ลำโพงอนุกรม “Silver Series” เป็นซีรี่ย์กลาง–สูงที่ได้รับความนิยมสูง จัดอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากอันดับสองคือ “Gold” และสูงสุดคือ “Platinum II” ซึ่งในปัจจุบัน Silver Series ได้ผ่านการปรับปรุงมาถึง เจนเนอเรชั่นที่ 6 เข้าไปแล้ว
ลำโพงของ Monitor Audio ทุกซีรี่ย์จะประกอบด้วยลำโพงตั้งพื้นและวางหิ้งผสมกันอย่าง 2-3 รุ่น พร้อมลำโพงเซ็นเตอร์และซับวูฟเฟอร์เพื่อให้ผู้ใช้เลือกจัดชุดสำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ของโฮมเธียเตอร์ได้ด้วย รุ่นที่ผมได้รับมาทำการทดสอบครั้งนี้เป็นลำโพงสองทางวางขาตั้งขนาดใหญ่ รุ่น Silver 100
รูปร่างหน้าตา
ตัวตู้ของ Silver 100 ที่ผมได้รับมาทดสอบทำเป็นสี rosenut สีน้ำตาลอมแดง “ทั้งตัว” คือทุกด้านเหมือนกันหมด มลังเมลือง สวยงามมาก ผิวเงาวับไปทั้งตัว
รุ่น Silver 100 ได้รับความนิยมสูงมากมาตั้งแต่เจนเนอเรชั่นแรกๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะในกลุ่มของนักเล่นเครื่องเสียงที่เอาไปใช้ฟังเพลงด้วยระบบเสียง Stereo 2 Ch เพราะ Silver 100 มีตัวตู้ที่ค่อนข้างใหญ่และใช้วูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่ถึง 8 นิ้ว ทำให้ได้เสียงที่ครอบคลุมความถี่ได้กว้างและให้ปริมาณของเสียงทุ้มที่มากพอสำหรับห้องฟังขนาดกลางไปจนถึงห้องขนาดใหญ่
จุดเด่นของ Silver 100 ก็ยังคงยืนหยัดอยู่บนแนวคิดหลักของ Monitor Audio นั่นคือ ใช้ไดเวอร์ที่มีไดอะแฟรมที่ทำมาจาก “วัสดุประเภทเดียวกัน” ทั้งทวีตเตอร์และมิดเร้นจ์/เบส เพื่อให้ความถี่ตลอดทั้งย่านที่สร้างออกมาจากไดเวอร์ทุกตัวมีบุคลิกที่ “เหมือนกัน” ทำให้ได้เสียงที่มีความกลมกลืนกันมากที่สุดในทุกๆ คุณสมบัติ โดยเฉพาะในส่วนของ Timbre ที่ประกอบด้วย Fundamental (เสียงหัวโน๊ตหลัก) กับ Harmonic (หางเสียงความกังวาน) ที่แสดงตัวตนของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดออกมา
แผงหลังกับเทคนิคพิเศษที่ซ่อนเร้น!
ด้านหลังนอกจากท่อระบายอากาศขนาดใหญ่ตรงกลางแผลงหลังแล้ว ด้านล่างถัดลงมาเป็นจุดติดตั้งขั้วต่อสายลำโพง ซึ่งในรุ่นนี้แยกขั้วต่อเป็น 2 ชุด เพื่อให้ผู้ใช้เลือกทำการเชื่อมต่อสายลำโพงทั้งแบบ Bi-Wired หรือ Bi-Amp ได้อย่างสะดวก ส่วนคนที่ใช้สายลำโพงแบบซิงเกิ้ลก็ไม่ต้องห่วงเพราะเขามีแท่งโลหะตัวนำเพื่อใช้เชื่อมโยงขั้วต่อทั้งสองชุดเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันมาให้ด้วย
ไม่นึกว่าจะพบเห็นในลำโพงระดับนี้.!!
