ขึ้นชื่อว่า “เครื่องเสียง” ไม่ว่าจะทำโดยคนชาติไหน ถ้ามันถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล ผ่านการตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เสียงที่ได้ออกมาก็สามารถมีมาตรฐานที่ทัดเทียมกันได้ทั้งหมด และเมื่อนำมา แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ ตามมาตรฐานจนลงตัวกับสภาพห้องแล้ว เสียงที่ได้ออกมาก็จะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีใครสามารถฟังแยกแยะได้ว่า เครื่องเสียงของแต่ละชาติต่างกันอย่างไร
ห้องฟังที่ใช้บริการให้ผมเข้าไปทำ Training@Home ครั้งนี้เป็นห้องฟังที่ดัดแปลงใช้พื้นที่ห้องนอนบนชั้นสองของบ้านเดี่ยวขนาดกลางๆ แห่งหนึ่ง อยู่แถวบางบัวทอง ซึ่งเจ้าของห้องบอกว่ามีประสบการณ์เล่นมายังไม่มากนัก ทว่า เมื่อพิจารณาจากสภาพการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงและลักษณะการปรับจูนสภาพอะคูสติกภายในห้องก็ต้องบอกว่า ถ้าชั่วโมงบินยังไม่สูง เจ้าของห้องก็ต้องเป็นนักเล่นฯ ที่ขยันทำการบ้านมาก เพราะหลายๆ อย่างในห้องมันอยู่ในพิกัดที่เรียกได้ว่า ดีพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งการวางลำโพงซึ่งอยู่ในพิกัดที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาเสียงรบกวนจาก roommode มากจนฟังไม่ได้อรรถรส แม้ว่า บางด้านของเสียงยังไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด แต่ ณ ตำแหน่งที่วางลำโพงเดิม ก็พอฟังได้อรรถรสระดับหนึ่งแล้ว
ก่อนจะไปเล่าถึงรายละเอียดในการทำ Training@Home ครั้งนี้ เรามาดูรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ ในซิสเต็มนี้กันก่อน ..
รายละเอียดในซิสเต็มนี้
Source : เครื่องเล่นไฟล์เพลงยี่ห้อ Chalus Music Player รุ่น S2
Amplifier : อินติเกรตแอมป์หลอด 845 ยี่ห้อ KTT Audio
Speaker : ยี่ห้อ Nola รุ่น Contender
Cable : สายสัญญาณ Duelund 20 Ga + สายลำโพง Duelund 20 GA
ความน่าสนใจลำดับแรกอยู่ที่อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้อยู่ในซิสเต็มนี้ โดยเฉพาะส่วนของ source กับแอมลิฟาย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทยเรานี่เอง ตัวที่ผมทึ่งมากก็คือ Music Player ที่ใช้ชื่อยี่ห้อว่า Chalus ซึ่งทราบว่าเป็นชื่อของคนทำ อุปกรณ์ตัวนี้เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลงซึ่งเป็น source หลักตัวเดียวที่เจ้าของห้องใช้งานอยู่ในซิสเต็ม บริเวณข้างๆ มีเครื่องเล่นแผ่นซีดีกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงวางอยู่แบบอันปลั๊ก ซึ่งเจ้าของห้องบอกว่า สองเครื่องนั้นไม่ค่อยได้ใช้ ปัจจุบันจะใช้เครื่องเล่นไฟล์เพลงเป็นหลัก
“มันสะดวกและให้เสียงที่น่าพอใจ” เป็นเหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมา ส่วนแอมปลิฟายก็เป็นแบรนด์ที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทยเช่นกัน บนตัวเครื่องติดยี่ห้อ KTT Audio เมื่อผมถามถึงที่มาที่ไปของซิสเต็ม คำตอบก็คือ “คุณศักดิ์ จากร้าน KTT Audio เป็นคนจัดการมาให้ทั้งเซ็ต” ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องเล่นไฟล์เพลง, อินติเกรตแอมป์หลอด, ลำโพง และสายสัญญาณกับสายลำโพงด้วย
