รีวิว Rega รุ่น Aethos อินติเกรตแอมป์แบบ pure analogue

เมื่อเจ้าแห่ง Analogue Sound! อย่าง Rega ลงมือทำอินติเกรตแอมป์รุ่นสูงๆ ออกมาทั้งทีไม่เสียชื่อจริงๆ เพราะ ‘Aethosตัวนี้ เป็น ‘pure analogue integrated amplifierแบบที่เรียกว่า แหวกเทรนด์นิยมของอินติเกรตแอมป์ในยุคปัจจุบันไปเลย.! คือเป็นอินติเกรตแอมป์แทบจะหนึ่งเดียวในตลาดทุกวันนี้ที่ ไม่มีภาค DAC และส่วนของวงจรอิเล็กทรอนิคส์ที่ทำงานในโดเมนดิจิตัลอยู่ภายในตัวเลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กำลังขับที่สูงถึง 125W ที่โหลด 8 โอห์ม (156W ที่โหลด 6 โอห์ม) ของอินติเกรตแอมป์ Rega ตัวนี้เป็น พลังบริสุทธิ์ที่ให้น้ำเสียงสะอาดตามมาตรฐาน Analogue Sound! เต็มเปี่ยม..!!!

สวย..!!!

ปัจจุบัน Rega มีอินติเกรตแอมป์อยู่ทั้งหมด 6 รุ่น ด้วยกัน ซึ่งรุ่น Aethos ที่ผมนำมารีวิวครั้งนี้ เป็นอินติเกรตแอมป์รุ่นใหญ่อันดับที่สอง รองจากรุ่นท็อปคือ Osiris REF ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาภายนอกแล้ว ต้องแอบบอกเลยว่า รุ่น Aethos ตัวนี้ออกแบบได้สวยกว่าทุกรุ่นที่มีอยู่ทั้งหมด.!

Aethos มาในรูปลักษณ์ของตัวถังทรงสี่เหลี่ยมที่มีความสูงแค่ 9.5 .. เท่านั้น ส่วนความกว้างกับความลึกอยู่ในพิกัดเดียวกับเครื่องมาตรฐานทั่วไป โครงสร้างหลักของตัวถังประกอบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมที่หนาเกือบหนึ่งเซ็นติเมตรจำนวน 2 แผ่น ประกบด้านบนและด้านล่างของตัวถัง ซึ่งแผ่นอะลูฯ ทั้งสองนั้นได้ผ่านการกลึงเกลาด้วย CNC ให้มีส่วนเว้าด้านข้างที่ดูเก๋และลดความกระด้างแข็ง และตรงส่วนเว้านั้นได้เปิดโชว์แผงตะแกรงฮีทซิ้งค์ให้ยื่นโผล่ออกมาเล็กน้อยทางด้านข้างของตัวถังทั้งซ้ายและขวา กลายเป็นรูปแบบดีไซน์ที่เก๋ไก๋ไปเลย บนแผ่นหลังของตัวเครื่องมีป้ายชื่อรุ่น AETHOS ฝังอยู่ตรงกลางด้วย

งานประกอบตัวถังเนี้ยบมากๆ สังเกตได้จากการเข้ามุมซึ่งมีการเก็บงานละเอียด ไม่เห็นน็อตสักตัว.!!

แผงหน้าปัดกับฟังท์ชั่นใช้งาน

1. ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง
2. ปุ่มเลือกฟังท์ชั่น record
3. ปุ่ม mute
4. ปุ่มเลือกแหล่งอินพุต (input selector)
5. รูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 ..
6. ไฟ LED แสดงตำแหน่งอินพุตที่กำลังใช้งาน
7. โลโก้แบรนด์
8. ตัวอักษรที่ใช้แสดงให้รู้ว่ากำลังใช้งานอินพุต Direct
9. ปุ่มวอลลุ่ม

บนหน้าปัดของ Aethos มีฟังท์ชั่นใช้งานติดตั้งอยู่บนนั้นทั้งหมด วางตำแหน่งต่อเนื่องกันไปเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ถ้ามองเข้าไปที่แผงหน้า เริ่มจากด้านซ้ายมือสุดจะเป็นที่ตั้งของปุ่มกลไกที่ใช้เปิด/ปิดเครื่อง (1) ซึ่งฝังซ่อนอยู่กับแผ่นโลหะที่ปิดมุม ในจังหวะที่เครื่องถูกปิดการทำงาน ปุ่มนี้จะเด้งออกมาอยู่ในระดับที่เสมอกับระนาบของแผ่นโลหะที่ปิดมุมพอดีๆ กลมกลืนกันจนแทบจะมองไม่ออก เมื่อกดปุ่มนี้เพื่อให้เครื่องเข้าสู่โหมดการทำงาน ตัวปุ่มจะจมลงไปเล็กน้อย และโลโก้ชื่อยี่ห้อที่อยู่บนหน้าจอจะสว่างขึ้นเป็นสีแดง หลังจากนั้นสองสามวินาทีจะมีเสียงคลิ๊กเบาๆ ซึ่งเป็นเสียงเชื่อมต่อรีเลย์ตรงเอ๊าต์พุต แสดงให้รู้ว่าเครื่องพร้อมทำงาน

