รีวิวเครื่องเสียง QUAD รุ่น Artera Solus Play อินติเกรตแอมป์ที่มาพร้อมมิวสิค สตรีมมิ่ง, มีภาคปรีแอมป์ เอ๊าต์พุต, มีภาค DAC ในตัว และเล่นแผ่นซีดีได้

ปัจจุบันเครื่องเสียงประเภท all-in-one มีออกมาเยอะมาก ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา มีรุ่นใหม่ๆ เปิดตัวออกมาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้พูดได้เลยว่า แทบทุกแบรนด์ที่ทำแอมปลิฟายจะต้องมีทำผลิตภัณฑ์ประเภท all-in-one ออกมาด้วยอย่างน้อยก็หนึ่งรุ่น

QUAD รุ่น Artera Solus Play
ออลอินวันเหมือนกัน แต่.. ไม่เหมือนกัน.!?

เอ๊ะ.. ยังไง.? คือแม้ว่า Artera Solus Play ของแบรนด์ QUAD ตัวนี้จะถูกเรียกว่าเป็นเครื่องเสียงประเภท all-in-one เหมือนกับหลายๆ ตัวที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ เหตุผลก็เพราะว่ามันมีหน้าที่ในการทำงานหลายอย่างรวมอยู่ในตัวถังเดียวกัน แต่ถ้าเจาะลงไปพิจารณาในรายละเอียดลึกๆ จะพบว่า เครื่องเสียงประเภท all-in-one ทุกตัวในท้องตลาดใช่ว่าจะเหมือนกันทั้งหมด แต่ละตัวก็อาจจะมีความแตกต่างกันได้ในบางแง่ ซึ่ง all-in-one ของ QUAD ตัวนี้มีความแตกต่างไปจาก all-in-one ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้

แตกต่างอย่างไร.? เครื่องเสียงที่เรียกว่า all-in-one มีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก > เป็นออลอินวันเต็มตัวคือมีทั้ง source + pre-amp + power-amp + speaker ครบทั้งสามส่วนอยู่ในตัว ตัวอย่างคือพวกลำโพงไร้สายที่มีสตรีมเมอร์ในตัวนั่นเอง ส่วนกลุ่มที่สอง > เรียกว่า ออล-อิน-วันแบบไม่รวมลำโพง คือเป็นเครื่องเสียงที่มีแค่ source + preamp + poweramp อยู่ในตัว และกลุ่มที่สาม > เป็นออล-อิน-วันที่มีเฉพาะ source กับภาคเอ๊าต์พุต pre-amp มาให้ ไม่มีเพาเวอร์แอมป์และลำโพง ซึ่ง Artera Solus Play ตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่สอง

ในจำนวน all-in-one แบบที่ไม่รวมลำโพงเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาดทุกวันนี้ มักจะมีแค่ streamer เป็น source หลัก ทั้งที่เป็นการสตรีมผ่าน WiFi และ Bluetooth แน่นอนว่าเราไม่นับ digital input อย่าง coaxial, optical, AES/EBU, USB และอะนาลอกอินพุตอย่าง Phono (MM/MC) เป็น source เพราะอินพุตเหล่านั้นมันต้องใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์เพลเยอร์จากภายนอก ไม่เหมือน streamer input ที่จบด้วยซอฟท์แวร์ ดังนั้น ถ้าเป็นอินติเกรตแอมป์ที่ไม่มีอินพุต streamer (Ethernet, WiFi และ/หรือ Bluetooth) มีแค่อินพุตดิจิตัล coaxial, optical, AES/EBU, USB และ Phono เราจะเรียกว่าเป็นอินติเกรตแอมป์ที่มีดิจิตัล อินพุตมาให้ ไม่นับว่าเป็น all-in-one อย่างที่เกริ่นมา

สิ่งที่ทำให้ Artera Solus Play แตกต่างจากออลอินวันส่วนใหญ่ในท้องตลาด ก็คือว่ามันมีคุณสมบัติในการเล่นแผ่นซีดีเป็น source มาให้นั่นเอง นอกเหนือจาก streamer ผ่าน Ethernet, WiFi และ Bluetooth พูดง่ายๆ คือ มันฝัง CD Player มาให้ในตัว ซึ่งทำให้ Artera Solus Play มีความเพรียบพร้อมกว่า all-in-one หลายๆ ตัวในตลาดทุกวันนี้.!!

งานดี..!!!

IAG หรือ International Audio Group เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าเครื่องเสียงระดับคอนซูเมอร์, ไฮไฟฯ และโปรเฟสชั่นแนล สำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษ ส่วนโรงงานผลิตอยู่ในจีนที่เมืองเสินเจิ้น เจ้าของเป็นสองพี่น้องชาวจีนชื่อเบอร์นาร์ด และไมเคิล จาง ปัจจุบัน IAG มีแบรนด์เครื่องเสียงที่อยู่ในความดูแลมากเกินสิบแบรนด์อาทิเช่น Audiolab, Wharfedale, Mission, Tag McLaren, Castle Acoustics, LEAK, Luxman, Ekco และ QUAD

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกๆ ที่ผลิตออกมาตั้งแต่ปีแรกที่พวกเขาเริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาเมื่อปี 1991 ยังมีภาพของคำว่า เครื่องเสียงจีนปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ชื่อฝรั่งให้พอสังเกตได้ แต่ก็ต้องขอชมว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในปัจจุบันเริ่มสลัดคราบของคำว่า เครื่องเสียงจีนออกไปได้จนหมดแล้ว เริ่มตั้งแต่แอมป์ของ LEAK รุ่น Stereo 130 ที่ผมเคยทดสอบไป (REVIEW) ตัวนั้นเป็นต้นมาจนถึง QUAD Artera Solus Play ตัวนี้ บอกเลยว่าแทบจะไม่เหลือคราบของ เครื่องเสียงจีนให้เห็นแล้ว

Artera Solus Play มาในรูปลักษณ์ของเครื่องเสียงอังกฤษโบราณแนว minimalist ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ QUAD เกือบทุกอย่าง สิ่งแรกที่สังเกตได้ชัดก็คือ สัดส่วนของตัวเครื่องที่ไม่ได้ยึดมาตรฐานหน้ากว้าง 17 นิ้ว หรือ 425 .. แบบเครื่องเสียงติดแร็คที่ใช้ในงานโปรฯ แต่มาในขนาดตัวถังที่เป็นสัดส่วนสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง x ลึก เท่ากัน คือ 320 .. (12.8 นิ้ว) ส่วนความสูงอยู่ที่ 105 .. (4.2 นิ้ว) ดูจากรูปทรงภายนอกแล้วมันออกแนว สันทัดคือปานกลาง จะเรียกว่ากระทัดรัดก็ไม่เชิงเพราะมันไม่ได้เล็กขนาดนั้น ผมว่ารูปร่างมันกำลังดี ไม่เทอะทะ

เห็นแค่รูปร่างภายนอกแล้วอย่าเพิ่งคิดว่ามันจะเบานะครับ ลองเข้าไปยกดูแล้วคุณจะอึ้ง.! เพราะน้ำหนักมันมากถึง 11.5 กิโลกรัม ซึ่งไม่น่าแปลกใจ ถ้าเข้าไปพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นว่า ตัวถังเครื่องของ Artera Solus Play ทำจากโลหะตันๆ ที่หนามาก โดยเฉพาะแผงหน้าที่หนาถึง 0.8 .. กับผนังด้านข้างที่ออกแบบให้เป็นฮีทซิ้งค์ในตัวมีความหนาถึง 1.7 .. ที่เก๋ไก๋มากคือด้านบนของตัวเครื่องเขามีแผ่นกระจกหนาแถมมาให้หนึ่งแผ่น ขนาดกว้างxลึกเกือบเต็มพื้นที่ของตัวเครื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นดีไซน์เก๋ๆ แล้ว แผ่นกระจกที่ว่านี้ยังทำหน้าที่ช่วยแด้มป์ตัวเครื่องให้นิ่ง ลดเรโซแนนซ์ของตัวถังเครื่องลงไปในตัว ส่วนด้านล่างของตัวเครื่องมีขายางขนาดใหญ่รองรับน้ำหนักของตัวเครื่องติดตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมของตัวถัง

ฟังท์ชั่นควบคุมสั่งงานบนแผงหน้าปัด

1 = ปุ่มกดเปิด/ปิดเครื่อง
2 = ไฟแอลอีดีแสดงสภาวะเปิด/ปิดเครื่อง
3 = ไฟแอลอีดีแสดงสภาวะการเชื่อมต่อ WiFi
4 = เซ็นเซอร์รับคลื่นอินฟราเรด
5 = ปุ่มกดดึงแผ่นซีดีเข้า/คายแผ่นออก
6 = ช่องใส่แผ่นซีดี
7 = จอแสดงข้อมูลเพลงที่เล่น
8 = สั่งเล่น/หยุดชั่วคราวด้วยวิธีสัมผัส
9 = เลือกอินพุตด้วยวิธีสัมผัส
10 = รูเสียบแจ๊คหูฟัง

นี่ไงล่ะ.. minimalist ของจริง.! ใครที่ไม่คุ้นเคยกับเครื่องเสียงสไตล์วินเทจของอังกฤษแบรนด์ QUAD มาก่อนมาเจอหน้าปัดของ Artera Solus Play ตัวนี้แล้วอาจจะไปไม่เป็นเอาเลย เพราะมันแทบจะไม่มีปุ่มสั่งงานอะไรให้หยิบจับใช้งาน ไอ้ที่มีอยู่แค่สองปุ่มก็มีปุ่มเพาเวอร์สำหรับเปิด/ปิดเครื่อง (1) แค่ปุ่มเดียวเท่านั้นที่เปิดเผยให้เห็นชัดๆ ส่วนอีกปุ่มที่ใช้กดเพื่อดึงแผ่นซีดีเข้าและดันออก (5) กลับเอาไปซ่อนไว้ในเงามืดซะงั้น

จอแสดงผล (7) มีลักษณะเป็นทรงกลม ด้านหน้าปิดทับด้วยกระจกสีดำ แสดงผลด้วยตัวอักษรสีขาว เมื่อคุณกดปุ่มเปิดเครื่อง (1) บนจอแสดงผล (7) จะโชว์ชื่อแบรนด์ QUAD ขึ้นมาให้รู้ว่ามันถูกปลุกขึ้นมาพร้อมใช้งานแล้ว หลังจากวงจร DSP ภายในตัวเครื่องใช้เวลาชั่วครู่ทำการปรับตั้งค่าเริ่มต้นเสร็จ หน้าจอจะแสดงอินพุต BT ขึ้นมาก่อนเป็นค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนอินพุตให้ใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปเบาๆ ตรงพื้นที่ด้านล่างของจอ (9) ไม่ต้องออกแรงเยอะเพราะมันทำงานด้วยระบบสัมผัส แต่ละครั้งที่แตะปลายนิ้วลงไปอินพุตจะถูกเปลี่ยนไปตามรายชื่อที่ปรากฏขึ้นมาบนจอ แต่ถ้าคุณต้องการเล่นเพลงจากแผ่นซีดี หลังจากเอาแผ่นซีดีสอดเข้าไปในช่องรับแผ่น (6) แค่พอตึงๆ มือ ไม่ต้องดันแผ่นเข้าไปแรงๆ เดี๋ยวแผ่นจะเป็นรอย จากนั้นให้กดปุ่ม (5) หนึ่งครั้ง ระบบแมคคานิคของภาคซีดีทรานสปอร์ตจะทำการดูดแผ่นเข้าไปเอง หลังจากระบบเซอร์โวลากหัวอ่านแผ่นเข้าประจำตำแหน่งเสร็จ มันจะอ่านข้อมูล TOC ของแผ่นซีดีแล้วแสดงขึ้นมาโชว์บนจอ จากนั้นก็ให้คุณใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปเบาๆ บริเวณด้านบน (8) ของหน้าจอเพื่อสั่งเล่นเพลงจากแผ่นซีดี ถ้าต้องการหยุดค้างไว้ ณ ตำแหน่งนั้นก็ให้ใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปที่ตำแหน่งเดิม ต้องการเล่นต่อจากตำแแหน่งที่หยุดก็จิ้มลงไปที่เดิมอีกที..

ใช้ยาก..? ก็ไม่เชิงนะ ใครไม่คุ้นเคยกับระบบสัมผัสอาจจะเงอะๆ เงิ่นๆ หน่อย ส่วนผมไม่มีปัญหาใดๆ เพราะผมใช้วิธีสั่งงานผ่านรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ สะดวกกว่าเยอะ หน้าจอเครื่องไม่เลอะนิ้วมือด้วย

รีโมทไร้สายที่แถมมาให้มีขนาดใหญ่พอสมควร นอกจากใช้ควบคุม Artera Solus Play ตัวนี้แล้ว รีโมทไร้สายตัวนี้ยังใช้ควบคุมปรีแอมป์รุ่น Artera Pre ได้ด้วย ฟังท์ชั่นที่มีมาให้ก็ครบ ทั้งเลือกอินพุต, ปรับวอลลุ่ม, ควบคุมการเล่นแผ่นและเล่นไฟล์, เปิดใช้/ปิดการใช้งานฟังท์ชั่นหยุดเสียงชั่วคราว (mute), เปิด/ปิดไฟหน้าจอ และมีคำสั่งสแตนด์บาย/เปิดเครื่อง สรุปคือใช้สั่งงานผ่านรีโมทไร้สายสะดวกกว่ากดปุ่มบนแผงหน้าปัดเยอะ

นอกจากปุ่มกดสองปุ่ม, ช่องใส่แผ่นซีดี และหน้าจอกลมๆ สีดำแล้ว บนแผงหน้าปัดของ Artera Solus Play ยังมีรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 .. (10) หนึ่งรู เมื่อคุณเสียบแจ๊คหูฟังเข้าไปที่รูเสียบนี้ สัญญาณเสียงที่ขั้วต่อสายลำโพงกับเอ๊าต์พุตที่ช่อง Pre-out จะถูกตัดออก ส่วนระดับความดังคุณสามารถปรับตั้งผ่านวอลลุ่มบนตัว Artera Solus Play ได้ทั้งจากปุ่มสัมผัสบนแผงหน้าเครื่องและจากรีโมทไร้สาย

สารพัดขั้วต่อบนแผงหลัง

รวมอินพุตทั้งหมดของ Artera Solus Play

รวมเอ๊าต์พุตทั้งหมดของ Artera Solus Play

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพราะความกว้างของเครื่องน้อยกว่าเครื่องมาตรฐานอื่นๆ หรือเป็นเพราะว่า Artera Solus Play ให้อะไรๆ มาเยอะ ที่แผงหลังของเครื่องจึงแออัดไปด้วยขั้วต่อสารพัดรูปแบบแน่นไปหมด ผมจะขออธิบายแยกเป็นกลุ่มๆ ก็แล้วกัน

INPUT / OUTPUT สำหรับสัญญาณอะนาลอก

Artera Solus Play มีอินพุตไว้ให้รองรับอะนาลอกจากแหล่งต้นทางภายนอกมาให้ 2 ช่อง กำหนดชื่อช่องไว้ว่า AUX1 กับ AUX2 โดยใช้วิธีเชื่อมต่อสัญญาณแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านเข้าทางขั้วต่อ RCA (ไม่มีภาคขยายหัวเข็มในตัว) ส่วนช่องทางสำหรับส่งสัญญาณออกไปให้กับภาคขยาย (เพาเวอร์แอมป์) ภายนอกมีมาให้ 2 ชุด โดยให้ออกไปเป็นสัญญาณบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR กับส่งออกไปเป็นสัญญาณซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA อย่างละชุด

