่นเส้นใยคาร์บอน Aramid Composite ที่ทอสลับทับกัน แทรกเป็นแซนด์วิชอยู่ตรงกลางระหว่างเรซิ่นไม้เทียมที่ทับอยู่ชั้นบนและด้านล่าง ส่วนว้อยซ์คอยพันด้วยโลหะไตตาเนี่ยม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไดเวอร์ตัวนี้แทนที่ตัวเดิม เชื่อว่าน่าจะเป็นประเด็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเสียงที่ชัดเจนระหว่าง SR1 AA กับ R1 Arrete
ส่วนความแตกต่างทางด้านหลังที่เห็นชัดมีอยู่ 2-3 จุดใหญ่ๆ จุดแรกคือ แผ่นแพลท ที่ใช้ติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงถูกเปลี่ยนจากรุ่นเก่าที่เป็นแผ่นโลหะสีเงินๆ มาเป็นแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีความเป็นฉนวนมากกว่าเดิม จึงช่วยลดการรบกวนระหว่างวงจรครอสโอเว่อร์ที่อยู่ด้านในกับตัวขั้วต่อที่อยู่ภายนอก ส่งผลให้ได้เสียงที่สะอาดขึ้น
ความแตกต่างจุดที่สองคือ ขั้วต่อสายลำโพง ซึ่งในรุ่นใหม่ R1 Arrete ให้มาแค่คู่เดียว จงใจให้ต่อสายแบบซิงเกิ้ลไวร์ ซึ่งบอกเลยว่าโดนใจผมมากกว่าในรุ่นเก่า SR1 AA ที่ให้มาสองคู่เพื่อการเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบ–ไวร์ฯ เพราะการแยกขั้วต่อสายลำโพงมาสองชุด ถือว่าสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ เนื่องจากแอมปลิฟายในปัจจุบันให้กำลังขับได้เยอะมากแล้ว การทำมาให้เล่นแบบไบ–แอมป์จึงไม่จำเป็น และการต่อสายลำโพงแบบไบ–ไวร์ฯ ก็เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้ปัญหาเสียงที่ไม่กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ระหว่างความถี่ทั้งสองช่วงของไดเวอร์ทั้งสองตัวเกิดขึ้นได้ง่าย วิธีรวมขั้วต่อเหลือคู่เดียวจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
นอกจากลดขั้วต่อเหลือคู่เดียวแล้ว ตัวขั้วต่อเองก็ถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นขั้วต่อที่ Audiovector ออกแบบและผลิตขึ้นมาใช้เอง ซึ่งในรุ่นก่อนใช้ของ WBT ยังไม่หมดเท่านั้น ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่ามีขั้วต่อโผล่ขึ้นมาอีกหนึ่งข้าง อยู่เหนือขั้วต่อสายลำโพงขึ้นมานิดหน่อย มีตัวหนังสือเขียนกำกับไว้ใต้ขั้วต่อนี้ว่า “freedom” มันคือชื่อของระบบกราวนด์แบบพิเศษที่วิศวกรของ Audiovector คิดค้นขึ้นมาเอง (อีกแล้ว!)
“Freedom Grounding System”
นี่คือไฮไล้ท์ของ R series!