ปุ่มนี้ถูกกำหนดให้เป็นปุ่มเมนหลักที่ควบคุมการเปิด/ปิดการทำงานของตัวเครื่องโดยตรงเพียงแค่ปุ่มเดียว ไม่มีปุ่ม soft start ที่ใช้เปิด/ปิดเครื่องด้วยรีโมทไร้สาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นตอที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการขจัด ต้นเหตุของ noise หรือตัวที่ก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนในระบบออกไป นอกเหนือจากการตัดภาค DAC และภาค Phono ออกไป แต่พวกเขายังใจอ่อน ยอมให้กับความสะดวกโดยติดตั้งตัวรับสัญญาณรีโมทไร้สายมาให้ ซึ่งวงจรที่ใช้ควบคุมผ่านรีโมทไร้สายได้ถูกแยกออกไปจากวงจรที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณเสียง ไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง

ถัดจากปุ่มกดเปิด/ปิดเครื่องไปทางขวามือจะเป็นปุ่มกดเล็กๆ เรียงกันอยู่ 3 ปุ่ม ซึ่งถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ต่างกันสามอย่าง เริ่มจากปุ่มแรก (2) เป็นปุ่มกดเลือกอินพุต/เอ๊าต์พุต ซึ่งเป็นลู๊ปของสัญญาณ I/O ที่ใช้สำหรับการบันทึกเสียง ปุ่มถัดไป (3) เป็นปุ่ม Mute เพื่อหยุดเสียงอย่างเร็ว ซึ่งจะควบคุมทั้งส่วนของปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ ซึ่งรวมถึงเอ๊าต์พุตที่ช่อง Pre-Out และช่องอินพุต Direct in ที่รองรับสัญญาณจากปรีแอมป์ภายนอกด้วย ถัดไปคือปุ่ม Input Selector (4) ซึ่งเป็นปุ่มที่ใช้กดเพื่อเลือกแหล่งอินพุตที่มีให้เลือกทั้งหมด 5 แหล่ง

ปุ่มขนาดใหญ่เพียงปุ่มเดียวที่อยู่ด้านขวาสุดของแผงหน้า (9) ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ควบคุมระดับความดัง ซึ่งสามารถควบคุมผ่านรีโมทไร้สายที่แถมมาให้ได้ด้วย (เป็น universal remote ที่ใช้ควบคุมอุปกรณ์อื่นได้ด้วย) แต่จากการทดลองใช้งานผมพบว่า การควบคุมด้วยรีโมทฯ จะไม่ค่อยละเอียด การลดหรือเพิ่มความดังทีละนิดทำได้ยาก สู้ปรับด้วยมือไม่ได้

ขั้วต่อ

10. ขั้วต่อสำหรับสัญญาณระดับไลน์ อินพุตทั้ง 5 ชุด
11. ลู๊ป In/Out ของสัญญาณที่ใช้สำหรับการบันทึกเสียง
12. ช่อง direct input
13. ช่อง pre-amp output
14. ขั้วต่อสายลำโพงข้างขวา (R channel)
15. ขั้วต่อสายลำโพงข้างซ้าย (L channel)
16. จุดใส่ฟิวส์
17. เต้ารับปลั๊กไฟจากสายไฟเอซี

อย่างที่เกริ่นมาข้างต้นที่ว่า Aethos เป็นอินติเกรตแอมป์อะนาลอกที่มาในแนว “pure & simpleคือตั้งหน้าตั้งตาขยายสัญญาณอย่างเดียว ไม่มีภาค DAC และภาค Phono เข้ามายุ่งเหยิง ด้วยเหตุนี้ บนแผงหลังของตัว Aethos จึงดูเรียบง่าย เป็นระเบียบ ดูดีตามมาตรฐานของ Rega ทุกประการ โดยมีแค่ขั้วต่อสำหรับสัญญาณเข้า/ออก, ขั้วต่อสายลำโพง (14, 15) และเต้ารับไฟเอซี (17) เท่านั้น