ในคู่มือของ Artera Solus Play ผู้ผลิตได้แนะนำไว้ว่า กรณีที่ต้องการใช้งานภาคปรีเอ๊าต์ของ Artera Solus Play กับเพาเวอร์แอมป์ภายนอก ถ้าเพาเวอร์แอมป์ภายนอกมีอินพุต XLR เขาแนะนำให้ใช้การเชื่อมต่อสัญญาณจาก Artera Solus Play ผ่านออกทางช่อง XLR จะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าการใช้สัญญาณขาออกทางช่อง RCA เนื่องจากพวกเขาออกแบบภาคขยายสัญญาณ output ของตัว Artera Solus Play เอาไว้เป็นแบบบาลานซ์แท้ ซึ่งให้เกนของสัญญาณสูงกว่าเอ๊าต์พุตที่ช่องซิงเกิ้ลเอ็นด์ถึง 2 เท่า คือเกนขยายทางช่องบาลานซ์ XLR อยู่ที่ 4.6Vrms ในขณะที่ช่องเอ๊าต์พุต RCA ให้เกนเอ๊าต์พุตอยู่ที่ 2.3Vrms เบากว่าครึ่งนึง

เมื่อเชื่อมต่อกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกผ่านทางเอ๊าต์พุต XLR คุณจะได้ S/N ratio ของเสียงที่ดีกว่า เนื่องจากที่ช่องเอ๊าต์พุต XLR จะจัดการกับปัญหาการรบกวนของกราวนด์ลูปได้ดีกว่าทางช่องซิงเกิ้ลเอ็นด์ เสียงที่ได้ออกมาจึงมีเกนที่แรงกว่าและให้แบ็คกราวนด์ที่สะอาดและสงัดเงียบมากกว่า ส่วนเอ๊าต์พุตอีกช่องของ Artera Solus Play ก็คือเอ๊าต์พุตสำหรับหูฟัง

INPUT / OUTPUT สำหรับสัญญาณดิจิตัล (แบบใช้สาย)

ภาค DAC ในตัว Artera Solus Play ใช้ชิปของ ESS Technologies เบอร์ ES9018 ซึ่งเป็นชิป DAC สำเร็จรูปที่มีความสามารถในการประมวลผลสูงถึง 32bit

ภาค DAC ในตัว Artera Solus Play ถูกกำหนดให้รองรับสัญญาณดิจิตัลอินพุตจากแหล่งต้นทางหลากหลายรูปแบบ แบ่งหยาบๆ ออกเป็น 2 แหล่ง นั่นคือ แหล่งต้นทางแบบใช้สายเชื่อมต่อ ซึ่งมีอินพุตให้เลือกใช้งานอยู่ทั้งหมด 6 ช่อง คือ Ethernet x1, USB x1, Coaxial x2, Optical x2 ซึ่งช่องอินพุตที่มีประสิทธิภาพในการรองรับกับสัญญาณดิจิตัลอินพุตสูงสุดคืออินพุต USB เพราะสามารถรองรับสัญญาณ PCM ได้ตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 384kHz ส่วนช่องอินพุตที่เหลือทั้งหมดรองรับได้สูงสุดถึงระดับ 24bit/192kHz

เมื่อคุณเชื่อมต่อสาย LAN เข้าที่ช่องอินพุต Ethernet ของ Artera Solus Play คุณจะสามารถดึง (stream) ไฟล์เพลงจากเน็ทเวิร์คเข้ามาเล่นผ่านภาค DAC ในตัวของมันได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลงที่คุณเก็บไว้ใน NAS หรือไฟล์เพลงที่สตรีมมาจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่าง TIDAL หรือ Spotify และอื่นๆ โดยมีแอพลิเคชั่น Play-Fi ของ DTS เป็นเครื่องมือ

Wi-Fi & Bluetooth

ผู้ผลิตให้เสาอากาศท่อนสีดำๆ มา 3 ท่อน ลักษณะเดียวกัน ใช้ขันเข้าที่ขั้วต่อ Bluetooth และ Wi-Fi ที่อยู่บนแผงหลังเพื่อใช้รับสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์ภายนอก ซึ่งแอพลิเคชั่น DTS Play-Fi ที่ใช้ควบคุมการรับสัญญาณจากเน็ทเวิร์คเข้าทาง Wi-Fi ไร้สาย (และผ่านเข้าทางขั้วต่อ Etherenet) มีโหมดการรองรับสัญญาณให้เลือก 2 โหมด คือ “Standard Mode” = รองรับความละเอียดของไฟล์ได้ถึงระดับ 16bit/48kHz ในรูปของไฟล์ฟอร์แม็ต MP3, MP4A (ALAC), AAC, FLAC, WAV และ AIFF ส่วนอีกโหมดคือ “Critical Listening Mode” = ซึ่งจะรองรับสัญญาณเสียงได้สูงขึ้นไปอีกขั้นถึงระดับ Hi-Res Audio คือ 24bit/192kHz

นอกจากนั้น คุณยังสามารถเล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์พกพาของคุณ อย่างเช่นบนสมาร์ทโฟนหรือบนแท็ปเล็ตด้วยแอพลิเคชั่นเล่นไฟล์เพลงบนอุปกรณ์เหล่านั้น อาทิเช่นแอพฯ Apple Music, TIDAL, Onkyo HF Player ฯลฯ แล้วสตรีมสัญญาณเสียงของเพลงเหล่านั้นไปที่ Artera Solus Play ผ่านเข้าทางอินพุต Bluetooh ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งรองรับได้ถึงระดับ aptX คือความละเอียดเทียบเท่ามาตรฐานซีดี อันนี้เหมาะกับคนที่ไม่มีระบบ Wi-Fi เน็ทเวิร์คที่บ้าน

อื่นๆ

เต้ารับไฟเอซีของ Artera Solus Play เป็นเป้ารับปลั๊กตัวเมียแบบสามรูเสียบ แต่ที่ตัวเครื่องไม่มีขากราวนด์ติดตั้งไว้.? สวิทช์ power สำหรับเปิดรับ/ตัดไฟ AC เข้าเครื่องติดตั้งอยู่เหนือเต้ารับขึ้นไปเล็กน้อย ถ้าขี้เกียจคอยสับสวิทช์ power เพื่อเปิด/ปิดเครื่องบ่อยๆ คุณสามารถใช้วิธีสับสวิทช์เพาเวอร์ทิ้งค้างไว้ที่ตำแหน่ง ON แล้วใช้ปุ่ม power on/standby บนรีโมทไร้สายในการเปิดใช้งานและปิดเข้าโหมดสแตนด์บายได้อีกทางหนึ่ง

ขั้วต่อสายลำโพงที่ให้มาเป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์ ตัวขั้วต่อเป็นแบบบายดิ้งโพสต์ สามารถเชื่อมต่อสายลำโพงได้หลายรูปแบบ ตัวขันยึดทำจากพลาสติกแต่ก็แข็งแรงดี

ภาคแอมปลิฟายของ Artera Solus Play

ถ้ามีโอกาสเปิดฝาด้านบนของตัวเครื่องออกมา คุณจะพบต้นเหตุของน้ำหนัก 11 กิโลฯ กว่าๆ ของเครื่องเสียงตัวนี้ นั่นคือ หม้อแปลงแบบเทอรอยด์ขนาดใหญ่ที่มีพลังมากถึง 300VA ซึ่งทำหน้าที่จ่ายไฟเลี้ยงให้กับวงจรขยายของเพาเวอร์แอมป์ dual mono โดยจัดขดลวดทุติยภูมิที่ส่งไปให้แต่ละแชนเนลแยกกันเด็ดขาด ทำให้ไฟเลี้ยงวงจรขยายของเพาเวอร์แอมป์ซีกซ้ายและขวาไม่มีการดึงกัน นอกจากนั้น พวกเขายังใช้แคปาซิเตอร์ตัวใหญ่ที่มีความจุมากถึง 15000 ไมโครฟารัด จำนวน 2 ตัว ในการเก็บประจุสำหรับไฟเลี้ยงของแต่ละแชนแนล รวมซ้ายขวาก็เท่ากับ 60000 ไมโครฟารัด

