รีวิวเครื่องเสียง Furutech รุ่น FI-15M Plus(G) + FI-15 Plus(G) หัวปลั๊กตัวผู้ + ท้ายปลั๊กตัวเมีย สำหรับสายไฟเอซี

สายไฟเอซีติดอันดับหนึ่งของอุปกรณ์เสริมที่นักเล่นเครื่องเสียง และนักเล่นระบบโฮมเธียเตอร์ให้ความนิยมนำมาใช้อัพเกรดประสิทธิภาพของชุดเครื่องเสียงมากที่สุด! อาจจะเป็นเพราะว่าเครื่องเสียงทุกเครื่อง ทุกชนิด ต้องการ กระแสไฟเข้ามาหล่อเลี้ยงการทำงานของวงจรอิเล็กทรอนิคที่อยู่ด้านใน นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ สายไฟเอซีส่งผลต่อ คุณภาพเสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงอย่างชัดเจน

แต่.. สายไฟเอซีส่งผลต่อเสียงได้อย่างไร.? เป็นปริศนาที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว มีแต่คนอยากรู้คำตอบ แต่หาคนที่สามารถตอบได้ชัดๆ ไม่เจอ เหตุผลก็เพราะว่ายังไม่มีนักวิชาการสายอิเล็กทริคคนไหนที่ทำการวิจัยเรื่องนี้เอาไว้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะ noise, บ้างก็ว่าเป็นเพราะคุณสมบัติการนำไฟฟ้าของโลหะที่ใช้ทำเส้นตัวนำ ในขณะที่บางคนก็ลงลึกไปถึงฉนวนที่ใช้ทำสายไฟเอซี บลา.. บลา.. บลา.. แต่เนื่องจากผลของสายไฟเอซีที่มีต่อเสียงมันค่อนข้างชัด คนที่เล่นเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์มานานพอสมควรจะสามารถฟังความแตกต่างของเสียงระหว่างสายไฟเอซีธรรมดาที่แถมมากับอุปกรณ์เครื่องเสียงกับสายไฟเอซีที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษได้ไม่ยาก

ด้วยเหตุนี้ เหตุผลทางวิชาการจะเพราะอะไรก็ช่าง (หัว) มันเถอะ เมื่อหูของเราได้ยินความแตกต่างก็แสดงว่ามันต้องมีผล และจนถึงปัจจุบัน นักเล่นฯ เครื่องเสียงและนักเล่นโฮมเธียเตอร์ไปไกลมากแล้ว พวกเขายอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า ทุกส่วนประกอบของ สายไฟเอซีคือไม่ว่าจะเป็น เส้นตัวนำ“, “หัวปลั๊ก” (ตัวผู้) และ ท้ายปลั๊ก” (ตัวเมีย) ล้วนส่งผลต่อเสียงทั้งสิ้น

ระหว่าง หัวปลั๊ก (ตัวผู้) + ท้ายปลั๊ก (ตัวเมีย) กับ เส้นตัวนำ
อะไรส่งผลกับเสียงมากกว่ากัน.?

เป็นคำถามที่มีคนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มนักเล่นฯ ที่ชอบ tweak เครื่องเสียงต้องการคำตอบ พวกเขา (นักทวีค) ต้องการทราบเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการ fine-tune เสียงของอุปกรณ์เครื่องเสียงในลักษณะที่ ละเอียดลึกลงไปอีกระดับ เพื่อนำแนวเสียงของ “หัวปลั๊ก” (ตัวผู้) + “ท้ายปลั๊ก” (ตัวเมีย) และ เส้นตัวนำไปผสมผสานเพื่อเฉลี่ยกันออกมาให้ใกล้เคียงกับลักษณะเสียงในอุดมคติที่พวกเขาต้องการมากที่สุด