ช่องอินพุต/เอ๊าต์พุตสำหรับสัญญาณ Line Level (10) ที่ให้มาทั้ง 5 ช่องทางนั้น รวมถึงขั้วต่อ I/O สำหรับใช้ในการบันทึกเสียง (11) ถูกออกแบบมาให้รับ/ส่งสัญญาณด้วยฟอร์แม็ต unbalanced ระหว่างกันผ่านทางขั้วต่อ RCA ทั้งหมด

ทดลองต่อเชื่อมสัญญาณจากช่อง Pre-amp Out (วงกลมสีเขียว) ไปที่ลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์รุ่น KC92 ของ KEF สองตัว แยกซ้าย-ขวา เพื่อเซ็ตอัพชุดฟังเพลงให้เป็นระบบเสียง stereo 2+2 ch ปรากฏกว่าได้ผลลัพธ์ออกมาดีมาก

ผู้ผลิตตั้งใจให้ Aethos มีทางไปต่อสำหรับการขยับขยายซิสเต็มออกไปได้ในอนาคต ด้วยการให้ช่อง direct input (12) กับช่อง pre-amp out (13) มา ซึ่งคุณประโยชน์ของช่อง direct input ที่มองเห็นได้ชัดก็คือมีไว้รองรับสัญญาณจากโปรเซสเซอร์ ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่คุณนำเอาปรีแอมป์ตัวนี้ไปใช้ร่วมกับชุดโฮมซีนีม่าที่มีปรีโปรเซสเซอร์ หรือเอวี โปรเซสเซอร์ควบคุมระบบอยู่ ส่วนช่อง pre-amp out นั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ที่แน่ๆ อย่างแรกก็คือ ใช้เชื่อมต่อกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกในกรณีที่ต้องการขยับขยายความสามารถในการขับดันลำโพงให้สูงขึ้น กับอีกกรณีที่กำลังจะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ นั่นคือ เอาไว้ป้อนสัญญาณให้กับลำโพงแอ๊คทีฟ ซับวูฟเฟอร์ที่มี DSP จัดการกับจุดตัด, เหส และความดัง เพื่อขยายความสามารถในการตอบสนองความถี่และไดนามิกเร้นจ์ของระบบลำโพงในซิสเต็มเดิมให้เปิดกว้างมากขึ้น เหมาะสมกับการใช้เล่นไฟล์ไฮเรซฯ

ดีไซน์ภายใน

ภาคปรีแอมป์ของ Aethos ใช้ภาคขยาย class-A แบบดีสครีต คือใช้อุปกรณ์เป็นตัวๆ ในการจัดเรียงตลอดทั้งวงจร ไม่ได้ใช้ชิป opamp แบบสำเร็จรูป จึงมั่นใจเรื่องปริมาณกระแส (current) ที่จ่ายได้เต็มตามดีไซน์ นอกจากนั้น ทีมออกแบบของ Roy Gandy ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบปรีแอมป์ที่เน้นในแง่ความโปร่งใสของพื้นเสียงมากเป็นพิเศษ โดยเลือกใช้ FET ทางด้านอินพุต ส่วนในระบบวอลลุ่มก็มีการใช้วงจร feedback ในการตรวจวัดปริมาณของสัญญาณอินพุตทั้งสองแชนเนลไว้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้อัตราขยายของวอลลุ่มที่ส่งไปให้ภาคเพาเวอร์แอมป์อยู่ในระดับที่ เท่ากันทั้งสองแชนเนล ตลอดเวลา ไม่ว่าระดับความแรงของสัญญาณอินพุตจะบางเบาแค่ไหนก็ตาม

ส่วนภาคเพาเวอร์แอมป์ออกแบบโครงสร้างเป็นแบบ dual mono คือเหมือนเอาเพาเวอร์แอมป์โมโนไปจัดไว้ในตัวถังเดียวกัน จุดเด่นอยู่ที่ทรานซิสเตอร์ที่ใช้ขยายกำลัง ซึ่งพวกเขาใช้ของ Sanken ข้างละ 4 ตัวเป็นแหล่งจ่ายกำลังขับที่สูงถึง 125W ที่โหลด 8 โอห์ม (ปั๊มขึ้นไปได้สูงถึง 156W ต่อแชนเนลเมื่อโหลดลดลงไปอยู่ที่ 6 โอห์ม)

สมรรถนะ

แม้ว่าผู้ผลิตจะเคลมว่า ภาคขยายของ Aethos สามารถปั๊มกำลังขับออกมาได้ถึง 156W ที่ 6 โอห์ม ได้อย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่แถบสีแดงข้างบนนั้นเขามีเตือนไว้ว่า การใช้งานภาคขยายของแอมป์ตัวนี้ด้วยโหลด 6 โอห์ม ต่อเนื่องนานๆ อาจจะเป็นเหตุทำให้ความร้อนพุ่งสูงขึ้นไปถึง 40 องศา ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้วงจรป้องกันตัดการทำงานของแอมป์ลงได้ สรุปก็คือ Aethos ตัวนี้จะทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพโดยไม่ต้องพะวงกับอุณหภูมิของเครื่องก็ต่อเมื่อจับคู่กับลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์อยู่ที่ 8 โอห์ม แบบนิ่งๆเพื่อให้แอมป์ทำงานที่เรตกำลังขับ 125W ต่อข้างตลอดเวลา ไม่สวิงลงมาแช่อยู่ในระดับอิมพีแดนซ์ต่ำนานๆ นั่นเอง

