ลำโพงมีปัจจัยที่ส่งผลต่อเสียงอยู่เยอะมาก ถ้าไม่รวมปัจจัยภายนอก เอาแค่เฉพาะตัวลำโพงเอง หลักๆ ก็มีอยู่ 3 ปัจจัย ซึ่งถ้าจะให้เรียงลำดับโดยพิจารณาที่ “อิทธิพล” ที่ส่งผลกับคุณภาพเสียงจากมากไปหาน้อย ก็คือ ไดเวอร์, ตัวตู้ และ วงจรตัดแบ่งความถี่ (วงจรเน็ทเวิร์ค) และถ้าจะพูดถึง “ความยาก” ในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนทั้งสาม ก็ต้องยกให้ “ไดเวอร์” เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยตัวตู้ และวงจรเน็ทเวิร์คอยู่ท้ายสุด ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า แบรนด์ผู้ผลิตลำโพงที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่างก็ออกแบบและผลิตไดเวอร์ขึ้นมาใช้เองทั้งนั้น
เนื่องเพราะ “ไดเวอร์” ทำหน้าที่สร้างความถี่เสียงออกมา มันจึงมีอิทธิพลต่อเสียงโดยรวมของลำโพงมากกว่าปัจจัยอื่นๆ พูดได้ว่า แบรนด์ไหนมีเทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตไดเวอร์ขึ้นมาใช้เอง ลำโพงของแบรนด์นั้นก็มักจะได้รับความเชื่อถือจากนักเล่นฯ มากกว่าแบรนด์ที่ซื้อไดเวอร์ของผู้ผลิตไดเวอร์สำเร็จรูปมาใช้ทำลำโพงแล้วติดแบรนด์ขาย
Dali เป็นแบรนด์ผู้ผลิตลำโพงที่ออกแบบและผลิตไดเวอร์ขึ้นมาใช้เอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลำโพงของแบรนด์นี้มีลักษณะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองชัดเจน ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พวกเขามีเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบไดเวอร์ที่พัฒนาขึ้นมาเอง จึงทำให้พวกเขาสามารถพัฒนา “คุณภาพเสียง” และกำหนด “บุคลิกเสียง” ของไดเวอร์ที่พวกเขาทำออกมาได้โดยใช้เทคโนโลยีพิเศษที่ว่านี้จนได้ออกมาเป็นเสียงที่แสดง “ตัวตน” ของแบรนด์ Dali ที่นักเล่นฯ ส่วนมากชื่นชอบ
Soft Magnetic Composite (SMC)
SMC เป็นเทคโนโลยีในการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ทำแม่เหล็กสำหรับไดเวอร์ที่วิศวกรของแบรนด์ Dali คิดค้นขึ้นมา ซึ่งมีข้อดีกว่าวัตถุดิบแบบเดิมคือเหล็กอยู่ 2 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเสียง ประเด็นแรกคือ ช่วยลดความเพี้ยนของเสียงที่เกิดขึ้นเพราะเหล็กมีคุณสมบัติในการ de-magnetise (สลายความเป็นแม่เหล็ก) ที่ต้องใช้เวลาเยอะกว่าตอน magnetise (ทำให้เป็นแม่เหล็ก) ซึ่งส่งผลต่อแรงผลักและดึงวอยซ์คอยของไดเวอร์ที่ไม่สมมาตร เมื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุ Soft Magnetic Composite (SMC) เข้าไปแทนที่เหล็ก ปัญหาข้างต้นก็น้อยลง เพราะ SMC ใช้เวลาในการ de-magnetise กับ magnetise ที่เร็วพอกัน
ข้อดีอีกข้อของวัสดุ SMC คือมันจะไม่มีปัญหา eddy currents ที่เกิดขึ้นกับวัสดุที่เหนี่ยวนำไฟฟ้า เหมือนกับเหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับวอยซ์คอย เพราะกระแส eddy currents บนเหล็กที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นนั้นมีขั้วตรงข้ามกับสนามแม่เหล็ก ส่งผลทำให้การเคลื่อนตัวของวอยซ์คอยถูกต้าน การขยับตัวของไดอะแฟรมที่เชื่อมติดอยู่กับวอยซ์คอยจึงขาดความเป็นอิสระ ไม่สามารถสร้างคลื่นเสียงให้ออกมาตรงกับสัญญาณที่รับมาจากเพาเวอร์แอมป์ได้ เมื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุ SMC แทนเหล็กในการทำแม่เหล็กของไดเวอร์ จึงส่งผลต่อเสียงอย่างมากมหาศาล.!!
ระบบแม่เหล็กที่ใช้วัสดุ SMC ในการผลิตจะให้ความเป็นแม่เหล็กสูงในขณะที่มีความเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าต่ำ (แค่ประมาณ 1/10,000 เท่า เมื่อเทียบกับเหล็ก!) ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่า เมื่อใช้ SMC ในการผลิตแม่เหล็กของลำโพง มีผลทำให้ความหนาแน่นของฟลัคแม่เหล็ก (flux density) ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความถี่ของสัญญาณอินพุต ทำให้การออกแบบวงจรเน็ทเวิร์คให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำ ถูกต้องตลอดทั้งย่านเสียงที่ถูกออกแบบไว้เพราะไม่มีความเพี้ยนฮาร์มอนิกคู่ (odd-order harmonics distortion) เข้ามากวน..
แค่อ่านข้อมูลมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกอยากฟังเสียงของ Oberon 3 ซะแล้ว เพราะระบบแม่เหล็กของตัวไดเวอร์ตัวมิด/วูฟเฟอร์ที่ใช้ในรุ่น Oberon 3 ก็ผลิตด้วยเทคโนโลยี SMC เหมือนกัน.!!!
แค่ Entry-Level แต่จัดเต็มมาก..!!
