รีวิวพิเศษ : “3 อุปกรณ์เสริม” ที่ให้ผลลัพธ์น่าพอใจ โดยไม่สร้างผลข้างเคียงแง่ลบไว้กับซิสเต็ม.!! (ภาค ๒) : เต้ารับปลั๊กผนัง Life Audio

ตัวนี้เป็นอุปกรณ์เสริมประเภทที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน (active accessories) โดยตรง.! ถือว่าเป็นปราการด่านหน้าสุดของชุดเครื่องเสียง ซึ่งส่งผลต่อเสียงอย่างมาก เนื่องจากเต้ารับบนผนังเป็นช่องทางที่ใช้เชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าที่เดินทางจากตู้เมนไปยังชุดเครื่องเสียงของเรา ถ้าเต้ารับบนผนังไม่มีคุณภาพ นำกระแสได้ไม่ดี กระแสไฟฟ้าที่ไปเลี้ยงชุดเครื่องเสียงก็จะไหลไปได้ไม่เต็มที่ แน่นอนว่าต้องส่งผลลัพธ์ต่อคุณภาพเสียงของชุดเครื่องเสียงอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิค ทุกชิ้นในชุดเครื่องเสียงล้วนอาศัยกระแสไฟฟ้าเป็นพื้นฐานในการทำงานทั้งสิ้น

ผมใช้วิธีแยกคัทเอ๊าต์จากตู้เมนมา 1 ชุดเพื่อใช้สำหรับจ่ายไฟให้ชุดเครื่องเสียง แยกจากส่วนที่จ่ายไฟแสงสว่างภายในห้อง ผมใช้สายไฟ Thai Yazaki ขนาด 4 SQM เดินตรงจากตู้เมนหลักของบ้านไปเข้าที่ตู้เมนย่อยที่อยู่ในห้องฟัง จากนั้นจึงแยกจากตู้เมนย่อยไปที่เต้ารับบนผนัง 5 จุด โดยใช้สายไฟ Thai Yazaki เบอร์ 4 SQM เช่นกัน ส่วนตัวเต้ารับทั้ง 5 จุด ที่ใช้จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงผมเลือกใช้เต้ารับของ Panasonic สีดำ ซึ่งมีคุณภาพและราคาสูงกว่าตัวสีขาวที่เป็นเกรดทั่วไป…

มีคนถามบ่อยว่า ทำไมผมไม่ใช้สายไฟระดับ audio grade เดินระหว่างตู้เมนหลักมาที่ตู้เมนย่อยในห้องฟังและต่อจากตู้เมนย่อยไปที่เต้ารับแต่ละตัว.? เหตุผลก็เพราะว่าผมตั้งใจทำห้องฟังนี้เพื่อการทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วย จึงต้องทำให้ระบบไฟฟ้าในห้องนี้มีพื้นฐานเป็นกลางๆ เหมือนบ้านอยู่อาศัยทั่วไปก่อน สิ่งที่พิเศษกว่าบ้านทั่วไปก็คือ แยกตู้เมนย่อยสำหรับจ่ายไฟห้องฟังโดยเฉพาะออกมา กับเลือกใช้สายไฟเดินภายในที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติที่ใช้กับบ้านทั่วไปหน่อย ซึ่งทั่วไปจะใช้เบอร์ 2.5 SQM ทีแรกผมก็คิดว่าจะใช้เบอร์ 6 SQM แต่มันจะขันยึดเข้าไปในเต้ารับไม่ได้ เพราะสายแกนเดี่ยวเบอร์ 6 SQM มันใหญ่และแข็งมาก สุดท้ายเลยมาลงตัวที่เบอร์ 4 SQM

อีกอย่าง ถ้าสายไฟที่เดินภายในห้องฟังของผมเป็นสาย audio grade ทั้งหมด มันก็จะมีทั้งบุคลิกและคุณภาพเสียงที่เกิดจากสาย audio grade ตัวนั้นเข้ามาผสมอยู่ในเสียงของซิสเต็ม ซึ่งอาจจะทำให้การวิเคราะห์ผลในการทดสอบเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ มีความเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงได้