สเปคฯ ที่น่าสนใจอันหนึ่งของ Aethos ก็คือ ความสามารถใน การตอบสนองความถี่ที่ค่อนข้างกว้างมาก คือถ้าคุณส่งสัญญาณอะนาลอกจากแหล่งต้นทางของคุณเข้าไปที่ช่อง Line input ทั้ง 5 ชุดนั้น จะได้แบนด์วิธตั้งแต่ 10Hz ขึ้นไปจนถึง 30kHz แต่ถ้าคุณเอาสัญญาณจากปรีแอมป์ภายนอกมาใช้งานกับ Aethos ตัวนี้ผ่านเข้าทางช่อง Direct input จะได้แบนด์วิธที่เปิดกว้างมากขึ้นไปอีกคือตั้งแต่ 10Hz ขึ้นไปจนถึง 50kHz ใครมีปรีแอมป์แพงๆ หรือใช้อุปกรณ์ประเภท DAC/Pre ที่มีราคาสูงๆ ก็สามารถอาศัยภาคเพาเวอร์แอมป์ 125W ในตัว Aethos ไปใช้ประโยชน์ได้เลย

แม็ทชิ่ง

ช่วงที่ทดสอบ Aethos นานเกือบสองเดือน ผมมีโอกาสทดลองจับแอมป์ตัวนี้เข้ากับลำโพง 4 คู่ เป็นลำโพงวางขาตั้ง 2 คู่ คือ WharfedaleSuper Denton‘ (REVIEW) กับ DynaudioSpecial Forty‘ (REVIEW) และลำโพงตั้งพื้น 2 คู่ คือ Audio PhysicClassic 8‘ (REVIEW) กับ DaliEpicon 6’ (REVIEW)

RegaAethos’ + WharfedaleSuper Denton

เมื่อเอาสเปคฯ ทางด้าน กำลังขับของ Aethos มาเทียบกับตัวเลข กำลังขับที่แนะนำที่ลำโพงแต่ละคู่กำหนดไว้ในสเปคฯ จะพบว่า ตัวเลข 125W ที่ 8 โอห์ม ของ Aethos ถือว่าอยู่ในระดับที่ มากพอสำหรับ Super Denton, Classic 8 และ Special Forty ส่วน DaliEpicon 6นั้นถือว่ากำลังขับของ Aethos ยังน้อยไปหน่อยสำหรับ Epicon 6 เสียงที่ได้ยินจากการทดลองฟัง Epicon 6 + Aethos พบว่า จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นเพลงที่ไม่หนักมาก ดนตรีไม่ซับซ้อน อย่างพวกเพลงร้องช้าๆ แอมป์+ลำโพงคู่นี้จะให้เนื้อเสียงเนียนละเอียดน่าฟังมาก ที่ยังออกมาไม่เต็มที่ก็คือไดนามิกที่สวิงกว้างๆ กับทรานเชี้ยนต์คมๆ หนักๆ เร็วๆ เท่านั้นเอง

RegaAethos’ + Audio PhysicClassic 8

ส่วน Aethos กับลำโพงที่เหลือทั้งสามคู่ ถือว่าไปกันได้ดีมาก.! กำลังขับ 125W ของ Aethos สามารถผลักดันเสียงของ Super Denton, Classic 8 และ Special Forty ออกมาได้เต็มห้องทั้งสามคู่ ถ้าถามว่า ผมชอบเสียงของ Aethos จับกับลำโพงคู่ไหนมากที่สุด คำตอบก็คือ Aethos + Special Forty มาอันดับหนึ่ง ซึ่งผมว่า แอมป์อังกฤษ+ลำโพงเดนมาร์กคู่นี้ ให้ค่าเฉลี่ยของคุณภาพเสียงในแต่ละคุณสมบัติออกมาได้ในระดับที่ น่าพอใจมากเรียกว่า ถ้าตั้งคะแนนเต็มของแต่ละคุณสมบัติของเสียงไว้ที่ 10 คะแนน คู่ของ Aethos + Special Forty ทำได้ 8-9 คะแนนเกือบทุกข้อ คุณสมบัติที่ทำได้แค่ 8 คะแนนก็คือไดนามิก โดยเฉพาะทรานเชี้ยนต์ไดนามิกที่ทำได้เร็ว แต่ยังขาดความกระชับและหนักหน่วงไปนิดนึง