ทั้งวงจรปรีแอมป์ และวงจรในภาคเพาเวอร์แอมป์ของ Artera Solus Play ออกแบบให้ทำงานแบบบาลานซ์ ซึ่งนอกจากจะเลือกใช้อุปกรณ์ในวงจรที่มีคุณภาพสูงแล้ว แม้แต่ทางเดินสัญญาณก็ได้ถูกกำหนดให้สั้นและตรงไปตรงมามากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของสัญญาณเอาไว้ให้มากที่สุดตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง วอลลุ่มที่ใช้กำหนดเลือกระดับความดังในภาคปรีแอมป์เป็นวอลลุ่มอะนาลอกที่ทำงานภายใต้การควบคุมของไมโครโปรเซสเซอร์เพื่อให้ได้ความแม่นยำสูงสุด เอ๊าต์พุตจากปรีแอมป์ถูกส่งต่อไปที่อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ที่เป็นแบบดูอัลโมโน แยกตรงไปแต่ละแชนแนล จึงแทบจะปราศจากปัญหากวนข้ามแชนเนล (crosstalk) โดยสิ้นเชิง

ภาคเพาเวอร์แอมป์ของ Artera Solus Play ใช้วงจรขยายที่ทำงานด้วย class-AB แยกซ้ายขวาเด็ดขาดแบบ dual mono ให้กำลังขับข้างละ 75 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม พวกเขาออกแบบวงจรขยายที่ภาคเอ๊าต์พุตด้วยเทคนิค Complementary Feedback (CFB) ร่วมกับวงจร emitter follower ซึ่งเทคนิค CFB ที่ใช้ในภาคเอ๊าต์พุตของแอมป์ตัวนี้มีสรรพคุณทำให้ได้ความเป็นเชิงเส้นที่ดี และเชื่อถือได้ในแง่ความเสถียรที่ไม่สวิงไปตามอุณหภูมิด้วย ส่วนวงจร emitter follower นั้นเมื่อนำมาใช้งานร่วมกับวงจรขยาย CFB จะช่วยเพิ่มความสามารถในการจ่ายกระแสได้สูงขึ้นถึงระดับ +/-15A ในขณะที่เจอกับโหลดที่ซับซ้อน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกควบคุมโดยไมโครโปรเซสเซอร์เช่นกันเพื่อให้การทำงานมีความแม่นยำและสม่ำเสมอ

ทดสอบ

เพื่อให้สมกับความเป็น all-in-one ผมได้นำ Artera Solus Play ไปทดลองใช้งานในห้องรับแขกก่อน โดยเอาไปใช้เป็นเครื่องเสียงสำหรับดูหนัง+ฟังเพลงร่วมกับทีวี ซึ่งทีวีสมัยนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตผ่านเน็ทเวิร์คได้ เลยใช้งานเหมือนแท็ปเล็ตขนาดยักษ์ไปในตัว โดยเฉพาะทีวีของ Sony รุ่น Bravia ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการณ์ android TV ของจริงมาให้ ผมเลยชอบสตรีม YouTube มาดูบนทีวีแล้วต่อสัญญาณเสียงจากทีวีจากช่อง Optical ไปเข้าที่อินพุต Optical ของ Artera Solus Play เพื่อขยายเสียงออกลำโพง ซึ่งเสียงที่ออกมาดีกว่าเสียงของทีวีมหาศาล.!

นอกจากนั้น ผมได้ต่อเชื่อมสาย LAN เข้าที่อินพุต Ethernet ของ Artera Solus Play ด้วยเพื่อสตรีมไฟล์เพลงมาฟังด้วยแอพ DTS Play-Fi โดยดึงจาก TIDAL และ Spotify ผ่าน Spotify Direct และดึงไฟล์เพลงจาก NAS มาลองฟังด้วย ส่วนคนที่ไม่มีเน็ทเวิร์คที่บ้านก็ใช้วิธีเล่นจากแผ่นซีดีได้เลย สะดวกมาก.. ผมชอบตรงนี้

ในแง่ของการแม็ทชิ่ง ช่วงแรกผมทดลองจับกับลำโพง TAGA Harmony รุ่น B-40 V.3 (REVIEW) ปรากฏว่าเสียงที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก กำลังของ Artera Solus Play ขับ B-40 V.3 ออกมาได้เต็มที่ ก่อนยกเข้าห้องฟัง ผมได้ทดลองเอาลำโพง Totem Acoustic รุ่น Sky (REVIEW) ที่มีระดับน้องๆ ไฮเอ็นด์มาลองแม็ทชิ่งกับ Artera Solus Play ปรากฏว่า ขับออกสบายเหมือนกัน โดยเสียงที่ออกมามีคุณภาพที่สูงขึ้นไปตามระดับของลำโพง ทำให้เสียงเพลงและเสียงจากทีวีในห้องรับแขกมีความเป็นไฮเอ็นด์ฯ ขึ้นมาเยอะ มาถึงจุดนี้กลับไปฟังเสียงจากทีวีไม่ได้แล้วว..!!

ในช่วงท้ายของการทดสอบผมยก Artera Solus Play เข้าห้องฟังเพื่อทดลองฟังแบบเข้มข้น โดยช่วงแรกผมยกลำโพง Sky เข้ามาพร้อมกับ Artera Solus Play ลองฟังในห้องฟังด้วย ซึ่งพออยู่ในห้องฟัง ผมก็สามารถเปิดวอลลุ่มของแอมป์ได้สูงกว่าตอนลองฟังในห้องรับแขกขึ้นมาอีกพอสมควร ซึ่งทำให้ได้เสียงที่ดังมากขึ้น เวทีเสียงขยายออกไปกว้างขึ้นและสวิงไดนามิกได้กว้างขึ้นด้วย

Artera Solus Play อยู่กับผมมานาน ช่วงที่ผมทดสอบลำโพง Wilson Benesch รุ่น Precision P1.0 (REVIEW) ผมก็ได้ลองหยิบ Artera Solus Play มาทดลองขับ P1.0 ด้วย ปรากฏว่าเสียงออกมาดีกว่าที่คาด ทั้งๆ ที่ตอนทดลองฟังไม่ได้ตั้งความหวังว่ามันจะขับออก เพราะราคาลำโพงมันสูงกว่าราคาของ Artera Solus Play ประมาณสองเท่ากว่าๆ แต่หลังจากทดลองจับคู่กัน ผมพบว่า Artera Solus Play สามารถขับ P1.0 ออกมาได้ดีเกินคาด คือถ้าฟังเพลงช้าๆ ที่มีภาคดนตรีไม่ซับซ้อนมาก ไดนามิกไม่สวิงรุนแรงมาก เสียงที่ออกมาฟังดีเลย การแยกแยะรายละเอียดดีมาก ความต่อเนื่องของไดนามิกก็ดี ขาดอยู่นิดเดียวตรงเนื้อมวลของเสียงถ้ามีความเข้มข้นมากกว่านี้ก็แจ๋วเลย..