Dali มีลำโพงไฮไฟฯ ที่พวกเขาเรียกว่า ‘Hi-Fi Speakers’ อยู่มากถึง 11 ซีรี่ย์ ซึ่งรุ่น Oberon 3 ที่ผมได้รับมาทดสอบคู่นี้จัดอยู่ในซีรี่ย์ Oberon ซึ่งทางผู้ผลิตตั้งใจทำออกมาให้เป็นซีรี่ย์ระดับ entry-level คือเหมาะกับผู้ที่อยากจะลองสัมผัสกับเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของลำโพงแบรนด์นี้โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ถึงแม้ว่า Oberon จะจัดอยู่ในระดับ entry-level แต่ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสทั้งทางสายตาและได้ลูบคลำตัวเป็นๆ ของลำโพงคู่นี้ด้วยมือของคุณเอง คุณจะต้องแปลกใจที่พวกเขาอัดอะไรเข้าไปเยอะกับลำโพงระดับนี้
สิ่งที่สะดุดตาอย่างแรกคือรูปร่างหน้าตาของมัน ที่แลดูเปล่งปลั่งมีสง่าราศรีมาก.! คงเป็นเพราะผิวตู้ที่เป็นสีไม้ธรรมชาติ ออกไปทางน้ำตาลอ่อนๆ โทนสว่าง เลยทำให้ตัวลำโพงดูมีออร่า เปล่งแสงสว่างนวลตา ไม่หนักทึบ จริงๆ แล้วมีสีตู้ให้เลือกถึง 4 สี คือ Light Oak (ตัวในภาพ), Black Ash, White และ Dark Walnut ซึ่งผมว่าสี Light Oak ดูสวยดี ตอนเอาไปทดลองใช้กับทีวีในห้องรับแขก มันดูสวยเข้ากับดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ได้ดี แถมมีหน้ากากปิดแผงหน้ามาด้วย ทำเป็นลายผ้า สวมเข้าไปยิ่งสวยใหญ่เลย
จะมีผิวตู้อยู่ 5 ด้าน ที่ปะผิวด้วยวีเนียร์ลายไม้ คือด้านข้างซ้าย–ขวา, ด้านหลัง และด้านบน–ล่าง ส่วนแผงหน้าทำเป็นแผ่นไม้สีขาวประกบไว้ ซึ่งวีเนียร์ลายไม้ที่ปะผิวมาดูดีมาก มีลายในตัวเหมือนไม้จริง
ตู้เปิด + ซิงเกิ้ลไวร์
ที่ส่วนบนของแผงหลังของ Oberon 3 มีท่อระบายอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 ซ.ม. จำนวนหนึ่งท่อ ผนังท่อทำด้วยวัสดุพีวีซีเนื้อแข็ง ตรงปากท่อถูกทำให้มีลักษณะผายออกเหมือนปากแตรตื้นๆ นัยว่าเพื่อลดปัญหามวลอากาศเสียดสีกับปากท่อ ซึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการปรับจูนให้คลื่นเสียงที่ผ่านออกมาทางท่อระบายเบสมีความถี่อยู่ที่ 49Hz ในขณะที่ย่านความถี่ตอบสนองของลำโพงคู่นี้อยู่ระหว่าง 47 – 26,000Hz โดยมีความเบี่ยงเบนทางด้านความดังตลอดทั้งย่านความถี่ตอบสนองอยู่ที่ไม่เกิน +/-3dB นั่นแสดงว่า ช่วงความถี่ตั้งแต่ 49Hz ลงไปจนถึง 47Hz เป็นความถี่ที่เกิดจากท่อระบายเบส ไม่ได้ออกมาจากหน้าดอก
ที่ด้านล่างของแผงหลังเป็นพื้นที่ติดตั้งขั้วต่อสายลำโพง ซึ่งมองดูคล้ายกับของ WBT แต่จริงๆ แล้วเป็นของที่ Dali ทำเอง สามารถจับยึดสายลำโพงได้ทุกรูปแบบของขั้วต่อ ไม่ว่าจะเป็นแท่งบานาน่า, ก้ามปู หรือแม้แต่ปอกสายเปลือยก็สามารถใช้กับขั้วต่อนี้ได้หมด อีกจุดที่ผมชอบคือเขาให้ขั้วต่อมาแค่ชุดเดียว ไม่ต้องวุ่นวายกับการวิ่งหาจั๊มเปอร์มาใช้ สามารถลงทุนกับสายลำโพงดีๆ ได้
ทวีตเตอร์
ทวีตเตอร์ที่ใช้ในรุ่น Oberon 3 คู่นี้เป็นทวีตเตอร์ซอฟท์โดมที่ใช้ไดอะแฟรม (โดม) ทำมาจากผ้าทอที่มีน้ำหนักเบามากๆ คือผู้ผลิตเคลมว่า ถ้าเอาโดมทวีตเตอร์ของเขาไปชั่งน้ำหนักเทียบกับโดมทวีตเตอร์ทั่วไป เขายืนยันว่า โดมทวีตเตอร์ของ Dali มีน้ำหนัก “เบากว่า” ของคนอื่นกว่าครึ่ง คือมีน้ำหนักแค่ 0.060 มิลลิกรัม ต่อตารางมิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งข้อดีของโดมทวีตเตอร์ที่มีน้ำหนักเบาก็คือ มันจะไวต่อการตอบสนองกับสัญญาณมากกว่า สามารถขยับตัวตอบสนองกับสัญญาณอินพุตที่ระดับความดังต่ำๆ ได้ดี ทำให้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดในระดับไมโครไดนามิกออกมาได้มากกว่า ในขณะที่โดมที่มีน้ำหนักเยอะจะมีความหนืดสูง ตอบสนองกับสัญญาณระดับ Low Level ได้ไม่ดีเท่า
เส้นผ่าศูนย์กลางของโดมทวีตเตอร์ตัวนี้วัดได้เท่ากับ 29 ม.ม. ซึ่งใหญ่กว่าโดมทวีตเตอร์โดยทั่วไปที่โดยมากมักจะอยู่ที่ 25 ม.ม. หรือ 1 นิ้ว ซึ่งความใหญ่ของโดมก็มีประเด็นอีก คือผู้ผลิตเขาแจ้งไว้ในเอกสาร whitepaper ว่า พื้นที่ขนาดใหญ่ของโดมทวีตเตอร์จะให้แรงผลักอากาศได้มากกว่า ทนแรงต้านอากาศได้ดีกว่าตอนขยับตัวผลักอากาศ จึงทำให้การเคลื่อนตัวของกระบอกวอยซ์คอยมีความเที่ยงตรง ไม้ผิดเพี้ยน
และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการผลักอากาศที่ดีขึ้นไปอีก ทางผู้ผลิตจึงได้ออกแบบระบบแม่เหล็กที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนตัวของวอยซ์คอย พวกเขาจึงใช้แม่เหล็กเหลวหล่อเลี้ยงวอยซ์คอยเพื่อระบายความร้อน และเพื่อให้พลังงานของแม่เหล็กมีความเข้มข้นเพียงพอ แม้ในขณะที่ต้องอยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความหนาแน่นสูง พวกเขาก็เลือกใช้แม่เหล็กคุณภาพสูง บวกกับการแด้มป์ป้องกันคลื่นสะท้อนในจุดที่อ่อนไหวด้วย.. นี่แหละข้อดีของการทำไดเวอร์เอง.!!