RegaAethos’ + DynaudioSpecial Forty

ส่วนคู่ที่สองที่ผมชอบก็คือ Aethos + Classic 8 ซึ่งคู่นี้ทำคะแนนรวมได้ต่ำกว่า Aethos + Special Forty แค่นิดเดียว ถือว่าเป็นคู่แอมป์+ลำโพงที่แม็ทชิ่งกันดีมาก คุณภาพเสียงโดยรวมออกมาน่าพอใจมาก คะแนนรวมของทุกคุณสมบัติของเสียงทำได้ประมาณ 7 เต็ม 10 ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับราคาของแอมป์+ลำโพงคู่นี้ ถ้าเทียบกับคู่ Aethos + Special Forty แล้ว คุณสมบัติที่คู่ของ Aethos + Classic 8 เป็นรองอยู่หน่อยก็คือ ความเนียน+สะอาดของมวลเสียงเท่านั้นเอง

RegaAethos’ + DaliEpicon 6

เสียงของ RegaAethos

ผมเลือกเอาโน๊ตที่ผมจดบันทึกตอนทดลองฟังคู่ Aethos + Classic 8 กับคู่ Aethos + Special Forty มาสรุปเป็นเสียงของอินติเกรตแอมป์ Rega รุ่น Aethos ตัวนี้ เพราะผมว่ามันเป็น combination ที่ทำให้ Aethos สามารถแสดงศักยภาพของมันออกมาได้มากที่สุด ทำให้สิ่งที่ผมได้ยินน่าจะเป็น ตัวตนที่ชัดเจนมากที่สุดของอินติเกรตแอมป์ pure analog ตัวนี้.!

อัลบั้ม : Nothing But The Best (FLAC 16/44.1)
ศิลปิน : Frank Sinatra
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/23031374?u)

อัลบั้ม : The Nat King Cole Story (FLAC 16/44.1)
ศิลปิน : Nat King Cole
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/147092?u)

จากการทดสอบพบว่า ไม่ว่าจะจับคู่ Aethos กับลำโพงคู่ไหน เสียงที่ได้ออกมาแม้ว่าจะแตกต่างกันไปในแง่อื่นๆ แต่มีอยู่คุณสมบัติหนึ่งที่ออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เข้ม, เนียน และสะอาดของมวลเสียง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นมากที่สุดของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้.!!

เมื่อลองฟังเพลงร้องจะรับรู้ถึงประสิทธิภาพในการถ่ายทอดเสียงที่เนียนสะอาดของอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ใครที่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า เสียงเนียน สะอาดถ้าได้มาลองฟัง Aethos ตัวนี้แล้ว คุณจะกระจ่างทันที.! ถ้าไม่เชื่อผม แนะนำให้เข้าไปที่ TIDAL แล้วค้นหาสองอัลบั้มข้างบนนี้มาลองฟังเสียงร้องของ Nat King Cole กับ Frank Sinatra ดูเถิด..

ทำไมถึงแนะนำสองอัลบั้มนี้.? เหตุผลก็เพราะว่า สองอัลบั้มนี้เป็นงานบันทึกเสียงยุคเก่า ทำออกมานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะพบว่า เพลงเก่าๆ เหล่านี้ให้เสียงที่ไม่เนียนนวลเท่ากับเพลงใหม่ๆ และยิ่งเป็นฟอร์แม็ตดิจิตัลที่ทำออกมาในรูปของไฟล์เพลงผ่านสตรีมมิ่ง หลายคนไม่เอาเลย เขาว่าเสียงมันหยาบ, บาง ไม่มีมวลเนื้อ แต่ถ้าเคลียร์ noise จากซิสเต็มที่ใช้เพลย์แบ็คไฟล์เพลงเหล่านี้ได้อย่างหมดจดจริงๆ แล้ว จะพบว่า เพลงยุคเก่าๆ อย่างสองอัลบั้มก็ไม่ได้ให้เสียงออกมาเลวร้ายอย่างที่พูดๆ กัน มิหนำซ้ำ พอมาเล่นผ่านแอมป์ที่ให้เสียงสะอาดๆ อย่าง RegaAethosตัวนี้เข้าไปด้วย เสียงร้องของ Nat King Cole จากเพลง Nature Boy กับเสียงร้องของ Frank Sinatra จากเพลง Fly Me To The Moon ที่ผมได้ยินผ่าน Aethos ออกมามันถ่ายทอดออกมาได้ครบทั้งความเนียน ความสะอาด ความลื่นไหลของไดนามิกที่ต่อเนื่อง และแถมด้วย ความเข้มข้นของมวลเนื้อเสียงด้วย