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมทำการทดสอบหัวปลั๊ก (ตัวผู้) กับท้ายปลั๊ก (ตัวเมีย) อย่างจริงๆ จังๆ เพราะในเบื้องลึกของผมเอง ผมยอมรับว่าผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าหัวปลั๊กตัวผู้และท้ายปลั๊กตัวเมียจะมีผลกับเสียงมากแค่ไหน.? ในการทดสอบครั้งแรกนี้ ผมเลือกหัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กที่มีราคารวมกันอยู่ในระดับชุดละ 5,000 – 6,000 บาท เพราะจากประสบการณ์ผมพบว่า ถ้าจะหวังผลทางด้านคุณภาพเสียง ที่ชัดเจนจากอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภท accessories ที่นำมาอัพเกรดประสิทธิภาพเสียงของซิสเต็ม ควรจะวางงบไว้ประมาณ 5,000 – 6,000 บาท เป็นอย่างต่ำ

ผมยังตอบคำถามข้างต้นไม่ได้ในตอนนี้ จะขอเริ่มต้นค้นหาคำตอบจากมินิซีรี่ย์รีวิวฉบับสายไฟเอซีตั้งแต่ตอนนี้เป็นตอนแรก โดยขอเริ่มด้วยการทดสอบเพื่อค้นหาผลของหัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กระดับไฮเอ็นด์ก่อนว่ามีผลกับคุณภาพเสียงมากแค่ไหน นั่นคือที่มาของรีวิวนี้ จากนั้นค่อยไปทดสอบผลของสายไฟเอซีในลำดับต่อไป

หัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งแรกนี้ (ต้องมีครั้งต่อไปอย่างแน่นอน.!) เป็นหัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กที่ทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายคือ Clef Audio บอกมาว่าเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมจากนัก DIY มากติดอันดับชุดหนึ่ง ขายดีมาก แม้ว่ามันทั้งคู่จะยังไม่ใช่หัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กที่ดีที่สุดและราคาสูงสุดของแบรนด์นี้ แต่พวกเขาก็ยืนยันว่า ราคาค่าตัวของมันคุ้มค่าต่อการลงทุนมาก

Furutech FI-15 Plus

หัวปลั๊ก + ท้ายปลั๊ก (power connectors) รุ่น FI-15E เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท ขั้วต่อหรือคอนเน็คเตอร์รุ่นแรกๆ ที่ Furutech ผลิตออกมา ซึ่งพวกเขาได้หยิบเอาหัวปลั๊ก+ท้ายปลั๊กรุ่นนี้ขึ้นมาดีไซน์ใหม่เมื่อตอนฉลองครบรอบ 25 ปีของแบรนด์ (เมื่อปี 2013) ออกมาเป็นรุ่น “FI-15 Plusที่ผมกำลังพูดถึงนี้

ทั้งหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กของ Furutech รุ่น FI-15 Plus Gold นี้ถูกแพ็คมาในกล่องกระดาษเล็กๆ ขนาดฟิตพอดีกับตัวปลั๊ก แยกกันมากล่องละตัว (แสดงว่าแยกซื้อได้) ตัวหัวปลั๊กใส่กล่องสีส้ม ส่วนตัวท้ายปลั๊กใส่กล่องสีเหลือง นอกจากตัวปลั๊กแล้วในนั้นไม่มีอะไรอีก ประหยัดมาก แม้แต่รายละเอียดของสินค้าก็พิมพ์มาบนตัวกล่อง ซึ่งในรายละเอียดที่ว่านั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งน่าสนใจ นั่นคือประโยคที่ว่า “Floating Field Damperซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทาง Furutech คิดค้นพัฒนาขึ้นมาใช้และได้จดสิทธิบัตรเอาไว้

FI-15 Plus ทั้งหัวและท้ายเป็นปลั๊กแบบ 3 ขาแยกกราวนด์ รองรับแรงดันของไฟ AC ได้ถึง 250V โดยยอมให้กระแสผ่านได้ 10A แต่ถ้าลดแรงดันลงมาอยู่ที่ 125V จะรองรับกระแสไหลผ่านได้มากขึ้นถึง 15A โดยที่ตัวขั้วต่อที่เป็นจุดสัมผัสเพื่อส่งผ่านกระแสไฟทั้งหมดทั้งที่อยู่บนปลั๊กตัวผู้และปลั๊กตัวเมียทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ชุบผิวนอกอยู่ 2 เวอร์ชั่นให้เลือก คือชุบทองกับชุบโรเดี้ยม ซึ่งชุดที่ผมได้รับมาทดสอบนี้เป็นเวอร์ชั่นชุบทอง (ลงท้ายรุ่นด้วยตัว “Gส่วนเวอร์ชั่นชุบโรเดี้ยมลงท้ายด้วย “R”) ราคาต่ำกว่าเวอร์ชั่นชุบโรเดี้ยมอยู่นิดหน่อย