ถ้าสังเกตที่แผงหลังของ Silver 100 คุณจะเห็นน็อตหกเหลี่ยมขนาดเขื่องๆ 2 ตัวยึดติดอยู่บนแผงหลังตรงตำแหน่งใต้และเหนือท่อระบายอากาศตำแหน่งละหนึ่งตัว ซึ่งน็อตหกเหลี่ยมที่เห็นนี้มีหน้าที่ยึดตัวไดเวอร์เข้ากับแผงหน้า (baffle) ด้วยสลักเกลียวที่ขันยึดได้จากหัวน็อตที่ว่านี้ ซึ่งอยู่บนแผงหลังของตู้ลำโพงด้วยประแจหกเหลี่ยม ซึ่งตัวแกนที่เชื่อมต่ออยู่กับหัวน็อตหกเหลี่ยมที่คุณเห็นบนผนังหลังของลำโพงนั้นจะถูกยึดเข้ากับตัวโครง (basket) ของไดเวอร์ เมื่อคุณใช้ประแจขันหัวน็อตหกเหลี่ยมให้ตึงแน่น ก็เท่ากับเป็นการตรึงโครงของตัวไดเวอร์ให้แนบสนิทอยู่กับแผงหน้ามากที่สุด ซึ่งจะมีผลดีคือทำให้การสั่นบนโครงของตัวไดเวอร์ อันเนื่องมาจากการขยับตัวของไดอะแฟรมถูกสลายไป ไม่ส่งต่อไปที่แผงหน้าของตัวตู้ ถือว่าเป็นการ “ตัดตอน” เพื่อลดเรโซแนนซ์ของตัวไดเวอร์ลงไปอย่างได้ผล ซึ่งส่งผลชัดเจนไปที่คุณภาพเสียงในทุกแง่ คือนอกจากจะทำให้โฟกัสของเสียงคมขึ้น ตัวเสียงจะมีตำแหน่งที่ชัดเจนและนิ่งสนิทมากขึ้น ทำให้อาการเบลอหายไปแล้ว เทคนิคนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงมิติ–ซาวนด์สเตจของเสียงที่แผ่กว้าง และมีผลไปถึงไดนามิกกับรายละเอียดในระดับ Low Level ที่ดีขึ้นอย่างมากอีกด้วย
ใครเป็นเจ้าของหรือใช้งานลำโพงรุ่นนี้อยู่ ทางผู้ผลิตแนะนำให้ตรวจเช็คน็อตสองตัวที่แผงหลังด้วย ถ้ามีอาการหลวม ให้ใช้ประแจหกเหลี่ยมที่แถมมาในกล่องจัดการขันยึดให้แน่น กะเอาแค่แน่นตึงมือก็พอ ไม่ต้องขันแน่นมาก เสร็จแล้วให้ลองกลับมาฟังดูจะพบว่าโฟกัสของเสียงมีตำแหน่งที่ชัดเจนมากขึ้น เบสจะกระชับ เป็นตัว และมีไดนามิกมากขึ้น เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก เท่าที่เคยเห็นเทคนิคนี้มีใช้อยู่ในลำโพงรุ่นสูงๆ ของยี่ห้อ B&W ซึ่งผมไม่อยากจะเชื่อว่าเทคนิคนี้จะถูกนำมาใช้ในลำโพงระดับนี้ด้วย (นับว่าเป็นครั้งแรกที่เห็นในลำโพงที่มีราคาไม่ถึง 50K )
ไดเวอร์ C-CAM RST
ความพิเศษที่ล้ำหน้าเกินราคา!