ซึ่งประเด็น ความลื่นไหลของไดนามิกที่มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องนั้น ผมเข้าใจว่ามันคือมรรคผลที่ได้รับมาจากวงจรขยาย class-A ของภาคปรีฯ แน่ๆ ส่วน ความเข้มข้นของมวลเนื้อนั้นเข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากการประสานงานระหว่างทรานซิสเตอร์ Sanken ทั้ง 8 ตัว (4 ตัวต่อข้าง) กับภาคจ่ายไฟที่คอยหนุนพลังให้กับเพาเวอร์แอมป์นั่นเอง เพราะจากที่ฟังเทียบกับแอมป์หลายๆ ตัว ผมพบว่า เสียงของ Aethos มันมีความแตกต่างในแง่ของ เนื้อเสียงที่มีความเข้มข้นที่ให้ออกมาได้ดีกว่าแอมป์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ตัวอื่นค่อนข้างชัดเจน ผู้ผลิตอ้างว่า ทรานซิสเตอร์ Sanken ที่ใช้ในอินติเกรตแอมป์ตัวนี้ให้กระแสได้สูงถึง 16 แอมป์ ต่อข้าง (แสดงว่าแต่ละตัวจ่ายกระแสได้ 4 แอมป์) อือมม.. แบบนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า ความเข้มข้นของมวลที่ได้ยินน่าจะมาจากทรานซิสเตอร์ Sanken จริงๆ ..!!

อัลบั้ม : Nameless (MQA 24/88.2)
ศิลปิน : Dominique Files-Aime
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/82811588?u)

อัลบั้ม : Never Gets Late Here (MQA 24/88.2)
ศิลปิน : Shenseea
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/363827172?u)

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเคยเจอว่า มีแอมป์บางตัวที่ให้เนื้อเสียงที่เนียน, สะอาด และเข้มข้นคล้ายๆ กับ Aethos ตัวนี้ แต่มักจะให้ สปีดของ transient response ที่ไม่เร็วทันกับอินพุตที่ป้อนเข้ามา คือเหมือนเจตนาจะหน่วงเสียงไว้นิดๆ ทำให้ ไทมิ่งติดช้าหน่อยๆ จนกลายเป็นโทนเสียงที่มีบุคลิกที่ฟังแล้วชวนให้เกิดความรู้สึกว่า นุ่มนวลเนื่องจากไทมิ่งของเสียงมันติดช้านิดๆ นั่นเอง

เทคนิคหนึ่งที่นักออกแบบแอมป์บางคนใช้ในการทำให้เสียงออกมาหนาๆ เข้มๆ นั่นคือ ใช้คาปาซิเตอร์ตัวใหญ่ๆ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงในแง่ของไทมิ่งที่หน่วงช้าอย่างที่ว่า ในขณะที่บางคนมองว่า ถ้าอยากได้เสียงหนาๆ เข้มๆ ก็ใช้ทรานซิสเตอร์ที่จ่ายกระแสได้สูงๆ บวกกับภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่จ่ายไฟได้เร็วๆ ซิ.. ไม่ต้องไปหน่วงด้วยคาปาซิเตอร์ฟิลเตอร์ตรงเอ๊าต์พุต ซึ่งยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะไม่ต้องได้อย่างเสียอย่าง แต่วิธีหลังนี้ใช้ต้นทุนสูงกว่ามาก..!!

เอ.. Aethos ก็ให้เสียงที่หนา, เข้ม แล้วสปีดล่ะ.? ว่าแล้วผมก็ลองเลือกเพลงยุคใหม่ๆ ที่ให้คุณสมบัติของเสียงแต่ละด้านออกมาได้ดีกว่าเพลงยุคเก่า โดยเฉพาะคุณสมบัติทางด้านสปีดในการตอบสนองกับความถี่ในย่านต่ำๆ ผมเลือกอัลบั้มชุด Nameless (ฟังเพลง Birds) กับชุด Never Gets Late Here (ฟังเพลง Tap Out) ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินหน้าใหม่แนวแจ๊สกับแร๊ปที่มีความโดดเด่นทางด้านเสียงทุ้มมากเป็นพิเศษมาลองฟังทดสอบประเด็นนี้ ปรากฏว่าผมสามารถตบเท้าไปตามจังหวะของเพลงทั้งสองได้อย่างแม่นยำ ไม่หลุดทำนอง และไม่ได้รู้สึกว่ามีอาการหน่วงช้าใดๆ และไม่ได้รู้สึกว่ามีการเร่งสปีดขึ้นมาด้วย ตอนฟังเพลง Tap Out ผมสังเกตคำร้องที่ฟังได้ชัดและสอดกระชับไปกับเท็มโป้ของเพลงได้อย่างลงตัวตลอดทั้งเพลง สรุปคือ Aethos ไม่ได้ให้เสียงที่หน่วงช้า ทว่ามันกลับตอบสนองสปีดของเสียงได้แม่นยำซะอีก สังเกตลีลาของเสียงทุ้มในเพลง Tap Out ที่มีการเรียบเรียงให้สลับปรับเปลี่ยนมูพเม้นต์ไปสองสามรูปแบบ มีช้าสลับเร็วปานกลาง ซึ่งแอมป์ที่ตอบสนองสปีดของเสียงทุ้มที่แม่นยำเที่ยงตรงตามต้นฉบับของสัญญาณอินพุตอย่าง Aethos ตัวนี้ จะทำให้คุณรับรู้ได้ถึงอรรถรสของเพลงผ่านทาง จังหวะของเพลงที่ถูกต้อง รับรู้ได้ถึง ลีลาการรับส่งกันระหว่างเสียงร้องและเสียงดนตรีแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจน

เสียงของ Aethos ออกแนว dark หรือเปล่า.? แค่ดูจากสเปคฯ frequency response ของ Aethos ก็คงตอบได้ชัดแล้วว่า ไม่เกี่ยวกับแอมป์เลย เสียงจะ dark (แหลมน้อย, เก็บตัวเร็ว) หรือ bright (แหลมเยอะ, ลากปลายเสียงยาว) นั้น จริงๆ แล้วก็คือ เสียงของซิสเต็มที่แสดงออกมาผ่านทางคุณสมบัติทางด้าน โทนัล บาลานซ์ที่เกิดจากผลรวมของอุปกรณ์ ทุกชิ้นในซิสเต็มนั้น ซึ่งมีปัจจัยอยู่ 2 อย่างที่มีอิทธิพลทำให้เสียงของซิสเต็มออกมาทาง dark หรือ bright ปัจจัยแรกที่มีผลมากที่สุดคือ แหล่งต้นทางส่วนปัจจัยที่สองที่มีผลรองลงมาก็คือ บุคลิกเสียงของลำโพงสรุปแล้ว ลักษณะ dark หรือ bright ของเสียงที่ได้ยินจากซิสเต็มใดๆ ก็คือ สีสัน” (colorรูปแบบหนึ่ง อยู่ในส่วนของ บุคลิกของเสียง” (character of sound) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพเสียง” (sound quality) แต่อย่างใด

เมื่อเข้าไปอยู่ในซิสเต็ม คั่นกลางระหว่าง แหล่งต้นทางกับ ลำโพงผมพบว่า อินติเกรตแอมป์ของ Rega ตัวนี้มันได้เข้าไปเพิ่มคุณสมบัติทางด้าน ความโปร่งใสให้กับสนามเสียงทั้งหมด และด้วยคุณสมบัติทางด้าน bandwidth ของ Aethos ที่เปิดกว้างมาก คือตั้งแต่ 10Hz – 30kHz ได้เข้าไปยืดขยายช่วงของความถี่ตอบสนองของซิสเต็มให้เปิดกว้างออกไป เหมือนบานประตูที่เปิดกว้างเพื่อปลดปล่อยเสียงของแหล่งต้นทางที่เข้ามาทางอินพุตให้พุ่งกระจายออกไปทางเอ๊าต์พุต (ขั้วต่อสายลำโพง) ได้อย่างครบถ้วน หมดจดครบทุกเฮิร์ตโดยไม่มีอาการอั้น (compress) ผมทดลองใช้ DAC ของ Ayre Acoustic รุ่น QB-9 DSD Twenty ซึ่งตอบสนองความถี่ได้กว้างตามรูปแบบของฟอร์แม็ตไฟล์ที่เล่น โดยทดลองเล่นไฟล์ 24/88.2 ซึ่งให้สัญญาณอะนาลอกออกมาได้กว้างถึง 44,100 เฮิร์ต ผมพบว่า เสียงที่ออกมาจากซิสเต็มที่มี Aethos อยู่ มันให้เสียงที่เปิดโล่งอย่างมาก และเมื่อเปลี่ยนไฟล์เพลงที่มีสเปคฯ ต่างๆ กัน เสียงของซิสเต็มที่มี Aethos อยู่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะการบันทึกเสียงของไฟล์เพลงและรูปแบบของสัญญาณของเพลงนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน..!!