ตัวบอดี้ของ FI-15 Plus มีดีไซน์ที่ดูสวยงามกว่ารุ่น FI-15E ทั้งหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กมีขนาดใหญ่กว่าปลั๊กไฟธรรมดาอย่างชัดเจน สีดำ ทำด้วยไนล่อนผสมกับไฟเบอร์กลาส ทั้งเหนียวและแข็งแรง

ที่ส่วนท้ายของหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กมีช่องสอดใส่สายไฟเอซี (ศรชี้) ที่สามารถรองรับขนาดของสายที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6.6 .. ขึ้นไปจนถึงใหญ่สุดที่ขนาด 15.0 .. (เทียบสายไฟขนาด 5.5 mm2 หรือเบอร์ 10AWG) ซึ่งเขามีกลไกเท่ๆ ที่ออกแบบมาใช้ปรับขนาดของช่องล็อคสายให้ฟิตพอดีกับสายไฟแต่ละขนาดด้วย

ภาพด้านบนคือชิ้นส่วนพลาสติกชิ้นเล็กๆ จำนวน 6 ชิ้น ที่ออกแบบมาใช้ล็อคสายไฟให้พอดีกับขนาดของสาย เมื่อคุณขันน็อตโลหะสองตัวที่ยึดตัวบอดี้ออก ตัวบอดี้จะเปิดออกเป็น 2 ซีก คือซีกบนและซีกล่าง ที่ช่องรัดสาย (ศรชี้) ซีกบนและซีกล่างจะมีชิ้นส่วนพลาสติกอยู่ซีกละ 3 ชิ้น (ABC) ถ้าแกะชิ้นส่วนทั้งสามชิ้นออก ช่องจะใหญ่ที่สุด เอาไว้รองรับสายไฟที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15.0 .. ถ้าเป็นสายที่มีขนาดย่อมลงมา ก็ค่อยๆ เอาชิ้น A, B, C ใส่เข้าไป ถ้าใส่ลงไปทั้งสามชิ้น ช่องรัดสายจะเล็กที่สุด รองรับสายไฟที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.6 ..

Alpha Processing” & “Floating Field Damper
เทคโนโลยีพิเศษ! สำหรับ FI-15 Plus (Gold)

ผมเพิ่งมีโอกาสสัมผัสผลิตภัณฑ์ของ Furutech ในลักษณะ เชิงลึกครั้งแรก ซึ่งเมื่อเข้ามาพิจารณาทางเทคนิคแล้วพบว่าแบรนด์ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นนามว่า Furutech เจ้านี้เขามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “Alpha Processing”, “NCF”, “Axial Locking Systemและ “Floating Field Damperซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น สำหรับหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กรุ่น FI-15 Plus (Gold) คู่นี้มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ 2 อย่างคือ “Alpha Processingกับ “Floating Field Damper

Alpha Processing” – เป็นเทคโนโลยี แช่แข็งวัสดุที่ใช้ในการผลิต กระทำในขั้นตอนการผลิตตัวนำโลหะทั้งหมด ด้วยการนำไปเข้าตู้แช่พิเศษที่หล่อเย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (N2) โดยแช่ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิประมาณ -196 ถึง 250 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างโมเลกุลในตัววัสดุเกิดการเรียงตัวใหม่ เกาะตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้นอย่างเป็นระเบียบ และยังช่วยลดอาการตึงเครียดภายในตัววัสดุลงด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้นจะช่วยทำให้ตัวนำที่ผ่านขั้นตอน Alpha Processing มีคุณสมบัติในการนำกระแสได้ดีขึ้น ถ้านำไปทำสายสัญญาณก็จะส่งผ่านสัญญาณได้ดีขึ้น นำไปทำสายไฟเอซีก็จะได้กำลังดีขึ้นเพราะส่งผ่านกระแสไฟได้ดีขึ้น ชิ้นส่วนโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าใน FI15 Plus (Gold) ผ่านกระบวนการ Alpha Processing ทั้งหมด