บอกตามตรงว่า แต่ละรายละเอียดของลำโพงคู่นี้เมื่อค้นข้อมูลลงไป มันทำให้ผมรู้สึกทึ่งว่าพวกเขาเอามาใส่อยู่ในลำโพงที่มีราคาแบบนี้ได้ยังไง.? ยกตัวอย่างไดเวอร์ตัวมิดเร้นจ์/เบสขนาด 8 นิ้วตัวนั้นที่มีความพิเศษตรงไดอะแฟรม ซึ่งเนื้อกรวยไดอะแฟรมทำมาจากวัสดุผสมระหว่าง อะลูมิเนียม กับ แม็กนีเซียม แล้วพ่นเคลือบด้วยเซรามิกเพิ่มความแกร่ง ซึ่งในตอนแรกนั้น C-CAM ที่ว่านี้เป็นวัสดุที่ผู้คิดค้นขึ้นมาตั้งใจที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ คือเอาไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องยนต์เจ็ท ซึ่งต้องการวัสดุที่มีคุณสมบัติแกร่งและเบา เลยมาลงตัวกับไดอะแฟรมของลำโพงซึ่งก็ต้องการวัสดุที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันนั่นคือ “แกร่ง–และ–เบา“
หลังจากพัฒนาไดอะแฟรม C-CAM ขึ้นมาได้แล้ว ทางวิศวกรของ Monitor Audio ก็ยังคงคิดค้นต่อเนื่องในการพัฒนาประสิทธิภาพของไดอะแฟรม C-CAM จนมาได้แรงบันดาลใจจาก Origami คือการทำให้กระดาษบางๆ มีความแกร่งเพิ่มขึ้นด้วยการพับลวดลายลงไปบนผิวของกระดาษ ซึ่งเป็นศิลปะของญี่ปุ่น ทางวิศวกรจึงได้ออกแบบผิวหน้าของวัสดุ C-CAM ให้มีลวดลายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์โมเดลลิ่งเข้ามาช่วย ได้ผลออกมาเป็นลวดลายที่มีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ กระจายไปบนผิวหน้าของไดอะแฟรมเป็นแพลทเทิ้นเดียวกัน ไล่จากขอบนอกที่มีขนาดหลุมใหญ่แล้วค่อยๆ ไล่ลงไปตรงใจกลางของกรวยด้วยขนาดของหลุมที่ค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ สอดคล้องกับขนาดเส้นรอบวงที่เล็กลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน
วิศวกรของ Monitor Audio ตั้งชื่อเทคนิคพิเศษนี้ว่า RST = Rigid Surface Technology ซึ่งมีผลทำให้แผ่นกรวยไดอะแฟรมที่มีลวดลายที่ว่านี้มีความแกร่งมากกว่าแผ่นกรวยที่เรียบ ช่วยลด standing wave ที่เกิดขึ้นบนแผ่นไดอะแฟรมลงไปได้มาก และด้วยลักษณะของกรวย C-CAM/RST ที่มีความแกร่งมากขึ้น จึงทำให้ทางผู้ผลิตคือ Monitor Audio สามารถลดความหนาของแผ่นไดอะแฟรมลงไปได้อีก เมื่อไดอะแฟรมบางลง ก็สามารถตอบสนองกับสัญญาณได้ไวขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือรายละเอียดของเสียงและสปีดของไดนามิกที่ดีขึ้น
ทวีตเตอร์สีทอง เอกลักษณ์ของ Monitor Audio
ทวีตเตอร์ของ Silver 100 มีสีทองสะดุดตา เนื้อวัสดุที่ใช้ทำเป็นโดมโค้งครึ่งวงกลมทำมาจากวัสดุผสมระหว่าง อะลูมิเนียม กับ แม็กนีเซียม และพ่นทับลงบนผิวด้วยผง เซรามิก เพื่อเพิ่มความแกร่ง ก่อนจะชุบเป็นสีทองเพื่อให้เนื้อวัสดุมีความหยุ่นตัวมากขึ้น ที่ดึงดูดสายตาอีกอย่างคือตะแกรงที่ใช้ปิดอยู่บนทวีตเตอร์ ความเท่ห์อยู่ที่รูพรุนที่เจาะไว้แบบมีดีไซน์ ช่วยความเก๋ไก๋ได้ดีทีเดียว