ลำโพงที่ใช้ในซิสเต็มนี้ไม่ใช่ของทำในเมืองไทย ชื่อแบรนด์คือ Nola รุ่น Contender ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในกลุ่มของนักเล่นเครื่องเสียงรุ่นเก่า คนออกแบบชื่อว่า Carl Marchisotto คนนี้เป็นคนออกแบบลำโพงที่มีฝีมือระดับพ่อมดของวงการ ประสบการณ์เก๋ากึ๋ก แนวเสียงของลำโพงยี่ห้อนี้ถูกหู Harry Pearson นักวิจารณ์เครื่องเสียงชั้นนำในอดีตเป็นอย่างมาก
ห้องฟัง
สัดส่วนของห้องฟังแห่งนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พิกัด ความกว้าง 3.215 เมตร x ลึก 6.947 เมตร x สูง 2.709 เมตร ซึ่งเป็นขนาดห้องนอนใหญ่มาตรฐานของบ้านเดี่ยวสองชั้นขนาดกลางในหมู่บ้านทั่วไป ผนังห้องทั้งสี่ด้านเป็นปูนฉาบเรียบทาสีอ่อนๆ ภายใน ฝาตีโครงฉาบเรียบตลอดทั้งห้อง พื้นปูไม้ลามิเนตตลอดทั้งห้อง ลำโพงและซิสเต็มถูกติดตั้งและจัดวางไว้บนพื้นห้อง กินพื้นที่ไปทางด้านหนึ่งของห้อง ส่วนอีกด้านที่เหลือมีเตียงนอนเดี่ยวขนาดห้าฟุตอยู่หนึ่งเตียง ปูฟูกหนา ซึ่งเป็นที่นอนของลูก ข้างๆ เตียงเป็นโต๊ะเล่นเกมส์ นอกจากนั้น ภายในห้องก็มีแค่ตู้ใส่หนังสือเล็กๆ อยู่อีกหนึ่งใบเท่านั้น
ผังห้องก่อนปรับ
ผนังด้านที่วางลำโพงมีหน้าต่างเล็กๆ หนึ่งบานอยู่ที่มุมห้องทางขวามือ ส่วนผนังฝั่งตรงข้ามที่วางเตียงนอนมีหน้าต่างสองบาน ซึ่งปกติหน้าต่างทั้งสามบานจะมีผ้าม่านบางๆ ติดตั้งไว้
ในส่วนของอะคูสติกนั้น สภาพเดิมของห้องนี้ได้มีการปรับแต่งสภาพอะคูสติกเอาไว้พอสมควร บนผนังซ้าย–ขวา, ผนังด้านหลังฝั่งที่วางลำโพง รวมถึงบนฝ้าเพดาน ได้มีการติดตั้งวัสดุที่ใช้ในการปรับแต่งสภาพอะคูสติกเอาไว้คิดรวมๆ ก็ประมาณ 65 – 70% ของพื้นที่ผิวภายในห้อง ประเภทของอุปกรณ์ก็มีทั้ง absorber และ diffusor ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการติดตั้งแบบถาวร ยึดติดกับผนังห้องและเพดาน ยกเว้นตรงมุมห้องสองมุมที่อยู่ฝั่งวางลำโพง มีแท่งซับเสียงขนาดใหญ่วางซุกอยู่มุมละแท่ง
ลักษณะการเซ็ตอัพเดิม
สภาพเดิมตอนที่ผมเข้าไปลำโพงทั้งสองข้างถูกจัดวางห่างจากกัน 1.592 เมตร ข้างซ้ายและข้างขวาวางห่างผนังด้านหลังและผนังข้างด้วยระยะใกล้เคียงกันมาก คือซ้ายห่างผนังหลัง 1.280 เมตร / ห่างผนังข้าง 0.470 เมตร ในขณะที่ข้างขวาห่างผนังหลัง 1.250 เมตร / ห่างผนังข้าง 0.499 เมตร แสดงว่าเจ้าของห้องได้พยายามเซ็ตอัพตำแหน่งห้องมาแล้วด้วยตัวเอง
และบนผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีอุปกรณ์ ดิฟฟิวเซอร์ (แผงกระจายเสียง) กับ แอปซอฟเบอร์ (แผงซับเสียง) ติดตั้งแบบตายอยู่บนผนัง โดยที่แผงซับเสียงอยู่ด้านใกล้ลำโพงในขณะที่แผงกระจายเสียงอยู่ชิดมาทางตำแหน่งนั่งฟัง ระยะความกว้างของทั้งสองแผงรวมกันประมาณสองเมตร สมมาตรกันทั้งซ้ายและขวา และบนผนังด้านหลังตำแหน่งวางลำโพงก็มีอุปกรณ์ซับเสียงอีกหนึ่งชิ้น จัดวางอยู่ในแนวตั้ง โดยมีความสูงกว่าระดับความสูงของตัวลำโพงขึ้นไปประมาณหนึ่งเมตร ที่มุมห้องทั้งสองมุมของด้านที่วางลำโพง มีแท่งซับเสียงขนาดใหญ่วางอยู่มุมละแท่ง เป็นแบบลอยตัว ไม่ได้ยึดตายตัวติดกับผนัง สามารถขยับตำแหน่งเพื่อปรับจูนเสียงได้