จริงๆ แล้ว จะให้ถูกจริงๆ ต้องพูดว่า นี่คือไฮไล้ท์ของ Audiovector มากกว่า.! เพราะเป็นเทคนิคที่ Audiovector คิดค้นขึ้นมาใช้เอง นับเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีระบบกราวนด์ครั้งสำคัญ มันเกิดขึ้นจากการศึกษาในสภาวะใช้งานจริงโดยทีมวิศวกรของ Audiovector ซึ่งพบว่า ขณะที่ไดเวอร์ทำงาน ไดอะแฟรมเคลื่อนที่เดินหน้า–ถอยหลัง กระบอกว้อยซ์คอยก็ขยับเดินหน้า–ถอยหลังไปตามโมชั่นของไดอะแฟรม เมื่อขดลวดตัวนำบนกระบอกว้อยซ์คอยเคลื่อนที่ตัดกับสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าตกหล่นอยู่บนโครงโลหะของตัวไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์ ซึ่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ตัวนี้จะไหลย้อน (feed back) ไปที่วงจรครอสโอเว่อร์เน็ทเวิร์ค ก่อให้เกิดการรบกวนการทำงานของคอมโพเน้นต์ต่างๆ บนวงจรครอสโอเว่อร์ ซึ่งแน่นอนว่า “การรบกวน” ที่ว่านั้นย่อมส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียงของลำโพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คอนเซ็บต์ของระบบ Freedom Grounding System ที่ Audiovector คิดค้นขึ้นมาก็คือความพยายามขจัดกระแสไฟฟ้าที่ตกหล่นอยู่บนโครงสร้างของไดเวอร์ให้ไหลออกไปจากระบบ ผ่านออกทางขั้วต่อ ground ที่แยกออกมาต่างหากนั่นเอง
ถามว่า.. ทำไมผู้ผลิตลำโพงเจ้าอื่นจึงไม่มีสิ่งนี้.? ก็เพราะว่า กระแสไฟฟ้าที่ตกหล่นอยู่บนโครงโลหะของไดเวอร์ไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดอันตรายกับตัวไดเวอร์หรือวงจรเน็ทเวิร์ค ไม่ต้องมีระบบกราวนด์แบบนี้ก็ไม่เป็นปัญหาในการทำงานของลำโพง ส่วนใหญ่จะปล่อยผ่าน หากแต่ว่า หลังจากทางทีมงานของ Audiovector ทำการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับเรื่อง grounding ที่ว่านี้ขึ้นมาเพื่อขจัดกระแสไฟฟ้าตกหล่นออกไป พวกเขาพบว่า มันทำให้คุณภาพเสียงของลำโพงดีขึ้น
สายกราวนด์ที่ Audiovector ทำเป็นอ๊อปชั่นออกมาและระบุให้ใช้กับ R1 Arrete
มีอยู่ช่วงหนึ่งขณะทำการแม็ทชิ่งสายสัญญาณ, สายลำโพงและสายไฟเอซีเพื่อทดสอบผลที่เกิดกับเสียงของ R1 Arrete หลังจากผมเสียบใช้งานสายกราวนด์ของ R1 Arrete เข้าไปแล้ว มันทำให้ผมพบว่า ผมสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นขณะทดลองเปลี่ยนสายสัญญาณ, สายลำโพง และสายไฟเอซี ที่ใช้กับ R1 Arrete