ส่วน “Floating Field Damper” – เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลด สัญญาณรบกวน” (noise) ที่เกิดขึ้นในสายไฟเอซีขณะที่มีการส่งผ่านกระแสไฟ ซึ่งวิศวกรของ Furutech ค้นพบว่า ขณะที่กระแสไฟไหลผ่านตัวนำในสายไฟเอซี จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นรอบๆ เส้นตัวนำนั้น ซึ่งสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ว่านี้จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าค่าน้อยๆ ขึ้นในส่วนประกอบที่เป็นโลหะที่อยู่ในหัวปลั๊กนั้น อย่างเช่น น็อตโลหะที่ใช้ยึดบอดี้ของตัวปลั๊ก ซึ่งสนามแม่เหล็กค่าน้อยๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ น็อตจะไหลย้อนกลับไปกวนสนามแม่เหล็กที่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งเกิดขึ้นรอบๆ โลหะตัวนำและเกิดขึ้นรอบเส้นตัวนำ ทำให้เกิดเป็นสัญญาณรบกวนและความผิดเพี้ยนขึ้น

สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นบนน็อตทั้งสองตัว (หมายเลข 4 ในรูปข้างบนนี้) ที่ใช้ยึดบอดี้ทั้งสองซีกของหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กจะถูกถ่ายเทไปที่ห่วงโลหะ (1, 2) ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับห่วงโลหะหมายเลข 3 ในภาพ เมื่อบอดี้ทั้งสองซีกของหัวปลั๊กถูกประกบเข้าด้วยกัน ตัวห่วงโลหะหมายเลข 3 จะถูกดันเข้าไปแตะอยู่กับ Ground ซึ่งเป็นจุดที่นำพากระแสไฟฟ้าค่าน้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำบนตัวน็อตไหลลงดินไป

เชื่อมต่อสายเพื่อการทดลองฟัง

วิธีการทดสอบหัวปลั๊ก/ท้ายปลั๊กของ Furutech คู่นี้ก็เป็นไปตามที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้น คือใช้สายไฟแถมที่ “เหมือนกัน” 2 เส้นเป็นตัวฟังเทียบ โดยที่เส้นหนึ่งเปลี่ยนหัวปลั๊ก/ท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (Gold) ของ Furutech แล้วฟังเทียบกับอีกเส้นที่ไม่ได้เปลี่ยน

ทาง Clef Audio ส่งสายไฟแถม Made in Thailand ยี่ห้อ I & O Technic ขนาดตัวนำ 2.5 Sq MM. มาให้ผมใช้ประกอบการทดสอบสองเส้น ความยาวเส้นละสองเมตร ผมจัดการเอาเส้นหนึ่งมาตัดหัวตัดหางเตรียมอัพเกรดทันที..

หลังจากตัดหัว/ท้ายปลั๊กที่ติดมากับตัวสายออกแล้ว ผมก็ทำการปลอกฉนวนหุ้มภายนอกที่เป็นสีดำออกประมาณ 2 นิ้ว เผยให้เห็นเส้นตัวนำ 3 เส้น ที่ฝังตัวอยู่ด้านใน ซึ่งผมสังเกตว่า ระหว่างฉนวนสีดำที่หุ้มเป็นเปลือกอยู่ด้านนอกกับเส้นตัวนำทั้งสามเส้นที่อยู่ด้านในไม่มีการชีลด์ป้องกันใดๆ เลย! (อ่าา.. เดาต่อได้เลยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นสายไฟเอซีที่มีชีลด์ป้องกันจะดีขึ้นขนาดไหน.?)