ผมอ่านเจอจากเว็บไซต์มาว่า ทาง QUAD มีทำเพาเวอร์แอมป์ที่อยู่ในซีรี่ย์เดียวกับ Artera Solus Play ออกมาด้วย ชื่อรุ่น Artera Stereo กำลังขับข้างละ 140 วัตต์ เลยขอยืมทางตัวแทนคือบริษัท ไฮไฟ ทาวเวอร์มาทดลองจับกับภาคปรีเอ๊าต์ของ Artera Solus Play ปรากฏว่า แฮ้ปปี้เลย.! โทนเสียงโดยรวมของ Artera Solus Play + Artera Stereo ออกมาเหมือนกับตัว Artera Solus Play เดี่ยวๆ แต่ได้พอเสริมเพาเวอร์แอมป์เข้าไป (ใช้การเชื่อมต่อผ่านทาง XLR) มันได้ความหนาและเข้มข้นของเสียงมากขึ้น และด้วยกำลังที่มากขึ้นประมาณสองเท่า ส่งผลให้เวทีเสียงฉีกตัวออกไปได้เต็มที่มากขึ้น รายละเอียดพรั่งพรูออกมามากขึ้น ทั้งในระดับความดังสูงๆ และความดังต่ำ และที่สำคัญมากคือได้ไดนามิกสวิงที่กว้างขึ้นมาก ช่วงพีคทะยานขึ้นไปได้สูง เสียงกลองและเพอร์คัสชั่นในย่านต่ำๆ มีน้ำหนักสมจริงมากยิ่งขึ้น โดยรวมฟังดีขึ้นทุกด้าน.. ค่อยสมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพของลำโพงหน่อย.!

ล่าสุด ขณะผมกำลังทดสอบลำโพง Wilson Benesch รุ่น Precision P3.0 ซึ่งเป็นซีรี่ย์เดียวกับ P1.0 แต่เป็นรุ่นตั้งพื้น ใหญ่สุดของซีรี่ย์นี้ ด้วยความสงสัย ผมได้ลองเอา Artera Solus Play + Artera Stereo เข้าไปทดลองขับ P3.0 ด้วย ปรากฏว่า มันขับออกสบายเลย.! เสียงที่ออกมาดีกว่าตอนขับ P1.0 ขึ้นไปอีกระดับ เสียงทั้งย่านมีความมั่นคง แน่นหนา และนิ่งมากกว่า ความเข้มข้นของมวลก็เหนือกว่า รายละเอียดในย่านกลางลงไปทางทุ้มก็ดีกว่า เสียงโน๊ตย่านต่ำๆ ให้ขนาดตัวเสียงที่ชัดเจนกว่า เป็นตัวเป็นตนมากกว่า เวทีเสียงมาครบมิติมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามระดับของลำโพงนั่นเอง แสดงว่า Artera Solus Play + Artera Stereo มีคุณภาพระดับไฮเอ็นด์ฯ จริงๆ สามารถจับกับลำโพงระดับไฮเอ็นด์ที่มีราคาใกล้เคียงกับมันได้อย่างสบาย และเมื่อเพิ่มเพาเวอร์แอมป์รุ่น Artera Stereo เข้ามาก็ทำให้ศักยภาพของมันเพิ่มสูงขึ้น สามารถจับกับลำโพงไฮเอ็นด์ที่มีราคาสูงกว่าขึ้นไปได้ถึงสองสามเท่าตัวเลยทีเดียว (ทราบมาคร่าวๆ ว่าราคาของ Wilson Benesch รุ่น Precision P3.0 อยู่ที่หกแสนกว่าๆ)

ลองเล่นไฟล์เพลงเข้าทางอินพุต Ethernet ด้วยแอพลิเคชั่น DTS Play-Fi

ในจำนวนอินพุตที่ Artera Solus Play ให้มาทั้งหมดซึ่งแทบจะเพรียบพร้อมนั้น (ขาดแค่ภาคขยายหัวเข็มสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงเท่านั้น) ต้องยอมรับว่า อินพุตที่นับเป็นไฮไล้ท์ของมันก็คือการสตรีมไฟล์เพลงผ่านเข้าทางช่อง Ethernet และทางระบบไร้สาย Wi-Fi กับ Bluetooth นั่นเอง ซึ่งการสตรีมไฟล์เพลงผ่านทาง Ethernet และ Wi-Fi นั้น ทาง QUAD ตกลงใจเลือกใช้เทคโนโลยีของค่าย DTS ที่ชื่อว่า DTS Play-Fi เป็นแพลทฟอร์มในการสตรีมสัญญาณ

เทคโนโลยีในการสตรีมไฟล์เพลงของ DTS Play-Fi ยุคแรกๆ ยังทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เวอร์ชั่นปัจจุบันได้รับการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าเวอร์ชั่นแรกๆ ไปเยอะมาก (เริ่มเมื่อ ปี 2012) คือนอกจากจะสตรีมไฟล์เพลงจากอินเตอร์เน็ทและจาก NAS ในเน็ทเวิร์คเดียวกันแล้ว แพลทฟอร์ม DTS Play-Fi เวอร์ชั่นที่ Artera Solus Play ตัวนี้เลือกใช้ยังรองรับระบบ multi-room ได้อีกด้วย

แอพลิเคชั่น DTS Play-Fi ที่ให้โหลดฟรีก็มีครบทุกระบบปฏิบัติการณ์ สามารถใช้บนอุปกรณ์ได้แทบทุกชนิด ไล่ตั้งแต่สมาร์ทโฟนกับแท็ปเล็ตทั้งค่าย iOS และ Android ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Windows ของไมโครซอฟท์ด้วย

แอพฯ DTS Play-Fi เวอร์ชั่นล่าสุดได้รับการปรับปรุงให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น อินเตอร์เฟซดูง่ายขึ้น ไม่สับสน ผมทดลองใช้งานโดยโหลดแอพฯ มาลงบน iPhone12 ของผม เมื่อทำการติดตั้งเสร็จ ตัวแอพฯ จะกวาดหาอุปกรณ์เครื่องเสียงที่รองรับ DTS Play-Fi เองโดยอัตโนมัติ เมื่อค้นพบ มันจะแสดงตัวตนของอุปกรณ์ตัวนั้นขึ้นมาให้เราเห็นที่หน้าต่างชื่อว่า “Startตามที่เห็นด้านบน ในภาพมีแค่ QUAD Artera Solus Play ตัวเดียว แต่ถ้าในวงเน็ทเวิร์คเดียวกันนี้คุณได้ทำการติดตั้งเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่รองรับ DTS Play-Fi ตัวอื่นๆ ไว้ด้วย ชื่อของอุปกรณ์เหล่านั้นจะถูกค้นพบและนำมาปรากฏไว้รวมกับ Artera Solus Play ที่หน้าต่างนี้

การเปิดใช้งานโหมด Critical Listening Mode เพื่อเปิดรับสัญญาณเสียงระดับ Hi-Res Audio ทำได้โดยแตะที่สัญลักษณ์กลมๆ สีขาวตรงลูกศรสีแดงชี้อยู่ (ลักษณะในภาพคือกำลังเปิดใช้) เมื่อคุณต้องการเล่นไฟล์เพลงไปที่อุปกรณ์ตัวไหนก็ให้จิ้มลงไปที่ชื่อของอุปกรณ์ตัวนั้นเพื่อเลือก source ที่เก็บไฟล์เพลง ซึ่งในเน็ทเวิร์คของผมมีแค่ Artera Solus Play ตัวเดียว ในภาพจะเห็นว่ามีคำว่า (OPT 1) ต่อท้ายชื่อเครื่องตัวนี้อยู่ด้วย เนื่องจากขณะเปิดแอพฯ ผมกำลังใช้งาน Artera Solus Play ตัวนี้ที่อินพุต Optical 1 โดยต่ออยู่กับทีวี Sony OLED Bravia A9F ถ้าต้องการเล่นไฟล์เพลงจากอินพุต Ethernet หรือ Wi-Fi ผมก็แค่จิ้มลงไปที่ชื่อของ Artera Solus Play บนหน้าต่างนี้