นอกจากนั้น อุปกรณ์ภายในส่วนอื่นๆ อย่างเช่น ชิ้นส่วนคอมโพเน้นต์ที่ใช้ประกอบอยู่ในวงจรเน็ทเวิร์คก็เลือกใช้แต่ของดีๆ ทั้งนั้น อาทิเช่น คาปาซิเตอร์แบบฟิล์มโพลีโพรไพลีน, ตัวนำในสายสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่อภายในวงจรก็เป็นทองแดง OFC ชุบเงิน เพื่อให้นำสัญญาณได้ดียิ่งขึ้น ฯลฯ
เตรียมแม็ทชิ่งเพื่อทำการทดสอบ
ดูจากสเปคฯ ของ Silver 100 แล้วบอกเลยว่าไม่หนักใจ เพราะแม้ว่าตัวเลขความไว (Sensitivity) ของลำโพงคู่นี้จะถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง คือ 88dB/W@1M ไม่ได้ต่ำและก็ไม่ได้สูง แต่เมื่อไปดูที่ตัวเลข “กำลังขับที่แนะนำ” (Recommended Amplifiers Requirements) ซึ่งผู้ผลิตแนะนำเอาไว้อยู่ระหว่าง 40 – 120W (ต่ำสุด>สูงสุด) โดยมีความสามารถรองรับกำลังขับสูงสุดแบบต่อเนื่องอยู่ที่ 120W ก็เบาใจไปได้มาก เพราะเอามาเข้าสูตร “75% x Maimum” ของผมแล้ว จะได้ตัวเลขออกมาเท่ากับ 120 x 75 หารด้วย 100 = 90W เท่านั้นสำหรับกำลังขับอย่างต่ำที่ทำให้ลำโพงคู่นี้ทำงานออกมาได้ดีน่าพอใจ ซึ่งกำลังขับระหว่าง 90 – 120W ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม ถือว่าหาได้ไม่ยากในปัจจุบัน และราคาก็ไม่ได้สูงมากด้วย อีกทั้งตัวเลข Minimum Impedance หรือการสวิงลงของอิมพีแดนซ์จากปกติ 8 โอห์มลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 4.5 โอห์ม ลงมาไม่ถึงครึ่งของอิมพีแดนซ์ปกติ ก็หมายความว่า ช่วงโหมรุนแรงของลำโพงคู่นี้ก็ไม่ได้ต้องการกำลังขับที่เบิ้ลเป็น 2 เท่าเต็มๆ สรุปแล้ว ใช้แอมป์ที่มีกำลังขับระหว่าง 80-90W ที่ 8 โอห์ม ก็หวังผลทางเสียงที่ดีได้แล้วสำหรับลำโพงคู่นี้ แต่ถ้าอยากจะได้ออกมาเต็มที่สุดๆ ก็สามารถอัดเข้าไปได้ถึง 120W แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ระหว่างตัวเลขกำลังขับของแอมป์ กับราคาของแอมป์ แนะนำว่าให้ความสำคัญกับ “ราคา” มาก่อนตัวเลข อย่างเช่น แอมป์ 90W ต่อข้าง ที่ราคาตัวละ 100,000 บาท มักจะให้สมรรถนะออกมาสูงกว่าแอมป์ที่มีกำลังขับ 120W ต่อข้างที่มีราคาแค่ 20,000 – 30,000 บาทมาก!
ลองฟังเสียงยกแรก ผมจัดอินติเกรตแอมป์ของ Cambridge Audio รุ่น CXA81 (80W/ch @8โอห์ม)(REVIEW) กับ Roksan รุ่น K3 (120W/ch @8โอห์ม)(REVIEW) ไว้ทดลองฟังกับ Monitor Audio Silver 100 คู่นี้ ก่อนจะตบท้ายด้วยชุดใหญ่ ปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 (100W/ch @8โอห์ม, 200W/ch @4โอห์ม) ส่วน Source ตอนขับด้วยอินติเกรตแอมป์ทั้งสองตัวนั้นผมใช้สตรีมเมอร์ Cambridge Audio รุ่น CXN v2 สลับกับ R-2R DAC ของ Audio-gd รุ่น R-8 โดยใช้ roon nucleus+ เป็นทรานสปอร์ตในการเล่นไฟล์เพลงผ่านเข้าที่ R-8 ทางอินพุต USB
ส่วนตอนขับด้วยปรี+เพาเวอร์ฯ K-5 + V-3 ผมใช้ออดิโอ อินเตอร์เฟซของ Merging Technologies รุ่น MERGING+ANUBIS version ‘PREMIUM’ เป็น Network DAC รองรับสัญญาณทางสาย LAN จากคอมพิวเตอร์ MacBook Air ที่ใช้โปรแกรม roon เป็นตัวเล่นไฟล์เพลง