เส้นตัวนำด้านในทั้งสามเส้นถูกหุ้มด้วยฉนวนที่มีสีต่างกัน 3 รูปแบบ คือ สีน้ำตาล = L, สีฟ้า = N และเปลือก สีเขียวคาดแถบเหลือง = G จากนั้นก็ทำการปอกฉนวนที่หุ้มเส้นตัวนำทั้งสามเส้นออกประมาณ 1.5 ซ.ม.

ที่ใกล้ๆ กับรูเสียบสายไฟบนตัวปลั๊กทั้ง 3 รูจะมีตัวอักษรพิมพ์นูนกำกับไว้คือ L = Line, N = Neutral และ E = Earth ให้เสียบเส้นตัวนำที่มีเปลือกสีน้ำตาลเข้าไปที่ช่อง L, เสียบเส้นตัวนำที่มีเปลือกสีฟ้าเข้าไปที่ช่อง N และเสียบเส้นตัวนำที่มีเปลือกสีเขียวคาดเหลืองเข้าไปที่ช่อง E จากนั้นก็ขันน็อตยึดตัวนำทั้งสามเส้นให้ตรึงแน่นอยู่ในช่องนั้นๆ

น่าสังเกตว่า น็อตที่ใช้ยึดเส้นตัวนำตรงช่อง L จะถูกชุบทอง ในขณะที่น็อตตัวที่ใช้ยึดเส้นตัวนำตรงช่อง N เป็นสีเงินๆ ซึ่งเป็นจุดสังเกต (ถ้าเปลี่ยนน็อตตรง N ให้เป็นแบบชุบทองด้วย จะทำให้เสียงดีขึ้นมั้ย.? ฝากเพื่อนที่สนใจไปทดลองต่อนะ)

ผลการทดลองใช้งาน

หัวปลั๊กและท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (Gold) มีข้อดีหลายอย่างเมื่อเทียบกับหัวปลั๊กและท้ายปลั๊กเดิมที่ติดมากับตัวสายแถม อย่างแรกคือขนาดบอดี้ที่ใหญ่โตของมันซึ่งทำให้การหยิบจับและเสียบใช้งานทำได้สะดวกเหมาะมือ ส่วนข้อดีอีกข้อคือความแน่นกระชับของการเชื่อมต่อ เมื่อเสียบขั้วต่อของหัวปลั๊ก FI-15 Plus (Gold) ลงไปในเต้ารับบนผนังห้อง ผมพบว่ามันตรึงแน่นกว่าหัวปลั๊กแถมนิดนึง ซึ่งตัวหัวปลั๊กของสายแถมก็ถือว่าติดแน่นมากแล้ว แต่หัวปลั๊กของ FI-15 Plus (Gold) ตรึงแน่นกว่า ส่วนท้ายปลั๊กของ FI-15 Plus (Gold) ก็ให้การยึดตรึงกับเต้ารับบนแผงหลังของตัว CXA61 มากกว่าท้ายปลั๊กของสายแถมมาก อันนี้ชัดเจนว่าแน่นหนากว่ามาก และขนาดของท้ายปลั๊กที่ค่อนข้างใหญ่ยังช่วยทำให้หน้าสัมผัสของตัวนำในท้ายปลั๊กกับหน้าสัมผัสของขั้วต่อที่เต้ารับของ CXA61 ตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่ไม่คลอนง่ายๆ เพราะตัวบอดี้มันจะค้ำอยู่ที่ขอบของเต้ารับพอดีๆ ช่วยพยุงท้ายปลั๊กไม่ให้หลุดคลอนออกมาง่ายๆ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อหน้าสัมผัสมีความแนบแน่น การส่งผ่านกระแสไฟก็ย่อมสะดวกโยธินมากขึ้น