ได้ชัดเจนมากขึ้นเยอะเลย คล้ายกับว่า สายกราวนด์ที่เสียบเข้ากับขั้วต่อ Freedom ด้านหลังของ R1 Arrete มันเข้าไปปัดเป่าม่านหมอกที่ปกคลุมอยู่ในสนามเสียงออกไป ทำให้ผมสัมผัสกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พร่างพรายอยู่ในสนามเสียงเบื้องหน้าได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเพ่ง!
นี่เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจเรียกช่างมาทำการตอกแท่ง ground ทองแดงเพื่อติดตั้งระบบกราวนด์ให้กับชุดเครื่องเสียงที่บ้าน หลังจากนั้น คุณภาพเสียงโดยรวมของชุดเครื่องเสียงออกมาดีขึ้นกว่าเดิมและนิ่งกว่าเดิมมาก และเมื่อไรก็ตามที่มีการทดสอบเรื่องของ grounding ของระบบเครื่องเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง จะส่งผลลัพธ์ออกมาให้ได้ยินชัดมาก แนะนำเป็นอย่างยิ่งให้ติดตั้งกราวนด์ที่บ้านให้กับชุดเครื่องเสียง
หลังจากเสียบสายกราวนด์ให้กับ R1 Arrete แล้ว ผมพบว่า ยิ่งใช้สายสัญญาณและสายลำโพงที่ดีจะยิ่งเห็นผลกับเสียงที่ออกมาจาก R1 Arrete โดยเฉพาะรายละเอียดของเสียงทางด้านบน (ส่วนปลายของเสียงแหลม) และด้านล่าง (หางของเสียงทุ้ม) ที่ปรากฏออกมา ผมมาสรุปจบกับการใช้สายสัญญาณ + สายลำโพงของ Tchernov Cable รุ่น Reference ซึ่งให้เสียงโดยรวมของ R1 Arrete ออกมาดีที่สุด
ไม่ต้องต่อเชื่อมสายกราวนด์ได้มั้ย.? ไม่ต้องต่อสายกราวนด์ลำโพงคู่นี้ก็สามารถทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง แต่เมื่อผมทดลองเชื่อมต่อระบบกราวนด์ด้วยสายกราวนด์ที่ เอลป้า ชอว์ ส่งมาให้ (ทาง Audiovector ทำสายกราวนด์ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อใช้กับระบบนี้ด้วย เป็นอ๊อปชั่นที่ต้องซื้อเพิ่ม) ผมพบว่า มันทำให้เสียงของ R1 Arrete ดีขึ้นอย่างรับรู้ได้ หลังจากทดลองฟังมานานพอสมควร ผมคะเนให้ว่า เมื่อเชื่อมต่อสายกราวนด์ตัวนี้เข้าไป มันทำให้เสียงโดยรวมของ R1 Arrete ดีขึ้น “อย่างต่ำ” 20% และจุดที่รับรู้ผลได้ชัดเจนที่สุดคือปลายเสียงแหลมและปลายเสียงทุ้ม นอกนั้นก็เป็นความสะอาดของเนื้อเสียงกับบรรยากาศ และได้ความนิ่งของจังหวะเพลงที่ดีขึ้นด้วย
คุณภาพ/ลักษณะเสียงของ R1 Arrete ที่ผมจะรายงานให้ทราบในลำดับของการทดลองฟังเสียงจะอยู่ในเงื่อนไขที่ผมต่อเชื่อมสายกราวนด์ไว้ด้วยตลอดการทดสอบ (ถ้าจะแอบถามว่า ควรเชื่อมต่อสายกราวนด์มั้ย.? ตอบเลยว่า “สมควรอย่างยิ่ง!”)
แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ
ผลจากการเปลี่ยนไดเวอร์ระหว่างเวอร์ชั่น R1 Signature, R1 Avantgarde และ R1 Arrete ทำให้การจัดวงจรเน็ทเวิร์คออกมาไม่เหมือนกัน คือจุดตัดความถี่ที่กำหนดไว้จะต่างกัน คือ 3100Hz, 3000Hz และ 2900Hz ตามลำดับ ส่งผลให้สเปคฯ ในส่วนของ frequency response เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละเวอร์ชั่น คือ 42-28kHz (R1 Signature), 40-53kHz (R1 Avantgarde) และ 38-53kHz (R1 Arrete)
นอกจากนั้น คุณสมบัติทางด้านความสามารถในการรองรับกำลังขับของทั้งสามเวอร์ชั่นก็ต่างกันด้วย คือ รองรับได้สูงสุด 180W สำหรับเวอร์ชั่น Signature, 160W สำหรับเวอร์ชั่น Avantgarde และ 200W สำหรับเวอร์ชั่น Arrete ในขณะที่คุณสมบัติด้านอื่นเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นอิมพีแดนซ์คือ 8 โอห์ม, ความไวคือ 87dB/W/m
R1 Arrete แนะนำกำลังขับสูงสุดอยู่ที่ 200W ที่ 8 โอห์ม ฉนั้น กำลังขับอย่างต่ำที่หวังผลได้ตามสูตรของผมคือ 200×75 หารด้วย 100 เท่ากับ 150W ที่ 8 โอห์มขึ้นไปสำหรับห้องฟังที่มีขนาดกลางๆ ประมาณ 4×6 ตารางเมตร แต่ถ้านำ R1 Arrete ไปใช้ในห้องที่มีขนาดเล็กกว่านี้ อย่างเช่น 3×5 ตารางเมตร หรือเซ็ตอัพลักษณะการฟังแบบ nearfield กำลังขับแค่ 50% ของกำลังขับสูงสุดที่ลำโพงแนะนำก็ถือว่าพอไหว ในกรณีที่เป็นแอมป์ที่มีประสิทธิภาพสูง (กำลังสำรองถึงๆ)
ในการทดลองแม็ทชิ่ง R1 Arrete คราวนี้ ผมทดลองใช้อินติเกรตแอมป์ Cambridge Audio รุ่น CXA81 ที่มีกำลังขับ 80W ที่ 8 โอห์ม และอัพฯ ได้เป็น 120W ที่ 4 โอห์ม (แสดงว่า CXA81 มีกำลังสำรองอยู่ 50% ของกำลังขับที่โหลด 8 โอห์ม) ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเซ็ตอัพฟังแบบ nearfield นอกจากนั้น ผมก็ได้ทดลองใช้ Cambridge Audio รุ่น CXN v2 ทำหน้าที่เป็นทั้ง network player และเป็นปรีแอมป์จับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ Magnet รุ่น SM-02 (REVIEW) ที่ให้กำลังขับอยู่ที่ 130W ต่อข้างลองขับ R1 Arrete ดูด้วย ซึ่งผลที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ ช่วงท้ายผมเปลี่ยนมาลองขับด้วยชุดปรีแอมป์หลอดของ VTL รุ่น TL2.5 + เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่น MB125 โดยใช้เน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ของ Lumin รุ่น T2 ทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นทาง ปรากฏว่าได้เสียงออกมาดีมาก เวทีเสียงขยายแผ่ออกไปกว้างมากๆ เนื้อเสียงนวลตามสไตล์หลอด ที่ชอบคือแอมเบี้ยนต์มาเต็ม แสดงให้เห็นว่า R1 Arrete ไม่ได้ขับยากมาก ได้แอมป์ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นอินติเกรตแอมป์ หรือปรี+เพาเวอร์แอมป์ระดับกลางๆ ก็สามารถขับ R1 Arrete ออกมาได้ดีจนน่าพอใจแล้ว (*ที่เห็นผลเยอะมากๆ คือคุณภาพของต้นทาง แนะนำให้ใช้ต้นทางดีที่สุดเท่าที่จะหาได้)
หลังจากเปิดเบิร์นฯ R1 Arrete มาเกิน 100 ชั่วโมง และลองแม็ทชิ่งจนได้คู่ขาที่เหมาะสมกันแล้ว ผมก็เริ่มทดลองเซ็ตอัพ R1 Arrete สำหรับลักษณะการฟังแบบ Nearfield ซึ่งสุดท้ายแล้วผมมาได้ระยะห่างระหว่างลำโพงวัดถึงผนังด้านหลังอยู่ที่ 158 ซ.ม. และได้ระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย–ขวา อยู่ที่ 183 ซ.ม. จุดนั่งฟังของผมห่างจากระนาบของลำโพงออกมาเท่ากับ 280 ซ.ม. เป็นตำแหน่งการเซ็ตอัพที่ลงตัวมากที่สุดในห้องฟังของผม (ในห้องของคุณก็ลองเอาตัวเลขไปใช้ได้ แต่อาจจะต้องขยับ fine tune อีกนิดหน่อยตามสัดส่วนและสภาพอะคูสติกที่ต่างกัน)
เสียงของ Audiovector รุ่น R1 Arrete