บนฝ้าเพดานเหนือตำแหน่งนั่งฟังมีอุปกรณ์ซับเสียงที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กจำนวน 4 แผ่นกับแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่จำนวน 4 แผ่น ติดตั้งอยู่บนฝ้าด้วย
“อุปกรณ์ซับเสียงทั้งชุดเป็นของ Audio Consultant เค้ามาติดตั้งให้นานแล้ว..” เจ้าของห้องนั่งฟังอยู่บนเก้าอี้นวดไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับจุด Sweet Spot
ลักษณะเสียงก่อนการปรับจูนตำแหน่งใหม่
จากการทดลองฟังในเบื้องต้น ก็ต้องยอมรับว่า น้ำเสียงโดยรวมจากการเซ็ตอัพเดิมออกมาน่าฟังมากแล้ว สมดุลของเวทีเสียงซ้าย–ขวามีความสมดุลดี โทนัล บาลานซ์ของเสียงตั้งแต่ทุ้ม–กลาง–แหลมก็มีความสมดุลดี สิ่งที่ผมคิดว่ายังน่าจะทำได้ดีกว่านั้นก็คือลักษณะของเวทีเสียงที่เปิดกว้างมากกว่านั้น รวมถึงไดนามิกเร้นจ์ตลอดทั้งย่านที่ควรจะสวิงได้กว้างกว่านั้น ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์ของผมที่เคยฟังลำโพงยี่ห้อนี้มาก่อน อีกอย่าง ด้วยลักษณะการออกแบบลำโพงด้วยการจัดวางวูฟเฟอร์ให้คล้อยต่ำห่างจากมิดเร้นจ์ลงมามากจนเกือบถึงฐานล่างของตัวตู้ เสียงทุ้มของมันควรจะทิ้งตัวลงพื้นได้มากกว่านี้ และฉีกตัวออกห่างจากทุ้มต้นๆ ที่สร้างขึ้นโดยไดเวอร์มิดเร้นจ์ได้มากกว่านั้น ลักษณะคล้ายเอาลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริมในย่านความถี่ต่ำให้กับลำโพงสองทางนั่นเอง
อีกประเด็นที่สังเกต ซิสเต็มนี้ใช้แอมป์หลอดขับ ซึ่งโดยธรรมชาติของแอมป์หลอดที่เป็นซิงเกิ้ลเอ็นด์ดีไซน์ลักษณะนี้ควรจะให้เสียงที่มีความโปร่งโล่งมากกว่าที่ผมได้ยิน ณ ตอนนั้น
เก็บค่าเดิมและถ่ายภาพตำแหน่งเดิมก่อนทำการเซ็ตอัพ
ผมเริ่มต้นด้วยการวัดระยะวางลำโพงของเดิมเอาไว้ จากนั้นก็จัดการวัดความถี่ตอบสนองของลำโพงกับห้องฟังด้วย Sound Level Meter ของ RadioShack เอาไว้โดยอาศัยสัญญาณ pink noise จากแผ่น Sound Check ที่ Alan Parsons ทำไว้ (แผ่นของสังกัด Mobile Fidelity Sound Labs) เล่นผ่านซิสเต็มของเจ้าของห้อง และเจ้าของห้องเป็นคนช่วยพล็อตกราฟตามค่า SPL ที่วัดได้
อย่าได้ถามหาความแม่นยำกับการวัดความถี่ตอบสนองแบบนี้ ค่าที่ได้เป็นแค่ค่าโดยประมาณเท่านั้น แต่มันก็เป็นวิธีเบสิคที่นิยมใช้กันในยุคแรกๆ แม้ว่าจะไม่ได้ความแม่นยำมาก แต่เมื่อนำค่าที่วัดได้มาพล็อตเป็นเส้นกราฟออกมาแล้ว มันก็พอใช้ประเมินเป็นแนวทางในการเซ็ตอัพได้
ลงมือเซ็ตอัพ
หลังจากนั้น ผมก็คำนวนหาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างตัวลำโพงกับผนังด้านหลังห้องโดยอาศัยสูตร “1/3 x ความลึกของห้อง” เป็นอันดับแรก โดยเอาความลึกของห้อง 6.947 เมตร หารด้วย 3 ออกมาได้เท่ากับ 2.315 เมตร จากนั้นผมกับเจ้าของห้อง เราก็ช่วยกันยกลำโพงทั้งสองข้างดึงห่างออกมาจากผนังด้านหลังเพิ่มเติมจากระยะห่างเดิมเกือบสองเท่า ในขณะที่ยังคงรักษาระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย–ขวาเอาไว้เท่าเดิม
หลังจากช่วยกันวัดระยะของตำแหน่งลำโพงใหม่ตามค่าที่คำนวนได้ จัดมุมโมอินให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด รักษาระยะห่างระหว่างซ้าย–ขวาเอาไว้ให้เท่าเดิม จากนั้น เราก็ช่วยกันวัดระยะเพื่อกำหนดจุดนั่งฟังใหม่ โดยเริ่มที่ตำแหน่ง sweet spot ก่อน ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ทั้งหมดเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ
จากนั้นเราก็กลับมาทดลองฟังเพลงเดิมๆ เหมือนกับตอนที่เริ่มฟังตอนแรกก่อนทำการขยับตำแหน่งลำโพง ซึ่งระยะนั่งฟังใหม่ที่ขยับตามระยะตั้งลำโพงใหม่ร่นมาจนถึงขอบเตียงนอน ซึ่งตรงตำแหน่งใหม่นี้ เจ้าของห้องบอกว่าชอบมาก เพราะอย่างแรกคือได้เวทีเสียงที่แผ่กว้างออกไปมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และลักษณะของการแผ่ก็ไม่ได้ออกไปเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง แต่แผ่ขยายออกไปครบทั้งสามมิติ คือ แนวกว้าง, แนวลึก และแนวสูง ทะลุผ่านผนังห้องทุกด้านออกไปแบบไร้ขีดจำกัด เป็นอะไรที่เข้าใกล้คำว่า “สมบูรณ์แบบ” มากแล้ว
หลังจากทดลองฟังเพลงหลายๆ แทรคที่คุ้นหูผ่านไปแล้ว คอนเฟิร์มว่าตำแหน่งใหม่ให้เสียงดีกว่าตำแหน่งเดิมมาก เราพอใจกับคุณสมบัติของเสียงหลายๆ ข้อแล้ว แต่จากการทดลองฟังเราพบว่า มีความถี่อยู่แถบหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการ booming ขึ้นมาทุกครั้งที่มีความถี่ย่านนั้นอยู่ในเพลงที่เราฟัง จากประสบการณ์ผมคะเนว่าน่าจะอยู่ในย่าน 80 – 200Hz
จากนั้นผมก็เริ่มขั้นตอน fine tuning เพราะแก้ปัญหา booming ที่ว่าพร้อมทั้งจัดระเบียบให้กับเสียงทั้งหมด แต่เนื่องจากอุปกรณ์ปรับอะคูสติกเกือบทั้งหมดถูกยึดติดผนังไม่สามารถขยับเคลื่อนตำแหน่งเพื่อ fine tune ได้ เหลือเพียงแค่แท่งซับเสียงที่อยู่ตรงมุมห้องแค่สองแท่งที่สามารถขยับเคลื่อนได้ ผมกับเจ้าของห้องจึงช่วยกันทดลองขยับปรับตำแหน่งของแท่งซับเสียงทั้งสอง ปรากฏว่า เราค้นพบตำแหน่งที่สามารถลดปัญหา booming ลงไปได้ระดับหนึ่ง นั่นคือยกแท่งซับเสียงให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 ฟุต ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเบสบูมที่ว่าลงไปได้พอสมควร แต่ก็ไม่หมดซะเลยทีเดียว ยังคงมีอยู่อีกนิดหน่อย ซึ่งก็ต้องทิ้งเป็นการบ้านให้เจ้าของห้องดำเนินการต่อด้วยการหาอุปกรณ์ปรับอะคูสติกที่มีผลกับย่านความถี่นั้นมาแก้ไขต่อไป
ผังห้องหลังปรับตำแหน่งลำโพงใหม่
กราฟสรุปก่อนปรับ (กราฟสีน้ำเงิน) vs. หลังปรับ (กราฟสีแดง)
ก่อนกลับ ผมก็ทำการวัดค่าความถี่ตอบสนองของซิสเต็มนี้อีกครั้ง ซึ่งผลที่ออกมาก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราได้ยิน ในกราฟเส้นสีแดงซึ่งเป็นค่าความถี่ตอบสนองหลังการปรับตำแหน่งใหม่ เราพบว่า ที่ย่านความถี่ช่วง 50 – 80Hz จะโด่งขึ้นมามากกว่าเดิม โดยเฉพาะย่าน 60 – 80Hz โด่งขึ้นมาเกือบ 10dB ซึ่งน่าจะเป็นต้นเหตุของ booming ที่เราได้ยิน แต่หลังจากขยับตำแหน่งใหม่แล้ว ความถี่ตั้งแต่ 100 – 3150Hz มีความราบเรียบมากขึ้น ส่วนความถี่ย่านแหลมหลังจาก 3150Hz ขึ้นไปจนถึงประมาณ 6300Hz มีลักษณะที่โด่งขึ้นไปมากเกือบสิบดีบี ก่อนจะค่อยๆ ลาดลงเมื่อความถี่สูงขึ้นไป แต่เราไม่ได้รู้สึกถึงอาการโด่งของความถี่สูงในการฟังจริง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบุคลิกของลำโพงเอง /
happy & enjoy listening!
***********************
ไปดูห้องอื่นๆ กัน