สายลำโพงนั้นหลังจากทดลองแม็ทชิ่ง ผมพบอยู่ 2 เงื่อนไข คือตอนขับด้วย CXA81 ผมใช้สายลำโพงรุ่น FS-301 ของ Furutech แบบซิงเกิ้ลจำนวน 2 ชุดต่อกับขั้วต่อสายลำโพงของ Silver 100 แบบ Bi-Amp โดยเลือกใช้ทั้ง Speaker-A และ Speake-B ของ CXA81 พร้อมกัน ส่วนตอนขับด้วยอินติเกรตแอมป์ K3 ของ Roksan กับตอนขับด้วยชุดปรี+เพาเวอร์ฯ ของ Ayre Acoustic ผมใช้สายลำโพงของ Life Audio แบบซิงเกิ้ลไวร์ รุ่น LD-3 MK II
เซ็ตอัพ
Silver 100 เป็นลำโพงที่ “เชื่องมาก!” ผมจับมันวางบนขาตั้งของ Atacama รุ่น Moseco XL600 (REVIEW) ที่มีความสูง 24 นิ้ว (ไม่ได้กรอก Atabites) โดยใช้ดินน้ำมัน Yahoo ปั้นเป็นก้อนกลมๆเล็กๆ วางไว้ใต้ฐานลำโพงทั้งสี่มุมเพื่อให้ยึดตรึงกับแผ่นแพลทของขาตั้ง แล้วจับลำโพงทั้งสองข้างลงไปในตำแหน่งห่างซ้าย–ขวาเท่ากับ 180 ซ.ม. แล้วทดลองขยับลำโพงทั้งสองข้างห่างจากผนังด้านหลังไป–มาโดยเริ่มที่ระยะห่างหลัง 160 ซ.ม. ปรากฏว่า หลังจากเปิดทิ้งเบิร์นฯ ไปได้เกิน 100 ชั่วโมง ก่อนจะฟังจริงจัง ผมลองขยับเดินหน้า–ถอยหลังอยู่แค่ประเดี๋ยวเดียวก็มาได้ระยะลงตัวอยู่ที่ 158 ซ.ม. เร็วมาก.!
เหตุผลที่เซ็ตอัพได้เร็ว อาจจะเป็นเพราะว่า Silver 100 คู่นี้ให้เสียงที่สะอาดและให้ตัวเสียงที่ลอยเด่นออกมาจากฉากหลังตั้งแต่แรก ทำให้ฟังง่ายและเซ็ตอัพตำแหน่งได้ง่าย อีกทั้งเสียงทุ้มของ Silver 100 ก็มีลักษณะที่กระชับ เก็บตัวดี จึงไม่มีเสียงทุ้มที่ล้นเกินออกมารบกวน ยิ่งทำให้ “มองเห็น” ทุกอย่างได้ชัด จึงเซ็ตอัพง่าย
เสียงของ Silver 100
อย่างที่เกริ่นมาในหัวข้อข้างต้น หลังจากทดลองฟัง Silver 100 กับแอมป์ฯ สอง–สามชุดที่เตรียมไว้และลองฟังจากอัลบั้มเพลงจำนวนมากผ่านไปเกือบเดือนเต็มๆ ผมก็พอสรุปแนวเสียงที่เป็นบุคลิกเฉพาะตัวของลำโพง Monitor Audio รุ่น Silver 100 คู่นี้ ออกมาได้อย่างชัดเจนและเป็นช่วงเวลาของการทดสอบที่เต็มไปด้วยความสุขในการฟังเพลงอย่างมากครั้งหนึ่ง
ถ้าคุณเคยฟังลำโพงแพงๆ ระดับไฮเอ็นด์ฯ มามากพอ คุณจะจับลักษณะเฉพาะบางอย่างของลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ ได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ลำโพงระดับไฮเอ็นด์ฯ “ทุกคู่” มักจะมีอยู่ในตัว นั่นคือ “ความสะอาด” ของเสียงตลอดทั้งย่าน มีความสะอาดเนียนของมวลเนื้อ ไม่มีอาการหยาบกร้านของเม็ดเกรนอยู่ในเนื้อเสียง และอีกอย่างที่ลำโพงไฮเอ็นด์ฯ มักจะมีอยู่เหมือนๆ กัน นั่นคือ ลักษณะของเสียงที่ “ลอยตัว” หลุดออกมาจากพื้นแบ็คกราวนด์ได้อย่างอิสระ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการกับ “เรโซแนนซ์” ที่เกิดขึ้นบนไดอะแฟรมของไดเวอร์กับเรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นบนตัวตู้ออกไปได้อย่างหมดจดนั่นเอง