ถึงเวลาทดลองฟัง

เพื่อให้การทดลองฟังเสียงของหัวปลั๊ก/ท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (Gold) ของ Furutech ครั้งนี้มีความแม่นยำมากที่สุด ผมจึงเลือกใช้อินติเกรตแอมป์ของ Cambridge Audio รุ่น CXA61 (REVIEW) เป็นตัวกลาง เพื่อลดปริมาณการใช้สายไฟเอซีให้น้อยที่สุด ส่วน source ที่ใช้ป้อนสัญญาณต้นทางให้กับ CXA61 ผมเลือกใช้เครื่องเล่นไฟล์เพลงรุ่น nucleus+ ของ roonlabs (REVIEW) โดยส่งสัญญาณดิจิตัลจาก nucleus+ ไปเข้าที่อินพุต USB ของ CXA61

ผมใช้ลำโพงเล็ก 2 คู่คือ Wharfedale รุ่น Diamond 12.1 กับ Totem Acoustic รุ่น Skylight (วางบนขาตั้ง Atacama รุ่น Moseco 6 สูง 24 นิ้ว)(REVIEW) สลับกันจับกับ CXA61 โดยใช้สายลำโพง Furutech รุ่น FS-301 จำนวน 4 เส้น เชื่อมต่อกับเอ๊าต์พุต Speaker A และ Speaker B ของ CXA61 พร้อมกัน

ในการฟังเปรียบเทียบระหว่างสายไฟเอซีแถมที่ติดหัว/ท้ายมาจากโรงงานกับสายไฟเส้นที่ผมเปลี่ยนหัว/ท้าย FI-15 Plus (Gold) ผมใช้วิธีสลับเปลี่ยนสายไฟทั้งสองเส้นนั้นเข้าที่ตัว CXA61 อย่างเดียว ตัวแปรอื่นๆ คงที่ทั้งหมด เพลงที่ใช้ฟังเทียบก็เป็นไฟล์เดียวกัน แทรคเดียวกัน และก่อนที่จะเริ่มทดลองฟังสรุปผล ผมได้เสียบสายไฟทั้งสองเบิร์นฯ ทิ้งไว้จนครบ 5 วัน (ประมาณ 100 ชั่วโมงนิดๆ) จนมั่นใจว่าสายไฟทั้งสองเส้นผ่านเบิร์นฯ แล้วจริงๆ

อัลบั้ม : Now The Green Blade Riseth (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : The Stockholm Cathedral Choir
ค่าย : FIM (Proprius K2 HD Mastering CD)

ทำไมผมจึงเลือกทดสอบกับแอมปลิฟาย.? เพราะกระแสไฟมีความสำคัญมากกับวงจรขยายสัญญาณทุกรูปแบบ ในขณะที่วงจรขยายของภาคเพาเวอร์แอมป์เป็นการขยายสัญญาณที่มีอัตราขยายสูงกว่าการขยายในภาคอื่นๆ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการส่งผ่านกระแสไฟให้กับเพาเวอร์แอมป์จึงส่งผลกับเสียงมากกว่าในส่วนอื่น

หลังจากทดลองฟังไฟล์เพลงหลากหลายแนวเพลงและหลากหลายฟอร์แม็ตไปจำนวนหนึ่ง ผมก็พบจุดสังเกตที่หัวปลั๊ก/ท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (GOLD) ส่งผลกับเสียง ระหว่างที่ทดลองฟังอัลบั้มนี้ ผมพบว่า สายไฟแถมที่ถูกเปลี่ยนหัวปลั๊กเป็น FI-15 Plus (GOLD) ให้บรรยากาศของโถงโบสถ์ในอัลบั้มนี้ออกมาชัดกว่า ผมรับรู้ได้ว่ามวลบรรยากาศที่คลุมบริเวณพื้นอากาศรอบๆ ตำแหน่งลำโพงซึ่งแผ่ออกมาจากลำโพงทั้งสองข้างขยายห่างจากตำแหน่งลำโพงออกไปได้ไกลกว่าตอนเปลี่ยนไปใช้สายไฟแถมที่ไม่ได้เปลี่ยนหัว/ท้ายปลั๊ก นอกจากนั้น ผมยังพบว่า สายไฟเอซีที่เปลี่ยนหัว/ท้ายเป็น FI-15 Plus (GOLD) ให้แยกแยะกลุ่มของนักร้องประสานออกมาได้ชัดเจนกว่าสายไฟแถมที่ไม่ได้เปลี่ยนหัว/ท้าย ซึ่งตรงส่วนนี้ไม่ได้ต่างกันมาก แต่เมื่อฟังซ้ำอีกสอง-สามรอบจึงรู้สึกว่ามันต่างกันพอสมควร คิดเป็นเปอร์เซ็นต์น่าจะไม่ต่ำกว่า 10-15%