เต้ารับบนผนังของ Life Audio

คุณหน่อย จากสำนัก Life Audio แจ้งผมไว้นานแล้วว่าจะส่งชุดเต้ารับที่ Life Audio ออกแบบและผลิตมาให้ผมทดสอบ ผมก็แจ้งไปว่าขอให้ระบบไฟในห้องของผมผ่านการใช้งานไปสักระยะก่อน ให้มั่นใจว่าทุกอย่าง (เบรคเกอร์, เต้ารับ และสายไฟ) ในระบบไฟของห้องฟังมันผ่านการใช้งานจนถึงจุดที่พ้นรันอินไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าพร้อมเพราะห้องฟังนี้ถูกใช้งานมาต่อเนื่องเกือบหนึ่งปีแล้ว

ชุดเต้ารับบนผนังของ Life Audio มีส่วนประกอบอยู่ด้วยกัน 3 ชิ้น คือ 1. “ตัวเต้ารับ” – เป็นแบบ 2 ช่องเสียบ มีช่องกราวนด์แยก, 2. “แผ่นล็อค หรือเฟรมด้านใน” – ซึ่งมีหน้าที่ประกบดันเต้ารับให้ฝังแน่นอยู่ในเบ้าโลหะบนผนังห้อง และ 3. “แผ่นฝาปิดด้านนอก” – อันนี้ใช้ปิดทับลงบนแผ่นเฟรมที่ล็อคด้านในเพื่อเพิ่มความแน่นหนาอีกชั้นและด้วยเหตุผลทางด้านความสวยงามด้วย

เต้ารับคือหัวใจสำคัญของอุปกรณ์เสริมชุดนี้ ซึ่งทาง Life Audio เลือกใช้ชุดสำเร็จของ Oyaide รุ่น R1 ตัวบอดี้เป็นฉนวนสีขาว ส่วนโลหะสัมผัสทั้งหมดชุบทองอร่ามตา เนื้องานประดิษฐ์และงานประกอบดูแน่นหนาแข็งแรงมาก

แผ่นเฟรมที่เป็นตัวล็อคเต้ารับทำจากแผ่นทองเหลืองหนาเกือบเซ็นต์ฯ ชุบเคลือบสีพิ้งค์โกล พร้อมสลักชื่อแบรนด์ Life Audio ลงไปในเนื้อวัสดุด้วย

แผ่นโลหะที่ใช้ปิดทับด้านบนทำมาจากแผ่นทองแดงหนา เคลือบด้วยทองคำ 24K

การติดตั้ง

การติดตั้งเต้ารับลงไปแทนอันเดิมไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรมากมาย ใช้แค่ไขควงปลายแฉกอันเดียวเท่านั้น แต่ที่ต้องเตือนไว้ก่อนสำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยจับไขควงทำงานประเภทนี้มาก่อน นั่นคือต้องไม่ลืมสับคัทเอ๊าต์หรือเบรคเกอร์ที่ตู้เมนที่จ่ายไฟมาที่เต้ารับตัวที่จะเปลี่ยนซะก่อน ใช้ไขควงวัดไฟจิ้มเช็คให้แน่ใจว่าไม่มีกระแสไฟถูกส่งมาที่เต้ารับก่อนจะลงมือไขน็อตเพื่อเอาเต้ารับอันเก่าออก และติดตั้งเต้ารับของ Life Audio เข้าไปแทน

ผมโชคดีที่ได้คุณหน่อยกับลูกน้องลงมือติดตั้งเต้ารับตัวนี้ให้ผมด้วยมือของคุณหน่อยเอง เริ่มด้วยการขันน็อตเอาเต้ารับ Panasonic ออกมาจากเบ้าโลหะที่ฝังอยู่ในผนังห้อง

คุณหน่อยเริ่มประกบแผ่นเฟรมลงไปโดยขันน็อตยึดแผ่นเฟรมเข้ากับรูน็อตของบล็อกโลหะที่ฝังอยู่ในผนัง

จากนั้นก็เตรียมติดตั้งสายไฟเข้ากับตัวเต้ารับ

งานที่ยากที่สุดคือการขันยึดสายไฟทั้งสามเส้นคือ Hot, Neutral และ Ground เข้ากับจุดยึดของตัวเต้ารับ เพราะสายไฟมันแข็ง โผล่ออกมาจากผนังแค่ไม่กี่นิ้ว ถ้าไม่ชำนาญและใจไม่เย็นพอมีหงุดหงิดแน่นอน