หลังจากจิ้มปลายนิ้วลงไปแล้ว.. หน้าต่าง source ของแอพฯ DTS Play-Fi จะปรากฏขึ้นมาตามภาพด้านบนนี้ ซึ่งในนั้นจะมีทั้งแหล่งเก็บไฟล์เพลงของผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการในประเทศไทยและยังไม่มีบริการในไทย อย่างเช่น Amazon Music, DeeZer, KKBOK, Qobuz, TIDAL ฯลฯ และฮาร์ดดิสที่เก็บไฟล์เพลงบนอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกัน อาทิ ในฮาร์ดดิสของคอมพิวเตอร์ และใน NAS ซึ่งแหล่งเก็บไฟล์เพลงทั้งหมดนั้นได้ถูกรวมไว้ใน source ที่ใช้ชื่อว่า “Media Serverคุณต้องการรับฟังเพลงจากแหล่งไฟนก็แค่จิ้มลงไปที่โลโก้ source นั้นได้เลย

ผมเริ่มด้วยการทดลองฟังอัลบั้มของ Adele ชุด 30 ที่อยู่ใน TIDAL เป็นไฟล์ FLAC 16/44.1 ซึ่งขั้นตอนในการค้นหาไฟล์เพลงที่ต้องการเล่นบน TIDAL จากแอพฯ DTS Play-Fi ก็ไม่ยาก ลักษณะขั้นตอนและหน้าตาของอินเตอร์เฟซออกมาคล้ายกับแอพฯ ของ TIDAL เอง เสียงที่ออกมาดีมาก โดยเฉพาะอัลบั้มนี้บันทึกเสียงมาดีอยู่แล้ว แสดงว่า ภาค DAC กับภาคขยายของ Artera Solus Play ให้คุณภาพเสียงออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เสียงลอย เปิดกว้าง รายละเอียดชัดแต่ไม่เครียดและไม่ดัน บรรยากาศเปิดโล่ง ให้อารมณ์เพลงที่ผ่อนคลายดี

ผมทดลองเข้าไปหาไฟล์เพลงของผมที่ผมเก็บไว้ใน NAS ด้วยการจิ้มไปที่ Media Server จากแอพฯ DTS Play-Fi หลังจากจิ้มลงไปแล้ว แอพฯ ก็เริ่มทำการค้นหาว่าในวงเน็ทเวิร์คที่บ้านผมมีฮาร์ดดิสเก็บไฟล์เพลงอยู่ที่ไหนบ้าง.? ซึ่งหากเน็ทเวิร์คที่บ้านคุณมีความเร็วสูง ขั้นตอนค้นหานี้จะเร็วมากแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

เมื่อแอพฯ ค้นหาเสร็จ มันจะเริ่มเจาะเข้าไปที่ฮาร์ดดิสเก็บไฟล์เพลงลูกแรกที่มันเจอขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ในภาพนี้คือฮาร์ดดิสที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ PC ของผม (สังเกตชื่อ Asset UPnP: THANEEPC ด้านบน) ที่เชื่อมต่ออยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน แต่ผมต้องการเล่นไฟล์เพลงที่ผมเก็บไว้ใน NAS ผมจึงจิ้มลงไปตรงเครื่องหมายสี่เหลี่ยม (ลูกศรสีฟ้าชี้) ที่ด้านล่างจะมีปุ่ม Switch Media Server กับ Cancel เลื่อนขึ้นมา ให้เลือกจิ้มลงไปที่ “Switch Media Server

หน้าต่าง Media Server จะโผล่ขึ้นมา ซึ่งในเน็ทเวิร์ควงเดียวกันนี้ นอกจาก NAS ที่ผมใช้เก็บไฟล์เพลงแล้ว ผมยังได้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์พีซีอยู่ด้วย ตัวแอพฯ มันกวาดเจอก็นำมาโชว์ให้เราเลือก ในกรณีนี้ผมต้องการเล่นไฟล์เพลงจาก NAS ของผม ผมจึงจิ้มเลือกลงไปที่ “MinimServer [MusicServer]ซึ่งเป็นชื่อของโปรแกรมมีเดีย เซิร์ฟเวอร์ MinimServer ที่ผมลงไว้ใน NAS

เมื่อหน้าต่างมีเดีย เซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการใช้งานโผล่ขึ้นมา ผมจะเลือกไปที่หัวข้อ [folder view] เนื่องจากผมจัดกลุ่มของไฟล์ฟอร์แม็ตแยกกันไว้เป็น folder

การแยกไฟล์ฟอร์แม็ตออกเป็น folder แบบนี้จะง่ายต่อการเลือกเล่นเฉพาะฟอร์แม็ตที่ต้องการเล่น อย่างเช่น เมื่อผมต้องการทดสอบว่า DTS Play-Fi รองรับการเล่นไฟล์ DSD ผ่านทางเน็ทเวิร์คหรือไม่ ผมก็เลือกไปที่โฟลเดอร์ DSD ซึ่งผมก็แยกไว้เป็นลำดับคือ DSD64, DSD128 และ DSD256

พอผมจิ้มเลือกอัลบั้มที่เป็นไฟล์ฟอร์แม็ต DSD เพื่อลองเล่น ตัวแอพฯ จะแจ้งว่าในโฟลเดอร์นั้นไม่มีไฟล์เพลงให้เล่น (No Audio Content Available) แสดงแบบนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเลือก DSD64, DSD128 หรือ DSD256 แสดงว่า DTS Play-Fi ไม่รองรับการสตรีมไฟล์เพลงฟอร์แม็ต DSD ผ่านทางเน็ทเวิร์ค

จากนั้นผมก็ลองเลือกฟอร์แม็ต PCM ที่มีความละเอียด 16bit/44.1kHz ที่เป็นไฟล์สกุล WAV จากอัลบั้มที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีขึ้นมาลองฟัง ปรากฏว่า DTS Play-Fi กับภาค DAC 32bit ในตัว Artera Solus Play ร่วมมือกันเล่นไฟล์นี้ออกมาได้อย่างน่าพอใจ เสียงดนตรีแต่ละเพลงในอัลบั้มชุด แดนศิวิไลซ์ออกมาสด กระจ่าง รายละเอียดพรั่งพรู มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง..

ผมขยับไปลองฟังฟอร์แม็ต PCM ที่มีความละเอียดสูงขึ้นคือไฟล์สกุล FLAC 24/96 และไฟล์สกุล FLAC 24/192 ปรากฏว่าแอพ DTS Play-Fi กับภาค DAC 32bit ในตัว Artera Solus Play จับมือกันสอบผ่านไปได้สบาย เสียงที่ออกมาก็ดีกว่าไฟล์สกุล WAV ที่เป็นฟอร์แม็ต PCM 16/44.1 ขึ้นไปอีกระดับ เนื้อมวลเนียนมากขึ้น คอนทราสน์ไดนามิกมีความต่อเนื่อง ลื่นไหลมากขึ้น สวิงได้กว้างขึ้น รายละเอียดหยุมหยิมปรากฏตัวออกมาให้ได้ยินชัดขึ้น ความเข้มข้นของตัวเสียงดีขึ้นมาก..