มิด/วูฟเฟอร์
ตอนแรกที่เห็นข้อมูลในสเปคฯ ยังทึ่งเลยว่า ลำโพงสองทางคู่นี้ใช้ไดเวอร์ขับกลาง/ทุ้มที่มีขนาดใหญ่จัง ซึ่งโดยปกติ ลำโพงสองทางวางขาตั้งทั่วไปมักจะใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่มีขนาดไม่เกิน 6.5 นิ้ว ทว่า Dali ‘Oberon 3’ คู่นี้กลับใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่ถึง 7 นิ้ว ซึ่งถ้าคำนวนพื้นที่ไดอะแฟรมเทียบกับไดเวอร์ 6.5 นิ้ว จะพบว่า ไดเวอร์ 7 นิ้ว มีพื้นที่ไดอะแฟรมที่ใช้ผลักอากาศ “มากกว่า” ไดเวอร์ที่มีขนาด 6.5 นิ้ว ถึง 15%
พื้นที่ผลักอากาศมากกว่าดียังไง.? เยอะเลย..!! อย่างแรกเมื่อมองในแง่ “ความดัง” (SPL = Sound Pressure Level) ที่เท่าๆ กัน ไดอะแฟรมที่มีพื้นที่มากกว่าจะขยับตัวผลักอากาศน้อยกว่า นั่นก็หมายความว่า เมื่อฟังที่ความดังเท่าๆ กัน ไดเวอร์ที่มีพื้นที่ไดอะแฟรมเยอะกว่าจะให้เสียงที่มีความเพี้ยนต่ำกว่า และไดเวอร์ที่มีพื้นที่ไดอะแฟรมเยอะกว่าจะสามารถสร้างความดังสูงสุดออกมาได้มากกว่าด้วย จากคุณสมบัติข้อนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงข้อดีทางด้าน “ไดนามิก” ของเสียงที่ตอบสนองได้กว้างกว่าอีกด้วย
งั้นก็ทำให้ไดอะแฟรมมีขนาดใหญ่ไว้ก่อนซิ..?? ไดอะแฟรมเคลื่อนตัวขยับเดินหน้า–ถอยหลังผลักอากาศเพื่อสร้างคลื่นเสียงได้ด้วยการกระตุ้นของกระบอกวอยซ์คอยที่พันด้วยโลหะตัวนำซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดทองแดง แล้วก็เอาไปแขวนลอยอยู่ในช่องว่างของแม่เหล็กที่ใช้เหนี่ยวนำกระบอกวอยซ์คอยให้ขยับเคลื่อนที่ ด้วยเหตุนี้ ถ้าไดอะแฟรมมีขนาดใหญ่ น้ำหนักก็จะเยอะ ทำให้ต้องพันลวดทองแดงหลายรอบเพื่อให้มีพลังงานมากพอในการลากน้ำหนักของไดอะแฟรม ซึ่งวิศวกรของ Dali ใช้วอยซ์คอยที่พันลวดตัวนำซ้อนกันถึง 4 ชั้น เพื่อให้มีกำลังมากพอสำหรับฉุดกระชากไดอะแฟรมขนาด 7 นิ้ว ให้เดินหน้า–ถอยหลัง ซึ่งถ้าใช้ลวดตัวนำเป็นทองแดงทั้งหมด จะทำให้กระบอกวอยซ์คอยมีน้ำหนักมากเกินไป มีปัญหาในการขยับตัว พวกเขาจึงเลี่ยงมาใช้เส้นลวดอะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบากว่าแทนเส้นลวดทองแดง แล้วค่อยเคลือบผิวด้วยทองแดงทับลงไป นอกจากนั้น ระบบแม่เหล็กที่ใช้ในตัวไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ที่ใช้ใน Oberon 3 คู่นี้ก็ใช้เทคโนโลยี SMC ด้วย จึงมีส่วนเสริมทางด้านกำลังแม่เหล็กที่ช่วยให้การควบคุมไดอะแฟรม 7 นิ้ว ทำได้เต็มที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อเสียงกลางและเสียงทุ้ม
แผ่นกรวยที่ใช้ผลักอากาศสร้างคลื่นเสียงของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ตัวนี้ทำมาจากเศษไม้ป่นผสมไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดเรโซแนนซ์ในย่านความถี่ที่ไดเวอร์ทำงานให้น้อยลง ทำให้ได้เสียงกลางและทุ้มที่สะอาดเป็นธรรมชาติ
แม็ทชิ่ง
Oberon 3 ตอบสนองความถี่ “ทั้งระบบ” อยู่ในย่านความถี่ 47 – 26,000Hz โดยที่ความถี่ตั้งแต่ 49Hz – 26,000Hz เป็นความถี่ที่ตอบสนองออกมาจากไดอะแฟรมของไดเวอร์ทั้งสอง ส่วนความถี่ต่ำในช่วง 49Hz ลงไปจนถึง 47Hz ถูกสร้างขึ้นจากท่อระบายเบสที่อยู่ด้านหลัง วงจรเน็ทเวิร์คในตัว Oberon 3 เป็นแบบสองทาง มีจุดตัดแบ่งความถี่อยู่ที่ 2,400Hz (2,400Hz – 26,000Hz ทวีตเตอร์ทำงาน, 49Hz – 2,400Hz เป็นหน้าที่ของมิดเร้นจ์/วูฟเฟอร์)
ความไวของ Oberon 3 วัดออกมาได้ 87dB ต่ำกว่ามาตรฐานปานกลางลงมาสองเดซิเบล ในขณะที่อิมพีแดนซ์เฉลี่ยอยู่ที่ 6 โอห์ม แนะนำกำลังขับระหว่าง 25 – 150W ถ้าคำนวนเทียบกับ 8 โอห์ม กำลังขับสูงสุดที่แนะนำสำหรับโหลด 8 โอห์ม ก็น่าจะอยู่ราวๆ 100W ต่อข้างเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นในการหาแอมป์มาขับให้ได้เสียงที่ออกมาเต็มที่จากลำโพงคู่นี้
แม็ทชิ่งแรก ผมทดลองจับคู่อินติเกรตแอมป์ของ LEAK รุ่น Stereo 230 (REVIEW) เข้ากับ Oberon 3 เป็นเคสแรก โดยวางลำโพงบนขาตั้งของ Atacama รุ่น XL600 (REVIEW) ที่มีความสูง 24 นิ้ว พบว่า Oberon 3 กับขาตั้งตัวนี้ไปด้วยกันได้ดี แล้วยกชุดนี้เข้าไปเซ็ตอัพใช้งานในห้องรับแขกที่เป็นลักษณะ open space มีขนาดพื้นที่ตรงตำแหน่งติดตั้งระบบประมาณ 20 ตรม. โดยทดลองใช้รับฟังเสียงภาพยนตร์จาก Netflix, ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ และฟังเพลงจากแอพ YouTube บนทีวี (ต่อสัญญาณจากทีวีเข้าที่แอมป์ผ่านทาง optical input) ซึ่งกำลังขับของ LEAK ‘Stereo 230’ อยู่ที่ 75W ต่อข้างที่ 8 โอห์ม ถ้าคำนวนเทียบลงไปที่ 6 โอห์ม ก็จะได้กำลังขับประมาณ 112.5 วัตต์ต่อข้าง ผลปรากฏว่า ในแง่ “ความดัง” ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานจริงในสภาพของห้องรับแขกที่เป็นโอเพ่นสเปซ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถเปิดอัดความดังได้มาก ซึ่งแนวทางการออกแบบของ Dali ‘Oberon 3’ คู่นี้ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานในห้องรับแขกได้อย่างแนบเนียนมาก เพราะขณะที่เปิดไม่ดังมาก แต่เสียงที่ออกมามีลักษณะที่เปิดกว้าง ในแง่ความถี่ของเสียงได้ถูกคลี่คลายออกมาให้ได้ยินครบทั้งทุ้ม–กลาง–แหลม ไม่มีอะไรขาด และที่เด่นมากๆ คือผมพบว่า โทนเสียงของลำโพงคู่นี้มีลักษณะที่เปิด ลอย และสะอาด สนามเสียงแผ่เต็ม แต่ฟังแล้วไม่รู้สึกอึดอัด
ขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Dared รุ่น Saturn Signature
หลังจากใช้งานในห้องรับแขกอยู่หลายวัน ผมก็ยก Oberon 3 เข้าห้องฟังเพื่อทดสอบฟังเพลงแบบเน้นรีดสมรรถนะสูงสุด ซึ่งผมมีแอมป์อยู่ในห้งเพื่อใช้ทดลองจับคู่กับลำโพง Dali คู่นี้อยู่ 3 ชุด เป็นอินติเกรตแอมป์ 2 ตัว กับแยกปรีฯ + เพาเวอร์ฯ อีกหนึ่งชุด หนึ่งในอินติเกรตแอมป์ที่ว่าเป็นแอมป์หลอด ยี่ห้อ Dared รุ่น Saturn Signature (REVIEW) ที่มีกำลังขับแค่ข้างละ 25W กับอีกตัวเป็นแอมป์โซลิดสเตท ยี่ห้อ Audiolab รุ่น 9000A (REVIEW) โดยใช้สตรีมเมอร์ของ Audiolab รุ่น 9000N (REVIEW) ทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นทางในการเล่นไฟล์เพลงที่สตรีมจาก NAS และ TIDAL ส่วนอีกชุด ผมใช้ 9000N ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงและใช้ภาควอลลุ่มคอนโทรลของ 9000N ในการควบคุมความดังผ่านไปที่เพาเวอร์แอมป์ QUAD รุ่น Artera Stereo (140W ที่ 8 โอห์ม)
ขับด้วยอินติเกรตแอมป์ Audiolab รุ่น 9000A
ตอนจับกับแอมป์หลอด Dared ‘Saturn Signature’ มีประเด็นเรื่องอิมพีแดนซ์ แม็ทชิ่งอยู่นิดหน่อย เรื่องของเรื่องคือตัวลำโพงระบุอิมพีแดนซ์เฉลี่ยอยู่ที่ 6 โอห์ม ในขณะที่แอมป์ ‘Saturn Signature’ มีเอ๊าต์พุต อิมพีแดนซ์ให้เลือกแค่สองค่า คือ 8 โอห์ม กับ 4 โอห์ม ไม่มีเอ๊าต์พุตอิมพีแดนซ์ที่ 6 โอห์มให้เลือก จากการทดลองเชื่อมต่อ Oberon 3 กับเอ๊าต์พุตทั้งสองของ Saturn Signature พบว่าเสียงออกมาต่างกันค่อนข้างชัดเจน คือตอนเชื่อมต่อที่ขั้ว 8 โอห์ม เสียงจะออกมาเต็มกว่า แต่ที่ปลายเสียงมีอาการขึ้นขอบแข็งเล็กน้อย ในขณะที่เชื่อมต่อที่ขั้ว 4 โอห์ม เสียงจะออกมาสะอาดกว่า เบสกระชับกว่า แต่รายละเอียดในระดับความดังต่ำๆ อย่างพวกบรรยากาศจะจางหายไปบางส่วน โดยส่วนตัวผมชอบเสียงที่เชื่อมต่อจากขั้วต่อสายลำโพงที่ 8 โอห์ม มากกว่า (*ถ้านำ Oberon 3 ไปจับกับแอมป์หลอดตัวอื่นที่มีขั้วต่อแยกอิมพีแดนซ์แบบนี้ แนะนำให้เชื่อมต่อแล้วทดลองฟังทั้งสองค่า มีความเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์ของเสียงอาจจะออกมาต่างจากที่ผมได้ยินจากการจับคู่กับแอมป์ Dared ตัวนี้)
จับคู่กับ 9000N + Artera Stereo
ตอนจับกับ 9000A และ 9000N + Artera Stereo ซึ่งถือว่า แอมปลิฟายอยู่เหนือลำโพงไปพอสมควร แต่ก็พบว่าเสียงโดยรวมที่ Oberon 3 ให้ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ “ดีเกินค่าตัว” ไปไกลเลย.!! แสดงให้เห็นว่า พื้นฐานของ Oberon 3 ถูกวางไว้แน่นมาก สามารถไปกับซิสเต็มแบ็คอัพ (แอมป์ + แหล่งต้นทาง) ที่มีราคาสูงกว่าค่าตัวของลำโพงขึ้นไปได้หลายเท่าตัว
เซ็ตอัพ
ประเด็นที่ลำโพงเล็กประเภทสองทางวางขาตั้งสู้ลำโพงใหญ่แบบตั้งพื้นไม่ได้ ก็คือความสามารถในการสร้าง “สนามเสียง” ให้แผ่เต็มห้อง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเปิดเสียงได้ดังเต็มห้องเท่านั้น แต่ต้องดูที่ความนิ่ง และความเนียนของเสียงด้วย เพราะการฟังเพลงแบบเน้นทั้งความถี่และไดนามิกเร้นจ์ที่เปิดกว้างมากที่สุด ภายในห้องฟังขนาดสัดส่วนประมาณ 25 ตรม. ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ และมีการปรับจูนสภาพอะคูสติกให้เหมาะสมกับการถ่ายทอดความถี่เสียงที่ราบเรียบ จึงมีผลทำให้คุณสมบัติทางด้านอะคูสติกของห้องฟังจึงค่อนไปทางดูดซับพลังงานเสียงมากกว่าห้องรับแขกทั่วไปประมาณ 20-30% เมื่อเอาลำโพงขนาดเล็กเข้ามาเปิดในห้องฟังแบบนี้ มันจึงเป็นเหมือนสนามทดสอบสมรรถนะทางด้านเอ๊าต์พุตของลำโพงคู่นั้นไปโดยปริยาย คือถ้าลำโพงมีข้อจำกัดทางด้านเอ๊าต์พุต ออกแบบมาไม่ดี เมื่อต้องถูกอัดด้วยระดับวอลลุ่มหนักๆ เข้าไป เสียงที่ออกมาก็มักจะเป๋ เปิดดังๆ ได้ก็จริง แต่เสียงจะไม่นิ่ง และเสียงโดยรวมจะมีอาการสูญเสียการควบคุมตัวเอง ลำโพงบางคู่อาจจะถึงขั้นโทนเสียงเพี้ยน กลาง–แหลมพุ่ง เบสฟุ้งไม่เป็นตัว และอาจจะเลวร้ายถึงขั้นปลายเสียงมีอาการแตกซ่านไปเลยก็มี
ในห้องฟังที่มีการปรับสภาพอะคูสติกดี มักจะไม่มีเสียงของห้องเข้ามาช่วยเสริมกับเสียงไดเร็กต์ที่ออกมาจากตัวลำโพงเอง ด้วยเหตุนี้ การที่จะทำให้ได้สนามเสียงแผ่ออกมาจนเต็มห้องได้นั้น ตัวำลโพงจะต้อง “เบ่ง” เสียงออกมาจากตัวของมันเองเท่านั้น..