เพราะเป็นมืออาชีพอย่างคุณหน่อยจึงผ่านได้สบาย หลังจากขันยึดสายไฟอย่างแน่นหนาครบทั้งสามเส้นแล้ว ก็ถึงเวลายัดเต้ารับเข้าไปในบล็อคแล้วขันน็อตยึดตัวเต้ารับเข้ากับเฟรมให้แน่นหนา

สำเร็จ.! เปรียบเทียบกับเต้ารับ Panasonic ตัวเดิมแล้ว ราศรีต่างกันเยอะ

ทดสอบ

ในห้องฟังของผมติดตั้งเต้ารับที่แยกไว้สำหรับอุปกรณ์เครื่องเสียงทั้งหมด 5 จุด ด้วยกัน อยู่บนผนังด้านหลังฝั่งวางลำโพง 2 จุด อยู่บนผนังซ้ายขวาของฝั่งที่วางลำโพง 2 จุด ส่วนอีกจุดอยู่ที่ด้านข้างขวาของผนังฝั่งนั่งฟัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเต้ารับแบบ 2 ช่องเสียบ สำหรับหัวปลั๊กของสายไฟเอซีแบบ 3 ขาแยกกราวนด์ อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่าเดิมผมใช้เต้ารับของ Panasonic ตัวสีดำทั้งหมด เมื่อได้เต้ารับของ Life Audio มาทดสอบแค่ชุดเดียว ผมจึงเลือกไปใช้แทนที่เต้ารับตรงตำแหน่งที่อยู่บนผนังด้านหลังของฝั่งที่วางลำโพงข้างขวา (ศรชี้สีแดง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของเต้ารับที่ผมออกแบบไว้สำหรับเสียบใช้งานกับเพาเวอร์แอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ ที่ต้องมี 2 ชุดบนผนังด้านหลังลำโพงก็เผื่อไว้สำหรับเพาเวอร์แอมป์แบบโมโนบล็อกที่แยกมา 2 ตัวถัง จะได้เสียบเต้ารับแยกกันไปเลย

หลังจากเปลี่ยนเป็นเต้ารับของ Life Audio ลงไปแล้ว อย่างแรกที่พบก็คือความสวยหรูดูดี เต้ารับของ Life Audio ชุดนี้มันดูเท่ห์มาก มาอยู่บนผนังห้องฟังแล้วมันดูมลังเมลือง ดูมีสง่าราศรีกว่าเต้ารับพานาฯ เยอะเลย..!! ข้อดีอีกอย่างสำหรับการมีเต้ารับสองชุดอยู่ใกล้กันคือทำให้ผมสามารถฟังเทียบระหว่างเต้ารับของ Life Audio กับเต้ารับของ Panasonic (ศรชี้สีฟ้า ภาพบน) ได้ทันที

ผลทางเสียงของซิสเต็มหลังจากใช้เต้ารับ Life Audio

เต้ารับตัวนี้ไม่ต้องการเวลาเบิร์นฯ นาน หลังจากติดตั้งลงไปแทน Panasonic ตัวเดิมก็ได้ยินความแตกต่างของเสียงแล้ว แต่เพื่อความชัวร์ผมเลยเปิดใช้งานต่อเนื่องทิ้งไว้แล้วลองฟังความเปลี่ยนแปลงทุกวัน พบว่าแค่เผาทิ้งไว้ 3 วัน ก็ได้เรื่องแล้ว ช่วงทดลองฟังเสียงเพื่อประเมินผล ผมเลือกใช้ all-in-one เพราะมันใช้สายไฟแค่เส้นเดียวก็สามารถสร้างซิสเต็มขึ้นมาได้แล้ว ออลอินวันที่ผมใช้ทดสอบครั้งนี้เป็นของ Gold Note รุ่น IS-1000 Deluxe โดยให้ขับลำโพง Totem Acoustic รุ่น Element ‘Ember’ ซึ่งเป็นลำโพงที่ขับยากพอสมควร ซึ่งขณะทดลองฟังตัว IS-1000 Deluxe วางอยู่บนแท่นรอง Base of Silence ของ Solid Tech (REVIEW) ส่วนตัวลำโพงวางบนขาตั้ง Atacama รุ่น Moseco XL-600 (REVIEW) ส่วนสายไฟเอซีที่เชื่อมต่อระหว่างตัว IS-1000 Deluxe กับเต้ารับบนผนังผมใช้ของ Purist Audio Design รุ่น Neptune และสายลำโพงระหว่าง IS-1000 Deluxe กับ Element ‘Ember’ เป็นของ Kimber Kable รุ่น 12TC (REVIEW)