ที่มุมด้านล่างทางซ้ายของแอพฯ DTS Play-Fi หน้าที่แสดงรายละเอียดตอนเล่นเพลงจะมีสัญลักษณ์เป็นขีดสามขีดอยู่ตรงนั้น เมื่อจิ้มนิ้วลงไปจะมีแถบปรับวอลลุ่ม (ศรชี้สีแดง) เลื่อนขึ้นมาจากด้านล่าง ใช้สไลด์เลื่อนปรับระดับความดังได้ แต่มันไม่ลื่นและยังไม่แม่นยำ สู้ปรับจากรีโมทไร้สายดีกว่า ตอน iPhone 12 พักหน้าจอจะมี mini player ขึ้นมาด้านหน้าให้ควบคุมสั่งงานการเล่นเพลงด้วย

ผมทดลองเลือกไฟล์เพลงฟอร์แม็ต DXD 24/352.8 มาลองฟัง ปรากฏว่าเล่นไม่ได้.. จึงสรุปได้ว่าเมื่อเล่นด้วยแอพ DTS Play-Fi ผ่านเข้าที่อินพุต Ethernet ของ Artera Solus Play คุณจะเล่นได้เฉพาะไฟล์ที่แพ็คสัญญาณ PCM ที่ระดับสูงสุดไม่เกิน 24/192 เท่านั้น ส่วนไฟล์ฟอร์แม็ตรองรับได้ทุกสกุลที่ผมทดลองฟังไปแล้วนั่นคือ WAV, AIFF, FLAC และ ALAC

ลองเล่นไฟล์เพลงเข้าทางอินพุต USB ด้วยโปรแกรม roon

ผมใช้ roon nucleus+ ในการสตรีมและเล่นไฟล์เพลงทั้งจาก TIDAL และจาก NAS แล้วส่งสัญญาณดิจิตัลไปให้ Artera Solus Play ทางอินพุต USB

ข้อมูลจากหน้า Device setup ของโปรแกรม roon แจ้งว่า Artera Solus Play ใช้ไดเวอร์ USB Audio 2.0 ที่ชื่อว่า “QUAD USB Audio 2.0ในการสื่อสารกับโปรแกรมเพลเยอร์ของ roon nucleus+ ซึ่งหลังจากโปรแกรม roon ได้ทำการวิเคราะห์ตัวตน (identified) ของภาค DAC ในตัว Artera Solus Play แล้วพบว่า ไดเวอร์ QUAD USB Audio 2.0 ไม่ได้เป็น roon tested จึงไม่เปิดอ๊อปชั่นให้ roon เข้าไปควบคุมการเล่นไฟล์เพลง โปรแกรม roon จึงปรับตั้งเงื่อนไขการเล่นไฟล์เพลงไปตามพื้นฐานที่โปรแกรมถูกกำหนดไว้ ซึ่งเป็นค่า default ของโปรแกรมที่จะถูกเรียกขึ้นมาใช้ในกรณีที่พบว่า DAC ตัวนั้นไม่ได้เป็น roon tested และไม่สามารถเจาะเข้าไปควบคุมได้ (มาตรฐานที่ใช้กับ unidentified device) นั่นคือ

DSD playback strategy > Convert to PCM
MQA capabilities > Renderer only
Volume control > Device volume

ที่หัวข้อ DSD playback strategy ถูกเลือกใช้วิธี “Convert to PCMคือแปลงไฟล์ DSD เป็น PCM ก่อนส่งไปให้ Artera Solus Play และเนื่องจาก roon ไม่ได้รับอนุญาตให้เจาะเข้าไปสำรวจภาค DAC ในตัว Artera Solus Play โปรแกรม roon จึงประเมินว่า Artera Solus Play ไม่มี MQA decoder โปรแกรม roon จึงเลือกวิธีการจัดการกับไฟล์ MQA ด้วยวิธี “Renderer onlyมาให้ คือเมื่อโปรแกรม roon เจอไฟล์ MQA ตัวโปรแกรมจะทำการถอดรหัสให้ครึ่งหนึ่งก่อนส่งไปให้ปลายทาง คือออกมาเป็น PCM 88.2kHz หรือ PCM 96kHz อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ฐานของสัญญาณ PCM ที่แพ็คมาในไฟล์ MQA นั้นๆ ส่วนหัวข้อ Volume control โปรแกรม roon เลือกวิธี “Device volumeมาให้คือเปิดใช้การปรับวอลลุ่มผ่านโปรแกรม roon ไว้ให้

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการที่ DAC ได้รับการรับรองเป็น roon tested ก็คือโปรแกรมเพลเยอร์ของ roon จะทำการปรับตั้งพารามิเตอร์ต่างๆ ที่ใช้กับ DAC ตัวนั้นได้อย่างถูกต้องตามที่ผู้ผลิต DAC ต้องการให้อัตโนมัติโดยที่ยูสเซอร์ไม่ต้องลำบากเข้าไปปรับตั้งเอง แค่เสียบสาย USB ลิ้งค์กันระหว่าง roon tested DAC กับโปรแกรม roon เท่านั้น สำหรับ DAC ที่ไม่ผ่านการรับรองเป็น roon tested ตัวโปรแกรม roon ก็จะเลือกวิธีปรับตั้งให้เองตามมาตรฐานที่ roon ประเมินไว้สำหรับอินพุต USB 2.0 ซึ่งแน่นอนว่า บางค่าการปรับตั้งจะไม่ตรงกับความสามารถจริงๆ ของ DAC ตัวนั้น ซึ่งกรณีที่คุณรู้ คุณก็สามารถเข้าไปปรับตั้งพารามิเตอร์ตัวนั้นให้อยู่ในเงื่อนไขที่ถูกต้องได้ด้วยวิธีแมนน่วล

ในสเปคฯ ของ Artera Solus Play แจ้งไว้ว่า ช่องอินพุต USB ของ Artera Solus Play รองรับสัญญาณ DSD ได้สูงถึง DSD256 (หรือ DSD11.2MHz) จึงไม่น่าจะต้องแปลงเป็น PCM อย่างที่โปรแกรม roon ประเมินไว้ ผมจึงเข้าไปเปลี่ยนเป็น “DSD over PCM v.1.0 (DoP)และไม่มีข้อมูลจากผู้ผลิตแจ้งว่าภาค DAC ของ Artera Solus Play มีดีโค๊ดเดอร์ MQA แต่เนื่องจากภาค DAC ของ Artera Solus Play สามารถรองรับสัญญาณ PCM ได้ถึงระดับไฮเรซฯ วิธีการจัดการกับไฟล์ MQA ที่โปรแกรม roon กำหนดให้เป็น “Renderer onlyก็ถือว่าโอเค เพราะได้ประโยชน์จากการที่โปรแกรม roon จะช่วยถอดให้ครึ่งหนึ่ง ผมเลยคงไว้ตามที่ roon แนะนำ สุดท้ายคือ Volume control ผมเปลี่ยนเป็น “Fixed volumeปิดการปรับสอลลุ่มผ่านแอพฯ ไว้ เพื่อตัดปัญหาวอลลุ่มซ้อนวอลลุ่ม ซึ่งมีโอกาสจะทำให้เสียงออกมาไม่ดี ค่าที่ผมตั้งใหม่ก่อนเริ่มต้นทดสอบเสียง คือ

DSD playback strategy > DSD over PCM v.1.0 (DoP)
MQA capabilities > Renderer only
Volume control > Fixed volume

ผมทดลองเล่นไฟล์เพลง PCM ที่เป็นเพลงเดียวกัน แล้วฟังเทียบกัน ระหว่างการเล่นผ่านเข้าทางอินพุต Ethernet ด้วยแอพ DTS Play-Fi กับเล่นผ่านเข้าทางช่องอินพุต USB ด้วยโปรแกรม roon บน roon nucleus+ ผมพบว่า ถ้าเป็นไฟล์ PCM ที่มีความละเอียดตั้งแต่ 16/44.1 ขึ้นไปจนถึง 24/192 เล่นด้วยแอพ DTS Play-Fi ผ่านเข้าทางอินพุต Ethernet ให้เสียงออกมาดีมาก น่าพอใจ ส่วนเล่นด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ roon ผ่านเข้าทางอินพุต USB ก็ให้คุณภาพเสียงออกมาใกล้เคียงกัน แต่ต้องแม็ทชิ่งสาย USB ดีๆ เพราะผมพบว่า สาย USB มีผลกับคุณภาพเสียงจากการเล่นผ่านเข้าทางอินพุต USB มากพอสมควร สรุปแล้ว ถ้าเป็นไฟล์เพลง PCM ระดับ 16/44.1 ขึ้นไปจนถึง 24/192 ผมแนะนำให้เล่นด้วยแอพ DTS Play-Fi ผ่านเข้าทางอินพุต Ethernet ได้ทั้งคุณภาพและความประหยัดมากกว่าเล่นผ่านเข้าทางช่อง USB