เสียงของ Silver 100 เปิดตัวออกมาในลักษณะข้างต้นตั้งแต่ “วินาทีแรกๆ” ที่ผมหมุนปุ่มวอลลุ่มของแอมป์ขึ้นไป และที่น่าพอใจมากสำหรับผมก็คือ “ความไว” ของลำโพงคู่นี้ ซึ่งใช้แค่ CXA81 ที่มีราคาใกล้เคียงกับ Silver 100 ก็ให้เสียงออกมาในระดับที่น่าพอใจแล้ว แต่สุดท้ายแล้ว Silver 100 ก็หนีกฏเกณฑ์ความเป็นจริงไปไม่พ้น คือมันจะให้เสียงที่ดีกว่าเดิมขึ้นไปได้อีกมากเมื่อได้จับคู่กับแอมป์ที่มีศักยภาพสูงขึ้น อย่าง Roksan K3 และไปได้ไกลมากขึ้นอีกขั้น โดยเฉพาะในแง่ของสเกลฯ ไดนามิกของเสียงและความนิ่งเวลาเปิดดังๆ เมื่อจับคู่กับปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ Ayre Acoustic K-5 + V-3
อัลบั้ม : Making Mirrors (FLAC 24/44.1)
ศิลปิน : Gotye
ค่าย : Eleven
ประโยชน์ของลำโพงที่ให้เสียงสะอาด รายละเอียดดี คือทำให้เรา “เข้าถึง” อรรถรสของเพลงที่ฟังได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น พิสูจน์ได้จากการทดลองฟังงานเพลงที่ไม่คุ้นหู และเป็นแนวเพลงที่ฟังค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างอัลบั้ม “Making Mirrors” ชุดนี้ ซึ่งเป็นไฟล์ FLAC 24/44.1 ที่ผมกดซื้อมาจากอ๊อฟฟิเชี่ยลเว็บไซต์ของ Gotye เองตอนเขาเปิดขาย งานชุดนี้ตอนออกมาเป็นเวอร์ชั่น CD มีดราม่าเยอะมากในประเด็นของการทำมาสเตอร์ CD ที่ผ่านกระบวนการ compressed มาเยอะ เสียงที่ออกมาด้อยกว่ามาตรฐานสตูดิโอไปไกล
ผมเองก็มีแผ่นซีดีของอัลบั้มชุดนี้ เคยฟังสอง–สามครั้งก็ยอมรับว่ามีเพลงที่แต่งและเรียบเรียงดนตรีได้ดีอยู่หลายแทรค ที่ชอบๆ ก็มีเพลง “Somebody That I Used to Know” เพลงท๊อปฮิตของอัลบั้มนี้ กับเพลง “State of the Art” ซึ่งมีเสียงไลน์เบสหนักๆ แน่นๆ ตึบๆ ที่ฟังคล้ายงานของ Daft Punk ชุด Random Access Memories ซึ่งแทรคนี้แหละที่ช่วยทำให้ “ตัวตน” ที่โดดเด่นของ Silver 100 ถูกเปิดเผยออกมา.! เสียงทุ้มที่ Silver 100 ให้ออกมามันมีทั้งความแน่น กระชับ หนัก และสะอาด ที่น่าประทับใจมากคือสามารถเปิดได้ดัง โดยที่ยังคงควบคุมซาวนด์สเตจให้คงความกว้างและความลึกของเวทีเสียงเอาไว้ในระดับที่น่าพอใจ ไม่พุ่งบานออกมาจนเสียรูป* ส่งผลให้ความมันส์ในอารมณ์ของเพลง “State of the Art” ทะลักทลายออกมามากขึ้น ฟังสนุก
* Interval – ได้ฟังเสียงทุ้มของ Silver 100 แล้ว ทำให้ผมนึกถึงเสียงทุ้มของ Totem Acoustic รุ่น Signature One ที่ผมเคยทำรีวิวไปเมื่อช่วงกลางปี 2018 (REVIEW) ซึ่งในแง่ “ปริมาณ” ของเสียงทุ้มแล้ว ลำโพงสองคู่นี้ทำได้สูสีกัน แต่ความต่างมันไปเกิดขึ้นตอนเปิดดังๆ นี่แหละ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Signature One ที่สามารถยืดขยายซาวนด์สเตจออกไปได้ตามระดับวอลลุ่มที่เร่งขึ้นไป โดยไม่ทำให้ความเป็นสามมิติของเวทีเสียงแย่ลงไปมาก แค่ทั้งวงถูกขยับให้เลื่อนมาข้างหน้านิดนึง แต่ความเป็นสามมิติของรูปวงยังรักษาไว้ได้ ซึ่งในแง่นี้ต้องขอบอกว่า Monitor Audio รุ่น Silver 100 ยังตกเป็นรอง Signature One อยู่พอสมควร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ราคาของ Signature One สูงกว่า Silver 100 ประมาณสองเท่าตัว.!