ผมเริ่มต้นเซ็ตอัพด้วยการจับ Oberon 3 วางลงในห้องฟังของผมตรงตำแหน่ง “ความลึก หารด้วย 3 + ระยะห่างซ้าย/ขวา = 180 ซ.ม.” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นก่อนการไฟน์จูน หลังจากทดลองฟังเสียง ณ ตำแหน่งเริ่มต้นนั้น ผมพบว่า ลำโพงคู่นี้มีความสามารถในการ “ปั๊ม” เสียงที่มีความดังออกมาได้มากพอที่จะเติมเต็มพื้นที่อากาศภายในห้องได้ หลังจากปรับวอลลุ่มจนได้สนามเสียงแผ่เต็มห้องแล้ว ผมก็เริ่มต้นไฟน์จูนด้วยการขยับตำแหน่งลำโพงเพื่อหาระยะห่างซ้าย–ขวาก่อนโดยพิจารณาที่ “โฟกัส” ของเสียงที่คมชัดมากที่สุด (ผมใช้เพลงร้องอ้างอิงในการไฟน์จูน) หลังจากขยับอยู่พักใหญ่ๆ ผมก็ได้ระยะห่างซ้าย–ขวาอยู่ที่ 162.5 ซ.ม. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้โฟกัสของเสียงที่ผมพอใจมากที่สุดสำหรับลำโพงคู่นี้ หลังจากนั้นจึงมาเริ่มขั้นตอนขยับลำโพงชิดผนังหลังเพื่อปรับจูนทางด้านโทนัลบาลานซ์ของเสียง ซึ่งผมพบว่า เมื่อดันลำโพงทั้งสองข้างจากระยะห่างผนังหลัง = ความลึกของห้อง หารด้วย 3 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นให้ลงไปชิดผนังด้านหลังทีละนิด จนมาได้จุดลงตัวอยู่ที่ 176 ซ.ม. เป็นตำแหน่งที่ผมพอใจกับปริมาณของความถี่หลักทั้งสามคือทุ้ม–กลาง–แหลมที่ได้ออกมาจากลำโพงคู่นี้มากที่สุด
เมื่อได้ระยะลงตัวแล้ว หลังจากเปลี่ยนแอมป์ตัวอื่นเข้าไปขับ ผมพบว่าระยะวางของลำโพงทั้งสองข้างแทบจะไม่ต้องขยับเลื่อนเลย ส่วนอุปกรณ์เสริมที่ช่วยเสริมให้เสียงของลำโพงคู่นี้สามารถแสดงศักยภาพของมันออกมาได้เต็มที่มากที่สุดนอกจากขาตั้งรุ่น XL600 ของ Atacama แล้ว ผมพบว่า ใช้จานรองใต้เดือยแหลมของ Audio Bastion รุ่น X-PAD Plus II (REVIEW) รองใต้เดือยแหลมของขาตั้งทั้งสองข้าง ช่วยให้ได้เสียงที่นิ่งมากขึ้น ไทมิ่งของเสียงดีขึ้น
เสียงของ Dali ‘Oberon 3’
ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบลำโพงเล็กหรือลำโพงใหญ่ ในขั้นตอน “แม็ทชิ่ง + เซ็ตอัพ + ไฟน์จูน” ผมจะเริ่มต้นด้วยการพยายามดึงเอาคุณภาพทางด้าน “โฟกัส” ของ “เสียงกลาง” ออกมาจากลำโพงคู่นั้นให้ได้มากที่สุดก่อนเสมอ แม้กระทั่งตอนไฟน์จูนตำแหน่งลำโพงในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเกลี่ยกับคุณสมบัติทางด้านเวทีเสียง, ไดนามิก, เนื้อเสียง ของความถี่ตลอดทั้งย่าน คุณภาพของ “เสียงกลาง” ก็จะต้องไม่ตกไปจากจุดที่ดีที่สุดที่ลำโพงคู่นั้นให้ได้โดยเฉพาะเรื่องของ “โฟกัส” เพราะถ้าเสียงกลางได้โฟกัสที่ดีแล้ว เสียงอื่นๆ ก็จะตามมาเอง
ด้วยเหตุนี้ ผมจะไม่สนใจทางด้านโทนัลบาลานซ์เลยในขั้นตอนที่กำลังไฟน์จูนระยะห่างระหว่างลำโพงซ้าย/ขวาเพื่อค้นหาตำแหน่งที่ได้โฟกัสของเสียงที่ดีที่สุด หลังจากนั้นจึงค่อยไฟน์จูนระยะห่างระหว่างลำโพงทั้งสองข้างกับผนังหลัง ซึ่งผมจะได้เห็นถึงประสิทธิภาพเสียงของลำโพงที่กำลังทดสอบในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นโทนัลบาลานซ์, ไดนามิก, เวทีเสียง, บรรยากาศ และเนื้อมวล ก็ต่อเมื่อลำโพงคู่นั้นลงไปอยู่ในตำแหน่งที่ได้โฟกัสที่ดีและได้โทนัลบาลานซ์ที่สมดุลมากที่สุดแล้วเท่านั้น
เสียงของ Oberon 3 เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ลงตัวในขั้นตอนไฟน์จูนคาบสุดท้ายแล้ว ผมพบว่า มันให้สนามเสียงที่กว้างใหญ่มาก ณ ระดับความดังที่ใกล้เคียงกับลำโพงคู่อื่นๆ ที่เคยเอามาทดสอบในห้องนี้ ผมพบว่า มันสลัดเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องให้หลุดออกไปจากตัวตู้ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสียงร้องกับเสียงเครื่องดนตรีที่อยู่ในย่านกลางและแหลมหลุดตู้ไปไกล ส่วนเสียงทุ้มตอนกลาง (มิดเบส) จะมีอาการมัวๆ เกาะติดอยู่รอบๆ ตัวตู้บ้างเล็กน้อย ไม่มากถึงขั้นที่ทำให้ความเป็นดนตรีเสียหายไป แค่ทำให้เสียงโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านความถี่แถวๆ นั้น อย่างเช่น