ความคาดหวังที่ควรจะมีให้กับอุปกรณ์เสริมประเภทเต้ารับปลั๊กไฟเอซีมีอยู่ 2 ประเด็น นั่นคือ ความอิ่มเต็มของเสียงกับ พลังอัดฉีดที่ควรจะดีขึ้น ถ้าเต้ารับที่เปลี่ยนเข้าไปมีคุณภาพดีกว่าเต้ารับเดิมที่เคยใช้อยู่ และถ้าเต้ารับที่เปลี่ยนแทนลงไปไม่ทำให้ บุคลิกเสียงของซิสเต็มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยก็ต้องนับว่าเป็นเต้ารับที่ดีเยี่ยม เป็นเต้ารับที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามอุดมคติทุกอย่าง

หลังจากทดลองใช้งานเต้ารับของ Life Audio มาสักพัก สิ่งแรกที่รับรู้ได้ถึงความแตกต่างเมื่อเทียบกับเต้ารับ Panasonic ตัวเดิมก็คือ ความยึดแน่นของตัวเต้ารับที่รู้สึกได้ทั้งตอนเสียบและตอนดึงออกที่มีความฝืดมากกว่าเดิมเยอะ แสดงว่าหน้าสัมผัสของชุดโลหะตัวนำที่อยู่ภายในเต้ารับมันสัมผัสกับแท่งตัวนำของปลั๊กตัวผู้ของสายไฟเอซีได้อย่างแนบสนิทมาก ซึ่งอันนี้ทำให้มั่นใจได้ว่ากระแสไฟฟ้าจากเต้ารับจะถูกถ่ายทอดมาที่สายไฟเอซีได้ดี ไม่มีตกหล่น

ส่วนผลทางด้านเสียงก็ได้มาครบทั้ง 2 ประเด็นที่คาดหวัง ทางด้าน ความอิ่มเต็มของเสียงนั้นชัดเจนมาก.! เมื่อลองฟังจากเพลงเดียวกัน ที่ระดับวอลลุ่มเดียวกัน ผมรู้สึกได้ว่า เต้ารับของ Life Audio มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเสียงที่ได้ออกมามันเหมือนจะดังกว่าเสียบผ่านเต้ารับของพานาฯ ตัวเดิมนิดนึง คือมันไม่ได้ดังแบบเราเพิ่มวอลลุ่มขึ้นไปตรงๆ แต่คล้ายกับว่าเสียงโดยรวมมันพองตัวออกมามากขึ้น ไม่แบนๆ แฟบๆ คือคล้ายกับลูกโป่งที่ถูกเป่าลมเข้าไปจนเต็ม ส่งผลให้ทุกเสียงมีความโดดเด่นขึ้นมา แม้จะเป็นเสียงที่เบามากๆ ก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของเสียงนั้นได้ชัดขึ้น นี่คือความรู้สึกที่ว่า อิ่มเต็มนั่นเอง