แต่ถ้าคุณเป็นติ่งไฟล์เพลง DSD ก็ไม่มีทางเลือกที่คุณต้องเล่นผ่านเข้าทางอินพุต USB สถานเดียว ซึ่งการเล่นผ่านเข้าทางอินพุต USB ก็ให้เสียงออกมาดีมาก แต่อินพุตนี้ต้องการความละเอียดในการแม็ทชิ่งสูงมาก เนื่องจากการเพลย์แบ็คผ่านทาง USB มันใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีความซับซ้อนมากกว่า

ผมเองก็เป็นติ่ง DSD คนหนึ่ง ผมมีไฟล์เพลงฟอร์แม็ต DSD เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ที่ผมริปออกมาจากแผ่น SACD กับบางส่วนที่ซื้อจากอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็นไฟล์ DSD64 ส่วนไฟล์ DSD128 และ DSD256 มีอยู่ไม่มากนัก หลังจากทดลองฟังไฟล์ DSD64 ผ่านอินพุต USB ของ Artera Solus Play ผมพบว่ามันให้เสียงออกมาดีมาก ที่เด่นและแตกต่างจากเสียงของไฟล์ PCM ไฮเรซฯ ที่เล่นด้วยแอพ DTS Play-Fi เข้าทางอินพุต Ethernet ก็คือไดนามิกคอนทราสน์ที่ DSD ให้ได้ต่อเนื่องลื่นไหลมากกว่า เข้าทางเพลงช้าๆ จะได้อารมณ์มากขึ้น ส่วน PCM ทางช่อง Ethernet ก็ออกมาดี แต่จะเด่นไปทางกระฉับกระเฉง สดและมีชีวิตชีวา เพลงที่มีจังหวะเร็ว กระแทกกระทั้นจะเข้าทางมาก

เล่นไฟล์ DSD128 ผ่านอินพุต USB ของ Artera Solus Play ให้เสียงออกมาดีมาก พื้นเสียงสงัดกว่าไฟล์ DSD64 ค่อนข้างชัด ตัวเสียงมีโทนเสียงที่ถูกต้องมากกว่า คือทุ้มเป็นทุ้ม กลางเป็นกลาง และแหลมเป็นแหลม ในขณะที่ย่านเสียงกลางสูง (upper midrange) ของไฟล์ DSD64 จะติดสว่าง ในขณะที่ย่านกลางต่ำ (lower midrange) ก็ติด dark มากไปนิด ภาค DAC ของ Artera Solus Play จัดการกับไฟล์ DSD128 ออกมาได้ดีมาก ฟังแล้วสัมผัสได้ถึง resolution ของไฟล์ที่ใหญ่กว่าที่มันสะท้อนออกมาในแง่ของ คุณภาพเสียงที่ทำให้ฟังแล้วรู้สึกเหมือน เสียงจริงของเครื่องดนตรีและนักร้องที่เกิดขึ้นในห้อง มันเหนือกว่าในแง่ของบรรยากาศและความรู้สึกร่วม โดยเฉพาะไฟล์ DSD128 ของอัลบั้มชุด Jazz At The Pawnshop ของค่าย 2HD ทำออกมาได้น่าขนลุกมาก.! ผมรู้สึกขนลุกตั้งแต่เริ่มต้นแทรคแรก Limhouse Blues ที่เป็นเสียงบรรยากาศในคลับ ทั้งเสียงพึมพำ เสียงแก้วกระทบกัน และเสียงเคลื่อนไหวของผู้คน มันให้ความรู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้น กำลังเกิดขึ้นภายในห้องฟังของผม และเมื่อเสียงกลองเริ่มต้นพร้อมกับเสียงเบสและแซ็กโซโฟน ดนตรีก็ลื่นไหลและขยับเคลื่อนไปอย่างมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง..

หลังจากทดลองเล่นไฟล์ DSD256 ผมพบว่า โปรแกรม roon ทำการ “ลดรูป” (sample rate conversion) สัญญาณ DSD256 ลงไปอยู่ที่ DSD128 ก่อนจะเข้ารหัสเป็น DoP แล้วส่งออกไปให้ภาค DAC ของ Artera Solus Play ทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอก ซึ่งเสียงที่ได้ออกมาก็ไม่ถือว่าน่าเกลียด แม้ว่าจะไม่ดีมากเท่ากับการเล่นไฟล์ DSD256 แบบ native ตรงๆ แต่ที่ Artera Solus Play ทำออกมาก็อยู่ในข่ายที่ยอมรับได้ ความเป็นดนตรียังคงอยู่ในระดับที่น่าฟัง

สรุป

ไม่ผิดถ้าคุณจะรู้สึกว่าผมตั้งอกตั้งใจทดสอบ all-in-one ของ QUAD ตัวนี้มากเป็นพิเศษ.. เหตุผลนั้นไม่มีอะไรมาก เพราะหลังจากที่ผมได้ยินเสียงแรกของมันแล้ว ยอมรับว่ามันสะกิดใจผมมาก.! เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เครื่องเสียงประเภทรวมหลายชิ้นเข้าด้วยกันอย่าง all-in-one ลักษณะเดียวกับ Artera Solus Play ตัวนี้มักจะให้คุณภาพเสียงโดยรวมออกมาแค่ระดับดีพอสมควรเท่านั้น คือดีในมาตรฐานของ ค่าเฉลี่ยแต่ไม่ถึงกับโดดเด่นและดึงดูดอารมณ์ในการฟังเพลงได้มากเท่ากับเครื่องเสียงแยกชิ้นระดับไฮเอ็นด์

เมื่อได้ทดลองฟัง Artera Solus Play กับลำโพงหลากหลายโดยเฉพาะลำโพงที่มีคุณภาพเสียงดีมากๆ หลายคู่ ผมพบว่า all-in-one ของ QUAD ตัวนี้มันไม่เหมือนกับ all-in-one ตัวอื่นๆ ที่เคยฟังมา คุณภาพเสียงที่มันให้ออกมาสามารถดึงดูดให้ผมนั่งฟังแบบ เอาจริง-เอาจังได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ มันให้ประสบการณ์บางอย่างที่ผมได้ยินจากรุ่น Vena II Play (REVIEW) คือความเป็นดนตรีที่ชวนฟัง แต่ระดับที่ Artera Solus Play ให้ออกมานี้มันลึกซึ้งลงไปอีกขั้น มันเป็นอารมณ์ที่เอาจริงมากขึ้น..

ถ้าคุณมีความคิดที่อยากจะยุบชุดเครื่องเสียงให้ดูเรียบง่ายมากขึ้น แต่คงไว้ซึ่งเสียงที่มีความเป็นดนตรีอย่างยิ่งยวด Artera Solus Play คือตัวเลือกนั้นสำหรับงบประมาณระดับกลางๆ และถ้าเพิ่มเติมเพาเวอร์แอมป์ Artera Stereo เข้าไปอีกตัวก็เหมือนติดปีก คุณจะได้ source + amplifier ในระดับไฮเอ็นด์อยู่ในมือ ขอแค่ลำโพงระดับกลางสูงที่ให้เสียงดีๆ อีกคู่เดียวเท่านั้น… จบ!! /

********************
ราคา:
Artera Solus Play = 67,900 บาท / เครื่อง
(โปรโมชั่นจากราคาเต็ม 90,000 บาท / เครื่อง)

—–
Artera Stereo = 64,900 บาท / เครื่อง
(โปรโมชั่นจากราคาเต็ม 85,000 บาท / เครื่อง)
(*ไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน)
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
. HiFi Tower
โทร. 02-881-7273-5

facebook: @hifitowerShop
Line ID: @hifitower

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า