อัลบั้ม : In The Digital Mood (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : The Glenn Miller Orchestra
ค่าย : GRP Records (20-bit Mastering CD)

ผมมักจะใช้ช่วงเวลาที่ฟังเพื่อสรุปผลการทดสอบในการค้นอัลบั้มเก่าๆ ที่เคยชื่นชอบในอดีตออกมาฟังไปด้วย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมเลือกงานเพลงของค่าย GRP ที่ผมริปออกมาเป็นไฟล์ WAV จากแผ่นซีดีที่ผมสะสมไว้ (ผมจะแยกเก็บไฟล์เพลงไว้ตามสังกัดด้วย) ออกมาฟัง พอฟังมาถึงอัลบั้มนี้ผมก็รู้สึกสะดุดหูกับเสียงที่เปิดกระจ่างและสดกว่าสมัยที่เคยฟังจากเครื่องเล่นซีดีอย่างชัดเจน

หลังจากทดลองฟังอัลบั้มนี้กับสายไฟเอซีทั้งสองเส้นนี้แล้ว ผมพบว่า สายไฟเอซีเส้นที่เปลี่ยนหัว/ท้าย FI-15 Plus (GOLD) ให้เสียงออกมา “เต็ม” กว่าสายไฟเอซีเส้นที่ไม่ได้เปลี่ยนหัว/ท้าย ความแตกต่างจากการฟังอัลบั้มนี้ที่ปรากฏชัดเจนมากที่สุดคือเสียงเครื่องเป่าที่สายไฟเอซีที่เปลี่ยนหัว/ท้าย FI-15 Plus (GOLD) มีลักษณะที่ “สูบฉีด” ไดนามิกได้สุดสเกลกว่า ปลายเสียงของเครื่องเป่าถูกรีดออกไปจนสุดเสียง รู้สึกว่าคนเป่าใช้พลังในการเป่ามากกว่า ในขณะเดียวกันเสียงกลองก็รู้สึกได้ว่าคนตีใช้พลังในการหวดไม้กลองมากกว่า ทำให้หัวเสียงอิมแพ็คของไม้กลองตอนกระทบหนังกลองมีความคมชัดมากกว่า เสียงเบสที่เดินย้ำจังหวะตีคู่ไปกับเสียงกลองก็มีน้ำหนักเน้นย้ำมากกว่าเล็กน้อย

อัลบั้ม : Greatest (AIFF 16/44.1)
ศิลปิน : Jheena Lodwick
ค่าย : The Musiclab

เพลง “It’s Now or neverแทรคที่ 5 ในอัลบั้มนี้มีเสียงเบสใหญ่ๆ นุ่มๆ กับเสียงร้องช้าๆ ที่น่าฟัง ซึ่งสายไฟเอซีที่เปลี่ยนหัว/ท้าย FI-15 Plus (GOLD) ให้เสียงเบสที่แผ่เต็มกว่า และให้เสียงร้องที่ต่อเนื่องกว่า แม้ว่าแต่ละเสียงในเพลงนี้จะไม่ได้ออกแนวเน้นพลัง เล่นกันด้วยความแผ่ว แต่สายไฟเอซีที่เปลี่ยนหัว/ท้าย FI-15 Plus (GOLD) ได้เพิ่มน้ำหนักการย้ำเน้นของแต่ละเสียงเพิ่มขึ้น และที่ดีจริงๆ คือ หัว/ท้ายปลั๊กของ Furutech คู่นี้ไม่เข้าไปทำให้เลเยอร์ของเวทีเสียงเสียหายไปเหมือนกับสายไฟเอซีบางเส้นที่ผมเคยได้ยิน คือแม้ว่ามันจะเข้าไปช่วยเน้นเสียงทุ้มในแทรคนี้ห้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มีความเข้มมากขึ้น แต่เสียงทุ้มนั้นก็ยังคงถอยลึกเข้าไปอยู่แถวหลังๆ ของเวทีเสียง ไม่ถูกดันให้พุ่งล้ำออกมาข้างหน้า เสียงร้องของจีน่ายังคงยืนอยู่แถวหน้าอย่างเฉิดฉายเหมือนเดิม นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หัว/ท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (GOLD) ของ Furutech คู่นี้ไม่ทำให้ซาวนด์สเตจเพี้ยนไปจากต้นฉบับ.!