ผมมีโอกาสเบิร์นฯ R1 Arrete มาตั้งแต่แกะกล่อง ได้เห็นถึงพัฒนาการมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆ จนถึงหลังผ่านขั้นตอนเบิร์นฯ ช่วงแรกของ R1 Arrete โทนเสียงจะออกมาทางกลาง–แหลมเด่นกว่าทุ้ม จนถึงประมาณชั่วโมงที่ 20 ไปแล้ว เสียงกลางจะเริ่มเปิดเผยและลอยตัวแยกออกมาจากกลุ่มก้อนของเสียงกลางต่ำและเสียงทุ้มมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะลอยเด่นออกมาเต็มตัว และก่อร่างสร้างทรงขึ้นรูปเป็นสามมิติที่เด่นชัด ส่วนเสียงทุ้มของ R1 Arrete จะเริ่มแผลงฤทธิ์ออกมาให้ตะหนักแบบจะแจ้งก็หลังผ่านชั่วโมงที่ 50 ไปแล้ว
ประมาณชั่วโมงที่ 70 เป็นต้นไป ทุกความถี่ตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้มเริ่มกระจายออกไปอยู่ในอากาศได้อย่างเด็ดขาด เกิดปรากฏการณ์หลุดตู้ 100% ยิ่งได้ source ดีๆ อย่าง Lumin T2 กับสายสัญญาณ+สายลำโพงระดับไฮเอ็นด์อย่าง Tchernov Cable รุ่น Reference เข้ามาเสริม ศักยภาพของ R1 Arrete ก็ยิ่งปรากฏเด่นชัดออกมามากขึ้น
อัลบั้ม : Bizet – Carmen Fantasy & more (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : The All Star Percussion Ensemble, arr. & conducted by Harold Farberman
ค่าย : FIM Records
“ความใสกระจ่าง” ของพื้นเสียงคือจุดเด่นมากๆ อย่างแรกของ R1 Arrete ที่ผมอยากพูดถึง ซึ่งผมว่ามันคือสุดยอดปรารถนาสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงจริงๆ มันคือคุณสมบัติที่จำเป็นและเป็นประตูด่านแรกที่จะทำให้เราสามารถมองทะลุเข้าไปเห็น (ด้วยหู) ทุกองคาพยพที่กระจายอยู่ในเวทีเสียงได้อย่างหมดจด ซึ่งผมคิดว่า นี่คงเป็นมรรคผลมาจากระบบ Freedom Grounding System ที่มีส่วนช่วยได้มาก
ข้างบนนี้คือผลสรุปหลังจากผมทดลองฟังอัลบั้มชุด “Bizet – Carmen Fantasy & more” ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ใช้โชว์คุณสมบัติทางด้านความโปร่งใสของเวทีเสียงได้ชัดเจนมาก เพราะเป็นอัลบั้มที่บันทึกสดในฮอลล์ด้วยการบรรเลงของเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัสชั่นใหญ่–น้อยทั้งวงจำนวนนับสิบชิ้น ลำโพงที่ตอบสนองความถี่เสียงไปได้ไกลเกิน 20kHz โดยทั่วไปจะนำเสนอมวลแอมเบี้ยนต์ที่บันทึกอยู่ในอัลบั้มนี้ออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่วินาทีแรกของแทรคแรก เมื่อฟังอัลบั้มนี้ผ่าน R1 Arrete ผมสัมผัสได้ถึงมวลแอมเบี้ยนต์ของโถงฮอลล์ที่ใช้บันทึกเสียงอัลบั้มนี้แผ่คลุมภาพในห้องฟังขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้หลงว่าคิดไปเอง ผมทดลองกด pause และ play สลับไปๆ มาๆ หลายรอบ ก็ยังรับรู้ได้ถึงอณูของบรรยากาศที่ครอบคลุมออกมาจากแทรคนี้ มันเป็น “ความรู้สึก” ไม่ใช่ได้ยิน เพราะความถี่ของแอมเบี้ยนต์มันเลยระดับความสามารถของหูไปแล้ว เป็นความรู้สึกที่เหมือนเราเข้าไปอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ อย่างโบสถ์ซึ่งเป็นความรู้สึกที่บอกตัวเองได้ว่าไม่ได้กำลังนั่งอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่เป็นสถานที่ที่มีผนังล้อมรอบ
อัลบั้ม : Arnold Overtures (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Malcolm Arnold, The London Philharmonic Orchestra
ค่าย : Reference Recordings
อัลบั้ม : Arnold Overtures (WAV 24/176.4 HRx)
ศิลปิน : Malcolm Arnold, The London Philharmonic Orchestra
ค่าย : Reference Recordings