Aethos เป็นแอมป์ที่มีบุคลิกเสียงเฉพาะตัวหรือไม่.? โดยส่วนตัวผมจะใช้วิธีทดลองฟังเพลงหลายๆ แนว ทั้งช้าและเร็ว แล้วประเมินดูว่า เสียงที่ออกมามันปรับเปลี่ยนไปตามเพลงมากน้อยแค่ไหน มีส่วนไหนของเสียงที่เกิดซ้ำๆ ขึ้นมาบ้าง ถ้าลองเปลี่ยนเพลงแล้วบุคลิกนั้นก็ยังอยู่ ก็แสดงว่าบุคลิกนั้นน่าจะมาจากแอมป์ที่กำลังทดสอบอยู่ ซึ่งผมก็ใช้เทคนิคนี้ในการทดสอบ RegaAethosตัวนี้ ผลจากสปีดในการตอบสนองสัญญาณซึ่งสะท้อนออกมาในแง่ของคุณสมบัติทางด้าน ไทมิ่งของเพลงนั้น ผมพบว่า Aethos ตัวนี้ให้ไทมิ่งของเพลงที่แม่นยำมาก ฟังเพลงช้าก็ไม่รู้สึกว่าเอื่อยหรือเฉื่อย ฟังเพลงเร็วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีการเร่งสปีดแต่อย่างใด ส่วนในแง่ของ โทนัล บาลานซ์ก็เช่นกัน ซึ่งลำโพงจะเป็นตัวกำหนดหลัก หลังจากลองฟังลำโพงวางขาตั้งอย่าง Super Denton ซึ่งเป็นลำโพงที่ถูกจำกัดความถี่ในย่านต่ำเพราะขนาดของตัวตู้ แต่หลังจากทดลองฟังเพลงที่เน้นเบสเยอะๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดเบสแต่อย่างใด กลับรู้สึกว่า ผู้ผลิตลำโพงคู่นั้นเขาจูนเสียงโดยการปรับปริมาณของเสียงในย่านแหลมกับทุ้มมาได้ลงตัวระดับหนึ่งแล้ว ซึ่ง ความโปร่งใสของแอมป์ตัวนี้ได้เข้าไปช่วย เปิดเผยความถี่เสียงทั้งหมดที่ลำโพงปรับจูนไว้ออกมาให้ได้ยินอย่างครบถ้วน ขณะนั่งฟัง Aethos (ราคา 175,000 บาท /ตัว) + Super Denton (37,900 บาท /คู่) อยู่มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่า การใช้แอมป์ที่มีคุณภาพ (และราคา) สูงกว่าลำโพงจับคู่กัน มันทำให้ได้เสียงของลำโพงออกมาเต็มที่มากที่สุด มันทำให้เห็นเลยว่า ลำโพงราคาคู่ละสามสี่หมื่นในปัจจุบัน ให้เสียงออกมาเกินราคาค่าตัวมาก..!! (*เป็นการยืนยันถึงสมรรถนะที่ดีเยี่ยมของกำลังขับที่ระดับ 125W ของ Aethos ด้วย)

สรุป

***HIGHLY RECOMMENDED***

ก็ต้องยอมรับว่า ถ้า ความเป็นที่สุดของคุณภาพเสียงทุกด้านเป็นสุดยอดปรารถนาของคุณ คุณต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ noise ในระบบให้มีอยู่น้อยที่สุด ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ต้องเริ่มต้นขจัด noise ของอุปกรณ์หลักๆ ในซิสเต็มก่อน เริ่มตั้งแต่รูปแบบดีไซน์ของอุปกรณ์เหล่านั้น จากนั้นจึงค่อยไปขจัด noise ที่จุดอื่นๆ ต่อไป

RegaAethosตัวนี้ถูกออกแบบมาด้วยแนวคิดที่ต้องการรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ของสัญญาณเสียงจากต้นทางเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการที่ไม่เอาภาคการทำงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่หลักของอินติเกรตแอมป์ (สตรีมเมอร์, DAC และภาค Phono) ออกไปทั้งหมด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มันได้ผลจริง ทำให้เสียงของแอมป์ตัวนี้มีความสะอาด เนียน และให้มวลเนื้อที่เข้มข้นโดย ปราศจากnoise เข้ามารบกวน

ฟังตอนแรกๆ อาจจะยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความเนียนและความสะอาดของแอมป์ตัวนี้ เพราะมันคล้ายกับน้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่ไม่มีรสชาติ แต่ถ้าได้มีโอกาสใช้งานไปนานๆ สักพักหนึ่ง เมื่อยกมันออกไปจากซิสเต็มแล้วยกเอาแอมป์ตัวอื่นเข้ามาแทน.. เมื่อนั้นแหละ คุณจะรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมาทันที.!!!

***********************
ราคา : 175,000 บาท /ตัว
***********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Komfortsound
โทร. 083-758-7771

mm

About ธานี โหมดสง่า

View all posts by ธานี โหมดสง่า