อัลบั้ม : Folk Singer (WAV 24/96)
ศิลปิน : Muddy Waters
ค่าย : Classic Records
ต้องยอมรับว่า หลังจากฟังเสียงเบสของแทรค “State of the Art” ไปแล้ว ผมก็มุ่งทดสอบไปที่เสียงทุ้มของลำโพงคู่นี้อยู่หลายดอก ฟังผ่านอัลบั้มที่ใช้ทดสอบเสียงทุ้มตัวพ่อไปก็หลายอัลบั้ม ส่วนใหญ่ Silver 100 จะสอบผ่านเกือบทั้งหมดเมื่อคำนึงถึงราคาขายของมัน แต่ตอนลองฟังอัลบั้มชุด “Folk Singer” ของ Muddy Waters ปรากฏว่า Silver 100 ทำให้ผมสะดุดหูอยู่ 2 อย่าง เป็นลักษณะเด่นของ Silver 100 ที่แสดงออกมาจากอัลบั้มนี้ สิ่งแรกคือ “เสียงทุ้ม” ที่มีลักษณะนุ่มและแผ่หางเสียงลงพื้น อันเป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่ได้จากการเล่นเครื่องดนตรีประเภทอะคูสติกเบส ซึ่งอัลบั้มนี้เก็บมาได้ดีมากๆ และ Silver 100 คู่นี้ก็สามารถปลอดปล่อยลักษณะเฉพาะตัวของเสียงอะคูสติกเบสที่ว่านั้นออกมาให้สัมผัสได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้รู้ว่า Silver 100 ไปได้ดีกับเสียงทุ้มที่เกิดขึ้นจากเครื่องดนตรีประเภทอะคูสติกมากเป็นพิเศษ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสะดุดหู Silver 100 จากการเล่นเพลงในอัลบั้มชุด Folk Singer ก็คือ “แอมเบี้ยนต์” ที่แผ่ออกมาโอบเอาเสียงทั้งหมดในอัลบั้มนี้ไว้ เป็นเสียงก้องสะท้อนที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่ใช้บันทึกเสียงอัลบั้มนี้ ซึ่งซาวนด์เอนจิเนียร์สามารถเก็บมาได้ และลำโพงคู่นี้ก็สามารถตีแผ่มันออกมาให้สัมผัสได้ หลังจากลองฟังมาอีกหลายอัลบั้มโดยพิจารณาเฉพาะจุดนี้ ทำให้ผมพบว่า Silver 100 ทำตัวเป็นมอนิเตอร์ได้กลายๆ คือมันทำให้รู้เลยว่า อัลบั้มเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป “ส่วนใหญ่” จะไม่ให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็น “แอมเบี้ยนต์” ที่ว่า แต่ถ้าเป็นอัลบั้มที่ติดดาวอยู่ในวงการเครื่องเสียงส่วนใหญ่จะมีส่วนของแอมเบี้ยนต์มาด้วยแทบทุกชุด และทุกชุดที่มีแอมเบี้ยนต์ปรากฏออกมา จะฟังดีทั้งหมด คือจะได้ความผ่อนคลายมากกว่า ลื่นไหลมากกว่า
อัลบั้ม : The Well (DSF64)
ศิลปิน : Jennifer Warnes
ค่าย : Impex Records
จากการทดสอบด้วยเพลงร้องมาหลายอัลบั้ม ทำให้ผมพบว่า Silver 100 ให้เสียงกลางที่มีลักษณะเปิดเผย ลอยเด่น และเช่นเดิมคือ “สะอาด” โดยเฉพาะเสียงร้องที่ให้เนื้อเสียงเนียนและนุ่ม