หลังจากเจอเรื่องของแอมเบี้ยนต์จาก R1 Arrete เข้าไป ผมก็มานั่งเลือกอัลบั้มเพลงคลาสสิกออกมาลองฟังกับลำโพง Audiovector คู่นี้เพลินไปเลย หลังจากฟังไปหลายชุด ผมก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างหนึ่งสำหรับลำโพง R1 Arrete คู่นี้ คือมันเป็นลำโพงขนาดเล็กที่เหมาะมากกับการฟังเพลงแนวคลาสสิก ซึ่งยากมากที่จะหาลำโพงสองทางวางหิ้งที่ทำให้ฟังเพลงคลาสสิกแล้วรู้สึกแฮ้ปปี้แบบนี้ เพราะเพลงแนวคลาสสิกมันต้องการทั้งความสามารถในการตอบสนองทางด้าน bandwidth ของเสียงที่กว้างมากๆ โดยเฉพาะความถึ่ในย่านสูงที่ต้องไปได้ไกลเป็นพิเศษ เพราะเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติกจำนวนมากนับสิบชิ้นที่บรรเลงพร้อมกันสดๆ อยู่ในฮอลล์มันจะมีรายละเอียดในส่วนของฮาร์มอนิกที่ซับซ้อนและหนาแน่นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น harmonic structure ที่เกิดจากหางเสียงของเครื่องดนตรีที่แผ่ไปกระตุ้นให้เกิดเรโซแนนซ์ภายในฮอลล์และผสมกันออกมา มันจึงเกิดเป็นพลังงานในย่าน top-end ที่หนาแน่นมากเป็นพิเศษ ถ้าลำโพงไม่สามารถถ่ายทอดมวลฮาร์มอนิกด้านสูงออกมาได้ดีพอ จะทำให้เพลงคลาสสิกต้องสูญเสียความมลังเมลืองลงไปเลย
จังหวะหนึ่งผมคลิ๊กเลือกอัลบั้มชุด “Arnold Overtures” ซึ่งเป็นผลงานของนักแต่งเพลงและคอนดักเตอร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงมากแห่งยุคใหม่ขึ้นมาฟัง ชุดนี้เป็นงานที่มีชื่อเสียงมากชุดหนึ่ง แนวการแต่งของ เซอร์มัลคอม เฮนรี่ อาร์โนลด์ จะเป็นคลาสสิกที่มีกลิ่นอายของแจ๊สผสมอยู่จางๆ เมื่อผนวกกับฝีไม้ลายมือในการบรรเลงของวง The London Philharmonic Orchestra ที่มีสไตล์เด็ดขาด ดุเดือดเข้าไปด้วย เสียงของอัลบั้มนี้จึงมีความอลังการและโอ่อ่าบ้าพลังมากเป็นพิเศษ ถ้าเล่นกับซิสเต็มที่มีสมรรถนะถึงๆ รับรองว่าฟังแล้วไม่มีง่วงแน่นอน ซึ่งวันนี้ผมก็ได้ยินอะไรแบบนั้นออกมาจากลำโพง R1 Arrete คู่นี้เหมือนกัน น่าทึ่งจริงๆ เสียงของมันดูขัดแย้งกับขนาดตัวตู้อย่างแรง หลังจากฟังไปเพลินๆ กับแทรค “A Sussex Overture” มาถึงท่อนโหม ผมก็ได้ยินเสียงฉาบที่มีลักษณะเซ็งแซ่สาดติดปลายเสียงออกมานิดๆ ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า ผมมีอัลบั้มเดียวกันนี้ที่เป็นไฟล์ WAV 24/176.4 ที่ผมดึงออกมาจากแผ่น DVD-R ที่ทางค่าย Reference Recordings ทำออกมาจำหน่ายในฟอร์แม็ต HRx อยู่ด้วย จึงรีบไปโหลดอัลบั้มนี้มาลงบน SSD ของ Samsung T7 เพื่อฟังเทียบกับเวอร์ชั่น WAV 16/44.1 ที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีของค่ายเดียวกัน
พอได้ยินเสียงที่เป็นเวอร์ชั่น WAV 24/176.4 เท่านั้นแหละ ผมงี้ขนลุกซู่เลย.! โอ้แม่เจ้า..!! เพลงเดียวกันแท้ๆ แต่ทำไมอารมณ์ของเพลงมันถึงได้ต่างกันมากขนาดนี้.!!! เวอร์ชั่น HRx 24/176.4 ให้ไดนามิกที่เปิดกว้างมากกว่าเยอะเลย ส่วนที่เบาก็แผ่วลงไปได้มากกว่า ในขณะที่ตอนโหมก็ปลดปล่อยพลังเสียงออกมาได้อย่างสนั่นลั่นครืนกว่า สเกลเสียงต่างกันมาก ฟังจากไฟล์ 24/176.4 แล้วรู้สึกเหมือนนั่งฟังการบรรเลงสดมากกว่า และเสียงฉาบตอนโหมก็ไม่ได้แผดจ้าอีกแล้ว แต่กลับสลัดปลายเสียงออกไปได้เต็มเหนี่ยว และกระจายออกไปโดยรอบเหมือนพลุแตก ซึ่งเป็นลักษณะของเสียงฉาบที่ควรจะได้ยินในธรรมชาติแบบนั้น สรุปชัดว่า R1 Arrete ให้ปลายเสียงแหลมที่เปิดเผย ไม่มีอมพะนำ ไม่มีอาการ over-shoot และไม่มีอาการ roll-off เหมือนเสียงแหลมของลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์ที่ขึ้นไปได้ไม่เกิน 20kHz ทั่วๆ ไป เป็นบุคลิกเสียงแหลมของทวีตเตอร์ AMT ที่น่าชื่นชมมาก ขอให้ source ถึงๆ เถอะ มันจะถ่ายทอดออกมาได้หมดจริงๆ สมแล้วกับสเปคฯ frequency response ที่ไปได้ถึง 53,000Hz ของ R1 Arrete คู่นี้ ต้องยอมสารภาพว่า ผมรักเสียงของมันจังเลย.!!