เมื่อลองฟังเพลงคลาสสิกจะรู้สึกได้ชัดมาก ซึ่งบางเพลงนั้น แต่ก่อนพอถึงช่วงเบาจะได้ยินแค่แผ่วๆ ลอยๆ แต่พอย้ายสายไฟเอซีไปเสียบที่เต้ารับของ Life Audio จะรับรู้ได้ถึงพลังงานที่แฝงมากับเสียงแผ่วๆ เหล่านั้น ทำให้รับรู้ได้ว่าเสียงแผ่วๆ นั้นเกิดจากการใช้คันชักสีลงไปบนสายของดับเบิ้ลเบส ซึ่งตอนเสียบ IS-1000 Deluxe ผ่านเต้ารับของพานาโซนิคไม่ได้มีความรู้สึกสัมผัสที่ลงลึกแบบนี้ นอกจากนั้น ผมยังรู้สึกถึงมวลบรรยากาศที่ห้อมล้อมอยู่โดยรอบของวงคลาสสิกที่กำลังฟัง ซึ่งตอนเสียบผ่านเต้ารับของพานาฯ แทบจะไม่รู้สึกถึงบรรยากาศที่ชัดขนาดนี้ แต่เต้ารับของ Life Audio แสดงให้รู้ว่ามีมวลบรรยากาศที่คละคลุ้งอยู่ตลอด สุดยอดมาก.! มันทำให้ฟังเพลงคลาสสิกแล้วได้อรรถรสมากขึ้น เพราะเสียงโดยรวมมันมีความฉ่ำมากขึ้น ความรู้สึกถึง พลังแฝงที่มากับการบรรรเลงเวลาที่ดนตรีถึงช่วงโหมมันคือหัวใจสำคัญของเพลงคลาสสิกแนวโอเวอเจ้อร์ ซึ่งรับรู้ได้ถึงความพรั่งพรูของพลังงานที่ลำโพงปั๊มออกมาอย่างต่อเนื่องไม่มีโหย หลังจากที่ได้รับพลังเสียงที่แอมป์ผลักดันมาให้

เมื่อพิจารณาทางด้านโทนเสียงซึ่งเป็นตัวแปรหนึ่งที่บ่งชี้ถึงบุคลิกของเสียงระหว่างเต้ารับ Panasonic ตัวเก่ากับ Life Audio ตัวใหม่ ผมพบว่า โทนเสียงของซิสเต็มเมื่อเสียบผ่านเต้ารับของ Life Audio มีลักษณะที่สด และสว่างกว่าเสียบผ่านเต้ารับของพานาฯ เล็กน้อย ซึ่งอาการของบุคลิกเสียงของซิสเต็มที่มีลักษณะสด กระจ่างมากขึ้นนั้นถือว่าเป็นปกติวิสัยที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อชุดเครื่องเสียงได้รับกระแสไฟเต็มที่มากกว่าเดิม คล้ายๆ อาการที่เกิดขึ้นตอนไฟมาเต็มเทียบกับตอนไฟตกนั่นแหละ ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับบุคลิกเสียงเมื่อเปลี่ยนเต้ารับของ Life Audio เข้าไปแทน Panasonic นี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ทำให้อรรถรสของเพลงด้อยลง มิหนำซ้ำ กลับช่วยทำให้ได้อรรถรสเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

สรุป

ผมพอใจกับคุณภาพเสียงและบุคลิกเสียงที่ได้จากซิสเต็มหลังจากใช้เต้ารับของ Life Audio ชุดนี้มาก มันทำให้เสียงออกมาดีขึ้นโดยมีผลเปลี่ยนแปลง บุคลิกเสียงของซิสเต็มที่ผมแม็ทชิ่งอุปกรณ์ไว้ดีแล้วไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ดีขึ้น สดขึ้น ซึ่งตรงกับรสนิยมของผมพอดี

ในซิสเต็มของผมตอนนี้ อุปกรณ์ต้นทาง (Source) ทั้งหมด ผมเสียบผ่านปลั๊กพ่วงของ Shunyata Research รุ่น Venom PS10 (รีวิวจะตามมาใน Part. III เร็วๆ นี้) ซึ่งสายไฟของตัวปลั๊กพ่วงเสียบผ่านเต้ารับบนผนังของ Panasonic ผมยังไม่ได้ลองว่าถ้าเปลี่ยนเต้ารับบนผนังด้านข้างที่เสียบตัว Venom PS10 อยู่ด้วยจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบวกหรือลบ แต่คิดว่า ถ้ามีเต้ารับ Life Audio อยู่แค่ชุดเดียว แนะนำให้ใช้กับ แอมปลิฟายเพราะภาคขยายในแอมปลิฟายจะมีอัตราบริโภคไฟฟ้าสูงกว่าอุปกรณ์ในกลุ่ม Source หลายเท่า / ***Highly Recommended !!!

**********************
ราคา : 15,800 บาท / ชุด
**********************
จัดจำหน่ายโดย :
Life Audio
โทร. 084-596-6262

Line ID: @lifeaudio
facebook: @lifeaudioshop
**********************
– Part I, แท่นรองเครื่อง Solid Tech รุ่น Base of Silence
– Part III, ปลั๊กพ่วง Shunyata Research รุ่น Venom PS10

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า