เสียงดับเบิ้ลเบสที่โน๊ตต่ำๆ กับเสียงกระเดื่อง มีอาการมัวๆ นิดหน่อย ความใสกระจ่างในย่านความถี่มิดเบสจะด้อยกว่าในย่านเสียงแหลมนิดนึง ซึ่งผมเดาว่า น่าจะเป็นผลกระทบมาจากอาการสั่นของตัวตู้นั่นเอง ไม่น่าจะมาจากไดเวอร์ เพราะเมื่อทดลองลดวอลลุ่มลงนิดนึง ไดนามิกของเสียงก็ลดความหนักหน่วงลง อาการมัวๆ ที่ว่าก็ลดน้อยลง อาการมัวๆ ก็หายไป อาการสั่นของตัวตู้ก็น้อยลงมาก (ผมลองเอามือไปจับตัวตู้ตอนลำโพงทำงาน) ซึ่งตอนใช้งานที่ห้องรับแขกผมไม่รู้สึกถึงอาการมัวที่ว่านี้ เป็นไปได้ว่า พอเข้ามาอยู่ในห้องฟังที่ค่อนข้างใหญ่ (กว่าขนาดของตู้ลำโพง) และค่อนข้างซับเสียง มันจึงต้องถูกอัดด้วยวอลลุ่มที่ดังมากเพื่อกระจายความดังออกไปให้เต็มพื้นที่อากาศภายในห้อง ถ้าใช้งานในพื้นที่เปิดที่ใช้ระดับความดังได้ไม่มาก หรือใช้ภายในห้องปิดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อย่างเช่นไม่เกิน 3.5 x 5 ตรม. อาการที่ว่าก็น่าจะไม่มี
เป็นประเด็นมากมั้ย.? สำหรับผม ผมยอมรับได้นะ เพราะเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของมัน บวกกับข้อดีอื่นๆ โดยเฉพาะเสียงกลางที่เยี่ยมยอดที่มันให้ออกมาแล้ว มันดีมากจนทำให้อาการมัวนิดๆ ที่ย่านมิดเบสกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย ถ้าจะให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยน่าจะเกือบเท่าตัว (เพื่อตู้ที่แน่นหนากว่านี้) ผมยอมอยู่กับลำโพงคู่นี้ดีกว่า เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อดีของเสียงในแง่อื่นๆ ที่ลำโพง Dali คู่นี้ให้ออกมาไปเทียบกับราคาค่าตัวสามหมื่นกว่าๆ ของมันแล้ว ผมว่าคุ้ม..!!!
อัลบั้ม : Visual Voice (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Bonnie Koloc
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/105780150?u)
อัลบั้ม : ดอกไม้ที่กลับมา (TIDAL HIGH/16-44.1)
ศิลปิน : ปาน ธนพร แวกประยูร
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/276351871?u)
อัลบั้ม : Etta (TIDAL MAX/FLAC-24/96)
ศิลปิน : Etta Cameron & Nikolai Hess with Friends
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/3174859?u)
ใช่แล้วครับ.. “เสียงกลาง” คือจุดขายของลำโพงคู่นี้.!! กับเสียงร้องของ Bonnie Koloc ในเพลง The Kitten, เสียงของ ปาน ธนพร ในเพลง ‘ความเหงาเคล้าความขมขื่น‘ และเสียงของ Etta Cameron ในเพลง Motherless Child เจอเข้าไปสามเพลงนี้ผมเชื่อเลยว่า ถ้าคุณเป็นสมาชิกชมรม “หลงเสียงนาง” คุณต้องมือไม้อ่อนเมื่อได้ยินเสียงของปานที่ร้องได้บาดลึกลงไปในร่องของความเหงาได้อย่างกัดกินความรู้สึกมาก.!!
จริงแล้ว เสียงร้องของทั้งสามสาวนี้จัดอยู่ในย่านกลางขึ้นไปทางกลางสูงนิดๆ โดยที่เสียงของปานอยู่ในย่านสูงที่สุดในจำนวนสามคนนี้ ในขณะที่เสียงของ Bonnie Koloc ต่ำลงมานิดนึง ต่อด้วยเสียงของ Etta Cameron จะอยู่ในโทนที่ต่ำลงมาอีกนิด ผมสังเกตได้ว่า Oberon 3 คู่นี้ให้โทนเสียงของนักร้องสาวทั้งสามคนนี้ออกมาในแบบที่สามารถถ่ายทอดลงไปถึง “อัตลักษณ์” ที่เป็นลักษณะจำเพาะของแก้วเสียงของทั้งสามคนนี้ออกมาให้รับรู้ได้ชัดมาก คือแทบจะไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาเลยถ้ามีใครถามว่า ระหว่างสามคนนี้เสียงร้องของใครมีความหนานุ่มมากที่สุด และแทบจะไม่ต้องเสียเวลาเพ่งก็สามารถตอบได้ว่า ทั้งสามคนนี้มี “ลีลา” การขับร้องที่แตกต่างกันยังไง แต่ละคนมีลักษณะการเลี้ยงลมหายใจแบบไหน แต่ละคนใช้เทคนิคการเอื้อนคำร้องลักษณะต่างกันยังไง แม้กระทั่งตอนที่ฟังเสียงร้องของแต่ละคน ผมยังรับรู้ได้เลยว่า แต่ละคนเขาใช้วิธี “เชื่อมโยง” แต่ละคำร้องแบบไหน พวกเธอจัดการกับช่องไฟระหว่างคำร้องอย่างไร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ลำโพงราคาสามหมื่นกว่าคู่นี้จะสามารถ “เจียรนัย” รายละเอียดที่ลงลึกได้มากถึงขนาดนี้.!!