อัลบั้ม : Belafonte At Carnegie Hall (DSF64)
ศิลปิน : Harry Belafonte
ค่าย : BMG (Hong Kong)
ช่วงที่ทดลองฟังเพลงร้อง ผมเปิดอัลบั้มนี้ฟังไปเรื่อยๆ มาสะดุดหูเป็นพิเศษตอนฟังแทรคสุดท้ายเพลง “Matilda” ซึ่งผมรู้สึกได้ถึงลักษณะการเดินร้องเพลงของแฮรี่ ในแทรคนี้ได้อย่างชัดเจน คือ R1 Arrete ได้แสดงให้ผมได้ยินชัดเลยว่า เสียงร้องของแฮรี่มีลักษณะที่เคลื่อนตัวไป–มาจากด้านขวาของเวทีเสียงไปทางซ้าย บางขณะเสียงของเขาก็วูบลงไปเหมือนเดินลึกเข้าไปด้านในของเวทีเสียง ในขณะที่บางจังหวะกลับดังขึ้นมาเหมือนเขาเดินออกมาที่ขอบด้านหนัาของเวที และผมยังได้ยินคนดูที่ร้องตามคำขอของแฮรี่ด้วย รู้สึกได้ชัดเลยว่า เสียงร้องของคนดูถูกแยกออกไปอีกเลเยอร์หนึ่งเมื่อเทียบกับเสียงร้องของแฮรี่เอง ผิดธรรมดาไปหน่อยก็ตรงที่เสียงคนดูไม่ได้ดังอยู่ฝั่งเดียวกับผมเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ทจริงๆ ที่หันหน้าไปทางเวที แต่เสียงคนดูในอัลบั้มนี้กลับไปแผ่อยู่ด้านเดียวกับเสียงของแฮรี่บนเวที มันหลอกหูหน่อย เป็นข้อจำกัดของระบบเสียงสเตริโอนั่นเอง
อัลบั้ม : Rio After Dark (DSF64)
ศิลปิน : Ana Caram
ค่าย : Chesky Records
แทรคที่ 4 เพลง “Viola Fora de Moda (Outdated Viola)” เป็นแทรคเด่นของ Ana Caram ในอัลบั้มนี้ ซึ่งเป็นแทรคที่มิกซ์เสียงเครื่องดนตรีแนวเพอร์คัสชั่นจำนวนหลายชิ้นให้แสดงบรรยากาศของป่าดงดิบออกมาได้เห็นภาพมาก เมื่อฟังผ่าน R1 Arrete ผมได้ยินเสียงของเครื่องเคาะเพอร์คัสชั่นหลากหลายชิ้นกระจายตัวกันอยู่เต็มพื้นที่อากาศด้านหน้า มีทั้งแนวกว้างและแนวลึก แต่ละชิ้นฉีกตัวออกไปลอยอยู่ในอากาศอย่างชัดเจน เป็นแทรคที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าลำโพงไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนั้น หรืออีกนัยคือ เสียงทั้งหมดไม่ได้ดังออกมาจากลำโพงที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า มันคืออาการ “เสียงหลุดตู้” อย่างชัดเจน! เป็นการยืนยันถึงความสามารถในการถ่ายทอดซาวนด์สเตจที่โดดเด่นมากๆ ของลำโพงจากเดนมาร์กคู่นี้ เสียงทั้งหมดที่ลอยออกมาในอากาศมันมีความเป็นตัวตนสูง ชี้ชัดตำแหน่งได้แบบไม่ต้องลังเล แต่ละชิ้นมีรายละเอียดเฉพาะตัวที่บอกได้เลยว่า ชิ้นไหนทำจากโลหะ–ชิ้นไหนทำจากไม้ และยังเด่นชัดอีกด้วยว่า ชิ้นไหนกำลังถูกสั่น ชิ้นไหนถูกเขย่า และชิ้นไหนที่ถูกเคาะด้วยไม้ บางชิ้นโผล่ขึ้นมาแล้วหยุดไป ในขณะที่บางชิ้นยึดที่มั่นอยู่ตรงนั้นเป็นนาน ปริมณฑลของพื้นที่อากาศที่ครอบคลุมเสียงเครื่องเคาะ เสียงกีต้าร์โปร่ง และเสียงร้องมีลักษณะเป็นสามมิติที่ชัดเจน มีระยะห่างจากด้านหน้าที่ใกล้ตัวเราลงไปถึงด้านหลังที่ห่างจากตัวเราออกไป และมีระยะห่างระหว่างชิ้นที่อยู่ใกล้ลำโพงข้างขวากับชิ้นที่อยู่ใกล้กับลำโพงข้างซ้าย ทำมุมคนละองศา เมื่อมองจากจุดนั่งฟังออกไปข้างหน้า มันให้ความรูัสึกเหมือนกำลังนั่งฟังวงดนตรีกำลังบรรเลงอยู่ข้างหน้า ซึ่ง R1 Arrete ฉายภาพของเวทีเสียงในแต่ละอัลบั้มออกมาให้สัมผัสได้อย่างง่ายๆ และเป็นไปโดยอัตโนมัติ แค่เปลี่ยนอัลบั้ม–เปลี่ยนเพลง ภาพของเวทีเสียงก็เปลี่ยนไป ตำแหน่งของชิ้นดนตรีเปลี่ยนไป เดี๋ยวกว้าง–เดี๋ยวแคบ ไม่มีจำกัดรูปแบบ ขึ้นอยู่กับเพลงที่เล่น นี่แสดงให้เห็นว่า R1 Arrete ตอบสนองกับเฟสของสัญญาณได้แม่นยำมาก และมันส่งผลให้ผมต้องคอยขยับตำแหน่งลำโพงเพิ่มเติมอีกนิดๆ หน่อยๆ หลังจากนั่งฟังไป คือว่าคุณสามารถปรับจูนให้ได้โฟกัสของเสียงที่คมชัดมากๆ ได้เรื่อยๆ ทีละน้อย จากที่ดีอยู่แล้ว ชัดอยู่แล้วก็จะชัดขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนเครื่องเล่นหรือเปลี่ยนสายสัญญาณ+สายลำโพงที่มีคุณภาพสูงขึ้น คุณจะพบกับระดับของคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนบอกไม่ถูกว่า สูงสุดของ R1 Arrete มันจะไปได้ไกลถึงไหนกันแน่.?