สรุป

ตอนแรกที่เริ่มต้นฟังเทียบ ผมพบว่า หัว/ท้ายปลั๊ก FI-15 Plus (GOLD) สร้างความแตกต่างให้กับเสียงไม่มากนัก กับบางอัลบั้มคุณอาจจะจับความแตกต่างได้ยาก แต่เมื่อฟังจับจุดได้แล้ว ผมกะประมาณได้คร่าวๆ ว่าหัว/ท้ายปลั๊กของ Furutech คู่นี้ช่วยอัพฯ ประสิทธิภาพเสียงให้กับสายแถมได้ประมาณ 10-15%

คุ้มมั้ยกับการลงทุน.? รู้มั้ยว่าผมกลัวอะไรมากที่สุดจากการอัพเกรดสายไฟเอซี.?? สายไฟเอซีที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับวงการเครื่องเสียงทั้งหมด มีคุณสมบัติเหมือนกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ เพิ่มพลังอัดฉีดให้กับเสียง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่อยากได้ แต่มีสายไฟเอซีอยู่ไม่น้อยที่จัดการกับ Tonal Balance ได้ไม่ดี กลายเป็นผลข้างเคียงในแง่ลบ คือมันเข้าไปอัดฉีดพลังให้กับความถี่เสียงที่ ไม่เสมอกันไปทั้งย่าน คือเข้าไป boost ความถี่บางย่านขึ้นมามากกว่าย่านอื่นๆ ผลคือทำให้โทนเสียงของซิสเต็มบิดเบือนไป และที่ผมกลัวสุดๆ ก็คือเข้าไปทำให้ phase ของความถี่บางย่านผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ซึ่งอันนี้ส่งผลโดยตรงกับมิติ-ซาวนด์สเตจ ถือว่าเป็น ผลข้างเคียงที่เลวร้ายสุดๆ ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง.!!!

สำหรับผมถือว่าคุ้มกับสิ่งที่หัว/ท้าย FI-15 Plus (GOLD) ให้ออกมา มันช่วยเพิ่มน้ำหนักเสียงให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ช่วยเปิดเผยรายละเอียดของเสียงที่ระดับ Low Level ออกมาให้ได้ยิน และที่ชอบมากๆ คือมันไม่ได้ทำให้ โทนัลบาลานซ์และ เวทีเสียงของเพลงผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับนี่แหละ.!! /

********************
ราคา :
FI-15M Plus (GOLD)(หัวปลั๊ก) = 2,700 บาท / ชิ้น
FI-15 Plus (GOLD)(ท้ายปลั๊ก) = 2,700 บาท / ชิ้น
********************
นำเข้าโดย
Clef Audio โทร. 02-932-5981-2
clef-audio.com
Line ID: clefaudio
********************
หาซื้อได้ที่ :
LennShop. โทร. 086-770-0680
HD HiFi โทร. 064-989-1936
สวีตพิก. โทร. 092-914-2365
HiFi Center.โทร. 081-853-4088
Speakerbox โทร. 095-596-2888
เชษฐาไฮไฟ โทร. 062-494-9914
HiFi 99. โทร. 081-999-1699
WeHifi ภูเก็ต โทร. 081-271-2073
Taan โทร. 081-801-4224
Rak Hifi & Theater โทร. 085-568-8888

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า