หลังจากทดลองฟังอยู่นาน ผมกล้าพูดได้ว่า ถ้าคุณฟังเพลงร้องที่บันทึกเสียงดีๆ (ยกตัวอย่างสามเพลงข้างต้น) กับลำโพงคู่นี้แล้ว คุณไม่ได้รู้สึกสัมผัสกับสิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น ขอให้คุณกลับไปเช็คแม็ทชิ่งและเซ็ตอัพอีกที เพราะคุณภาพของสิ่งที่คุณป้อนเข้าไปให้ลำโพงคู่นี้ถ่ายทอดออกมามันมีส่วนสำคัญมากพอๆ กับความละเอียดอ่อนในการเซ็ตอัพตำแหน่งของลำโพงคู่นี้ด้วย จากการทดลองเปรียบเทียบตอนผมเซ็ตอัพ Oberon 3 คู่นี้ในห้องรับแขก ซึ่งถูกบังคับด้วยพื้นที่ที่ไม่สามารถดึงลำโพงออกมาห่างผนังหลังได้มากเท่ากับในห้องฟัง ผมพบว่า ด้วยระยะห่างผนังหลังแค่ประมาณ 70 ซ.ม. (วัดจากผนังหลังถึงแผงหน้าของลำโพง) ผมก็ยังรู้สึกพอใจกับเสียงร้องที่ได้จากลำโพงคู่นี้ แม้ว่ามันจะออกมาไม่ดีเท่าที่ผมได้ยินจากในห้องฟังหลังเซ็ตอัพลงตัวก็ตาม แต่โดยรวมผมก็ยังรับรู้ได้ถึงรายละเอียดที่เจาะลึกลงไปในเสียงร้องของทั้งสามเพลงนี้ได้อยู่ ซึ่งบอกเลยว่า นี่คือจุดเด่นของลำโพงคู่นี้ซึ่งหาได้ยากจากลำโพงที่อยู่ในงบประมาณใกล้เคียงกันนี้
อัลบั้ม : เสือตัวที่ 11 (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : พงษ์สิทธ์ คำภีร์
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/65914956?u)
อัลบั้ม : The Door (TIDAL MAX/FLAC-24/44.1)
ศิลปิน : Keb Mo
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/69405365?u)
อัลบั้ม : The Ghost of Johnny Cash (TIDAL HIGH/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Johnny Cash
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/90788673?u)
ผมเป็นคนชอบฟังเสียงร้องมาก ทั้งเสียงร้องของนักร้องชายและหญิง ผมมีเพลงร้องที่โชว์เสียงร้องดีๆ อยู่เยอะ ผมชอบสัมผัสกับ “อารมณ์” ของเสียงร้องที่ศิลปินแต่ละคนถ่ายทอดออกมา เพราะผมว่ามันมีจิตวิญญาณอยู่ในนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมจะให้น้ำหนักกับความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ของเสียงร้องออกมาก่อนอย่างอื่นทุกครั้งที่ทดสอบอุปกรณ์เครื่องเสียง โดยเฉพาะตอนทดสอบลำโพง เพราะผมพบว่า ไม่ว่าลำโพงจะตัวใหญ่ตัวเล็ก ราคาถูกราคาแพง จะแค่ไหนก็ตาม ทุกคู่จะสามารถตอบสนองความถี่ในย่านกลางที่ครอบคลุมย่านความถี่ของเสียงร้องชายและหญิงได้ทั้งหมด ในความเห็นของผม ลำโพงที่ดีจะต้องตอบสนองเสียงร้องทั้งชายและหญิงออกมาได้ในเกณฑ์ที่ดีก่อนอย่างอื่น
เพื่อให้หายคาใจ ผมเลือกเสียงร้องของนักร้องชายในสามอัลบั้มข้างบนนี้มาลองฟัง เริ่มด้วยเสียงร้องของ พงษ์สิทธ์ คำภีร์ ในเพลง ‘เหงา‘ ต่อด้วยเสียงร้องของ Keb Mo ในเพลง Mommy Can I Come Home และตบท้ายด้วยเสียงร้องของ Johnny Cash เพลง House of the Rising Sun ซึ่งเป็นเพลงที่มีมู๊ดแอนด์โทนไปทางเดียวกันทั้งหมด คือเศร้า เหงาหงอย และเซื่องซึม ปรากฏว่าฟังจบทั้งสามเพลงผมแทบจะน้ำตาซึม เพราะ Oberon 3 ถ่ายทอดอารมณ์ของเสียงร้องของทั้งสามเพลงนี้ออกมาได้ดีมาก ตีบทแตก โดยเฉพาะเพลง Mommy Can I Come Home ของ Keb Mo นั้น ฟังแล้วน้ำตาแทบจะไหล คุณโมเขาร้องเพลงนี้ได้เข้าถึงอารมณ์มาก มันสะท้อนถึงความสำนึกผิด ความสิ้นหวัง เหมือนนกปีกหักที่อยากจะตะเกียกตะกายกลับไปตายรัง ด้วยโทนเสียงที่ติดแหบสากของเขาพอมากับอารมณ์เพลงแบบนี้มันยิ่งดึงอารมณ์ให้จมดิ่งลึกลงไปมาก ฟังเพลงนี้จบแล้วต้องปรบมือให้ Oberon 3 แบบซารุตกันยาวๆ ไปเลย ใครที่ชอบฟังเพลงร้องเป็นหลัก ถ้าตั้งงบของลำโพงอยู่แถวๆ ไม่เกิน 50K แนะนำเป็นอันขาดให้ไปทดลองฟังเสียงของ Dali ‘Oberon 3’ ให้ได้ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป.!!
อัลบั้ม : Nightflight to Venus (TIDAL MQA/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Boney M
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/1277183?u)
อัลบั้ม : Divide (Deluxe) (TIDAL MQA/FLAC-16/44.1)
ศิลปิน : Ed Sheeran
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/70891466?u)
ลักษณะของเสียงทุ้มที่ประกอบอยู่ในเพลงดีสโก้ยุค ’70 อย่างเพลง Brown Girl In The Ring กับเสียงทุ้มที่ประกอบอยู่ในเพลง Drive ซึ่งเป็นเพลงป๊อปยุคหลังปีสองพันมีความแตกต่างกัน ผมทดลองสลับเปิดสองเพลงนี้ไป–มาแบบ A/B Test พบว่า ลำโพงคู่นี้สามารถแจกแจงความแตกต่างของเสียงทุ้มในสองเพลงนี้ออกมาให้รับรู้ได้อย่างชัดเจน.!!