ผมสังเกตว่า เสียงกลางของ Silver 100 เชื่อมต่อกับเสียงแหลมได้อย่างกลมกลืน และเสียงแหลมเองก็สามารถทยานไปได้ไกลโดยไม่มีอาการห้วน พอพลิกเข้าไปดูสเปคฯ Frequency Response ของ Silver 100 อีกทีจึงได้เห็นว่า ลำโพงคู่นี้สามารถตอบสนองความถี่ได้กว้างมาก คือตั้งแต่ 40Hz ขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 35kHz ถึงจะยังไม่สุดสเปคฯ ของมาตรฐาน Hi-Res Audio แต่ก็เพียงพอสำหรับการถ่ายทอดอัลบั้มที่ทำออกมาเป็นฟอร์แม็ต Hi-Res โดยส่วนใหญ่แล้ว นี่คือสาเหตุที่ทำให้เสียงกลางสามารถเชื่อมต่อขึ้นไปถึงเสียงแหลมได้อย่างเนียนกริ๊บ! ต่อเนื่องและไร้ซึ่งรอยต่อ ฟังแล้วไม่ขัดอารมณ์ เพราะเสียงร้องไม่จมและเสียงแหลมก็ไม่กุด
สรุป
ในอดีต สิบกว่าปีที่แล้ว ผมเคยเป็นเจ้าของลำโพง Monitor Audio รุ่น Studio 10 อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ยังจำเสียงของมันได้ เป็นลำโพงรุ่นหนึ่งที่ต่อกรกับ Totem Acoustic รุ่น Model 1 ที่ผมใช้อยู่ในช่วงเดียวกันนั้น ทั้ง Studio 10 และ Model 1 มีข้อดี–ข้อด้อยที่ทิ้งกันไม่ขาด ซึ่งผมยังจำได้ว่า สิ่งที่ Studio 10 ทำได้ดีกว่า Model 1 ก็คือ “ความสะอาด” เนียนนุ่มของเสียงนี่แหละ ในขณะที่ Model 1 เฉือนเอาชนะ Studio 10 ทางด้านไดนามิกที่ฉีดวงสวิงได้กว้างกว่า ทั้งสองคุณสมบัตินั้นดี–ด้อยต่างกันประมาณ 15-20% นี่คือเหตุผลที่ทำให้ทิ้งไม่ลงทั้งสองคู่
ปัจจุบัน Studio series ไม่มีแล้ว วันนี้ได้ฟังเสียงของ Silver 100 แล้วทำให้ผมนึกถึง Sudio series ในอดีตขึ้นมาทันที ทั้ง Studio 10 และ Silver 100 แนวเสียงคล้ายกันมาก แต่ Silver 100 ให้เสียงที่ใหญ่กว่า กว้างกว่า เบสลึกกว่า แหลมละเอียดเนียนกว่า แอมเบี้ยนต์ดีกว่า ในขณะที่ราคาสูสีกับ Studio 10 เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว!
สุดท้ายนี้ ผมต้องขอเน้นว่า ใครมีงบสำหรับลำโพงอยู่ที่ระดับไม่เกิน 50K อย่าพลาดทดลองฟังคู่นี้ก่อนตัดสินใจ.!! /
*************************
ราคา : 34,900 บาท / คู่ (โปรโมชั่นจากราคาเต็มคู่ละ 39,900 บาท)
*************************
สนใจสั่งซื้อได้ที่
– Lazada
– Shopee
– nocnoc
– พิกัดร้าน HDhifi
ซีคอนสแควร์ ชั้น B1 ห้อง ITB024