อัลบั้ม : Singles 1969-1981 (DSF64)
ศิลปิน : Carpenters
ค่าย : A&M Records
เมื่อเลือกเพลงร้องมาลองฟัง ผมพบว่า R1 Arrete ให้เสียงร้องที่มีลักษณะผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ คือไม่ใช่อาการเฉื่อย หรือเนิบนาบ ท่วงจังหวะของเพลงยังคงถูกต้อง แต่เป็นลักษณะของการถ่ายทอดส่วนที่เรียกว่า dynamic contrast ของเสียงร้องที่ต่อเนื่องมากกว่า ผมได้ยินลักษณะการปลดปล่อยแต่ละคำร้องที่มีจังหวะจะโคนของการเอื้อน การเลี้ยงลมหายใจ ไปจนถึงการเปล่งพลังเสียงเพื่อดันคำร้องให้พุ่งสูงขึ้นไปตามโน๊ตที่กำหนดไว้ ทั้งหมดนั้นเป็นรายละเอียดที่ R1 Arrete ถ่ายทอดออกมาอย่างอัตโนมัติอีกเช่นกัน คือฟังจากเสียงร้องแล้ว รู้สึกว่าลำโพงมันไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมายเลยในการที่จะถ่ายทอดรายละเอียดเหล่านั้นให้พรั่งพรูออกมา ความรู้สึกสบายๆ ของมันถูกส่งผ่านมาถึงลักษณะของเสียงร้องที่สบายๆ นี่คงเป็นลักษณะของลำโพงที่ให้แบนด์วิธกว้างมากๆ แบบนี้ ทำให้ไม่มีอาการที่เรียกว่า dynamic compression เกิดขึ้น เสียงทั้งหมดจึงมีลักษณะที่ผ่อนคลายอย่างมาก ปลดปล่อย และเป็นอิสระ
สรุป
ผมจำได้ว่า ตอนทดสอบลำโพง Audiovector รุ่น SR1 Avantgarde Arrete เมื่อสองปีที่แล้ว ผมก็รู้สึกประทับใจลำโพงคู่นั้นมาก เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับลำโพงยี่ห้อนี้อย่างจริงๆ จังๆ และเมื่อมาได้ทดสอบลำโพงรุ่นนี้อีกครั้งในเวอร์ชั่นที่พัฒนาขึ้นมาเป็น R1 Arrete ผมก็ยอมรับว่า Audiovector ได้สร้างความประทับใจให้กับผมมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกเยอะเลย ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์นั่นเอง ซึ่งไดเวอร์ตัวนั้นถือครองหน้าที่ในการถ่ายทอดความถี่ส่วนใหญ่ที่ลำโพงคู่นี้ให้ออกมา จากสิ่งที่ได้ยิน ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไดเวอร์เบส/มิดเร้นจ์ตัวใหม่นี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าตัวเก่าที่อยู่ใน SR1 Avantgarde Arrete อย่างมาก.!
ถ้าคุณมีห้องฟังที่ไม่ใหญ่มาก แต่อยากได้เสียงที่ดีมากๆ โดยไม่อั้นงบประมาณ ผมคิดว่าลำโพง Audiovector รุ่น R1 Arrete คู่นี้น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะตอบโจทย์ของคุณได้อย่างตรงเป้าประสงค์มากที่สุดแล้ว.. ที่เหลือก็แค่ไปหาโอกาสทดลองฟังด้วยหูของคุณเองเท่านั้น.!! /
********************************
ราคา R1 Arrete : 180,000 บาท / คู่
ราคา สายกราวนด์ Freedom Ground Cable : 19,800 บาท / ชุด
********************************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
Elpa Shaw Co., Ltd.
โทร. 02-465-9833
facebook: @elpashawth