Oberon 3 ถ่ายทอดเสียงทุ้มในเพลง Brown Girl In The Ring ของบอนนี่ เอ็ม ออกไปทางนุ่มเนียน หัวเสียงและบอดี้ของเสียงทุ้มของเพลงนี้มีลักษณะที่กลมมน เนื้ออิ่มหนา เข้มข้น ในขณะที่แสดงภาพของเสียงทุ้มในเพลง Drive ของ Ed Sheeran ออกมาอีกรูปแบบ คือ ออกไปทางตึงตัว กระแทกกระทั้น ทิ้งน้ำหนักลงพื้น ซึ่งเป็นเสียงทุ้มที่ช่วยส่งเสริมอารมณ์ของเพลงได้ตรงประเด็น
Oberon 3 เป็นลำโพงเล็ก เบสน้อยไปมั้ย.?? ทดลองฟังจาก 2 เพลงข้างต้นนี้แล้ว ผมไม่รู้สึกว่าขาดทุ้มนะ แน่นอนว่าทุ้มตอนปลายๆ ที่แผ่กระจายมวลความถี่ต่ำลึกๆ จะขาดหายไปนิดนึงเมื่อเทียบกับตอนฟังผ่านลำโพงตั้งพื้นระดับมอนิเตอร์อย่าง ATC ‘SCM100ASL’ (REVIEW) แต่ถ้าเทียบกับลำโพงสองทางคู่อื่นๆ ที่เคยใช้ฟังสองเพลงนี้แล้ว ต้องบอกว่า เบสของ Oberon 3 ไม่น้อยเลย แถมยังออกมาดีกว่าลำโพงเล็กคู่อื่นๆ ที่ผมมีอยู่ซะด้วย ที่สะดุดหูคือมันเป็นทุ้มที่มีทั้งปริมาณที่หนาแน่นและมีคุณภาพในการแยกแยะรายละเอียดอยู่ในตัว ไม่ได้เป็นเสียงทุ้มที่มีแต่ปริมาณแต่ไร้รายละเอียด ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ขนาด 7 นิ้ว ที่มาพร้อมระบบแม่เหล็ก SMC ที่วิศวกรของ Dali เขารังสรรขึ้นมาแน่ๆ สำหรับผม ประเด็นของเสียงทุ้มผมให้ผ่านครับ (และอยากจะติดดาวให้ด้วยเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของลำโพง.!!)
อัลบั้ม : YinYang Taiko (TIDAL MAX/FLAC-24/48)
ศิลปิน : Zhang Hao, Zhao Junrui
สังกัด : TIDAL (https://tidal.com/browse/album/299245330?u)
เปิดเพลงใน playlist ที่ผมทำไว้ใน TIDAL ไปเรื่อยๆ เพื่อวัดผลทางด้านมิติ–เวทีเสียงของลำโพง Dali คู่นี้ มาถึงเพลงนี้มันสะดุดหู เพราะเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ในเพลงนี้เป็นเครื่องดนตรีจีนที่ให้เสียงไปทางทรานเชี้ยนต์เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่เด่นทางด้านมิติเสียงอยู่แล้ว ยิ่งถ้าลำโพงสามารถ “ดีด” เสียงให้เด้งหลุดออกมาจากตัวตู้ได้รุนแรงและแผ่ออกไปได้ไกล ก็แสดงว่า ลำโพงคู่นั้นให้ไดนามิก ทรานเชี้ยนต์ที่สวิงได้กว้าง ถ้าดีดเสียงในเพลงนี้ออกไปได้ไม่ไกล แผ่กระจายไปไม่กว้าง ก็แสดงว่าลำโพงคู่นั้นตอบสนองกับสัญญาณไดนามิก ทรานเชี้ยนต์ได้ไม่กว้าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ Oberon 3 แสดงออกมามันทำให้ผมสะดุดหู เพราะทุกเสียงหลุดตู้กระจายออกไปอยู่อากาศครบหมด ตั้งแต่แหลมลงมาถึงทุ้ม ไม่เหลือติดตู้เลย..!!
สรุป
ไม่นึกเลยว่า แค่ขยับมาใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ให้ใหญ่ขึ้นกว่ามาตรฐานนิดเดียว (จากทั่วไป 6.5 นิ้ว มาเป็น 7 นิ้ว) จะทำให้ได้เสียงที่ต่างจากลำโพงเล็กทั่วๆ ไปมากขนาดนี้.! ฟังลำโพงคู่นี้แล้ว ทำให้ผมหวนนึกไปถึงตอนทดสอบลำโพง Totem Acoustic รุ่น Element ‘FIRE v2’ (REVIEW) ซึ่งเป็นลำโพงสองทางที่ใช้ไดเวอร์มิด/วูฟเฟอร์ขนาด 7 นิ้ว เหมือนกัน แต่คู่นั้นราคาสองแสนกว่า และใช้ไดเวอร์ที่ผลิตเองเหมือนกัน แม้ว่า Oberon 3 จะไม่ได้ให้เสียงที่ไปไกลเท่ากับลำโพงโทเท็มรุ่นนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมามันไปในทิศทางเดียวกัน น่าประทับใจเหมือนกัน
ตอนนั่งทดลองฟังเสียงในห้องฟัง ผมนึกจินตนาการไปว่า เสียงของลำโพง Dali คู่นี้น่าจะออกมา “เต็มห้อง” พร้อมทั้งให้ “โครง” ที่แข็งแรงมากกว่าที่ผมฟังอยู่แน่ๆ เพราะในห้องฟังของผมมันมีพื้นที่อากาศมากไปนิดเมื่อเทียบกับขนาดของลำโพงคู่นี้ ซึ่งเท่าที่มันทำออกมาให้ได้ยินนี่ก็นับว่าทึ่งแล้ว แต่ถ้าเข้าไปอยู่ในห้องที่มีขนาดไม่เกิน 20 ตรม. น่าจะได้เสียงที่แผ่เต็มและมีลักษณะของเนื้อมวลที่ “ควบแน่น” มากขึ้นไปอีก เพราะการแผ่เต็มห้องนั้นเป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากการจัดมุมกระจายเสียง (ที่ออกไปทาง wide dispersion) ของลำโพงคู่นี้อยู่แล้ว ถ้าได้ห้องที่มีขนาดเหมาะสมกับลำโพงคู่นี้ก็จะทำให้ได้ความแน่นกระชับและความมั่นคงของสนามเสียงที่ดีขึ้นไปอีก ส่วนกำลังขับนั้น จากการทดสอบคิดว่าได้ข้างละ 60 – 70W ก็น่าจะเอาอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้สบายใจและเผื่อสำหรับทุกแนวเพลง ก็ขยับไป 100 – 120W ต่อข้างไปเลย
Dali ‘Oberon 3‘ เป็นลำโพงสองทางที่ให้เสียงใหญ่กว่าตัวมันไปเยอะ ดุลเสียงดีมาก รายละเอียดก็ดี กับความสามารถในการตอบสนองความถี่ 47 – 26,000Hz บวกกับการปรับจูนเน็ทเวิร์คที่ดี ทำให้ได้เสียงที่ครอบคลุมย่านความถี่หลักๆ ได้ครบ ฟังแล้วไม่รู้สึกขาดอะไรไป เป็นลำโพงที่ให้เสียงเกินราคาไปไกล..
********************
ราคา : 36,200 บาท / คู่
********************
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 02-276-9644
ดูรายละเอีดยเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/4foET4k